ชีวัน วิสาสะ : ฝันยิ่งใหญ่ของครูผู้อยากพานิทานไปทั่วไทย

<< แชร์บทความนี้

เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้วที่หนังสือเล่มบางๆ อย่าง ‘อีเล้งเค้งโค้ง’ เรื่องราวของห่านหน้าบึ้งที่ไม่ยอมพูดจา ส่งแต่เสียงร้องเพลง ‘อีเล้งเค้งโค้ง’ ยึดกุมหัวใจเด็กไทยมาหลายต่อหลายรุ่น

ด้วยเนื้อเรื่องที่เข้าถึงง่าย สนุกสนาน สามารถทำให้ทุกคนมีส่วนร่วม แถมยังแฝงไปด้วยความจริงของสังคม

ไม่แปลกเลยที่อีเล้งเค้งโค้งได้พิมพ์ออกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 20 รอบ รวมยอดพิมพ์หลายหมื่นเล่ม ซึ่งถือว่าสูงมากสำหรับหนังสือเด็กเล่มหนึ่งในเมืองไทย แถมยังต่อยอดออกลูกออกหลานมาอีกหลายเวอร์ชัน ทั้ง อีเล้งเค้งโค้งเยือนอยุธยา อีเล้งเค้งโค้งจับแมลง อีเล้งเค้งโค้งลุยน้ำท่วม ฯลฯ

แต่ผู้ที่อยู่เบื้องหลังอย่าง ชีวัน วิสาสะ มีความฝันที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น

เพราะนอกจากการสร้างผลงานที่เปี่ยมด้วยคุณภาพแล้ว เขายังอยากให้เด็กไทยได้เข้าถึงหนังสือดีมีประโยชน์ จนนำไปสู่การซื้อรถตู้และนำหนังสือนิทานไปอ่านและแจกให้เด็กๆ ทั่วประเทศ ด้วยความเชื่อว่า หนังสือเด็กนั้นมีพลังมหาศาล สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็กหลายคนได้ แม้บางครั้งจะไม่มีตัวอักษรเลยก็ตาม เพราะสิ่งที่แฝงอยู่ภายใต้เรื่องราว คือ จินตนาการและการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด

ไม่เพียงแค่นั้น เขายังริเริ่มโครงการจัดทำหนังสืออีเล้งเค้งโค้ง 77 จังหวัด เพื่อให้เด็กไทยได้รู้จักของดีในบ้านเกิด หรือแม้แต่ช่วงเกิดโรคระบาด ออกเดินทางไปไหนไม่ได้ เขาก็ไม่เคยหยุดพัก แต่หันมาใช้สื่อออนไลน์อ่านนิทานให้เด็กๆ ฟัง

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ อยากพาทุกคนไปพูดคุยกับครูชีวัน’ 1 ใน 30 บุคคลจากโครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก นักผลิตสื่อเด็กแถวหน้าของเมืองไทย ผู้เคยได้รับเชิญไปพูดบนเวทีงานสัปดาห์หนังสือเด็กนานาชาติ ประเทศสวีเดน ถึง 2 ครั้ง ตลอดจนเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนลุกขึ้นมาผลิตผลงานดีๆ เพื่อเด็กและเยาวชน

หนังสือเด็กมีอะไรมากกว่าที่คิด

ความผูกพันของครูชีวันกับหนังสือเด็ก มีสนามหลวงเป็นจุดเริ่มต้น

ย้อนกลับไปเมื่อ 50 กว่าปีก่อน ครูชีวันเติบโตมาในครอบครัวที่รักการอ่าน พ่อของเขาเป็นครูศิลปะที่ชอบหนังสือวรรณกรรมและนิตยสารเป็นชีวิตจิตใจ เวลามีเรื่องราวดีๆ ก็มักจะมาถ่ายทอดให้บุตรชายฟังเป็นประจำ

หากแต่สถานที่ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจแก่เด็กน้อยมากที่สุด คือกองหนังสือในตลาดนัดสนามหลวง ซึ่งพ่อมักจะปล่อยให้นั่งอ่านหนังสือเล่นอยู่เป็นประจำ

หลายคนอาจนึกภาพของตลาดนัดแห่งนี้ไม่ออก ความจริงที่นี่คือตลาดนัดจตุจักรเวอร์ชันดั้งเดิมที่มีสินค้าหลากหลาย ทั้งอุปกรณ์เครื่องใช้ เครื่องประดับ อาหาร โดยโซนหนังสือจะอยู่เยื้องออกไปบริเวณรูปปั้นพระแม่ธรณีบีบมวยผม หนังสือที่มีให้เลือกอ่านก็มีตั้งแต่นิยาย เรื่องสั้น สารคดี นิตยสาร ไปจนถึงหนังสือการ์ตูนเก่าจากต่างประเทศ

“ด้านในตลาดนัดคนแน่นมาก บางทีผมก็ขี้เกียจเข้าไป พ่อเลยปล่อยให้อ่านหนังสือฟรีด้านนอก เราก็ไปอ่านพวกหนังสือเด็กของฝรั่ง อย่างพวกมาร์เวล ดีซี คอมมิกส์ หรือมิกกี้เมาส์ ซึ่งความจริงก็อ่านไม่ออกหรอก ดูภาพมากกว่า แต่มุมหนึ่งก็ทำให้เรากลายเป็นคนรักและผูกพันกับหนังสือ อยากจะเขียนอยากจะวาด”

เด็กชายชีวันใฝ่ฝันอยากมีหนังสือของตัวเอง โดยเวลาอยู่ที่โรงเรียน เขาจะไปหาสมุดเหลือๆ มาเย็บเป็นเล่ม วาดการ์ตูน เขียนเรื่องให้เพื่อนในห้องวนอ่าน พอโตขึ้น เขาก็เลือกเรียนต่อที่วิทยาลัยครูนครปฐม หวังเป็นครูศิลปะตามรอยพ่อ แล้วก็ได้ช่วยเพื่อนๆ ทำหนังสือเด็กส่งอาจารย์ แต่ถึงแม้จะชอบเพียงใด ความรู้ที่มีอยู่ก็จัดว่างูๆ ปลาๆ เท่านั้น

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นช่วงที่ได้ทุนของกระทรวงศึกษาธิการไปเรียนต่อปริญญาตรีที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยตอนนั้นเขาต้องเรียนเอกศิลปะตามวิชาชีพ ส่วนวิชาโทสามารถเลือกได้อิสระ พอดีที่คณะมีวิชาการผลิตหนังสือด้วย จึงใช้โอกาสนี้ตามหาความฝันอีกครั้ง

ครูชีวันได้พบกับครูบาอาจารย์ระดับเกจิหลายคน เช่น อาจารย์วิริยะ สิริสิงห เจ้าของสำนักพิมพ์ชมรมเด็ก, อาจารย์วิชัย พยัคฆโส อดีตผู้อำนวยการองค์การค้าคุรุสภา รวมถึงอาจารย์สมบูรณ์ ศิงฆมานันท์ นักวรรณกรรมเด็กระดับแถวหน้าของเมืองไทย ทำให้ได้เรียนรู้ว่า วรรณกรรมเด็กนั้นซับซ้อนและยากกว่าที่คิด

“อาจารย์สมบูรณ์บอกว่า การทำหนังสือภาพหรือหนังสือสำหรับเด็กนั้น จะต้องทำให้มีชีวิตชีวาและสะกิดให้เราคิด ไม่ต้องเฉลย เพราะถ้าเฉลย ถึงเราจะรู้ว่าเรื่องแบบนี้ แต่มันไม่ทำให้เกิดความรู้ เหมือนเวลาเราเล่นอักษรไขว้ แล้วข้างหลังมีเฉลย ถ้าเราไม่คิดก่อนแล้วเปิดคำตอบเลยได้ไหม เปิดดูได้ แต่คำตอบนั้นมันไม่ใช่ความรู้

อีกเรื่องหนึ่งคือต้องมีการออกแบบให้สอดคล้องกับเรื่อง อย่างหนังสือภาพ ถามว่าเราจะวาดตัวละครให้เต็มหน้าเลยได้ไหม ก็ไม่ผิด แต่บางทีการผลิตหนังสือนั้นต้องมีชั้นเชิง มีเหตุผลของการออกแบบ แม้กระทั่งกรอบหรือพื้นที่ล้วนมีความหมายทั้งหมด เพราะฉะนั้นต้องคิดอย่างละเอียด ทั้งตัวเรื่อง เทคนิค การใช้สี พูดง่ายๆ นี่คือการออกแบบการสื่อสาร ไม่ใช่แค่การเขียนเรื่องหรือภาพเท่านั้น

ครูชีวันเรียนรู้และลงมือเองทุกขั้นตอน กระทั่งปี 2531 เขาก็ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์วิริยะให้ลองส่งผลงานไปยังสำนักพิมพ์ต่างๆ พอดีช่วงนั้น งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติมีกิจกรรมตลาดนัดต้นฉบับ เปิดโอกาสให้นักเขียนหน้าใหม่ส่งผลงานให้ผู้ผลิตพิจารณา เขาจึงหอบหิ้วหนังสือ 3 เล่มแรก คือ หนูจี๊ดกินจุ แข่งไม้เท้า และ หาหางมังกร ไปเสนอให้สำนักพิมพ์ธีรสาส์น ซึ่งก็ได้รับการตอบรับทันที 

จุดเด่นของหนังสือเด็กสไตล์ครูชีวัน คือ ไม่เน้นการสั่งสอนแบบนิทาน แต่ชักชวนให้เด็กๆ รู้จักคิดตาม และมีส่วนร่วมมากที่สุด บางครั้งเขายังนำสถานการณ์โลกมาประยุกต์ และสร้างสรรค์เป็นเนื้อหา อย่างเรื่องแข่งไม้เท้า ซึ่งนำเรื่องสงครามเย็นมาดัดแปลง สร้างเป็นเรื่องใหม่ที่น่าติดตาม

“เราจำลองชุมชนที่มีทั้งลิงกับกระต่าย เป็นสัตว์ที่ไม่มีพิษมีภัย ดูน่ารัก แล้ววันดีคืนดีกระต่ายตัวหนึ่งก็คิดว่าต่อไปอาจมีใครมาแย่งอาหารก็ได้ เราควรป้องกันตัวเองไว้ก่อน แล้วก็มีสิงโตกับแพะมาขายไม้เท้าให้ บอกว่าเป็นอาวุธป้องกันตัวเองได้ คือเนื้อหามันว่าด้วยเรื่องความรุนแรงของอาวุธ ค่อนข้างจะเป็นผู้ใหญ่สักหน่อย” 

แต่ถึงเนื้อหาจะแหวกแนวกว่านักเขียนร่วมยุค แต่ครูชีวันก็ยอมรับว่า ยังอ่อนประสบการณ์ เพราะฉะนั้นหลังลาออกจากราชการเมื่อปี 2534 เขาจึงมุ่งมั่นทำสื่อสำหรับเด็กเต็มตัว ตั้งแต่ผลิตวรรณกรรมเด็ก ช่วยทีมสโมสรผึ้งน้อยทำรายการโทรทัศน์ รวมถึงร่วมทำเวิร์กชอปสอนศิลปะที่ชื่อ ‘ค่ายเด็ก ทัวร์เด็กกินผัก’ ของศูนย์ธรรมชาติบำบัดบัลวี ซึ่งสอนให้เด็กเมืองกรุงหันมากินผัก โดยใช้งานศิลปะเป็นสื่อกลาง

“การที่เราทำรายการเด็ก ทำค่ายเด็ก ทำให้เราได้สื่อสารกับเด็ก เข้าใจตัวตนของเด็กจริงๆ ไม่ใช่เราคิดแต่ฝ่ายเดียว อย่างตอนทำค่าย มันจะมีกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน เอานิทานไปเล่าให้เด็กฟัง ได้เห็นปฏิกิริยา ต้องใช้น้ำเสียงยังไง เล่นมุกแบบไหน ดูแล้วเด็กถึงจะสนุก จากนั้นเราก็นำไปวิเคราะห์ และปรับใช้ในงานหนังสือเด็กอีกที”

การเรียนรู้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ครูชีวันตกผลึกถึงเป้าหมายชีวิต เขาอยากสร้างงานที่กระตุ้นให้เด็กได้เติบโต ได้ไตร่ตรอง รู้จักคิดและจินตนาการ ด้วยความเชื่อว่า นี่คือหนทางของการสร้างคนที่มีคุณภาพแก่สังคมอย่างแท้จริง

แก่นแท้ของหนังสือเด็ก

หลังวนเวียนทำงานสารพัดอยู่พักใหญ่ ในปี 2537 โอกาสของเขาก็มาถึง เมื่อเครืออมรินทร์เปิดสำนักพิมพ์ใหม่ ชื่อ ‘แพรวเพื่อนเด็ก’ พร้อมเชิญ Mr.Tadashi Matsui ประธานสำนักพิมพ์ Fukuinkan Shoten มาเป็นที่ปรึกษา 

ที่นี่เองคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ครูชีวันกลายมาเป็นนักสร้างสรรค์วรรณกรรมเด็กเต็มตัว

ตอนนั้นครูชีวันรับหน้าที่เป็นกองบรรณาธิการ คอยขัดเกลาเนื้อหา ภาพวาด และองค์ประกอบอื่นๆ ให้สมบูรณ์ หากแต่บุคคลที่กำหนดทิศทางการทำงานทั้งหมด คือ ปรมาจารย์หนังสือเด็กจากญี่ปุ่นนั่นเอง

เพราะธรรมชาติของเด็กนั้นมีความอยากรู้อยากเห็นเป็นทุนเดิม และสิ่งนี้นี่เองที่ช่วยเรื่องพัฒนาการของระบบประสาท และเซลล์สมอง ดังนั้นหนังสือที่อาจารย์ Matsui เลือกมาจัดพิมพ์ส่วนใหญ่จึงเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเด็กๆ หรือไม่ก็เป็นเรื่องที่คนไทยคุ้นเคยกันดี เช่น กระต่ายกับเต่า ราชสีห์กับหนู

แต่สิ่งที่อาจารย์ Matsui ให้ความสำคัญยิ่งกว่าคือ การสื่อสารด้วยภาพ เพราะภาพจะช่วยให้เด็กจินตนาการหรือต่อยอดเนื้อหาหรือเรื่องราวที่ปรากฏในหนังสือได้ชัดเจนขึ้น หรือบางครั้งต่อให้หนังสือไม่มีตัวอักษรอะไรเลย แต่พอเห็นภาพก็สามารถเข้าใจและเรียนรู้ได้ทันที

แต่แน่นอน การจะสร้างผลงานแบบนั้นได้ ทัศนคติและความเข้าใจว่าเด็กต้องการอะไรเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องหนึ่งที่อาจารย์พยายามชี้แนะนักสร้างสรรค์แต่ละคน คือ การหาแก่นความคิดของเรื่องให้เจอ ส่วนเทคนิคต่างๆ เป็นเรื่องรอง และมีหน้าที่คอยสนับสนุนการเล่าเรื่องให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

อย่างหนังสือเล่มสำคัญที่อาจารย์ Matsui มีส่วนชี้แนะก็คือ อีเล้งเค้งโค้ง ซึ่งตีพิมพ์ออกมาเมื่อปี 2537

ความจริงแล้ว ครูชีวันเขียนหนังสือเล่มนี้มาตั้งแต่ปี 2534 โดยได้ไอเดียตอนเข้าเวิร์กชอปของสุดยอดนักเขียนหนังสือเด็กชาวออสเตรียที่ชื่อ Ernst A.Ekker

“ตอนนั้นแกเอาภาพจากหนังสือเล่มหนึ่งมาให้ดู เป็นภาพของปลาโลมากำลังกระโดดอย่างร่าเริง แล้วมุมหนึ่งก็มีนกกำลังทำหน้าหงุดหงิด ผมจึงดึงเอาประสบการณ์วัยเด็กที่เราเคยเลี้ยงห่าน แล้วห่านมันขี้หงุดหงิด ขี้โมโห ก็เอาจุดนี้มาแต่งเป็นเรื่อง โดยใช้แพตเทิร์นเรื่องคำคล้อง ส่วนคำว่าอีเล้งเค้งโค้ง ก็มาจากเสียงเคาะกระทะที่ดังอีโล้งโช้งเช้ง”

เนื้อหาของอีเล้งเค้งโค้งเล่าถึงห่านตัวหนึ่งที่มีโอกาสได้ไปเที่ยวเมืองกรุง แต่สุดท้ายก็พบว่า ไม่มีที่ไหนสุขใจเหมือนบ้านเรา โดยจุดเด่นของหนังสือคือการเล่นกับเสียง เช่น ‘มีห่านตัวหนึ่ง หน้าบึ้งหน้าบูด ไม่เอ่ยปากพูด หน้าบูดทั้งวัน แต่ห่านตัวนั้น ส่งเสียงเป็นเพลง อีเล้งเค้งโค้ง’ โดยเนื้อหาแต่ละหน้าจะลงท้ายเรื่องด้วยคำว่า ‘อีเล้งเค้งโค้ง’

แต่กว่าหนังสือจะเป็นรูปเป็นร่าง ครูชีวันต้องปรับเปลี่ยนอยู่หลายรอบ ทดลองออกแบบ ทดลองวาด ใช้เทคนิคต่างๆ ในการลงสีอยู่นานหลายปี รวมทั้งเคยเสนอให้สำนักพิมพ์หนึ่งจัดพิมพ์ แต่ได้รับคำปฏิเสธกลับมา กระทั่งเมื่อมาทำงานที่แพรวเพื่อนเด็ก จึงตัดสินใจนำเสนออาจารย์ Matsui

ครั้งนั้น ท่านชี้แนะว่า อีเล้งเค้งโค้งมีจุดเด่นอยู่ที่การเล่นเสียง หากครูใช้สีหนักเกินไป ภาพก็จะดูตัน ไม่กระตุ้นให้เด็กๆ อยากเปล่งเสียงออกมา แต่ถ้าใช้สีน้ำที่โปร่ง แม้ภาพอาจดูไม่สวยเท่า แต่ก็ทำให้คนอ่านรู้สึกอยากมีส่วนร่วมมากกว่า ซึ่งหลังจากเขานำข้อเสนอนี้ไปปรับปรุงงาน พร้อมทดลองอ่านให้เด็กๆ ฟัง ปรากฏว่าได้รับเสียงตอบรับดีมาก

จึงไม่แปลกเลยที่อีเล้งเค้งโค้งได้กลายเป็นหนังสือในใจของเด็กไทยหลายต่อหลายรุ่น รวมทั้งยังเกิดเวอร์ชันใหม่ๆ เช่น อีเล้งเค้งโค้งจับแมลง เมื่อปี 2553 ซึ่งสอดแทรกความรู้เรื่องแมลง และการอยู่ร่วมกันกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

“หนังสือภาพสำหรับเด็ก มันไม่ใช่แค่สวยกับไม่สวย แต่ภาพที่ออกมายังต้องสอดคล้องกับเรื่อง ทำให้เกิดความคิดอะไรบางอย่างขึ้นมา โดยไม่จำเป็นว่าภาพต้องสวยเสมอไป แต่ต้องเข้าใจว่าทำไมถึงออกมาแบบนี้”

ผลจากการคลุกคลีและซึมซับประสบการณ์จากอาจารย์ Matsui มาต่อเนื่องหลายปี ทำให้เขาเข้าใจถึงแก่นแท้ของการทำหนังสือสำหรับเด็ก ซึ่งทั้งหมดนี้กลายเป็นพื้นฐานในการสร้างผลงาน 50-60 เล่ม ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี

นิทานเดินทางสู่โลกกว้าง

คงไม่มีประโยชน์ใดๆ หากเด็กไทยไม่สามารถเข้าถึงหนังสือดีมีประโยชน์ได้

ในปี 2556 ครูชีวันจึงเริ่มโครงการสำคัญในชีวิตคือ ‘นิทานเดินทาง’ ด้วยการขนหนังสือหลายสิบเล่มขึ้นรถตู้เดินสายไปตามจังหวัดต่างๆ เพื่อนำไปมอบให้เด็กไทยทั่วประเทศ

เพราะสำหรับครูแล้ว นิทานมีความสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กทุกคน แต่ที่ผ่านมายังมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่เข้าไม่ถึงหนังสือ หรือบางครั้งแม้ผู้ปกครองจะให้ความสำคัญ แต่ก็พบอุปสรรคเรื่องการเลือกหนังสือดีที่เหมาะสมกับช่วงวัย และกระตุ้นให้เกิดจินตนาการ ครูจึงอยากให้โครงการนี้เป็นตัวจุดประกาย และสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับหนังสือ รวมทั้งยังเป็นเครื่องมือที่ดีในการสานสัมพันธ์ภายในครอบครัวด้วย

“หนังสือที่นำไปใช้มันมีแพตเทิร์นที่ดี เหมาะสำหรับที่พ่อแม่จะนำไปอ่าน แล้วเข้าไปสู่หูของลูก มันมีลำดับมีขั้นตอน ถูกออกแบบมาแล้วเพื่อกระตุ้นพัฒนาการเด็ก แต่ถึงอย่างนั้นเราก็อยากให้หนังสือเหล่านี้เป็นเหมือนสารตั้งต้นให้เขารักหนังสือก่อน ไม่ต้องถึงขั้นรักการอ่านหรอก เพราะเด็กบางคนไม่เคยจับหนังสือเลยด้วยซ้ำ เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ เราก็อยากสร้างความรู้สึกว่า หนังสือนี่มันดีนะ อ่านไม่ยาก เพียงแต่เราอาจต้องอธิบายวิธีการใช้หนังสือให้เขาฟังด้วย”

สำหรับแรงบันดาลใจนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ครูชีวันยังเป็นนิสิตที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เขาเคยช่วย อาจารย์สมบูรณ์ ศิงฆมานันท์ ทำโครงการชื่อว่า ‘บรรณนิทัศน์เคลื่อนที่’ นำหนังสือเด็กใส่ตู้ไปมอบให้ครูในโรงเรียนต่างจังหวัด พร้อมกับลงไปทำกิจกรรมอ่านหนังสือให้เด็กฟังด้วย จึงฝันว่า ถ้าวันหนึ่งมีโอกาสก็อยากทำโครงการแบบนี้อีก

“ที่ผ่านมาเราต้องสร้างตัว ต้องส่งเสียลูกเรียน แต่ตอนหลังมีโอกาสได้ไปบรรยายตามพื้นที่ต่างๆ แล้วลูกเองก็เรียนใกล้จบ จึงคิดว่าคงได้เวลาแล้ว เลยตัดสินใจซื้อรถตู้เล็กๆ แล้วแกะเบาะออก ทำเป็นแผงหนังสือ ส่วนหนังสือ ก็ใช้ของที่สะสมนั่นแหละ เพราะปกติเวลาพิมพ์จะมีโควตาสำหรับนักเขียน 1 เปอร์เซ็นต์ พิมพ์ 3,000 เล่ม เขาก็ส่งมาให้เรา 30 เล่ม ส่วนที่เหลือเราก็ใช้โควตานักเขียนฝากซื้อลด  20 เปอร์เซ็นต์ เอาไปแจกครั้งละ 70-80 เล่ม”

ครูชีวันตั้งใจว่า จะเดินทางให้ได้เดือนละจังหวัด โดยจังหวัดแรกที่ทดลองคือ นครปฐม เนื่องจากเขาอาศัยอยู่ที่นั่น จากนั้นจึงมุ่งสู่ยโสธร เพราะเขาเป็นวิทยากรในโครงการ ‘ยโสธรเมืองแห่งการอ่าน’ อยู่นานหลายปี

ข้อดีของการทำกิจกรรมที่ยโสธรคือความต่อเนื่อง เพราะการจะปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้เกิดขึ้นในใจของเด็กๆ ต้องอาศัยความทุ่มเท แรงกาย แรงใจ และทุนทรัพย์ โดยบุคลากรหลักที่ครูชีวันทำงานด้วยคือ บรรดาเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งปกติมีหน้าที่ลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจเรื่องการดูแลสุขภาพ และป้องกันโรคระบาดอยู่แล้ว

เรื่องหนังสือก็เหมือนกลไกเสริมที่เข้ามาช่วยสื่อสารเรื่องสุขภาพ เพราะเราสามารถใส่ประเด็นต่างๆ ที่เด็กควรรู้เข้าไปได้ และพอมีอะไรเปลี่ยนแปลง เจ้าหน้าที่ก็จะช่วยบันทึกข้อมูลเก็บไว้ให้ ซึ่งกรณีที่น่าสนใจ เช่น เด็กที่พ่อแม่เป็นใบ้ หรือตาบอด ถามว่าเด็กพวกนี้จะเข้าถึงหนังสือได้อย่างไร เจ้าหน้าที่เขาก็ใช้วิธีเอาไปให้ญาติช่วยอ่าน หรือเด็กที่ติดมือถือ เพราะพ่อแม่ไม่มีเวลาให้ จนกลายเป็นคนมีอารมณ์ฉุนเฉียว ไม่พูดไม่จา ทางเจ้าหน้าที่ก็เอาหนังสือภาพไปอ่าน แล้วให้เด็กนั่งตัก แล้วก็ให้แม่มาดูด้วย พร้อมกับบอกเขาว่า อยากจะให้ลูกมีพัฒนาการดีขึ้น ต้องทำแบบนี้นะ ทดลองทำแค่อาทิตย์เดียว ปรากฏว่าพัฒนาการดีขึ้นเลย เริ่มยอมพูดคุยด้วย

ครูชีวันให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ไปด้วยกัน พ่อแม่ ครูอาจารย์ ต้องฝึกวิธีการสื่อสารกับเด็กให้ถูกต้อง เพราะอย่างเวลาอ่าน นอกจากเด็กจะฟังเสียงของผู้ใหญ่แล้ว สายตาของพวกเขายังไล่ดูภาพต่างๆ ไปด้วย จากนั้นจึงนำสิ่งที่ได้เห็นและได้ยินมาสร้างเป็นภาพเคลื่อนไหว เกิดเป็นจินตนาการขึ้นมา ดังนั้นเวลาอ่าน ผู้ใหญ่จึงต้องมีอารมณ์ร่วมด้วยเสมอ เพราะน้ำเสียง ลีลา ท่าทางจังหวะจะโคนทุกอย่างล้วนส่งผลต่อความสนใจของเด็ก

ข้อดีอย่างหนึ่งของหนังสือที่ครูเตรียมมา คือ การใช้ถ้อยคำที่เสริมทักษะเหล่านี้ เช่น เขียนเป็นกลอนสี่แบบง่ายๆ เน้นใช้คำคล้องจองที่คุ้นปาก อย่าง ไปไหนมาไหน กินข้าวกินปลา รวมทั้งยังออกแบบบุคลิกของตัวละครให้เด่นชัด เวลาผู้ใหญ่อ่านให้เด็กฟังก็จะสามารถเล่นเสียงหรือปรับอารมณ์ให้สอดคล้องกับเรื่องราวได้

“ถ้าเราอยากให้หนังสือส่งผลดีต่อเด็ก ผู้ใหญ่นั่นแหละที่ต้องทำงานต่อเนื่อง ส่วนผมมีหน้าที่แค่จุดประกายเท่านั้น เพราะเราไม่ได้อยู่กับเขาตลอด เขาอยู่กับพ่อแม่ต่างหาก ดังนั้นพ่อแม่ต้องรับไม้ต่อ ไปทำความเข้าใจ เวลาเราไปมอบหนังสือให้ 3-5 เล่ม ใช้ไม่เท่าไหร่มันก็วนครบแล้ว แต่ถ้าเขาเห็นความสำคัญ เขาก็จะขวนขวายหามาเพิ่มเติมเอง” 

อย่างไรก็ตาม แม้การทำงานที่ยโสธรจะประสบความสำเร็จด้วยดี ทว่าในจังหวัดอื่นๆ ครูชีวันยอมรับว่า อาจเห็นผลค่อนข้างน้อย เนื่องจากมีเวลาจำกัดมาก แต่ถึงอย่างนั้นก็นับเป็นโอกาสดีที่เด็กไทยจะได้เข้าถึงหนังสือดีที่มีประโยชน์ ที่สำคัญยังช่วยให้เขาเข้าใจว่า ความจริงแล้วยังมีคนอีกมากมายที่ต้องการหนังสือ

“เวลาไปต่างจังหวัดแล้วเจอเด็กปั๊มซึ่งเป็นผู้ใหญ่ เขาก็จะมาดูที่หน้ารถซึ่งติดสติกเกอร์ ดูแบบสนใจเลย ครูก็จะถามเขาว่า มีลูกหรือเปล่า ซึ่งส่วนใหญ่จะตอบว่ามี หรือถ้าไม่มีก็ถามว่ามีหลานไหม จากนั้นเราก็ให้หนังสือเขาไป ซึ่งพอเขาได้ไปแล้วก็เอาไปอวดเพื่อนเด็กปั๊มด้วยกัน หลังจากนั้นก็ยกโขยงมาเลย รายงานตัวว่า คนนี้ก็มีลูกนะ ซึ่งเราก็จะหยิบหนังสือ หยิบสีเทียนให้ เพราะเราทำอีเล้งเค้งโค้งเวอร์ชันระบายสีด้วย ถือเป็นการแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้เด็กๆ”

นอกจากนี้ เขายังต่อยอดด้วยการทำโครงการกับเด็กในโรงพยาบาล ซึ่งไม่มีโอกาสได้ไปโรงเรียน หรือเล่นของเล่นเหมือนคนอื่น ได้ใช้หนังสือภาพเป็นเพื่อนคลายเหงา เป็นกำลังใจในการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ และเป็นกิจกรรมที่สมาชิกภายในครอบครัวจะได้ทำร่วมกัน

อีกฝันหนึ่งที่เขาอยากทำควบคู่ไปด้วยคือ ‘อีเล้งเค้งโค้ง 77 จังหวัด’ เพราะเขาเชื่อว่า เด็กๆ ควรรู้จักบ้านเกิดของตัวเองให้มากที่สุด เพื่อจะได้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ และพยายามสร้างสรรค์สิ่งดีๆ แก่สังคม

ตอนแรกที่เสนอแนวคิดนี้ต่อสำนักพิมพ์ต่างๆ แทบไม่มีใครตอบรับเลย แต่เมื่อโครงการนิทานเดินทางที่ยโสธรเริ่มเห็นผล เขาจึงมีโอกาสได้ทำหนังสือเล่มแรกคือ อีเล้งเค้งโค้งเยี่ยมยามยโสธร ก่อนต่อยอดมาสู่เล่มอื่นๆ เช่น อีเล้งเค้งโค้งเยือนอยุธยา นำเสนอของดีในกรุงเก่ามากมาย ทั้ง วัด วัง ขนม ของเล่น และหวังว่าจะสามารถผลิตจนครบทุกจังหวัดทั่วประเทศไทยได้ในเร็ววัน

ถ้าเราอยากให้หนังสือส่งผลดีต่อเด็ก ผู้ใหญ่นั่นแหละที่ต้องทำงานต่อเนื่อง ส่วนผมมีหน้าที่แค่จุดประกายเท่านั้น เพราะเราไม่ได้อยู่กับเขาตลอด เขาอยู่กับพ่อแม่ต่างหาก ดังนั้นพ่อแม่ต้องรับไม้ต่อ ไปทำความเข้าใจ

ชีวัน วิสาสะ : ฝันยิ่งใหญ่ของครูผู้อยากพานิทานไปทั่วไทย

ไม่มีอะไรมาหยุดฝันได้

กลางปี 2563 หนังสือเล่มเล็กๆ ความยาว 8 หน้า ชื่อว่า อีเล้งเค้งโค้งอยู่บ้าน…ต้านโควิด ถูกปล่อยบนหน้าเฟซบุ๊กของครูชีวัน เชื่อหรือไม่ว่า เพียงไม่กี่วันมียอดแชร์เกือบพันครั้ง

ครูชีวันใช้เวลาช่วงวันอาทิตย์เขียนหนังสือเล่มนี้ หลังโครงการนิทานเดินทางต้องพักไว้ก่อน เพราะผลพวงจากโรคระบาด

เขาตั้งใจอยากให้อีเล้งเค้งโค้งฉบับพิเศษ เป็นสื่อให้พ่อแม่ลูกได้เรียนรู้วิธีปฎิบัติตัวอย่างเหมาะสมท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด เช่นไปไหนมาไหน ให้ใส่หน้ากาก ปิดปากปิดจมูก หรือเวลาไปธุระ ก็ต้องมีระยะห่างกัน 2 เมตร เพราะต้องยอมรับว่า สังคมในเวลานั้นเต็มไปด้วยความสับสน หลายคนไม่รู้ว่า อะไรทำได้หรือทำไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมแฝงกลเม็ดที่จะดึงให้เด็กๆ รู้สึกอยากมีส่วนร่วม ด้วยการทำเป็นฉบับขาวดำ ที่ทุกคนสามารถระบายสีได้

“เราอยากสร้างให้เกิดพฤติกรรมที่ยั่งยืน เด็กก็ทำ ผู้ใหญ่ก็ทำ จนกลายเป็นสิ่งที่เราทำโดยธรรมชาติ เป็นปกติ ทั้งในตอนนี้ และทำต่อไปในอนาคต แล้วเราก็จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ”

กระแสชื่นชมและประโยชน์ของหนังสือ ส่งผลให้มิตรสหายหลายคนขอนำไปแปลเป็นเวอร์ชันภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่น และที่สำคัญ มีหน่วยงานต่างๆ เช่น แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ขอต้นฉบับไปจัดพิมพ์เป็นเล่ม และช่วยเผยแพร่ลิงก์ดาวน์โหลด จนกระจายไปสู่วงกว้าง

สำหรับครูชีวันแล้ว นี่คือพลังของสื่อเล็กๆ ที่สามารถสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้

เช่นเดียวกับโครงการนิทานเดินทาง แม้ครูจะออกไปไหนไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านิทานของเขาจะต้องหยุดชะงัก เพราะถึงจะอยู่ที่ไหนก็สามารถเล่านิทานได้

ครูชีวันถือโอกาสนี้เปิดช่อง YouTube ของตัวเอง ทำรายการเล็กๆ ชื่อ ‘อยู่บ้านดูครูชีวัน’ สอนเล่านิทานและประดิษฐ์ของเล่นแบบง่ายๆ แม้จะเป็นสื่อใหม่ที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน แต่ครูชีวันก็พร้อมที่จะเรียนรู้ ทดลองตั้งกล้องถ่ายเอง และตัดต่อเอง จนรายการเสร็จสมบูรณ์ แถมมีแฟนคลับติดตามอย่างเหนียวแน่น

ไม่เพียงแค่นั้น เขายังต่อยอดโครงการด้วยการขอทุนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เห็นประโยชน์ของหนังสือภาพ จนเกิดเป็นโปรเจกต์ ‘นิทานเดินทางออนแอร์’ ซึ่งนอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อเด็กแล้ว ยังต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่กลุ่มพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายว่า ทุกคนสามารถเรียนรู้วิธีสื่อสารกับเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากรับชมแล้ว สนใจอยากสมัครเป็นอาสาพาอ่าน นำหนังสือดีๆ ไปอ่านให้เด็กฟัง ก็สามารถติดต่อเข้ามาได้เลย

แม้ทั้งหมดนี้จะเป็นเพียงความพยายามของครูนักสร้างสรรค์หนังสือตัวเล็กๆ หากแต่ความตั้งใจนี้กลับช่วยต่อเติมและสร้างโอกาสการเรียนรู้ให้แก่ผู้คนมากมาย

สำหรับครูชีวันแล้ว เขามีฝันยิ่งใหญ่ที่อยากเห็นเด็กไทยได้เข้าถึงหนังสือดีๆ ได้มากที่สุด ต่อให้รู้ว่าทำยาก ก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ที่สำคัญกว่า คือการที่เขาได้เพาะเมล็ดพันธุ์การอ่านให้เกิดขึ้นในใจของใครหลายคน ซึ่งสุดท้ายสิ่งเหล่านี้ก็จะติดตัวไป พร้อมถ่ายทอดจากสู่รุ่นสู่ต่อไปเรื่อยๆ

และนั่นเองคือหนทางแห่งความยั่งยืนที่แท้จริง

โครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก

คนเล็กเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 30 บุคคลผู้สร้างสังคมที่ยั่งยืน และช่วยกันสร้างคุณค่าสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นประเทศ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ชีวัน วิสาสะ คือบุคคลต้นแบบประเด็นสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพ อย่างครอบคลุม เท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (SDGs ข้อที่ 4) และประเด็นลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ (SDGs ข้อที่ 10)

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.