ยิ่งยง ปุณโณปถัมภ์ & วันใหม่ นิยม : ‘ธนบุรีมีคลอง’ รวมพลคนเมือง อนุรักษ์คลองฝั่งธนฯ

<< แชร์บทความนี้

1,161 คือ จำนวนคลองที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ 

ถ้านำคลองทั้งหมดมารวมกัน จะมีระยะทางกว่า 2,600 กิโลเมตร ยาวกว่าการเดินทางจากจุดเหนือสุดไปยังใต้สุดของประเทศไทย 

หลายคนคงคาดไม่ถึงว่า กรุงเทพฯ จะมีคลองอยู่มากขนาดนี้ 

ในอดีต คลองเคยเป็นเส้นทางสัญจรหลักของผู้คน เป็นแหล่งน้ำใช้ของคนริมน้ำ แต่ด้วยการขยายตัวของเมือง ทำให้บทบาทของคูคลองถูกลดทอนลงไป จนเป็นเพียงเส้นทางสัญจรสำหรับคนส่วนน้อย และถูกปล่อยให้เน่าเสีย ตื้นเขิน ไม่ต่างจากทางระบายน้ำ 

ทั้งที่จริง คลองมีความสำคัญต่อการพัฒนาเมืองอย่างยิ่ง เพราะนอกจากเป็นพื้นที่รับน้ำชั้นดีของกรุงเทพฯ แล้ว คลองหลายสายยังเต็มไปด้วยคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิถีชีวิตที่น่าหวงแหน โดยเฉพาะในฝั่งธนบุรี ที่มีคลองอยู่มากถึง 649 สาย และเต็มไปด้วยชุมชนเก่าแก่ริมคลอง

นี่จึงเป็นที่มาของการรวมตัวของคนกลุ่มหนึ่ง นำโดย คุ้ง-ยิ่งยง ปุณโณปถัมภ์ สถาปนิกชุมชน และ วันใหม่ นิยม อดีตครูผู้มีความสนใจด้านประวัติศาสตร์ 

ทั้งคู่เห็นความงามและคุณค่าของคลอง ทั้งในมิติเชิงสังคม วัฒนธรรม และบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเมือง จึงได้ก่อตั้ง ‘กลุ่มธนบุรีมีคลอง’​ เพื่อฟื้นฟูคลองฝั่งธนให้กลับมามีลมหายใจอีกครั้ง

แนวคิดของกลุ่มธนบุรีมีคลอง คือ ‘คลองต้องดี เมืองถึงจะดี’ ดังนั้น พวกเขาจึงเน้นการทำงานแบบบูรณาการ ประสานงานกับชุมชนริมคลองต่างๆ อีกทั้งสร้างการรับรู้แก่สังคมวงกว้าง  

ที่ผ่านมา นอกจากทีมงานธนบุรีมีคลองจะสร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับคลองแล้ว ยังจัดกิจกรรมเปิดคลอง เพื่อให้คนกรุงเทพฯ เห็นคุณค่าของสายน้ำ และเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคลองอย่างยั่งยืน 

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอถือโอกาสนี้พาทุกคนไปรู้จักกับสองคนรุ่นใหม่ ในฐานะ 1 ใน 30 บุคคลจากโครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก ที่อยากบอกให้รู้ว่าธนบุรีมีคลอง และจะต้องมีคลองอยู่ตลอดไป

คลอง ≠ ท่อระบายน้ำ​

แม้ในหนังสือเรียนจะเขียนว่า กรุงเทพฯ คือเมืองแห่งคูคลอง จนมีฉายาว่า ‘เวนิสตะวันออก’ ผู้คนมีชีวิตใกล้ชิดกับแม่น้ำลำคลอง เป็นทั้งเส้นทางสัญจรหลัก แหล่งค้าขาย พบปะพูดคุย และสร้างชุมชน แต่สำหรับคนที่อายุ 30-40 ปี ลงมา พวกเขาส่วนใหญ่ล้วนเกิดไม่ทันเห็นภาพอดีตอันรุ่งเรืองเหล่านั้นแล้ว

คุ้งเองก็เป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น ภาพคลองในความทรงจำวัยเยาว์ของเขาไม่ได้น่าจดจำสักเท่าไร

“ตอนเด็กๆ ผมอยู่ตรงวงเวียนใหญ่ ถนนเจริญรัถ บ้านไม่ได้อยู่ติดคลอง แต่แถวนั้นมันจะมีคลองอยู่สายหนึ่ง เวลาผมจะเดินไปห้างเซ็นทรัล ลาดหญ้า ผมก็จะเดินเลียบคลองไป เขาเรียกว่าตรอกผีดิบ มันเป็นคลองแบบเน่าๆ แล้วก็มีหมาตายลอยมาติดประจำ ดังนั้นในความทรงจำของเรา คลองคือน้ำเน่า”

ภาพจำเกี่ยวกับคลองนี้เพิ่งมาเปลี่ยนไป เมื่อคุ้งโตขึ้นมา และได้สัมผัสกับงานสถาปนิกชุมชน

ในฐานะสถาปนิกชุมชนของสถาบันอาศรมศิลป์ คุ้งมีโอกาสลงพื้นที่ไปทำงานกับร่วมชุมชนต่างๆ จนกระทั่งกรุงเทพฯ เกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2554 ด้วยความที่สถาบันฯ ตั้งอยู่ย่านฝั่งธนฯ ซึ่งเป็นจุดน้ำท่วมหนักเช่นกัน ชาวอาศรมศิลป์จึงชักชวนกันลงพื้นที่สำรวจคลองเพื่อช่วยเหลือชุมชนแถวนั้น และพัฒนาไปสู่การร่วมกับชุมชนจัดตั้ง ‘ครัวชุมชน’ ที่ทำให้ชาวบ้านได้มาร่วมช่วยเหลือกันในวิกฤตน้ำท่วม

ผลจากการลงพื้นที่ครั้งนั้น ทำให้คุ้งได้รู้จักกับเครือข่ายชุมชนริมคลองหลายแห่ง และยังเป็นจุดพลิกผันให้เขาเปลี่ยนมโนทัศน์ที่มีต่อคลอง จากภาพอันไม่น่าอภิรมย์ในวัยเด็กไปอย่างสิ้นเชิง

“พอเราได้นั่งเรือสำรวจคลอง ถึงได้พบว่าธนบุรีมีคลองแบบนี้ด้วยเหรอ มันสวย มีบ้านริมคลอง มีสวน มีต้นไม้ เหมือนเราไปเที่ยวตามต่างจังหวัด ทำให้เราเปลี่ยนความรับรู้ที่มีมาแต่เด็ก ผมรู้สึกว่าคลองเหล่านี้คือต้นทุนที่เมืองของเรามี

แล้วพอผมแต่งงาน ไปอยู่บ้านภรรยาที่ริมแม่น้ำท่าจีน ยิ่งเห็นได้ชัดเลยว่าสายน้ำมีคุณค่าเชื่อมโยงกับชีวิตมนุษย์ ทุกครั้งที่กลับไปอยู่บ้าน อยู่กับน้ำ อยู่กับธรรมชาติ เหมือนเราได้เติมพลังชีวิต ผมเริ่มเห็นภาพว่าถ้าเมืองเรามีแม่น้ำลำคลองที่ดี คุณภาพชีวิตเราก็จะดีตามไปด้วย

จากความประทับใจเมื่อครั้งวิกฤตมหาอุทกภัย ต่อมาในปี 2557 คุ้งก็ได้มีโอกาสไปช่วยทำงานคลองเป็นครั้งแรกกับ ‘กลุ่มรักษ์บางประทุน’ ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในแนวคลองบางประทุนรวมตัวกัน เพื่อรักษาคุณค่าของท้องถิ่นจากการขยายตัวของเมือง นำโดยคนรุ่นใหม่อย่าง ปอง-นาวิน มีบรรจง

คลองบางประทุน แม้จะเป็นคลองสายสั้นๆ ยาวเพียง 4 กิโลเมตร แต่ก็มีคุณค่าอย่างยิ่งทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิต

ในอดีตคลองสายนี้เชื่อมโยงกับคลองด่าน หรือคลองสนามชัย เป็นเส้นทางสัญจรที่สำคัญของคนโบราณ เมื่อจะเดินทางจากแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านฝั่งธนบุรี ลัดเลาะไปออกที่แม่น้ำท่าจีน เพื่อจะไปสมุทรสงคราม สมุทรสาคร และเพชรบุรี แม้แต่สุนทรภู่ก็เคยเขียนถึงคลองสายนี้ไว้ในนิราศเมืองเพชร

คนบางประทุนส่วนใหญ่เป็นชาวสวน จึงใช้น้ำในคลองทำการเกษตร นอกจากนี้ยังใช้เป็นเส้นทางสัญจรหลัก เคยมีทั้งเรือชาวบ้าน เรือขายกับข้าว ขายก๋วยเตี๋ยว โจ๊ก ขนม มีเรือไปรษณีย์มาส่งจดหมาย เรือขายอุปกรณ์การเกษตร เรือรับส่งเด็กนักเรียน เรือขนเกลือจากมหาชัย รวมถึงตลาดน้ำ

แต่ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เมื่อชุมชนเปลี่ยนเป็นสังคมเมืองมากขึ้น มีถนนตัดผ่าน คนไม่จำเป็นต้องสัญจรทางเรือหรือใช้น้ำจากในคลองในชีวิตประจำวันอีกแล้ว คลองบางประทุนก็ลดความสำคัญลง ทำให้ชาวบ้านดั้งเดิมทยอยเลิกทำสวนและขายที่ดินให้นายทุน คนจากต่างถิ่นเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น แม้จะยังเหลือร่องรอยวิถีชีวิตวันวานให้เห็นอยู่บ้าง แต่ก็มีแนวโน้มว่าบางประทุนกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

โจทย์ของ ‘กลุ่มรักษ์บางประทุน’ ตอนนั้น คือ ทำอย่างไรจึงจะรักษาภูมิปัญญาต่างๆ พร้อมกับดึงดูดเยาวชนในพื้นที่ให้หวงแหนและเห็นคุณค่าของถิ่นฐาน พวกเขาจึงจัดนิทรรศการภาพเก่า เพื่อให้ชาวบางประทุนรำลึกความหลังว่าในอดีตบ้านของพวกเขาสวยงามอุดมสมบูรณ์เพียงใด หากไม่ช่วยกันรักษาจะไม่เหลืออะไรไว้ให้ลูกหลาน

ขณะเดียวกันก็ชวนเด็กๆ ในชุมชนมาเรียนรู้วิถีคนคลองตั้งแต่กระโดดน้ำ เดินท้องร่อง เข้าสวน ลุยดินลุยโคลน ไปจนถึงค้างแรมในสวน โดยใช้ชื่อกลุ่มว่า ‘รักษ์บางประทุนจูเนียร์’ เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนมีความรักและผูกพันกับบ้านเกิด

ในฐานะสถาปนิก คุ้งเข้าไปช่วยทำแผนที่ชุมชน โดยนำข้อมูลจากคำบอกเล่าและเอกสารมาแปลงเป็นแผนที่ ที่สะท้อนภาพทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชาวบ้าน

นอกจากนี้ยังชวนนักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ลงไปคุยกับกลุ่มรักษ์บางประทุน ก่อนจะพบว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการคือสถานที่สำหรับทำกิจกรรมที่อยู่ในชุมชน โดยไม่ต้องไปอาศัยพื้นที่วัด จนนำมาสู่การสร้าง ‘ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบางประทุน’ เพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้ สืบสานคุณค่าและภูมิปัญญาต่างๆ ให้แก่เยาวชน

“นักศึกษาเขาไปเห็นว่ามันมีร้านก๋วยเตี๋ยวร้านหนึ่ง เป็นเพิงหลังคาผ้าใบ แล้วเขาสังเกตว่าทุกเที่ยง ชาวบ้านจะไปรวมตัวกันโดยไม่ได้นัดหมาย ไปกินข้าว ไปคุยกัน เขารู้สึกว่าศูนย์เรียนรู้มันน่าจะเกิดตรงร้านก๋วยเตี๋ยวนี่แหละ ก็เลยชวนชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบ ซึ่งเขาอยากสร้างอาคารไม้ไผ่ เพราะเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวสวน และก็ทำให้หลังคาเป็นเรือประทุน สื่อถึงชุมชนแห่งนี้ เป็นการออกแบบที่เอาแนวคิดสถาปัตยกรรมสมัยใหม่กับภูมิปัญญาเดิมมาใช้

“ระหว่างก่อสร้าง เยาวชนเขาก็ได้มาเรียนรู้ภูมิปัญญาในการทำเรือนไม้ไผ่ การขุดลอกเลนจากท้องร่องคลองขึ้นมาบดอัดทำพื้น เป็นการเรียนรู้ตั้งแต่กระบวนการก่อสร้างเลย พอสร้างเสร็จก็กลายเป็นสถานที่ที่เขาใช้จัดกิจกรรมเยาวชน”

หลังจากทำงานกับคลองบางประทุนไประยะหนึ่ง คุ้งก็เห็นว่าเริ่มมีคนอีกหลายกลุ่มที่รวมตัวกันเพื่อขับเคลื่อนการฟื้นฟูคลอง เช่นที่คลองบางมด คลองบางลำพู ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดี

เพียงแต่เขามองว่า การจะแก้ปัญหาคลองอย่างยั่งยืน ไม่ควรแค่ทำงานในระดับชุมชนต่างคนต่างทำเป็นจุดๆ เพราะคลองเป็นเครือข่ายที่กว้างใหญ่ และเชื่อมโยงถึงกัน ดังนั้นควรจะมี ‘คนกลาง’ สักคนเข้ามาช่วยประสานเพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่

เป็นจังหวะพอดีกับที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เปิดให้ขอทุนทำโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคม สถาปนิกหนุ่มก็เลยลองเขียนโครงการเข้าไป นำเสนอแนวคิดการสร้างเครือข่ายทำงานแก้ปัญหาคูคลองในระดับเมือง ในที่สุดก็ได้รับทุนให้มาสานต่อความฝัน

และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของ กลุ่มธนบุรีมีคลอง’ ในปี 2559

เชื่อมจุดให้เป็นภาพใหญ่

ก้าวแรกสุดในการทำงาน คือการวิเคราะห์ปัญหาก่อนว่า คลองธนบุรีมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

คุ้งและน้องๆ ในทีมพูดคุยกัน ก่อนสรุปว่าน่าจะเกิดจาก 3 ปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้อง

หนึ่ง – คนไม่รู้จักคลอง เพราะไม่มีฐานข้อมูล ไม่มีระบบการสื่อสารให้คนรับรู้ แม้แต่คุ้งเองที่เกิดในฝั่งธนบุรียังรู้จักคลองที่บ้านตนเองน้อยมาก

สอง – คนในเมืองมีทัศนคติว่าคลองเท่ากับท่อระบายน้ำเสีย เพราะไม่เห็นคุณค่าในด้านอื่นๆ ไม่รู้ว่าคลองสวยแค่ไหน และมีของดีริมคลองอะไรบ้าง

และสาม – การพัฒนาเมืองไม่ได้ต่อยอดจากต้นทุนชุมชนที่มีอยู่เดิม ทำให้ชุมชนเก่าค่อยๆ หายไป ไม่มีตัวอย่างการพัฒนาที่นำภูมิปัญญาจากต้นทุนดั้งเดิมมาต่อยอด

ปัจจัยทั้ง 3 ข้อนี้นำมาสู่การตั้งเป้าหมายการทำงานของกลุ่ม ที่ต้องการจะสร้างเครือข่าย ทำระบบฐานข้อมูล และสื่อสารให้คนทั่วไปได้รับรู้ว่าธนบุรียังมีคลองอยู่ และเหตุใดจึงยังต้องมีคลองต่อไป ทั้งหมดก็เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคลองอย่างยั่งยืน

“ถ้าคนรู้จักคลอง มีทัศนคติที่ดีต่อคลอง เราอยากจะเห็นทางเลือกในการพัฒนาที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่แค่การรักษาอดีต แต่ทำให้มีประโยชน์กับชีวิตของคนในปัจจุบันได้ด้วยทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ รูปแบบนี้น่าจะดีกว่าในระยะยาว”

พวกเขาเริ่มจากเดินทางไปสำรวจและพูดคุยกับชุมชนริมคลองต่างๆ ในฝั่งธนฯ ตั้งแต่คลองบางประทุน คลองลัดมะยม คลองบางระมาด คลองชักพระ รวมถึงคลองบางมด

ส่วนหนึ่งก็เพื่อรวบรวมข้อมูล และพูดคุยให้ชาวบ้านในพื้นที่เห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ ขณะเดียวกันก็นำเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคลองที่ได้รับการบอกเล่า มาสื่อสารต่อผ่านเพจเฟซบุ๊ก ธนบุรีมีคลอง เพื่อให้คนนอกได้รับรู้และเห็นคุณค่าของคลองร่วมกันด้วย

หลายๆ เรื่องจากปากของคนที่ใช้ชีวิตกับคลองนั้นน่าสนใจ ช่วยเปิดมุมมองของคุ้งและทีมงาน อย่างที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน อย่างเช่นเรื่อง กลิ่นของน้ำจืด

“วันแรกที่ผมลงพายเรือสำรวจคลองบางประทุน มีพี่คนหนึ่งถามผมว่า เคยได้กลิ่นน้ำจืดไหม แกบอกว่าน้ำจืดที่มันสะอาดๆ ในช่วงหน้าหนาวมันจะมีกลิ่นเฉพาะตัว และจะมีกลิ่นดอกไม้ริมคลองร่วงลงแล้วมันไหลมาตามน้ำ วันแรกที่แกมาเจอชุมชนนี้ แกรู้เลยว่าชีวิตแกต้องอยู่ริมน้ำ ต้องตายริมน้ำ พี่คนนี้ทำให้ผมเห็นคุณค่าของคลองในมิติที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต จิตวิญญาณของแกผูกพันกับน้ำ”

ยิ่งออกสำรวจ พวกเขาได้พบเจอเรื่องราวและผู้คนน่าสนใจมากมาย ให้หยิบนำมาเล่าต่อในเพจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ อาแอ๊ว-สัมพันธ์ มีบรรจง ปราชญ์ชาวบ้านคลองบางประทุน ที่สั่งให้ลูกหลานห้ามขายพื้นที่สวนโดยเด็ดขาดแม้ว่าตนเองจะจากไปแล้ว

อาแอ๊วยังให้ความรู้อีกว่าคลองคือแหล่งรวมอาหาร หน้าน้ำก็มีปลา เวลาน้ำลงก็มีกุ้ง ชาวบ้านจะใช้วิธี ‘มัวกุ้ง’ โดยลงไปช่วยกันย่ำเท้าอยู่ในน้ำจนตะกอนโคลนลอยขึ้น ทำให้กุ้งขาดออกซิเจนแล้วโผล่ขึ้นมาให้จับง่ายๆ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณ

หรือ ลุงสมจิตร จุลมานะ เจ้าของสวนอนุรักษ์ส้มบางมด เล่าให้ฟังว่าในอดีตสองฝั่งคลองบางมดเต็มไปด้วยสวนส้ม ส้มบางมดขึ้นชื่อเรื่องความอร่อยเพราะมีรสจัด ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากการที่ดินและน้ำมีแร่ธาตุจากน้ำทะเลที่ขึ้นลงหมุนเวียนเป็นวัฏจักรมาตามคลอง

สิ่งเหล่านี้นำมาเล่าต่อได้ไม่รู้จบ ซึ่งถ้าไม่มีการคุยและเก็บข้อมูลเอาไว้ ภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าก็จะเลือนหายไปพร้อมกับคนยุคก่อน

“ผมเคยสรุปว่า คลองมีคุณค่าสำคัญๆ ต่อเราอยู่ 4 ด้าน อย่างแรก คลองเป็นพื้นที่รับน้ำสำหรับเมือง เนื่องจากกรุงเทพฯ มีภูมิสัณฐานแบบปากแม่น้ำ ถ้าไม่มีคลอง น้ำจะท่วมง่ายมาก แต่เราก็ต้องเรียนรู้การอยู่กับน้ำขึ้น-น้ำลงตามธรรมชาติ อีกอันหนึ่งคือริมคลองมักจะมีสวน มีต้นไม้ เป็นการช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่เมือง

นอกจากนี้ คลองยังทำให้เกิดความผูกพันทางสังคม คนสมัยก่อนพายเรือไปเจอกัน พายเรือข้ามฟากเอากล้วยไปให้ อีกฝั่งก็ทำกล้วยบวชชีกลับมาให้ ชาวบางประทุนเขาถึงมีคำว่าสายคลองเชื่อมเหมือนดั่งพี่น้องกันแต่เมืองที่เราอยู่ทุกวันนี้มีแต่ถนนที่รถวิ่งจอแจตัดผ่าน ความสัมพันธ์ของคนต่อคนมันเปลี่ยนไป ผมรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้คือต้นทุนที่สำคัญสำหรับอนาคต ในขณะที่เรากำลังจะไปเศรษฐกิจสร้างสรรค์แล้ว แต่ทุนเหล่านี้มันกำลังหายไปเรื่อยๆ

ไม่เพียงสื่อสารผ่านโลกออนไลน์ กลุ่มธนบุรีมีคลอง ยังจัดกิจกรรม ‘เปิดคลอง’ ชวนคนมาล่องเรือ ทัศนศึกษา เพื่อให้ได้ทดลองสัมผัสคลองอย่างใกล้ชิด ซึ่งนับเป็นการนำต้นทุนวัฒนธรรมที่มีมาต่อยอดกับการท่องเที่ยว โดยจัดไปแล้วที่คลองบางมด และคลองบางประทุน

“ที่ตั้งชื่อกิจกรรมว่าเปิดคลอง เพราะต้องการสื่อว่า คลองที่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่ามี เราจะเปิดให้คนทั่วไปเห็นและลองเข้ามาสัมผัส เราก็ทดลองหลายๆ อย่าง เช่นเอาเรือคายักลงไปพายในร่องสวนส้ม”

นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังสร้างเครือข่ายและระบบฐานข้อมูล เพื่อบันทึกข้อมูลคลองในฝั่งธนบุรี โดยทำเป็นภาพ Canal View แบบเดียวกับ Street View ใน Google Map และเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลผ่านเว็บไซต์ www.thonburimekhlong.com โดยสามารถกดเข้ามาดูแผนที่คลอง ให้คะแนนสุขภาพคลองในแต่ละจุดว่าอยู่ในเกณฑ์ดี พอใช้ หรือไม่ดีได้

“จุดตั้งต้นก็เลยอยากทำฐานข้อมูลเพื่อให้คนเห็นศักยภาพของคลอง ถ้าเกิดเป็น Mapping ว่าคลองตรงไหนที่ดี น้ำสะอาด มีของดี แล้วมันอาจทำให้คนเห็นต้นทุน เห็นโอกาสที่จะเข้าไปช่วยกันใช้ประโยชน์คลองตรงนั้นได้ แน่นอนว่าคลองมันก็มีทั้งช่วงที่เน่าและไม่เน่า ก็ค่อยๆ ปรับกันไป”

ระหว่างทางก็ไม่ได้ราบรื่นเหมือนโรยด้วยดอกกุหลาบ โดยเฉพาะเมื่อต้องโน้มน้าวให้คนที่เห็นต่างกันยอมเปิดใจ ยิ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

“กับชาวบ้านไม่มีปัญหา เขาอยากให้คลองดีมากกว่าเราด้วยซ้ำ เพราะบ้านเขาอยู่ตรงนั้น แต่เราเคยคาดหวังว่าพอคนนอกเห็นคุณค่าคลองแล้ว ทิศทางการพัฒนามันน่าจะคลี่คลาย เช่น หมู่บ้านจัดสรรก็แค่เปิดรั้วเชื่อมกับคลอง มันก็น่าจะง่าย แต่พอไปคุยจริงๆ เราก็จะเจอมุมมองของคนทำธุรกิจ ที่เขามีทัศนคติว่าบ้านจัดสรรต้องขายความปลอดภัย ไม่อย่างนั้นผู้ซื้อจะกลัว มันเป็นระบบตลาดอีกชุดหนึ่งที่ไม่ง่าย”

ถึงอย่างนั้น กลุ่มธนบุรีมีคลองก็ยังคงเดินหน้าทำงานต่อ เพื่อค้นหาจุดสมดุลที่เชื่อมโยงโลกอันย้อนแย้งทั้งสองใบนี้เขาไว้ด้วยกัน

สายน้ำที่เต็มไปด้วยเรื่องราว

นอกจากจะมองคลองในแง่การพัฒนาไปพร้อมกับเมือง การทำงานของกลุ่มธนบุรีมีคลอง ยังให้ความสำคัญในเชิงคุณค่าและประวัติศาสตร์ เนื่องจากคลองบางสายอยู่คู่คนไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

หนึ่งในผู้ที่เข้ามีบทบาทตรงส่วนนี้ คือ วันใหม่ ซึ่งไม่ได้มีพื้นฐานทางด้านสถาปนิก แต่เรียนจบด้านอาเซียนศึกษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เขาเคยเป็นนักเรียนและครูอยู่ที่โรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งอยู่ในย่านฝั่งธนฯ และไม่ไกลจากคลองบางมด จึงมีความผูกพันกับสายน้ำมานาน

วิชาที่วันใหม่สอน คือ วิชาบูรณาการ ที่รวมวิชาสังคมศึกษาและภาษาไทยเข้าด้วยกัน ทำให้การเรียนการสอนของเขาไม่จำกัดอยู่แต่ในห้องเรียน แต่มักพาเด็กๆ เดินทางขึ้นเหนือล่องใต้ไปเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมา และภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ

แต่พอถึงจุดหนึ่ง วันใหม่เริ่มตั้งคำถามว่า ในขณะที่เขาพาเด็กๆ ไปช่วยส่งเสริมการทำงานในท้องถิ่นต่างๆ แต่ทำไมตัวเขาเองกลับไม่ได้ใช้ความรู้และประสบการณ์ที่มีมาช่วยดูแลและพัฒนาถิ่นฐานบ้านเกิดของตัวเองเลย

จากคำถามดังกล่าว ทำให้วันใหม่เริ่มเข้ามาชิมลางเป็นอาสาสมัครเครือข่ายชุมชนบางมด ที่รวมตัวกันปกป้องวิถีชีวิตดั้งเดิมซึ่งได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของเมือง เขามีส่วนในการทำพิพิธภัณฑ์ชุมชนคลองบางมด และออกแบบกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม จนได้รู้จักกับคุ้ง ทำให้ตัดสินใจหันเหเส้นทางชีวิตจากครู มาทำงานกับกลุ่มธนบุรีมีคลองเต็มตัว ตั้งแต่ปี 2563

จริงๆ ต้นทุนสำคัญอันหนึ่งของคลองธนบุรีคือเรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ทีมพวกเราเกือบทั้งหมดเป็นสถาปนิก จึงไม่ได้มีความเข้าใจเรื่องวิธีที่จะไปถอดคุณค่าทางประวัติศาสตร์ หรือว่าเรียบเรียงเรื่องราวทั้งหมดได้ แต่วันใหม่เป็นนักประวัติศาสตร์ เขาจะถอดเรื่องเล่าทำต้นทุนให้ แล้วสถาปนิกอย่างเราก็จะมาช่วยมองในเชิงกายภาพ มองความเชื่อมโยง มองเรื่องการต่อยอดไปสู่อนาคต คุ้งอธิบาย

สิ่งหนึ่งที่อดีตครูโรงเรียนรุ่งอรุณฉายภาพให้คนในทีมเห็นชัดเจนขึ้น คือ เขาชี้ว่าคลองไม่ได้แค่ช่วยหล่อเลี้ยงชุมชนโดยรอบ แต่ยังช่วยให้เมืองดีขึ้น และเป็นจุดเริ่มต้นของความเจริญรุ่งเรือง

“คลองเป็นพื้นฐานการสร้างบ้านแปงเมืองที่สำคัญของพื้นที่ลุ่มต่ำมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีชุมชนต่างๆ เกิดขึ้น อาทิ คลองบางเชือกหนัง คลองบางหลวง คลองด่าน ชุมชนเหล่านี้เริ่มต้นจากเป็นแหล่งค้าขาย แล้วก็ค่อยๆ พัฒนาเป็นฐานให้เป็นเมืองหลวงธนบุรี ก่อนมาเป็นกรุงเทพฯ” วันใหม่ กล่าว

อย่างตลาดพลู ซึ่งในอดีตเป็นย่านการค้าที่คึกคัก เพราะมีคลองบางกอกใหญ่หรือคลองบางหลวงเป็นเส้นทางการค้าที่เชื่อมเมืองกับสวน ชาวบ้านจะพายเรือนำผลผลิตจากสวนมาขายที่ตลาดพลู และส่งไปขายที่จังหวัดอื่นๆ ต่อตามเส้นทางคลองที่เชื่อมต่อกัน ขณะเดียวกันก็รับของจากในเมืองกลับมาขายชาวสวนด้วยกัน บางคนก็ใช้เป็นเส้นทางไปมาหาสู่ญาติพี่น้อง

ต้องบอกว่า การมาร่วมงานกับกลุ่มธนบุรีมีคลองของวันใหม่ เป็นเหมือนจิกซอว์ที่หายไป หน้าที่หลักๆ ของเขาจึงเน้นการนำคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของคลองมาต่อยอด นอกจากเขียนบอกเล่าเรื่องราวลงในเพจแล้ว

อีกโปรเจกต์สำคัญที่วันใหม่เข้ามามีส่วนร่วม คือ การปรับปรุงโรงเรียนกงลี้จงซัน (ตลาดพลู) เป็นโรงเรียนประถมศึกษาที่สอนทั้งภาษาไทย ภาษาจีน และภาษาอังกฤษ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเรื่องราวของย่านเก่าแก่อายุกว่า 250 ปีของกรุงเทพฯ อย่างตลาดพลู

กงลี้จงซันเป็นโรงเรียนจีนที่อยู่ตลาดพลูมาก่อน อยู่ริมทางรถไฟเลย ต่อมาเมื่อปี 2555 เขาย้ายไปอยู่ริมถนนราชพฤกษ์ เจ้าของเลยอยากปรับปรุงอาคารโรงเรียนเก่าให้เป็นประโยชน์กับย่านตลาดพลู จึงมาชวนให้สถาบันอาศรมศิลป์ไปออกแบบเป็นพิพิธภัณฑ์ และเราก็ได้ไปมีส่วนร่วมวันใหม่เล่า

โจทย์ในการออกแบบพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เน้นการทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อให้พื้นที่แห่งนี้ไม่เพียงเป็นพื้นที่สาธารณะที่คนในละแวกนั้นมาใช้ประโยชน์ได้ แต่ยังนำเอกลักษณ์และภูมิปัญญามาต่อยอดสู่การเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่สามารถสร้างรายได้กลับมายังชุมชน ด้วย

แม้พิพิธภัณฑ์จะยังสร้างไม่เสร็จ แต่ก็ได้มีการจัดกิจกรรม ‘ระบำ แทง ชัก’ @กงลี้ตลาดพลู โดยกลุ่มตลาดพลูดูดี ซึ่งโครงการธนบุรีมีคลอง และสถาบันอาศรมศิลป์เข้าไปร่วมสนับสนุน มีการแสดงพื้นบ้านที่หาชมยากอย่าง กระตั้วแทงเสือ กระบี่กระบอง และการออกร้านขายสินค้า

กิจกรรมนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงการพัฒนาที่เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ คูคลอง เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวเข้าด้วยกัน ซึ่งพวกเขาตั้งใจจะทำให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต

คลองยังทำให้เกิดความผูกพันทางสังคม คนสมัยก่อนพายเรือไปเจอกัน พายเรือข้ามฟากเอากล้วยไปให้ อีกฝั่งก็ทำกล้วยบวชชีกลับมาให้ ชาวบางประทุนเขาถึงมีคำว่า ‘สายคลองเชื่อมเหมือนดั่งพี่น้องกัน’

ยิ่งยง ปุณโณปถัมภ์ & วันใหม่ นิยม : ‘ธนบุรีมีคลอง’ รวมพลคนเมือง อนุรักษ์คลองฝั่งธนฯ

อยากให้ธนบุรีมีคลองตลอดไป

มาถึงวันนี้ ถ้าถามว่า กลุ่มธนบุรีมีคลองได้สร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

สำหรับคุ้ง เขามองว่า ที่ผ่านมาการขับเคลื่อนของกลุ่มเป็นเหมือนฟันเฟืองเล็กๆ ที่ไม่อาจพลิกโฉม หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้รวดเร็ว เพราะการจะฟื้นฟูชุมชนและคูคลองที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเมืองมานานนั้นต้องใช้เวลา

“ผมรู้สึกว่าเราเล็กมากๆ ถ้าเทียบกับโครงสร้างของสิ่งที่มันกำลังเป็นไป ดังนั้นถ้าไปคาดหวังความเปลี่ยนแปลงว่าต้องเปลี่ยนให้ได้ ผมและทีมอาจจะท้อและเลิกทำไปก่อน” ที่ปรึกษาโครงการกล่าว

แต่จุดที่ทำให้เขารู้สึกชื่นใจและอยากทำงานตรงนี้ไปเรื่อยๆ คือ มิตรภาพที่ได้กลับมา

“เราไม่ได้รู้สึกว่าทำงานกันแบบคนนอกกับคนในพื้นที่ แต่เป็นความรู้สึกของคนที่เห็นคุณค่าในสิ่งเดียวกัน จนกลายเป็นความผูกพัน เป็นเพื่อนกัน เหมือนกับที่ชาวบ้านเคยบอกว่า เชื่อมโยงด้วยคลองเหมือนดั่งพี่น้องกัน เหมือนทั้งเราและชาวบ้านช่วยเติมกำลังใจ ทำให้รู้สึกว่า อย่างน้อยสิ่งที่เรากำลังพยายามทำอยู่ มันมีคนเชื่อเหมือนๆ กันอยู่”

หากมองในแง่การสร้างการรับรู้ นับว่ากลุ่มธนบุรีมีคลองก็ได้ช่วยให้ใครหลายคนมองเห็นคุณค่าของคลองมากกว่าเดิม

อย่างน้อยกลุ่มเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความรับรู้เกี่ยวกับคลอง ทำให้คนในสังคมหันมาสนใจคลองเยอะขึ้น อย่างน้อยคนที่ไม่เคยเห็นคลอง พอได้มาร่วมกิจกรรมเปิดคลอง เขาก็ชอบ ซึ่งเป็นกำลังใจให้ผมและทีมอยากทำงานเพื่อสร้างทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับคลองต่อไป

ขณะที่วันใหม่มองว่า การมาทำงานนี้ นอกจากจะสานฝันที่จะทำอะไรสักอย่างเพื่อบ้านเกิด การได้นำความรู้และประสบการณ์ที่มีมาทำประโยชน์ให้แก่สังคมก็ถือว่าคุ้มค่า และยังสานฝันในฐานะคนที่เรียนด้านประวัติศาสตร์

“ผมมองว่า การได้ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับคลองให้เป็นรูปธรรม เพื่อส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ก็เหมือนการสร้างสรรค์งานเขียนเชิงประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่า จนคิดว่าชีวิตนี้ตายตาหลับ”

อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่ยอมรับว่า ยังคงต้องพัฒนาปรับปรุงการทำงานให้ดียิ่งขึ้นอีก สำหรับวันข้างหน้าที่ความเปลี่ยนแปลงยังคงถาโถมเข้าใส่

“เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้เมืองหนาแน่นขึ้นจนยากที่จะรักษาวิถีชีวิตแบบเก่า ดังนั้น โจทย์ในการพัฒนาของผมคือ ภายใต้โครงสร้างแบบเดิม เราจะรักษาวิถีความสัมพันธ์แบบเดิมในเมืองสมัยใหม่ที่เราอยู่ พร้อมต่อยอดความสัมพันธ์นั้นไปสู่ความยั่งยืนในอนาคตได้อย่างไร

“ผมมองว่าคลองเป็นคำตอบในอดีต มันเป็นต้นทุนให้เราหาความเป็นไปได้ในอนาคต ที่จะอยู่อย่างเกื้อกูลกับธรรมชาติ และทำให้เรามีชีวิตที่ดีได้” คุ้งสรุป

ทั้งหมดนี้ คือ มุมมองของสองคนรุ่นที่ใหม่ที่อยากชวนทุกคนมาร่วมกันออกแบบอนาคตใหม่ให้คลอง เพื่อไปนำไปสู่การพัฒนาเมืองอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน

โครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก

คนเล็กเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 30 บุคคลผู้สร้างสังคมที่ยั่งยืน และช่วยกันสร้างคุณค่าสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นประเทศ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ยิ่งยง ปุณโณปถัมภ์ และวันใหม่ นิยม คือบุคคลต้นแบบประเด็นสร้างหลักประกันให้มีน้ำใช้ มีการบริหารจัดการน้ำ และการสุขาภิบาลอย่างยั่งยืนสำหรับทุกคน (SDGs ข้อที่ 6) และ ประเด็นทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความทั่วถึง ปลอดภัย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 11)แข็งแกร่งของกลไกการดำเนินงาน และฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 17)

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.