มกุฏ อรฤดี : จาก ‘สำนักพิมพ์ผีเสื้อ’ สู่สังคมความรู้ที่เท่าเทียมของคนไทย

<< แชร์บทความนี้

เด็กไทยหลายรุ่นเติบโตมาพร้อมกับสำนักพิมพ์ผีเสื้อ

คุ้นเคยกันดีกับหนังสืออย่าง โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง, ผีเสื้อและดอกไม้, ครูไหวใจร้าย, โรงงานช็อกโกแลตมหัศจรรย์, บันทึกลับของ แอนน์ แฟร้งค์ และหนังสือชุด คนตัวจิ๋ว เป็นต้น

หนังสือหลายเล่มกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนหลงรักการอ่านหนังสือ บางคนเติบโตไปเป็นนักเขียน เป็นครู เพราะอยากส่งต่อสารดีๆ ที่ได้จากหนังสือไปถึงคนอื่นๆ บ้าง

มกุฏ อรฤดี คือคนหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญเบื้องหลังผลงานเหล่านี้

เพราะตลอด 40 กว่าปีมานี้ เขาเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ผู้คอยดูแลกระบวนการผลิต ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งหนังสือไปถึงมือผู้อ่านทุกคน

ความหวังหนึ่งของเขาและคณะผู้ก่อตั้งคือ อยากเพิ่มทักษะการอ่านแก่เด็กและเยาวชน จึงแสวงหาวรรณกรรมเยาวชนดีๆ จากทุกมุมโลกมาเสนอ แม้จะเป็นงานที่หนักและเหนื่อยเพียงใด แต่ทั้งหมดก็ไม่เคยย่อท้อ ด้วยถือเป็นประตูด่านแรกของการสร้างสังคมคุณภาพให้แก่ประเทศ

แต่ความตั้งใจของมกุฏไม่ได้หยุดเพียงเท่านั้น เพราะตระหนักดีว่า ลำพังการสร้างหนังสือดีคงไม่เพียงพอที่จะทำให้ความหวังกลายเป็นจริง จำเป็นต้องมีระบบที่เอื้อไปพร้อมกันด้วย

เขาจึงเริ่มขยายบทบาทของตัวเอง จากบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ไปสู่ครูผู้ผลักดันหลักสูตรบรรณาธิการศึกษาและวิชาหนังสือในรั้วมหาวิทยาลัย

ริเริ่มโครงการห้องสมุดหนังสือดี หนังสือหมุนเวียนในโรงเรียนชั้นประถม, หนังสือหมุนเวียนในมัสยิด, โครงการครอบครัวหนังสือ, โครงการฝึกฝนผู้ดวงตาพิการให้เขียนหนังสือ, โครงการวัฒนธรรมร้านหนังสือ Book Passport หนังสือเดินทางร้านหนังสือ เพื่อสนับสนุนร้านหนังสืออิสระทั่วประเทศให้อยู่ได้ รวมถึงโครงการสมุดบันทึกวัยเยาว์ ส่งเสริมให้เด็กเริ่มเขียนบันทึกจนค้นพบความสามารถพิเศษ เด็กเล็กๆ กลายเป็นนักเขียน ซึ่งต่อมาค่อยๆ แตกหน่อกลายเป็นสำนักพิมพ์ผีเสื้อเด็กๆ เกิดนักเขียนรุ่นเยาว์ที่มากด้วยความสามารถหลายสิบคน

แต่เรื่องทั้งหลายที่เคยทำทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จก็นับเป็นเรื่องเล็ก กระทั่งบ้างก็เป็นเรื่องปลีกย่อย หากได้มองภาพใหญ่และเข้าใจสิ่งที่เขาเสนอรัฐบาลมานานกว่า 20 ปีแล้ว นั่นคือการจัดตั้งสถาบันหนังสือแห่งชาติ คือโครงสร้างหลักในการจัดการระบบหนังสือของชาติอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อให้คนไทยเข้าถึงหนังสือดี มีคุณภาพ ราคาไม่แพง จนกระทั่งหนังสืออ่านฟรีในห้องสมุดสาธารณะอย่างเท่าเทียมกัน นอกเหนือจากพัฒนาวิชาชีพและอาชีพที่เกี่ยวข้องกับหนังสือและความรู้ของชาติ

แม้ความปรารถนาหลายอย่างจะยังไปไม่ถึงจุดหมาย แต่อย่างน้อยสิ่งที่เขาคิดและผลักดันก็เหมือนการวางอิฐก้อนสำคัญที่ทำให้ผู้คนหันมาตระหนักถึงรากฐานสังคมแห่งความรู้ที่ยั่งยืน ซึ่งเริ่มต้นได้ง่ายๆ ด้วยหนังสือ

เมื่อ ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดทำโครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก จึงถือโอกาสชักชวนบรรณาธิการ และศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ผู้นี้ มาร่วมพูดคุยถึงเรื่องราวชีวิต ความคิด ความหวัง และความตั้งใจที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

เด็กน้อยผู้หลงใหลหนังสือ

เด็กชายผู้เริ่มผูกพันกับหนังสือตั้งแต่ 6 ขวบ

เขาเกิดและเติบโตที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เวลานั้นกิจกรรมยามว่างของเด็กส่วนใหญ่คงหนีไม่พ้นการวิ่งเล่น ฟันดาบ เล่นทอยกอง แต่มีเด็กข้างบ้านของเขาคนหนึ่งทำกิจกรรมแตกต่างออกไป เพราะเด็กคนนั้นอ่านหนังสือการ์ตูน

“ตอนนั้นผมไม่รู้จักหนังสืออย่างอื่นเลย นอกจากหนังสือเรียน ก.ไก่ ข.ไข่ พอเห็นเขาถือกระดาษแบบนั้นแล้วดูมีความสุขมาก ก็แปลกใจ อยากรู้ว่าสิ่งในมือนั้นคืออะไร ทำไมจึงทำให้คนยิ้มได้ ร่าเริงได้ จึงขอยืมเขามาเล่มหนึ่ง เรื่องแรกคือ ขวานฟ้าหน้าดำ ยังอ่านไม่ออกหรอก ดูรูปเอา รูปบอกเล่าเรื่องราว มีตัวละคร มีท่าทาง มีสู้รบ พอดูจบก็บอกตัวเองว่า โตขึ้นผมจะทำสิ่งนี้แหละ”

นับจากนั้น เส้นทางชีวิตของเด็กน้อยก็แทบไม่เคยแยกจากหนังสืออีกเลย

หลังจบชั้นประถม 4 จากโรงเรียนบ้านเทพา แม่ก็ส่งลูกชายไปเรียนต่อที่โรงเรียนแสงทองวิทยา โรงเรียนประจำในอำเภอหาดใหญ่ซึ่งดำเนินงานโดยคณะนักบวชคาทอลิก

ชีวิตที่นั่นเปิดโลกของเด็กชายคนนี้อย่างยิ่ง เขาได้สนทนากับบาทหลวง ได้เป็นนักร้องประสานเสียงในโบสถ์ ได้แสดงละครเวที ช่วยภารโรงดูแลความเรียบร้อยของอาคารต่างๆ แต่กิจกรรมที่ดูเหมือนจะมีอิทธิพลมากที่สุด คืออาสาดูแลร้านหนังสือและเครื่องเขียนของโรงเรียน

“ปกติร้านนี้มีบราเดอร์ขายอยู่คนเดียว งานหนักมากนะครับ เวลามีเด็กมาเยอะๆ เข้าแถวกันเต็มเลย ผมจึงอาสาขอไปช่วย หน้าที่คือรับหนังสือที่ขนมาในรถบรรทุก เวลาเขาส่งห่อหนังสือก็ไม่ได้ส่งตามปกตินะ เขาโยนจากรถให้รับ ผมตัวนิดเดียว แต่ก็ต้องรับให้ได้ ผมทำงานอยู่ที่นั่น 2 ปี หัวไหล่ชำรุดมาจนถึงทุกวันนี้ 60 กว่าปีแล้ว”

แม้จะต้องแลกด้วยอาการปวดไหล่ แต่สิ่งที่ได้มาก็คือ โอกาสได้สัมผัส ได้อ่านหนังสือก่อนใครเพื่อน โดยเฉพาะนิตยสารอย่าง วีรธรรม หรือกองหน้าร่าเริง ซึ่งภายในแต่ละฉบับมีการ์ตูนดีๆ เต็มไปหมด เช่น แฟลชกอร์ดอน ซึ่งเป็นเรื่องการเดินทางในอวกาศตั้งแต่ก่อนจะส่งยานอวกาศออกนอกโลกนับสิบๆ ปี หรือการผจญภัยของแตงแตง

ไม่เพียงเท่านั้น เขายังได้รับสิทธิพิเศษจากอาบังเฝ้าประตูโรงเรียนให้ออกไปนอกโรงเรียนในวันอาทิตย์ ซึ่งเด็กชายแวะเวียนไปยังร้านหนังสือแพร่พิทยาในตัวเมืองหาดใหญ่ซึ่งอยู่ห่างจากโรงเรียนไม่มาก ไปยืนอ่านหนังสือฟรีอยู่หนึ่งปีเต็มๆ ก่อนจะเก็บหอมรอมริบจนซื้อหนังสือปกแข็งเล่มแรกได้คือ ศรีธนญชัย

หลังเรียนจบชั้นประถมศึกษาตอนปลาย มกุฏรู้สึกสงสารแม่ที่ต้องจ่ายค่าเทอมแพงๆ เขาจึงขอกลับไปเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนในอำเภอบ้านเกิดแทน แต่ทั้งสองโรงเรียนนี้แตกต่างกันสุดขั้ว เนื่องจากโรงเรียนมัธยมเทพาไม่มีห้องสมุด

เด็กชายผู้เคยเรียนโรงเรียนในเมืองถามครูว่า ทำไมจึงไม่มีห้องสมุด ครูก็ตอบเพียงว่า ‘ไม่มีงบประมาณ’

เขาไม่รู้ว่างบประมาณคืออะไร แต่อยากได้ห้องสมุด อยากมีหนังสืออ่านมากกว่าหนังสือเรียน จึงเกิดความคิดว่า น่าจะทำห้องสมุดเสียเอง แต่ปัญหาคือ ทุกอย่างต้องใช้เงิน เวลานั้นเด็กชายได้ค่าอาหารวันละ 6 สลึง ซึ่งแม้จะอดออมทุกวัน ก็ใช้เวลานานกว่าจะได้หนังสือสักเล่ม เขาจึงชักชวนเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่สนใจอยากอ่านหนังสือมาลงขันกัน

ครั้งแรกได้เงินสมทบ 8 บาท เมื่อรวมกับเงินของเขาอีก 5 บาท ก็เป็น 13 บาท ซื้อนิตยสารได้ 3-4 ฉบับ ครั้งนั้นเขาเลือกซื้อ อนุสาร อสท. นิตยสารสตรีสาร และแม่บ้านการเรือน ต่อมาเมื่อได้เงินมากขึ้นก็เริ่มซื้อนิตยสารฉบับอื่นๆ เช่น ชัยพฤกษ์ สกุลไทย จนกระทั่งมีหนังสือให้อ่านพอสมควร และไม่แต่นักเรียนเท่านั้นที่อ่านหนังสือ ยังรวมถึงครูบางคนที่มาขอยืมนิตยสารด้วย นับเป็นความภูมิใจของเด็กวัย 13 ปีอย่างยิ่ง

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เขาเข้าใจถึงความสำคัญของห้องสมุดในฐานะแหล่งสร้างการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชนและแม้แต่ผู้ใหญ่

“การเริ่มต้นครั้งนั้นเป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะผ่านไป 25 ปีหลังจากที่ผมออกจากโรงเรียน โรงเรียนก็มีห้องสมุดใหญ่ ก่อนหน้านั้นผมส่งหนังสือที่ผมทำไปให้ทุกเล่ม ส่งไปให้ทุกเดือน

“ตอนนั้นเราก็ตั้งคำถามว่า ถ้าไม่มีงบประมาณจากรัฐบาลแล้วจัดการกันเองโดยสำนึกของคนในท้องถิ่น เราจะต้องใช้เวลานานมากแค่ไหน ผมตั้งคำถามนี้กับครูเมื่ออายุ 13 เพราะตอนที่อยู่ในเมืองหาดใหญ่ นอกจากร้านขายหนังสือ และห้องสมุดในโรงเรียนแล้ว ยังมีห้องสมุดประชาชนในอำเภอ แต่ตำบลของเรา อำเภอของเรา อยู่ห่างกันแค่ 60 กิโลเมตรเท่านั้น ทำไมจึงไม่มีอะไรเลย”

เด็กหนุ่มได้แต่เก็บข้อสงสัยนี้ไว้ในใจเรื่อยมา หลังเรียนจบชั้นมัธยมศึกษา เขาตั้งใจจะเรียนแพทย์ แต่ด้วยเหตุผลแวดล้อม และตัวอย่างเด็กบางคนที่เรียนไม่จบ แม่ของเขาจึงบอกว่า “ยาก อย่าเรียนเลย”

เผอิญเพื่อนร่วมรุ่นหลายคนไปสมัครสอบเข้าวิทยาลัยครูสงขลา มกุฏจึงตามไปสอบด้วย ระหว่างที่เรียนอยู่นั้น เขาทำวารสารของวิทยาลัย และได้ส่งบทความและเรื่องสั้นไปยังหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ เช่น ไทยรัฐ สยามรัฐรายวัน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ และกรุงเทพวิจารณ์ รวมถึงสมัครทำงานโรงพิมพ์ในท้องถิ่นไปพร้อมกันด้วย เพราะแม้จะเรียนครู แต่ก็ไม่เคยคิดจะทำงานสอนหนังสือเลย เขาอยากทำหนังสือมากกว่า หรือไม่ก็ทำงานการเมือง เพื่อแก้ปัญหาที่อึดอัดใจมานาน ชีวิตในวิทยาลัยครูสงขลาตลอด 4 ปีของเขาจึงใช้เวลาไปกับกิจกรรมหนังสือและการเขียนเป็นส่วนมาก จนสอบตกหลายวิชา

หลังเรียนจบด้วยเกรดเฉลี่ยเพียง 2.08 เขาก็เข้ากรุงเทพฯ สมัครงานที่วารสารรายสัปดาห์ของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน เพราะเคยส่งบทความในนามปากกา นิพพานฯ ไปเผยแพร่อยู่บ่อยๆ

“ผมไปสมัครและบอกนามปากกา คุณมานิตย์ สังวาลย์เพชร บรรณาธิการบริหารก็ว่า ‘ผมไม่เชื่อคุณหรอก นิพพานฯ อายุ 40-50 แล้วมั้ง ข้อเขียนของเขามันบอก’ แต่หลังจากคุยกัน ก็รับผมเข้าทำงาน ในเวลานั้น ผมรู้ปัญหาต่างๆ ทางภาคใต้อยู่มาก รู้ว่ามีอะไรที่ไม่ยุติธรรม มีเหตุเรื่องราวอะไรที่ทำให้คนต้องไปเป็นโจร บทความของผมก็ค่อนข้างก้าวร้าว

“สมัยรัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร มีคนอ่านแปลกหน้ามาตามหาผมที่ทำงาน มาชื่นชมถามถึงคนเขียนชื่อ นิพพานฯ ผมก็ดีใจ คิดว่าดังแล้วนะ แต่หัวหน้าผมเขี่ยเท้าอยู่ใต้โต๊ะ หลังจากคุยอะไรต่อมิอะไรอยู่พักหนึ่ง นักอ่านแปลกหน้าก็ลาจากไป ผมจึงไม่ได้แสดงตัว คุณมานิตย์บอกว่า สุภาพสตรีคนนั้นคือสันติบาล แล้วหลังจากนั้นเราก็ถูกติดตาม มีนักเขียนของเราบางคนถูกจับ บางคนถูกขึ้นบัญชีดำ จนกระทั่งจอมพล ถนอม ปฏิวัติเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2514 นิตยสารก็ต้องเลิก เราก็แตกกระจายกันไป”

แม้จะสนใจการเมือง แต่ประสบการณ์ครั้งนั้นก็ทำให้รู้ตัวว่าเขาคงไม่เหมาะกับเส้นทางสายนี้ หลังจากนั้นจึงออกเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อหาคำตอบว่า ในภูมิภาคอื่นมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงหนังสือเหมือนที่อำเภอบ้านเกิดของเขาหรือไม่ ปรากฏว่าทุกแห่งล้วนมีปัญหาไม่ต่างกัน

“ชาวบ้านไม่เคยมีโอกาสเข้าถึงหนังสือเลย อย่าว่าแต่อ่านเพื่อความบันเทิง แม้เพื่อพัฒนาชีวิตและอาชีพก็ยังไม่มี หากเปรียบหนังสือเป็นของกิน ชาวบ้านควรได้กินอาหารหลักจากหนังสือ ไม่ใช่กินขนม ขณะที่ชาวเมืองได้กินทั้งอาหารหลักและขนมจากหนังสืออย่างเอร็ดอร่อยและเหลือเฟือ ผมจึงได้รู้แน่ชัดว่า ประเทศนี้ไม่มีโอกาส สำหรับชาวบ้าน โอกาสความเสมอภาคทางความรู้ซึ่งเป็นประชาธิปไตยพื้นฐานที่สุด ก็เป็นคำถามอยู่ในใจตลอดมาว่า ควรต้องจัดการปัญหานี้ให้ได้ ใครเคยคิดเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ อย่างเข้าใจทั้งประเทศหรือไม่”

แต่ด้วยเป็นคนตัวเล็กๆ โอกาสที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงจึงไม่ง่าย หลังเดินทางไปได้สักปีเศษ มกุฏก็หวนกลับมาสู่เมืองกรุงอีก

นี่เอง เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตอีกครั้งหนึ่งของชายผู้เปี่ยมด้วยความหวังคนนี้

ด้วยก่อนหน้านั้นมกุฏแทบไม่เหลือเงินเก็บ ต้องพึ่งพาทางบ้านตลอดมา เขาจึงใช้ความรู้เก่าระดมเขียนเรื่องสั้น และเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการปฏิวัติในรัสเซียส่งไปนิตยสารลลนา ต้นฉบับถึงมือ สุวรรณี สุคนธา บรรณาธิการชื่อดังก็เข้าใจว่า อุดร ฐาปโนสถ อดีตอาจารย์ร่วมมหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ไปทำงานเป็นโฆษกวิทยุมอสโก ภาคภาษาไทย อยู่ที่สหภาพโซเวียต คงส่งต้นฉบับมาอำเล่น

“ตอนนั้นผมใช้นามปากกา นิพพานฯ แต่นามปากกานี้เขียนเรื่องการเมืองเป็นส่วนมาก ยังไม่แพร่หลายในเรื่องสั้นหรือนวนิยาย เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับรัสเซีย คุณสุวรรณีก็เข้าใจว่าคุณอุดรกลับมาเมืองไทยแล้ว เพราะที่อยู่ในจดหมายส่งจากซอยสุขุมวิท 95 จึงโทรศัพท์ถึงตามที่ให้ไว้ในจดหมาย ผมก็รับสาย น้าแพ็ท (ศิริสวัสดิ์ พันธุมสุด – สามีของสุวรรณี) ทักทายว่า “สวัสดีครับ คุณนิพพานฯ อยากขอเชิญไปที่สำนักงานลลนาสักหน่อย” ผมก็งงนิดหนึ่ง แต่ก็ดีใจที่เขาโทรศัพท์มา เพราะหมายความว่า เขาได้รับต้นฉบับแล้ว คงอยากจะจ่ายค่าเรื่องให้มั้ง แต่แปลกใจว่าทำไมจึงเร็วเหลือเกิน”

เมื่อมกุฏไปถึงสำนักงานลลนาที่อาคารบีอาร์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ สุวรรณีจึงถึงบางอ้อว่าเข้าใจผิดหมด จึงชวนคุยเรื่องโน้นเรื่องนี้และแก้เกี้ยวด้วยคำถามว่า ‘ตรวจปรูฟได้ไหม’ แล้วมกุฏก็จึงมีโอกาสได้ช่วยตรวจทานต้นฉบับนิตยสารลลนาฉบับที่กำลังทำ ปรากฏว่าเขาพบคำผิดถึง 50 คำ เย็นวันนั้นบรรณาธิการตอบแทนค่ารถเป็นเงิน 30 บาท (ค่าแรงขั้นต่ำสมัยนั้น ขณะที่ข้าวแกงจานละ 2 บาท) และถามว่า ‘พรุ่งนี้ว่างไหม’ แล้วก็พูดเช่นนี้ต่ออีก 2-3 วัน ก่อนจะชวนให้มาทำงานเป็นพนักงานประจำ ในฐานะผู้ช่วยบรรณาธิการ

ชีวิตที่นิตยสารลลนา มกุฏต้องทำงานสารพัด ตั้งแต่ตรวจทานต้นฉบับ แก้ต้นฉบับ พิมพ์ต้นฉบับ เขียนบทสัมภาษณ์ ทำสารคดีสั้น ถ่ายรูปคอลัมน์ ขนหนังสือส่งไปรษณีย์ รวมถึงช่วยแก้ปัญหาธุรกิจของนิตยสาร

ครั้งหนึ่ง สายส่งคืนนิตยสารจำนวนมากจนผิดสังเกต จึงตั้งข้อสงสัยกันว่า อาจมีนิตยสารเกินกว่าจำนวนที่สั่งพิมพ์ ขายอยู่ในท้องตลาด สุวรรณีจึงมอบหมายให้มกุฏหาวิธีแก้ปัญหา

“ผมก็ไปนอนคิดอยู่คืนหนึ่ง แล้วเสนอว่า เมื่อเราจ้างโรงพิมพ์ พิมพ์ 15,000 ฉบับ เราก็เอาหนังสือทั้งหมดมาทำเครื่องหมายลับ เช่นซุกไว้ในหน้าใดหน้าหนึ่ง หากโรงพิมพ์พิมพ์เกินแล้วเอาไปขายเอง ก็จะไม่มีเครื่องหมายนี้ พอบอกคุณสุวรรณี ก็ว่าดี มกุฏไปทำ ตอนนั้นผมต้องมานั่งปั๊มตราลับในนิตยสาร 15,000 ฉบับ ทรมานมาก เพราะต้องทำให้เสร็จภายในวันเดียว แต่ผลดีคือ เมื่อปั๊มตราลับแล้ว หากสายส่งคืนนิตยสาร เราก็ตรวจสอบได้ว่าฉบับไหนเป็นนิตยสารเถื่อน หลังจากนั้นการคืนนิตยสารก็น้อยลงเรื่อยๆ เพราะไม่พิมพ์เกินแล้ว”

เรื่องใหญ่เรื่องสำคัญในวงการหนังสือซึ่งเป็นผลในเวลาต่อมา คือ เขาเสนอให้นิตยสารลลนารับผิดชอบเปลี่ยนฉบับใหม่ให้ผู้อ่าน หากชำรุดหรือเสียหายจากกระบวนการพิมพ์ ขณะนั้นมกุฏถูกโจมตีไม่น้อย เพราะหลายคนมองว่า นอกจากจะเสียเวลาแล้ว ยังอาจทำให้ขาดทุน แต่เขาก็อดทน เพราะเห็นว่าเป็นความรับผิดชอบของคนทำนิตยสาร จนสุดท้ายวิธีนี้ก็กลายเป็นมาตรฐานของวงการหนังสือมาจนถึงทุกวันนี้ หลังจากการเริ่มต้นอย่างลำบากผ่านไปหลายสิบปี

แต่เรื่องสำคัญที่สุดคือ ช่วงที่นิตยสารลลนามีผลประกอบการขาดทุนก้อนใหญ่ จนคณะกรรมการบริษัทบีอาร์ เจ้าของนิตยสาร เสนอให้เลือกว่าจะขึ้นราคานิตยสารจาก 7.50 บาทเป็น 9 บาท หรือลดคุณภาพนิตยสารลงเพื่อขายราคาเดิม สุวรรณีไม่เห็นด้วย แต่ยังหาคำอธิบายไม่ได้ จึงเรียกตัวมกุฏมาร่วมประชุมด้วย ครั้งนั้นมีผู้เสนอให้ปิดนิตยสาร แต่ บุรินทร์ วงศ์สงวน ประธานบริษัทบีอาร์ ไม่เห็นด้วย เพราะชื่อนิตยสารเป็นชื่อลูกสาว มกุฏจึงเสนอแนวทางต่างออกไปคือ ให้แยกการทำงานนิตยสารลลนาออกจากบริษัทบีอาร์ ไปทำเอง ปรากฏว่า ประธานบริษัทเห็นด้วย แล้วให้ร่างรายละเอียดวิธีดำเนินการเพื่อพิจารณา

วันรุ่งขึ้นมกุฏต้องทำหน้าที่เจรจารายละเอียดกับโรงพิมพ์ ขอพื้นที่ให้กองบรรณาธิการนิตยสารลลนาใช้เป็นสำนักงาน เพื่อลดต้นทุนค่าเช่าสถานที่และไม่ต้องเดินทางระหว่างสำนักงานกับโรงพิมพ์ ติดต่อสายส่งให้รับนิตยสารทั้งหมดในระบบขายขาด รวมทั้งชำระเงินล่วงหน้าบางส่วนเสมือนหุ้นส่วนผลิตนิตยสารเพื่อให้การดำเนินงานไม่ติดขัด การเจรจาเรื่องใหญ่ที่ไม่เคยปรากฏ แม้เป็นเรื่องยาก แต่ก็ลุล่วงไปด้วยดี

ครั้งนั้น เขาใช้เวลาจัดการทั้งหมดเสร็จสิ้นภายใน 7 วัน เป็น 7 วัน 7 คืนที่ไม่ได้หลับได้นอน และภายในเดือนเดียวที่ลลนาออกมาเป็นอิสระ ปรากฏว่านิตยสารมีกำไร จากที่ขาดทุนจำนวนมาก และมีกำไรเพิ่มขึ้นจนเป็นนิตยสารที่มีฐานะมั่นคง กระทั่งสุวรรณีจากไปใน พ.ศ. 2527

ประสบการณ์ครั้งนั้น ไม่ใช่เพียงการกู้เรือของนิตยสารคุณภาพฉบับหนึ่งเท่านั้น แต่ยังช่วยให้มกุฏเข้าใจกระบวนการผลิตหนังสือทุกขั้นตอนอย่างลึกซึ้ง และกลายเป็นองค์ความรู้ที่เขานำมาใช้ทำงานกระทั่งใช้สอนในวิชาหนังสือต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ผีเสื้อขยับปีก

หลังแก้วิกฤตนิตยสารลลนาได้สำเร็จราวหนึ่งปี มกุฏก็ขอลาออกจากหน้าที่ผู้ช่วยบรรณาธิการ เพื่อไปทำงานเขียนเต็มตัว เขาเดินทางกลับบ้านเกิดที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา และสร้างกระต๊อบอยู่เชิงเขาใกล้ทะเล ในหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อบ้านกรงอิตำ ระหว่างนั้นก็เขียนต้นฉบับผลงานที่เป็นเสมือนตราประทับประจำตัว นั่นคือ ‘ผีเสื้อและดอกไม้’ เรื่องราวของเด็กมุสลิมที่ต้องลักลอบขนสินค้าข้ามแดนเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว ขณะเดียวกันก็สอนหนังสือให้เด็กๆ และชาวบ้าน

แต่ด้วยสถานการณ์การเมืองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังคุกรุ่น ชาวบ้านบางคนระแวงว่ามกุฏเป็นสายของตำรวจ ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐก็ตั้งข้อสงสัยว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์ จนแม่ของเขาต้องขอร้องให้ย้ายออกจากพื้นที่ทันที

เขาจึงกลับกรุงเทพฯ อีกครั้ง วนเวียนอยู่ในแวดวงนิตยสาร เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสารบีอาร์ บางกอกรีดเดอร์ส ในเครือบีอาร์ จากนั้นก็เริ่มเปิดสำนักพิมพ์ชื่อ ‘ดอกไม้’ เพื่อตีพิมพ์งานของตนเองและเพื่อนฝูง กระทั่งวันหนึ่ง ผกาวดี อุตตโมทย์ ครูสอนภาษาอังกฤษและนักเขียน เจ้าของผลงาน ‘ครูไหวใจร้าย’ อยากทำนิตยสารใหม่ จึงชักชวนมกุฏกับ ผุสดี นาวาวิจิต อดีตผู้จัดรายการวิทยุภาคภาษาญี่ปุ่นของกรมประชาสัมพันธ์ มาทำงานร่วมกัน จนเกิดเป็นนิตยสารกะรัต ระหว่างทาง ทั้งสามยังเปิดสำนักพิมพ์ชื่อเดียวกันกับนิตยสาร พิมพ์หนังสือเล่มควบคู่ไปด้วย

ทว่า หลังทำนิตยสารอยู่ 9 ปีเต็ม ปรากฏว่าขาดทุนย่อยยับ ต้องกู้หนี้ยืมสินตลอดเวลา สวนทางกับสำนักพิมพ์พิมพ์หนังสือเล่มที่ไปได้ดี โดยเฉพาะ ‘โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง’ ซึ่งพิมพ์ครั้งแรก 20,000 เล่ม ก็จำหน่ายหมดภายใน 7 วัน

“โต๊ะโตะจัง เป็นเป็นหนังสือแปลภาษาญี่ปุ่นเล่มแรกๆ ก่อนหน้านั้นแทบไม่มีหนังสือแปลที่ขายดีมาก ผมจึงบอกตัวเองว่า หนังสือดีก็ขายได้นะ ที่สำคัญคือ หากไปดูในห้องสมุดต่างๆ สิ่งที่อยู่ได้เกิน 1 ปี มีแต่หนังสือ ส่วนนิตยสารถูกโละออกไปหมด บางที 2-3 เดือนก็ไปหมดแล้ว ทำไมเราไม่ทำสิ่งที่อยู่กับคนกับประเทศชาตินานๆ ล่ะ”

ในที่สุดทั้งสามก็ตัดสินใจเลิกทำนิตยสาร แม้จะเริ่มมีกำไรแล้วก็ตาม หันมามุ่งมั่นผลิตหนังสือเล่มเพียงอย่างเดียว ครั้งนั้นพวกเขาได้เปลี่ยนชื่อสำนักพิมพ์จาก ‘กะรัต’ เป็น ‘ผีเสื้อ’ เหตุเพราะมีบริษัทผลิตสุขภัณฑ์ชื่อเดียวกันตามมา

ตอนนั้นไปไหนก็มีเหตุให้ต้องหนีอยู่เรื่อย อาจเป็นเรื่องบังเอิญ อย่างตอนชื่อสำนักพิมพ์ดอกไม้ เปิดได้ไม่กี่ปีก็มีสำนักพิมพ์ดอกหญ้า พอเปลี่ยนมาเป็นกะรัต เพื่อนผมตามหาผม ปรากฏว่าเขาไปที่บริษัทที่มีป้ายกะรัต ถามหาคุณมกุฏ เขาก็นึกว่าคงเกี่ยวข้องอะไรกันสักอย่างเพราะชื่อเดียวกัน เมื่อคุยกันไม่รู้เรื่อง ทางฝ่ายนั้นก็เอะใจ บอกว่านี่เป็นบริษัทสุขภัณฑ์ขายโถส้วม ไม่มีหรอกบรรณาธิกงธิการ หลังจากนั้นเราก็เลยเปลี่ยนชื่อสำนักพิมพ์เป็นผีเสื้อก็นึกถึงผีเสื้อและดอกไม้ที่ผมเขียน แล้วยังคล้องจองเกี่ยวพันกับดอกไม้ที่เราเคยใช้ และก็มีคำว่าผีด้วย คงไม่มีใครกล้าตั้งหรอกมกุฏเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

สำนักพิมพ์ผีเสื้อคัดสรรวรรณกรรมดีๆ สำหรับเยาวชน ด้วยเชื่อว่า หากเด็กๆ ได้อ่านหนังสือที่เหมาะแก่วัยก็จะเป็นรากฐานในการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปได้

“สมัยก่อนมีสำนักพิมพ์เพียงสองสามแห่งเท่านั้นที่พิมพ์วรรณกรรมเยาวชนแปล เมื่อเราเห็นว่าหนังสือเยาวชนขายได้แต่มีน้อยและควรจะมีให้มาก จึงเลือกพิมพ์หนังสือประเภทนี้เป็นหลัก เพราะเยาวชนอยู่ในวัยคาบเกี่ยว เหมือนต้นไม้ที่แตกจากเมล็ดแล้ว ยังอยู่ในวัยที่หนอนจะกินต้นอ่อน กำลังจะเป็นลำต้น เราจึงควรดูแลบำรุงรักษา ให้ปุ๋ย ให้น้ำ ให้อากาศ เพื่อเขาจะโตขึ้นเป็นต้นที่แข็งแรง ทั้งความคิด ความรู้ ทัศนคติ และรสนิยม”

บรรณาธิการทั้งสามคนแสวงหาหนังสือดีทั้งในและต่างประเทศ เพื่อถ่ายทอดเป็นภาษาไทย แม้บางเล่มไม่โด่งดังหรือเป็นที่นิยม แต่ทุกเล่มล้วนร่วมสมัย อ่านได้ทุกเพศทุกวัยและมีสาระแก่นสาร นอกเหนือจากความบันเทิงเริงรมย์

ที่สำคัญ หนังสือของสำนักพิมพ์ผีเสื้อขึ้นชื่อเรื่องความประณีต ตั้งแต่กระดาษที่พิมพ์เข้าเล่มด้วยระบบเย็บกี่และไสกาวเพื่อให้รูปเล่มคงทนไม่หลุดเป็นแผ่นๆ หรือแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการระบุชื่อผู้เขียนและชื่อหนังสือในกระดาษแต่ละหน้า และแน่นอน หากผู้อ่านพบว่าหนังสือเล่มใดชำรุดเสียหายเนื่องจากคุณภาพการพิมพ์ ทางสำนักพิมพ์จะรับคืน ทำลายทิ้ง และเปลี่ยนเล่มใหม่ให้ทันที เพราะถือเป็นความรับผิดชอบของผู้ผลิตหนังสือ

ประเทศเราจน ชาวบ้านก็จน การจะซื้ออะไรสักอย่างโดยเฉพาะของที่เขาคิดว่าฟุ่มเฟือย ของนั้นต้องดีและอยู่ทนจึงจะคุ้ม หนังสือหนึ่งเล่ม ผมคิดว่าไม่เหมือนของกินที่กินแล้วก็จบ ก็หมดไป หนังสือมีราคาค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับรายได้ของคนทั่วไป ถ้าหนังสืออยู่ไม่นาน ผมคิดว่านั่นคือของสำหรับคนรวย แต่ถ้าเป็นคนจนที่อยากซื้อหนังสือ ควรอ่านแล้วเก็บไปถึงลูกถึงหลาน 3-4 ชั่วอายุจึงจะคุ้มสำหรับเขา เราเคยเห็นบางครอบครัว เขาซื้อรถยนต์ง่ายกว่าซื้อหนังสือ เขาต่อราคาหนังสือยิ่งกว่าซื้อปลาในตลาดนั้น ผมจึงสรุปว่า เรื่องหนังสือ ประเทศเรายากจน

“แต่หลายคนก็บอกว่าทำประณีตแล้วเสียเวลา ต้นทุนสูง ทำให้หนังสือราคาแพง เราก็ต้องยอมตั้งราคาให้ถูก ไม่ต้องคิดเรื่องกำไรเป็นตัวเงิน ผมไม่อยากให้ใครรู้สึกว่าหนังสือแพง ดังนั้นราคาหนังสือของสำนักพิมพ์ผีเสื้อจึงถูกกว่าราคามาตรฐาน แม้จะพิมพ์ด้วยวิธีคุณภาพตั้งแต่การเตรียมต้นฉบับจนถึงการพิมพ์กระทั่งการเข้าเล่มคือเย็บกี่ ผมเชื่อว่า ถ้าเราเป็นคนอ่าน ก็คงอยากได้หนังสือที่มีคุณภาพอย่างนี้แหละ และการที่เราได้สร้างคนอ่านให้มีความรู้สึกเรื่องหนังสือ งอกงามขึ้นจากหนังสือ ผมถือว่าเป็นกำไรมากกว่าจำนวนเงินที่ได้จากการขาย เพราะจะงอกงามไปตลอดชีวิตของเขา เขารู้คิดต่อไปจากหนังสือได้ รู้จักส่งต่อไปให้ลูกหลานของเขาได้

“ผมรู้จักคนจำนวนมากที่ได้รับหนังสือมาจากปู่ย่าตายาย แล้วคนเหล่านี้รู้สึกภูมิใจว่า ปู่ย่าฉันเก่ง อ่านหนังสือทันสมัยมาก ซึ่งผมเชื่อว่ามีค่ามากกว่า 20-30 บาท และต่อให้เราไม่ได้กำไรก็ช่างเถอะ แต่ประเทศได้สิ่งเหล่านั้น คนในครอบครัวได้สิ่งเหล่านั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องเสียหายที่เราจะคิดทำนั่นทำนี่ เหมือนที่เคยสงสัยกันว่าทำไมประเทศญี่ปุ่นจึงชอบออกแบบทำกล่อง หีบห่อ หรือแม้แต่ซองบรรจุของเล็กๆ น้อยๆ และโดยเฉพาะทำหนังสือให้สวยงาม เพราะเขางอกงามด้วยสิ่งเหล่านั้น อยู่ท่ามกลางสิ่งเหล่านั้น เขาขายความคิดที่จะงอกงามต่อไปได้ ไม่รู้จักจบสิ้น แต่ถ้าเราคิดจะหากำไรในช่วงเวลาสั้นๆ เพียงอย่างเดียวก็จบแล้ว เราจึงไม่ได้ทำหนังสือเพียงเพื่อจะขายหนังสือ ใครจะเรียกสิ่งนี้ว่าอุดมคติหรืออะไรก็ตาม แต่ในฐานะคนทำหนังสือ ผมนึกเสมอว่า คนอ่านเขามีความรู้สึก และต้องการสิ่งดีที่สุด”

ด้วยเจตนารมณ์อันแรงกล้า ต่อให้สำนักพิมพ์ต้องเผชิญปัญหานับครั้งไม่ถ้วน บรรณาธิการอย่างมกุฏและคณะก็ไม่เคยท้อถอย ยืนหยัดต่อสู้เรื่อยมานานร่วม 50 ปีแล้ว จนกลายเป็นสำนักพิมพ์ที่อยู่ในดวงใจของใครหลายคนไม่เปลี่ยนแปลง

จาก ‘บรรณาธิการ’ สู่ ‘ครูสอนวิชาหนังสือ’

แม้ไม่เคยคิดจะเป็นครู เพราะรู้ดีว่า ครูเป็นอาชีพที่ยาก ไม่สนุก แต่โชคชะตาก็ลิขิตให้บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อต้องมารับบทบาทนี้

ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2541 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดโครงการอบรมเรื่อง ‘บรรณาธิการต้นฉบับแปล’ แก่ผู้สนใจและคณาจารย์ภาษาต่างๆ เพื่อสนับสนุนการผลิตหนังสือแปลที่มีคุณภาพในวันข้างหน้า ขณะที่สังคมหนังสือแปลเริ่มขยายวงกว้างอย่างมาก ด้วยเห็นว่า การตรวจแก้ต้นฉบับแปลคือขั้นตอนสำคัญอย่างยิ่งของการแปลหนังสือสู่ภาษาที่สอง

แรกเริ่มมกุฏร่วมโครงการนี้ด้วยความตั้งใจว่า จะเป็นผู้บรรยายเพียงหลักสูตรเดียว 40 ชั่วโมง แล้วจะส่งต่อให้บุคคลเหล่านั้นซึ่งเป็นครูอาจารย์ถ่ายทอดความคิดและวิธีการสู่คนอื่นๆ ต่อไป แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นตามความตั้งใจ เนื่องจากวิชานี้ต้องอาศัยประสบการณ์และทักษะการทำงานมาก จึงไม่มีใครรับหน้าที่ดูแลหลักสูตร มกุฏจึงต้องเปลี่ยนบทบาทมาเป็น ‘อาจารย์พิเศษ’ ในเวลาต่อมา

เมื่อเริ่มหย่อนเมล็ดพันธุ์การตรวจแก้ต้นฉบับลงที่จุฬาฯ แล้ว อาจารย์มกุฏก็พยายามหยั่งรากความรู้นี้ให้กว้างขึ้น จึงส่งเสริมให้อาจารย์ผู้เกี่ยวข้องและสนใจวรรณกรรมและหนังสือเปิดสอนวิชานี้ในสถาบันการศึกษาต่างๆ หลักสูตรวิชาบรรณาธิการศึกษาจึงเกิดขึ้นที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เขาสอนอยู่ที่นั่นนานถึง 12 ปี ก่อนจะวางมือเมื่อ พ.ศ. 2561

แต่การสร้างคนทำงานอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ จำเป็นต้องสร้างระบบหนังสือที่มั่นคง เพื่อไปสู่วัฒนธรรมการอ่านอันยั่งยืนด้วย อาจารย์มกุฏจึงได้ผลักดันแนวคิดเรื่องสถาบันหนังสือแห่งชาติมาตั้งแต่ พ.ศ. 2544

สถาบันหนังสือแห่งชาติ คือแนวคิดโครงสร้างเพื่อให้เกิดระบบการจัดการหนังสือของประเทศอย่างครบวงจร เพื่อพัฒนาการเขียน การอ่าน การผลิตหนังสือ และการกระจายหนังสืออย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ เพื่อเป้าหมายคือการเข้าถึงความรู้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึงของคนไทย เช่น การจัดหาหนังสือดีมีคุณภาพส่งไปห้องสมุดทั่วประเทศตามความจำเป็นและความต้องการอย่างทั่วถึง แปลและจัดพิมพ์หนังสือดีของนานาชาติ จัดพิมพ์หนังสือของนักเขียนไทยที่สำนักพิมพ์ทั่วไปไม่กล้าพิมพ์ แต่เป็นหนังสือจำเป็น และหาวิธีการกระจายอย่างเป็นระบบ ตั้งศูนย์บริการหนังสือ พร้อมกับทำระบบเครือข่ายห้องสมุดให้เชื่อมโยงกัน เพิ่มฐานข้อมูลห้องสมุดและหนังสือในบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิทัดเทียมกันในการใช้ห้องสมุดได้ทั่วประเทศ ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทำงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักเขียน นักแปล บรรณาธิการ บรรณารักษ์ และผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องอื่นๆ รวมถึงร้านหนังสือ เพื่อจะได้เป็นกำลังหลักในการสร้างสรรค์ผลงานที่ดีต่อไป

“อินเดียก่อตั้งสถาบันหนังสือแห่งชาติทันทีภายหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ ชวาหะร์ลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรก มีความคิดว่าว่า ต้องทำให้คนทั้งประเทศมีความรู้ด้วยมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งเครื่องมือง่ายที่สุดและราคาถูกที่สุดก็คือ หนังสือ เพื่อให้คนของเขาได้อ่าน และทุกวันนี้ สถาบันแห่งนี้ก็ยังอยู่ แม้อินเดียจะผลิตคอมพิวเตอร์ได้ ไปอวกาศก็ได้ แต่สถาบันนี้ไม่เคยหยุดทำงาน เพราะหนังสือยังเป็นเครื่องมือที่ใช้ง่ายที่สุด ส่งต่อกันไปได้โดยไม่ต้องมีพิธีรีตอง สมมุติว่าชาวบ้านคนหนึ่งได้หนังสือว่าด้วยการทำนา อ่านเสร็จแล้วก็ส่งให้ชาวนาอีกคน เพราะฉะนั้น ต่อให้ชาวนาเข้าไปดูในอินเทอร์เน็ตไม่เป็น หรืออ่านภาษาอื่นไม่ได้ เขาก็ยังได้ความรู้จากหนังสือพื้นฐานที่ต้องการและที่จำเป็น

“แต่ถามว่าประเทศไทยเรามีเครื่องมือช่วยให้ชาวบ้านเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ไหม ไม่มี เพราะฉะนั้นสถาบันหนังสือแห่งชาติจึงไม่ได้หมายถึงว่าจะไปจัดการเรื่องหนังสือและการอ่านให้เด็กนักเรียน งานเพื่อเด็ก กระทรวงศึกษาธิการดูแลอยู่แล้ว เขามีแล้วสำหรับเด็ก แต่ชาวบ้านที่อยู่นอกระบบการศึกษาและจำเป็นต้องใช้ความรู้จากสิ่งต่างๆ แหล่งต่างๆ ทั้งสิ่งพิมพ์กระดาษและออนไลน์แต่ยังไม่มีคนจัดการให้ ไม่มีหน่วยงานใดดูแลเรื่องสรรพความรู้สำหรับชาวบ้านและประชาชนอย่างเป็นระบบจริงจัง นี่ต่างหากเป็นเรื่องสำคัญ เพราะวัตถุประสงค์ของสถาบันนี้ไม่ใช่ผลิตหนังสือกระดาษอย่างเดียว แต่พยายามทำให้คนเข้าถึงเครื่องมือความรู้ ทุกชนิดทุกประเภทที่มีและรวมทั้งที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคตด้วย”

ทว่าแนวคิดนี้ไปไม่ถึงไหนด้วยข้อจำกัดทางการเมืองหลายประการ แต่อาจารย์มกุฏก็ไม่เคยหยุดเดินเพื่อพัฒนารากฐานของระบบหนังสือในเมืองไทย เขาจึงริเริ่มโครงการเล็กๆ หลายโครงการ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า หนังสือเปลี่ยนชีวิตผู้คนได้อย่างไร โครงการแรกชื่อ ‘ระบบหนังสือหมุนเวียน’ โดยได้เลือกมัสยิด 4 แห่งที่อยู่ใกล้กัน แล้วนำหนังสือที่แตกต่างกันไปมอบไว้ พอครบ 3 เดือนก็หมุนเวียนหนังสือระหว่างมัสยิด แสดงและถ่ายทอดผลงานที่ได้จากการอ่านระหว่างกัน

ทุกครั้งที่มีการแลกเปลี่ยนหนังสือ จะมีการจัดประกวดผลงานที่ได้จากการอ่าน ซึ่งแต่ละหมู่บ้านก็จะมีผลงานมาแสดงแตกต่างกันบ้าง เช่นบางหมู่บ้านก็ทำสิ่งประดิษฐ์ขึ้นมา หรือนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาต่อยอด อย่างหมู่บ้านหนึ่งมีต้นจากเยอะ แต่ไม่เคยทราบมาก่อนว่านำมาทำขนมได้ ก็ทดลองทำแล้วนำมาขาย

“ตอนนั้นมีคนในหมู่บ้านหนึ่งได้อ่านเรื่องเพาะเห็ด เคยเพาะอยู่แล้วแต่เพาะด้วยวิธีเก่า แต่พออ่านหนังสือได้ความรู้เพิ่มเติม คือในหนังสือบอกว่าศัตรูเห็ดเกือบทั้งหมดอยู่บนดิน เขาก็ตั้งคำถามว่า แล้วทำไมต้องไปเพาะเห็ดบนดิน จึงทดลองขึงเชือกแขวนเห็ดไว้บนราวนั้น เรียกว่าเห็ดกลางอากาศ ปรากฏว่าได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่เสียหายเลย รายได้จากการเพาะเห็ดก็มากขึ้น

“อีกคนหนึ่งเป็นผู้ดูแลมัสยิดในเวลานั้น เป็นกรรมกร ค่าจ้างรายวัน 120 บาท เขาก็คิดว่าจะใช้ประโยชน์อะไรจากหนังสือที่อ่านได้บ้าง ตอนนั้นเขาอ่านหนังสือเรื่องหญ้า ก็ได้ความคิดไปซื้อพันธุ์หญ้ามาปลูกเพื่อขายให้เจ้าของวัวชน เก็บเกี่ยวขายครั้งแรกได้เงิน 30,000 บาท หลังจากนั้นเขาก็ทำโน่นทำนี่ ปัจจุบันนี้เขามีเงินหมุนเวียนในระบบธุรกิจที่ตั้งขึ้นจากผลของการอ่านหนังสือประเภทต่างๆ เดือนละไม่น้อยกว่า 250,000 บาท

“เรื่องหนึ่งที่เขาอ่าน เคยได้ยินเรื่องยุงลายไหม สาธารณสุขบอกว่า ยุงลายเกิดจากน้ำขังในภาชนะหงาย ถ้าเจอภาชนะ เช่น กะลามะพร้าวหงายก็ให้คว่ำเสีย แต่กะลามะพร้าวมีเนื้อติดอยู่ พอโดนน้ำก็จะส่งกลิ่น เมื่อทำตามสาธารณสุขบอกแล้ว หนูได้กลิ่นก็จะมาหงายกินเนื้อ คนไปคว่ำอีก ไก่ก็มาหงายกะลาจิกกิน สุดท้ายน้ำก็ขังเหมือนเดิม แต่ชาวบ้านคนนี้เขาได้อ่านเรื่องเผาถ่าน เขาจึงไปตามหมู่บ้านต่างๆ บอกว่าไม่ต้องคว่ำกะลามะพร้าวแล้ว เก็บใส่ถุงใส่กระสอบเอามาขายให้ผม ผมให้กิโลกรัมละ 50 สตางค์ เขาก็เอากะลามาเผาเป็นถ่าน ขายกิโลกรัมละ 4 บาท โรงงานรับถ่านไปอัดแท่งต่อ สรุปเขาได้รายได้จากการซื้อกะลาเดือนละ 40,000 บาท ส่วนการปลูกหญ้าที่เคยทำก็กลายเป็นธุรกิจเล็กน้อยไป เขาขายธุรกิจนี้ให้คนอื่นไปแล้ว

ต่อมาเขาก็อ่านหนังสือเรื่องไก่พม่า ก็ไปซื้อไก่พม่ามาผสมกับไก่ไทย ได้ราคามากกว่าไก่ไทยหลายเท่า เพราะคุณสมบัติต่างกัน เขาอ่านหนังสือวรรณกรรมเยาวชนเล่มหนึ่ง ชื่อ ด็อกเตอร์ ดูลิตเติล มีฉากหนึ่งนกนางนวลช่วยเรือให้พ้นจากโจรสลัด เขาก็คิดว่าหมู่บ้านเราก็เหมือนกับเรือนะ ถ้าต่างคนต่างอยู่ ไม่มีใครช่วยกัน เราก็อยู่ยาก จึงคิดเรื่องสวัสดิการหมู่บ้านขึ้นมา เก็บเงินคนหนึ่งวันละบาท กลายเป็นกองทุนหมู่บ้าน ใครป่วยเข้าโรงพยาบาล กองทุนจ่ายให้ คลอดลูกกองทุนจ่ายให้ ใครมีลูกเรียนชั้นมัธยมฯ ได้เกรดเกิน 2.5 มีทุนเล่าเรียนให้ ใครตายจ่ายค่าทำศพ แม้แต่ผมก็ยังเป็นสมาชิกของเขาเลย นี่คือความรู้อันเกิดประโยชน์และพัฒนาที่ได้จากการอ่านหนังสือ

นอกจากนี้อาจารย์มกุฏยังริเริ่มโครงการมากมาย เช่น โครงการฝึกฝนผู้ดวงตาพิการให้เขียนหนังสือ เพื่อให้คนตาบอดเขียนหนังสือและวาดรูป รวมถึงทำกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่เคยทำได้ โครงการ Book Passport หนังสือเดินทางร้านหนังสือ สนับสนุนร้านหนังสืออิสระเล็กๆ ทั่วประเทศให้อยู่ได้ เพราะร้านเหล่านี้ก็เป็นเสมือนศูนย์กลางเชื่อมโยงผู้คนและชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน และยังช่วยให้คนตัวเล็กตัวน้อยเข้าถึงหนังสือได้ง่ายขึ้น บางครั้งต่อให้ชาวบ้านไม่มีเงิน แต่ใฝ่รู้ ก็อาจจะแวะเวียนมาอ่านหนังสือวันละ 5-10 หน้าก็ได้ ถ้าพิจารณาให้ดี คิดอย่างฉลาด ร้านหนังสือเล็กๆ ในท้องถิ่น ทำหน้าที่เหมือนห้องสมุดกลายๆ ให้รัฐบาล รัฐบาลไม่ต้องลงทุน อารยประเทศทั้งหลายจึงพยายามสนับสนุนให้มีร้านหนังสือทั่วประเทศด้วยผลประโยชน์ต่างๆ หรือโครงการแปลหนังสือ วรรณคดี และวรรณกรรมแห่งชาติอาเซียน เพื่อให้คนไทยเข้าถึงวิถีชีวิตและมุมมองความคิดของประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ขณะเดียวกันประเทศอื่นๆ ซึ่งได้อ่านหนังสือไทยที่แปลเป็นภาษาของเขา ก็ได้เรียนรู้ตัวตนของคนไทยในมิติอื่นๆ ไปด้วย สถานเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ ชื่นชมโครงการนี้มาก แม้ต้องใช้เวลาและลงทุนลงแรงมาก

อย่างไรก็ตาม อาจารย์มกุฏตระหนักดีว่า สิ่งที่ทำทั้งหมดนี้อาจแก้ปัญหาได้เพียงเสี้ยวเดียวเท่านั้น เพราะหากต้องการโครงสร้างระบบที่ยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาล ไม่ใช่กิจกรรมชั่วครั้งชั่วคราว

“อย่างเก่งเราก็ทำได้แค่เส้นผม พอไปทำที่อื่นก็ต้องเริ่มใหม่ และต้องรู้ด้วยว่าชุมชนแต่ละแห่งมีพื้นฐานไม่เหมือนกัน ชุมชนเกษตรกรก็ต้องใช้ความรู้และวิธีเกษตรกรรม จะเอาวิธีของชาวดอยไปใช้กับชาวประมงไม่ได้ เพราะภูมิศาสตร์ประชากรต่างกัน ดังนั้นถ้ารัฐบาลไม่สนใจก็ลำบาก ถ้าจะเริ่มก็ควรเริ่มทุกอย่างพร้อมกันหมด เช่น เราไปส่งเสริมการอ่าน ทุกคนอยากได้หนังสือ แต่ไม่มีนักเขียนที่จะเขียนเรื่องที่ชาวบ้านต้องการ เช่น ไม่มีคนเขียนเรื่องเกษตรพื้นฐาน เราเขียนแต่นวนิยาย เรื่องแบบนี้เขาไม่อ่านนะ เขาอยากรู้ว่าเลี้ยงไก่ยังไงจึงจะได้ไข่ 2 ฟอง หรือผมมีหนังสือนวดไปให้ พอไปถึงก็นวดกันเลย ปวดหลังอยู่ก็ได้ผลทันใด เราจึงมีคำว่าภูมิศาสตร์ประชากรในการจัดการเรื่องหนังสือและความรู้”

ด้วยเหตุนี้ หากผู้มีอำนาจคิดทุกอย่างเป็นระบบและครบวงจร ลงมือทำอย่างจริงจัง แม้จะใช้เวลาสักหน่อยก็ตาม แต่นั่นจะเป็นหนทางที่พาประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืนที่แท้จริง

ตอนนั้นรู้สึกว่า ทำไมเราถึงรอด..เหมือนเราถูกเลือกให้อยู่หรือเปล่า ตั้งแต่นั้นมา ผมจึงคิดว่า เมื่อเรารอดจากตรงนั้นแล้ว ก็ควรใช้ชีวิตให้คุ้มค่าและเป็นประโยชน์มากที่สุด

มกุฏ อรฤดี : จาก ‘สำนักพิมพ์ผีเสื้อ’ สู่สังคมความรู้ที่เท่าเทียมของคนไทย

คืนสู่รากฐาน

ความหวังสูงสุดคือเรื่องสถาบันหนังสือแห่งชาติ เป็นเรื่องใหญ่ต้องใช้เวลาและพลังมหาศาล แต่ในวัยขึ้นเลข 7 อาจารย์มกุฏทราบดีว่า โอกาสที่ความหวังนี้จะเป็นจริงคงยากยิ่ง แม้เป็นเรื่องสำคัญ เป็นหัวใจของชาติ เป็นความจำเป็นของประเทศ

ในวันนี้อาจารย์จึงพยายามสานความหวังที่เห็นผลได้ง่าย แต่เป็นรากอันสำคัญของระบบในอนาคต นั่นคือการผลักดันให้นักเขียนรุ่นเยาว์มาร่วมสร้างผลงานของตน ปรากฏชื่อเสียงในชื่อสำนักพิมพ์ผีเสื้อเด็กๆ โดยทุกคนมีฐานะเป็นหุ้นส่วนของสำนักพิมพ์ และต่อไปอาจจะก้าวขึ้นเป็นผู้บริหาร เมื่ออาจารย์จากโลกนี้ไปแล้ว

จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน เวลานั้นสำนักพิมพ์ผีเสื้อได้พิมพ์สมุดบันทึกจำหน่ายแก่ผู้สนใจ ปรากฏว่า ในระยะเวลา 2 ปี ขายได้ถึง 40,000 เล่ม มากกว่าหนังสือเล่มใดๆ ที่เคยพิมพ์เสียอีก สะท้อนว่าคนไทยชอบเขียน ชอบเล่าเรื่อง และชอบจดบันทึก แต่น่าแปลกที่นโยบายส่งเสริมการอ่านของรัฐบาลที่ทำมาต่อเนื่องนับหลายสิบปี กลับไม่ประสบความสำเร็จ จนหลายคนพากันสรุปว่า เป็นเพราะเด็กไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ

อาจารย์มกุฏไม่คิดเช่นนั้น แต่กลับเชื่อว่า ปัญหานี้อาจเป็นเพราะเครื่องมือที่รัฐใช้ส่งเสริมนั้นไม่ถูกต้องหรือกระตุ้นให้เด็กเกิดแรงบันดาลใจได้ไม่มากพอ จึงนำประสบการณ์จากวัยเยาว์ที่ชอบสมุดไร้เส้นบรรทัดมากเป็นพิเศษ เพราะเขียนอะไรลงไปก็ได้ ตัวหนังสือหรือรูปวาดก็ได้ มาผสานกับเรื่องยอดขายสมุดบันทึกของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ แล้วสร้างรูปแบบใหม่คือแจกสมุดบันทึกไม่มีเส้นบรรทัดให้เด็กๆ โดยเริ่มเมื่อ พ.. 2557

ความหวังสูงสุดคือเรื่องสถาบันหนังสือแห่งชาติ เป็นเรื่องใหญ่ต้องใช้เวลาและพลังมหาศาล แต่ในวัยขึ้นเลข 7 อาจารย์มกุฏทราบดีว่า โอกาสที่ความหวังนี้จะเป็นจริงคงยากยิ่ง แม้เป็นเรื่องสำคัญ เป็นหัวใจของชาติ เป็นความจำเป็นของประเทศ

ในวันนี้อาจารย์จึงพยายามสานความหวังที่เห็นผลได้ง่าย แต่เป็นรากอันสำคัญของระบบในอนาคต นั่นคือการผลักดันให้นักเขียนรุ่นเยาว์มาร่วมสร้างผลงานของตน ปรากฏชื่อเสียงในชื่อสำนักพิมพ์ผีเสื้อเด็กๆ โดยทุกคนมีฐานะเป็นหุ้นส่วนของสำนักพิมพ์ และต่อไปอาจจะก้าวขึ้นเป็นผู้บริหาร เมื่ออาจารย์จากโลกนี้ไปแล้ว

จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน เวลานั้นสำนักพิมพ์ผีเสื้อได้พิมพ์สมุดบันทึกจำหน่ายแก่ผู้สนใจ ปรากฏว่า ในระยะเวลา 2 ปี ขายได้ถึง 40,000 เล่ม มากกว่าหนังสือเล่มใดๆ ที่เคยพิมพ์เสียอีก สะท้อนว่าคนไทยชอบเขียน ชอบเล่าเรื่อง และชอบจดบันทึก แต่น่าแปลกที่นโยบายส่งเสริมการอ่านของรัฐบาลที่ทำมาต่อเนื่องนับหลายสิบปี กลับไม่ประสบความสำเร็จ จนหลายคนพากันสรุปว่า เป็นเพราะเด็กไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ

อาจารย์มกุฏไม่คิดเช่นนั้น แต่กลับเชื่อว่า ปัญหานี้อาจเป็นเพราะเครื่องมือที่รัฐใช้ส่งเสริมนั้นไม่ถูกต้องหรือกระตุ้นให้เด็กเกิดแรงบันดาลใจได้ไม่มากพอ จึงนำประสบการณ์จากวัยเยาว์ที่ชอบสมุดไร้เส้นบรรทัดมากเป็นพิเศษ เพราะเขียนอะไรลงไปก็ได้ ตัวหนังสือหรือรูปวาดก็ได้ มาผสานกับเรื่องยอดขายสมุดบันทึกของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ แล้วสร้างรูปแบบใหม่คือแจกสมุดบันทึกไม่มีเส้นบรรทัดให้เด็กๆ โดยเริ่มเมื่อ พ.. 2557

ผลปรากฏว่ามีเด็กส่งจดหมายขอรับสมุดมากถึง 1,100 คน แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ มีเด็กบางคนส่งบันทึกกลับมายังสำนักพิมพ์ เพื่อให้รู้ถึงพัฒนาการการเขียน

คนแรกคือเด็กหญิงวัย 7 ขวบ ซายูริ ซากาโมโตะ

ซายูริ เป็นเด็กที่มีมุมมองไม่เหมือนใคร เช่น เธอมักบอกว่า ตัวเองไม่ใช่ลูกครึ่ง เพราะครึ่งคือการแบ่งออกจากกันเป็นสองซีก แต่เธอไม่ได้แบ่งออก เธอเกิดจากการผสมกัน ซายูริจึงเป็นลูกผสมระหว่างแม่ที่เป็นคนไทยและพ่อที่เป็นชาวญี่ปุ่น

อาจารย์มกุฏสนใจเด็กคนนี้มากจึงขอให้คุณแม่ของเธอพามาพบที่สำนักพิมพ์ผีเสื้อ แล้วจึงสัมผัสได้ถึงการเป็นเด็กไม่ธรรมดาของซายูริ

“ซายูริเขียนได้อย่างแปลกประหลาด ทำให้ผมทึ่ง ผมเห็นความฉลาด เห็นการงอกงามของเด็กคนนี้ที่อยู่ในสมุดบันทึก และทำให้ผมรู้ว่า หากเราใช้สมุดบันทึกเป็นเครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก เราจะได้ความรู้ที่ประหลาดมหัศจรรย์ตามความชอบความต้องการของเด็กแต่ละคน ไม่เพียงเท่านั้น เด็กจะเริ่มอ่านหนังสือไปอย่างไม่รู้ตัว เพราะเมื่อไม่มีอะไรจะเขียนก็เริ่มอยากรู้ อยากแสวงหาความรู้ ถ้าคนเราต้องการความรู้ก็จะค้นหา และแหล่งที่มีความรู้รวมกันอยู่มากที่สุดก็คือหนังสือ คือห้องสมุด ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ เขาจะคิดก่อนเขียน เพราะฉะนั้นจึงเท่ากับเราใช้สมุดเล่มเดียว แต่ได้ทักษะ 3 อย่างพร้อมกัน คือ เขียน คิด และอ่าน เราใช้คำว่า ‘สมุดบันทึกคือเครื่องมือค้นหาอัจฉริยภาพของเด็ก’ ที่ได้ผลที่สุด ราคาถูกที่สุด และรวดเร็วที่สุด”

หลังจากนั้น อาจารย์มกุฏจึงนำบันทึกชีวิตประจำวันสั้นๆ ของเด็กหญิงมาถ่ายทอดเป็นเล่ม กลายเป็นหนังสือบันทึกส่วนตัวซายูริ ผู้อ่านตอบรับอย่างดี เพราะแม้จะเป็นฝีมือของเด็กตัวเล็กๆ แต่ข้อความก็เปี่ยมด้วยความคิดอันลึกซึ้ง บางเรื่องเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง และสะท้อนถึงความเป็นจริงในสังคมได้

เมื่อเริ่มก้าวแรกสำเร็จ สำนักพิมพ์ผีเสื้อเด็กๆ ก็ได้ต้อนรับสมาชิกใหม่อย่างต่อเนื่อง เช่น ตินติน-ติณณา ตริยานนท์ เจ้าของหนังสือ ‘โลกดวงนี้ก็เป็นของหนอนด้วย’ ‘อยากให้ทุกสิ่งในโลกนี้มีชีวิต’ และ ‘กราบพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙’ รวมทั้งวาดภาพประกอบหนังสือเรื่อง ‘หอยทาก ผู้ค้นพบประโยชน์แห่งความเชื่องช้าของตน’, ในใจ เม็ทซกะ นักเขียน นักแปลเรื่อง ‘บิลลี่กับมนุษย์จิ๋ว’ ของโรอัลด์ ดาห์ล กับ ‘หนังสือภาพบันทึกของแอนน์ แฟร้งค์’ ผู้เขียน ‘ความในใจ’ กับ ‘นางฟ้าตกสวรรค์กับไอศกรีมฉี่หิ่งห้อยฯ’, ปริม-ศุภาพิชญ์ พรอำนวยผล นับเป็นกวีเด็กผู้มีผลงานตั้งแต่อายุ 10 ขวบในหนังสือ ‘ดวงตาหิ่งห้อย’ , ยูโตะ ฟุคะยะ ถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตสมัยเป็นเณรน้อย ด้วยมุมมองของแมววัด, ขวัญข้าว ไกรสรพงศ์พันธุ์ วาดภาพประกอบหนังสือกล่องงี่เง่า, สิรภพ พรอำนวยผล หรือนักเขียนผีเสื้อเด็กๆ หมายเลข 13 แต่ละคนล้วนมีฝีไม้ลายมือที่ไม่ธรรมดาเลย การันตีได้จากรางวัลที่สถาบันต่างๆ มอบให้

“เด็กพวกนี้คือ เด็กที่งอกงามขึ้นไปอย่างรวดเร็วและไม่ต้องผ่านกระบวนการตามขั้นตอน เพราะแต่ละคนฉลาดเอง มีวิธีคิดของเขาเอง และอาจมีวิธีเขียนของเขาเองก็ได้ เพราะฉะนั้นการที่ผู้ใหญ่พยายามนำทฤษฎีไปครอบเขา ว่าต้องเริ่มอย่างนี้ ต้องดำเนินเรื่องแบบนี้ ต้องจบอย่างนี้นะ ในที่สุด เด็กก็พยายามทำตามครูสอนหมดเพราะครูเก่งครูน่าเชื่อถือ แต่ไม่มีใครเด่นออกมาเลย แต่เราไม่สอนด้วยวิธีนั้น เราปล่อยให้เด็กคิดและเขียนอย่างอิสระ อยากทำอะไรก็ได้ แล้วคอยสังเกตเขา คอยดูความคิดที่เขาคิดเองและแปลกออกไป เขาจะแสดงผลงานออกมาเองได้โดดเด่นอย่างน่าทึ่ง

“ตัวอย่าง ยูโตะ อยู่ขอนแก่น เดิมทีก่อนมาเจอผม เขาสอบตกภาษาไทย แต่ตอนนี้เขาเขียนหนังสือได้รางวัลเต็มไปหมด มากถึงสามสี่รางวัล หรือบางคนเป็นกวีตั้งแต่ 7 ขวบ พอ 10 ขวบ ก็มีหนังสือกวีนิพนธ์ของตัวเองแล้ว หรืออีกคนหนึ่งเป็นนักพับกระดาษ พ่อแม่อยากให้เข้าร่วมการเขียนบันทึก เราก็ส่งสมุดให้ แต่ปรากฏว่า สิ่งที่เขาบันทึกไม่ใช่เรื่องราว ไม่ใช่รูปวาด แต่เป็นวิธีพับกระดาษที่เขาพยายามทำให้เหมือนหนังสือของญี่ปุ่น ผมจึงบอกว่าอย่าไปลอกคนอื่น คิดเองทำเองดีกว่า และในที่สุดเราก็มีต้นฉบับพร้อมจะพิมพ์ เป็นวิธีพับกระดาษแบบไทยที่เขาคิดขึ้นเอง”

วิธีการนี้นอกจากจะดึงพลังสร้างสรรค์ออกมาอย่างเต็มที่แล้ว ยังช่วยให้เด็กๆ เห็นเส้นทางในอนาคตของตัวเอง ไม่เพียงเท่านั้น ผลงานที่ออกมายังถือเป็นสินทรัพย์ทางปัญญาที่พวกเขาใช้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ไปได้ตลอดทั้งชีวิตด้วย

ที่สำคัญหนังสือเหล่านี้ยังเหมาะแก่คนทุกเพศทุกวัย เพราะหากผู้ใหญ่อ่าน นอกจากจะได้รื้อฟื้นความทรงจำอันบริสุทธิ์ในชีวิตแล้ว ยังเป็นโอกาสอันดีที่จะเข้าใจและเรียนรู้วิธีคิดของเด็ก เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข ไม่เกิดความขัดแย้งระหว่างวัย

“ต่อไปเมื่อคุณเป็นพ่อแม่ ถ้าคุณไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้คุณก็อาจจะเลี้ยงลูกผิดหมด เพราะคุณลืมวัยเยาว์ของคุณไปแล้ว เมื่อคุณลืม คุณจะปลูกฝังเด็กในฐานะที่คุณเป็นผู้ใหญ่ซึ่งมักจะผิด เด็กยังไม่โตเลย แต่เราไปปลูกฝังเขาให้เป็นผู้ใหญ่แบบที่เราคิดเสียแล้ว เช่น ให้เรียนพิเศษเป็นบ้าตั้งแต่อยู่ชั้นอนุบาล ป.หนึ่ง โชคดีที่ผมไม่ลืมสิ่งเหล่านี้ ผมจึงเล่นกับเด็กได้ ผมรู้ว่าเขาต้องการอะไร เขาจะพูดคำหยาบกับผมก็ได้ จะเล่นหัวผมบ้างก็ได้ อยากจะเอาเปรียบผมบ้างก็ได้ ผมไม่ว่าอะไร เพราะนั่นคือธรรมชาติของเด็ก ที่เราอาจไม่ต้องรีบร้อนสอนด้วยทฤษฎีสำเร็จรูปให้เขาเบื่อหน่ายเสียก่อน เริ่มด้วยเป็นเพื่อนเขาให้เขาสนิทใจ จริงใจ

ยูโตะเปิดประตูเข้ามา เจอผมครั้งแรก เขาทักทายว่าไงรู้ไหมโอ้โห มีเหนียงด้วยหลายคนบอกว่ามันกวน แต่เราก็รู้นิสัยของเขา แล้วพอเริ่มทำงานด้วยกันนานๆ เขาก็เริ่มซึมซับ เริ่มทำความเข้าใจ ค่อยๆ เรียนรู้ไป เด็กทุกคนพร้อมจะเติบโตอย่างเป็นธรรมชาติ มิใช่ด้วยกรอบอันแข็งกระด้าง

แม้ความหวังนี้จะต้องใช้เวลาไม่น้อยจึงจะเป็นรูปเป็นร่าง แต่อาจารย์มกุฏก็สนุกที่ได้เป็นลมใต้ปีกคอยสนับสนุนให้เด็กๆ ได้บิน ได้ฉายแสงอย่างเต็มที่ หากแต่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 เกิดโรคภัยเข้ามาเยือนบรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้ออย่างหนัก ส่งผลให้งานหลายอย่างต้องชะงัก

“บังเอิญผมไม่เคยนับอายุ ผมก็เลยสบายๆ ไม่ค่อยรู้สึกว่าแก่ชรา จนกระทั่งหลังป่วยหนักนี่แหละ คือปกติผมไม่ค่อยป่วย แต่สืบเนื่องจากเรื่องเก่าๆ การดำเนินชีวิตที่ผ่านมา เช่นสูบบุหรี่วันละ 40 มวนอยู่นานกว่า 20 ปี อดนอนทุกคืน ป่วยครั้งหลังสุดคือ เส้นเลือดใหญ่ในช่องท้องแตก เปอร์เซ็นต์รอดน้อยที่สุด โชคดีที่มีคนช่วยปั๊มหัวใจก่อน ผมหยุดหายใจไป 3 นาทีครึ่ง หมายความว่าตายไปแล้วก่อนจะถึงโรงพยาบาล แล้วขณะผ่าตัด หมอบอกว่าความดันหายไป 2 ช่วง หมายความว่าผมตายไป 2 หนเป็นอย่างน้อย ก็เลยรู้สึกว่าชีวิตยิ่งมีค่ามากขึ้น”

เมื่อร่างกายเริ่มฟื้นฟูกลับมา อาจารย์มกุฏจึงเร่งมือกลับมาทำงานอีกครั้ง ด้วยตั้งใจไว้แล้วว่า จะใช้ชีวิตที่เหลือ เสนอความจริงให้ได้รับรู้กันว่า ประเทศชาติจำเป็นต้องให้ทุกคนเข้าถึงความรู้อย่างเสมอภาค

“ทุกวันนี้โอกาสที่จะเข้าถึงความรู้อยู่ในมือของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น และพวกเขาก็ใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ส่วนชาวบ้าน เมื่อไม่มีความรู้แม้แต่ความรู้พื้นฐานที่สุด คือ ความรู้ที่จะรู้ว่าตนควรรู้อะไร ควรมีสิทธิ์อะไรในเรื่องความรู้ ความรู้ที่จะถกเถียง ก็ไม่รู้จะไปเรียกร้องอย่างไร เพราะฉะนั้นการเปิดโอกาสให้คนมีความรู้ก่อนเป็นเบื้องต้นคือวิถีทางประชาธิปไตยอันเป็นพื้นฐานดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งใช้คำว่า ‘สำคัญและจำเป็น’ สำหรับประชาชนและประเทศชาติ”

ทั้งหมดนี้คือ ความหวังและความพยายามของบรรณาธิการเล็กๆ ผู้หนึ่งซึ่งอุทิศตนมาตลอดเวลาเกินครึ่งศตวรรษ ด้วยความปรารถนาและความหวังให้เกิดความเสมอภาคในเรื่องที่อาจจะไม่มีใครมองเห็นหรือใส่ใจ

โครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก

คนเล็กเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 30 บุคคลผู้สร้างสังคมที่ยั่งยืน และช่วยกันสร้างคุณค่าสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นประเทศ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

มกุฏ อรฤดี คือบุคคลต้นแบบประเด็นสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพ อย่างครอบคลุม เท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (SDGs ข้อที่ 4) ประเด็นลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ (SDGs ข้อที่ 10) และประเด็นเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลไกการดำเนินงาน และฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 17)

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.