ถ้าคุณเคยอมยาอมโบตัน เวลาเจ็บคอ เคยกินยาทัมใจ เวลาเป็นหวัด เคยดื่มลิโพหรือเอ็ม 150 เวลาเหนื่อยล้า คุณน่าจะรู้จักกับ โอสถสภา บริษัทยายักษ์ใหญ่ที่อยู่คู่สังคมไทยมานาน
ไม่เพียงแค่ธุรกิจขายยา โอสถสภายังมีธุรกิจที่แตกแขนงไปอีกมากมาย ทั้งน้ำยาดับกลิ่นกาย ลูกอม แป้ง น้ำยาอุทัย ฯลฯ
ความสำเร็จในวันนี้ ไม่ได้มาจากความบังเอิญ หากแต่เกิดจากการวางรากฐานที่มั่นคงของคนยุคเริ่มต้น โดยเฉพาะทายาทรุ่นที่ 2 ของตระกูลนามว่า สวัสดิ์ โอสถานุเคราะห์
จริงอยู่ที่ผู้ก่อตั้งอย่าง ‘แป๊ะ’ อาจจะผู้ริเริ่มตั้งร้าน เป็นเจ้าของยาสูตรตัวแรก
แต่ด้วยความเป็นนักบริหารที่มากด้วยฝีมือ ‘สวัสดิ์’ จึงสามารถพลิกโฉม เต็กเฮงหยู จากร้านขายของเล็กๆ ในตลาดสำเพ็ง ให้กลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีมูลค่านับหมื่นล้านบาท และยังส่งต่อดีเอ็นเอและปรัชญาการทำงานให้แก่ลูกหลาน จนวันนี้โอสถสภากลายเป็นธุรกิจที่มั่นคง
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกคนไปเรียนรู้เรื่องราวชีวิตของผู้ชายธรรมดาๆ ที่มีวิธีคิด วิธีทำงาน วิธีธุรกิจที่ ‘ไม่ธรรมดา’
“ยาทันใจ ทันใจ ยาใช้ดี .. ปวดหัว ปวดท้อง ปวดฟัน ปวดนั่น ปวดนี่ ลองใช้ทันใจนั่นแหละดี..เดี๋ยวเดียวก็สบาย”
หลายคนที่เกิดทันสมัย ยาทัมใจ ยังใช้ชื่อว่า ทันใจ คงคุ้นเคยกับสโลแกนนี้ดี รวมทั้งน่าจะจดจำโปสเตอร์ โฆษณาทางวิทยุโทรทัศน์ ในยุคนั้นที่มีมากมายจนติดตาติดหูได้ เรียกว่าใครปวดหัวหรือไม่สบายจะนึกถึงยาทันใจเป็นลำดับแรกๆ
คงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่า ยาทัมใจ คือหัวหอกที่ช่วยสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจของโอสถสภาในยุคการบริหารของสวัสดิ์
ยาทัมใจเกิดขึ้นจากที่หมอเปล่ง น้องชายของสวัสดิ์ อ่านหนังสือตำรายาฉบับสากล แล้วเห็นว่ามีสูตรยาแก้ปวดสมัยใหม่ที่ได้รับความนิยม จึงมาแนะนำให้ลองทำ ตอนนั้นยาแก้ปวดในเมืองไทย ก็มียาตราเสือของเอ็งอันต๋อง ที่ออกมาก่อนและกำลังฮิตในตลาด ดังนั้นช่วงแรกยาทัมใจที่ตามมาทีหลัง ขายซองละ 5 สตางค์ จึงขายไม่ค่อยดี
แต่กลยุทธ์สำคัญที่พลิกยอดขายจากหน้ามือเป็นหลังมือ คือตอนที่สวัสดิ์ตัดสินใจนำยาไปแจกให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กลายเป็นว่าบรรดา ส.ส. มาขอกันใหญ่เพื่อเอาไปแจกให้ชาวบ้าน ทำให้ยาทัมใจเป็นที่รู้จักและนิยมอย่างกว้างขวาง
แม้แต่ตอนที่ ร.ต.อ.สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ลูกชายของสวัสดิ์ลงสมัคร ส.ส.ขอนแก่น ก็ยังได้ชื่อว่า ‘ส.ส.ยาทัมใจ’
“ใครไปสมัคร สส.เรายินดีที่จะให้ยาไป ส่วนมากก็ขอมาแทบทุกจังหวัด เขาจะหาเสียงก็เอาติดไม้ติดมือ ไปตำบลเล็กตำบลน้อยก็เอาไปแจกหมด ให้ทุกพรรค ความรู้สึกตอนนั้นคือเราขึ้นมาได้ตั้งแยะไม่ใช่เพราะใบปลิว แต่เพราะเขาได้เห็นได้ลอง เห็นสรรพคุณ”
อีกสาเหตุหนึ่งที่ยาได้รับความนิยม เป็นเพราะสูตรที่มีการผสมคาเฟอีนลงในตัวยาแอสไพริน ทำให้ยาออกฤทธิ์เร็วสมกับชื่อ ทันใจ แต่เมื่อใช้บ่อยๆ จะติดด้วยฤทธิ์ของคาเฟอีน ตอนหลังคณะกรรมการอาหารและยาเข้ามาควบคุมไม่ให้มีคาเฟอีน และให้เปลี่ยนชื่อเพื่อไม่เป็นการโฆษณาเกินจริง ทันใจ จึงเปลี่ยนมาเป็น ทัมใจ
อาจด้วยความสนใจการโฆษณา ประกอบกับความสำเร็จของทัมใจ ทำให้สวัสดิ์เล็งเห็นความสำคัญในการขยายตลาดไปสู่วงกว้าง เขาจึงใช้การโฆษณาประชาสัมพันธ์อีกหลายอย่างเพื่อให้เข้าถึงชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการนำใบปลิวไปติดตามข้างทางรถไฟ เพราะคนที่เดินทางต่างจังหวัดก็จะได้เห็น มีโฆษณาทางวิทยุพร้อมสโลแกนที่ติดหู หรือให้คนเดินออกไปรับยอดสั่งซื้อจากเดิมที่มีการสั่งซื้อทางจดหมายอย่างเดียว
แต่กลยุทธ์หนึ่งที่เป็นตำนานและประสบความสำเร็จอย่างมากในยุคนั้นคือ ‘หนังขายยา’
ยุคแรกเรียกหน่วยฉายภาพยนตร์เคลื่อนที่นี้ว่า ‘หน่วยปลูกนิยม’ ซึ่งเริ่มก่อตั้งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ราวปี 2487 นำหนังไปฉายในชนบทห่างไกล พร้อมจำหน่ายสินค้าของบริษัทไปด้วย หน่วยนี้มีทั้งทางรถยนต์ รถไฟ เรือ แม้กระทั่งพื้นที่ทุรกันดารก็ยังมีหน่วยเกวียนที่บรรทุกข้าวของเครื่องใช้ เครื่องปั่นไฟ เครื่องฉายหนัง จอ ลำโพงฮอร์น ไปมอบความสุขความบันเทิงให้ แลกกับการประชาสัมพันธ์ยา
ยุคนั้นคู่ขวัญที่ผู้คนนิยมมากสุดคือ มิตร ชัยบัญชา-เพชรา เชาวราษฎร์ ส่วนโทรทัศน์ยังไม่มี หรือพอมีแล้วก็ยังไม่แพร่หลาย หนังขายยาจึงได้รับกระแสตอบรับอย่างล้นหลาม แถมยังเป็นสื่อกลางให้หนุ่มสาวหลายๆ คู่มาพบและครองรักกัน
หากแต่เคล็ดลับที่สำคัญยิ่งกว่า คือ นักพากษ์ เพราะเขาคนนี้มีหน้าที่หว่านล้อม ออดอ้อน ให้คนที่มาดูหนังซื้อยา พอหนังหยุดพักหรือฉายจบก็จะเปิดจำหน่าย ถ้ายังไม่ซื้อวันนี้หรือใช้ไปแล้วชอบ ก็ต้องบอกให้ไปซื้อตามร้านจำหน่ายสินค้าในตัวจังหวัด เมื่อฉายเสร็จหน่วยปลูกนิยมก็จะพักค้างคืนในหมู่บ้าน พอตอนเช้าก็นำสินค้ามาขายอีกรอบก่อนที่จะเคลื่อนย้ายไปหมู่บ้านต่อไป
นอกจากนี้ สวัสดิ์ยังเป็นคนริเริ่มระบบเครดิตหรือการขายเชื่อ โดยให้คนถีบจักรยานไปเสนอตามร้านขายยา เน้นว่าต้องเข้าทุกร้านโดยไม่ยกเว้น ร้านไหนเจ้าของไม่อยู่ก็จะแวะกลับไปใหม่ เพื่อให้ได้คุยกับเจ้าของร้านในที่สุด
“เราให้เกียรติเจ้าของร้าน เพราะปกติเขาไม่อยากซื้อ ยาเราเป็นยาใหม่ เขาบอกเกะกะร้านไม่มีที่ใส่ ก็ต้องหาวิธีพูดให้เขาชอบ.. ช่วงที่ยาทัมใจขายดี เป็นช่วงที่บริษัทเติบโตเร็วที่สุด ร้านขายยาในสำเพ็งเราปล่อยเงินเชื่อให้เขา พอ 3-4 เดือนหรือถึงตรุษก็ไปเก็บเงินที เราใจป้ำ ให้เขาเอาเงินไปหมุนก่อนแล้วให้เขาช่วยขาย
“สมัยก่อนคนตรงไปตรงมา ไม่ค่อยสูญ เพียงแต่ช้าไปหน่อย เราก็อะลุ่มอล่วย ช่วยได้มาก ทำให้ร้านค้ากับเรามีสัมพันธ์กันดี เราพยายามติดต่อเขา เอาอกเอาใจ เป็นกันเอง เวลามาก็ต้อนรับขับสู้”
จากเรื่องราวเหล่านี้จะเห็นได้ว่าสวัสดิ์เป็นทั้งนักบริหาร-นักการตลาด-นักประชาสัมพันธ์ ที่เก่งกาจพร้อมกันในคนๆ เดียว
คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่า ด้วยความสามารถที่รอบด้านในการประยุกต์ธุรกิจให้เข้ากับสภาพตลาดได้อย่างลงตัว กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บุตรชายคนที่ 3 ของครอบครัวนายแป๊ะและนางแหวน โอสถานุเคราะห์ เป็นทายาทสืบทอดกิจการของครอบครัว ทั้งที่ปกติแล้วครอบครัวชาวจีนมักยกหน้าที่ให้แก่บุตรชายคนโต
แม้ไม่มีใครเคยอธิบายว่ามาจากสาเหตุใด แต่ตัวของสวัสดิ์เองก็เคยเล่าว่า เขาใกล้ชิดกับผู้เป็นพ่อมาตั้งแต่เด็ก และมีความผูกพันและสนใจเรื่องยามากเป็นพิเศษ ถึงขั้นที่ตัดสินใจเลือกเรียนแพทย์เลยทีเดียว
ก่อนหน้าที่เต็กเฮงหยูจะกลายเป็นกิจการใหญ่โตแบบทุกวันนี้ ความจริงเป็นเพียงขายของจิปาถะ เช่น ถ้วยชาม ร่ม นาฬิกา อยู่ในตลาดสำเพ็ง แต่จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อร้านยาตะวันตกที่ชื่อว่า บี กริม นำยาปัถวีพิการ ซึ่งเป็นยาแก้เมื่อย แก้แพ้ มาฝากขาย ปรากฏว่าขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จนนายแป๊ะเกิดความคิดว่าจะขายยาของตัวเองบ้าง
เขามีตำรายาอยู่ตัวหนึ่ง เป็นยากฤษณากลั่น มีสรรพคุณสูง แก้อาการท้องเสีย ท้องร่วง หรือปวดท้องได้ดี ขายดีพอสมควร ระหว่างนั้นนายแป๊ะมีโอกาสเข้าวังบ่อยก็เลยนำยานี้ไปยาตัวนี้ไปถวายในหลวง รัชกาลที่ 6 เผอิญมีอยู่ปีหนึ่ง เหล่าบรรดาเสือป่าเกิดอาการท้องร่วงกะทันหัน ก็เลยใช้ยากฤษณากลั่นตัวนี้รักษา ปรากฏว่ากินแล้วดีขึ้น ในหลวง รัชกาลที่ 6 ก็เลยนำเรื่องนี้ไปพระราชนิพนธ์เป็นเรื่องกันป่วย รวมทั้พระราชทานนามสกุล ‘โอสถานุเคราะห์’ ให้ด้วย ก็เลยทำให้ยากฤษณากลั่นตรากิเลน กลายเป็นยาสามัญที่มีทุกบ้าน และเปลี่ยนเต็กเฮงหยูให้กลายเป็นธุรกิจขายยาอย่างจริงจัง
“การคิดที่จะทำยาอะไร สมัยนั้นคุณพ่อเป็นคนคิดเองทั้งนั้น ทั้งยาแก้กลากเกลื้อน ยาแก้นอนไม่หลับก็มี ชื่อยานิทราสำราญ เคยไปถวายกรมหลวงสรรพศาสตร์ฯ ท่านเป็นโรคนอนไม่หลับ เอาไปถวายเลย ชอบทานแล้วดี นอนหลับสบาย เลยต้องไปถวายกันเรื่อยๆ ส่วนลูกๆ ก็ช่วยบ้าง ฉลากหยูกยาบางทีท่านก็บอกให้เราเขียนเขียน แต่ง หรือไม่ก็วานเพื่อนของท่านที่ถนัดทางหนังสือให้ช่วยเขียนให้”
สวัสดิ์จึงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้น และเริ่มซึมซับวิธีการต่างๆ ของบิดา แม้จะไม่ถูกสั่งสอนให้เรียนรู้เรื่องพวกนี้โดยตรงก็ตาม
หลังเรียนจบโรงเรียนเทพศิรินทร์ และสอบได้เป็นอันดับ 19 ของประเทศ ตอนอายุ 16 ปี ก็มาเรียนต่อที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หากแต่ยังไม่ทันได้เป็นหมอสมใจ เรียนไปได้ 2 ปี ก็พบกับจุดพลิกผันครั้งสำคัญ เมื่อนายแป๊ะเสียชีวิตกะทันหันในวัยเพียง 45 ปี ทำให้เขาจึงต้องรับหน้าที่เป็นเจ้าของร้านเต็กเฮงหยูตั้งแต่อายุไม่ถึง 20 ปี
การเปลี่ยนบทบาทมาเป็นพ่อค้าไม่ใช่เรื่องง่าย แม้มีสินค้าเรือธงอย่างยากิเลนอยู่ก็ตาม เขากับพี่ชายที่ชื่อวัฒนาจึงต้องหากลยุทธ์วิธีต่างๆ เพื่อทำให้สินค้ากระจายในวงกว้าง รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในใจของผู้บริโภค
หลายครั้งที่ต้องเจอคู่แข่งทำเจอสงครามหั่นราคา แต่เขาก็ไม่เคยท้อ พยายามพลิกแฝงหากลยุทธ์ต่างๆ รวมถึงจัดหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาเสริมทัพ ทั้งยาเม็ดแก้ไข้ ยาหอมแก้ลม ยานัตถุ์ นาธาตุ ก่อนที่พัฒนาแบรนด์ขึ้นโดยเฉพาะ ซึ่งหลายตัวก็ติดตลาด มาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งทัมใจ หรือโบตัน ตลอดพัฒนาโรงงานจนใหญ่โต และกลายเป็นฐานสำคัญที่ช่วยรองรับการเติบโตของโอสถสภาในอีกหลายปีถัดมา
หากถามว่าผู้นำอย่าง ‘สวัสดิ์ โอสถานุเคราะห์’ มีอะไรที่แตกต่างจากผู้นำธุรกิจคนอื่นๆ สิ่งนั้นก็คงจะเป็น วิสัยทัศน์ และการพยายามตามโลกปัจจุบันให้ทัน
จุดเด่นของสวัสดิ์ คือความใฝ่เรียนรู้ตลอดเวลา เขาชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับชีวประวัติของบุคคลที่ประสบความสำเร็จ และหนังสือ How-To หรือเคล็ดลับการใช้ชีวิต
แม้แต่ตอนเรียนอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ สวัสดิ์ก็มีวิธีหาความรู้ที่ไม่เหมือนใคร
“สมัยนั้นได้เข้าไปหัดในห้องผ่าตัดศึกษาพวกกล้ามเนื้อ ประสาทและเอ็น เรียนวิชาผ่าศพ และ อนาโตมีซึ่งรวมวิชาเกี่ยวกับหัวกะโหลกด้วย ผมมีความสนใจอยากจะรู้เกี่ยวกับหัวกะโหลกคนมาก แต่ตอนนั้นเราเรียนแบบไปเช้าเย็นกลับ จึงมีเวลาศึกษาน้อยกว่าพวกนักศึกษาประจำ วันหนึ่งก็เลยชวนพี่ชายไปซื้อหัวกะโหลกจากสัปเหร่อที่วัดสระเกศ เอาหัวกะโหลกนั้นมาให้ช่างไม้เลื่อยเพื่อจะดูข้างใน แล้วเอามาเก็บไว้ที่บ้านโดยไม่มีใครรู้ รุ่งขึ้นช่างไม้บอกว่าเมื่อคืนนี้โดนหลอกทั้งคืนเลย ตอนหลังผมได้นำหัวกะโหลกนั้นไปให้เพื่อนเพื่อศึกษาต่อไป”
การใฝ่รู้และขยันอ่านหนังสือนี้เอง ทำให้หลายๆ ครั้งสวัสดิ์ได้ไอเดียใหม่ๆ ไปต่อยอดธุรกิจ เช่นหนังสือของ Herbert Casson หรือนิตยสาร The Efficiency ที่เขาเป็นสมาชิกตลอดชีพอยู่
“Efficiency เป็นสมาชิกตลอดชีวิต พอหลังสงครามก็เลยหายไป ที่จริงเป็นหนังสือดี สอนถึงวิธีการค้า การทำงานอย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพ และหนังสือเล่มหนึ่งที่มีส่วนช่วยให้ประสบความสำเร็จด้านการงานชื่อ Human Machine โดย Arnold Benner ราคาเล่มละ 50 สตางค์ ตอนนั้นได้มาจากเวิ้งนาครเขษม เป็นหนังสือเกี่ยวกับวิธีทำให้ประสบความสำเร็จในการสร้างฐานะ ในเล่มเล่าเกี่ยวกับคนเราเปรียบเสมือนรถยนต์ นอกจากเครื่องยนต์แล้ว จะไปไหนได้ดีก็อยู่ที่ยาง ยางก็คล้ายกับอารมณ์ของคน ถ้ายางอ่อนหรือแข็งเกินไปก็ไม่ได้ ต้องสูบลมพอสมควรจึงจะไปได้สะดวก จะไปโทษถนนไม่ได้”
การรู้จักประยุกต์ความรู้เข้ากับการบริหารของสวัสดิ์ ส่งผลให้โอสถสภากลายเป็นหนึ่งบริษัทที่มีมาตรฐานสากล แม้จะดำเนินธุรกิจครอบครัวก็ตาม เช่นการเป็นบริษัทไทยแห่งแรกๆ ที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือการนำระบบโฆษณาและการตลาดเข้ามาใช้จริงจัง
เคล็ดลับของการโฆษณาอยู่ที่จิตวิทยา คือ ทำอย่างไรคนถึงจะเลื่อมใสและเกิดความศรัทธา เรื่องพวกนี้ใช้ทฤษฎีมากเกินไปไม่ได้ เพราะเมืองนอกไม่เหมือนเมืองไทย
เอาง่ายๆ อย่างเรื่องราคา หากเป็นเครื่องสำอางค์ก็ต้องราคาให้สูงไว้ก่อน ให้คนนึกว่าเป็นของดี แต่ขนาดเดียวกันก็ต้องทำองค์ประกอบต่างๆ ให้ดีด้วย ทั้งขวด รูปลักษณ์ แต่สิ่งที่สำคัญสุดคือ คุณภาพ เพราะถ้าของคุณภาพไม่ดีแล้ว ต่อให้โฆษณาไปก็เสียเงินไปเปล่าๆ สุดท้ายก็ต้องเลิก
อีกตัวอย่างของการสร้างความเชื่อมั่น คือยุคนั้นมีการเขียนข่าวใส่ร้ายโจมตีกันเต็มไปหมด สวัสดิ์ก็เลยต้องอาศัยคนดังในยุคนั้นมาคอยรับประกันว่าสินค้าของเต็กเฮงหยูนั้นดีจริง จนความนิยมกลับมา
นอกจากนี้ เขายังนำระบอบประชาธิปไตยมาประยุกต์ในออฟฟิศ ผ่านรูปแบบของ ‘คณะรักเกียรติ’ เพื่อสร้างความสามัคคีและการมีส่วนร่วมในองค์กร
‘คณะรักเกียรติ’ เกิดขึ้นในช่วงที่บริษัทมีพนักงานอยู่ราว 60-70 คน โดยตอนนั้นเริ่มมีการแบ่งแผนก พนักงานหลายคนไม่ค่อยกระตือรือร้น พวกที่เก่งๆ ออกมาตั้งร้านของตัวเองก็มีมาก สวัสดิ์ก็เลยอยากสร้างพื้นที่ให้พนักงานได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ แลกเปลี่ยนมุมมองต่างๆ โดยจะมีการประชุมพนักงานสัปดาห์ละครั้ง หากใครมีปัญหาอะไรก็มาพูดคุยกันได้ พร้อมกับวิเคราะห์การทำงานแต่ละสัปดาห์ เพื่อหาข้อสรุปและวิธีการแก้ไขต่อไป
สาเหตุที่เราเกิดมาร่ำรวยก็เพราะว่าคนไทยส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนซื้อสินค้าจากกิจการของเรา ถือได้ว่าเราได้เป็นหนี้สังคม เราจะต้องหาทางตอบแทนสังคมไทยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ในโลกธุรกิจมีแบรนด์ไทยเพียงไม่กี่แบรนด์ที่สามารถหยัดยืนมาได้เป็นร้อยปี โอสถสภา คือหนึ่งในองค์กรเหล่านั้น และที่น่าสนใจยิ่งกว่า คือ แม้จะเป็นธุรกิจแบบกงสี แต่กลับไม่เคยมีปัญหาเรื่องเสื่อมเสียหรือความแตกแยกตามมา
นิตยสารผู้จัดการ เคยวิเคราะห์ตระกูลโอสถานุเคราะห์ว่า มีหลักเกณฑ์ในการขึ้นมาครองอำนาจอย่างง่ายๆ 3 ประการคือ ความสามารถ ความเหมาะสม และความไม่ตายตัว
เรื่องความสามารถและความเหมาะสมคงไม่ต้องอธิบายอะไรมาก เพราะถ้าผู้บริหารไม่มีประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือในการทำงานแล้วก็อยากที่จะรักษาบริษัทไว้ได้ หากแต่ความไม่ตายตัว คือการที่สวัสดิ์ใช้หลักหมุนเวียนตำแหน่งการทำงานของทายาท เช่นเขามีลูกชาย 4 คน ช่วงแรกก็ให้ลูกชายคนโตรับหน้าที่กรรมการผู้จัดการก่อน จากนั้นอีก 2 ปี ก็ส่งไม้ต่อให้ลูกคนรอง จากนั้นก็ส่งให้ลูกชายคนถัดไป ทำอย่างนี้เรื่อยๆ แล้วก็หมุนกลับมาที่ลูกชายคนโตอีกครั้ง ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้แต่ละคนต่อยอดสร้างอาณาจักรส่วนตัวตามความถนัด และถ้ามีปัญหาอะไร ทุกฝ่ายก็จะเข้ามาช่วยเหลือประคับประคอง
วิธีการนี้นอกจากจะลดปัญหาเรื่องความขัดแย้งภายในตระกูลแล้ว ยังช่วยสร้างประสบการณ์ทำงานที่หลากหลายให้แก่ทายาทรุ่นถัดมาของโอสถสภาอีกด้วย
ขณะเดียวกัน การสร้างปณิธานว่า บริษัทได้ สังคมต้องได้ด้วย เป็นอีกส่วนที่ช่วยผยุงบริษัทเติบโตควบคู่กับสังคมไทยได้อย่างมั่นคง
สวัสดิ์มักย้ำกับลูกหลานเสมอว่า “สาเหตุที่เราเกิดมาร่ำรวยก็เพราะว่าคนไทยส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนซื้อสินค้าจากกิจการของเรา ถือได้ว่าเราได้เป็นหนี้สังคม เราจะต้องหาทางตอบแทนสังคมไทยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้”
สวัสดิ์มักบริจาคเงินสร้างวัด สร้างโรงพยาบาล อุดหนุนนักกีฬาไทย หากแต่อีกฝันหนึ่งที่เขาต้องการผลักดันมากที่สุด คือสถาบันการศึกษา เขาเคยบอกว่า ที่ผ่านมามีแต่ฝรั่งมาสร้างช่วยสร้างสถาบันการศึกษาให้คนไทย ทั้งโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน โรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา ความจริงคนไทยก็ควรช่วยกันคนละไม้คนละมือสร้างสถาบันการเรียนรู้เช่นนี้เหมือนกัน ร.ต.อ.สุรัตน์ บุตรชายคนที่ 3 และภรรยาจึงช่วยกันก่อตั้งวิทยาลัยไทยเทคนิค ขึ้นมาในปี 2505 ก่อนที่จะถูกพัฒนาจนกลายเป็นมหาวิทยาลัยกรุงเทพ 1 ใน 5 มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกของประเทศ
สิ่งนี้คือปณิธานของบริษัทที่สวัสดิ์ได้รับถ่ายทอดมา และพยายามส่งให้ทายาทรุ่นหลัง จวบจนกระทั่งวาระสุดท้ายในชีวิต
เหมือนดังเช่นที่ รัตน์ โอสถานุเคราะห์ หลานชายของสวัสดิ์ อดีตประธานกรรมการบริหาร โอสถสภา เคยเล่าว่า “ตอนผมไปเยี่ยมคุณปู่ที่ท่านป่วยหนักด้วยโรคมะเร็งอยู่ที่ญี่ปุ่น ท่านถามผมว่า รู้ไหมว่า เต็กเฮงหยู แปลว่าอะไร ท่านอธิบายว่า เต็กเฮงหยู หมายความว่า เจริญโดยการช่วยเหลือผู้อื่น”
นักธุรกิจผู้สร้างดอกบัวคู่ กับชีวิตที่ต้องต่อสู้ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่แก่ยาสีฟันสมุนไพรว่า ถึงจะดำแต่ก็ดี
เจ้าสัว ผู้ก่อตั้งเครือสหพัฒน์ เติบโตก้าวกระโดดจากธุรกิจรุ่นพ่อ ด้วยการมองเห็นน้ำหนักที่แตกต่างของเสื้อกับน้ำตาล
หนุ่มนักเรียนนอกโนเนม ชื่อ เดช บุลสุข ทำอย่างไรให้ แมคโดนัลด์ ฟาสต์ฟูดส์เจ้าดังแห่งอเมริกัน ยอมขายเฟรนไชนส์เป็นรายแรกในเมืองไทย
ตำนานการสร้าง ยาคูลท์ ของผู้บริหารเดลินิวส์ จากนมที่คนเคยคิดว่าเป็นเสีย สู่นมเปรี้ยวที่ทุกคนผูกพันมานานกว่า 50 ปี
สุดยอดนักธุรกิจไทย ทายาทรุ่นที่ 2 ผู้ปักหมุดให้โอสถสภากลายเป็นแบรนด์ไทยอันดับต้นๆ ของประเทศ
จากลูกจ้างธรรมดาๆ มาสู่การเป็นเจ้าของ ‘แป้งตรางู’ ผู้สร้างแบรนด์และสินค้าที่ประสบความสำเร็จข้ามเวลามานานเกือบ 100 ปี
Armchair ศิลปินขวัญใจวัยรุ่นยุคอินดี้ ผู้บุกเบิกเพลงบอสซาโนวา เจ้าของเพลงฮิตสุดละมุนที่ยังตรึงอยู่ในใจแฟนเพลงถึงวันนี้
นักเขียนการ์ตูนที่พาผลงานมังงะจากเอเชียให้โด่งดังไปไกลทั่วโลก ปลุกกระแสดราก้อนบอล ให้เข้าอยู่ในใจเด็กๆ ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ
สุดยอดนักพากย์ฟุตบอลและผู้ประกาศข่าวกีฬาแห่งเรื่องเล่าเช้านี้ที่ครองใจผู้ชมผู้ฟังมานานกว่า 3 ทศวรรษ
สาว สาว สาว แอม-แหม่ม-ปุ้ม ต้นตำรับเกิร์ลกรุ๊ปเมืองไทย ผู้สร้างกระแสเพลงประตูใจ ข้ามกาลเวลาถึงปัจจุบัน
จากนักแกะสลักน้ำแข็ง สู่สุดยอดทีมนักแกะสลักหิมะ ที่คว้าชัยในเทศกาลหิมะอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง พร้อมพิสูจน์ให้โลกได้เห็นว่า ถึงเมืองไทยไม่มีหิมะ เราก็สร้างที่ยิ่งใหญ่ได้
ย้อนเรื่องราวของหนังไทย ‘โหมโรง’ ที่สร้างปรากฏการณ์ฟีเวอร์ หลังเกือบถูกถอดจากโรง พร้อมกับจุดกระแสดนตรีไทยให้โด่งดังไปทั่ว
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.