สุภาภรณ์ ปิติพร : เภสัชกรหญิง ผู้บุกเบิกสมุนไพรอภัยภูเบศร

<< แชร์บทความนี้

หากพูดถึงยาสมุนไพรไทย คงไม่มีใครไม่รู้จัก สมุนไพรอภัยภูเบศร

เพราะนี่คือแบรนด์สมุนไพรที่คนไทยต่างเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยมานานเกือบ 4 ทศวรรษ ยืนยันได้จากยอดจำหน่ายแต่ละปีที่สูงถึงหลายร้อยล้านบาท แถมมีแผนต่อยอดไปไกลสู่ตลาดระดับนานาชาติอีกด้วย

หากแต่สมุนไพรอภัยภูเบศรจะเดินทางมาถึงจุดนี้ไม่ได้เลย ถ้าปราศจากอิฐก้อนสำคัญอย่าง ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร หรือที่ใครๆ ต่างรู้จักกันดีในชื่อ ‘หมอต้อม’ เพราะเธอคือผู้บุกเบิกการพัฒนาและต่อยอดสมุนไพรไทยมาใช้รักษาในการแพทย์แผนปัจจุบัน 

จากผลงานเล็กๆ ที่นำเสลดพังพอนตัวเมียมาใช้รักษาโรคเริมในปากเด็ก ค่อยๆ ต่อยอดเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรมากมาย ทั้งฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน มะระขี้นก มะขามป้อม ฯลฯ รวมทั้งยังเปลี่ยนวิธีคิดของผู้คนจากเดิมที่เคยมองว่า สมุนไพรเป็นของล้าสมัยและมีสรรพคุณสู้ยาสมัยใหม่ไม่ได้ ให้กลายเป็นยาสามัญที่ทุกบ้านต้องมีไว้

ทั้งหมดนี้เกิดจากความตั้งใจที่จะรวบรวมภูมิปัญญาจากหมอยายุคเก่าทั่วประเทศ ไม่ปล่อยให้สมบัติของชาติต้องสูญสลายไปตามกาลเวลา แม้วันนี้จะเกษียณอายุราชการแล้ว แต่หมอต้อมก็ไม่เคยหยุดทำงาน ยังคงเดินหน้าสานต่อความฝัน เพื่อสร้างความมั่นคงทางสุขภาพแก่ลูกหลานต่อไป

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงขอถือโอกาสนี้พาทุกคนไปรู้จักกับเรื่องราวชีวิต และความคิดของหมอต้อม 1 ใน 30 บุคคลจากโครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก ผู้จุดกระแสการใช้สมุนไพรให้คืนกลับมาสู่สังคมไทย

จากเด็กบ้านนอกสู่หมอสมุนไพร

คงไม่ผิดหากจะบอกว่า หมอต้อมนั้นผูกพันกับสมุนไพรมาตลอดชีวิต

ย้อนกลับไปเมื่อ 60 กว่าปีก่อน เด็กหญิงตัวเล็กๆ ถือกำเนิดขึ้นในครอบครัวเกษตรกร ท่ามกลางทุ่งนาชานเมืองของจังหวัดนครนายก

แม้ฐานะทางบ้านของเธอจะค่อนข้างลำบาก ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ แม้แต่หลังคาบ้านก็ยังมุงด้วยหญ้าคา แต่เด็กน้อยก็รู้สึกสุขใจที่ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ เธอเพลิดเพลินกับการรู้จักต้นไม้ใบหญ้า ได้เห็นว่าใบไม้ธรรมดาๆ ใบเดียวนั้นมีประโยชน์มากกว่าที่คิด

ครั้งหนึ่งเธอปวดท้องอย่างหนัก แม่ก็เอาตะไคร้มาทุบแล้วม้วนใส่กาน้ำ ตั้งให้อุ่นแล้วก็เอามาให้ดื่ม จากนั้นอาการปวดจึงค่อยๆ ทุเลาไป กลายเป็นความประทับใจเรื่อยมา

เมื่อเติบโตขึ้น เธอก็ได้ซึมซับถึงคุณประโยชน์ของพืชพรรณยิ่งขึ้น โดยช่วงนั้นพ่อกับแม่ของหมอต้อมกำลังเริ่มทำร้านอาหารในกรุงเทพฯ ระหว่างนั้นจึงฝากเธอไว้กับเพื่อนชาวจีนในตลาดที่ตัวเมืองนครนายก หวังให้ช่วยดูแลและรับผิดชอบเรื่องการเล่าเรียนของลูกๆ

“เราเรียกเขาว่าอาอึ้ม กินนอนบ้านเขาตั้งแต่ ป.7 ตอนไปอยู่ใหม่ๆ ก็สังเกตว่าหน้าตึกแถวมีกระถางยาและหลังตึกก็มีการปลูกสมุนไพร แล้วตอนเป็นไซนัสอักเสบ หาหมอแล้วหาหมออีกก็ไม่ค่อยดีขึ้นเท่าไร อาอึ้มก็เลยต้มฟ้าทะลายโจรให้กิน เทใส่ชามตราไก่ให้ ขมปี๋เลย พอตกเย็นก็ทำอาหารมีแต่บะฉ่อตำลึง เราก็ต้องกิน ตอนหลังถึงรู้คุณค่าของตำลึงว่ามีวิตามินเยอะมาก ช่วยแก้ร้อนใน

“แล้วหลังบ้านของอาอึ้มยังมีต้นไม้อีกเพียบ ทั้งต้นทับทิม ต้นลิ้นมังกร แกเล่าให้ฟังว่า เวลาคนจีนอพยพขึ้นเรือมา สิ่งที่ต้องนำมาด้วยก็คือต้นยา เนื่องจากพอมาถึงเมืองไทยแล้วไม่รู้จะหาได้จากที่ไหน เพราะสมัยก่อนหน้าที่การดูแลคนในครอบครัวถือว่าเป็นของแม่ที่ต้องเป็นที่พึ่งของคนในครอบครัว”

หลังอยู่กับอาอึ้มได้ 1 ปี ร้านอาหารเริ่มลงตัว หมอต้อมจึงย้ายมาเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาในกรุงเทพฯ ที่โรงเรียนสตรีวรนาถ และโรงเรียนจันทร์หุ่นบำเพ็ญ

กระทั่งเมื่อก้าวเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา ด้วยค่านิยมของคนสมัยก่อนที่อยากให้บุตรหลานมีหน้าที่การงานที่มั่นคง รับราชการยิ่งดีที่สุด อาชีพสายแพทย์จึงเป็นทางเลือกแรกๆ ที่ทุกคนนึกถึง

หมอต้อมก็เช่นกัน เธอเลือกเรียนต่อคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นอันดับที่ 1 แต่เหมือนโชคชะตาได้กำหนดมาแล้วว่าเส้นทางที่แท้จริงคือยาและสมุนไพร เธอจึงสอบติดในคณะอันดับ 2 คือ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

แม้กระแสของสมุนไพรในคณะเภสัชศาสตร์เวลานั้นจะถูกมองว่าเป็นส่วนเกิน บางมหาวิทยาลัยถึงขั้นคิดจะตัดวิชานี้ออกจากหลักสูตร อีกทั้งนิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยชอบเรียน ด้วยมองว่าเป็นยาขมที่ต้องนั่งจำ นั่งท่องชื่อใบไม้ แต่สำหรับหมอต้อมแล้ว เธอกลับรู้สึกสนุก และสามารถจำแนกได้ทันทีว่า ใบไม้เหล่านั้นเป็นใบของต้นอะไร แม้รูปร่างจะคล้ายคลึงกันก็ตาม

นอกจากนี้ เธอยังมีโอกาสได้ไปออกค่ายอาสาพัฒนา ไปเจอชาวบ้านที่ใช้สมุนไพรเป็นกิจวัตร ตลอดจนมีโอกาสได้รู้จักกับ ภก.สุพจน์ อัศวพันธุ์ธนกุล รุ่นพี่มหิดล ซึ่งทำงานบุกเบิกเรื่องสมุนไพรมานาน ก็ยิ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจที่ผลักดันให้หมอต้อมสนใจสมุนไพรมากยิ่งขึ้น

“ยุคนั้นเภสัชกรจบมาน้อยมาก เป็นอาชีพที่หาเงินได้เยอะ แต่เหมือนเภสัชกรรุ่นนั้นจะได้รับการปลูกฝังเรื่องการคำนึงถึงสังคมไว้มาก เหมือนเป็นจิตวิญญาณของเราเลย เราต้องทำเพื่อสังคม เพื่อชาวบ้าน แล้วอย่างพี่สุพจน์ แกทำงานที่โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง ใช้ชีวิตอยู่กับชาวบ้าน ไปเก็บรวบรวมข้อมูลความรู้เรื่องสมุนไพรแล้วนำมาเผยแพร่เป็นข่าวสารสมุนไพรให้แก่ผู้สนใจ แม้แต่กระทรวงสาธารณสุขยังต้องเอาความรู้ของพี่สุพจน์มาใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน คือก่อนหน้านี้ถ้าไม่มีรายงานของแก ก็จะไม่มีใครรู้จักว่านหางจระเข้ ไม่มีใครรู้จักขมิ้นชัน

“นี่เป็นอานิสงส์ของเภสัชกรคนหนึ่งที่เห็นว่า สมุนไพรน่าจะเป็นทางออกของสังคมได้ ครั้งหนึ่งแกเคยพูดว่า สักวันประเทศจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เพราะเราไม่พึ่งตนเอง ดังนั้นเราต้องเตรียมเรือก่อนพายุจะมา ซึ่งเราก็ไม่เข้าใจคำพูดของแกเลย จนกระทั่งตอนหลังที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ถึงได้พูดกับพี่สุพจน์ว่า น่าเสียดายที่เราเตรียมเรือไว้น้อยไป เพราะวันนี้เราก็ยังต้องซื้อยาจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก”

หลังเรียนจบเมื่อ พ.ศ. 2526 หมอต้อมตัดสินใจเลือกไปทำงานต่อที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี ในตำแหน่งเภสัชกรฝ่ายผลิต ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าอยู่ใกล้บ้านที่นครนายก แต่น่าตลกคือ สุดท้ายเธอก็แทบไม่ได้เดินทางกลับบ้านเลย

ในปีนั้นเอง หมอต้อมก็ได้พบจุดเปลี่ยนของชีวิต เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้โรงพยาบาลต่างๆ ส่งบุคลากร ทั้งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร ลงพื้นที่ไปอบรมให้ความรู้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และผู้สื่อข่าวสาธารณสุข เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดขององค์การอนามัยโลกที่อยากให้ประชากรมีสุขภาพดีถ้วนหน้าภายใน ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543)

เรื่องหนึ่งในนั้นคือ การนำสมุนไพรชนิดต่างๆ เช่น เสลดพังพอน ฟ้าทะลายโจร ชุมเห็ดเทศ และว่านหางจระเข้ เข้าไปสอนให้ชาวบ้านใช้รักษาโรคแบบง่ายๆ แต่เมื่อได้ลงสนามจริง กลับพบว่า ตัวเองมีความรู้น้อยกว่าคนในท้องถิ่นเสียอีก

“เราคิดว่าเรารู้มาก เพราะแต่ก่อนรู้สึกว่าตัวเองรู้เยอะกว่าเพื่อน เพื่อนแยกใบตะไคร้ ใบข้าว ใบหญ้าคาไม่ออก แต่เรานี่สบายมาก เพราะเราอยู่กับธรรมชาติมาตลอด แต่ความจริงเรารู้แบบท่องจำ เหมือนนกแก้วนกขุนทอง ซึ่งพอไปสอนชาวบ้าน เขาก็หลับๆ ตื่นๆ บางทีก็ได้ยินเสียงงึมงำ เสียงหัวเราะ บางทีก็พูดแทรกขึ้นมา แล้วก็มีต้นไม้อีกหลายต้นที่เราไม่รู้จักชื่อ แต่ชาวบ้านเขาใช้กัน

“สอนไปได้สัก 20 นาที ก็เลยเปลี่ยนวิธี หันมาตั้งโจทย์ให้เขาตอบ โดยเริ่มจากโรคง่ายๆ ก่อน เช่นเป็นโรคเชื้อรา จะใช้อะไร เขาก็บอกต้นขี้กลาก หญ้าขี้กลาก เราจึงเริ่มตระหนักว่า ชื่อสมุนไพรนั้นบอกฟังก์ชันของมัน เช่น เครือร้อยปลา เพราะเอาไปร้อยปลาได้เนื่องจากเหนียว หรือต้นกำลังช้างสาร กินแล้วบำรุงกำลัง พอเราคุยปั๊บทุกคนก็พรั่งพรูประสบการณ์ออกมา

“แล้วมีครั้งหนึ่งสนุกมาก เราคุยถึงน้ำมันกะลามะพร้าว ซึ่งเราคิดว่า กะลามะพร้าวไม่มีทางมีน้ำมัน มันคือกะทิที่ขูดไม่หมดหรือเปล่า แต่ชาวบ้านเขาบอกว่า ไม่ใช่ มันเป็นน้ำมันนั่นแหละ เขาใช้รักษาสังคัง แล้วทุกคนก็ขำกันก๊าก เพราะเป็นประสบการณ์ร่วมของผู้ชาย แล้วมีการท้าดวลว่ามีน้ำมันจริงๆ โดยเขาก็เอาถ่านมาวางบนกะลามะพร้าว แล้วเอาถ้วยมารอง จากนั้นก็มีน้ำมันหยดลงในถ้วย ซึ่งพอเราเอาไปค้นต่อ ถึงรู้ว่านี่มันคือฟีนอล ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติรักษาเชื้อราพวกกลากเกลื้อน”

ประสบการณ์ครั้งนั้นได้เปิดโลกของหมอต้อม จากความตั้งใจที่จะเป็นครูสอนผู้คน กลายเป็นนักเรียนที่คอยรับความรู้จากชาวบ้าน พร้อมกับความตั้งใจที่จะเก็บรวบรวมและเผยแพร่ภูมิปัญญาเหล่านี้ไปสู่วงกว้าง โดยระหว่างนั้นเธอใช้เวลาว่างในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เดินป่า บันทึกข้อมูล ทดลองชิมใบไม้ใบหญ้าว่ามีสรรพคุณอะไรบ้าง

การได้คลุกคลีกับยาสมุนไพรและภูมิปัญญาไทยมาต่อเนื่องหลายปี กลายเป็นแรงผลักดันว่า สักวันหนึ่งเธอจะนำสมุนไพรมาใช้ในโรงพยาบาลของการแพทย์แผนปัจจุบัน แล้วในที่สุดโอกาสที่เฝ้ารอก็มาถึง และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของยาสมุนไพรอภัยภูเบศรอย่างเป็นทางการ

จากเสลดพังพอนสู่อื่นๆ อีกมากมาย

“ตอนแรกๆ ทุกคนก็ไม่เชื่อเรื่องสมุนไพร แต่พอเวลามีความทุกข์ก็จะเดินมาหาเราตลอด เช่น พี่พยาบาลคนหนึ่งปิดประตูรถแล้วหนีบมือตัวเอง นอนไม่ได้เพราะมันปวดมาก ทายาก็ไม่หาย กินยาก็ยังปวดอยู่ เลยมาถามว่า ‘ต้อม..พี่ปวดมากเลย นอนไม่ได้’ เราก็ตำใบพลู เอาเหล้าใส่ แล้วเอาไปให้เขาโปะ ปรากฏว่าหาย กลับมานอนได้ หรือบางคนแพ้ยาฆ่าแมลง เราก็เอาต้มรางจืดให้กิน”

เหตุผลหนึ่งที่ทุกคนไม่ยอมรับสมุนไพร เนื่องจากเวลานั้นงานวิจัยในเมืองไทยมีน้อยมาก หลายคนจึงไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย บวกกับแพทย์ส่วนใหญ่ยังนิยมใช้ยาจากต่างประเทศเป็นหลัก แต่แล้วในปี 2529 ก็มีแพทย์แผนปัจจุบันท่านหนึ่งที่ยอมใช้ยาที่หมอต้อมผลิต

ในยุคนั้น โรคเริมในปากไม่ได้มียารักษาเป็นการเฉพาะ ถ้าเด็กคนไหนป่วยเป็นโรคนี้จะทรมานมาก ตัวจะผอม ร้องไห้งอแง เพราะกินอะไรไม่ได้ พญ.อุไรวรรณ โชติเกียรติ กุมารแพทย์ จึงเดินเข้ามาปรึกษาหมอต้อมว่า พอจะมียาอะไรที่ช่วยรักษาอาการนี้ได้บ้าง

“เราเปิดหนังสือหายาแก้เริม ก็มีเสลดพังพอนตัวผู้ เสลดพังพอนตัวเมีย ว่านมหากาฬ ใบตำลึง และอีกหลายตัว แต่ว่านมหากาฬต้องใช้สด ดองเหล้าไม่ได้แน่ๆ ถ้าเกิดเอาไปใช้ในโรงพยาบาล ใช้ทีหนึ่งก็ต้องถอนที ไม่เวิร์กแน่ๆ ตำลึงก็ต้องใช้สดเหมือนกัน ส่วนเสลดพังพอน ตัวผู้กับตัวเมียใช้ได้เหมือนกัน ดองเหล้าเองไว้ใช้ได้ แต่ตัวผู้มีหนาม เก็บใบได้น้อย ส่วนตัวเมียปลูกแล้วรกไปหมดเลย จากนั้นพอมาดูเรื่องความปลอดภัย จากข้อมูลการกิน เราพบว่าตัวเมียเขากินเป็นผักกัน เราก็เลยเลือกตัวเมียมาทดลอง”

แต่ปัญหาคือ ตอนนั้นไม่มีงานวิจัยรองรับเลย จะมีก็แต่เพียงงานวิจัยของ .ดร.ภก.วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ยังไม่ตีพิมพ์ ระบุว่า เสลดพังพอนสามารถต้านการอักเสบได้ และไม่พบความเป็นพิษ หมอต้อมจึงเริ่มศึกษาและทดลองผลิตยาจากสมุนไพรชนิดนี้

หมอต้อมนำเสลดพังพอนตัวเมียหรือพญายอมาตำแล้วหมักด้วยแอลกอฮอล์ แล้วให้แอลกอฮอล์ระเหยออก พอเสร็จก็เติมกลีเซอรีนลงไป จนกลายเป็นเสลดพังพอนกลีเซอรีนที่สามารถใช้ทาในปากได้

เมื่อคุณหมออุไรวรรณนำไปทดลองใช้ ปรากฏว่าได้ผลดีเยี่ยม แผลเริ่มแห้งภายในไม่กี่วัน อาการเจ็บเริ่มบรรเทาลง ทางโรงพยาบาลจึงจ่าย ‘ยากลีเซอรีนเสลดพังพอนตัวเมีย’ ให้คนไข้ จนทำให้ประชาชนหันมาเชื่อมั่นในยาสมุนไพรมากขึ้น

แต่กว่าผลงานนี้จะไปสู่วงกว้างจริงๆ ก็ต้องใช้เวลาอีก 3 ปี โดยครั้งนั้น หมอต้อมและคุณหมออุไรวรรณ ได้นำเรื่องราวลงตีพิมพ์ในคอลัมน์บันทึกเวชกรรมไทยของวารสารคลินิก ส่งผลให้คุณหมอหลายคนที่ได้อ่าน ทดลองไปผลิตเองบ้าง เนื่องจากไม่มียาตัวอื่นให้เลือกใช้ อีกทั้งยาฝรั่งก็ราคาสูงมาก ส่งผลให้ยาตัวนี้เป็นที่นิยมและใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน และเกิดต่อยอดการผลิตยาสมุนไพรตัวอื่นตามมา อาทิ ยาทาแผลฆ่าเชื้อการ์ซีดีนจากเปลือกมังคุด ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน ยาขับลมเด็กโหระพา ยาแก้ไอมะขามป้อม ฯลฯ

“อภัยภูเบศรเป็นเหมือนคนถางทาง ที่ไปเอาพืชสมุนไพรมาทำในรูปแบบของยาแผนใหม่ และตามประสบการณ์ของเรา ภูมิปัญญาไม่เคยพลาด คนสมัยก่อนทำอะไร สิ่งนั้นมักนำมาต่อยอดได้ เพราะทุกคนคงลืมไปแล้วว่า โลกนี้ก็คือห้องทดลองห้องหนึ่ง และหนูตะเภาก็คือมนุษย์เรานี่แหละที่ผ่านการใช้ การทดลอง การกินพืชพันธุ์ต่างๆ แต่เรากลับดูถูกว่าของพวกนี้ไม่มีงานวิจัยรองรับ ไม่มีความแม่นยำ แต่พออภัยภูเบศรเริ่มมาทำ ทัศนคติต่างๆ ก็เปลี่ยนไป คนหันมาสนใจสมุนไพรและการแพทย์ดั้งเดิมมากขึ้น”

ความสำเร็จในครั้งนี้ หมอต้อมบอกว่า ปัจจัยหลักมาจากการสนับสนุนที่ดี โดยเฉพาะผู้บริหารอย่าง ร.ท.นพ.สำราญ สำราญสำรวจกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรคนแรกที่หมอต้อมมาอยู่ด้วย ซึ่งค่อนข้างเปิดกว้าง และให้อิสระแก่บุคลากรสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่

เราเป็นองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น เพราะถ้าไปอยู่ที่อื่น เรื่องสมุนไพรก็คงไม่เกิดหรอก แต่โชคดีที่มีผู้บริหารที่เข้าใจ อย่างคุณหมอสำราญจะบอกเสมอว่า จะทำอะไรก็ได้แต่อย่าให้ผมเดือดร้อนก็พอ ซึ่งตอนแรกๆ เราก็เผยแพร่ความรู้เป็นหลัก เอาโปสเตอร์ไปแขวนตามผนังตึกที่คนไข้รอตรวจ หรือบางทีมีหย่อมตรงไหนเราก็เอาสมุนไพรไปปลูก ทำป้ายแขวนไว้ ชาวบ้านเขาจะได้ดูได้ และเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น เพราะเดิมทีเขาเห็นปู่ย่าตายายใช้ แต่ไม่ได้เห็นคุณค่าอะไร กระทั่งเราสนใจ เขาก็หันมาให้ความสำคัญด้วย และเกิดการฟื้นฟูในระดับชุมชนขึ้นมา

แต่ถึงโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรจะสามารถผลิตสมุนไพรออกสู่สังคมได้หลายชนิด หากจุดเปลี่ยนที่ทำให้ยาสมุนไพรกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างเกิดขึ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจ

เพราะเมื่อปี 2541 มีคนตกงานเป็นจำนวนมาก หมอต้อมจึงอยากช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ให้มีรายได้ จึงยื่นของบประมาณจากโครงการลงทุนเพื่อสังคม หรือที่รู้จักกันในชื่อกองทุน SIP เพื่อนำคนกลุ่มนี้ไปฝึกอบรมการนวด จากนั้นก็ปรึกษากับ นพ.เปรม ชินวัทนานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรในเวลานั้นว่า หากอบรมสำเร็จก็อยากจะขอพื้นที่ส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลมาทำแผนกแพทย์แผนไทย ซึ่ง นพ.เปรมก็ยินดีสนับสนุนเต็มที่

นอกจากนี้ เธอยังเริ่มต้นโครงการสาธิตและพัฒนาสมุนไพร ส่งเสริมให้ชาวบ้านและคนตกงานช่วยกันปลูกสมุนไพร สอนตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก การเก็บเกี่ยว และแปรรูปผลิตภัณฑ์

“นพ.เปรมเป็นคนที่เชื่อมั่นในตัวเรา แกมั่นใจว่าเราคิดดี บางเรื่องแกอาจจะเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง แต่แกก็ตามใจเรา ที่สำคัญแกเป็นคนบอกเราว่า ทำไมถึงไม่ใช้ความรู้ที่เก็บสะสมมาช่วยประเทศชาติ เอามาสอนชาวบ้าน ทำให้เราเริ่มต้นหาหนทางในการพัฒนาสมุนไพรอย่างจริงจัง

ครั้งนั้นหมอต้อมคิดว่า หากทำแล้วก็น่าจะทำเป็นโครงการใหญ่ไปเลย จึงของบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุขโดยตรง ส่งผลให้ กร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ถึงขั้นลงมาดูงานเพราะอยากรู้ว่า สมุนไพรนั้นทำอะไรได้บ้าง เธอจึงสาธิตการทำน้ำสมุนไพรให้ลองชิม เช่นน้ำอัญชัน น้ำว่านกาบหอย โดยตั้งใจให้น้ำเหล่านี้เป็นหัวขบวนสู้กับน้ำอัดลม

ไม่เพียงแค่นั้น เธอยังต่อยอดไปทำเครื่องสำอาง ทำชา ทำยาแคปซูล พร้อมกับส่งเสริมให้ชาวบ้านหันมาทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อเป็นวัตถุดิบป้อนให้โรงพยาบาล ด้วยเหตุว่า ยาฆ่าแมลงและสารเคมี เป็นบ่อเกิดสำคัญที่นำไปสู่โรค โดยชุมชนแรกที่ยอมทิ้งวิถีชีวิตแบบเดิมๆ และหันมาทำเกษตรอินทรีย์ คือ บ้านดงบัง ตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงพยาบาลมากนัก

“เราบอกชาวบ้านตรงๆ ว่า ไม่ได้หวังว่าจะเห็นเขาผลิตได้เยอะๆ แต่เราอยากเห็นการจัดการที่ดี แล้วก็ทำให้ตัวเองปลอดภัย อยากเห็นชาวบ้านหันมากินผักพื้นบ้านที่ตัวเองลืมไปแล้ว”

ครั้งนั้น มีเจ้าหน้าที่จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เข้ามาช่วยดูแลและอบรมชาวบ้านกว่า 200 คนอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่วิธีดูแลดิน ดูแลน้ำ ทางโรงพยาบาลได้จัดระบบ Contract Farming คือรับซื้อผลผลิตทั้งหมด โดยก่อนจะซื้อ ทางโรงพยาบาลก็จะส่งคนไปอยู่กับชาวบ้าน คอยตรวจสอบทุกขั้นตอนการผลิต ให้ได้รับการรับรองเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานสากล IFOAM เพื่อให้ทุกคนมั่นใจว่า ปลอดภัย ไร้สารเคมี 100%

ด้วยความมั่นใจในเรื่องคุณภาพ รวมทั้งยังได้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงคอยช่วยประชาสัมพันธ์อยู่เสมอ ส่งผลให้กระแสของสมุนไพรอภัยภูเบศรเติบโตอย่างรวดเร็ว มีคนเข้ามาดูงานอย่างล้นหลาม รวมทั้งมีคนตกงานจำนวนไม่น้อย นำสินค้าจากโรงพยาบาลไปขายต่อทั่วประเทศ เนื่องจากราคาย่อมเยากว่ายาจากต่างประเทศหลายเท่าตัว

สิ่งหนึ่งที่ยืนยันความสำเร็จของยาสมุนไพรอภัยภูเบศร คือวัตถุดิบบางชนิดไม่เพียงพอ ทำให้ขาดตลาดบางช่วง บางผลิตภัณฑ์ตั้งใจว่าจะเลิกทำขายแล้ว เช่น ลิปมันที่ทำมาจากน้ำมันรำข้าว ตอนนั้นขายไม่ดีจึงนำไปแจก แต่พอคนได้ลองใช้ ปรากฏว่าคุณภาพดีไม่แพ้แบรนด์ดังๆ ทำให้คนพากันซื้อจนกลายเป็นสินค้าขายดีมาถึงทุกวันนี้ แต่ที่ยังขายดิบขายดีมาต่อเนื่องหลายสิบปี คงต้องยกให้ มะขามป้อม ทั้งยาแก้ไอและครีมทาหน้า ก่อนที่ต่อมาฟ้าทะลายโจรจะแซงหน้า เพราะวิกฤตของโรคระบาด

เพื่อรองรับความต้องการสมุนไพรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หมอต้อมจึงถือโอกาสนี้ขยายพื้นที่การทำเกษตรอินทรีย์ให้มากขึ้น ซึ่งปรากฏว่ามีชุมชนสนใจเข้าร่วมเต็มไปหมด

“เราทำสัญญากำหนดราคาล่วงหน้ากับเกษตรกร 2 ปี ทำให้มีสินค้าต่อเนื่องอยู่ตลอด แต่ที่สำคัญเราต้องการสร้างความแข็งแรงให้เครือข่ายเกษตรกร ช่วยลดช่องว่างของสังคมลง โดยเราไม่ได้ให้ราคาถูกที่สุด แต่ให้ราคาที่เป็นธรรม เพื่อให้เขาอยู่ได้และช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย”

ขณะเดียวกัน เพื่อให้งานยั่งยืนและคล่องตัว เป็นอิสระจากกรอบราชการ นพ.เปรมจึงจัดตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรขึ้นมา เมื่อปี 2545 โดยหมอต้อมรับตำแหน่งกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิฯ ทำหน้าที่พัฒนาระบบสมุนไพรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งการจัดหาวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การสั่งซื้อเครื่องจักรคุณภาพสูง จัดทำห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน วางระบบการจัดจำหน่าย

โดยกำไรจากการขายสินค้า 70% จะมอบให้โรงพยาบาลดูแลคนไข้ ส่วนที่เหลืออีก 30% ก็นำมาพัฒนาสมุนไพรและทำประโยชน์ให้สังคมต่อไป หนึ่งในนั้นคือ การลงทุนซื้อที่ดินเกือบ 200 ไร่ ทำเป็นสวนสรรพสมุนไพร อภัยภูเบศร เก็บรวบรวมพันธุ์สมุนไพร 4 ภาค และศึกษาวิจัยการขยายพันธุ์และการปลูกเพื่อถ่ายทอดให้เกษตรกร

ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีการจัดตั้งวิทยาลัยการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร ภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุข และคณะการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร ในสังกัดมหาวิทยาลัยบูรพา ขึ้นมาเพื่อพัฒนาองค์ความรู้เรื่องสมุนไพรและแพทย์แผนไทยไปสู่คนรุ่นถัดมา ตลอดจนวิจัยสมุนไพรชนิดใหม่ๆ เพื่อให้ยาสมุนไพรตอบโจทย์ในชีวิตประจำวันของผู้คนมากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันนี้ สมุนไพรอภัยภูเบศรมีสินค้าจำหน่ายเกือบ 200 ชนิดแล้ว และยังมีแผนที่จะขยายสินค้าไปสู่ต่างประเทศด้วย

ผลของความพยายามยกระดับสมุนไพรไทย ส่งผลให้คนไทยจำนวนมากหันมาใช้ยาที่ผลิตในประเทศมากขึ้น จากเดิมที่ใช้แต่ยานำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ส่งผลให้ประเทศไทยประหยัดเงินไปได้หลายร้อยล้านบาท และช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ซบเซาจากวิกฤตอีกด้วย

และที่สำคัญยังส่งผลให้ อภัยภูเบศรกลายเป็นแบรนด์ที่ทุกคนวางใจ และนึกถึงเป็นชื่อแรกๆ ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี

ทายาททางความรู้ของหมอพื้นบ้านไทย

แม้แบรนด์สมุนไพรอภัยภูเบศรจะโด่งดังไปทั่วประเทศ แต่สำหรับหมอต้อมแล้ว สิ่งที่ต้องการมากกว่าคือ การรื้อฟื้นและรักษาภูมิปัญญาเรื่องสมุนไพรให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทยต่อไป

เพราะจะว่าไปแล้ว ประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณนานาชนิด และมีระบบนิเวศที่หลากหลายมากที่สุดในภูมิภาค เช่น ภาคเหนือมีสมุนไพรเหมือนมณฑลยูนานของจีน ภาคตะวันตกก็เหมือนเมียนมา ขณะที่ภาคใต้มีสมุนไพรเหมือนกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสุดท้ายคือฝั่งตะวันออกนั้น สมุนไพรมีลักษณะเดียวกับลาว กัมพูชา และเวียดนามตอนกลาง

ที่ผ่านมา ภูมิปัญญาการใช้พืชเหล่านี้สืบทอดผ่านหมอพื้นบ้านมานานหลายรุ่น แต่น่าเสียดายที่พอยุคสมัยเปลี่ยนไป วิทยาการสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ องค์ความรู้ต่างๆ จึงเลือนหายไปโดยปริยาย

แพทย์พื้นบ้านคนแรกที่เปรียบดั่งครูของหมอต้อมก็คือ พ่อเม่ากับตาส่วน ซึ่งเธอได้รู้จักระหว่างทำงานเผยแพร่ความรู้เรื่องสมุนไพรที่โรงเรียนประจันตคาม โดยตอนนั้นมีคนมาบอกว่า พ่อของเด็กคนหนึ่งเป็นพรานที่เก็บยาสมุนไพรไปขาย หมอต้อมจึงเข้าไปในป่า กระทั่งเจอพ่อเม่ากำลังค้นหายาอยู่ จึงถือโอกาสพูดคุยสนทนาด้วย

ส่วนตาส่วนนั้นเป็นญาติของอาจารย์ที่โรงเรียนประจันตคาม เป็นหมอสมุนไพรอาศัยอยู่ที่บ้านนนทรี ซึ่งอยู่ระหว่างอำเภอประจันตคามกับกบินทร์บุรี ตาส่วนเป็นคนพิเศษ เพราะสามารถทักทายต้นไม้ได้เหมือนทักคน เปรียบเสมือนห้องสมุดสมุนไพรเคลื่อนที่ ถามอะไรก็ทราบหมด

“เวลาเข้าป่าแต่ละครั้ง เราจะให้พ่อหมอเดินนำ แล้วบางทีก็มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน แต่สิ่งที่มากกว่านั้นคือ พอเราเข้าป่าไปแต่ละครั้ง เราจะสัมผัสได้ถึงความกระจ้อยร่อยของตัวเอง ความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ แล้วก็เข้าใจถึงความสัมพันธ์ของป่ากับชุมชน เช่นต้นนี้เขาไว้กิน ต้นนี้ไว้ห่อของ ต้นนี้รากหอม ต้นนี้เป็นยาฆ่าหนอน ซึ่งความรู้สึกแบบนี้มันคือ จากเดิมที่เราเคยมีอะไรครอบไว้ แต่ตอนนี้ได้ฉีกมันออกมา กระทั่งได้เห็นความร่ำรวยของแผ่นดินไทย”

จากพื้นที่ใกล้ๆ ในจังหวัดปราจีนบุรี หมอต้อมก็เริ่มขยายการเดินทางออกไปไกลขึ้น เธอขึ้นเหนือ ล่องใต้ บุกตะลุยเข้าป่าแทบทุกสัปดาห์ บางครั้งก็ข้ามฝั่งไปยังประเทศเมียนมา เดินไปอินเดีย เพื่อไปเจอหมอยาสมุนไพรมากหน้าหลายตา ซึ่งแต่ละท่านก็มีเสน่ห์และเรื่องราวน่าสนใจแตกต่างกันไป

อย่างลุงต๊าว ชาวเมืองน่านวัย 90 ปี หลายคนบอกว่าแกเป็นคนประหลาด เพราะตื่นแต่เช้ามาเก็บขยะในหมู่บ้าน ใส่เสื้อผ้าเก่าๆ โทรมๆ แล้วพอมีคนมาซื้อขยะ แกก็จะพาไปยังจุดที่รวบรวมไว้ โดยระหว่างทางหากเจอผลไม้ที่ไม่มีเจ้าของ ก็จะเก็บไว้ แล้วเอาไปให้บ้านที่เขาน่าจะต้องการ และไปเก็บสมุนไพรในป่ามาไว้ บ้านใครมาขอก็ให้ ไม่ต้องเสียเงิน

ไม่เพียงแค่นั้น หมอยาบางคนยังยกตำรายาโบราณที่จารไว้บนใบลานบ้าง เขียนลงสมุดข่อยบ้าง รวมแล้วกว่า 1,000 เล่ม ด้วยหวังให้นำไปสานต่อ ซึ่งเธอได้นำเอาเรื่องราวของหมอยาเหล่านี้มาถอดรหัส เขียนเป็นหนังสือ ‘บันทึกของแผ่นดิน’ ซึ่งพิมพ์ออกมาแล้วกว่าสิบเล่ม เพื่อส่งต่อความรู้ให้คนรุ่นหลัง

“สิ่งที่เป็นห่วงที่สุดคือ กลัวว่าความรู้จะตายไปพร้อมกับคน เพราะตำราที่เราบันทึกไว้มีไม่ถึงเสี้ยวหนึ่งของที่มีอยู่เลย อย่างบ้านเรา ถ้าเก็บจริงๆ มีเป็นหมื่นชนิดเลย แต่ที่บันทึกไว้ในตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์แถววัดโพธิ์มีอยู่แค่ 600 กว่าชนิด ซึ่งที่เอามาเขียนในหนังสือยังไม่ได้เสี้ยวของที่บ้านเรามีอยู่

“อีกอย่างคือ เราต้องทำแข่งกับเวลาด้วย เพราะสมัยก่อนตอนที่ยังโบกรถไปทำงาน พ่อหมอยังเหลือเยอะอยู่ แต่วันนี้จากไปเกือบหมดแล้ว ทำให้เราต้องเดินทางไกลขึ้น หาข้อมูลมากขึ้น เช่นไปตาม 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งหลายจุดเขายังใช้สมุนไพรแบบดั้งเดิมอยู่ หรือตามชนเผ่าที่การรักษาสมัยใหม่ยังเข้าไม่ถึง เนื่องจากความไม่เจริญมันช่วยห่อหุ้มทรัพย์สินที่เป็นภูมิปัญญาของแต่ละระบบนิเวศเอาไว้ แล้วก็ทำให้เรามีพลังที่จะเดินหน้าต่อไป”

นอกจากการส่งต่อมรดกทางภูมิปัญญาแล้ว หมอยาพื้นบ้านเหล่านี้ยังเป็นแรงบันดาลใจให้เธอทำงานเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แม้จะเกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรไปแล้วก็ตาม

ทุกวันนี้ทำอยู่ 3 เรื่องคือ เก็บและรวบรวมภูมิปัญญา ผลิต แล้วก็สอน ซึ่งเหตุผลที่ไม่หยุดทำงาน เพราะเรารู้สึกว่า อายุมันก็เป็นแค่ตัวเลข ถึงแม้เราจะเดินไม่ได้ แต่เราก็สอนได้นะ ซึ่งต้องยอมรับว่า พ่อหมอที่เราลงไปคลุกคลีด้วยนั้นมีส่วนมากเลย บางคนอายุ 85-90-100 ก็ไม่เคยหยุด มันทำให้เราได้ตกผลึกกับตัวเองว่า หนึ่งคือทำอะไรให้ใครได้ก็ทำ สองคืออย่าหยุดที่จะเดิน และสามคืออย่าไปสนใจใครจะว่าอะไร ถ้าเราทำ 3 ข้อนี้ได้ ชีวิตเราจะมีความสุขและสามารถพึ่งพาตนเองได้ตลอดไป

ในช่วงชีวิตของตัวเองคงหยิบสมุนไพรมาพัฒนาได้ไม่กี่ชนิด แต่เราก็หวังว่าคนรุ่นถัดไปเขาจะเอาต้นไม้เหล่านี้ไปพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ ต่อไป

สุภาภรณ์ ปิติพร : เภสัชกรหญิง ผู้บุกเบิกสมุนไพรอภัยภูเบศร

ผลักดันปราจีนบุรีสู่เมืองแห่งสมุนไพร

อีกความฝันหนึ่งที่หมอต้อมอยากผลักดันให้เป็นจริงมาตลอด คือการทำให้จังหวัดปราจีนบุรีเป็นศูนย์กลางสมุนไพรไทย ที่ทุกคนสามารถมาได้เรียนรู้ตั้งแต่ต้นจนถึงปลายทาง

หมอต้อมอยากให้สมุนไพรเข้ามาอยู่ในชีวิตของผู้คนได้มากที่สุด ไม่ใช่แค่รักษาโรค แต่แทรกซึมไปถึงอาหาร การศึกษาของเด็กและเยาวชน และแล้วความตั้งใจของเธอก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เพราะเมื่อ พ.ศ. 2558 มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้รับอนุญาตจาก ทพ.ทศพล เปี่ยมสมบูรณ์ ให้นำบ้านเก่าของครอบครัวมาใช้เพื่อสาธารณประโยชน์เป็นเวลา 10 ปี

หมอต้อมจึงปรับปรุงให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ในสไตล์ห้องสมุดที่มีชีวิต คือนอกจากเป็นสถานที่ให้เด็กและเยาวชนเข้ามาทำกิจกรรมแล้ว พอเข้ามาในบ้านก็จะพบกับสวนสมุนไพร งานศิลปะ นิทรรศการเรื่องเมืองเก่า รวมถึงอาหารที่มีสมุนไพรเป็นตัวชูโรง โดยเธอเรียกที่นี่ว่า ‘บ้านเล่าเรื่อง เมืองสมุนไพร’

“เราอยากเห็นนวัตกรรม รวมทั้งส่งต่อความรู้และประสบการณ์เรื่องสมุนไพรในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ เครื่องดื่ม อาหาร ขนม เพื่อทำให้ทุกคนคุ้นชินกับสมุนไพรมากขึ้น คือเข้ามาแล้วอาจเห็นว่าบรรยากาศก็เป็นเหมือนร้านอาหารทั่วไป แต่อาหารที่นี่ก็ไม่เหมือนที่อื่น มีใบเล็บครุฑทอด แล้วก็มีอัญชัน ผสมในเครื่องดื่ม ใส่สีราดหน้าอะไรแบบนี้ เรียกว่าเป็นแหล่งสร้างสรรค์จากสมุนไพรที่ทันสมัย และหลากหลาย เข้าถึงชีวิตของผู้คนในทุกมิติ”

นอกจากนั้น หมอต้อมยังของบประมาณสร้างเรือนหมอพลอย จากแบบแปลนบ้านเก่าอายุร้อยกว่าปีของหมื่นชำนาญแพทยา (พลอย แพทยานนท์) หมอหลวงในรัชกาลที่ 5 พร้อมกับนำข้าวของเครื่องใช้ของหมอพลอย ซึ่ง นพ.ไพโรจน์ นิงสานนท์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หลานหมอพลอยนำมามอบให้ ทำเป็นพิพิธภัณฑ์แพทย์แผนไทยที่ภูมิภูเบศร เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของหมอไทยสมัยก่อน ทั้งเครื่องมือแพทย์ ตำรับยาโบราณ สวนสมุนไพร รวมถึงจัดเวิร์กช็อปสาธิตการทำยา ทำแป้งร่ำ ทำธูปหอม

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้แก่เยาวชน และแสดงให้เห็นว่าบ้านเราก็มีศักยภาพและวิวัฒนาการไม่แพ้ใคร ซึ่งคนไทยควรสืบทอดและอนุรักษ์ต่อไป

หากแต่โปรเจกต์สำคัญที่สุดคงต้องยกให้การทำสวนสมุนไพรที่อภัยภูเบศรเวชนคร ซึ่งหมอต้อมได้นำพืชสมุนไพรกว่า 2,000 ชนิดจากทั่วประเทศไปปลูกในไร่ของมูลนิธิฯ บริเวณทางขึ้นเขาใหญ่

“งานวิจัยของเราบางทีเก็บข้อมูลไปแล้วก็เหลือแต่กระดาษ ต้นเป็นๆ เป็นอย่างไรหาไม่เจอ เราอยากหาที่อยู่ที่ชุ่มชื้นให้สมุนไพรเหล่านี้ อยากอยู่ตรงไหนก็อยู่ ตายบ้าง เกิดใหม่บ้าง ซึ่งในช่วงชีวิตของตัวเองคงหยิบสมุนไพรมาพัฒนาได้ไม่กี่ชนิด แต่เราก็หวังว่าคนรุ่นถัดไปเขาจะเอาต้นไม้เหล่านี้ไปพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ ต่อไป”

การทำงานเรื่องสมุนไพรอย่างต่อเนื่อง ก็เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า สมุนไพรคือทางรอดที่ช่วยให้เราทุกคนผ่านพ้นสถานการณ์ต่างๆ ไปได้ด้วยดี ยิ่งมีสมุนไพรมากเท่าไร โอกาสที่เราจะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งก็มีมากขึ้นเท่านั้น

ดังเช่นวิกฤตโรคระบาดที่ผ่านมาที่กระแสสมุนไพรเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะฟ้าทะลายโจร หมอต้อมเองก็พยายามช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ ตั้งแต่การนำยาสมุนไพรไปมอบให้ผู้ป่วยในเรือนจำและแคมป์คนงาน ตลอดจนเพิ่มกำลังการผลิตฟ้าทะลายโจรให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ด้วยความเชื่อว่า สมุนไพรชนิดนี้เป็นที่พึ่งของมนุษยชาติ

ขณะเดียวกัน เธอยังเริ่มต้นบุกเบิกโครงการทำสวนผักหลังโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยได้แรงบันดาลใจจากแนวคิดโคกหนองนา เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพแก่ประชาชน

“เรารู้สึกว่า แนวคิดนี้คือการเก็บพันธุ์พืชไว้ในระบบนิเวศต่างๆ อย่างครบถ้วน ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวคิดของผู้อำนวยการโรงพยาบาล พญ.โศรยา ธรรมรักษ์ ซึ่งจุดประกายว่าเราควรต้องมีความมั่นคงทางอาหาร เพราะช่วงที่เกิดวิกฤตโรคระบาด แกก็ให้เจ้าหน้าที่เริ่มปลูกผักปลูกอะไร จะได้ไม่ต้องหาซื้อซึ่งพอมาทำโปรเจกต์นี้ เราก็ไปตามเก็บผักพื้นบ้าน ต้นยวม ต้นโกสน ซึ่งหลายคนอาจจะสงสัยว่าปลูกโกสนทำไม มันเป็นไม้ประดับไม่ใช่เหรอ แต่ความจริงแล้วมันคือผักที่ใช้ในแกงคั่ว ใช้กับเล็บครุฑ ใบโหระพา

“ส่วนน้ำที่ใช้ปลูก เราก็นำน้ำจากโรงพยาบาลที่บำบัดจนสะอาดแล้วมาใช้ ระดับความสะอาดผ่านมาตรฐานที่สามารถปล่อยลงแม่น้ำได้ เพราะปกติแล้วจะปล่อยทิ้งลงแม่น้ำ แล้วก็ปล่อยปลาไว้ในหนองน้ำ เพื่อทำให้ระบบนิเวศสมบูรณ์ ซึ่งเราคิดว่าภายในไม่กี่ปี ที่นี่จะเป็นศูนย์รวมของพันธุ์พืชที่กินได้เป็นยาจำเป็น ครบถ้วนที่สุด และต่อให้มีวิกฤตใดๆ เข้ามา เราก็จะสามารถรับมือได้”

และทั้งหมดนี้คืออุดมการณ์ของหมอยาตัวเล็กๆ ที่ยังคงเดินหน้าทำงานส่งมอบภูมิปัญญาและแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นหลัง จนกว่าจะหมดสิ้นลมหายใจ

โครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก

คนเล็กเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 30 บุคคลผู้สร้างสังคมที่ยั่งยืน และช่วยกันสร้างคุณค่าสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นประเทศ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร คือบุคคลต้นแบบประเด็นสร้างหลักประกันการมีสุขภาพดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย (SDGs ข้อที่ 3), ประเด็นสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 12) และประเด็นปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริม การใช้ระบบนิเวศบนบกและการจัดการป่าอย่างยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 15)

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.