หลายคนอาจไม่รู้ว่า ประเทศไทยมีขยะพลาสติกในทะเลสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
ปีหนึ่งเราสร้างขยะมากกว่า 27 ล้านตัน ถ้านำมากองรวมกันน่าจะใหญ่กว่าครึ่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ยิ่งในยุคโรคระบาดที่ผ่านมา ก็มีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งจากหน้ากากอนามัย อุปกรณ์การแพทย์ใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือการสั่งอาหารเดลิเวอรี
เมื่อปริมาณขยะสะสมเริ่มเพิ่มสูงเกินกว่าจะจัดการ ทำให้ทุกวันนี้แค่ทิ้งขยะลงถังคงไม่พอ แต่เราต้องช่วยกันลดการใช้ และพยายามนำขยะกลับไปรีไซเคิล อย่างไรก็ตามปัญหานี้ใหญ่เกินกว่าที่จะแก้ด้วยองค์กรใดองค์กรหนึ่งหรือใครคนเดียว ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกัน
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีโครงการจัดการขยะที่น่าสนใจเกิดขึ้นในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้จัดทำมีความเชื่อว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นคนสายกรีน แต่ทุกคนก็จัดการขยะได้ถ้ามีการออกแบบมาตรการและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมรองรับ
โครงการนั้นชื่อว่า Chula Zero Waste มีกิจกรรมหลายอย่าง เช่น ติดตั้งตู้กดน้ำตามอาคารเพื่อช่วยลดการใช้ขวดพลาสติก มีถังขยะหลากหลายประเภท และแยกสีถัง ทำป้ายบอกสิ่งที่ต้องทิ้งอย่างชัดเจน ตลอดจนเป็นรายแรกๆ ที่ชวนร้านกาแฟให้ลดราคาเครื่องดื่มเมื่อนำแก้วมาเอง
หลังจากทำจริงจังต่อเนื่องมา 5 ปี ปริมาณขยะในจุฬาฯ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด และสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมคนไม่น้อยให้สร้างขยะน้อยลง และแยกทิ้งขยะได้ถูกถัง
คนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังและเป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้คือ ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี แห่งสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ นักวิชาการที่สนใจเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมมายาวนาน และมีส่วนสำคัญในการผลักดันกฎหมายเพื่อจัดการขยะระดับประเทศหลายด้าน
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอพาไปรู้จักกับอีก 1 ใน 30 บุคคลในโครงการ คนเล็กเปลี่ยนโลก ผู้พยายามเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ความยั่งยืน
บางทีความสำเร็จในรั้วมหาวิทยาลัย อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่กว่าในระดับประเทศ
ความจริงแล้ว ดร.สุจิตราไม่ใช่คนสายสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่แรก
ครอบครัวของเธอนับถือศาสนาคริสต์ และไปโบสถ์กันทุกวันอาทิตย์ ทำให้สุจิตราได้รับการปลูกฝังเรื่องความรักต่อเพื่อนมนุษย์มาตั้งแต่วัยเยาว์ เธอจึงชอบทำกิจกรรมเชิงสังคม ไปออกค่ายอาสาพัฒนา เพราะรู้สึกว่าได้ทำประโยชน์เพื่อคนอื่น
แม้จะเลือกเรียนรัฐศาสตร์ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่จุฬาฯ แต่พอเรียนจบ สุจิตราคิดว่าตัวเองไม่เหมาะกับอาชีพนักการทูต เธออยากทำงานเพื่อสังคมมากกว่า จนเคยคิดจะไปเป็นเอ็นจีโอด้วยซ้ำ ระหว่างนั้นก็เลยมองหาทุนเรียนต่อด้านการพัฒนาชุมชนและสังคม ก่อนสอบได้ทุนไปเรียนด้าน International Development and Cooperation ที่มหาวิทยาลัยฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น
“ตอนจบรัฐศาสตร์เรายังไม่รู้ว่าจะทำอะไรแน่ชัด รู้แค่ว่าจะไม่ทำงานบริษัทเอกชน เราไม่อยากทำงานเพื่อกำไรของคนใดคนหนึ่ง แต่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างให้กับโลก”
ที่ฮิโรชิมา อดีตนิสิตคณะรัฐศาสตร์ได้พบกับอาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งเคยมาทำวิจัยที่เมืองไทยด้าน เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ทำให้เธอเลือกเรียนสาขานี้ ทั้งปริญญาโทและปริญญาเอก โดยทำวิทยานิพนธ์ด้านมลภาวะทางอากาศ พูดถึงฝุ่น PM10 และ PM 2.5 ตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ก่อนที่จะกลายเป็นวิกฤตฝุ่นในขณะนี้
ชีวิตที่ญี่ปุ่น ไม่ได้ทำให้เธอสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเท่าไร เพราะเอาเข้าจริงแล้วชาวอาทิตย์อุทัยหลายคนก็ไม่ใช่คนรักษ์โลก หรือมีสำนึกสีเขียวมากมาย แต่สุจิตราสังเกตว่า ทุกคนแยกขยะกันจริงจัง เนื่องจากสังคมญี่ปุ่นมีบรรทัดฐานว่าทุกคนต้องรับผิดชอบขยะที่ตนเองสร้างขึ้น ใครไม่ทำถือเป็นเรื่องแปลก
“ไปที่นั่น เราไม่ได้ถูกสอนหรือสร้างจิตสำนึกอะไรเลย เพียงแต่ระบบมันเป็นแบบนั้น ทุกคนต้องทำ ถ้าไปห้างมันมีจุดที่ต้องนำกล่องน้ำผลไม้ไปทิ้ง กินเสร็จก็ต้องล้างแล้วผึ่งให้แห้ง เอามาวางไว้ที่นี่ เราก็ต้องทำตาม เหมือนเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม”
พอกลับมาเมืองไทย สุจิตราไปทำงานที่มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนย้ายมาที่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาฯ โดยงานสำคัญในช่วงแรกคือการขับเคลื่อนเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste)
เวลานั้นกรมควบคุมมลพิษ มีแนวคิดที่จะออกกฎหมายจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดปัญหาว่าคนขายของเก่าไปรับซื้อขยะอิเล็กทรอนิกส์มาแกะแยกชิ้นส่วน แต่เพราะขาดความรู้จึงมีสารโลหะหนักอันตรายปนเปื้อนออกมาสร้างผลกระทบต่อสุขภาพของตัวเองและสิ่งแวดล้อม
สุจิตราจึงเข้าไปศึกษาเพื่อนำไปสู่การร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งการเก็บค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ การให้ผู้ผลิตต้องมีส่วนรับผิดชอบในการจัดการของเสีย เมื่อศึกษาลงลึกทำให้เธอสนใจประเด็นเรื่อง E-Waste รวมไปถึงวิธีจัดการขยะอื่นๆ
แม้จะพยายามลงพื้นที่ไปในชุมชนต่างๆ แต่เธอก็พบว่าลำพังแค่บทบาทนักวิจัย คงไม่อาจแก้ปัญหาได้ ถ้าคนในท้องถิ่นไม่ร่วมด้วย
คนขายของเก่าหลายคนไม่ต้อนรับเธอสักเท่าไร เพราะพวกเขากลัวจะสูญเสียอาชีพนี้ ทั้งที่รู้ดีว่าเป็นอาชีพที่เสี่ยงอันตราย อีกทั้งร่างกฎหมายที่ได้ศึกษานั้นไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา จึงคิดว่าการขับเคลื่อนงานวิจัยเรื่อง E-waste มาถึงจุดที่ไปต่อไม่ได้แล้ว
“เราคิดว่าสุดทางที่จะทำได้แล้ว ดังนั้นกลับมาดูบ้านเราเองดีกว่า ก็คือที่จุฬาฯ ซึ่งช่วงปี 2558 ยังไม่มีใครสนใจจัดการขยะเลย”
ด้วยความที่ทำงานอยู่ในสายนโยบาย สุจิตราจึงรู้ว่ามีแผนแม่บทจัดการขยะมาตั้งแต่ปี 2557 กำหนดให้สถาบันการศึกษาต้องเป็นตัวอย่างสร้างวินัยด้านการจัดการขยะ แต่ในทางปฏิบัติยังไม่มีสถาบันไหนขยับตัวอย่างจริงจัง ทำให้เธออยากทำแผนให้จุฬาฯ มีระบบการจัดการขยะที่ดี ตอนแรกคิดจะทำแค่แผนจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ แต่คิดไปคิดมาก็รู้สึกว่า ควรจัดการให้ครบทั้งระบบเลยจะดีกว่า
พอดีกับทราบข่าวว่ากระทรวงศึกษาธิการเปิดให้ผู้สนใจยื่นโครงการขอทุน สุจิตราจึงเขียนแผนจัดการขยะเสนอเข้าไป ความตั้งใจของเธอคืออยากจะปรับปรุงสภาพแวดล้อมในมหาวิทยาลัยให้เอื้อต่อการแยกขยะ เหมือนที่เธอเคยพบเจอที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยให้คนปรับพฤติกรรมได้จริงๆ มากกว่าแค่รณรงค์สร้างจิตสำนึกที่ไม่ค่อยได้ผล
“มันติดในใจมาตั้งนานแล้วว่า เรื่องขยะทำไมบ้านเราจัดการไม่ได้สักที เราอยากจะให้เรื่องของการแยกขยะเป็นบรรทัดฐานทางสังคมของคนไทย มันไม่ใช่เรื่องของคนรักษ์โลก อยากให้ไปถึงจุดที่ทุกคนต้องทำแล้วก็กลายเป็นความเคยชิน เหมือนทุกคนใส่หน้ากากอนามัย ถ้าเราไม่ใส่อยู่คนเดียวมันก็แปลก เป็นแกะดำ มันต้องเป็นบรรทัดฐานสังคมแบบนี้”
นั่นเองคือจุดเริ่มต้นของโครงการเปลี่ยนพฤติกรรมประชาคมจุฬาฯ ที่ชื่อว่า Chula Zero Waste
ย้อนกลับไปในปี 2558 ปัญหาในจุฬาฯ เป็นเหมือนภาพสะท้อนสังคมไทยเวลานั้น คนกินแล้วก็ทิ้งรวมกัน จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะมาเก็บไปส่งต่อให้กรุงเทพมหานคร ไม่มีการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง
ก่อนเริ่มโครงการ สุจิตราจึงศึกษาว่า จุฬาฯ มีขยะประเภทใดมากที่สุด จนพบว่าส่วนใหญ่ คือพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น ถุงพลาสติก บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม ซึ่งทุกคนทุกร้านใช้กันเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากเวลานั้นยังไม่มีการรณรงค์ให้ตระหนักถึงผลกระทบของขยะพลาสติกมากนัก
“เวลาซื้อน้ำหวานหรือกาแฟมันจะมาทั้งยวงเลย คือ แก้วพลาสติก ฝาครอบ หลอด ถุงหิ้ว เกิดขยะถึง 4 ชิ้นจากการดื่มกาแฟครั้งหนึ่ง ด้วยความเคยชินเราจะคิดว่านี่เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่พอรวมกันหลายๆ คน มันก็กองเป็นภูเขานะ”
เมื่อโครงการ Chula Zero Waste เริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม 2559 สุจิตราจึงคิดว่าต้องลดขยะพลาสติกเป็นอย่างแรก ความท้าทายคือจะทำอย่างไรให้โครงการนี้ไม่เป็นแค่แคมเปญรณรงค์ประเดี๋ยวประด๋าว พักเดียวเลิก แต่นำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมผู้คนได้สำเร็จ
“คิดตอนแรกว่าเราต้องทำให้ครบ หมายถึงเปลี่ยนพฤติกรรมของคนจุฬาฯ ได้อย่างยั่งยืน เราก็เลยศึกษาว่าจะปรับพฤติกรรมคนต้องทำอย่างไร พบว่าสิ่งสำคัญคือต้องปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อพฤติกรรมใหม่ สมมติอยากให้คนแยกขยะ แต่มีถังอยู่ใบเดียว มันก็แยกไม่ได้ ดังนั้นเราเลยบอกว่า คอนเซปต์ของ Chula Zero Waste ไม่ใช่โครงการแคมเปญ ไม่ใช่โครงการงดแจกถุง แต่เราเป็นโครงการเพื่อจัดระบบที่เอื้อให้เกิดพฤติกรรมใหม่”
ไม่ได้พูดลอยๆ แต่สุจิตรายังทำแผนปฏิบัติการที่วางการทำงานไว้ถึง 5 ปี แทนที่จะเป็นแผน 1 ปี เหมือนทั่วไป เพราะเธอไม่เชื่อว่าคนจะเปลี่ยนพฤติกรรมได้สำเร็จภายในเวลาแค่ 12 เดือน
ทีมงานเริ่มต้นตั้งแต่เข้าไปพูดคุยสอบถามความคิดเห็นจากนิสิต ซึ่งพบว่ามีหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น ทำไมใครๆ ก็ต้องซื้อน้ำดื่มบรรจุขวด คำตอบคือไม่ค่อยมีตู้กดน้ำ แถมตู้ที่มีก็สภาพค่อนข้างเก่า บางทีกดแล้วน้ำรสชาติแปร่งๆ เฝื่อนๆ คนจึงไม่นิยมใช้
ในช่วงแรก ปฏิบัติการอย่างหนึ่งของ Chula Zero Waste คือ ลงทุนสั่งตู้กดน้ำใหม่มาติดตั้ง อย่างน้อยมีทุกโรงอาหาร ทุกอาคารที่มีนิสิตใช้เป็นงานจำนวนมาก เพื่อตัดตอนขวดพลาสติกออกไป ข้อดีอีกอย่างที่พยายามสื่อสารให้ทุกคนรู้ คือการพกกระบอกน้ำมากดเองช่วยลดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะ ถ้าวันหนึ่งเคยซื้อน้ำดื่มวันละ 3 ขวด ตู้กดน้ำจะช่วยประหยัดเงินได้ประมาณ 21 บาท แถมลดขยะได้ 3 ชิ้น เดือนหนึ่งหากนิสิตมาเรียนที่มหาวิทยาลัย 20 วัน ก็ประหยัดไป 420 บาท ลดขยะไปได้ 60 ชิ้น
นอกจากน้ำเปล่าแล้วบางคนยังชอบดื่มกาแฟ น้ำอัดลม น้ำหวานกันวันละแก้วสองแก้ว ทีมงานจึงระดมความคิดกันก่อนออกโครงการ My Cup ขอความร่วมมือจากร้านเครื่องดื่ม ให้สิทธิลดราคากับคนที่นำแก้วมาเอง ตอนนั้นมีร้านกาแฟบางร้านทำมาก่อนแล้ว แต่พอเกิดเป็นนโยบายของมหาวิทยาลัย ก็สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งจุฬาฯ ถือเป็นสถาบันการศึกษาแรกๆ ที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้จริงจัง
“เป็นเชิงสมัครใจ ไม่ได้บังคับว่าร้านจะให้ส่วนลดเท่าไร แล้วแต่เขา ในระยะแรกบางร้านอาจจะลด 2-3 บาท บางร้านใช้วิธีสะสมแต้ม เรายังช่วยทำโปสเตอร์ให้เขาด้วยว่ามีส่วนลดอะไรบ้าง”
อีกโครงการที่ช่วงแรกมีเสียงต่อต้านอย่างหนักคือ My Bag หรืองดแจกถุงพลาสติก ความจริงจุฬาฯ ไม่ใช่เจ้าแรกที่ดำเนินการ เพราะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำมาก่อนแล้ว แต่สุจิตราอยากนำมาใช้บ้าง โครงการนี้ส่งผลกระทบต่อทุกร้านในมหาวิทยาลัย จึงต้องชวนสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ และร้านสะดวกซื้อเจ้าใหญ่เข้ามาคุย
ในช่วงแรกทดลองทำเป็นแคมเปญก่อน ประกาศให้ชาวจุฬาฯ เตรียมตัวว่าหลังจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 จะงดแจกถุงพลาสติก ถ้าใครต้องการถุง ขอให้บริจาคเงิน 2 บาท ซึ่งทาง Chula Zero Waste จะรวบรวมนำไปเข้ากองทุนจัดกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ตอนแรกทำแคมเปญให้พนักงานแจกลูกอมให้คนที่ไม่รับถุงด้วย ก็มีอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์มาแซวว่า ‘เดี๋ยวมีคนฟันผุเพิ่ม’
หลังจากวันดีเดย์ ก็มีเสียงโวยวายเข้ามา แต่ไม่ใช่มาจากนิสิตซึ่งส่วนใหญ่ต้องพกเป้พกกระเป๋าใส่อุปกรณ์การเรียนมาอยู่แล้ว คนที่ไม่พอใจกลับเป็นอาจารย์และศิษย์เก่าที่มาซื้อของแล้วไม่มีถุงใส่ กรณีรุนแรงที่สุดคือมีนิสิตปริญญาโทคนหนึ่งโทรศัพท์ไปร้องเรียนกับร้านสะดวกซื้อเจ้าใหญ่ว่าสาขาในจุฬาฯ ไม่แจกถุง จนต้องออกมาแก้ปัญหานี้
“เราทำหนังสือชี้แจงว่าเป็นนโยบายของมหาวิทยาลัย ถึงแม้ว่าอยากให้ทุกคนปรับพฤติกรรม แต่ความยากคือเขาออกไปข้างนอกมหาวิทยาลัย เขาก็ยังได้ถุงกลับมา ตอนแรกจึงยังเปลี่ยนไม่ค่อยได้เท่าไร แต่ตอนหลังที่ห้าง ร้านสะดวกซื้องดแจก ก็ช่วยให้คนเปลี่ยนได้ในระดับหนึ่ง”
อย่างไรก็ตาม ทีมงานพบว่า ยังมีบรรดาร้านที่แอบแจกถุง เพราะกลัวจะเสียลูกค้าไป ทางโครงการจึงชวนพ่อค้าแม่ค้าตลาดนัดเข้ามาพูดคุย พร้อมเปิดภาพผลกระทบจากขยะพลาสติก ที่ไปฆ่าเต่าทะเล นกทะเล จับตัวเป็นแพขยะขนาดใหญ่อยู่ในมหาสมุทร หรือไปอยู่ในท้องวาฬ พอได้ดู พ่อค้าแม่ค้าก็สะเทือนใจ และตกใจที่ปัญหาร้ายแรงถึงเพียงนี้ บางคนกลับไปประกาศให้ส่วนลดกับลูกค้าที่นำกล่องมาใส่อาหาร
“เราพยายามสื่อสารว่าขยะทำให้เกิดปัญหาจริงๆ เราไม่ได้อยากจะไปบังคับ เพราะถ้าไม่ได้มาจากใจหรือไม่อิน มันจะไม่ยั่งยืน”
เพื่อให้นิสิตทุกคนรับรู้ว่าจุฬาฯ จริงจังกับเรื่องนี้จึงเริ่มสร้างธรรมเนียมการแจกถุงผ้าและกระบอกน้ำให้กับนิสิตใหม่ตั้งแต่ช่วงปฐมนิเทศ ปลูกฝังแนวคิดเรื่องการลดใช้หรือลดสร้างขยะ (Reduce)
“มีทฤษฎีหนึ่งที่จะแก้เรื่องความเคยชินเดิมๆ ระบุไว้ว่าเวลาจะปรับพฤติกรรมให้ปรับกับคนใหม่ก่อน อย่างนิสิตใหม่เขาตื่นเต้นที่ได้เข้ารั้วจุฬาฯ ดังนั้นจะเปิดรับแนวคิดนี้ได้ง่าย เราก็เลยให้อาวุธประจำกาย ทั้งถุงผ้าและกระบอกน้ำ โดยหวังว่าเขาจะนำมาใช้ เพราะเรามีระบบรองรับให้อยู่แล้ว”
หลังจากโครงการผ่านไป 1 ปี ผลตอบรับกลับมาค่อนข้างน่าพอใจ มีคนใช้แก้วส่วนตัวและพกถุงผ้ามากขึ้นจากสิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่งสะท้อนว่าทุกคนยินดีจะทำ เมื่อพบว่าส่งผลดีกับตัวเอง
แต่สุจิตราและทีมทำงานก็รู้ดีว่า ทั้งหมดเป็นเพียงแค่การเริ่มต้นเท่านั้น
แม้จะไม่สามารถแยกขยะออกมาได้หลายสิบประเภทเหมือนในญี่ปุ่น แต่สุจิตราก็อยากให้ชาวจุฬาฯ แยกขยะเบื้องต้นได้อย่างน้อยสัก 4-5 อย่าง ตามที่ควรจะเป็นก็น่าพอใจแล้ว
การแยกถูกวิธี ทำให้ส่งต่อไปจัดการได้ง่ายขึ้น เช่น ขยะทั่วไปนำไปเผาหรือฝังกลบ ขยะอาหารนำไปหมักปุ๋ย ขยะรีไซเคิลส่งโรงงาน ขยะอันตรายส่งไปกำจัด
แต่ถ้าทิ้งทั้งหมดรวมกัน เศษอาหารเน่าเสียอาจปะปนกับของที่นำกลับมารีไซเคิลได้ จนไม่มีใครอยากหยิบขึ้นมา ซึ่งเท่ากับหมดโอกาสเข้ากระบวนการผลิตใหม่อย่างน่าเสียดาย
ในปีที่ 2 Chula Zero Waste จึงมุ่งมั่นมาทำเรื่องการแยกขยะมากขึ้น ควบคู่ไปกับการลดการใช้ เรื่องหนึ่งที่ทีมงานต้องทำโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือไปคุ้ยถังขยะตามคณะต่างๆ !!!
ถึงจะฟังดูชวนอี๋ แต่ข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์มาก เพราะจะเห็นปริมาณและองค์ประกอบของขยะได้ชัดเจน คณะนี้มีพลาสติก กระดาษ เศษอาหารสัดส่วนเท่าไร ทีมงานจะนำมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงระบบถังขยะทั่วจุฬาฯ
ตอนแรกแยกสีถังและมีป้ายระบุข้อความอย่างเดียว ขยะทั่วไป-สีน้ำเงิน, ขยะเศษอาหาร-สีเขียว, ขยะรีไซเคิล-สีเหลือง และขยะอันตราย-สีแดง แต่ก็พบว่าคนยังทิ้งมั่วอยู่ดี เพราะแยกไม่ออกว่าอะไรรีไซเคิลได้บ้าง คนในจุฬาฯ ก็ไม่ได้มีแค่นิสิตอาจารย์ แต่ยังรวมถึงเจ้าหน้าที่ แม่บ้าน ยาม และคนที่เข้ามาทำธุระ ดังนั้นจะไปหวังให้ทุกคนมีความรู้เรื่องชนิดของขยะคงเป็นเรื่องยาก โครงการจึงต้องปรับปรุงป้ายใหม่ ใส่รูปภาพที่ชัดเจนเป็นลายเส้น ให้ทราบไปเลยว่าขยะแบบนี้ต้องทิ้งลงถังแบบนี้
“จำได้เลยว่ามีนิสิตคนหนึ่งเขียนในแบบสอบถามว่า เราอยากจะเดินมาไกลๆ เห็นถังขยะแล้วรู้ว่าต้องทิ้งอะไร ไม่อยากมายืนอ่าน ทำหน้าโง่ๆ อยู่หน้าถังขยะนานๆ ดังนั้นเราจึงทำป้ายให้เด่น เข้าใจง่าย รู้ว่าต้องทิ้งอะไร”
ขยะอาหาร ก็เป็นอีกส่วนสำคัญ แต่ละวันเกิดขึ้นจำนวนมาก ทำให้ต้องเปลี่ยนระบบการแยกครั้งใหญ่ ถ้าใครเดินเข้าไปในโรงอาหาร จะเห็นว่า บริเวณโต๊ะวางภาชนะที่รับประทานเสร็จแล้ว จะมีถังขยะใบโต เขียนป้ายเด่นชัด แยกถังตามประเภทกันไปเลย ทั้งถังเศษอาหาร ถังน้ำแข็ง ถังหลอด ถังแก้วกระดาษ และถังขยะทั่วไป เรียกว่าละเอียดกว่าที่อื่น เพื่อป้องกันไม่ให้เททิ้งรวม
ที่สำคัญทางโครงการยังออกแบบสภาพแวดล้อมในโรงอาหาร เพื่อให้คนที่เข้ามาใช้ตระหนักว่า ไม่ควรสร้างขยะอาหารออกมาเป็นภาระของโลกใบนี้ ตั้งแต่ติดสติกเกอร์ที่โต๊ะว่า ‘ทานข้าวให้หมด ช่วยลดโลกร้อน’ หรือรณรงค์ให้แจ้งปริมาณข้าวที่กินแค่พออิ่มไม่ต้องเหลือทิ้ง โดยบอกเป็นไซส์ S, M, L ตลอดจนอบรมความรู้ให้ร้านอาหารแยกขยะตั้งแต่ในครัว ผลปรากฏว่าขยะอาหารลดลงไปอย่างชัดเจน
ในแต่ละวันขยะอาหารที่รวบรวมได้ก็จะนำไปส่งต่อให้คนมารับไปทำอาหารสัตว์ อีกส่วนหนึ่งนำไปเข้าเครื่องย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยภายใน 24 ชั่วโมง ส่งต่อไปยังเรือนเพาะชำ
นอกจากนี้ ขยะบางประเภทที่เกิดขึ้นมหาศาลทุกวันอย่างแก้วพลาสติก แม้จะทำโครงการ My Cup ให้ส่วนลดกับคนนำแก้วมาเองแล้วก็ยังสู้ไม่ไหว จึงเปลี่ยนมาใช้วิธี ‘Replace’ หรือทดแทน โดยนำแก้วกระดาษชนิดพิเศษที่เคลือบพลาสติกที่ย่อยสลายได้ มาใช้แทนแก้วพลาสติกทั้งมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งออกแบบระบบถังรองรับแก้วชนิดนี้โดยเฉพาะเพื่อนำไปจัดการต่อ
“พอดีมีทีมงานที่พอรู้เรื่องพลาสติกชีวภาพ เราจึงมาช่วยกันพัฒนาแก้วกระดาษที่เคลือบพลาสติกชนิดนี้ ซึ่งสามารถย่อยสลายเองได้ง่าย ปกติแก้วกาแฟตามร้านที่บอกว่าย่อยสลายได้มันใช้เวลานาน 5-6 เดือน และต้องอยู่ในที่อุณหภูมิสูง แต่แก้วชนิดนี้นำไปหมักร่วมกับใบไม้กิ่งไม้ก็ย่อยแล้ว”
ตอนแรก ทีมงานหมักแก้วกระดาษนี้เพื่อให้ย่อยสลายกันที่จุฬาฯ แต่พอปริมาณมากเข้าก็ต้องรวบรวมส่งไปหมักที่โครงการพัฒนาที่ดินจุฬาฯ จังหวัดสระบุรี จนตอนหลัง ทีมงานคิดว่าน่าจะนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ามากที่สุด โครงการจึงร่วมมือกับกรมป่าไม้ นำแก้วกระดาษไปใช้ทดแทนถุงพลาสติกสำหรับเพาะกล้าไม้ เรียกว่าเกิดประโยชน์หลายต่อ ยิงปืนครั้งเดียวได้นกหลายตัว
“และเราก็ขอคิดค่าแก้วแบบใหม่นี้ 2 บาท เพราะถ้ายังได้ฟรี คนก็ใช้อย่างฟุ่มเฟือย แล้วทิ้งแบบง่ายๆ เหมือนเดิมและเราอยากให้พกกระบอกน้ำส่วนตัวมากันมากกว่า เคยมีนิสิตเอาไปบ่นในโลกโซเชียลว่ารักโลกแต่จน ไม่มีปัญญาจ่าย 2 บาท แต่สุดท้ายคนก็ชินไปเอง”
หลังจากดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจังมาถึง 5 ปี โครงการ Chula Zero Waste ก็เริ่มผลิดอกออกผล คนจุฬาฯ ค่อยๆ ปรับพฤติกรรมเรื่องการจัดการขยะอย่างถูกต้องมากขึ้น ปริมาณขยะในจุฬาฯ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เช่น ลดการใช้ถุงพลาสติกไปได้กว่า 4.7 ล้านใบภายใน 3 ปี รวมถึงมีผู้หันมาใช้แก้วส่วนตัวมากขึ้นถึง 15 เปอร์เซ็นต์ พอมาถึงปีที่ 5 ก็ขยับเพิ่มสูงเป็น 20 เปอร์เซ็นต์
เริ่มมีหน่วยงานต่างๆ มาดูงานมากขึ้น หลายแห่งนำรูปแบบหรือแนวคิดการแยกขยะ แยกเศษอาหารไปปรับใช้ ซึ่งทำแล้วประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ สื่อต่างๆ ที่ผลิตออกมา ทั้งโปสเตอร์ความรู้ ป้ายรณรงค์ โครงการได้อัปโหลดขึ้นเว็บไซต์ให้คนที่สนใจนำไปใช้ได้เลย เพราะอยากให้ความรู้นี้กระจายสู่วงกว้างมากที่สุด
อีกสิ่งที่น่าชื่นใจ คือการได้เห็นหลายคณะและหน่วยงานต่างๆ ในจุฬาฯ ตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม และยินดีให้ความร่วมมือ ซึ่งแสดงว่าสุจิตราและทีมงานไม่ได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้อยู่เพียงลำพัง
“เรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ผลชี้วัดความสำเร็จของคณะ เขาให้ความสำคัญกับการเรียนการสอน การทำวิจัยมากกว่า ดังนั้นเราพยายามสร้างแนวร่วม ถ้าผู้บริหารเอาจริงกับเรื่องนี้ เช่น คณะครุศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ เขาอยากทำเรื่อง Zero Waste และมีนโยบายเรื่องนี้ เราก็จะเข้าไปช่วยสนับสนุน ปัจจุบัน จุฬาฯ มีนโยบายเรื่องออฟฟิศสีเขียว ก็เลยขยายความเข้าใจเรื่องขยะไปด้วย”
หรืออย่างองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ (อบจ.) ก็เข้ามาขอคำแนะนำในการจัดการขยะ เพราะกิจกรรมในมหาวิทยาลัย เช่น งานลอยกระทง งานรับปริญญา งานวิ่ง สร้างขยะเยอะมาก อย่างงานลอยกระทงคืนเดียวเกิดขยะถึง 2-3 ตัน โครงการ Chula Zero Waste ก็ให้คำแนะนำ ก่อนที่ อบจ. จะไปคิดต่อยอดเป็นการลอยกระทงเทียนที่นำกลับมาหลอมใหม่ได้ ลดขยะไปมหาศาลจากเดิมที่ใช้กระทงใบตอง และยังนำแนวคิดลดและคัดแยกขยะไปใช้กับงานฟุตบอลประเพณีอีกด้วย
ขณะที่นิสิตรุ่นแรกๆ ที่มาช่วยงานโครงการ บางคนจบแล้วก็ไปเรียนต่อด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บางคนไปเป็นนักข่าวสิ่งแวดล้อม
สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ช่วยยืนยันว่าแผนจัดการขยะที่วางรากฐานไว้เมื่อหลายปีก่อน พัฒนามาถูกทางตามที่ตั้งใจ
เราพยายามสื่อสารว่าขยะทำให้เกิดปัญหาจริงๆ เราไม่ได้อยากจะไปบังคับ เพราะถ้าไม่ได้มาจากใจหรือไม่อิน มันจะไม่ยั่งยืน
ไม่เพียงโครงการ Chula Zero Waste สุจิตรายังเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการขยะชุมชน และการวางนโยบายระดับประเทศ
หนึ่งในชุมชนที่เข้าไปช่วยคือชุมชนบ้านปากลัด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีปัญหาเรื่องทิ้งขยะเกลื่อนกลาด ไม่มีการแยก และเนื่องจากชุมชนอยู่ใกล้ปากแม่น้ำ ขยะจำนวนมากเหล่านี้จึงรั่วไหลลงไปสู่ทะเล
แต่การทำงานกับชุมชนไม่ง่ายเลย เพราะไม่สามารถสั่งการลงมาเป็นนโยบายได้ และไม่ได้มีงบประมาณมากมายเหมือนกับมหาวิทยาลัย เธอจึงต้องเขียนโครงการขอทุนจากบริษัทเอกชน ผลักดันให้เกิดกองทุนหมุนเวียนของชุมชน และสร้างคนที่จะมาดำเนินการได้อย่างยั่งยืน
“คิดอยู่ตลอดเวลาว่า ทำอย่างไรให้ชุมชนยั่งยืน ถ้าหมดเงินแล้วเขายังสานต่อ เราก็เลยสร้างคนที่เข้าใจแนวคิดกระบวนการ แล้วไปเป็นพี่เลี้ยงให้ชุมชนอื่นๆ ได้ด้วย อันนี้เป็นสิ่งที่ตั้งใจมากๆ”
ในเวลาเดียวกัน นักวิจัยหญิงจากจุฬาฯ ก็พยายามเข้าไปผลักดันร่างกฎหมายใหม่หลายฉบับ หนึ่งในนั้นคือการทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมจัดการขยะ เพราะจุดอ่อนของประเทศไทยมาจากการที่กฎหมายระบุว่า หน้าที่จัดการขยะเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่เน้นเพียง ‘เก็บ ขน และกำจัด’ มิได้มีคำว่า ‘แยกขยะ’ อย่างชัดเจนในกฎหมายหลัก ทำให้ที่ผ่านมา ท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังคงทำแค่การเก็บ ขน กำจัด และไปสร้างบ่อขยะเพิ่ม จนปัจจุบันมีบ่อขยะกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งสร้างเตาเผาขยะซึ่งหากไม่มีระบบควบคุมมลพิษที่เข้มงวดก็จะเป็นตัวสร้างปัญหามลพิษทางอากาศ ปล่อยสารก่อมะเร็งออกมากระทบกับประชาชนอีก
“มันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทางหมดเลย แต่ตอนหลังทุกคนรู้แล้วว่าแบบนี้ไม่ยั่งยืน”
กฎหมายเรื่องหนึ่งที่สุจิตราอยากให้เกิดขึ้นในเมืองไทย คือ กฎหมายที่ใช้หลักการ Extended Producer Responsibility หรือ EPR หมายถึงให้ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบสินค้าตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงขั้นตอนที่เป็นขยะด้วย เช่น การจัดระบบรับคืนหรือรวบรวมบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับไปรีไซเคิล
ที่ผ่านมามีขยะหลายอย่างที่ซาเล้งไม่รับรีไซเคิล เช่น แก้วกาแฟที่ทำจากพลาสติก PET ถุงขนม ซองสินค้าที่เป็นพลาสติกหลายชั้น ถ้ามีกฎหมายเรื่อง EPR เหมือนในญี่ปุ่นหรือยุโรป บริษัทผู้ผลิตก็ต้องมารับบรรจุภัณฑ์เหล่านี้กลับไป ไม่ใช่โยนภาระให้กับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม
หลายๆ ประเทศล้ำหน้าไปถึงขั้นสร้างมาตรฐานว่า บรรจุภัณฑ์ต่างๆ ต้องผสมวัสดุรีไซเคิลเข้าไปด้วย เช่น ขวด PET จะต้องมีพลาสติกรีไซเคิลไม่น้อยกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้อุตสากรรมรีไซเคิลอยู่ได้ เกิดกลไกตลาด ดึงขยะเข้าระบบ ลดการทิ้งรั่วไหลให้น้อยลง
สุจิตรายังอยากให้มีกฎหมายคุ้มครองอาชีพคนรับซื้อของเก่า ซึ่งเป็นคนสำคัญในกระบวนการรีไซเคิล ให้พวกเขามีสวัสดิการ มีสิทธิประโยชน์ รวมถึงยกเลิกการนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศ ที่จะทำให้บรรดาลุงซาเล้งต้องตกงาน เพราะโรงงานหันไปซื้อขยะต่างชาติที่ราคาถูกกว่า
“เราเรียนรู้มาว่า การออกนโยบายจะเป็นเครื่องมือที่นำมาใช้แก้ปัญหาได้ เช่น เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ การเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมเพื่อสิ่งแวดล้อม การใช้กลไกราคาช่วยปรับพฤติกรรมคน เราจึงอยากผลักดันการร่างกฎหมาย ที่สามารถแก้ปัญหาให้ครบทั้งวงจร”
อย่างไรก็ตาม วิกฤต Covid-19 ที่ผ่านมา คือความท้าทายครั้งสำคัญต่อการจัดการขยะ ตั้งแต่ในรั้วจุฬาฯ ไปจนถึงภาพใหญ่ระดับชาติ เนื่องจากจำนวนขยะที่เพิ่มขึ้นมหาศาลต่อวัน ทั้งจากอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรค การรักษาความสะอาด การแพทย์ การสั่งอาหารเดลิเวอรี เพราะตอนนั้นทุกคนต่างมองว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมต้องมาหลังความปลอดภัย อย่างการนำกระบอกน้ำส่วนตัวไปใส่เครื่องดื่มในร้านก็ต้องระงับชั่วคราว เพื่อป้องกันความเสี่ยง
“โครงการคงต้องทำงานหนักขึ้น อย่างเราลดแจกถุงพลาสติกแทบตาย แต่นิสิตไปสั่งออนไลน์มาจากข้างนอก ก็ได้ถุงพลาสติกมาจากข้างนอกอีก ขยะตามท้องถนนมีมากกว่าเดิมเยอะมาก และยังมีขยะหน้ากากอนามัยที่ไม่ควรทิ้งรวมกับขยะทั่วไป เราก็เลยต้องทำถังรองรับหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ต้องปรับตัวไปตามสถานการณ์ แต่จุดแข็งคือกระแสเรื่องสิ่งแวดล้อมกำลังมา มีองค์กรที่ทำเหมือน Chula Zero Waste เยอะขึ้น เราพยายามรวมกันเป็นภาคีเครือข่ายที่จะผลักดันเรื่องนี้”
แต่สุจิตราเชื่อว่า สิ่งสำคัญที่สุดคงไม่พ้นการที่ทุกคนต้องร่วมมือกันลดการใช้ เพื่อให้เกิดขยะน้อยที่สุด
“บางทีเราลืมไปว่า ก่อนจะแยกขยะไปรีไซเคิล ควรจะลดเสียก่อน อย่างที่ผ่านมามีหลายโครงการรับขวดพลาสติก PET ไปทำอุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่เราอยากกระตุกให้คิดว่า ติดเครื่องกรองน้ำที่บ้านบ้างนะ จะได้ไม่ต้องซื้อน้ำขวดกัน ต้องพยายามย้ำเรื่องนี้”
“การได้ทำอะไรเพื่อสิ่งแวดล้อมมันรู้สึกดี ลองคิดดูว่าพลาสติกที่ทิ้งไปยังอยู่กับโลกอีกหลายร้อยปี กลายเป็นไมโครพลาสติกอยู่ในน้ำดื่ม ในปลา ในอาหารที่เรากิน เป็นความเสี่ยงโรคมะเร็ง อย่างเราเองพอมาทำ Chula Zero Waste ก็รู้สึกอิน เลยแยกเศษอาหารมาทำปุ๋ยหมัก ถ้าแยกเศษอาหารได้ มันเป็นครึ่งหนึ่งของขยะในบ้านแล้ว ส่วนขยะรีไซเคิลก็มีทางไปของมัน ให้ซาเล้ง พนักงานเก็บขยะ เขาก็ยินดีรับ พอคุณแยกขยะแล้ว คุณจะเห็นขยะที่รีไซเคิลไม่ได้อีกก้อนหนึ่ง ก็ส่งไปเผาเป็นพลังงาน ดังนั้น ที่บ้านของตัวเองจะ Zero Waste มากๆ เลยคิดว่าถ้าทุกคนช่วยกัน เราจะช่วยสิ่งแวดล้อมได้มากเลย”
ทั้งหมดนี้อาจจะทำให้ชีวิตยุ่งยากขึ้นบ้าง แต่รับรองว่าส่งผลดีกับคุณภาพชีวิตของพวกเราในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน
คนเล็กเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 30 บุคคลผู้สร้างสังคมที่ยั่งยืน และช่วยกันสร้างคุณค่าสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นประเทศ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี คือบุคคลต้นแบบประเด็นทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความทั่วถึง ปลอดภัย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 11), ประเด็นสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 12) และประเด็นดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ (SDGs ข้อที่ 13)
จากกลุ่มรณรงค์ในโลกออนไลน์ที่คัดค้านการตัดต้านต้นไม้เก่าแก่เพื่อสร้างคอนโด สู่นักขับเคลื่อนที่ปลุกกระแสการรักษ์ไม้ใหญ่ในเมือง
สถาปนิก ผู้ทำงานเรื่องพื้นที่สาธารณะมายาวนาน และสร้างโมเดลใหม่อย่าง we park ด้วยการหาพื้นที่รกร้างมาพัฒนาเป็นสวนสาธารณะสำหรับทุกคน
โค้ชหนุ่ม Money Coach เบอร์ต้นๆ ของเมืองไทย ผู้แปลหนังสือ พ่อรวยสอนลูก ที่คอยเป็นที่ปรึกษาการแก้หนี้ และวางแผนการใช้เงินให้แก่ผู้คน
เจ้าของบาร์แจ๊ซ ผู้ริเริ่มโครงการต่างๆ ทั้งดนตรี สิ่งแวดล้อม สังคม เพื่อยกระดับเมืองเชียงใหม่ให้เป็นดินแดนที่ของทุกคนอย่างแท้จริง
อดีตนักกลยุทธ์โฆษณามือฉมังของเมืองไทย แต่แล้ววันหนึ่งเขาก็ได้พบจุดเปลี่ยนที่สำคัญของชีวิต จนนำมาสู่การบุกเบิก ‘วิชาใจ’ ธรรมง่ายๆ ที่ทุกคนเสพได้
เภสัชกรหญิง ผู้บุกเบิกยาสมุนไพรอภัยภูเบศร พร้อมฝันอันยิ่งใหญ่ที่อยากจะทำให้ปราจีนบุรีเป็นเมืองแห่งสมุนไพร
Armchair ศิลปินขวัญใจวัยรุ่นยุคอินดี้ ผู้บุกเบิกเพลงบอสซาโนวา เจ้าของเพลงฮิตสุดละมุนที่ยังตรึงอยู่ในใจแฟนเพลงถึงวันนี้
นักเขียนการ์ตูนที่พาผลงานมังงะจากเอเชียให้โด่งดังไปไกลทั่วโลก ปลุกกระแสดราก้อนบอล ให้เข้าอยู่ในใจเด็กๆ ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ
สุดยอดนักพากย์ฟุตบอลและผู้ประกาศข่าวกีฬาแห่งเรื่องเล่าเช้านี้ที่ครองใจผู้ชมผู้ฟังมานานกว่า 3 ทศวรรษ
สาว สาว สาว แอม-แหม่ม-ปุ้ม ต้นตำรับเกิร์ลกรุ๊ปเมืองไทย ผู้สร้างกระแสเพลงประตูใจ ข้ามกาลเวลาถึงปัจจุบัน
จากนักแกะสลักน้ำแข็ง สู่สุดยอดทีมนักแกะสลักหิมะ ที่คว้าชัยในเทศกาลหิมะอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง พร้อมพิสูจน์ให้โลกได้เห็นว่า ถึงเมืองไทยไม่มีหิมะ เราก็สร้างที่ยิ่งใหญ่ได้
ย้อนเรื่องราวของหนังไทย ‘โหมโรง’ ที่สร้างปรากฏการณ์ฟีเวอร์ หลังเกือบถูกถอดจากโรง พร้อมกับจุดกระแสดนตรีไทยให้โด่งดังไปทั่ว
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.