“หากวันนี้อ้อมยังอยู่ หนังไทยอาจจะเปิดฉายแล้วที่โลกพระจันทร์”
ข้อเขียนสั้นๆ จากเพื่อนอักษรศาสตร์ จุฬาฯ น่าจะเป็นคำจำกัดความที่ดีที่สุด เมื่อพูดถึง ดวงกมล ลิ่มเจริญ อดีตผู้อำนวยการสร้างหญิงระดับตำนานของเมืองไทย ซึ่งจากไปเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2546
เพราะถึงจะทำหน้าที่เป็นคนหลังฉากที่คอยสนับสนุนงานของผู้กำกับ แต่ตลอดสิบกว่าปีที่คลุกคลีในอุตสาหกรรมนี้ เธอได้จุดประกายความฝันอันยิ่งใหญ่ ทำสิ่งที่ดูเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้
ด้วยการพาภาพยนตร์ไทยโกอินเตอร์ ตั้งแต่ จัน ดารา, มนต์รักทรานซิสเตอร์, Last Life in the Universe หรือ อารมณ์ อาถรรพ์ อาฆาต ท่ามกลางความเชื่อที่ว่า หนังไทยมีศักยภาพไม่แพ้ประเทศใดในโลก
ไม่แปลกเลยว่าทำไมเธอจึงเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่คนที่เคยคว้ารางวัล Producer of the Year ของ CineAsia Award รวมทั้งได้รับการยอมรับจากบุคลากรสายภาพยนตร์ทั่วโลกว่าเป็นบุคลากรทรงคุณค่าที่สุดคนหนึ่งของวงการ
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอเชิญชวนทุกคนไปร่วมสัมผัสถึงตัวตนและความคิดของ อ้อม-ดวงกมล สตรีผู้ทำให้หนังไทยไปไกลกว่าที่ใครจะคาดคิด
หากย้อนไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อน หลายคนคงคุ้นเคยกับฝีไม้ลายมือการแสดงของเธอเป็นอย่างดี ทั้งบท ‘พี่แสด’ จากละครยามเมื่อลมพัดหวน หรือ ‘มล’ จากภาพยนตร์มหัศจรรย์แห่งรัก เพราะเธอสามารถเปลี่ยนบทเล็กๆ ให้มีสีสันและโดดเด่นจนหลายคนจดจำถึงทุกวันนี้
ว่ากันว่า ดวงกมลหลงใหลการแสดงมาตั้งแต่ยังเป็นนิสิตจุฬาฯ เธอเคยแสดงทั้งลิเก ละครเวที ละครใบ้ ละครโอเปร่า รวมทั้งยังเป็นสมาชิกของวง CU Chorus รุ่นบุกเบิก
พอเรียนจบเลือกก็มาทำงานเบื้องหลังให้ JSL และ Grammy กระทั่ง ถกลเกียรติ วีรวรรณ ตั้งบริษัทผลิตละครโทรทัศน์ชื่อ Exact ดวงกมลก็มารับหน้าที่โปรดิวเซอร์หลัก คอยทำหน้าที่ควบคุมการผลิตตั้งแต่ใครจะมาเป็นผู้กำกับหรือบทเสร็จหรือยัง และบางครั้งยังต้องร่วมแสดงเองด้วย
แต่แล้ววันหนึ่งก็มาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อเธอรู้สึกอิ่มตัว จึงลาออกจากงาน มุ่งตรงสู่สหรัฐอเมริกา
“เรารู้สึกว่าตัวเองตัน ไม่รู้อยากทำอะไรต่อ..รู้สึกว่า เราย่ำอยู่กับที่ ไม่พัฒนาตัวเอง เหมือนเอาของเก่ามาขายกิน อย่างเวลาทำละครจะคิดว่าหาเรื่องอะไรมาทำดี พระเอกนางเอกจะเป็นใคร มันน่าเบื่อ ก็เลยคิดว่าจะไปศึกษาต่อเพื่อให้เห็นโลกกว้างขึ้น”
ดวงกมลลงทะเบียนเรียน Business and Management in Entertainment ที่ UCLA ด้วยเห็นว่าตัวเองก็ทำงานสายโปรดิวเซอร์มาตลอด น่าจะต่อยอดได้ง่าย ประจวบกับช่วงนั้น กระแสภาพยนตร์ ‘2499 อันธพาลครองเมือง’ มาแรงมากในเมืองไทย เธอรู้สึกว่า นี่คือปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ เนื่องจากทั้งเรื่องแทบไม่มีนักแสดงชื่อดังเลย แถมผู้กำกับอย่าง นนทรีย์ นิมิบุตร ก็ไม่เคยจับงานหนังใหญ่มาก่อน เสมือนเป็นเครื่องยืนยันว่า หากหนังไทยมีคุณภาพพอ ผู้ชมก็พร้อมต้อนรับเช่นกัน
ที่สำคัญ ช่วงที่อยู่ลอสแอนเจลิส เธอมีโอกาสได้ดู Art Films จากนานาชาติเยอะมาก ทั้งหนังอิหร่าน ฝรั่งเศส ไต้หวัน แต่กลับไม่มีภาพยนตร์ไทยให้ชมเลย กลายเป็นแรงบันดาลใจอยากผลักดันหนังบ้านเราไปสู่เวทีโลกบ้าง
ดวงกมลกลับมาถึงเมืองไทยช่วงปลายปี 2540 และเริ่มต้นเป็น Producer อยู่ที่ Grammy Film มีโอกาสมาช่วยดูแลการผลิตภาพยนตร์หลักๆ 2 เรื่องคือ รัก-ออกแบบไม่ได้ และกำแพง
ชีวิตที่ Grammy Film ไม่ต่างจากห้องเรียน เพราะถึงได้ประกาศนียบัตรจากสถาบันชั้นนำ แต่เธอก็ไม่เคยอยู่ในธุรกิจหนังจริงจังมาก่อน
อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่า ทุกอย่างจะตรงตามใจหมด เนื่องจากอำนาจตัดสินใจเป็นสิทธิของผู้บริหาร ซึ่งหลายเรื่องเธอไม่เห็นด้วย แต่ทำอะไรไม่ได้
“ตอนนั้นรู้สึกว่าช้าไม่ได้แล้ว คล้ายๆ กับว่ามีคนมาเคาะประตูบ้าน แต่ไม่มีใครเปิดสักที สมัยอยู่ Grammy Film เริ่มมีคนนั้นคนนี้เข้ามา เริ่มมีโคโปรดักชันต่างๆ เข้ามา เราก็คิดว่าทำไมเจ้านายเราไม่เอาจริงสักที เคยพูดกับผู้บริหารว่า ‘พี่ขา หนังไทยเราคุณภาพสู้กับชาติอื่นได้สบายมากเลย ต้นทุนก็ถูก แล็บก็ดี คุณภาพคนทำงานก็ดี ผู้กำกับก็เก่ง พอขายหนังออกไปด้วยต้นทุนเป็นเงินไทยมันได้เงินไทยออกมาเป็นดอลลาร์เลยนะคะ’
“แต่ก็ไม่มีใครฟัง กลายเป็นว่า เราเหมือนผู้หญิงวิกลจริต ชอบพูดเพ้อฝัน แต่ฉันไม่สนใจ แล้วบังเอิญคุณนนทรีย์ได้ไปต่างประเทศมาก็เริ่มเห็นโน่นเห็นนี่ มีคนมาชวนเป็นโคโปรดักชันบ้าง ไปทำอย่างอื่นบ้าง เลยรู้สึกว่า เอาวะ ถ้าวิกลจริตก็ให้มันวิกลจริตกันสองคนไปเลย”
ในที่สุดเธอจึงตัดสินใจโบกมือลาบริษัทใหญ่ หันมาเป็นโปรดิวเซอร์อิสระนำภาพยนตร์ไทยไปฉายตามเทศกาลหนังทั่วโลก ก่อนมารวมทีมกับผู้กำกับ 2499 อันธพาลครองเมือง ตั้งบริษัท Cinemasia เมื่อปี 2543 เพื่อแสวงหาความร่วมมือกับแหล่งทุนทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งถือเป็นหนทางที่จะช่วยพาผลงานของผู้กำกับไทยไปยืนทัดเทียมกับนานาชาติอย่างแท้จริง
Cinemasia เปิดตัวด้วยการนำ ‘เรื่องของจัน ดารา’ นวนิยายสุดอื้อฉาวของอุษณา เพลิงธรรม มาสร้างเป็นหนัง โดยได้ Applause Pictures ของปีเตอร์ ชาน ผู้กำกับภาพยนตร์เถียน มี มี่ และไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ร่วมทุน
‘จัน ดารา’ ก่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์และถูกเซ็นเซอร์อย่างหนัก ด้วยเป็นครั้งแรกๆ ของหนังอีโรติก-ดราม่าในบ้านเรา
แต่สำหรับเมืองนอกแล้ว กลับได้เสียงตอบรับสูงมาก ขึ้นอันดับ 1 Box Office ฮ่องกง รวมทั้งมีโอกาสเข้าฉายใน สิงคโปร์, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, รัสเซีย, โคลัมเบีย และบราซิล
“ตอนนี้เมืองนอกรู้สึกว่า หนังไทยเท่..เพราะเดิมทีเคยโฟกัสที่จีน พอพูดถึงหนังจีนทุกคนก็อื้อหือ ต่อมาพอมาเจอหนังไทย คนก็โอ้โห กลายเป็นว่าดูดี ตอนนี้ใครไม่รู้จักหนังไทยถือว่าตกเทรนด์ไป.. แต่ไม่ใช่ว่าหนังไทยจะขายได้ทุกเรื่อง ส่วนตัวคิดว่ามี 2-3 เรื่องเท่านั้นแหละที่เขาต้องการ
“เราคงบอกไม่ได้ว่าหนังแนวไหนขายได้ มันขึ้นกับอะไรหลายๆ อย่าง อย่างตอน จัน ดารา ออกมา ไม่มีหนังอีโรติกหรือพีเรียดอีโรติก หนังเราเลยเด้งขึ้นมา เรื่องนี้น่าซื้อ ซึ่งพอซื้อไปเราก็ตัดคู่แข่งอื่นๆ ทันที เนื่องจากไม่ได้ไปซ้ำกับใคร เพราะฉะนั้นเวลาทำหนัง พื้นฐานความคิดแรกคือ ต้องมีตัวตนชัดเจน ไม่ว่าจะทำเพื่อตลาดไหนก็ตาม”
จากความสำเร็จของจัน ดารา Cinemasia ยังคงเดินหน้าผลิตผลงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลายเรื่องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างทุนไทยกับทุนนอก เช่น Three อารมณ์ อาถรรพณ์ อาฆาต เป็นโปรเจ็กต์ร่วมกันของผู้กำกับ 3 สัญชาติ ไทย ฮ่องกง เกาหลี หรือ Last Life in the Universe ก็มีตัวแทนทั้งฝั่งเอเชียและยุโรปมาจับมือกันถึง 5 ประเทศ
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ดวงกมลสร้างดีลธุรกิจนี้สำเร็จ มาจากการยกระดับบทบาทของโปรดิวเซอร์ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ให้กลายเป็นโซ่ข้อกลางที่คอยเชื่อมต่อระหว่างนายทุนและภาคส่วนต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม
เธอต้องคอยวิ่งเต้น ประสานงานและสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุน ซึ่งทุกงานไม่ใช่เรื่องง่าย ที่สำคัญการทำงานโปรดิวเซอร์ไม่มีวันจบ ต่อให้ออกจากโรงไปแล้วหลายปี หากเห็นว่ายังมีโอกาสที่หนังจะไปต่อได้ ก็ต้องผลักดันไปให้สุดทาง
“เราไม่ได้รอโชคชะตา ไม่ได้รอให้ราชรถมาเกย ทุกอย่างเกิดจากการวิ่งหาโอกาสของพวกเรา ลองผิดลองถูก ซื้อค่าโง่ก็เยอะ เราก็จำไว้ จดใส่บันทึกไว้เลยว่าทีหลังอย่าไปทำ อย่าไปตกลงแบบนี้ เราฉลาดขึ้น รู้มากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อโปรดิวเซอร์เข้าใจและศรัทธาในตัวผู้กำกับ ซึ่งผู้กำกับไทย 2 คนที่เธอทำงานด้วยเป็นหลัก คือ นนทรีย์ นิมิบุตร และเป็นเอก รัตนเรือง
“เราคิดว่าเป็นคนสานฝันผู้กำกับ คือเราเป็นคนที่เรียกว่า Director Oriented เราจะทำงานกับผู้กำกับที่เราชื่นชม เพราะฉะนั้นเมื่อผู้กำกับคนหนึ่งอย่างทำหนังเรื่องอะไร เราก็รู้สึกว่าเรากำลังจะได้ Art piece ชิ้นดีหนึ่งชิ้น.. แต่ก่อนที่จิ๊กซอว์สองอันจะต่อกันติดได้ ทั้งสองตำแหน่งจะต้องเห็นพ้องต้องกัน เราเถียงกันก่อน ที่ผ่านมา เวลาผู้กำกับจะเริ่มงาน เขาจะมีหลายเรื่องอยู่ในหัว เรามีหน้าที่ช่วยกันคิดเหมือนกับชีวิตเรา ตกลงแล้วจะไปทางไหน บางทีทำเรื่องนี้ดีกว่าไหมในสภาพนี้ สถานการณ์นี้ จังหวะนี้
“สมมติให้ฟังง่ายๆ โปรเจ็กต์ Last Life เกิดก่อน มนต์รักทรานซิสเตอร์ แต่พอคุยกันต่างๆ นานาเสร็จแล้ว เราเดินไปบอกคุณเป็นเอกว่า ก่อนที่เราสองคนจะไปเผชิญโลกไปทำงานกับฝรั่งที่เราไม่รู้จัก ถ้าเราสองคนไม่เคยทำงานกันเลย ไม่เอาด้วยนะ เรามาทำกันเอง 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ของเรากันก่อน เชื่อใจกันให้ได้มากที่สุดเสียก่อน จนเกิดเป็นมนต์รักฯ แล้วเราถึงจะไปออกงาน Expo ที่ญี่ปุ่น นี่เป็นประเด็นสำคัญ สมมติเราผลีผลาม ถ้าคุณต้อมบอกพี่ทำเลย ทางนั้นเขาเสนอมาแล้ว ให้เราเป็นโปรดิวเซอร์แล้วเราไปเถียงกับเขา โดยที่เรายังทะเลาะกันเองอยู่ เราไม่ตายเหรอ”
ผลจากความเชื่อใจซึ่งกันและกัน ทำให้ Last Life in the Universe กลายเป็นโปรเจ็กต์ที่ยิ่งใหญ่ สามารถดึงนักลงทุนและทีมงานระดับนานาชาติมาร่วมมือได้เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น คริสโตเฟอร์ ดอยล์ ผู้กำกับภาพชาวออสเตรเลีย และทาดาโนบุ อาซาโนะ พระเอกชื่อดังจากญี่ปุ่น
แต่ถึงจะตั้งความหวังให้หนังไทยได้อวดสายตาชาวโลกมากเพียงใด สิ่งหนึ่งดวงกมลย้ำเสมอคือ คนไทยสำคัญที่สุด ผลงานที่ออกมาจึงต้องได้มาตรฐาน และตอบโจทย์ผู้ชมชาวไทยเสมอ
“หนังที่เราทำ Base on คนไทยก่อนทุกเรื่อง เราทำหนังให้คนไทยดู เมืองนอกคือโบนัส ต้องคิดและบอกตัวเองอย่างนี้.. เพราะถ้าย้อนกลับไปถึงวินาทีแรกที่หนังไทยเบ่งบาน ฟู่ฟ่า ขายได้ในต่างประเทศ กลับไปย้อนถึงต้นกำเนิดความคิดเหล่านั้นว่า เราไปกะการอะไรกับ International market หรือเปล่า เราทำด้วยความใสซื่อไง เราเป็นคนไทย แล้วก็คิดอย่างที่เป็นอย่างนั้นจริงๆ นั่นแหละคือเสน่ห์ที่จะทำให้ขายได้ ฉะนั้นเราเป็นคนไทยก็ทำหนังไทย อย่ากระแดะคิดจะอินเตอร์ ถ้าอย่างนั้นไม่รอด
“ที่สำคัญคือ พวกเราอย่าเห่อหรือเหลิงจนเกิน อย่าคิดว่าขายได้แล้ว ทำอย่างไรก็ได้ ความเป็นจริงพวกเรายังทำหนังออกมาคุณภาพไม่เท่ากันทุกเรื่อง เอาเข้าจริงๆ ดูได้กี่เรื่องล่ะ ต้องไม่ทำชุ่ยๆ เพราะไม่อย่างนั้นอีกหน่อยเขาจะเข็ด หนังไทยก็จะกลายเป็นแบบหนังจีนแผ่นดินใหญ่ คือตอนนี้หนังจีนไม่มีอะไรให้ดู มันไม่มีหนังที่มีพลังเยอะๆ เหมือนตอนที่ค้นพบจาง อี้ โหมว”
และนี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมผลงานที่ผ่านมือของดวงกมล จึงได้รับการยอมรับอย่างสูงในตลาดโลก และสามารถเชิดหน้าชูตาคนไทย แม้เวลาจะผ่านมานานนับสิบปีก็ตาม
“ชาตินี้เราเป็นผู้กำกับไม่ได้แน่ๆ” ผู้อำนวยการสร้างหญิงเอ่ยประโยคนี้ เมื่อถูกถามว่า เคยฝันอยากเป็นผู้กำกับหรือไม่
สำหรับดวงกมลแล้ว ตำแหน่งผู้กำกับเป็นงานที่ยาก เพราะต้องเข้าใจมนุษย์ดีพอ และมีบารมีที่จะทำให้คนมากมายทุ่มเททำงานในสิ่งที่ตัวเองต้องการถ่ายทอดได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่ธรรมชาติของตัวเองเลย
เธอเป็นคนมองโลกแบบการ์ตูนดิสนีย์ มีความสุขที่ได้เป็นผู้สนับสนุน และต่อเติมความฝันของคนเก่งๆ ให้ลุล่วง
แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า งานโปรดิวเซอร์จะง่าย เพราะตำแหน่งผู้อำนวยการสร้างไม่ต่างจากผู้ปิดทองหลังพระ ที่ต้องควบคุมการผลิตภาพยนตร์ทั้งหมด ตั้งแต่วางแผน หาทุน ถ่ายทำ ตัดต่อ ประสานงาน เพื่อให้การผลิตภาพยนตร์ราบรื่นและสมบูรณ์ที่สุด
“หน้าที่จริงๆ คือเป็นคนจัดการทุกอย่าง เพื่อให้การสร้างหนังดำเนินไปได้อย่างทะลุปรุโปร่งโดยผ่านการตรึกตรอง คิด วางแผนที่ดี..สำหรับตัวเอง ถ้าวันไหนที่มีการถ่ายทำ แล้วเรายังไปชอปปิงไม่ได้ ถือว่าทำงานผิดพลาด เพราะงานที่วางแผนและจัดการมาก่อนหน้า เขาต้องถ่ายทำได้โดยไม่ต้องมีเรา
“คนเป็นผู้จัดการ ถ้ายังต้องไปทำอะไรอยู่ โดยไม่สามารถมองภาพรวมได้ แบบนี้ถือว่าผิด การจัดการที่ดีหมายความว่าถ้ามีการถ่ายทำวันนี้ เราต้องจัดการมาก่อนเมื่อสามเดือนที่แล้ว คือหนึ่งเราต้อง Put the right man on the right job เลือกคนให้ถูก เรามีผู้กำกับ มีผู้ช่วยหนึ่งที่ดีมีความรับผิดชอบ มีผู้จัดการกองถ่าย เราเลือกและวางแผนทุกอย่างแล้ว เพราะฉะนั้นวันถ่ายทำวันแรก ทุกหน้าที่ก็จะทำงานของตัวเองอย่างดีที่สุด เราไปชอปปิงได้เลย เนื่องจากเราทำงานหนัก ดูแลทุกคนมาก่อนหน้านี้แล้ว”
หลักคิดหนึ่งที่ดวงกมลยึดไว้เสมอ คือ เมื่อตัดสินใจทำหนังเรื่องใด หนังเรื่องนั้นต้องมีคุณภาพที่สุด ทำแล้วต้องรู้สึกภูมิใจได้ เธอเปรียบภาพยนตร์ว่า ไม่ต่างจากงานศิลป์ชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากการรวมตัวของศิลปินหลากหลายแขนง ช่วยกันสรรค์สร้างผลงานที่ดีที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมของชาติ
“มันคงเป็นวิธีคิด เป็นจุดยืนของตัวเอง ทำให้ไม่รวยซักที เราอยู่อย่างจนๆ แต่เรามีความสุข เราตื่นแต่เช้ามาแล้ว เราอยากไปทำหนังเรื่องนี้จังเลย ก็รู้อยู่แล้วว่าทำหนัง มันเหนื่อยขนาดไหน ถ้าเราไม่รัก เราจะทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม มันไม่ได้หรอก อย่างถ่ายหนังมนต์รักฯ ผู้กำกับบอกอยากได้มะยมให้อีสะเดา (นางเอก) กิน อยู่ๆ พูดมาตรงนั้น ถ้าทำงานปกติ เราคงบอกไม่มีหรอก หาไม่ได้ มันก็จบ แต่นี่ไม่ใช่เพราะเรารักงานนี้เหลือเกิน เราก็วิ่งไปหามาจนกระทั่งได้ ได้แล้วดูฉากนี้ซ้ำกี่ทีก็มีความสุข
“เพราะฉะนั้นหนังทุกเรื่องที่เราทำ เราภูมิใจ เรารู้สึกว่าการที่ได้สานฝันผู้กำกับ แล้วทำให้ผลงานทางศิลปะชิ้นหนึ่งออกมาดี มันคือความสุขของเราในฐานะโปรดิวเซอร์”
ฉันไม่อาย และรู้สึกว่าตายได้ เพราะว่าฉันภาคภูมิใจกับงานที่ทำทุกชิ้น
ท่ามกลางชีวิตที่กำลังรุ่งโรจน์ เดือนเมษายน 2546 ดวงกมลต้องเผชิญกับข่าวร้ายครั้งใหญ่ในชีวิต เนื่องจากเนื้องอกที่เคยผ่าตัดไว้ตั้งแต่ปีก่อน ได้กลายเป็นเนื้อร้าย และลุกลามมาถึงขั้นสุดท้าย
แต่ถึงชีวิตจะเหลืออีกไม่นาน กลับไม่ได้ทำให้ผู้หญิงคนนี้ท้อถอยหรือยอมแพ้เลย
“เศร้าจนเมื่อยอยู่ 2-3 สัปดาห์ แล้วก็เริ่มคิดได้ว่าจะเศร้าไปทำไม คนเราเกิดมาก็ต้องตาย จะช้าหรือเร็วก็แค่นั้น ที่สำคัญคนที่บ้านเป็นกำลังใจให้มาก แต่เราจะบอกว่า ไม่ต้องมาสงสาร ถ้ามาแสดงอาการสงสารจะรู้สึกเกลียดมาก เพราะคิดว่าตัวเองยังทำงานได้ อยากให้เขาทำกับเราเหมือนเดิม”
ช่วงนั้นเองที่ดวงกมลเริ่มต้น ‘The Letter จดหมายรัก’ หนังเรื่องสุดท้ายของตัวเอง โดยซื้อลิขสิทธิ์มาจากภาพยนตร์เกาหลีเรื่อง Pyeon Ji และมอบหมายให้เพื่อนรุ่นพี่จากอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ผอูน จันทรศิริ มารับหน้าที่ผู้กำกับเป็นครั้งแรก
“The Letter เป็นเรื่องง่ายๆ ผู้ชาย ผู้หญิง ในที่สุดจนถึงครึ่งเรื่องที่พระเอกตาย.. หนังเรื่องนี้ตรงกับใจฉัน เหมือนอยากจะบอกกับทุกๆ คนว่า เราเป็นแฟนกัน เราไม่รู้ว่าจะตายจากกันเมื่อไร.. ทำไมเราไม่รักกันให้มากๆ ในตอนที่ยังมีชีวิตอยู่”
ดวงกมลทุ่มเทกับภาพยนตร์เรื่องนี้มาก บางครั้งก็เดินทางไปออกกองด้วย แม้สภาพร่างกายจะไม่เอื้ออำนวยก็ตาม เพื่อให้แน่ใจว่าผลงานจะออกมาได้คุณภาพตามต้องการที่สุด
ผลจากการทำงานอย่างหนักตลอดหลายปีที่ผ่านมา ในเดือนพฤศจิกายน 2546 Film Expo Group ได้มอบรางวัล CineAsia Award สาขา Producer of the Year แก่เธอ
ดวงกมลแปลกใจไม่น้อยที่ได้รับรางวัลนี้ เพราะสำหรับวงการหนังเมืองไทยแล้ว อาชีพนี้มักถูกมองข้ามอยู่เสมอ จึงนับเป็นเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ของคนเบื้องหลัง และที่สำคัญยังเป็นเครื่องยืนยันว่าอุตสาหกรรมหนังไทยได้รับการยอมรับจากตลาดโลกแล้ว
ดวงกมลจากไปเมื่อเที่ยงของวันอังคารที่ 8 ธันวาคม 2546 ด้วยวัย 39 ปี โดยที่ The Letter ยังถ่ายทำไม่เสร็จสิ้น แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาเลย เพราะทุกคนต่างรู้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้คือ ความฝันของเธอ และยินดีที่จะช่วยกันแต่งเติมจนกลายเป็นภาพที่สมบูรณ์
“สิ่งเดียวที่ฉันภูมิใจคือ ถ้าฉันตายไป ฉันไม่อาย คือถ้าฉันทำหนังห่วยๆ ออกมาเพิ่งเสร็จอยู่ในมือในฐานะโปรดิวเซอร์ ฉันรู้สึกว่ายังตายไม่ได้จนกว่าจะทำอะไรทดแทนหนังเรื่องนี้ก่อน แต่วันนี้-พรุ่งนี้ ฉันไม่อาย และรู้สึกว่าตายได้ เพราะว่าฉันภาคภูมิใจกับงานที่ทำทุกชิ้น”
ผู้กำกับคนแรกที่สร้างตำนานหนังผีตลกสุดคลาสสิกของเมืองไทยอย่าง บ้านผีปอบ
ย้อนเรื่องราวของหนังไทย ‘โหมโรง’ ที่สร้างปรากฏการณ์ฟีเวอร์ หลังเกือบถูกถอดจากโรง พร้อมกับจุดกระแสดนตรีไทยให้โด่งดังไปทั่ว
นักฝันผู้ยิ่งใหญ่ ผู้สร้างโรงภาพยนตร์แห่งความทรงจำที่สยามสแควร์
ผู้กำกับภาพยนตร์ระดับตำนาน ผู้สร้างตัวละครที่คนไทยรักและจดจำมากที่สุด
พูดคุยกับ 6 ผู้กำกับเรื่อง แฟนฉัน หนังไทยที่สร้างปรากฏการณ์ และก่อให้เกิดความเปลี่ยนในวงการภาพยนตร์
โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์หญิง ผู้มีบทบาทในการขับเคลื่อนหนังไทย ยุค 2000 ไปสู่นานาชาติ
จากนักแกะสลักน้ำแข็ง สู่สุดยอดทีมนักแกะสลักหิมะ ที่คว้าชัยในเทศกาลหิมะอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง พร้อมพิสูจน์ให้โลกได้เห็นว่า ถึงเมืองไทยไม่มีหิมะ เราก็สร้างที่ยิ่งใหญ่ได้
ย้อนเรื่องราวของหนังไทย ‘โหมโรง’ ที่สร้างปรากฏการณ์ฟีเวอร์ หลังเกือบถูกถอดจากโรง พร้อมกับจุดกระแสดนตรีไทยให้โด่งดังไปทั่ว
ย้อนเรื่องราวอัลบั้มในตำนานของสมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Bakery Music
DAJIM ศิลปินฮิพฮอพผู้จุดกระแสเพลงใต้ดินให้โด่งดังไปทั่วประเทศ
เส้นทางชีวิตของ จอห์น นูโว จากศิลปินยอดนิยม สู่ผู้บุกเบิกสื่อไอทีของเมืองไทย
ศิลปิน นักแต่งเพลง เจ้าของบทเพลง เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ) ผู้ที่ไม่เคยหยุดสร้างสรรค์ผลงานที่ล้ำสมัย
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.