ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกษตกรส่วนใหญ่ในเมืองไทยมักยากจน ทั้งที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ ทำงานหนักอาบเหงื่อต่างน้ำผลิตอาหารหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของประเทศ แต่ผ่านมากี่ชั่วคน คุณภาพชีวิตของพวกเขาก็ไม่ได้ต่างจากเดิม จึงไม่แปลกที่คนรุ่นใหม่จะละทิ้งอาชีพนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
มล-จิราวรรณ คำซาว เป็นอีกคนที่เติบโตมาในครอบครัวเกษตรกร แต่เธอไม่เคยคิดจะกลับบ้านมาทำนาทำไร่เลยสักนิด จนวันหนึ่งเส้นทางชีวิตหักเหให้กลับมาทำการเกษตรอย่างจริงจัง
ด้วยความเป็นนักวิทยาศาสตร์ เธอจึงนำความรู้ด้านจุลชีววิทยาและเทคโนโลยีชีวภาพมาพัฒนาการทำเกษตรอินทรีย์ ที่นอกจากจะทำให้ระบบนิเวศดีขึ้น ยังได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ นำไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าได้อีกด้วย
จากแปลงทดลองในบ้านตนเอง มลเริ่มมั่นใจว่าการทำเกษตรอินทรีย์ ด้วยความรู้สมัยใหม่ อาจเป็นทางรอดของเกษตรกรไทย เธอจึงค่อยๆ แบ่งปันความรู้ให้คนอื่น เริ่มตั้งแต่การก่อตั้งศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ครบวงจร ‘ทุ่งกับดอย’ และทำงานร่วมกับเพื่อนๆ ในนาม ‘กลุ่มม่วนใจ๋’ จับมือภาคีเครือข่ายต่างๆ ผลักดันให้พื้นที่รอบดอยหลวงเชียงดาวเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์
ที่สำคัญ เธอยังจัดห้องเรียนวิชาธรรมชาติ ‘Chiang Dao Classroom’ ส่งเสริมให้ผู้ที่สนใจในธรรมชาติ มาเรียนรู้เป็นนักเรียนของโลก (Student of Earth) เข้าป่าไปเห็น-สัมผัส-ชิม-ฟังเสียง-รู้สึก เปิดใจเชื่อมโยงมนุษย์กับธรรมชาติ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติต้นน้ำ เชื่อมโยงป่าที่เป็นต้นทางของอาหารและสรรพชีวิตในนาม กลุ่มถิ่นนิยม โดยมีทีมงานเป็นเด็กๆ เรียกว่า ‘แก๊งถิ่นนิยม’ และคนรุ่นใหม่ที่กลับบ้านมารวมตัวกันเป็นกลุ่มนำพาผู้คนไปทำกิจกรรมสร้างสรรค์ชุมชนต่างๆ กิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติรวมถึงเรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอพาทุกคนไปพูดคุยกับ 1 ใน 30 บุคคลจากโครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก นักวิจัยที่อยากใช้ความรู้และหัวใจที่รักบ้านเกิดมาพัฒนาดอยหลวงเชียงดาว ตลอดจนนำความรู้นี้ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้อยู่ดีกินดีอย่างยั่งยืน
บ้านเกิดของมล อยู่ที่บ้านหัวทุ่ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
ครอบครัวของเธอปลูกข้าวเป็นหลัก พอพ้นหน้านา จึงเปลี่ยนมาปลูกพืชหมุนเวียน อย่างข้าวโพด ถั่ว ทั้งยังทำสวนลำไย ขึ้นอยู่กับว่า เวลานั้นตลาดต้องการผลผลิตอะไร
มลไม่เคยรู้สึกว่าชีวิตในครอบครัวเกษตรกรนั้นลำบากหรือยากจน เพราะมีอาหารให้กินอุดมสมบูรณ์ ไม่เคยอด เพียงแต่เวลาต้องการใช้เงินก้อน ก็ต้องรอลุ้นว่าผลผลิตจะขายได้ตามเป้าหรือไม่
สมัยเด็ก เธอตามพ่อแม่ไปช่วยเพาะปลูก เกี่ยวข้าว แต่ไม่ได้ชอบ เพราะทั้งร้อนและเหนื่อย แถมยังต้องทำอะไรจำเจ ทำให้ไม่เคยคิดอยากเป็นเกษตรกรเลยสักนิด
ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ก็ปลูกฝังว่า ถ้าไม่อยากลำบากตรากตรำก็ต้องเรียนให้สูงๆ เธอจึงตั้งหน้าตั้งตาเรียนหนังสือ โดยฝันว่าโตขึ้นอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์
“เราดูการ์ตูนเยอะ ดูตั้งแต่โดราเอมอน การ์ตูน Ghibli ไปจนถึงนิทานชีวิตที่ฉายช่อง 7 สี ซึ่งตัวละครหลักมักจะออกไปผจญภัย สำรวจนู่นนี่ คล้ายๆ กับเราที่ตอนเด็กอยู่ไม่ติดบ้าน ชอบตามปู่กับพ่อเข้าป่า ไปสำรวจพืชพรรณ สมุนไพร ไปดูแมลง รู้สึกชอบที่ได้อยู่กับธรรมชาติ สมัยนั้นจะเรียนชีววิทยาได้ดี”
พอถึงช่วงเข้ามหาวิทยาลัย หญิงสาวจากเชียงดาวตัดสินใจสอบแพทย์ เนื่องจากอยากช่วยเหลือคน แต่สอบไม่ติด จึงหวนกลับมาหาความฝันเดิม โดยเลือกเรียนสาขาชีววิทยาประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เพราะมองว่าการเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่พัฒนายารักษาโรคหรือคิดค้นวิทยาการใหม่ๆ ก็เหมือนได้ช่วยชีวิตคนทางอ้อม
ช่วงที่เรียนใกล้จบ มลฝึกงานที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยได้ทำหน้าที่ในห้องวิจัยเกี่ยวกับเห็ดรา (Mycology) ซึ่งเป็นประตูบานสำคัญที่เปิดให้เธอเริ่มสนใจงานด้านนี้ พอเรียนจบจึงชิมลางทำธุรกิจแรก ด้วยการเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่นขาย
“ตอนนั้นขอโฉนดยายไปค้ำประกันเพื่อกู้เงิน 3 แสนบาทมาลงทุน เพราะตกลงกับคนขายก้อนเห็ดแล้วว่า เราซื้อก้อนเห็ดจากเขามาเพาะ พอเห็ดออกเขาก็จะรับซื้อ พูดง่ายๆว่า เรารับจ้างเพาะอย่างเดียว ตอนนั้นคิดว่ากำไรเห็นๆ ก็ตั้งหน้าตั้งตาเพาะเห็ด ผลผลิตงอกงามจนเก็บไม่ทัน แต่คนที่รับซื้อกลับชิ่ง ส่งของไปแล้ว ไม่โอนเงินมา พอไปตามถึงรู้ว่าหนีไปแล้ว”
แม้จะถูกหลอก แต่มลก็ต้องหาทางรับมือกับกองทัพเห็ดที่ยังออกมาเรื่อยๆ
จากที่ไม่เคยคิดจะหาตลาดเอง กลายเป็นต้องตระเวนไปเสนอขายเห็ดให้แม่ค้าในตลาด โรงแรมและโรงงานแปรรูป บทเรียนครั้งนั้นทำให้รู้ว่า หัวใจหนึ่งของการทำธุรกิจคือ อย่ายืมจมูกคนอื่นหายใจ
หลังจากนั้นก็เป็นจังหวะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เปิดหลักสูตรเทคโนโลยีชีวภาพ ในระดับปริญญาโท อาจารย์เลยชักชวนให้มาเรียน ข้อดีของหลักสูตรนี้คือมลได้นำความรู้ด้านเทคโนโลยีไปต่อยอดความรู้ทางด้านชีววิทยาที่มี โดยระหว่างนั้นเธอก็ยังหาลู่ทางทำธุรกิจต่อ
“นอกจากทำนา ที่บ้านยังเปิดร้านขายของชำด้วย เราเลยชอบค้าขายมาตั้งแต่เล็ก พอเลือกมาทำแล็บที่ สวทช. ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคารวิทยาศาสตร์ ตรงข้ามกับตลาดไท เวลาจะซื้อของมาทำแล็บ เราก็จะข้ามไปซื้อที่ตลาดไทตลอด จนเริ่มสังเกตว่า ที่นี่มีพืชผักเมืองหนาวขายเยอะ เลยคิดว่า ไหนๆ ก็ต้องไปๆ มาๆ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่อยู่แล้ว ทำไมไม่มาเป็นแม่ค้าคนกลางนำผลผลิตจากบ้านเกิดมาขายต่อเองซะเลย”
ประสบการณ์จากฟาร์มเห็ดและตลาดไทนี้เอง ที่ต่อยอดให้มลมองเห็นภาพใหญ่ของการทำธุรกิจการเกษตร ตั้งแต่คนปลูก พ่อค้าคนกลาง ตลาดขายส่ง ไปจนถึงมือของผู้บริโภค
เริ่มตั้งแต่การหาตลาด ซึ่งช่วงแรกไม่ง่าย เนื่องจากพ่อค้าแม่ขายส่วนใหญ่ต่างมีเจ้าประจำที่รับซื้อกันอยู่แล้ว มลจึงต้องเข้าไปตีสนิทเพื่อถามไถ่ว่ามีใครสนใจรับซื้อผลผลิตจากเธอบ้าง โชคดีที่พ่อค้าแม่ค้าที่ตลาดไทก็น่ารัก ช่วยแนะนำว่าให้ลองไปติดต่อเจ้าอื่นๆ ทำให้เริ่มมีลูกค้า
นอกจากนั้นเธอยังไปฝากร้านบนอินเทอร์เน็ต หรือถ้าเห็นใครประกาศหาผลผลิต ก็จะลองติดต่อไป ทำให้มีเครือข่ายกว้างขวางไปจนถึงลูกค้าต่างประเทศ
ขณะเดียวกัน เวลาที่กลับขึ้นไปเรียนที่เชียงใหม่ มลก็จะตระเวนไปตามตลาดขายส่งต่างๆ มองหาเกษตรกรที่มาส่งผลผลิต เพื่อติดต่อให้ส่งสินค้าให้เธอบ้าง ควบคู่ไปกับเรียนรู้เรื่องระบบโลจิสติกส์ ตั้งแต่การบรรจุ การขนส่งที่รักษาคุณภาพผลผลิตได้จนถึงปลายทาง
“ทุกอย่างคือการเรียนรู้ แต่ในทุกการเรียนรู้ก็มีราคาที่ต้องจ่าย บางครั้งต่อให้แพ็กมาอย่างดี แต่พอไปถึงปลายทาง ปรากฏว่าผลผลิตเริ่มเน่าเสียก็มี หรือบางเคส เราเข้าไปส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกพืช มีการประกันราคารับซื้อ แต่สุดท้ายพอผลผลิตไม่ตรงสเป็ก ในฐานะคนกลางเราก็ต้องรับผิดชอบ ตั้งแต่การเจรจาไปจนถึงจ่ายเงินชดเชยให้ลูกค้า”
หนึ่งในกรณีที่ถือเป็นบทเรียนราคาแพงคือ ตอนที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกผักชีเพื่อส่งไปสิงคโปร์ โดยผักชีต้องมีความยาวประมาณหนึ่งคืบเพื่อจะได้บรรจุใส่ถุงได้พอดี แต่ปรากฏว่า ผลผลิตที่ชาวบ้านส่งมามีทั้งขนาดยาวกว่าที่ต้องการ ไปจนถึงเสียหายเพราะบรรจุไม่ดี ทำให้ไม่สามารถส่งต่อให้ลูกค้าได้ พอเจอแบบนี้บ่อยๆ ธุรกิจที่ทำกำไรก็กลายเป็นเข้าเนื้อ สุดท้ายจึงต้องเลิกทำ
แม้จะเจ็บตัวอีกครั้ง แต่มลก็ได้เรียนรู้และฝึกฝนทั้งการจัดการ การเจรจาธุรกิจ ความใจเย็น ที่สำคัญทำให้เธอรู้ซึ้งถึงปัญหาของเกษตรกรบ้านเราตั้งแต่ต้นจนถึงปลายน้ำ อย่างชัดเจนขึ้น
“เราเริ่มเข้าใจว่า ทำไมชาวบ้านจึงมีต้นทุนสูง ทำไมพึ่งตนเองไม่ได้ เพราะเมื่อพ่อค้าคนกลางล็อกสเป็กผลผลิต แต่ชาวบ้านไม่รู้วิธีเพิ่มผลผลิต จึงต้องเชื่อคำโฆษณาที่ให้ใส่ปุ๋ยหรือฮอร์โมนเพื่อให้ได้ขนาดอย่างที่พ่อค้าต้องการ ต้นทุนจึงสูงตาม หากรับไม่ไหวก็ต้องขายไร่ขายนา เพราะลูกหลานไม่ทำต่อ
“แต่บางทีเกษตรกรก็ไม่มีจุดยืน อันไหนแพงก็ปลูก มีใครให้ราคาสูงกว่าก็ขายตัดหน้าเราไปได้ อย่างนี้ออเดอร์ที่รับมามันก็เสีย ถึงเข้าใจอีกว่าทำไมพ่อค้าคนกลางต้องเขี้ยว ทำไมต้องดุ แต่ก่อนเราเคยช่วยพ่อแม่ทำเกษตร ก็สงสัยว่าทำไมปลูกแทบตาย คนกลางให้เงินมาเท่านี้ แต่จริงๆ แล้ว ด้วยมาตรฐานคุณภาพต้องเผื่อหักเผื่อคัดออกด้วย ก็เลยเริ่มรู้ว่าวงการนี้เป็นอย่างนี้”
หญิงสาวจากเชียงดาวแทบไม่เคยมีสักเสี้ยวความคิดที่จะกลับบ้านมาทำการเกษตร เพราะยังคงสนุกกับการทำงานวิจัย จนวันหนึ่งชีวิตก็พามาพบกับจุดเปลี่ยน
เหตุการณ์มหาอุทกภัยในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2554 ทำให้ทุกอย่างตรงหน้าหยุดชะงัก อาคารสำหรับทำแล็บที่ สวทช. ถูกมวลน้ำปิดล้อม มลจึงถอยกลับมาตั้งหลักที่บ้านเกิด
เป็นจังหวะดีที่ตอนนั้น เธอได้ทุนมาทำงานพัฒนาชุมชน ทำให้มีโอกาสคลุกคลีกับชาวบ้าน และรู้สึกชอบงานลักษณะนี้ ดังนั้นพอสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ มลจึงกลับไปสมัครทำงานเป็นนักวิจัยที่ สวทช. เต็มตัว แต่ครั้งนี้ เธอไม่ได้อยู่เพียงแค่ในแล็บเท่านั้น แต่เลือกที่จะลงพื้นที่ต่างๆ ด้วยความตั้งใจที่จะหาทางช่วยเหลือเกษตรกร เพราะยังรู้สึกติดค้างในใจตั้งแต่ทำธุรกิจคนกลางที่ตลาดไท
โครงการหนึ่งที่รับมาทำคือ การหาวิธีเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของมันสำปะหลัง ซึ่งนักวิจัยอย่างเธอต้องตระเวนไปทั่วประเทศ เพื่อศึกษาปัญหาของชาวไร่ในแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้งถ่ายทอดความรู้ และชวนให้ทดลองปลูกด้วยวิธีการใหม่ๆ
“เราวิ่งไปเอาความรู้ของภาคนั้นมาให้ภาคนี้ แล้วก็ชวนเขาทำแปลงทดลอง ชาวบ้านก็กล้าทำเพราะว่ามันมีงบโครงการให้ด้วย อยากลองอะไรก็ได้ลอง เราก็สนุก แต่สุดท้ายงบหมด คนก็ไม่ไปต่อ และด้วยความที่มันคือการทดลอง เมื่อเราต่อยอดหรือขยายผลไปสู่ขนาดที่ค้าขายได้ มันกลับไม่คุ้มทุน”
โครงการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง ทำให้มลเห็นปัญหาอย่างหนึ่งของงานวิจัยไทย ที่ได้ผลลัพธ์ดีเมื่อทำในขนาดแปลงทดลอง แต่พอทำจริงกลับทำได้ยาก ไม่มีใครเอาด้วย เพราะนโยบาย ทฤษฎี วิชาการต่างๆ ไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติจริง
แม้จะมีประสบการณ์จากธุรกิจการเกษตร และลงพื้นที่ทำงานวิจัยกับเกษตรกรมาพักใหญ่ แต่เธอก็ยังไม่เห็นว่าตนเองจะสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้
กระทั่งวันหนึ่งมีเหตุการณ์ที่เปลี่ยนชีวิต เมื่อมลกลับบ้านที่เชียงดาวและได้ข่าวว่ามีเจ้าหน้าที่มาให้บริการตรวจเลือดหาสารพิษตกค้างฟรีที่หมู่บ้าน เธอจึงไปลองตรวจ และต้องตกใจกับผลที่ออกมาว่าในร่างกายมีสารเคมีตกค้างระดับ 4 ซึ่งเป็นระดับที่สุ่มเสี่ยงอันตราย
ความจริงที่โหดร้ายนั้น ทำให้นักวิจัยสาวย้อนคิดว่าทำอะไรผิดพลาด จนนึกออกว่าสารเคมีต่างๆ อาจมาจากผักต่างๆ ที่กินเป็นประจำ
“เฮ้ย เรากินคลีน กินชีวจิต ทำไมเจอ แต่เด็กๆ ในแก๊งที่วิ่งเล่นทำกิจกรรมกัน มันไม่ชอบกินผัก มันกินแต่หมู แต่กลับปลอดภัย ขณะที่พวกกินผักนี่โดนหมด
“ช่วงนั้นศึกษาอาหารเป็นยาด้วย เลยได้รู้ว่าอาหารที่เรากินไปคือยาพิษ พอมองย้อนไป เราก็เคยทำโครงการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูก ซึ่งเขาจะพ่นอะไรเราก็ไม่ว่า แต่ทีนี้ไม่ได้ละ มันควรจะปรุงยาตั้งแต่ดินเลย คือทำให้ผักมันมีสารอะไรบางอย่างที่กินไปแล้วบำรุงร่างกาย ไม่ต้องรอจนป่วยแล้วไปให้หมอรักษา เราเป็นเกษตรกร เราเป็นหมอตั้งแต่ก่อนเป็นโรคเลย”
คำถามสำคัญที่ตามมาคือ ใครจะเป็นคนปลูกผลผลิตที่มีประโยชน์และไร้สารเคมีเหล่านั้น เพราะจากประสบการณ์ที่คลุกคลีกับเกษตรกรมา มลรู้ดีกว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะโน้มน้าวให้ชาวนาชาวไร่ที่เคยชินกับการใช้สารเคมี ลุกขึ้นมาพลิกวิถีชีวิตกลายเป็นเกษตรกรอินทรีย์
ทางออกที่ดีที่สุดคือ เธอต้องทำเอง
ด้วยเหตุนี้ ทำให้มลตัดสินใจลาออกจากการเป็นนักวิจัย เพื่อกลับบ้านมาทำการเกษตรเต็มตัว ย้อนกลับมาสู่วิถีชีวิตดั้งเดิมของครอบครัว แต่ที่พิเศษคือเธอนำความรู้แบบนักวิทยาศาสตร์ปริญญาโทมาใช้
ในอีกทางหนึ่งก็เหมือนกับการทดลองทำด้วยตนเอง ซึ่งถ้าผลลัพธ์ออกมาดี หมายความว่าอาจนำโมเดลนี้ไปขยายผลต่อ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเกษตรกรคนอื่นๆ ได้เช่นกัน
เมื่อตั้งโจทย์ว่า อยากปรุงยาตั้งแต่ดิน มลจึงเลือกทำเกษตรอินทรีย์ 100% ซึ่งฉีกกรอบจากวิถีของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่เคยชินกับการใช้สารเคมีมานาน
เธอตั้งต้นโดยขอแบ่งพื้นที่ของพ่อมา 4 ไร่ จากนั้นทดลองปลูกข้าวและพืชหมุนเวียนตามฤดูกาล โชคดีที่อาของมลซึ่งเป็นครูอนุบาล มักจะพาเด็กๆ มาเรียนทำนาที่บ้านอยู่เสมอ จึงมีนาอยู่แปลงหนึ่งที่ไม่ได้ใช้สารเคมีอยู่แล้ว พ่อเลยยกที่ดินผืนนี้ให้ใช้ แม้จะไม่ค่อยเข้าใจความคิดของลูกสาว
“เขาดีใจที่ลูกกลับมาบ้าน ได้อยู่กับลูก แต่ก็เป็นห่วงว่าเราจะเอาอะไรกิน พ่อบอกว่าทำเกษตรมันอยู่ไม่ได้ เขารู้ดีเพราะทำมาตั้งนานแล้ว”
พ่อของมลคือคนที่รู้ฤทธิ์ของสารเคมีเป็นอย่างดี เพราะเคยเป็นแผลที่เท้าแล้วเผลอไปเหยียบยาฆ่าหญ้า จนติดเชื้อในกระแสเลือด เกือบเอาชีวิตไม่รอด แต่ที่ไม่ยอมเลิกใช้ เพราะไม่รู้ว่าจะหยุดได้อย่างไร ถ้าไม่ใช้ก็กลัวพืชผลไม่งอกงาม
แม้มลจะวิ่งหนีการทำเกษตรมาโดยตลอด แต่พอลงมือทำจริงในวัยผู้ใหญ่ เธอกลับค้นพบเสน่ห์อย่างหนึ่งของการทำอาชีพนี้คือ อิสระ มีเวลาได้อยู่กับตัวเอง อยู่กับธรรมชาติ อยู่กับความเงียบ ทำแล้วรู้สึกดี เธอจะเริ่มงานตั้งแต่เช้า พอบ่ายแดดแรงก็หลบเข้าร่มเปิดคอมพิวเตอร์ทำงานเอกสาร ทำโครงงานวิจัย แดดร่มแล้วก็กลับไปทำต่อที่แปลง พอตกเย็นก็กลับบ้านไปกินข้าวกับครอบครัว
ปีแรก ถ้าวัดที่จำนวนผลผลิตต่อไร่ นาอินทรีย์ของมลยังแพ้นาเคมีของพ่ออยู่ 3 เท่า แต่ด้วยความเป็นนักวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีชีวภาพ เธอจึงนำข้าวไปต่อยอดงานวิทยานิพนธ์สมัยเรียนปริญญาโท โดยแปรรูปเป็นอาหารสูตรเจสำหรับเลี้ยงเห็ดถั่งเช่า ทำให้มีสารทางยาเพิ่มขึ้น ก่อนจะสกัดออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอีกที ขณะที่ข้าวอีกส่วน มลรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ช่วยกันขาย ทำให้ได้ราคาสูงกว่าข้าวทั่วไป
“พ่อบอก เห็นไหม ไม่ใส่ปุ๋ย มันได้น้อย เราบอกว่า อย่าไปวัดที่จำนวน วัดที่กำไร ลบต้นทุนดูสิ เราเอาข้าวที่ปลูกไปเพิ่มมูลค่า จากกิโลละ 5 บาท เราอัพจนถึงกิโลละ 20 บาท
“สมมุติว่าพ่อได้ 90 กระสอบ เราได้ 30 กระสอบ พ่อขายได้ 45,000 บาท แต่เราขายได้ 60,000 เพราะฉะนั้น ถึงจำนวนน้อย แต่มูลค่ามันเยอะกว่า แล้วเราไม่ต้องเปลืองแรง แค่บวกลบตัวเลขนี้ก็รู้แล้ว”
จากปีแรกที่ได้ข้าวน้อย เมื่อทำต่อมาเรื่อยๆ ดินก็อุดมสมบูรณ์ขึ้น ปีต่อๆ มาผลผลิตจึงเพิ่มขึ้นตามลำดับ พ่อของมลก็ไม่ได้หันมาทำนาอินทรีย์ แต่ใช้วิธียกนาให้มลดูแลไปเลยเกือบ 10 ไร่ ส่วนตนเองบางทีก็มาช่วยตัดหญ้า บางทีก็มาถามว่าจะเอามูลหมูไปทำปุ๋ยไหม
“คนเหนือเขาเชื่ออยู่อย่างหนึ่ง ถ้าจะยอมรับให้เราทำเกษตร คุณต้องปลูกข้าวเข้ายุ้งให้ครอบครัวและญาติพี่น้องได้กินตลอดทั้งปี ถึงจะเรียกว่าโตแล้ว เป็นผู้ใหญ่แล้ว คือสามารถรับผิดชอบปากท้องได้แล้ว คุณอยากไปทำอะไรก็ไปทำ แต่ถ้าปลูกข้าวยังไม่ได้ ไม่ต้องไปทำมาหากินอะไรแล้ว คือไม่ได้รับการยอมรับ ดังนั้นเราจึงต้องทำนาเพื่อพิสูจน์ให้พวกเขาเห็น”
หัวใจสำคัญอีกอย่างที่ทำให้ผลผลิตงอกงาม คือการนำความรู้เรื่องจุลินทรีย์มาใช้ จริงๆ แล้วในดินมีจุลินทรีย์ตามธรรมชาติ ถ้ารู้วิธีคัดสรรสายพันธุ์หรือเพิ่มปริมาณให้เหมาะกับพืชแต่ละชนิด นำบางสายพันธุ์ที่เคยมีกลับคืนมา ก็จะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ได้
“เราพยายามใช้สิ่งมีชีวิตสร้างระบบนิเวศใหม่ให้เอื้อต่อการเกษตร เราใช้ความรู้ทางชีววิทยา เราเรียนรู้เรื่องของป่า ระบบนิเวศเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นก็จำลองระบบนิเวศของป่าที่ทุกอย่างพึ่งพิงกันได้ ดูแลกันเอง โดยไม่มีใครไปจัดการ เราก็อยากจำลองระบบนิเวศนั้นมาในพื้นที่การเกษตร”
ระหว่างทำนั้นมลก็ใช้กระบวนการแบบวิทยาศาสตร์เก็บข้อมูล ทดลองในแปลงของตัวเองอย่างละเอียด ชนิดที่ว่าสามารถตีพิมพ์เป็นรูปเล่มอ้างอิงได้ เพราะเธอตั้งใจนำความรู้นี้ไปแบ่งปันให้เกษตรกรคนอื่นๆ จนกลายเป็นที่มาของการก่อตั้ง ‘ทุ่งกับดอย ศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร’ ที่นอกจากจะเป็นพื้นที่ทดลอง ยังเปิดโอกาสให้ชุมชนที่สนใจการเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมี หรือคนที่มีไอเดียอยากทดลองปลูกพืชอินทรีย์ชนิดอื่นแต่ยังไม่มีพื้นที่ทดลอง ได้เข้ามาเรียนรู้ ลงมือปลูก เพื่อนำไปปรับใช้กับพื้นที่ของแต่ละคน
นอกจากเกษตรกรที่สนใจแล้ว ทุ่งกับดอยยังเป็นห้องเรียนธรรมชาติ ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ในชุมชนได้มาเล่นสนุก คลุกดิน เปื้อนโคลน โดยไม่ต้องกลัวว่าจะได้รับอันตรายจากสารเคมีที่ปนเปื้อน
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้แนวคิดในการทำเกษตรอินทรีย์ขยายผลและยั่งยืน มลจึงออกไปทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่มีแนวคิดแบบเดียวกัน
เรื่องแบบนี้ไม่มีในตำรา ทุกความล้มเหลวคือบทเรียน ต่อให้ทำไปแล้วจะขาดทุน เข้าเนื้อบ้าง แต่ถ้าแลกกับการที่ได้องค์ความรู้ใหม่ที่ยังไม่มีใครทำก็ถือว่าคุ้ม
หนึ่งในนั้นคือ ‘กลุ่มม่วนใจ๋’ กลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีธรรมชาติ เชียงดาว ซึ่งเป็นการรวมตัวของเกษตรกรรุ่นใหม่ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ตั้งใจเปลี่ยนจากการปลูกแบบเคมีไปสู่เกษตรอินทรีย์ นำทีมโดยแหม่ม-ศรัณยา กิตติคุณไพศาล แห่งสวนบัวชมพู ณ จอมคีรี
หน้าที่หลักของกลุ่มม่วนใจ๋ คือ การช่วยกันเผยแพร่ความรู้ให้เพื่อนๆ เกษตรกร และสร้างผลิตภัณฑ์อินทรีย์ให้แก่ผู้บริโภค รวมไปถึงการเป็นพี่เลี้ยงให้กับกลุ่ม Young Smart Farmer ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักการเกษตร สามารถต่อยอดไปสู่การเป็นผู้ประกอบการ ที่พึ่งพาตนเอง และเป็นผู้นำทางการเกษตรในท้องถิ่นได้
ช่วงนี้เองที่นักวิจัยแห่งเชียงดาว นำประสบการณ์ในอดีตที่เคยคลุกคลีกับชาวบ้านมาใช้ เธอรู้ดีว่าแรงจูงใจสำคัญให้พวกเขาลดละเลิกใช้สารเคมีก็คือ ‘ตัวเงิน’ หรือ ‘รายได้’
“มลจะบอกชัดเลยว่า ถ้าทำแบบนี้มูลค่าที่ได้กลับมาจะเป็นแบบนี้ แต่การที่จะได้มูลค่าแบบนี้ คุณภาพต้องเบอร์นี้นะ แล้วถ้าจะทำให้ได้คุณภาพเบอร์นี้ ต้องทำยังไงบ้าง ค่อยๆ ไล่ไปเป็นขั้นๆ ให้เขาเห็นภาพ เช่น ต้องหยุดใช้สารเคมี จากนั้นทำอะไรต่อ”
แค่คำพูดเพียงอย่างเดียวไม่พอ ดังนั้นเมื่ออบรมเสร็จ มลจึงต้องรับบทบาทด่านหน้า ทำให้เห็นตั้งแต่ลงทุนปลูกเอง รับซื้อผลผลิตเอง นำมาแปรรูป จากนั้นไปหาตลาด สร้างรายได้ให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งมลก็ค่อยๆ เรียนรู้ ลองผิดลองถูกไปพร้อมๆ กับชาวบ้าน จากนั้นถอดบทเรียนแล้วก็ก้าวกันต่อไป
“เรื่องแบบนี้ไม่มีในตำรา ทุกความล้มเหลวคือบทเรียน ต่อให้ทำไปแล้วจะขาดทุน เข้าเนื้อบ้าง แต่ถ้าแลกกับการที่ได้องค์ความรู้ใหม่ที่ยังไม่มีใครทำก็ถือว่าคุ้ม อาจเพราะเรามีพื้นฐานของนักวิทยาศาสตร์ ทำให้เรามองข้ามการขาดทุนที่เป็นตัวเงิน และไม่ท้อที่จะเดินต่อ เพราะฉะนั้นก็เลยไม่หยุดทำ และคิดว่าจะทำให้มากกว่าเดิมอีก”
นอกจากนี้ เจ้าของศูนย์การเรียนรู้ทุ่งกับดอย ยังพยายามอธิบายให้ทุกคนฟังว่า ความจริงแล้วผลผลิตทางเกษตรสามารถนำไปต่อยอดสร้างมูลค่าได้อีกมากมาย เช่น นำไปติดต่อขายโดยตรงกับร้านอาหาร โรงแรม หรือพัฒนาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งพวกเขามีทางเลือกมากกว่าตัดใส่ตะกร้าขายให้พ่อค้าคนกลางเท่านั้น
อย่างมลเองก็นำนวัตกรรมมาต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตทางการเกษตรหลายรูปแบบ เช่น ปุ๋ยชีวภาพที่ใช้จุลินทรีย์ช่วยให้รากฝอยพืชโตเร็วและดูดซับสารอาหารได้มากขึ้น เครื่องสำอางที่สกัดจากกลีบดอกไม้ น้ำมันสกัดจากดอกไม้และสมุนไพร รวมถึงเครื่องดื่มเสริมอาหาร ส่วนเห็ดถั่งเช่าก็ต่อยอดไปเป็นแผ่นมาสก์หน้าก่อนนอน (Sleeping mask)
“เกษตรกรรมเป็นฐานของธุรกิจหรือเศรษฐกิจทุกอย่าง อย่างยารักษาโรค พื้นฐานมันก็คือแป้งมันสำปะหลัง เสื้อผ้า วงการเครื่องนุ่งห่ม ก็มาจากฝ้าย สีธรรมชาติที่ใช้ย้อมก็มาจากการเพาะปลูก เพราะฉะนั้น ปัจจัย 4 ของเราในทุกวันนี้ ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ยารักษาโรค ล้วนแต่มาจากการเกษตร
“แล้วระหว่างที่ทำ มันมีรายละเอียดที่น่าสนใจ กลิ่นแบบนี้ วัตถุดิบแบบนี้สามารถกินไปแล้วทำให้ผ่อนคลาย มันก็เริ่มไปอยู่ในวงการรักษา บำบัด แล้วสามารถทำเป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตรก็ได้ เกษตรกรรมก็เลยสามารถทำเงินได้ทุกวงการ ถ้าเราเอาไปเชื่อมได้”
ด้วยความคิดแบบนี้ ทำให้มลรู้สึกเศร้าใจทุกครั้งที่เห็นข่าวชาวนาชาวไร่ชาวสวน ออกมาเรียกร้องเรื่องความผันผวนของราคาผลผลิต หรือถูกกดขี่จนมีหนี้สินมากมาย
ถ้าพวกเขามีความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์ที่ช่วยลดต้นทุนและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ มีคนช่วยเสริมเรื่องนวัตกรรมการเกษตร มีลูกหลานเข้ามาช่วยหาตลาด หาช่องทางการขายโดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ก็น่าจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยให้ดีขึ้น ซึ่งเธอพยายามผลักดันสิ่งเหล่านี้อย่างสุดความสามารถ
นอกจากการทำเกษตรอินทรีย์ ช่วงหลังๆ มลยังต่อยอดการทำเกษตรไปยังด้านอื่นๆ ด้วย เชื่อมโยงการจัดการทรัพยากรคนและทรัพยากรธรรมชาติเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษาเรียนรู้ชุมชน ศิลปะ ความสวยความงาม ไปจนถึงการดูแลป่าต้นน้ำ
โดยกลุ่มถิ่นนิยมของเธอเป็นหนึ่งในภาคีคนรักดอยหลวงเชียงดาว ที่ทำงานเผยแพร่ความรู้และจัดอบรมคนในชุมชนรวมถึงนักท่องเที่ยวขึ้นดอยหลวงเชียงดาว ปี 2564 เพื่อให้ตระหนักถึงการท่องเที่ยว การกินการอยู่ที่สอดคล้องกับการอนุรักษ์ธรรมชาติไปพร้อมกัน
“ถ้าไม่มีป่า ก็ไม่มีน้ำ เราก็ทำเกษตรไม่ได้ เชียงดาวไม่มีเขื่อน น้ำที่ใช้ทำการเกษตรมาจากป่าต้นน้ำ ฉะนั้นถ้าไม่ช่วยกันรักษา เราก็จะไม่มีอาหาร ไม่มีรายได้”
ขณะเดียวกัน นักวิจัยคนนี้ยังเล็งเห็นว่า ควรจะต้องสร้าง ‘คน’ ที่จะมาช่วยดูแลและพัฒนาชุมชนบ้านเกิดของเธอต่อไปในวันข้างหน้า ซึ่งคนเหล่านี้ก็คือเด็กๆ ในเชียงดาว จึงเป็นที่มาของการรวมกลุ่มเด็กๆ และเยาวชน ที่มลพาเข้าป่าและช่วยทำเกษตรตั้งแต่ยังอยู่ชั้นอนุบาล ตั้งเป็นแก๊ง ‘ถิ่นนิยม’
“มันมีคำว่าสังคมนิยม ทุนนิยม แต่เราไม่ได้มีทุนจะต้องนิยม เชียงดาวมีทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรคน และความรู้ที่น่าสนใจ ถ้าเรารู้จักใช้ประโยชน์ มันก็จะสร้างมูลค่าให้ได้ ตั้งแต่ตอนน้ำท่วม ที่เรากลับบ้านมาชวนชาวบ้านทำวิจัย เราสรุปได้อย่างหนึ่งว่า ถ้าจะพัฒนาชุมชน ต้องใช้ระบบถิ่นนิยม ดังนั้นต้องเริ่มตั้งแต่ชวนคนกลับมาศึกษาว่าบ้านเกิดของเรามีอะไรอยู่บ้าง”
ตอนนี้เด็กๆ แก๊งถิ่นนิยมหลายคนเติบโตขึ้นและมีความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นเป็นอย่างดี มลพยายามฝึกพวกเขาให้มีทักษะการเป็นผู้ประกอบการ โดยให้ทดลองเป็นผู้จัดการร้าน ‘ถิ่นนิยม Local Shop’ ซึ่งเป็นร้านที่รวบรวมสินค้าเกษตรของชาวบ้านมาขาย เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน
นอกจากนี้ ยังชวนกลุ่มถิ่นนิยมจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ โดยน้องๆ รับหน้าที่เป็นไกด์ท้องถิ่น เพื่อพาผู้ที่สนใจ รวมถึงเด็กๆ คนอื่นเข้าไปเดินป่าต้นน้ำ เพื่อเรียนรู้ระบบนิเวศในป่า ตลอดจนมองหาความสวยงามของธรรมชาติ ทั้งสีสัน รูปทรงในดิน น้ำ ป่า ท้องฟ้า นำมาสร้างเป็นงานศิลปะ
กิจกรรมนี้เปิดรับคนที่สนใจทุกเพศทุกวัย ซึ่งหนึ่งในลูกศิษย์ของถิ่นนิยม ก็คือ แพรี่พาย–อมตา จิตตะเสนีย์ บิ้วตี้บล็อกเกอร์ชื่อดัง ที่มาร่วมเปิดประสบการณ์เดินป่าเรียนรู้ธรรมชาติ เรียนรู้ชุมชน จนเกิดแรงบันดาลใจกลับไปทำสวนผักอินทรีย์บนดาดฟ้า สร้างระบบนิเวศป่าเชียงดาวจำลองเพื่อผลิตอาหาร สร้างความมั่นคงด้านอาหารของตัวเอง และยังมาร่วมเป็นกระบวนกรจัดค่าย Chiangdao classroom x pearypiesmileycamp จัดกิจกรรมเรียนรู้สีจากธรรมชาติใช้ย้อมผ้า และทำเป็นสีหินแต่งหน้าจากป่า สร้างแรงบันดาลใจด้านสีสันในธรรมชาติให้กับนักเรียนที่มาเรียน
นอกจากกิจกรรมท่องเที่ยว ถิ่นนิยมยังมีกิจกรรมเกี่ยวกับอาหารการกิน ตามรอยวัตถุดิบ โดยไปจับมือกับเชฟตาม-ชุดารี เทพาคำ ผู้ชนะรายการ Top Chef Thailand คนแรก ทำป๊อปอัพโปรเจกต์ ชวนเชฟจากโรงแรมในเชียงใหม่ทำโครงการ Jiang Mai Organic จัด Chef’s Table อาหารตามฤดูกาลที่มาจากป่าบนดอยเชียงดาว โดยเด็กๆ จากแก๊งถิ่นนิยมช่วยกันจัดหาวัตถุดิบตามฤดูกาลในชุมชน แนะนำวัตถุดิบให้แก่เชฟและแขกที่มาร่วมรับประทานอาหารสัมผัสได้ถึงคุณค่าของอาหารที่มากกว่าความอร่อย แต่ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมเกษตรกรและดูแลป่าต้นน้ำ
มลเชื่อว่า กิจกรรมเหล่านี้ นอกจากจะช่วยให้คนรุ่นใหม่หันมาเปิดใจ เข้าใจ เห็นประโยชน์ คุณค่า และเกิดความเคารพแล้ว ยังส่งผลให้เกิดความใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม และตระหนักถึงความสำคัญของวัตถุดิบในท้องถิ่นและคนที่อยู่เบื้องหลังที่ช่วยกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ รวมทั้งส่งเสริมให้คนในชุมชนเกิดความรักและหวงแหนบ้านเกิดอีกด้วย
เพราะเป้าหมายที่มลอยากเห็นคือ ภาพของเชียงดาวที่เป็น Wellness City หรือเมือง ‘อยู่ดี กินดี’ ซึ่งพื้นฐานของการกินดี ต้องมาจากการเกษตรที่ดี ส่วนอยู่ดีคือ มีระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืน ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้านให้ดีขึ้น
“อนาคตเด็กๆ จากแก๊งถิ่นนิยม เขาอาจจะไปเรียนต่อหรือไปทำงานที่ไหนก็ตาม แต่เขาจะไม่ลืมว่าบ้านของเขาอยู่ที่นี่ และถ้าวันหนึ่งเขาจะกลับมา ก็ไม่ต้องกลัวว่ากลับมาแล้วจะมาทำอะไร เพราะเราปลูกฝังให้เขารู้แล้วว่า บ้านเกิดของเขามีอะไรดี เพื่อที่เขาจะนำความรู้ที่มีมาต่อยอด”
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของนักวิจัยและเกษตรกรที่มีความมุ่งมั่นอยากนำความรู้ที่มีมาพัฒนาบ้านเกิด เพื่อหวังส่งต่อเป็นมรดกจากรุ่นสู่รุ่น
และถ้าวันหนึ่งเชียงดาวก้าวไปสู่เมือง ‘อยู่ดี กินดี’ ได้สำเร็จแล้ว เธอก็หวังว่าจะนำโมเดลนี้ไปใช้ขยายต่อ เพื่อสร้างเมือง ‘อยู่ดี กินดี’ ในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศไทย
คนเล็กเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 30 บุคคลผู้สร้างสังคมที่ยั่งยืน และช่วยกันสร้างคุณค่าสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นประเทศ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
จิราวรรณ คำซาว คือบุคคลต้นแบบประเด็นยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 2), ประเด็นสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความต้านทานและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมยั่งยืนและส่งเสริมนวัตกรรม (SDGs ข้อที่ 9), ประเด็นสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 12) และประเด็นปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริม การใช้ระบบนิเวศบนบกและการจัดการป่าอย่างยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 15)
จากนักแกะสลักน้ำแข็ง สู่สุดยอดทีมนักแกะสลักหิมะ ที่คว้าชัยในเทศกาลหิมะอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง พร้อมพิสูจน์ให้โลกได้เห็นว่า ถึงเมืองไทยไม่มีหิมะ เราก็สร้างที่ยิ่งใหญ่ได้
ครูผู้อุทิศชีวิตให้งานอนุรักษ์และการศึกษา ผ่านเรื่องเด็กและช้าง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างธรรมชาติที่ยั่งยืน
อาจารย์แพทย์และนักวิจัย ผู้พยายามสร้างรากฐานความมั่นคงทางด้านสุขภาพแก่สังคมไทย ผ่านการสร้างวัคซีนรักษาโรค
นักเศรษฐศาสตร์ที่บุกเบิกและทำงานเรื่องพลังงานยาวนานกว่า 30 ปี และจุดประกายให้ทุกคนเห็นพลังงานนั้นใกล้ตัวเรามากเพียงใด
จากกลุ่มรณรงค์ในโลกออนไลน์ที่คัดค้านการตัดต้านต้นไม้เก่าแก่เพื่อสร้างคอนโด สู่นักขับเคลื่อนที่ปลุกกระแสการรักษ์ไม้ใหญ่ในเมือง
นักธุรกิจเพื่อสังคมรุ่นใหม่ที่ทำงานเรื่องคนพิการ ผู้ก่อตั้ง ‘กล่องดินสอ’ ที่สร้างสรรค์กิจกรรมและนวัตกรรมต่างๆ เพื่อให้ทุกคนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
โลกดนตรี ตำนานรายการคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ที่ศิลปินยุค 1970-2000 อยากขึ้นแสดงมากที่สุด เพราะใครที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีนี้ แสดงว่าดังแล้ว
ห้องทดลองกฎหมายของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่ทำงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิเรื่องสัญชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
นักออกแบบแดนปัตตานีที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพจำๆ เดิมของชายแดนใต้ ไปสู่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์
จากครูอาสาที่มาสอนดนตรีในชุมชนคลองเตย สู่การต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ที่จะเติบโตอย่างงดงาม
แรงบันดาลใจของพระอีสานผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.