สายยนต์ ศรีสวัสดิ์ : ‘บ้านผีปอบ’ ตำนานหนังผีที่มีภาคต่อมากสุดของเมืองไทย

<< แชร์บทความนี้

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2532 หนังฟอร์มเล็กเรื่องหนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นมา เป็นเรื่องราวของผีปอบ นามว่า ยายทองคำ ซึ่งออกอาละวาดไล่หลอกหลอนชาวบ้าน จนหวาดกลัว หนีหัวซุกหัวซุน ไปทั่วหมู่บ้าน

ในเวลานั้นคงไม่มีใครคิดว่า ‘บ้านผีปอบ’ หนังผีที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไร แถมยังหาชมในกรุงเทพฯ ได้ยากลำบาก จะกลายเป็นหนังสุดฮิตที่มีผู้ชมติดตามกันเหนียวแน่น จนมีการสร้างภาคต่อมากถึง 14 ภาค 

ที่สำคัญไม่ว่าจะเป็น ฉากผีสะกิด, หนีผีลงตุ่ม, หนีผีขึ้นต้นไม้ หรือหันหลังชนกันเองแล้วนึกว่าผี  ต่างเป็นมุกตลกสุดคลาสสิกที่ถูกใช้ในหนังหรือละครหลายเรื่อง รวมถึงทัพนักแสดง อย่าง ซูโม่กิ๊ก-เกียรติ กิจเจริญ, หม่ำ จ๊กมก, ธงชัย-มณีรัตน์ ประสงค์สันติ และหน่อย-ณัฐนี สิทธิสมาน เจ้าของบท ‘ปอบหยิบ’ ปอบขาประจำที่อยู่กับบ้านผีปอบมาเกือบทุกภาค ต่างก็โด่งดังและกลายเป็นแถวหน้าของวงการบันเทิงไทย

แน่นอนว่าเบื้องหลังความสำเร็จ บุคคลที่มีบทบาทสำคัญสุดคงต้องยกให้ สายยนต์ ศรีสวัสดิ์ เจ้าของนามแฝง ‘ศรีสวัสดิ์’ ผู้กำกับภาพยนตร์บ้านผีปอบคนแรก ซึ่งปลุกปั้นเรื่องราวทั้งหมดมาตั้งแต่ก้าวแรก จนถึงภาค 7 แถมยังมาช่วยเป็นที่ปรึกษาในภาคสุดท้าย บ้านผีปอบ รีฟอร์เมชั่น อีกต่างหาก

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกคนไปย้อนรอยเส้นทางของบ้านผีปอบ จนกลายเป็นตำนานหนังผีที่ถูกพูดถึงมาตลอด 30 กว่าปี

ต้นแบบหนังปอบ

ครั้งแรกเลย บ้านผีปอบ ไม่ได้จะสร้างเป็นหนังตลก แต่ตั้งใจให้เป็นหนังชีวิต

จุดตั้งต้นของเรื่องมาจากนายทุนนามว่า สมชาย องอาจ ได้รวมกลุ่มเพื่อน เพื่อจะทำค่ายหนังใหม่ที่ชื่อ กรุ๊ปโฟร์ หวังเจาะตลาดคนต่างจังหวัด โดยเห็นว่า หนังผีมีโอกาสทำเงินมากที่สุด บวกกับที่ผ่านมา ผีไทยๆ ที่นำเสนอบนแผ่นฟิล์มต่างวนเวียนอยู่แต่เรื่องเดิมๆ อย่างกระสือหรือแม่นาคพระโขนง หากมีผีตัวใหม่ๆ มานำเสนอก็น่าจะโดนใจผู้ชมได้ไม่ยาก

พอดีสมชายได้ข้อมูลมาว่า ผีปอบของภาคอีสานนั้นโด่งดังและเป็นที่เลื่องลือเรื่องความน่ากลัว จึงหยิบมาร่างเป็นบท จากนั้นก็ติดต่อสายยนต์ให้มารับหน้าที่ผู้กำกับ

สายยนต์นั้นเติบโตมาจากแวดวงทีวี เคยเป็นทีมงานของ ไพรัช สังวริบุตร แห่งดาราวีดิโอ ทำหนังโทรทัศน์มาแล้วหลายเรื่อง ทั้ง กฎแห่งกรรม ขุนแผนผจญภัย ปอบผีฟ้า ก่อนจะเติบโตมาเป็นผู้กำกับละครโทรทัศน์ให้ช่อง 3 มีผลงานเด่นๆ อย่าง ดวงตาสวรรค์ ลูกทาส เชลยศักดิ์ และไฟรักไฟพยาบาท

วันแรกที่สมชายติดต่อมานั้น สายยนต์ไม่ได้ตั้งใจที่จะรับปากทำงานนี้เลย

“เขาบอกผมว่าอยากทำหนัง แล้วก็เอาบทประพันธ์มาให้แล้วถามว่า ทำได้ไหม ลองเอาไปอ่านดู ผมก็ถามเขาว่า จะทำหนังเหรอ มีตังค์เหรอ รวยเหรอ ใครมาชวนผมทำหนัง ผมจะถามอย่างนี้ทั้งนั้น กับคุณสมชายผมก็ถามว่ามีตังค์เท่าไหร่ เขาบอกว่ามี 1 ล้านบาท ผมก็ถามต่อ ที่บ้านสบายดีเหรอ มีกินแล้วเหรอ ผมบอกว่า ถ้าอยากทำหนังจริงๆ คุณเอาตังค์ไปโยนน้ำเลย แล้วไล่เก็บเอา นั่นคือกำไร ที่บอกอย่างนั้น ผมไม่ได้เล่นตัวนะ แต่ผมกำลังจะบอกว่าทำหนังนี่เจ๊งอย่างเดียว ไม่มีโอกาสฟื้นหรอก เอาเงินไปฝังดินแล้วอีก 10 ปีมาขุดใช้สบายใจกว่า แต่เขาก็จะทำ ผมก็เอาๆ อยากทำ”

หลังจากสายยนต์นำบทที่ได้ไปอ่านอยู่ 3-4 วัน เขาก็กลับมาบอกกับสมชายว่า ยังไงก็เจ๊งแน่นอน เตรียมขุดหลุมฝังชื่อตัวเองแล้วปักป้ายได้เลย เพราะเรื่องปอบที่เขียนมานั้น เป็นหนังรักรันทด กะจะเรียกน้ำตาของผู้ชมให้ได้ แต่ในมุมของผู้กำกับแล้ว คนต่างจังหวัดส่วนใหญ่ต่างก็ทำงานหนัก และใช้ชีวิตเครียดอยู่แล้ว คงไม่มานั่งชมหนังเศร้าแบบนี้หรอก สู้เปลี่ยนไปทำหนังผีตลกน่าจะดีกว่า

ผลปรากฏว่า เจ้าของหนังยินยอม แต่มีข้อแม้ว่า เขาจะต้องทำทุกอย่างให้เสร็จเรียบร้อยภายในระยะเดือนเศษๆ เท่านั้น

“โรงหนังมีคิวตอนนั้นไง เรียกว่าเป็นช่วงหนังโล่ง คือไม่มีหนังเรื่องอื่นฉาย เพราะเราเป็นหนังเล็กจะฉายช่วงไหนก็ได้ เขาก็จะกำหนดวันให้ ตอนนั้นผมคำนวณดูแลว่า ผมมีเวลาถ่ายหนัง 15 วัน คือใน 1 เดือน หนังต้องเป็นตัวแล้ว พร้อมที่จะพากย์และฉาย”

สายยนต์ใช้เวลาเขียนบทอยู่ 15 วันเต็ม ระหว่างนั้นก็ศึกษาหาข้อมูลต่างๆ ไปด้วยว่า ผีปอบเป็นอย่างไร พร้อมกับแวะเวียนไปหาโลเกชันสำหรับการถ่ายทำ จนมาลงตัวที่สุพรรณบุรี ซึ่งมีบ้านไทยน่ากลัว ทึมๆ ตั้งอยู่ เขาก็หยิบตรงนั้นมาต่อยอด จนกลายเป็นบ้านพักของผีปอบนั่นเอง

ขณะที่มุกตลกต่างๆ นั้น ก็มาจากการที่สายยนต์ชอบไปคลุกคลีอยู่ตามวงเหล้า แม้ส่วนตัวจะไม่ได้ดื่มก็ตาม ทำให้ได้คำพูดเด็ดๆ ทะลึ่งๆ ติดมือกลับมาเป็นประจำ เช่น ‘ไม่ได้เป็นสบู่ แต่ขอเป็นผ้าถุงก็ยังดี’ 

“ผมนั่งคุยกับคนกินเหล้าได้ถึงเช้า คนกินเหล้าจะมีมุกอะไรแปลกๆ สนุกๆ ซึ่งพอผมกลับบ้านก็จะจดใส่กระดาษ โดยที่บ้านผมจะมีกล่องเป็นถาดใหญ่ๆ ใส่เศษกระดาษไว้ แล้วในเศษกระดาษคือสิ่งที่ผมจดมุกและวางทิ้งไว้ สะสมมาเป็นปีๆ พอถึงวันดีคืนดีที่จะต้องใช้ ผมก็หยิบขึ้นมาดูแล้วคิดว่า มุกนี้จะแตกต่อออกไปอีกไหม ผมทำแบบนี้เป็นประจำทุกเช้า”

บ้านผีปอบ เล่าเรื่องของกลุ่มแพทย์อาสาจากกรุงเทพฯ ที่มารักษาชาวบ้านในหมู่บ้านห่างไกล แต่แทนที่จะได้รักษากับต้องเผชิญกับยายทองคำ ซึ่งถูกวิญญาณเจ้าแม่ผีดอยสิง จนกลายเป็นปอบ เป็นเหตุให้กลุ่มแพทย์กับชาวบ้านต้องร่วมมือกันหาวิธีกำจัดปอบ

สำหรับเรื่องนี้นอกจากจะได้ เอกพัน บรรลือฤทธิ์ และตรีรัก รักการดี คู่พระนางที่เคยโด่งดังมาจากละครเรื่องแม่นาคพระโขนง ทางไทยทีวีสีช่อง 3 แล้ว ยังได้นักแสดงตลกชื่อดังในสมัยนั้น อย่าง ซูโม่กิ๊ก และกลุ่มตลกศิลปากร ซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อ แก๊งกลิ่นสี รวมถึง ธงชัย ประสงค์สันติ  

โดยซูโม่กิ๊กนั้นเล่นเป็นหมอชาติที่มักบอกทุกคนว่า ปอบจริงๆ แล้วเป็นโรค แต่พอถึงเวลาปะทะกับปอบทีไร กลับเป็นคนแรกๆ ที่วิ่งหนีเสมอ ซึ่งสำหรับสายยนต์แล้ว ความขัดแย้งในบุคลิกของตัวละครเช่นนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก

“ก่อนทำผมก็หาหนังสือเกี่ยวกับการแพทย์มาอ่าน เขาบอกว่าอาการของปอบเป็นโรคทางฝรั่งเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อหรืออะไรสักอย่าง ซึ่งทำให้ร่างกายใช้พลังงานเยอะ เพราะฉะนั้นจึงหิวบ่อย หิวบ่อยก็กินเยอะ เวลาหิวพอหาอะไรกินไม่ทันก็เลยกินทั้งดิบๆ เลยกลายเป็นว่า คนคิดว่าผีสิง ต้องทำพิธีไล่ผี เพราะฉะนั้นในเรื่องจะสังเกตได้ว่า กิ๊กเขาจะไปทางวิทยาศาสตร์ แต่มันก็วิ่งหนีกันฉิบหาย คือผมให้มันคอนทราสต์ในตัวเอง เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่จะมาวิ่งหนีอย่างเดียว”

ขณะที่บทปอบทองคำ แสดงโดย ป้าเป้า-สุชาดา อีแอม ซึ่งแม้จะเป็นยายแก่ หน้าตาเศร้าหมอง ดุร้าย เหมือนไม่มีอารมณ์ขัน แต่กลับไม่เคยกินตับไตไส้พุงชาวบ้านคนใด แถมบางครั้งยังไปร่วมสร้างสีสันกับบรรดาแก๊งตลกอีกต่างหาก ทั้งหมดนี้กลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัว และทำให้หนังผีแบบบ้านผีปอบนั้นแตกต่าง ฉีกกรอบจากหนังผีที่แล้วมาๆ อย่างสิ้นเชิง

นอกจากเรื่องบทที่โดดเด่นแล้ว วิธีการทำงานของสายยนต์ก็ไม่เหมือนกองถ่ายทั่วไป เพราะแม้เขาจะมีเวลาจำกัดมาก คือต้องถ่ายให้เสร็จภายใน 12 วัน แถมหลายๆ ฉากก็เป็นฉากค่ำมืด แต่สายยนต์ก็ไม่เคยถ่ายทำแบบข้ามวัน เพราะเขาเชื่อว่า การทำงานที่มีคุณภาพจะเกิดขึ้นได้จากการวางแผนที่ดี

“ผมถ่ายตั้งแต่ 7 โมงเช้ายัน 5 ทุ่ม ถือเป็นเจ้าแรกที่กำหนดเวลาถ่ายทำเป็นเวลา เพื่อที่ทุกคนจะได้พักผ่อนและทำงานไม่โหลด แล้วงานก็จะเป็นไปตามที่วางเป้าทุกอย่าง เพราะทีมงานทุกคนเขาเป็นมนุษย์ มีเลือดมีเนื้อ มีชีวิตจิตใจ มีอารมณ์ ถ้าเรามีความเอื้ออาทรกับผู้ร่วมงานเราจะได้ใจเขา แต่แปลกตรงที่กลับเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีใครทำ”

ด้วยการทำงานที่เป็นระบบ ทำให้บ้านผีปอบเข้าฉายได้ตามแผน ส่วนใหญ่จะฉายตามต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคเหนือกับภาคอีสาน ซึ่งตอนที่เข้าโรงนั้น สายยนต์ยอมรับตามตรงว่า ไม่เคยไปชมเลย และไม่สนใจด้วยซ้ำว่า จะมีคนดูหรือไม่ เพราะถือว่าทำทุกอย่างเต็มที่ สมบูรณ์ไปหมดแล้ว

แต่สิ่งที่เขาไม่เคยคิดคือ บ้านผีปอบจะได้รับความนิยมถึงขั้นที่นายทุนขอร้องให้ทำหนังภาคต่อ

สืบสานตำนานปอบ

“พอหมดหน้าที่แล้ว ผมก็ไปนอนเล่นอยู่บ้านนอก ทีนี้คนสร้างเขาก็โทรศัพท์ไปหาผมบอกว่าจะทำหนังอีกเรื่องหนึ่ง ผมก็ถามว่าเรื่องอะไรล่ะ เขาก็บอกปอบนี่แหละ ผมเลยถามว่าทำไมจะทำอีกล่ะ เขาตอบว่าสายหนังขอมา ให้ทำภาค 2”

แม้ไม่เคยคิดมาก่อนว่าต้องทำหนังภาคต่อ แต่เมื่อเป็นคนปลุกปั้นมาตั้งแต่ต้น สายยนต์จึงถือเป็นความรับผิดชอบของตัวเอง โดยภาคนี้ไม่ได้มีปอบทองคำเหมือนภาคแรก เนื่องจากสายยนต์ให้ยายปอบคายวิญญาณให้หญิงสาวอีกคนในหมู่บ้านที่ชื่อกระดิ่งเป็นปอบแทนเรียบร้อยแล้ว

แต่ที่พิเศษยิ่งกว่า คือการเพิ่มปอบตัวใหม่ที่ชื่อ ทองหยิบ เข้ามา โดยพื้นเพปอบตัวนี้เป็นหมอผีเก่าที่ทำผิดครู เก็บเงินเกินควร จึงต้องกลายร่างเป็นปอบไป 

โดยงานนี้ได้ หน่อย-ณัฐนี สิทธิสมาน มารับบทบาทผีปอบเป็นครั้งแรก ความจริง สายยนต์วางตัวหน่อยตั้งแต่ภาค 1 แล้ว แต่เผอิญคิวละครเต็ม จึงต้องปฏิเสธไป กระทั่งมาลงตัวที่ภาค 2 ซึ่งหน่อยก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะนอกจากฝีมือการแสดงที่ไม่เป็นสองรองใครแล้ว เธอยังเป็นคนออกแบบท่าทางจีบมือ จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของบ้านผีปอบเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

“เราก็คิดว่าเอ๊ะเวลาไปหลอกคน กินคนต้องทำยังไงน้า… ไหนลองดูสิ หยิบ ก็ต้องทำอย่างงี้ถูกป่ะ โอเค หยิบแบบนี้ แล้วเป็นหนังพากย์ มันเข้ากัน” หน่อยเคยให้สัมภาษณ์ไว้

นอกจากนี้ สายยนต์ยังเสริมมุกใหม่ๆ เข้าไป โดยเฉพาะฉากหนีผีลงตุ่ม ซึ่งเขาได้ไอเดียมาจากการแวะเวียนไปดูโลเคชันที่สุพรรณบุรี และเห็นว่ามีตุ่มเยอะแยะเต็มไปหมด จึงนำมาปรับใช้และกลายเป็นอีกโลโก้หนึ่งที่ทุกคนนึกถึง เมื่อพูดถึงบ้านผีปอบ 

ส่วนการทำงาน แม้จะมีอุปสรรคตรงที่นักแสดงหลักอย่างซูโม่กิ๊กไม่มีคิวให้ แต่ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะถึงตัวไม่มา แต่ก็ส่งเสียงมาแทนได้ โดยสายยนต์ได้แก้บทของหมอชาติให้ไปซ่อนตัวอยู่ในเต็นท์ และเวลาใครอยากพูดคุย ก็ให้สื่อสารผ่านทางนี้แทน ทำให้หนังบ้านผีปอบ 2 ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

อย่างไรก็ตาม เป็นธรรมดาของหนังภาคต่อ ที่ความนิยมย่อมถดถอยลงไปบ้าง บ้านผีปอบ 2 ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น แต่โดยรวมๆ ก็ยังถือว่า ดีมาก เพราะเจ้าของหนังบอกให้สายยนต์ทำภาค 3 ต่อทันที

ผมอยากรู้ว่าเป็นอย่างไร มันตลกตรงไหน ซึ่งพอไปดูก็เห็นเด็กขำจนตกเก้าอี้ เด็กทำเก้าอี้พัง เพราะเก้าอี้โรงหนังต่างจังหวัดไม่ค่อยแข็งแรง ข้างๆ ผมนี่โดดขึ้นไปบนพนักเลย

สายยนต์ ศรีสวัสดิ์ : ‘บ้านผีปอบ’ ตำนานหนังผีที่มีภาคต่อมากสุดของเมืองไทย

ปรากฏการณ์ปอบ

ภาค 3 ถือเป็นช่วงที่บ้านผีปอบขึ้นสู่จุดสูงสุด เนื่องจากสองภาคแรกยังขายความน่ากลัวอยู่เยอะ แต่ภาคนี้สายยนต์เปลี่ยนแนวมาขายความหรรษาแบบเต็มพิกัด

“ปกติผมจะกำหนดไว้เลยว่าใน 1 เรื่องจะใช้ 30-60 มุก เสร็จแล้วผมก็จะเลือกมุกขึ้นมาจากร้อยกว่ามุก แล้วตัดเหลือแค่ 30-60 มุก พอเราได้มุกพวกนี้ ผมก็จะเตรียมเรื่องได้เลยว่าเรื่องจะเป็นอย่างไร เขียนเป็นบท เพราะฉะนั้นเวลาออกกอง ผมไม่ไปคิดมุกตลกในกองถ่าย เพราะมุกตลกอยู่ในบทหมดแล้ว นักแสดงจะเล่นตามบทเลย แล้วก็อาจมีส่วนที่เล่นเสริมเข้าไป ยิ่งนักแสดงที่คุ้นเคยกัน ไม่ว่าจะเป็นกิ๊กหรือธงชัย มุกก็ยิ่งมา แต่มุกหลักๆ ผมมีอยู่แล้ว โดยมุกในบ้านผีปอบจะเป็นแบบเปิดมุกและปิดมุกให้คนดูหัวเราะตบท้าย เป็นลูกโซ่ไปเรื่อยๆ ผมก็จะค่อยๆ บอกคนดูว่า เตรียมตัวหัวเราะเถอะ

“อีกอย่างคือ เนื้อเรื่องผมไม่ใช่เจอแต่ผีแล้วก็วิ่งกันไป ผมมีเนื้อเรื่องระหว่างตัวละครแต่ละตัว แต่ละกลุ่มที่อยู่ในแวดวงนั้นด้วย เช่น ผมมีการเอาปอบตัวที่คนกลัวแล้วไปกลัวปอบอีกตัวหนึ่ง ซึ่งคนไม่รู้ว่าตัวนั้นเป็นปอบ ไม่หนีไอ้ตัวนั้น แต่หนีไอ้ตัวนี้แทน”

ที่สำคัญ ภาคนี้ยังถือเป็นครั้งแรกที่สายยนต์ได้ชมหนังที่ตัวเองกำกับในโรงภาพยนตร์ โดยเขาได้เดินสายไปตามต่างจังหวัด ทั้งลพบุรี อยุธยา สระบุรี อุบลราชธานี เพื่อไปดูกระแสตอบรับว่าเป็นอย่างไร

“ผมดูบ้านผีปอบแล้วไม่เคยรู้สึกว่ามันตลกนะ เพราะเรามีการซ้อมหลายเที่ยว แล้วยังต้องมาตัดต่ออีก คือกว่าจะฉายผมดูหนังเรื่องนี้เป็นร้อยเที่ยว แล้วบ้านผีปอบเป็นเรื่องแรกที่ผมทำหนังตลก พอเขาบอกคนดูหัวเราะจึงสนใจ จนภาค 3 ผมอยากรู้ว่าเป็นอย่างไร มันตลกตรงไหน ซึ่งพอไปดูก็เห็นเด็กขำจนตกเก้าอี้ เด็กทำเก้าอี้พัง เพราะเก้าอี้โรงหนังต่างจังหวัดไม่ค่อยแข็งแรง ข้างๆ ผมนี่โดดขึ้นไปบนพนักเลย

“หรือเวลาไปฉายหนังกลางแปลง ความบันเทิงอย่างอื่นไม่ต้องเล่น ถ้าหนังบ้านผีปอบฉาย คนจะมาดูหมดเลย ชาวบ้านใกล้ๆ ที่เขาเปิดไฟสว่างๆ เขายังพร้อมใจกันปิดไฟ แม่ค้าที่มาขายของยังเอากระดาษมาบังตะเกียงบนรถเข็น เพื่อจะดูหนังให้ชัดๆ”

เพราะฉะนั้นในภาคถัดมา สายยนต์จึงหาอะไรใหม่ๆ ใส่เข้าไปให้หนังยังคงดึงดูดผู้ชมได้ตลอด อย่างเช่น ภาค 6 เขาให้ปอบหยิบบินได้ด้วยพัดสันกำแพง หรือภาค 7 เมื่อปี 2535 ก็พาทีมงานไปบุกผาแต้ม ถึงยอดเขาพระวิหาร 

โดยฉากจบของภาค 7 เขาได้ให้ปอบหยิบตกหน้าผาตาย ด้วยตั้งใจใช้โอกาสนี้ปิดตำนานบ้านผีปอบ เนื่องจากตลอดเวลา 3 ปีครึ่ง สายยนต์กำกับบ้านผีปอบมาถึง 6 ภาค (ไม่ได้ทำภาค 5) เฉลี่ยปีละ 2 ตอนเลยทีเดียว 

หากแต่ทางผู้สร้างเห็นว่า หนังยังได้รับความนิยมจึงหาผู้กำกับใหม่มาแทน และสร้างต่อเนื่องจนถึงภาค 13 ซึ่งความจริงแล้วเป็นภาค 12 แต่ใช้เลขนี้ เพราะไม่อยากถูกเรียกว่าปอบโหล

ส่วนสายยนต์ก็วางมือจากงานภาพยนตร์ กลับไปทำงานเบื้องหลังละคร กำกับบ้าง ทำเอฟเฟกต์บ้าง ก่อนที่จะหวนกลับมาทำภาพยนตร์อีกครั้งในอีก 18 ปีต่อมา ด้วยการทำหนังเรื่องนางตะเคียน และปีถัดมาก็ช่วยเรื่องบทและโปรดักชันของบ้านผีปอบ รีฟอร์เมชั่น ซึ่งเป็นบ้านผีปอบภาคสุดท้าย

สำหรับสายยนต์แล้ว บ้านผีปอบไม่ใช่หนังที่ยิ่งใหญ่ แต่ถือเป็นผลงานที่เขาภาคภูมิใจ เพราะที่ผ่านมา เขาไม่เคยสนใจชื่อเสียง ไม่เคยคาดหวังถึงความสำเร็จใดๆ ผลงานที่ผ่านไปแล้ว ก็ถือว่าผ่านไป 

หากแต่ในความทรงจำของผู้ชมแล้ว  นี่คือภาพยนตร์ระดับตำนาน ที่สร้างทั้งรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ซึ่งยากจะหาผลงานใดมาแทนที่ได้

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • นิตยสารขวัญเรือน ปีที่ 35 ฉบับที่ 758 ปักษ์หลังเดือนมิถุนายน 2546
  • นิตยสาร Bioscope ฉบับที่ 77 เดือนเมษายน 2551
  • เว็บไซต์ หอภาพยนตร์แห่งชาติ
  • บทความ star Retro : เปิดตำนาน บ้านผีปอบกับป้าหยิบ หน่อย-ณัฐนี สิทธิสมาน เว็บไซต์ แนวหน้า
  • บทความ บ้านผีปอบ หนังผีเกรดบีสุดคัลต์ ผู้สร้างตำนาน ‘ปอบหยิบ’ และมุกหนีผีลงตุ่ม เว็บไซต์ The Standard
  • รายการคุยให้เด็กมันฟัง EP.29 ตอน ป๋ากิ๊กมาแล้ว! วันนี้น้าเน็กจะยับคาบ้านหรือไม่ มาดูกัน !!!
  • หนังสือภาพยนตร์ในชีวิตไทย : มุมมองของภาพยนตร์ศึกษา โดย อัญชลี ชัยวรพร
  • วิทยานิพนธ์ความสัมพันธ์ของคนกับผีในภาพยนตร์ไทย กรณีศึกษาภาพยนตร์ตระกูลปอบ โดย อรณิชา เจริญสุข มหาวิทยาลัยศิลปากร

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.