ทวีโรจน์ เอี๋ยวพานิช : คืนชีพเขาหลัก สู่ ‘มหานครเซิร์ฟ’

<< แชร์บทความนี้

ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2547 ภาพของเขาหลักแห่งอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ในความทรงจำของคนไทย คือแดนมรณะหลังจากคลื่นยักษ์สึนามิซัดฝั่งจนมีผู้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมหาศาล

ที่นี่กลายเป็นเมืองร้างที่แทบไม่มีใครอยากมาเที่ยว

คนรุ่นใหม่หลายคนเลือกทิ้งบ้านเกิด เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในเมืองกรุง

แต่สำหรับชายหนุ่ม อย่าง ต๊ะทวีโรจน์ เอี๋ยวพานิช หลังกลับจากเรียนต่อที่ออสเตรเลีย เขาเลือกที่จะปักหลักอยู่ที่นี่ พร้อมความฝันอยากทำให้ดินแดนบ้านเกิดกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

เมื่อหลายปีก่อน เขาคือต้นคิดแคมเปญ Takuapa My Home ซึ่งชักชวนคนตะกั่วป่าที่กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ มาร่วมกันโพสต์ภาพความทรงจำและบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองผ่านโซเชียลมีเดีย จากนั้นจึงนำมาจัดเป็นนิทรรศการ

แม้จะเป็นโครงการเล็กๆ แต่กลับจุดกระแสคิดถึงบ้านให้อบอวลขึ้นในใจคนตะกั่วป่า และยังกระตุ้นให้คนทั่วประเทศอยากแวะมาเยี่ยมเยียนเมืองเก่าแห่งนี้สักครั้งในชีวิต

แต่ภารกิจหนึ่งที่เขาหยัดยืนเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ คือการพัฒนาพังงาให้เป็น Surf Town หรือศูนย์กลางกีฬาโต้คลื่นของประเทศไทย ยืนยันได้จากการเป็นโต้โผจัดเทศกาลต่างๆ อาทิ Surf Camp และ Khao Lak Surf Festival ช่วยดึงนักเล่นเซิร์ฟทั้งไทยและเทศกว่าพันชีวิตให้มารวมตัวกันที่นี่

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอพาไปรู้จักกับเจ้าของเพจท่องเที่ยว Surfer’s Holiday 1 ใน 30 บุคคลในโครงการ คนเล็กเปลี่ยนโลก ชายผู้มีความฝันอันยิ่งใหญ่ที่จะพัฒนาบ้านเกิด ด้วยพลังของคนรุ่นใหม่

บุรุษผู้หลงใหลในเซิร์ฟ

ต๊ะอยากเป็นนักโต้คลื่นมาตั้งแต่เด็ก

ครั้งหนึ่งเขาเคยดูหนังฝรั่ง ซึ่งมีฉากหลังเป็นรัฐฮาวาย โดยตัวเอกกำลังโต้คลื่นอุโมงค์ วันนั้นเขารู้สึกว่ามันช่างเท่เหลือเกิน และคิดว่าหากมีโอกาสก็อยากจะทำแบบนั้นบ้าง

แต่กว่าที่ความฝันจะกลายเป็นจริงนั้นใช้เวลานานไม่น้อยเลย..

ต๊ะเกิดและเติบโตที่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ครอบครัวเขาทำธุรกิจขายรถยนต์

วัยเด็กของต๊ะก็เหมือนกับเด็กธรรมดาๆ ทั่วไป อาจพิเศษหน่อยตรงที่เขาเหมือนมีทะเลเป็นเพื่อนอีกคน ทุกอาทิตย์พ่อแม่มักพาลูกๆ ไปปิกนิก กินอาหารริมทะเล พอกินเสร็จก็เล่นห่วงยาง เล่นน้ำกัน ที่สำคัญเขายังเป็นนักว่ายน้ำตัวแทนจังหวัด เคยไปแข่งกีฬาเยาวชนแห่งชาติมาแล้ว

ต๊ะอยู่ที่พังงาจนจบชั้นประถม พอขึ้นชั้นมัธยมก็ถูกส่งตัวไปเรียนต่อในกรุงเทพฯ ก่อนย้ายมาอยู่โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องกีฬา

หลังเรียนจบ เขาก็ไปศึกษาต่อด้านบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ พอจบแล้ว ด้วยความอยากค้นหาชีวิต เพราะรู้สึกเร็วเกินไปที่จะกลับบ้าน บวกกับตอนเด็กๆ เคยมีโอกาสไปเที่ยวที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย แล้วจำได้ว่าเป็นประเทศที่งดงาม เป็นเมืองทะเล และยังเป็นดินแดนของนักโต้คลื่น จึงขอพ่อแม่ไปเรียนต่อที่แดนจิงโจ้ พร้อมความฝันว่าจะได้เล่นเซิร์ฟอย่างเต็มที่

แต่สุดท้าย เขาก็ไม่เคยมีโอกาสได้จับกระดานลงน้ำที่นั่นเลยแม้แต่ครั้งเดียว

พอไปถึงสองวันแรก ผมเจอเพื่อนบ้านข้างๆ เขาขาขาด แล้วเหมือนคนที่บ้านบอกว่า คนนี้ฉลามกัด เพราะออสเตรเลียมีฉลามเยอะ อย่างหาดที่ผมไปอยู่ชื่อ Maroubra Beach ก็มีเหมือนกัน แล้วเวลาฉลามมาจะมีสัญญาณเตือน จากนั้นทุกคนก็จะรีบว่ายขึ้นมา พอฉลามไปก็ลงไปเล่นเซิร์ฟเหมือนเดิม ถือเป็นเรื่องปกติมากๆ แต่มันก็ทำให้เรากลัวเหมือนกัน อีกเรื่องหนึ่งคือ แต่ก่อนจะมีหนังเก่าชื่อ Bra Boys เป็นเรื่องเกี่ยวกับแก๊งอิทธิพลของเซิร์ฟเฟอร์ที่เขายิงกันบ้าง โดนไถตังค์บ้าง เราเลยรู้สึกอึดอัด ถ้าลงไปก็คงโดนเหมือนกัน เพราะเราเป็นชาวเอเชียด้วย อาจโดนเขาด่า เขาไล่ก็ได้

แต่ที่สำคัญที่สุด คือช่วงนั้นเขาไม่มีเวลาเลย เพราะหมดไปกับการทำงาน

ต๊ะตั้งใจว่า จะไม่ขอเงินจากที่บ้านเลย เขาจึงสมัครงานตามร้านต่างๆ ทำงานวันละหลายกะ สำหรับเขาแล้ว ช่วงเวลานั้นเปลี่ยนชีวิตของหนุ่มวัย 20 ต้นๆ คนนี้ไปโดยสิ้นเชิง

เราถูกเลี้ยงมาเหมือนเป็นคุณหนู ที่บ้านส่งมาเรียนประจำอาจเพราะต้องการดัดนิสัยอะไรแบบนี้ แล้วทุกคนจะมองว่าเราเป็นเด็กตลอดเวลา เพราะฉะนั้นพอมาเรียนที่ออสเตรเลีย ผมจึงพยายามจะหาเงินให้ได้มากที่สุด ตอนนั้นมันเหมือนเรารีเซ็ตความคิดตัวเองว่า นี่คือสนามจริงแล้ว เวลาที่เราอยู่ตรงนี้ เราคือ Nobody เราต้องพยายามมากกว่าคนอื่น จากตอนแรกที่ทำงานแค่ร้านอาหารไทย ผมก็เริ่มมุมานะ ค้นหาร้านอาหาร 30-40 ร้านเลย โทรไปทีละร้านเพื่อสมัครงาน บางร้านบอกยูเป็นเอเชีย เราไม่รับ คุณดูไม่เป็นมืออาชีพเลย ขอไม่รับ จนสุดท้ายมาได้ร้านอาหารฝรั่งร้านหนึ่ง ซึ่งอยู่แถวบ้าน

จำได้ว่าตอนนั้น ผมทำงาน 7 คืนเลย แล้ววันเสาร์อาทิตย์ก็ทำงานเต็มวัน จึงไม่มีโอกาสไปเที่ยวเล่นเหมือนคนอื่น อาหารมื้อหนึ่งก็กินแบบไม่เกิน 10 เหรียญ อีกอย่างคือผมเป็นคนชอบดื่มกาแฟมาก สมัยมหาวิทยาลัยผมกินกาแฟแทบทุกวัน แต่พอมาอยู่ที่นี่ กว่าจะเก็บเงินค่าทิปวันละ 3-4 เหรียญ จนซื้อกาแฟได้แต่ละแก้ว น้ำตาแทบไหล

แต่ถึงจะไม่มีโอกาสเล่นเซิร์ฟ สิ่งหนึ่งที่ต๊ะสัมผัสได้ก็คือ วัฒนธรรมเซิร์ฟของคนออสซีนั้นมีอะไรมากกว่าแค่กีฬา แต่ยังเป็นวิถีชีวิตเลยก็ว่าได้

ร้านที่ผมไปทำงานเป็นร้านที่พวกเซิร์ฟเฟอร์มากินข้าวก่อนจะลงน้ำเยอะที่สุด แล้วคนที่เล่นมีทุกเพศทุกวัย แม้แต่เด็กตัวเล็กๆ เลิกเรียนก็มาโต้คลื่น หกโมงเช้าก็ตื่นมาเซิร์ฟกันแล้ว ก็ได้แต่สงสัยว่า คนพวกนี้ทำไมบ้าจังเลย มันมีอะไรนักหนาเหรอในทะเล แต่ตอนหลังเราถึงได้สัมผัสเวลาเขามานั่งคุยกัน แลกเปลี่ยนความคิด มันเป็น Culture ที่มีเสน่ห์ เป็นอีกโลกหนึ่งที่เราได้รู้จัก

หลังใช้ชีวิตอยู่ออสเตรเลียได้ปีเศษๆ ในปี 2554 ต๊ะก็ตัดสินใจกลับบ้านเพื่อมาดูแลพ่อที่สุขภาพไม่ดี แต่เขาก็ไม่เคยละทิ้งความฝันที่จะเล่นเซิร์ฟเลย

..แล้ววันหนึ่งโอกาสของเขาก็มาถึง

เมื่อพี่สาวบอกต๊ะว่า บริเวณเขาหลักมีหาดที่เล่นเซิร์ฟได้ ชื่อ Memories Beach Bar

ต๊ะจำได้ดีว่าทางเข้านั้นยังเป็นป่าอยู่เลย แต่เมื่อไปถึง เขาก็ได้พบกับภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจ คือชาวต่างชาตินับสิบชีวิตกำลังเล่นเซิร์ฟอย่างสนุกสนาน

ที่สำคัญ เขายังได้รู้จักกับ ฉิ่งมนตรี ณ ตะกั่วทุ่ง เจ้าของ Memories Beach Bar และ Pakarang Surf School ซึ่งเมตตาช่วยฝึกสอนเซิร์ฟให้

ผมไปยกมือไหว้พี่ฉิ่ง บอกเขาว่าอยากเล่นมากๆ ช่วยสอนให้หน่อยได้ไหม พี่ฉิ่งมาบอกทีหลังว่า ที่นี่ไม่เคยมีคนไทยหลุดเข้ามาเลย เขายินดีมากๆ ก็เลยสอนทันที จำได้ว่า วันนั้นไม่ได้เตรียมเสื้อผ้าไปด้วย พอไปถึงก็ลงน้ำเลย ครั้งแรกที่ได้ยืนบนน้ำ โอ้โห..ผมรู้ว่า นี่คือสิ่งที่ตามหามาตลอด มันอยู่ใกล้แค่นี้เอง ทำไมเราต้องบินเป็นพันๆ กิโลด้วย

จุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ คลื่นที่ Memories Beach Bar นั้นไม่เหมือนกับออสเตรเลียเลย เพราะที่เมืองนอกมีคลื่นหลายแบบ เช่นคลื่นเล็ก คลื่นใหญ่สูงหลายสิบฟุต แต่ของเมืองไทยเป็นคลื่นที่ไม่ใหญ่มาก เหมาะกับคนที่หัดเล่นเนื่องจากไม่อันตรายเกินไป

การโต้คลื่นทำให้เรากลับสู่ธรรมชาติมากขึ้น เราต้องโฟกัสอยู่กับสิ่งตรงหน้า เราได้กลิ่นทะเล เราได้มีเพื่อนรักรอบๆ ตัว เราได้คุยกับคนข้างๆ อีกอย่างคือกีฬาเซิร์ฟเป็นกีฬาที่ไม่ต้องใช้เงินเปรียบเทียบ ไม่ว่าคุณจะรวยขนาดไหน แต่อยู่ในทะเล เราเท่าเทียมกัน เราอยู่ในระนาบขอบฟ้าเดียวกัน

ต๊ะเพลิดเพลินกับชีวิตที่นี่มาก เขาแวะเวียนมาโต้คลื่นเกือบทุกวัน จนเหมือนเป็นบ้านหลังที่ 2

จากนั้นเขาก็เริ่มต่อยอดทำธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง คือ Surf Cafe เป็นร้านกาแฟ และบังกะโลขนาดย่อมๆ 5 หลัง โดยนำสีสันแบบออสเตรเลียมาผสมผสาน พร้อมความหวังที่จะเห็นที่แห่งนี้เป็นสวรรค์ของนักโต้คลื่นในเมืองไทย

เพราะเขาคือผู้ถูกเลือก

หากเช้าวันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม 2547 ต๊ะรีบออกจากบ้านไปขึ้นเรือที่ท่าเรือทับละมุเร็วสักหน่อย บางทีวันนี้เขาอาจไม่มีชีวิตมาสร้างโครงการดีๆ เพื่อจังหวัดพังงาก็เป็นได้

ตอนนั้นผมอยู่ ม.5 แล้วพอดีผมเรียนโรงเรียนคริสต์ แล้วทุกช่วงคริสต์มาส เขาก็จะปิด เราก็เลยบินกลับมาที่เขาหลัก ก่อนวันที่จะเกิดเหตุสึนามิพอดี แล้ววันที่เกิดเหตุ ผมมีนัดไปเที่ยวกับเพื่อน แต่ผมตื่นสาย แถมต้องค้นเอกสารก่อน เลยสายไป 10-15 นาที จึงตกเรือ

พอผมขับรถออกจากท่าเรือได้ไม่กี่นาที คลื่นก็เริ่มมา เรือเริ่มจะล่ม ปรากฏว่าท่าเรือตรงนี้มีคนเสียชีวิตเยอะที่สุด เพื่อนสมัยเด็กๆ เสียเยอะมาก แม้แต่คนข้างบ้านก็หาศพไม่เจอ ตอนนั้นรู้สึกว่า ทำไมเราถึงรอด ทั้งที่อยู่ในจุดที่อันตรายที่สุด มีโอกาสมากที่สุด เหมือนเราถูกเลือกให้อยู่หรือเปล่า ตั้งแต่นั้นมา ผมจึงคิดว่า เมื่อเรารอดจากตรงนั้นแล้ว ก็ควรใช้ชีวิตให้คุ้มค่าและเป็นประโยชน์มากที่สุด

ไม่น่าเชื่อเลยว่า อีกสิบกว่าปีต่อมา ชีวิตของต๊ะจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองจริงๆ เมื่อเขากับเพื่อนๆ เริ่มต้นโครงการ ‘Takuapa My Home’ ตะกั่วป่า บ้านของฉัน ครั้งแรกเมื่อปี 2557

เรื่องเริ่มต้นจากการที่ต๊ะมีโอกาสได้ทำงานในโรงแรมแห่งหนึ่ง จึงได้พบกับศิลปินดารา ช่างภาพ บรรณาธิการนิตยสาร และคนในแวดวงบันเทิงหลายคน หนึ่งในนั้นคือ ลูกน้ำสุคนธ์ สีมารัตนกุล ช่างแต่งหน้าเบอร์ใหญ่ของประเทศ ซึ่งเป็นคนตะกั่วป่าเหมือนกัน แต่ไม่ได้กลับบ้านมานานกว่า 20 ปี เขาจึงเกิดแรงบันดาลใจว่าอยากทำกิจกรรมอะไรสักอย่างเพื่อชวนคนกลับบ้าน

ตอนนั้นเราไปถ่ายแฟชั่นกัน พอเสร็จแล้วกำลังนั่งรถกลับโรงแรม จู่ๆ พี่ลูกน้ำก็บอกว่า ช่วยจอดรถตรงนี้หน่อยได้ไหม เราก็งงว่าจอดทำไม สรุปเขาวิ่งไปกอดประตูรั้วบ้านตัวเอง แล้วก็ร้องไห้ เราก็เฮ้ย! เกิดอะไรขึ้น เขาก็เล่าให้ฟังว่า เขาคิดถึงบ้านมากๆ คือเขาเป็นคนตะกั่วป่า แล้วก็มีเรื่องราวในอดีตเต็มไปหมด เขาอยากกลับบ้านนะ แต่เขาไม่รู้จะกลับมาทำไม กลับมาเพื่อใคร

คือตอนนั้นตะกั่วป่าค่อนข้างร้างมาก มันหดหู่ตรงที่เราไปที่ไหนก็จะมีแค่ผู้สูงอายุ เป็นปัญหาเรื่องรอยต่อระหว่างรุ่น เพราะสมัยก่อนพังงาเป็นจังหวัดที่ร่ำรวยมากๆ ตอนที่ยังทำเหมืองแร่ดีบุก แต่พอแร่หมด ทุกอย่างก็ซบเซา กลายเป็นเมืองที่คนไม่ได้แวะ แล้วก็มีเด็กมากมายไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ พอจะกลับมาอยู่บ้านก็ไม่มีงานรองรับ สถาปนิก วิศวกร เขาอยากกลับบ้านกัน แต่กลับมาไม่มีงานทำ คือเราเชื่อว่าทุกคนรักบ้านเกิดของตัวเอง แต่คงมีเหตุผลบางอย่างที่ทำให้ไม่ได้กลับ

ด้วยความที่เขาคุ้นเคยกับบรรดาบล็อกเกอร์สายท่องเที่ยว และตัวเขาเองก็เริ่มเขียนประสบการณ์การเที่ยวลงเว็บไซต์เหมือนกัน จึงเห็นพลังของโซเชียลมีเดียว่าสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง ต๊ะคิดว่าควรใช้ภาพแทนความคิดถึงบ้าน เขากับเพื่อนๆ จึงถ่ายภาพตามมุมเก่าๆ ของตะกั่วป่า ทั้งตึก กำแพง ร้านค้า ฯลฯ เผยแพร่ผ่าน Facebook พร้อมเชิญชวนให้คนโพสต์ภาพบ้านเกิดของตัวเอง ปรากฏว่า เรื่องนี้กลายเป็นกระแสไปทั่วโลกออนไลน์ มีคนโพสต์ภาพของตัวเองเต็มไปหมด

ไม่เพียงแค่นั้น เขายังชักชวนผู้คนในพื้นที่มาร่วมกันจัดนิทรรศการภาพถ่าย ทั้งนักเรียน ช่างไฟ นักข่าว พ่อค้าแม่ค้า เด็กวัยรุ่นในชุมชน หรือแม้แต่คุณหมอ ซึ่งทุกคนก็มาช่วยงานด้วยความสมัครใจ ไม่คิดค่าใช้จ่าย แถมยังมีผู้ใหญ่ใจดี เข้ามาสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง บางคนส่งไม้ สังกะสี และอุปกรณ์ต่างๆ มาให้เพื่อซ่อมแซมสถานที่จัดงาน ซึ่งเป็นห้องแถวเก่าแก่บนถนนศรีตะกั่วป่า หรือคนที่เป็นเจ้าของโรงพิมพ์ก็มาช่วยพิมพ์สื่อประชาสัมพันธ์ ที่สำคัญยังมีช่างภาพแฟชั่นชื่อดัง อย่าง โจ้สุรัตน์ จริยวัฒนวิจิตร มาร่วมแสดงฝีไม้ลายมือด้วย

ปีนั้นเป็นปีที่คนกลับบ้านเยอะมาก เราได้ข้อความจากหลายคนว่า ไม่ได้กลับบ้านมาสิบกว่าปีแล้ว แต่พอเห็นภาพที่เราโพสต์ลงไป เขาขอบคุณมากๆ เลยนะ ทำให้เขาได้กลับบ้านมาเจอครอบครัว ผมนึกในใจว่า แค่รูปรูปเดียวมันมีพลังเยอะขนาดนั้นเลยนะ หรือคนแก่ๆ มาชี้ภาพว่าจำได้ไหม สะพานนี้เราเคยมาถ่ายด้วยกันตอนวัยรุ่น แค่เราเห็นเขายิ้ม เขานึกถึงเรื่องราวในอดีตก็มีความสุขแล้ว

ส่วนตัวแล้ว ผมรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าขึ้น ได้ทำสิ่งดีๆ ตอบแทนบ้านเกิดถึงจะแค่เล็กน้อยก็ตาม นี่แหละคือเหตุผลว่าทำไมเราถึงรอดชีวิต เพราะเราถูกเลือกมาให้ทำอะไรแบบนี้หรือเปล่า ถ้ามองมุมหนึ่ง บางคนก็ไม่ได้มีโอกาสเรียนหนังสือต่อ บางคนถูกพ่อแม่บังคับให้ทำสวน แต่เราได้เรียนมหาวิทยาลัยดีๆ ได้ไปต่างประเทศ เราก็ควรเอาโอกาสนี้มาพัฒนาสร้างสิ่งดีๆ ด้วย

ที่สำคัญ โครงการนี้เรารวบรวมคนไว้หลากหลาย บางคนเคยถูกด่าว่าเกเร ไม่เอาไหน แต่พอเราจัดนิทรรศการ เราไม่มีทุน เราจึงเรียกทุกคนมา ช่วยตรงนี้นิด ตรงนั้นหน่อย กลายเป็นว่า คนที่ทุกคนมองว่าไม่เอาไหน เขากลับลุยเต็มที่ เช่นบางคนต่อไฟได้เก่งมากๆ มันทำให้ความคิดของคนที่เคยมองว่าเขาไม่ดี เปลี่ยนไปเลย และเริ่มเห็นคุณค่าของเด็กรุ่นใหม่

เพราะฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า Takuapa My Home ถือเป็นต้นแบบการทำงานร่วมกันระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง โดยในปีต่อมา นอกจากนิทรรศการภาพถ่ายแล้ว ต๊ะยังเพิ่มมิติอื่นๆ ที่น่าสนใจลงไปเช่นตำนานที่ยังหายใจบอกเล่าเรื่องราวของ 5 บุคคลที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของตะกั่วป่า เช่น แป๊ะฮีทมี ศรีดวงจันทร์ ซึ่งคนรุ่นใหม่ยกให้เป็นตะกั่วป่าบาริสต้าหรือ พิทักษ์ทวีศิริ วัฒนศิริ สองสามีภรรยาคุณหมอที่รักษาคนตะกั่วป่ามากมาย หรือแฟชั่นโชว์ของลูกน้ำสุคนธ์ ซึ่งนำดารานักแสดงคนดังมาสวมใส่ชุดบาบ๋า ย่าหยา และเครื่องประดับอายุกว่าร้อยปี

ความสำเร็จของโครงการนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ผู้คนเรือนพันที่มาเยี่ยมชมงาน จนเกิดกระแสท่องเที่ยวตะกั่วป่า แต่ยังช่วยจุดประกายให้คนรุ่นใหม่หลายคนกลับมาพัฒนาบ้านเกิดขึ้น เช่น ปอธนวัฒน์ มโนวชิรสรรค์ นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ซึ่งกลับมาทำสวนมังคุดออร์แกนิกที่บ้าน จนเกิดเป็นแบรนด์สวนบ้านแม่และเกิดการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนจนถึงปัจจุบัน

เราอยากจุดประกายไปยังคนรอบข้าง อยากเห็นการสานต่อ เราอยากเห็นคนที่เรียนอะไรเยอะแยะมากมายกลับมาทำอะไรเพื่อบ้านเกิด เพราะฉะนั้นเราอย่าเพิ่งไปสร้างกำแพงว่าจบมาแล้วไม่มีอะไรทำ ผมเชื่อว่ามันมีทางออกเสมอ สิ่งสำคัญคือเราต้องถามใจของเราก่อนว่า อยากกลับไปใช่ไหม ถ้าใจคนอยากกลับมาแล้วมีความสุข เขาก็จะมองเห็นช่องทางในชีวิตของเขาเอง

มหานคร ‘เซิร์ฟ’

หนึ่งในผลงานที่ทำให้ต๊ะเป็นที่รู้จักในวงกว้างคือ เพจ Surfer’s Holiday ศูนย์กลางของนักโต้คลื่นในเมืองไทย ซึ่งทุกวันนี้มีผู้ติดตามนับแสนคน

ต๊ะหลงใหลงานเขียนมาตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมที่อัสสัมชัญศรีราชา พอช่วงหลังที่หันมาเล่นเซิร์ฟจริงจัง จึงมีโอกาสได้แวะเวียนไปโต้คลื่นตามประเทศต่างๆ ทั้ง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ศรีลังกา ออสเตรเลีย และเมื่อเที่ยวเสร็จ เขาก็จะบันทึกเป็นเรื่องราวเผยแพร่ผ่านอินเทอร์เน็ต

ตอนนั้นผมเขียนเรื่องเซิร์ฟมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วมีตอนหนึ่ง ผมเขียนถึงหาดกะตะ จังหวัดภูเก็ต (https://pantip.com/topic/35837381) ปรากฏว่ามีคนไปหาดกะตะเยอะมาก จากนั้นก็เขียนถึงหาดนั้นหาดนี้ คนก็ไปกัน คือมันช่วยเรื่องการท่องเที่ยวได้ เราก็มานั่งคิดว่า ทำไมไม่ทำให้เขาหลักดังบ้าง ก็เลยเริ่มเขียนถึงเขาหลักบ้าง

โจทย์หนึ่งที่อยู่ในใจของต๊ะเรื่อยมาคือ การเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเขาหลัก จากแดนผีสิงที่เต็มไปด้วยความเศร้า ให้กลายเป็นเมืองที่สวยงาม มาแล้วจะได้สัมผัสธรรมชาติ มีชายหาดที่ขาวบริสุทธิ์ และสามารถทำกิจกรรมทางน้ำต่างๆ ได้ด้วย

ระหว่างนั้น เขาตัดสินใจลาออกจากงานโรงแรม และเริ่มขยายกิจการที่เขาหลักอย่างจริงจัง ด้วยการทำร้านดำน้ำคอยบริการนักท่องเที่ยว พร้อมกับเปิดโฮสเทลเล็กๆ ชื่อ Monkey Dive Hostel ก่อนต่อยอดมาเปิดโรงเรียนสอนเล่นเซิร์ฟของตัวเอง

ตอนแรกเรื่องเซิร์ฟเราไม่ได้ทำ เพราะพี่ฉิ่งทำอยู่แล้ว จนวันหนึ่งเริ่มมีลูกค้าเข้ามาเยอะ พี่ฉิ่งก็เลยชวนคุย เพื่อหาทางช่วยพัฒนา Memories Beach Bar ให้ดียิ่งขึ้น เช่นการวางระบบครู จัดคอร์สอบรมเพื่อให้ครูมีความสามารถ เราก็เลยจับมือกันทำโรงเรียนเพิ่มอีกแห่งหนึ่ง

Better Surf Thailand ประกอบด้วยหุ้นส่วน 3 คน คือ ต๊ะ, แมนชาติชาย สมพร อดีตนักกีฬาโต้คลื่นทีมชาติไทย และ เรมีอาทิต์ยา จันทร์ประเสริฐ เจ้าของเหรียญทองแดงเซิร์ฟรุ่นกระดานยาว จากซีเกมส์ครั้งที่ 30 ประเทศฟิลิปปินส์

เราไม่ได้รู้จักกันตั้งแต่เกิด แต่รู้จักกันจากทะเล แล้วก็ชอบเหมือนกัน มีประวัติเหมือนกัน ก็เลยมาทำร่วมกัน จำได้ว่าตอนที่เปิดโรงเรียนแรกๆ ผมไปถ่ายรูปให้นักเรียนฟรีทุกเช้า เลนส์หนักมากหลายกิโลเลย ทุกคนที่ได้รูปก็ดีใจ แล้วเกิดกระแสบอกต่อว่า มาโต้คลื่นที่เขาหลักสิ ผมทำอย่างนี้ประมาณ 6 เดือน ซึ่งมันช่วยกระจายภาพว่า เมืองไทยมีการโต้คลื่นด้วย แบรนด์เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น

นอกจากนี้ ต๊ะยังชักชวนเพื่อนฝูง ดารานักแสดงมาเที่ยวที่เขาหลัก ถ่ายรูปเช็กอิน เพื่อให้ทุกคนได้สัมผัสถึงความงามของ Memories Beach Bar และพื้นที่เขาหลัก

ตลอดจนเริ่มจัดงานแข่งขันเซิร์ฟ Bacardi Surf Camp เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 ซึ่งได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม เพราะมีผู้สมัครเข้าร่วมถึง 2,200 คน ในระยะเวลา 20 นาที จากที่ต้องการผู้สมัครเพียง 60 คน จากนั้นเขาก็เริ่มจาก Surf Festival โดยนำทั้งเรื่องการสอนและการแข่งเซิร์ฟเข้ามารวมไว้ด้วยกัน หวังยกระดับวงการโต้คลื่นของเมืองไทยให้ดีขึ้น

เป้าหมายที่ต๊ะอยากเห็น คือ คนไทยเข้าใจและซึมซับถึงเสน่ห์ที่แท้จริงของการเล่นเซิร์ฟ ดังที่เขาเคยสัมผัสมาแล้วสมัยอยู่ที่ออสเตรเลีย เขาอยากสร้างสังคมที่ดี ที่คอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และใส่ใจถึงการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ

หัวใจของเซิร์ฟคือ การเชื่อมโยงกับธรรมชาติ เราไม่มีทางเอาชนะธรรมชาติได้เลย เราทำได้แค่เรียนรู้มัน การโต้คลื่นไม่ใช่การปะทะคลื่น แต่เป็นการเรียนรู้ว่าคลื่นไปในทิศทางไหน แล้วเราไปกับคลื่น เพราะฉะนั้นเราต้องรู้จักเรียนรู้ รู้จักรอ ไม่ต้องจับคอมพิวเตอร์ ไม่ต้องจับโทรศัพท์ ไม่ต้องอ่านไลน์ ไม่ต้องตอบแชท ทำให้เราได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น ผมว่านี่คือคีย์สำคัญที่มนุษย์โลกต้องการ อย่างบางคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า แล้วเขามาเรียนเซิร์ฟ ปรากฏว่าอาการดีขึ้น เขาเริ่มเห็นคุณค่าของตัวเอง ตรงนี้เป็นการช่วยยืนยันว่า เซิร์ฟนั้นเป็นมากกว่ากีฬา แต่เป็นจิตวิญญาณ เป็นไลฟ์สไตล์

ที่สำคัญคือ การเล่นเซิร์ฟทำให้เราเกิดความหวงแหนทะเล หวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ ลองคิดดู หากเราอยู่ในทะเลวันละ 3 ชั่วโมง ได้เห็นแสงอาทิตย์ ได้สูดกลิ่นทะเลอยู่ตลอด แล้วเกิดวันหนึ่งมีขยะสักชิ้นลอยมา เราจะรู้สึกยังไง ซึ่งผมเชื่อว่าเราคงไม่อยากให้ทะเลสกปรกเลย เพราะเราคงไม่อยากให้ขยะเหล่านั้นมาสัมผัสตัวเราจริงไหม

ผลจากการทำงานที่ไม่เคยหยุด ส่งผลให้เขาหลักเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด อย่างปีหนึ่งเคยมีนักเรียนมาสมัครถึง 7,000 คน แม้แต่ในวันฝนตกผู้คนก็ยังเดินทางมาไม่ขาดสาย และเมื่อปี 2564 ยังพบอีกว่า เขาหลักกลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมที่คนไทยจองผ่านเว็บไซต์ Agoda ที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดของประเทศอีกด้วย

แต่ก่อนเขาหลักจะเปิดแค่ 6 เดือนคือตุลาคมถึงเมษายน แล้วหลังจากนั้นฝรั่งไม่มา เพราะเป็นหน้าร้อนของเขา แต่เป็นหน้าฝนของเรา แล้วเขาหลักเป็นตลาดของยุโรป โรงแรมประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์เลือกจะปิด แต่พอเราทำเรื่องเซิร์ฟจริงจัง มันกลายเป็นว่าช่วงหน้า Low Season มีคนไทยหลายคนมาเที่ยว มาเล่นเซิร์ฟกัน ธุรกิจที่เคยขาดทุนหรือต้องปิดช่วงหน้าฝน ก็กลับมาเปิดได้

และนี่เองคือเส้นทางที่ทำให้เมืองเล็กๆ แห่งนี้ซึ่งเคยถูกตีตราว่าเป็นเมืองร้างพลิกโฉมก้าวสู่มหานครเซิร์ฟของไทยได้สำเร็จ และกลายเป็นจุดหนึ่งที่นักโต้คลื่นอยากเดินทางมาลองเซิร์ฟสักครั้งในชีวิต

ตอนนั้นรู้สึกว่า ทำไมเราถึงรอด..เหมือนเราถูกเลือกให้อยู่หรือเปล่า ตั้งแต่นั้นมา ผมจึงคิดว่า เมื่อเรารอดจากตรงนั้นแล้ว ก็ควรใช้ชีวิตให้คุ้มค่าและเป็นประโยชน์มากที่สุด

ทวีโรจน์ เอี๋ยวพานิช : คืนชีพเขาหลัก สู่ ‘มหานครเซิร์ฟ’

ความยั่งยืนคือคำตอบ

เรื่องหนึ่งที่ต๊ะรู้สึกท้าทายกว่าการจุดกระแสเซิร์ฟในเมืองไทย คือ การทำอย่างไรให้สิ่งที่เขากับเพื่อนฝูงริเริ่มไว้คงอยู่ตลอดไป

เขายอมรับว่า ช่วงแรกคนที่มาเขาหลักส่วนใหญ่เป็นคนที่ต้องการเข้าถึงธรรมชาติ หลายคนรู้สึกเหมือนที่นี่เป็นบ้านหลังที่ 2 แต่พอถึงยุคที่กระแสมาแรงมากๆ คนที่มาไม่น้อยก็แค่อยากได้รูปถ่ายสวยๆ ไปอวดคนอื่น ไม่ได้สนใจเซิร์ฟจริงๆ ด้วยซ้ำ ซึ่งถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ สุดท้ายกีฬาเซิร์ฟก็อาจไม่ต่างจากกระแสหลายๆ อย่างที่มาแล้วก็หายไปอย่างรวดเร็ว

เราคงหลีกเลี่ยงกระแสแฟชั่นไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญคือ เราต้องพยายามวางรากฐานของมันให้แข็งแรงก่อน ทั้งเรื่องสถานที่ การจัดการขยะ ความปลอดภัยของเมือง คือก่อนที่เราจะคิดถึงการเป็นเมืองระดับโลก ระดับเอเชีย เราจะต้องวางแผนเรื่องจัดการทรัพยากรให้ดีก่อน แล้วการจะเป็นเมืองเซิร์ฟได้นั้น ไม่ใช่ทุกคนมาแค่ถ่ายรูปอย่างเดียว แต่เขาต้องได้สัมผัสธรรมชาติจริงด้วย มาแล้วต้องเห็นพระอาทิตย์ตรงหน้า ไม่ใช่มองผ่านมือถือ

อย่างเรื่องหนึ่งที่สัมผัสได้คือ ช่วงที่ผ่านมาปริมาณคนที่มาเที่ยวเริ่มแออัดเกินไป โอกาสที่แต่ละคนจะได้สัมผัสธรรมชาติอย่างเต็มที่ก็น้อยลงด้วย เราเลยปรับนโยบายใหม่คือ จำกัดนักเรียน จากเดิมที่เคยรับวันละ 100 คน ก็เหลือแค่วันละ 36 คน และรับคนที่จองเข้ามาล่วงหน้าเท่านั้น ทั้งหมดก็เพื่อที่เราจะได้วางแผนและสร้างคุณค่าต่อกิจกรรมที่เราทำได้มากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน ต๊ะก็มองถึงการพัฒนาองค์ประกอบอื่นๆ เช่น การวางหลักสูตรที่ดีที่สุด มีการพัฒนาครูให้มีทักษะในการสอนมากยิ่งขึ้น โดยเขาวางแผนจะชักชวนคนในท้องถิ่นมาเข้าโครงการฝึกอบรมครูสอนโต้คลื่นโดยเฉพาะ เพราะนอกจากจะมีความผูกพันกับพื้นที่สูงแล้ว ยังถือเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพอีกด้วย รวมถึงการยกระดับร้านอาหาร ที่พัก และบริการต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น

ร้านอาหารที่พังงามีมิชลินเยอะเลย หรือบางร้านที่ไม่ดังแต่อร่อยก็มีเต็มไปหมด ในฐานะประธานชมรมโต้คลื่นของจังหวัด เราพยายามลงไปช่วยถ่ายภาพ เพื่อที่ร้านเหล่านั้นจะได้นำไปใช้ได้ เพราะความจริงแล้วเรามองว่าพังงามีองค์ประกอบครบทุกอย่าง ทั้งการท่องเที่ยว ธรรมชาติ ทะเล เกาะ อาหาร ผลไม้ มันครบวงจร เพียงแต่ขาดการพัฒนาเรื่องข้อมูลให้นักท่องเที่ยว เขาจะได้รับทราบ และช่วยกระจายรายได้ไปสู่การท่องเที่ยวแขนงอื่นๆ ด้วย

ตลอดระยะเวลาร่วมสิบปีที่ต๊ะคลุกคลีกับวงการโต้คลื่น เขาบอกว่า หากมองย้อนกลับไปก็คงเหมือนก้าวแรกที่เขามาถึง Memories Beach Bar ซึ่งกว่าจะมาถึงได้ผ่านเส้นทางขรุขระยากลำบากไปหมด แต่เมื่อถึงแล้ว สิ่งที่รออยู่คือ ความสวยงามของธรรมชาติ และมิตรภาพที่ทุกคนมีให้แก่กัน และสิ่งเหล่านี้เองที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้เขายังคงหยัดยืนทำงานต่างๆ มาได้จนถึงวันนี้

ผมภูมิใจที่เป็นส่วนเล็กๆ ที่ช่วยตอบแทนและช่วยพยุงเศรษฐกิจของเขาหลักให้ไปรอดได้ อย่างช่วงโรคระบาดที่ผ่านมา ต้องยอมรับเลยว่าเป็นปีที่แย่มากๆ เราต้องปิดไป 4-5 เดือน ระหว่างนั้นเราก็พยายามศึกษาเรื่องเซิร์ฟเยอะมาก วางแผนว่าเมื่อจังหวัดเปิดแล้วเราจะทำยังไงต่อดีการท่องเที่ยวถึงจะกลับมา เพื่อทำให้โรงแรมที่จะเจ๊งได้มีแขก ซึ่งพอทำได้และเห็นหลายครอบครัวที่กำลังลำบากได้กลับมาทำงาน เราก็มีความสุขมากแล้ว

แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ การที่เขาได้เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น เพราะถึงจะไม่ใช่นักเซิร์ฟที่เก่งกาจอะไร แต่อย่างน้อยก็ได้มีส่วนจุดประกายให้คนรอบข้างกล้าคิด กล้าฝัน และเริ่มพัฒนาตัวเอง จนหลายคนกลายเป็นนักกีฬาแถวหน้า และทำหน้าที่เป็นผู้ส่งแรงบันดาลใจไปยังผู้อื่นต่ออีกทอด

ทั้งหมดนี้นับเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของคนธรรมดาคนหนึ่ง และยังเป็นการพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า มือของคนเล็กๆ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ ขอให้เรายังคงมีความเชื่อ และไม่หยุดที่จะเดินตามฝันต่อไป

โครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก

คนเล็กเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 30 บุคคลผู้สร้างสังคมที่ยั่งยืน และช่วยกันสร้างคุณค่าสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นประเทศ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ทวีโรจน์ เอี๋ยวพานิช คือบุคคลต้นแบบประเด็นส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานที่มีคุณค่า (SDGs ข้อที่ 8 ), ประเด็นทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความทั่วถึง ปลอดภัย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 11), ประเด็นอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 14) และประเด็นเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลไกการดำเนินงาน และฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 17)

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.