ใครที่เป็นแฟนการ์ตูนขายหัวเราะ มหาสนุก ย่อมคุ้นเคยกับลายเส้นของ ‘อาวัฒน์’ เป็นอย่างดี
โจรมุมตึก คนติดเกาะ สามีภรรยาคู่กัด สาวสวยเซ็กซี ตลอดจนแก๊งตัวละครจากการ์ตูนเบบี้ อย่างลุงโฉลง หนูโหน่ง หนูหนุงหนิง หนูกระจี๊ หนูกะปิ ฯลฯ ไม่ว่าจะปรากฏตัวในแก๊กไหนๆ ก็เรียกรอยยิ้มได้เสมอ
อาวัฒน์ ไม่ได้ร่ำเรียนมาทางศิลปะโดยตรง แต่อาศัยใจรัก ฝึกฝน ขยันสร้างสรรค์งาน จนได้รับการยอมรับ ถึงวันนี้การ์ตูนของอา รับใช้ผู้อ่านมายาวนานกว่า 60 ปี
ในฐานะแฟนการ์ตูนคนหนึ่ง ยอดมนุษย์..คนธรรมดา อยากชวนไปรู้จัก ‘อาวัฒน์’ วัฒนา เพ็ชรสุวรรณ์ นักเขียนการ์ตูนเรียกเสียงหัวเราะ ระดับตำนานคนนี้มากขึ้น
เบื้องหลังลายเส้นอารมณ์ดี มีอะไรซ่อนอยู่บ้าง
สำหรับนักอ่านรุ่นเก๋า คงไม่มีใครไม่รู้จัก ‘เบบี้’ การ์ตูนเด็กที่เขียนโดยอาวัฒน์ทั้งเล่ม มีตัวละครมากมาย นำโดย ‘โหน่ง’ เด็กซน ของแท้ต้องชอบดูดจุกนมยางและมีผมเส้นเดียว ‘คุณโฉลง’ สามีตัวสูงโย่ง สวมแว่น และภรรยาผู้หญิงอ้วนๆ มีไฝชื่อ ‘คุณแต๋ว’
เบบี้ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2504 ในช่วงนั้นตลาดการ์ตูนเด็กและครอบครัวกำลังคึกคัก นำโดย ‘การ์ตูน ตุ๊กตา’ ของ พิมล กาฬสีห์ ที่เป็นผู้เปิดตลาดมาตั้งแต่ปี 2498
จากนั้น ในปี 2502 บันลือ อุตสาหจิต นายใหญ่ของสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น จึงส่งหนังสือการ์ตูน ‘หนูจ๋า’ ของจุ๋มจิ๋ม-จำนูญ เล็กสมทิศ มาเป็นคู่แข่งและประสบความสำเร็จพอๆ กัน
กลยุทธ์สำคัญคือการออกให้ถี่กว่า ขณะที่ตุ๊กตาออกเดือนละเล่มหรือนานกว่านั้น หนูจ๋า ก็ออกเดือนละ 2 เล่ม ไม่ให้ผู้อ่านต้องรอนาน
บันลือ พยายามมองหานักเขียนหน้าใหม่มาเสริมทีม เมื่อได้เห็นแววของอาวัฒน์ ซึ่งตอนนั้นวาดการ์ตูนเด็กอยู่ที่การ์ตูนหรรษา แถมมีประสบการณ์วาดการ์ตูนช่องตามหน้านิตยสารมาแล้ว จึงทาบทามมาออกการ์ตูนเดี่ยว รูปแบบเดียวกับหนูจ๋า
“คุณบันลือ ติดต่อกลับมาว่าจะให้ผมลองวาดการ์ตูนที่เป็นของตัวเองเลยเอาไหม ผมตอบตกลงทันที บอกเลยว่ารับปากแบบส่งเดช แต่บนความส่งเดชนั้นผมมีความมั่นใจว่าผมทำได้ ลองไปเปรียบเทียบงานของเรากับงานของนักวาดการ์ตูนคนอื่นของเราก็ไม่แย่ เราสู้เขาได้”
ตอนแรกเสนอชื่อหนังสือเป็นภาษาไทยไป 20 กว่าชื่อ แต่ไม่ถูกใจนายใหญ่แห่งบรรลือสาส์น เลย อาวัฒน์จึงลองเปลี่ยนมาคิดเป็นภาษาอังกฤษบ้าง พอเสนอชื่อ ‘เบบี้’ ก็ผ่านทันที
‘เบบี้’ กลายเป็นหนังสือเล่มแรกในชีวิตของวัฒนา ออกเป็นรายปักษ์ วางขายราคาเล่มละ 2.50 บาท เมื่อออกไปแล้วก็มีผู้อ่านติดตามอย่างเหนียวแน่น
อาวัฒน์วาดการ์ตูนเรื่องนี้ โดยให้ตัวการ์ตูนส่วนใหญ่เป็นเด็ก เพราะอยากให้ผู้อ่านตัวน้อย รู้สึกว่าตัวการ์ตูนเป็นเพื่อน
และด้วยความที่มีตัวการ์ตูนเยอะมากในช่วงแรกแม้แต่คนเขียนเองก็จำรายละเอียดได้ไม่หมด จึงต้องวาดแปะผนังเอาไว้ดูเทียบเคียงหน้าตาและการแต่งตัว วาดกี่ครั้งจะได้เหมือนกัน
แฟนๆ รุ่นจิ๋วถึงขนาดเขียนจดหมายมาถามว่า ทำไมตัวการ์ตูนพวกนี้ถึงสวมเสื้อผ้าชุดเดิมตลอดเวลา ไม่เหม็นแย่ หรือหน้าตาและท่าทางของตัวการ์ตูน คือสิ่งที่อาให้ความสำคัญมาก เขียนแล้วจะต้องขำ เหมือนมีชีวิตจริง ไม่ใช่แค่หุ่นตัวหนึ่ง ดังนั้นท่าทางอาจแสดงออกเกินจริงไปบ้างเพื่อความสนุกสนาน เช่น เวลาตกใจก็สะดุ้งโหยงตัวลอยจากพื้นเกินปกติ
แรงบันดาลใจของตัวการ์ตูนต่างๆ ในเบบี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน อาวัฒน์จับเอารูปร่างลักษณะหน้าตาของคนใกล้ตัวไปวาด ทุกตัวจึงมีชีวิตอยู่จริง นิตยสารเบบี้ฉบับหนึ่งเคยเอารูปคุณโฉลงและภรรยาตัวจริงมาให้ดูกันด้วย
“บุคลิกตัวละครของผมบางทีก็เหมือนชีวิตจริงผมนี่แหละ ส่วนตัวการ์ตูนที่เป็นเด็ก ๆ ส่วนมากก็เป็นลูกของเพื่อน ๆ ทั้งนั้น ไปบ้านเพื่อนเจอลูกเขาน่ารักดีก็เอามาวาดเป็นการ์ตูน หนูปุ๊ หนูแป้น หนูแกะ หนูเปีย หนูเป้า ส่วนตัวละครที่มีชื่อเสียงอย่างคุณโฉลงกับภรรยาก็เป็นเพื่อนที่ทำงาน หน้าตาเขาเป๊ะแบบที่ผมวาดเลยนะ”
เนื้อหาของเบบี้ มีทั้งการ์ตูนเรื่องสั้น เรื่องยาว การ์ตูนช่อง ตัวละครเป็นเด็กล้วนๆ และยังมีนิยายภาพเรื่องยาวที่มีเด็กโตขึ้นมาอีกหน่อยเป็นตัวเอก บางครั้งก็เป็นงานแปล มีคอลัมน์ต่างๆ เช่น เรื่องแปลกแต่จริง เกร็ดความรู้
อาวัฒน์ตั้งใจให้ เบบี้ เป็นการ์ตูนที่สะอาด เด็กอ่านได้โดยไม่มีพิษภัย จึงคัดกรองทั้งเนื้อหาและถ้อยคำในเรื่องอย่างพิถีพิถัน เรียกว่าถ้าหนูจ๋าเป็นเด็กผู้ชายที่ทะลึ่งทะเล้น เบบี้ก็เป็นเด็กผู้หญิงที่เรียบร้อยกว่า
“คำว่าการ์ตูน สำหรับผมหมายถึงเรื่องที่อ่านสนุก ขำๆ คลายเครียด เครียดจากงานก็มาอ่านการ์ตูน ไม่มีเรื่องเซ็กส์ เรื่องลามก ในการทำงานของผมพยายามหลีกเลี่ยงเรื่องพวกนี้ คือโป๊และสนุกมีอยู่ แต่ผมเอาไปลงขายหัวเราะ ซึ่งถือเป็นการ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่ ส่วนในเบบี้ผมไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย
“แม้แต่คำว่า ‘เสือก’ หรือคำว่า ‘ไอ้’ ผมก็พยายามหลีกเลี่ยง เพราะอยากให้หนังสือของเรา เข้าถึงโรงเรียน เข้าถึงบ้านได้”
ภาษาภาพหรือสัญลักษณ์การ์ตูนก็เช่นกัน ความที่ผู้อ่านเป็นเด็ก ไม่ได้มีประสบการณ์การอ่านมากนัก อาวัฒน์จึงใช้กลวิธีสื่อสารที่เรียบง่ายที่สุด
“หนังสือเบบี้ เป็นหนังสือสำหรับเด็กอ่าน ดังนั้นก็ต้องให้เด็กเข้าใจเรื่องได้ง่ายที่สุด ก็เลยสื่อด้วยภาษาพูดง่ายๆ แทน..
“อย่างคนนอนหลับไม่ต้องใช้ภาษาสัญลักษณ์ก็ได้ แต่เราให้นกบนต้นไม้พูดแทน ว่าคนๆ นี้กำลังนอนหลับก็ได้ใจความเหมือนกัน เรื่องของการ์ตูนไม่มีอะไรบังคับตายตัว มันแล้วแต่เทคนิกของนักเขียนแต่ละคน จะทำยังไงให้ผู้อ่านเข้าใจ”
เบบี้ ไม่เพียงประสบความสำเร็จทางด้านยอดขาย และอยู่ยืนยาวมากว่า 50 ปี การ์ตูนเรื่องนี้ยังได้รับรางวัลจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ประจำปี 2533, 2534, 2537 และรางวัลดีเด่นเพื่อเยาวชน ประจำปี 2536, 2537, 2543 จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ เป็นเครื่องยืนยันถึงคุณภาพอีกด้วย
ย้อนกลับไปในวัยเด็ก อาวัฒน์ ชอบอ่านการ์ตูนมาก รวมไปถึงชอบวาดด้วย
“ผมไม่เคยเรียนด้านศิลปะมาก่อนแต่รักการวาดรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่งวาดรูปในหนังสือเรียนนี่ชอบมาก วาดจนโดนครูตีหลายต่อหลายหน แต่ผมก็ยังคงวาดไม่หยุด ครูสอนไปผมก็วาดไป ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมถึงหยุดวาดไม่ได้” นักเขียนอาวุโสให้สัมภาษณ์ไว้กับนิตยสารฉบับหนึ่ง
นักเขียนการตูนที่อาวัฒน์ชื่นชอบในสมัยนั้น เช่น ประยูร จรรยาวงษ์ ผู้เขียนขบวนการแก้จน การ์ตูนลิเกและล้อการเมือง, พิมล กาฬสีห์ คนเขียนการ์ตูนชุด ‘ตุ๊กตา’
อานำมาศึกษาเป็นแม่แบบ ลองวาดตาม ตามไปดูการทำงานของนักเขียนการ์ตูนมืออาชีพ เพื่อจดจำวิธีการทำงาน แล้วกลับมาเขียนการ์ตูนด้วยตนเอง
ตอนแรกลายเส้นอาจยังไม่ดีนัก แต่เมื่อพยายามต่อไป ผลงานก็ดีขึ้นเรื่อยๆ
อาวัฒน์เรียนหนังสือไม่จบ แต่เมื่อมีโอกาสวิ่งเข้ามา ก็ไม่เคยปฏิเสธ
ตอนสมัยวัยรุ่นเขาทำงานเขียนป้ายโรงหนัง ก่อนจะขวนขวายจนได้เขียนการ์ตูนตลกช่องในนิตยสารชาวกรุง และอาชญากรรม นับว่าเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง เป็นที่ถูกตาถูกใจผู้อ่าน ในนามปากกา ‘วัฒนา’
“ผมเรียนไม่จบเพราะเขียนการ์ตูนนี่แหละ ดังนั้นผมจึงต้องมุ่งมั่นมากกว่าคนอื่น ทำมันให้ถึงที่สุด”
จนกระทั่งมาเขียน เบบี้ คนจึงรู้จักนักเขียนชื่อวัฒนาเพิ่มมากขึ้น
พอตอนที่ วิธิต อุตสาหจิต ลูกชายคนโตของบันลือ มีไอเดียจะทำขายหัวเราะ ซึ่งเป็นการรวบรวมงานของนักเขียนหลายๆ คน เมื่อปี 2516 นักเขียนรุ่นใหญ่ของสำนักพิมพ์ก็เอาด้วย ทำให้อาวัฒน์ต้องรับผิดชอบเขียนเบบี้ทั้งเล่ม และเขียนขายหัวเราะร่วมกับคนอื่น เรียกว่าวาดการ์ตูนมือเป็นพัลวัน
“ช่วงชีวิตที่รุ่งเรืองของผมอยู่ในช่วงอายุ 20-30 ปี เพราะทำงานเยอะ เขียนการ์ตูนให้หลายโรงพิมพ์จนมันมากเกินไป ทำให้ต้องตัดสินใจค่อยๆ ทยอยยกเลิก สุดท้ายก็เหลืออยู่ที่บรรลือสาส์นที่เดียว แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงรุ่งๆ ยังไงผมก็ไม่หลงไม่เหลิงเพราะรู้สึกว่างานนี้มันถูกกับนิสัยของเรา ทำไปเรื่อยๆ แบบไม่มีปัญหา สบายๆ ผมยึดหลักนี้มาตลอด
“ไม่เคยขี้เกียจวาดการ์ตูนเพราะเป็นงานที่รักและฝังใจจริงๆ บางทีนอนแล้วนึกได้ก็ลุกขึ้นเขียนทันที เราจดจ่ออยู่กับงานไม่เลิก”
ไม่เคยขี้เกียจวาดการ์ตูนเพราะเป็นงานที่รักและฝังใจจริงๆ
แม้จะมีงานมากมายก่ายกอง แต่อาวัฒน์จะไม่นั่งเขียนอยู่ที่โต๊ะเพียงอย่างเดียว
สำหรับอาชีพคนเขียนการ์ตูน อาวุธสำคัญคือไอเดีย ต้องทันสมัยและเฉียบคม ดังนั้นจึงต้องติดตามข่าวสาร และออกไปเปิดหูเปิดตาอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเดินสนามหลวง เที่ยวต่างจังหวัด ตลาดนัด ศูนย์การค้า เพื่อให้ตัวเองกว้างขวางขึ้น จะได้รู้ว่าเด็กสมัยนี้พูดจากันอย่างไร
เพราะถ้าไม่รู้เรื่องเลยแล้วเขียนออกไปเชยๆ ไม่มีใครอ่าน
พอได้ไอเดีย อาวัฒน์จะร่างตัวหนังสือขึ้นมาก่อน ให้รู้ว่าเหลือเนื้อที่กระดาษสำหรับเขียนการ์ตูนได้เท่าไร จากนั้นจึงลงมือร่างภาพ ถ้ามีการสะกดคำ ผิด หรือยังไม่พอใจหน้าตาท่าทางของตัวการ์ตูนก็จะแก้ไขในขั้นตอนนี้เพื่อให้งานถูกต้องและดีที่สุด
ถัดมาคือการลงเส้นจริงด้วยหมึก ถ้าเป็นการ์ตูนขาวดำเมื่อลงเส้นเสร็จก็จบงาน แต่ถ้าเป็นการ์ตูนสี หรือภาพหน้าปกก็จะต้องลงสีอีกขั้นตอนหนึ่ง ก่อนจะเข้าสู่ระบบบรรณาธิการ โรงพิมพ์ ส่งไปถึงมือผู้อ่าน กระบวนการเป็นอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาตลอดหลายสิบปี
นอกจากขายหัวเราะ มหาสนุก เบบี้ อาวัฒน์ยังไปเขียนการ์ตูนลงในหนังสือพิม์ข่าวสด และมติชนสุดสัปดาห์ นับเป็นนักเขียนการ์ตูนที่มีผลงานสม่ำเสมอ ไม่เคยขาดช่วง ยกเว้นแต่ตอนป่วยหนักเท่านั้นที่อาว่างเว้นการเขียนไปร่วมปี
“ชีวิตด้านการงานของผมไม่มีมรสุมอะไร เพราะผมทำงานด้วยใจรักและมีความสุขตลอดเวลา ผมจึงทำอาชีพนี้ได้เรื่อยๆ
“เป็นอาชีพที่ผมชอบมาก มันอิสระ เราเขียนการ์ตูนมาขายเขาเหมือนเป็นฐานะลูกจ้าง แต่เขาไม่อาจมาบังคับให้เราเขียนอย่างโน้นอย่างนี้ คือเขาเป็นนายเราไม่ได้ เขาเป็นได้แค่นายทุน เราจึงมีอิสระทางความคิดมาก กรอบของเรามีเพียงว่าอย่าเขียนการ์ตูนหยาบโลน หรือเป็นพิษเป็นภัยกับสังคมเท่านั้น”
ความสุขและประโยชน์ที่ผู้อ่านจะได้รับ คือสิ่งที่นักเขียนอาวุโสท่านนี้ยึดถือเป็นหลักในการทำงานมายาวนานเกือบ 60 ปี
ในวัยเลข 8 สุขภาพของอาวัฒน์เปลี่ยนไปตามวัย ต้องเข้าออกโรงพยาบาล แต่ความคิดความคมคายในการปล่อยมุกก็เหมือนเดิม
กระทั่งคืนวันที่ 11 มกราคม 2565 อาวัฒน์ก็ได้จากไปชั่วนิรันดร์ แต่ผลงานที่เขารังสรรค์ ก็จะยังคงอยู่ในใจของแฟนๆ ตลอดไป
เสียงแห่งความทรงจำของนักพากย์การ์ตูนเบอร์ 1 ของเมืองไทย
นักเขียนเรื่องสยองขวัญของเมืองไทย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีอิทธิพลต่อผู้อ่าน และยังคงอยู่ในใจของผู้คนมาจนถึงทุกวันนี้
ชีวิตของนักวาดการ์ตูนคนสำคัญ ผู้สร้างภาพประกอบให้แบบเรียนมานะ-มานี 2 เล่มแรก
นักเขียน นักปราชญ์ เจ้าของซีไรต์เล่มแรกของเมืองไทย ผู้ทำให้คนไทยเปลี่ยนมุมมองต่อชาวอีสาน ผ่านหนังสือเรื่องลูกอีสาน
เรื่องของบรรณาธิการสำนักพิมพ์การ์ตูนที่อยู่ในวงการมากว่า 40 ปี และยังคงครองความนิยมของผู้อ่านมาจนถึงทุกวันนี้
หมอเมืองพร้าว ต้นแบบหนึ่งของหมอชนบท ผู้พยายามต่อสู้กับระบบราชการ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
โลกดนตรี ตำนานรายการคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ที่ศิลปินยุค 1970-2000 อยากขึ้นแสดงมากที่สุด เพราะใครที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีนี้ แสดงว่าดังแล้ว
ห้องทดลองกฎหมายของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่ทำงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิเรื่องสัญชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
นักออกแบบแดนปัตตานีที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพจำๆ เดิมของชายแดนใต้ ไปสู่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์
จากครูอาสาที่มาสอนดนตรีในชุมชนคลองเตย สู่การต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ที่จะเติบโตอย่างงดงาม
แรงบันดาลใจของพระอีสานผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.