นิคม พุทธา : นักอนุรักษ์ป่า จากเขาใหญ่สู่ดอยหลวงเชียงดาว

<< แชร์บทความนี้

ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ชื่อของ นิคม พุทธา เป็นที่รู้จักในฐานะพี่ใหญ่ของแวดวงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

เขาคือผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำแม่ปิง ที่ทำหน้าที่ดูแลปกป้องผืนป่าดอยหลวงเชียงดาว มีบทบาทในการดับไฟป่า แก้ปัญหาหมอกควัน รวมถึงช่วยถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของป่าไม้ผ่านค่ายเยาวชนเชียงดาว

แต่กว่าจะก้าวมาถึงจุดนี้ ชีวิตของชายผู้นี้ต้องผ่านเส้นทางอันคดเคี้ยวมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

จากเด็กชายที่พ่อแม่จะให้บวชเป็นพระ มาสู่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ก่อนจะหันเหมาเป็นเอ็นจีโอแถวหน้าของเมืองไทยที่มีบทบาทตั้งแต่ยุค สืบ นาคะเสถียร ต่อสู้เรื่องเขื่อนน้ำโจน ผลักดันนโยบายยกเลิกสัมปทานป่าไม้ ตลอดจนเป็นแกนนำเดินธรรมยาตรา ชักชวนให้ผู้คนตระหนักถึงคุณค่าของสายน้ำ

ด้วยเจตนารมณ์อันแรงกล้าและความทุ่มเทที่จะทำให้คนและป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูลมายาวนาน ส่งผลให้นิคมกลายเป็นต้นแบบให้นักอนุรักษ์รุ่นใหม่หลายคนอยากเดินตาม

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ถือโอกาสนี้พาทุกคนไปรู้จักกับ 1 ใน 30 บุคคลจากโครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก ชายผู้ไม่ยอมแพ้แก่โชคชะตา และมุ่งมั่นอุทิศชีวิตเพื่อดูแลผืนป่าและสายน้ำจนลมหายใจสุดท้าย

จากสามเณรสู่นักอนุรักษ์

บ้านเกิดของนิคม อยู่ที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

ในวัยเด็ก นอกจากจะต้องช่วยครอบครัวทำไร่ไถนา เลี้ยงวัวควาย พอว่างเว้นจากงานหลักเขาก็จะติดสอยห้อยตามพ่อแม่เข้าป่าไปหาอาหาร เก็บเห็ด เก็บหน่อไม้ รวมถึงไม้ฟืนและหยูกยาต่างๆ ตามวิถีชีวิตของคนชนบทที่หาอยู่หากินในป่า

“เรียกไม่ได้หรอกว่าเป็นความสุข เพราะมันเป็นความจำเป็น แต่ก็ทำให้เรามีความรู้เรื่องป่า รู้ว่าในแต่ละฤดูกาลจะมีอะไรให้เก็บบ้าง ต้องมาหาช่วงเวลาไหน รู้ถึงชนิดของพืชและสัตว์ อะไรกินได้หรือมีพิษ กบเขียดจะไปหาตรงไหน ต้องเอามาทำยังไงถึงจะกินอร่อย แล้วก็รู้ว่าพืชและสัตว์เหล่านั้นจะอยู่ในสภาพป่าอย่างไร ป่าเบญจพรรณ เต็งรัง หรือในท้องน้ำลำห้วย เราก็ค่อยๆ ซึมซับความรู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติมาตั้งแต่ตอนนั้น”

พออายุได้ 13 ปี นิคมก็บวชเรียนเป็นสามเณรเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว บวกกับพ่อของเขาเคยเป็นพระ มีคำภีร์โบราณเขียนด้วยอักขระภาษาล้านนาเก็บใส่หีบไว้ จึงอยากให้ลูกชายคนเล็กได้เรียนภาษาล้านนาที่วัดเพื่อมาสืบทอดความรู้ โดยพ่อตั้งใจจะยกหีบสมบัตินี้ให้

นิคมบวชที่วัดอินทาราม ในอำเภอเชียงดาว จนร่ำเรียนจบ ป.7 และนักธรรมโท ก่อนย้ายเข้ามาเรียนต่อนักธรรมเอกที่โรงเรียนธรรมราชศึกษา ในวัดพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เขาครองสมณเพศจนเรียนจบ มศ.5

แต่แล้วชีวิตที่ดูเหมือนจะโลดแล่นบนเส้นทางสายธรรมก็พบกับจุดหักเห เมื่อสามเณรนิคมได้อ่านวรรณกรรมที่มีความคิดก้าวหน้าในเวลานั้น เช่น ปีศาจ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์, ตำบลช่อมะกอก ของวัฒน์ วรรลยางกูร และผลงานหลายเล่มของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล บวกกับการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับรุ่นพี่รุ่นน้อง ทำให้ซึมซับความคิดเชิงอุดมการณ์ ที่ไม่ได้เห็นแต่ตัวเอง แต่มองไปถึงประโยชน์ส่วนรวม

“สมัยก่อน เราคิดแต่ว่าต้องพยายามเอาตัวให้รอด เรียนหนังสือให้จบ แต่พอเราเริ่มค้นพบว่าโลกนี้ยังมีคนที่ยากลำบากอีกมาก ซึ่งความยากจนที่ว่า ส่วนหนึ่งก็มาจากโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมืองการปกครองด้วย จากตรงนั้น เลยคิดว่า ไม่เอาแล้วสายธรรมะ มาสนใจเรื่องเศรษฐกิจ สังคม”

แม้การตัดสินใจลาสิกขาจะสร้างความผิดหวังให้พ่อแม่แต่นิคมก็แน่วแน่ในเส้นทางที่เลือกเขาติดตามรุ่นพี่คนหนึ่งมากรุงเทพฯเพื่อสมัครเรียนคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ชีวิตนักศึกษาของนิคมไม่ได้สะดวกสบาย ความเป็นอยู่ค่อนข้างอัตคัด บางครั้งต้องตระเวนไปขออาศัยกับเพื่อนๆ บางครั้งก็อาศัยข้าววัด ควบคู่ไปกับการทำงานเพื่อส่งตัวเองเรียน

“ช่วงนั้นการเรียนก็ค่อนข้างกระท่อนกระแท่น ตอนแรกผมทำงานเป็นช่างไม้อยู่แถวมีนบุรี ต่อมา เพื่อนชวนไปเยี่ยมญาติที่เขาใหญ่ พอดีไปเจอว่าเขารับสมัครคนงานก่อสร้าง ค่าแรงวันละ 50 บาทก็เลยไปทำ เพราะที่รามฯ ไม่ได้เช็กเวลาเรียน แค่มาสอบเพื่อเก็บหน่วยกิตให้ครบก็ได้”

เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ นิคมก็ได้รับการทาบทามให้ไปเป็นยามประจำอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งเขาตอบรับอย่างไม่ลังเล เพราะนอกจากจะได้ค่าแรงรายวัน ยังมีบ้านพักให้ แถมยังได้สวมเครื่องแบบสีกากี พกปืนลูกซอง 5 นัด

แต่สิ่งที่ชายหนุ่มไม่คาดคิดคือ งานนี้จะเป็นใบเบิกทางให้เขาได้เป็นพนักงานของกรมป่าไม้

“ผมถูกส่งไปอบรมเป็นพนักงานพิทักษ์ป่า ซึ่งเป็นหลักสูตรเร่งรัด ใช้เวลาอบรม 3 เดือน เพื่อเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ตั้งแต่ความรู้เรื่องการอนุรักษ์ ความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการของอุทยานแห่งชาติ ไปจนถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้และสัตว์ป่า ส่วนภาคปฏิบัติ จะฝึกวิชาทหาร การเอาตัวรอดในป่า และการใช้อาวุธปืนอย่าง M16 และปืนลูกซอง”

โอกาสที่เข้ามาแบบไม่ทันตั้งตัว ทำให้ในวัย 21 ปี นิคมก็จับพลัดจับผลูมาเป็นลูกจ้างชั่วคราว ฝ่ายป้องกันและปราบปรามของกรมป่าไม้ ประจำที่เขาใหญ่ ทั้งที่ยังเรียนไม่จบ

หน้าที่หลักในตอนนั้นคือ การออกลาดตระเวนในป่า หากพบผู้กระทำผิด ก็ต้องจับกุมมาดำเนินคดี มีอยู่วันหนึ่งชุดตรวจไปพบกับคนที่ลักลอบล่าสัตว์ เกิดการยิงปะทะ ชายหนุ่มไล่ต้อนจนผู้ลักลอบสะดุดเถาวัลย์ล้มอยู่ตรงหน้าและพยายามหนี เมื่อเขาจ่อกระบอกปืนให้หยุด ชายคนนั้นก็ไม่หยุด แต่เขาก็ไม่กล้ายิงจนเพื่อนต้องช่วยยิงขู่ และจับตัวคนทำผิดไว้ได้

“เป็นครั้งแรกที่ต้องยิงปะทะ จนต้นไม้ที่ผมหมอบอยู่กระจุยเลยนะ ผมเองก็สั่น กลัวนะ ไม่ได้เตรียมใจว่าจะไปลุยอะไรกับเขา ก็ต้องหมอบคลาน ยิงต่อสู้ ทากก็ขึ้นมาเต็มตัว”

เมื่อปฏิบัติหน้าที่นานวันเข้า นิคมกลับพบว่า งานนี้ไม่ได้มีปลายทางที่สดใสรออยู่ เพราะรุ่นพี่ที่ทำงานจนเกษียณ สุดท้ายก็กลายเป็นลุงขี้เมา ส่วนชาวบ้านที่จับกุมมาเสียค่าปรับหรือติดคุก ส่วนใหญ่ก็มีแต่ชาวบ้านที่ฐานะยากจน บางครั้งได้ของกลางมาก็ส่งไม่ครบ เพราะมีการติดสินบนเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยให้ผู้ต้องหาหลุดจากคดี สิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้นิคมต้องกลับมาถามตัวเองว่า ควรไปต่อหรือพอแค่นี้

เหตุการณ์ที่เป็นฟางเส้นสุดท้าย คือ การบุกไปทลายโรงกลั่นไม้กฤษณา ที่อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี หลังจากซุ่มเฝ้ารออย่างเหน็ดเหนื่อย ในที่สุดก็จับกุมได้สำเร็จ แต่ปรากฏว่า ไม่นานผู้ต้องหาก็ได้รับการปล่อยตัว ในระหว่างนั่งล้อมวงกินข้าวเย็น นิคมจึงถามเหตุผลจากหัวหน้าชุดตรวจด้วยความคับข้องใจ

“หัวหน้าชุดบอกว่า ของที่เรากินกันอยู่นี่ก็เงินของเขาทั้งนั้น ผมสะอึกเลยนะ เพราะสมัยก่อนมันไม่มีระบบเบี้ยเลี้ยง มันอดๆ อยากๆ เขาถึงต้องทำแบบนี้”

คืนนั้น ระหว่างนั่งรถกระบะกลับบ้านพักบนเขาใหญ่ เขาเอนกายพิงหลังรถ แหงนหน้ามองดวงดาว พร้อมถามตัวเองว่า ในวัยใกล้เบญจเพส เขาจะทำอย่างไรดีกับอนาคตจากนี้

นิคมตั้งใจว่าจะลาออกเพื่อกลับไปเรียนต่อให้จบ แต่พอไปยื่นจดหมาย หัวหน้าก็รั้งตัวเขาไว้ โดยเสนอให้ย้าย ไปทำงานเผยแพร่ความรู้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวแทน เพราะเห็นว่าเจ้าหน้าพิทักษ์ป่าคนนี้ชอบศึกษาหาความรู้ ไปไหนก็มีหนังสือติดตัวอยู่เสมอ แถมยังพอมีพื้นฐานการถ่ายภาพ ฉายสไลด์ และความรู้เรื่องป่าไม้และสัตว์ป่าอยู่บ้าง ซึ่งน่าจะพัฒนาต่อไปได้

นั่นคือการหักเหเส้นทาง ที่ทำให้นิคมหันมาทำงานอนุรักษ์โดยใช้ไมโครโฟนและภาพถ่าย แทนที่จะเป็นกระบอกปืน

ภารกิจเพื่อผืนป่า

ภารกิจใหม่ที่ได้รับ ทำให้นิคมหัวใจพองโตทุกครั้ง เมื่อได้เห็นสีหน้าและแววตาของนักท่องเที่ยวที่รู้สึกร่วมไปกับเรื่องราวของผืนป่าและสัตว์ที่เขาบรรยาย

ทุกคืนวันเสาร์ เขาจะพูดให้ความรู้แก่ผู้มาเยือน ตั้งแต่ทำความรู้จักกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ไปจนถึงสัตว์ต่างๆ เช่น ช้าง เสือ เก้ง กวาง ด้วยความรักในธรรมชาติ และเคยทำงานในป่าเป็นทุนเดิม ทำให้เจ้าหน้าที่หนุ่มมักมีเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจมาถ่ายทอดอยู่เสมอ

“ด้วยความที่เราอยากรู้อยากเห็น เลยพยายามไปศึกษาแล้วเอามาเล่า อย่างบรรยายถึงช้าง ก็จะถามว่า รู้ไหมว่ารอยเท้าช้างบอกอะไรได้ ถ้าเรานำเส้นรอบวงของเท้าหน้าคูณด้วย 4 จะเท่ากับความสูงจากเท้าหน้าไปจนถึงหัวไหล่ของช้างตัวนั้น ซึ่งสามารถบอกได้ว่าเป็นช้างเล็ก ช้างโต หรือช้างวัยรุ่น คนฟังก็เฮ้ย คุณรู้ได้ยังไง ผมก็บอกว่าผมอ่านมา อันนี้เป็นความรู้ของคนอินเดีย

“เช่นเดียวกับอึช้าง สามารถบอกอายุได้ โดยดูประสิทธิภาพในการเคี้ยวและการย่อยสลาย หรือ ถ้าอยากรู้ว่าเป็นช้างตัวผู้หรือตัวเมีย แค่สังเกตว่า อึกับฉี่ช้างอยู่กองเดียวกันหรือไม่ ถ้าใช่แสดงว่าเป็นตัวเมีย แต่ถ้าอยู่ห่างกัน แสดงว่าเป็นตัวผู้ คนที่ฟังเราก็สนุก หัวหน้าก็บอกว่าทำได้ดี”

หลังจากทำงานอย่างมีความสุขได้ 2 ปี ก็มีเหตุให้นิคมต้องยื่นจดหมายลาออกอีกครั้ง เมื่อเขาไปร่วมคัดค้านโครงการตัดถนนขึ้นเขาใหญ่ผ่านทางจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งต้องทำลายพื้นที่ป่าเป็นบริเวณกว้าง จึงถูกหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เรียกไปตำหนิ

“ตอนนั้นผมคิดว่า เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย ผมจะลาออกแล้วจะกลับไปเรียนให้จบ เพราะที่ผ่านมา มันเดินทางลำบาก อย่าว่าแต่ไปเข้าเรียน บางครั้งติดภารกิจก็ไม่ได้ไปสอบ แต่หัวหน้าเขาก็ดีกับผมมาก เห็นว่าผมอยากเป็นนักข่าว ก็เลยขับรถพาเข้ากรุงเทพฯ แล้วยังไปฝากงานให้ที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ทำหน้าที่รายงานเฉพาะข่าวที่เกี่ยวกับป่าไม้และสัตว์ป่า”

ด้วยความที่นิคมไม่ใช่นักข่าวประจำที่รับเงินเดือน แต่เป็นนักข่าวในพื้นที่ ซึ่งจะได้รับเงินก็ต่อเมื่อรายงานข่าวเข้ามา ทำให้ภายหลังเมื่อผันตัวมาเป็นเอ็นจีโอที่มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์เขาก็ค่อยๆถอยออกมาจากงานข่าว

จุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจมาสมัครงานกับมูลนิธิฯ เพราะนิคมยังอยากทำงานอนุรักษ์อยู่ ตอนแรกเขานึกว่าคงไม่ได้งานนี้เสียแล้วเพราะทางมูลนิธินัดสัมภาษณ์แต่เช้า ทว่าเขาไปถึงตอนบ่ายเนื่องจากหลงทาง พิสิษฐ์ ณ พัทลุง ซึ่งเป็นเลขาธิการสมาคมในสมัยนั้นก็ยังให้โอกาส โดยเป็นคนสัมภาษณ์ด้วยตนเอง

ทั้งที่มาสาย แถมไม่มีวุฒิปริญญาตรี แต่สุดท้ายนิคมก็ได้งานสมความตั้งใจ เพราะคุณสมบัติของเขาตรงกับที่มองหา คือ ขับรถเป็น ถ่ายรูป ฉายสไลด์บรรยายได้ แถมมีประสบการณ์ในป่า เนื่องจากตอนนั้นมูลนิธิฯ กำลังจะมีโครงการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์รอบทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งพอดี จึงต้องการบุคลากรที่จะลงไปทำงานภาคสนาม ซึ่งเขาตอบโจทย์ทุกข้อ

แม้จะไม่ได้กลับมาเรียนจนจบตามแผนที่วางไว้ แต่ชีวิตที่เหมือนได้นับหนึ่งใหม่อีกครั้ง ก็พาให้นิคมก้าวไปสู่การทำงานเชิงอนุรักษ์อีกมากมาย

ภารกิจหลักๆ ของเขา คือ การเข้าไปสำรวจพื้นที่ป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่ทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง งานนี้ทำให้นักอนุรักษ์หนุ่มได้รู้จักกับสืบ นาคะเสถียร จนมีโอกาสไปช่วยทำงานสำรวจและเก็บข้อมูล เพื่อผลักดันให้พื้นที่ป่าทุ่งใหญ่และห้วยขาแข้งขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

นอกจากนั้นเขายังรับหน้าที่ไปบรรยายให้ความรู้เรื่องสัตว์ป่าและป่าไม้ให้กับชาวบ้าน เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์ แต่พอขับรถตระเวนไปตามหมู่บ้านต่างๆ ก็พบว่าชาวบ้านหลายกลุ่มมีความสัมพันธ์ต่อธรรมชาติในมิติที่ลึกซึ้ง และมีความรู้ดีกว่าเขาเสียอีก

ชาวบ้านกลุ่มแรกคือชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิม พวกเขาไม่ได้มองธรรมชาติเป็นเพียงวัตถุสิ่งของ แต่มองว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงปฏิบัติต่อป่าไม้ สายลม แผ่นดิน ด้วยความนบนอบ เคารพยำเกรงต่อธรรมชาติอยู่แล้ว

“ผมมารู้ตอนหลังว่ามันเรียกว่า Deep Ecology คืออยู่ในจิตวิญญาณ อย่างเช่น เขาเคารพในผืนแผ่นดิน เขาไม่กล้าจะใช้กระทั่งยาฆ่าหญ้า เพราะว่าพระแม่ธรณีอาจจะปรากฏออกมาในรูปของหนอนผีเสื้อ ไส้เดือน หรือกิ้งกือ มันลึกซึ้งกว่ากฎหมายเสียอีก”

ส่วนอีกกลุ่มคือคนที่เข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำกิน ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งกลุ่มนี้คือคนที่ทำลายธรรมชาติ แต่นิคมมองว่า ในการปลูกความรู้เชิงอนุรักษ์ให้คนกลุ่มนี้ ต้องไม่ใช่แค่การบอกว่าป่าไม้และสัตว์ป่ามีประโยชน์อย่างไร แต่ต้องมองไปถึงการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

“เป็นโจทย์ใหม่ที่ผมตั้งขึ้นมาเอง ตอนนั้นทางกรมป่าไม้ก็พยายามใช้กฎหมาย ใช้เขตอุทยาน ใช้เจ้าหน้าที่ ใช้ชุดปราบปรามอะไรต่างๆ ซึ่งผมมองว่ามันไม่มีความสุขด้วยกันทั้งสองฝ่าย เจ้าหน้าที่ก็เครียด ชาวบ้านก็เกลียดเจ้าหน้าที่ มันไม่มีผลดีอะไรเลย

“ถ้าเราไม่ส่งเสริมความรู้และช่วยให้เขาทำมาหากินอย่างถูกต้อง เขาก็จะลักลอบล่าสัตว์ตัดไม้มากขึ้น พูดง่ายๆ ว่าถ้าปากท้องของเขายังหิวอยู่ ต่อให้เราไปบอกว่าต้นไม้มีประโยชน์ สัตว์มีประโยชน์ ชาวบ้านก็จะถามว่ามันมีประโยชน์กว่าชีวิตพวกเขาหรือไม่ แต่ถ้าเราทำงานร่วมกับเขาในทางที่ถูกต้องได้แล้ว เขาเองก็จะเหมือนเกราะกำแพงหุ้มป่าเขาใหญ่ไว้ได้”

นอกจากการส่งเสริมให้ชาวบ้านอยู่ร่วมกับป่า นิคมยังมีบทบาทในการร่วมเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมอีกหลายโครงการ ตั้งแต่คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน คัดค้านเขื่อนเหวนรกที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ร่วมผลักดันร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน ตลอดจนเมื่อมีการยกเลิกสัมปทานป่าไม้ แล้วเริ่มมีการสร้างความเชื่อผิดๆ ให้คนหันมาปลูกยูคาลิปตัสทดแทนป่า นิคมก็ร่วมสนับสนุนนักวิชาการที่พยายามสื่อสารว่า ยูคาลิปตัสเป็นพืชเชิงเดี่ยว ไม่อาจทดแทนป่าที่ต้องมีความหลากหลายของพืชพันธ์ุและสัตว์ได้

จากทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ตอนหลังเขาอยากย้ายกลับมาอยู่ที่เขาใหญ่ จึงเขียนโครงการขอทุนมาปลูกป่าที่เขาแผงม้า อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เมื่อปี 2537 และได้เจอกับลุงโชค-โชคดี ปรโลกานนท์ ซึ่งมาช่วยกันปลูกป่าจนเปลี่ยนภูเขาหัวโล้นให้กลายเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ จนมีกระทิงอพยพกลับเข้ามาหากิน และออกลูกออกหลาน

หลังจากทำงานขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมอยู่หลายปี จนได้เลื่อนเป็นผู้จัดการฝ่ายโครงการของมูลนิธิฯ นิคมก็เริ่มคิดถึงบ้านเกิด เขาอยากกลับมาตั้งรกรากที่อำเภอเชียงดาว เพราะที่ผ่านมาพเนจรไปทั่วไม่เคยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง บวกกับได้ข่าวว่าดอยหลวงเชียงดาวกำลังถูกทำลาย จึงตัดสินใจยื่นใบลาออกเพื่อกลับบ้าน เมื่อปี 2541

แต่ทางมูลนิธิฯ ยื่นข้อเสนอว่า แทนที่จะลาออก ทำไมไม่ลองทำโครงการพัฒนาดอยหลวงเชียงดาว ภูเขาหินปูนสูงกว่า 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำปิง แม่น้ำสายหลักของเมืองเชียงใหม่ ก่อนจะไหลไปลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จึงกลายเป็นที่มาของโครงการจัดการลุ่มน้ำแม่ปิง ซึ่งนิคมได้ทุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมมาดำเนินการโครงการระยะสามปี เน้นการส่งเสริมให้ชาวบ้านรักษาป่าในรูปแบบป่าชุมชน และการจัดการทรัพยากรน้ำในรูปแบบเหมืองฝาย

แม้จะตั้งต้นจากเจตนาที่ดี แต่กลายเป็นว่าพอมาทำงานจริง ผลลัพธ์กลับไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ในช่วงที่เขานำชาวบ้านร่วมผลักดันร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน อาจไปขัดผลประโยชน์ของกลุ่มทุนเข้า จนมีผู้ใหญ่บ้านต้องจบชีวิตไปถึง 3 คน ทำให้นิคมรู้สึกแย่กับตนเองมาก

“ตอนนั้นผมเอาจริงเอาจัง พาชาวบ้านที่เชียงดาวไปชุมนุม ปรากฏว่าชาวบ้านกลับมาตายคนหนึ่ง แล้วระหว่างที่ต่อสู้ที่เชียงดาว ชาวบ้านของผมก็โดนยิงตายไปอีกสองคน ทำให้ผมได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรงเหมือนกันนะ เพราะภายในสองสามปี ผู้ใหญ่บ้านตายไปถึงสามคน”

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้นเอง เขายังต้องเผชิญหน้ากับมรสุมลูกใหญ่ เมื่อไปร่วมกับคณะทำงานที่มูลนิธิฯ เข้าชื่อกดดันให้ประธานมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืชในขณะนั้นลาออก ด้วยเหตุเรื่องความเหมาะสมบางประการ แต่สุดท้ายกลับเป็นเขาและพรรคพวกอีก 28 คนที่ต้องฝ่ายไปจากมูลนิธิฯ เสียเอง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2550

การถูกปลดฟ้าฝ่า ทำให้ชีวิตของนิคมต้องเคว้งคว้าง แม้จะได้เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานมาใช้หนี้และเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่จิตใจกลับทุกข์สาหัส อีกทั้งยังห่วงครอบครัวซึ่งลูกสองคนยังอยู่ในวัยเรียน โชคดีที่ภรรยารับราชการจึงยังพอมีรายได้จุนเจือครอบครัวอยู่บ้าง

“ผมเอาเงินชดเชยที่เหลือไปซื้อไร่ ซื้อสวน คิดว่าจะต้องกลับมาทำการเกษตร เป็นชาวไร่ชาวนา แต่พอทำไปมันไม่ตอบสนอง จะกินจะอยู่ก็ยากลำบาก ผมไม่มีรายได้อะไรเลย”

ช่วงนั้นนิคมพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อหาทางดับทุกข์ หันไปพึ่งเหล้ายา ปลีกวิเวกเข้าป่า หรือ แม้แต่ลองไปปฏิบัติธรรมหลายสำนักตามคำแนะนำของเพื่อน แต่ความทุกข์ในใจ ก็ไม่จางหายไปไหน

ตั้งหลักชีวิตใหม่

แม้ต้องเผชิญกับความสับสนของชีวิต แต่นิคมก็ยังโชคดีที่กัลยาณมิตรหลายคนพร้อมเข้ามาช่วยแนะนำและชี้ทางออกให้เสมอ หนึ่งในนั้น คือ พระอาจารย์ไพศาล วิศาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต

“ผมเคยทำงานกับท่านในโครงการพระสงฆ์อนุรักษ์ป่า เมื่อปี 2530 ท่านมาช่วยเป็นวิทยากร พูดคุยกับพระให้หันมาดูแลป่า ตอนที่พบกันอีกครั้ง ท่านก็ถามเราว่า เคยเห็นพัดลมไหม มันพัดให้คนอื่นเย็น แต่ตัวเองร้อนตลอด คุณก็เป็นอย่างนั้นแหละ แล้วมันอยู่ได้ไม่นาน สักวันก็ต้องหมดแรง หรือล้มหายตายจากไป เพราะหัวมันร้อนไง เพราะตอนนั้นเหมือนว่าเรากำลังอยู่ในช่วงวิกฤตวัยกลางคน”

ระหว่างนั้นพระอาจารย์ไพศาลก็พยายามหาวิธีช่วยเยียวยาสหายธรรม ตั้งแต่นำหนังสือและซีดีธรรมะมาให้ รวมถึงพาเข้าป่าเพื่อไปตกตะกอนความคิด ตลอดจนแนะนำให้ไปปฏิบัติธรรมตามสำนักต่างๆ อาทิ สำนักของท่านอาจารย์โกเอ็นก้า ซึ่งเขาไปฝึกอยู่ 10 วันไม่พูดคุยกับใครเลย จนกระทั่งได้ยินเสียงภายในจิตใจชัดเจนขึ้น และเริ่มหันมาสนใจการภาวนาอย่างจริงจัง

ระหว่างนั้นเอง นิคมได้อ่านหนังสือเดินสู่อิสรภาพ ของประมวล เพ็งจันทร์ กับหนังสือนักเดินเท้าแปดพันไมล์ ของสาทิศ กุมาร ทำให้เขาหวนคิดถึงความฝันหนึ่งที่ยังไม่เริ่มทำสักที นั่นคือ เดินเท้าจากต้นแม่น้ำปิงไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จนจรดปากอ่าวไทย

“ตอนอ่านหนังสือ ก็เป็นช่วงเดียวกับที่ผมไปสมัครเรียนที่ศูนย์จิตตปัญญาศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหิดลพอดี เป็นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงภายใน แล้วก็มีโอกาสได้เจออาจารย์ประมวล ไปขอคำแนะนำว่า ถ้าเกิดผมจะเดินแบบนี้ อาจารย์มีคำแนะนำไหม อาจารย์บอกไม่รู้จะแนะนำยังไง แกก็เลยชวนไปเดินในโครงการเดินสันติปัตตานีของอาจารย์โคทม อารียา

“ใช้เวลาเดินอยู่ 2 เดือนกว่า เป็นการเดินทางไกลครั้งแรกที่ไกลที่สุด แล้วก็มีค่าที่สุด เพราะได้เห็นของจริง ทั้งวิถีชีวิตมุสลิม ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการต่างๆ เห็นขอบน้ำ ขอบฟ้า แล้วเวลาเขาถือศีลอด เราก็ถือด้วย มันทำให้เราเห็นอะไรมากมาย แม้แต่ความกลัว ความหลุดพ้นอะไรบางอย่างของตัวเอง เพราะอาจารย์ประมวลจะบอกอยู่ตลอดว่า เดินข้างนอกก็ให้เห็นข้างในด้วย จากเริ่มต้นด้วยจิตใจที่ตึงเครียดเลยนะ เราเริ่มหลุดพ้นข้อวิตกกังวล ความกลัว ความสั่นไหว และรู้สึกมั่นคงข้างในมากขึ้น”

การเดินทางครั้งนั้น กลายจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตของนิคม เขาได้สัมผัสกับความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างตัวเองกับคนรอบข้าง พร้อมกับปรับมุมมองที่มีต่อคนอื่น จากเดิมสมัยที่ทำงานอนุรักษ์ เขามักคิดว่าคนที่ไม่เห็นด้วยกับตัวเองเป็นศัตรู แต่เวลานี้เขามองเห็นทุกคนเป็นพี่เป็นน้อง เป็นเพื่อนมนุษย์ ที่ควรเรียนรู้และมีน้ำใจต่อกัน เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

เมื่อก่อนเราต้องการเอาชนะ ใครไม่เห็นด้วยไม่ใช่พวก หรือมากกว่านั้นก็เป็นศัตรูไปเลย แต่พอเดินไปแล้ว เราก็เท่าๆ กันกับเม็ดหิน เม็ดทราย เหมือนคนมุสลิมที่ยากจน ต้องออกไปหาปลาแต่เช้า เห็นชีวิต และเข้าใจว่าถ้าเราเปิดรับสิ่งเหล่านี้เข้ามาในใจ เราจะหลุดพ้นจากความหลงผิด

จุดนั้นเองที่เขารู้สึกว่า ตัวเองพร้อมแล้วที่จะเดินตามทางที่ตั้งใจไว้

เดือนพฤศจิกายน 2553 นิคมเริ่มต้นกิจกรรม ธรรมยาตรา ศรัทธาแห่งสายน้ำ

เขาเดินจากต้นน้ำแม่ปิง บริเวณบ้านเมืองนะเหนือ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นก็เดินมาเรื่อยๆ ผ่าน 15 จังหวัด โดยวางจุดหมายปลายทางอยู่ที่อ่าวไทย ระยะทางรวม 1,200 กิโลเมตร

แรกเริ่มนิคมตั้งใจจะเดินคนเดียว แต่หลังประกาศความตั้งใจ ปรากฏว่ามีผู้คนกว่า 40-50 ชีวิต ตัดสินใจแบกเป้มาร่วมเดินทางด้วย โดยการเดินครั้งนี้ไม่ใช่เดินไปเรื่อยๆ แต่ยังมีเป้าหมายในการชักชวนทุกคนให้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านที่ผูกพันกับสายน้ำมายาวนาน

ทุกย่างก้าวที่พวกเขาเดิน มีเรื่องราวมากมายให้ศึกษาเรียนรู้ ทั้งวิถีชีวิต และสภาพปัญหาที่รอคอยการแก้ไข โดยทุกคืนที่เดินเสร็จ สมาชิกก็จะมาล้อมวงพูดคุยถึงความเปลี่ยนแปลงภายในใจ รวมถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับผู้คนและสายน้ำ

“เวลาที่เราเดิน เราก็จะเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เช่นขุดน้ำ ขุดทรายตรงนี้ ทำให้ทิศทางน้ำเปลี่ยน น้ำเซาะตลิ่งพัง หรือสูญเสียระบบนิเวศ เพราะตามหลักแม่น้ำจะต้องมีต้นไม้สองฟากฝั่ง มีแสงแดดสาดส่อง แล้วตามนิสัยของผม เวลาเดินแล้วเห็นอะไรก็จะพูด เลยทำให้คนที่เดินด้วยได้รับรู้เรื่องราวต่างๆ”

อย่างช่วงที่ผ่านเมืองเชียงใหม่นั้นตรงกับเทศกาลลอยกระทงพอดี คณะธรรมยาตราจึงได้เห็นว่า กระทงเหล่านี้ทำร้ายแม่น้ำรุนแรงเพียงใด ภายหลังนิคมจึงเป็นตัวตั้งตัวตีทำโครงการบูชาแม่น้ำ ชักชวนผู้คนมาช่วยกันทำความสะอาดแม่น้ำลำคลอง หรือบางทีก็เห็นการระเบิดภูเขาเพื่อมาถมแม่น้ำ บางแห่งสร้างพนังปูนยาวตลอดสายถนน เพราะไม่อยากให้น้ำทะลักเข้ามาท่วม

“อย่างเขื่อนภูมิพลก็เหมือนกัน ความจริงไม่มีน้ำ น้ำที่เราเห็นคือปล่อยออกมาไม่ได้ ต้องรักษาไว้ เพราะ 50 กว่าปีไม่เคยมีการขุดตะกอนออกเลย ตอนนี้ขยะเต็มไปหมด แล้วยิ่งหน้าแล้งน้ำก็น้อย ซึ่งสิ่งเหล่านี้คนไม่รู้ แล้วผู้คนก็ปฏิบัติต่อแม่น้ำแบบไม่เข้าใจ ไม่เห็นอกเห็นใจบ้างเลย

“ยิ่งแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าแล้งน่าสงสารมาก ตอนมาถึงปทุมธานี ผมเห็นเขาสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าคลองประปา ติดตั้งเครื่องสูบขนาดใหญ่เลย ก็เลยถามเจ้าหน้าที่ว่าทำไมต้องสูบ เขาบอกว่าเมื่อก่อนน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามันสูงกว่าปากคลอง แค่เปิดประตูน้ำก็เข้ามาแล้ว แต่ตอนนี้ระดับน้ำมันต่ำกว่า ก็เลยต้องใช้เครื่องสูบขึ้น แล้วเวลาสูบก็ต้องเลือกเวลา ไม่ให้น้ำทะเลมันทะลัก”

นิคมใช้เวลาเดินเท้านาน 4 เดือนเต็ม จึงเดินทางมาถึงป้อมพระจุลจอมเกล้า ปลายทางของแม่น้ำเจ้าพระยา ภารกิจนี้นอกจากจะเห็นจิตใจของตัวเองชัดเจนขึ้น นักอนุรักษ์รุ่นใหญ่ยังพบว่า สถานการณ์ของสายน้ำในเมืองไทยอยู่ในขั้นวิกฤตแล้ว เพียงแต่คนส่วนใหญ่กลับไม่ทราบข้อมูลเหล่านี้เท่าที่ควร

เขาจึงอยากนำเรื่องราวเหล่านี้มาถ่ายทอด ด้วยหวังเป็นเสียงหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นเตือนให้ผู้คนหันกลับมาเคารพสายน้ำมากขึ้น เพราะทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ล้วนเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน

ชีวิตคนเราก็เหมือนกับสายน้ำ จุดเริ่มต้นหรือสิ้นสุดอาจไม่สำคัญเท่ากับว่า ระหว่างทางสายน้ำนั้นได้หล่อเลี้ยงผู้คนมากแค่ไหน..ในแต่ละวันผมจึงพยายามทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิต ต่อสรรพสัตว์ต่างๆ

นิคม พุทธา : นักอนุรักษ์ป่า จากเขาใหญ่สู่ดอยหลวงเชียงดาว

สร้างความยั่งยืนให้บ้านเกิด

เมื่อค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างชีวิตกับธรรมชาติ ทำให้นิคมจินตนาการถึงแนวทางการอนุรักษ์ที่เป็นรูปธรรม เขาจึงเลือกใช้ ‘กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำแม่ปิง’ ที่เคยตั้งขึ้นระหว่างผลักดันเรื่องป่าชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อน

ขณะเดียวกันก็เริ่มบุกเบิก ‘ค่ายเยาวชนเชียงดาว’ โดยแบ่งสวนมะม่วงในบ้านของตัวเองเป็นพื้นที่ตั้งค่าย มุ่งจัดกิจกรรมกับคนรุ่นใหม่ เพื่อให้ทุกคนเห็นความมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติสรรสร้างขึ้น

“ตอนได้เงินชดเชยจากมูลนิธิฯ ผมนำมาซื้อที่ดินประมาณ 20 ไร่ อยู่ติดดอยหลวงเชียงดาว เห็นวิวสวยงาม มีสายน้ำบริสุทธิ์ ผมก็เก็บมะม่วงขาย ครั้งหนึ่งได้ห้าพันกว่าบาท ก็เลยคิดว่าไม่ใช่แนว จึงนึกถึงช่วงที่อยู่เขาใหญ่ มันมีค่ายเยาวชนอยู่ แล้วถ้าเด็กต้องการเรียนรู้ธรรมชาติ ก็สามารถมาแคมปิ้ง ผมก็จะพาเด็กๆ เดินป่า แล้วก็อธิบายความเป็นมาของป่าและต้นไม้แต่ละชนิด ก็เลยนำประสบการณ์ตรงนั้นมาทำ”

จุดเด่นของค่ายเยาวชนแห่งนี้คือ การหยิบความโดดเด่นของพื้นที่ดอยหลวงเชียงดาวมาบอกเล่า เพราะที่นี่เป็นเทือกเขาหินปูนที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 2,000 เมตรเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย จึงมีระบบนิเวศเฉพาะถิ่น มีพันธุ์ไม้หายากจำนวนมาก บางชนิดมีเพียงแห่งเดียวในโลก และเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำปิง ทุกคนที่มาเข้าค่ายจะได้ทำกิจกรรมหลักๆ คือล้อมวงพูดคุยเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ และออกไปเดินป่า

“การเดินป่าของเรานั้นเน้นให้เกิดการรับรู้และสัมผัส เช่นปกติตาของเรามองได้แค่นี้ แต่พอไปอยู่ในป่าก็อาจจะดูได้ 180 องศา คือปกติถ้าเราใช้ตานอก เราจะเห็นต้นไม้เป็นต้นไม้ เห็นกิ่ง เห็นใบ แต่ถ้าลองใช้ตาใน เราจะเห็นองค์ประกอบที่มากกว่านั้นคือ มีราก มีท่อลำเลียง เห็นบทบาทและหน้าที่ของต้นไม้ อย่างเรือนยอดของต้นไม้นั้นช่วยรับแรงกระแทกของเม็ดฝน ให้น้ำไหลตามกิ่งก้านสาขา เป็นความอ่อนโยน ที่ลึกลงไปในดิน ใบไม้ที่ร่วงลงบนดิน ทำหน้าที่เป็นที่อยู่อาศัยของแบคทีเรีย ช่วยย่อยสลายสิ่งต่างๆ

หูของเราก็เหมือนกัน เราจะได้ยินเสียงที่เบาที่สุด ทั้งเสียงนก เสียงสายน้ำไหล เสียงผีเสื้อกระพือปีก แล้วพอฟังลึกขึ้น จิตใจเขาก็จะสงบ และสามารถรับการสื่อสารจากธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

จากห้องเรียนที่ใช้ธรรมชาติเป็นเครื่องมือ ทำให้มีนักเรียน นักศึกษา และคนวัยทำงานที่ต้องการใกล้ชิดธรรมชาติ เดินทางมาร่วมทำกิจกรรมที่นี่นับร้อยชีวิต

ไม่เพียงแค่นั้น นิคมยังขยายบทบาทของตัวเองด้วยการลงไปทำงานเชิงลึก โดยเฉพาะเรื่องไฟป่า ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงต้นปี เขารับหน้าที่เป็นโต้โผคอยดูแลตั้งแต่นำชาวบ้านไปสร้างแนวกันไฟ จัดอบรม ระดมทุนซื้ออุปกรณ์ทำแนวกันไฟ ข้าวปลาอาหาร เสื้อผ้าสำหรับดับไฟ ไปจนถึงเป็นอาสาดับเพลิง

“ชาวบ้านต้องเป็นกองทัพหน้า โดยไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่ แน่นอนว่าเราอาจจะไม่มีงบประมาณอะไรมากมาย แต่เรามีความคิด มีความรู้ มีข้อเสนอในการพูดคุย เพื่อให้เกิดการพัฒนามุมมองและความคิด เช่นเมื่อก่อนหลายคนเอาที่ฉีดน้ำไปดับไฟ เอาที่ตบไฟไปตีไฟตุ๊บๆ ตอนหลังเราเรียนรู้ว่าไม่ควรทำ เพราะการเผชิญหน้ากับไฟมันเสี่ยง มีคนบาดเจ็บและล้มตายเยอะ โดยเฉพาะช่วงบ่ายลมแรง เราต้องถอยออกมา ต้องอ่านไฟให้เป็นว่าจะไปทิศทางไหน แล้วก็ทำแนวสกัดไว้

“คือเราแตกต่างจากระบบราชการตรงที่เรามีการเรียนรู้ มีการสังเคราะห์ มีการวิเคราะห์ และมีการสรุปบทเรียน ถ้าเป็นทางราชการมักจะสั่งอย่างเดียว เขามีงบประมาณ ก็จะเน้นไปที่วัสดุอุปกรณ์ และไม่ได้มีการสรุปบทเรียนร่วมกันกับชาวบ้านเพื่อให้เกิดความยั่งยืน”

นอกจากนี้ นิคมยังเป็นแกนหลักในการเพาะพันธุ์ไม้ที่สอดคล้องกับวิถีของป่า ซึ่งพันธุ์ไม้หลายอย่าง หน่วยงานราชการไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก เช่น มะกอกป่า มะไฟป่า หว้า มะขามป้อม สมอพิเภก เพื่อให้ไม้เหล่านี้คอยช่วยเติมเต็มระบบนิเวศให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

วิธีปลูกของเราคือ ปลูกเสริม ปลูกซ่อม โดยทุกเดือนมิถุนายนสิงหาคม เราจะมีอาสาสมัครมาช่วยกันปลูกต้นไม้ตามป่าชุมชนบ้าง ป่าธรรมชาติบ้าง ซึ่งเรามักจะเน้นกลุ่มครอบครัว เพราะอยากให้เด็กได้เรียนรู้ พอปลูกเสร็จเราก็ชวนเดินป่ากันต่อเลย

ด้วยแนวคิดที่เชื่อมโยงธรรมชาติแบบทุกมิติเช่นนี้ ทำให้นิคมมีกิจกรรมทำตลอดทั้งปี คือฤดูแล้งทำแนวกันไฟ ฤดูฝนปลูกป่า พอถึงฤดูหนาวก็พาทุกคนออกไปเดินป่าสัมผัสธรรมชาติ เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกว่าทำไมใครหลายคนจึงยกให้ผู้ชายคนนี้เป็นต้นแบบที่อยากเจริญรอยตาม

และในอนาคต นิคมยังมุ่งมั่นที่จะทำงานอนุรักษ์ต่อไป เพื่อบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ในใจคน ให้รู้จักเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติอย่างเกื้อกูล

“ชีวิตคนเราก็เหมือนกับสายน้ำ จุดเริ่มต้นหรือสิ้นสุดอาจไม่สำคัญเท่ากับว่า ระหว่างทางสายน้ำนั้นได้หล่อเลี้ยงผู้คนมากแค่ไหน เพราะฉะนั้นผมก็ไม่ห่วงว่า ผมเติบโต ถือกำเนิดมายังไง แล้วจะสิ้นสุดที่ไหน ในแต่ละวันผมจึงพยายามทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิต ต่อสรรพสัตว์ต่างๆ

“คนเราควรจะเรียนรู้จากใบไม้ ว่าเราได้ทำประโยชน์เหมือนกับใบไม้หรือยัง ผมตั้งใจว่า เมื่อถึงวันที่จากโลกนี้ไป ผมตั้งใจมอบร่างให้กับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ใช้เป็นวิทยาทาน เมื่อเสร็จภารกิจก็ให้นำร่างมาฝังลงในดิน เพื่อเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้ต่อไป”

และทั้งหมดนี้คือ เรื่องราวของนักอนุรักษ์หัวใจแกร่งที่ขออุทิศตัวเองเพื่อผืนป่าและสายน้ำตราบลมหายใจสุดท้าย

โครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก

คนเล็กเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 30 บุคคลผู้สร้างสังคมที่ยั่งยืน และช่วยกันสร้างคุณค่าสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นประเทศ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

นิคม พุทธา คือบุคคลต้นแบบประเด็นสร้างหลักประกันให้มีน้ำใช้ มีการบริหารจัดการน้ำ และการสุขาภิบาลอย่างยั่งยืนสำหรับทุกคน (SDGs ข้อที่ 6), ประเด็นดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ (SDGs ข้อที่ 13), ประเด็นปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ระบบนิเวศบนบกและการจัดการป่าอย่างยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 15) และประเด็นเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลไกการดำเนินงาน และฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 17)

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.