“ถ้าเรามีคนอ่านหนังสือ หรือรักการอ่านหนังสือ 20-30 ล้านคนนี่ บ้านเมืองเปลี่ยนแน่”
ด้วยเชื่อว่าความรู้ ทำให้สติปัญญาเจริญงอกงาม นำไปสู่การยกระดับชีวิตมนุษยชาติ ทำให้ชายคนหนึ่งทุ่มเทผลิตหนังสือที่เขาคิดว่าดี ไปสู่ผู้อ่านอย่างกว้างขวาง
คงไม่มีใครไม่รู้จักสำนักพิมพ์อมรินทร์ เจ้าของนิตยสารบ้านและสวน, แพรว, แพรวสุดสัปดาห์, ชีวจิต, National Geographic ฉบับภาษาไทย, และหนังสือในเครืออีกมากมาย รวมถึงร้านหนังสือนายอินทร์
กล่าวได้ว่า อมรินทร์ คือยักษ์ใหญ่วงการสิ่งพิมพ์ไทยตัวจริง ทั้งหมดคือผลงานจากการวางรากฐานของชายคนนี้
ย้อนกลับไป 40 ปีที่แล้ว เขาเริ่มต้นด้วยเงิน 50,000 บาท ที่ได้เป็นของขวัญวันแต่งงาน ด้วยความมุ่งมั่น ทำงานอย่างตั้งใจ ก็ทำให้สำนักพิมพ์ขนาดเล็กเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ จนมีมูลค่า 1.6 พันล้านบาทในวันที่เขาจากไป
แต่นั่นอาจไม่สำคัญเท่าความรู้จากหนังสือที่กระจายไปถึงมือผู้อ่านมากมาย
ยอดมนุษย์.. คนธรรมดา ขอพาไปรู้จักกับ ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ และเส้นทางการฝ่าฝันของเขา ที่บอกให้เรารู้ว่า ไม่มีใครประสบความสำเร็จตั้งแต่วันแรก
ตอนที่แต่งงาน ชูเกียรติมีเงินติดกระเป๋าเพียง 700 บาท
อย่าว่าจะตั้งสำนักพิมพ์อะไรเลย แค่จัดเลี้ยงโต๊ะจีน โต๊ะละ 400 บาท เขาก็ต้องลุ้นตอนแทบตายเปิดซองนับเงินจากแขกว่าจะพอหรือไม่
โชคดีที่ตอนนั้นเขาทำงานกับการเคหะแห่งชาติ หน่วยงานรัฐที่มั่นคง พ่อของภรรยาจึงไม่ได้ขัดข้องใจอะไร แถมยังให้เงินคู่บ่าวสาวมา 1 แสนบาท คนอื่นอาจมองว่าบ้า แต่ชูเกียรติกล้าลาออกจากการเคหะฯ แล้วนำเงินก้อนนี้ที่เหลือ 50,000 บาท ไปทำนิตยสาร ‘บ้านและสวน’
เหมือนเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ แต่เขาเห็นโอกาสและคิดไว้อย่างรอบคอบแล้ว การตัดสินใจครั้งนั้นถูกต้อง เพราะนิตยสารเล่มนี้อายุยืนยาวมาถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 44 ปีแล้ว และทำให้เกิดสิ่งพิมพ์ ผลงานอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย
ชูเกียรติรักการอ่านมาตั้งแต่เด็ก เขารับมรดกการอ่านจากพ่อที่ชอบอ่านนิยาย โดยเฉพาะงานของ ป. อินทรปาลิต และหลวงวิจิตรวาทการ โตมาก็หมกตัวที่ห้องสมุดริมน้ำบางนรา นราธิวาส เป็นหนอนหนังสือชนิดที่อ่านทุกอย่างแม้แต่ถุงกล้วยแขกก็ยังแกะออกมาอ่าน
“จำได้ว่าทุกๆ เช้า ผมจะเดินข้ามสะพานออกไปซื้อหนังสือพิมพ์ ซื้อปาท่องโก๋ดุ้นใหญ่ ซื้อกาแฟชงใส่กระป๋องนมมาให้พ่อ แล้วพ่อจะนอนอ่านหนังสือบนเก้าอี้ผ้าใบ ผมก็จะลากเก้าอี้มานั่งตรงใกล้หัวเตียงผ้าใบ อ่านหนังสือพิมพ์ไปกับพ่อ รู้สึกดีมากๆ เลย”
เขาสอบเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เพราะมุ่งหวังที่จะเป็นครู อาชีพที่มีงานทำแน่นอน แต่หลังเรียนจบก็เริ่มงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวที่องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อยู่ 7-8 เดือน ทำหน้าที่เขียนจดหมาย เขียนคำสั่ง ช่วงนี้เองได้เห็นเจ้านายแก้ภาษาจดหมายราชการที่แห้งแล้งให้มีชีวิตชีวา จุดประกายให้เขาอยากทำงานหนังสือ
ชายหนุ่มย้ายไปเป็นพนักงานพิสูจน์อักษรที่สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ขยับขึ้นมาเป็นซับเอดิเตอร์ทำตำราเรียนอยู่หลายปี ก่อนรับตำแหน่งหัวหน้ากองบรรณาธิการวิทยาสาร นิตยสารสำหรับครู เขาได้เรียนรู้การทำงานจากคนเก่งๆ มากมาย เช่น อาจารย์เปลื้อง ณ นคร คุณนายบุญพริ้ง ต.สุวรรณ ฯลฯ ประสบการณ์ 6 ปีที่ไทยวัฒนาพานิชเป็นต้นทุนสำคัญในการทำงานเวลาต่อมา
มีคนชวนให้ชูเกียรติย้ายมาทำงานที่การเคหะแห่งชาติ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมัยนั้นคนไทยขาดแคลนที่อยู่อาศัยมาก เขาจึงเสนอผู้บริหารให้ทำวารสาร ‘บ้าน’ ด้วยความคิดว่าอยากให้มีสื่อออกมาให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย และเป็นสื่อประชาสัมพันธ์การเคหะไปในตัว
ชูเกียรติขอเงินจากการเคหะฯ มา 70,000 บาทเพื่อจัดทำ และสามารถใช้คืนทั้งหมดได้ภายใน 6 เดือน แถมยังทำกำไรให้หน่วยงานอีก 5 แสนกว่าบาท
จากการทำวารสารบ้านนี่เอง ทำให้ชายหนุ่มเห็นช่องทางว่าหนังสือแนวนี้น่าจะมีแฟนประจำอยู่พอสมควร และส่วนตัวก็อิ่มตัวกับงานราชการแล้ว จึงตัดสินใจลาออกจากการเคหะฯ เมื่อปี 2519 เพื่อทำนิตยสารของตัวเอง
“ตอนจะออกนั้น ผมมีเงินเหลือจากการแต่งงานที่พ่อตาให้เป็นทุนมาแสนหนึ่ง ใช้โน่นใช้นี่ไปเหลืออยู่เพียง 5 หมื่น เพราะฉะนั้นต้องรีบออก เพราะถ้าไม่รีบเดี๋ยวเงินทุนหมด..
“ผมไม่ลังเลหรือกังวลใจ มีความมั่นใจมากๆ ที่มั่นใจเพราะรู้สึกว่าผมมีความพร้อมเกิดขึ้นแล้ว คือวุฒิภาวะที่จะเป็นหัวหน้าคน ปกครองคนด้วยกัน และงานที่มองเห็นคือทำนิตยสารบ้านและสวน โดยเติมข้อเรื่องสวนเข้ามาอีกเรื่องหนึ่ง..”
ช่วงแรกใช้วิธีจ้างโรงพิมพ์อื่นมาพิมพ์ให้ บางโรงพิมพ์ก็มีปัญหาส่งงานไม่ตรงเวลา บางโรงพิมพ์เป็นหนี้จนจะโดนทหารมายกเครื่องพิมพ์ไป ทำให้ชูเกียรติตัดสินใจเปิดโรงพิมพ์ขึ้นเอง โดยนำเงินที่มี 1 ล้านบาท รวมกับเงินที่ขอจากพ่อภรรยาเพิ่มมาอีก 1 ล้านบาท ซื้อที่ดินเชิงสะพานอรุณอมรินทร์ และซื้อเครื่องพิมพ์ด้วยระบบเงินผ่อน
ชื่อโรงพิมพ์เขานำมาจากชื่อของวัดอมรินทราราม ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ โดยขออาศัยบารมีหลวงพ่อโบสถ์น้อย พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดให้ช่วยคุ้มครอง จดทะเบียนเป็น หจก.อมรินทร์การพิมพ์
ชูเกียรติรับหน้าที่บริหารพนักงาน ดูแลฝั่งโรงพิมพ์ โดยมีภรรยา–เมตตา อุทกะพันธุ์ ช่วยดูแลด้านบัญชีการเงิน ส่วนฝั่งสำนักพิมพ์รับผิดชอบโดยสุภาวดี โกมารทัต เพื่อนที่ร่วมงานกันมายาวนานตั้งแต่ไทยวัฒนาพานิช วารสารบ้าน จนมาถึงบ้านและสวน
นี่เองคือจุดเริ่มต้นของสำนักพิมพ์อมรินทร์ ยักษ์ใหญ่แห่งวงการสิ่งพิมพ์ในเวลาต่อมา
ด้วยความเป็นโรงพิมพ์ใหม่ ทำให้ชูเกียรติต้องวิ่งรอกหางาน ไปประมูลโครงการของราชการต่างๆ สิ่งที่เขายึดถือเสมอคือต้องรับผิดชอบ ทำงานให้มีคุณภาพ ส่งตรงเวลา ไม่เอาเปรียบลูกค้า และไม่ใช้วิธีการสกปรกเด็ดขาด
สมัยงานโรงพิมพ์เริ่มต้น เคยมีเจ้าใหญ่นายโตของราชการแห่งหนึ่งเรียกเข้าไปบอกว่า ถ้าจะได้งานประมูล ต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่นให้เขาอีก 10 เปอร์เซ็นต์ ชูเกียรติกลับไปนอนคิดอยู่ 2 วัน ก่อนมาบอกเจ้านายคนนั้นว่า ทำไม่ได้ เพราะขัดกับหลักการทำงานของตัวเอง
“ความคิดที่หล่อเลี้ยงใจผมไม่ให้ท้อถอยคือ ถึงผมจะด้อยกว่าเพื่อนโรงพิมพ์อื่นในการวิ่งเต้นหางาน แต่เรามีข้อได้เปรียบคือ ถ้าเครื่องพิมพ์ว่าง เราสามารถคิดทำนิตยสารของเราเองได้ ซึ่งเถ้าแก่โรงพิมพ์โดยทั่วไปทำไม่ได้”
เมื่อปี 2522 ตอนทำ ‘แพรว’ เขามองเห็นโอกาสว่าในตลาดตอนนั้นยังไม่มีนิตยสารสำหรับผู้หญิงรุ่นใหม่มากนัก ทั้งที่คนกลุ่มนี้ขยายปริมาณเพิ่มในสังคม ประกอบกับเป็นจังหวะที่นิตยสารสายใจ ที่เพื่อนมาชวนให้ร่วมหุ้นกันเกิดเลิกทำพอดี ทำให้เครื่องพิมพ์ว่าง
ชูเกียรติจึงชวนสุภาวดี ซึ่งอยากทำนิตยสารผู้หญิงมานานแล้วให้มาทำแพรว แต่แพรวไม่ได้โชคดีเหมือนบ้านและสวนที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่เล่มแรก ต้องล้มลุกคลุกคลานอยู่ 4 ปี กว่าจะเริ่มมีกำไร
“ผมเป็นคนช่างคิด ช่างฝัน แต่ก็ตั้งหลักว่าคิดได้ 100 อย่าง ทำสัก 1 อย่าง หรือทำทีละอย่าง ดังนั้นเมื่อแพรวตั้งตัวติด ก็อยากทำนิตยสารอีกเล่ม เป็นขนาดเดียวกับ Reader’s Digest หรือขนาดพอกเก็ตบุ๊ก โดยออกสับหว่างกับแพรว เสนอเรื่องน่ารู้ เบาๆ สนุกๆ ในอารมณ์วันหยุดกลายเป็นแพรวสุดสัปดาห์”
แพรวสุดสัปดาห์ เคยมีคำขวัญว่า ‘แพรวเพื่อนพก’ เพราะเล่มเล็ก พกพาง่าย แต่ก็เกิดปัญหาคือแผงขณะนั้นไม่มีที่วางพอกเก็ตบุ๊ก และบริษัทโฆษณาก็ไม่อยากทำโฆษณาขนาดเล็ก จึงต้องปรับขนาดเท่านิตยสารทั่วไป แฟนหนังสือหลายคนโกรธจนเลิกอ่านไปเลยก็มี
“นี่เป็นตัวอย่างว่าสิ่งที่คิดไว้ บางทีก็ไม่สำเร็จผลอย่างที่คิด ความมุ่งมั่นตั้งใจทำอย่างไม่ท้อถอยต่างหากที่นำไปสู่ความสำเร็จ และอาจไม่สำเร็จในเป้าหมายเดิ มก็ได้”
ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จทุกอย่าง นิตยสารบางเล่มถ้าสู้ไม่ไหว ชูเกียรติก็ยอมถอย เช่น ‘LIFE & DÉCOR’ นิตยสารจัดบ้านที่เขารักมากแต่มีโฆษณาเข้ามาน้อยเกินไป หรือ TRENDY MAN ที่ชูเกียรติพบว่าการทำนิตยสารผู้ชายให้มีคุณภาพโดยที่ไม่โป๊ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งสองเล่มปิดตัวไปช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ
นอกจากนี้อมรินทร์ยังเข้าสู่ธุรกิจจัดส่งนิตยสาร ลงทุนซื้อเครื่องพิมพ์แท่นโรตารีเพิ่มเพื่อให้รับงานใหญ่ๆ หลายงานได้ ก่อนตัดสินใจขยับขยายไปที่ตั้งแห่งใหม่ในย่านตลิ่งชัน บริษัทเติบโตกลายเป็นสำนักพิมพ์ที่ทันสมัยและให้บริการครบวงจร
แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่การเติบโตด้วยความโลภ ชูเกียรติค่อยๆ ทำทีละอย่าง คิดแล้วคิดอีกโดยรอบคอบ
“บริษัทอมรินทร์ ทำธุรกิจรุดหน้ามาตามลำดับ คนนึกว่าผมมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ไม่ใช่หรอก ผมคิดว่าผมมีสติมากกว่า ปัญญาของผมก็แค่กลางๆ ..การทำธุรกิจ สติสำคัญกว่าปัญญา เพราะถ้าเกิดเอาปัญญานำจะหลงระเริงไปกันใหญ่ ต้องใช้สตินำ หรืออย่างน้อยก็ใช้สติกำกับปัญญาให้ได้ ขอให้มีสติรู้ข้อจำกัดของตัว ไม่ตาโตโลภมาก และมีความเพียรที่จะทำสิ่งที่ได้ไตร่ตรองด้วยสติ อย่าท้อถอย ชีวิตจะมีความสุข ความสำเร็จจะตามมา
“ความสำเร็จไม่จำเป็นต้องทั้งหมด ไม่สำเร็จบ้างก็ได้ จะได้เป็นบทเรียน ในชีวิตผมทำสิ่งที่ไม่สำเร็จก็เยอะไป คนมักจะไม่มอง ไปมองแต่ความสำเร็จ”
ไม่ว่าบริษัทจะเติบโตแค่ไหน คุณค่าที่เขาไม่เคยทิ้ง คือมุ่งให้สิ่งดีที่สุดกับผู้อ่าน
นอกจากนิตยสารแล้ว หนังสือต่างๆ ก็ล้วนสร้างชื่อให้กับอมรินทร์ ในฐานะสำนักพิมพ์ที่พิมพ์งานอย่างประณีต มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน
สาทิส อิทรกำแหง เพื่อนสนิทเล่าว่า เวลาพิมพ์หนังสือออกมาสักเล่ม ชูเกียรติจะตรวจตราอย่างละเอียด ถ้ามีข้อบกพร่องก็รีบแก้ไข บางเล่มผิดพลาดมากก็กล้าโยนทิ้งอย่างไม่เสียดาย พอผลงานออกมาเป็นที่พอใจ เขาจะยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ เหมือนเด็กได้ของเล่นถูกใจ
อมรินทร์สร้างปรากฏการณ์หลายอย่าง โดยเฉพาะการสร้างความหลากหลายให้กับวงการ ผู้อ่านจึงได้เห็นดารา นักร้อง นักมวย คนป่วย คนดี คนบ้า หมอผ่าศพ เข้ามาเขียนหนังสือ เป็นทางเลือกให้กับผู้อ่าน ดึงผู้อ่านหน้าใหม่ๆ ด้วยความเชื่อว่า หากจะให้คนอ่านซื้อหนังสือ ก็ต้องมีหนังสือที่เขาอยากซื้อ
หนังสือของอมรินทร์มีครบทั้งด้านประวัติศาสตร์ นวนิยาย ความรู้ ไลฟ์สไตล์ ฯลฯ และไม่ใช่เพียงหนังสือที่ขายได้ หากเห็นว่างานชิ้นไหนมีคุณค่ากับสังคม ชูเกียรติก็จะสนับสนุนให้พิมพ์ออกมา
National Geographic หรือ NG ฉบับภาษาไทย เกิดจากความใฝ่ฝันว่าอยากให้มีนิตยสารแบบนี้ในเมืองไทยบ้าง เขาจึงตัดสินใจทุ่มเงินซื้อลิขสิทธิ์มาแปล ซึ่งต้องผ่านการตรวจตราด้านต่างๆ จากเจ้าของอย่างเข้มงวด ถ้าหวังกำไรอย่างเดียว คงไม่มีใครใจแข็งที่จะเสี่ยง
สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ของ สถาบันทักษิณคดีศึกษา เขาเห็นว่าผู้จัดทำมีความตั้งใจดี เมื่อพิมพ์แล้วจึงมอบค่าจัดพิมพ์ให้สถาบันทักษิณคดีฯ นำไปใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ยังได้พิมพ์หนังสือวิชาการที่ไม่มุ่งหวังกำไรแต่มีประโยชน์ในแง่การศึกษา เช่น หนังสือ ชุดดรรชนีค้นคำในจารึกสุโขทัย และดรรชนีค้นคำในกฎหมายตราสามดวง เป็นต้น
ที่สำคัญ อมรินทร์ยังเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกวรรณกรรมเยาวชน หนังสือเด็ก ผ่านแพรวสำนักพิมพ์ แพรวเยาวชน เพื่อให้เด็กไทยได้อ่านหนังสือดีๆ ที่เหมาะสมกับวัย รวมถึงก่อตั้ง ร้านนายอินทร์ ที่เป็นทั้งร้านขายหนังสือ และพื้นที่รวมของคนรักหนังสือ
ร้านนายอินทร์ สาขาแรกเกิดขึ้น ท่าพระจันทร์ ข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2537
ชูเกียรติบอกว่า อยากให้ที่นี่เป็นคล้ายห้องสมุด มีมุมให้นั่งจิบกาแฟ อ่านหนังสือ มีเสวนากับนักเขียนที่เชิญมาทุกสัปดาห์ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่ใช่เพราะความรักที่เขามีต่อหนังสือและอยากให้หนังสือช่วยเพิ่มพูนปัญญาแก่ผู้คนในสังคมไทย
“เราขอพระราชทานชื่อ ‘นายอินทร์’ มาเป็นชื่อร้าน เพราะรู้สึกประทับใจในหนังสือนายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ และ คอนเซปต์ของร้านเราก็เป็นการทำงานลักษณะปิดทองหลังพระเช่นกัน คือ เราพยายามที่จะสร้างร้านหนังสือให้สามารถทำหน้าที่ได้มากกว่าความเป็นเพียงร้านหนังสือ”
อีกสิ่งสำคัญที่ผู้บริหารอย่างชูเกียรติ ตอกย้ำกับคนทำงานมาตลอดคือ ‘อยู่เฉยไม่ได้’ ต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ไม่อย่างนั้นจะไม่ทันผู้อ่าน
“เวลาทำงานไปนานๆ น่ะ งานมันจะเริ่มนิ่ง ผลิตผลของเราก็จะเริ่มตก เหมือนกับวงจรชีวิตของหนังสือ ถ้าทำไปเรื่อยๆ ขายไปเรื่อยๆ ช่วงแรกอาจขายดี แต่ถ้าเราไม่ปรับปรุงอะไรเลย แม้ว่าเราจะอยู่กับที่ มันก็เหมือนกับถอยหลัง เพราะปัจจัยอื่นๆ มันก้าวหน้าไปเรื่อยๆ อย่าให้น้ำนิ่ง
“งานของอมรินทร์ เป็นงานที่ไม่หยุดนิ่ง มีพัฒนาการในตัวของมันเองมาโดยตลอด เราอาจไม่ได้เน้นเรื่องการแข่งขัน ไม่ได้เน้นเรื่องของกำไร แต่ว่าเราเน้นเรื่องที่ว่ามันเป็นสาระ เป็นอะไรที่รื่นรมย์แก่ผู้อ่าน เมื่อเป็นอย่างนี้ เราก็ประณีตในการผลิต ไม่ว่าเรื่องการแปล การปรูฟ การพิมพ์ อะไรต่างๆ คือใส่ใจให้มีความประณีต เพราะฉะนั้นก็เลยมีบุคลิกค่อนข้างโดดเด่นขึ้น แต่เราก็มีข้อบกพร่องหลายอย่าง ซึ่งเราก็ต้องหาวิธีพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ”
มีครั้งหนึ่งทีมงานบ้านและสวนเหมือนจะทำงานกันหย่อนยานไปหน่อย เช้าวันหนึ่งเมื่อเดินมาที่หน้าประตูทางเข้าบริษัทก็พบประกาศใบโต เขียนด้วยลายมือชูเกียรติ ความว่า ‘เราต้องทำงาน เพราะมีงานต้องทำ’
ความหมายสั้นกระชับ แต่เตือนกันตรงๆ ว่า ไม่ควรปล่อยให้คุณภาพของงานตกไป
ถ้าเรามีคนอ่านหนังสือ หรือรักการอ่านหนังสือ 20-30 ล้านคนนี่ บ้านเมืองเปลี่ยนแน่
อาจด้วยการทุ่มเททำงานอย่างหนัก สะสมความเครียดเอาไว้โดยไม่รู้ตัว วันหนึ่งชูเกียรติจึงพบว่าตนเองเป็นโรคร้าย
เขาสังเกตว่าเวลากินไวน์มากๆ จะเป็นร้อนใน หรือแผลในปากทุกที จึงคิดว่าอาจเป็นแผลในลำไส้ แต่เมื่อไปให้หมอส่องกล้องตรวจ กลับพบว่าเป็นมะเร็ง!
หลังจากผ่าตัดและรักษาอยู่ 1 ปี ก็พบก้อนเนื้อร้ายลุกลามในปอดอีก ชูเกียรติตัดสินใจยกเลิกการรักษาด้วยเคมีบำบัด และเลือกต่อสู้มะเร็งโดยหันมาดูแลสุขภาพตามแนวชีวจิตแทน กินข้าวกล้อง ผักผลไม้ ลดอาหารหวาน มัน ออกกำลังกาย ฝึกผ่อนคลายจากความเครียด วิธีนี้ได้ผลเกินคาดเพราะก้อนเนื้อในปอดหายไป แต่ไม่ได้หมายความว่ามะเร็งหมดไปจากตัวเขาแล้ว
ดังที่คาดไว้ มะเร็งลุกลามขึ้นสมองอีกครั้ง คราวนี้ยากจะรักษา แต่เขามีกำลังใจที่ดีจากครอบครัว และเพื่อนๆ ทำให้สู้ต่อ ในช่วง 2 เดือนที่พักรักษาตัว ชูเกียรติเขียนหนังสือ ‘มะเร็งขึ้นสมอง’ อัตชีวประวัติที่เล่าเรื่องราวชีวิต ธุรกิจ ไปจนถึงการเผชิญโรคร้าย เขาตั้งใจให้เป็นอนุสรณ์ในงานศพของตนเอง รวมทั้งร่วมกับ ดร.สาทิส เปิดตัวนิตยสารชีวจิต ซึ่งเป็นเสมือนคู่มือดูแลสุขภาพของคนไทย
7 ปี หลังจากต่อสู้กับมะเร็ง ในวันที่ 10 ธันวาคม 2545 ชูเกียรติจากโลกนี้ไปอย่างสงบ ด้วยวัย 60 ปีเศษ แต่ผลงานที่สร้างไว้ ยังคงเดินหน้าต่อตามปณิธานเดิม
“ที่อมรินทร์เกิดขึ้นและมาจนถึงวันนี้ เพราะผมไม่ได้มองว่าอมรินทร์ เป็นสมบัติของตัวเองหรือของครอบครัว ผมคิดว่าอมรินทร์เป็นส่วนหนึ่งของสังคม
“ขอให้ผู้บริหารยุคใหม่ให้ความสำคัญต่อการรักษาคุณภาพและเวลา และพัฒนางานของตนไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องตามกระแส เพราะมันจะน่าเบื่อ ไม่เป็นตัวของตัวเอง แต่ให้มีสติรู้ตัวอยู่เสมอในขณะที่ขยันหมั่นเพียร ..อย่าไปบ้าบิ่นหวังรวย หากำไรถ่ายเดียว
“ทำหนังสือช่วยให้เกิดหนังสือดีๆ ที่จะช่วยยกระดับความรู้และจิตวิญาณของผู้อ่าน..”
เป็นความต้องการที่เขาฝากไว้ในคำขวัญบริษัทว่า ‘เราทำงานเพื่อความสุขและความรุ่งโรจน์ของสังคม’
ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์อมรินทร์ ร้านนายอินทร์ และนิตยสารชั้นนำของเมืองไทย ผู้เปิดโลกการอ่านให้คนไทยมามากมายหนังสือ
เส้นทางของวรรณกรรมเยาวชน ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ หนังสือที่จุดกระแสการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และเพลิดเพลินกับเวทมนตร์และการผจญภัยของพ่อมดน้อยกับผองเพื่อน
นักเขียนนิทานเด็ก เจ้าของผลงาน ‘อีเล้งเค้งโค้ง’ กับความฝันอันยิ่งใหญ่ที่อยากยกระดับการอ่านให้เด็กไทยทั่วประเทศ
ย้อนตำนานนิตยสารอันดับ 1 ตลอดกาลของเมืองไทย คู่สร้างคู่สม ผ่านเรื่องราวของบรรณาธิการตัวจริงเสียงจริง
จากข้าราชการหนุ่มอนาคตไกลสู่นักโทษการเมือง กับภารกิจสร้างดิกชันนารีที่ทำให้ชีวิตของเขากลับมามีความหมายอีกครั้ง
นักแปลสองพี่น้อง ผู้คร่ำหวอดในแวดวงนิยายจีนกำลังภายใน และเป็นเจ้าของผู้สร้างผลงานที่แรงบันดาลใจให้นักอ่านมาแล้วนับไม่ถ้วน
โลกดนตรี ตำนานรายการคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ที่ศิลปินยุค 1970-2000 อยากขึ้นแสดงมากที่สุด เพราะใครที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีนี้ แสดงว่าดังแล้ว
ห้องทดลองกฎหมายของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่ทำงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิเรื่องสัญชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
นักออกแบบแดนปัตตานีที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพจำๆ เดิมของชายแดนใต้ ไปสู่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์
จากครูอาสาที่มาสอนดนตรีในชุมชนคลองเตย สู่การต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ที่จะเติบโตอย่างงดงาม
แรงบันดาลใจของพระอีสานผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.