เทียม โชควัฒนา : พ่อค้าเหนือพ่อค้า

<< แชร์บทความนี้

เสี่ยตัน ภาสกรนที แห่งอิชิตัน เคยเล่าว่า..

ตอนอายุ 17-18 ปี เขาทำงานแบกหามในเครือสหพัฒน์ วันหนึ่งมีโอกาสเอาเอกสารไปให้เจ้าของบริษัทเซ็นชื่อ ระหว่างนายจ้างเข้าห้องน้ำ เสี่ยตันเหลือบไปเห็นแก้วน้ำที่ดื่มทิ้งไว้ เขาแอบหยิบน้ำแก้วนั้นมาดื่มต่อจนหมด เมื่อนายจ้างออกมาเห็นแก้วที่ว่างเปล่าก็เงยหน้ามองเด็กยกของ แต่ก็ไม่ว่าอะไร ก้มหน้าเซ็นงานต่อไป

เสี่ยตันคงไม่ทำอะไรแปลกๆ หากคนที่อยู่ตรงหน้าไม่ใช่ เทียม โชควัฒนา นักธุรกิจที่เป็นไอดอลของเขามาตลอด

คงไม่ใช่เสี่ยตันคนเดียวที่อยากทำแบบนี้ แต่ยังมีนักธุรกิจดังๆ อีกมากที่พร้อมซูฮกให้เจ้าสัวเทียม แม้จะจากไปนานกว่า 25 ปีแล้วก็ตาม

ยอดมนุษย์..ธรรมดา ขอนำเสนอมุมคิดและเรื่องราวของบุรุษในตำนาน..ผู้สร้างบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเกือบทุกอย่างในประเทศ และยังเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคน แม้กระทั่งประภัสสร เสวิกุล ที่นำบางเสี้ยวของชีวิตไปสร้างตัวละครเจ้าสัวเหลียง สือพาณิชย์ แห่งลอดลายมังกร

น้ำตาลกับเสื้อยืด : VISION แบบพ่อค้า

หากพูดถึงนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงข้ามกาลเวลา รับรองว่าชื่อของ เทียม โชควัฒนา ต้องมาเป็นลำดับต้นๆ แน่นอน

เพราะเขาเป็นเจ้าของบริษัทสหพัฒนพิบูล ยักษ์ใหญ่แห่งวงการสินค้าอุปโภคบริโภคเมืองไทยหรอกหรือ?

เพราะเขาเป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์ยอดฮิตที่อยู่ยงคงกระพันอย่าง มาม่า วาโก้ เปา ไลปอนเอฟ หรือเปล่า?

หรือเพราะเขาเป็นไอดอลของนักธุรกิจรุ่นใหม่หลายต่อคน ทั้งเสี่ยตัน อิชิตัน, อากู๋ แกรมมี่ กันแน่?

แต่หากพิจารณาให้ดีจะพบว่านอกจากความเป็นนักธุรกิจมือสะอาดแล้ว จุดเด่นของเจ้าสัวเทียม คือการที่เขาเป็นคนธรรมดาที่มีวิธีคิดไม่ธรรมดา

หลายคนคงไม่รู้ว่า เขาคือนักธุรกิจรายแรกๆ ของเมืองไทยที่ใช้การโฆษณามาพรีเซ็นต์ผลิตภัณฑ์อย่างเต็มที่

แล้วเขายังเป็นคนแรกๆ ที่บุกเบิกสินค้าประเภทแปรงสีฟัน ผ้าขนหนู ผ้าเช็ดตัว ในยุคที่คนไทยยังใช้นิ้วแปรงฟัน ใช้ผ้าขาวม้าเช็ดตัวอีกด้วย

หัวใจสำคัญที่ทำให้เจ้าสัวเทียมไปไกลกว่าพ่อค้าในยุคเดียวกัน คือ VISION ที่ไม่ยอมหยุดนิ่ง เพราะก่อนจะก้าวสู่จุดสูงสุด เจ้าสัวเคยอยู่ในจุดต่ำสุดมาก่อน

เจ้าสัวเทียมเติบโตมาในบ้านที่พ่อเป็นเจ้าของร้านขายนม น้ำตาล อาหารแห้ง แม้พ่อของเขาจะเป็นเจ้าของร้าน แต่อำนาจสั่งการกลับตกอยู่ที่อาซึ่งเป็นหลงจู๊ของร้านเป็นหลัก

สมัยเด็กๆ เจ้าสัวต้องทำงานหนัก ต้องออกจากโรงเรียนตั้งแต่ ป.4 กลับกันลูกของอาได้เรียนสูงๆ บางคนได้ไปต่อเมืองนอก

แต่ที่น่าเจ็บช้ำสุดคือ คำพูดทวงบุญคุณประเภทที่ว่า “ถ้าไม่ได้อาก็คงต้องเป็นขอทาน เพราะไม่มีปัญหาทำมาหากิน”

ไม่รู้ว่าจากคำพูดนี้หรือเปล่าที่ทำให้เจ้าสัวเทียมเกิดแรงฮึด และมุ่งมั่นจะขึ้นสู่จุดสูงสุดของการเป็นยอดนักธุรกิจ

ช่วงที่เจ้าสัวอายุได้ 26 เกิดความขัดแย้งในร้านขั้นรุนแรง พ่อของเจ้าสัวจึงยกกิจการร้านค้าให้อา ส่วนตัวเองก็แยกมาเปิดร้านใหม่ที่ขายสินค้าเหมือนเดิม

เจ้าสัวก็ติดตามบิดาไปด้วย แต่ทำได้อยู่เพียง 6 เดือน ก็เริ่มเห็นสัจธรรมว่า ถ้ามัวแบกน้ำตาลกระสอบให้ลูกค้าแบบนี้ สงสัยจะไม่ก้าวหน้า

เพราะแบกน้ำตาลหนักกระสอบละร้อยโลได้กำไรอย่างมากแค่กระสอบละ 2 บาท แต่ถ้าเปลี่ยนไปแบกเสื้อยืดขายแทน ครั้งหนึ่งแบกทีละ 10 โหล โหลหนึ่งกำไร 1.50 บาท รวมแล้วได้กำไร 15 บาท

ด้วยการมองธุรกิจที่ไม่ยึดติดกับความสำเร็จเดิมๆ หาช่องทางสร้างรายได้ใหม่ๆ อยู่ตลอด ได้เปลี่ยนเจ้าสัวเทียมจากพ่อค้าธรรมดาๆ ในตลาดสำเพ็งให้กลายเป็นนักธุรกิจอย่างแท้จริง โดยมี ร้าน เฮียบเซ่งเชียง ที่แยกตัวมาจากพ่ออีกทีเป็นศูนย์บัญชาการในการเฝ้าศึกษาและสังเกตพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป

เคล็ดลับนอกตำรา

ตัวอย่างหนึ่งที่สำเร็จสุด เกิดขึ้นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เจ้าสัวเทียมตัดสินใจสั่งสินค้าที่คนรุ่นเก่าไม่เชื่อว่าจะมีคนซื้อ ทั้ง ผ้าเช็ดตัว แปรงสีฟัน ผ้าขนหนูจากฮ่องกงมาขาย

แน่นอนว่าผู้เป็นพ่อคัดค้านสุดตัว แต่เจ้าสัวก็แค่รับฟัง เพราะรู้เหตุผลดีว่า พ่อไม่เคยใช้ของพวกนี้มาก่อน ก็เลยไม่รู้สึกว่าจำเป็น

ผลจากการกล้าเสี่ยง กล้าทดลอง และพร้อมที่จะเจ็บ ทำให้ร้านของเทียม กลายเป็นร้านหมายเลข 1 ของตลาดสำเพ็งอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้เจ้าสัวยังกล้าทำในสิ่งที่อยู่นอกตำรา อย่าง มือทำงาน นี่เห็นได้ชัด แม้เจ้าสัวจะให้ความสำคัญกับประสบการณ์ แต่สิ่งที่จำเป็นยิ่งกว่าคือ ความคิดสร้างสรรค์

เจ้าสัวตั้งน้องเขยมาทำหน้าที่หลงจู๊ประจำร้าน ในยุคที่ทุกร้านต่างมีแต่ผู้เฒ่ากุมอำนาจ เพราะเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ไม่คร่ำครึและพร้อมเรียนรู้ตลอดเวลา กล้าเสี่ยง กล้าผิดพลาดเพื่อพัฒนาฝีมือต่อไป

โฆษณา ก็เหมือนกัน หลายคนคงนึกไม่ออกว่าเรื่องนี้จึงไม่ธรรมดา แต่ในยุคนั้นพ่อค้าส่วนใหญ่เชื่อว่า ของดีไม่ต้องทำอะไรก็ขายได้ หากโฆษณามากๆ ก็แสดงว่าขายของไม่ได้ หรือใกล้เจ๊งนั่นเอง

แต่เจ้าสัวกลับคิดต่าง แทนที่จะปล่อยให้ลูกค้าเดินเข้ามาเอง เขากลับกระโจนหาลูกค้า ด้วยการโหมโฆษณาสินค้าในสื่อทุกประเภท ทั้งหนังสือพิมพ์จีน สถานีวิทยุ รถแห่หนังกลางแปลง หรือแม้แต่การแสดงมายากล และผลลัพธ์ก็อย่างที่เห็นคือ ยอดขายติดลมบน และสามารถเปลี่ยนร้านเล็กๆ ในสำเพ็งให้กลายเป็นอาณาจักรสหพัฒนพิบูลได้สำเร็จ

ก้าวหน้าด้วยความสามารถคือความสำเร็จที่แท้จริง ความก้าวหน้าที่ได้มาจากความสามารถในการทำงาน จะให้ผลที่จีรังยั่งยืน

เทียม โชควัฒนา : พ่อค้าเหนือพ่อค้า

แข็งแกร่งด้วยตัวเอง

ที่สำคัญยิ่งกว่าคือการก้าวไปสู่ความยั่งยืน แม้สหพัฒน์ยุคก่อนปี 2500 จะยิ่งใหญ่ในฐานะผู้นำเข้าสินค้าอุปโภคมากมาย แต่เจ้าสัวรู้ดีว่าแท้ที่จริงคือการยืมจมูกคนอื่นหายใจนั่นเอง

เขาจึงเปลี่ยนตัวเองจากเอเย่นต์สินค้านำเข้ามาเป็นผู้ผลิตสินค้า ด้วยการลงทุนร่วมกับบริษัทญี่ปุ่น เรียนรู้เทคนิคต่างๆ จนเชี่ยวชาญ และนำไปสู่การผลิตสินค้าออกมาอีกหลายร้อยรายการ

เจ้าสัวยังใช้กลยุทธ์ในการผลิตสินค้าประเภทเดียวหลายยี่ห้อ แล้วปล่อยให้แต่ละยี่ห้อแข่งกันเอง เพราะเจ้าสัวเชื่อมั่นว่าสิ่งที่จะทำให้สินค้าอยู่รอดคือ คุณภาพ ไม่ใช่การขายตัดราคาแบบที่ใครหลายคนชอบใช้

ด้วยแนวคิดแบบนอกกรอบแต่หยัดยืนด้วยคุณธรรมที่ยึดมั่นจนถึงปัจจุบัน สหพัฒนพิบูลยังคงเป็นเสาหลักของธุรกิจในประเทศเรื่อยมา และทำให้ชื่อของเจ้าสัวเทียมตราตรึงอยู่ในใจของใครหลายคน แม้จะจากไปตั้งแต่ปี 2534 ก็ตาม

“น้ำแก้วนั้นทำให้ผมมีทุกวันนี้ เพราะทำให้ผมมีดีเอ็นเอของ ดร.เทียม โชควัฒนา และฮึดสู้ตลอดเวลา เวลาเหนื่อยก็คิดถึง เหมือนเราเป็นลูกหลานของท่าน” เสี่ยตันแห่งอิชิตันทิ้งท้าย

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • หนังสือ 100 ปี ดร.เทียม โชควัฒนา 100 ปรัชญาคุณธรรม โดย ดร.เทียม โชควัฒนา
  • นิตยสารผู้จัดการ รายเดือน ตุลาคม 2527 
  • รายการตำนาน ตอน นักธุรกิจผู้เป็นตำนาน ดร.เทียม โชค วัฒนา สถานีโทรทัศน์ AMARIN TV

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch