อ. บำรุงสุข

นิเทศศาสตร์บำรุงสุข

กิจกรรม

ติดต่อเรา

อิฐก้อนแรก นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ : ศ.บำรุงสุข สีหอำไพ

หากวันนั้นไม่มีผู้ชายที่ชื่อ ‘ศาสตราจารย์บำรุงสุข สีหอำไพ’
 
วันนี้ก็อาจไม่มีวิชา ‘นิเทศศาสตร์’ เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยก็เป็นได้
 
ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 60 ปีก่อน มหาบัณฑิตหนุ่มวัย 30 ปีเศษผู้นี้หอบหิ้วใบปริญญาและความฝันอันยิ่งใหญ่กลับมายังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังพบว่าอาชีพสื่อมวลชนในสหรัฐอเมริกากำลังเติบโตและมีอิทธิพลถึงขีดสุด
.
หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ กลายเป็นปัจจัยหนึ่งของการดำรงชีวิต ไม่ต่างจากอาหาร หรือเครื่องนุ่มห่มเลย และสิ่งเหล่านี้คงจะแผ่ขยายเข้ามายังเมืองไทยในอีกไม่ช้า
.
ด้วยความเชื่อที่ว่า “วันนี้คนกินข้าวสาร แต่วันหน้าคนจะกินข่าวสาร” กลายเป็นแรงผลักดันให้เขาวางแผนก่อตั้งแผนกหรือคณะเล็กๆ ในระดับอุดมศึกษา
 
ทว่าหนทางของความฝันกลับไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เมื่อสิ่งที่เขาคิดกับสิ่งที่สังคมเชื่อนั้นสวนทางกัน
 
แต่เพราะความพยายามและความทุ่มเทที่เกินร้อย ทำให้อาจารย์หนุ่มสามารถวางอิฐก้อนแรกได้สำเร็จ และต่อยอดสู่ระดับประเทศ จนกลายเป็นศาสตร์สำคัญที่มีบทบาทขับเคลื่อนสังคมเรื่อยมาถึงปัจจุบัน
 
ถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่าเขาทำได้อย่างไร เราจึงอยากชวนทุกท่านไปค้นหาคำตอบร่วมกัน

นักเรียนนอก

เรียนจบไปจะทำอะไร..วิชาแบบนี้ต้องเรียนด้วยเหรอ..และคำถามอีกมากมายที่ถาโถมมายังอาจารย์บำรุงสุข จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังคิดไกลอยากเห็นวิชาสื่อมวลชนและประชาสัมพันธ์เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัย

ไม่แปลกเลยว่า ทำไมหลายคนจึงสงสัย เพราะภาพที่นึกถึงส่วนใหญ่คงไม่พ้นพวกเต้นกินรำกิน ไอ้หนุ่มขายยาที่เร่เปิดหนังกลางแปลงตามหมู่บ้าน หรือนักข่าวไส้แห้งที่หากทำงานไม่ดีอาจมีสิทธิ์ต้องไปใช้ชีวิตในคุกแทน

ทว่าชีวิตการเรียนที่ Indiana University ช่วยให้อาจารย์เข้าใจว่า โลกภายนอกเปลี่ยนแปลงเพียงใด โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่กลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลสามารถชี้นำสังคม และนับวันแนวคิดนี้จะยิ่งขยายตัวไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก

เมืองไทยเวลานั้น แม้อยู่ในช่วงรัฐบาลทหาร จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ต่อด้วยจอมพลถนอม กิตติขจร ที่มีอำนาจล้นฟ้า แต่อาจารย์ก็เชื่อว่าสุดท้ายดินแดนแห่งนี้ก็คงไม่สามารถรอดพ้นกระแสแห่งยุคสมัยได้

หลังเรียนจบกลับมา เขาจึงพยายามขายความคิดนี้ไปยังบุคคลที่เคารพนับถือ ตลอดจนลงไปทำวิจัยด้านสื่อมวลชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กระทั่ง 2 ปีผ่านไป ความตั้งใจก็เริ่มเห็นผลบ้าง เมื่อ ‘จอมพลประภาส จารุเสถียร’ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเรียกตัวไปพบ พร้อมบอกว่าอยากให้เปิดหลักสูตรอบรมด้านหนังสือพิมพ์สัก 3 รุ่น

แม้เป็นข้อเสนอที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่หวัง แต่อาจารย์กลับเลือกทักท้วง ด้วยเห็นว่าการสอนแต่หนังสือพิมพ์นั้นแคบเกิน มหาวิทยาลัยควรรวมแขนงวิชาสายสื่อมวลชนทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ ตลอดจนประชาสัมพันธ์ เข้าไว้ด้วยกัน แล้วเปิดเป็นคณะต่างหากไปเลย

ช่วงแรกไม่มีผู้บริหารคนใดเห็นด้วย เพราะมองไม่ออกว่าวิชานี้จะช่วยพัฒนาประเทศอย่างไร

แต่ด้วยความมุ่งมั่น อาจารย์จึงฉายภาพว่าสื่อมวลชนคือสัญลักษณ์ของความทันสมัย และยิ่งเทคโนโลยีพัฒนาเท่าใด อุตสาหกรรมจะยิ่งเติบโตขึ้นเรื่อยๆ หากไม่รีบผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ อีกไม่นานเมืองไทยคงอยู่สภาวะล้าหลังเป็นแน่แท้

ในที่สุดผู้บริหารก็ยินยอมให้เปิดแผนกสื่อสารมวลชนและการประชาสัมพันธ์ ภายใต้ปีกของคณะรัฐศาสตร์เป็นการชั่วคราว โดยใช้พื้นที่ของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์เป็นสถานที่ทำงาน

จากพิพิธภัณฑ์ที่เต็มไปด้วยหยากไย่ สู่แผนกอิสระสื่อสารมวลชนฯ

รศ.ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี ผู้ช่วยคนแรกของอาจารย์บำรุงสุข เล่าว่าภาพแรกที่เห็นหลังเปิดห้องพิพิธภัณฑ์ขึ้นมา คือ เศษหยากไย่ ฝุ่น ล่องลอยคละคลุ้งไปทั่ว ซากนกแก้ว อีแร้ง อีกา มองแล้วไม่ต่างเหมือนป่าช้าฝรั่งเลย วันนั้นอาจารย์บำรุงสุขกล่าวแบบตลกๆ ว่า “รอสัก 5 โมงเย็นค่อยทำความสะอาดแล้วกัน..อายเขา”

ทั้งคู่ใช้เวลาปัดกวาดเช็ดถูห้องอยู่ 2 วัน 2 คืนเต็มๆ จนห้องทำงานชั้น 2 บนตึกอธิการบดีดูสะอาดเหมือนใหม่

แต่นั่นเป็นเพียงด่านแรกที่พวกเขาต้องเผชิญ..

“ตอนนั้นผมต้องเป็นทั้งเสมียน ต้องเป็นทั้งภารโรง ต้องเป็นทั้งพนักงานรับส่งหนังสือ แล้วก็รถก็ไม่มี จะไปส่งทีต้องนั่งรถเมล์ไป ที่ร้ายที่สุดคือไม่มีเงินเลย จำได้ว่าตอนนั้น อาจารย์บำรุงสุขเงินเดือนไม่ถึง 3,000 บาท ผมเงินเดือน 1,050 บาท กลางๆ เดือน เงินที่จะซื้อกระดาษ ดินสอ ยางลบ ค่ารถเมล์อะไรๆ ก็ไม่พอ
.
“อาจารย์บำรุงสุขเลยต้องเอาเงินส่วนตัวออกไปก่อน พูดง่ายๆ คือต้องใช้เงินอย่างกระเม็ดกระแหม่มากๆ บางทีใช้ไม่ชนเดือน ท่านต้องให้ผมเอากล้องถ่ายรูปไลก้า ซึ่งรักมากเป็นกล้องถ่ายรูปจากเยอรมัน ไปจำนำที่ หะเจ๊กหลี ผมก็เลยต้องเสมียนโรงจำนำด้วย “ลื้อ อ๊อมๆ” เพื่อจะกดลายนิ้วมือ เอามาใช้จ่ายกัน”

แต่ถึงจะเต็มไปด้วยความลำบาก อาจารย์ก็ไม่คิดยอมแพ้ เดินหน้าต่อจนสามารถรับนิสิตได้ถึง 78 คน

นิสิตรุ่นแรกเป็นการคละเคล้าระหว่างเด็กวัยรุ่นที่เพิ่งจบชั้นมัธยมปลายกับตัวแทนจากหนังสือพิมพ์ และหน่วยงานด้านประชาสัมพันธ์ ทั้งรัฐและเอกชนที่อาจารย์ขอให้ช่วยส่งคนมาเรียน โดยผู้อาวุโสสุดมีอายุมากกว่าอาจารย์ถึง 20 ปี

นอกจากนี้ อาจารย์บำรุงสุขพยายามยกระดับวิชา ด้วยการชักชวนผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ ระดับปรมาจารย์มารับหน้าที่เป็นอาจารย์ประจำวิชา ยกฐานะแผนกสื่อสารมวลชนและการประชาสัมพันธ์เป็นแผนกอิสระ ออกหนังสือพิมพ์นิสิตนักศึกษา จำหน่ายตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ประสานงานไปยังหน่วยราชการและบริษัทห้างร้านเพื่อให้ช่วยเปิดตำแหน่งรองรับนิสิตที่จบการศึกษา และขอประทานปริญญาบัตรชื่อนิเทศศาสตร์ จาก พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ แทนคำว่าศิลปศาสตร์ (สื่อมวลชน/ประชาสัมพันธ์)
.
ที่สำคัญสุดคือ การสนับสนุนให้นิสิตทำกิจกรรมเต็มที่ ทั้งกีฬา ถ่ายภาพ เล่นภาพยนตร์ ดนตรี ทำละครโทรทัศน์ รวมถึงทำละครเวที ณ โรงละครแห่งชาติ จัดแสดงหน้าพระที่นั่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7

ทั้งหมดนี้เป็นจุดตั้งต้นที่ช่วยให้แผนกเล็กๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คนมากยิ่งขึ้น

นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ยุคแรกเริ่ม

เรียนจบไปจะทำอะไร..วิชาแบบนี้ต้องเรียนด้วยเหรอ..และคำถามอีกมากมายที่ถาโถมมายังอาจารย์บำรุงสุข จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังคิดไกลอยากเห็นวิชาสื่อมวลชนและประชาสัมพันธ์เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัย

ไม่แปลกเลยว่า ทำไมหลายคนจึงสงสัย เพราะภาพที่นึกถึงส่วนใหญ่คงไม่พ้นพวกเต้นกินรำกิน ไอ้หนุ่มขายยาที่เร่เปิดหนังกลางแปลงตามหมู่บ้าน หรือนักข่าวไส้แห้งที่หากทำงานไม่ดีอาจมีสิทธิ์ต้องไปใช้ชีวิตในคุกแทน

ทว่าชีวิตการเรียนที่ Indiana University ช่วยให้อาจารย์เข้าใจว่า โลกภายนอกเปลี่ยนแปลงเพียงใด โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่กลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลสามารถชี้นำสังคม และนับวันแนวคิดนี้จะยิ่งขยายตัวไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก

เมืองไทยเวลานั้น แม้อยู่ในช่วงรัฐบาลทหาร จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ต่อด้วยจอมพลถนอม กิตติขจร ที่มีอำนาจล้นฟ้า แต่อาจารย์ก็เชื่อว่าสุดท้ายดินแดนแห่งนี้ก็คงไม่สามารถรอดพ้นกระแสแห่งยุคสมัยได้

หลังเรียนจบกลับมา เขาจึงพยายามขายความคิดนี้ไปยังบุคคลที่เคารพนับถือ ตลอดจนลงไปทำวิจัยด้านสื่อมวลชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กระทั่ง 2 ปีผ่านไป ความตั้งใจก็เริ่มเห็นผลบ้าง เมื่อ ‘จอมพลประภาส จารุเสถียร’ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเรียกตัวไปพบ พร้อมบอกว่าอยากให้เปิดหลักสูตรอบรมด้านหนังสือพิมพ์สัก 3 รุ่น

แม้เป็นข้อเสนอที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่หวัง แต่อาจารย์กลับเลือกทักท้วง ด้วยเห็นว่าการสอนแต่หนังสือพิมพ์นั้นแคบเกิน มหาวิทยาลัยควรรวมแขนงวิชาสายสื่อมวลชนทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ ตลอดจนประชาสัมพันธ์ เข้าไว้ด้วยกัน แล้วเปิดเป็นคณะต่างหากไปเลย

ช่วงแรกไม่มีผู้บริหารคนใดเห็นด้วย เพราะมองไม่ออกว่าวิชานี้จะช่วยพัฒนาประเทศอย่างไร

แต่ด้วยความมุ่งมั่น อาจารย์จึงฉายภาพว่าสื่อมวลชนคือสัญลักษณ์ของความทันสมัย และยิ่งเทคโนโลยีพัฒนาเท่าใด อุตสาหกรรมจะยิ่งเติบโตขึ้นเรื่อยๆ หากไม่รีบผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ อีกไม่นานเมืองไทยคงอยู่สภาวะล้าหลังเป็นแน่แท้

ในที่สุดผู้บริหารก็ยินยอมให้เปิดแผนกสื่อสารมวลชนและการประชาสัมพันธ์ ภายใต้ปีกของคณะรัฐศาสตร์เป็นการชั่วคราว โดยใช้พื้นที่ของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์เป็นสถานที่ทำงาน

อ่านเรื่องราว ศ.บำรุงสุข สีหอำไพ ในฉบับการ์ตูน คลิก!

มูลนิธินิเทศศาสตร์ ศาสตราจารย์บำรุงสุข สีหอำไพ

เลขที่ 254 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330