ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ : นักวิทยาศาสตร์ผู้อยากบอกคนทั้งโลกให้รักทะเล

<< แชร์บทความนี้

ไม่ว่าจะมีประเด็นที่เป็นข่าวดีหรือข่าวร้ายเกี่ยวกับทะเลไทย มักมีชื่อของ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ ในฐานะหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลคนสำคัญคนหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งทำงานขับเคลื่อนแนวคิดอนุรักษ์ท้องทะเลมากว่า 30 ปี

อาจารย์ธรณ์สนใจโลกใต้สมุทรมาตั้งแต่เด็ก เพราะมีโอกาสติดตาม ดร.เถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ คุณพ่อ ซึ่งเป็นอดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปเปิดอุทยานแห่งชาติทางทะเลอยู่บ่อยครั้ง จึงตั้งปณิธานกับตัวเองว่า อยากจะทำงานด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน โดยสอดคล้องไปกับการพัฒนาด้วย

เขาเลือกเรียนต่อด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล และมีโอกาสช่วยงาน ผศ.ดร.สุรพล สุดารา นักสิ่งแวดล้อมคนสำคัญของประเทศ ทำงานวิจัยสำรวจแนวปะการัง ค่อยๆ เรียนรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงทางทะเล จนตอนหลังได้ลัดฟ้าไปเรียนต่อปริญญาเอกด้านนี้โดยตรงที่ออสเตรเลีย ก่อนจะกลับมาทำงานเป็นนักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ตลอดเส้นทางการขับเคลื่อนเรื่องทรัพยากรทางทะเลมายาวนานกว่า 30 ปี อาจารย์ธรณ์มีส่วนช่วยให้เกิดกระแสอนุรักษ์ ทั้งการฟื้นฟูอ่าวมาหยา เกาะตาชัย และอยู่เบื้องหลังการบรรจุชื่อสัตว์ทะเลหายาก 4 ชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวน รวมทั้งร่วมผลักดันทะเลอันดามันให้เป็นมรดกโลก 

นอกจากนี้ ยังมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนอีกมากมายหันมาใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อม ผ่านหนังสือเกี่ยวกับทะเลกว่า 20 เล่ม โดยเฉพาะ ‘ใต้ทะเลมีความรัก’ สารคดีชีวิตสัตว์ใต้สมุทรที่ทำให้ใครหลายคนต้องเสียน้ำตา ตลอดจนบทความต่างๆ รวมถึง Facebook ส่วนตัวที่ปัจจุบันมีผู้ติดตามหลักแสน โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ อยากให้คนไทยรักทะเลให้มากขึ้น 

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอพาทุกคนมาเรียนรู้ความคิดและความตั้งใจของ 1 ใน 30 บุคคลจากโครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก ผู้เป็นทั้งอาจารย์ และนักสื่อสารเพื่อทะเล ที่พร้อมทำทุกอย่างเพื่อชวนคนไทยหันมารักและปกป้องท้องทะเลไปด้วยกัน

ใต้ทะเลมีความรัก

ถึงจะเกิดและเติบโตในกรุงเทพฯ แต่ความรักที่มีต่อท้องทะเลของอาจารย์ธรณ์ไม่เป็นสองรองใคร เพราะตั้งแต่แรกพบจนถึงวันนี้ เขายังคงรักทะเลไม่เคยเปลี่ยนแปลง 

“ผมผูกพันกับทะเลมาตั้งแต่เด็ก เคยอ่านเจอในบันทึกคุณพ่อว่า ผมไปทะเลตั้งแต่อายุ 6 เดือน หลังจากนั้นทุกปิดเทอม ก็จะไปอยู่บ้านพักที่หัวหินเป็นเดือนๆ อายุแค่ 6 ขวบ ผมก็เริ่มดำน้ำตื้น (สนอร์เคิล) ดูปะการังที่เกาะเต่า จำได้ว่า ไปเจอปลาการ์ตูนกับดอกไม้ทะเล

“เราไปเฝ้าดูแล้วก็เริ่มสงสัย เฮ้ย! ทำไมถึงมีแต่ปลาการ์ตูนมาอยู่กับดอกไม้ทะเล แล้วมันรู้ได้อย่างไรว่า มันอยู่กับดอกไม้ทะเลได้ ขณะที่ดอกไม้ทะเลมีเข็มพิษ ทำไมมันถึงไม่เป็นอะไร มันเป็นเหมือนจุดติดใจสำคัญว่า ว่าขนาดปลาการ์ตูนยังมีเรื่องให้อยากรู้ตั้งเยอะแยะ แล้วถ้าทั้งทะเลอันมหึมามโหฬาร มันจะมีเรื่องอะไรแอบซ่อนอยู่อีกมากมายแค่ไหน”

พอโตขึ้นมาหน่อย อาจารย์ธรณ์ก็เริ่มติดตามคุณพ่อ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้บริหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปทำงาน มีโอกาสได้ไปตั้งแต่ป่าไม้บนดอยภาคเหนือจรดใต้สมุทร อย่างเกาะตะรุเตา หมู่เกาะสิมิลัน หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะพีพี และอีกหลายแห่ง เด็กหนุ่มเคยไปเหยียบตั้งแต่ก่อนเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลด้วยซ้ำ  

เรียกได้ว่าชีวิตในวัยเด็กของอาจารย์ธรณ์ มีผืนป่าและท้องทะเลเป็นเหมือนสนามเด็กเล่น การใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติเป็นแรมเดือน ทำให้เขาค่อยๆ หลงรักธรรมชาติมากขึ้นจนอยากจะทำงานด้านนี้อย่างจริงจัง 

“ผมรู้ตัวตั้งแต่เรียนอยู่ประมาณ ม.3 แล้วว่า อยากจะทำงานเกี่ยวกับธรรมชาติ ถ้าไม่ทะเล ก็ป่า ดังนั้นต่อให้เพื่อนๆ ส่วนใหญ่ จะเลือกเรียนหมอ เรียนวิศวะ แต่ผมเป็นคนเดียวในรุ่นก็ว่าได้ ที่เลือกมาสายนี้ ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องดี เพราะคู่แข่งน้อย ไม่ต้องทำงานหนัก”  

แต่ที่เขาตัดสินใจเลือกทะเล ทั้งที่จริงๆ ก็ชอบทั้งสองอย่าง เพราะคิดว่าตนเองคงไม่ถนัด หากต้องไปทำงานในป่าในดงที่บางครั้งอากาศก็ร้อน บางครั้งต้องอดทนนั่งซุ่มรอสัตว์ป่าเป็นสิบๆ ชั่วโมง ผิดกับงานในทะเล เพียงแค่กระโดดลงไปในน้ำ ปลาก็ว่ายมาหา 

อีกเหตุผลคือ ทะเลมีหลายมิติ ทั้งเรื่องของการประมงและการท่องเที่ยว แต่คนที่มาทำงานด้านนี้จริงจังในยุคนั้นกลับยังไม่ค่อยมี ทำให้โอกาสในการทำงานด้านนี้น่าจะเปิดกว้างมากกว่า

พอมีเข็มทิศชีวิตที่แน่วแน่แล้ว อาจารย์ธรณ์จึงเลือกสอบเข้าคณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทำคะแนนรวมติด 1 ใน 5 อันดับแรกของคณะ

ด้วยคะแนนสอบที่สูงลิบ หลายคนคงคิดว่าเขาคงเป็นเด็กเนิร์ด ขยันเรียน ตั้งใจอ่านหนังสือ แต่ความจริงแล้วคือหนังคนละม้วน เพราะเขามักโดดเรียนไปเล่นสนุกกับเพื่อนฝูง ผลการเรียนไม่ได้จัดว่าดี แต่ที่สอบได้เพราะอาศัยแรงฮึดช่วงโค้งสุดท้าย บวกกับการที่มีข้อตกลงกับคุณพ่อว่าถ้าสอบติด 1 ใน 5 ของคณะจะได้รับรถคันเก่าของคุณแม่มาใช้ แต่ถ้าสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ จะถูกส่งไปเรียนเมืองนอก ซึ่งแค่คิด เขาก็สยองแล้ว เนื่องจากเคยมีประสบการณ์ที่ฝังใจจากการไปฝึกงานต่างแดน

ผมไปสหรัฐอเมริกาครั้งแรก พอเครื่องลงที่ L.A. ก็มีฝรั่งแต่งตัวแบบคาวบอยมารับ พาขึ้นเครื่องบินเล็กไปลงที่นิวเม็กซิโก ไปใช้ชีวิตอยู่ในฟาร์ม 3 เดือนเจอแต่วัว หรืออย่างตอนไปฮาวาย ได้เห็นหาด Waikiki ที่โด่งดังแค่ครั้งเดียว ที่เหลือไปอยู่ในฟาร์ม ตอนเช้าไปฆ่าวัว เอาเลือดมาผสมกับสาหร่ายเพื่อเป็นอาหารกุ้งก้ามกราม เพราะฉะนั้น ผมสังหรณ์ว่าจะถูกคุณพ่อส่งไปอีกแน่ๆ เลยยอมตายดีกว่าไปเมืองนอก

ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของอาจารย์ธรณ์ถือว่าเป็นช่วงเวลาเปิดโลก เพราะเหนือกว่าความรู้ คือ ‘โอกาส’ ที่ได้รับจาก ผศ.ดร.สุรพล สุดารา ซึ่งเป็นนักอนุรักษ์และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมของไทยที่มีบทบาทมากในตอนนั้น 

“ผมมั่นใจตั้งแต่เรียนอยู่ปี 2 แล้วว่า ชีวิตนี้ผมไม่มีทางไปทำงานสายอื่น ให้ตายผมก็จะทำงานด้านทะเลแน่นอน ดังนั้น สิ่งที่นิสิตอย่างผมต้องการมากที่สุดในเวลานั้น ไม่ใช่การเรียนแคลคูลัส แต่อยากพัฒนาตนเองให้เก่งกว่าเดิม เพื่อที่จะได้ช่วยทะเลได้มากกว่าเดิม จึงใช้เวลาอยู่ในทะเลมากกว่าห้องเรียน”

เขาเป็นประธานค่ายอนุรักษ์ทะเลควบคู่ไปกับการช่วยอาจารย์สุรพลทำงานวิจัยของหน่วยวิจัยปะการังและหญ้าทะเล โดยในปีหนึ่งเขาต้องลงพื้นที่อยู่ทะเลเป็นร้อยวัน ไปสำรวจปะการังทั่วประเทศ ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้เยอะมาก เพียงแต่ต้องแลกกับการเรียนที่นานกว่าเพื่อนร่วมรุ่นไป 1 ปี 

นอกจากงานวิจัยและงานสำรวจปะการังแล้ว อาจารย์ธรณ์ยังได้รับมอบหมายให้เป็นคนจัดนิทรรศการปะการังครั้งแรกของประเทศไทย

“ย้อนไปปี 2529 ผมเป็นคนแรกที่ไปจัดนิทรรศการเกี่ยวกับปะการังที่เกาะสมุย เพื่อให้ความรู้ชาวบ้านว่า ‘ปะการังไม่ใช่หิน’ ดังนั้น จะทิ้งสมอลงไปโดนหรือไปเหยียบไม่ได้ ตอนนั้นยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องปะการังฟอกขาวนะ เพราะแค่ประเด็นนี้ก็ใช้เวลาทำความเข้าใจอยู่หลายปีแล้ว”

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะเปลี่ยนความเชื่อของคนให้หันมาเห็นถึงความสำคัญของธรรมชาติ ที่ไม่มีปากไม่มีเสียงร้องขอความช่วยเหลือ อาจารย์ธรณ์ต้องเอาความตั้งใจและสม่ำเสมอเข้าแลก ถ้าเปรียบเทียบก็ไม่ต่างจากการจีบสาว

“สมมติคุณไปสารภาพว่าชอบผู้หญิงคนหนึ่ง แล้วอีก 1 ชั่วโมงคุณหายไป คุณคิดว่าจะมีสาวคนไหนรับรักคุณบ้าง แต่ถ้าเกิดคุณคอยเทียวไปเทียวมา คุยไปเรื่อยๆ จากอาทิตย์กลายเป็นเดือน อย่างน้อยก็คงมีสาวๆ 2 ใน 10 คน ที่อาจจะหลงรักคุณ ก็เหมือนกับการชวนคนมารักทะเล ถ้าคุณให้ความรู้เสร็จแล้วหายไปภายใน 1 ชั่วโมง ชาวบ้านก็คงไม่ทำตามหรอก แต่ผมอยู่เกาะสมุย คลุกคลีกับชาวบ้าน ปีหนึ่ง 70 วัน อย่างน้อยที่สุดถึงเขาจะยังไม่เปลี่ยน แต่พอมีคนชี้ให้ดู เขาก็เริ่มเห็น เริ่มเข้าใจว่า ปะการังไม่ใช่หิน เริ่มรู้ว่าปลาที่เราจับกันอยู่ มันเกี่ยวข้องกับปะการัง”

หลังจากเรียนจบปริญญาตรี อาจารย์ธรณ์เลือกเรียนต่อปริญญาโทในสาขาวิชาเดิมอีก 3 ปี ก่อนจะไปเรียนต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเจมส์ คุก ประเทศออสเตรเลีย 

“อาจารย์สุรพลท่านไม่เคยสอน แต่ให้โอกาสผมได้ทำหลายอย่าง ซึ่งอาจารย์เป็นคนดูคนเก่ง อย่างผมเองอาจารย์คงจะเห็นว่า ชอบเขียน ชอบพูด อนาคตคงได้ไปอยู่ตามพวกที่ประชุมต่างๆ เลยให้ผมติดตามไปทำงานประเภทสื่อสาร งานประชุม รวมไปถึงงานใหม่ๆ อย่างการสำรวจและติดตามแนวปะการังด้วยวิธีการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing), การใช้เครื่องมือดาวเทียมสำรวจแนวปะการังแหล่งหญ้าทะเล รวมถึงการใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) สำรวจปะการัง ก็จะมอบหมายให้ผมทำหมด”

อาจารย์ธรณ์ใช้เวลาร่วมสิบปีศึกษาเกี่ยวกับแนวปะการังในหลากหลายมิติ มีผลงานวิจัยอยู่ในวารสารงานวิจัยนานาชาติมากมาย หลังจากเรียนจบจึงกลับมาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

เหตุผลที่ตัดสินใจเช่นนั้น เพราะอาจารย์ธรณ์เชื่อว่าทะเลไทยยังมีความท้าทายอีกมากให้จัดการ ชนิดที่ว่าหากใครอยากเป็นนักอนุรักษ์ ประเทศไทยคือ ประเทศที่ควรจะมาอยู่มากที่สุด

นักอนุรักษ์ที่ใช้พลังของการสื่อสาร

อีกหนึ่งความฝันในวัยเด็กของอาจารย์ธรณ์คือการเป็นนักเขียน

เขาชอบอ่านหนังสือทุกประเภท ตั้งแต่นิยาย ความรู้ ไปจนถึงแนวปลุกใจเสือป่า เมื่อชอบอ่านก็เลยชอบเขียนด้วย ตอน ม.3-4 ก็เริ่มส่งเรื่องไปตามนิตยสาร กระทั่งช่วงใกล้ๆ เรียนจบปริญญาตรี จึงมีผลงานที่ได้ตีพิมพ์ ซึ่งเขาจำได้ว่าไปยืนเฝ้ารอที่ร้านหนังสือ 3 ชั่วโมง เพื่อจะเอานิตยสารเล่มนั้นกลับมา ด้วยความรู้สึกดีใจพอๆ กับการได้รับปริญญา

เพราะฉะนั้นเมื่อรู้สึกว่า ทะเลไทยยังมีปัญหาอีกมากมาย แทนที่จะนั่งทำงานวิจัยที่สุดท้ายแล้วอาจถูกทิ้งไว้บนหิ้ง ไม่มีใครอ่าน ก็ควรใช้ทักษะการเขียนและการสื่อสารมาช่วยนำเสนอข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับทะเลไปสู่วงกว้างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

“การติดตามคุณพ่อไปทำงาน เหมือนผมได้ฝึกงานล่วงหน้ามาตั้งแต่เด็ก เพราะฉะนั้นผมทราบอยู่แล้วว่าการทำงานที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติเป็นอย่างไร ผมเห็นอยู่แล้วว่าจุดที่ทำให้ขาดการเชื่อมต่อมาจากการสื่อสาร ลำพังแค่ผมรู้ว่าทะเลสวย รู้ว่าทะเลกำลังถูกทำลายล้างมันไม่พอหรอก แต่ต้องให้คนอื่นรู้ด้วย เพื่อให้ช่วยกันหยุดการทำลายล้างที่ไม่อยากเห็นลง” 

อาจารย์ธรณ์เป็นคอลัมนิสต์ให้หนังสือพิมพ์หลายฉบับ ทำรายการทีวี รายการวิทยุ เปิดเว็บไซต์ทะเลไทยดอทคอม เขียนหนังสือเกี่ยวกับทะเลกว่า 20 เล่ม หนึ่งในนั้นคือ ‘ใต้ทะเลมีความรัก’ สารคดีกึ่งนิทานที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกเหมือนไปเป็นครอบครัวเดียวกับสัตว์ใต้ทะเล ทั้งเต่ามะเฟือง กระเบนราหู ม้าน้ำ วาฬ จนปัจจุบันก็ยังใช้ Facebook Thon Thamrongnawasawat ที่มีผู้ติดตามเกือบ 2 แสนคน นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับทะเลในหลากหลายแง่มุม ตลอดจนเรื่องสิ่งแวดล้อม การเดินทาง และความสนใจส่วนตัว

“ผมไม่ได้ใช้หนังสือมาเป็นสื่อถ่ายทอดความรักธรรมชาติของผม แต่ผมเขียนหนังสือเพราะผมอยากเขียน นิยายรักผมก็เขียน งานเขียนของผมมีหลากรูปแบบ หลายเรื่องก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทะเลโดยตรง เพราะส่วนใหญ่เป็นหนังสือท่องเที่ยว แต่อาจจะมีข้อมูลเรื่องรักธรรมชาติแฝงไว้ ส่วนบทความที่เขียนไปลงในสื่อต่างๆ ก็อีกเรื่อง อันนั้นจะเกี่ยวกับทะเล ซึ่งผมเคยเขียนบทความมากที่สุดเดือนละ 28 เรื่อง

สำหรับผม การสื่อสารเรื่องทะเลไม่ได้เป็นงาน แต่เป็นลมหายใจ อย่างตอนนี้ ผมก็มาเขียนลง Facebook บางครั้งเขียนเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องโลกร้อน หรือ เรื่อง COP26 (การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26) ที่ต้องใช้เวลา 3 ชั่วโมง ในการรวบรวมข้อมูล แต่มีคนไลก์แค่ 200 คน เทียบกับเขียนเรื่องหมาได้ 2,000 ไลก์ เรื่องนวดได้ 1,000 ไลก์ แต่ผมก็ไม่ได้เดือดร้อน เพราะผมแค่อยากเขียน อยากสร้างความเข้าใจ ถ้าใครไม่อยากอ่านก็ไม่เป็นไร

กว่า 40 ปีที่สื่อสารเรื่องทะเล อาจารย์ธรณ์ตระหนักดีว่า การเป็นปากเสียงแทนกุ้ง หอย ปู ปลา ปะการังที่พูดไม่ได้นั้นเป็นโจทย์ที่ยากและท้าทาย เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจและเห็นดีด้วย สิ่งสำคัญคือต้องรู้ว่าควรจะพูดอย่างไรให้กลุ่มเป้าหมายหันมาฟัง 

“หลังๆ ถ้าเกิดไปพูดกับคนที่ทำลายทะเลหน้าบ้านตัวเองให้เขาเลิก ผมจะบอกเลยว่า ถ้าเกิดคน ท้องถิ่นรักทะเลน้อยกว่าคนที่อยู่เอกมัยอย่างผม ผมก็ไม่จำเป็นต้องพูดอะไร ถ้ายังอยากทำลายก็ตามใจเพราะเมื่อไหร่ที่เขาเจ๊ง ไม่มีงานทำ คนในท้องถิ่นเองก็จะมีปัญหาและเดือดร้อน ส่วนผมเองยังมีคนรักทะเลอีกมากที่อยากให้ผมไปช่วย ผมจะไปที่นั่น ผมจะไม่ช่วยพื้นที่ที่คนเขาไม่ต้องการทะเล”

ในทางกลับกัน ถ้าต้องไปสื่อสารกับบริษัท หรือองค์กรใหญ่ๆ อาจารย์ธรณ์จะคุยบนพื้นฐานของความเข้าใจในอีกแบบ โดยสอดแทรกเรื่องสิ่งแวดล้อมไปอยู่ในห้องอบรมเชิงผู้นำ ความรู้ด้านการตลาด ความรู้การเงิน พยายามนำสิ่งที่โลกธุรกิจสนใจมาเชื่อมโยงกับเรื่องรักทะเล

“ผมใช้หลักการของบริษัทเข้าไปคุย ทำให้นอกจากจะคุยอย่างเข้าใจ ผมยังสามารถบอกเขาได้ว่า เขาจะสามารถรักทะเลมากขึ้นได้อย่างไร โดยที่บริษัทก็ Win ในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน ไปจนถึงการอัปเกรดบริษัทสู่ Zero-waste เพราะผมเข้าใจกลไกนี้ทั้งหมด

“แทนที่ผมจะคุยกับคน 1,000 คน ผมไปคุยกับซีอีโอที่ดูแลพนักงาน 20,000 คน ใช้กระแสซีอีโอซึ่งหลายคนเป็นรุ่นน้องผมในมหาวิทยาลัย ไปบอกให้ช่วยๆ กันเปลี่ยน จนตอนนี้มีหลายองค์กรที่ออกมาประกาศเรื่อง Net Zero (การไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มเติม) หรืออย่างการรณรงค์เรื่องปลูกป่า แทนที่จะบอกให้ทุกคนปลูกป่า ซึ่งผมก็พยายามทำนะ แต่ถ้าเกิดผมบอกบริษัทยักษ์ๆ ที่ปลูกป่าครั้งละ 1 ล้านไร่ได้ ผลลัพธ์มันมหาศาลกว่า ใครจะได้ประโยชน์ไม่ทราบ แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุดคือมีป่าขึ้นมาทีละ 10,000 ไร่”

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการทำงานเพื่อสังคม ย่อมต้องเผชิญกับแรงเสียดทานเป็นธรรมดา อาจารย์ธรณ์ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น แต่เขาพยายามมองว่าปัญหาเหล่านี้เป็นแค่อุปสรรคระหว่างทาง การไปถึงเป้าหมายให้ได้สำคัญกว่า 

“ผมไม่ได้เป็นพวกมือใหม่หัดขับ เรียนจบจากเมืองนอก เป็นด็อกเตอร์ที่โลกสวยแล้วกระโดดมาทำงาน พอเจอแรงเสียดทาน สู้ไม่ไหว แล้วถอยทัพ เพราะฉะนั้นในขณะที่คนอื่นมองว่าเป็นแรงเสียดทาน ผมอาจจะมองว่าเป็นแค่เศษถุงพลาสติกริมทางเท่านั้น เพราะประสบการณ์สอนให้รู้ว่า ต้องทำอย่างไรเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

ผมว่ายุคนี้ทำงานง่ายกว่ายุคก่อนเยอะเลย เพราะใครๆ ก็หันมาสนใจทะเลมากขึ้น เพียงแต่ว่าความรักทะเลของเขา ถ้าเกิดว่ามันไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของเขา ก็อาจจะเริ่มสั่นคลอน เราจึงต้องหาตรงกลาง คุยในลักษณะ give and take มากกว่า เพราะลึกๆ ไม่มีใครอยากทำลายทะเลหรอก ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่าเรื่องแบบนี้ มันไม่มี Win-Win 100% หรอก

ผลักดันโปรเจกต์เพื่อทะเลไทย

ถ้าถามว่าทะเลที่สวยที่สุดสำหรับอาจารย์ธรณ์คือที่ไหน ขณะที่เขาหลับตา ภาพความทรงจำที่เกาะเต่าเมื่อ 50 ปีก่อนจะผุดขึ้นมา ตอนที่เด็กชายอายุ 6 ขวบ วิ่งไปบนชายหาดและดำน้ำตื้นเป็นครั้งแรก มีปะการังเต็มไปหมด และอีกแห่งคืออ่าวมาหยา ตอนที่ไปครั้งแรก เมื่อปี 2522 

หากแต่ภาพทะเลไทยที่สมบูรณ์อย่างนั้น ปัจจุบันไม่มีหลงเหลือแล้ว ที่ผ่านมา ทะเลไทยเผชิญปัญหาหลายอย่าง เช่น การทำลายปะการัง การใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำผิดกฏหมาย โดยเฉพาะช่วงวิกฤตที่สุดคือ ปี 2545-2560 ที่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวอย่างรวดเร็วและรุนแรง บางปีมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาถึงปีละ 30-40 ล้านคน 

“ช่วง 10 กว่าปีนั้นปริมาณนักท่องเที่ยวพุ่งสูงมาก ธุรกิจนอมินีต่างชาติเยอะ เขาก็หวังจะโกยเงิน จะให้ต่างชาติรักทะเลไทยเท่ากับคนไทยก็ยังเป็นไปไม่ได้ และแต่ละคนก็แข่งกันหาเงินจากทะเล เพราะฉะนั้นนั่นเป็นจุดที่ทะเลใกล้จะหมดความหวังมากที่สุด”

เพื่อไม่ให้ทะเลไทยย่ำแย่จนเกินเยียวยา นักอนุรักษ์และหลายภาคส่วนจึงมีการผลักดันโปรเจกต์ต่างๆ เพื่อดูแลทะเลไทย โดยหลายโครงการมีอาจารย์ธรณ์อยู่เบื้องหลัง

หนึ่งในนั้นคือ การเข้ามาจัดระเบียบอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘พีพีโมเดล’ เพื่อฟื้นฟูแนวปะการังที่ได้รับความเสียหายจากกิจกรรมการท่องเที่ยว ด้วยการปิดเกาะยูงเมื่อเดือนตุลาคม 2558 เนื่องจากเกาะยูงมีแนวประการังสมบูรณ์ที่สุดในหมู่เกาะพีพี  และหลังจากปิดเกาะครบ 5 ปี ปรากฏว่า ปะการังฟื้นตัวขึ้นมาก แถมยังพบสัตว์ทะเลนานาชนิดอาศัยบริเวณแนวปะการังเป็นจำนวนมาก สะท้อนว่าระบบนิเวศเริ่มฟื้นตัวจนใกล้เข้าสู่ภาวะปกติ

ที่น่าดีใจ คือ ผลลัพธ์จากเกาะยูงได้ขยายมาสู่การปิดเกาะตาชัยและอ่าวมาหยา ในปี 2561 ผ่านไป 4 ปี ธรรมชาติก็ค่อยๆ ฟื้นตัว แม้จะยังไม่สวยเท่าอ่าวมาหยาในความทรงจำของเขา แต่ก็ถือว่าน่าพอใจ เพราะจากอ่าวที่เคยมีเรือวิ่งเข้าออกวันละหลายร้อยลำ กลายมาเป็นพื้นที่ที่มีปะการังสมบูรณ์ที่สุดในรอบ 15-20 ปี รวมถึงยังพบฉลามหูดำไม่ต่ำกว่า 40 ตัวอีกด้วย  

เหตุผลที่เสนอให้มีการปิดอ่าวมาหยา เพราะเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกรู้จัก ดังนั้นถ้าเราฟื้นฟูอ่าวมาหยาได้สำเร็จ จะกลายเป็นแรงกระเพื่อมที่สำคัญ เทียบกับไปปิดเกาะเล็กๆ 1 เกาะ อย่างเกาะยูง หรือปิดเกาะตาชัย ถามว่าอิมแพกต์มั้ยก็อิมแพกต์นะ แต่อาจจะเฉพาะในหมู่คนไทยเท่านั้น ดังนั้น ถ้าเราไม่สามารถปิดทุกเกาะ ต่อให้รู้ว่ามีแนวปะการังบางแห่งทรุดโทรมไล่เลี่ยกับอ่าวมาหยา เราก็ต้องเลือกที่ที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง แล้วแห่งอื่นๆ ก็จะตามมา

นอกจากพีพีโมเดลที่มีการขยายผลแล้ว อีกโปรเจกต์หนึ่งที่น่ายินดีไม่น้อย คือ ความสำเร็จในการผลักดันสัตว์ทะเลทั้งสี่ ได้แก่ วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ เต่ามะเฟือง และฉลามวาฬ ขึ้นบัญชีสัตว์ป่าสงวนอย่างเป็นทางการ หลังใช้เวลาผลักดันนานถึง 4 ปีเต็ม 

“ทุกอย่างในโลกนี้ต้องมี Product Champion หรือสิ่งที่สุดยอดของกลุ่มนั้นๆ ทะเลก็เช่นกัน เราไม่ควรบอกให้คนรักทะเลไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่มี Product Champion ที่เชื่อมโยงทะเลกับมนุษย์ เพราะฉะนั้น Product Champion ของผมคือ สัตว์ทะเลหายาก อย่างวาฬบรูด้า ไม่ต้องบอกว่ามันสำคัญอย่างไร เพราะเด็กหัดวาดรูปสัตว์ตัวแรกๆ ก็มีรูปวาฬ ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวเองก็อยากเจอเหมือนกัน

“หรืออย่างเต่ามะเฟือง ที่ทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันจนทำให้เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่บริเวณชายหาด จังหวัดพังงาได้สำเร็จ ก็เป็นหนึ่งใน Product Champion ที่ทำให้ทุกคนช่วยกันระวังขยะพลาสติก ที่เป็นต้นเหตุให้เต่ามะเฟืองเสียชีวิต”

และอีกผลงานที่สำคัญของอาจารย์ธรณ์ ซึ่งทำต่อเนื่องมาถึง 17 ปี คือการผลักดันให้ยูเนสโกขึ้นทะเบียน ‘ทะเลอันดามัน’ เป็นแหล่งมรดกโลก โดยครอบคลุมพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลตลอดชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบนของคาบสมุทรไทย ในเขตจังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต รวมทั้งสิ้น 6 อุทยานแห่งชาติกับ 1 พื้นที่ป่าชายเลน 

ข้อดีของการเป็นมรดกโลกคือ แต่จะปีจะมีงบประมาณมากขึ้นในการดูแล เพราะมีกองทุนของต่างประเทศเข้ามาช่วยสนับสนุน การเป็นพื้นที่มรดกโลกยังยิ่งทำให้เป็นที่รู้จักของคนทั้งโลก และยังช่วยป้องกันการสร้างรีสอร์ตละเมิดลงไปในทะเล หรือบุกเข้าไปในป่าชายเลน รวมทั้งหยุดกิจกรรมทำลายล้างต่างๆ ได้

ล่าสุดเว็บไซต์ของศูนย์มรดกโลก องค์การยูเนสโกได้บรรจุพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น เพื่อเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถ้าไม่มีปัญหาน่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายใน 2-4 ปี

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาจารย์ธรณ์ยังพยายามผลักดันให้นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยดูแลทะเลอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม เช่น ใช้โดรนออกสำรวจพื้นที่แทนการใช้เจ้าหน้าที่นั่งเรือออกลาดตระเวนวันละหลายๆ ชั่วโมง ซึ่งช่วยลดความสิ้นเปลืองทั้งงบประมาณ กำลังคน พลังงาน แถมยังดูแลพื้นที่ได้กว้างขึ้น

และท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด แม้จะเป็นวิกฤตของผู้คน แต่สำหรับทะเลไทยที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่เป็นโอกาสสำคัญที่ธรรมชาติจะได้ฟื้นตัว และกระตุ้นให้ภาครัฐหันมาใช้นโยบายที่เหมาะสม เช่น จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว หรือปิดพื้นที่อุทยานฯ บางส่วนหรือบางช่วงเวลา ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องไปถึงการขยายพื้นที่คุ้มครองทางทะเล และทำให้ได้เจอสัตว์ทะเลหายากเพิ่มขึ้น

แต่ถึงอย่างนั้น ทะเลไทยก็ยังมีอีกหลายปัญหาที่น่าเป็นห่วง ทั้งเรื่องขยะ ไบโอพลาสติก รวมถึงปัญหาสารเคมีตกค้างจากการทำเกษตรกรรม และภาวะโลกร้อนที่นับวันจะรุนแรงยิ่งขึ้น

“ตอนนี้ถ้าถามผมว่าทะเลไทยยังทรงตัวอยู่ได้ไหม ผมก็จะบอกว่า เราผ่านช่วงวิกฤตที่สุดมาแล้ว เป็นทะเลที่เริ่มยั่งยืนขึ้น ดูดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างช้าๆ แต่ในบางจุดก็น่าเป็นห่วงว่าจะไปแล้วไปลับ เช่น โลมาอิรวดี หรือโลมาหัวบาตรมีครีบหลัง ที่กำลังจะสูญพันธุ์จากทะเลสาบสงขลา หรือการที่ปะการังฟอกขาวตายจากโลกร้อน

ต่อให้เป็นแนวปะการังสมบูรณ์เลิศเลออย่างไร เจอคลื่นความร้อนทางทะเล (marine heat wave)  ก็พัง อย่างเกรตแบร์ริเออร์รีฟ ออสเตรเลีย พยายามดูแลอย่างดี เพื่อให้เป็นทะเลที่ดีที่สุดในโลก เจอเข้าไป 2 ตูม ปะการังหายไป 1 ใน 3 เพราะฉะนั้นบอกได้คำเดียวว่าเหนื่อย ดังนั้นเราถึงพยายามสื่อสารเรื่องโลกร้อน ทำให้คนเริ่มรู้สึกตระหนก และตระหนักให้ได้

ถ้าเป็น 10-20 ปีก่อน ผมพยายามจะพูดให้คนรักทะเล แต่วันนี้ผมกำลังจะพูดให้เขาเข้าใจว่า โลกกำลังรักทะเล คุณกำลังจะโดนบังคับให้รักทะเล ถ้าเกิดคุณไม่รีบรักทะเล คุณเองก็จะไม่มีที่อยู่ในโลกใบนี้

ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ : นักวิทยาศาสตร์ผู้อยากบอกคนทั้งโลกให้รักทะเล

อยากเห็นอนาคตทะเลไทยที่ยั่งยืน

สำหรับเป้าหมายต่อไปของนักวิชาการที่ทำงานด้านทะเลมาเกือบทั้งชีวิต อาจารย์ธรณ์ย้ำอย่างหนักแน่นว่า จะทำงานสื่อสารเพื่อทะเลต่อไป 

“อีกไม่กี่ปีผมก็เกษียณแล้ว แต่ความจริงแล้ว งานเดียวที่จะหายไปคือ งานสอนหนังสือ อย่างวิชาที่ผมสอน มนุษย์กับทะเล (Man and Sea) ผมสอนนักเรียน จาก 30 คน เป็นเทอมละสามพันกว่าคน ปีละ หกพันกว่า ถือว่าเป็นวิชาเกี่ยวกับทะเลที่มีนิสิตเรียนมากที่สุดในโลก ส่วนงานอื่นๆ อย่างการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ผมไม่เรียกว่างานนะ หรือการเขียนลง Facebook มันก็เป็นสิ่งที่ผมชอบ ทำจนเป็นนิสัย เหมือนการหายใจเข้าออก”

เวลานี้ สิ่งสำคัญที่เขาอยากสื่อสารให้คนในสังคมรับรู้ คือให้รีบปรับตัวปรับใจมารักธรรมชาติ เพราะโลกยุคนี้ ถ้าไม่ ‘เขียว’ คุณจะกลายเป็นผู้ร้ายทันที

ตัวอย่างเช่นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างปั๊มน้ำมัน โรงงานชิ้นส่วนรถยนต์ กำลังถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งก่อมลภาวะน้อยกว่ามาก หรือการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่เคยมีการสู้ประท้วงมานานหลายสิบปี แต่เมื่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำโลก G7 มีมติไม่สนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงกระทรวงพลังงานของไทยจึงรับนโยบายตาม ทำให้การต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนานจบลงอย่างรวดเร็ว 

เพราะฉะนั้นต่อให้รักหรือไม่รักโลก ก็จะโดนบังคับให้รักเอง 

“ถ้าเป็น 10-20 ปีก่อน ผมพยายามจะพูดให้คนรักทะเล แต่วันนี้ผมกำลังจะพูดให้เขาเข้าใจว่า โลกกำลังรักทะเล คุณกำลังจะโดนบังคับให้รักทะเล ถ้าเกิดคุณไม่รีบรักทะเล คุณเองก็จะไม่มีที่อยู่ในโลกใบนี้ โดยเฉพาะคนที่เคยมีธุรกิจที่อาจจะส่งผลกระทบกับทะเล จะต้องรีบปรับตัว รีบเปลี่ยนแปลง รีบมารักทะเลให้มากขึ้น เพราะถ้าเขารีบรักทะเลตั้งแต่วันนี้ มันเป็นข้อดีของทะเล และมันก็เป็นข้อดีของเขาด้วย

อีก 25 ปีข้างหน้า โลกจะแปรปรวนมาก ตอนนั้นผมจะอายุ 80 จะไปเดือดร้อนอะไร ก็คงนอนกลิ้งอยู่ในโรงพยาบาล ในขณะที่เด็กอายุ 30-40 กำลังผ่อนบ้าน เพิ่งทำงานได้หน่อยเดียว อาชีพตัวเองก็เริ่มหายไปเรื่อยๆ เพราะภัยพิบัติทำให้โรงงานปิด ไม่มีใครมาลงทุนในบ้านเรา งานก็ไม่ค่อยมี ในที่สุดผ่านไป 10 ปี ทนไม่ไหวต้องขายบ้านทิ้ง เพราะน้ำท่วมเพิ่มขึ้นทุกปีๆ ปีละ 3-5 ครั้ง จนปีละ 20 ครั้ง คนพวกนั้นสิ คือคนที่เดือดร้อน ไม่ใช่ผม เพียงแต่ว่าสิ่งที่ผมพยายามทำให้มากที่สุดคือชี้ให้เห็นว่า คนที่จะเดือดร้อนคือพวกเขา

การยืนหยัดทำงานเพื่อท้องทะเลมานานกว่า 4 ทศวรรษ คือเครื่องพิสูจน์ความรักของชายคนนี้ได้เป็นอย่างดี อาจารย์ธรณ์มักบอกกับคนรุ่นใหม่ๆ ที่เข้ามาทำงานด้านนี้ว่า ต้องมีความรักจริง อย่าหวั่นไหวหรือสูญเสียศรัทธา หากสิ่งที่หวังไว้นั้นเกิดขึ้นได้ช้าหรือยังไม่สำเร็จ 

“มีหลายคนมาฝึกงานกับผม บอกว่าอยากเป็นเหมือนอาจารย์ แต่สักพักทุกคนจะค่อยๆ หายไป เพราะเขาคิดว่าเขารัก แต่บางทีมันอาจจะเป็นแค่ความรู้สึกชั่ววูบ ดังนั้นจุดที่สำคัญที่สุดสำหรับคนที่รักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ง่ายๆ เลย คือต้องเรียนรู้ที่จะหลงรักและไม่เลิก แค่นั้นเอง”

“อีกข้อที่สำคัญคือ ห้ามทรยศต่อตัวเอง ผมไม่เคยสับสนในเส้นทางที่เลือก เพราะถ้าเกิดมาสับสนตอนปริญญาเอก ผมคงเสียดายชีวิตและเวลาที่ผมทุ่มลงไป ซึ่งผมเป็นคนที่เสียดายเวลาในชีวิตผมมากที่สุด เพราะเวลาเป็นสิ่งเดียวที่ผมทวงคืนมาไม่ได้” 

สุดท้ายนี้ ถ้าให้นิยามว่า ทะเลเป็นอะไรสำหรับอาจารย์ธรณ์ 

คำตอบของอาจารย์ก็ยังคงเหมือนเดิมคือ ทะเลเป็นทั้งเพื่อน ครู และเจ้านาย 

“สมัยเด็กๆ ผมไม่ได้มีเพื่อนมากมาย ผมก็วิ่งเล่นอยู่ตามชายหาด นั่งมองหน้าปูเสฉวน เพราะฉะนั้นทะเลเป็นเพื่อนเล่นของผม เมื่อเป็นวัยรุ่น เวลาอกหักหรือรักไม่สมหวัง ก็ไปนั่งมองดูทะเล ปรับทุกข์กับทะเล เพราะฉะนั้นทะเลก็เป็นเหมือนเพื่อนสมัยวัยรุ่นของผม

“พอผมเรียนเรื่องทะเล ทะเลก็เป็นครูใหญ่ของผม เรียนจบมาทำงานก็เกี่ยวข้องกับทะเล เพราะฉะนั้นทะเลคือเจ้านายของผม ถ้าถามว่าผมรักทะเลแค่ไหน ก็คงรักเท่ากับคนคนหนึ่งที่สามารถรักเพื่อนในวัยเด็ก เพื่อนปลอบทุกข์ปรับใจในวัยรุ่น คนที่เป็นคุณครู และเจ้านาย”

แม้จะไม่มีหน่วยวัดความรักที่อาจารย์ธรณ์พูดถึงได้ แต่สิ่งที่เขาทุ่มเทมาตลอด ก็คงพอพิสูจน์ได้ว่า การที่คนคนหนึ่งยอมทุ่มเททั้งชีวิตและทำทุกวิถีทาง เพื่อให้เพื่อน ครู และ เจ้านายคนนี้ เป็นที่รักของทุกคน และเป็นทะเลที่สวยงามตลอดไปนั้น เป็นความรักที่ยิ่งใหญ่แค่ไหน

โครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก

คนเล็กเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 30 บุคคลผู้สร้างสังคมที่ยั่งยืน และช่วยกันสร้างคุณค่าสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นประเทศ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ คือบุคคลต้นแบบประเด็นดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ (SDGs ข้อที่ 13), ประเด็นส่งเสริมสังคมที่สงบสุข และครอบคลุมที่เอื้อต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม สร้างสถาบันที่มีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบและทุกคนสามารถเข้าถึงในทุกระดับ (SDGs ข้อที่ 14)

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.