Naoki Urasawa : นักเขียนมังงะ ผู้รักความซับซ้อนในใจมนุษย์

<< แชร์บทความนี้

..หมอผ่าตัดช่วยชีวิตเด็กคนหนึ่ง แล้วพบว่าเด็กคนนั้นโตขึ้นมาเป็นฆาตกรต่อเนื่อง

..แก๊งเพื่อนในวัยเด็ก ที่มีสมาชิกคนหนึ่งกลายเป็นผู้นำลัทธิประหลาด เพื่อนคนอื่นจึงลุกขึ้นมาหยุดยั้งแผนการครองโลกของเขาด้วยดนตรีร็อก

..หญิงสาวตัดสินใจหาเงินใช้หนี้ 250 ล้านเยนของพี่ชาย ด้วยการเล่นเทนนิส

แฟนการ์ตูนญี่ปุ่น น้อยคนที่จะไม่รู้จัก Naoki Urasawa เจ้าของผลงานยอดฮิตในบ้านเราหลายเล่ม เช่น 20th Century Boys แก๊งนี้มีป่วน, MONSTER คนปีศาจ, PLUTO ตามล่านักฆ่าแอนดรอยด์, นักยูโดสาว Yawara! , HAPPY! เพื่อฝัน และคนที่ฉันรัก เป็นต้น

หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘มังงะ’ หรือการ์ตูนของเขาเหมือนกับภาพยนตร์ชั้นดี เพราะเนื้อเรื่องซับซ้อน คาดเดาตอนต่อไปไม่ได้ง่ายๆ และตีแผ่ความเป็นมนุษย์ออกมาได้ลึกซึ้ง

การันตีด้วยรางวัลสำคัญหลายสถาบันในญี่ปุ่น และยอดขายกว่า 100 ล้านเล่มทั่วโลก

แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า อุราซาวะใช้เวลาเกือบ 10 ปี กว่าจะได้เขียนการ์ตูนที่ตนเองต้องการ และมีหลายครั้งที่เขาตัดสินใจเขียนแบบที่ตนเองเชื่อ แทนที่จะทำตามเสียงเรียกร้องของแฟนๆ

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาไปรู้จักกับชีวิตของนักเขียนผู้จบปริญญาตรีทางด้านเศรษฐศาสตร์ หลงใหลเพลงร็อก และสร้างสรรค์งานการ์ตูนด้วยความเชื่อว่า มนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่เรียบง่าย

Human are not Simple

ตัวละครใน 20th Century Boys คือภาพสะท้อนความเป็นมนุษย์ ที่ไม่มีใครสมบูรณ์ไร้ที่ติ

เคนจิ ฝันอยากเป็นนักดนตรีร็อก จากที่เคยเป็นหัวโจกในวัยเด็ก เขากลับกลายมาเป็นผู้จัดการร้านแฟรนไชส์มินิมาร์ท ที่โดนโขกสับบ่อยๆ จนดูแหย เป็นคนไม่เอาไหนในสายตาคนรอบข้าง

โอตโจะ ทุ่มเทชีวิตให้กับงานจนเสียลูกชาย เขาเสียศูนย์จนไม่อาจกลับมาใช้ชีวิตได้ตามเดิม กระทั่งได้ฟังคำพูดของพระว่า “ไม่มีวิธีใดที่จะขจัดความสิ้นหวังได้ นอกจากเดินออกมา”

โยชิซึเนะ เป็นคนขี้กลัว ไม่มั่นใจในตนเองมาตั้งแต่เด็ก แต่ยามคับขันเขากลับนำเพื่อนๆ ได้

ผลงานของอุราซาวะ แทบทุกเรื่องล้วนเต็มไปด้วยตัวละครแบบนี้ เขาไม่ชอบการแสดงออกที่เรียบง่าย เรื่องราวส่วนใหญ่จึงเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ที่ซับซ้อน เพราะเขาเชื่อมาตั้งแต่เด็กแล้วว่า โลกไม่ได้มีแต่ด้านที่สว่างไสว และทุกคนมีความสุข

คุณครูสั่งให้นักเรียนวาดภาพเกี่ยวกับครอบครัวตัวเอง เพื่อนคนหนึ่งของผมเขียนเรื่องที่มีแต่คำว่ามีความสุข มีความสุข มีความสุขแล้วคุณครูก็ชอบงานเขามากๆ แต่ผมกลับคิดว่านั่นน่ะโกหกทั้งเพ ผมเลยเขียนเรื่องราวที่สมจริงกว่าเขา และค่อนข้างไปทางตลกด้วย แต่คุณครูกลับโกรธผม

อุราซาวะ เริ่มวาดการ์ตูนตั้งแต่ 5 ขวบ พ่อแม่ของเขามักออกไปทำงานนอกบ้าน ปล่อยเด็กน้อยอยู่กับคุณตาคุณยาย เขาไม่มีเพื่อนเล่น เวลาว่างจึงวาดการ์ตูนโดยลอกลายเส้นของ เทซึกะ โอซามุ ปรมาจารย์มังงะเจ้าของผลงานเจ้าหนูปรมาณู ลงบนด้านหลังใบปลิว เมื่อเข้าเรียนชั้นประถมเขาตะลุยวาดการ์ตูนของตัวเองอย่างบ้าคลั่ง และวาดออกมาได้ดีจนผู้ใหญ่หลายคนประหลาดใจ

แม้จะเป็นเด็ก แต่เขากลับไม่ชอบการ์ตูนสำหรับเด็กๆ สักเท่าไร เด็กหนุ่มไล่อ่านการ์ตูนของเทซึกะ โอซามุ โดยเฉพาะเรื่อง ฮิโนโทริ วิหกเพลิง ที่เขาชอบมากและยกย่องเป็นพิเศษ

ฮิโนโทริ พูดเรื่องราวของมนุษย์ที่พยายามต่อสู้ชีวิต เผยให้เห็นความโง่เขลาและสกปรก เหมือนเป็นนิยายแฝงปรัชญาในคราบการ์ตูน อุราซาวะฝันว่าวันหนึ่งอยากจะสร้างผลงานแบบนี้บ้าง

“ภาพวาดของโอซามุนั้นน่ารัก หลายคนจึงมองว่าเป็นการ์ตูนสำหรับเด็ก แต่เขาทำมันแตกต่างออกไป มีความลึกซึ้งเหมือนนวนิยาย หลายเรื่องสอนว่า ท้ายที่สุดแล้วความยุติธรรมอาจไม่ได้ทำให้เราชนะ หรือแม้แต่ชัยชนะก็อาจนำมาซึ่งสิ่งที่น่าเศร้าและความว่างเปล่าได้ ผมรู้สึกว่าเนื้อหามันลึกยิ่งกว่าหนังสือบางเล่มเสียอีก”

เมื่อมีโอกาสเขียนการ์ตูนของตัวเอง อุราซาวะจึงพยายามสะท้อนแก่นแท้ของมนุษย์ลงไปในงาน ก่อนวาด เขาจะสัมภาษณ์ตัวละครทุกตัว เพื่อให้เข้าใจภูมิหลังของคนๆ นั้น

“ผมอยากรู้เกี่ยวกับตัวละครทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นตัวละครหลักหรือมีบทเพียงเล็กน้อย เช่น ตอนเด็กๆ เป็นยังไง ขุดลึกหาเบื้องหลังชีวิตของพวกเขา แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวหลักเลยก็ตาม เมื่อทำอย่างนั้น ตัวละครที่ไม่มีบทพูดก็อาจกลายตัวละครที่สำคัญในเรื่องอย่างน่าประหลาดใจได้”

อีกอย่างหนึ่งที่เป็นสไตล์ของอุราซาวะ คือการวาดให้ตัวละครแสดงออกทางสีหน้า มองตรงและสบตากับผู้อ่าน ซึ่งเป็นแนวทางที่นักเขียนส่วนใหญ่ไม่ทำกัน เนื่องจากทำได้ยากและดูจริงจังเกินไป แต่เขาเลือกใช้เพราะทำให้รู้สึกเหมือนตัวละครกำลังสื่อสารกับเราโดยตรง จึงมีพลังยิ่งกว่า

ด้วยวิธีการเช่นนี้ ทำให้ผลงานของเขาใกล้เคียงความจริงและลุ่มลึก อย่างที่หลายคนยกย่องว่าเหมือนกับได้ชมภาพยนตร์ดีๆ สักเรื่อง

จงอย่าทิ้งความเชื่อมั่น

นอกจากการ์ตูนแล้ว ในวัยมัธยม เด็กหนุ่มยังคลั่งไคล้ บ็อบ ดีแลน โดยเขาเลือกเข้าชมรมดนตรี พร้อมๆ กับใช้เวลาว่างวาดการ์ตูนไปด้วย

เดิมทีอุราซาวะไม่ได้ตั้งใจจะเป็นนักวาดมังงะอาชีพ เขาเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์เพราะอยากทำงานในบริษัทสักแห่ง แต่ระหว่างหางาน ต้นฉบับเรื่อง Return ซึ่งเล่าถึงโลกที่มนุษย์ไล่ทำลายหุ่นยนต์อย่างไร้ความปราณี แต่กลับมีมิตรภาพระหว่างเด็กชายกับหุ่นยนต์ชำรุดเกิดขึ้น ก็ไปเตะตาบรรณาธิการสำนักพิมพ์โชกากุคังเข้าอย่างจัง จนได้รับรางวัลนักเขียนหน้าใหม่ ชายหนุ่มจึงได้ทำงานเป็นผู้ช่วยนักเขียน ก่อนมีโอกาสทำผลงานเรื่องยาวของตัวเอง

ในวัย 22 ปี อุราซาวะตั้งใจจะเขียนการ์ตูนที่ลึกซึ้งแบบ เท็ตสึกะ โอซามุ แต่เมื่อนักเขียนหนุ่มเสนอพล็อตการ์ตูนเกี่ยวกับวงการแพทย์ที่ค่อนข้างซับซ้อน กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ต่างกังวลว่า ประสบการณ์อันน้อยนิดของเขาอาจทำให้งานออกมาไม่ดีเท่าที่ควร บรรยากาศการประชุมจึงเครียดและจริงจังกันมาก ว่าจะทำอย่างไรต่อ

อุราซาวะสังเกตว่า บรรณาธิการเป็นแฟนตัวยงของกีฬาเบสบอล เวลาพูดถึงทีมโปรดจะดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาทันที เขาจึงลองเสนอแบบติดตลกว่า “ทำไมเราไม่ลองเขียนเกี่ยวกับยูโดผู้หญิงบ้างล่ะ” ทันใดนั้นบรรณาธิการก็ตาลุกวาว พร้อมกับพูดว่า “โอ้ จริงด้วย” และนั่นคือจุดเริ่มต้นการ์ตูนอาชีพเรื่องแรกคือ ยาวาระ-Yawara!

ผมคิดว่าถ้าการ์ตูนไม่ได้รับความนิยม ผมจะไม่มีทางได้วาดการ์ตูนอย่างที่ตัวเองชอบอย่างแน่นอน จึงพยายามคิดการ์ตูนที่จะไปสู่ผู้อ่านในวงกว้าง ในที่สุดก็เกิดเป็น ยาวาระ

เรื่องของนักยูโดสาวเปี่ยมพรสวรรค์ที่อยากใช้ชีวิตเรียบง่ายแบบเด็กสาวทั่วไป แต่ดันมีความสามารถโดดเด่นจนปู่ของเธอผลักดันให้ต้องลงแข่งขันอยู่บ่อยๆ ทั้งที่ไม่อยากเลยสักนิด

ในปี 1986 ตอนที่การ์ตูนเรื่องนี้ตีพิมพ์ในนิตยสาร Big Comic Spirits ชาวญี่ปุ่นไม่ได้นิยมยูโดหญิงเลยแม้แต่น้อย แต่ด้วยการผูกเรื่องที่สนุกสนานของอุราซาวะ ทำให้มีผู้อ่านติดกันงอมแงม ยาวาระขายได้ถึง 30 ล้านเล่มทั่วญี่ปุ่น และเมื่อ เรียวโกะ ทานิ นักยูโดสาวชาวญี่ปุ่นคว้าเหรียญเงินโอลิมปิกได้สำเร็จ สื่อมวลชนต่างตั้งฉายาให้เธอว่า ยาวาระจัง

หลังจากเขียนติดต่อกันมา 7 ปี อุราซาวะตัดสินใจจบเรื่อง แม้ว่าแฟนๆ และกองบรรณาธิการต่างไม่อยากให้ยุติเพียงแค่นี้ ถึงกับมีคำพูดตัดพ้อว่า ‘เขาเป็นคนเดียวที่ไม่ถูกยาวาระทอดทิ้ง!’

ระหว่างที่เขียนยาวาระ อุราซาวะร่วมมือกับเพื่อนนักเขียน วาดมังงะอีกเรื่องหนึ่งชื่อ Master Keaton เป็นเรื่องเกี่ยวกับสืบสวนคดี แม้จะไม่ใช่ผลงานเดี่ยวแต่ก็เป็นแนวเรื่องแบบที่อุราซาวะสนใจ

เมื่อผลงานทั้งสองเรื่องจบลง อุราซาวะ คิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะได้ทำงานการ์ตูนแบบที่ตัวเองชอบเสียที แต่เมื่อเสนอพล็อตการ์ตูนเรื่องใหม่ซึ่งเล่าถึงแก่นแท้ธรรมชาติมนุษย์ สำนักพิมพ์ก็ตอบกลับมาว่า “ช่วยวาดการ์ตูนกีฬา อีกสักเรื่องเถอะ แฟนๆ รอคอยสิ่งนั้น”

นักเขียนหนุ่มไม่ปฏิเสธ เพียงแต่ครั้งนี้หาทางแทรกสิ่งที่เขาต้องการลงในการ์ตูนกีฬา กลายเป็นเรื่อง Happy! ที่เล่าถึงหญิงสาวที่รับภาระหนี้จากพี่ชาย โดยต้องเลี้ยงดูน้องสามคนในห้องเช่าสุดโทรม ก่อนที่จะต้องไปทำงานเป็นสาวบริการในบาร์ เธอก็พบว่าอาจหาเงินมาใช้หนี้ได้ด้วยการเล่นเทนนิส แต่ทุกอย่างก็ไม่ง่าย เพราะต้องหนีการทวงของแก๊งยากูซ่าตลอดเรื่อง

Happy! น่าจะเป็นการ์ตูนเทนนิสที่มีเรื่องนอกสนามเข้มข้นที่สุดในประวัติศาสตร์ อุราซาวะใส่ความอิจฉาริษยาในการ์ตูนกีฬาที่เข้าถึงง่าย ถ่ายทอดแก่นแท้ความเป็นมนุษย์ตามที่ต้องการ และเป็นอีกครั้งที่ผลงานประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ

อย่างไรก็ตาม การเขียนถึงแง่มุมที่ซับซ้อนในจิตใจนั้นไม่เคยง่าย ช่วงแรกที่เขียน Happy! อุราซาวะรู้สึกว่าฝีมือของตนไปไม่ถึงคุณภาพการ์ตูนที่ตั้งใจไว้

“ผมเพียงต้องการวาด ด้านอื่นหรือแก่นแท้ความเป็นมนุษย์ แต่ผมไม่มีความสามารถนั้น เมื่อลงมือวาด ผมรู้สึกว่ามันเป็นช่วงที่ยากมาก”

นักเขียนหนุ่มต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว เผชิญหน้ากับความสับสนว่าควรไปทางไหน สิ่งหนึ่งที่ผลักดันให้เขายังคงเดินหน้า คือวิถีชีวิตอันเด็ดเดี่ยวของอีกหนึ่งฮีโร่ในวัยเด็ก – บ็อบ ดีแลน

ในยุค 60 บ็อบ ดีแลน ได้รับฉายาว่าราชาเพลงโฟล์กต่อต้านสงคราม แต่แล้วเขาก็เปลี่ยนแนวทางมาจับกีตาร์ไฟฟ้าเล่นเพลงร็อกแอนด์โรล ซึ่งทำให้แฟนๆ ไม่พอใจอย่างมาก ในคอนเสิร์ตเต็มไปด้วยเสียงโห่ ทว่าต่อหน้าแฟนที่กำลังโกรธเกรี้ยว บ็อบยังคงร้องเพลงร็อกแอนด์โรลที่เชื่อมั่น แรงบันดาลใจเรื่องนี้ทำให้อุราซาวะกลับมาเผชิญหน้ากับการ์ตูนอีกครั้ง หลังจากนั้นไม่นานเขาก็สามารถถ่ายทอดความอิจฉา ด้านที่เลวร้าย และด้านอื่นในจิตใจมนุษย์ลงสู่ปลายปากกาได้

Monster ผลงานเรื่องถัดมา อุราซาวะได้ทำการตูนสืบสวนแนวจิตวิทยาที่อยากทำมานาน เรื่องของหมอชาวญี่ปุ่นที่ช่วยเด็กชายคนหนึ่ง ต่อมาเด็กคนนั้นโตขึ้นเป็นฆาตกรต่อเนื่องที่เต็มไปด้วยด้านมืดในใจ หมอจึงรู้สึกว่าตนเองต้องรับผิดชอบและไล่ตามเพื่อหยุดยั้งเขา

“ผมชอบนวนิยายแฟรงเกนสไตน์มาก ในแง่มุมของนักวิทยาศาสตร์ที่สร้างสัตว์ประหลาดขึ้นมาและต้องรับผิดชอบกับมัน นอกจากนี้ยังชอบภาพยนตร์ The Fugitive ซึ่งเกี่ยวกับแพทย์ที่ภรรยาของเขาถูกฆ่า ทำให้ผมดัดแปลงมาเป็น Monster ฉากในเรื่องนี้เป็นประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ยิ่งเข้าสู่เรื่องราวมากเท่าไรก็ยิ่งชัดเจนว่ารากของความขัดแย้งมาจากสงครามโลกครั้งที่สอง”

เรื่องราวอันเข้มข้น สะท้อนความดีความชั่วของมนุษย์อย่างตรงไปตรงมา ฉีกแนวการ์ตูนเรื่องอื่นๆ ทำให้ Monster โด่งดังเป็นปรากฏการณ์ ขายได้ถึง 20 ล้านเล่ม รวมถึงแปลเป็นภาษาอังกฤษและเยอรมัน ชื่อของ นาโอกิ อุราซาวะ จึงเป็นที่รู้จักในหลายประเทศทั่วโลก

เด็กๆ จากศตวรรษที่ 20

20th Century Boys แก๊งนี้มีป่วน ผลงานเรื่องถัดมาของอุราซาวะ ประสบความสำเร็จอย่างสูง เกินกว่าเรื่องใดๆ ที่เขาเคยวาดมา

ชื่อเรื่องมาจากชื่อเพลงร็อกแอนด์โรลที่โด่งดังในยุค 70 เนื้อหาเกี่ยวกับผู้นำลัทธิที่พยายามจะครองโลก กับ นักร้องร็อกแอนด์โรล เพื่อนเก่าที่พยายามหยุดยั้งความทะเยอทะยานนั้น เรื่องเต็มไปด้วยความลึกลับ น่าตื่นเต้น หลังจากออกมาได้ 8 ปี การ์ตูนขายไปถึง 18 ล้านเล่ม

อย่างไรก็ตามในช่วงที่เรื่องกำลังใกล้เข้าจุดไคลแมกซ์ กลับหยุดที่เล่ม 22 แบบดื้อๆ ท่ามกลางความงุนงงคาใจของผู้อ่าน ปมปริศนามากมายยังรอการเฉลย เพื่อนคนล่าสุดคือใคร? ทำไมจึงทำเช่นนั้น

คำตอบที่หลายคนไม่รู้คือ อุราซาวะ วาดต่อไม่ไหว

ชีวิตของนักเขียนรายสัปดาห์มีความคล้ายคลึงกัน คือต้องโหมทำงานต่อเนื่องโดยแทบไม่มีเวลาหยุดพัก

การทำงานแต่ละตอน อุราซาวะจะเริ่มต้นด้วยการประชุม ระดมความคิดกับทีมงาน หนึ่งในนั้นคือ ทาคาชิ นางาซากิ บรรณาธิการที่ร่วมทำงานกับเขามากว่า 20 ปี หลังจากนั้นเขาจะเก็บตัวอยู่เพียงลำพังเพื่อคิดเรื่องต่อและลงมือเขียนสตอรีบอร์ด ในห้องเงียบสงัด ไม่มีเสียงเพลงใดๆ

เบื้องหน้ากระดาษว่างเปล่า เขาจะทบทวนความคิดกลับไปกลับมา จนตกผลึกแล้วจึงเริ่มร่างภาพ วางกรอบ มุมภาพ บทสนทนา กระบวนการนี้คือการถ่ายทอดจินตนาการออกมาสู่ลายเส้น

เมื่อสตอรีบอร์ดเสร็จ เขาจะส่งไปให้ นางาซากิดูอีกครั้ง หากไม่มีอะไรติดขัด ก็จะโทรศัพท์เรียกผู้ช่วยเข้ามาทำงาน ใช้เวลาที่เหลือจัดการต้นฉบับ 24 หน้าจนสำเร็จ เวลานี้เองที่เพลงร็อกแอนด์โรลจะดังกระหึ่มในห้องทำงานอีกครั้ง แม้จะเร่งรีบ แต่ก็ได้ยินเสียงหัวเราะเสมอจนถึงเวลาส่งต้นฉบับ จากนั้นทุกอย่างก็กลับไปเริ่มต้นใหม่

เคยมีพิธีกรโทรทัศน์ ถามว่าวิธีทำงานเป็นอุตสาหกรรมเช่นนี้ ทำไมถึงยังสร้างผลงานออกมาได้อย่างน่าทึ่ง เขาตอบว่า

“มันคงเป็นความกลัว กลัวในทุกๆ ครั้ง ว่าถ้าผมทำอะไรแบบชุ่ยๆ มักง่ายออกไปเพื่อให้เสร็จเร็วๆ สุดท้ายแล้วคุณภาพงานจะแย่ลง ผุู้อ่านก็หายไป การหนีจากความกลัวเหล่านั้น ทำให้ผมต้องใส่ใจงานทุกๆ ชิ้น

ผมไม่ใช่อัจฉริยะ แต่ผมตั้งรั้วไว้สูงมากที่จะกระโดดข้ามไป เหมือนกับการปีนภูเขา ผมจะตั้งเป้าหมายไว้ที่จุดสูงสุด แม้ว่าหนทางมันจะยาก แต่ความยากนั้นมันคือส่วนหนึ่งในความสนุกของผม

ด้วยการทำงานอย่างหนักหน่วงติดต่อกันยาวนาน อุราซาวะประสบปัญหาปวดไหล่เรื้อรัง กระทั่งถึงตอนที่เขียน 20th Century Boys ไหล่ซ้ายของเขาเคลื่อนหลุด ทำให้เจ็บปวดมากจนทำงานต่อไม่ไหว และต้องหยุดเขียนไปเกือบปี

“อาการบาดเจ็บไม่ได้เกิดขึ้นที่มือขวาที่ผมใช้จับปากกา แต่เป็นไหล่ซ้ายเพราะผมใช้มือค้ำโต๊ะและยกไหล่อยู่ท่านั้น พอนั่งท่าเดิมนานๆ หลายปีเข้า กระดูกก็เริ่มแข็ง และทำให้ไหล่เคลื่อน หมอยังบอกเลยว่า กระดูกของผมนี่แย่พอๆ กับนักมวยปล้ำเลย” เขากล่าวติดตลก

หลังจากหยุดพักไปบำบัดอยู่ครึ่งปี อุราซาวะก็กลับมาเริ่มต้นซีรีย์ที่ค้างไว้อีกครั้ง เพียงแต่เปลี่ยนชื่อเป็น 21th Century Boys ซึ่งเป็น 2 เล่มสุดท้ายที่คลี่คลายเงื่อนงำต่างๆ และทำให้เรื่องราวจบลงอย่างสมบูรณ์

แม้บทสิ้นสุดของเรื่องจะไม่ได้เป็นไปตามที่แฟนๆ คาดไว้ แต่นักเขียนผู้ยึดแนวทางของบ็อบ ดีแลน อย่างเขารู้สึกพึงพอใจที่ได้วาดสิ่งที่ตนเองต้องการจริงๆ

ผมเชื่อเสมอว่า ถ้านำเสนออะไรที่น่าสนใจ ในวันหนึ่งแล้วผู้อ่านจะพบว่ามันน่าสนใจจริงๆ ถ้าไม่มีความรู้สึกนี้ในตอนที่วาด ผมจะไม่ยอมทำงานหนักขนาดนี้แน่นอน

ผมไม่ใช่อัจฉริยะ แต่ผมตั้งรั้วไว้สูงมากที่จะกระโดดข้ามไป เหมือนกับการปีนภูเขา ผมจะตั้งเป้าหมายไว้ที่จุดสูงสุด แม้ว่าหนทางมันจะยาก

Naoki Urasawa : นักเขียนมังงะ ผู้รักความซับซ้อนในใจมนุษย์

หนทางที่ยังยาวไกล

หากแต่อาการบาดเจ็บไหล่ ส่งผลให้อุราซาวะไม่สามารถโหมทำงานอย่างเร่งรีบได้เท่าเดิม

แต่เขาก็พยายามรักษาคุณภาพของผลงานไว้อย่างดีที่สุด ทั้ง PLUTO ตามล่านักฆ่าแอนดรอยด์ ซึ่งนำเรื่องเจ้าหนูปรมาณูของโอซามุมาตีความใหม่, ภาคต่อมาของ MASTER Keaton ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการไปเจอผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์สึนามิถล่มแล้วบอกเขาว่าชอบการ์ตูนเรื่องนี้มาก, BILLY BAT เรื่องราวเกี่ยวกับวงการการ์ตูนฮีโร่ค้างคาว เป็นต้น

แน่นอนว่า ทุกเรื่องล้วนเต็มไปด้วย ความซับซ้อนของมนุษย์ที่อุราซาวะหลงใหล

“ผมโตมากับการ์ตูนของเท็ตสึกะ โอซามุ และรู้สึกว่าตัวเองไม่เคยไปถึงจุดนั้นเลย มันยังเป็นหนทางอันยาวไกล

ชีวิตนักเขียนการ์ตูนทุกคนมีเดดไลน์วันส่งงาน ความเป็นมืออาชีพสำหรับผมคือ เราต้องทำให้ดีที่สุดต่อหน้าเดดไลน์นั้น

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • รายการ Professional ตอน Naoki Urasawa ทางสถานีโทรทัศน์ NHK
  • บทความ มนุษย์ ปีศาจและความตายในมังงะของ นาโอกิ อุราซาวะ โดย Bioscope
  • บทความ [นักวาดอาชีพ] เบื้องหลังนักเขียนการ์ตูนเจ้าของผลงาน 20th Century Boys เว็บไซต์ Nuchun
  • เว็บไซต์ Otaku News
  • เว็บไซต์ Crunchyroll
  • เว็บไซต์ All the Anime
  • เว็บไซต์ Wikipedia Japan

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.