ผุสดี นาวาวิจิต : ความฝันของนักแปล ‘โต๊ะโตะจัง’ เด็กหญิงข้างหน้าต่าง

<< แชร์บทความนี้

โลกการอ่านของใครหลายคน เริ่มต้นด้วย ‘โต๊ะโตะจัง’

กว่า 30 ปีมาแล้ว ที่วรรณกรรมเยาวชนจากแดนอาทิตย์อุทัยเล่มนี้ สร้างปรากฏการณ์ในวงการหนังสือไทย มียอดขายถึงหมื่นเล่มตั้งแต่สัปดาห์แรกที่วางจำหน่าย

เรื่องราวชีวิตในโรงเรียนประถมของผู้เขียน คุโรนายางิ เท็ตสึโกะ ที่มีครูใหญ่ใจดี และคุณครูที่เข้าใจความแตกต่างของเด็ก มีชั้นเรียนที่สนุกสนาน รวมถึงมิตรภาพระหว่างเพื่อน ทำให้ใครที่ได้อ่านต่างประทับใจ หลายคนหลงรักหนังสือโดยเริ่มต้นจากเล่มนี้

นอกจากเนื้อหาของ ‘โต๊ะโตะจัง’ อีกปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กัน คือฝีมือการแปลของ ผุสดี นาวาวิจิต ผู้ถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทยอย่างงดงาม ได้อรรถรส จนนำไปสู่ความสำเร็จดังกล่าว

ผุสดี ไม่ได้เรียนจบการแปลมาโดยตรง แต่อาศัยประสบการณ์สมัยทำรายการวิทยุที่ญี่ปุ่น บวกกับความชื่นชอบด้านภาษา ทำให้สร้างผลงานขึ้นหิ้งออกมาหลายเล่ม นอกจากชุดโต๊ะโตะจัง แล้วยังมี 4 ปี นรกในเขมร, หนีไฟนรก, เด็กหญิงน็อนจัง, สมุดพกคุณครู, ผีญี่ปุ่น, สยองขวัญ เป็นต้น

เพื่อรำลึกถึงนักแปลในตำนานผู้สร้างแรงบันดาลใจ ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาไปรู้จักกับชีวิตและการทำงานของเธอ ผู้ได้ฉายาว่าเป็นสะพานเชื่อมวัฒนธรรม ไทย-ญี่ปุ่น

โต๊ะโตะจัง กับ ผุสดี มีสิ่งหนึ่งคล้ายกัน นั่นคือได้เรียนกับครูที่ดี

สมัยเด็ก พ่อของเธอได้งานเสมียนเหมืองแร่ดีบุก ทำให้ครอบครัวต้องย้ายไปอยู่ที่ยะลา พอเห็นเด็กๆ แถวหมู่บ้านไปนั่งเรียนหนังสือที่ศาลาวัด ผุสดีก็ตามไปด้วย

ครูภาษาไทยคนแรกของเธอจึงเป็นพระ

“วันแรกหลวงพ่อสอนให้ท่อง ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก พอท่องได้แล้ว วันรุ่งขึ้นท่านให้กลับเป็น ฮ. นกฮูก ถึง ก.ไก่ เป็นวิธีเรียนแบบพระ เอามาประยุกต์ใช้ ตอนนั้นมีความรู้สึกว่าภาษาที่ได้มาคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เราต้องพูดให้ถูก ชัดถ้อยชัดคำ ควบกล้ำมาหมด ติดตัวมาจนโต

“เราชอบหนังสือด้วย เป็นนักอ่านมาก่อนเป็นนักแปล อ่านทุกอย่างที่ขวางหน้าแม้กระทั่งถุงกล้วยแขก สมัยที่เป็นเด็ก หนังสือเด็กมีน้อยมาก เราต้องไปอ่านหนังสือของคุณพ่อของคุณตา ได้อ่านประวัติวรรณคดีไทยแล้วชอบมาก ทำให้ชอบภาษามาตั้งแต่นั้น”

เมื่อบิดาย้ายมาทำงานธนาคารที่สงขลา เธอจึงมาเรียนมัธยมต่อที่โรงเรียนธิดานุเคราะห์ ซึ่งเป็นโรงเรียนในเครือคริสตศาสนา ที่นี่ซิสเตอร์สอนภาษาอังกฤษสนุก ทำให้ผุสดีชอบตามไปด้วย แม้ภาษาที่ซิสเตอร์สอนค่อนข้างเชย จนมีคนแซวว่าพูดอังกฤษเหมือนคนแก่

ช่วงมัธยมปลาย เธอย้ายมาเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในกรุงเทพฯ โดยเลือกเรียนศิลป์ภาษาเยอรมัน และตั้งใจจะไปศึกษาต่อที่นั่น แต่แล้วชะตาก็พลิกผัน เมื่อสอบติดทุนรัฐบาลญี่ปุ่นเสียก่อน

ความจริงแล้ว ผุสดีสนใจดินแดนอาทิตย์อุทัยอยู่บ้าง เพราะพ่อย้ายมาทำงานที่บริษัทมิตซุย และมักจะนำปฏิทินสวยๆ หนังสือสารคดีเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นมาให้ดู พอช่วง มศ.5 ทุนญี่ปุ่นเปิดรับสมัครก่อนทุนเยอรมัน เด็กสาวจึงไปลองสอบ เมื่อสอบติดจึงตัดสินใจไปศึกษาต่อ

“ตอนไปญี่ปุ่นไม่รู้อะไรเลย ทุกอย่างเริ่มจากศูนย์ ระยะแรกๆ ใช้ภาษาอังกฤษในการเรียน หลังจากนั้นอาจารย์ก็ใช้วิธีธรรมชาติ คือพูดภาษาญี่ปุ่นใส่เรามากที่สุด”

เดิมทีผุสดีเลือกเรียนอักษรศาสตร์ แต่ภายหลังเปลี่ยนมาเรียนการศึกษาสำหรับเด็ก ตามคำแนะนำของรุ่นพี่ว่าสามารถนำความรู้ด้านนี้กลับมาใช้กับประเทศไทยได้

เธอทำวิทยานิพนธ์เรื่องวรรณกรรมเด็กตามที่สนใจ ก่อนจะได้ทุนเรียนปริญญาตรีอีกใบด้านวรรณคดีอังกฤษและอเมริกัน

แต่ประสบการณ์ล้ำค่าที่สุดในช่วง 1 ทศวรรษนั้น คือการได้ทำงานพิเศษที่สถานีวิทยุเรดิโอเจแปน ของ NHK นานถึง 9 ปีเต็ม เธอทั้งฝึกภาษา และเพิ่มพูนความรู้ให้กว้างขวางออกไป

“ทางสถานีเขาจะมีสคริปต์มาให้ เป็นภาษาอังกฤษกับญี่ปุ่น ปีแรกแปลจากอังกฤษก่อนเพราะญี่ปุ่นไม่กระดิกหูเลย พอเริ่มรู้เรื่องก็จะใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นหลัก ต่อมานึกสนุกเลยเล่นเกมกับตัวเอง ถ้าเห็นคำหนึ่งจะคิดว่า ภาษาอังกฤษว่ายังไง ภาษาญี่ปุ่นว่ายังไง ทำให้เกิดคลังคำขึ้นในสมอง

“รายการที่ทำก็เป็นรายการแนะนำชีวิตของคนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงในวงการต่างๆ เช่น สถาปนิก ศิลปิน ทำให้ได้คำศัพท์ ได้ความรู้รอบตัวเยอะมาก เปรียบเป็นมหาวิทยาลัย NHK เพราะมหาวิทยาลัยที่เรียนไม่ได้สอนทางด้านนี้เลย”

เมื่อกลับมา เธอทำงานผู้จัดรายการวิทยุภาคภาษาญี่ปุ่นที่กรมประชาสัมพันธ์อยู่ 2 ปี พร้อมกับเป็นอาจารย์พิเศษที่ธรรมศาสตร์ ก่อนร่วมงานกับ NHK อีกครั้ง ในตำแหน่งผู้สื่อข่าวภาคภาษาไทย

ระหว่างนั้น ผกาวดี อุตตโมทย์ และมกุฏ อรฤดี กำลังปลุกปั้นนิตยสาร กะรัต จึงชวนผุสดีไปเป็นหนึ่งในทีมงานด้วย

ผุสดีเริ่มชีวิตนักแปลที่นี่ โดยเริ่มจากการแปลบทความสั้นๆ เกี่ยวกับการฝีมือ โรคภัยไข้เจ็บ ลงตีพิมพ์ในนิตยสาร กะรัต

กระทั่งในปี 2526 มีข่าวการเสียชีวิตของ ยาสึโกะ นะอิโต ผู้เขียนหนังสือ 4 ปี นรกในเขมร ยาสึโกะเป็นภรรยาของทูตชาวกัมพูชาที่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดจากสงคราม ผุสดีอ่านแล้วรู้สึกว่าการสู้รบในกัมพูชาเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก แต่คนไทยแทบไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เธอแปลหนังสือเล่มนี้เป็นตอนๆ ลง ในนิตยสารกะรัต

“บังเอิญตอนนั้นทำงานโทรทัศน์ NHK เห็นตั้งแต่ตอนคนขับรถของ NHK ได้รับจดหมายจากคนญี่ปุ่น จากค่ายในเขมร ติดอยู่ในเขมร ถูกจับ เขาอยากกลับญี่ปุ่น ผู้สื่อข่าวชื่อคุณโมริ จึงขออนุญาต NHK เข้าไปทำข่าวพร้อมกับตามหาตัวคนนี้ สำนักงานใหญ่อนุมัติให้ออกไปตามหา พอไปตามหาจนเจอก็ทำออกมาเป็นสารคดีโทรทัศน์ หนังสือเล่มนี้ทำมาจากบันทึกสั้นๆ พอแต่งงานได้ 2 ปีก็เป็นมะเร็งตาย ซึ่งเขาได้กลับไปอยู่ที่ญี่ปุ่นแล้ว”

เวลานั้นสถานการณ์ของกะรัต ไม่สู้ดีเท่าไร เพราะไม่มีกำไร แถมขาดทุนต่อเนื่องมา 8 ปี หนำซ้ำการทำงานหามรุ่งหามค่ำยิ่งทำให้เหนื่อยล้า จนทั้งสามเริ่มคุยกันว่าควรจะหยุดทำนิตยสารเล่มนี้เสียที

วันหนึ่งโชคชะตาบันดาลให้ ผกาวดี ไปพบกับ ‘โต๊ะโตะจัง’ ฉบับภาษาอังกฤษ ในร้านหนังสือญี่ปุ่น หนังสือมีอยู่เล่มเดียวในสภาพที่เยินเล็กน้อย แต่ก็ตัดสินใจซื้อมา เพราะเปิดอ่านเนื้อหาแล้วคิดว่าน่าจะแปลลงในนิตยสารได้

ตอนแรก ผกาวดี ตั้งใจจะแปลเอง แต่พอเริ่มลงมือก็พบว่าเรื่องราวมีกลิ่นนมเนยมากกว่ากลิ่นวาซาบิ เรียกว่าแทบจะไม่มีความเป็นเด็กหญิงญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่สองอยู่เลย คณะทำงานจึงหารือกันว่าควรจะหาต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นมาแปลดีกว่า นำไปสู่การติดต่อขอลิขสิทธิ์และสั่งหนังสือภาษาญี่ปุ่นจากโตเกียว

ด้วยเหตุนี้เอง ผู้แปลจึงเปลี่ยนมือมาเป็น ผุสดี ซึ่งเชี่ยวชาญภาษาญี่ปุ่นมากกว่าใคร

“โต๊ะโตะจัง เป็นเด็กผู้หญิงที่ถูกไล่ออกจากโรงเรียนตั้งแต่ประถมปีที่ 1 เพราะไม่เหมือนเด็กคนอื่น เหมือนคนที่ล้มเหลวตั้งแต่ก้าวแรกของชีวิต จนเมื่อย้ายโรงเรียน ห้องเรียนใหม่ของเธอเป็นตู้รถไฟ มีเรื่องราวมากมายให้ค้นหาตลอดเวลา ครูใหญ่ก็เข้าใจว่าเด็กแต่ละคนมีศักยภาพในทิศทางต่างๆ กัน

“จำได้ว่าแปลโต๊ะโตจังเร็วมาก เพราะสนุก เด็กๆ ก็น่ารัก แปลแล้วมีความสุข สมัยนั้นใช้ดินสอ ก็เขียนจนมือหงิก เขียนจนเจ็บนิ้วถึงจะเลิกแปลในแต่ละวัน”

ช่วงที่ทำงาน ผุสดีมีโอกาสเดินทางไปญี่ปุ่น และได้พบกับผู้เขียน คือ คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ หรือ โต๊ะโตจังตัวจริง ผ่านการแนะนำของช่างภาพ จึงเป็นโอกาสอันดีที่เธอได้ไต่ถามทุกเรื่องราวที่สงสัย

หนึ่งในนั้นคือท่าทางในการแสดงกิจกรรมเข้าจังหวะของเด็กๆ ซึ่งเท็ตสึโกะ ทำท่าให้ดู ผุสดีจึงวาดรูปเก็บไว้ในสมุด ก่อนจะกลับมาบรรยายเป็นภาษาไทย

หนังสือเล่มนี้เปลี่ยนชีวิตของทุกคนที่เกี่ยวข้อง เพราะเมื่อพิมพ์รวมเล่มก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ชนิดที่ว่ามีคนมาต่อแถวรอซื้อถึงหน้าสำนักพิมพ์ ร้านหนังสือมาขอเหมาไปขายทีละ 100 เล่มจนต้องจำกัดจำนวน ภายหลังโต๊ะโตะจังได้รับเลือกเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นของกระทรวงศึกษาธิการ ถึงวันนี้พิมพ์ไปแล้วกว่า 200,000 เล่ม

ไม่แปลกเลยว่า ทำไมโต๊ะโตะจัง จึงกลายเป็นหนังสือที่มีอิทธิพลกับเด็กไทยจำนวนมาก เด็กหลายคนสมมติตัวเองเป็นโต๊ะโตะจัง อยากมีโรงเรียนในฝันแบบนั้นบ้าง

แต่สิ่งสำคัญคือทำให้ทั้งสามตัดสินใจยุตินิตยสาร เพื่อมาทำหนังสือเล่มเต็มตัว กลายเป็นจุดกำเนิดของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ สำนักพิมพ์ที่ตั้งใจผลิตหนังสือดีเพื่อผู้อ่านชาวไทยมาจนถึงปัจจุบัน

หลังจากโต๊ะโตะจัง ผุสดีมีผลงานแปลกับสำนักพิมพ์ผีเสื้อมาต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี รวมกว่าสิบเล่ม ทั้งจากภาษาญี่ปุ่นและอังกฤษ ทุกเล่มล้วนได้รับการยกย่องในคุณภาพ

ภาพ : โรงเรียนสอนภาษาสมาคมนักเรียนเก่าญี่ปุ่น จามจุรี

นักแปลอาวุโสเคยกล่าวถึงการทำงานของเธอ ไว้ในการบรรยายครั้งหนึ่งว่า

“การแปลของดิฉันเป็นการลองผิดลองถูก เพราะไม่ได้เรียนมาโดยตรง แต่เห็นด้วยกับคำที่ศาสตราจารย์ท่านหนึ่งบอกว่า การแปลคือการต่อจิ๊กซอว์ที่ต้องใช้สติปัญญาระดับสูง ไม่สามารถแปลตรงตัวคำต่อคำได้ สิ่งที่ควรทำคือเก็บข้อมูลที่สำคัญที่สุด แล้วหาชิ้นส่วนมาประกอบให้ใกล้เคียงเดิมมากที่สุด

“แล้วก็มีเคล็ดลับคือ ‘แปลด้วยหู’ หมายความว่า แปลแล้วต้องลองอ่านออกเสียง ถ้าไม่รื่นหู เราสะดุด คนอ่านก็สะดุดด้วย”

วิธีการทำงานของผุสดี เริ่มจากอ่านทั้งเรื่องจนเข้าใจตั้งแต่ต้นจนจบ มองเห็นภาพรวม จากนั้นแปลทีละย่อหน้า พยายามให้เหมือนต้นฉบับมากที่สุด ถึงสำนวนไม่ได้ก็ไม่เป็นไร คำใดที่นึกภาษาไทยไม่ออก ให้ใช้คำภาษาเดิมไว้ก่อนจะได้ไม่ช้า เดี๋ยวค่อยกลับมาแก้หรือเปิดพจนานุกรมภายหลัง

เมื่อแปลทั้งหมดแล้วอ่านทวนอีกครั้ง เรียบเรียงให้เป็นภาษาไทยที่สละสลวย ลองอ่านออกเสียงดูว่ารื่นหูหรือไม่ ก่อนส่งให้บรรณาธิการต้นฉบับตรวจสอบ

ระหว่างแปลต้องไม่ลืมว่า ใครเป็นคนอ่าน ต้องทำให้เขาเห็นภาพมากที่สุด

“อย่างชื่อดอกไม้ แดนดิไลออน ไม่มีในเมืองไทย เราก็ใช้ดอกไม้สีเหลือง เพื่อให้เด็กๆ เห็นภาพ หรือตอนที่เด็กๆ ในเรื่องโต๊ะโตะจังลงไปเล่นน้ำ ฉบับภาษาอังกฤษแปลว่า ผิวของเด็กๆ สีเหมือนผลเบอร์รี คือสีน้ำตาล ถ้าแปลอย่างนี้เด็กไทยจะไม่เข้าใจ เราจึงใช้ว่า ผิวเกรียมแดดไปทั่วทั้งตัว”

นอกจากงานแปลหนังสือ ผุสดียังทำงานเผยแพร่ภาษาญี่ปุ่นให้กับคนไทยในทุกระดับชั้น อย่างเต็มกำลังความสามารถ ทั้งเป็นอาจารย์สอนภาษา ไปจนถึงถวายงานเป็นล่ามให้กับในหลวง รัชกาลที่ 9 จนรัฐบาลญี่ปุ่นจัดพิธีมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์เพื่อเป็นเกียรติ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2557

“เราพยายามทำงานทั้งสองด้านคือ ให้ชาวญี่ปุ่นรู้จักชาวไทย และชาวไทยรู้จักชาวญี่ปุ่นมากขึ้น เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน เพราะตัวเองไปเรียนที่ญี่ปุ่นมา ก็ใช้สิ่งที่ได้เห็นได้เรียน กลับมาทำงานที่เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด” ผุสดีเคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อปี 2529 และก็ทำตามความตั้งใจนี้มาจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต

แม้วันนี้ผู้แปล โต๊ะโตะจัง จากไปด้วยอาการเลือดออกในลำไส้และช่องท้อง ในวัย 72 ปี แต่ผลงานที่เธอฝากไว้ จะยังคงอยู่ในใจของผู้อ่านตลอดไป

การแปลคือการต่อจิ๊กซอว์ที่ต้องใช้สติปัญญาระดับสูง ไม่สามารถแปลตรงตัวคำต่อคำได้ สิ่งที่ควรทำคือเก็บข้อมูลที่สำคัญที่สุด แล้วหาชิ้นส่วนมาประกอบให้ใกล้เคียงเดิมมากที่สุด

ผุสดี นาวาวิจิต : ความฝันของนักแปล ‘โต๊ะโตะจัง’ เด็กหญิงข้างหน้าต่าง

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • บรรยายประชุม 3 Forum พิเศษเรื่อง “เสน่ห์ของการแปล” วิทยากรโดยอาจารย์ผุสดี นาวาวิจิต (บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ) ในวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560
  • นิตยสารผู้หญิงเก่ง ฉบับเดือนเมษายน 2529
  • หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เซ็กชั่นจุดประกายวรรณกรรม วันที่ 6 ธันวาคม 2552
  • หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ 17 กรกฎาคม 2557
  • นิตยสาร a day ฉบับเดือนตุลาคม 2557
  • เว็บไซต์ readthecloud.co

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.