อุดม แต้พานิช : The Story of The First.. เดี่ยวไมโครโฟน

<< แชร์บทความนี้

หากพูดถึงทอล์กโชว์ที่คนไทยรอคอยมากที่สุด

รับรองว่า เดี่ยวไมโครโฟน ของ โน้ต-อุดม แต้พานิช คงเป็นชื่อแรกๆ ที่ทุกคนนึกถึง

แต่คุณรู้หรือไม่..กว่าเขาจะกลายเป็นนักแสดงเดี่ยวที่ประสบความสำเร็จสูงสุดอย่างวันนี้

บอกเลยไม่ใช่เรื่องง่าย..เพราะไม่มีคำว่า ‘ทางลัด’ มีแต่คำว่า ‘กล้าลอง’ ‘กล้าเสี่ยง’ ‘กล้าเจ็บตัว’ หรือไม่?

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกคนกลับไปดูจุดพลิกผันสำคัญในชีวิตของชายคนนี้ ผู้ยอมทิ้งคำว่า ‘เสนาโน้ต’ แห่งยุทธการขยับเหงือกไว้เบื้องหลัง เพื่อเดินหน้าสู่โลกใบใหม่ที่ไม่มีคนไทยคนไหนเคยรู้จักมาก่อน

สู่โลกใหม่ที่ไม่มีใครรู้จัก

บางทีเส้นแบ่งระหว่างความฝันกับความจริงก็อยู่แค่ว่าเราลงมือทำหรือไม่ เหมือนผู้ชายที่ชื่ออุดม แต้พานิช และการแสดงเดี่ยวไมโครโฟนครั้งแรก

“วันที่ผมเดินออกมาจากยุทธการขยับเหงือกเพื่อมาทำเดี่ยวไมโครโฟน คงเหมือนสมัยก่อนที่มีคนประกาศว่าโลกมันกลม ตอนนั้นเดินไปบอกใคร ใครก็ไม่เชื่อ ประมาณนั้นเลย ผมไปขอสปอนเซอร์ นั่งอธิบายเป็นวันๆ เขาก็ยังอ๋อ..จะทำทอล์กโชว์เหรอ ผมก็ครับ รูปแบบใกล้ๆ กัน แต่เนื้อมาหามันอีกอย่างหนึ่ง ไม่มีใครเชื่อ แม้แต่คนในครอบครัวยังออกอาการงงๆ”

เพราะไม่มีใครคิดว่าการพูดคนเดียวเป็นเวลา 2 ชั่วโมง แถมเก็บเงินอีกต่างหากจะเป็นสิ่งที่ทำได้ในเมืองไทย..

จริงอยู่ที่ประเทศนี้เคยมีการแสดงคนเดียวในชื่อ ‘Life Talk Show’ โดย อาจารย์ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ มาแล้ว

แต่ต้องไม่ลืมว่า เครดิตของอาจารย์ทินวัฒน์กับอุดมในสมัยนั้นเป็นอย่างไร?

อาจารย์ทินวัฒน์คือครูสอนพูดที่มีลูกศิษย์ลูกหาเป็นนักธุรกิจมากมาย เป็น ส.ส.หลายสมัย แถมยังเป็นรัฐมนตรีอีกต่างหาก ขณะที่เขาเป็นดาราตลกที่เคยมีผลงานมาบ้างผ่านรายการในเครือ JSL เช่น ยุทธการขยับเหงือก วิก07

ที่สำคัญคือสิ่งที่อาจารย์ทินวัฒน์พูดกับเขา (จะ) พูดก็ต่างกันอย่างสิ้นเชิง!!

Life Talk Show คือการพูดแบบวิชาการที่สอดแทรกอารมณ์ขัน มีโชว์ร้องเพลงบ้าง เนื้อหาส่วนใหญ่เหมาะกับผู้ใหญ่ ยืนยันได้จากชื่อภาษาไทยที่ว่า ‘สาระชีวิต’ แต่สิ่งที่อุดมคิดคือ พูดอะไรก็ได้ บางทีเป็นแค่มุมมองที่มีต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น รัฐบาล วงการบันเทิง หรือแม้แต่เรื่องคนข้างบ้าน

แต่ท่ามกลางความไม่เชื่อของใครๆ ในใจของอุดมกลับเป็นอีกอย่าง

“มันเป็นช่วงที่หักเหมาก แต่ผมมั่นใจมากว่าทำได้ ผมเชื่อว่าการแสดงตลกที่ไม่จำเป็นต้องเล่นเป็นคณะ ไม่ต้องแต่งตัวเป็นผู้หญิง ไม่ต้องตีหัว ราดแป้งสาดเค้ก มันคือความเชื่อลึกๆ ที่อยู่ในตัวของผมเอง”

อุดมบอกว่าคนจำนวนไม่น้อยชอบทำให้เรื่องต่างๆ ให้ยากกว่าที่ควรจะเป็น

หลายคนก็ถูกกำจัดฝันด้วยคำพูดง่ายๆ อย่าง ‘อย่าเลย’ หรือ ‘ทำไม่ได้หรอก’

ครั้งหนึ่งเขาอยากเรียนละครใบ้ แต่คำพูดที่กลับมาคือ ‘มันไม่ได้หัดกันง่ายๆ นะน้อง’ แค่แป้งทาหน้าก็ต้องไปซื้อไกลถึงเยอรมนี ต้องวอร์มร่างกายอย่างต่ำ 1 ปี ทุกอย่างเต็มไปด้วยทฤษฎี ผลสุดท้ายคือ ไม่ได้ทำสักที..

กระทั่งวันหนึ่งเขาไปเที่ยวกับเพื่อนช่วงสงกรานต์ที่เสม็ด แต่ขากลับไม่มีเงิน เหลือบไปเห็นร้านอาหารแห่งหนึ่งมีฝรั่งนั่งอยู่ จึงอยากทดสอบว่า สามารถเล่นละครใบ้ได้ไหม เลยขอเจ้าของร้านแสดง โดยใช้ดินสอพองที่เล่นสงกรานต์ทาหน้า

“ผมเล่นตรงหาดทรายเลย เล่นด้วยความเชื่อของผม เชื่อว่าเรื่องที่จะเล่ามีจริง ตอนนั้นผมเล่นเรื่องคนๆ หนึ่งไปขอความรักจากผู้หญิงคนหนึ่ง และถูกผลักตกกระไดมา ผมเล่นเป็นทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ผมรู้สึกว่าผู้หญิงคนนั้นมีอยู่จริง ยืนอยู่ตรงนี้จริงๆ ระหว่างเล่นแป้งมันก็แห้ง เล่นไปแป้งหลุดไป จนเล่นจบฝรั่งก็ตบมือให้ บอกให้อยู่สักครู่ แล้วก็เอามาให้ 200 บาท จากนั้นก็เรี่ยไรเงินจากลูกค้าในร้านใส่กระป๋องให้ เขาดูกันรู้เรื่อง เจ้าของร้านก็ดูรู้เรื่อง บอกให้มาเล่นบ่อยๆ

“ตรงนี้ทำให้มีผมมีความเชื่อว่า ละครใบ้หัวใจอยู่ตรงความเชื่อ เชื่อว่ามันมีอยู่จริง..เหมือนกับเดี่ยวไมโครโฟน ผมปรึกษาผู้ใหญ่หลายท่านก็จะทำให้รู้สึกว่าทำได้ยาก แต่จริงๆ แล้วมันก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิดหรอก”

เพราะความเชื่อนี่เอง..ทำให้เขาสร้างปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่ได้

มันคงเป็นพรหมลิขิต

“คุณน่าจะทำ One Stand Up Comedy นะ”

หากคุณเจอผู้ใหญ่ 3 คน ทักด้วยประโยคนี้ คุณจะทำยังไง?

3 บุคคลที่มาทักอุดม คือ รศ.อรชุมา ยุทธวงศ์ แห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ครูช่าง-ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง และ อาจารย์คณิต คุณาวุฒิ นักออกแบบฉากมือต้นๆ ของเมืองไทย ต่างคนต่างทักจนเสนาโน้ต (ในวันนั้น) อดสงสัยไม่ได้ว่า One Stand Up Comedy เป็นอย่างไร?

และเหมือนฟ้าประทานเมื่อ IBC นำ One Stand Up Comedy มาฉายพร้อม Sub ภาษาไทยพอดี

“เขามาเล่าเรื่องอะไรก็ไม่รู้ เล่าแล้วก็ลาไปเลยก็เลยอยากรู้มากขึ้น วันหนึ่งมีเพื่อนไปอังกฤษก็เลยฝากซื้อ ซื้อมาเป็น 10 ม้วนเลย มานั่งดูภาษาอังกฤษไม่กระดิกหรอก แต่อยากรู้ว่าทำอะไร ดูไปก็เหมือนกันคือพูดเสร็จแล้วก็ไป ผมก็เลยไปให้ฝรั่งคนหนึ่งพูดไทยได้ช่วยดูให้หน่อย ฝรั่งดูก็ขำไป เราก็รอตอนจบ ฝรั่งก็บอกไม่มีอะไรก็ไปพูดเรื่องที่เห็นมา พอไม่กระจ่าง เราก็เลยเริ่มเขียนบทขึ้นมา แล้วก็ลองทำสิ่งนี้ไปเล่น”

แต่ท่ามกลางความไม่เข้าใจ อุดมค้นพบว่า เสน่ห์อย่างหนึ่งของการแสดง One Stand Up Comedy คือผู้แสดงสามารถควบคุมแสดงทั้งหมดได้เอง ซึ่งต่างจากสิ่งที่ทำอยู่ที่ต้องเล่นเป็นทีม

“ผมเล่นยุทธการมาได้ 3 ปีกว่ากระทั่งวันหนึ่งผมเริ่มรู้สึกว่า อยากจะลองทำอะไรสักอย่าง อยากลองเล่นตลกคนเดียว.. ผมว่าพูดคนเดียว เด็ดสุดแล้ว ผมเชื่อนะ การเล่าเรื่องตลกนี้ต้องมีจังหวะ เขาเรียกเลี้ยงบอล ต้องค่อยๆ ลากไปๆ พอได้จังหวะแล้วก็ยิง ไม่ใช่ว่าจู่ๆ ลูกมาถึงยิงๆ มันมีจังหวะของมัน ถ้าเราทำคนเดียว เราก็จะปูไปก่อน ค่อยๆ เริ่มจากอย่างนี้ๆ ไม่ใช่ต้องแย่งกันเหมือนงานเทกระจาด”

นี่กลายเป็นสาเหตุให้ตัดสินใจถอนตัวจากรายการยุทธการขยับเหงือก ซึ่งเวลานั้นเป็นรายการตลกอันดับ 1 ของประเทศ เพื่อเดินตามเส้นทางสายใหม่อย่างจริงจัง

แต่การตามหาฝันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ก็อย่างที่บอกว่า เมื่อทุกคนต่างไม่เชื่อมั่น สิ่งที่ทำได้ก็คือ การพิสูจน์

อุดมใช้โอกาสจากการได้รับเชิญไปพูดตามสถานบันการศึกษาต่างๆ เป็นเวทีเพื่อแง้มหัวใจผู้คน

“เราไปเล่าเรื่องมุมมองของเรา ภาษาของเรา เช่นตอนนั้นกำลังรณรงค์ชวนคนไปบวช ผมก็เล่าเรื่องบวชให้เป็นเรื่องสนุก เหมือนกับเด็กคนหนึ่งจะไปออกค่ายในช่วงหน้าร้อน การเดินบิณฑบาตก็มีความสนุก ได้เดินเท้าเปล่าออกมาตามคันนา มีป้าแก่ๆ หุงข้าวร้อนๆ ควันฉุย ได้กลิ่นขี้ควาย เหมือนมิวสิกวีดีโอ พระอาทิตย์ขึ้นน้อยๆ แล้วข้าวร้อนๆ ในบาตร ร้อนมือฉิบเป๋งเลย เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ไม่คนอื่นไม่พูด ผมก็เอามาพูด แล้วก็รู้สึกว่าคนฟังสนใจสิ่งที่เราไปมองเห็นมา”

อุดมพยายามสังเกตพฤติกรรมของผู้คน เช่น เล่าไปชั่วโมงหนึ่งแล้วไม่มีใครลุกเข้าห้องน้ำเลย หรือลองเล่าอื่นๆ นอกจากเรื่องตลกบ้าง เช่นเรื่องเศร้า เรื่องพระ เรื่องการเมือง รวมทั้งพยายามฝึกปรือฝีมือด้วยการศึกษาตัวอย่างจากต่างประเทศ เพราะของแบบนี้ถามใครไม่ได้ ต้องเรียนรู้จากตัวเอง

จากการทดลองอยู่นานนับปี ก็ยิ่งมั่นใจว่า การตัดสินใจครั้งนี้ไม่พลาดแน่นอน!!

ชีวิตคือการเดิมพัน

เดี่ยวไมโครโฟน ครั้งแรกก็ถือกำเนิดขึ้น ณ หอประชุมเมืองไทยประกันชีวิต เมื่อวันที่ 23-25 สิงหาคม 2538

เงินทุนกว่า 400,000 บาทที่เก็บรวบรวมหลังออกจากยุทธการขยับเหงือก ถูกนำมาเป็นทุนตั้งต้นทั้งหมด

นี่คือการเดิมพันครั้งสำคัญในชีวิต!!

“การแสดงแบบนี้ไม่มีใครช่วยเราได้เลยนะ ตายคนเดียว เกิดคนเดียว โอเค ถ้าคุณไปเล่นให้นักศึกษาฟัง คุณไม่ได้เก็บตังค์ เขาไม่ว่า แต่นี่เก็บตังค์ นั่งรถจากบ้าน ฝ่าการจราจรมาถึงที่ กูมารอมึงนะ เล่นไปเอาให้กูขำ ถ้าออกมา 3 มุกแรกไม่ขำนะ คุณให้ธรณีสูบตรงนั้นได้เลย”

แต่ด้วยการเตรียมตัวอย่างดี โดยเฉพาะสคริปต์ที่พิถีพิถัน พยายามนำเสนอแง่มุมที่หลากหลาย เพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มผู้ชมทุกเพศทุกวัย ที่สำคัญทุกเรื่องผ่านการทดสอบ เพราะไม่มีทางที่เราจะแน่ใจได้เลยว่า มีแค่ตัวเองหรือเปล่าที่ตลก เขาจึงนำไปเล่าให้คนนั้นคนนี้ฟัง หากฟังแล้วกร่อยก็ต้องคัดทิ้ง บางทีก็ให้เพื่อนอัดวีดีโอให้ เพื่อเปิดดูย้อนหลัง จุดไหนที่รู้สึกว่า ไม่น่าเล่าหรือเยอะไปก็ต้องปรับหรือสลับไปไว้ตรงอื่น ทำอย่างนี้อยู่หลายรอบ

“เวลาจะแสดงผมจะท่องก่อนเลยว่า เราคือเด็กชายอุดม เราอยากจะเล่าเรื่องให้เพื่อนที่อยู่ข้างหน้านี่แหละกี่พันคนไม่รู้ฟังมากเลย เล่าผิดไม่เป็นไร เล่าใหม่ก็ได้ ตำรวจไม่จับ แล้วก็ทำเหมือนเรื่องที่เราจะเล่าไม่เคยเล่าที่อื่นมาก่อน จะเตือนตัวเองอย่างนี้เสมอ แล้วจะทำให้ผมออกมาด้วยความสดชื่น”

เพราะฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจเลยว่า เหตุใดเรื่องเล่ากว่า 30 เรื่องในเดี่ยวไมโครโฟนครั้งแรก ถึงถูกตบท้ายด้วยเสียงหัวเราะ กลายเป็นความสำเร็จที่เกินคาด แม้จะทำรายได้แค่เสมอตัวเท่านั้นเอง และสิ่งที่ ‘คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม’ คือการที่เดี่ยวไมโครโฟนเข้าไปประทับในใจของผู้คน

“ผมเชื่อว่านักแสดงทุกคนในใจลึกๆ คงอยากจะขึ้นไปยืนอยู่บนเวทีที่ดีที่สุด ผมเคยนึกอิจฉาคุณพี่เบิร์ด ธงไชยที่ได้เหยียบเวทีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ตอนนั้นผมยังเป็นตัวประกอบอยู่เลย แต่ตอนนี้เราไม่ต้องเป็นตัวประกอบใครอีกแล้ว เราได้ยืนคนเดียว ทุกคนมาเพื่อดูเรา แม่ผมยังร้องไห้เลย ยืนกอดผมหลังเวที ไม่อยากจะเชื่อว่าใครจะมาดูเราขนาดนี้”

จากความสำเร็จครั้งนั้น นำมาสู่เดี่ยวไมโครโฟน ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ครั้งที่ 4 และครั้งต่อๆ ไป กลายเป็นการแสดงยอดนิยมที่มีผู้ชมนับหมื่น และยังได้ไปจัดแสดงไกลถึงเมืองนอกเมืองนา

แต่ที่สำคัญคือ เวทีนี้ได้พลิกชีวิตผู้ชายธรรมดาๆ คนหนึ่งให้กลายเป็น ซูเปอร์สตาร์ เป็นที่เรียบร้อย

ผมปรึกษาผู้ใหญ่หลายท่านก็จะทำให้รู้สึกว่าทำได้ยาก แต่จริงๆ แล้วมันก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิดหรอก

อุดม แต้พานิช : The Story of The First.. เดี่ยวไมโครโฟน

เรื่องธรรมดาของโลก

ซูเปอร์สตาร์คือ มนุษย์กระจอกคนหนึ่ง

ไม่ผิดหากจะบอกว่าสิ่งที่มาพร้อม ‘ชื่อเสียง’ ก็คือ ‘ชื่อเสีย’

ชีวิตของผู้ชายคนนี้ที่ไม่ต่างกัน เขาเคยถูกวิจารณ์อย่างรุนแรง เคยถูกจับผิดนับครั้งไม่ถ้วน เคยเผชิญภาวะที่สร้างผลงานออกมาแล้วถูกผู้คนเรียกว่า ‘ขยะ’

แต่อุดมบอกว่า นี่เป็นของกฎของโลก เพราะเป็นปกติที่คนเราจะสร้างโมเดลในหัวเกี่ยวกับคนอื่นว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เมื่อพบว่าบางทีแล้วมันไม่ใช่ ก็ย่อมมีความผิดหวังเป็นธรรมดา

“เรื่องนี้เคยทำให้ผมเกือบแย่เหมือนกัน ผมก็คนธรรมดา คนว่ามากๆ เราก็รู้สึกว่าจะทำยังให้ถูกใจคนทั้งหมด ไม่มีใครอยากถูกมองว่าเป็นคนไม่ดี แต่ผมผ่านช่วงนั้นมาแล้ว เรื่องอะไรที่เราต้องแบกความคาดหวังไว้ เสียเวลา ถ้าเรารู้ตัวว่าเราจะทำอะไร ไม่ต้องสนใจว่าใครจะคิดอะไรกับเรา เอาเวลาไปคิดว่าเราจะทำอะไรดีกว่าเอาเวลาไปคิดว่าใครจะคิดยังไงกับเรา

“ผมท่องคำที่เขาเขียนว่า ‘ทำก็ถูกด่า ไม่ทำก็ถูกด่า ทำดีกว่า ขณะถูกด่ายังมีอะไรทำ’ ได้ยินแล้วก็หัวเราะ บอกว่าใช่ๆ การแก้ตัวช่วยอะไรได้หรือ มันช่วยอะไรไม่ได้ คนเรามีหลายเหลี่ยมหลายมุม อยู่ที่ใครจะมองมุมไหน ซึ่งไม่ว่ามองมุมไหนก็ใช่ทั้งนั้น แต่อาจไม่ใช่ทั้งหมด บางทีคนทุกคนมันอยู่ที่ใครคิด”

เพราะชีวิตของคนเราไม่มีสูตรสำเร็จ..ไม่มีอะไรที่ตายตัว ทุกอย่างขึ้นกับสถานการณ์ ขึ้นอยู่ตัวบุคคล ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ขึ้นอยู่สภาวะของอารมณ์

นี่คือความกล้าที่แท้จริง ไม่แพ้ความกล้าในวันที่เขาเริ่มต้นเดี่ยวไมโครโฟนเลย เพราะหากไม่ยอมรับสิ่งนี้ ก็คงยากที่จะก้าวต่อไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • นิตยสารสีสัน ปีที่ 7 ฉบับที่ 11 เดือนมิถุนายน 2538
  • นิตยสาร a day ปีที่ 1 ฉบับที่ 4 เดือนธันวาคม 2543
  • นิตยสาร Trendy Man ปีที่ 4 ฉบับที่ 44 เดือนเมษายน 2539
  • นิตยสารสารคดี ปีที่ 13 ฉบับที่ 147 เดือนพฤษภาคม 2540
  • นิตยสาร GM ปีที่ 16 ฉบับที่ 252 เดือนกรกฎาคม 2544
  • รายการ THE IDOL คนบันดาลใจ – อุดม แต้พานิช ออกอากาศ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2552 และ วันที่ 6 ธันวาคม 2552 ช่อง Modern Nine TV

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.