หากพูดถึงนักเขียนนวนิยายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกวรรณกรรมไทย เชื่อว่า ‘พนมเทียน’ คงเป็นชื่อลำดับแรกๆ ที่ทุกคนนึกถึง
เพราะกว่า 70 ปีที่เลือกเดินบนเส้นทางสายนี้ เขาได้ฝากผลงานระดับมาสเตอร์พีชไว้นับไม่ถ้วน ตั้งแต่ จุฬาตรีคูณ แววมยุรา เล็บครุฑ แต่ที่เป็นอันดับ 1 ในใจ คงต้องยกให้ ‘เพชรพระอุมา’ มหากาพย์การเดินไพรอันยิ่งใหญ่ของ รพินทร์ ไพรวัลย์ ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กหนุ่มสมัยก่อนใฝ่ฝันอยากจะเข้าป่าผจญภัย ไปใช้ชีวิตแบบนายพรานดูสักครั้ง
แม้ศิลปินแห่งชาติผู้นี้จะจากไปอย่างสงบ ด้วยวัย 89 ปี แต่ผลงานกว่าครึ่งร้อยที่เขารังสรรค์ขึ้น ก็ไม่เคยหายไปไหน
เพื่อรำลึกถึงผู้สร้างโลกแห่งจินตนาการให้นักอ่าน ยอดมนุุษย์..คนธรรมดา อยากขอพาทุกท่านไปสัมผัสเรื่องราวความคิดและตัวตนของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาล
พนมเทียน-ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ
“ผมไม่เคยคิดเขียนยาวขนาดนี้ คิดว่าจะเป็นพ็อกเก็ตบุ้คแบบเล่มละ 3 บาท สัก 7-8 เล่มจบ.. ทีนี้พอเขียนไปเขียนมา มันแตกลูกหลานเยอะ” พนมเทียน เล่าถึงความตั้งใจในการสร้างสรรค์ ‘เพชรพระอุมา’ ผลงานที่กลายมาเป็นโลโก้ประจำตัวถึงปัจจุบัน
เพชรพระอุมา เป็นงานที่พนมเทียนเขียนขึ้นให้สำนักพิมพ์ผ่านฟ้า เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2508 หลังจากน้อย อินทนนท์ เจ้าของผลงาน ‘ล่องไพร’ ที่เขาให้ความเคารพอย่างสูง จากไป โดยได้แรงดลใจมาจาก King Solomon’s Mines ของ Sir H. Rider Haggard บวกกับประสบการณ์ในวัยเยาว์ที่เคยใช้ชีวิตอยู่บ้านป่า
พนมเทียนเล่าว่า เมื่อตอนเด็ก เขาย้ายไปอยู่บ้านประจำตระกูลที่สายบุรี ปัตตานี เดิมทีที่นี่เคยเป็นเหมืองทองโต๊ะโมะที่ใหญ่สุดของประเทศ เขาใช้ชีวิตขลุกอยู่กับบรรดานายพรานพื้นเมือง แล้วก็เริ่มเรียนรู้การล่าสัตว์ ยิงหนังสติ๊ก ไม้ซาง ปืนลม
“แรกๆ ก็ยิงนกเล็กๆ ไปก่อน พอปืนลมก็เริ่มยิงกระรอก แย้ ไกลๆ ต่อมาก็เป็นลูกกรด ยิงค่าง ยิงนกที่ใหญ่กว่า ต่อมาขยับเป็นลูกซอง ยิ่งค่าง ยิงหมูป่า แล้วก็มาเป็นไรเฟิล บรรพบุรุษผมเป็นนักเดินป่า
“ผมเป็นคนทำบาปขึ้น ยิงอะไรจะถูกเสมอ..อย่างบางทีผมก็ยิงไม่ตั้งใจนะ ยิงสกัดหน้าสกัดหลัง ก็ยังไปถูกมัน มีสัตว์ชนิดเดียวที่ผมไม่ล่าคือช้าง เพราะเราตั้งสัตย์ปฏิญาณไว้ในใจว่า เขาเป็นสัตว์ใหญ่เหลือเกิน ถ้าหากว่าไม่ใช่ป้องกันชีวิตตัวเองหรือผู้อื่นที่ไปด้วยกันแล้ว จะไม่ยิงเป็นอันขาด”
เพราะฉะนั้น ตัวละคร สถานที่ หรือแม้แต่ฉากในเพชรพระอุมา จึงมีรากฐานจากความจริง อย่าง ตาบุญคำ ก็เป็นพรานมุสลิม ซึ่งทำงานอยู่กับตาของเขา หรือ หนองน้ำแห้ง ก็เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในกาญจนบุรี ทุกคนเป็นคนเถื่อน ไม่ปรากฏในสำมะโนประชากร เพราะราชการยังสำรวจไปไม่ถึง
เมื่อคิดจะเริ่มต้นเรื่องใหม่ พนมเทียนจึงเริ่มวางพล็อต เขียนโครงสร้างตัวละครที่อยากเห็น รวมถึงวางเหตุการณ์ที่จะเชื่อมโยงเรื่องเข้าไว้ด้วยกัน
ตัวละครของพนมเทียน ล้วนมีเสน่ห์ น่าค้นหา อย่าง ‘รพินทร์ ไพรวัลย์’ หากสังเกตจะเห็นว่าเป็นชื่อที่อ่อนหวานมาก เหตุหนึ่งก็เพราะพนมเทียนอยากให้ตัวละครนี้มีความคิดลึกซึ้ง และมีความโรแมนติกแฝงในความกล้า ความแข็งกร้าว
“รพินทร์เป็นคนที่ไม่อยากทำร้ายคนอื่น แม้แต่การฆ่าสัตว์ ก็ไม่ยิงทิ้งยิงขว้าง จะยิงเฉพาะเป็น อาหารหรือป้องกันชีวิตคนอื่น ผิดกับพวกเจ้านายที่ยิงกันคะนองมือจริงๆ
“หรืออย่างแงซาย เขาเก่งกว่ารพินทร์ในบางแง่ แต่บารมียังไม่ถึง ที่ผมสร้างแงซายให้เด่น เป็นเทคนิกการเขียน นักประพันธ์ส่วนใหญ่ผมเข้าใจว่า ถ้าเป็นพระเอกแล้ว ต้องไม่มีใครมากิน เมื่อรพินทร์เก่งเป็นคนเด่นขนาดนี้แล้วเขาต้องมีจุดอ่อนบ้าง เป็นไข้มาเลเรียบ้างล่ะ หรือถ้าในแง่รูปหล่อ ก็จะต้องมีคนเหนือกว่า เพราะฉะนั้นตัวนี้จะมาเป็นตัวรองรับอารมณ์ ทำให้มันเด่นกว่า หล่อกว่าเสียหน่อย เรียกว่าศิลปะในการเขียน แงซายเขาเป็นคนเล่ห์ลึก แต่ถึงมีเล่ห์เขาก็น่ารัก”
แต่ทั้งนี้ ตัวละครทั้งหมดจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของมนุษยธรรม จริยธรรมและคุณธรรม ซึ่งเป็นอุดมคติที่เขาคิดว่า คนในสังคมควรต้องมี
ส่วนการวางโครงสร้างเรื่อง พนมเทียนเล่าเคล็ดลับว่า เขาจะนำตัวละครและเหตุการณ์ต่างๆ มาลองผูกเป็นเรื่อง แล้วค่อยมาพิจารณาความสมบูรณ์ ความเป็นเหตุเป็นผล ถ้าจุดไหนที่รู้สึกว่าบิดๆ เบี้ยวๆ ก็จะปรับแก้ให้เรียบร้อย ถึงจึงค่อยมาพัฒนาเป็นตัวเรื่อง
ไม่แปลกเลยว่า ทำไมเพชรพระอุมา จึงกลายเป็นเรื่องยาวที่มีครบทั้งความสนุก พัฒนาการของตัวละครแต่ละตัว รวมถึงกลวิธีการเล่าที่น่าติดตาม และส่งผลให้เป็นงานที่มีแฟนประจำตั้งแต่เริ่มเปิดฉาก และกลายเป็นวรรณกรรมที่ยาวกว่าความตั้งใจครั้งแรกมาก เพราะยิ่งเขียนไปก็ยิ่งมันมือ อยากแต่งเติม เสริมรายละเอียดให้เห็นภาพเหตุการณ์ได้ชัดเจนที่สุด
นอกจากนี้ เพชรพระอุมา ยังถือเป็นงานที่พนมเทียนหอบหิ้วไปด้วยเสมอ ตั้งแต่เขาไปรับหน้าที่เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการนิตยสารจักรวาลรายสัปดาห์ ต่อมาเมื่อขัดแย้งกับหุ้นส่วน เขาก็นำไปเขียนต่อที่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และสุดท้ายพอมาตั้งนิตยสารจักรวาลปืน เพชรพระอุมาก็ยังเป็นจุดขายสำคัญ
พนมเทียนบอกว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เพชรพระอุมายังคงอยู่ในใจผู้คนไม่เสื่อมคลาย มาจากการนึกถึงและพร้อมรับฟังความคิดเห็นของผู้อ่านเสมอมา
“ผู้อ่านมักบอกว่า ถ้าไม่เป็นอย่างนั้นจะไม่อ่านอีกเลยนะ คือเขาอินในเรื่อง แต่ให้ผมหาเหตุผลเองว่า ทำอย่างไรถึงจะให้เป็นไปตามที่เขาประสงค์ได้ แต่ทั้งหมดนี้อยู่ที่ศิลปะการเขียน ผมจะสร้างเรื่องลักษณะให้น่าหวาดเสียวจวนเจียน ทำให้คนเข้าใจผิดว่าถ้ามันเป็นอย่างนี้ ทำให้น่าเสียใจ เป็นศิลปะการเขียนที่ว่า ทำยังไงถึงให้ผู้อ่านติดตามเรื่องของเรา
“สำหรับนักเขียนคนอื่นผมไม่ทราบ แต่ผมเขียนเพชรพระอุมา มานานเหลือเกิน 20 กว่าปี ตลอดเวลาผู้อ่านช่วยผมอย่างมาก ถ้าแม้จะเขียนออกไปแล้ว เกิดหลงลืมอะไร พลั้งพลาดอะไร เขาจะจดหมาย หรือโทรศัพท์มาทันที บอกเลยบางทีเราลืม เพราะเราใช้พิมพ์ดีดพิมพ์ด้วยความเคยชินมือ เพราะฉะนั้นพอมีโอกาสมาพิมพ์เป็นเล่มหรือพิมพ์ต่อไป เราก็แก้ไขได้ทัน”
เพชรพระอุมา ถือเป็นงานที่มีอิทธิพลต่อผู้อ่านชาวไทยอย่างยิ่ง หลายคนอ่านแล้วก็อยากเข้าป่า สำรวจชีวิตในพงไพร หลายคนเก็บสะสมปืน สะสมข้าวของตามตัวละคร อย่างรพินทร์ ไพรวัลย์
อย่างไรก็ดี แม้เนื้อหาของเพชรพระอุมาจะเกี่ยวกับข้องป่า แต่ในพนมเทียนเองก็ไม่ได้สนับสนุนในเรื่องการทำลายชีวิตเพื่อนร่วมโลกมากนัก เพราะเขาเลิกเข้าป่าไปตั้งแต่ปี 2511
“สัตว์มีน้อยเต็มทีแล้ว ขออย่าทำมันเลย มันไม่มีประโยชน์หรอก เราอยู่ในบ้านในเมืองก็สบายดีอยู่แล้ว ป่าก็เหมือนกัน ตอนนี้ เสียดายมาก ไม่รู้จะทำอย่างไง พูดแล้วก็เหมือนกับคนที่เคยทั่วๆไปนั่นแหละ สมัยหนุ่มๆ นั่น ป่ายังเป็นป่าจริงๆ ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ มีแต่ไม้ตายซาก”
หลังทุ่มเทชีวิตให้นวนิยายเรื่องนี้มายาวนาน พนมเทียนจึงตัดสินใจปิดฉาก เพชรพระอุมา ด้วยเหตุผลว่า หมดวัตถุดิบ เหนื่อย อยากพัก และไม่มีพล็อตแล้ว เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2533 รวมระยะเวลากว่า 25 ปี 7 เดือน 3 วัน
แต่นั่นก็เป็นเพียงกับจบลงของตัวหนังสือเท่านั้น เพราะตลอด 30 ปีมานี้ ตำนานของเพชรพระอุมา ก็ยังคงเดินหน้าไปไม่เปลี่ยนแปลง และกลายเป็นงานที่อยู่ในใจผู้อ่านทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่เสมอมา
พนมเทียนรักและชื่นชอบการเขียนหนังสือมาตั้งแต่เด็ก
เพราะสมัยก่อน บ้านของต้นตระกูลมีห้องสมุดใหญ่มาก ทั้งวรรณคดีไทยและเทศ พอไปเที่ยวเสร็จ พนมเทียน ไม่รู้จะไปที่ไหน ก็หันหน้าอ่านหนังสือ ทั้งพระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน รามเกียรติ์ รวมถึงบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 อย่าง ศกุนตลา สาวิตรี ธรรมาธรรมะสงคราม มัทนะพาธา ทำให้เกิดนิสัยรักการขีดเขียนขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว
จากนั้นพนมเทียนก็เริ่มต้นชีวิตนักเขียน โดยผลงานเรื่องแรกเขียนขึ้นตั้งแต่ ม.5 ชื่อเห่าดง เขียนเล่นสนุกๆ อ่านเองในหมู่เพื่อน เป็นเรื่องโลดโผนโจนทะยาน ไม่ได้ตีพิมพ์ที่ไหน จนกระทั่งมาอายุ 16-17 ปี เขาก็ได้สร้างงานที่เปลี่ยนชีวิตของตัวเองไปตลอดกาล นั่นคือ จุฬาตรีคูณ
“ช่วงปี 2491-2492 ตอนนั้นได้เรียนวรรณคดี ก็มาพบคำว่า จุฬาตรีคูณ ปรากฏในกามนิต-วาสิฏฐี ก็ได้แรงบันดาลใจ จะเอามาเขียนนวนิยายประวัติศาสตร์อินเดียดีไหม ตอนนั้นเราก็ได้เรียนเทวศาสตร์ทางฮินดูกับทางกรีกด้วย ทางกรีกมีเทพบุตรคนหนึ่ง ชื่อ นาซิสซัส เป็นคนรูปหล่อมาก เห็นเงาตัวเองในน้ำก็หลงเงาตัวเอง ผมก็เลยเอามาคิดว่า ถ้าเป็นผู้หญิงสักคนเห็นเงาตัวเองสวยงาม แต่เกลียดจะเป็นยังไง แล้วสาเหตุของการเกลียด สาเหตุของการการเกลียดชังความงามมันจะต้องมีเรื่องมาจากอะไรเสียก่อน ก็เลยคิดผูกเป็นพล็อตขึ้นมา และกลายเป็นจุฬาตรีคูณ
“ภูมิประเทศและเหตุการณ์เป็นในสมัยชมพูทวีปก่อนพุทธกาล อาจจะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรสักอย่างดลใจ เพราะว่าตอนนั้นผมยังไม่ได้ไปอินเดีย ยังไม่ได้เรียนสันสกฤต แต่เขาเรียกว่าสัมผัสที่หกเข้ามากระทบทำให้เกิดมองเห็นเป็นภาพขึ้นมา เมื่อผมได้ไปเห็นสถานที่จริง มันตรงกับที่คิดไว้ จินตนาการไว้ทุกอย่าง”
แม้ตอนที่เขียนเสร็จจะไม่มีใครยอมตีพิมพ์ให้ แต่ผลสุดท้าย จุฬาตรีคูณกลับกลายเป็นงานที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะเขานำงานชิ้นนี้ไปให้มัณฑนา โมรากุล อ่าน จากนั้นมัณฑนาก็ส่งต่อไปยัง ครูแก้ว อัจฉริยะกุล และครูเอื้อ สุนทรสนาน ปรากฏว่าทั้งคู่พออ่านแล้วก็ชอบเลย จึงนำไปทำเป็นละครวิทยุ และก็มีเพลงประกอบที่ฟังแล้ว ใครๆ ก็หลงรัก จากนั้นก็มีคนขอไปทำเป็นละครเวที หาทุนสร้างอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 6
ผลจากความโด่งดังของจุฬาตรีคูณ ทำให้พนมเทียนเริ่มมั่นใจในเส้นทางสายนี้ เขาจึงตั้งหน้าตั้งตาเขียนนวนิยายเรื่อยมา จนกระทั่งมาสำเร็จที่เรื่อง ‘ปฐพีเพลิง’
“ผมไปหาคุณสมุทร ศิริไข ซึ่งเป็นบรรณาธิการหนังสือในเครือข่ายของเพลินจิตต์ เอาเรื่องปฐพีเพลงไปเสนอ คุณสมุทรอ่านแล้วก็เสนอไปทางคุณเวทย์ กระตุกฤกษ์ ที่เป็นเจ้าของ คุณเวทย์รับมาก็ไม่สนใจ ใส่ลิ้นชักไว้เฉยๆ วันหนึ่ง คุณอุบล ภริยาของคุณเวทย์มานั่งที่โต๊ะแล้วรื้อลิ้นชักเห็นต้นฉบับปฐพีเพลิง ก็เอามาอ่าน ‘เออ ก็สนุกดีนี่ เรียกมาซิ’ จังหวะนั้นจึงให้คุณสมุทรเรียกมา มาแล้วก็ตกลงจะเอาปฐพีเพลง ลงในเพลินจิตต์รายวัน นั่นคือการเปิดฉากครั้งแรกในนามปากกาของพนมเทียน”
จากนั้นชื่อเสียงของพนมเขียนก็เริ่มโด่งดังเรื่อยๆ เริ่มมีผลงานตามมาไม่ขาดสาย รวมถึงงานเก่าๆ ที่ทุกแห่งต่างปฏิเสธ เช่น เห่าดง หรือจุฬาตรีคูณ ก็ถูกนำมาตีพิมพ์ซ้ำด้วย
แต่งานที่เรียกว่าประสบความสำเร็จอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก ก็คือ เล็บครุฑ นวนิยายที่เล่าการหักเหลี่ยมระหว่างทรชนกับตำรวจ ซึ่งพนมเทียนถ่ายทอดจากชีวิตของตัวเอง
“ชีวิตผมเหมือนนิยาย ผมเป็นนักเลงเก่า เย็นๆ ผมก็สุมหัวอยู่สีลม ชกต่อยตีรันฟังแทง.. พอโตขึ้น ผมก็ถูกเรียกตัวให้เป็นสายลับ ในสมัยนั้นยังไม่มีใครรู้จักงานแบบนี้ ตำแหน่งนี้อันตรายมากบอกใครไม่ได้ แม้แต่พ่อแม่ก็ไม่รู้ ผมต้องเข้าไปอยู่ในซ่องโจร ยาเสพติด ถ้าถูกจับได้มีอันตรายถึงชีวิต ทางบ้านก็จะได้เงินจากราชการเท่านั้น ผมคลุกคลีกับโจร เรียนรู้การใช้ปืน ทำให้ได้รู้ได้เห็นหมด สุดท้ายรู้สึกไม่ไหวเลยขอลาออกจากราชการ
“เพราะฉะนั้นเรื่องแอ็กชัน เรื่องสืบสวนสอบสวน เรื่องของจารกรรม เรื่องของนักเลง ผมกล้าพูดได้ว่า ผมเขียนได้ละเอียด รู้ได้ลึกซึ้งกว่านักเขียนคนอื่นๆ ที่เขาพยายามจะเขียนเรื่องอย่างนี้ เพราะว่าเขาไม่ได้คลุกคลี ผมครบถ้วนกระบวนความของการเป็นนักเลง แต่ว่าผมไม่ได้เอาสิ่งเหล่านั้นมาทำให้เกิดความเสียหาย”
ด้วยผลงานที่ถูกกลั่นมาจากตัวตนและประสบการณ์ที่แหวกแนว กลายเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น เมื่อเทียบกับนักเขียนร่วมยุค ทั้งหมดนี้กลายเป็นแรงผลักให้ พนมเทียน ขึ้นแท่นเป็นนักเขียนขายดีของเมืองไทยอย่างรวดเร็ว
หากนับดูแล้ว พนมเทียนเขียนผลงานมาแล้วเกือบทุกแนว ทั้งงานรัก งานบู๊ งานแฟนตาซี หรือแม้แต่นวนิยายเชิงเทววิทยา จะมียกเว้นบ้างก็คือ แนวประวัติศาสตร์ของไทยกับจีน ซึ่งพนมเทียนบอกว่าไม่กล้าเขียน
เพราะสิ่งหนึ่งที่เขายึดถือมาตลอด ก็คือ ต้องรู้ และเข้าใจอย่างแท้จริง
หลายเรื่องมาจากการอ่านหนังสือและการศึกษา อย่างเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอินเดีย ซึ่งพนมเทียนนำประสบการณ์ช่วงที่ไปเรียนอักษรศาสตร์ ด้านภาษาสันสกฤต ในมหาวิทยาลัยบอมเบย์มาใช้ไม่น้อย
“อย่างตอนเขียน ศิวาราตรี ผมเอาประวัติศาสตร์ของอินเดีย สมัยที่อารยันเคลื่อนพลเข้ามาเพื่อยึดครองชมพูทวีป ชนเผ่าเดิมจะเป็นพวกดราวิเดียน อารยันเป็นพวกสูงใหญ่ ผิวขาว จมูกโด่ง ผมสีทอง ตาสีฟ้า กระจายมาทางทะเลสาบแคสเปียน พวกหนึ่งเข้ามาทางชมพูทวีป ข้ามหิมาลัยมา อีกอันหนึ่งข้ามไปทางอิหร่าน เขาบุกรุกเจ้าของพื้นที่ ทำสงครามติดกันมานานหลายพันปีเพื่อที่จะยึดครอง พวกนี้ตกเป็นทาส แต่เมื่ออยู่มาเป็นพันๆ ปีก็รวมกัน ศิวาราตรี ได้จากการที่เราไปศึกษาเล่าเรียนมา ไปเห็นอะไรต่ออะไร ถือเป็นความสำเร็จอันหนึ่ง”
แม้แต่ผลงานแนวรักๆ ใคร่ๆ พนมเทียนก็ไม่เคยเป็นสองรองใคร เขานำประสบการณ์สมัยวัยรุ่นที่เป็นนักเที่ยวตัวยงมารังสรรค์ เป็นงานสุดคลาสสิกที่ตรึงอยู่ในใจผู้คนไม่น้อย ทั้ง ละอองดาว มัสยา สกาวเดือน หรือ แววมยุรา
“ผมชอบเที่ยว สนุกตะลุยไปในหมู่พวกไฮโซบ้าง โลโซบ้าง มันไม่เสียหาย สิ่งเหล่านี้เป็นวัตถุดิบสำหรับเรามาเขียนหนังสือ ผมเป็นนักเต้นรำ เที่ยวสนุก คบผู้หญิงมาก มันจำเป็น ไม่อย่างนั้นเราจะเอาเรื่องอะไรไปเขียน ชีวิตผมมีประสบการณ์ผ่านมาเยอะ ทำให้เขียนอะไรไปได้ต่างแนว
“ที่สำคัญผมเป็นนักอ่านตัวยง เรื่องอะไรก็ตามที่ไม่รู้ ต้องศึกษา ต้องถามผู้รู้ อย่างวิชาแพทย์ ผมก็ไปถามเพื่อนที่เป็นหมอ หรือโบราณศาสตร์ ผมก็ไปถามนักโบราณศาสตร์ พูดง่ายๆ ว่าการที่จะเป็นนักประพันธ์ยืนอยู่ได้ขนาดนี้ จำเป็นจะต้องทำตัวเป็นพหูสูตรู้ไปหมดทุกอย่าง คนเราจะอยู่เฉยๆ แล้วรู้ไปหมดทุกอย่างเป็นไปไม่ได้ ต้องหมั่นแสวงหา ต้องศึกษา”
นี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้งานของเขามีความคลาสสิก และสามารถอ่านสนุกได้เสมอ แม้เวลาจะผ่านไปนานสักเท่าใดก็ตาม
รพินทร์เป็นคนที่ไม่อยากทำร้ายคนอื่น แม้แต่การฆ่าสัตว์ ก็ไม่ยิงทิ้งยิงขว้าง จะยิงเฉพาะเป็น อาหารหรือป้องกันชีวิตคนอื่น ผิดกับพวกเจ้านายที่ยิงกันคะนองมือจริงๆ
วินทร์ เลียววาริณ นักเขียนซีไรต์สองสมัย เขียนข้อความ “..ผมไม่มีทางเดินถึงจุดจุดนี้ในโลกวรรณกรรม หากไม่มีนักเขียนนามพนมเทียน..” เพื่ออำลานักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้
เพราะตลอด 70 กว่าปีบนถนนสายวรรณกรรมกรรม พนมเทียนถือเป็นต้นแบบให้นักเขียนรุ่นหลังได้เดินตาม แม้ช่วงหลังๆ เขาจะหยุดเขียนนวนิยายไปแล้ว เหลือเพียงแต่บทความในนิตยสารไม่กี่ฉบับ เช่น ขวัญเรือน หรือ ต่วย’ตูน
สำหรับพนมเขียนแล้ว อาชีพนักเขียนถือเป็นความภูมิใจ เป็นเหมือนความฝันที่กลายเป็นจริง แต่เหนือสิ่งอื่นได้ คือ อาชีพนี้ยังต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้อ่าน
ดังที่เขาเคยยกคำพูดของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่อย่าง Marie Corelli ที่ว่า ‘นักเขียนเป็นอาชีพชนิดเดียวที่สามารถเอาหัวของตัวตลกไปสวมบทหัวพระราชาได้’
เพราะเขาตระหนักดีว่า อาชีพนี้สามารถเปลี่ยนแปลงคน เปลี่ยนแปลงโลกได้
“นักเขียนนอกจากจะเขียนให้ตัวเองได้รับความสำเร็จ ขายได้ดี คนอ่านมากๆ แล้ว สิ่งที่ไม่ควรจะละเลยคือ มนุษยธรรม เขียนให้คนเป็นคนดี อย่าให้คนไปเป็นคนชั่ว เพราะสิ่งที่ดีที่สุดในโลกนี้คือ ศีลธรรมและมนุษยธรรม ซึ่งบางขณะมันจะไปด้วยกัน แต่บางขณะแยกกัน ผมเป็นคนเชิดชูมนุษยธรรม ศีลธรรมก็เชิดชู แต่ว่ารองลงมานิดหนึ่ง เพราะว่า บางขณะศีลธรรมทำให้ความเป็นมนุษยธรรมลดน้อยลงไป
“นอกจากเขียนไปแล้วต้องมีคนอ่าน ทำให้ชื่อเสียงเกรียงไกรออกไป ขายได้เงินมาประทังชีวิต แต่ในขณะเดียวกันป้อนสิ่งที่ดีงามให้กับผู้อ่านด้วย ทั้งในด้านความรู้วิชาการกับเขา อย่าให้สิ่งที่ผิดๆ นี่แหละที่ผมอยากฝากไว้”
นักเขียนตำนานในตำนาน แห่งเบบี้และขายหัวเราะ เจ้าของผลงานการ์ตูนติดเกาะ โจรมุมตึก และอื่นๆ อีกมากมาย
ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์อมรินทร์ ร้านนายอินทร์ และนิตยสารชั้นนำของเมืองไทย ผู้เปิดโลกการอ่านให้คนไทยมามากมายหนังสือ
เส้นทางของวรรณกรรมเยาวชน ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ หนังสือที่จุดกระแสการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และเพลิดเพลินกับเวทมนตร์และการผจญภัยของพ่อมดน้อยกับผองเพื่อน
นักเขียนนิทานเด็ก เจ้าของผลงาน ‘อีเล้งเค้งโค้ง’ กับความฝันอันยิ่งใหญ่ที่อยากยกระดับการอ่านให้เด็กไทยทั่วประเทศ
ย้อนตำนานนิตยสารอันดับ 1 ตลอดกาลของเมืองไทย คู่สร้างคู่สม ผ่านเรื่องราวของบรรณาธิการตัวจริงเสียงจริง
จากข้าราชการหนุ่มอนาคตไกลสู่นักโทษการเมือง กับภารกิจสร้างดิกชันนารีที่ทำให้ชีวิตของเขากลับมามีความหมายอีกครั้ง
Armchair ศิลปินขวัญใจวัยรุ่นยุคอินดี้ ผู้บุกเบิกเพลงบอสซาโนวา เจ้าของเพลงฮิตสุดละมุนที่ยังตรึงอยู่ในใจแฟนเพลงถึงวันนี้
นักเขียนการ์ตูนที่พาผลงานมังงะจากเอเชียให้โด่งดังไปไกลทั่วโลก ปลุกกระแสดราก้อนบอล ให้เข้าอยู่ในใจเด็กๆ ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ
สุดยอดนักพากย์ฟุตบอลและผู้ประกาศข่าวกีฬาแห่งเรื่องเล่าเช้านี้ที่ครองใจผู้ชมผู้ฟังมานานกว่า 3 ทศวรรษ
สาว สาว สาว แอม-แหม่ม-ปุ้ม ต้นตำรับเกิร์ลกรุ๊ปเมืองไทย ผู้สร้างกระแสเพลงประตูใจ ข้ามกาลเวลาถึงปัจจุบัน
จากนักแกะสลักน้ำแข็ง สู่สุดยอดทีมนักแกะสลักหิมะ ที่คว้าชัยในเทศกาลหิมะอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง พร้อมพิสูจน์ให้โลกได้เห็นว่า ถึงเมืองไทยไม่มีหิมะ เราก็สร้างที่ยิ่งใหญ่ได้
ย้อนเรื่องราวของหนังไทย ‘โหมโรง’ ที่สร้างปรากฏการณ์ฟีเวอร์ หลังเกือบถูกถอดจากโรง พร้อมกับจุดกระแสดนตรีไทยให้โด่งดังไปทั่ว
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.