บ้านที่ดี สิ่งก่อสร้างที่ดี วัดกันที่ตรงไหน
ขนาด ความหรูหรา หรือ สิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน?
แต่ละคนอาจจะมีรสนิยม ความชอบที่ต่างกันออกไป แต่ในมุมมองของ จุลพร นันทพานิช สถาปนิกและอาจารย์ด้านสถาปัตยกรรม บ้านและสิ่งปลูกสร้างที่ดี ไม่ใช่แค่เพียงออกแบบตามใจผู้อยู่ แต่ต้องเป็นสถานที่ที่สามารถใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน
แม้จะเรียนจบจากสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ก็จริง แต่เขากลับมีแนวคิดไม่เหมือนสถาปนิกทั่วไป
เขาไม่ได้อยากออกแบบห้างสรรพสินค้าหรืออาคารใหญ่ๆ แต่สนใจออกแบบสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ทรัพยากรแต่พอดี และสอดคล้องกับสภาพสังคม วัฒนธรรม และภูมิศาสตร์ในพื้นที่นั้นๆ
ผลงานที่สร้างชื่อให้จุลพร คือ งานออกแบบ ‘บ้านแม่น้ำ’ ให้เจ้าของบริษัทโฆษณาชื่อดัง ซึ่งเขานำเสนอเสน่ห์สถาปัตยกรรมไทลื้อออกมาได้อย่างลงตัวและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ จนกลายเป็นใบเบิกทางให้เขาเป็นที่รู้จัก และได้เป็นอาจารย์พิเศษวิชาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วิธีสอนของจุลพรก็ไม่เหมือนใคร เพราะเขาพานักศึกษาเดินเท้าขึ้นเขาลงห้วย ไปเรียนรู้บ้านชาวเขา กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เพื่อให้เห็นถึงภูมิปัญญาของคนในแต่ละพื้นที่ แถมยังหว่านเมล็ดพันธุ์ความรักต้นไม้ให้แก่ลูกศิษย์ ไม่แปลกเลยที่หลายคนซึ่งเคยเรียนกับเขา เมื่อจบออกมาแล้วจึงทำงานด้วยแนวคิดเดียวกัน โดยนำศาสตร์ของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบมากขึ้นเรื่อยๆ
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอชวนไปรู้จักกับ 1 ใน 30 บุคคลที่ทำงานเพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืนจากโครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก สถาปนิกที่มีแนวคิดรักษ์โลก และเลือกที่ใช้ความรู้ที่มี ออกแบบระบบนิเวศที่คนและธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
แม้จะเกิดที่กรุงเทพฯ แต่จุลพรก็ผูกพันกับธรรมชาติมาตั้งแต่เด็ก
ด้วยความที่ก๋งเป็นชาวเกาะสมุย มีอาชีพทำสวนมะพร้าวและกิจการเดินเรือบรรทุกสินค้า ทำให้เขามีโอกาสนั่งเรือไปๆ มาๆ ระหว่างกรุงเทพฯ กับเกาะสมุยบ่อยๆ
ในตอนนั้น เกาะสมุยยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ทั้งเกาะมีรถยนต์แค่ 5 คัน เดินทางไปด้วยเรือบรรทุกสินค้าใช้เวลา 3-5 วันกว่าจะถึง การเดินทางไปกลับระหว่างกรุงเทพฯ กับเกาะสมุย ทำให้จุลพรค่อยๆ ซึมซับและเห็นความแตกต่างระหว่างบรรยากาศเมืองกับชนบทอย่างชัดเจน
ต่อมาธุรกิจของก๋งขาดทุน จนต้องเลิกกิจการและย้ายไปทำสวนอยู่บนภูเขา เด็กชายก็ติดตามไปด้วย จึงได้เรียนรู้และฝึกทักษะการอยู่กับธรรมชาติ จนกลายเป็นความรักที่ติดตัวมาถึงตอนโต
“ก๋งจะไม่ได้มานั่งสอนหรือชวนว่าวันนี้เราไปดูนก ชมต้นไม้กัน แต่จะชวนไปทำภารกิจดูแลสวนมังคุด สวนทุเรียน แล้วอธิบายจากสิ่งที่เจอ เช่น เจอต้นยางนาที่อยู่ระหว่างทางถูกตัด ก็จะสอนว่า ต้นไม้พวกนี้ เมื่อถึงอายุขัย ก็ต้องตัดไปทำประโยชน์
“เจองู ก๋งก็จะไม่ได้สอนให้กลัวหรือต้องฆ่าให้ตาย แต่จะสอนให้เข้าใจธรรมชาติของงู สอนให้สังเกตฝูงปลาจากที่สูง ดูทิศทางลม ฟังเสียงของสัตว์ ซึ่งผมว่า การเรียนรู้แบบนี้มันลึกซึ้งและจับใจกว่า”
ช่วงเวลาบนภูเขายังสอนเรื่องความเรียบง่ายของการดำรงชีวิต เด็กชายได้เห็นลุงคนหนึ่งที่ปลูกบ้านเอง อยู่เงียบๆ แต่มีความสุขกับสุนัขคู่ใจ หรือบางครั้งเวลาที่ก๋งไม่สบาย ก็จะเปิดฟังเทปคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ ซึ่งพูดถึงหลักธรรมเรื่องความไม่เที่ยงแท้และการบริโภคแต่น้อย ทำให้แนวคิดเหล่านี้อยู่ในตัวเขามาตั้งแต่ตอนนั้น
เส้นทางชีวิตตอนนั้นดูไม่น่าจะโคจรมาทำอาชีพสถาปนิกได้ แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้เด็กชายหันมาสนใจงานออกแบบก็คือ เวลาไปวัดหรือศาลเจ้า เขามักเก็บเอาธูปที่ไฟมอดแล้วเหลือแต่ก้านสีแดงมาต่อเป็นโมเดลบ้าน จนมีรุ่นพี่ทักว่า ถ้าชอบทางนี้ น่าจะเรียนต่อด้านสถาปัตยกรรม
ตอนนั้นเขาเพิ่งเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวิชาชีพนี้คืออะไร แต่พอฟังรุ่นพี่เล่าก็เห็นดีเห็นงาม และหมายมั่นอยากจะเป็นสถาปนิก หลังเรียนจบจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ชายหนุ่มจึงตัดสินใจสอบเอนทรานซ์เข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แต่พอได้เข้ามาเรียนสมใจ กลับไม่เหมือนอย่างที่คิด เพราะในขณะที่จุลพรอยากออกแบบหมู่บ้าน บ้านหลังเล็กๆ หรือกระท่อม แต่พอขึ้นปี 4 กลับเจอโจทย์ให้ออกแบบอาคารคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ อย่างศูนย์การค้า สนามบิน โรงพยาบาล ซึ่งขัดแย้งกับสิ่งที่อยากทำ
เพราะลึกๆ แล้ว จุลพรไม่เห็นด้วยกับการใช้ทรัพยากรมหาศาลเพื่อสร้างอาคารใหญ่ๆ ทำให้เขาจดจ่อกับกิจกรรมการออกค่ายอย่างมาก
ทุกครั้งเวลาออกค่าย แล้วนั่งรถไฟไปอีสาน พอผ่านไปแถวสระบุรี ภาพหนึ่งที่ติดตาคือ ภูเขาหินปูนถูกระเบิด เพื่อนำมาทำเป็นวัสดุก่อสร้าง จนชวนให้คิดว่า ถ้ายังถลุงใช้กันแบบนี้ วันหนึ่งก็ต้องหมดไป ทำไมไม่หันมาใช้เท่าที่จำเป็น หรือใช้ทรัพยากรที่ปลูกทดแทนได้อย่างไม้
หากแต่เวลานั้น นิสิตหนุ่มทำได้เพียงตั้งคำถาม และพยายามกัดฟันเพื่อเรียนให้จบ
“พอต้องเรียนแบบขัดใจ มันทรมานมาก แล้วตอนนั้นพ่อผมเสียด้วย จากเดิมที่เรียนอยู่กลางๆ ค่อนไปทางล่าง กลายเป็นเรียนแบบถูลู่ถูกังมากยิ่งขึ้น แค่ให้จบก็พอ ยิ่งปี 5 ต้องทำวิทยานิพนธ์ก็ยิ่งหนัก โชคดีที่ผมมีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ รศ.เฉลิม สุจริต ซึ่งเป็นคณบดีในเวลานั้น ทั้งแนะนำและช่วยเหลือจนผมเรียนจบมาได้”
อาจารย์เฉลิมยังเป็นผู้จุดประกายให้จุลพรเริ่มสนใจการใช้วัสดุธรรมชาติ รวมถึงเครื่องมือในท้องถิ่น แม้จะผ่านมาหลายปี เขาก็ไม่เคยลืมและยิ่งตกผลึกในสิ่งที่อาจารย์เฉลิมสอน อย่างครั้งหนึ่งอาจารย์บอกว่า จะไปสร้างห้างสรรพสินค้าทำไม ในเมื่อสวนจตุจักร ที่ไม่ต้องอาศัยการออกแบบอะไรมาก และไม่ต้องติดแอร์ ก็ขายของได้ เหมือนกัน แถมบางทีจะดีกว่าด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับงบประมาณที่ลงไปกับตัวอาคาร
“อาจารย์เห็นผมชอบออกค่าย แกก็แนะนำให้ลองสังเกตสถาปัตยกรรมท้องถิ่นต่างๆ ว่าไม่เหมือนกัน บางครั้งเห็นผมเตรียมกล่องเครื่องมือ อาจารย์ก็จะบอกว่า ขนไปทำไมให้หนัก ทำไมไม่ไปใช้มีดพร้าแถวนั้น หรือแม้แต่พวกวัสดุก่อสร้าง เวลาเขียนแบบไปส่ง อาจารย์ก็จะติงว่าทำไมต้องขนจากข้างนอกไป แทนที่จะไปหาเอาวัสดุแถวนั้นมาทำ
“แรกๆ ผมก็ไม่เข้าใจ นึกว่าอาจารย์พูดแบบกวนๆ เพราะแก่นของการเรียนสถาปัตยกรรมในตอนนั้น คือ เน้นการก่อสร้าง โดยใช้วัสดุอุตสาหกรรม เช่น อิฐ หิน ปูน ทราย แทบไม่มีการพูดถึงเรื่องการใช้วัสดุธรรมชาติมาก่อน แต่พอเราไปเห็นสถาปัตยกรรมและเครื่องมือต่างๆ ในท้องถิ่น อย่างเสียมที่ยโสธรกับศรีสะเกษ บ้านเรือนแต่ละที่ก็มีการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน ก็ค่อยๆ เข้าใจไอเดียที่อาจารย์พยายามสื่อ แต่ก็ยังไม่ได้นำมาต่อยอด”
หลังจากเรียนจบ เดิมทีจุลพรคิดว่าจะโบกมือลาจากเส้นทางสถาปนิกอย่างถาวร ไปทำอาชีพอื่น เช่น ขายเสื้อผ้ามือสอง แต่โอกาสและจังหวะก็นำพาให้กลับมาโลดแล่นในเส้นทางสายนี้
ย้อนไปก่อนปี 2540 เป็นยุคที่เศรษฐกิจไทยกำลังเฟื่องฟู บ้านเมืองกำลังพัฒนา อาชีพสถาปนิกจึงเป็นที่ต้องการอย่างมาก จุลพรก็หนีไม่พ้น โดนชักชวนให้มาคุมงานก่อสร้างโครงการบ้านจัดสรร แต่ทำได้ปีกว่า เขาก็ตัดสินใจลาออก ผันตัวมาทำในสิ่งที่ถนัดแถมได้เงินดี นั่นคือ การรับทำโมเดลสถาปัตย์
ยิ่งทำก็ยิ่งมีลูกค้า จนตอนหลังถึงขั้นเปิดบริษัทรับทำโมเดล จ้างพนักงานมาช่วยทำ มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ แถมมีเวลาเหลือเฟือ เขาจึงค่อยๆ ปลีกออกไปทำในสิ่งหัวใจเรียกร้อง นั่นคือ การออกเดินทางเพื่อเปิดโลก
จุดหมายที่เขาตั้งใจคือ ภาคเหนือของประเทศไทย เนื่องจากสมัยเรียนได้ไปออกค่ายแถวภาคอีสานบ่อย ได้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในแถบนั้นมาพอสมควร ส่วนภาคใต้ เขาก็สัมผัสมาตั้งแต่วัยเยาว์แล้ว ครั้งนี้จึงเลือกไปผจญภัยในเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย
การเดินทางของจุลพรไม่ต่างจากการผจญภัย เขานั่งรถไฟ ต่อรถประจำทาง เดินข้ามจังหวัด ครั้งหนึ่งเคยเดินไปตามสันเขา จากอำเภอแม่ลาน้อยมาอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระยะทางหลายสิบกิโลเมตร และยังได้ไปลองเป็นครูอาสาที่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ที่ขุนยวม คลุกคลีกับเด็กๆ เผ่าลีซอ จนพูดภาษาลีซอได้
วิธีการเดินทางที่ไม่เหมือนใครเลยตลอด 2 ปี ทำให้ชายหนุ่มได้ซึมซับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ จนเห็นชีวิตในอีกมุม และเรียนรู้เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์
“อย่างอาข่าจะสร้างหมู่บ้านตามสันเขาที่มีบ่อน้ำ อากาศถ่ายเทดี บ้านอาข่าทำด้วยไม้ ถอดชิ้นส่วนบางชิ้นไปสร้างใหม่ได้ กะเหรี่ยงจะไม่สร้างบ้านใหญ่ๆ ให้ถาวรเกินไป วัสดุหลักใช้ไม้ไผ่ เพราะเมื่อพ่อแม่จากไป เขาจะรื้อบ้านทิ้ง ไม่ให้ลูกอยู่ต่อ เพราะมันอาจผุพังและมีสิ่งหมักหมม วิธีสร้างบ้านของเขาสะท้อนถึงการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เราน่าจะนำวัฒนธรรมแบบนี้มาใช้ คือสร้างบ้านเล็กๆ ไม่ควรยึดถืออะไรไว้เยอะๆ”
แม้จะตื่นตาตื่นใจกับสิ่งที่ได้พบเจอ แต่จุลพรก็ยังไม่ได้คิดไปไกลถึงขั้นว่าจะนำความรู้เรื่องนี้มาต่อยอดอย่างไร แต่ก็ทำให้เริ่มตกตะกอนว่า เขาไม่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจทำโมเดลไปตลอดชีวิต
เมื่อกลับมาก็เป็นจังหวะพอดีที่อาจารย์ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ทาบทามให้ไปช่วยคุมงานก่อสร้างหอประชุมที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุลพรจึงตอบรับอย่างไม่ลังเล ส่วนบริษัทโมเดลก็ให้รุ่นน้องรับไปสานต่อ
ทว่ายังไม่ทันได้เริ่มสร้างหอประชุม ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปลี่ยนแผน จะทำการควบคุมงานเอง อาจารย์คนเดิมจึงฝากให้เขาไปคุมงานก่อสร้าง ที่ลำพูนแทน
โครงการนี้ตั้งอยู่บริเวณชายป่าเต็งรังที่ตำบลศรีบัวบาน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ซึ่งตอนนั้นการเดินทางยังไม่ค่อยสะดวกเท่าใดนัก เขาจึงต้องอาศัยกินนอนอยู่ในพื้นที่เลย ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เขาจะตามลุงปัน ซึ่งเป็นคนงานที่อยู่ในพื้นที่ ไปเดินป่า ศึกษาเกี่ยวกับพันธุ์ไม้ท้องถิ่น อย่างต้นเต็ง ต้นรัง ต้นมะค่าโมง ต้นประดู่ป่า ยมหิน มะหาด แสลงใจ เป็นต้น จนเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาหันมาสนใจพันธุ์ไม้ท้องถิ่น
ผ่านไป 2 ปี โครงการสร้างเสร็จเรียบร้อย แต่จุลพรก็อยู่ทำงานที่นี่ต่อเนื่อง ในฐานะคนดูแลสโมสรหมู่บ้าน พร้อมควบตำแหน่งผู้จัดการร้านอาหารด้วย
“จำได้ว่าเคยเจอรุ่นน้องที่คณะมากินอาหาร แล้วผมต้องยกไปเสิร์ฟ ผมอายจนไม่กล้าแนะนำตัวว่าเป็นรุ่นพี่เขา โชคดีที่เขาจำผมไม่ได้ ตอนนั้นเพื่อนๆ พยายามมาตามผมกลับไปกรุงเทพฯ เพราะเห็นว่างานที่ทำไม่มีอนาคต แต่ผมก็ดื้อ ไม่ยอมกลับ”
จุลพรทำงานที่นั่นอีกเกือบ 2 ปี จนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ทำให้โครงการที่ดูแลอยู่ไปต่อไม่ได้ เขากลายเป็นคนตกงาน แต่ก็ยังอาศัยอยู่ในโครงการ เพราะปลูกบ้านไว้ที่นี่ เจ้าของโครงการไม่อยากให้พื้นที่ถูกทิ้งร้าง จึงยื่นข้อเสนอให้ช่วยเป็นหูเป็นตา ส่วนจะใช้พื้นที่ในโครงการทำอะไรก็สุดแล้วแต่
“ในโครงการ มีพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ ผมไถสนามไดรฟ์กอล์ฟเป็นแปลงปลูกพืช ไปซื้อกล้าชะอมกระเทียม ผักขี้หูด ผักพื้นเมืองมาปลูก แล้วก็ซื้อวัวมาเลี้ยง เลี้ยงชีพด้วยการเก็บผลผลิตคือขี้วัวไปขาย บางครั้งก็เข้าป่าไปเก็บชันจากต้นเต็ง ต้นรังมาขาย แถมยังเป็นไกด์พาคนเที่ยวป่า”
แม้จะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อเลี้ยงชีพ แต่ความเป็นอยู่ของจุลพรก็ไม่ได้สุขสบาย ซ้ำร้าย ยังไปติดโรคไข้มาลาเรียจากตอนเป็นไกด์พาเที่ยวป่า นอนป่วยอยู่ร่วมปี ร่างกายก็อ่อนแอ ทำให้ความเป็นอยู่ยิ่งอัตคัด ถึงขั้นต้องหาอยู่หากินกับธรรมชาติ
แต่แล้ว ชีวิตที่ลุ่มๆ ดอนๆ ดูไร้อนาคต ก็มาเจอกับจุดเปลี่ยน เมื่อเขาได้พบกับ สาธิต กาลวันตวานิช นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ Propaganda และเจ้าของบริษัทโฆษณาชื่อดังอย่าง Phenomena
ไม่ผิดหากจะบอกว่า สาธิตหรือที่จุลพรเรียกว่า ‘พี่แก่’ คือผู้มีส่วนสำคัญในการพลิกชีวิตเขาให้กลับมาโลดแล่นในฐานะสถาปนิกอีกครั้ง
จุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั้งคู่ได้มาร่วมงานกัน เกิดจากสาธิตต้องการปลูกบ้านสไตล์ไทลื้อ แต่ที่ผ่านมายังไม่เจอสถาปนิกที่ออกแบบบ้านได้ตรงใจ
วันหนึ่งสาธิตแวะมากินข้าวที่ลำพูน จึงลองถามเจ้าของร้านเล่นๆ ว่าแถวนี้มีสถาปนิกไหม ปรากฏว่าเจ้าของร้านแนะนำให้มาเจอกับจุลพร
“พี่แก่มาหาผมที่บ้าน สภาพผมตอนนั้นคือ นุ่งผ้าขาวม้า อารมณ์แบบชาวบ้านคนหนึ่ง หลังจากคุยไปคุยมา แกบอกว่า ตอนนี้กำลังจะถมที่ ผมนึกถึงที่อาจารย์เฉลิมเคยสอนว่า ที่ทางมันเป็นอย่างนั้นมาชั่วนาตาปี ไม่ควรไปดัดแปลงในชั่วข้ามคืน ไหนจะเพื่อนบ้านอีก ถมไปแล้วจะอยู่กันยังไง เลยรีบท้วงว่าถมไม่ได้ แกก็รับฟัง รีบโทรไประงับรถขนดิน ทั้งที่ขับออกมาแล้ว”
หลังจากวันนั้น ทั้งคู่ก็นัดกันไปดูสถานที่จริงเพื่อลงมือทำแบบ ซึ่งถือเป็นโจทย์หินสำหรับจุลพร เพราะที่ผ่านมาเขาแทบจะไม่เคยทำอย่างจริงจัง แถมพอมาลุยงานหนัก จับจอบจับเสียมทำการเกษตรมาเสียนาน มือไม้ก็แข็ง จะกลับไปจับดินสอเขียนแบบอีกก็ยาก
เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จุลพรตัดสินใจงัดไม้ตาย แทนที่จะร่างแบบด้วยมือ เขาเลือกทำงานที่คุ้นเคย คือทำโมเดลจากกระดาษ ตัดแบบหยาบๆ แต่ออกมาดูเหมือนภาพสามมิติ เมื่อสาธิตเห็น ก็ตัดสินใจซื้อไอเดียของเขาทันที
แม้จะเป็นการออกแบบบ้านหลังแรกหลังจากเรียนจบ แต่จุลพรไม่กดดัน เขาพยายามถ่ายทอดความคิดที่มีผ่านชิ้นงานอย่างสุดฝีมือ เพื่อให้บ้านหลังนี้เป็นบ้านสไตล์ไทลื้อแบบที่เจ้าของต้องการ และอยู่สบายในทุกฤดู
“ปกติบ้านไทลื้อจะหลังคาติดกัน ทำให้บ้านมืด ผมเลยออกแบบให้หลังคาแยกออกจากกัน เพื่อให้มีช่องว่างให้แสงตกลงกลางบ้าน อารมณ์เหมือนเป็นโถง เป็นชานบ้านซึ่งช่วยเรื่องการระบายอากาศด้วย
“แล้วบ้านพี่แก่ไม่มีรั้ว ผมออกแบบให้ลุงข้างบ้านที่อยู่ 2 ฝั่งยังเดินผ่านบ้านแกไปหากันได้โดยใช้ทางเดินเดิมที่เห็นเป็นรอยไว้ แกคงคิดในใจว่า จะไหวเหรอ อยู่มาวันหนึ่งพี่แก่ไม่สบาย คุณลุงบ้านหนึ่งแบกกล้วยมาให้กิน ส่วนลุงอีกคนก็มาเยี่ยม พี่แก่ถึงเห็นจริงตามที่ผมบอกว่ารั้วที่ดีที่สุดก็คือเพื่อนบ้าน”
พอไม่มีแบบ จะไปจ้างผู้รับเหมาก็ลำบาก จุลพรจึงเสนอให้สร้างบ้านกันเอง แค่จ้างช่างมาเป็นลูกมือ ส่วนเขาจะเป็นคนคุมงาน และช่วยพาสาธิตไปตระเวนซื้อของและอุปกรณ์ที่ต้องใช้
ทุกเสาร์-อาทิตย์ ทั้งคู่จะพากันไปตระเวนหาซื้อของตามที่ต่างๆ อย่างไม้และแป้นเกล็ดหลังคาก็ไปหาซื้อจากอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา บานประตูเก่าไปหาซื้อที่เมียวดี ประเทศเมียนมา
ด้วยความใส่ใจ และลงรายละเอียดในทุกจุด ตัวบ้านจึงมีแง่มุมที่น่าสนใจมากมาย เช่นไม่ได้ใช้เครื่องมือไฟฟ้า แต่ใช้ขวานถากทั้งหลังแทน มองผิวเผินอาจจะไม่เนี้ยบ แต่มีเสน่ห์ ในแบบงานฝีมือ นอกจากนี้ภายในบ้านยังร่มรื่นไปด้วยพันธุ์ไม้พื้นถิ่น ที่ไปเก็บเมล็ดจากในป่ามาปลูก
“ตอนที่จะปลูกต้นไม้ พี่แก่บอกให้ซื้อต้นไม้ใหญ่เอามาลงเลย ผมบอกไม่เอา จะเพาะเมล็ดปลูกให้ แกก็กลัวว่าเดี๋ยวไม่ทันเห็น ผมเลยชวนพี่แก่ไปเดินป่า แล้วเก็บเมล็ดมาปลูก จะได้เห็นว่ามันโตเร็ว ผมก็พาแกไปนอนในป่า 1 คืน แกก็มีความสุขมาก ยอมรับเรื่องปลูกต้นไม้โดยเพาะเมล็ด เดี๋ยวนี้ต้นไม้ใหญ่มาก ทุกคนที่มาดูบ้านจะถามว่าไปซื้อต้นไม้จากไหน พอบอกว่าปลูกเอง คนไม่ค่อยเชื่อ เพราะต้นยางนา ต้นตะเคียนใหญ่ เป็นต้นใหญ่ยักษ์หมด
“การทำบ้านหลังนี้ทำให้ผมเริ่มรู้สึกถึงความหมายของการเป็นสถาปนิก รู้ว่าการนำวัสดุธรรมชาติมาทำนี่มันยั่งยืน ยิ่งปลูกต้นไม้เองได้ เราก็เริ่มมองอย่างเชื่อมโยง ผมทำบ้านพี่แก่ ดินก็ไม่ให้ถม รั้วไม่ให้สร้าง ต้นไม้ไม่ให้ล้อมมา เรียกว่าหักล้างความคิดคนเมืองหมดเลย ตอนเรียนเรายังไม่ค่อยรู้อะไร สถาปัตยกรรมต้องปูนนะ บ้านไม้ไม่นับ กระท่อมนี่ยิ่งไม่นับ ระบบคิดเป็นแบบนั้น ตอนหลังผมยิ่งเห็นงานสถาปัตยกรรมเป็นเรื่องปรัชญาล้วนๆ มองข้ามเรื่องเทคนิคไปเลย”
บ้านหลังนี้ ใช้เวลาสร้างทั้งสิ้น 1 ปีเต็ม ตลอดเวลาการทำงาน สาธิตมักมีคำถามมากมายให้จุลพรช่วยไขข้อข้องใจ
“ผมต้องทำการบ้านตลอด เพราะพี่แก่เป็นคนละเอียดและมีคำถามตลอด สิ่งที่ประทับใจคือ แกบอกว่า ปีที่ทำบ้านเป็นปีที่ดีที่สุดในชีวิตของแ ก เพราะ ทั้งท้าทาย และทำให้ได้ความรู้ใหม่ๆ แถมแกยังเป็นคนแรกที่ทักว่า เห็นการตอบคำถามของผมแล้ว ผมน่าจะไปเป็นอาจารย์ได้”
ตอนนั้น จุลพรไม่กล้าฝันไกล เพราะเรียนจบแค่ปริญญาตรี แต่สุดท้าย ‘บ้านแม่น้ำ’ ซึ่งสาธิตตั้งชื่อนี้ เพราะอยู่ติดแม่น้ำปิง กลับกลายเป็นผลงานชิ้นโบแดงที่สร้างชื่อให้เขา
นอกจากได้ไปปรากฏอยู่บนนิตยสารแต่งบ้านแทบทุกเล่ม ได้รับรางวัลจากสมาคมสถาปนิกสยาม บ้านหลังนี้ยังทำให้จุลพรได้มีโอกาสไปเป็นอาจารย์พิเศษ ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยผู้มาทาบทามคือเพื่อนสมัยเรียนที่มาเป็นอาจารย์อยู่ที่นี่
“พอเพื่อนมาเห็นบ้านแม่น้ำ เขาก็ชอบ เลยชวนให้มาเป็นอาจารย์ สอนวิชาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ซึ่งเป็นวิชาที่มีอยู่แล้ว แต่ไม่มีใครสอน”
การสวมบทอาจารย์ เหมือนกับได้สานต่อสิ่งที่เคยฝันเอาไว้ เพราะครั้งหนึ่งจุลพรเคยอยากไปเรียนต่อเพื่อมาเป็นอาจารย์ แต่แล้วก็ต้องรีบหยุดความคิดนั้น เพราะรู้ว่าเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากผลการเรียนระดับปริญญาตรีไม่ดี แถมปริญญาโทก็ไม่ได้เรียน ดังนั้นเมื่อโอกาสมาอยู่ตรงหน้า เขาจึงคว้าอย่างไม่รีรอ และเริ่มงานเป็นอาจารย์พิเศษตั้งแต่ปี 2544 โดยตอนแรกคาดว่ามหาวิทยาลัยจะจ้างเพียงเทอมเดียว เนื่องจากไม่ผ่านการประเมิน แต่สุดท้ายกลับได้สอนต่อเนื่องถึงปี 2560
วิชาสถาปัตยกรรมท้องถิ่นของจุลพรเป็นวิชาบังคับสำหรับนักศึกษาปี 3 และเปิดกว้างสำหรับนักศึกษาปี 5 ที่อยากทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น
วิธีการสอนของจุลพรไม่เหมือนอาจารย์คนไหน แทนที่จะนั่งเรียนจากตำรา หรือศึกษาจากอินเทอร์เน็ต เขาเลือกพานักศึกษาไปเดินป่า ศึกษางานสถาปัตยกรรมจากหมู่บ้านชาวเขาเผ่าต่างๆ เพื่อนำประสบการณ์ที่ได้มาใช้ต่อยอดในงานออกแบบ ซึ่งเป็นที่ถูกใจของทุกคนที่ได้เรียน
“ปกติที่คณะจะมีงบประมาณทัศนศึกษาให้เด็กปี 3 คนละ 5,000 บาท ถ้าเป็นกลุ่มอื่นอาจจะยอมจ่ายส่วนต่างเพิ่มเพื่อไปต่างประเทศ อย่างฮ่องกง สิงคโปร์ บาหลี แต่วิชาของผมไม่ต้องขอเงินที่บ้านเพิ่ม แถมเหลือเงินด้วย เพราะผมพานั่งรถประจำทาง ไปเมืองจีน ไปเวียดนาม แล้วไม่ได้นอนเกสต์เฮาส์นะ แต่ใช้วิธีไปอาศัยอยู่กับชาวบ้าน บางทีเขาเรียกกันสนุกๆ ว่าทริปนรก เพราะถึงจะลำบาก แต่สำหรับนักศึกษาแล้วเป็นเรื่องสนุก” อาจารย์เล่าแล้วหัวเราะ
บางครั้ง ถ้าไม่เข้าป่า จุลพรก็จะชวนลูกศิษย์มาช่วยกันปลูกต้นไม้ เพราะต้องการปลูกฝังแนวคิดเรื่องการจัดการทรัพยากร
“ผมสอนวิชาช่างไม้ ก่อนเรียน ผมจะให้นักศึกษามาปลูกต้นไม้ก่อน เพราะถ้าใช้อย่างเดียวก็หมด ดังนั้น ก่อนจะใช้ เราต้องสร้างให้คนอีกรุ่นหนึ่งไว้ก่อนถึงจะยั่งยืน ต่อให้ปลูกไปไม่ทันใช้รุ่นนี้ก็ไม่เป็นไร เพราะอย่างน้อยรุ่นน้องก็ได้ใช้รุ่นที่เราปลูก ส่วนเราเองก็ใช้ของรุ่นพี่”
นอกจากวิธีการสอนที่ลึกซึ้ง พร้อมปลูกฝังจิตสำนึกที่ดี จุลพรยังส่งเสริมให้นักศึกษาภาคภูมิใจกับงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและเห็นว่ามีโอกาสเติบโตในเส้นทางนี้
“มีอยู่ครั้งหนึ่งนำผลงานนักศึกษาชั้นปี 3 ไปจัดแสดงที่หอศิลป์ กรุงเทพฯ แล้วให้ไปยืนเฝ้าเผื่อมีใครสนใจเข้ามาสอบถาม เพราะผมอยากให้เขารู้สึกว่าตัวเองก็มีตัวตน มีคนที่สนใจผลงานของเขา หรือ บางครั้งเขาเห็นรุ่นพี่ทำวิทยานิพนธ์แล้วได้รางวัล เขาก็จะรู้สึกว่า ไม่จำเป็นต้องไปออกแบบอาคารใหญ่ๆ ก็มีโอกาสได้รางวัล เขาก็มีแรงบันดาลใจ”
ที่สำคัญ พอเรียนจบ ความรู้นี้ก็ไม่ได้หายไปไหน สามารถนำไปใช้ประกอบวิชาชีพได้จริง ที่ผ่านมา จุลพรก็มีลูกศิษย์มากมายที่ไปสร้างชื่อจนเป็นที่รู้จัก ไม่ว่าจะเป็น ตี๋-ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร แห่งใจบ้านสตูดิโอ, สามหนุ่ม เท่ง-เดโชพล รัตนสัจธรรม, ดล-รุ่งโรจน์ ตันสุขานันท์ และ ภูผา-พงศธร สวัสดิ์ชัชวาล ผู้ก่อตั้ง ยางนาสตูดิโอ หรือ โอ๊ต-ธงชัย จันทร์สมัคร แห่งเฌอ เมคเกอร์ ฯลฯ
สำหรับจุลพรแล้ว สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไม่ใช่องค์ความรู้ที่ล้าสมัย แต่สามารถนำไปประยุกต์กับการออกแบบสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม แถมยังมีมิติที่ลึกซึ้งหลายด้านรวมอยู่ด้วย
“อย่างแรก สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นดีต่อโลก เพราะมันอยู่บนรากฐานของการจัดการทรัพยากรที่เหมาะสม เอาวัสดุที่มาจากท้องถิ่นเป็นหลัก เช่น ไม้ ไม้ไผ่ ดิน พวกนี้มันชดเชยได้ในช่วงชีวิตเรา แต่ปูน ทราย หิน ชดเชยไม่ได้นะ ใช้แล้วหมดไป”
ที่สำคัญคือประหยัด เพราะหาได้ง่าย แทบไม่เสียค่าขนส่ง หรือบางครั้งก็ไม่ต้องไปซื้อหา
งานสถาปัตยกรรมแนวนี้ยังช่วยอนุรักษ์องค์ความรู้เชิงช่างในแต่ละท้องถิ่นให้ไม่สูญหาย แถมยังนำไปสู่การพัฒนาภูมิปัญญาให้กลายเป็นรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ สามารถนำมาต่อยอดในเชิงการท่องเที่ยวได้อีกด้วย
“ถ้าชุมชนแต่ละชุมชนมีเอกลักษณ์ มันก็นำไปสู่กระบวนการสร้างพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวได้ เหมือนเชียงคานก็ควรจะมีสถาปัตยกรรมแบบเชียงคานซึ่งไม่เหมือนกับสงขลา ไม่เหมือนกับสุราษฎร์ธานี ไม่เหมือนกับอุบลราชธานีอะไรอย่างนี้ มันจะเกิด Sense of Place ทำให้คนอยากไปเที่ยว แต่ถ้าคุณใช้วัสดุเหมือนกันหมด ทุกที่เหมือนกันหมด มันก็ไม่เกิดขึ้น”
หากแต่การนำแนวคิดที่สวนกระแสหลักนี้ไปปฏิบัติจริงย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย และเป็นโจทย์ที่ท้าทายในการทำงาน ทว่าจุลพรก็เชื่อว่าแนวคิดสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นจะยิ่งทำให้ชิ้นงานโดดเด่นและมีคุณค่าไม่เหมือนใคร
นอกจากบทบาทอาจารย์แล้ว จุลพรยังร่วมกับลูกศิษย์ที่มีแนวคิดเดียวกัน ก่อตั้ง ‘ป่าเหนือสตูดิโอ’ เพื่อรับงานออกแบบที่ให้ความสำคัญกับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น และภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม พร้อมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านนี้สำหรับสถาปนิกรุ่นใหม่และนักศึกษาที่สนใจ
ผลงานโดดเด่นของสตูดิโอแห่งนี้ เช่น บ้านพอดีที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ การบูรณะบ้านสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลล้านนาอายุร้อยกว่าปี ให้เป็นโรงแรม 137 Pillars House รวมถึงงานปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานและอ่างกา บนยอดดอยอินทนนท์
โดยหนึ่งในลูกค้าที่เป็นที่รู้จักในสังคมวงกว้าง คือ ต่อ-ธนญชัย ศรศรีวิชัย ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณามือรางวัลระดับโลก
ทั้งคู่เคยร่วมกันปลูกป่าบนที่ดิน 200 ไร่ ที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจุลพรใช้เวลา 7 ปี เปลี่ยนหมู่บ้านจัดสรรร้างให้กลายเป็นป่าที่มีสัตว์นานาชนิดเข้ามาอาศัย แม้กระทั่งสัตว์หายากอย่างแมวดาวยังมาคลอดลูก ต่อมาจึงชักชวนกันมาปลูกป่าในเมือง
“ตอนปลูกป่าที่แม่แตง ต่อเขาก็ชอบ เห็นว่าร่มรื่นดี ผมก็เลยพูดกับต่อเล่นๆ ว่า ถ้ามีที่ดิน 5-10 ไร่ในกรุงเทพฯ เพื่อปลูกป่าแบบนี้ก็น่าจะดี ผ่านไปครึ่งปี ต่อบอกว่ามีนายหน้าหาที่ได้แล้ว ประมาณ 6 ไร่ อยู่แถวอ่อนนุช ก็ไปดูกันแล้วต่อก็ตัดสินใจซื้อ”
ไอเดียในการพัฒนาที่ดินผืนนี้คือ สร้างป่าในเมืองให้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติสำหรับผู้สนใจ โดยคัดเลือกเฉพาะไม้พื้นถิ่นในกรุงเทพฯ ที่เกือบสูญหายไปมาเพาะเมล็ด แทนการใช้ไม้ล้อม โดยอาศัยความรู้เรื่องพันธุ์ไม้พื้นถิ่นที่มีอยู่เดิม บวกกับลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลในภูมิประเทศที่ใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ ศึกษาเอกสาร อ่านหนังสืออนุกรมวิธานพืช ตลอดจนศึกษาจากวรรณกรรมสุนทรภู่ว่าพูดถึงต้นไม้อะไรบ้าง
“ที่ตรงนี้ เจ้าของเดิมปลูกปาล์มขวด มีอโศกอินเดีย พอผมมาทำก็รื้อทิ้งหมด ออกแบบระบบนิเวศใหม่ นำต้นไม้ท้องถิ่นในกรุงเทพฯ มาเพาะกล้า เช่น ต้นสะตือ ต้นตะเคียนทอง ต้นคงคาเดือด ต้นกระเบาใหญ่ ต้นเกด ต้นยางยูง ต้นยางนา ต้นตะเคียนหนู ต้นมะพลับ ฯลฯ”
ข้อดีของการปลูกต้นไม้ท้องถิ่นจากกล้าเพาะเมล็ด นอกจากจะมีระบบรากที่แข็งแรง ไม่ต้องดูแลมาก ยังเป็นการรักษาพันธุ์ไม้เดิมไว้ เพราะที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ ที่อายุไม่ถึง 60 ปี อาจจะเคยเห็นพันธ์ุไม้กรุงเทพฯ แค่ ไม่กี่ชนิด เช่น ต้นมะขาม ต้นปาล์ม ต้นหูกระจง เป็นต้น เพราะต้นไม้ดั้งเดิมหายไปเกือบหมดแล้ว
ที่สำคัญ ถึงจะเพาะเมล็ดก็ไม่ต้องกลัวว่าจะโตไม่ทันเห็นในรุ่นนี้ เพราะเมื่อปลูกเมล็ดที่ใช่ บนผืนดินที่ถูก ไม่นานระบบนิเวศจะฟื้นตัวได้เอง ซึ่งหลังจากปลูกได้ 3 ปี เรือนยอดของต้นไม้ก็สูงถึง 6 เมตร มีสัตว์น้อยใหญ่มาอาศัยอยู่
“พอทำโปรเจกต์สวนไปเรื่อยๆ ผมก็เสนอว่าทำไมต่อไม่ปลูกบ้านที่นี่ แทนที่จะไปอยู่คอนโดเขาก็เลยตัดสินใจสร้างบ้านแล้วย้ายมาอยู่ที่นี่”
ที่น่าสนใจคือ ถึงจะเป็นบ้านของผู้กำกับชื่อดังระดับโลก แต่กลับไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่าง ‘เครื่องปรับอากาศ’
“ตอนแรกต่อก็จะติดแอร์ บอกว่าช่างมาแล้ว ผมบอกให้ไล่ช่างกลับไปก่อน แล้วทดลองอยู่ก่อน เขาก็เชื่อ ช่วงแรกๆ ก็ยังไม่ชิน แต่ผ่านไป 1 อาทิตย์ ร่างกายเริ่มปรับตัว เขาก็บอกว่าอยู่ได้ อากาศไม่ได้ร้อนอย่างที่คิด ประมาณ 5 ทุ่มก็เริ่มเย็นแล้ว
“ข้อดีของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นคือ เปิดโอกาสให้มนุษย์ได้ปรับตัวอยู่กับสภาพแวดล้อม เพราะถ้าเราร้อนแล้วเปิดแอร์ แทนที่ร่างกายจะได้ปรับตัวก็ไม่มีโอกาส ระบบภูมิคุ้มกันก็แย่ลง เพราะร่างกายไม่ได้ขับของเสียออกทางเหงื่อ”
แนวคิด ‘ไม่ง้อแอร์’ ของจุลพร ไม่ได้เพิ่งนำมาทดลอง แต่บ้านของเขาที่อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ก็ไม่มีเครื่องปรับอากาศเช่นกัน
เขาใช้แนวคิดสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในการออกแบบ และวางแผนผังของห้อง ประตูและหน้าต่างให้เชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมที่อยู่โดยรอบ บ้านหลังนี้จึงอยู่สบายทุกฤดูและเป็นตัวแทนของชีวิตที่กลมกลืนกับธรรมชาติได้เป็นอย่างดี
ก่อนจะสร้างบ้าน จุลพรมากางเต็นท์นอนคนเดียว คอยเฝ้าสังเกตจนพบว่าลมที่นี่พัดมาจากทางทิศตะวันออก เขาจึงวางผังบ้านให้เป็นแนวยาวไปตามทิศทางรับลม และวางมุมครัวไว้ด้านทิศตะวันตก ให้รับแดดจัดตอนบ่ายเพื่อช่วยให้ครัวสะอาด
ในบ้านมีช่องลม ช่องแสง เมื่อเปิดหน้าต่างทั้งสองด้าน ลมจะพัดทะลุผ่านห้อง ทำให้เย็นสบายแม้อยู่ในฤดูร้อน พอถึงฤดูหนาว คืนไหนหนาวมากก็ใช้วิธีปิดหน้าต่าง แต่อากาศยังคงไหลเวียนไปบนหลังคาที่ทำเป็น 2 ชั้น จึงไม่รู้สึกอึดอัด
ความตั้งใจอีกอย่างในการออกแบบบ้านหลังนี้คือ จุลพรอยากให้บ้านเป็นโรงเรียนอีกแห่งของลูกสาว จึงมีรายละเอียดหลายอย่างที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการการเรียนรู้
“ห้องนอนผมทำหน้าต่างทางทิศตะวันออก พอ 3 ทุ่มลูกจะนอนเห็นพระจันทร์ขึ้น ตอนเช้าตื่นมาก็เห็นพระอาทิตย์ขึ้น ลูกจะเห็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ช่วยให้เขาเกิดจินตนาการ ที่บ้านยังได้ยินเสียงนกเค้าแมว นกแสกร้อง ตอนหน้าน้ำหลาก ได้ยินเสียงน้ำในห้วยหน้าบ้านไหล หน้าฝนได้ยินเสียงฟ้าร้อง ฝนตกเสร็จมีกบเขียดร้องต่อ ลูกจะโตมาแบบนี้ ได้สัมผัสธรรมชาติที่ไม่ปรุงแต่ง ต่างจากเด็กในเมืองที่ไม่มีโอกาส ทำให้เด็กขาดจินตนาการ
“บ้านหลังนี้จึงเป็นโรงเรียนที่สำคัญของลูก มันมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งเปลี่ยนตามฤดูกาลของธรรมชาติรอบตัว เปลี่ยนตามการใช้งานที่เกิดขึ้นจริงกับชีวิต เปลี่ยนแปลงไปตามอายุ ตรงไหนผุพัง ลูกจะเห็นผมซ่อมแซมบ้าน เห็นผมทำสวนดูแลต้นไม้ที่ค่อยๆ เติบโต เขาจะไม่ยึดติดกับความสำเร็จรูป เกิดความคิดประยุกต์ ต้องคิดอะไรใหม่ ๆ ตลอดเวลา” จุลพรบอกเล่าความตั้งใจของเขาไว้ในนิตยสารสารคดี เมื่อหลายปีก่อน
ในช่วงที่เชียงใหม่เจอสถานการณ์ฝุ่นควันหนักๆ โชคดีที่บ้านปลูกต้นไม้ไว้เยอะ และยังอยู่ใกล้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมืองและเขตอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าใหญ่ แหล่งฟอกออกซิเจน ทำให้ไม่ได้ผลกระทบและยังสูดหายใจได้เต็มปอด
ทั้งหมดนี้ สะท้อนว่างานสถาปัตยกรรมนั้นไม่ใช่แค่สิ่งปลูกสร้างเพียงอย่างเดียว แต่คือการออกแบบชีวิตของผู้อาศัยให้สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัว และอยู่อย่างมีความสุข
ถ้าชุมชนแต่ละชุมชนมีเอกลักษณ์ มันก็นำไปสู่กระบวนการสร้างพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวได้ เหมือนเชียงคานก็ควรจะมีสถาปัตยกรรมแบบเชียงคานซึ่งไม่เหมือนกับสงขลา ไม่เหมือนกับสุราษฎร์ธานี
หลังจากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่ 16 ปีเต็ม จุลพรก็ตัดสินใจลาออก เพราะอิ่มตัวกับงานสอน
แต่ถึงไม่ได้เป็นอาจารย์แล้ว เขาก็ยังคงเดินหน้าถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ด้านสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในหลากหลายช่องทางไปสู่สังคมวงกว้าง ทั้งเป็นวิทยากรในเวทีต่างๆ รวมถึงไปช่วยสอนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ บ้างเป็นครั้งคราว
นอกจากนี้ยังร่วมมือกับภาครัฐและบริษัทเอกชน ขับเคลื่อนการฟื้นฟูระบบนิเวศในธรรมชาติ เพื่อจะส่งต่อความยั่งยืนไปสู่ลูกหลานในอนาคต โดยเฉพาะการปลูกป่า และปลูกต้นไม้พื้นถิ่น
“คนรุ่นเราเนี่ยจะโดนเด็กด่า เพราะว่าเป็นคนรุ่นที่ใช้ทรัพยากรเยอะ ชดเชยน้อย จะโดนแน่ๆ เพราะฉะนั้นผมเลยรีบมาโยนประเด็นนี้ไว้ก่อนว่า ยังไม่สายที่จะสร้างทรัพยากรให้คนอีกรุ่นหนึ่ง เราควรจะส่งผ่านสิ่งที่ดีให้กับเขา ไม่ใช่ส่งผ่านภาระไปให้”
ที่ผ่านมา เวลาไปพูดที่ไหนจุลพรก็จะชักชนให้คนปลูกต้นไม้ บางทีก็นำเสนอไอเดียใหม่ๆ เช่น ให้คนกรุงเทพฯ ช่วยกันปลูกต้นไม้เรือนยอดที่สูง 25 เมตรขึ้นไป ซึ่งจะช่วยจับฝุ่นละอองในอากาศ รวมทั้งฝุ่นจากการเผาไหม้เครื่องยนต์พาหนะดีกว่าต้นไม้ทั่วไป เหมือนสปริงเกอร์ที่อยู่ที่สูง ย่อมสามารถฉีดน้ำดักฝุ่นได้ดีกว่าอยู่ในที่ต่ำ
“ความคิดนี้มาจากสวนของต่อ เราเห็นว่าพื้นที่แค่ 6 ไร่ มันยังทำงานเลย ถ้าเราขยายผลทั้งกรุงเทพฯ น่าจะดี ถ้าเราดูภาพจากดาวเทียม จะเห็นว่า กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีพื้นที่เขียวๆ อยู่ประมาณ 60,000 ไร่ ทั้งของรัฐและเอกชน บางส่วนก็ถูกทิ้งร้าง ถ้าเราเอา 60,000 ไร่ มาบรรจุต้นไม้ยืนต้นแบบบ้านของต่อเข้าไป ก็น่าจะได้สักประมาณ 4 ล้านต้น และคงทำให้ PM2.5 ลดลงไปได้เยอะ”
ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่เท่านั้น แต่สถาปนิกแตกแถวคนนี้ยังอยากเห็นประเทศไทยมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์และเกื้อกูลกับทุกชีวิต
ภารกิจหนึ่งที่เขาอยากผลักดันให้เกิดขึ้น คือการสร้าง Ecology Corridor หรือทางเดินนิเวศวิทยา เพื่อเชื่อมผืนป่าตะวันตกเข้ากับป่าดงพญาเย็น
จุดเริ่มต้นของไอเดียนี้ เกิดจากการที่มีลูกศิษย์มาเล่าให้ฟังว่าเห็นนกเงือกกรามช้างฝูงหนึ่งที่ผืนป่าฮาลา-บาลา ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางธรรมชาติสูงที่สุดแห่งหนึ่งของไทย นักวิจัยคาดว่าพวกมันน่าจะอพยพจากเขาใหญ่ ข้ามมายังผืนป่าตะวันตก ก่อนจะบินลงทางใต้ รวมระยะเดินทางไกลถึง 300 กิโลเมตร ซึ่งบางพื้นที่ที่นกเหล่านี้บินผ่านก็ไม่มีผืนป่า อาทิ จังหวัดสระบุรี ลพบุรี และสิงห์บุรี
“ฟังแล้วผมก็ทั้งสงสัยและสะเทือนใจว่าพวกมันเดินทางไกล 300 กิโลเมตรอย่างไร เลยมีไอเดียว่าอยากจะเชื่อมผืนป่าตะวันตกเข้าด้วยกัน ตั้งแต่นครนายก สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี ห้วยขาแข้ง ก็เลยไปคุยกับต่อ เขาก็เลยไปซื้อที่ที่นครนายก 450 ไร่ เพื่อเริ่มปลูกป่า”
ส่วนพื้นที่ที่เหลือ จุลพรอาศัยใช้เครือข่ายที่มี ไปขอแบ่งพื้นที่มาปลูกต้นไม้ จนตอนนี้ได้พื้นที่มาครบทุกจังหวัดแล้ว แม้จะไม่ใช่ที่ดินแปลงใหญ่ แต่ก็ทำให้ฝันของเขาค่อยๆ เป็นจริง
“ผมสนุกกับการสร้างโจทย์ใหม่ไปเรื่อยๆ แล้วค่อยๆ ลงมือทำ อย่างน้อยก็ดีกว่ามานั่งบ่นว่านั่นไม่ดี นี่ไม่ดี แต่ไม่ได้ลงมือทำอะไรเลย การได้ลงมือทำ ต่อให้มากบ้างน้อยบ้าง ผมถือว่าไม่เสียชาติเกิด ทำแล้วมีความสุข อย่างงานของผมทุกวันนี้ นอกจากทำเพื่อเลี้ยงชีพ ยังได้บรรลุอุดมการณ์ของตัวเอง”
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของสถาปนิกผู้คิดนอกกรอบและไม่จำกัดตัวเองอยู่แค่การออกแบบสิ่งปลูกสร้าง แต่เขากำลังออกแบบระบบนิเวศเพื่อให้คนและธรรมชาติอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก
คนเล็กเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 30 บุคคลผู้สร้างสังคมที่ยั่งยืน และช่วยกันสร้างคุณค่าสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นประเทศ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
จุลพร นันทพานิช คือบุคคลต้นแบบประเด็นดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ (SDGs ข้อที่ 13) และประเด็นปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริม การใช้ระบบนิเวศบนบกและการจัดการป่าอย่างยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 15)
เจ้าของบาร์แจ๊ซ ผู้ริเริ่มโครงการต่างๆ ทั้งดนตรี สิ่งแวดล้อม สังคม เพื่อยกระดับเมืองเชียงใหม่ให้เป็นดินแดนที่ของทุกคนอย่างแท้จริง
โค้ชหนุ่ม Money Coach เบอร์ต้นๆ ของเมืองไทย ผู้แปลหนังสือ พ่อรวยสอนลูก ที่คอยเป็นที่ปรึกษาการแก้หนี้ และวางแผนการใช้เงินให้แก่ผู้คน
เภสัชกรหญิง ผู้บุกเบิกยาสมุนไพรอภัยภูเบศร พร้อมฝันอันยิ่งใหญ่ที่อยากจะทำให้ปราจีนบุรีเป็นเมืองแห่งสมุนไพร
อดีตนักกลยุทธ์โฆษณามือฉมังของเมืองไทย แต่แล้ววันหนึ่งเขาก็ได้พบจุดเปลี่ยนที่สำคัญของชีวิต จนนำมาสู่การบุกเบิก ‘วิชาใจ’ ธรรมง่ายๆ ที่ทุกคนเสพได้
ค้นหาเหตุผลที่ทำให้ สืบ นาคะเสถียร ตัดสินใจจบชีวิตตนเอง เพื่อส่งเสียงให้ทุกคนฟังเขา
กลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหมที่ทำงานขับเคลื่อนการอนุรักษ์คลองในพื้นที่ฝั่งธนบุรี
โลกดนตรี ตำนานรายการคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ที่ศิลปินยุค 1970-2000 อยากขึ้นแสดงมากที่สุด เพราะใครที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีนี้ แสดงว่าดังแล้ว
ห้องทดลองกฎหมายของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่ทำงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิเรื่องสัญชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
นักออกแบบแดนปัตตานีที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพจำๆ เดิมของชายแดนใต้ ไปสู่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์
จากครูอาสาที่มาสอนดนตรีในชุมชนคลองเตย สู่การต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ที่จะเติบโตอย่างงดงาม
แรงบันดาลใจของพระอีสานผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.