เพชร โอสถานุเคราะห์ : เพียงชายคนนี้ ผู้สร้างสรรค์งานเพลงที่ไร้กาลเวลา

<< แชร์บทความนี้

ชีวิตของ เพชร โอสถานุเคราะห์ มีมากมายหลายบทบาท

ในมุมหนึ่งเขาคือทายาทรุ่น 4 ของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง โอสถสภา ผู้พาธุรกิจเก่าแก่แห่งนี้เดินหน้าเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์

อีกมุมหนึ่ง เขาคืออธิการบดีสุดจี๊ดจ๊าดที่พลิกโฉมมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จนกลายเป็นสถาบันการศึกษาที่เปี่ยมด้วยความครีเอทีฟ

สำหรับบางคน เขาเป็นนักโฆษณาฝีมือดีที่อัดแน่นไปด้วยไอเดีย และความคิดที่ล้ำสมัย แหวกแนวไม่เหมือนใคร

แต่ไม่ว่าเขาจะยืนอยู่ในฐานะใดก็ตาม คงไม่มีบทบาทใดที่เด่นชัด และอยู่ในความทรงจำของผู้คนเท่ากับการเป็นศิลปิน โดยเฉพาะผลงานสุดโรแมนติก ‘เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ)’ เพลงปิดท้ายอัลบั้ม ‘ธรรมดามันเป็นเรื่องธรรมดา’ ซึ่งยังคงอยู่ในใจของคนฟังเพลง ข้ามกาลเวลามากว่า 3 ทศวรรษ

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา อยากขอพาทุกคนไปพบกับเรื่องราว และเบื้องหลังเสียงเพลงของ ศิลปินธรรมดา ผู้สร้างสรรค์ผลงานที่ไม่ธรรมดาคนนี้

ชายผู้ไล่ตามฝัน

เพชรใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักแต่งเพลงตั้งแต่เด็กแล้ว 

พออายุ 12 ปี เขาก็เริ่มแต่งเพลงแรกในชีวิต แต่งเสร็จก็ไปเรียกแม่มาฟัง

เมื่อมองย้อนกลับไป เพชรมองว่าผลงานในวันนั้นต้องถือว่า ห่วยมาก แต่ก็เป็นแรงบันดาลใจให้เขาไม่หยุดสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองเรื่อยมา

“ผมไม่เคยร่ำเรียนวิชาการแต่งเพลง สมัยเด็กๆ ก็จับกีตาร์ แกะคอร์ดจาก I.S. Song Hits แล้วก็ชอบแต่งมาตั้งแต่นั้น เล่นนี่ไม่ค่อยพิถีพิถันกันมันเท่าไหร่ เคยเรียนดนตรีหลายรอบ แต่ก็ล้มเหลวทุกที เพราะมันอึดอัด เล่นเองเร็วกว่า”

เพชรแต่งเพลงโดยใช้อารมณ์ ความรู้สึกของตัวเองล้วนๆ ทุกอย่างปล่อยไปตามธรรมชาติ

ตอนอายุ 16 ปี เขาเคยถือกีตาร์โปร่งกับสมุดจดคอร์ดเพลง ไปเล่นให้ค่ายเพลงที่สหรัฐอเมริกาฟัง แต่น่าเสียดายที่ผลงานในเวลานั้นยังไม่เข้าขั้น จึงไม่ได้มีการพูดคุยกันต่อ ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังคงเขียนเพลงต่อไปไม่มีหยุด จนฝีมือพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างเพลง I’m just a man ซึ่งต่อมาถูกแปลงเนื้อเป็นภาษาไทยว่า เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ) เพชรได้แรงบันดาลใจจากความเหงา เพราะต้องไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งเพียงลำพัง โดยภายหลังเขาได้ส่งเพลงนี้เข้าประกวดในงาน Asean popular song festival ครั้งที่ 2 ของ Nite Spot เมื่อปี 2525 พร้อมกับเพลง The damnend songs never stop ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นเพลงหมื่นฟาเรนไฮต์ ของวงไมโคร ผลปรากฏว่า ทั้ง 2 เพลงนี้ได้เข้ารอบลึก ถึงขั้นที่เพชรต้องขึ้นไปร้องโชว์บนเวที

ธรรมดามันเป็นเรื่องธรรมดา

แต่ถึงจะสนุกเพียงใด การแต่งเพลงก็เป็นได้แค่งานอดิเรกเท่านั้น เพราะเพชรมีธุรกิจของครอบครัวต้องรับผิดชอบ กระทั่งในวัย 30 ปี ก็เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อเพชรมองว่า ถึงเวลาแล้วที่เขาต้องนำเสนอผลงานที่เก็บไว้ไปสู่วงกว้างเสียที

“ผมชื่นชอบศิลปินที่แต่งเอง ร้องเอง อย่าง The Beatles หรือ Stevie Wonder และคิดว่าเราต้องทำด้วยความมัน ความสะใจของตัวเอง แล้วก็ต้องร้องเองด้วย ไม่ว่าจะดีจะเลวยังไงก็แล้วแต่ ถึงร้องไม่ค่อยเก่งเท่าไหร่ แต่ต้องขอมันเอาไว้ก่อน แล้วตอนผมเริ่มทำตอนอายุ 30 หากร้องเพลงตอน 40 นี่ตายแน่

“ผมเคยบอกเพื่อนชื่อ อัสนี โชติกุล ตั้งแต่เขายังไม่ออกผลงานเหมือนกันว่า อั๊วต้องทำให้ได้ 1 ชุด เพื่อจะได้นอนตายตาหลับ ออกมาเป็นอัลบั้มในกล่องเรียบร้อย หากผมหัวใจวายก็โอเค ไม่ต้องมีใครขายก็ได้”

เพชรใช้เวลาทำงานชุดนี้นานถึง 3 ปีเต็ม โดยมีจ๊อด-กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา มาช่วยเรียบเรียงให้ 

ภาพที่เขาฝันถึงคือ อยากให้อัลบั้มนี้เป็นเพลงป๊อปที่ทันสมัย เป็นสากล ถ้าลองหลับตา แล้วจะคิดว่าเป็นเพลงฝรั่ง โดยไม่ต้องไปลอกเลียน ก๊อปปี้ทำนองใครมา ส่งผลให้อัลบั้มนี้มีจุดเด่นสำคัญ อย่างการใช้เสียงสังเคราะห์ซินธิไซเซอร์ ซึ่งตลาดเพลงไทยในยุคนั้นแทบไม่มีใครใช้ จนกลายเป็นเพลงอิเล็กทรอนิกส์ที่แปลกแหวกแนว และเป็นเอกลักษณ์ที่ยากจะหาผู้เลียนแบบ

“ผมอยากนำเสนอเพลงไทยที่เป็นสากล แบบว่าคุณเอาไปให้วัยรุ่นที่อังกฤษฟังเดี๋ยวนี้ คุณก็ไม่ต้องไปขายหน้าเขา แล้วผมเคยเอาให้ฟังมาแล้ว และเขาก็ชอบด้วย

“ส่วนเรื่องเนื้อหา เวลาแต่งเพลงผมจะไม่ค่อยเฉพาะเจาะจงมาตั้งแต่ต้นว่าจะแต่งเพลงเกี่ยวกับอะไร มันจะมาเองโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งหลายเพลงคนส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นเพียงวัยรุ่นฉาบฉวย แต่สำหรับผมแล้วไม่ใช่ ผมพยายามมากที่จะเสนออะไรที่มีความลึกซึ้งเท่าที่จะเหมาะสมกับเพลงป๊อป แล้วก็วัยรุ่นยอมรับได้ด้วย อย่างเพลงธรรมดา ไม่ใช่การล้อเลียนพระสงฆ์องค์เจ้าแน่ๆ แต่เป็นการใช้มุกตลกมาดึงเรื่องธรรมดาของไอ้หนุ่มอกหักว่า มันเป็นเรื่องธรรมดา เป็นการเปิดทางให้วัยรุ่น ซึ่งปกติไม่ค่อยสนใจธรรมะได้ชิมอะไรนิดๆ เพราะถ้าคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา มันก็เป็นเรื่องธรรมดา”

หากแต่ความท้าทายคือ การหาค่ายเพลงที่จะมาช่วยทำการตลาด เพราะเพชรไม่ต้องการทำเอง ขายเอง เขาตระเวนไปพูดคุยกับค่ายต่างๆ อยู่ปีหนึ่ง จนมาลงตัวที่แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ซึ่งเป็นค่ายเพลงเกิดใหม่ และนำมาสู่อัลบั้มธรรมดามันเป็นเรื่องธรรมดาซึ่งวางแผงเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2530

ว่ากันว่า ช่วงแรกนั้นเพชรตั้งใจจะใช้ชื่อศิลปินว่า ‘เพชร’ เฉยๆ ไม่ใส่นามสกุล แต่เผอิญปีนั้นเป็นปีที่มีอัลบั้มที่ใช้คำว่า ‘เพชร’ ออกมาเยอะมาก เช่น เพชรน้ำหนึ่ง ซึ่งหากวางแผงไปแล้ว เกรงว่าคนจะสับสน ทางแกรมมี่จึงเสนอว่า ควรจะใช้ชื่อนามสกุลจริงไปเลย ซึ่งเพชรก็ยินยอม

ขณะเดียวกัน เพชรก็ยังเข้าไปช่วยลงทุนในเรื่องการทำมิวสิกวิดีโอ โดยทุ่มเงินส่วนตัวไปถึง 400,000 บาท จนได้ผลงานภาพที่โดดเด่น ล้ำสมัย ไม่เหมือนใคร

หากแต่ในแง่รายได้ ก็ต้องถือว่าไม่สำเร็จเท่าใดนัก หลายคนบอกว่างานของเพชรแปลกเกินไป บ้างก็ล้ำสมัยจนฟังไม่รู้เรื่อง แต่สำหรับเพชร สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญเลย เพราะเขาทำงานเพลงด้วยความสนุก ไม่ใช่เพราะธุรกิจ

เช่นเดียวกับพี่ใหญ่ประจำค่ายอย่าง เรวัต พุทธินันทน์ ที่ไม่คิดเช่นนั้น เต๋อมองว่า ‘ธรรมดามันเป็นเรื่องธรรมดา’ เป็นงานเพลงป๊อปที่ดีมากชุดหนึ่งของเมืองไทย

ยืนยันได้จากการที่ผลงานเพลงชุดนี้ไม่เคยเชย แม้จะผ่านไปนานหลายสิบปีก็ตาม

ที่สำคัญ หลายบทเพลงยังข้ามกาลเวลาได้มาถึงปัจจุบัน ทั้งดิ้นกันไหมลุง ที่ยังคงเปิดในผับได้แบบไม่อายใคร และแน่นอนว่า เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ) เพลงรักสุดโรแมนติกระดับขึ้นหิ้งที่ถูกศิลปินรุ่นน้องคัฟเวอร์มานับไม่ถ้วน ซึ่งทั้งหมดนี้ คือผลจากพลังความสร้างสรรค์และทุ่มเทของชายผู้นี้อย่างแท้จริง

Let's Talk About Love

หลังจากผลงานเพลงวางแผงเรียบร้อย เพชรก็หันไปทำงานอย่างอื่น ทั้งงานบริษัทโฆษณา ทำนิตยสารผู้หญิงวันนี้ ทดลองเขียนเรื่องสั้น วาดภาพศิลปะ รวมถึงเป็นผู้บริหารของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

ไม่มีใครคาดคิดว่า เขาจะหวนกลับมาสู่แวดวงดนตรีอีกครั้ง แต่แล้วในปี 2550 หลังจากอัลบั้มแรกวางแผงครบรอบ 20 ปี เพชรก็ตัดสินใจทำอัลบั้มชุดที่ 2 ของตัวเอง คือ Let’s Talk About Love

เหตุผลที่เพชรหายไปนาน เนื่องจากรู้สึกไม่พร้อม เพราะมองว่าในอัลบั้มธรรมดามันเป็นเรื่องธรรมดานั้นใส่ทุกอย่างเต็มที่แล้ว บวกกับความรู้สึกเบื่อหน่ายขี้เกียจเขียนเนื้อเพลง ทั้งที่เริ่มต้นทำผลงานชุดที่ 2 ไปแล้ว หลังจากชุดแรกผ่านไป 3-4 ปี ที่สำคัญในช่วงนั้นตลาดเพลงไทยเปลี่ยนไป ค่ายเพลงต่างๆ พยายามปั้นแต่นักร้องหน้าตาดีๆ เท่านั้น เขาจึงเลิกฟังเพลงป๊อป และหันไปฟังเพลงแจ๊ส และเพลงคลาสสิกแทน

แต่พอปี 2544 วงการเพลงเริ่มเปลี่ยนอีกครั้ง ศิลปินที่ขายผลงานแท้ๆ เริ่มกลับมามีที่ยืนมากขึ้น เพชรก็เลยเกิดแรงบันดาลใจ เริ่มหันกลับมาเขียนเพลงอีกครั้ง และทำอัลบั้มสำเร็จในอีก 6 ปีถัดมา

สำหรับชุดนี้เขาไม่ได้ทำในนามค่ายใหญ่อีกแล้ว แต่เลือกจะเปิดค่ายของตัวเองชื่อ Petcho โดยยังคงเอกลักษณ์ความล้ำสมัยเหมือนเดิม ตั้งแต่เพลง ปกอัลบั้ม หรือมิวสิกวิดีโอ ซึ่งเชื้อเชิญผู้กำกับมือดี อาทิ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง, เป็นเอก รัตนเรือง, มนชนก สมใจเพ็ง หรือแม้แต่ อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล มาแสดงผลงานกันอย่างเต็มที่ เพราะเขาอยากให้อัลบั้มชุดนี้เป็นเสมือนผลงานศิลปะไร้กาลเวลา สัมผัสกี่ครั้งก็ไม่เคยเบื่อ

มีเพียงตัวเองเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งถ้าเราทำงานออกมาเพียงแค่ว่าจะรอฟังคำชมเชยจากคนอื่น เราก็ไม่ใช่ศิลปินแล้ว เราก็จะกลายเป็นแค่นักผลิต Product หรือ Entertainer ไป

เพชร โอสถานุเคราะห์ : เพียงชายคนนี้ ผู้สร้างสรรค์งานเพลงที่ไร้กาลเวลา

“ผมอยากให้คนเก๋ๆ เดิร์นๆ รู้จัก ไม่เอาแบบคนทั้งโลกร้องตามได้ เพราะมันคงเป็นอะไรที่เชยมาก เราอยากให้คนเท่ๆ ฟัง แล้วฟังกันได้นานๆ ไม่ขึ้นกับกาลเวลา เป็นเสมือนอาร์ตคอลเล็กชันที่ดี และพอเวลาผ่านไปมันก็สามารถหวนกลับมาดู มาฟังได้อีก และได้สัมผัสอะไรที่หลากหลายอารมณ์และความรู้สึก บางทีก็มีคนถามว่าแล้วในอัลบั้มนี้จะมีเพลงแบบ ไม่ใช่ผู้วิเศษ หรือภาคสองของเพลงนี้ไหม ซึ่งก็มีเพลงเพราะๆ โรแมนติกอยู่หลายเพลง แต่เราไม่ชอบทำอะไรที่เคยทำแล้ว 

“คือผมเป็นคนที่ไม่มองอดีต พอถึงเวลาที่เราทำเพลงใหม่ เราจะไม่คิดถึงเพลงเก่า จะไม่มานั่งวิเคราะห์ว่าจะทำอย่างไรถึงจะให้เขามาชอบเราอีก เพราะเพลงที่ผมทำนั้น ทำออกมาให้ตัวผมพอใจ ฟังดูแล้วอาจจะเหมือนหยิ่ง แต่ไม่ใช่ ผมเชื่อว่าศิลปินทุกคนเป็นแบบนี้ มีเพียงตัวเองเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งถ้าเราทำงานออกมาเพียงแค่ว่าจะรอฟังคำชมเชยจากคนอื่น เราก็ไม่ใช่ศิลปินแล้ว เราก็จะกลายเป็นแค่นักผลิต Product หรือ Entertainer ไป ซึ่งผมไม่ใช่แบบนั้น ผมคิดว่าเราก็เป็นมนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่งคือ ถ้าเราชอบ คนอื่นบางคนก็มีสิทธิ์ที่จะชอบเหมือนเรา ซึ่งแน่นอนไม่ใช่ทุกคน”

แม้สุดท้ายอัลบั้มชุดที่ 2 ของเพชรอาจไม่ได้เป็นที่รู้จักเมื่อเทียบกับชุดแรก แต่ก็ถือเป็นผลงานที่เขาภาคภูมิใจ และได้รับเสียงชื่นชมถึงคุณภาพที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย ทำให้เขาตั้งใจว่าจะทำอัลบั้มใหม่ทุก 20 ปี

น่าเสียดายที่ผลงานชุดที่ 3 ไม่มีวันเกิดขึ้นได้จริง ถึงอย่างนั้นก็เชื่อได้ว่า ผลงานที่เพชร โอสถานุเคราะห์ ชายที่ไม่ใช่ผู้วิเศษคนนี้ได้ สร้างสรรค์ขึ้นจะยังคงอยู่ในใจของคนฟังเพลงไปอีกนานแสนนาน

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • นิตยสาร GM ปีที่ 2 ฉบับที่ 21 มกราคม 2531
  • นิตยสาร DDT ปีที่ 3 ฉบับที่ 27 เมษายน 2550
  • เว็บไซต์ Songburi
  • หนังสือ PETCH QUICK START คู่มือเบื้องต้นเกี่ยวกับ เพชร โอสถานุเคราะห์

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.