พิสิฐ ตันสัจจา : คนหลังม่านโรงหนัง SIAM LIDO SCALA

<< แชร์บทความนี้

หากพูดถึงโรงหนังประวัติศาสตร์ของสยามสแควร์ เชื่อว่าคงไม่มีใครลืม สยาม-ลิโด-สกาลา อย่างแน่นอน

แม้วันนี้ เครือ Apex จะส่งมอบพื้นที่ทั้งหมด คืนแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปหมดแล้วก็ตาม

เพราะตลอด 50 ปีที่ สามโรงภาพยนตร์นี้ตั้งอยู่ เปี่ยมด้วยภาพความสุข และรอยยิ้มของผู้คนมากมาย

ที่สำคัญ ที่นี่คือความมุมานะของชายที่ชื่อ พิสิฐ ตันสัจจา

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา อยากขอพาทุกท่านย้อนกลับไปรู้จักชีวิตของผู้ก่อตั้ง Apex ที่ยอมทุ่มเทกำลังทั้งหมดจนถึงวาระสุดท้าย เพื่อสานฝันอันยิ่งใหญ่

เพราะเชื่อหมอดูตัวจริง!!

รู้หรือไม่..เมืองไทยเกือบไม่มีโรงหนังที่ชื่อ สยาม-ลิโด-สกาลา แล้ว

ย้อนกลับเมื่อเกือบ 70 ปีก่อน พิสิฐ ตันสัจจา ผู้ดูแลกิจการของศาลาเฉลิมไทย เคยถูกหมอดูทักว่าดวงชะตาไม่เหมาะกับกิจการบันเทิงเอาเสียเลย หากหันไปทำไร่จะเจริญรุ่งเรืองกว่า

วันนั้นเขาเชื่อหมอดู!! จึงตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะทิ้งงานบันเทิง เพื่อไปหันไปปลูกผักผลไม้ที่ศรีราชาอย่างจริงจัง ก่อนไปก็ถือโอกาสทูลลา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล เจ้าของอัศวินการละคร ผู้ใหญ่ที่เขานับถือยิ่งชีวิต

เมื่อเสด็จพระองค์ชายใหญ่ทรงทราบเหตุผลจึงตรัสว่า “อย่าไปเชื่อหมอดูผีสางที่ไหน ให้เชื่อหมอดูคนนี้” แทนที่จะทิ้งสิ่งที่รักไปทำสิ่งที่ไม่รู้เรื่องมาก่อน สู้ทำทั้ง 2 อย่างดีกว่า แต่ถ้าทำอย่างเดียวก็ทำแค่ธุรกิจบันเทิงเท่านั้นพอ

แม้สุดท้ายหมอดูคนแรกจะแม่นไม่ใช่เล่น เพราะวันนี้ไร่ที่เขากับภรรยาบุกเบิกได้กลายเป็น ‘สวนนงนุช’ ที่โด่งดังไปทั่วโลก

แต่หากวันนั้น เขาไม่เชื่อเสด็จพระองค์ชายใหญ่ บางทีเรื่องดีๆ บนพื้นที่สยามสแควร์ก็คงไม่เกิดขึ้นเช่นกัน

นักบุกเบิกความบันเทิง

พิสิฐเริ่มเกี่ยวข้องกับงานบันเทิงตั้งแต่อายุ 25 ปี

ก่อนหน้านั้นเขาทำงานเป็นฝ่ายขายอยู่ที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย แต่ด้วยสุขภาพร่างกายที่ไม่สู้ดีนักจึงต้องลาออกมาพักผ่อน เผอิญมีเพื่อนชวนมาร่วมลงทุนกิจการของศาลาเฉลิมไทย ชีวิตก็เลยหักเหไปทางนี้เต็มตัว

ช่วงแรกศาลาเฉลิมไทยเต็มไปด้วยละครเวทีมากมาย แต่หลังจากปี 2496 กระแสละครตกต่ำ ดูแล้วคงไปไม่รอด พิสิฐก็เลยสั่งปิดโรงเพื่อปรับปรุง จังหวะนี้เองที่ชีวิตเริ่มไขว้เขว้ แต่ด้วยคำแนะนำของผู้ใหญ่ เขาจึงเปลี่ยนธุรกิจมาเป็นโรงภาพยนตร์แทน โดยฉายภาพยนตร์เรื่อง รุ้งสวรรค์ (Rainbow Round) ของบริษัทโคลัมเบีย เป็นเรื่องแรก

พิสิฐเป็นคนที่ทุ่มไม่อั้นเพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุดมาบริการผู้ชม

เขาเป็นคนแรกที่นำนวัตกรรมต่างๆ มาสู่เมืองไทย เช่นเปลี่ยนระบบการฉายจากฟิล์ม 35 มม. มาเป็น 70 มม. รวมทั้งยังเป็นผู้บุกเบิกนำภาพยนตร์ 3 มิติ ที่ต้องสวมแว่นตาขณะรับชมอีกด้วย ตลอดจนปรับปรุงจอหนัง เครื่องฉาย เครื่องเสียงให้เป็นรอบทิศทาง เพื่อให้โรงภาพยนตร์บ้านเราทันสมัยเหมือนต่างประเทศ

ในส่วนของพื้นที่รอบโรงหนัง เขายังเป็นผู้นำลิฟต์มาให้บริการ มีห้องรับฝากของสำหรับลูกค้า มีร้านเครื่องดื่มบริการระหว่างก่อนและหลังรับชม มีร้านอาหาร ร้านไอศกรีม ข้าวโพดคั่ว แผงขายหนังสือเรียงราย จนกลายเป็นศูนย์รวมความบันเทิงเต็มรูปแบบ

ด้วยความสำเร็จของเฉลิมไทยในยุคนั้น ทำให้พิสิฐมีชื่อเสียงในฐานะของเจ้าพ่อโรงมหรสพเมืองไทย หลายคนเรียกเขาว่า โชว์แมนคนสำคัญ

ต่อมาเมื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีแผนพัฒนาพื้นที่ย่านปทุมวัน พิสิฐก็ได้รับการทาบทามจากผู้รับเหมาคือ กอบชัย ซอโสตถิกุล แห่งบริษัท เซาท์อีสต์เอเชียก่อสร้าง จำกัด ให้เข้ามาสร้างโรงภาพยนตร์แห่งใหม่ กลายเป็นปฐมบทของ 3 โรงภาพยนตร์แห่งสยามสแควร์

โรงหนังแห่งสยามสแควร์

“เมื่อจะทำอะไรแล้ว ก็จะต้องทำให้ดีที่สุด” คือปรัชญาชีวิตที่พิสิฐยึดถือมาตลอดการทำงาน

เดิมพื้นที่บริเวณนี้ไม่มีอะไรเลย ฝั่งตรงข้ามเป็นสวนฝรั่ง ส่วนฝั่งที่ก่อสร้างเป็นชุมชนแออัด

พิสิฐต้องทำงานอย่างหนัก แถมต้องดึงนันทา ตันสัจจา ลูกสาวคนโตซึ่งยังเรียนหนังสืออยู่มาช่วยงาน หลังใช้เวลาก่อสร้างร่วมปี ในที่สุดโรงหนังก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

เดิมทีโรงหนังแห่งนี้จะใช้ชื่อว่า ‘จุฬา’ แต่ถูกคัดค้านจากบรรดาผู้ใหญ่ในสังคมเช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เห็นว่าชื่อนี้เป็นพระนามของในหลวงรัชกาลที่ 5 และเป็นชื่อมหาวิทยาลัยจึงไม่เหมาะสมที่ใช้เป็นชื่อแหล่งบันเทิง

พิสิฐจึงตั้งชื่อโรงภาพยนตร์แห่งแรกว่า ‘สยาม’ โดยหนังเรื่องที่เข้าโรงคือ รถถังประจัญบาน (Battle of the Bulge) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2509

ความน่าสนใจของโรงภาพยนตร์สยามคือ การนำสิ่งอำนวยความสะดวกมาให้บริการเต็มรูปแบบ

ทั้งบันไดเลื่อนไฟฟ้า ประตูเลื่อนทางเข้าโรงภาพยนตร์ หรือแม้แต่เก้าอี้ก็มีพนักสูงรับศีรษะพอดี เรียกว่าเป็นเก้าอี้แบบเดียวกับในเครื่องบินก็คงไม่ผิด หรือแม้แต่จอภาพยนตร์ก็เป็นแบบ CinemaScope ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากในยุคนั้น แถมด้านหน้าก็ไม่มีเวทีมาเกะกะ ทำให้สามารถวางจอติดกับพื้นโรงได้ เป็นสัญญาณว่าระหว่างการฉายจะไม่มีการแสดงใดๆ เข้ามาแทรกแน่นอน ขณะที่พนักงานเดินตั๋วก็สวมสูทสีเหลือง กางเกงสแลคสีดำ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่อยู่คู่โรงหนังจนถึงทุกวันนี้

หลังเปิดให้บริการไม่นาน โรงหนังสยามก็ฮิตติดตลาด พิสิฐจึงเริ่มขยายโรงหนังแห่งที่ 2 คือ ลิโด

ชื่อนี้เขาได้แรงบันดาลใจจากสถานที่หนึ่งที่มีชื่อเสียงในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ลิโดสามารถจุคนได้ 1,000 ที่นั่ง หรือมากกว่าสยามประมาณ 200 คน แต่แม้ว่าขนาดโรงจะใหญ่กว่าเล็กน้อย แต่สไตล์การออกแบบก็ยังคงเอกลักษณ์เดิมไว้จนเหมือนเป็นโรงหนังฝาแฝด มีเรื่องเล่าว่าบางคนถึงขั้นเข้าโรงผิดเลยด้วยซ้ำ

ส่วนโรงที่ 3 คือ สกาลา เปิดตัวเมื่อวันสิ้นปี 2512 ด้วยเรื่องสองสิงห์ตะลุยสิบทิศ (The Undefeated)

พิสิฐตั้งใจให้โรงหนังแห่งนี้สวยที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ โดยได้ พ.อ.จิระ ศิลป์กนก มารับหน้าที่ออกแบบ

มีการนำสถาปัตยกรรมตะวันออกมาผสมผสานกับตะวันตกอย่างลงตัว รวมทั้งมีปูนปั้นลอยตัวที่สะท้อนถึงความเป็นเอเชีย ทั้งบาหลี ญี่ปุ่น จีน อินเดีย ไทย รอบผนัง ขณะที่บริเวณบันไดยังมีโคมไฟแชนเดอเลียร์จากอิตาลี เป็นความงามที่มีเอกลักษณ์ยิ่งนัก

ไม่ใช่แค่ความสวยงามและความสะดวกสบายของโรงหนังเท่านั้น พิสิฐยังใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ด้วย เช่น เมื่อเกิดเหตุขัดข้องกับอุปกรณ์ เขาจะหาจุดบกพร่องและบอกให้ช่างแก้ไขทันที และเมื่อใดที่มีการนัดหมายดูภาพยนตร์ก่อนเข้ารายการ ต่อให้ดึกดื่นเที่ยงคืนสักแค่ไหน เขาก็ไม่เคยขาดเลย เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด

นอกจากนี้พิสิฐยังมีแนวคิดในการผลิตสูจิบัตรข่าวภาพยนตร์เป็นแทบลอยด์แจกฟรี ซึ่งมียอดพิมพ์หลักแสนฉบับ โดยแต่ละเดือนจะมีชื่อหัวหนังสือแตกต่างกันไป เช่น มกราสกาลา ตุลาบันเทิง ตุลาราตรี

ส่วนนักเขียนก็ได้มือดีแห่งยุคมาร่วมงานหลายคน เช่น ประมูล อุณหธูป, วิลาศ มณีวัต, สุจิตต์ วงษ์เทศ, ขรรค์ชัย บุนปาน มาร่วมเขียน โดยคอลัมน์ยอดนิยมสุดคงต้องยกให้ ‘สยามสแควร์’ ของ พอใจ ชัยเวฬุ เป็นคอลัมน์ซุบซิบเกี่ยวกับคนบันเทิงและผู้ที่มีชื่อเสียง โดยพอใจมักเรียกสยามสแควร์แทนโรงหนังทั้งสามแห่ง โดยได้แรงบันดาลใจมาจากคำว่า ไทม์สแควร์ แหล่งบันเทิงในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา จนกลายเป็นคำที่ติดปากใครหลายคน

เมื่อจะทำอะไรแล้ว ก็จะต้องทำให้ดีที่สุด

พิสิฐ ตันสัจจา : คนหลังม่านโรงหนัง SIAM LIDO SCALA

ฝันสุดท้ายของนักฝันที่ยิ่งใหญ่

ความสำเร็จอย่างท่วมท้นของ สยาม-ลิโด-สกาลา ทำให้พิสิฐฝันไกลยิ่งขึ้น

เขาหวังอยากสร้างโรงหนังดีที่สุดในประเทศที่นำศิลปะหลากหลายประเภทมาผสมกันไว้แห่งเดียว

โรงภาพยนตร์อินทรา บนถนนราชปรารภ ย่านประตูน้ำ คือผลงานที่เขาทุ่มเทสุดชีวิต

พิสิฐนำนาฏศิลป์สากลแบบโชชิกุมาแสดงในเมืองไทย โดยจ้างครูญี่ปุ่นเข้ามาสอนนักแสดงไทย และให้แสดงก่อนฉายภาพยนตร์ประมาณ 1 ชั่วโมง นับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในวงการบันเทิงไทย

แต่น่าเสียดายที่เขาไม่ได้อยู่เห็นความสำเร็จครั้งนี้..พิสิฐจากไปก่อนโรงหนังอินทราจะเปิดเพียง 1 เดือน เมื่อปี 2514

ก่อนเสียชีวิต พิสิฐเริ่มมีอาการเจ็บที่ชายโครงด้านขวา เวลาเดินต้องเอามือกุม และมีอาการอ่อนเพลียปวดร้าวตั้งแต่หลังด้านขวาจนถึงไหล่ แม้ภรรยาจะพยายามอ้อนวอนให้ไปพบแพทย์ แต่เขาก็เพียงแค่ยอมไปตรวจ ไม่ยอมนอนโรงพยาบาล เพราะเป็นห่วงงานที่คั่งค้าง จนสุดท้ายอาการก็หนักขึ้น และแพทย์เองก็ตรวจพบว่าเขาเป็นมะเร็งตับและตับแข็ง ทั้งที่ไม่ดื่มสุราหรือสูบบุหรี่เลย

ตลอดช่วงที่อยู่โรงพยาบาล พิสิฐยังคงนึกถึงแต่งาน เช่นวันหนึ่งพนักงานมาเยี่ยม สิ่งที่เขาทักคือวันนี้ฝนไม่น่าตกเลย จนพนักงานงุนงง กระทั่งถึงบางอ้อว่านายหมายถึงวันนั้นโรงหนังเปลี่ยนโปรแกรมพอดี ถ้าฝนตกรายได้ก็คงไม่ดีเพราะคนไม่ออกมาดู หรือแม้แต่ตอนกลางคืนก็ยังสั่งงานให้ลูกๆ ใส่ผ้ารอบข้างเวทีที่โรงหนังอินทราเพื่อกันเสียงสะท้อน

วันสุดท้าย..พิสิฐเริ่มมองเห็นไม่ชัด จนต้องขอแว่นตามาสวม แต่เขาก็ยังห่วงงานไม่เปลี่ยนแปลง โดยหลังจากที่สวมแว่น เขาเห็นหน้าหมอเป็นน้องชายก็เลยกำชับว่า “อย่าลืมถามรายได้ทุกวันนะ สำคัญมาก” แล้วก็ไม่พูดอะไรอีกเลย

แม้พิสิฐจะมีโอกาสอยู่ดูความสำเร็จของตัวเองไม่นานนัก แต่สิ่งที่เขาทุ่มเทก็ไม่สูญเปล่า เพราะด้วยปณิธานอันแรงกล้าที่ถูกส่งต่อถึงภรรยาและทายาททุกคน ทำให้สิ่งที่ก่อร่างสร้างขึ้นมากับมือ โดยเฉพาะ สยาม-ลิโด-สกาลา สามารถหยัดยืนและมอบความสุขแก่ผู้คนได้กว่า 5 ทศวรรษ แม้ว่าสุดท้ายโรงภาพยนตร์ทั้งหมดนี้จะกลายเป็นเพียงอดีตไปแล้วก็ตาม

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • หนังสืออนุสรณ์พิสิฐ ตันสัจจา
  • หนังสือมอง : เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • นิตยสาร a day special issue siam square
  • สกู๊ป “ตัวไม่อยู่ ขอให้โรงหนังอยู่” ล้วงใจเจ้าของสกาลา รอวันอำลาหรือฉายต่อ? โดย ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 23 พฤษภาคม 2559
  • หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ วันที่ 22 พฤษภาคม 2553
  • Facebook อาจารย์มานพ แย้มอุทัย

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.