อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ : โหมโรง ตำนานหนังไทยที่ผู้ชมเรียกร้องว่า ‘อย่าออกจากโรง’

<< แชร์บทความนี้

คนส่วนใหญ่มีภาพจำกับดนตรีไทยว่าน่าเบื่อ ชวนง่วง

แต่มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งนามว่า โหมโรง กล้าฉีกกรอบด้วยการนำยาขมนี้มาเป็นจุดขาย พร้อมขึ้นโปรยโปสเตอร์ด้วยท่าทีสุดมุ่งมั่นว่า ‘อาวุธแห่งกวี ดนตรีแห่งแผ่นดิน

แต่กว่าที่โหมโรงจะได้บรรเลงเสียงระนาดจนก้องแผ่นดิน ก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรคนับไม่ถ้วน

เกือบจะถูกถอดจากโปรแกรมฉายตั้งแต่ผ่านสัปดาห์แรก ผู้กำกับเกือบจะหนีไปบวช เพราะแต่ละรอบมีผู้ชมไม่ถึงสิบคน ทว่าด้วยพลานุภาพของผู้ชมที่ติดอกติดใจ โดยเฉพาะในห้องเฉลิมไทย เว็บไซต์ Pantip ที่ไม่อยากให้โหมโรงต้องลาโรงก่อนวัยอันควร จึงช่วยกันเรียกร้องผ่านโลกออนไลน์ จนเกิดเป็นกระแสโด่งดังไปทั่วหล้า จุดพลุดนตรีไทยฟีเวอร์ไปทั้งแผ่นดินสยาม กลายเป็นปรากฏการณ์ที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นกับหนังไทยเรื่องใด ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา และ The Cloud จึงชักชวน อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ ผู้กำกับภาพยนตร์มาพูดคุย ย้อนอดีตถึงเส้นทางสุดวิบาก จนกระทั่งหนังเรื่องนี้กลายเป็นตำนานที่อยู่ในใจของผู้ชมเรื่อยมาถึงปัจจุบัน

อ่าน : 20 ปีโหมโรงหนังไทยที่ฟื้นคืนชีพได้ด้วยพลังมหาชนและจุดกระแสดนตรีไทยฟีเวอร์ ที่  https://readthecloud.co/the-overture

แต่ก่อนที่จะไปเต็มอิ่มกับเรื่องราวของโหมโรง เรามีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจมาเล่าให้ฟัง

1. ก่อนมาทำหนังอิทธิสุนทร มีชื่อเสียงจากการเป็นผู้เขียนบทรายการโทรทัศน์ในตำนานอย่าง เพชฌฆาตความเครียด แล้วก็มาทำรายการวิก 07 กับพลิกล็อก ที่สำคัญยังเคยเขียนเพลงให้กับศิลปินมาแล้วหลายคน ทั้ง อุ้ยรวิวรรณ จินดา, แอนนา โรจน์รุ่งฤกษ์, อังศณา ช้างเศวตCocoJazz รวมถึงเฉลียง และยังเคยใช้นามปากกาพิจิกาเขียนเพลงให้ Hi-Rock และ Kaleidoscope อีกด้วย

2. ผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของอิทธิสุนทร คือ ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด ซึ่งเขาเคยทำเป็นละครโทรทัศน์จบในตอน ชื่อเรื่องวันตายให้บริษัท JSL มาก่อน แต่ด้วยความยาวละครเพียง 40 กว่านาที จึงยังมีไอเดียและรายละเอียดอีกเยอะที่ยังอยากเล่าแต่ต้องถูกเก็บไว้ จึงหาโอกาสนำมาขยายเป็นภาพยนตร์ กระทั่งเมื่อได้ไปช่วยงาน บัณฑิต ฤทธิ์ถกล จึงนำโปรเจกต์นี้ไปเสนอ ซึ่งผู้กำกับใหญ่ก็ช่วยดันหนังเรื่องนี้กับไฟว์สตาร์เต็มที่ จนได้ทุนสร้างและกลายเป็นหนังตลกที่หลายคนยกให้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์น้ำดีของเมืองไทย

3. อิทธิสุนทรเริ่มต้นโปรเจกต์โหมโรง ตั้งแต่สิงหาคม 2544 แต่กว่าจะสร้างเสร็จได้ฉายจริงก็เข้าไปสู่เดือนกุมภาพันธ์ 2547 รวมระยะเวลา 2 ปีครึ่ง ส่งผลให้เขาไม่มีเวลากลับไปทำงานโฆษณาที่สร้างรายได้ให้แก่ตัวเองมากสุดเลย

4. หลายคนมักเข้าใจผิดว่า โหมโรงเป็นหนังชีวประวัติของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) แต่ความจริงเป็นหนังที่ได้แรงบันดาลใจจากชีวิตของท่าน มีฉากมากมายในหนังที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง เช่นฉากผู้พันบุกบ้านท่านครู หรือแม้แต่ชื่อตัวละครหลัก ซึ่งอิทธิสุนทรได้นำชื่อจริงๆ มาแค่ 4 คนเท่านั้นคือ คือ ศร, สินพ่อของศร, โชติภรรยาของศร และประสิทธิ์บุตรชายของศร

5. ชื่อแรกที่อิทธิสุนทรตั้งให้แก่ภาพยนตร์เรื่องใหม่ของตัวเองคือแสนคำนึงซึ่งมาจากชื่อเพลงที่หลวงประดิษฐไพเราะแต่งเพื่อต่อต้านนโยบายควบคุมการเล่นดนตรีไทยของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่คงเพราะชื่อนี้ดูหวานเกินไป ไม่ค่อยสื่อสารว่านำเสนอเกี่ยวกับอะไร เขาจึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อโปรเจ็กต์ว่า The Overture แทน ส่วนชื่อภาษาไทยนั้นมาได้หลังสุด เพราะเพลงโหมโรง เป็นเพลงที่ใช้เริ่มต้นในการแสดงดนตรีไทย เหมือนวงออเคสตร้าที่เปิดการแสดงด้วย Overture

6. ตัวละครหนึ่งที่หลายคนจดจำได้ดีคือ ประสิทธิ์ บุตรชายของท่านครูศร ซึ่งรับบทโดย สุเมธ องอาจ หนึ่งในศิลปินดูโอ้คนดังของเมืองไทย โดยอิทธิสุนทรเคยเล่าว่า เมื่อสุเมธทราบข่าวว่าเขาจะทำภาพยนตร์เกี่ยวกับดนตรีไทยก็ดีอกดีใจมาก เสนอตัวว่าจะช่วยวาดสตอรี่บอร์ด หรืออยากให้ช่วยทำงานอะไรก็ได้ แต่เพราะทุกตำแหน่งมีคนทำอยู่แล้ว ขาดก็แค่ตัวละครที่รับบทลูกชาย ซึ่งต้องเล่นเปียโนได้ เขาจึงเสนอบทนี้ให้สุเมธ สุเมธซึ่งถนัดกีตาร์มากกว่าจึงต้องลงทุนไปซื้อคีย์บอร์ดตัวใหม่มาไว้ที่บ้าน เพื่อฝึกเล่นโดยเฉพาะ กระทั่งเกิดฉากที่หลายคนประทับใจจนถึงวันนี้ นั่นคือ การเล่นดนตรีร่วมกันระหว่างพ่อที่ตีระนาดเอกกับลูกที่ดีดเปียโน

7. นายทุนสำคัญที่เข้ามาช่วยโอบอุ้มอิทธิสุนทรตอนเสนอโปรเจ็กต์ ก็คือ ท่านมุ้ย..ชาตรีเฉลิม ยุคล และชายา หม่อมกมลา ยุคล ณ อยุธยา ครั้งหนึ่งท่านมุ้ยเคยเล่าว่า ในช่วงที่กองถ่ายขาดเงิน หม่อมกมลาถึงขั้นยอมถอดแหวนของตัวเองไปจำนำเพื่อให้ได้ถ่ายทำต่อ อีกคนที่ท่านมุ้ยบอกว่าสำคัญไม่แพ้กันคือ อ้อม-ดวงกมล ลิ่มเจริญ จากภาพยนตร์หรรษา ผู้อยู่เบื้องหลังหนังไทย ทั้งมนต์รักทรานซิสเตอร์, Last Life in the Universe ซี่งเข้ามาช่วยวางแผนทำโปรโมตเรื่องนี้ทั้งที่กำลังป่วยหนัก โดยก่อนจะสิ้นใจเพียงวันเดียว อ้อมก็ยังนั่งทำงานนี้ที่โรงพยาบาลอยู่เลย 

8. หลังจากหยุดคอลัมน์ยอดฮิต ‘คุยกับประภาส’ ไปพักใหญ่ ประภาส ชลศรานนท์ ก็รีบโทรศัพท์ไปถึงกองบรรณาธิการมติชนฉบับวันอาทิตย์ ขอกลับมาเขียนเร็วกว่ากำหนด เพื่อเขียนเชียร์ภาพยนตร์เรื่องโหมโรง ให้ทันก่อนที่จะสายไป จากเดิมทีวางแผนไว้ว่าจะกลับมาเขียนในเดือนมีนาคม 2547

9. ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ แต่หลังจากโหมโรงเกือบชะตาขาด เพราะไม่รอดจากวิกฤต 3 วันอันตราย คือถ้าหนังไม่ทำเงินภายในวันศุกร์เสาร์อาทิตย์แรก จะถูกลดรอบไปเรื่อยๆ และลาโรงไปในที่สุด ในเดือนมีนาคม 2547 ทางโรงภาพยนตร์ต่างๆ ได้เปลี่ยนนโยบายใหม่ ให้หนังเริ่มเข้าฉายในวันพฤหัสบดี กลายเป็น 4 วันอันตรายแทน

10. หลายคนมักสงสัยว่า ทั้งๆ ที่หนังโด่งดังถึงเพียงนี้ แต่เหตุใดอิทธิสุนทรถึงไม่มีผลงานเรื่องที่ 3 ออกมาสักที ซึ่งผู้กำกับมือรางวัล ก็บอกว่า ความจริงแล้วพยายามอยู่ตลอด แต่ต้องยอมรับว่า ตัวเขาไม่ใช่ผู้กำกับหนังทำเงิน แบบที่ค่ายหนังอยากได้ตัว งานของเขาถูกมองว่ามีความเสี่ยงสูง บางทีเสนอไป ค่ายก็ยังไม่อินด้วย อย่างโหมโรงถือเป็นกรณีพิเศษ หากไม่ได้พลังโซเชียลและกระแสสังคมมาช่วย ก็คงรอดยาก ความสำเร็จแบบปากต่อปาก ค่ายไม่เสี่ยงด้วยหรอก แต่ถึงอย่างนั้นเขายังมองหาโอกาสจะทำหนังอยู่เสมอ

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.