จักรพงษ์ เมษพันธุ์ : จากคนจมหนี้..สู่เส้นทาง Money Coach

<< แชร์บทความนี้

เรื่องเงินเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่น่าแปลกที่คนไทยจำนวนมากกลับไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย

ปัญหา SMS หลอกลวง หนี้บัตรเครดิต แชร์ลูกโซ่ และอีกสารพัดเรื่องราว คือสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และไม่มีทีท่าว่าจะลดลงแต่อย่างใด

เหตุผลสำคัญก็คือ ความรู้เหล่านี้แทบไม่เคยอยู่ในระบบการศึกษาเลย หรือมีแต่ก็เป็นการอธิบายแบบผิวเผิน ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ จึงไม่แปลกที่หลายคนเพิ่งมารู้ซึ้งหรือเข้าใจเรื่องเหล่านี้ตอนที่ต้องเผชิญกับวิกฤตเองแล้ว

อย่างเช่น หนุ่ม-จักรพงษ์ เมษพันธุ์ หรือที่ใครๆ รู้จักเขาในชื่อ Money Coach ผู้แปลหนังสือระดับ Best Seller ที่ชื่อ ‘พ่อรวยสอนลูก’

เมื่อ 20 ปีก่อน เขาคือวิศวกรน้องใหม่ที่เปี่ยมด้วยความฝัน แต่แล้ววันหนึ่งเขาก็พบกับจุดพลิกผันครั้งใหญ่ในชีวิต เมื่อต้องแบกรับหนี้ก้อนโตของครอบครัว เขาพยายามอย่างหนักเพื่อสะสางภาระนี้ แต่เพราะไม่มีความรู้ใดๆ เกี่ยวกับการเงินเลย แทนที่หนี้จะลดจึงกลับเพิ่มพูนสูงขึ้น จนกระทั่งวันหนึ่งเขาได้พบกับนายธนาคารผู้คอยชี้แนะแนวทาง จนกลับมาตั้งตัวได้

นั่นเองที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาอยากเผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ของตัวเอง เพื่อสร้างองค์ความรู้ และหาวิธีการรับมือเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาทางการเงิน โดยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เขาได้ให้คำปรึกษาแก่ผู้คนไม่ต่ำกว่าแสนครั้ง เปลี่ยนชีวิตผู้คนได้หลายร้อยหลายพันคน  

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอพาทุกคนไปร่วมกันถอดบทเรียนชีวิตของ 1 ใน 30 บุคคลจากโครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก ชายผู้ไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตา ผู้มีความฝันอยากให้คนไทยรู้เท่าทันเรื่องการเงิน ก่อนที่จะโดนการเงินเล่นงานจนไปไม่เป็น

หนี้เปลี่ยนชีวิต

จะทำอย่างไร เมื่อจู่ๆ คุณเพิ่งมารู้ตัวว่า ต้องแบกรับหนี้ของครอบครัวถึง 18 ล้านบาท

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2540 หนุ่มคือบัณฑิตหมาดๆ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เวลานั้นเขากำลังเริ่มงานเป็นวิศวกรของบริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง แต่แล้วก็เกิดเหตุไม่คาดฝัน เมื่อแม่เดินมาถามว่า ขอเงินเดือนส่วนหนึ่งมาช่วยเหลือที่บ้านได้หรือเปล่า?

“ตอนนั้นเงินเดือน 14,000 บาท พอแม่มาขอ เลยบอกว่าเต็มที่เลย เอาเท่าไหร่ แม่ตอบว่าขอ 12,000 เฮ้ย! มันหนักขนาดนั้นเลยเหรอ แม่จึงพูดต่อว่า เวลาทำงานเราก็ขึ้นรถบริษัทอยู่แล้ว มารับถึงหน้าบ้าน แถมที่บริษัทยังมีข้าวกลางวันให้กิน ผมจึงถามกลับว่า ไม่ให้มีเวลาเฮฮาปาจิงโกะเลยเหรอ นั่นเลยเป็นที่มาของการเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ฟัง”

เดิมทีบ้านของหนุ่มทำธุรกิจอะไหล่รถยนต์ พ่อของเขาเติบโตมาจากคนเข็นผักในตลาด แต่ด้วยความขยันหมั่นเพียร ก็เก็บหอมรอมริบจนตั้งตัวได้ จากนั้นจึงค่อยๆ ขยายกิจการโดยใช้สินเชื่อ พอเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งที่มีการลอยตัวค่าเงินบาท ร้านของเขาจึงกลายเป็นหนี้มหาศาล

“ความจริงมีสัญญาณเตือนมาแล้ว คือบ้านผมอยู่ที่แยกบางกะปิ วันดีคืนดีก็มีสะพานข้ามแยกมาสร้าง สะพานนี้อาจเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญ แต่สำหรับคนค้าขาย คือคนเขาข้ามไปเลย ไม่แวะมาซื้อของ แค่นั้นไม่พอยังมาตีเส้นขาวแดงริมถนนอีก แต่ยังพอไปได้ เพราะช่วงนั้นเศรษฐกิจยังดี

“แต่พอปี 2540 ทุกอย่างพังหมด จากเดิมที่วันหนึ่งในเก๊ะจะมีเงินประมาณ 20,000 บาท เหลือไม่ถึง 2,000 บาท เริ่มผัดชำระหนี้ แล้วตอนนั้นแบงก์เองเริ่มเจ๊งเหมือนกัน เขาก็เร่งรัดเต็มที ทางบ้านเลยเริ่มหมุนเงินผิดวิธี ไปยืมเงินนอกระบบ ลองคิดดู ดอกเบี้ยเงินฝากประจำยุคนั้นร้อยละ 14 ต่อปี แล้วดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบจะขนาดไหน จำได้ว่าตอนที่ช่วยพ่อทำตัวเลขครั้งแรก ออกมา 18 ล้านบาท ซึ่งเทียบกับปัจจุบันก็ต้องคูณ 2 คือ 40 ล้านบาท”

หนุ่มสารภาพตามตรงว่า ตอนแรกที่เห็นตัวเลขนี้ไม่ได้ตกใจมากนัก เพราะในชีวิตก็ไม่เคยทราบมาก่อนว่า 18 ล้านบาทนั้นเยอะแค่ไหน แต่มาคิดหนักเมื่อทราบว่า ต้องจ่ายหนี้เฉลี่ยเดือนละ 100,000 กว่าบาท หรือเกือบ 10 เท่าของเงินเดือน

อย่างไรก็ตาม ในฐานะลูกชายคนโต บวกกับพ่อเริ่มมีปัญหาสุขภาพ เขาจึงตัดสินใจแบกภาระต่างๆ ไว้เพียงผู้เดียว ทั้งการเจรจากับเจ้าหนี้รวมถึงการหาเงินมาใช้คืน

ตอนนั้นเขาคิดว่า ลำพังเงินเดือนวิศวกรอย่างเดียวคงไม่พอ เขาต้องหาอาชีพเสริมด้วย

หนุ่มจึงทำงานสารพัดอย่าง ตั้งแต่เป็นติวเตอร์สอนฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ ขายประกันชีวิต รับเครื่องเล่น MP3 จากเมืองจีนมาขายต่อ ทำธุรกิจเครือข่าย เป็นนายหน้าขายบ้าน ฯลฯ

แต่จุดที่ผิดพลาดมากที่สุด คือ การหมุนเงินด้วยบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด ซึ่งแทนที่จะทำให้หนี้ลด กลับเพิ่มพูนกลายเป็น 20 ล้านบาท

“ช่วงนั้นแบงก์ต่างชาติเข้ามาควบรวมแบงก์ไทยเยอะมาก แล้วความโชคร้ายคือ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ เครดิตบูโรยังไม่เกิด เลยไม่มีใครมาตรวจว่าคนนี้เป็นหนี้บัตรอะไรบ้าง เลยยืมเงินจากบัตรต่างๆ เอาเงินจากบัตรนั้นไปจ่ายบัตรนี้ รวมแล้ว 17 รายการ สุดท้ายเป็นหนี้ล้านกว่าบาท เริ่มเห็นความพินาศอย่างหนึ่งในชีวิต คือเราไม่เข้าใจคำว่า ‘หนี้ธุรกิจ’ กับ ‘หนี้บุคคล’ อย่าง 18 ล้าน เขาทวงพ่อ เพราะพ่อเป็นกรรมการ แต่อีกล้านกว่าเป็นหนี้เราเอง

“สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อก่อนเวลาคนทวงหนี้ เขามาตามหาพ่อ คราวนี้ต้องทายแล้วว่าจะมาหาใคร เราต้องหลบอยู่หลังม่านก่อน แล้วดูว่าเขาเรียกใคร ถ้ามาหาเราก็ให้พ่อออกไปรับ ถ้ามาหาพ่อ เราก็ออกไปแทน ความเสียหายอย่างหนึ่งคือ หาเงินยังไงก็ไม่พอ เริ่มไปหยิบยืมคนอื่น เริ่มก้าวข้ามเส้น มันเหมือนเมาหมัด เจอใครก็อยากหยิบยืมไปหมด ต้องใช้คำว่าปล่อยให้เจ้าหนี้ผลักชีวิต คนนี้ทวงก็มึน เอาตรงนี้ไปก่อน และเริ่มทำร้ายคนใกล้ตัว คือปากชุ่ยไง ขอยืมเงินแล้วบอกเขาว่าอีก 1-2 วันคืน แต่ไม่ได้คืน ซึ่งบางคนเขารักเรามากจึงไม่ทวง”

กิจวัตรหนึ่งของหนุ่มเวลานั้น คือ การหลบเจ้าหนี้ ทุกวันเขาต้องรีบออกจากบ้านตั้งแต่ 5.45 น. เพื่อรีบขึ้นรถบริษัทไปทำงาน และกว่าจะกลับถึงบ้านก็ดึกดื่น

แต่แล้วก็มีนายธนาคารคนหนึ่งเข้ามาเปลี่ยนชีวิตของเขาจากหน้ามือเป็นหลังมือ

เขาได้รู้จักนายธนาคารคนนี้เพราะพ่อกลัวลูกๆ ไม่มีบ้านอยู่ จึงขายบ้านที่ยังผ่อนไม่หมดให้ลูกเป็นเจ้าของ โดยหนุ่มต้องรับหน้าที่จ่ายเงินกู้ที่เหลือแทน

“ธนาคารเขาผ่านอะไรมาเยอะ ถ้าคนในบ้านซื้อกันเอง แสดงว่าต้องมีปัญหา เพราะปกติถ้าพ่อไม่อยู่แล้วก็ต้องเป็นของลูกอยู่ดี ทำไมต้องให้ลูกมาซื้อตัดด้วย เนื่องจากทางกฎหมาย พ่อกับลูกเป็นคนละคน ถ้าลูกเป็นเจ้าของแล้ว ยึดไม่ได้ ตอนนั้นเขาถามว่าที่บ้านเป็นอะไรล่ะ เราก็เงียบไม่ตอบ เขาจึงบอกว่า ‘ไม่เป็นไรหรอก ชีวิตคนเราต้องมีขึ้นมีลง มีปัญหาก็แก้ ถือเสียว่าช่วยพ่อแม่แล้วกัน’ 

“พอตอนหลังเจอปัญหาเยอะ หยุดผ่อนค่าบ้านด้วย เขาตามถึงบ้านเลย เราเองก็หลบอยู่หลายครั้ง จนตอนหลังเขารู้ว่า ออกจากบ้านตอนไหน มาดักเจอเลย ผมเลยบอกว่า ‘ถ้าพี่จะทวงขนาดนี้ เอาบ้านผมไปเถอะ’ เขาตอบว่า ‘บ้าหรือเปล่า ใครอยากได้บ้านคุณ ธนาคารอยากได้เงินคืน’ ผมเลยบอกว่าไม่มี เขาก็ว่าไม่มีแล้วทำไมไม่คุยกัน ตอนนั้นมันปิ๊งเลย ไม่จ่าย 7-8 เดือน ยังคุยได้เหรอ เขาบอกว่า ‘คุยได้สิ ถ้าตราบใดยังไม่ยึดก็คุยได้’ แล้วเขาให้ลางานพรุ่งนี้ เพื่อมาคุยกัน”

นั่นเองที่ทำให้หนุ่มทราบว่า ไม่ควรหันหลังให้เจ้าหนี้ แต่ต้องหาวิธีจัดการให้ได้ 

ตอนนั้นนายธนาคารบอกให้เขาปรับโครงสร้างหนี้ จากเดิมที่ให้ผ่อนเดือนละ 8,300 บาท ก็เปลี่ยนมาผ่อนเดือนละ 10,600 บาท หนุ่มเองสงสัยเหมือนกันว่า ทำไมถึงให้จ่ายเยอะขึ้น แต่ด้วยศักดิ์ศรีที่ค้ำคอจึงไม่ยอมถามไถ่อะไร ลงนามในสัญญาทันที แต่สุดท้ายก็ผ่อนไม่ไหวอีก นายธนาคารจึงเรียกมาประนอมหนี้อีกรอบ พร้อมเปลี่ยนสัญญาใหม่เป็น 13,800 บาท

“วันนั้นบอกเขาว่าไม่ไหวแล้ว แบบนี้อย่าเรียกว่าช่วยดีกว่า เขาตอบว่า ลูกหนี้ชอบคิดแต่มุมตัวเอง วันที่เดินถือสัญญากลับบ้านเคยอ่านไหม เขาลดดอกเบี้ยให้แล้วนะ ครั้งแรกผ่อน 30 ปี เดือนละ 8,300 บาท พอครั้งต่อมาเหลือ 20 ปี ดอกเบี้ยก็ลดลง แต่เราต้องจ่ายเยอะขึ้น พอครั้งที่ 3 ลดเหลือแค่ 15 ปี ผมฟังแล้วเข้าใจ แต่ก็บอกเขาไปว่า จ่ายไม่ไหวอยู่ดี ยึดไปเถอะ เขาจึงตอบกลับมาว่าจะให้ยึดทำไม บ้านผมเป็นหนี้อยู่ 1.2 ล้านบาท ที่แถวนั้นราคา 1.8 ล้านบาทแล้วมั้ง ถ้าเกิดคุณขายได้ ส่วนต่างมาคืนธนาคาร ที่เหลือคุณก็เอาไปตั้งตัว หรือไปเช่าเขาอยู่ก่อนก็ได้ เราถึงมาคิดว่าทำแบบนี้ได้ด้วยเหรอ

“ครั้งนั้นจึงลองทำตามคำแนะนำ เอาบ้านไปขาย แต่ความยากคือต้องไม่ให้คนอื่นรู้ว่าเรากำลังเดือดร้อน ไม่อย่างนั้นจะได้ราคาต่ำมาก ปรากฏว่าขายได้ 2.2 ล้านบาท ยังจำตัวเองตอนอยู่ที่สำนักงานที่ดิน เขตบางกะปิได้เลย แบงก์เอาเช็ค 1 ล้านบาทส่งให้ บอกว่าอันนี้ของคุณ ส่วน 1.2 ล้านบาท เราเอาไปนะ จบกันแล้ว ต่อไปนี้ตั้งหลักใหม่ นั่นคือสิ่งที่ทำให้เราเปลี่ยนแปลงมากที่สุด”

นอกจากนี้ นายธนาคารคนเดิมยังแนะนำด้วยว่า เงินที่ได้วันนี้ อย่าเพิ่งเอาไปใช้หนี้ก้อนเดิมจนหมด เพราะสุดท้ายแล้วไม่ได้ช่วยให้หนี้ลดสักเท่าไหร่ แต่ควรหาวิธีทำให้มันงอกเงยขึ้น

“เขาบอกว่าสิ่งที่ทำให้เราเหนื่อย ไม่ใช่ 18 ล้าน แต่คือเงินที่ต้องจ่ายเดือนละแสน โจทย์ของคุณคือเอาเงินนี้ไปทำอะไรก็ได้ให้ได้เดือนละแสน หรือไปเจรจาให้จ่ายหนี้ได้ต่ำกว่าเดือนละแสน เราถึงเข้าใจเรื่องกระแสเงินสดว่าหนี้ไม่ใช่ปัญหา ตัวที่เป็นปัญหาคือกระแสเงินสดที่มันติดลบต่างหาก ถ้าทำให้ตัวที่ติดลบกลับมาเป็นศูนย์ได้ มันมีกำลังใจนะ เพราะเป้า 18 ล้านกับแสนนี่ต่างกันมาก”

ระหว่างนั้น หนุ่มเริ่มกลับมาจัดระเบียบชีวิตของตัวเองใหม่ ทั้งการทำบัญชีหนี้ รวมถึงฝึกการเจรจากับเจ้าหนี้ ซึ่งนับเป็นเรื่องท้าทายมาก เพราะเดิมทีแค่ต่อราคากางเกงสักตัว เขายังไม่กล้าทำเลย 

“ทักษะการเจรจาไม่มีสอนในโรงเรียนนะ บางคนไม่กล้าเพราะคิดเองว่า เขาคงไม่ให้หรอก คือได้คำตอบเรียบร้อยแล้วไง ซึ่งก่อนเริ่มก็ต้องวางแผน ตอนนั้นผมนั่งไล่เรียงหนี้ทุกตัวว่าเป็นยังไงบ้าง ตัวนี้น่าจะลดได้เท่าไหร่ ตัวนี้ขอเป็นแบบขั้นบันได ที่สำคัญต้องทำเป็นจดหมาย เพราะการพูดปากเปล่า ถ้าเขาไม่ให้ก็จบ แต่ถ้ามีจดหมายแล้วขอให้เขารับเรื่องไว้สักนิด ผมมีรายรับรายจ่ายเท่านี้ ถ้าผมมีหนี้กับพี่คนเดียว คงไม่บิดพลิ้วหรอก บางคนเขาอาจต่อว่าคุณ ไม่เป็นไร เราสงบนิ่ง

“และเวลาเจรจาก็พูดไปดังๆ ทีเดียว รอคำตอบ พี่ครับหมื่นหนึ่งไม่ไหว ขอพันเดียวได้ไหม แล้วไม่ต้องพูดอะไรอีกไม่ต้องอธิบายอีก นั่งเงียบๆ พอเขาพูด เราถึงค่อยอธิบายต่อ บางคนบอก โอ้โห! เยอะเกินไป ขอ 3,000 ได้ไหม แล้วค่อยเจรจากันไป”

หนุ่มใช้เวลาจัดการหนี้สินอยู่ 12 ปี โดย 7 ปีแรกเป็นช่วงที่เขามึนงงกับชีวิต ส่วน 5 ปีที่เหลือ เขาเริ่มบริหารทุกอย่างลงตัว เริ่มลงทุน ทำธุรกิจของตัวเอง จนกระทั่งเคลียร์หนี้สินได้ทั้งหมด

“ตอนนั้นผมมีสมุดอยู่เล่มหนึ่ง ทุกเดือนจะเขียนหนี้ที่ค้างไว้ ตัวไหนเคลียร์จบก็เอาปากกาสีเหลืองขีด แล้วเขียนปลุกตัวเองว่า ‘We win’ ทำไปเรื่อยๆ จนถึงตัวรองสุดท้าย เราเคลียร์ไปล้านกว่าบาท เหลือก้อนหนึ่ง 50,000 กว่าบาท หาเจ้าหนี้ไม่เจอ ผมโทรไปบอกพ่อว่าหมดแล้วนะ พ่อดีใจ บอกให้กลับมา คือยืดอกเดินใช้ชีวิตได้ บ้านล้มละลายแล้วไง อย่างน้อยไม่ติดค้างใครแล้ว

แต่สิ่งที่ประทับใจสุดคือ ตอนหลังตามเจ้าหนี้รายสุดท้ายเจอ พ่อบอกว่าถึงยังไงก็ต้องคืนเงินเขาให้ได้ ซึ่งพอไปเจอ แกบอกว่าไม่ต้องคืน พ่อลื้อช่วยอั๊วมาตลอดชีวิต เงินแค่นี้เรื่องเล็ก ผมบอกไม่ได้ เจ็กเอาคืนไปเถอะ จะได้ไม่ติดค้าง เรื่องนี้ทำให้ผมเห็นว่า อย่างน้อยโลกนี้ก็ไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น คนเราเวลาที่รู้สึกว่าตัวเองหมดทุกอย่าง ขอให้ลองมองไปรอบๆ บางทีอาจพบกับคนที่รักคอยช่วยเหลือเราอยู่ เราต้องอยู่กับคนแบบนี้ ถึงจะมีความสุข

โอกาสใหม่ในชีวิต

ประสบการณ์จากการเป็นหนี้ได้สอนอะไรหลายอย่างให้หนุ่ม หนึ่งในนั้นคือ ความรู้ด้านการเงินของเขามีจำกัด หนุ่มจึงพยายามเติมเต็มความรู้เรื่องนี้ให้มากที่สุด

เวลานั้น หนังสือเกี่ยวกับการเงินส่วนบุคคลในบ้านเรามีน้อยมาก เขาต้องสั่งซื้อหนังสือจากต่างประเทศมาหลายเล่ม โดยเล่มที่เขาชอบที่สุด คือ ‘Rich Dad Poor Dad’ ของ Robert Kiyosaki ซึ่งอีกไม่กี่ปีถัดมา หนุ่มก็กลายเป็นคนแปลหนังสือเล่มนี้ในชื่อ ‘พ่อรวยสอนลูก’

“สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกสะเทือนใจที่สุดคือ เขาเขียนว่าบ้านไม่ใช่ทรัพย์สิน เพราะคิดมาตลอดว่า บ้านต้องเป็นทรัพย์สินสิ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เลย บ้านเป็นทรัพย์สินก็ต่อเมื่อผ่อนหมดแล้ว หรือซื้อมาด้วยเงินสด แต่ถ้าไม่ใช่มันคือหนี้สิน แต่เป็นหนี้สินของการดำรงชีวิต ซึ่งต้องบริหารจัดการให้ได้ 

“ที่สำคัญมากกว่าคือ การสร้างทรัพย์สิน เพราะตอนที่มีหนี้เยอะๆ เราขยันทำงานเต็มที่ สู้ให้ผ่านแต่ละเดือน แต่เมื่อเข้าใจเรื่อง Passive Income รู้จักเรื่องดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า ค่าลิขสิทธิ์ ทำให้รู้ว่ายังมีสิ่งที่ช่วยผ่อนแรงได้”

ระหว่างนั้น เขาพยายามค้นหาว่า ตัวเองมีสิ่งใดที่ต่อยอดได้บ้าง หลังตรึกตรองอยู่พักใหญ่ จึงพบว่างานที่ปรึกษาตามโรงงานต่างๆ นั้นน่าสนใจ เพราะนอกจากใช้พื้นฐานทางวิศวกรรมศาสตร์แล้ว หากทำได้ดี รายได้อาจมากกว่างานที่ทำอยู่ด้วยซ้ำไป

“ผมตั้งโจทย์ว่าต้องอยู่ให้ได้โดยไม่ขอข้าวใครกิน 2 ปี เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เรายืมเงินคนอื่นกินข้าว มันไม่ได้กระทบแค่ปากท้อง แต่กระทบความภูมิใจในชีวิตด้วย ซึ่งตอนนั้นเริ่มผ่อนชำระหนี้ได้แล้ว เลยมองหาว่าอะไรที่เป็นทุนชีวิตที่สามารถนำไปต่อยอดเป็นเงินได้บ้าง พอดีตอนนั้นทำงานอยู่ที่โรงงานอุตสาหกรรม เป็นที่ปรึกษาและประสานงานให้แผนกต่างๆ ทำเรื่อง ISO 9000 หรือ ISO 14000 จึงคิดว่าอาจทำเรื่องนี้ให้พวก SMEs เล็กๆ ได้เหมือนกัน แต่คำถามคือ เขาจะรู้จักเราได้อย่างไร ผมเลยนึกถึงพวกลูกค้าของบริษัท ซึ่งพอเห็นฝีมือของเราอยู่บ้าง เลยลองติดต่อเข้าไป ขอเข้าไปช่วยปรับระบบให้ 10 ครั้ง เดือนละครั้งสนใจไหม ทำให้ฟรีๆ ซึ่งมีบริษัทที่สนใจ 3 แห่ง”

หนุ่มยังจำได้ดีว่า หนึ่งในนั้นเป็นบริษัทญี่ปุ่น ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด เขาต้องออกจากบ้านแต่เช้า นั่งรถประจำทางไปเอกมัย แล้วต่อรถ บขส.ไประยอง จากนั้นจึงต่อมอเตอร์ไซค์รับจ้างจนถึงหน้าบริษัท หมดเวลาไปหลายชั่วโมง แต่เขาไม่ท้อ พอไปอบรมเขาก็ทำเต็มที่ จนผู้จัดการโรงงานประทับใจถึงขั้นขอมอบเงินค่าอบรมให้ครั้งละ 3,000 บาท รวมถึงจัดรถไปรับส่งถึงบ้าน 

หลังจากนั้นเขาเริ่มได้งานที่ปรึกษาอีกหลายบริษัท ค่าจ้างต่อวันสูงขึ้นเป็นสิบเท่าตัว หนุ่มจึงตัดสินใจเปลี่ยนสายงานจากวิศวกรโรงงาน มาเป็นที่ปรึกษาเต็มตัว และเริ่มก่อร่างธุรกิจของตัวเอง

“ตอนนั้นทำคนเดียวมันเหนื่อย เลยให้รุ่นน้องมาช่วยงาน แต่ไม่ทำประจำ จ้างเป็น Outsource โดยวิศวกรยุคนั้นจบใหม่ๆ เงินเดือนเริ่มต้นที่ 20,000 บาท แต่ผมให้ครั้งละ 10,000 บาท โดยเราเตรียมแพทเทิร์นต่างๆ ให้หมดเลยว่า เวลาเข้าไปให้คำปรึกษาต้องทำอย่างนี้ ต้องส่งรายงานแบบนี้ น้องที่เขามาทำก็แฮปปี้ ทำ 3 วัน ได้ 30,000 บาท ส่วนเราเปลี่ยนไปทำการตลาดแทน สมมติทำ 1 แห่ง ถ้าเป็นบริษัทกลางๆ ค่าจ้างอยู่ที่ 25,000 บาท เราได้ค่าการตลาดกับค่าจัดการ 15,000 บาท ตอนหลังก็มาเปิดเป็นบริษัท ถือเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้ตัวเองพอสมควร”

นอกจากนี้เขายังเริ่มลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ทำบ้านเช่า 4-5 หลัง แม้รายได้อาจไม่มาก แต่ก็สม่ำเสมอ และสามารถใช้เป็นที่พิงหลังในเดือนที่มีรายได้น้อย

การจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบ ทำให้หนุ่มค้นพบอิสรภาพทางการเงินของตัวเองอย่างแท้จริง หากแต่เขาไม่อยากเก็บความสำเร็จนี้ไว้กับตัวเอง เขาอยากแบ่งปันสิ่งเหล่านี้ไปสู่วงกว้าง และนั่นเองคือ จุดเริ่มต้นของ Money Coach โค้ชผู้สร้างแรงบันดาลใจที่อยากทำให้คนไทยมีสุขภาพการเงินที่ดี และมีชีวิตที่ยั่งยืน

โค้ชการเงินผู้เปลี่ยนชีวิต

คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่าหนุ่ม หรือที่ใครๆ เรียกว่า ‘โค้ชหนุ่ม’ มีส่วนเปลี่ยนชีวิตของผู้คนจากหน้ามือเป็นหลังมือมาแล้วมากมาย เพราะเขารู้ดีว่า ปัญหาใหญ่ของคนไทยคือ ไม่มีความรู้เรื่องการเงิน แม้แต่จ่ายภาษีอย่างไร หลายคนยังไม่ทราบ

ที่สำคัญ เพราะความไม่รู้ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในสังคม หลายคนจัดการปัญหาไม่ได้ถึงขั้นยอมแพ้ ยอมจบชีวิตตัวเองเลยก็มี เขาจึงนึกถึงเวทีที่จะช่วยพาความรู้เหล่านี้ไปได้ไกล

หลังจากแปลหนังสือพ่อรวยสอนลูก ปรากฏว่าประสบความสำเร็จมาก หนุ่มจึงเปิดเว็บบอร์ดเล็กๆ ชื่อ Rich Dad Thai เมื่อปี 2548 เพื่อเป็นพื้นที่พูดคุยปรึกษาเรื่องการเงิน การลงทุน มีผู้ติดตามราว 10,000 คน จากนั้นจึงต่อยอดไปสู่กิจกรรมพบปะ เล่นบอร์ดเกมเดือนละครั้งที่อาคารวิทยพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“สมัยนั้นเริ่มมีคำถามเข้ามาเยอะขึ้น เราก็เขียนบทความ ทำเป็น Q&A จนตอนหลังทางสำนักพิมพ์ SE-ED เห็นว่าหนังสือพ่อรวยสอนลูกเป็นฝรั่งไปหน่อย เขาเลยถามว่าลองเขียนเป็นแบบไทยๆ ดูไหม จึงเป็นที่มาของการเริ่มเขียนหนังสือ”

ตอนนั้นเริ่มมีผู้คนที่เผชิญปัญหาติดต่อเข้ามาขอคำปรึกษา หากแต่มีกรณีหนึ่งที่เขาจำได้ไม่ลืม เพราะเจ้าของเรื่องติดต่อมาตอน 5 ทุ่ม เขาจึงชวนให้ไปคุยที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยก่อนพบ หนุ่มคิดว่าคงเป็นปัญหาเรื่องบัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสด แต่ปรากฏว่าไม่ใช่

“เขาเป็นเจ้าของกิจการ 3 แห่ง สามีไม่อยู่แล้ว เลยจัดการไม่ถูก เริ่มเจ๊ง เจ้าหนี้ก็ทวง เราก็ช่วยทำตัวเลขคร่าวๆ แล้วคุยกันตรงๆ ว่า ธุรกิจแรกไปไม่รอดหรอก ขายเถอะ แล้วคืนหนี้เขาไป อันที่สองยังพอไปได้ ส่วนอันสุดท้าย ถ้าไม่เชี่ยวชาญก็ขายให้คนอื่นไป พูดง่ายๆ คืออันหนึ่งขายซาก อีกอันขายกิจการ แล้วทำแค่นี้พอ เคสนี้มันเหมือนคนเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวแล้วขายดี ลูกค้าก็ปากเสีย บอกว่า น่าจะมีขนมหวานด้วย พอขายจริงก๋วยเตี๋ยวขายดี ขนมขายไม่ได้ แทนที่จะกำไรเต็มๆ ก็ต้องมาจ่ายตรงนี้แทน

“ผ่านไป 3-4 เดือน หลังขายกิจการ เขาเริ่มตั้งหลักได้ แล้ววันดีคืนดี ระหว่างไปจัดกิจกรรมที่เดิมเขาก็มาหา มาขอบคุณ แล้วบอกว่าคืนนั้นผมเป็นคนสุดท้ายที่เขาโทรหา ถ้าผมไม่รับ เขาจะกรอกยาตายไปกับลูก ผมก็ตกใจ คือเราไม่รู้หรอกว่าสายที่โทรมา อีเมลที่ส่งมาถึงนั้นเป็นใคร แต่เรารู้สึกว่า สิ่งที่พูดไปมันอาจเป็นเรื่องธรรมดาเรื่องหนึ่ง แต่ถ้อยคำนี้อาจเปลี่ยนชีวิตเขาได้ ตอนนั้นก็บอกเขาว่า ในอนาคตอาจเจอปัญหาอีกนะ จนไม่เหลืออะไรเลย แต่อย่างน้อยขอให้เหลือชีวิตไว้ เหตุการณ์นี้ทำให้ผมรู้สึกว่าอาชีพนี้ก็ดีเหมือนกันนะ”

หนุ่มให้คำแนะนำเรื่องการเงินกับผู้คนควบคู่กับการทำบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา กระทั่งปี 2555 จึงตัดสินใจวางมือจากงานวิศวกร ขายหุ้นทั้งหมดให้เพื่อน แม้กิจการจะอยู่ในช่วงรุ่งโรจน์ก็ตาม 

“ตอนนั้นคิดอยู่นานเหมือนกัน แต่รู้สึกอยากตื่นมาทำงานนี้โดยไม่มีแรงเสียดทาน มันเหมือนเราเริ่มเหนื่อยกับการเข้าโรงงาน แล้วบอกเขาว่า ‘พี่ทำอย่างนี้ไม่ถูกนะ’ มันไม่เร้าใจแล้ว และในโลกนี้น่าจะมีวิศวกรที่เก่งกว่าผมอีกเยอะ บวกกับช่วงนั้นคนที่ทำงานเรื่องหนี้ส่วนบุคคลแทบไม่มีเลย เพราะไม่มีทางได้เงินเลย มันไม่เหมือนทำงานสายวางแผนการเงิน อย่างน้อยยังมีค่าคอมมิสชันจากคนที่ซื้อประกัน ซื้อกองทุนรวม แต่เราทำกับคนที่เป็นหนี้ แล้วจะเอาอะไรจากเขาอีก เราอยากบุกเบิกเรื่องนี้”

หนุ่มเปิดเพจ Money Coach เมื่อต้นปีเดียวกัน โดยเหตุผลที่เลือกใช้คำว่า ‘โค้ช’ เพราะได้แรงบันดาลใจมาจากโค้ชฟุตบอลที่คอยตะโกนบอก ตะโกนเตือนนักกีฬาว่า ควรทำอะไรหรือไม่ทำอะไร ซึ่งเขาเองก็อยากตะโกนบอกเพื่อนบอกน้องทุกคนเหมือนกันว่า อย่าจัดการเงินแบบนี้ 

นอกจากแชร์ความรู้ผ่านเพจ จัดคอร์ส รับงานบรรยายตามองค์กรต่างๆ เขายังคงให้ความรู้แก่ผู้ที่มีปัญหาไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งหนึ่งที่หนุ่มพยายามชี้ให้ทุกคนเห็นคือ การเงินไม่ใช่เรื่องยาก หากเราเข้าใจและพร้อมเรียนรู้อย่างจริงจัง

ที่ผ่านมาหนุ่มตอบคำถามที่ส่งเข้ามาวันละไม่ต่ำกว่า 20-30 ฉบับจากอีเมลกว่าร้อยฉบับ โดยเนื้อหากว่า 60-70 เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องเงินไม่พอใช้ ซึ่งสาเหตุนั้นมีตั้งแต่ใช้เงินเกินตัวจนหนี้สินพัวพัน หรือบางคนก็มีรายได้น้อยจริงๆ รองลงมาเป็นเรื่องการลงทุน การวางแผนอนาคตในช่วงเกษียณ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว ซึ่งมีภาระทั้งการดูแลลูกและหาเงินไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเขาพยายามช่วยหาทางออกเท่าที่ทำได้

แต่แน่นอน ทั้งหมดต้องเริ่มจากการช่วยเหลือตัวเองก่อน กล้าปรับเปลี่ยนเพื่อให้หลุดพ้นจากวิกฤต เพราะถ้าใจไม่สู้สักอย่างแล้ว โอกาสชนะก็ย่อมน้อยตามไปด้วย

พอช่วยไปเยอะๆ จึงเริ่มเห็นแพทเทิร์นเลยว่าคนไหนแก้ได้ แก้ไม่ได้ เช่นแนะนำไป 1-2-3-4 แล้วมีแต่ข้อติดขัด โอกาสรอดคงยากหน่อย ซึ่งเราจะไปบอกเขาว่าไม่รอดหรอกก็คงไม่ได้ ต้องให้กำลังใจ สู้หน่อย บางทีต้องดุบ้าง แต่ถ้าใครพร้อมลุยแบบไม่มีข้อแม้ อย่างนี้ค่อนข้างแน่นอนว่ารอด” 

ตลอดระยะเวลาร่วมสิบปีที่ช่วยแก้ปัญหาให้คน มีหลายกรณีที่โค้ชหนุ่มรู้สึกภูมิใจ

อย่างลูกศิษย์ที่ชื่อ ‘สมศักดิ์’ ทำงานส่งของอยู่ที่ร้านสะดวกซื้อขนาดยักษ์แห่งหนึ่ง เกลียดหนี้มาก เพราะตั้งแต่ลืมตาดูโลก ครอบครัวก็จมอยู่กับกองหนี้ จนพี่สาวต้องออกจากโรงเรียน ส่วนเขาจบแค่ ม.6 แต่แล้ววันหนึ่งเขากลับกู้เงิน 400,000 บาทเพื่อมาแต่งงาน

“ตอนที่คุย เขาเงินเดือน 9,000 ส่งหนี้ 8,000 ผมไปช่วยปรับโครงสร้างหนี้ เหลือส่งแค่ 5,000 แต่ไม่พอส่งไปช่วยที่บ้านอยู่ดี เลยถามเขาว่าทำอะไรได้อีก ปรากฏว่า เขามีทองอยู่เส้นหนึ่งไปกู้มาไว้แต่งงาน เลยเอาไปขาย ได้เงินมา เปิดแผงขายเคสโทรศัพท์ เจอกันวันนั้นเขาถามว่ามีคำอวยพรไหม ผมเลยบอก ‘สมศักดิ์รู้ไหม ปกติคนเราทำอาชีพเสริมมักจนลง’ เขาก็อ้าว ไหนบอกให้หาอาชีพเสริม เราเลยอธิบายว่าสาเหตุที่จนลง เพราะหนึ่ง เขาไม่แยกระหว่างเงินกิจการกับเงินส่วนตัว สอง ไม่จดตัวเลขว่าขายอะไรไปได้บ้าง ต้นทุนเท่าไหร่ กำไรเท่าไหร่ จากนั้นจึงแนะว่าพอได้กำไรมาให้แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนหนึ่งใช้หนี้ ส่วนหนึ่งไว้ออม อีกส่วนไว้กินให้อร่อย

“จากนั้นร้านเขาก็ขยายมาเรื่อยๆ จากวางแบบแบกะดิน ก็เริ่มมีแผง แล้วเขามาเรียนลงทุนกับผม เขาถามว่า จบ ม.6 ลงทุนได้ไหม เราบอกว่าได้สิ ซื้อกองทุนหรือหุ้นก็ได้ ปรากฏว่าเขาทำงานเก็บเงินปีหนึ่งมีเก็บ 10,000 บาทแรกในชีวิต อีก 3 ปีต่อมาส่งบัญชีกองทุนรวมมาให้ กองทุนราคาหน่วยละ 34 บาท เขามีอยู่ 30,000 กว่าหน่วย พูดง่ายๆ คือมีเงินล้านแล้ว เขาถามผมว่า ‘ผมมีเงินล้านแล้วใช่ไหม’ คือมีเงินล้านยังไม่รู้ตัว เราก็ถามว่าทำยังไง เขาก็บอกว่า ‘โค้ชสอนเองว่าถ้ามีกำไรให้เอามาลงทุน’ เราก็ถามว่าลงทุกเดือนเลยใช่ไหม เขาบอกว่าเปล่า เขาลงทุกวัน หลังจากนั้นอีก 2 ปี หนี้หมดทุกบาททุกสตางค์ แถมมีเงินเก็บอีก 2 ล้านบาท คือเขาสู้มาจากไม่มีอะไรเลย แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ มันเป็นการยืนยันความเชื่อว่า ทุกคนมีอิสรภาพทางการเงินได้”

อีกคนหนึ่งชื่อ ‘ขวัญชัย’ เป็น รปภ.อยู่ที่จังหวัดระยอง เขาคนนี้ไม่เคยเรียนกับโค้ชหนุ่มโดยตรง แต่ศึกษาจากคลิปวิดีโอที่ไปพูดตามงานต่างๆ และทดลองปฏิบัติตาม จนสุดท้ายลืมตาอ้าปากได้

“ขวัญชัยนี่เงินเดือน 13,000 บาท แล้วทุกเดือนเขาจะส่งให้ที่บ้าน 5,000 บาท ปรากฏว่าแม่เอาเงินนี้ไปใช้หนี้บ้านหมด แถมที่จ่ายไปก็เป็นดอกเบี้ยล้วนๆ เลย ตอนหลังเขามาดูวิดีโอ ฟังเรื่องที่เราขายบ้าน ฟังเสร็จเขาตบเข่าฉาดเลย เพราะที่ดินติดจำนองอยู่ 300,000 บาท แล้วต้องส่งดอกไม่รู้จบ เลยเดินไปบอกที่บ้านว่าต้องขายที่ ที่บ้านด่ายับเลย เขาเลยบอกว่าถ้าไม่ขายก็ไม่ส่งเงินให้แล้วนะ จ่ายแต่ดอกเบี้ย แบบนี้ไม่มีอนาคต ยื้ออยู่สักพัก สุดท้ายที่บ้านเลยยอม

“พอขายเสร็จ เขาจึงเอาเงินส่วนต่างไปซื้อที่แห่งใหม่ ที่เล็กลง ไกลจากถนนนิดหนึ่ง แต่เป็นที่ของเขาเอง แล้วเริ่มขุดบ่อ เลี้ยงปลาดุก ผ่านไป 45 วันก็วิดมาขาย ทำแบบนี้วนเรื่อยไป จนสุดท้ายที่บ้านก็ดูแลตัวเองได้ ไม่เป็นหนี้ใคร ส่วนเขาทำงานเป็น รปภ.ที่อำเภอนิคมพัฒนาจังหวัดระยอง ระหว่างนั้น เขาทำนามบัตรเล็กๆ ให้พี่ๆ ที่โรงงานบอกว่า ใครอยากซ่อมรั้ว ซ่อมบ้าน ทาสี เรียกผมนะ ปรากฏว่าได้เงินอีกเดือนละ 5,000 บาท แล้วเอาเงินไปลงทุนในกองทุนรวม อีกส่วนไปลงในกองทุนหมู่บ้าน ผ่านไป 7 ปี มีเงิน 1.3 ล้านบาท เขาก็ส่งข้อความมาขอบคุณทางไลน์”

นับตั้งแต่ปี 2548 หนุ่มยังคงตอบอีเมลเหมือนเดิมทุกวัน รวมๆ แล้วไม่ต่ำกว่า 100,000 ฉบับ ตลอดจนจัดรายการเผยแพร่ความรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ 

สำหรับเขาแล้ว ทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้น คือแรงผลักดันที่ทำให้เขายังคงเดินหน้าช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาไม่เปลี่ยนแปลง เพราะสิ่งที่ได้รับกลับมานั้นคือ ความสุขใจของผู้คนที่กลับมาหยัดยืนได้อีกครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มากกว่าเงินทองหรือความสำเร็จใดๆ ก็ตาม

การสร้างง่ายกว่าซ่อม เพราะเห็นแล้วว่า คนที่เป็นลูกหลานสายการเงิน แล้วพ่อแม่มีเวลาสอนหน่อย โตขึ้นมาเขาสามารถบริหารเงินได้ทันที...นี่เป็นทักษะชีวิตอย่างหนึ่ง ทั้งความรู้เรื่องการเงิน และความรู้เรื่องเทคโนโลยี ซึ่งคนไทยทุกคนควรมีติดตัวไว้

จักรพงษ์ เมษพันธุ์ : จากคนจมหนี้..สู่เส้นทาง Money Coach

สร้างก่อนซ่อม

หลังทำงานให้คำปรึกษากับผู้คนมาพักใหญ่ สิ่งหนึ่งที่หนุ่มตระหนักดี คือ การแก้ปัญหาทุกวันนี้เน้นไปที่ปลายเหตุมากเกินไป คือ รอให้มีปัญหาก่อนแล้วค่อยจัดการ แต่ความยั่งยืนเกิดได้จากการสร้างความรู้ทางด้านการเงิน เพื่อจะได้ไม่ผิดพลาด เขาจึงเริ่มต้นทำงานกับกลุ่มคนรุ่นใหม่

“ตอนแรกผมไปทำในมหาวิทยาลัยก่อน แต่พูดตรงๆ ว่าไม่ได้ผล เพราะเขาเชิญไปในงานปัจฉิมนิเทศ คือทุกคนเรียนจะจบแล้ว เขาไม่สนใจแล้ว เราไม่ต้องมาพูดอะไรหรอก แล้วคนกลุ่มนี้เขามีความฝันไงว่า เดี๋ยวจะได้เงินเดือนหลักหมื่น ชีวิตสบายๆ พ่อแม่ไม่ต้องมายุ่ง พอมาทำงานจริง ถึงค่อยมารู้ว่า หมื่นกว่าบาทไม่พอกิน เพราะฉะนั้นจึงหันมาหากลุ่ม First jobber ซึ่งเริ่มจับเงินแล้ว 

“บริษัทไหนอยากร่วมกับเราบ้าง ก็เข้าไปทำหลักสูตรว่า นอกจากกฎระเบียบของบริษัทเป็นแบบนี้ คุณบอกเขาอีกเรื่องได้ไหมว่า เงินต้องจัดการอย่างไร ถ้ากู้เงินซื้อบ้านซื้อรถ ต้องคิดอะไรบ้าง สวัสดิการบริษัทมีอะไรบ้าง ควรเติมอะไรเพื่อประกันความเสี่ยงให้ตัวเอง หรือถ้าบริษัทมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เราก็ควรเก็บตั้งแต่วันแรกที่ทำงาน แล้วชีวิตจะได้ง่ายและเบา”

ไม่เพียงแค่นั้น เขายังพยายามขยายการทำงานไปสู่ระดับโรงเรียน ด้วยเห็นว่า ความรู้ด้านการเงินและการลงทุนเป็นเรื่องสำคัญซึ่งต้องปลูกฝังตั้งแต่วัยเยาว์

หนุ่มยกตัวอย่างว่า หากเป็นเด็กประถมต้น อาจสอนบนพื้นฐานของค่าขนม เช่นสอนให้ประหยัด พอขึ้น ป.5-6 ก็อาจพูดเรื่องการเก็บออม วิธีการจับจ่ายใช้สอย ส่วนระดับมัธยมต้น ควรเปลี่ยนวิธีให้เงินจากรายวันเป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือน สอนให้เริ่มทำงบประมาณว่า ที่ผ่านมาใช้จ่ายอะไรไปบ้าง และสุดท้ายคือระดับชั้นมัธยมปลายจึงเริ่มสอนเรื่องการลงทุน เพราะทุกวันนี้การซื้อหุ้นหรือกองทุนรวมต่างๆ นั้นทำได้ง่ายขึ้น เพียงแต่ต้องรู้ว่า ตัวเองรับความเสี่ยงได้แค่ไหน

นอกจากนั้นยังเริ่มทำโครงการ Family Finance เน้นหนักไปยังกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อให้รู้จักดูแลตัวเอง สามารถวางแผนเกษียณได้ ตลอดจนนำความรู้ต่างๆ ถ่ายทอดไปยังบุตรหลานได้

“เราเชื่อว่าการสร้างง่ายกว่าซ่อม เพราะเห็นแล้วว่า คนที่เป็นลูกหลานสายการเงิน แล้วพ่อแม่มีเวลาสอนหน่อย โตขึ้นมาเขาสามารถบริหารเงินได้ทันที สำหรับเราแล้ว นี่เป็นทักษะชีวิตอย่างหนึ่ง ทั้งความรู้เรื่องการเงิน และความรู้เรื่องเทคโนโลยี ซึ่งคนไทยทุกคนควรมีติดตัวไว้”

อีกภารกิจหนึ่งที่หนุ่มเริ่มขับเคลื่อนมานานหลายปี คือ มูลนิธิคนไทยฉลาดการเงิน ซึ่งวางเป้าหมายนำความรู้ด้านการเงินส่งต่อไปยังคนไทยทั่วประเทศ

โดยโครงการหนึ่งที่เขาทำมาต่อเนื่อง 2 ปีแล้ว คือ ‘อภินิหารความรู้ทางการเงิน’ ซึ่งพยายามสร้างโมเดลการแก้ปัญหาทางการเงินที่ยั่งยืนในชุมชนกลุ่มต่างๆ อาทิ สหกรณ์ออมทรัพย์ โรงเรียน โรงพยาบาล วิสาหกิจชุมชน หรือแม้แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเริ่มสอนตั้งแต่การอบรมให้ความรู้ขั้นพื้นฐาน พัฒนาบุคลากรในกลุ่มให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน จัดเวิร์กช็อปแก้ปัญหาหนี้และการออม รวมทั้งติดตามผล เพื่อต่อยอดไปสู่การเป็นต้นแบบในการเผยแพร่ความรู้แก่องค์กรอื่นต่อไป

โดยกิจกรรมเหล่านี้องค์กรที่จัดงานนั้นดูแลเฉพาะค่าเดินทาง ค่าอาหารและค่าที่พัก ส่วนค่าวิทยากรและทีมงานต่างๆ นั้น มูลนิธิคนไทยฉลาดการเงินจะเป็นฝ่ายรับผิดชอบเอง

“ตอนนี้พยายามผลิตสื่อออกมาแจกจ่าย โดยไม่ต้องรอให้ใครมาบอก และพอทำกิจกรรมต่างๆ เรื่อยมา สิ่งหนึ่งที่พบคือ ไม่ได้มีแค่เราคนเดียวที่คิดจะเผยแพร่ความรู้ทางการเงิน แต่ยังมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์กระจายอยู่ตามที่ต่างๆ และพร้อมเป็นกระบอกเสียงให้คนหันมาสนใจ ไม่แน่ว่าเครือข่ายแบบนี้อาจช่วยทำให้ความรู้เรื่องการเงินเติบโตมากกว่าผ่านระบบการศึกษาปกติก็ได้”

ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่หยัดยืนให้ความรู้แก่คนไทย หนุ่มทราบดีว่า สุดท้ายแล้วงานเหล่านี้คงไม่มีวันจบสิ้น แต่เขาก็พร้อมจะเดินหน้าต่อไป

“ที่ผ่านมาคนเราเอาเงินไปผูกกับปัญหาเยอะแยะไปหมด เรื่องหย่าร้าง ความอยากได้อยากมี ถ้าเรามีความรู้ประมาณหนึ่ง ไม่ต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ ขอแค่สัก 60-70 เปอร์เซ็นต์ ก็เพียงพอแล้ว ที่สำคัญต้องเข้าใจความต้องการของตัวเอง บริหารจัดสรรให้อยู่ได้ เกษียณแล้วยังมีเงินกินเงินใช้แค่นี้ นั่นแหละคือสิ่งที่ผมอยากเห็น”

และทั้งหมดนี้คือ เรื่องราวของชายผู้พลิกชีวิตจากติดลบมาสู่โค้ชการเงิน ที่ทำให้ทุกคนเห็นว่า ความสุขที่แท้จริงเกิดขึ้นได้ หากรู้จักบริหารชีวิตและการเงินในกระเป๋าของตัวเองให้ลงตัว

โครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก

คนเล็กเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 30 บุคคลผู้สร้างสังคมที่ยั่งยืน และช่วยกันสร้างคุณค่าสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นประเทศ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

จักรพงษ์ เมษพันธุ์ คือบุคคลต้นแบบประเด็นส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานที่มีคุณค่า (SDGs ข้อที่ 8)

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.