สืบ นาคะเสถียร : “ผมทำงานหนักกว่านี้ ไม่ได้แล้ว”

<< แชร์บทความนี้

“ซี.6 เครียดระเบิดขมับ ลูกชาย อดีตผวจ. งานหนัก แก้ไม่ตก”

ข่าวกรอบเล็กๆ ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันจันทร์ที่ 3 กันยายน 2533 เป็นวันเดียวกับที่ผู้คนมุ่งความสนใจไปยังข่าวนางเอกสาวเบอร์ 1 ของยุค สิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์ ดีใจได้สัญชาติไทยหลังรอมานานเกือบ 5 ปี

หลายคนไม่คิดว่า อีกไม่กี่วันถัดมา..ข้าราชการหนุ่มที่แทบไม่มีใครรู้จัก ยกเว้นผู้สนใจธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมผู้นี้ จะกลายมาเป็นบุคคลยิ่งใหญ่ที่เป็นแรงบันดาลใจของใครอีกหลายคนจนถึงปัจจุบันนี้

เพราะก่อนหน้านั้น เสียงตะโกนที่เขาพยายามส่งไปถึงผู้คนแทบไม่เคยสำเร็จเลย สิ่งที่ได้กลับมาคือ การทรยศหักหลังของคนที่เรียกตัวเองว่า “ผู้ใหญ่” ในบ้านเมือง

กระสุนนัดนั้นจึงเปรียบเสมือนการเดิมพันครั้งสุดท้ายที่ไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าผลที่ออกมาจะเป็นหัวหรือก้อย

ท่ามกระแสข่าวการล่าสัตว์ป่าที่ครุกรุ่นในสังคม ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอรวบรวมข้อมูลของข้าราชการ ซี 6 ที่ชื่อว่า สืบ นาคะเสถียร ชายผู้ยอมสละทุกอย่างในชีวิตเพื่อปกป้องป่าไม้และสัตว์ป่าให้คงอยู่เป็นมรดกของชาติต่อไป

ภาพ : นิตยสาร สารคดี

การต่อสู้ที่โดดเดี่ยว

“ผมทำงานหนักกว่านี้ไม่ได้แล้ว” สืบ นาคะเสถียร กล่าวกับรัฐมนตรีคนหนึ่งหลังถูกเรียกพบที่กรุงเทพฯ เนื่องจากบริษัทที่เคยได้รับสัมปทานป่าไม้ให้ข้อมูลว่ามีการลักลอบตัดไม้ในห้วยขาแข้ง

วันนั้นสืบหอบเอกสารชิ้นใหญ่ พร้อมทั้งแผนที่และข้อเท็จจริงอีกมากมายเพื่อนำไปอธิบาย รัฐมนตรีดูไม่สนใจเอกสาร เขาโยนแฟ้มใส่หน้าสืบแล้วกล่าวห้วนๆ ว่า “คุณต้องทำงานให้หนักกว่านี้” สืบตอบด้วยน้ำเสียงมีโทสะว่า “ผมทำงานหนักกว่านี้ไม่ได้แล้ว”

ต่างคนต่างเงียบไปครู่หนึ่ง ก่อนที่นักการเมืองคนเดิมจะบอกว่า “งั้นไปบอกลูกน้องของคุณให้ทำงานหนักกว่านี้”

สืบจึงโต้กลับไปว่า เขาไม่สามารถบอกลูกน้องแบบนั้นได้ เพราะช่วงที่ผ่านมาทุกคนทำงานจนไม่ได้หลับไม่นอนกันเลย

เมื่อออกจากห้อง หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง บอกกับใครๆ ว่า “ทีนี้ผมรู้แล้วว่าเรากำลังต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว”

คนใกล้ชิดของสืบต่างบอกว่า เหตุการณ์วันนั้นทำให้เขาท้อแท้ คิดจะลาออกไปเรียนต่อ ไปบวช และนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเดิมพันด้วยชีวิต!!

หลังสืบจากไป รัฐมนตรีคนเดียวกันที่เพิ่งโยกไปรับตำแหน่งที่สูงขึ้นให้สัมภาษณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพว่า เขารู้จักกับสืบมานานแล้ว และเสียใจมากที่สืบเสียชีวิต เพราะเป็นคนดี เป็นนักอนุรักษ์ที่ต่อสู้อย่างเข้มแข็ง ขณะนี้ได้สั่งเพิ่มหน่วยป้องกันทำลายป่าให้ห้วยขาแข้ง และอนุมัติให้ทหารบกเข้าไปใช้พื้นที่ใกล้เขตห้วยขาแข้ง เพื่อป้องกันดูแลป่าที่นั่นด้วย

“เจ้าหน้าที่ต้องละเว้นในความโลก ถ้าเจ้าหน้าที่ให้ความร่วมมือ เราก็จะสามารถช่วยป้องกันและปราบปรามการทำลายป่าได้ ก็ขอร้องกันจนหมดปากกาไปหลายด้าม และหมดคนไปหลายชีวิตแล้วก็ยังเป็นอย่างนี้” รัฐมนตรีกล่าวย้ำ

หากสิ่งที่รัฐมนตรีพูดเกิดขึ้นก่อนหน้าสักหน่อย บางทีโศกนาฎกรรมครั้งนี้อาจไม่เกิดขึ้นก็เป็นได้

ภาพ : นิตยสาร สารคดี

จุดเปลี่ยนนักวิชาการสู่นักอนุรักษ์

หากถามว่า เหตุใดสืบจึงตัดสินใจเดิมพันครั้งใหญ่

จุดเปลี่ยนน่าจะเกิดขึ้นหลังภารกิจอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน 

เดิมทีเขาไม่ได้รับผิดชอบโครงการนี้ แต่เพราะเคยไปอบรมเรื่องการจัดการสัตว์ป่าที่สถาบัน Smithsonian 2 เดือน และมีประสบการณ์อพยพเนื้อทรายที่เกาะกระดาษสำเร็จ กรมป่าไม้จึงสับเปลี่ยนให้เขาเป็นหัวหน้าภารกิจนี้ แทนหัวหน้าทีมคนเก่าที่ไม่ยอมทำงาน

สืบใช้เวลา 2 ปีในการทำงาน ทั้งจัดทีม วางแผน ทุ่มเวลาทุกนาทีเพื่อกู้ชีวิตสัตว์ป่ามากมาย แม้หลายตัวจะตายไป สืบเองก็เสียใจไม่แพ้กัน แต่เขาก็ถือว่าผิดเป็นครูจึงพยายามหาหนทางช่วยสัตว์ป่าให้ได้มากที่สุด จนสามารถช่วยได้ 1,364 ตัว

แต่ที่น่าคิดยิ่งกว่าคือ ผลพวงของการผลิตพลังไฟฟ้าด้วยพลังน้ำกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติเกินกว่าที่คาด

สัตว์ป่าที่ตกค้างจะหนีน้ำไปอยู่ที่สูงจนอดอาหารตาย และถึงจะช่วยมาได้ ร่างกายอ่อนแอก็เกินกว่าจะแย่งอาหารจากเจ้าถิ่นได้ไหว บางตัวถูกขับไล่ออกมาจากต้องหนีลงอ่างว่ายกลับไปที่เดิม

ที่หนักสุดคือ ชาวบ้านบางคนถือโอกาสนี้ออกเรือส่องไฟเลือกยิงสัตว์อย่างมันมือ ครั้งหนึ่งทีมงานพบซากข้อเท้าสมเสร็จถูกตัดขาวางเย้ยเจ้าหน้าที่ สืบทนไม่ได้จึงพาทีมออกไปจับกุมผู้กระทำผิด ค้นหาเรือทุกลำที่พบในอ่าง แต่ก็ไม่พบจึงกระจายทีมไปค้นตามแพขายปลา สุดท้ายก็พบไส้สมเสร็จตกค้างที่เรือลำหนึ่ง จึงใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดี ทำให้การลักลอบล่าสัตว์ในอ่างลดลงไปด้วย

การได้ต้องพบเห็นความตายของสัตว์ป่าวันแล้ววันเล่า กลายเป็นแรงผลักดันที่เปลี่ยนนักวิชาการที่ชอบเก็บตัว ให้ลุกขึ้นเดินสายพูดตามเวทีสาธารณะนับไม่ถ้วนและเริ่มเป็นที่รู้จักของคนในสายอนุรักษ์

ภาพ: นิตยสาร สารคดี

ผมขอพูดในนามสัตว์ป่าทุกตัว

สืบกล้าแสดงความคิดเห็นคัดค้าน แม้อีกฝ่ายจะตำแหน่งสูงกว่า การสร้างเขื่อนน้ำโจน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า คือโครงการแรกที่เขาประกาศว่ายอมไม่ได้

อธิบดีกรมป่าไม้เวลานั้นบอกว่า การสร้างเขื่อนไม่เป็นปัญหาสำหรับสัตว์ป่า อย่างนกยูงที่ต้องอาศัยหาดทรายดำรงชีพ ก็สามารถจัดการโดยสร้างหาดทรายเทียมขึ้นมาทดแทน สืบที่อยู่ในวงประชุมจึงกล่าวแย้งอย่างไม่เกรงใจว่า “ความคิดนี้เป็นความคิดของคนที่ไม่รู้เรื่องการจัดการด้านสัตว์ป่าเลย”

สืบทุ่มเทกับการรณรงค์ครั้งนี้ เขาเขียนความเห็นต่อต้าน ติดต่อประสานงาน นำผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงและพรรณไม้ทั้งคนไทยและต่างชาติลงพื้นที่เก็บข้อมูล นำเครื่องร่อนขนาดเล็กมาทดลองใช้เพื่อตรวจป่าทุ่งใหญ่ฯ-ห้วยขาแข้ง แต่เผอิญลานบินไม่ดี พอลงจอดปีกก็เลยหักต้องยกเลิกการทดลอง

สืบบอก วีรวัธน์ ธีรประสาธน์ เพื่อนสนิทซึ่งเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฯ ว่า งานอพยพสัตว์ป่าที่เชี่ยวหลานไม่ประสบความสำเร็จเลยจึงน่าจะนำมาเป็นบทเรียนสำหรับการคัดค้านคราวนี้ เขายังจัดทำร่างผลกระทบการอพยพสัตว์ป่าพิมพ์เป็นรูปเล่ม รายงานต่อ กฟผ. และสาธารณชน และสุดท้ายเชิญผู้นำการคัดค้านและนักข่าวไปสัมผัสพื้นที่ ทำให้เห็นว่าข้อมูลพิจารณาการสร้างเขื่อนไม่น่าเชื่อถือ กระทั่งรัฐบาลลงมติให้ยับยั้งการสร้างเขื่อนไว้ก่อน

วันนั้นสืบสวมกอด ดร.สุรพล สุดารา เพื่อนนักเคลื่อนไหวบอกด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า “เราชนะแล้ว”

จากเขื่อนน้ำโจน สืบเคลื่อนไหวต่อเพื่อคัดค้านเขื่อนเหวนรกและเขื่อนแก่งกรุง เขาใช้เวทีสิ่งแวดล้อม 33 กล่าววลีที่ผู้คนจดจำมาได้ถึงวันนี้ “วันนี้ผมขอพูดในนามสัตว์ป่าทุกตัว เพราะพวกเขาพูดตัวเองไม่ได้” และขอความเห็นจากมนุษย์ว่าอย่าได้รังแกและทำลายกันอีกเลย สุดท้ายทั้งสองโครงการก็ถูกพับลง หลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้ว

ผมยอมอุทิศชีวิตเพื่อห้วยขาแข้งได้ ผมมีความสุขอยู่ที่นี่ตลอดไป ผมไม่ต้องการเลื่อนตำแหน่ง งานใหญ่กว่านี้ก็ไม่เอา ผมมีห้วยขาแข้งก็พอแล้ว

สืบ นาคะเสถียร : “ผมทำงานหนักกว่านี้ ไม่ได้แล้ว”
ภาพ : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพ : นิตยสาร สารคดี

โลกความจริงอันโหดร้าย

ความสำเร็จที่ช่วยยับยั้งการสร้างเขื่อน อาจทำให้สืบกลายเป็นข้าราชการดาวเด่น แต่ห้วยขาแข้งทำให้เขาได้ซึมซับความจริงอันโหดร้ายของระบบราชการ

ก่อนหน้าที่สืบจะมาเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขาเคยเดินสำรวจป่าแห่งนี้ ร่วมกับนักวิจัย จนทราบว่าห้วยขาแข้งเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์เพียงใด มีสัตว์กี่ชนิด อะไรที่หายากบ้าง 

ช่วงแรกที่ได้รับทาบทาม สืบปฏิเสธเพราะอยากทำงานวิชาการมากกว่า และตัวเองไม่ใช่นักจัดการ กลัวจะทำได้ไม่ดี อีกอย่างคือเขาได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาเอกที่อังกฤษ แต่ผู้ใหญ่ก็ชักจูงอยู่หลายครั้งจนเริ่มหวั่นไหว

ในที่สุดเขาก็รับเทียบเชิญ เขาบอกคนใกล้ชิดว่า หากมีโอกาสได้ทำงานในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ก็ขอเลือกห้วยขาแข้งหรือทุ่งใหญ่นเรศวร อีกเหตุผลคือบรรดานักอนุรักษ์เชื่อว่า ห้วยขาแข้งจะดำรงความเป็นป่าสมบูรณ์ได้ต้องเป็นมรดกโลกเท่านั้น

สืบรับตำแหน่งด้วยความหวัง เขามีกำลังใจมากขึ้นหลังได้พบกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า และหน่วยลาดตระเวนที่พร้อมจะทำงานด้วยความซื่อสัตย์และพร้อมอุทิศตน คนเหล่านี้เชื่อมั่นในตัวสืบ และสืบเองก็รักลูกน้องชุดนี้มาก

สืบพูดว่า “ผมรู้แล้วว่าผมยอมอุทิศชีวิตเพื่อห้วยขาแข้งได้ ผมมีความสุขอยู่ที่นี่ตลอดไป ผมไม่ต้องการเลื่อนตำแหน่ง งานใหญ่กว่านี้ก็ไม่เอาผมมีห้วยขาแข้งก็พอแล้ว งานนี้สำคัญสำหรับผมมาก”

ตลอดการทำงานมีปัญหาให้แก้ไม่หยุดหย่อน แต่สืบก็มั่นใจว่า “ผู้ใหญ่” สนับสนุน ทว่าเขาเข้าใจผิด ไม่ถึง 6 เดือน เขาพบว่าความพยายามทุกอย่างไร้ผล เพราะผู้บังคับบัญชาระดับสูงก็เพียงเป็นหมากตัวหนึ่งของวงจรอุบาทว์

ห้วยขาแข้งมีพื้นที่ 1.6 ล้านไร่ แต่กลับมีข้าราชการ 12 คน เจ้าพนักงานพิทักษ์ 30 คน และลูกจ้างชั่วคราว 20 คน โดยได้งบประมาณไร่ละ 80 สตางค์ต่อปี ผิดกับป่าสงวนที่ถูกบุกรุกจนเสื่อมสภาพ รัฐให้เงินฟื้นฟูไร่ละ 1,000 บาท แถมค่าจ้างพนักงานในป่าก็ตกเบิกช้าไป 5 เดือน จนสืบต้องยืมแม่มาเดือนละ 20,000 บาท เพื่อให้ลูกน้องไปใช้ก่อน

สืบยังพบอีกว่านายทหารนายตำรวจบางคนอยู่เบื้องหลังการล่าสัตว์และตัดไม้ทำลายป่า แต่ไม่มีใครทำอะไรได้ แถมยังถูกตั้งค่าหัว 6,000 บาท เขาเคยรายงานเรื่องนี้ถึงผู้ใหญ่ที่สนับสนุน แต่กลับไม่ได้รับความช่วยเหลือเลย สืบต้องต่อสู้กับผู้มีอิทธิพลมากมายเพียงลำพัง จนกลายเป็นความสิ้นหวัง เขารู้สึกถูกทรยศ หมดหวัง

สืบบอกกับ เบลินดา สจ๊วด ค็อกซ์ เพื่อนสนิทชาวอังกฤษว่า รู้สึกอับอายที่เป็นข้าราชการแต่ทำงานไม่สำเร็จ อับอายในการเป็นคนไทย เพราะปัญหาคอรัปชั่นมากเหลือเกิน

ช่วงสุดท้าย สืบกลายเป็นคนเศร้าหมอง ร่างกายซูบผอม ดูเครียด พอกลับถึงบ้านก็เก็บตัว สิ่งเดียวที่เหมือนเป็นความหวังคือการทำรายงานเพื่อเสนอองค์การยูเนสโกให้ห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นมรดกโลก

หลังเขียนเสร็จไม่กี่วัน สืบใช้ปืนพกส่วนตัวปลิดชีพตัวเอง เป็นการตะโกนครั้งสุดท้าย แม้เขาจะไม่ได้อยู่รับฟังว่าสิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปจะเป็นอย่างไรก็ตาม..

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • บทความ สืบ นาคะเสถียร ที่ข้าพเจ้ารู้จัก โดย นพรัตน์ นาคสถิตย์ วารสารวนสาร ปีที่ 48 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2533
  • หนังสือ The Last Hero” โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์,
  • บทความ ชีวิตผลงานและเจตนารมณ์ สืบ นาคะเสถียร โดย จิระนันท์ พิตรปรีชา และ ดวงดาว สุวรรณรังษี อนุสาร อสท. ปีที่ 31 ฉบับที่ 4 เดือนพฤศจิกายน 2533 
  • บทความ ผมทำงานหนักกว่านี้ไม่ได้แล้ว โดย รองริน วรัญญ์ นิตยสารสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 37 ฉบับที่ 26 วันอาทิตย์ที่ 9-15 ธันวาคม 2533
  • หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ วันจันทร์ที่ 3 และวันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคม 2533
  • หนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน 2533
  • มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.