อลงกต ชูแก้ว : ครูนักอนุรักษ์ที่อุทิศทั้งชีวิต เพื่อธรรมชาติที่ยั่งยืน

<< แชร์บทความนี้

ช้าง ช้าง ช้าง น้องเคยเห็นช้างหรือเปล่า..

หลายคนพอได้ยินเพลงนี้ขึ้นต้นมาเมื่อไหร่ คงอดร้องตามไม่ได้ เพราะเป็นเพลงที่คุ้นเคย  

แต่ที่น่าแปลกใจคือ แม้ ‘ช้าง’ จะเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยมาช้านาน แต่คนไทยส่วนใหญ่กลับยังขาดความรู้เรื่องช้าง จนบางครั้งมองว่าช้างเป็นสัตว์ที่อันตราย ถูกพูดถึงในเชิงลบ และมีหลายครั้งที่ช้างโดนทำร้ายจนบาดเจ็บหรือถึงแก่ชีวิต

เพราะไม่อยากให้ ‘ช้างไทย’ หลงเหลือเพียงแค่ในภาพถ่ายหรือตำนานเล่าขาน บวกกับประสบการณ์และบทเรียนในการทำงานเรื่องช้าง จนทราบว่าการทำงานอนุรักษ์โดยเฉพาะเรื่องช้างยังมีข้อจำกัดหลายประการ รวมทั้งยังต้องการให้สังคมมีข้อมูลมาประกอบการพิจารณาว่า ควรป้องกัน แก้ปัญหา และอนุรักษ์ช้างอย่างไร กลายเป็นแรงผลักดันให้ อลงกต ชูแก้ว หรือที่ใครๆ เรียกติดปากว่า ‘ครูกต’ นำเรื่องช้างมาผนวกกับการทำงานด้านเด็กและเยาวชนตั้งแต่ปี 2538 จนกระทั่งปัจจุบัน

ถึงไม่ได้จบครูโดยตรง แต่ครูกตก็เชื่อมั่นในพลังของความรู้ว่าเป็นรากฐานของการอนุรักษ์ที่ยั่งยืน เขาจึงร่วมก่อตั้งกองทุนวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทย พร้อมพัฒนาหลักสูตรสิ่งแวดล้อมศึกษา (Environmental Education) โดยใช้ช้างเป็นสื่อกลาง หวังสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องระหว่างคนกับช้าง จนนำไปสู่การดูแลอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม

ความน่าสนใจในห้องเรียนของครูกตคือ ไม่ได้จำกัดอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ เท่านั้น แต่กลับกว้างใหญ่อยู่ท่ามกลางหมู่แมกไม้ ธรรมชาติ และช้าง ที่สำคัญคือ นักเรียนของเขาไม่ได้มีเพียงแค่เด็กทั่วไปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเด็กพิการ ซึ่งเขาผลักดันเต็มที่ จนนำไปสู่การก่อตั้ง Thai Blind Orchestra วงออร์เคสตราเด็กตาบอดวงแรกของเมืองไทย 

เพื่อเรียนรู้เรื่องราวของครูผู้อุทิศตนมาเกือบทั้งชีวิตเพื่อสร้างโลกที่สวยงาม ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอพาทุกคนไปพูดคุยกับครูกต ในฐานะ 1 ใน 30 บุคคลจากโครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก ถึงเส้นทางการทำงานกว่า 3 ทศวรรษกับความตั้งใจอันยิ่งใหญ่ที่อยากจะเห็นเด็กไทยและช้างไทยอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และช่วยกันดูแลธรรมชาติต่อไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด

จุดนัดพบของคนกับช้าง

บ้านเกิดของครูกตอยู่ที่ยะลา เมืองชายแดนปลายด้ามขวาน  

ชีวิตในวัยเด็กของเขา ไม่ต่างจากเด็กชนบททั่วไป เขาแทบไม่เคยเห็นช้างตัวเป็นๆ แต่มี ‘แม่’ เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาเริ่มสนใจเจ้าสัตว์ตัวโตนี้

“สมัยเด็ก ผมรู้ว่าแม่ชอบช้างมาก แม่มักซื้อของที่เกี่ยวกับช้างมาให้ ครั้งหนึ่งผมเห็นแผ่นโฆษณาหนังเรื่องช้างเพื่อนแก้วในกระดาษหนังสือพิมพ์ที่แม่ตัดเก็บไว้ ก็ได้แต่หวังว่า ถ้าหนังมาฉายแถวบ้าน แม่ก็คงจะพาไปดู ส่วนช้างจริงผมได้มีโอกาสเห็นตอนที่หมู่บ้านมีคณะแสดงช้างมาทำโชว์ ถึงได้รู้ว่าช้างตัวโตและน่ารักกว่าที่คิดมาก”

ในวัยเด็ก ครูกตมีโอกาสได้อ่านหนังสือมากกว่าเด็กทั่วไป เพราะเวลาไปขอขนมที่วัดจากหลวงพ่อที่สนิทกัน พ่อก็มักจะให้ไปหยิบหนังสือในกุฏิพระหนึ่งเล่มมาอ่านให้ฟังเพื่อแลกกับขนม ซึ่งหนังสือที่เขาหยิบไปอ่านก็ค่อนข้างพิเศษสักหน่อย  เพราะเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ การเรียกร้องสิทธิของกลุ่มคนต่างๆ จนถูกผู้มีอำนาจบางคนตีตราว่าเป็นหนังสือต้องห้าม และเก็บไว้ในกุฎิของหลวงพ่อไม่นำออกไปให้คนอ่านที่ห้องสมุดประจำตำบล แต่ในมุมหนึ่ง ผลงานเหล่านี้กลับช่วยกระตุ้นความรู้สึกอยากทำสิ่งดีๆ เพื่อสังคมแก่เด็กชายอลงกตไปโดยไม่รู้ตัว

ชีวิตในวัยเรียนของครูกตก็จัดว่าโลดโผนไม่เบา เพราะพอเริ่มเป็นวัยรุ่น เขาเริ่มสวมวิญญาณนักผจญภัย ออกไปเรียนรู้การใช้ชีวิตในโลกกว้างด้วยการเดินทางคนเดียวเหมือนกับหนังสือหลายเล่มที่ได้อ่าน 

“สมัยเด็ก ที่บ้านไม่ได้มีฐานะ ถ้าไม่ช่วยแม่ทำงาน ผมก็จะไปทำงานหาเงินเพื่อสะสมไว้เป็นค่าเดินทาง ประกอบกับอยู่ในจังหวัดที่มีการนำเข้าสินค้ามือสองจากต่างประเทศ ตอนนั้นผมก็พกเป้ฝรั่งใบใหญ่ๆ กางเกงยีนส์ Levi’s พร้อมกีตาร์คู่ใจ 1 ตัว ออกเดินทางเข้าไปอยู่ในป่าหรือไม่ก็ไปขออาศัยอยู่ตามหมู่บ้านชาวประมง ไปช่วยทำงานบ้านแลกข้าว บางครั้งก็ออกเรือไปหาปลากับชาวเล”

กระทั่งเรียนจบมหาวิทยาลัย เมื่อปี 2537 จึงมีโอกาสได้มาทำงานกับอาจารย์สุรพล ดวงแข ซึ่งเวลานั้นเป็นฝ่ายวิชาการ ก่อนจะได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในเวลาต่อมา

อาจารย์มักจะให้แนวทางการเรียนรู้ไปพร้อมกับการทำงาน ซึ่งผมได้รับโอกาสให้เข้าไปมีส่วนร่วมในหลายโครงการ เช่น โครงการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของชุมชนกะเหรี่ยง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร พอตอนหลังมีรุ่นพี่ลาออกไปเรียนต่อต่างประเทศ ก็ได้เลื่อนขึ้นมาเป็นหัวหน้าโครงการป่าตะวันตก ได้ทำทั้งงานวิจัย สำรวจ และขับเคลื่อนนโยบาย โดยระหว่างนั้นก็จะได้รับมอบหมายจากผู้ใหญ่ให้ไปร่วมประชุมระดับนโยบายกับองค์กรต่างๆ ซึ่งเวลาไปก็ไม่ใช่ไปนั่งฟังเฉยๆ แต่ต้องทำการบ้าน เพื่อไปร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งการได้รับโอกาสเหล่านี้ ทำให้ผมเติบโตทั้งความคิดและประสบการณ์

แต่เรื่องหนึ่งที่ดูจะดึงดูดเขามากที่สุดคือ ช้าง

เพราะนอกจากภาพความทรงจำในวัยเยาว์แล้ว อาจารย์สุรพลยังมอบหมายให้เขาไปช่วยติดตามเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับช้างมากมาย ตั้งแต่เมื่อปี 2538 ซึ่งเกิดเหตุช้างถูกฆ่าเพื่อเอางาที่จังหวัดพิษณุโลก แล้วจากนั้นก็มีกรณีฆ่าช้างตัดงาตามมาอีกมากมาย รวมทั้งปัญหาเรื่องการเผชิญหน้าระหว่างคนกับช้างป่าที่กุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งครั้งนั้นมีช้างเสียชีวิตหลายตัวเหมือนกัน

แม้หลายครั้งจะมีการจับกุมผู้กระทำผิด หรือคลี่คลายความตึงเครียดของสถานการณ์ได้ แต่ครูกตเริ่มตระหนักว่า สุดท้ายแล้วปัญหาจะไม่มีทางจบสิ้นไป เพราะสิ่งที่ทำอยู่ก็เหมือนนักดับเพลิงที่คอยเอาสายยางมาช่วยฉีดน้ำตอนที่เพลิงลุกไหม้แล้ว

“จำได้ว่าตอนเกิดเหตุครั้งแรก ผมขับรถไปคนเดียว ก็ไปอยู่กับชาวบ้าน ได้เห็นการตายของช้าง จากนั้นก็ได้รับมอบหมายอีกเป็นครั้งที่สองที่สาม ครั้งแล้วครั้งเล่า จนผมได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า นี่คงไม่ใช่วิถีของการอนุรักษ์ เราควรจะทำงานด้านอื่น อย่างการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นดีกว่า ซึ่งตอนนั้นก็มีโอกาสได้ทำงานวิจัย ก็เห็นว่าความรู้เหล่านี้น่าจะนำมาใช้ประโยชน์ได้ ค่อยๆ ขยายเครือข่ายเพื่อแก้ปัญหาการเผชิญหน้าระหว่างคนกับช้าง โดยเฉพาะช้างที่ลงมากินพืชผลการเกษตร แล้วก็จัดประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงไปบรรยายตามมหาวิทยาลัยต่างๆ”

สิ่งหนึ่งที่ครูกตพยายามย้ำมาตลอด คือ การฉายให้เห็นที่มาที่ไปของปัญหา เช่น เวลาเห็นช้างถูกฆ่าตัดงา แทนที่จะถามว่าใครฆ่า อาจจะต้องวิเคราะห์เพิ่มเติมว่า ทำไมถึงถูกฆ่า เพราะคนอยากได้งาไปประดับบ้าน หรือเพราะความเชื่อว่างาช้างเป็นของวิเศษ ซึ่งหากมีการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง รอบด้าน บางทีก็อาจช่วยปลุกกระแสให้สังคมไม่สนับสนุนการซื้อขายอวัยวะของสัตว์ป่าได้

กรณีช้างตกมันก็เช่นกัน หลายครั้งที่ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เนื่องจากพยายามไล่ช้างที่กินพืชไร่ของตัวเอง โดยไม่ทราบว่าช้างกำลังตกมัน พอเผชิญกับช้างที่โมโหหรือถูกช้างทำร้ายก็กลายเป็นความเชื่อฝังหัวว่า ช้างดุร้าย ห้ามเข้าใกล้ บางทีถึงขั้นทำร้ายร่างกายช้างเลยก็มี ทั้งที่ความจริงแล้ว ช้างไม่ได้อันตรายขนาดนั้น หากทุกคนเรียนรู้ว่าสภาวะแต่ละช่วงของช้างเป็นอย่างไร เช่นเวลาตกมัน ต่อมที่ขมับจะบวม และมีน้ำมันไหลออกมา ซึ่งพอเห็นอาการแบบนี้ ทุกคนควรหลีกเลี่ยง ไม่เข้าใกล้

หลังทำงานอยู่ในมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชฯ มายาวนาน ในปี 2541 ครูกตจึงตัดสินใจลาออกและเริ่มต้นออกแบบเส้นทางการอนุรักษ์ของตัวเอง

โดยระหว่างนั้นก็ได้ไปทำงานร่วมกับองค์การระหว่างประเทศ เช่น WildAid Asia ตลอดจนได้รับทุนขององค์การบริหารปลาและสัตว์ป่าแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Fish and Wildlife Service) ให้ไปศึกษาต่อ ด้วยความหวังจะนำความรู้ที่ได้มาถ่ายทอดสู่วงกว้างมากที่สุดเท่าที่กำลังของคนคนหนึ่งจะทำได้

สร้างห้องเรียนธรรมชาติ

การทำงานอนุรักษ์มีหลายรูปแบบ แต่สำหรับครูกตแล้ว เขาเชื่อว่า การสร้างกระบวนการเรียนรู้แก่เด็กและเยาวชนนั้นสำคัญที่สุด ซึ่งหนทางที่จะทำให้ฝันเป็นจริงก็คือ เขาต้องเป็น ‘ครู’

หากแต่ห้องเรียนของครูกตนั้นไม่ใช่ห้องสี่เหลี่ยมแบบที่เราคุ้นเคย แต่เป็นห้องเรียนธรรมชาติ ที่โอบล้อมด้วยป่าเขาและธรรมชาติ โดยมีครูผู้ช่วยเป็น ‘ครูช้าง’ ตัวโต

ด้วยคิดว่า หากสอนการอนุรักษ์ตามตำรา ในที่สุดผลลัพธ์ที่ออกมาก็คงไม่ต่างจากเดิม แต่ถ้าพาเด็กๆ ไปซึมซับธรรมชาติโดยตรง พวกเขาก็จะรู้สึกสนุก ไม่เบื่อ แถมยังช่วยบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ของความรักสิ่งแวดล้อมให้เติบโตขึ้นในใจได้ง่ายอีกด้วย

เมื่อคิดแล้ว ครูกตก็ลงมือทำทันที ด้วยการออกเดินทางไปเยี่ยมเยียนเด็กๆ ในพื้นที่ป่ารอบเขาใหญ่ แต่เขาไม่ได้ไปเพียงลำพัง แต่ยังเช่าช้างที่ว่างจากการหากินแล้วพาขึ้นรถสิบล้อตระเวนไปด้วย

ช่วงแรกๆ ที่ไปถึงก็ต้องยอมรับว่า คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเข้าใจ แต่พอนานวันทั้งคู่ก็กลายเป็นขวัญใจของเด็กๆ ในห้องเรียนของพวกเขาเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่า คือเด็กที่มาร่วมเรียนนั้น ยังมีเด็กออทิสติก เด็กตาบอด เด็กพิการซ้ำซ้อนปะปนอยู่ด้วย 1-2 คน

ครูกตได้เห็นว่า เด็กๆ เหล่านี้ควรได้รับโอกาสในการเรียนรู้เช่นเดียวกับเด็กทั่วไป เพียงแต่อาจต้องใช้วิธีการที่ต่างออกไปบ้าง ซึ่งห้องเรียนธรรมชาติและครูช้างมีกิจกรรมที่หลากหลาย ตั้งแต่การสัมผัสช้าง ให้อาหารช้าง เล่นน้ำกับช้าง ซึ่งก็น่าจะมีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ สมาธิ ทักษะความคิด ความทรงจำ รวมถึงการเคลื่อนไหวและฝึกกล้ามเนื้อของเด็กได้ไม่น้อย

โดยเฉพาะเด็กตาบอด ซึ่งที่ผ่านมาเคยแต่ร้องเพลงช้างที่ว่า ‘มีหูมีตาหางยาว’ แต่ไม่เคยพิสูจน์มาก่อนว่าที่ร้องอยู่นั้นมันจริงหรือเปล่า ก็จะได้มีโอกาสสัมผัสกับช้างตัวเป็นๆ ก็ตอนนี้เอง

เมื่อเวลาผ่านไป นักเรียนของครูกตก็เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ครูช้าง ก็กลายเป็นคุณครูขวัญใจของเด็กๆ เขาก็เลยเริ่มถามตัวเองว่า แทนที่จะตะลอนทัวร์แบบนี้เรื่อยๆ ควรจะหาสถานที่สักแห่งเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้และทำกิจกรรมกับเด็กๆ อย่างจริงจังไปเลย

ครูกตจึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษา อาจารย์โต้ง-ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ซึ่งขณะนั้นเป็นสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งอาจารย์ก็เห็นความมุ่งมั่นของครูกต จึงสนับสนุนและร่วมก่อตั้ง ‘ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย เขาใหญ่’ และกองทุนวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทย ภายใต้การดูแลของมูลนิธิพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

“ตอนนั้นเมื่อเดือนกันยายน 2547 เราได้ศิลปินเพื่อชีวิต อย่างน้าหงา คาราวาน (สุรชัย จันทิมาธร), น้าสีเผือก (อิศรา อนันตทัศน์), น้าหมู-พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ, พี่ๆ วงคาราบาว และพี่ปู -พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ มารวมตัวเล่นคอนเสิร์ตหาเงินระดมทุน ชื่อคอนเสิร์ตร่วมมือ ร่วมใจ เพื่อช้างป่าไทย เล่นที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี โดยมีสถานีโทรทัศน์ไอทีวี มาช่วยถ่ายทอด จนตั้งกองทุนได้”

เมื่อทุกอย่างลงตัว ภารกิจของครูกตก็เริ่มขึ้น..

อย่างแรกเลยคือ การหาครูช้างประจำศูนย์ เนื่องจากที่ผ่านมาเขาใช้วิธีเช่าช้างจรมาตลอด ซึ่งช้างตัวแรกที่มาอยู่ด้วยกัน ก็คือ ‘พลายทองอินทร์’

“การพบกันของผมกับพลายทองอินทร์เหมือนเป็นโชคชะตา ตอนที่บังเอิญเจอกับพลายทองอินทร์ เขาอยู่ในสภาพแย่มาก สุขภาพทรุดโทรม กำลังจะถูกขายไปฆ่าเพื่อเอางา ผมเลยเจรจาขอซื้อมา รักษาอยู่ปีกว่า จนอาการดีขึ้น พลายทองอินทร์ก็มาเป็นครูช้าง”

จุดเด่นของพลายทองอินทร์คือ เป็นช้างเพศผู้ที่มีความอดทน ใจเย็น ค่อนข้างเชื่อง สงบเสงี่ยม เวลาอยู่กับเด็กๆ ก็ไม่เคยแสดงอาการหงุดหงิดหรือเกรี้ยวกราดเลย ซึ่งเป็นข้อดีของช้างตัวผู้ที่หายากมาก ไม่แปลกเลยที่ครูช้างตัวใหม่นี้จึงกลายเป็นที่รักของลูกศิษย์ตัวน้อยตลอดมา

“ทองอินทร์มีแฟนคลับเยอะ มีนักเรียนมาเรียนกับทองอินทร์หลายรุ่น บทเรียนที่พลายทองอินทร์ออกมายืนร่วมสอนกับเรา ก็มีตั้งแต่การอนุรักษ์ช้าง พาเด็กเดินป่า บางครั้งก็สอนวิธีอาบน้ำให้ทองอินทร์เพิ่มเติม ตอนนั้นเรานำทองอินทร์ไปสอนทุกกลุ่มเลย แม้แต่ช่วงมีอาการตกมันเขาก็ยังสอนเด็กได้เหมือนเดิมนะ อยู่กับเด็กตาบอด เด็กออทิสติกได้ ไม่เป็นอันตรายเลย”

แต่แล้ววันหนึ่งก็มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อครูทองอินทร์ล้มป่วยกะทันหัน และตายลง เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2555 นำความโศกเศร้ามาให้ครูกตและเหล่าลูกศิษย์เป็นอย่างยิ่ง

แต่ถึงช้างตัวโปรดจะจากไป ครูกตก็อยากให้ทองอินทร์เป็นประโยชน์ต่อการศึกษามากที่สุด จึงนำโครงกระดูกมาใช้เป็นอุปกรณ์เรียนรู้เรื่องกายวิภาคช้าง สอนนักเรียนรุ่นถัดๆ ไป

ส่วนครูช้างตัวใหม่ที่มาทดแทนนั้น ครูกตได้ช้างตัวเมียวัย 55 ปีชื่อ พังคำมูล จากเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เดิมทีเป็นช้างลากซุง พอแก่ตัวก็ถูกผลักไปเป็นช้างรับนักท่องเที่ยว ด้วยความสงสาร ครูกตจึงยอมซื้อมา แม้ราคาสูงพอสมควร

พอผ่านมาได้ 7 วัน ช้างก็เริ่มมีอาการซึมและแย่ลง ปัสสาวะกะปริบกะปรอย กินอาหารได้น้อย ไม่ยอมล้มตัวนอน มีอาการบวมบริเวณฝีเย็บใต้ทวารหนัก ครูกตจึงนำส่งโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปรากฏว่าเป็นนิ่วก้อนโต คาดว่าเป็นผลมาจากการแท้งลูก และพอผ่าออกมาก็พบก้อนหินปูนถึง 162 ก้อน น้ำหนักรวมกันกว่า 8 กิโลกรัม ต้องใช้เวลารักษาและฟื้นฟูเกือบ 2 ปีจึงหายดี

พังคำมูลไม่เพียงเป็นช้างนักสู้เท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่ ‘ครูช้าง’ ได้ดี ไม่แพ้ครูทองอินทร์

“เคยมีเด็กตาบอดมาเล่นกับเขา เหมือนคำมูลจะรู้ว่าเป็นเด็กตาบอด เขาก็จะยืนนิ่งๆ ปล่อยให้เด็กลูบตัวไป หรือหลายครั้งที่มีน้องออทิสติกมาเล่นด้วย เราก็พบว่าเด็กจะมีพัฒนาการค่อนข้างดีเมื่อได้อยู่กับช้างเชือกนี้ ต่างจากช้างเชือกอื่นที่อาจไม่ชอบเวลามีเด็กมายืนข้างหน้า และพยายามใช้งวงตบ หรือหลบหลีก แต่ป้าคำมูลกลับเข้ากับเด็กได้ดี สำหรับเรา เขาถือเป็นครูคนหนึ่งของเด็กๆ

“กิจกรรมที่ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้จากครูช้าง นอกจากความรู้ ยังเป็นการส่งเสริมความอ่อนโยนให้กับเด็กๆ เวลาที่เขาได้รับรู้เรื่องราวของป้าคำมูล ที่เคยป่วยหนักและแท้งลูกมาแล้ว ทำให้เกิดความเมตตาและความสงสาร เพราะฉะนั้นมือเล็กๆ ที่เขาป้อนกล้วย ป้อนข้าวโพดให้ จึงเป็นมือแห่งความปรารถนาดี”

อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายที่ตอนนี้ ป้าคำมูลได้จากไปแล้ว แต่ก็ยังเหลือ ‘พลายขวัญเมือง’ ซึ่งลูกศิษย์ช่วยกันไถ่ชีวิตมา เพื่อเป็นครูช้างของเด็กๆ อีกเชือกหนึ่ง

สำหรับครูกตแล้ว ช้างคือสัตว์ที่เขาตกหลุมรักแบบถอนตัวไม่ขึ้น และขอเลือกใช้ทั้งชีวิตอุทิศตัวเพื่อสัตว์คู่บ้านคู่เมืองชนิดนี้ต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง

จุดเริ่มต้นในการทำงานเกี่ยวกับช้างของผม มาจากความชอบช้างอยู่แล้ว ต่อมาได้รับมอบหมายจากผู้ใหญ่ แต่พอทำไปเรื่อยๆ ก็ไ้ด้ข้อสรุปกับตัวเองที่ทำให้ยังทำงานเกี่ยวกับช้าง เพราะช้างเป็นสัตว์ที่มีความสําคัญสำหรับสังคมไทย มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ที่สำคัญ ยิ่งได้คลุกคลีก็ยิ่งค้นพบว่า นอกจากจะมีอีกหลายปัญหาที่ต้องเข้าไปจัดการและทำงานเชิงอนุรักษ์แล้ว ยังมีความรู้เกี่ยวกับช้างอีกมากมายที่ต้องเข้าไปศึกษา และถ่ายทอดให้สังคม

จากห้องเรียนเรื่องช้างสู่สิ่งแวดล้อมศึกษา

นอกจากการตั้งศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย เขาใหญ่ มาเป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างความเข้าใจเรื่องช้างแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ครูกตสัมผัสได้จากการทำงานอนุรักษ์มายาวนานคือ ทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ล้วนเชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน ทั้ง คน สัตว์ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งการที่จะทำให้เด็กและเยาวชนเข้าใจสิ่งเหล่านี้ก็ต้องทำให้เห็นก่อนว่า แต่ละเรื่องนั้นเชื่อมโยงกันอย่างไร

ด้วยเหตุนี้เอง ครูกตจึงเริ่มบุกเบิกศาสตร์ใหม่ที่เรียกว่า ‘สิ่งแวดล้อมศึกษา’ ด้วยการทำค่ายเล็กๆ พร้อมกับชักชวนเด็กๆ ร่วมร้อยชีวิตมาซึมซับถึงวิถีในธรรมชาติที่แท้จริง จากนั้นจึงค่อยๆ ต่อยอดและพัฒนาจนเป็นหลักสูตรการเรียนรู้ที่ครอบคลุมทั้ง ป่าไม้ ทรัพยากรทางทะเล สังคม และชุมชน

“หัวใจหลักของสิ่งแวดล้อมศึกษา คือการเปลี่ยนจิต เปลี่ยนความคิดของมนุษย์ เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์และการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสอดคล้องและสมดุลในระยะยาว โดยเริ่มตั้งแต่ การรับรู้สถานการณ์ว่าทำไมถึงต้องมีการอนุรักษ์ จากนั้นก็เรียนรู้ สร้างจิตสำนึกว่า เขาควรต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น พอคิดได้แล้วก็เริ่มลงมือทำ ปฏิบัติให้เห็นผล โดยต้องไม่ลืมประเมินว่า สิ่งที่ทำลงไปนั้น ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบอย่างไรบ้าง”

กิจกรรมของสิ่งแวดล้อมศึกษานั้นมีหลากหลาย เป็นแนวคิดแบบสหวิชาที่รวมหลายๆ ศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน และทำให้เด็กได้เรียนรู้ว่า ในโลกกว้างของธรรมชาตินั้นมีอะไรอยู่บ้าง ทั้งเรื่องในป่า ก็มีตั้งแต่เรื่องช้าง ผีเสื้อและแมลง สัตว์เลื้อยคลาน วานรวิทยา นกกระเรียน โดยในแต่ละเรื่องก็มีหลักสูตรและเนื้อหาลงลึกไปอีก เช่น ช้าง ก็อธิบายตั้งแต่ สรีรวิทยา ศัพท์ที่เกี่ยวกับช้าง พฤติกรรมของช้าง การตกมัน อาหาร ช้างป่ากับช้างบ้านแตกต่างกันอย่างไร วิธีการอนุรักษ์ช้าง การบังคับช้าง หรือแม้แต่ประวัติศาสตร์ช้างไทย แล้วก็ยังมีการผสมผสานกิจกรรมต่างๆ เช่นเดินป่า สำรวจแหล่งน้ำ

เช่นเดียวกับกิจกรรมที่เกี่ยวกับทะเล ครูกตก็หยิบเรื่องราวของพะยูน เต่าทะเล ปลาชนิดต่างๆ มาถ่ายทอดให้เด็กๆ ฟัง พร้อมกับชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรใต้น้ำ อย่างปะการัง ทำไมถึงต้องอนุรักษ์ เหตุผลง่ายๆ ก็เพราะที่นี่คือบ้านหลังแรกของสัตว์น้ำ เป็นแหล่งอาหารของบรรดาสัตว์น้ำวัยอ่อน นี่ยังไม่รวมไปถึงการดำน้ำ การถ่ายภาพใต้ทะเล เพื่อให้เข้าใจโลกกว้างมากยิ่งขึ้น

“หลายคนถามผมว่า ทำไมศูนย์ช้างฯ ถึงทำกิจกรรมแบบนี้ด้วย เพราะผมมองว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสหสาขาวิชา ที่สังคมจะต้องเข้าใจ เรื่องราวของป่านั้นสัมพันธ์กับทะเล ทะเลต้องการป่า ป่าก็ต้องการทะเล ถ้าเราสามารถทำให้ผู้คนที่เข้าใจเรื่องป่า เข้าใจทะเลได้ ก็น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์กับสังคม

ผมเคยคุยกับอาจารย์ไกรศักดิ์ว่าผมทำหลายโปรแกรมก็จริง แต่ทุกกิจกรรมล้วนเป็นประโยชน์กับสังคม อย่างเรื่องของทะเล ด้วยความที่เป็นผมเป็นนักดำน้ำ มีใบประกาศที่สามารถเป็นผู้สอนได้ ผมเองก็อยากถ่ายทอดความรู้ให้เด็กๆ เลยมีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับทะเล เพื่อเรียนรู้เรื่องเกาะ เรื่องสัตว์ทะเลหายาก นอกเหนือไปจากการเรียนเรื่องช้างและป่า

แต่ไม่ว่าจะออกแบบหลักสูตรมากมายเพียงใด สิ่งหนึ่งที่ครูกตยังคงคิดอยู่เสมอก็คือ ไม่ควรทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดังนั้นในหลักสูตรสิ่งแวดล้อมศึกษาของเขา จึงประกอบด้วยเด็กอนุบาล เด็กประถม เด็กมัธยม เด็กตาบอด เด็กออทิสติก เด็กพิการซ้ำซ้อน นักศึกษามหาวิทยาลัย รวมทั้งบุคคลทั่วไป เพราะเขาเชื่อว่า คนทุกคนไม่ว่าจะวัยหรือสภาพร่างกายเป็นอย่างไร ก็ควรมีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้และเข้าถึงธรรมชาติอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อปลุกหัวใจของการเป็นนักอนุรักษ์ขึ้นมา

การได้สัมผัสกับเด็กหลายกลุ่ม หลายวัย ทำให้ครูกตสามารถพัฒนาศักยภาพของเด็กบางคนให้ได้ไกลกว่าที่ใครหลายคนคิด หนึ่งในนั้นคือ การผลักดันให้เด็กตาบอดมีโอกาสได้ลองเล่นดนตรี และนำไปสู่การตั้งวงดนตรีที่ชื่อ Thai Blind Orchestra หรือ TBO

จุดเริ่มต้นของการทำวงดนตรี เกิดขึ้นเมื่อปี 2554 เพราะครูกตสีไวโอลินให้เด็กพิการจำนวน 15 คน จากโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดและคนตาบอดพิการซ้ำซ้อน ลพบุรี ที่มาทำกิจกรรมที่ศูนย์ฯ ฟัง จนเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กเหล่านี้อยากลองเล่นดนตรีดูบ้าง

“มีวันหนึ่งเด็กๆ ตาบอดที่มาทำกิจกรรมที่ศูนย์ฯ หลายครั้งแล้ว จูงมือกันมาบอกผมว่าอยากให้ผมช่วยสอนไวโอลิน ผมก็คิดในใจว่าเอายังไงดี เครื่องดนตรีก็มีอยู่แค่ 2 เครื่อง เลยบอกให้เด็กๆ ไปลองถามเพื่อนๆ ที่เหลือดูว่า ยังมีใครที่อยากจะเรียนอีกหรือเปล่า”

ในตอนนั้นครูกตสารภาพตามตรงว่า ไม่คิดว่าพวกเขาจะอยากเล่นจริงจัง กระทั่งตอนหลังเด็กๆ ก็เริ่มทวงสัญญาว่าเมื่อไหร่ครูจะสอนสักที

“พอเห็นเด็กๆ เอาจริง ผมก็ต้องเดินหน้า บอกพวกเขาว่า ขอเวลาเตรียมตัว คราวหน้ามาเจอกัน ไม่ต้องเรียนเรื่องช้าง มาเล่นดนตรีกัน ระหว่างนั้นผมก็ต้องตามหาเพื่อนนักดนตรีให้มารวมตัวกันที่เขาใหญ่ เพื่อให้มาช่วยเป็นพี่เลี้ยง”

ผลปรากฏว่า เพื่อนๆ จากทุกสารทิศ ทั้งเชียงใหม่ หาดใหญ่ และกรุงเทพฯ ต่างเดินทางมาที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย เขาใหญ่ พร้อมทั้งนำเครื่องดนตรีมาด้วย ตอนนั้นนอกจากไวโอลิน 20 กว่าตัวแล้ว ก็ยังมีเชลโล่ ดับเบิ้ลเบส วิโอล่า เรียกว่ามีเครื่องดนตรีชิ้นหลักของเครื่องสายตะวันตกครบครัน

ส่วนตัวผมเองก็ทำการบ้านอย่างหนัก พยายามหาวิธีว่าจะสอนเด็กตาบอดเล่นดนตรีอย่างไร เพราะอักษรเบรลล์มีมานานเป็นร้อยปีก็จริง แต่ยังไม่เคยมีใครนำอักษรเบรลล์มาทำเป็นโน้ตดนตรีตะวันตก ผมก็ลองผิดลองถูกอยู่หลายวิธี เอาตำราคนตาดีมาทำเป็นเวอร์ชันคนตาบอด ปรากฏว่าไม่เวิร์ก

ช่วงแรกๆ ชั้นเรียนดนตรีของครูกต จึงเน้นไปที่การจัดท่าทางของเด็กๆ ให้ถูกต้อง ซึ่งการพัฒนาโน้ตดนตรีสำหรับคนตาบอดว่าโหดแล้ว หนทางที่จะได้เครื่องดนตรีมาให้ครบตามจำนวนเด็กๆ ก็ไม่หมู

“ผมใช้วิธีประกาศลงเฟซบุ๊ก เพื่อขอรับบริจาคเครื่องดนตรีมาให้เด็กๆ ผ่านไปเดือนครึ่ง มีเครื่องดนตรีถูกส่งมาจากทั่วประเทศประมาณ 50 เครื่อง ในจำนวนนี้ ก็มีทั้งเครื่องดนตรีเก่าที่ไม่ใช้แล้ว บางเครื่องก็อาจจะพัง เราก็เอามาซ่อม”

พอได้เครื่องดนตรีแล้ว ครูกตก็หาอาสาสมัครจากนักศึกษาในคณะดุริยางคศาสตร์ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ มาเป็นผู้ช่วยในการสอน เพราะอย่าลืมว่าเด็กตาบอดมองไม่เห็น ดังนั้น ต้องมีผู้ช่วยเข้าไปประกบเด็กแต่ละคน เพื่อช่วยดูว่าวางมือ วางนิ้ว หรือจับเครื่องดนตรีถูกต้องหรือไม่

ส่วนโน้ตเพลงก็ค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ จูน จนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ สามารถทำโน้ตเพลงให้เด็กๆ จนทำเป็นตำราโน้ตเพลงอักษรเบรลล์ที่สามารถสอนผู้พิการทางสายตาได้

แม้นี่จะเป็นบททดสอบที่ทั้งยากและท้าทายไม่น้อย แต่การได้เห็นเด็กตาบอดมีรอยยิ้ม มีความสุข และสามารถเล่นดนตรีได้แม้ดวงตาจะมองไม่เห็น ก็เป็นความอิ่มเอมที่เหนือคำบรรยายของครูคนหนึ่งแล้ว

ที่สำคัญคือ เหล่าสมาชิกวง TBO ยังมีโอกาสได้จัดแสดงคอนเสิร์ตหลายหน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมทั้งเป็นที่สนใจของสำนักข่าวต่างประเทศ อย่าง BBC และ Al Jazeera

กระทั่งเมื่อปี 2561 ก็ได้มีการเปลี่ยนชื่อวงเป็น Thai Blind Symphony Orchestra หรือ TBSO โดยมีมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทยฯ เข้ามาช่วยสนับสนุน ทั้งการขยายโอกาสไปสู่โรงเรียนอื่นในสังกัด รวมถึงการจัดหาครูที่มีความสามารถมาสอนเด็ก เพื่อยกระดับความสามารถของวงให้ดีขึ้น ซึ่งก็สอดคล้องกับเป้าหมายของครูกตที่อยากเห็นเด็กตาบอดได้รับโอกาสมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เด็กตาบอดมีความสามารถเรื่องการฟัง ทุกคนน่าจะช่วยกันดูแล คนส่วนใหญ่มักไปติดที่เรื่องความแปลกของวงนี้ แต่เราหวังผลระยะยาวมากกว่า เพราะเราอยากให้เด็กรุ่นใหม่เข้ามาแทนเด็กรุ่นเก่าซึ่งจะเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัย ในคณะดุริยางคศาสตร์ แล้วกลับมาเป็นครูสอนในโรงเรียนคนตาบอดต่อไป นี่คือสิ่งที่ผมหวังเอาไว้ แต่ทั้งหมดต้องเริ่มจากการสนับสนุนอย่างจริงจังของคนในสังคมไทยเสียก่อน

หัวใจหลักของสิ่งแวดล้อมศึกษา คือการเปลี่ยนจิต เปลี่ยนความคิดของมนุษย์ เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์และการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสอดคล้องและสมดุลในระยะยาว

อลงกต ชูแก้ว : ครูนักอนุรักษ์ที่อุทิศทั้งชีวิต เพื่อธรรมชาติที่ยั่งยืน

อุทิศชีวิตสานต่อภารกิจ

แม้ทุกวันนี้ภารกิจหลักของครูกตอยู่ในด้านการศึกษา แต่การอนุรักษ์และดูแลช้างก็เป็นสิ่งที่เขาไม่เคยละทิ้ง โครงการสำคัญหนึ่งที่เขาบุกเบิก คือ รถพยาบาลช้างคันแรกของประเทศไทย เพราะที่ผ่านมา เขาพบว่า การเคลื่อนย้ายช้างป่วยหรือบาดเจ็บไปรักษาต่อนั้นเป็นเรื่องยากมาก

หลายครั้งที่ช้างต้องตายไป เพราะไปถึงมือหมอไม่ทันเวลา แถมการขนย้ายแต่ละครั้งก็ลำบากมาก ต้องใช้ทุนทรัพย์หลักหลายหมื่นบาท รถรับจ้างที่หาได้ก็ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อบรรทุกสัตว์ตัวโตแบบนี้ จนบางครั้งก็มีกรณีที่รถบรรทุกช้างเกิดพลิกคว่ำก่อนถึงโรงพยาบาล

เมื่อสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ ครูกตจึงมีไอเดียว่า หากเมืองไทยมีรถคอยรับส่งช้างป่วยเป็นเรื่องเป็นราวก็คงจะช่วยปลดล็อกปัญหานี้ไปได้มาก และนั่นเองที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการระดมทุนขายเสื้อยืด ‘ฉันช่วยช้างไทย’ เมื่อปี 2557 เพื่อนำรายได้ทั้งหมดไปซื้อรถสิบล้อเพื่อเป็นโรงพยาบาลช้าง

“ขายเสื้ออยู่ปีกว่า ได้เงินมาจำนวนหนึ่ง ก็ตั้งใจจะไปดาวน์รถก่อน เพราะเงินที่ได้ยังไม่พอซื้อ บังเอิญว่าทางบริษัทฮีโน่ (ประเทศไทย) เห็นถึงความตั้งใจ เลยมอบรถสิบสองล้อให้คันหนึ่ง แล้วให้นำเงินที่มีไปปรับปรุงรถเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งาน ผมเป็นคนออกแบบเองทั้งหมด พอออกแบบเสร็จก็ตั้งใจว่าจะเก็บพิมพ์เขียวไว้ เผื่อว่าถ้ามีใครคิดจะทำรถพยาบาลช้างคันต่อๆ ไป ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้”

จุดเด่นของรถคันนี้คือ มีสะพานท้ายไฮดรอลิกที่มีความลาดชันที่เหมาะสมกับช้าง และราวกั้นป้องกันช้างตก แถมยังมีรอกไฟฟ้าด้านหน้าสำหรับใช้ในการลากตัวรถขึ้นจากหลุม ในกรณีที่เข้าไปในป่าแล้วติดหลุมไม่สามารถขึ้นได้ และหากไม่ได้บรรทุกช้างก็ยังสามารถปรับเปลี่ยนเป็นรถขนอุปกรณ์อเนกประสงค์ได้

ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ รถคันนี้สร้างขึ้นจากความร่วมไม้ร่วมมือของคนเล็กคนน้อย ที่มองเห็นปัญหาของสังคม และอยากช่วยกันแก้ไขให้สถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งพอรถพยาบาลช้างออกทำงานก็ได้รับความร่วมมือและความใส่ใจจากผู้คนรอบข้างเป็นอย่างดี

“เวลาคนเห็นรถพยาบาลช้าง เขาหลบให้นะ จำได้ว่ามีอยู่ครั้งหนึ่ง เราไปรับช้างจากโรงพยาบาลกลับบ้าน เพราะคุณหมอเขาอยากให้ช้างกลับไปอยู่กับควาญ แต่ช่วงนั้นเป็นช่วงปีใหม่ รถก็ติดมาก ออกจากกรุงเทพฯ จะไปอยุธยา แต่ภาพที่เกิดขึ้นคือ รถที่ติดๆ กันอยู่นั้น เขาหักหัวออกไปทางด้านข้าง เพื่อเปิดตรงกลางให้โล่ง เหมือนพัดเลย เพื่อเปิดทางให้รถพยาบาล ซึ่งสำหรับผมนี่เป็นภาพที่น่าประทับใจมาก และเรายังได้เห็นน้ำใจของผู้คนที่พร้อมจะดูแลชีวิตอื่นๆ ไม่ใช่เฉพาะคนเท่านั้น”

จากรถคันแรก ก็เริ่มมาสู่รถคันต่อๆ มา โดยคันที่ 2 นั้นเป็นผลงานของคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ซึ่งสร้างจากพิมพ์เขียวที่ครูกตเขียนไว้ให้

“ตอนนี้ประเทศไทยมีรถพยาบาลช้างแล้ว 3 คัน อย่างคันที่ 3 ก็รู้สึกจะเป็นพรรคพวกเครือข่ายช่วยกันสร้าง ซึ่งสำหรับผมแล้วนี่เป็นเรื่องน่าดีใจ ที่ได้เห็นนวัตกรรมเล็กๆ ที่พวกเราช่วยกันสร้างขึ้น ได้ขยายผลไปสู่สังคมในวงกว้าง ไม่แน่วันหนึ่งเราอาจจะมีรถพยาบาลคันที่ 5 หรือ คันที่ 10 ซึ่งก็หมายความว่าช้างจะมีหลักประกันมากขึ้น ถ้าเกิดป่วยขึ้นมาก็มีรถพยาบาลช้าง

“ช่วงก่อนจะเกิดโรคระบาด เรามีปางช้างเต็มไปหมดเลย ทั้งกระบี่ ภูเก็ต พังงา สุราษฎร์ธานี โอกาสจะเกิดอุบัติเหตุหรือช้างจะเจ็บป่วยมีเยอะ ตอนนั้นผมก็ส่งรถไปสนับสนุน องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ โรงพยาบาลช้างภาคใต้ ไปสแตนด์บาย 6-7 เดือนเลย เกิดเหตุที่ไหนเราช่วยหมด เข้าป่าลึกแค่ไหนก็ได้ ขอให้ช้างปลอดภัย หรือต่อให้เสียชีวิตไป อย่างน้อยเราก็พยายามเต็มที่ เพราะการที่รถพยาบาลช้างจะวิ่งต่อไปได้ก็ต่อเมื่อได้รับการสนับสนุนจากสังคม เพราะต้องยอมรับว่า การใช้งานรถพยาบาลช้างนั้นมีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งค่าน้ำมัน ค่าบำรุงรักษา หากเราไม่สามารถปฏิบัติภารกิจที่เป็นประโยชน์ได้ สุดท้ายคนก็คงไม่สนับสนุน”

ด้วยหลักคิดเช่นนี้เอง ในขณะที่เมืองไทยตกอยู่ภาวะโรคระบาด การท่องเที่ยวหยุดชะงัก ปางช้างต่างพากันปิดตัว เพราะไม่มีผู้ชม ไม่มีรายได้ ครูกตและรถพยาบาลช้างจึงไม่เคยหยุดและยังคงเดินหน้าช่วยเหลือช้างและผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยากอย่างต่อเนื่อง

“พอเห็นว่าทั้งคนและช้างลำบาก ผมก็ประกาศรับบริจาคในนามกองทุนวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทย เพื่อนำข้าวสารอาหารแห้งไปช่วยควาญช้างและช้าง โดยเน้นช้างกลุ่มเปราะบาง อย่างช้างชรา ช้างแม่ลูกอ่อน ช้างพิการ หรือ ช้างที่ป่วยก่อน ปรากฏว่า ความช่วยเหลือหลั่งไหลมาล้นหลาม เพียงแค่ 3 เดือน เราใช้รถพยาบาลช้างขนข้าวสารไป 45 ตันแล้ว”

นอกจากช่วยช้างและควาญช้าง ครูกตยังปันน้ำใจไปถึงพี่น้องชาวเล กลุ่มมอแกน กลุ่มอูรักลาโว้ยโดยนำอาหารไปให้ หรือพอเห็นว่ามีโครงการข้าวชาวนา แลกปลาชาวเลก็ได้รถพยาบาลช้างคันนี้ไปช่วยบรรทุกขนข้าวเปลือกให้

ตลอด 30 ปีบนเส้นทางนักอนุรักษ์ ครู และผู้ขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมศึกษา ครูกตบอกว่า ได้ทำเกือบทุกอย่างครบถ้วนตามที่ตั้งใจแล้ว ทั้งการส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติ และการคุ้มครองช้างไทย โดยอาศัยการมีส่วนร่วมและเน้นการสร้างองค์ความรู้ให้แก่สังคม

เพราะฉะนั้นหากวันใดวันหนึ่งครูกตต้องจากโลกนี้ไป เขาก็เชื่อเสมอว่า องค์ความรู้เหล่านี้ก็ยังคงอยู่ และเกิดการขยายต่อไปเรื่อยๆ

“ทุกอย่างที่ทำยังทำเพื่อเป้าหมายเดิม แต่ไม่หยุดคิดและพัฒนา ทุกวันนี้ผมมีความสุขที่ได้คิดค้นอะไรใหม่ๆ ไม่ได้เกิดจากการไปลอกเลียนแบบ หรือเอาลิขสิทธิ์ใครมา ตอนนี้ผมกำลังพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ เพราะเราไม่รู้ว่าสถานการณ์ของโรคระบาด จะเป็นอย่างไรต่อไป ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ คือ การสร้างแพลตฟอร์มที่ทุกคนยังสามารถเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมศึกษาได้

“อย่างเช่น เอาโดรนขึ้นบินแล้วให้นักเรียนดูสดๆ ผ่านหน้าจอ หรือบางทีไปทะเล ถ้าต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้ก็ถ่ายทอดสดกันบนเกาะเลย หรือถ้าไปดำน้ำตอนเช้า ผมก็จะถ่ายรูปใต้ทะเลขึ้นมาประกอบการเรียนการสอน บางทีก็ไปซื้อปลาจากตลาดมาผ่าปลาสอนนักเรียนกันสดๆ”

นอกจากจะปรับตัวไปสู่การถ่ายทอดความรู้ในรูปแบบออนไลน์ กิจกรรมการเรียนการสอนที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย เขาใหญ่ก็ยังคงรักษาอยู่บ้าง แต่อาจจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อให้ที่นี่ยังคงเป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่เปี่ยมด้วยการเรียนรู้และกิจกรรมต่างๆ เหมือนเช่นเคย

เพราะสำหรับชายผู้นี้ เขาได้ค้นพบว่า นี่คือหนทางแห่งความสุขของชีวิตที่แท้จริง ซึ่งไม่ว่าทรัพย์สินเงินทองใดๆ ก็ไม่สามารถหาซื้อได้ แต่ต้องอาศัยความเชื่อ ความศรัทธา และความทุ่มเทแลกมาเท่านั้น

“การที่คนเราได้ทำในสิ่งที่เป็นเป้าหมายของชีวิตอยู่ตลอดเวลา ชีวิตนี้ก็เหมือนได้อยู่กับความสุขแล้ว ถึงแม้ว่าจะมีตัวแปรที่ทำให้เกิดความหวั่นไหวบ้าง ก็เป็นธรรมดา ความสุขในชีวิตผม คือการได้มีโอกาสทำในสิ่งที่รัก ได้ทำงานอนุรักษ์ ได้อยู่กับผู้คนที่รักกัน ไม่คิดร้ายต่อกัน จะปีนี้หรือปีหน้าผมก็ขอเป็นแค่นี้ก็พอแล้ว จะเกิดอีกกี่ชาติ ถ้าเป็นไปได้ก็ขอเป็นแบบนี้”

และทั้งหมดนี้ คือ เรื่องราวของครูกต ครูนักอนุรักษ์ผู้ทำให้ผืนป่า และ ช้าง สิ่งมีชีวิตตัวใหญ่ดูเล็กลงไป เมื่อเทียบกับหัวใจของผู้ชายคนนี้..

โครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก

คนเล็กเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 30 บุคคลผู้สร้างสังคมที่ยั่งยืน และช่วยกันสร้างคุณค่าสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นประเทศ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

อลงกต ชูแก้ว คือบุคคลต้นแบบประเด็นสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพ อย่างครอบคลุม เท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (SDGs ข้อที่ 4), ประเด็นลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ (SDGs ข้อที่ 10), ประเด็นปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริม การใช้ระบบนิเวศบนบกและการจัดการป่าอย่างยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 15)

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.