สรพงษ์ ชาตรี : ชีวิตที่ยิ่งกว่าของพระเอกตลอดกาล

<< แชร์บทความนี้

คงไม่ผิด หากจะบอกว่า สรพงษ์ ชาตรี คือนักแสดงอมตะของเมืองไทยอย่างแท้จริง เพราะไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ รับรองว่าจะต้องเห็นหน้าผู้ชายคนนี้ปรากฏอยู่บนหน้าจออย่างแน่นอน

ว่ากันว่า ตลอด 50 กว่าปีบนเส้นทางสายบันเทิง เขาไม่เคยหยุดแสดงเลย เฉพาะหนังอย่างเดียวก็น่าจะแตะ 600 เรื่อง ส่วนละครก็น่าจะเฉียด 200 เรื่อง

ยิ่งฝีมือการแสดงไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่เคยเป็นสองรองใคร ตีบทแตกกระจุยตลอด ทั้งบทชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ตำรวจ ทหาร คนบ้า ขอทาน มนุษย์หมาป่า ฆาตกร กำนันผู้ใหญ่บ้าน หลวงตา หรือจะบทอะไรก็ตาม จนกลายเป็นนักแสดงชายที่ได้รับรางวัลมากที่สุดในประวัติศาสตร์หนังไทย

แต่แน่นอน กว่าที่จะประสบความสำเร็จ บอกเลยว่า ไม่ง่าย  

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกคนกลับไปย้อนเส้นทางของพระเอกในตำนาน แล้วคุณจะเข้าใจว่า ตัวจริงเสียงจริงนั้นเป็นอย่างไร

ชะตาชีวิตของพระเอก

เชื่อหรือไม่ งานแรกของสรพงษ์ ชาตรี คือคนแบกร่มให้กับกล้อง

สรพงษ์เป็นเด็กอยุธยา เรียนจบ ป.4 มีความสามารถแค่เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย

จากนั้นก็หันหน้าเข้าสู่ธรรม บวชเป็นสามเณรอยู่หลายพรรษา ถึงขั้นเคยได้นักธรรมเอกกับเปรียญธรรม 2 ประโยค

หากแต่ระหว่างนั้น เขามีโอกาสติดตามเพื่อนเณรไปหาพี่ชาย ชื่อ รุ่งเรือง ธรรมรักษ์ ซึ่งเป็นคนควบคุมห้องอัดของสถานีวิทยุในรายการของ พิศาล อัครเศรณี ก็เลยคุ้นเคยกันเรื่อยมา

พออายุ 19 ปี สึกออกมา ก็เลยวกกลับไปหารุ่งเรือง เพื่อจะมีงานอะไรให้ทำบ้าง

บังเอิญเพื่อนของรุ่งเรืองกำลังทำหนังทีวีอยู่ที่ช่อง 7 สี ชื่อเรื่อง นางพรายตานี รุ่งเรืองเลยเขียนจดหมายฝากสรพงษ์ให้ไปทำงานด้วย ซึ่งพอไปถึงเขาก็ได้รับหน้าที่ซึ่งสำคัญมากของกอง

ตอนนั้นเขาถามว่าอยากไปเที่ยวกองถ่ายไหม เผื่อมีงานอะไรทำ พอไปถึงที่กองก็บอกว่าดีเลย ตอนนี้ไม่มีคนแบกร่ม ช่วงแรกผมก็คิดว่าแบกให้คนถ่ายหนัง เพราะฉะนั้นเวลาเขาวางกล้องเสร็จปุ๊บ แล้วไปทำธุระ ผมก็เลยถือร่มตาม ปรากฏว่า เขาหันกลับมาด่าผม บอกว่า เอาร่มมาทำไม แล้วกล้องใครจะดูแล สุดท้ายก็ถึงเข้าใจว่า กางร่มให้กล้อง เพราะฟิล์มมันร้อน คนไม่สำคัญ กล้องสำคัญกว่าคน

จากก้าวแรกในวันนั้น ทำให้สรพงษ์มีโอกาสได้ข้องแวะกับงานบันเทิงเรื่อยๆ บ่อยครั้งที่ต้องไปเป็นเบื้องหน้าจำเป็น อย่างเวลานักแสดงประกอบขาดแคลน เขาก็มักถูกเรียกตัวอยู่เสมอ

แต่ดวงคนมันจะดังก็ต้องดัง วันหนึ่งพิศาลได้แนะนำให้เขารู้จักกับนักปั้นคนหนึ่ง ชื่อ สุรพงษ์ โปร่งมณี เป็นนักดีไซน์เสื้อผ้าของละโว้ภาพยนตร์ และอัศวินภาพยนตร์

บังเอิญช่วงนั้น ท่านมุ้ย ม..ชาตรีเฉลิม ยุคล เพิ่งกลับมาถึงเมืองไทย และกำลังจะเริ่มทำหนังทีวีเรื่อง หญิงก็มีหัวใจ สุรพงษ์ก็เลยพาสรพงษ์ไปแนะนำตัว

วันแรกที่เจอ ผมก็ไปซื้อไทด์ที่บางลำพูมาใส่ เสื้อขาวแขนยาว พอไปถึง ท่านมุ้ยก็ถาว่า มึงชื่ออะไร ผมก็บอกว่าชื่อเอกครับ ท่านก็ถามต่อว่ามึงอยากเล่นไหม ผมก็บอกเล่นได้ก็ดีครับ ท่านก็บอกว่าเดี๋ยวจะมีเด็กตกน้ำ มึงว่ายน้ำเป็นไหม ผมก็บอกว่า เป็นครับ ผมเด็กอยุธยา แล้วท่านก็พูดต่อว่า เดี๋ยวกูบอกว่าโดด มึงโดดเลยนะ ผมก็โดดทันที ทั้งชุดนั้นเลย เอาเด็กขึ้นมา เด็กตอนนั้นอายุสัก 3 ขวบได้มั้ง

คงเพราะแบบนี้เอง ท่านมุ้ยก็เลยติดใจเรียกใช้สรพงษ์เรื่อยมา โดยเรื่องต่อมา เขารับบทเป็นผู้ร้าย เล่นอยู่ 3 ฉาก พอถ่ายเสร็จหน้าตาของสรพงษ์ขึ้นกล้องมาก ท่านมุ้ยก็เลยบอกว่า ถ้าอย่างนั้นเรื่องต่อไป ให้เล่นพระเอกแล้วกัน จากนั้นก็ย้ายไปอยู่ที่วังละโว้ เวลามีงานอะไรก็จะเรียกได้ทันที

สรพงศ์ประเดิมบทพระเอกครั้งแรก จากหนังทีวีเรื่องหมอผี จากนั้นก็ต่อด้วยเรื่องป่าสังคม

แต่อย่างว่า ยุคนั้นศักดิ์ศรีของดาราทีวีนั้นสู้ดาราภาพยนตร์ไม่ได้ คนก็เลยยังจดจำเขาไม่ได้ หากแต่จุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อพระเอกหนังเบอร์ 1 มิตร ชัยบัญชา ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตกะทันหัน พระเอกก็เลยขาดแคลน ทุกค่ายต้องพยายามค้นหาพระเอกหน้าใหม่

ช่วงนั้นท่านมุ้ยกำลังเริ่มสร้างหนังใหญ่เป็นครั้งแรก เรื่องมันมากับความมืด ครั้งแรกวางพระเอกชื่อ ไชยา สุริยัน ประกบนางเอก นัยนา ชีวานันท์ แต่ไม่รู้ว่ามีปัญหาอะไรกัน ท่านมุ้ยก็เลยปลดไชยาออก แล้วก็ดันสรพงษ์มาแสดงแทน

ตอนนั้นสรพงษ์ถูกวิจารณ์หนักมากว่า ไม่เข้าขั้นพระเอกหนังไทย เพราะผิวดำ และจมูกใหญ่เกินไป ไม่หล่ออย่างที่ใครๆ คิด แต่ท่านมุ้ยก็ประกาศกร้าวว่า จะปั้นพระเอกคนนี้ให้ดังให้ได้

ผลปรากฏว่า มันมากับความมืดนั้นก็มืดจริงๆ เพราะเจ๊งสนิท หลายคนบอกว่าเป็นอาถรรพ์ของหนังไทยที่มีคำว่ามืดเป็นลางไม่ดี แต่จริงๆ น่าจะเป็นเพราะหนังแปลกประหลาดเกินไปสำหรับสังคมไทยที่ไม่ชินเรื่องไซไฟ มีมนุษย์ต่างดาว

แต่ท่านมุ้ยก็ไม่ถอดใจ ขอลองปั้นสรพงษ์ใหม่อีกรอบ โดยจับคู่กับนัยนาเหมือนเดิม

หนังเรื่อง เขาชื่อกานต์ เขารับบทหมอผู้เปี่ยมด้วยอุดมการณ์ เปิดเรื่องมาโดนยิงตายทันที เรียกว่าผิดขนบหนังไทยอีกเช่นเคย แต่ปรากฏว่า คราวนี้ไม่ผิดหวัง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกระแส 14 ตุลาคม 2516 ที่กำลังผลิบาน หนังประสบความสำเร็จอย่างสูง ถึงขั้นสรพงษ์ได้เข้าชิงรางวัลตุ๊กตาทอง น่าเสียดายที่สุดท้ายเขาต้องพ่ายแพ้ไป

แต่อย่างน้อย ท่านมุ้ยก็ได้ทำเป้าหมายลุล่วง เพราะในที่สุดพระเอกคนนี้จะโด่งดังไปทั่วประเทศ

มากกว่าแค่ 'พระเอก'

จากความสำเร็จของเขาชื่อกานต์ ก็ทำให้สรพงษ์เริ่มมีผลงานอย่างต่อเนื่อง

จุดเด่นสำคัญสุด คือ เขาพร้อมแสดงทุกบทบาท ทั้งบทเด่น บทรอง พระเอก ผู้ร้าย คนดี คนชั่ว

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคำสอนของท่านมุ้ยที่บอกว่า อยากให้นักแสดงของท่านแสดงได้หลากหลาย เป็นมนุษย์ที่รู้สึกเจ็บปวด มีดี มีเลวชั่ว ไม่ใช่พระเอกฮีโร่ ซูเปอร์สตาร์อย่างที่ใครๆ เขาเป็นกัน

ด้วยเหตุนี้ ตลอดชีวิตการแสดงของสรพงษ์ เขาจึงได้รับบทที่ท้าทายตลอดเวลา

อย่างตอนแรกเขาเป็นหมอใจบุญ พอเรื่องต่อมาก็กลายเป็นคนคุมซ่อง นักโทษหนีคดี ไปจนถึงครูที่มีชีวิตแสนลำเข็ญ ซึ่งเขาก็สามารถตีบทแตก จนคว้ารางวัลตุ๊กตาทองมาแล้วหลายหน

แต่บทบาทที่สรพงษ์เล่นคนจดจำได้มากสุด คงหนีไม่พ้น พวกบทชีวิต บทดราม่า

อย่างภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่โด่งดังไปไกลถึงระดับโลกเลย คือ แผลเก่า ผลงานการกำกับของเชิด ทรงศรี ซึ่งสรพงษ์รับบทเป็น ขวัญ ชายหนุ่มผู้มีรักมั่นกับหญิงสาว เรียม

ว่ากันว่า ตอนที่หนังเรื่องนี้เข้าฉายเป็นยุคที่หนังไทยกำลังเปลี่ยนยุคพอดี แผลเก่าจึงถูกมองว่า เก่า เชย ถึงไม่มีสายหนังที่ไหนยอมซื้อไปขาย

แต่ด้วยความที่สรพงษ์แสดงได้ถึงบทบาท เพราะเขาเอาชีวิตตัวเองที่เติบโตมากับท้องทุ่งท้องนามาผสมผสาน จนผู้ชมต่างอินและหลั่งน้ำตาให้กับความรักของไอ้ขวัญ และผลักให้แผลเก่าขึ้นแท่นหนังทำเงินอันดับ 1 ของปี 2520 รวมทั้งยังคว้ารางวัลกรังด์ปรีซ์จากการประกวดภาพยนตร์ในงาน Festival des 3 Continents ประเทศฝรั่งเศส ในอีก 4 ปีต่อมาด้วย

หลังจากแผลเก่าประสบความสำเร็จ สรพงษ์ก็ขึ้นแท่นกลายมาเป็นเบอร์ 1 ของวงการ

เล่นหนังแทบไม่มีวันหยุด อย่างบางปี เช่น ปี 2526 เขามีผลงานออกมาถึง 61 เรื่อง

ถ้าเราแสดงหนังไม่ดี มันจะประณามเราจนตาย เพราะหนังจะถูกเอามาฉายเรื่อยๆ ตายไปแล้วยิ่งฉายกันใหญ่ วันที่สรพงษ์ตาย หนังสรพงษ์จะเต็มทุกช่องเลย

สรพงษ์ ชาตรี : ชีวิตที่ยิ่งกว่าของพระเอกตลอดกาล

หลักคิดอย่างหนึ่งที่ สรพงศ์ยึดไว้เสมอคือ เวลาทำอะไรก็ตามจะต้องศึกษา และทำให้จริง บางครั้งแม้จะเจ็บปวด เหนื่อยหนักเพียงก็ต้องยอม ถูกต่อย ถูกเตะ ถ้าทนได้ก็ทน

เพราะฉะนั้น จึงไม่แปลกเลยว่า ภาพยนตร์บางเรื่องต่อให้เสี่ยงอันตราย เฉียดตายอย่างไร แต่สรพงษ์ก็ยอมทำ เพื่อต้องการให้ผลงานออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด

ชีวิตผมไม่มีคำว่าง่าย บางคนออกมาเอาหน้าหล่อๆ มาให้ประชาชนดู ก็กรี๊ดกันแล้ว แต่สรพงษ์ไม่มี หนังผมที่ประสบความสำเร็จ คือหนังที่ไม่มีเสื้อผ้าจะใส่ อย่างแผลเก่า คุณต้องโชว์ความสามารถเนื้อๆ ออกมา หรืออย่างสุริโยไท ตาบอด ผมก็ไม่มี มีหนวดอีก คนจะเอาอะไรไปโชว์เขา ในเรื่องความหล่อ ความสมาร์ทหรือความเท่ คุณต้องเอาจิตวิญญาณของคุณให้คนดูรู้ว่า มันจริง มันใช่

ถ้าเราแสดงหนังไม่ดี มันจะประณามเราจนตาย เพราะหนังจะถูกเอามาฉายเรื่อยๆ ตายไปแล้วยิ่งฉายกันใหญ่ วันที่สรพงษ์ตาย หนังสรพงษ์จะเต็มทุกช่องเลย

ตลอดชีวิต สรพงษ์ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง เขาเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ หลายอย่าง

ออกอัลบั้มร้องเพลง เล่นละครโทรทัศน์ หรือแม้แต่พากย์การ์ตูน

เขาบอกใครเสมอว่า เขามีความสุขที่ได้ทำงาน แม้อายุจะล่วงเลยวัยเกษียณไปแล้วหลายปี โดยทุกครั้งที่รับงาน เขาก็ยังคงรักษาคุณภาพผลงานทุกชิ้นไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ผมมีความสุขที่ได้ไปทำงาน ไปถ่ายหนัง ถ่ายละคร ถ้าให้ผมอยู่บ้านเฉยๆ นั่งดูทีวี ผมไม่สนุกหรอก เพราะผมเห็นมาเยอะแล้ว แต่ถ้าอยู่กองถ่าย ถึงจะมีความสุข นี่คือ ชีวิตของศิลปินคนหนึ่งที่ไมเคยเรียนโรงเรียนไหนเลย ไม่มีตำราไหน ไม่เคยอ่านตำรา อยู่แค่ว่า คุณรักมันหรือเปล่า ถ้าคุณรัก คุณก็อยู่กับมันอย่างมีความสุข และผมมีความสุขจากการเป็นนักแสดง

และนี่เองคือ หัวใจสำคัญที่ทำให้ชื่อสรพงษ์ไม่เคยจางหายไปใจของผู้ชม แม้ว่าเขาจะจากไปแล้วตลอดกาลก็ตาม

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • หนังสือศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2551
  • รายการทไวไลท์โชว์ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ปี 2544
  • รายการ Inside Hall of Fame สถานีโทรทัศน์ True Inside วันที่ 24 พฤษภาคม 2559
  • นิตยสาร แก้ว ปีที่ 3 ฉบับที่ 67, มกราคม 2533
  • นิตยสาร Hamburger ฉบับพิเศษ The Actors 50 พระเอกในรอบ 50 ปี

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.