Fred Wada Isamu – Masaji Tabata – Kazushige Hirasawa : ชาย 3 คน ผู้อยู่เบื้องหลังปาฏิหาริย์ ‘Tokyo Olympics 1964’

<< แชร์บทความนี้

ทำไมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียว จึงมีความหมายอย่างยิ่งต่อคนญี่ปุ่น

ในปี ค.ศ.1958 ราวสิบปีหลังญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศชาติพังเสียหาย ผู้คนยากจนและจมอยู่กับความโศกเศร้า แค่ฟื้นฟูประเทศกลับขึ้นมาอีกครั้งก็ว่ายากแล้ว แต่พวกเขากลับทำเรื่องที่เหมือนเป็นความเพ้อฝันยิ่งกว่า นั่นคือการยื่นขอเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกในปี 1964 !

คู่แข่งล้วนเป็นชาติมหาอำนาจจากตะวันตก ทั้งอเมริกา ออสเตรีย เบลเยียม ไม่ว่ามองแง่มุมไหน ดินแดนของผู้แพ้สงครามก็ไม่พร้อมเทียบเคียงได้เลย

แต่ด้วยความพยายามอย่างไม่ลดละของคนกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่ยอมก้มหัวให้กับคำดูถูกของคนอื่น พวกเขาเดินหน้าโน้มน้าวคณะกรรมการโอลิมปิกสากลทีละประเทศให้เชื่อว่าทำได้ และกีฬาโอลิมปิกมีความหมายกับคนญี่ปุ่นมากเพียงใด

ปาฏิหาริย์ครั้งนั้นเกิดขึ้นจริงๆ เมื่อโตเกียวได้รับเลือกในที่สุด และกล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาประเทศญี่ปุ่นมาสู่ยุคใหม่ ซึ่งเปลี่ยนโฉมหน้าดินแดนอาทิตย์อุทัยไปตลอดกาล

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอชวนทุกท่านย้อนไปอ่านเรื่องราวผู้ชาย 3 คนซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬานานาชาติ เมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว

Fred Wada Isamu – Masaji Tabata – Kazushige Hirasawa

Fred Wada Isamu : ชาวญี่ปุ่น-อเมริกัน ผู้จุดประกายความหวัง

ย้อนกลับไปที่ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ.1949 เฟรด วาดะ อิซามู ลูกครึ่งอเมริกา-ญี่ปุ่น เปิดร้านขายผลไม้ในเมือง กิจการกำลังไปได้ดี แต่หลายครั้งที่มีชาวอเมริกันเข้ามาก่อกวนในร้าน ดูถูกเขาว่าเป็น ‘ไอ้ยุ่น’ เนื่องจากคนอเมริกันยังมีเกลียดชังชาวญี่ปุ่น ที่เป็นศัตรูในสงครามโลก

แม้เฟรดจะถือสัญชาติอเมริกา แต่เลือดในตัวเขาครึ่งหนึ่งคือญี่ปุ่น หลังเกิดได้ 4 ปี ครอบครัวก็ส่งเขากลับมาอยู่กับย่าที่เมืองวากายามา เฟรดได้เรียนรู้การช่วยเหลือกันของคนที่นี่ ไม่ว่าจะจับได้ปลาเล็กหรือใหญ่ ทุกคนจะแบ่งเอาไปเฉพาะที่พอกินในครอบครัวเท่านั้น

พออายุได้ 9 ขวบ เขากลับไปสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง โดยทำงานที่ฟาร์มพร้อมกับเรียนไปด้วย เมื่อเรียนจบก็มุ่งมั่นทำงานหนัก จนเปิดร้านและซื้อบ้านที่ลอสแอนเจลิสได้สำเร็จ

วันหนึ่งเมื่อกลับถึงบ้าน เฟรดอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาญี่ปุ่นและเห็นข่าวสหพันธ์ว่ายน้ำญี่ปุ่นประกาศขอให้คนใจบุญ เอื้อเฟ้อที่พักฟรีให้กับนักกีฬาที่จะมาแข่งขันว่ายน้ำนานาชาติ AAU Swimming National Championships เฟรดคิดว่าเขาน่าจะช่วยได้ จึงตอบตกลงกลับไป

เมื่อนักกีฬาว่ายน้ำทั้ง 6 คน พร้อมกับทีมงานมาถึง ทุกคนตกตะลึงกับบ้านหลังใหญ่ของเขา เฟรดเลี้ยงอาหารต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ มีทั้งขนมเค้ก และข้าวปลาอาหารญี่ปุ่นฝีมือภรรยา ซึ่งทำให้แขกจากแดนอาทิตย์อุทัยประทับใจมาก เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาคนญี่ปุ่นอยู่กันอย่างยากลำบาก หลังสงครามแทบไม่มีใครได้กินเนื้อและข้าวขาว ส่วนมากต้องไปขุดหามันหวานมาต้มประทังชีวิตไปวันต่อวัน

การแข่งขันครั้งนี้ มีความหมายต่อพวกเขามาก เพราะว่านักกีฬาญี่ปุ่นถูกตัดสิทธิจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ลอนดอนเกมส์ ปี 1948 เนื่องจากเป็นประเทศแพ้สงคราม ทุกคนจึงฝึกซ้อมอย่างหนักและตั้งใจที่จะแสดงศักยภาพอย่างเต็มที่เพื่อกู้ศักดิ์ศรีของประเทศกลับคืนมา

อย่างไรก็ตาม ก่อนแข่งนักกีฬาได้รับแจ้งข่าวร้ายว่า ผู้จัดการแข่งขันไม่อนุญาตให้นักกีฬาญี่ปุ่นประดับธงชาติไว้บนหน้าอกเสื้อ โดยอ้างเรื่องความปลอดภัย แม้ทุกคนจะรู้สึกเจ็บปวด แต่ก็ยังยืนหยัดที่จะลงแข่งต่อไป เฟรดได้แต่ปลอบใจและบอกพวกเขาทำให้ดีที่สุด

ท่ามกลางเสียงโห่ของผู้ชมชาวอเมริกัน สายตาเย้ยหยันจากคู่แข่งต่างชาติ เพียงแค่การแข่งขันว่ายน้ำฟรีสไตล์ 1500 เมตร สนามแรก พวกเขาก็ทำให้ทุกคนต้องอ้าปากค้าง เมื่อ ชิโร ฮาชิซุเมะ (Shiro Hashizume) แซงเอาชนะนักกีฬาคนอื่นเข้าแตะขอบสระเป็นคนแรก พร้อมกับสร้างสถิติโลกขึ้นมาใหม่

เท่านั้นยังไม่พอ ฮิโรโนะชิน ฟุรุฮาชิ (Hironoshin Furuhashi) ก็สร้างสถิติโลกขึ้นมาใหม่อย่างไม่หยุดในการแข่งขันฟรีสไตล์ 400, 800 เมตร รวมไปถึงสถิติ 1,500 เมตร ที่ฮาชิซุเมะเพิ่งทำลายไปก่อนหน้า สรุปแล้วในการแข่งครั้งนั้น นักว่ายน้ำญี่ปุ่นทำลายสถิติโลกไปถึง 5 รายการ คว้าแชมป์มาครองได้สำเร็จ ผู้ชมชาวอเมริกันถึงกับยืนขึ้นปรบมือให้ พร้อมกับที่ธงชาติญี่ปุ่นได้อัญเชิญขึ้นสู่ยอดเสาอย่างภาคภูมิ

วันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษก็เลิกเรียกพวกเขาว่า ‘ไอ้ยุ่น’ พร้อมกับยกย่องความสามารถของทีมนี้ โดยเฉพาะฟุรุฮาชิ ที่สื่อต่างชาติตั้งฉายาว่า ‘Flying Fish of Fujiyama’ หรือ ปลาบินได้แห่งภูเขาไฟฟูจิ เมื่อวิทยุรายงานข่าวชัยชนะครั้งนี้ คนญี่ปุ่นทั้งประเทศก็ดีใจกันยกใหญ่ เพราะพวกเขาไม่ได้ฟังข่าวดีมานานแล้ว

เฟรด วาดะ ยืนดูปรากฏการณ์ครั้งนั้นด้วยความอิ่มเอมใจ เขาได้เห็นกับตาว่ากีฬามีอิทธิพลสามารถเปลี่ยนความคิดของคนได้รวดเร็วเพียงใด

ตอนนั้นเขาไม่ได้คิดหรอกว่า ตนเองจะได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

Masaji Tabata : ประธานสหพันธ์ว่ายน้ำ ผู้ทำฝันให้เป็นจริง

คนที่อยู่เบื้องหลังไอเดียการเขียนจดหมายประกาศขอความช่วยเหลือ คือ มาซาจิ ทาบาตะ ประธานสหพันธ์ว่ายน้ำญี่ปุ่น

ทาบาตะทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ ขณะเดียวกันก็เป็นครูสอนว่ายน้ำไปด้วย ในปี 1948 เขาได้รับตำแหน่งเป็นประธานสหพันธ์ว่ายน้ำ ตอนนั้นญี่ปุ่นถูกตัดสิทธิ์จากโอลิมปิกที่ลอนดอน เขาจึงคิดนโยบายปลุกใจคนในชาติด้วยการจัดแข่งขันว่ายน้ำระดับชาติรอบสุดท้าย ในวันเดียวกับการแข่งขันชิงเหรียญทองว่ายน้ำโอลิมปิกที่ประเทศอังกฤษ

ในละครซีรีย์เรื่อง Idaten: Tokyo Olympics Story ที่สร้างจากประวัติของเขา เล่าถึงฉากนี้ว่า ทาบาตะสั่งให้คนยกหูโทรศัพท์ฟังเสียงสัญญาณปล่อยตัวที่ลอนดอน พอได้ยินเสียงปืนจากฝั่งโน้นก็ลั่นไกตามทันที ให้เหมือนนักกีฬากำลังแข่งขันสนามเดียวกันทั้งที่อยู่คนละซีกโลก

เมื่อถึงการแข่งขัน AAU Swimming National Championships ในปี 1949 ที่ลอสแอนเจลิส เขาก็ทำเรื่องขออนุญาตจากนายพลแมกอาเธอร์ เพื่อส่งนักกีฬาญี่ปุ่นลงแข่งด้วย นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้รู้จักกับเฟรด วาดะ

ความจริงแล้ว โตเกียวควรจะได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี 1940 แต่เกิดสงครามญี่ปุ่นกับจีนและสงครามโลกครั้งที่ 2 เสียก่อน ทำให้ต้องล้มเลิกไป แต่ความฝันนั้นยังค้างอยู่ในใจใครหลายคน หนึ่งในนั้นคือ มาซาจิ ทาบาตะ

ชัยชนะที่ลอสแอนเจลิสจุดประกายความฝันที่จะเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกขึ้นมาอีกครั้ง ทาบาตะจึงผลักดันโครงการโดยนำเสนอต่อผู้ว่าการโตเกียวและนายกรัฐมนตรี

ในปี 1958 โตเกียวประกาศเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปี 1964 อย่างเป็นทางการ ทาบาตะเป็นหนึ่งในคณะทำงาน Tokyo Olympic Bid Committee รับหน้าที่ให้โน้มน้าวสมาชิกคณะกรรมการโอลิมปิกสากลกว่า 60 ประเทศทั่วโลก ให้ลงคะแนนเลือกโตเกียว

ตอนนั้นงบประมาณในการดำเนินการมีจำกัดจำเขี่ย ทำให้เขาติดต่อไปยังเฟรดอีกรอบ เพื่อขอความช่วยเหลือให้เดินทางไปช่วยล็อบบีสมาชิกในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ โดยรัฐบาลจะทำเรื่องให้สัญชาติญี่ปุ่นเป็นกรณีพิเศษ พร้อมกับแต่งตั้งให้เฟรดเป็นทูตโอลิมปิกของประเทศ

แม้รู้ว่าเป็นภารกิจที่ยากลำบาก แต่เฟรดและภรรยาก็ตอบตกลง ทั้งคู่ออกเดินทางไปเยือน 10 ประเทศละตินอเมริกา โดยไม่กลับบ้านเป็นเวลานานเกือบ 40 วัน ควักเงินของตัวเองเพื่อทำภารกิจนี้ บางครั้งก็มอบชุดกิโมโนที่สวยงามของภรรยาเป็นของขวัญแก่คณะกรรมการที่ไปพบ

ความรักในญี่ปุ่นคือเชื้อเพลิงที่ทำให้เฟรดพยายามอย่างไม่ลดละ เพื่อทำให้กรรมการเห็นว่าดินแดนอาทิตย์อุทัยมีความพร้อมแม้จะผ่านสงครามมาไม่นาน และโตเกียวโอลิมปิกจะช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้ผู้คนที่โศกเศร้าลุกขึ้นมาได้อีกครั้ง

ระหว่างนั้น ทาบาตะและทีมงาน ก็ดำเนินการอย่างเต็มที่ ท่ามกลางเสียงเย้ยหยันจากเพื่อร่วมชาติว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน และเป็นการผลาญงบประมาณไปอย่างสูญเปล่า

ปัจจัยสำคัญที่ช่วยเรียกคะแนนความเชื่อมั่นกับประเทศสมาชิก IOC ได้เพิ่มขึ้น คือการที่โตเกียวเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชียนเกมส์ในปี 1958 และจัดการแข่งขันได้ดี อีกปัจจัยคือการเชิญสมาชิก IOC มาเยี่ยมชมความพร้อม โดยสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะเสด็จฯ ออกมาต้อนรับด้วยพระองค์เอง

และวันสำคัญที่ทุกคนรอคอยก็มาถึง นั่นคือการลงมติเลือกชาติเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก 1964 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 1959 ที่กรุงมิวนิก ประเทศเยอรมัน

ทั้งเฟรด และทาบาตะ ล้วนไปร่วมงานนี้ด้วยหวังว่าความฝันจะเป็นจริง

Kazushige Hirasawa : สุนทรพจน์ที่สำคัญที่สุด

การลงมติจะทำโดยตัวแทนจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากลจากประเทศสมาชิก 58 ชาติ โดยมีผู้ยื่นเสนอตัวท้าชิงเป็นเจ้าภาพ 4 เมืองคือดีทรอยต์ สหรัฐอเมริกา, เวียนนา ออสเตรีย, บรัสเซลส์ เบลเยี่ยม และโตเกียว ญี่ปุ่น จะเห็นได้ว่ามีแต่ชาติมหาอำนาจจากตะวันตกที่เหนือกว่าแทบทั้งสิ้น

ก่อนการลงมติ ตัวแทนของแต่ละชาติจะต้องขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ ซึ่งบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่นี้ของโตเกียว คือ คาซุชิเกะ ฮิราซาวา เลขานุการเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำสหรัฐอเมริกาและสถานกงสุลใหญ่แห่งนครนิวยอร์ก ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ประกาศข่าวของช่อง NHK ด้วย

ในเบื้องต้น การกล่าวสุนทรพจน์สามารถใช้เวลาได้ถึงหนึ่งชั่วโมง แต่ฮิราซาว่าเตรียมต้นฉบับสำหรับพูดเพียง 15 นาที เขาเชื่อว่าสุนทรพจน์ที่สั้น กระชับ จะทรงพลังมากกว่า

ความจริงแล้ว ฮิราซาว่า เป็นคนหนึ่งที่ยืนกรานคัดค้านการจัดโอลิมปิกที่โตเกียวมาโดยตลอด เพราะเขามองว่ามันยังเร็วเกินไปสำหรับประเทศที่เพิ่งบอบช้ำจากสงคราม ครั้งหนึ่งเคยโต้เถียงอย่างรุนแรงกับทาบาตะด้วยซ้ำ แต่บังเอิญว่าเพื่อนนักการทูตที่ได้รับมอบหมายให้กล่าวสุนทรพจน์ประสบอุบัติเหตุขาหัก จึงขอร้องให้เขาที่พูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว ช่วยทำหน้าที่แทน

อีกเหตุผลหนึ่งคือ ฮิราซาว่าเคยได้พบกับ จิโกโร โคโนะ (Jigoro Kano) อดีตสมาชิก IOC ของญี่ปุ่น ผู้ผลักดันกีฬายูโดให้เข้าแข่งขันในโอลิมปิก ตอนนั้นทั้งคู่กำลังเดินทางบนเรือข้ามทวีป โคโนะซึ่งชราภาพมากแล้วได้อธิบายถึงจิตวิญญาณของโอลิมปิกให้ฮิราซาว่าฟังไม่กี่วันก่อนที่จะเสียชีวิต ทุกคนจึงเชื่อว่าเขาจะทำหน้าที่นี้ได้ดี

ฮิราซาว่า เริ่มต้นสุนทรพจน์ด้วยการกล่าวถึงตำราเรียนของเด็กๆ ชาวญี่ปุ่น ที่มีบทความเรื่องธงโอลิมปิกและสัญลักษณ์ 5 ห่วง เขียนโดย จิโกโร โคโนะ

“ตำราเรียนชั้นประถม 6 ของนักเรียนชาวญี่ปุ่น มีบทกลอนที่เขียนว่า โอลิมปิก โอลิมปิก ฟังเสียงของโลก และเราจะมีความสุข

“เด็กญี่ปุ่นเข้าใจวิญญาณของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก พวกเขากำลังเรียนรู้เกี่ยวกับอุดมคติของ กูแบร์แต็ง (Pierre de Coubertin-ผู้ก่อตั้งกีฬาโอลิมปิกยุคใหม่) ในการเข้าถึงสันติภาพผ่านกีฬา ได้โปรดนำการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกไปยังญี่ปุ่นด้วยเถิด”

เขาย้ำว่าถ้าหากทุกคนเลือกโตเกียวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ก็จะเป็นครั้งแรกที่ประเทศในทวีปเอเชียได้รับหน้าที่อันทรงเกียรตินี้ และนั่นหมายความว่าทุกทวีปได้เป็นเจ้าภาพครบทั้งหมด

“เมื่อนั้นวงแหวนที่ห้าในสัญลักษณ์โอลิมปิกก็จะเสร็จสมบูรณ์ ชาวเอเชียพร้อมที่จะให้เปลวไฟโอลิมปิกเผาไหม้อย่างสดใสด้วยภาคภูมิใจ”

กล่าวได้ว่า สุนทรพจน์ครั้งนี้ตราตรึงใจคณะกรรมการอย่างยิ่ง และส่งผลสำคัญต่อการตัดสินใจ ในที่สุดเมื่อผลลงมติออกมาก็ปรากฎว่าโตเกียวได้รับเลือกจริงๆ โดยได้คะแนนถึง 34 คะแนน เอาชนะดีทรอยต์ (10 คะแนน), เวียนนา (9 คะแนน) และบรัสเซลส์ (5 คะแนน) อย่างขาดลอย

ทั้งเฟรด ทาบาตะ รวมถึงฮิราซาว่า ต่างดีใจอย่างมาก นี่คือผลตอบแทนในความทุ่มเทพวกเขา

“เราหวังว่าจะชนะ แต่ไม่คิดด้วยซ้ำว่าจะได้คะแนนมากขนาดนี้ ก่อนนับคะแนนเราไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าจะชนะได้สำเร็จ” ทาบาตะกล่าวกับสำนักข่าว Japantimes ด้วยความรู้สึกว่ามันเป็นปาฏิหาริย์

เมื่อนั้นวงแหวนที่ห้าในสัญลักษณ์โอลิมปิกก็จะเสร็จสมบูรณ์ ชาวเอเชียพร้อมที่จะให้เปลวไฟโอลิมปิกเผาไหม้อย่างสดใสด้วยภาคภูมิใจ

Fred Wada Isamu – Masaji Tabata – Kazushige Hirasawa : ชาย 3 คน ผู้อยู่เบื้องหลังปาฏิหาริย์ ‘Tokyo Olympics 1964’

โอลิมปิกครั้งประวัติศาสตร์ของเอเชีย

การจัดโอลิมปิกครั้งนั้น ทำให้ประเทศญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด

เจ้าภาพได้รับคำชื่นชมจากนานาประเทศอย่างมากมาย โดยที่หลายคนอาจลืมไปว่า เมื่อ 19 ปีก่อนหน้านั้นดินแดนญี่ปุ่นยังพังย่อยยับจากสงครามอยู่เลย

พวกเขาทุ่มงบประมาณเกือบ 300 ล้านดอลลาร์ สร้างสนามกีฬา หมู่บ้านนักกีฬา พัฒนาถนนและระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ ปรับปรุงสนามบินฮาเนดะให้ทันสมัย สร้างรถไฟสายใหม่ๆ รวมทั้งรถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็น ซึ่งเปิดให้บริการ 9 วันก่อนการแข่งขันจะเริ่มต้น

วันที่ 10 ตุลาคม 1964 ท้องฟ้าสีฟ้าของโตเกียวก็เต็มไปด้วยลูกโป่งหลากสีสัน ผู้คนมากมายมารอต้อนรับนักกีฬาจากนานาชาติกว่า 5,000 คนที่มาร่วมแข่งขัน และรอดูการวิ่งไปจุดคบเพลิงโอลิมปิก ในพิธีเปิดอันยิ่งใหญ่ ซึ่งมีการถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์ไปทั่วโลก

แน่นอนว่า เฟรด วาดะ, มาซาจิ ทาบาตะ และคาซุชิเกะ ฮิราซาวา ต่างก็ได้ยืนมองความสำเร็จนี้ด้วยสองตาของพวกเขาเอง

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • ภาพยนตร์โทรทัศน์ The Man of the Tokyo Olympics (บรรยายภาษาไทย โดยเพจ Rising Sub)
  • ภาพยนตร์โทรทัศน์ Idaten: Tokyo Olympics Story
  • เว็บไซต์ history-men
  • เว็บไซต์ Around the Rings
  • เว็บไซต์ University of Tsukuba
  • เว็บไซต์ The Japan Times
  • YouTube : swimminghalloffame
  • YouTube : 公益財団法人藤井財団

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.