ยุคนี้เวลานึกถึงของอร่อย ทุกคนก็คงมองหาร้านที่ได้ Michelin Star
แต่ถ้าเป็นเมื่อ 40-50 ปีก่อน รับรองว่าไม่มีอะไรการันตีความอร่อยได้ดีเท่ากับ ‘ป้ายเชลล์ชวนชิม’
ถึงขั้นที่เรียกว่า เห็นป้ายปุ๊บก็เดินเข้าร้านได้อย่างสบายใจ
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกท่านกลับไปพบเรื่องราวของป้ายในตำนานที่ครั้งหนึ่งร้านอาหารทั่วประเทศต่างถวิลหา ผ่านชีวิตและทัศนะของบุรุษผู้มากความสามารถที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์
เมืองไทยมีร้านเด็ดซุกซ่อนอยู่มากมาย กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ยอดนักชิม อาหม่อม ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เปิดตำนานที่เป็นสัญลักษณ์ความอร่อยคู่คนไทยมานานกว่าค่อนชีวิต
จุดเริ่มต้นของ เชลล์ชวนชิม ต้องย้อนไปไกลถึงปี 2504 เมื่อ ม.จ.ภีศเดช รัชนี ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมการขายและโฆษณาของบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทยในขณะนั้น ทรงต้องการหาวิธีประชาสัมพันธ์แบรนด์ของเชลล์ให้ติดปากผู้คน จึงได้ปรึกษา ม.ร.ว.ถนัดศรี ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้องชาย
“ท่านบอกว่าอยากโฆษณาอย่างหนึ่งที่เป็น Soft Sale ไม่ใช่ Hard Sale ก็มาคิดว่าคนไทยกินจุบกินจิบ กินตลอดทั้งวัน กินอาหารกลางวันเสร็จแล้ว ก็ต้องไปกินฝรั่งดองกันอีก กินข้าวเย็นเสร็จแล้วก็ต้องกินข้าวต้มกลางคืน กินได้ตลอดทั้งวัน เอาอย่างนี้แล้วกัน แนะนำอาหารอร่อยๆ ที่หาบเร่ แนะนำให้ฟรีและก็มาเช่าหน้าหนังสือพิมพ์”
ไอเดียนี้อาหม่อมได้จากหนังสือแนะนำร้านอาหารของยาง Michelin ซึ่งทำมานานกว่า 60 ปีแล้ว
ส่วนชื่อเรียกคอลัมน์ก็ต้องถกกันอยู่พักใหญ่ถึงลงตัว..
“คิดกันไปคิดกันมาเขียนกันไม่รู้กี่ร้อยชื่อ ผลสุดท้ายเห็นพ้องต้องกันว่า เอาเชลล์ชวนชิม ชิมนี่ไม่ได้หมายความว่ากินจนพุงปลิ้น หมายความว่าอะไรก็ดีก็ชิม แล้วเอามาบอก”
เชลล์ชวนชิมโดยถนัดศอ ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันที่ 17 กันยายน 2504 ก่อนจะโยกย้ายมายังนิตยสารอีกหลายหัว ทั้งฟ้าเมืองไทย ของเพื่อนซี้ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ในปี 2518 และมาประจำการที่มติชนสุดสัปดาห์ ตั้งแต่ปี 2531
เมนูแรกที่ได้รับเกียรติให้ลงคอลัมน์คือ ลูกชิ้นห้าหม้อหรือเกาเหลาลูกชิ้นมันสมองหมู บริเวณแพร่งภูธร
ส่วนหลักการชิมอาหารนี้ อาหม่อมบอกว่าง่ายนิดเดียว..
หนึ่งคือ ไม่กินฟรี เพราะเชลล์จัดงบค่ากินมาให้ครั้งละ 1,000 บาท กินเสร็จก็เอามาเขียน แต่ถ้าไม่อร่อยก็ข้ามไป
สองคือ ร้านที่ไป ต้องไม่หรู เพราะคนไทยส่วนใหญ่เป็นคนพื้นบ้าน กินอาหารประจำวันตามตรอกตามซอย
สามคือ เรื่องอาหาร ต้องอร่อย สะอาดพอสมควร และราคาสมเหตุสมผล
“ความสะอาดนั้นสุดแท้แต่จะพัฒนาเอา เราจะช่วยแนะนำให้สะอาดขึ้น สมมติว่าเขาขายดิบขายดี ได้เข้าอยู่ตึกรามบ้านช่อง ความสะอาดเขาก็มากขึ้น แต่ถ้าเขาหาบไป ความสะอาดในการล้างถ้วยชามมันก็ไม่มี อย่างก๋วยเตี๋ยวเรือ ชามก๋วยเตี๋ยวก็ใช้ทั้งรองฉี่ แล้วใช้ทั้งใส่ให้คนกินด้วย
“เพราะฉะนั้นเราก็จึงต้องส่งเสริมความสะอาด และให้ความรู้เป็นขั้นๆ ความสะอาดมาอันดับสุดท้าย เพราะคนไทยท้องแข็งอยู่แล้วใช่ไหม ภาษาจีนเขาถึงเขียนว่า เท้ยอิ้มกี่เจี๊ยะเชียงฉี่ ไม่เห็นแล้วกินอร่อย”
หลายคนอาจสงสัยว่า คุณชายถนัดศรีมีดีอะไร ถึงกลายเป็นสุดยอดนักชิมได้
เหตุผลสำคัญมาจากวิถีชีวิตในวัยเด็กที่โตในวังสระปทุม โดยคุณย่าคือหม่อมละมุน สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา เป็นผู้ว่าการห้องเครื่องในวังสระปทุม ขณะที่หม่อมเจริญ มารดาก็เป็นผู้ช่วยของ ม.ร.ว.เสงี่ยม สนิทวงศ์ ผู้ทำเครื่องเสวยถวายสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง จึงคุ้นเคยกับอาหารโบราณ สามารถแนะนำได้ว่าอาหารแต่ละอย่าง อร่อยหรือไม่อร่อยเพราะอะไร
“เราต้องรู้จักธรรมชาติของอาหารก่อน เช่นแกงต้มส้ม ไม่ใช่แกงส้ม บางคนไม่รู้จักแกงต้มส้ม แล้วเอามาปนกัน หรือไม่รู้ว่าแกงคั่วกับแกงเผ็ดนั้นผิดกันยังไง ทีนี้เราโตมากับห้องเครื่อง อยู่ในรั้วในวัง รู้ว่าอาหารชาววังเขากินอย่างไร แล้วเราก็ไปคลุกคลีกับพวกมหาดเล็ก พวกนั้นก็สอนให้กินนั่นกินนี่ ปลาร้าปลาแดกก็กินมาตั้งแต่ตัวเล็กตัวน้อย แม้แต่อาหารฝรั่งในวังเขาก็มีนะ หรือเครื่องจีน เรียกว่าเกาเหลา เจ๊กลักเป็นคนทำ คือเราก็มีคุณสมบัติอันนี้ ซึ่งไม่มีใครเขามีหรอก ทุกคนก็ทราบดี ท่านภีก็บอกว่า ทำได้อยู่คนเดียว”
ว่ากันว่า คอลัมน์เชลล์ชวนชิมมีอิทธิพลต่อวงการร้านอาหารเมืองไทยสูงมาก อาจินต์ นักเขียนคนดังเพื่อนซี้ของอาหม่อมบอกว่า โด่งดังมากถึงขั้นบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต้องตามไปกินเลยทีเดียว
จากรสนิยมการกินที่คนทั้งประเทศยอมรับทำให้ได้รับเกียรติจากต่างประเทศ แต่งตั้งให้เป็นสมาชิกของสโมสร L’ORDRE DE NAPOLEON ณ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2528 ซึ่งคัดเลือกจากบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ด้านอาหารและเครื่องดื่ม เช่นคนที่เขียนตำราเผยแพร่เรื่องคอนญัคให้คนอเมริกันทราบ
“คนไทยกินอาหารไม่เหมือนที่ฝรั่งกิน คนไทยจะไม่กินเนื้อสัตว์เป็นชิ้นๆ แต่จะปรุงหลายๆ วิธี ทั้งต้ม ยำ ย่าง ทอด แต่ไม่มีผัด คนไทยกินอาหารครบห้าหมู่มานานเต็มทีแล้ว มีทั้งผัก ทั้งเนื้อสัตว์ ทั้งเกลือแร่ ธาตุไอโอดีนคือ กะปิ มีซุปด้วยคือต้ม แต่คนไทยจะถือเหล่านี้เป็นกับข้าวเท่านั้น”
นอกจากข้อเขียนตามสื่อต่างๆ แล้ว สิ่งที่ทำให้เชลล์ชวนชิมยังเป็นตำนานถึงทุกวันนี้ ก็คือ ป้ายเชลล์ชวนชิม ที่เปรียบเสมือนเครื่องการันตีความเลิศรสที่ผู้แสวงหาความอร่อยห้ามพลาด
สำหรับป้ายแรกมีแค่คำว่า เชลล์ชวนชิม กับโลโก้ของเชลล์ที่เป็นรูปหอย ถ้าใครอยากเห็นแนะนำให้ไปที่ร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อกิมทอง ย่านแพร่งภูธร
หลังจากนั้นป้ายก็เปลี่ยนตามโลโก้ของเชลล์ชวนชิม เช่นรูปหอยเชลล์มีเปลวไฟ เพราะตอนนั้นเชลล์กำลังบุกเบิกกิจการแก๊ส โดยหวังจะมาทดแทนการใช้ถ่าน
ทว่าช่วงแรกๆ คนไทยไม่ยอมใช้เพราะกลัวแก๊สระเบิด คุณชายถนัดศรีก็เลยถือโอกาสนี้ให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้แก๊สหุงต้มอย่างปลอดภัย จนเชลล์แก๊สฮิตทั่วบ้านทั่วเมือง นับว่าอาหม่อมเป็นผู้เปิดโลกการใช้แก๊สในเมืองไทยอย่างแท้จริง
แต่โลโก้ที่ติดตาผู้คนมากที่สุดเกิดขึ้นตอนเชลล์ชวนชิมครบรอบ 20 ปี เป็นรูปชามเบญจรงค์ลายผักกาด โดยอาหม่อมตั้งใจให้รูปภาชนะเป็นสัญลักษณ์ของอาหารการกิน ขณะที่ลายครามสะท้อนความเก่าแก่แต่สูงค่า รวมกันก็คือสัญลักษณ์ของการกินดีกินเป็นนั่นเอง
ส่วนขั้นตอนการขอรับประกาศนียบัตรและป้ายตราสัญลักษณ์ก็ไม่ยากอะไร เพียงร้านนำคอลัมน์เชลล์ชวนที่ระบุชื่อร้านไปติดต่อขอรับที่บริษัทก็เป็นอันเสร็จสิ้น สำหรับตัวประกาศนียบัตรนี้ รับฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยอาหม่อมเซ็นชื่อกำกับรับรองให้ด้วย แต่ถ้าต้องการป้ายด้วย ก็ต้องสั่งทำจากบริษัทเชลล์ โดยมีค่าวัสดุกับค่าแรงตามขนาดป้ายที่ร้านต้องการ
ป้ายนี้ไม่มีการยึดคืน แม้ผ่านไปแล้วกี่รุ่นก็ตาม กลายเป็นสาเหตุที่ร้านซึ่งติดป้ายเชลล์ชวนชิมถูกแซวว่า ยังอร่อยอยู่หรือเปล่า บางทีมีเสียงเรียกร้องให้กำหนดวันหมดอายุ แต่อาหม่อมก็ปฏิเสธ บอกว่ายึดไปก็สร้างศัตรูขึ้นเปล่าๆ ดังนั้นให้ลูกค้าเป็นผู้ตัดสินดีกว่า ถ้าไม่อร่อยก็เลิกไปเองแหละ
แต่ถึงอย่างนั้น อาหม่อมก็พยายามหมั่นไปตรวจคุณภาพของร้านที่เคยไปชิมมาแล้วเสมอ บางร้านก็เอามาเขียนซ้ำผ่านคอลัมน์ บางร้านก็เอามาเล่าต่อในรายการครอบจักรวาลที่จัดอยู่เป็นประจำ แถมบอกละเอียดชัดเจนว่า รสชาติเปลี่ยนแปลงอย่างไร ดีขึ้นหรือด้อยลง แล้วราคาเหมาะสมหรือไม่ หรือบางร้านที่ย้ายไป หากอาหม่อมทราบที่ตั้งใหม่ก็จะตามไปชิมแล้วมาเล่าให้แฟนๆ กลายเป็นเสน่ห์ที่ทำให้ผู้คนยังคงติดตามเชลล์ชวนชิมตลอดหลายสิบปี
คนไทยกินอาหารไม่เหมือนที่ฝรั่งกิน คนไทยจะไม่กินเนื้อสัตว์เป็นชิ้นๆ แต่จะปรุงหลายๆ วิธี ทั้งต้ม ยำ ย่าง ทอด
ตลอด 50 ปีที่เชลล์ชวนชิมอยู่คู่สังคมไทย ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่วงการร้านอาหารอย่างมาก
เพราะมีร้านอาหารมากกว่า 1,500 ร้านได้รับการแนะนำผ่านคอลัมน์นี้ และร้านหลายก็เจริญรุ่งเรือง กลายเป็นแลนด์มาร์กที่ผู้คนต้องแวะเวียนไปลิ้มลองความอร่อย
คุณชายถนัดศรีบอกว่า คุณค่าที่ได้จากเชลล์ชวนชิมไม่ใช่ตัวเงิน แต่เป็นความเคารพนับถือ และรู้สึกถึงบุญคุณต่างหาก
เพราะถ้าหวังเงิน เดี๋ยวเดียวก็ใช้หมดแล้ว และถ้าเรียกร้องอะไรเพิ่ม คนที่เสียก็คือตัวเอง
ที่ผ่านมาอาหม่อมเจอพวกที่พยายามแอบอ้างและแสวงหาผลประโยชน์ตลอด แต่เพราะความซื่อสัตย์ต่อจรรยาบรรณของนักชิม กลายเป็นบารมีที่ทำให้แบรนด์ถนัดศรียังคงน่าเชื่อถือ แม้เวลาจะผ่านมานานกี่สิบปีก็ตาม
“ไม่ได้รู้สึกภูมิใจ แต่รู้สึกพอใจ เพราะถือว่าไม่ได้ทำอะไรเลย ทำให้คนอื่นเขารวยก็พอใจ เพราะความรวยมันต้องส่งผลไปถึงส่วนรวม คนที่เขาหาบเร่มา เขาลืมตาอ้าปาก เขามีตึกรามบ้านช่องใหญ่โต หรือพวกที่เช่าเขามา ตอนนี้มีตึกห้าชั้น”
คอลัมน์เชลล์ชวนชิม ปิดฉากลงเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2555 หลังเชลล์ไม่ได้จัดสรรงบประมาณให้ อาหม่อมจึงเปลี่ยนไปเขียนคอลัมน์ใหม่ชื่อ ‘ถนัดศรีชวนชิม ตำนานความอร่อย’ พร้อมกับเปลี่ยนโลโก้เป็นรูปอาหม่อมบนพื้นม่วง โดยมีสปอนเซอร์ใหม่ คือ น้ำมัน PT แต่เขียนได้ไม่นานก็ต้องยุติไป ด้วยปัญหาสุขภาพ
ม.ร.ว.ถนัดศรี จากไปเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 แต่ถึงคุณชายจะไม่อยู่แล้ว ตำนานเชลล์ชวนชิมที่ฝากไว้หลายสิบปีก็เคยจางหายไปไหน และยังรอคอยให้คนชอบกินได้พิสูจน์ความอร่อยต่อไปอีกนานแสนนาน
ย้อนเรื่องราวของนักสื่อมวลชน ผู้ยกระดับช่อง 9 จากแดนสนธยา สู่การเป็นสถานีโทรทัศน์เพื่อสังคมไทย
เบื้องหลังความคิดของโปรดิวเซอร์แห่งเรียลริตี 24 ชั่วโมงรายการแรกของเมืองไทย เวทีนักล่าฝันที่สร้างคนคุณภาพสู่วงการบันเทิงไทย
เส้นทางความคิดของผู้กำกับและมือเขียนบทฝีมือเก๋าของวงการ ผู้เคยสร้างปรากฏการณ์ แรงเงา จนดังทั่วบ้านทั่วเมือง
ตีท้ายครัว รายการเยี่ยมบ้านที่อยู่จอทีวีไทยมายาวนาน โดยมีเสน่ห์อยู่ตรงที่ความเป็นกันเองของพิธีกร และการพาไปสัมผัสกับแง่มุมของคนดังที่น้อยคนจะเห็น
ทีนทอล์ก ต้นแบบรายการโทรทัศน์สำหรับวัยรุ่น ที่ฉีกขนบเดิมๆ ของวงการทิ้งไป และเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงตัวตนอย่างเต็มที่
ย้อนเวลา Hormones วัยว้าวุ่น ซีรีส์ที่พลิกมุมมองเรื่องวัยรุ่นในสังคมไทย
จากนักแกะสลักน้ำแข็ง สู่สุดยอดทีมนักแกะสลักหิมะ ที่คว้าชัยในเทศกาลหิมะอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง พร้อมพิสูจน์ให้โลกได้เห็นว่า ถึงเมืองไทยไม่มีหิมะ เราก็สร้างที่ยิ่งใหญ่ได้
ย้อนเรื่องราวของหนังไทย ‘โหมโรง’ ที่สร้างปรากฏการณ์ฟีเวอร์ หลังเกือบถูกถอดจากโรง พร้อมกับจุดกระแสดนตรีไทยให้โด่งดังไปทั่ว
ย้อนเรื่องราวอัลบั้มในตำนานของสมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Bakery Music
DAJIM ศิลปินฮิพฮอพผู้จุดกระแสเพลงใต้ดินให้โด่งดังไปทั่วประเทศ
เส้นทางชีวิตของ จอห์น นูโว จากศิลปินยอดนิยม สู่ผู้บุกเบิกสื่อไอทีของเมืองไทย
ศิลปิน นักแต่งเพลง เจ้าของบทเพลง เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ) ผู้ที่ไม่เคยหยุดสร้างสรรค์ผลงานที่ล้ำสมัย
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.