แม้กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองที่เจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจสักเท่าไร แต่สิ่งหนึ่งที่มีน้อยจนน่าใจหายคือพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่ใครก็สามารถเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ หรือใช้ประโยชน์ได้ฟรีๆ
ข้อมูลจากทีดีอาร์ไอ ระบุว่าเมืองหลวงแห่งนี้มีพื้นที่สีเขียวเพียง 7 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน ต่ำกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ซึ่งกำหนดไว้ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน และน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ที่มีสูงถึง 66 ตารางเมตรต่อคน ชนิดเทียบกันไม่ติด
แต่คำถามคือเราจะหาพื้นที่เหล่านี้เพิ่มได้จากที่ไหน ในเมื่อที่ดินแทบทุกตารางนิ้วในใจกลางเมืองล้วนมีมูลค่าสูง
ไม่นานมานี้มีสถาปนิกกลุ่มหนึ่งทำโครงการชื่อว่า we!park เดินหน้าเปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้กลับมามีชีวิตใหม่กลายเป็นพื้นที่สีเขียว พวกเขาตระเวนพูดคุยกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อหาวิธีทำให้พื้นที่เหลือจากการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ พื้นที่ใต้ทางด่วน พื้นที่ใต้สะพาน ได้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะ จนถึงวันนี้มีสวนเตรียมเกิดใหม่ในกรุงเทพฯ แล้วถึง 5 แห่ง
ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขายังชวนชาวชุมชน ตั้งแต่เด็กตัวเล็กๆ จนถึงคุณลุงคุณป้ามาช่วยกันออกแบบ แม้สวนจะมีขนาดเล็กๆ เพียงฉบับกระเป๋า แต่ก็มีมุมต้นไม้สีเขียวขจี มีเครื่องเล่นให้คนมาออกกำลังกาย มีสนามเด็กเล่น ตอบโจทย์การใช้งานของคนในพื้นที่ได้จริง
หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนคนสำคัญของ we!park คือ ยศ-ยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิกที่พยายามพัฒนาเมืองด้วยการสร้างพื้นที่เขียวมานานกว่า 20 ปี
เขาและเพื่อนๆ ร่วมกันก่อตั้ง ‘Shma’ บริษัทภูมิสถาปนิกที่เชื่อว่า งานออกแบบที่ดีจะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลง และพัฒนาเมืองให้ดีขึ้นได้ เพราะฉะนั้นทุกโปรเจกต์จึงให้ความสำคัญกับเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเสมอ รวมทั้งยังเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนการรณรงค์ให้สร้างพื้นที่สาธารณะในเมืองที่เกิดประโยชน์แก่ทุกคน เช่น ‘เราอยากให้มักกะสันเป็นสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์’ และ Friends of the River ที่คัดค้านการสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอพาไปรู้จักกับอีก 1 ใน 30 บุคคลในโครงการ คนเล็กเปลี่ยนโลก ผู้พยายามเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ความยั่งยืน
สถาปนิกคนนี้ทำให้เห็นว่า เมืองที่ดีออกแบบได้ และจะสร้างความสุขให้ผู้คนในเมืองได้อย่างมากมาย
สมัยเด็ก ยศพลชอบวาดรูปมาก ทุกครั้งที่ได้วาดจะมีความสุข หน้ากระดาษของเขาจึงเต็มไปด้วยภาพสิ่งของใกล้ตัว เมือง ธรรมชาติ
ขณะเดียวกันก็เป็นคนชอบคิดอะไรเป็นเหตุเป็นผล เมื่อถึงเวลาสอบเข้ามหาวิทยาลัย ยศพลจึงเลือกคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีทั้งส่วนผสมของศิลปะและวิทยาศาสตร์ ตอนนั้นรู้เพียงแค่เข้ามาแล้วจะได้วาดรูป และเรียนการออกแบบบ้าน อาคารต่างๆ
แต่พอเรียนลึกไปเรื่อยๆ เขาก็พบว่าวิชาชีพสถาปนิกไม่ได้ทำงานด้านความสวยงามอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการออกแบบสิ่งแวดล้อม และสร้างเมืองให้ดีขึ้นได้ด้วย ซึ่งตรงกับความสนใจเวลานั้นพอดี ทำให้ยศเลือกสาขาภูมิสถาปัตยกรรม ที่เน้นการออกแบบภายนอกอาคาร และพื้นที่ธรรมชาติ เพื่อสร้างความสุข ความปลอดภัยให้แก่ผู้อยู่อาศัย
“เวลานึกย้อนไปตอนเด็ก เราอยู่กรุงเทพฯ เดินไปโรงเรียนก็เจอน้ำท่วมขัง ตกท่อ ความทรงจำแบบนี้อยู่ในใจเสมอ แล้ววันหนึ่งก็ได้มาเจออาชีพที่ เฮ้ย มันเปลี่ยนแปลงได้ ไปทำให้เมืองเขียวขึ้น อากาศดีขึ้น รถติดน้อยลง หรือว่าเมืองน่าอยู่ขึ้น ก็เลยอยากทำงานด้านนี้”
ในปี 2540 หลังเรียนจบ สถาปนิกมือใหม่ไฟแรงยังไม่ทันได้ลงมือเปลี่ยนแปลงอะไร ก็เป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งพอดี ตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดท่องเที่ยวพังพินาศ ส่งผลกระทบเต็มๆ ถึงบัณฑิตหมาดๆ ที่ตกงานกันถ้วนหน้า ทำให้ยศพลตัดสินใจไปหาโอกาสใหม่ๆ ในต่างประเทศ นั่นคือ สิงคโปร์ ดินแดนนี้ช่วยเปิดมุมมองให้เขาอย่างมากมาย
“การที่ฟองสบู่แตกแล้วไปสิงคโปร์ ทำให้เราได้ไปสัมผัสว่า จริงๆ แล้วเมืองที่มันดี มีพื้นที่สีเขียวเยอะ ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเพราะพื้นที่สาธารณะมันเป็นยังไง”
ความต่างอย่างแรกที่เขาตกใจ คือ การออกแบบระบบจราจรทั้งถนน ทางเท้า ขนส่งสาธารณะที่สะดวก ทำให้ใช้เวลาเดินทางไปกลับระหว่างที่ทำงานและบ้านเพียง 15 นาที ต่างจากกรุงเทพฯ ที่ต้องทนรถติดอยู่บนถนนเป็นชั่วโมง คนสิงคโปร์จึงมีเวลาเหลือหลังเลิกงานที่จะไปทำกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจ เช่น เดินเล่น ออกกำลังกาย นอกจากนี้ในเมืองยังเต็มไปด้วยสวนสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ นิทรรศการศิลปะให้เลือกเดิน ทุกเสาร์-อาทิตย์ ประชาชนจึงมีทางเลือก ไม่ต้องไปกระจุกอยู่ตามห้างสรรพสินค้า
“เราเลยเห็นว่า เมืองแบบนี้เอื้อให้เราได้ใช้ชีวิต แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้เมืองเป็นอย่างนี้ได้ มันเกี่ยวเนื่องกับการออกแบบนโยบาย เพราะรัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของภูมิสถาปัตยกรรม การวางผังเมือง เพื่อทำให้เมืองมันดี ทั้งหมดนี้ยิ่งตอกย้ำให้เรามั่นใจว่า วิชาชีพนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าอยู่ในบริบทที่เหมาะสม”
ที่สิงคโปร์ คนให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวมาก รัฐบาลไม่เพียงมีนโยบายเพิ่มพื้นที่ธรรมชาติ แต่ยังประกาศแนวทางปฏิบัติในการเก็บรักษาต้นไม้ ขณะที่ภาคเอกชน ก็ใช้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเป็นจุดขายของโครงการต่างๆ เพราะผู้คนตระหนักว่าถ้าจะซื้อคอนโดมิเนียม หรือมีออฟฟิศที่ดี พื้นที่สีเขียวบริเวณนั้นต้องมีคุณภาพด้วย
งานแรกในชีวิต ยศพลได้รับหน้าที่ให้ออกแบบสวนสาธารณะขนาดเล็กในที่อยู่อาศัยของรัฐ เพื่อให้คนในชุมชนออกจากตึกมานั่งพัก แม้งานจะไม่ได้ออกมาในระดับดีเลิศด้วยข้อจำกัดด้านประสบการณ์ แต่สถาปนิกจากเมืองไทยก็ได้เรียนรู้ความรู้สึกเวลาที่ผลงานจากแบบแปลนกลายเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีคนมาใช้ประโยชน์จริงๆ ซึ่งเขานำประสบการณ์เหล่านี้มาใช้ในเวลาต่อมา
โลกการทำงานในต่างแดนยังเปิดมุมมองอีกว่า งานภูมิสถาปัตยกรรมไม่ได้จำกัดอยู่แค่ออกแบบที่อยู่อาศัย รีสอร์ท แต่ยังรวมถึงการฟื้นฟู ปรับปรุงย่านที่ไม่มีกิจกรรมให้กลับมีชีวิตขึ้นมา สร้างพื้นที่สาธารณะ เพิ่มพื้นที่สีเขียว พื้นที่ริมน้ำ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในเมือง
หลังจากทำงานที่สิงคโปร์อยู่ประมาณ 5 ปี ยศพลก็ตัดสินใจกลับบ้าน เขาอยากนำความรู้และประสบการณ์มาลองปรับใช้ในบ้านเกิดดูบ้าง โดยเชื่อว่าเมืองไทยก็น่าจะเดินไปในทิศทางเดียวกันได้ เพราะสถาปนิกที่เข้าไปมีบทบาทสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สิงคโปร์จำนวนไม่น้อยก็เป็นคนไทย
ก่อนกลับ เขาไปเรียนต่อด้าน Urban Design ที่ประเทศอิตาลีประมาณ 1 ปีครึ่ง เพราะอยากขยายความรู้ด้านการวางผังเมือง และอยากลองไปใช้ชีวิตในประเทศที่ให้ความสำคัญกับงานออกแบบมาตั้งแต่โบราณ ช่วงเวลาสั้นๆ ที่นั่น เขาพบว่าการออกแบบซึมซับอยู่ในชีวิตประจำวันของคนอิตาลี ตั้งแต่อาหาร การแต่งกาย การออกแบบเมือง ไม่ว่าจะเป็นคนขายอาหาร หรือคนขับรถบรรทุก ทุกคนก็เข้าใจว่างานดีไซน์ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของพวกเขา
“เราเก็บเกี่ยวประสบการณ์เหล่านี้ คิดว่าน่าจะเอามาใช้กับบ้านเรา ไม่ใช่แค่ในเชิงการออกแบบอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของวิธีคิดว่าเมืองนี้คนให้ความสำคัญกับต้นไม้ เมืองนี้คนให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตข้างนอกบ้าน ไม่ใช้รถยนต์ ใช้เดิน ใช้จักรยาน เมืองนี้คนให้ความสำคัญกับศิลปะ ไปดูนิทรรศการ มีคอนเสิร์ต มีปิดถนน ทั้งหมดทำให้เราเห็นว่ามีเมืองที่ใช้ชีวิตแบบนี้ได้
“แต่พอมาย้อนดูบ้านเรา กลับไม่มีเมืองที่ได้ใช้ชีวิตเลย มันสร้างแรงบันดาลใจว่า เราอยากทำให้มันเกิดขึ้นได้จริงๆ”
และความคิดนี้เองที่นำไปสู่การทำงานเปลี่ยนแปลงเมืองในหลายๆ ด้านของยศพล ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา
เมื่อกลับมาที่เมืองไทย ยศพลกับเพื่อนและรุ่นพี่ที่ผ่านประสบการณ์ในสิงคโปร์มาด้วยกัน คือ ใหม่-ประพันธ์ นภาวงศ์ดี และอู๊ด-นำชัย แสนสุภา จึงร่วมกันเปิดบริษัทภูมิสถาปนิก ชื่อแปลกว่า Shma หรือ ฉมา ที่แปลว่าผืนดิน สื่อถึงงานภูมิสถาปัตย์ที่เกี่ยวโยงกับผืนดินและต้นไม้
พวกเขาตั้งใจนำเสนอการออกแบบพื้นที่สีเขียวรูปแบบใหม่ๆ ให้คนได้รู้จัก
“ตอนนั้นเราไม่ได้มีหัวเรื่องธุรกิจเลย ไม่ได้คิดว่าเปิดแล้วจะรวยจากออฟฟิศนี้ มันมาด้วยแพสชั่น ที่อยากเสนอผลิตภัณฑ์ทางด้านภูมิสถาปัตย์รูปแบบใหม่กับตลาด เราเชื่อว่าเรามีสิ่งที่แตกต่าง เพิ่มพื้นที่สีเขียวแล้วทำให้เมืองดีขึ้นได้ด้วย”
แต่เมื่อ 14-15 ปีที่แล้ว เมืองไทยยังไม่ตื่นตัวเรื่องการพัฒนาเมือง หรือพื้นที่สาธารณะ ไม่มีการลงทุนของภาครัฐในด้านนี้ ตลาดส่วนใหญ่อยู่ที่คอนโดมิเนียม บ้าน โรงแรม รีสอร์ต งานของฉมาจึงต้องมาทางนี้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่พวกเขาก็พยายามคุยกับเจ้าของทุน ไม่ว่าห้างสรรพสินค้าหรือคอนโดมิเนียม ขอให้ลองเพิ่มพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่ศิลปะเข้าไปเพื่อใช้เป็นจุดขาย แนะนำแม้กระทั่งการปลูกต้นไม้ที่ใช้น้ำอย่างประหยัด ต้นไม้ที่ดึงดูดนกและแมลง เพื่อให้ลูกค้าได้ประโยชน์ ขณะเดียวกันก็เป็นไปตามแนวคิดที่บริษัทยึดมั่นด้วย
ยกตัวอย่างงานหนึ่งที่ลูกค้าให้ออกแบบสวนรอบสำนักงานขาย ซึ่งมีขนาดไม่กี่ตารางเมตรจนแทบจะไม่มีพื้นที่ให้ออกแบบ ยศและเพื่อนรู้สึกว่าถ้าทำตามโจทย์เดิมๆ คงไม่สร้างแรงกระเพื่อมอะไร พวกเขาจึงเสนอการทำ Facade หรือพื้นผิวด้านหน้าของอาคารให้เป็นพื้นที่สีเขียว ใช้ต้นไม้ใบหญ้าห่อหุ้มตัวอาคารทั้งหมด กลายเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของโครงการ ขณะเดียวกันเพื่อนบ้านก็มีความสุข เพราะไม่มีแสงสะท้อนจากอาคารมารบกวน มองไปก็สบายตา
“วิธีนี้ทำให้เราเรียนรู้ว่าการพูดคุยความต้องการกับลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ เราไม่ใช่แค่ทำตามโจทย์ แต่ตีความโจทย์จนกลายเป็นบทสนทนาใหม่ว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้ไหม ชวนเขาคิดต่อว่าทำอะไรได้บ้าง เป็นการทำงานเชิงรุกที่ช่วยขยายขอบเขตของงานเราออกไป”
หลังจากสร้างผลงานตอบโจทย์ของลูกค้ามาระยะหนึ่ง Shma ก็อยากลองขยับไปทำงานที่ใหญ่กว่าดูบ้าง เช่นงานกับภาครัฐ แต่ก็ไม่ง่ายเพราะเวลานั้นพวกเขาเป็นเพียงบริษัทเล็กๆ ที่มีผลงานไม่มากนัก จึงต้องใช้วิธีส่งแบบเข้าประกวด เพื่อกระโดดไปคว้าโปรเจกต์ใหญ่ๆ ซึ่งวิธีนี้ทำให้พวกเขาได้รับโอกาสไปออกแบบพื้นที่ที่มีประชาชนมาใช้จำนวนมาก เช่น สวนสาธารณะบางบอน
พอปี 2558 นับเป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อยศพลกับเพื่อนๆ ได้ก้าวเข้ามาขับเคลื่อนงานภาคสังคมโดยรวมตัวกับเครือข่ายอื่นๆ ในนาม กลุ่ม ‘เราอยากให้มักกะสันเป็นสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์’ รณรงค์ให้รัฐบาลยกเลิกการนำพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ใจกลางเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทยไปทำห้างสรรพสินค้า แต่ควรทำสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์แทน
ครั้งนั้น Shma เสนอตัวเข้าไปช่วยจำลองภาพมักกะสันในฐานะสวนสาธารณะแห่งใหม่ ที่จะสร้างประโยชน์มากมายให้คนกรุงเทพฯ พวกเขานำข้อเสนอต่างๆ มาออกแบบเป็นโมเดลที่เห็นฟังก์ชันของสวน เพื่อให้ผู้คนนึกภาพออก จะได้สนทนากันง่ายขึ้นและสร้างสรรค์ แม้สุดท้ายโครงการสร้างสวนสาธารณะจะไปไม่ถึงฝั่งฝัน แต่ก็เป็นแรงผลักดันให้พวกเขาหันมาสนใจงานภาคสังคมมากขึ้น
ต่อมาเมื่อมีโครงการสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทางทั้งสิ้น 14 กิโลเมตร ตั้งแต่สะพานพระราม 7 จนถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ยศพลมองว่าอาจก่อให้เกิดผลเสียมากมาย โดยเฉพาะวิถีชีวิตริมแม่น้ำและสิ่งแวดล้อม เขาจึงร่วมกับเพื่อนๆ ทำโปรเจกต์ Friends of the River ลงไปคุยกับชุมชน ระดมความเห็นจากทุกฝ่ายและเป็นกระบอกเสียงไปเสนอต่อภาครัฐ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ริมน้ำที่ยั่งยืน ทุกคนได้ประโยชน์จริงๆ
“ต้องยอมรับว่าไม่เคยมีรัฐบาลไหนที่กล้าทุ่มเงินขนาดนี้เพื่อพัฒนาพื้นที่สาธารณะ แต่น่าเสียดายที่มันเป็นคำตอบแบบเดียว ชาวชุมชนหรือประชาชนไม่มีโอกาสได้ร่วมคิดเลย
“เมื่อเราลงไปคุยก็พบว่าพวกเขาไม่สนใจความกว้างของทางเลียบริมน้ำ แต่ห่วงว่าชีวิตจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง น้ำจะท่วมมากขึ้นไหม อัตลักษณ์ชุมชนจะเปลี่ยนไหม ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าแค่ทางวิ่งจักรยานหรือทางเดินเท้า ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ชาวชุมชนได้มีส่วนร่วมนำเสนอแนวคิดเพื่อตัวเขา เพื่อบ้านเมืองเขา และเพื่อแม่น้ำของเขาบ้าง ไม่ใช่ใช้เงินมหาศาลไปทำลายสิ่งที่มีค่าอยู่แล้ว”
ทั้งสองโครงการ ยิ่งตอกย้ำความเชื่อของยศพลว่า การมีส่วนร่วมเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยเฉพาะโครงการที่เป็นพื้นที่สาธารณะ แต่ที่ผ่านมางานออกแบบไม่น้อยในสังคมไทยละเลยสิ่งเหล่านี้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดไม่เคยมีโอกาสได้พูดคุยเพื่อหาคำตอบที่ดีที่สุดร่วมกัน
ประสบการณ์ครั้งนั้น ทำให้งานต่อๆ มาของพวกเขาให้ความสำคัญกับเสียงของทุกฝ่าย ไม่น้อยไปกว่าความสวยงามของผลงานเลย
โครงการแรกที่ยศพลและทีมใช้แนวคิดการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชนอย่างจริงจัง คือ ลานกีฬาพัฒน์ 1 บริเวณชุมชนเคหะคลองจั่น เขตบางกะปิ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับสถาบันอาศรมศิลป์ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยทำในนามของ Shma SoEn บริษัทน้องที่ตั้งขึ้นเพื่อรับงานพื้นที่สาธารณะ และงานภาคสังคมที่เน้นการมีส่วนร่วมกับคนในชุมชนโดยเฉพาะ
เดิมบริเวณนี้คือพื้นที่ร้างริมคลอง ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ออกแบบเป็นลานกีฬาไว้เสร็จเรียบร้อยแล้ว มีที่จอดรถ ที่นั่ง ตามมาตรฐานที่เห็นได้ทั่วไป แต่สถาบันอาศรมศิลป์ที่เป็นหัวหน้าโครงการ และ Shma SoEn ขอนำแบบไปพูดคุยกับชุมชน ชวนคุณลุงคุณป้า เด็กๆ ในชุมชนมาหารือ ก่อนจะปรับเปลี่ยนแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง
“พอเราได้พูดคุย เห็นหน้า เห็นตัวตน รู้ว่าเขาคิดอะไร ชอบอะไร ทำให้เราเห็นความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของที่นี่ คนส่วนใหญ่ในแฟลตชุมชนคลองจั่นมาจากชนบท เราเลยใช้วัสดุที่เหมือนชานบ้าน ให้ความรู้สึกอบอุ่น มีไม้หอมไทยๆ ลุงคนหนึ่งเขามีองค์ความรู้เรื่องพืชสมุนไพร ก็เลยอยากให้มีสวนสมุนไพรด้วย ซึ่งตรงใจเราพอดี เด็กๆ โรงเรียนอนุบาลที่อยู่ติดกันจะได้มาเรียนรู้ด้วย เขามีชมรมมวย ชมรมผู้สูงอายุ ก็พยายามสร้างพื้นที่ให้”
หลังรับโจทย์จากชาวชุมชน ทีมงานก็กลับไปออกแบบ ก่อนจะนำมาให้เจ้าของพื้นที่ตรวจให้คะแนน ว่าเต็ม 10 ได้เท่าไร ปรากฏว่านักออกแบบลุ้นกันใจตุ้มๆ ต่อมๆ เพราะชาวเคหะคลองจั่นให้คะแนนกันที่ 7-8 คะแนน แม้ไม่ได้คะแนนเต็มแต่ก็ทำให้พวกเขาเรียนรู้ว่า อีก 2-3 คะแนนที่หายไปคือความต้องการของชาวชุมชนที่สวนยังเติมได้ไม่เต็ม
“เมื่อก่อนเรารับโจทย์จากลูกค้าแล้วไปคิดๆ มา ปึ้ง! ลูกค้าจะต้องประทับใจ ใครอย่ามาล้มแบบฉันนะ ซึ่งอาจเป็นบริบทของฝั่งทุนที่ต้องแข่งขันให้สวยให้เจ๋ง แต่ที่นี่ไม่ใช่สวนของนักออกแบบ แต่เป็นของคนในชุมชน เราพยายามรับฟัง เพื่อให้เขาได้มีส่วนร่วมคิด รู้สึกเป็นเจ้าของ เป็นสวนที่เขารัก อยากดูแลให้ดียิ่งขึ้น วันหนึ่งเมื่อพวกเราออกจากพื้นที่ไป คนในชุมชนก็จะได้ดูแลต่อ ถ้าไฟเสียก็จะตามคนไปซ่อมแน่นอน”
ในวันที่ลานกีฬาพัฒน์ 1 เปิดทำการ ภาพความสุขของคนในชุมที่มาใช้งาน คือสิ่งที่ทำให้ยศพลและทุกคนในทีมออกแบบรู้สึกภูมิใจ
“เด็กมาวิ่งเล่นในสนามเด็กเล่น เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ ทำให้เรานึกออกเลยว่า วิ่งโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเป็นยังไง วันนั้นเรามีความสุขมาก ไม่ได้สุขที่เขามาใช้ แต่ดีใจที่ทุกคนช่วยกันออกแบบสวนแห่งนี้และนี่คือสิ่งที่เขาต้องการจริงๆ โมเมนต์นั้นเรายิ่งรู้สึกว่า การออกแบบไม่ใช่แค่ในด้านกายภาพเท่านั้น แต่มันคือการออกแบบชีวิตด้วย”
ความสำเร็จของลานกีฬาพัฒน์ 1 กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ยศพลริเริ่มโครงการ we!park ในปี 2562 ซึ่งเน้นการสร้างสวนฉบับกระเป๋าบนพื้นที่ร้าง โดยยังคงให้ชาวชุมชนมีส่วนร่วมเช่นเดิม
we!park เกิดจากการที่เห็นว่า เมืองทั้งร้อนขึ้นและเต็มไปด้วยฝุ่นควัน แต่พื้นที่สาธารณะสีเขียวในเมืองเกิดขึ้นใหม่ช้ามาก จนแทบไม่พอต่อความต้องการ ขณะเดียวกันก็ยังมีพื้นที่รกร้างของทั้งภาครัฐ และเอกชนอยู่จำนวนไม่น้อยที่ถูกปล่อยทิ้งอย่างน่าเสียดาย เช่น พื้นที่เหลือจากการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ พื้นที่ใต้ทางด่วน พื้นที่ใต้สะพาน ริมคลอง ริมทางเท้า พื้นที่ตาบอด ที่จอดรถ เป็นต้น
ที่ผ่านมาไม่มีการคุยกัน บางทีภาครัฐมีที่ดินแต่ไม่มีงบประมาณ เอกชนมีงบประมาณ แต่ไม่มีผู้ออกแบบที่มีองค์ความรู้ ขณะที่ผู้ออกแบบมีองค์ความรู้ แต่ไม่มีโอกาสเข้ามาช่วย ดังนั้นคงจะดีถ้าพวกเขาเข้าไปเป็นโซ่ข้อกลางที่เชื่อมต่อทุกฝ่าย เพื่อขอใช้หรือขอเช่าพื้นที่เหล่านั้นนำมาพัฒนาให้เกิดเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่คนในชุมชนรอบๆ มาใช้ประโยชน์ได้
“การเพิ่มพื้นที่สีเขียวจะสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น สุขภาวะของเราก็แข็งแรงขึ้น แล้วก็ส่งผลถึงเศรษฐกิจด้วย สมมุติว่าในย่านหนึ่งที่กระตุ้นให้คนได้เดินทุกๆ 400 เมตร แล้วเจอสวน คนจะออกไปจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ในมิติทางสังคม พื้นที่เหล่านี้ยังทำให้คนได้มาเจอกัน พูดคุยกัน
“ที่สำคัญ พื้นที่สีเขียวที่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมมันไปปลุกความเชื่อมั่นว่าเราเป็นเจ้าของเมืองนี้ได้อีกครั้งหนึ่ง”
เมื่อนำไอเดียไปคุยกับ สสส. ก็ได้รับทุนสนับสนุนให้มาทดลองทำ ยศพลและทีมงาน Shma SoEn จึงออกสำรวจหาพื้นที่เป้าหมายเพื่อนำมาทำโครงการนำร่อง ยิ่งสำรวจยิ่งพบว่า การขอใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ในเมืองแทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่พื้นที่เล็กๆ ที่คนไม่ค่อยสนใจมีจำนวนมาก พวกเขาจึงคิดถึงการทำ Pocket Park หรือ สวนฉบับกระเป๋า โดยใช้การออกแบบอย่างมีส่วนร่วม ช่วยให้ใช้งานทุกตารางนิ้วได้อย่างคุ้มค่า
“พอเข้าไปในที่ที่รถเข้าไม่ถึง เราก็จะเจอพื้นที่ร้างๆ เหล่านี้ แต่ปรากฏว่าคนเขามาเตะตะกร้อ มาวิ่งเล่น แต่มันไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีไฟ ทุกครั้งที่เจอจะรู้สึกว่า โอ้โห อย่างนี้แหละใช่เลย มันมีคนใช้ แสดงว่ามีความต้องการในจุดนั้น และถ้าแทรกอยู่ในชุมชนด้วยยิ่งดี เพราะสวนอยู่ใกล้บ้าน เดิน 5-10 นาทีถึง คนมีโอกาสไปใช้มากกว่า”
สวนของ we!park แห่งแรก เกิดขึ้นที่ซอยข้างวัดหัวลําโพง ซึ่งมีเอกชนรายหนึ่งบริจาคให้กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ประมาณ 1,000 ตารางเมตร นับว่าขนาดเล็กเกินกว่าจะสร้างเป็นสวนสาธารณะทั่วไปได้ แต่ข้อดีคืออยู่ใจกลางชุมชน เข้าถึงง่าย ยศพลจึงพูดคุยกับกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหนึ่งในภาคีร่วมของโครงการ เพื่อขอสร้างสวนด้วยกระบวนการแบบ we!park
พวกเขายังคงใช้วิธีการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม ชวนชุมชนและเครือข่ายรอบๆ บริเวณนั้นมาร่วมด้วย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วัดหัวลำโพง โรงเรียน คอนโดมิเนียม โรงแรมที่อยู่รอบๆ เพราะเป้าหมายของ we!park ไม่ใช่แค่การทำสวน แต่คือการสร้างสังคมขึ้นมา ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่งานง่ายๆ
“เราต้องปลี่ยนวิธีการทำงาน แต่เดิมเราอาจจะคุ้นชินกับการทำงานตรงไปตรงมา ออกแบบ เขียนแบบ ก่อสร้างเลย แต่พอมาใช้วิธีสร้างการมีส่วนร่วม เราต้องไปชวนนิสิตสถาปัตย์ จุฬาฯ มาทำเวิร์กชอปและช่วยกันออกแบบ ต้องใช้เวลามากขึ้น ขั้นตอนมากขึ้น งบประมาณก็ใช้มากขึ้น แต่เราเชื่อว่าวิธีนี้จะยั่งยืนกว่า”
สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ เปิดให้ใช้บริการแล้วเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 ที่ผ่านมาโดยออกแบบพื้นที่สำหรับคนหลากหลายกลุ่ม มีทั้งลานจัดกิจกรรมชุมชน เวทีกลางแจ้ง สนามเด็กเล่น ลานหินนวดเท้า เส้นทางวิ่งออกกำลังกาย ศาลานั่งเล่น ศาลาทำการบ้าน ศาลาออกกำลังกายพร้อมอุปกรณ์ นอกจากนี้ยังมีแปลงปลูกผักสวนครัวเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้การเกษตรในเมือง ทั้งหมดอัดแน่นอยู่ในพื้นที่เล็กๆ ขนาดไม่ถึง 1 ไร่ โดยทางชุมชนขออาสาดูแลพื้นที่ร่วมกับกรุงเทพมหานคร
ทีมงานยังทดลองเปิดระดมทุนออนไลน์ เพื่อให้คนที่สนใจเข้ามาช่วยสมทบทุนค่าของเล่นของใช้ในพื้นที่อีกด้วย นับเป็นการสร้างสวนสาธารณะรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทย
สวนอีกแห่งที่ผ่านกระบวนการแบบเดียวกัน และเปิดให้ใช้แล้วคือ สวนชุมชนโชฎึก ริมคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่จอดรถและที่วางของระเกะระกะ we!park จึงเข้าไปร่วมงานกับกลุ่มสถาปนิกปั้นเมืองซึ่งอยู่ในตลาดน้อย และชวนนิตยสาร art4d ที่มีเครือข่ายสถาปนิกเข้ามาด้วย โดยมีบริษัทปูนซีเมนต์ไทยมาช่วยสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างและจัดกิจกรรม
สวนริมคลองแห่งนี้ถึงจะมีพื้นที่แค่ 460 ตารางเมตร แต่ก็ตอบโจทย์ความต้องการครบครัน มีทั้งสนามเด็กเล่นที่โดดเด่นด้วยสไลเดอร์รูปโค้ง เครื่องออกกำลังกาย ที่นั่งพัก แปลงปลูกผักสวนครัว จึงมีชาวชุมชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่มาใช้บริการอย่างคึกคักในช่วงเย็นของทุกวัน
นอกจากทั้ง 2 สวนที่เปิดใช้งานแล้ว we!park กำลังทำงานกับอีก 3 พื้นที่ในกรุงเทพฯ ได้แก่ สวนป่าเอกมัย บริเวณท้ายซอยเอกมัย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหลือจากการทำสะพานข้ามคลองแสนแสบ, สวนสาน บริเวณคลองสาน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีเอกชนใจดีอยากร่วมสร้างพื้นที่สีเขียวจึงอนุญาตให้ กรุงเทพมหานครใช้ที่ดิน 15 ปี และสวนอีกแห่งในย่านอ่อนนุช บริเวณหลังโครงการ T77 เป็นพื้นที่ลานกีฬาใต้ทางด่วน ซึ่งได้รับบริจาคมาจากภาคเอกชนเช่นกัน
หมายความว่า ถ้าทุกสวนสร้างเสร็จและเปิดให้ใช้บริการ เมืองหลวงแห่งนี้จะมีพื้นที่สาธารณะสีเขียวเพิ่มขึ้นถึง 5 แห่ง รวมพื้นประมาณ 15,000 ตารางเมตร กระจายอยู่รอบกรุง
ยิ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการปรับนโยบายเก็บภาษีที่ดิน ทำให้คนที่ครอบครองพื้นที่ดินร้างแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ต้องเสียภาษีอัตราก้าวหน้า นับเป็นโอกาสที่เมืองจะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนที่ดินร้างเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวเพิ่มมากขึ้น
ภาพในฝันของยศพลคือ กรุงเทพฯ มีสวนแบบนี้อยู่ทั่วไปตามชุมชนต่างๆ ทำให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไกล หรือไปกระจุกตัวกันในสวนสาธารณะขนาดใหญ่
“ทุกวันนี้ คุณจะไปพื้นที่สีเขียวต้องนั่งรถ ต้องมีค่าใช้จ่าย คนจำนวนมากในเมืองเขาจ่ายไม่ไหว มันมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก อย่างตอนเราทำสวนตรงหัวลำโพง คุณป้าอายุมากๆ ในชุมชนบอกว่า เดินไปสวนลุมฯ ไม่ไหวแล้ว เพราะฉะนั้นการมีสวนเล็กๆ ใกล้บ้านทำให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้”
นอกจากนี้หากมีวิกฤตครั้งต่อไป ก็สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ส่วนกลางนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่นเปลี่ยนเป็นที่ปลูกผักเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ทำให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้โดยไม่ต้องอิงกับทรัพยากรของภาครัฐทั้งหมด
และนี่เองคือเป้าหมายที่ we!park พยายามไปให้ถึง
ทุกวันนี้ คุณจะไปพื้นที่สีเขียวต้องนั่งรถ ต้องมีค่าใช้จ่าย คนจำนวนมากในเมืองเขาจ่ายไม่ไหว มันมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก.. เพราะฉะนั้นการมีสวนเล็กๆ ใกล้บ้านทำให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
สิ่งหนึ่งที่สถาปนิกหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Shma ได้เรียนรู้จากการทำงานนี้ คือ เมืองที่ดีจะเกิดขึ้นได้ ต้องใช้พลังจากทุกคน ไม่ใช่แค่ภาครัฐ เอกชน หรือภาคประชาชน แต่ต้องร่วมมือช่วยกันเปลี่ยนแปลง
“we!park สร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านสวนได้ เพราะแต่ละคนมีความถนัด มีทรัพยากรไม่เหมือนกัน แต่พอเอามารวมกันถึงสำเร็จ ซึ่งผมคิดว่าเราน่าจะใช้วิธีนี้กับเรื่องอื่นๆ ของสังคมได้ ไม่ต้องคิดเห็นเหมือนกัน แต่มาแชร์กันทำให้เมืองดีขึ้น”
แน่นอนว่า ทุกคนอยากได้เมืองที่สวย แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาบอกกับยศพลว่า เมืองที่ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของต่างหาก ที่จะทำให้เกิดสิ่งดีๆ ตามมาอย่างยั่งยืน
“ยุคสมัยนี้ เมืองมีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสูง จึงหมดยุคแล้วที่รัฐหรือใครก็ตามจะทำเองทุกอย่าง ถ้าเราสร้างพลเมืองที่พร้อมจะอยู่ร่วมกับความท้าทายต่างๆ สร้างชุมชนที่เข้มแข็ง ให้ทุกคนมีอิสรภาพ มีพลังที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรได้เอง จะมีความยั่งยืนมากกว่าคงอำนาจไว้ที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง”
นอกจากเข้าไปทำงานภาคสังคม ยศพลและเพื่อนๆ จึงพยายามเผยแพร่ความรู้เรื่องการออกแบบเมืองที่ดี โดยก่อตั้งเพจและเว็บไซต์ City Cracker เล่าเรื่องการพัฒนาเมืองในหลายแง่มุมจากทั่วโลก มีเนื้อหาเปิดความคิดและมุมมองที่น่าสนใจมากมาย
อย่างคอลัมน์หนึ่งที่ชื่อ What if ชวนให้ตั้งคำถามและคิดตาม เช่น ถนนราชดำเนินจะเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะ มีต้นไม้เยอะๆ มีที่นั่ง ให้ทุกคนมาทำกิจกรรมได้อย่างไร ทำเมืองให้มีทางเท้าที่ดีได้อย่างไร เมืองที่เป็นมิตรต่อแมวหรือเอื้อต่อพระสงฆ์บิณฑบาตเป็นอย่างไร คำถามเหล่านี้หลายคนไม่เคยคิดมาก่อน
“ถึงเราจะมีเป้าหมายที่อยากเปลี่ยนแปลงเมือง แต่เรารู้แล้วว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ยาก เราจะไปโน้มน้าวรัฐบาล โน้มน้าวเอกชนนั้นไม่ง่าย เลยนึกถึงตอนที่ทำ Friends of the River หรือมักกะสัน เราเห็นแล้วว่าพลังสำคัญคือพลังของสังคมที่ลุกขึ้นมาขับเคลื่อนในประเด็นต่างๆ พลังแบบนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีสื่อที่จะสื่อสารเรื่องดีๆ ชวนคิด สร้างบทสนทนา เราจึงทำ City Cracker ขึ้นมาเพื่อให้เห็นว่าเมืองก็เป็นแบบนี้ได้ และพยายามหาทางออกของปัญหาต่างๆ ไปด้วย”
แม้จะทำงานมานานกว่า 2 ทศวรรษ แต่ยศพลรู้ว่า สิ่งที่เขาทำส่งผลต่อคุณภาพชีวิตคนในเมืองแค่เพียงบางส่วนเท่านั้น ยังเหลืองานอีกมากมายกว่าที่จะเปลี่ยนแปลง ให้เป็นไปตามที่ตั้งใจ ซึ่งอาจจะต้องอาศัยพลังของภาคส่วนต่างๆ เข้ามาช่วยกันสร้างสรรค์ต่อ
สำหรับเขาแล้ว คงจะเดินหน้าทำงานพัฒนาเมืองต่อไป เพราะเป็นงานที่มีความสุข และถือเป็นหนึ่งในภารกิจของชีวิตที่อยากทำให้ดีที่สุด
“เราได้ไปเห็นสิ่งที่ดีมากๆ ในเมืองอื่นๆ ไปสัมผัสมาแล้วว่าชีวิตที่ดีเป็นยังไง ดังนั้นเมื่อมีโอกาสที่จะทำให้เมืองดีขึ้นได้ เราก็อยากทำ
“มันไม่ใช่การทำงานสงเคราะห์ แต่เราเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิ์และเสรีภาพที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ถ้าสิ่งนี้ไม่เกิดขึ้นเพราะกลไกอำนาจของรัฐหรืออะไรก็แล้วแต่ เราก็มีสิทธิ์ที่จะต่อสู้เพื่อให้ได้มันมา”
เมืองที่ดีอาจไม่ได้เกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ พื้นที่สีเขียวคงไม่งอกงามขึ้นเองในชั่วพริบตา เรื่องราวของยศพลคือสิ่งที่ช่วยยืนยันว่า ถ้าอยากให้เมืองเอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิต และทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่มีความสุขมากขึ้น
ทุกคนต้องเข้ามาช่วยกันลงมือทำตั้งแต่วันนี้
คนเล็กเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 30 บุคคลผู้สร้างสังคมที่ยั่งยืน และช่วยกันสร้างคุณค่าสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นประเทศ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ยศพล บุญสม คือบุคคลต้นแบบประเด็นทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความทั่วถึง ปลอดภัย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 11)
เจ้าของบาร์แจ๊ซ ผู้ริเริ่มโครงการต่างๆ ทั้งดนตรี สิ่งแวดล้อม สังคม เพื่อยกระดับเมืองเชียงใหม่ให้เป็นดินแดนที่ของทุกคนอย่างแท้จริง
นักวิจัยแห่งจุฬาฯ ผู้ทำงานเรื่องขยะมายาวนาน และเป็นผู้บุกเบิกโครงการ Chula Zero Waste
เภสัชกรหญิง ผู้บุกเบิกยาสมุนไพรอภัยภูเบศร พร้อมฝันอันยิ่งใหญ่ที่อยากจะทำให้ปราจีนบุรีเป็นเมืองแห่งสมุนไพร
นักเคลื่อนไหวผู้บุกเบิกเรื่องความเท่าเทียมทางเพศของกลุ่ม LGBTQ+ ในเมืองไทย
ค้นหาเหตุผลที่ทำให้ สืบ นาคะเสถียร ตัดสินใจจบชีวิตตนเอง เพื่อส่งเสียงให้ทุกคนฟังเขา
กลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหมที่ทำงานขับเคลื่อนการอนุรักษ์คลองในพื้นที่ฝั่งธนบุรี
จากนักแกะสลักน้ำแข็ง สู่สุดยอดทีมนักแกะสลักหิมะ ที่คว้าชัยในเทศกาลหิมะอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง พร้อมพิสูจน์ให้โลกได้เห็นว่า ถึงเมืองไทยไม่มีหิมะ เราก็สร้างที่ยิ่งใหญ่ได้
ย้อนเรื่องราวของหนังไทย ‘โหมโรง’ ที่สร้างปรากฏการณ์ฟีเวอร์ หลังเกือบถูกถอดจากโรง พร้อมกับจุดกระแสดนตรีไทยให้โด่งดังไปทั่ว
ย้อนเรื่องราวอัลบั้มในตำนานของสมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Bakery Music
DAJIM ศิลปินฮิพฮอพผู้จุดกระแสเพลงใต้ดินให้โด่งดังไปทั่วประเทศ
เส้นทางชีวิตของ จอห์น นูโว จากศิลปินยอดนิยม สู่ผู้บุกเบิกสื่อไอทีของเมืองไทย
ศิลปิน นักแต่งเพลง เจ้าของบทเพลง เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ) ผู้ที่ไม่เคยหยุดสร้างสรรค์ผลงานที่ล้ำสมัย
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.