รู้หรือไม่ว่า หนังไทยเคยไปไกลถึงเวทีโลก ตั้งแต่เมื่อ 80 ปีที่แล้ว
ครั้งนั้น ชายหนุ่มวัย 30 ตัดสินใจทดลองทำหนังสั้นของตัวเอง
เมื่อทำเสร็จ เขาก็ส่งเข้าประกวดที่อังกฤษ
แต่เรื่องที่ไม่มีใครคาดคิดคือ หนังที่มีชื่อสั้นๆ พยางค์เดียวว่า ‘แตง’ กลับคว้ารางวัลชนะเลิศ ได้ถ้วยรางวัลของ Alfred Hitchcock เจ้าพ่อหนังระทึกขวัญระดับตำนานมาครอบครอง
นับจากนั้น ผู้กำกับหนุ่มคนนี้ก็กลายเป็นนักบุกเบิกหนังคนสำคัญของประเทศ
หนังบางเรื่องถูกขนานนามให้เป็นภาพยนตร์สันถวไมตรี เชื่อมเมืองไทยเข้าไว้กับสากลโลก
แม้แต่ช่วงหลังที่ไม่ได้ทำหนังแล้ว เขาก็ยังเป็นปากเป็นเสียงเพื่อคนทำหนัง
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา อยากพาทุกคนไปรู้จักกับ รัตน์ เปสตันยี ผู้กำกับภาพยนตร์ระดับตำนาน ชายผู้อุทิศทั้งชีวิตเพื่อหนังไทย แม้กระทั่งวันสุดท้ายที่มีลมหายใจ
“ผมพูดได้ว่าภายในห้องนี้ ผมเป็นคนแรกที่จับกล้องถ่ายหนัง ผมสร้างหนังตั้งแต่พระองค์ชายเล็กยังไม่เกิด ผมต้องมาฉิบหายหมดตัวเพราะพระองค์ชายใหญ่ชวนผมไปสร้างเรื่องพันท้ายนรสิงห์ ทุกวันนี้ผมก็พยายามต่อสู้เพื่อวงการภาพยนตร์ไทยมาตลอด แต่ก็ประสบความล้มเหลว จะหันไปหากินทางโฆษณาก็ถูกบริษัทฝรั่งเข้ายึดครองโรงภาพยนตร์ต่าง ๆ ไปหมด ผมรู้สึกว่า…”
เครื่องหมาย…ไม่ใช่การละประโยคที่ รัตน์ เปสตันยี พูดถึงวงการภาพยนตร์ไทยเมื่อปี 2513
แต่เป็นความในใจที่ยังไม่ได้เอ่ยของผู้กำกับรุ่นเก๋า เพราะจังหวะนั้น เขาทรุดตัวลงกะทันหัน ต่อหน้าผู้กำกับทั่วฟ้าเมืองไทยที่มารวมตัวกัน เพื่อฉายภาพปัญหาให้รัฐบาลทราบ
การตายของรัตน์ ไม่ใช่แค่เรื่องเศร้าของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของประเทศ เพราะเขาคือผู้จุดประกายให้คนทั่วโลกรู้ว่า หนังไทยมีหน้าตาเป็นยังไง
ก่อนมาทำหนัง รัตน์เป็นช่างภาพฝีมือดี เป็นนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย คนแรก
ภาพขาวดำของเขาได้รับการยกย่อง ทั้งเรื่องแสง-เงา เคยคว้ารางวัลภาพถ่ายยอดเยี่ยม สมัยเรียนอยู่ที่อินเดีย ตั้งแต่อายุ 14 ปี
เขาเป็นนักคิด นักสร้างสรรค์ ชอบแกะกล้องถ่ายรูปออกมาเป็นชิ้นๆ มาดูส่วนประกอบแล้วต่อใหม่ ชอบสรรหาวิธีล้างภาพ ขยายภาพ ตกแต่งภาพแบบใหม่ๆ มาทดลองอยู่เสมอ
ในช่วงสงครามโลก เขาเคยตระเวนถ่ายภาพ เชลยศึก สถานที่สำคัญต่างๆ ไว้มากมาย
เขามีหลักคิดว่าถ่ายไปเถอะอย่าเสียดายฟิล์ม ทดลองถ่ายภาพหลายมุม เปลี่ยนแสง เปลี่ยนมุมกล้อง เคลื่อนทางซ้ายนิด เคลื่อนทางขวาหน่อย จากนั้นค่อยมาเลือกภาพที่ถูกใจอีกที
แต่ทว่าบทบาทช่างภาพนิ่งกลับไม่ค่อยเป็นที่จดจำ เมื่อเทียบกับงานสร้างหนัง
รัตน์เริ่มต้นสร้างหนังสั้น เมื่อปี 2481 ชื่อ ‘แตง’ เป็นเรื่องราวของหญิงหม้ายคนหนึ่งกับลูกชาย
เพียงเรื่องแรก รัตน์ก็สร้างชื่อเลย เพราะหลังส่งเข้าประกวดในเทศกาล Empire Amateur Film ก็คว้าถ้วยรางวัลชนะเลิศ สาขาพลเมืองอังกฤษนอกประเทศมาครอง
Alfred Hitchcock กรรมการ เล่าถึงหนังเรื่องนี้ว่า อักษรบรรยายมากเกินไป แต่น่าแปลกว่าฉากอย่างสุนัขถูกรถชน น่าจะใช้อักษรบรรยายมากกว่า รัตน์กลับใช้ภาพจริง แบบนี้คงมีสุนัขตายไปหลายตัว
ถัดมาอีกปี รัตน์ก็ทำหนังสั้นอีกชื่อ ‘เรือใบสีขาว’ คราวนี้ส่งไปประกวดที่สหรัฐอเมริกา ถึงไม่ชนะเลิศ แต่ก็ได้รับรางวัลประกาศนียบัตรมาให้ชื่นใจ
แม้เส้นทางจะดูรุ่งโรจน์ แต่รัตน์กลับไม่มีแผนใดๆ เกี่ยวกับหนัง กระทั่งได้รับคำชวนจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล หรือ เสด็จพระองค์ชายใหญ่ เจ้าของ ‘อัศวินภาพยนตร์’
เสด็จพระองค์ชายใหญ่สนิทกับรัตน์มานานมาก เพราะเป็นเพื่อนเล่นโป๊กเกอร์กันมาก่อน
สมัยที่รัตน์ทำหนังสารคดีก็เคยทำเอามาให้พระองค์ชมบ่อยๆ เสด็จฯ ชอบสไตล์การถ่ายภาพของรัตน์มาก ส่วนรัตน์เองก็ชอบหนังของเสด็จฯ พอพระองค์ชายมีโปรเจ็กต์ใหม่ชื่อ ‘พันท้ายนรสิงห์’ เลยชวนรัตน์มาดูแลเรื่องภาพ
ด้วยความอยากได้ภาพสไตล์ใหม่ๆ รัตน์จึงใช้สารพัดวิธีมาทดลอง หนึ่งในนั้นคือ การแอบถ่ายโดยที่นักแสดงไม่ทราบ
ตอนนั้นเป็นฉากเรือชนต้นไม้ริมตลิ่ง ขณะที่ซ้อมหน้ากล้อง ผู้กำกับก็ให้ฝีพายพายเรือมาตามลำคลอง แต่ยังไม่ต้องชนจริง เพื่อให้ฝีพายรู้แนวการพายและระยะของกล้อง
ปรากฏว่าการซ้อมรอบหนึ่ง ฝีพายคุมเรือไม่อยู่เพราะกระแสน้ำแรงมาก เรือพุ่งชนต้นไม้ริมตลิ่งจริงๆ จนฝีพายตกน้ำ ความโกลาหลจึงบังเกิด รัตน์บันทึกภาพไว้ด้วย โดยไม่มีใครทราบ แล้วเขาก็นำไปใส่ในภาพยนตร์ กลายเป็นฉากที่โดดเด่นและถูกพูดถึงมากที่สุด
อีกเรื่องที่รัตน์เริ่มบุกเบิก คือ สตันท์แมน
ในบทมีฉากทหารพระเจ้าเสือต้องปะทะกับทหารกบฏพระยาราชสงคราม มีการดวลดาบตามเนินและยอดเขา บางคนต้องถูกฟันกลิ้งตกลงมา
ตอนแรกทีมงานตั้งใจใช้วิธีทิ้งหุ่น แต่รัตน์บอกว่า ควรถ่ายให้สมจริง คนจะได้เชื่อ ทีมงานเลยต้องไปหาเด็กจากโรงเรียนพลศึกษากลางมาร่วมแสดง
หลายคนอาจสงสัยว่า เมื่อเมืองไทยไม่เคยมีสตันท์แมนมาก่อน แล้วคนกลุ่มนี้ทำยังไงถึงไม่เจ็บตัว
เคล็ดลับง่ายๆ คือ ให้คนมายืนรอรับอยู่ข้างล่าง ขณะเดียวกันก็อาศัยทักษะของตัวสตันท์แมนเอง ที่พอจะรู้ว่าตกลงมาแล้วบาดเจ็บน้อยสุด เนื่องจากหลายคนเป็นนักห้อยโหนมาก่อน เคยจับห่วงพลาด ตกบาร์มาแล้วทั้งสิ้น
แต่ก็ใช่ว่าทุกรายจะรอดปลอดภัย อย่าง ครูดาบคนหนึ่ง ตอนกลิ้งตกมาตามยอดผา เกิดลืมชูคอให้สูง ก็เลยหน้าถลอกไปหน่อย
รัตน์พอใจกับฉากนี้มาก บอกว่านี่คือภาพตกเขาที่สวยเหลือเกิน
พันท้ายนรสิงห์ เข้าฉายในปี 2493 โด่งดังเป็นพลุแตก ทำรายได้ถึง 5 ล้านบาท เพลงประกอบอย่าง น้ำตาแสงไต้ ก็ฮิตทั่วบ้านทั่วเมือง เกิดการเข้าทรงพันท้ายนรสิงห์ตามวัดต่างๆ เต็มไปหมด แม้กระทั่งตัวละครสมมติอย่าง นวล ภรรยาของพันท้ายนรสิงห์ก็ยังมีคนอัญเชิญวิญญาณมาประทับร่าง
แต่ที่สำเร็จที่สุดคือ ตากล้องอย่างรัตน์นั้นเกิดอาการติดอกติดใจหนังไทยแบบจริงจัง และเริ่มต้นทำหนังไทยของตัวเองนับจากนั้นเป็นต้นมา
รัตน์ทำหนังยาวเรื่องแรก ภายใต้สังกัดอัศวินภาพยนตร์ ของเสด็จพระองค์ชายใหญ่ แต่รัตน์เป็นผู้อำนวยการสร้างเอง
ตุ๊กตาจ๋า เป็นหนังสีระบบ 16 ม.ม. เล่าเรื่องเด็กหญิงตุ๊กตาที่ถูกลักพาตัวตั้งแต่แบเบาะ แล้วถูกทิ้งไว้ข้างตุ๊กตา กระทั่งสองโจรกระจอกไปพบและเก็บมาเลี้ยง จากนั้นก็เกิดเรื่องวุ่นวายตามมาเต็มไปหมด
หนังเรื่องนี้รัตน์เขียนเอง ถ่ายทำที่บ้านย่านถนนวิทยุ ออกฉายในปี 2494 ปรากฏว่าได้รับเสียงตอบรับดีพอสมควร เขาจึงตัดสินใจทำหนังเต็มตัว
รัตน์ร่วมกับ Robert G. North นักเขียนบทภาพยนตร์จาก Hollywood ตั้งบริษัทหนัง ชื่อ ‘หนุมานภาพยนตร์’ พร้อมนำเข้าอุปกรณ์ถ่ายทำจากสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมาก
หนุมานภาพยนตร์ เป็นค่ายหนังยุคใหม่ที่พยายามสร้างรากฐานใหม่แก่วงการภาพยนตร์ไทย ซึ่งแต่เดิมนิยมใช้ฟิล์มแบบ 16 ม.ม. เน้นถ่ายง่าย ล้างเร็ว ประหยัดต้นทุน ส่วนคุณภาพเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ที่สำคัญ หนังยุคนั้นเกือบทั้งหมด ไม่มีเสียง ทำให้บทบาทของนักพากย์โดดเด่นเทียบเท่าหรือมากกว่าตัวหนัง
“เราไม่สามารถเรียกการสร้างภาพยนตร์ในเมืองไทยว่าเป็นอุตสาหกรรมได้อย่างเต็มปากนัก ตราบใดที่ผู้สร้างภาพยนตร์ ยังผลิตภาพยนตร์ขนาด 16 ม.ม. แทนที่จะเป็นขนาด 35 ม.ม. แบบมาตรฐานเสียงในฟิล์ม อันเป็นสากลนิยม..
“ภาพยนตร์ 16 ม.ม. ที่ถ่ายทำให้เมืองไทยนั้นค่อนข้างจะล้าสมัยและทำกันอย่างสมัครเล่นมากกว่าสำหรับการพากย์ ก็ใช้คนพากย์อย่างสดๆ ร้อนๆ อยู่ใกล้กับห้องฉายภาพยนตร์ได้ ยังความแปลกใจระคนความขบขันแก่ผู้แทนหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ เมื่อกล่าวขวัญถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย”
ด้วยเหตุนี้ หนังทุกเรื่องของรัตน์จึงถ่ายทำด้วยระบบ 35 ม.ม. และเป็นระบบเสียงในฟิล์ม
นักวิจารณ์หลายคนมองว่า สิ่งที่รัตน์ทำ คือ การเรียกคืนอำนาจของผู้กำกับจากนักพากย์หนัง ซึ่งแต่เดิมสามารถชี้เป็นชี้ตายเรื่องราวต่างๆ ของตัวหนัง แล้วให้ทุกคนหันมาที่โฟกัสที่ตัวหนังและการแสดงมากขึ้น
รัตน์พยายามสร้างบทที่กระชับ เสนอมุกตลกที่สร้างขึ้นมาเอง แน่นอน การใช้เสียงนักแสดงเป็นตัวเดินเรื่อง ย่อมมีปัญหาบ้าง เพราะนักแสดงบางคนก็ไม่ได้มีเสียงที่ไพเราะนัก แต่รัตน์ก็เชื่อว่า ด้วยบรรยากาศ ด้วยอารมณ์ของนักแสดง ด้วยสไตล์การเล่าของผู้กำกับ จะทำให้คนดูรู้สึกอินได้ไม่ยาก
เพราะฉะนั้น กว่าที่งานของรัตน์จะปรากฏสู่สายตาผู้ชม จึงต้องอาศัยความพิถีพิถันมากเป็นพิเศษ เขามักให้นักแสดงซ้อมก่อนเปิดกล้อง เพื่อจะได้เข้าใจบท และดึงเสน่ห์และธรรมชาติของตัวละครออกมามากที่สุด อย่างตอนทำเรื่องแพรดำ มีฉากที่นางเอกต้องบวชชี เขาก็ให้บุตรสาวคนโตรับบทนี้ แล้วก็โกนศีรษะจริงๆ
นอกจากนี้ เขายังนำเทคนิคการเล่าเรื่องใหม่ๆ มาทดลอง เช่น เรื่องแพรดำ เขาใช้เทคนิคไฟน้อยๆ ภาพมีแสงเงาชัดๆ แบบภาพยนตร์นัวร์ เพื่อให้สอดคล้องกับเรื่องที่ประเด็นหนักๆ อย่างความชั่วร้ายในจิตใจมนุษย์ เนื่องจากเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับฆาตกรรมอำพราง การขู่กรรโชก และการสำนึกผิด
โรงแรมนรก รัตน์ใช้ฉากเพียง 2 ฉาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครกล้าทำ บรรยากาศเน้นการชิงไหวชิงพริบของตัวละคร เพราะแขกที่เข้ามาพักในโรงแรมล้วนแต่ไม่ธรรมดา ทำให้เรื่องสามารถดำเนินได้ด้วยความสนุก แม้ตัวหนังจะยาวร่วม 2 ชั่วโมงก็ตาม
จากสไตล์การนำเสนอฉีกแนว ส่งผลให้หนังของรัตน์ได้รับความนิยมในวงจำกัด เมื่อเทียบกับภาพยนตร์ร่วมยุค แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาเลย เพราะคุณค่าที่แท้จริงมากกว่า คือการยกระดับหนังไทยให้เข้าสู่มาตรฐานสากล รวมไปถึงความคลาสสิกของตัวงานที่แม้จะผ่านมานาน 60-70 ปี ก็ยังคงความร่วมสมัย ไม่เปลี่ยนแปลง
กว่าหลายสิบปีบนถนนนักสร้างหนัง หนึ่งในความปรารถนาของรัตน์ที่ทุกคนสัมผัสได้ คือ การผลักดันหนังไทยไปสู่เวทีโลก ด้วยเชื่อว่า นี่คือหนทางที่ฝังรากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยอย่างยั่งยืน
เพราะเวลานั้น การส่งภาพยนตร์ไทยไปฉายต่างประเทศยังอยู่ในวงจำกัดมาก
เดิมทีตลาดที่ไทยเข้าไปได้ มีเพียงแค่ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ส่วนประเทศใหญ่ๆ อย่าง สหรัฐอเมริกา หรือเกาะฮ่องกง ก็พอไปถึงบ้าง แต่เข้าไปฉายในฐานะของภาพยนตร์จีน เสียงพูดหรือชื่อตัวละครจะถูกเปลี่ยนเป็นภาษาจีนหมด คนส่วนใหญ่จึงไม่ทราบว่า นี่คือภาพยนตร์ไทย
เป้าหมายหนึ่งของรัตน์คือ การส่งหนังไปตามงานเทศกาลต่างๆ และถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะพูดคุย เพื่อเจรจาซื้อขายหนังและนำไปฉายต่อด้วย กลายเป็นที่มาของ ‘สันติ–วีณา’ หนังเรื่องแรกของหนุมานภาพยนตร์ ซึ่งรัตน์รับหน้าที่กำกับภาพ ส่วนครูมารุต หรือทวี ณ บางช้าง เป็นผู้กำกับการแสดง
หนังเรื่องนี้ถูกเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศในงานภาพยนตร์นานาชาติ แห่งเอเชียอาคเนย์ ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นที่ญี่ปุ่น ในปี 2497 เพราะเป็นหนังเรื่องเดียวในยุคนั้นที่ถ่ายทำด้วยฟิล์มระบบ 35 ม.ม.
สันติ-วีณา เล่าชีวิตของ สันติ ชายหนุ่มตาบอด กับ วีณา หญิงสาวผู้มอบความรักแก่เขาด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่แล้วความรักของทั้งคู่ก็พบอุปสรรคจากไกร ผู้พยายามกลั่นแกล้งสันติในทุกทางมาโดยตลอด จนสุดท้าย สันติต้องสูญเสียคนที่รักไป และตัดสินใจหันเข้าหาร่มกาสาวพักตร์
สันติ-วีณา ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของภาพยนตร์ไทย เพราะสามารถคว้ารางวัล Golden Harvest Award มาครองถึง 2 รางวัล คือ กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม โดย อุไร ศิริสมบัติ และถ่ายภาพยอดเยี่ยม โดย รัตน์ เปสตันยี และยังได้รับยกย่องจากสมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์แห่งอเมริกาว่า สามารถแสดงวัฒนธรรมตะวันออกให้ชาวตะวันตกเข้าใจได้อย่างดีเยี่ยมอีกด้วย ได้รับรางวัลเป็นกล้อง MITCHELL ซึ่งเป็นกล้องมาตรฐานเดียวกับที่ Hollywood ใช้
อย่างไรก็ดี สันติ-วีณา ก็ต้องเผชิญกับวิบากกรรมหลายอย่าง
เริ่มจากถูกรัฐบาลปรับ 1,000 บาท เพราะไม่ส่งฟิล์มให้กองเซ็นเซอร์ตรวจสอบก่อนเข้าประกวด แถมกล้องที่ได้รับมายังโดนภาษีนำเข้าถึง 5,000 เหรียญ จนนิตยสารเมืองนอกวิจารณ์ว่า “บรรดาเจ้าหน้าที่สยามจะทราบหรือไม่ว่า ภาพยนตร์ตะวันออกเรื่องนี้สร้างขึ้นเพื่อประเทศไทยโดยเฉพาะ”
แต่ที่หนักสุดคือ เมื่อรัตน์ตัดสินใจส่งฟิล์มต้นฉบับไปเก็บรักษาที่อังกฤษ เพราะเมืองไทยสมัยนั้นยังไม่มีแลปที่คุณภาพเพียงพอ ปรากฏว่า เกิดความเสียหายระหว่างเดินทาง เพราะสถานที่มีความชื้นมาก
แต่ก็ใช่รัตน์จะต้องเผชิญข่าวร้ายไปเสียหมด เพราะเมื่อมีการจัดฉายรอบปฐมทัศน์ จากฟิล์มสำเนาที่เหลืออยู่ ณ โรงหนงเอ็มไพร์ ก็ได้เสียงตอบรับที่ดีมากจากผู้ชมชาวไทย แม้แต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็ยังเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตร
ที่สำคัญสุดคือ สันติ-วีณา ยังเป็นที่สนใจของต่างประเทศที่อยากเข้าใจขนบธรรมเนียมประเพณีของเมืองไทยมากขึ้น โดยรัสเซียและจีนติดต่อขอซื้อในราคา 200,000 บาท นับเป็นครั้งแรกที่หนังไทยได้โกอินเตอร์ โดยรัตน์บอกว่า หนังที่ส่งไปไม่ได้พากย์เสียงทับ แต่ใช้วิธีทำซับไตเติลแทน
ว่ากันว่า วันแรกที่เข้าฉายในรัสเซีย มีทั้งรัฐมนตรี เอกอัครราชทูต และผู้เกี่ยวกับกับแวดวงหนังของรัสเซียเข้ามารับชมกันอย่างหนาแน่น จนอาจกล่าวได้ว่า สันติ-วีณา กลายเป็นทูตทางวัฒนธรรมที่ไทยใช้ผูกมิตรกับประเทศสังคมนิยม เพื่อถ่วงดุลกับโลกเสรี ในยามที่สงครามเย็นกำลังครุกรุ่น
นอกจาก สันติ-วีณาแล้ว รัตน์พยายามส่งหนังเข้าประกวดอีกหลายเรื่อง เช่น แพรดำ เข้าฉายในเทศกาลหนังเบอร์ลิน แต่น่าเสียดายที่พ่ายแพ้ต่อ La Notte ของ Michelangelo Antonioni
แม้เส้นทางอาชีพจะค่อนข้างขรุขระ ดังที่เขาเคยบอกว่า “..ผมต้องมาฉิบหายหมดตัว..” แถมที่ผ่านมาก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐเท่าที่ควร แต่เขาก็ไม่ท้อ เพราะรู้ดีว่า ทั้งหมดที่ทำอยู่ก็เพื่อให้ทุกคนได้เห็นว่า หนังไทยก็มีดีไม่แพ้ใครในโลก
เรารักงานนี้ เราก็ทำ เราก็สู้ไป สมหวังบ้าง ไม่สมหวังบ้าง ก็เป็นของธรรมดา ผมถืออยู่อย่างเดียวเท่านั้น คือการทำความดี
ตลอดระยะเวลา 20 กว่าปี รัตน์สร้างหนังไม่หยุด เขามีผลงานทั้งหนังยาว หนังสารคดี กวาดรางวัลจากสถาบันต่างๆ ในเมืองไทยเพียบ เพียงแต่หลายเรื่องไม่ค่อยขายเท่าไหร่
รัตน์บอกว่า “เรารักงานนี้ เราก็ทำ เราก็สู้ไป สมหวังบ้าง ไม่สมหวังบ้าง ก็เป็นของธรรมดา ผมถืออยู่อย่างเดียวเท่านั้น คือการทำความดี ผมเชื่อและศรัทธาในศาสนาที่สอนเราอยู่ ผมเชื่ออยู่ว่าวันหนึ่งผมคงจะได้ผลตอบแทนที่ดีบ้าง”
แต่ในที่สุดก็มีเรื่องให้เขาตัดสินใจเลิกทำหนัง
เพราะช่วงที่ทำให้หนังเรื่อง ‘ควีนโพแดง’ นางเอกเกิดอาการงอแง เบี้ยวไม่ยอมมาถ่าย รอเป็นเดือนก็ยังไม่มา รัตน์เลยเผาฟิล์มทิ้งประชดเสียเลย
หลายคนพยายามตื้อให้รัตน์ลองอีกสักตั้ง แต่เขาก็พูดแค่ว่า “ผมกลัวผู้แสดงเต็มที”
แต่สิ่งหนึ่งที่เขาไม่เคยหยุด คือการต่อสู้เพื่อหนังไทย
รัตน์บอกว่า อุตสาหกรรมหนังไทยก็เหมือนทารกที่ไร้การดูแลจากผู้ปกครอง และนับว่าจะผอมโซและตายลงในไม่ช้า
เขาเป็นตัวตั้งตัวตีในการรวมกลุ่มคนทำหนัง จัดตั้ง ‘สมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทย’ พร้อมกับรั้งตำแหน่งนายกสมาคมอยู่พักหนึ่ง
รัตน์พยายามอย่างหนัก ถึงขั้นพาทีมไปเจอจอมพลถนอม กิตติขจร ยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยหนังไทย แต่ดูเหมือนจะไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่ แถมพูดมากๆ ก็กลายเป็นที่เขม่นของบรรดาผู้มีอำนาจและคนในวงการบางคน จนสุดท้ายรัตน์ก็เลยขี้เกียจพูด เพราะพูดไปก็ไร้ประโยชน์
แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะหมดหนทางเสียทีเดียว เพราะสุดท้ายรัฐบาลก็ยอมตั้ง คณะกรรมการศึกษาการสร้างภาพยนตร์ไทยและการนำภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาฉาย เพื่อศึกษาลู่ทางในการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย โดยมีรัตน์เป็นที่ปรึกษา
ครั้งนั้น รัตน์เป็นกำลังหลักในการจัดทำรายงานการศึกษาเรื่องภาพยนตร์อย่างละเอียด โดยวางแผนจัดตั้ง ‘คณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย’ เพื่อช่วยเหลือเรื่องภาษี ปรับปรุงคุณภาพหนัง กำหนดให้โรงภาพยนตร์ฉายหนังไทยไม่น้อยกว่าเวลาที่กำหนด รวมถึงให้ธนาคารพิจารณาให้เงินทุนแก่ผู้สร้างหนัง จนนำมาสู่การพูดคุยอย่างจริงจัง
ในการประชุมกรรมการสมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทย เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2513 รัตน์ตัดสินใจขึ้นเวทีอีกครั้ง โดยมีแขกรับเชิญคนพิเศษเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ
เขาเชื่อสุดใจว่า ความหวังที่รอคอยมานานจะสำเร็จในวันนี้
รัตน์ขอพูดเป็นคนสุดท้าย เขาระบายความอัดอั้นที่ตัวเองต้องเผชิญมายาวนาน
แต่หลังจากพูดได้ไม่กี่นาที รัตน์เกิดอาการหัวใจวายกะทันหัน และล้มลง ผู้ร่วมงานต่างช่วยกันพาผู้กำกับอาวุโสส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แต่ก็สายไปเสียแล้ว รัตน์จากไปในคืนนั้นเอง
แม้สุดท้ายภารกิจจะยังไม่สำเร็จตามที่หวัง แต่สิ่งที่รัตน์ทิ้งไว้แก่คนรุ่นหลัง คือ ความฝันอันยิ่งใหญ่ที่จะเห็นหนังไทยสามารถหยัดยืน และสร้างความภูมิใจได้อย่างแท้จริง
พูดคุยกับทีมเขียนบท SuckSeed ห่วยขั้นเทพ หนังไทยที่จุดกระแสดนตรีไปทั่วโรงเรียนมัธยม
เรื่องราวของช่างภาพหญิงสารคดี ผู้ถ่ายทอดเรื่องราวที่คนส่วนใหญ่เลือกจะมองข้าม แต่เป็นสิ่งที่อยู่จริงในสังคม ซึ่งต่อมาภาพของเธอก็กลายเป็นผลงานที่โด่งดังและมีอิทธิพลต่อช่างภาพรุ่นถัดมา
เรื่องราวของ House โรงภาพยนตร์ที่ฉายหนังทางเลือกเป็นหลัก เพื่อเพิ่มการรับชมหนังของคนไทยให้หลากหลายยิ่งขึ้น
ช่างภาพบุคคลระดับตำนานที่เป็นทั้งแรงบันดาลและต้นแบบให้ช่างภาพรุ่นหลังได้เจริญรอยตาม
ช่างภาพภาพขาว-ดำ แห่งเกาะฮ่องกง เจ้าของตำนานแสงเทพ ผู้มีชีวิตพลิกผันกลายเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ เรต R แห่ง Shaw Brothers
ช่างภาพบุคคลระดับตำนานชาวอเมริกัน ผู้สามารถดึงดูดเสน่ห์ของคนที่แบบออกมาได้เหลือเชื่อ และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้นักถ่ายภาพรุ่นหลังมาจนถึงปัจจุบัน
Armchair ศิลปินขวัญใจวัยรุ่นยุคอินดี้ ผู้บุกเบิกเพลงบอสซาโนวา เจ้าของเพลงฮิตสุดละมุนที่ยังตรึงอยู่ในใจแฟนเพลงถึงวันนี้
นักเขียนการ์ตูนที่พาผลงานมังงะจากเอเชียให้โด่งดังไปไกลทั่วโลก ปลุกกระแสดราก้อนบอล ให้เข้าอยู่ในใจเด็กๆ ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ
สุดยอดนักพากย์ฟุตบอลและผู้ประกาศข่าวกีฬาแห่งเรื่องเล่าเช้านี้ที่ครองใจผู้ชมผู้ฟังมานานกว่า 3 ทศวรรษ
สาว สาว สาว แอม-แหม่ม-ปุ้ม ต้นตำรับเกิร์ลกรุ๊ปเมืองไทย ผู้สร้างกระแสเพลงประตูใจ ข้ามกาลเวลาถึงปัจจุบัน
จากนักแกะสลักน้ำแข็ง สู่สุดยอดทีมนักแกะสลักหิมะ ที่คว้าชัยในเทศกาลหิมะอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง พร้อมพิสูจน์ให้โลกได้เห็นว่า ถึงเมืองไทยไม่มีหิมะ เราก็สร้างที่ยิ่งใหญ่ได้
ย้อนเรื่องราวของหนังไทย ‘โหมโรง’ ที่สร้างปรากฏการณ์ฟีเวอร์ หลังเกือบถูกถอดจากโรง พร้อมกับจุดกระแสดนตรีไทยให้โด่งดังไปทั่ว
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.