“สู้ต่อไป ทาเคชิ”
วัยรุ่นยุค GenX มาถึง GenY คงคุ้นหูกับประโยคนี้ดี
ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า มาจากซีรีย์เรื่องไอ้มดแดง V1 ที่มีพระเอกชื่อ ‘ทาเคชิ ฮอนโก’
ยุคที่โลกถูกองค์การร้ายรุกราน จับตัวคนไปผ่าตัดเป็นมนุษย์ดัดแปลง ล้างสมองให้เป็นพวกเดียวกัน ชายหนุ่มคนหนึ่งหนีรอดออกมาได้ จึงตัดสินใจใช้พลังพิเศษที่ได้รับมา แปลงร่างเป็นยอดมนุษย์ ขี่มอเตอร์ไซค์คู่ใจออกต่อสู้กับฝ่ายอธรรม โดยมีท่าไม้ตายคือลูกถีบ ‘ไรเดอร์คิก’
ไอ้มดแดง หรือ Masked Rider คือหนึ่งในซีรีย์ซุเปอร์ฮีโร่ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก และมีการสร้างภาคต่อเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลายาวนานถึง 50 ปี!
คงต้องยกความดีความชอบให้กับ Shotaro Ishinomori ผู้ให้กำเนิดตัวละครตัวนี้ เขาออกแบบได้เท่ไม่เหมือนใคร พร้อมทั้งผูกเรื่องราวให้พระเอกมีปมในใจ มีจุดอ่อน แต่พยายามต่อสู้ถึงเพื่อช่วยเหลือคนอื่น จนเด็กๆ ดูแล้วติดกันงอมแงม
หลายคนอาจไม่รู้ว่า นอกจากไอ้มดแดงที่โด่งดังแล้ว ยังมีฮีโร่ตัวอื่นๆ ที่มาจากปลายปากกาและมันสมองของเขา เช่น โรโบคอน-หุ่นกระป๋องแดงสุดน่ารัก, โกเรนเจอร์-ขบวนการ 5 สี, คิไคเดอร์ ยอดมนุษย์คอมพิวเตอร์ ,Cyborg 009, นินจาอาราชิ ฯลฯ
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงขอชวนผู้อ่านไปรู้จักกับชีวิต ความฝัน และบุคคลสำคัญที่เป็นแรงบันดาลใจของนักสร้างยอดมนุษย์คนนี้
ในปี 2011 คลื่นยักษ์สึนามิ พัดถล่มชายฝั่งภูมิภาคโทโฮะกุ ประเทศญี่ปุ่น สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล ผู้คนเสียชีวิตนับหมื่น อาคารบ้านเรือนพังยับเยิน จนกล่าวได้ว่าเป็นภัยพิบัติรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาวอาทิตย์อุทัย
พิพิธภัณฑ์การ์ตูนอิชิโนโมริ ในเมืองอิชิโนะมากิ ตกอยู่ในชะตากรรมไม่ต่างกัน กระแสน้ำพุ่งเข้ามาอย่างรวดเร็วจนทำให้มีผู้ติดอยู่บนชั้น 3 มากถึง 41 คน ซึ่งรวมถึงเด็กๆ ด้วย กว่าเจ้าหน้าที่จะเข้ามาช่วยเหลือก็ปาเข้าไปถึงวันที่ 5 แล้ว ระหว่างรอคอย พ่อแม่หลายคนอ่านการ์ตูนของอิชิโนโมริให้ลูกฟังเพื่อปลอบประโลมใจ
แม้ครั้งนั้นโครงสร้างอาคารจะไม่ได้พังลงมา แต่ภายในชั้น 1 และ 2 ก็โดนคลื่นยักษ์ทำลายราบคาบ บรรดาหุ่นฮีโร่หักพัง ชิ้นส่วนกระจัดกระจาย จนต้องปิดซ่อมแซมไม่มีกำหนด
1 ปี 8 เดือน หลังสึนามิผ่านพ้น วันที่ 17 พฤศจิกายน 2012 พิพิธภัณฑ์ก็กลับมาเปิดอีกครั้ง โดยมีแขกรับเชิญผู้ทรงเกียรติ 170 คนร่วมเป็นสักขีพยาน และแฟนๆ ราว 4,000 คน ที่มารอเพื่อจะเข้าไปสัมผัสกับฮีโร่ที่เขารักอย่างเนืองแน่น
ภาพของไอ้มดแดงซีรีย์ต่างๆ ยืนเข้าแถวจับมือกับเด็กๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในสถานการณ์ที่ชาวญี่ปุ่นเพิ่งผ่านโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่มาหมาดๆ จนหัวใจบอบช้ำ การปรากฏตัวของบรรดาฮีโร่จึงมีความหมายอย่างมาก วันนั้นพวกเขามีรอยยิ้ม ลืมความโศกเศร้า และได้รับพลังที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้อีกครั้ง
“ไอ้มดแดง คือฮีโร่คนแรกของผม พวกเขาสอนให้ผมรู้จักความกล้าหาญ ต่อให้ล้มลงสักกี่ครั้ง แต่ในที่สุดแล้ว ไอ้มดแดงก็จะกลับมาจนได้” แฟนคนหนึ่งกล่าว
น่าเสียดายที่อิชิโนโมริ ไม่มีโอกาสรับรู้ถึงความรักที่แฟนๆ มีต่อผลงานของเขา เพราะนักวาดมังงะชื่อดังจากไปตั้งแต่ปี 1998 ด้วยวัยเพียง 60 ปี
แต่มันก็ช่วยยืนยันคำพูดที่ว่า ‘ชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว‘ – Ars longa, vita brevis ที่ผลงานดีๆ มักจะมีอายุยืนยาวกว่าผู้สร้างผลงานนั้น
ความจริงแล้ว อิชิโนโมริ เกือบจะไม่ได้เป็นนักเขียนการ์ตูน หากเขายอมเชื่อฟังคำของพ่อ ที่ต้องการให้ลูกคนนี้เอาดีทางรับราชการมากกว่า
แต่เพราะพี่สาวของเขาช่วยขอร้อง ในที่สุดบิดาจึงยอมให้เด็กหนุ่มเดินทางไปโตเกียว เพื่อทำงานเป็นผู้ช่วยของปรมาจารย์การ์ตูน เท็ตสึกะ โอซามุ ตามความฝัน
ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนี้เอง ที่คอยผลักดันน้องชายมาตลอด และกล่าวได้ว่าเธออยู่เบื้องหลังความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของนักเขียนการ์ตูนผู้สร้างฮีโร่ออกมามากมาย
ย้อนกลับไปในปี 1938 อิชิโนโมริ ลืมตาดูโลกที่จังหวัดมิยางิ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อตัวขึ้น มีชื่อจริงว่า Shotaro Onodera
เขากับพี่สาวคนโต – Yoshie Onodera สนิทกันมาก เธอเป็นโรคหอบหืด ร่างกายจึงไม่แข็งแรงมาตั้งแต่เล็ก อิชิโนโมริมักจะไปขลุกตัวในห้องพี่สาว เรียนตัวฮิรางานะ คาตาคานะ คันจิ เพลิดเพลินไปกับหนังสือ ทำให้รักการอ่านมาตั้งแต่นั้น
“สมัยเด็กๆ ผมเป็นกลากทั้งตัว จึงไม่ชอบใส่กางเกงขาสั้น และไม่อยากออกจากบ้านไปไหน ส่วนใหญ่ผมจะไปเล่นกับพี่โยชิเอะ ซึ่งก็อยู่บ้านเหมือนกัน”
เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ครูสั่งให้ลบเรื่องราวการสู้รบอันเจ็บปวดออกจากแบบเรียน หน้ากระดาษถูกถมด้วยหมึกดำ แถมผลพวงของสงครามยังทำให้ไม่มีหนังสือเด็กตีพิมพ์ออกมาเลย สองพี่น้องรู้สึกเบื่อหน่ายจึงใช้ปฏิทินเก่าเขียนตัวหนังสือ ตัดรูปภาพในนิตยสารมาสร้างหนังสือของพวกเขาเอง แต่งเรื่องสนุกกันไปตามจินตนาการ
เมื่ออิชิโนโมริ อายุได้ 11 ขวบ โยชิเอะจึงมอบหนังสือการ์ตูน เกาะมหาสมบัติ ของเท็ตสึกะ โอซามุ ให้ เขาอ่านแล้วชอบมาก จึงคัดลอกลายเส้นและเริ่มวาดการ์ตูนให้พี่สาวอ่าน
พอเรียนมัธยมต้น เด็กหนุ่มเจอมังงะในหนังสือพิมพ์ระดับชั้นมัธยม จึงส่งผลงานไปบ้าง ปรากฏว่าการ์ตูนสองช่องของเขาได้ตีพิมพ์ อิชิโนโมริดีใจมาก จากนั้นจึงพยายามวาดส่งไปตามสำนักพิมพ์ต่างๆ โดยเฉพาะมังงะโชเน็น นิตยสารการ์ตูนสำหรับเด็กชาย กระทั่งเริ่มเป็นที่รู้จัก ในฐานะนักเขียนรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง โดยเขาใช้นามปากกาว่า อิชิโนโมริ โชทาโร ซึ่งมาจากชื่อเมืองบ้านเกิด คือ อิชิโมริ
แล้ววันหนึ่งเขาก็ได้รับข่าวที่ไม่คาดฝันมาก่อน เมื่อ อาจารย์โอซามุ นักเขียนในดวงใจ ส่งโทรเลขตามให้มาช่วยงานช่วงปิดเทอมฤดูร้อน ตอนแรกพ่อจะไม่ยอมให้ไป แต่ด้วยการร้องขอจากโยชิเอะ ทำให้เด็กหนุ่มมัธยมปลายได้ไปโตเกียวเป็นครั้งแรกในชีวิต
เขาช่วยโอซามุเขียนฉากหลังในการ์ตูนเจ้าหนูอะตอม, ฮิโนโทริ วิหคเพลิง และริบบ้อน จ้าวอัศวิน เวลาสั้นๆ ช่วงนั้นเป็นประสบการณ์ที่มีค่าในการสัมผัสชีวิตจริงของอาชีพที่ใฝ่ฝัน
บรรณาธิการมังงะโชเน็น มองเห็นฝีมือจึงชวนให้ออกผลงานเดี่ยวชิ้นแรกคือ นิเคียวเทนชิ หรือนางฟ้าชั้นสอง เขาถือหนังสือการ์ตูนเล่มนั้นกลับบ้านมาและเปิดอ่านอย่างมีความสุขกับพี่สาว
หลังจบมัธยมปลาย อิชิโนโมริตัดสินใจเดินทางไปโตเกียวอีกครั้ง เพื่อเริ่มต้นอาชีพนักเขียนการ์ตูนมืออาชีพ ครั้งนั้นเพื่อนนักเขียนที่คุ้นเคยกันได้ชวนมาอยู่ที่หอพักโทกิวะ ซึ่งที่นี่เองได้ชื่อว่าเป็นแหล่งชุมนุมของบรรดานักเขียนการ์ตูนในตำนานของญี่ปุุ่น หนึ่งในนั้นคือ ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ และอาบิโกะ โมโตโอะ สองคู่หูผู้สร้างโดราเอมอน
“ผมต้องปิดทุกอย่างเป็นความลับ เพราะทุกคนในบ้านไม่เห็นด้วยที่ผมจะเป็นนักเขียนการ์ตูน พวกเขาไม่เชื่อว่าผมจะอยู่ได้เพราะสิ่งนี้ ยกเว้นพี่โยชิเอะคนเดียวที่คอยให้กำลังใจและสนับสนุน”
โชคร้ายที่พอมาอยู่โตเกียว นิตยสารการ์ตูนผู้ชายอย่างมังงะโชเน็น ก็ปิดตัวลง ทำให้อิชิโนโมริ ต้องหันไปเขียนงานลงนิตยสารการ์ตูนผู้หญิงแทน โดยบางวันจะมีบรรณาธิการของนิตยสารการ์ตูนดังๆ มาจ้างเขากับเพื่อนๆ ให้ช่วยวาดงานแทนนักเขียนการ์ตูนคนอื่นที่เขียนไม่ไหว ซึ่งทุกคนจะหยุดงานอื่นเพื่อมาช่วยกันปั่นงานร้อนให้ทันส่งเส้นตาย
ประมาณหนึ่งปี หลังจากที่อิชิโนโมริ ย้ายมาอยู่ที่โตเกียว โยชิเอะจึงตามมาอยู่กับน้องชายด้วยความเป็นห่วง โดยบอกกับพ่อแม่ว่าจะมารักษาตัวกับหมอที่โตเกียว เธอช่วยทำอาหารและดูแลความเป็นอยู่ของทุกคน ทำให้บรรยากาศของหอพักโทกิวะที่เต็มไปด้วยนักเขียนการ์ตูน ดูมีชีวิตชีวามากขึ้น
อิชิโนโมริ ถือเป็นดาวเด่นในรุ่น เขาวาดการ์ตูนได้เร็ว หลากหลาย และมักมีไอเดียใหม่ๆ อยู่เสมอ แม้ไม่ถึงกับดังเปรี้ยงปร้าง แต่ผลงานก็ได้ลงอย่างต่อเนื่อง เวลาที่วาด ชายหนุ่มมักนึกถึงพี่โยชิเอะไปด้วย เพราะเธอจะเป็นคนแรกที่ได้อ่าน คอยให้คำแนะนำ และกำลังใจกับเขามาโดยตลอดตั้งแต่เด็ก
“เมื่อเห็นพี่สาวที่ร่างกายอ่อนแอ ต้องอยู่ติดห้อง ทำให้ผมอยากวาดการ์ตูนให้เธออ่านอีกเรื่อยๆ พยายามคิดว่าเรื่องแบบไหนนะที่พี่จะอ่านแล้วมีความสุข”
แต่แล้วในวันหนึ่งก็เกิดเหตุไม่คาดฝัน โยชิเอะเสียชีวิตลงกะทันหัน ส่งผลให้นักเขียนหนุ่มหัวใจแทบแหลกสลาย
อากาศที่โตเกียวเต็มไปด้วยฝุ่นพิษ บ่อยครั้งที่อิชิโนโมริทำงานอยู่ แล้วได้ยินเสียงพี่สาวไอออกมาไม่หยุด แต่เขาไม่ได้เอะใจ เพราะเธอเป็นแบบนี้ประจำมาตั้งแต่เด็ก
เช้าวันหนึ่งในเดือนเมษายน 1958 อาการหอบหืดรุนแรงกว่าปกติ โยชิเอะหมดสติจนอิชิโนโมริและเพื่อนๆ ต้องพาไปส่งโรงพยาบาล พอเห็นพี่สาวอาการดีขึ้น เขาจึงขอตัวกลับและชวนเพื่อนๆ แวะไปดูหนัง โดยไม่รู้เลยว่าจะเป็นการจากลาครั้งสุดท้าย
เมื่อมาถึงหอพักโทกิวะ แม่ของฟูจิโอะ อะคัตซึกะ เพื่อนนักเขียน ที่รออยู่อย่างกระวนกระวาย ก็แจ้งข่าวร้ายว่าพี่สาวเสียชีวิตแล้วจากอาการช็อกเพราะใช้มอร์ฟีนเกินขนาด อิชิโนโมริแทบล้มทั้งยืน
“มีแต่คำว่า เสียใจ ผ่านเข้ามาในหัวผมนับครั้งไม่ถ้วน ผมไม่สามารถจะทำอะไรได้เลย และเริ่มคิดว่าควรจะวาดการ์ตูนต่อไปหรือเปล่า ในที่สุดจึงตัดสินใจว่าต้องหนีไปให้พ้นจากตรงนี้”
ในปีที่เพลง Ue o Muite Arukō หรือที่รู้จักกันดีในนามเพลง ‘Sukiyaki’ ของศิลปินญี่ปุ่น ซากาโมโตะ คีว ทะยานไปไกลถึงขั้นติดชาร์ตอันดับ 1 บน Billboard ของอเมริกา อิชิโนโมริ ขอค่าต้นฉบับล่วงหน้าจากสำนักพิมพ์ แล้วออกเดินทางไปอเมริกา ยุโรป และเอเชีย เป็นเวลาสามเดือน
“ตอนนั้นผมคิดจะเลิกเขียนการ์ตูนแล้ว และหาทางทำงานอื่นเพื่อมาใช้หนี้ตอนที่กลับมาที่ญี่ปุ่น”ป
แม้ไม่อาจสลัดความเสียใจออกไปได้หมด แต่การเดินทางครั้งนั้นก็ไม่สูญเปล่า เพราะเขาได้ไอเดียเรื่อง ‘ไซบอร์ก’ หรือมนุษย์ดัดแปลงมาจากบทความในนิตยสาร LIFE ของอเมริกาโดยบังเอิญ จนกลายมาเป็นการ์ตูนซุเปอร์ฮีโร่เรื่องแรกๆ ในญี่ปุ่นที่ชื่อว่า Cyborg 009
Cyborg 009 เป็นการรวมตัวของฮีโร่ที่ 9 คน มาจากชาติต่างๆ แต่ละคนมีทักษะพิเศษของตัวเอง ไอเดียนี้อิชิโนโมริได้มาจากตอนอยู่หอพักโทกิวะ ซึ่งเพื่อนนักเขียนถนัดกันคนละด้าน แต่ก็มารวมพลังขับเคลื่อนวงการการ์ตูนไปด้วยกัน เขายังคิดว่าถ้ามีแต่ผู้ชายอย่างเดียวคงจะน่าเบื่อ จึงให้มีสมาชิกเป็นผู้หญิง ผู้สูงอายุและเด็กทารกด้วย
“ไซบอร์กที่ร่างกายมีเครื่องจักรกล เลยมีความสามารถหลากหลาย เคลื่อนที่ได้รวดเร็ว และมีอาวุธติดอยู่ในร่างกาย และคงดีถ้าเขาแปลงร่างได้ด้วย ตอนแรกผมคิดว่า 9 คนดูเยอะไปหน่อย ถ้าทุกคนร่วมมือกันจะสร้างความแตกต่าง เหมือนที่เราเคยช่วยกันที่หอพักโทกิวะ”
จากที่เคยคิดถึงแต่พี่สาว เขาเปลี่ยนมานึกถึงรอยยิ้มของผู้อ่าน และกลับมาจมดิ่งกับมังงะอีกครั้ง
หลังจากเผยแพร่ออกไป การ์ตูนฮีโร่เรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ได้ลงตีพิมพ์ในนิตยสารกว่า 10 ฉบับ และรวมเล่มขายได้มากกว่า 10 ล้านเล่ม ทำให้ชื่อของอิชิโนโมริเป็นที่รู้จักไปทั่วญี่ปุ่น และยิ่งกว่านั้นคือมันสร้างความสุขให้กับทุกคน
ผมเชื่อว่าพลังแห่งความรักจะทำให้เราได้ครอบครองมันได้อีกครั้ง นั่นจะเป็นหัวใจที่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรมที่แท้ คนที่มีสิ่งนี้คือฮีโร่ที่แท้จริง
จุดเริ่มต้นของซีรีย์ไรเดอร์ ที่สร้างชื่อให้กับเขามากที่สุด เกิดขึ้นในปี 1971
เวลานั้นเด็กๆ ชาวญี่ปุ่นกำลังตื่นเต้นกับอุลตร้าแมน ของบริษัทซึบูราย่า ที่เป็นละครซีรีย์ฉายทางโทรทัศน์ ทำให้บริษัทคู่แข่งอย่างโทเอะ ต้องส่งทีมงานมาขอร้องให้อิชิโนโมริ สร้างฮีโร่ตัวใหม่เพื่อออกไปแข่งขันกับเหล่าอุลตร้า
“เราอยากได้ยอดมนุษย์ที่สอนให้เด็กๆ รู้จักความยุติธรรม และความดี” ทีมงานยื่นโจทย์ให้เขา
ตอนแรกอิชิโนโมริวาดเสนอไปหลายแบบมาก แต่กองบรรณาธิการยังไม่พอใจ หนึ่งในนั้นคือ มนุษย์หัวกระโหลก หรือ Skull Man ซึ่งเขาชอบ แต่ถูกวิจารณ์ว่าน่ากลัวและดูมืดหม่น
นักเขียนวัย 34 พยายามหาแรงบันดาลใจจากสิ่งรอบตัว ก่อนเล็งเห็นว่าของสะสมของเด็กญี่ปุ่นในสมัยนั้นส่วนใหญ่จะเป็นแมลง จึงนำเอาความคิดนี้มาปรับให้เข้ากับมนุษย์หัวกะโหลก กลายเป็นต้นแบบตัวละครไอ้มดแดง V1 ซึ่งมาจากตั๊กแตน ไม่ใช่มดอย่างที่หลายคนเข้าใจ!
มีเรื่องเล่าว่าตอนที่เลือกแบบ ลูกชายของเขาอยู่ด้วย อิชิโนโมริจึงถามว่าตัวไหนเท่ที่สุด ก่อนที่เด็กน้อยจะจิ้มไปที่มนุษย์ตั๊กแตน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยากไม่แพ้กันคือ จะสร้างเรื่องราวของฮีโร่ตัวนี้อย่างไรให้โดนใจผู้ชม
อิชิโนโมรินึกถึงพี่สาว ผู้หญิงที่ยอมเสียสละความสบายส่วนตัวเพื่อมาดูแลน้องชายถึงโตเกียว สนับสนุนทุกอย่างเพื่อให้เขาเป็นนักเขียนการ์ตูน ทั้งหมดนี้มาจากความรักอันบริสุทธิ์ของเธอ
เขาเชื่อว่าทุกคนมีหัวใจที่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรมมาตั้งแต่เกิด แต่พอโตขึ้นเราจะค่อยๆ สูญเสียมันไป ปล่อยให้ความโลภ ความอิจฉาริษยา ความโกรธเกลียด อคติครอบงำ ทางเดียวที่จะเรียกคืนกลับมาได้ คือต้องใช้พลังแห่งความรัก
“ผมเชื่อว่าพลังแห่งความรักจะทำให้เราได้ครอบครองมันได้อีกครั้ง นั่นจะเป็นหัวใจที่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรมที่แท้ คนที่มีสิ่งนี้คือฮีโร่ที่แท้จริง”
ด้วยเหตุนี้อิชิโนโมริจึงผูกเรื่องให้ ทาเคชิ ฮอนโก ถูกจับไปดัดแปลงให้เป็นเบี้ยตัวหนึ่งในองค์กรชั่วร้าย แทนที่จะใช้ร่างกายที่มีพลังพิเศษยึดครองโลกกับพวกมัน เมื่อหนีออกมาได้ เขากลับเลือกต่อสู้กับฝ่ายอธรรมเพื่อปกป้องคนที่เขารัก รวมถึงปกป้องเพื่อนมนุษย์คนอื่นด้วย
หลายครั้งที่ไอ้มดแดงเกือบเพลี่ยงพล้ำ หรือจวนเจียนแพ้ แต่พลิกกลับมาเอาชนะได้ในที่สุด เพราะอิชิโนโมริต้องการบอกผู้ชมว่า ไม่ว่าจะลำบากหรือสิ้นหวังขนาดไหนก็ตาม ขอให้มีความกล้าหาญที่จะสู้ต่อไปเพื่อสิ่งที่ถูกต้อง โดยไม่ยอมแพ้ ดังคำพูดที่ว่า “สู้ต่อไป ทาเคชิ”
ด้วยความเท่ของตัวละคร และเรื่องราวที่ลึกซึ้ง ทำให้ไอ้มดแดงกลายเป็นละครทีวีซีรีย์ที่โด่งดังเป็นพลุแตก ไม่ใช่แค่ในญี่ปุ่น แต่ไปไกลทั่วโลก และมีการผลิตไอ้มดแดงตัวอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย
ความสำเร็จของตระกูลไรเดอร์ ทำให้อิชิโนโมริมีโอกาสสร้างฮีโร่ตัวอื่นๆ ออกมาอีก
แต่ไม่ว่าจะมีพลังพิเศษอย่างไร ฮีโร่ของเขาก็จะมีข้อบกพร่องเหมือนคนทั่วไปที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบทุกด้าน
มนุษย์จักรกลคิไคเดอร์ มักลังเลระหว่างความดีและความชั่ว หุ่นคอมพิวเตอร์โรโบคอน มักทำอะไรพลาดพลั้งอยู่เสมอ ขบวนการห้าจอมพิฆาตโกเรนเจอร์ ก็ไม่ได้เก่งจนปราบสัตว์ประหลาดได้ด้วยตัวคนเดียว พวกเขาต้องรวมกันถึงสร้างพลังที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ ฯลฯ
ข้อบกพร่องของฮีโร่เหล่านี้จะถูกเติมเต็มเข้ามา ด้วยการพยายามต่อสู้เพื่อคนอื่นอย่างสุดความสามารถ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาอยากให้เด็กๆ นำไปเป็นแบบอย่าง
ตลอดชีวิตของอิชิโนโมริอุทิศให้กับการทำงานเพื่อความสุขของผู้ชม เคยมีการบันทึกสถิติลงกินเนสส์บุ๊ก เวิลด์ เรคคอร์ด ในปี 1998 ว่าเขาเป็นนักเขียนที่มีผลงานตีพิมพ์มากที่สุดในโลก ถึง 770 เรื่อง รวมแล้วถึง 128,000 หน้า
นักเขียนผู้นี้จากไปด้วยอาการหัวใจล้มเหลวเมื่ออายุ 60 ปี แต่ผลงานต่างๆ ยังโลดแล่นมาจนถึงทุกวันนี้ สมดังความตั้งใจที่ว่า
“ผมอยากทำให้ทุกคนจดจำผมผ่านมังงะ และทำให้ผมมีชีวิตต่อไปในหัวใจของเขา”
เสียงแห่งความทรงจำของนักพากย์การ์ตูนเบอร์ 1 ของเมืองไทย
ชีวิตของนักวาดการ์ตูนคนสำคัญ ผู้สร้างภาพประกอบให้แบบเรียนมานะ-มานี 2 เล่มแรก
เรื่องของบรรณาธิการสำนักพิมพ์การ์ตูนที่อยู่ในวงการมากว่า 40 ปี และยังคงครองความนิยมของผู้อ่านมาจนถึงทุกวันนี้
ย้อนเรื่องราวของนักเขียนการ์ตูนคนดัง ผู้สร้างแมวสีฟ้า โดราเอมอน จนโด่งดังไปทั่วโลก
นักหนังสือพิมพ์รางวัลแมกไซไซคนเดียวของเมืองไทย ผู้สร้างตำราพึ่งตนเองฉบับ ‘ขบวนการแก้จน’
ชีวิตที่ไม่ธรรมดาของผู้บุกเบิกวงการการ์ตูน ผู้ทำให้แบรนด์ Walt Disney กลายเป็นชื่อที่ทุกคนรู้จักทั่วโลก พร้อมกับตัวการ์ตูนสำคัญอย่าง มิกกี้เมาส์
จากนักแกะสลักน้ำแข็ง สู่สุดยอดทีมนักแกะสลักหิมะ ที่คว้าชัยในเทศกาลหิมะอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง พร้อมพิสูจน์ให้โลกได้เห็นว่า ถึงเมืองไทยไม่มีหิมะ เราก็สร้างที่ยิ่งใหญ่ได้
ย้อนเรื่องราวของหนังไทย ‘โหมโรง’ ที่สร้างปรากฏการณ์ฟีเวอร์ หลังเกือบถูกถอดจากโรง พร้อมกับจุดกระแสดนตรีไทยให้โด่งดังไปทั่ว
ย้อนเรื่องราวอัลบั้มในตำนานของสมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Bakery Music
DAJIM ศิลปินฮิพฮอพผู้จุดกระแสเพลงใต้ดินให้โด่งดังไปทั่วประเทศ
เส้นทางชีวิตของ จอห์น นูโว จากศิลปินยอดนิยม สู่ผู้บุกเบิกสื่อไอทีของเมืองไทย
ศิลปิน นักแต่งเพลง เจ้าของบทเพลง เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ) ผู้ที่ไม่เคยหยุดสร้างสรรค์ผลงานที่ล้ำสมัย
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.