“อรุณเบิกฟ้า นกกาโบยบิน ออกหากินร่าเริงแจ่มใส เราเบิกบานรีบมาเร็วไว ยิ้มรับวันใหม่ยิ้มให้แก่กัน”
เด็กไทยยุคหนึ่งคงจดจำบทเพลงนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะนี่คือสัญญาณที่บ่งบอกว่าได้เวลาของ ‘เจ้าขุนทอง’ แล้ว
เจ้าขุนทอง คือรายการโทรทัศน์ยอดนิยมที่นำเรื่องราวภาษาไทยกับความรู้และคุณธรรมต่างๆ สอดแทรกผ่านเรื่องราวของผองเพื่อนสารพัดสัตว์ ทั้งเจ้าขุนทอง ฉงน ฉงาย หางดาบ ขอนลอย ลุงมะตูม วอแว และอื่นๆ อีกมากมาย
แต่กว่าที่รายการเจ้าขุนทองจะประสบความสำเร็จ และเข้าไปอยู่ในใจของผู้คน ต้องอาศัยการทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจของคนทำงานมากมาย โดยเฉพาะผู้หญิงคนหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังทุกก้าวย่างของรายการนี้มาตั้งแต่ตั้งไข่
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกท่านไปพบกับ ‘ครูอ้าว’ เกียรติสุดา ภิรมย์ ผู้สร้างตำนานรายการเด็กที่ประสบความสำเร็จที่สุดรายการหนึ่งในเมืองไทย
ย้อนกลับไปเมื่อวันอังคารที่ 1 ตุลาคม 2534 รายการเจ้าขุนทอง ออกอากาศเทปแรก ในช่วงเช้าเวลา 7 นาฬิกา
แม้ไม่มีดาราเลยสักคนแบบรายการทีวียุคนั้นชอบทำ แต่ด้วยความน่ารักของตุ๊กตาหุ่นธรรมดาๆ เพียงไม่กี่ตัว ก็สามารถดึงดูดความสนใจของเด็กไทยยุคนั้นได้ทันที
จุดเริ่มต้นของรายการนี้ มาจาก คุณแดง-สุรางค์ เปรมปรีดิ์ ผู้บริหารช่อง 7 ในขณะนั้น ต้องการสนองนโยบายรัฐบาลที่ให้สถานีโทรทัศน์ทดลองออกอากาศ 24 ชั่วโมง
ในฐานะอดีตครูใหญ่โรงเรียนเรวดี คุณแดงรู้สึกว่าเด็กๆ ใช้ภาษาไทยไม่ค่อยถูกต้องเท่าใดนัก จึงควรมีรายการภาษาไทยที่ดูสนุก เข้าใจง่าย และเสริมทักษะการใช้ภาษาที่เหมาะสม เพื่อเด็กๆ สามารถรับชมก่อนไปโรงเรียน
เธอเลยชักชวนบุคลากรจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้มาผลิตรายการร่วมกัน รับหน้าที่ดูแลความถูกต้องทางวิชาการ พร้อมกับหาผู้ผลิตรายการเด็กที่มีศักยภาพมาช่วยงานฝ่ายสร้างสรรค์
ครั้งนั้น ครูแอ๊ว-รศ.อรชุมา ยุทธวงศ์ จึงแนะนำคุณแดงให้รู้จักกับครูอ้าว ซึ่งช่ำชองเรื่องการแสดงละครหุ่นมากว่าสิบปี เมื่อพูดคุยกันแล้ว ก็พบว่าความสนใจตรงกันพอดี ครูอ้าวจึงตัดสินใจเข้ามาช่วยเริ่มต้นรายการใหม่ โดยใช้ตุ๊กตาหุ่นเป็นสื่อกลาง
“เด็กทุกคนมักมีจินตนาการว่าสิ่งนู้นสิ่งนี้มีชีวิต เช่นหมาพูดได้ แมวพูดได้ เลยรู้สึกว่าหุ่นน่าจะเข้าถึงจิตใจของเด็กได้มาก เพราะมันทั้งน่ารัก ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ สร้างความเข้าใจด้านศิลปะ รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ด้วย
“ที่สำคัญคือ หุ่นมันเป็นอมตะ ไม่โต ไม่แก่ ไม่ตาย แม้เราไม่ได้ทำหุ่นสวยงามเท่าฝรั่ง แต่ยังมีบุคลิกของตัวเอง และยิ่งมาบวกกับศิลปะการแสดงของผู้เชิด ผู้พากย์ ที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ตัวละครออกมาได้อย่างลื่นไหล ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าหุ่นตัวนั้นมีชีวิต”
ส่วนชื่อรายการนั้น คุณแดงเห็นว่านกขุนทองเป็นนกที่เลียนเสียงภาษาพูดได้ จึงน่าจะหยิบมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของรายการ ก็เลยใช้เรื่อยมาจนถึงบัดนี้
หากแต่การผลิตรายการทีวีนั้นไม่ใช่สิ่งที่ง่ายอย่างที่หลายคนคิด โดยเฉพาะรายการเด็กที่เรียกว่าไม่เคยขายได้ ครูอ้าวจึงต้องพิถีพิถันทุกขั้นตอน ตั้งแต่เรื่องบท เพลง หรือแม้แต่การออกแบบตัวละครให้มีบุคลิกดึงดูดใจเด็กๆ
หลักการที่เธอมักหยิบขึ้นมาใช้คือ การออกแบบและการตั้งชื่อหุ่นนั้นต้องสอดคล้องกับประเภทของสัตว์ ที่สำคัญต้องมีหุ่นที่หลากหลาย ทั้งด้านดีและไม่ดี เพื่อเป็นแบบอย่างแก่เด็กๆ ว่าพฤติกรรมใดที่ควรทำหรือไม่ควรทำตาม
“เรามีพื้นฐานความชอบสัตว์อยู่ เพราะคาแรกเตอร์ของสัตว์นั้นบ่งบอกอะไรหลายๆ อย่าง เช่นป้าไก่เป็นผู้รู้ด้านการบ้านการเรือน เหมือนคุณป้าที่บ้าน พูดตลอดเวลา ขี้บ่น คอยห่วงใยคนนู้นคนนี้ ส่วนหางดาบ เป็นคนที่รักคุณธรรม ต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เป็นฮีโร่ของเด็กๆ เพราะเด็กต้องมีฮีโร่ แล้วยังมีตัวโกงคือเหยินกับขอนลอย อย่างขอนลอยก็เกเรนิดหนึ่ง ส่วนเหยินก็ขี้อวดขี้โม้ พูดมาก
“พูดง่ายๆ คือตัวละครมีหลากหลายเหมือนคนในสังคมนั่นแหละ เพราะการมองหรือออกแบบอะไร อย่างน้อยๆ ต้องมีส่วนคล้ายคลึงกับคนดู อย่างผู้ชมที่เป็นเด็ก เขาชอบขอนลอยนะ เนื่องจากขอนลอยมีอะไรบางอย่างเหมือนเขา บางทีเขาไม่ได้ตั้งใจซนหรือทำไม่ดี เพียงแต่เขาอาจอยากได้ขนมชิ้นใหญ่กว่านิดนึ่ง อยากแอบกินคนเดียว แล้วก็มีอะไรที่ขี้โกงนิดๆ”
หากแต่ตัวละครที่ครูอ้าวภูมิใจที่สุด คือ ควายแสนซื่อที่ชื่อว่า ‘ฉงน’
“เราคิดตัวละครนี้ เพราะต้องการให้ควายเป็นที่ยอมรับของสังคม อยากให้เด็กไทยรักสัตว์ที่มีคุณประโยชน์ต่อชีวิต เพราะควายปลูกข้าวให้เรากิน และที่ผ่านมาไม่เคยมีใครทำการ์ตูนหรือตุ๊กตาเป็นควายเลย ทุกคนทำตุ๊กตากระต่าย ยีราฟ สิงโต ฮิปโป แพนด้า ทำไมไม่เห็นความน่ารักความดีของควายบ้าง ซึ่งพอทำออกมา ปรากฏว่าได้รับการต้อนรับอย่างดี โดยเฉพาะพวกสาวๆ ชอบกันมาก
“แต่กว่าจะออกมาเป็นรูปเป็นร่างเช่นนี้ ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร อย่างตอนแรกฉงนไม่ได้หน้าตาแบบนี้ ฉงนหน้าแก่กว่านี้ แต่เราก็ค่อยๆ ปรับจนกระทั่งลงตัว แต่มีบางคนเหมือนกันที่บอกว่าเหมือนวัว เนื่องจากสีเป็นแบบนี้ ซึ่งความจริงแล้วเป็นความตั้งใจ เพราะเราไม่อยากให้ควายเป็นสีเทา เพราะทำให้รู้สึกหมองๆ”
นอกจากควายตัวหลักอย่าง ‘ฉงน’ ยังมี ‘ฉงาย’ ควายน้องชายที่พูดสำเนียงเหน่อสุพรรณซึ่งมีเสน่ห์และสดใสไม่แพ้กัน
“สาเหตุที่ทำหุ่นตัวน้องขึ้นมา เพื่อจะได้เป็นตัวช่วยแชร์อะไรระหว่างกัน รายการที่มีตัวเด็กเล็ก มันก็จำเป็นนะ มีพี่แล้วมีน้อง เป็นครอบครัว ต่างฝ่ายต่างช่วยเหลือกัน เป็นห่วงกัน น้องผิดพลาดพี่ช่วยแก้ไข นอกจากนี้ยังมีอีกตัวหนึ่งเล็กมากชื่อ ‘น้องฉับ’ แล้วยังมีญาติๆ อีกหลายตัวเช่น ฉิ่ง ฉุย และคุณตาไฉน เป็นควายตัวใหญ่แก่ๆ”
ผลจากการสร้างสรรค์งานที่แปลกแหวกแนวจากตลาด หากแต่เข้าถึงความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มผู้ชม ส่งผลให้เจ้าขุนทองกลายเป็นรายการยอดนิยมทันทีหลังออกอากาศได้ไม่นาน โดยเฉพาะเพลงไตเติ้ลของรายการนั้นกลายเป็นเพลงฮิตที่ทุกคนสามารถร้องกันได้ทั่วบ้านทั่วเมืองเลยทีเดียว
หากพูดถึงจุดเด่นของรายการเจ้าขุนทอง นอกจากตุ๊กตาหุ่นที่เป็นตัวชูโรงอันดับ 1 แล้ว ความหลากหลายก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้รายการประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว
เนื่องจากช่วงแรกนั้น เจ้าขุนทองออกอากาศทุกวัน วันละครึ่งชั่วโมง จึงมีเวลาเหลือเฟือในการแบ่งรายการออกเป็นช่วงต่างๆ อาทิ ช่วงหนอนด้นค้นห้องสมุด นำเสนอเรื่องราวของหนังสือที่น่าสนใจ โดยหุ่นหนอนด้น, ช่วงมือน้อยสร้างฝัน สอนการประดิษฐ์ของต่างๆ โดยป้าไก่ ตัวละครเก่าแก่ที่อยู่กับครูอ้าวมาก่อนเริ่มรายการเจ้าขุนทอง
ช่วงเวทีดาว ซึ่งเชิญแขกรับเชิญที่มีชื่อเสียงมาร่วมพูดคุยกับหุ่น, ช่วงสนุกกับคำ เรียนรู้สำนวนไทยกับลุงมะตูม, ช่วงนิทานเริงใจ เล่านิทานพร้อมข้อคิดต่างๆ และช่วงสิ่งละอันพันละน้อย โดยคุณมหัศจรรย์ สิงโตนักวิทยาศาสตร์ที่มาให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ รอบตัว
ทั้งนี้เนื้อหาแต่ละตอนนั้น คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ จะเป็นฝ่ายกำหนดโครงเรื่องทางวิชาการ จากนั้นจึงส่งต่อให้ครูอ้าวมาพัฒนาเป็นบทโทรทัศน์ โดยวัตถุดิบที่เธอใช้ก็มีตั้งแต่นิทาน เรื่องเล่า พจนานุกรมต่างๆ รวมถึงเหตุการณ์ในหนังสือพิมพ์ โดยยึดหลักว่า ต้องไม่มีความรุนแรง และไม่ทำโทษด้วยการซ้ำเติม ฆ่าให้ตาย หรือทำให้บาดเจ็บ
เพราะเด็กแต่ละช่วงวัยมีระดับการรับรู้ไม่เท่ากัน โดยเฉพาะเด็กเล็กซึ่งมีพฤติกรรมจดจำและเลียนแบบได้ง่าย สารหรือเนื้อหาที่ถูกนำเสนอไปจึงต้องอาศัยความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ
“เราอยากหัดให้เด็กรู้จักการให้อภัยและให้โอกาส เช่นเดียวกับคนที่ทำไม่ดีก็อยากหัดให้เขารู้สึกสำนึกตัวและนึกถึงผู้อื่นมากขึ้น พูดง่ายๆ คือ ไม่ได้มีแต่เรื่องความสนุกหรือความสะใจอย่างเดียว เช่นเวลาจับผู้ร้ายได้ แล้วไปรุมทำร้ายเขา เนื้อหาแบบนี้เราไม่ทำ เราต้องรู้จักการยับยั้งชั่งใจด้วย”
ด้วยความตั้งใจที่ดี และความพยายามสอดแทรกสาระความรู้ต่างๆ ส่งผลให้เจ้าขุนทองกลายเป็นรายการที่มีอิทธิพลกับชีวิตของเด็กๆ อย่างมาก
“ตอนแรกไม่รู้หรอกว่ารายการดัง เพราะแค่ได้ทำรายการเด็กก็ดีใจแล้ว จนได้รับฟีดแบ็กกลับมา วันนั้นเราบอกให้เด็กๆ เขียนเล่าเรื่องสิ่งดีๆ ที่อยากให้เพื่อนๆ ชื่นชมและรู้เกี่ยวกับจังหวัดของตัวเอง ปรากฏว่าวันเดียวมีถุงเมล์ใหญ่ๆ มา 3-4 ถุง ที่สำคัญ เราไม่ได้บอกว่าจะให้รางวัลอะไร เพราะเราไม่มีรางวัลให้ แต่เขาก็เขียนมา มีเด็กอยู่คนเขียนว่า สิ่งที่เขาภูมิใจเสนอคือ ถั่วเน่า เพราะเขาอยู่ที่จังหวัดพะเยา แล้วก็เขียนรูป เขียนวิธีทำถั่วเน่ามาให้ ซึ่งน่ารักมาก”
แม้แต่คุณครูในโรงเรียนต่างๆ ยังมอบการบ้านให้เด็กๆ ไปศึกษาเรื่องภาษาไทยจากรายการแล้วนำกลับมาตอบคำถามในห้องเรียน สะท้อนให้เห็นว่าการผสมผสานระหว่างความบันเทิงกับสาระความรู้ของรายการนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
ตลอดหลายปีที่ออกอากาศ เจ้าขุนทองกลายเป็นรายการที่สร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้คนมากมาย
เหตุการณ์หนึ่งที่ครูอ้าวประทับใจไม่ลืม เกิดขึ้นช่วงที่ได้รับเชิญให้ขึ้นเวทีทอล์กโชว์ของครูทอม คำไทย วันนั้นมีแฟนรายการรุ่นบุกเบิกคนหนึ่งเดินเข้ามาหาแล้วบอกว่า เจ้าขุนทองทำให้เขาตัดสินใจเป็นครูภาษาไทย และตอนนี้กำลังใช้หุ่นฝึกภาษาไทยให้คนหูหนวก เพราะเวลาที่หุ่นขยับปากนั้นช่วยกระตุ้นให้เด็กที่มีปัญหาพยายามพูดตามและทำความเข้าใจเรื่องภาษามากขึ้น
“เราดีใจมาก เพราะนี่คือผลจากการทำรายการอย่างแท้จริง เลยบอกเขาไปว่า ถ้าจะให้เราไปร่วมทำอะไรเพื่อพัฒนาเด็ก เราก็ยินดี”
จากอดีตนิสิตการละครของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครูอ้าววนเวียนอยู่ในวงการบันเทิงมานานกว่า 40 ปี มีผลงานละครเวที และละครโทรทัศน์หลายเรื่อง บทบาทหนึ่งที่หลายคนอาจจำได้ คือ อาจารย์ทองถวิล ครูแม่บ้านผู้ดูแลหอพักจอมโหด ในละครเรื่องน้ำใสใจจริง ทางช่อง 7 สี เมื่อ พ.ศ.2537
หากแต่ไม่มีบทบาทใดจะชัดเจนเท่ากับการเป็นนักเล่นหุ่นละคร
ความจริงก่อนที่จะประสบความสำเร็จกับรายการเจ้าขุนทอง ครูอ้าวเล่นหุ่นมานานหลายปี มีทั้งเล่นตามโรงเรียน สวนสนุก ห้างสรรพสินค้า รวมทั้งเป็นส่วนประกอบในรายการโทรทัศน์ต่างๆ เช่นโลกของเด็ก โดยมีคู่หูสำคัญอย่างน้าต้อม สองวัย หรือ กิตติพงศ์ ขันธกาญจน์ เข้ามาช่วยสร้างสรรค์ทำดนตรี และดูแลงานออกแบบต่างๆ ให้
หากแต่โจทย์ที่ท้าทายยิ่งกว่า คือการสร้างพื้นที่สำหรับเด็กบนสื่อ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า รายการแบบนี้ขายไม่ค่อยได้สำหรับวงการโฆษณาบ้านเรา จนส่งผลให้สถานีโทรทัศน์จำนวนไม่น้อยเลือกที่จะไม่ผลิตรายการเด็กอีกด้วย
“เขาไม่ให้ความสำคัญเลย เคยหาสปอนเซอร์แล้วเขาถามว่ารายการนี้มีใครดู เด็กไม่มีกำลังซื้อหรอก ซึ่งกว่าจะได้ทำ เราล้มลุกคลุกคลานมาเยอะ และเมื่อเราไม่มีทุนพอ เลยยากที่จะพัฒนารายการให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เราจึงคิดว่าอย่างน้อยๆ หุ่นก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราคนเดียวสามารถทำทุกอย่างได้
“เพราะแต่ก่อนเราทำหุ่นเอง เชิดเอง พากย์เอง เขียนเรื่องเอง แต่งเพลงเอง มีระบำประกอบก็ทำเองหมด แล้วใช้คนน้อย ใช้วัสดุที่สร้างสรรค์ง่ายๆ แบบจมูกทำจากกระดุม เรซิน เศษผ้า แลกซีน ง่ายๆ ราคาถูกเหล่านี้ มันทำให้เกิดชีวิต เกิดเรื่องราวขึ้นมาได้ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กได้ทำตาม ไม่ใช่ทุกอย่างต้องใช้เงิน อาจเป็นเพราะเราจนมั้งเลยทำอะไรที่สร้างสรรค์ขึ้นมาได้”
โชคดีที่ระยะแรก เจ้าขุนทองได้รับการสนับสนุนจากสถานีอย่างเต็มที่ ทำให้ผู้สร้างไม่มีค่าใช้จ่ายมากมายนัก
แต่ด้วยระยะหลังที่ธุรกิจโทรทัศน์แข่งขันกันมากขึ้น รายการเจ้าขุนทองจึงได้รับผลกระทบตามไปด้วย มีการลดเวลาลงครึ่งหนึ่งเหลือเพียง 15 นาที โยกช่วงเวลาฉายไปออกอากาศตอนเย็น ทำให้ต้องเปลี่ยนเนื้อร้องบางท่อนของเพลงไตเติ้ลจาก “อรุณเบิกฟ้า นกกาโบยบิน ออกหากินร่าเริงแจ่มใส” มาเป็น “มองตะวันฟ้าร่าเริงยินดี ช่วงนี้มีเวลาสุขใจ”
ครูอ้าวเคยให้สัมภาษณ์ว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นถือเป็นธรรมดาของธุรกิจ ซึ่งเข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องของยุคสมัย เช่นแต่ก่อนตอนเช้าเป็นเวลาที่ไม่มีใครอยากนำรายการมาลง แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นช่วงเวลาทอง ที่ใครๆ ก็อยากได้เพื่อนำเสนอรายการข่าวสาร เจ้าขุนทองจึงต้องกระเถิบเวลาไปมา แต่ส่วนตัวครูอ้าวไม่เคยรู้สึกท้อ เพราะอย่างน้อยๆ ยังมีพื้นที่อยู่บนหน้าสื่อเหลืออยู่
“ทุกอย่างเปลี่ยนไป สิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ดี สื่อต่างๆ ตอนนี้มีเยอะแยะให้เลือก แล้วหลายสื่อก็ดีมากแบบที่เราเองก็คิดไม่ถึง แต่ของเราก็เป็นอย่างนี้ ส่วนตัวคิดว่าไม่มีอะไรที่เป็นด้านเดียว มันต้องหลายสิ่ง หลายอย่าง หลายคนมาประกอบ การที่เราถดถอยลงไปเป็นเรื่องธรรมดามาก เราไม่เคยคิดว่า ตัวเองต้องดังตลอด แค่เคยดังเท่านี้ก็พอใจแล้ว
“อย่างตัวเองตอนนี้อายุมากขึ้น ก็เสื่อมหมดแรงไป แต่ก็ได้รุ่นลูกมาทำรายการด้วยกัน โดยรูปแบบอาจทันสมัยขึ้นบ้าง ถูกใจคนสมัยใหม่มากขึ้น แต่เรายังคงรักษาความเป็นหุ่นง่ายๆ ไว้เหมือนเดิม เพราะเราตั้งใจให้คนทั่วไปเห็นว่า ฉันก็ทำได้ ทำง่ายๆ จากเศษผ้านี่แหละ”
เราอยากหัดให้เด็กรู้จักการให้อภัยและให้โอกาส เช่นเดียวกับคนที่ทำไม่ดีก็อยากหัดให้เขารู้สึกสำนึกตัวและนึกถึงผู้อื่นมากขึ้น
หลังออกอากาศมานานกว่า 26 ปี กับ 3 เดือน เจ้าขุนทอง ก็หลุดจากผังรายการของช่อง 7 สี เมื่อสิ้นปี 2560
แต่สำหรับครูอ้าว เจ้าขุนทองยังคงมีชีวิตอยู่ ไม่ได้จากไปไหน และยังพยายามหาช่องทางใหม่ๆ ในการนำเสนอ
อย่างช่วงปลายปี 2563 ครูอ้าวได้เริ่มต้นผลิตรายการ ‘เจ้าขุนทองและผองเพื่อน’ และเพิ่มตัวละครใหม่ๆ อย่างเช่น หนูป๊อป ซึ่งเดินทางมาจากอนาคตเพื่อตามหาแหล่งน้ำ โดยรายการออกอากาศทางเว็บไซต์ของ POPS TV
อีกรายการที่โดดเด่นไม่แพ้กัน คือ ‘ฉงน ฉงาย สองควายช่างสงสัย’ ซึ่งนำควายพี่น้องมานำเสนอมาให้ความรู้เรื่องภาษา วัฒนธรรมไทย ตลอดจนความรู้รอบตัวต่างๆ แก่หนูๆ ออกอากาศทาง ALTV ทีวีดิจิทัลช่อง 4
แม้ทุกวันนี้ ครูอ้าวจะอายุล่วงเลยเข้าเลข 6 แล้ว หากยังมีความฝันอีกมากมายรออยู่ ทั้งเขียนเพลง เขียนหนังสือ แสดงละคร รวมถึงพาเจ้าขุนทองกับผองเพื่อนไปสร้างความบันเทิงแก่ผู้คน
อย่างไม่นานมานี้ เธอยังลงไปทำงานกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ และมีส่วนสำคัญในการโครงการโตโต้การบันเทิง ซึ่งหยิบเอาตัวละครหมีควายวัย 2 ขวบในอุทยานแห่งชาติทับลานที่ตายเพราะโดนปืนผูกที่ชาวบ้านนำมาดักไว้ มาพัฒนาเป็นตัวละครใหม่ เน้นแสดงให้เด็กๆ ชมในวันสำคัญๆ อย่างเช่นวันเด็ก หรือวันรักเขาใหญ่ เพื่อสร้างสำนึกในการรักษาป่าไม้
แน่นอนทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพียงแค่สิ่งที่ทำแล้วมีความสุข แต่ถือเป็นภารกิจและคุณค่าของคนทำสื่อเพื่อเด็กมาตลอดชีวิต ของผู้หญิงที่ชื่อ ‘เกียรติสุดา ภิรมย์’
เส้นทางความคิดของผู้กำกับและมือเขียนบทฝีมือเก๋าของวงการ ผู้เคยสร้างปรากฏการณ์ แรงเงา จนดังทั่วบ้านทั่วเมือง
ตีท้ายครัว รายการเยี่ยมบ้านที่อยู่จอทีวีไทยมายาวนาน โดยมีเสน่ห์อยู่ตรงที่ความเป็นกันเองของพิธีกร และการพาไปสัมผัสกับแง่มุมของคนดังที่น้อยคนจะเห็น
ทีนทอล์ก ต้นแบบรายการโทรทัศน์สำหรับวัยรุ่น ที่ฉีกขนบเดิมๆ ของวงการทิ้งไป และเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงตัวตนอย่างเต็มที่
ย้อนเวลา Hormones วัยว้าวุ่น ซีรีส์ที่พลิกมุมมองเรื่องวัยรุ่นในสังคมไทย
ซิทคอมในตำนาน เรื่องราวของ 3 พี่น้องตระกูลเบญจวรการ ที่ยังคงอยู่ในใจผู้คนมานานกว่า 3 ทศวรรษ
เส้นทางชีวิตของ จอห์น นูโว จากศิลปินยอดนิยม สู่ผู้บุกเบิกสื่อไอทีของเมืองไทย
จากนักแกะสลักน้ำแข็ง สู่สุดยอดทีมนักแกะสลักหิมะ ที่คว้าชัยในเทศกาลหิมะอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง พร้อมพิสูจน์ให้โลกได้เห็นว่า ถึงเมืองไทยไม่มีหิมะ เราก็สร้างที่ยิ่งใหญ่ได้
ย้อนเรื่องราวของหนังไทย ‘โหมโรง’ ที่สร้างปรากฏการณ์ฟีเวอร์ หลังเกือบถูกถอดจากโรง พร้อมกับจุดกระแสดนตรีไทยให้โด่งดังไปทั่ว
ย้อนเรื่องราวอัลบั้มในตำนานของสมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Bakery Music
DAJIM ศิลปินฮิพฮอพผู้จุดกระแสเพลงใต้ดินให้โด่งดังไปทั่วประเทศ
เส้นทางชีวิตของ จอห์น นูโว จากศิลปินยอดนิยม สู่ผู้บุกเบิกสื่อไอทีของเมืองไทย
ศิลปิน นักแต่งเพลง เจ้าของบทเพลง เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ) ผู้ที่ไม่เคยหยุดสร้างสรรค์ผลงานที่ล้ำสมัย
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.