เดชรัต สุขกำเนิด : ‘พลังงาน’ เรื่องเล็กๆ ที่ทุกคนจัดการได้

<< แชร์บทความนี้

พูดถึงพลังงาน หลายคนมักนึกว่าอยู่ไกลตัว ทั้งที่ความจริงแล้วเรื่องเหล่านี้ล้วนอยู่รอบตัวเรา

..จะขับรถก็ต้องใช้น้ำมัน

..จะเปิดแอร์เปิดพัดลมเปิดทีวีก็ต้องใช้ไฟฟ้า

..จะทำอาหารก็ต้องใช้เตาแก๊ส

หลายคนมักหวาดหวั่นเวลาพูดถึงเรื่องพลังงาน เพราะนึกถึงแต่เรื่องใหญ่ๆ แบบบรรษัทน้ำมันที่มีรายได้หมุนเวียนนับหมื่นล้าน นึกถึงเขื่อนโตๆ ที่ผลิตกระแสไฟฟ้ามหาศาล นึกถึงโรงไฟฟ้าระดับบิ๊กเบิ้ม นึกถึงถ่านหิน นึกถึงแก๊สธรรมชาติ นึกถึงแท่นขุดเจาะน้ำมัน นึกถึงระบบปิโตรเลียม และสารพัดเรื่องที่ดูเข้าใจยากเสียเหลือเกิน

แต่เมื่อ 20 ปีก่อน ในยุคที่ความรู้เรื่องพลังงานของคนไทยยังมีจำกัดมาก มีนักวิชาการคนหนึ่งพยายามชี้ให้เห็นว่าทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด แถมยังมีความจำเป็นต่อชีวิตเราทุกคนอีกต่างหาก

เขามีบทบาทในการรณรงค์ต่อสู้เรื่องเขื่อนปากมูล เนื่องจากส่งผลกระทบแก่ชาวบ้านเกือบหมื่นครัวเรือน รวมถึงหาวิธีช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บ่อนอกและบ้านกรูด พร้อมเสนอทางเลือกใหม่ คือพลังงานหมุนเวียน ซึ่งยั่งยืน คุ้มค่า ปลอดภัย และเป็นมิตรกับโลกใบนี้มากกว่า

เขาเขียนคอลัมน์ลงนิตยสารโลกสีเขียว ร่วมก่อตั้งนิตยสารพลัง+งาน นิตยสารพลังงานทางเลือกฉบับแรกของเมืองไทย เปิดสอนวิชาเศรษฐศาสตร์พลังงานชีวภาพ ในภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตลอดจนเดินสายแนะนำชุมชนท้องถิ่นต่างๆ และนำโมเดลความรู้ที่ชาวบ้านทำมาต่อยอดขยายผล

แต่ที่สำคัญคือ การที่เขาปรับเปลี่ยนบ้านของตัวเองเป็นบ้านประหยัดพลังงานกลางเมือง ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนมากมาย ถึงขั้นที่ซูเปอร์สตาร์ตลอดกาลของเมืองไทย เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ยังเคยเดินทางไปเยี่ยมเยียนเพื่อเรียนรู้วิธีทำบ้านให้ใช้พลังงานคุ้มค่าที่สุด

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอพาทุกคนไปคุยกับ .ดร.เดชรัต สุขกำเนิด 1 ใน 30 บุคคลจากโครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก นักวิชาการที่มีส่วนผลักดันให้คนไทยจำนวนมากได้เข้าใจและเรียนรู้พลังงานในมิติที่หลากหลายยิ่งขึ้น

เกิดมากับพลังงาน

ชีวิตของอาจารย์เดชรัตผูกพันกับเรื่องพลังงานมาตั้งแต่เด็ก เพราะบิดาทำงานอยู่ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เขาจึงมักได้ยินข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ รวมทั้งเรื่องตัวเลขความต้องการพลังงานของเมืองไทยอยู่เสมอ

แต่เมื่อเติบโตขึ้น โลกการเรียนรู้ก็กว้างขึ้นตามไปด้วย เขาเริ่มได้รับทราบข้อมูลที่หลากหลาย ผลกระทบที่เกิดจากการพัฒนา อย่างเรื่องการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจน ซึ่ง สืบ นาคะเสถียร เป็นหัวขบวนการในการคัดค้านการก่อสร้าง พร้อมกับวลีอันลือลั่น “วันนี้ผมขอพูดในนามสัตว์ป่าทุกตัว เพราะพวกเขาพูดเองไม่ได้” เขาเองก็ไปร่วมประท้วงด้วย ในฐานะสมาชิกองค์การบริหาร องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“การออกมาเคลื่อนไหวนี้ คุณพ่อค่อนข้างโอเค เหมือนเป็นการต่อสู้ทางวิชาการ ท่านคิดว่าเป็นเรื่องปกติของสังคมที่มีความคิดต่าง นี่จึงเป็นการต่อสู้กันที่ให้ข้อมูลเป็นตัวชี้ขาด อีกอย่างหนึ่งคือคุณพ่อเชื่อว่า ไม่ว่าผลสุดท้ายจะออกมาทางใด ผลประโยชน์ก็เพื่อประเทศชาติ แต่ถ้ามีทางเดียว ก็อาจมีคำถามว่า แล้วประเทศจะได้ประโยชน์สูงสุดจริงหรือเปล่า”

หลังเรียนจบ อาจารย์ก็เข้ามาประจำที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยความที่สนใจเรื่องพลังงานมากเป็นพิเศษ จึงมีกลุ่มภาคประชาสังคมเข้ามาขอคำปรึกษา โดยประเด็นแรกที่อาจารย์ลงไปขับเคลื่อนจริงจังคือ เขื่อนปากมูล จังหวัดอุดรธานี

ในยุคสมัยนั้น เวลาพูดถึงเรื่องการผลิตไฟฟ้า คนมักนึกถึงแค่โครงการขนาดใหญ่ งบลงทุนเป็นพันหมื่นล้านบาทเท่านั้น แต่ปัญหาคือโครงการแบบนี้มักกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล รวมถึงวิถีชีวิตในพื้นที่ละแวกนั้น เมื่อได้รับการเชิญชวน อาจารย์จึงเต็มใจลงไปช่วยเหลือ เผื่อจะมีแนวทางที่ดีกว่าเกิดขึ้น

ช่วงนั้นเขาลงไปต่อสู้เรื่องผลกระทบจากการเปิดปิดประตูระบายน้ำ อย่างการประมงน้ำจืด ซึ่งจากการศึกษาพบว่า พลังงานไฟฟ้าที่ได้รับไม่ได้มากมายนัก แต่ชาวบ้านกว่า 9,000 ครัวเรือน กลับต้องสูญเสียอาชีพ สูญเสียวิถีชีวิตดั้งเดิม จึงอาจกล่าวได้ว่า โครงการแบบนี้ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน และนำไปสู่การประเมินมูลค่าความเสียหาย เพื่อชดเชยให้ประชาชน

“หลังจบเรื่องเขื่อนน้ำโจน ผมก็เรียนหนังสืออย่างเดียว โชคดีหน่อยตอนที่เรียนปริญญาโท ผมสนใจเรื่องทรัพยากร เรื่องการกระจายรายได้ของประชาชนด้วย แล้วพอดีมีองค์กรพัฒนาเอกชนมาขอให้ช่วยดูเรื่องเขื่อนปากมูลในประเด็นด้านเศรษฐศาสตร์เลยเหมือนเป็นโอกาส ตอนนั้นผมดูสองส่วนหลักๆ คือ ความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจของการลงทุนเรื่องเขื่อน ซึ่งเราเห็นว่าไม่น่าจะคุ้มค่า น่าจะมีการคาดการณ์เรื่องงบประมาณที่ต่ำกว่าความเป็นจริง แต่ตอนนั้นยังไม่ถึงขั้นทำเอกสาร แค่ไปพูดตามเวทีต่างๆ

“อีกส่วนหนึ่งที่ผมไปทำเอกสารออกมา คือเรื่องการคำนวณผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจการประมง เพราะมีประเด็นเรื่องค่าชดเชยที่ต้องจ่ายให้ชาวบ้านด้วย โดยตอนแรก กฟผ. มีสูตรคิดค่าชดเชยที่ไม่เป็นธรรมเท่าไหร่ นั่นถือเป็นจุดแรกที่เราเข้าไปดูเรื่องพลังงานจริงจัง”

การทำงานครั้งนั้น เป็นเหมือนแรงบันดาลใจให้อาจารย์คิดว่า ควรผลักดันความรู้เรื่องพลังงานไปสู่สาธารณชนมากขึ้น

อาจารย์ถือเป็นนักวิชาการคนแรกๆ ของเมืองไทยที่หยิบยกเอาประเด็นเหล่านี้มานำเสนอกับภาครัฐจริงจัง โดยหลังจากนั้น เขาได้ช่วยขับเคลื่อนเรื่องโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอกและบ้านกรูดที่ประจวบคีรีขันธ์

โจทย์หนึ่งที่อาจารย์นำเสนอคือ การใช้พลังงานหมุนเวียน แทนการใช้ถ่านหินที่สร้างมลภาวะแก่สิ่งแวดล้อม แต่เนื่องจากประเด็นนี้ค่อนข้างใหม่มาก และที่ผ่านมาบ้านเราพึ่งพาแต่โครงการใหญ่ๆ มาตลอด คนส่วนใหญ่จึงนึกภาพไม่ค่อยออก ถึงขั้นที่มีคำพูดว่า “บ้านเราไม่มีศักยภาพพอจะทำแบบนั้นหรอก แค่ผลิตให้ได้ 1,000 เมกะวัตต์ ยังไม่มีทางเลย”

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนั้นก็มีการจัดตั้งเครือข่ายพลังงานยั่งยืนแห่งประเทศไทยขึ้นมา โดยอาจารย์รับหน้าที่เป็นเลขานุการ เพื่อผลักดันนโยบายสาธารณะที่ประชาชนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

“ข้อดีของการที่คุณพ่ออยู่การไฟฟ้าฯ ทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เป็นปัญหาและความคิดของทั้งสองฝั่ง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายประท้วงหรือฝ่ายที่จะสร้าง ดังนั้นถึงเราจะอยู่ฝ่ายหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้รู้สึกเกลียดอีกฝ่ายหนึ่ง”

ผลจากการต่อสู้ของกลุ่มนักวิชาการ เครือข่ายภาคประชาสังคม และกลุ่มชาวบ้าน ถึงขั้นแกนนำกลุ่มคัดค้านอย่าง เจริญ วัดอักษร ต้องยอมสละชีวิต ในที่สุดรัฐบาลจึงตัดสินใจล้มเลิกแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเริ่มมองหาพลังงานทางเลือกอื่นๆ ที่ตอบโจทย์ทั้งการพัฒนา วิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไปพร้อมๆ กัน

จุดนั้นเองที่ช่วยกรุยทางให้เกิดการพูดคุยเรื่องพลังงานในมิติที่หลากหลายมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ก็มีความเชื่อมั่นในเรื่องการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายว่าจะช่วยให้ประเทศเกิดความเปลี่ยนแปลง หลุดพ้นจากกรอบความคิดเดิมๆ ที่ฉุดรั้งการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังเช่นที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบแค่เมืองไทย แต่ลุกลามไปทั่วภูมิภาคเอเชีย

อาจารย์จึงก่อตั้ง ‘กลุ่มต้นกล้า’ ขึ้นมา เพื่อขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐศาสตร์ทางเลือก ตลอดจนเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนมุมมองความคิดระหว่างอาจารย์จากสถาบันต่างๆ รวมถึงกลุ่มนิสิตนักศึกษา โดยประเด็นที่พูดคุย มีตั้งแต่การเกษตร การจัดการทรัพยากร รวมถึงพลังงาน

“ถ้าเราพูดภายใต้กรอบเศรษฐศาสตร์แบบไทยๆ เราจะพูดแต่ว่าคุ้มหรือไม่คุ้มใช่ไหม แต่จริงๆ ยังมีประเด็นเรื่องแฟร์-ไม่แฟร์ด้วย เหมือนเราเคยได้ยินว่าเกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบใช่ไหม แต่เราจะเห็นว่าหัวข้อเรื่องการเอาเปรียบไม่มีอยู่ในวิชาเศรษฐศาสตร์ที่เรียนกัน ทั้งๆ ความจริงแล้วควรจะเป็นวิชา 3 หน่วยกิตด้วยซ้ำ เราก็เลยหยิบประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาพูด”

หากแต่แนวคิดหนึ่งที่มีอิทธิพลและเปิดโลกให้กับเขามากที่สุด คือ การใช้พลังงานของประเทศเดนมาร์ก ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาเรียนต่อปริญญาเอกที่นี่

“ตอนนั้นผมได้ไปดูงานที่เดนมาร์ก จุดเด่นของที่นี่คือ เขาปฏิเสธโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งเหตุผลการปฏิเสธนี้ก็น่าสนใจมาก เขาบอกว่ามันเป็นพลังงานที่ไม่เท่าเทียม คือคนที่อยู่ใกล้โรงงานจะได้รับผลกระทบเยอะมาก แต่คนที่อยู่ไกลออกไปกลับได้ประโยชน์ถ่ายเดียว ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เราเลยรู้สึกว่า มันมีหลายมิติที่เราผสมผสานเข้ามาในเรื่องพลังงานได้

“แต่ที่ประทับใจสุดคือ คอนเซปต์การอนุรักษ์พลังงานของเขานั้นมาจากชุมชน คือหากชุมชนใดมีไอเดียอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็สามารถคุยกับเทศบาลได้เลย แล้วถ้าเรามีโอกาสไปเยี่ยมบ้านเรือนที่นั่น พอเข้าไปในบ้าน เราจะรู้สึกอุ่นที่เท้าเลย เนื่องจากเขาใช้วิธีเดินท่อน้ำร้อนเข้ามา แล้วก็จะมีฉนวนกั้น ซึ่งทำจากฟาง คือปกติเวลาเราไปเมืองหนาว เรามักนึกถึงฮีตเตอร์ แต่นั่นเป็นเพียงการแก้ปัญหาระดับปัจเจก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาคิดคือการดีไซน์เมืองเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว สุดท้ายทั้งประเทศจึงไม่ต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่เพียงตอบโจทย์เรื่องพลังงานเท่านั้น แต่ยังโยงไปถึงเรื่องเศรษฐศาสตร์ด้วย”

เพราะฉะนั้น การมีทางเลือกที่หลากหลาย และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหาจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากทุกคนตระหนักว่านี่คือความรับผิดชอบร่วมกัน การรับมือกับเรื่องใดๆ ก็ย่อมให้ผลที่ดีกว่าการผลักภาระให้ใครคนหนึ่ง และยังนำมาซึ่งความยั่งยืนที่แท้จริง ไม่ใช่แค่เรื่องพลังงานเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงทุกเรื่องในสังคม

พลังงานสื่อสารได้

จุดเปลี่ยนสำคัญอย่างหนึ่งของวงการพลังงานไทยคือ การจัดตั้งกระทรวงพลังงานขึ้นมาเมื่อปี 2545 เพื่อขับเคลื่อนและกำหนดแผนทิศทางแผนการใช้พลังงานของประเทศ

เกิดการพูดคุยเรื่องพลังงานทดแทนอย่างจริงจัง แม้แต่ในชุมชนต่างๆ ก็เริ่มหันมาสร้างแหล่งผลิตไฟฟ้าของตัวเอง อย่างเช่น โรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งนอกจากจะประหยัดกว่าโครงการขนาดใหญ่หลายเท่าตัวแล้ว ทรัพยากรที่นำมาใช้ก็มาจากในท้องถิ่นนั่นเอง ไม่จำเป็นต้องนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อม

ในห้วงนั้น เป็นช่วงที่อาจารย์ตัดสินใจไปเรียนต่อด้านปริญญาเอกด้านการวางแผนและพัฒนาที่ Aalborg University ประเทศเดนมาร์ก ราว 4 ปี แต่ถึงจะไม่ได้อยู่เมืองไทย ความตั้งใจในการผลักดันแนวคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับพลังงานก็ไม่จางหายไป

สำหรับอาจารย์แล้ว ประสบการณ์ที่นั่นได้เปิดมุมมองใหม่ๆ โดยเฉพาะการลำดับความคิด และเข้าใจว่าอะไรคือโจทย์ที่แท้จริงของปัญหา จากนั้นถึงค่อยนำองค์ความรู้ต่างๆ ไปทดลอง ทดสอบ เพื่อหาวิธีการที่ดีที่สุดต่อไป

“ฐานคิดของคนเดนมาร์กนั้นน่าสนใจมาก อย่างในโรงเรียนต่างๆ เขาจะสนใจว่าเด็กทำงานร่วมกันได้หรือเปล่า ทำงานเป็นทีมได้ไหม หรือเวลามีดีเบตอะไรสักอย่าง หลายประเทศมักเริ่มต้นมาจากคุณจบมาจากที่ไหน เพื่อจะได้รู้ว่าคุณพูดมาจากความคิดอะไร แต่เดนมาร์กเขาจะเริ่มจากเรามีปัญหาอะไร แล้วจะแก้ต่ออย่างไรดี ส่วนเรื่องคุณจะเป็น Liberal หรือ Conservative เขาไม่ได้เมินเฉยนะ เพียงแต่ไม่ได้เน้นหรือให้ความสำคัญเท่านั้นเอง

“เช่นเดียวกับตอนทำวิทยานิพนธ์ ผมเลือกหัวข้อเกี่ยวกับพลังงาน ซึ่งบทแรกต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่า คนที่เป็นคีย์แมนที่จะมาตัดสินใจเป็นใคร และโจทย์แต่ละโจทย์นั้นเป็นของใคร ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่เคยคิดถึงมาก่อนเลย อย่างเมืองไทย เรามักมองตัวเราเป็นเสมือนผู้ซื้อพลังงาน ดังนั้นฐานความคิดคือ เลือกระหว่าง A-B-C-D เราจะสนใจแค่อันไหนถูกที่สุด แต่ถูกสุดนี้ไม่ได้หมายความว่าคนในประเทศจะได้รายได้มากสุดด้วย เช่น สมมติเราซื้อถ่านหินเพราะถูกที่สุด แต่เงินกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มันไหลออกนอกประเทศหมดเลย แต่ถ้าเป็นพลังงานหมุนเวียน ซึ่งตอนนั้นแพงกว่า ถ้าเรายอมจ่าย สุดท้ายเงินก็จะกลับมาในประเทศด้วย และในบทสุดท้าย ซึ่งเป็นเรื่องข้อเสนอ ปกติเราจะเขียนสิ่งที่คิดลงไป แต่สำหรับที่นี่ เราต้องเขียนเสร็จล่วงหน้าสัก 1 ปี และใช้เวลาปีสุดท้ายไปทำให้เป็นจริง”

ในระหว่างนั้น อาจารย์กลับมาบ้านเกิด พร้อมกับความตั้งใจนำเสนอแนวทางอุดช่องโหว่ของระบบพลังงานไทย

เรื่องแรกคือ ผลักดันการอนุรักษ์พลังงานเข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ เพราะที่ผ่านมา แม้ประเด็นนี้จะถูกพูดค่อนข้างมาก ทั้งยังมีการโปรโมตโฆษณาตามสื่อเต็มไปหมด แต่ในแง่การปฏิบัติแล้วกลับเป็นเหมือนของแถม เพราะไม่เคยมีการบรรจุลงในแผนเลย จึงไม่มีหน่วยงานใดให้ความสำคัญอย่างจริงจัง

อีกเรื่องหนึ่งคือ พลังงานหมุนเวียน เพราะแม้กระแสจะเริ่มมาแล้ว แต่ถ้าพูดในแง่ความเชื่อมั่นก็ต้องยอมรับว่า คนส่วนใหญ่ยังคิดว่า ถึงอย่างไรก็เป็นไปไม่ได้หรอก แต่อาจารย์บอกว่า โชคดีที่เวลานั้น กระทรวงพลังงานเพิ่งก่อตั้ง การนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ จึงทำได้ไม่ยากนัก

และในที่สุด การผลักดันก็สัมฤทธิผล และมีส่วนพลิกโฉมการจัดการนโยบายพลังงานของบ้านเราได้พอสมควร

“สิ่งที่เรานำเสนอเป็นสิ่งที่หลายประเทศก็ทำ เพียงแต่ว่าตอนนั้นอาจจะกังวลเพราะไม่เคยทำแบบนี้มาก่อน แต่เมื่อเรามีความเชื่อ และตั้งเป้าหมายพร้อมกับหาเครื่องมือเพื่อไปยังเป้าหมายนั้น ไม่นานตัวเลขกำลังการผลิตของพลังงานหมุนเวียนก็ทะยานขึ้นไปสู่ 1,000 เมกะวัตต์แรก จากนั้นก็ขยับขึ้นเป็น 2,000-3,000

แต่ก็ไม่ได้หมายว่าสิ่งที่เราผลักดันจะสำเร็จทุกเรื่อง อย่างเราเสนอว่าควรคำนวณต่อไปเลยว่า เวลาทำโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนนั้นเกิดการจ้างงานต่างกันไหม คือถ้าเรามีพลังงานหมุนเวียนเยอะ เราอาจจ้างคนไทยเยอะหน่อย แต่ถ้าใช้พลังงานถ่านหินเยอะ เราอาจจ้างคนไทยน้อย ซึ่งเรื่องนี้ยังทำไม่สำเร็จจนถึงทุกวันนี้

นอกจากการสื่อสารเรื่องนโยบายกับภาครัฐแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่อาจารย์มองว่าละเลยไม่ได้ คือ การสื่อสารกับประชาชนทั่วไปว่า พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นอย่างไร เกี่ยวข้องกับเราแบบไหน

โดยเมื่อปี 2545 อาจารย์ได้เปิดคอลัมน์ ‘พลังงานน่ารู้’ ในนิตยสารโลกสีเขียว ซึ่งเป็นนิตยสารที่พูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมแบบเข้มข้น แต่บทความของเขาก็ไม่ใช่เรื่องเนิร์ดๆ เพราะเขาได้ย่อยความรู้ต่างๆ บวกกับนำข้อมูลที่น่าสนใจมาผสมผสาน เช่น ตัวอย่างจากต่างประเทศ สถานการณ์โลก ความรู้เรื่องโรงไฟฟ้าทางเลือก จนผู้อ่านเข้าใจเรื่องพลังงานได้ไม่ยาก

ต่อมาอาจารย์ได้เข้าไปช่วยติดตามโครงการ ‘พลังงานทางเลือกเพื่อสุขภาพในชุมชน’ ซึ่งได้ทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยเขาต้องเดินทางไปตามท้องถิ่นต่างๆ เพื่อให้คำแนะนำและประเมินผลงานการผลิตพลังงานในชุมชนว่าเป็นอย่างไร

จากนั้นอาจารย์ก็นำความรู้เหล่านี้มาต่อยอด โดยร่วมกับอดีตกองบรรณาธิการบางส่วนของนิตยสารโลกสีเขียว จัดทำนิตยสารฉบับใหม่ชื่อ ‘พลัง+งาน’ ปฏิบัติการพลังงานเพื่อชุมชน เมื่อปลายปี 2551 ด้วยความหวังที่จะขยายความรู้เหล่านี้ไปสู่วงกว้างที่สุด

“สสส. ให้ทุนชุมชนต่างๆ ทำเรื่องพลังงาน แรกๆ เขาไม่ได้นึกถึงผมหรอก แต่พอให้ทุนแล้ว เขาถึงนึกขึ้นมาว่า น่าจะมีคนไปติดตามด้วย จึงทาบทามเรา ตอนนั้นสนุกมาก ผมยังจำได้ว่า ไปหมู่บ้านแรกที่เพชรบูรณ์กับแพร่ ทำเรื่องระบบพลังงานชีวมวล เขาใส่สูทมาต้อนรับเลย นึกว่าไปตรวจงาน แต่ความจริงไปชวนคุยมากกว่า หลังๆ เลยเปลี่ยนวิธี คือแทนที่จะไปตรวจคนเดียว ก็หันมาใช้วิธี คุยที่หนึ่งเสร็จ เราก็ชวนเขาขึ้นรถไปคุยต่ออีกที่ ทำแบบนี้เรื่อยๆ จนเกิดเป็นเครือข่ายขึ้นมา

“เราทำโครงการนี้อยู่ 6 ปี ระหว่างนั้นก็พยายามผลักดันหลายๆ เรื่อง เช่น เชียร์กระทรวงพลังงานให้มีรางวัลสำหรับคนที่ทำเรื่องนี้ ซึ่งตอนหลังก็มีสื่อสนใจ จนพัฒนาเป็นรายการโทรทัศน์ แต่จะว่าไปแล้วคงไม่ได้มาจากเราโดยตรงหมด แต่เป็นผลจากการมีเครือข่ายที่แข็งแรงมากกว่า”

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในโมเดลที่อาจารย์คิดว่ามีประโยชน์และควรนำไปต่อยอดมากที่สุด ก็คือ ช่างชุมชน เพราะคนกลุ่มนี้จะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการผลักดันนวัตกรรมต่างๆ ให้เกิดขึ้นได้จริง เนื่องจากการสร้างอุปกรณ์ต่างๆ ล้วนแต่ต้องอาศัยความรู้ด้านช่างทั้งสิ้น

“สำหรับผมแล้ว จุดอ่อนเรื่องการพัฒนาพลังงานชุมชนไม่ใช่เรื่องพลังงาน แต่เป็นเรื่องความสามารถของช่าง อาจเพราะเราไม่ได้ปลูกฝังความรู้เรื่องนี้เท่าที่ควร อย่างของเล่นบ้านเรามีหมดเลยนะ เล่นเป็นหมอ ตำรวจ แต่ช่างไม่ค่อยมี ขณะที่เดนมาร์ก เขาจะมีของเล่นที่เกี่ยวกับช่างโดยเฉพาะ ทำให้มีพื้นฐานความคิดเรื่องนี้เยอะ เช่น อาจารย์ของผม ปกติเขาจะมีวันหยุดประจำปี 5 สัปดาห์ แต่สัปดาห์สุดท้ายเขาจะอยู่บ้านแล้วมาช่วยกันทาสี แต่เขาจะทาแค่ปีละด้านเท่านั้น 4 ปีถึงครบ 4 ด้าน เพราะฉะนั้น สภาพบ้านของเขา ไม่ว่าตอนไหนก็จะดูใหม่อยู่เสมอ ตรงนี้สะท้อนมุมมองวิธีคิดแบบช่างจริงๆ”

แม้การสื่อสารเรื่องพลังงานในสังคมไทยอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อาจารย์เดชรัตก็พยายามเต็มที่ ทั้งการลงพื้นที่ เปิดเสวนา จัดประชุม รวมถึงเปิดสอนวิชาเศรษฐศาสตร์พลังงานชีวภาพ โดยให้นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จำลองสถานการณ์โดยอิงกับเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เช่น หากเราทำพลังงานชีวมวล และเกิดปัญหาเรื่องน้ำมันปาล์มราคาสูงขึ้น แล้วเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร กระทั่งหลายคนหันมาตระหนักว่า พลังงานเป็นเรื่องทุกคนที่ต้องศึกษา เรียนรู้ และพยายามทำความเข้าใจ

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งปลายทางสุดท้ายก็คือ ชีวิตที่ดีของพวกเราคนไทย และลูกหลานที่กำลังจะเติบโตขึ้นนั่นเอง

บ้านต้นคิดทิพย์ธรรม

หากใครมีโอกาสได้แวะเวียนไปยังบ้านของอาจารย์เดชรัตที่จังหวัดนนทบุรี จะพบว่าไม่ธรรมดาเลย เพราะเขากับภรรยาตั้งใจทำให้บ้านหลังนี้รบกวนโลกให้น้อยที่สุด และเป็นต้นแบบหนึ่งที่ทำให้คนทั่วไปเห็นว่า พลังงานที่ยั่งยืนสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่ในบ้าน

“บ้านหลังนี้มีคอนเซปต์มาจากเดนมาร์ก แต่ในเชิงเทคนิคนั้นจะตรงข้ามกัน เพราะของเขาคือทำยังไงก็ได้ให้บ้านอุ่น แต่ของเราคือทำยังไงก็ได้ให้บ้านเย็น”

อาจารย์เริ่มก่อสร้างบ้านหลังนี้เมื่อราวปี 2551 โดยใช้ชื่อบ้านว่า ‘ต้นคิดทิพย์ธรรม’ สำหรับคำว่า ‘ต้น’ ก็มาจากชื่อเล่นของอาจารย์ ขณะที่ ‘ทิพย์’ นั้นมาจาก ‘รุ่งทิพย์’ ชื่อของภรรยา และเหตุที่เป็น ‘ต้นคิด’ ก็เนื่องมาจากอาจารย์เป็นคนช่างคิด แต่ไม่ค่อยเวลาทำสักเท่าไหร่ จึงเลยปล่อยหน้าที่นี้ให้เป็นของภรรยา

ตอนนั้นทั้งคู่ลองถอดรหัสการใช้พลังงานออกมาเป็นภาพชัดเจนคือ ปกติบ้านทั่วไป หากไม่มีเครื่องปรับอากาศเลย จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 3 ตันต่อปี และถ้าใช้รถยนต์อีก 2 คันก็น่าจะปล่อยเพิ่มราวๆ 6 ตันต่อปี สรุปแล้วเป็น 9 ตันต่อปี แต่ถ้าสร้างแบบไม่วางแผนใดๆ ทั้งสิ้น และติดเครื่องปรับอากาศเพิ่มอีก 3 เครื่อง บ้านหลังนั้นก็จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่โลกเฉลี่ย 11 ตันต่อปี

หากเราไม่อยากให้คาร์บอนไดออกไซต์ 11 ตันต่อปีไปค้างอยู่ในชั้นบรรยากาศโลก ก็ต้องปลูกป่าจำนวนหนึ่งเพื่อดูดซับก๊าซนี้ให้มาอยู่ในรูปของต้นไม้แทน ซึ่ง 11 ตันนี้เราก็ต้องใช้ป่าประมาณ 7.5 ไร่ แต่บ้านของเรามีพื้นที่แค่ 0.5 ไร่เท่านั้นเอง และถ้า 13 ล้านหลังคาเรือนใช้แบบเดียวกันหมด เราก็ต้องใช้ป่าทั้งหมด 97.5 ล้านไร่ หรือ 95 เปอร์เซ็นต์ของป่าทั้งหมด เหมือนกับเราต้องการป่าอีกประเทศหนึ่ง

ตอนนั้นเขาไปดาวน์โหลดแบบบ้านจากกระทรวงพลังงานมาลองปรับปรุง โดยโจทย์หนึ่งที่วางไว้คือ ทำยังไงให้บ้านไม่ร้อน โดยไม่ต้องติดเครื่องปรับอากาศ

“ที่ดินนี้คุณพ่อคุณแม่ซื้อไว้นานแล้ว เราก็เลยมาสร้างบ้านใหม่ ตอนนั้นด้วยความที่ที่ดินมี 2 เจ้าของคือ ผมกับน้องชาย ก็เลยค่อนข้างแคบและลึก เราจึงเอาต้นไม้มาปลูกทางทิศตะวันตก ซึ่งต้นไม้นั้นไม่จำเป็นต้องใหญ่ ขอให้สูงแล้วก็บังแดดได้ก็พอ อีกอย่างหนึ่งคือ แต่ก่อนที่ดินตรงนี้จะต่ำกว่าถนนประมาณ 1 เมตร เราเลยต้องถมเพิ่ม ส่วนจุดที่ไม่ได้ถมก็ทำเป็นบ่อน้ำ ซึ่งช่วยได้มากนะ ทำให้เย็นขึ้น

“ขณะที่ตัวบ้าน เราใช้โฟมมาเป็นฉนวนกันความร้อน ปิดช่องทางลมทางทิศใต้ เปิดช่องลมหน้าบ้านทะลุหลังบ้าน และระบายอากาศร้อนด้านบนสุด ส่วนห้องที่ไม่ค่อยได้ใช้ เราก็ไว้ทางทิศตะวันตก ให้เป็นเหมือนตัวกั้นความร้อนอีกชั้นหนึ่ง ส่วนปัญหาก็มีตรงที่ชายคามันสั้นไปหน่อย ฝนก็เลยสาด คือจริงๆ บ้านไทยอย่างไรชายคาต้องยาวหน่อย เวลาเราออกไปนอกบ้านก็ต้องวิ่งไปปิดหน้าต่างก่อน บ้านนี้เราใช้เวลาสร้าง 2 ปีเสร็จ เพราะบริษัทที่มารับสร้างเพิ่งทำบ้านแบบนี้เป็นหลังที่ 2 เลยต้องใช้เวลาหน่อย”

นอกจากนี้ อาจารย์กับภรรยายังปลูกผัก ปลูกเห็ดกินเอง เพื่อลดการใช้รถยนต์ออกไปซื้ออาหารข้างนอก รวมถึงสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ๆ ทำร่วมกับลูกๆ เพื่อปลูกฝังความรู้เรื่องพลังงาน เช่น ‘สมดุลในบ่อปลา’ เป็นการเรียนวิทยาศาสตร์แบบบังเอิญ ด้วยการทำบ่อปลาในบ้าน และแก้ปัญหาน้ำเน่าโดยเอาฟางกองไว้ขอบบ่อแล้วรดน้ำหมัก หรือ ‘ไม้ปิ้งไก่สยบเบนเท็น’ ด้วยการนำเอาไม้ปิ้งไก่มาทำเป็นของเล่นง่ายๆ เช่น เกมคีบปิงปอง

ทั้งหมดนี้เป็นการยืนยันว่า พลังงานนั้นเป็นเรื่องน่าสนุกและใกล้ตัวกว่าที่คิด

อย่างไรก็ตาม หลังปี 2562 เมืองไทยต้องเผชิญสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ระบาดหนัก บ้านต้นคิดทิพย์ธรรมก็ประสบปัญหาไม่แพ้กัน จนทั้งคู่ต้องปรับเปลี่ยนแบบบ้านใหม่เพื่อรับมือกับปัญหานี้

“อยู่ไม่ได้เลย เพราะเราวัดค่าฝุ่นข้างในกับข้างนอกต่างกันนิดเดียว ทีแรกก็คิดว่ามุ้งลวดจะช่วยได้ แต่ปรากฏว่าไม่ได้ สุดท้ายเลยต้องปิดบ้าน ติดแอร์ แล้วโชคดีที่ช่วงนั้นโซลาร์เซลล์ถูกลงมาแล้ว เลยติดแอร์ก่อน 1 เดือน เพื่อบันทึกว่าค่าไฟเพิ่มมาเท่าไหร่ จากนั้นจึงค่อยติดโซลาร์เซลล์ จำได้ว่าค่าไฟขึ้นจาก 500 วัตต์ เป็น 2,200 วัตต์ พอติดโซลาเซลล์ก็เหลือ 200 วัตต์”

ปัจจุบันอาจารย์เดชรัตคำนวณว่า บ้านหลังนี้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราวๆ 5 ตันต่อปีเท่านั้น โดยหลักๆ มาจากรถยนต์ 2 คัน โดยเขากับภรรยามีแผนปรับวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือเปลี่ยนรถใหม่ จากเดิมที่เป็นระบบเติมน้ำมันก็หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทน ซึ่งเชื่อว่า บ้านหลังนี้ก็เข้าใกล้ความเป็น Zero Carbon อย่างแท้จริง ตลอดจนเป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนที่อยากมีบ้านประหยัดพลังงานว่า หากตั้งใจแล้ว ทุกอย่างย่อมเป็นไปได้

สิ่งที่เรานำเสนอเป็นสิ่งที่หลายประเทศก็ทำ เพียงแต่ว่าตอนนั้นอาจจะกังวลเพราะไม่เคยทำแบบนี้มาก่อน แต่เมื่อเรามีความเชื่อ และตั้งเป้าหมายพร้อมกับหาเครื่องมือเพื่อไปยังเป้าหมายนั้น

เดชรัต สุขกำเนิด : ‘พลังงาน’ เรื่องเล็กๆ ที่ทุกคนจัดการได้

พลังงานอยู่รอบตัวเรา

ตลอด 20 ปีที่อาจารย์เดชรัตขับเคลื่อนเรื่องพลังงาน ต้องยอมรับว่าโลกทุกวันนี้ได้เปลี่ยนไปมากพอสมควร อย่างความเชื่อเดิมๆ ที่ว่า พลังงานหมุนเวียนไม่มีทางเกิดขึ้นในบ้านเรา ก็ถูกลบล้างโดยสิ้นเชิง หรืออย่างโซลาร์เซลล์ซึ่งเคยเป็นของราคาแพงจนเอื้อมไม่ไหว ก็เริ่มถูกลงเรื่อยๆ จนหลายบ้านก็หันมาติดตั้งกันมากขึ้น แม้แต่ระบบการขายไฟฟ้าคืน ก็เริ่มเป็นที่ยอมรับเช่นกัน

“มันเกินกว่าที่คิดเยอะเลย อย่างจำนวนเมกะวัตต์ของพลังงานหมุนเวียน ตอนนี้เข้าใจว่าถึง 6,000 เมกะวัตต์แล้ว หรืออย่างโซลาร์เซลล์ ตอนนี้ก็ติดตั้งกันทั่วแล้ว”

อย่างไรก็ตาม ถึงหลายสิ่งหลายอย่างจะเปลี่ยนไป แต่ยังมีความท้าทายใหม่ๆ ให้ต้องรับมือเสมอ แนวคิดหนึ่งที่อาจารย์อยากเห็นคือ เรื่องสินเชื่อพลังงาน เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่มีรายได้ไม่มาก เข้าถึงแผงเซลล์สุริยะอย่างเท่าเทียมกัน

“อุปสรรคอย่างหนึ่งของการมีบ้านประหยัดพลังงาน คือ พอบ้านราคาถูกลง ออปชันต่างๆ ก็จะน้อยลงไปด้วย เช่น ถ้าฉันอยู่บ้านราคาถูก ก็ต้องอยู่แบบนี้ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ ปัญหาเพราะตลาดมันดีไซน์มาแบบนี้ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการประหยัดพลังงานเลย เพื่อแก้ปัญหา อย่างแรกเลยเราต้องมีระบบสินเชื่อ เอาง่ายๆ คุณซื้อรถมาราคา 500,000 บาท ทำไมซื้อกันได้ โซลาร์เซลล์ 200,000 บาท กลับซื้อไม่ได้ เพราะผ่อนชำระไม่ได้ ดังนั้นถ้าเราทำเรื่องนี้ให้เป็นระบบ ผมเชื่อว่าหนึ่งล้านหลังคาเรือนคงไม่เกินฝัน”

อีกปัญหาหนึ่งก็คือ การอนุญาตให้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ ซึ่งค่อนข้างยุ่งยาก เนื่องจากต้องติดต่อทั้งหน่วยราชการในท้องถิ่น คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน รวมถึงการไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งหากมีระบบการจัดการให้คล่องตัวกว่านี้ ก็น่าจะเป็นแรงจูงใจให้คนหันมาติดกันมากขึ้น

นอกจากนี้ การรู้เท่าทันปัญหาพลังงานก็เป็นสิ่งที่อาจารย์อยากให้เกิดขึ้นในกลุ่มประชาชน เพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่หลายคนไม่ทราบ เช่น ปัจจุบัน เรามีโรงไฟฟ้ามากเกินความจำเป็น เป็นเหตุให้ประชาชนต้องรับภาระจ่ายเงินให้โรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้งานเลยเฉลี่ยคนละ 20 สตางค์

“ทุกวันนี้เราใช้ไฟฟ้าอยู่ประมาณ 30,000 เมกะวัตต์ แต่โรงไฟฟ้าทั้งหมดมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 45,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเกินความจำเป็น อย่างบางโรงสร้างมา 2 ปีแล้ว แต่ไม่เคยเดินเครื่องเลย ปัญหาคือตอนทำสัญญา เราไปทำแบบ Take or Pay คือถึงไม่ซื้อก็ต้องจ่ายเงิน ทำให้เราต้องจ่ายเงินให้โรงไฟฟ้าเหล่านี้ทุกเดือน คำถามคือแล้วเราจะสร้างไปทำไม และถ้าจะว่าไปแล้ว สถานการณ์ของบ้านเราไม่จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าใหม่จนถึงปี 2570 เลย ดังนั้นหากพูดในอีกมุมหนึ่ง ผมถือว่าตัวเองทำงานได้ไม่สำเร็จ ซึ่งเราก็ต้องพยายามกันต่อไป”

สำหรับแนวโน้มในอนาคต อาจารย์เชื่อว่า เรื่องพลังงานจะยิ่งใกล้ตัวและเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยเขายกคำว่า Prosumer ซึ่งมาจากคำว่า Producer และ Consumer ขึ้นมาอธิบาย โดยหมายความว่า ต่อไปทุกคนจะเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคในคนเดียวกัน ดังนั้นแต่ละคนก็จะเริ่มคิดทบทวนและวางแผนการใช้พลังงานในแต่ละวันของตัวเองมากขึ้น

“ผมคิดว่า พอเรามีรถประหยัดพลังงาน มีโซลาร์เซลล์มากขึ้น ต่อไปจะเป็นเรื่องสนุก เพราะทุกคนจะต้องเริ่มบริหารจัดการการใช้พลังงานของตัวเอง และถ้าเรามีโอกาสดีขึ้นเหมือนเดนมาร์กที่ทุกชุมชนมาร่วมกันคิด ร่วมกันวางแผนเรื่องพลังงาน ต่อไปมันจะไม่ใช่แค่เรื่องไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการสร้างพื้นที่ที่ทุกคนเป็นเจ้าของ และช่วยกันพัฒนา ซึ่งนั่นจะเป็นหนทางแห่งการสร้างความยั่งยืนที่แท้จริง”

โครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก

คนเล็กเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 30 บุคคลผู้สร้างสังคมที่ยั่งยืน และช่วยกันสร้างคุณค่าสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นประเทศ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

อ.ดร.เดชรัต สุขกำเนิด คือบุคคลต้นแบบประเด็นรับรองการมีพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืนทันสมัย (SDGs ข้อที่ 7) และประเด็นดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ (SDGs ข้อที่ 13)

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.