จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อ ‘หนุ่มนักดนตรี’ อยากลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม ทำให้ดินแดนบ้านเกิดกลายเป็นเมืองที่น่าอยู่ และเต็มไปด้วยความสุขที่ไม่ใช่แค่วันนี้ แต่หมายถึงตลอดไป
โอปอ-ภราดล พรอำนวย คือชื่อของนักแซกโซโฟนฝีมือดี หนึ่งในผู้ก่อตั้ง The North Gate Jazz Co-Op บาร์แจ๊ซชื่อดังในเชียงใหม่ บางคนอาจรู้จักเขาในฐานะนักเดินทางสุดแอดเวนเจอร์ เคยแบกแซกโซโฟน โบกรถและนั่งรถไฟจากเชียงใหม่ไปฝรั่งเศสเป็นเวลา 3 เดือน เลือกที่จะใช้ทั้งพละกำลัง ความสามารถ และเครือข่ายที่ตัวเองมีเพื่อแก้สารพัดปัญหาของจังหวัด
ที่ผ่านมา เขาได้เข้าไปมีส่วนผลักดันแคมเปญเพื่อแก้ปัญหาสังคมในเชียงใหม่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญรณรงค์ลดใช้หลอด หรือทำความสะอาดคูคลอง แต่หนึ่งในแคมเปญที่ทำให้หลายคนรู้จักเขาคือโปรเจกต์ ‘มือเย็นเมืองเย็น’ ที่ชวนคนเชียงใหม่มาร่วมกันปลูกต้นไม้ให้เมืองเย็นขึ้น
และเพื่อให้ความตั้งใจเหล่านี้หยั่งรากอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่แคมเปญที่เกิดขึ้นไม่กี่เดือนแล้วผ่านไป เขาจึงร่วมกับพันธมิตรก่อตั้ง Chiangmai Trust ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการช่วยเหลือสังคม เช่นตอนที่โควิดระบาดเมื่อปี 2563 พวกเขาก็ริเริ่มโครงการ ‘ครัวกลาง‘ มอบอาหารให้กับผู้ที่ขาดแคลน ก่อนจะต่อยอดไปสู่ ‘ครัวงาน’ นำเงินระดมทุนจากเครือข่ายมาจ้างงานคนที่ตกงาน เพื่อให้ดำรงชีวิตต่อไปได้ท่ามกลางวิกฤต
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงอยากชวนทุกคนมาพูดคุยกับ 1 ใน 30 บุคคลจากโครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก ปอ นอร์ทเกต นักดนตรีที่มีความฝันอยากตอบแทนสังคม และสร้างโลกที่ทุกคนอยู่ร่วมกันด้วยความเกื้อกูลอย่างแท้จริง
เวลาพูดถึง ปอ นอร์ทเกต คนเชียงใหม่หลายคนอาจนึกถึงเจ้าของบาร์แจ๊ซชื่อดังที่อยู่คู่เมืองมานานกว่าสิบปี นึกถึงนักดนตรีหนุ่มที่มาพร้อมแซกโซโฟน พร้อมบรรเลงเพลงไพเราะให้ทุกคนรับฟัง
หากแต่เส้นทางสายดนตรีของเขาไม่ได้เริ่มจากความสมบูรณ์แบบ และหากไม่ได้โชคชะตานำพา บางทีถนนสายดนตรีของเขาอาจไม่ทอดยาวมาจนถึงวันนี้
ย้อนกลับไปวัยเด็ก ครอบครัวของโอปอเช่าบ้านอยู่หลังกาดธานินทร์ เขาเติบโตในครอบครัวที่มีแต่ผู้หญิง อาศัยอยู่กับยาย แม่ซึ่งเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว และน้าสาวที่เป็นนักดนตรี มีเพื่อนสนิทส่วนใหญ่เป็นเด็กหูหนวก เพราะบ้านอยู่ข้างๆ โรงเรียนสอนคนหูหนวก ‘โสตศึกษาอนุสารสุนทร’
ในตอนนั้น โอปอมักต้องตามน้าสาวไปเล่นดนตรีบ่อยๆ เขาจึงค่อยๆ ซึมซับความชอบด้านดนตรี และเริ่มเล่นเมาท์ออร์แกน แต่ระหว่างนั้นเครื่องดนตรีที่เขาติดใจมากเป็นพิเศษคือ ‘แซกโซโฟน’ เพราะทั้งสวย เสียงเพราะ และเคยเห็นนักดนตรีหลายคนเล่นแล้วรู้สึกว่าเท่ดี
พอขึ้นชั้นมัธยมต้นจึงตัดสินใจขอให้แม่ซื้อแซกโซโฟนทั้งที่เล่นไม่เป็น แต่ด้วยฐานะทางบ้านที่ไม่สู้ดี แม่มีอาชีพรับจ้างซักผ้า การจะควักเงินหลักหมื่นซื้อแซกโซโฟนก็ดูจะเป็นฝันที่เกินเอื้อม ทว่าด้วยความรักและเป็นห่วงลูก แม่จึงกัดฟันนำเงิน 5,000 บาท ซื้อกีตาร์คลาสสิกให้แทน
“ผมคิดว่าตอนนั้นแม่คงเป็นห่วง กลัวว่าผมจะไปเหลวไหล ติดเกม เกเรจนเสียคน ดังนั้นพอเห็นว่า ผมชอบดนตรี ก็เลยอยากจะส่งเสริมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”
ใครจะคิดว่า การลงทุนของแม่ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้โอปอได้เข้าสู่ถนนสายดนตรีอย่างจริงจัง และเจอครูดนตรีที่เปลี่ยนชีวิตเขาถึง 2 คน โดยคนแรกคือ อาจารย์มนูญ พลอยประดับ นักกีตาร์คลาสสิกระดับตำนานของเมืองไทย ซึ่งมีผลงานเพลงล้านนามากมาย
“อาจารย์ ไม่ได้แค่สอนให้ผมเล่นกีตาร์เป็น แต่สอนให้ผมรู้ว่าคนเราเล่นดนตรีไปเพื่ออะไร ในวันที่หัวผมเต็มไปด้วยคำถามมากมาย อาจารย์ทำให้ผมค้นพบว่าดนตรีสามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้ ทำให้คนที่กำลังโกรธ กำลังทุกข์ หรือเศร้า กลับมามีความสุข หายเศร้าได้ ซึ่งทำให้เปลี่ยนความคิด จากที่เล่นดนตรีเพื่อความเพลิดเพลิน ให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับในหมู่เพื่อน มาพบว่าการเล่นดนตรีมีความหมายกว่านั้น”
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีกีตาร์คลาสสิกเป็นเครื่องดนตรีคู่ใจ แต่ในใจของเขากลับไม่เคยลืมเครื่องดนตรีในดวงใจอย่างแซกโซโฟนเลย ยิ่งตอนหลังได้ฟังสุ้มเสียงของแซกโซโฟน ยิ่งรู้สึกว่ามีเสน่ห์ เพราะฉะนั้นเมื่อมีโอกาสที่จะได้เป็นเจ้าของแซกโซโฟน ต่อให้เป็นของมือสอง เขาก็ยอม
“มีอยู่วันหนึ่ง ผมไปหัดเป่าขลุ่ยล้านนาที่สวนสาธารณะ บังเอิญเจอคนขับสี่ล้อแดงมาจอดพัก เขาก็ทักผมว่า ทำไมไม่ลองเป่าคลาริเน็ตดู ถ้าอยากเรียน เขาจะช่วยสอนให้”
ฟังดูอาจไม่น่าเชื่อ แต่แค่คำชวนประโยคเดียวของคนแปลกหน้า ทำให้โอปอ ซึ่งตอนนั้นเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ถึงกับอดใจไม่ไหว กำเงินเก็บที่มีอยู่ 7,500 บาท ตระเวนไปตามร้านขายเครื่องดนตรีมือสองทั่วเมืองเชียงใหม่ เพื่อซื้อคลาริเน็ต
“แต่สุดท้ายพอผมไปเห็นแซกโซโฟนมือสอง วางขายราคา 7,500 บาท ผมก็เปลี่ยนใจ ตัดสินใจซื้อ โดยไม่ได้คิดว่า เครื่องดนตรีราคาแบบนี้ ซื้อมาก็เล่นไม่ได้ เพราะ Mouthpiece (ส่วนปากเป่า) ก็แตก เสียงก็เพี้ยน แถมผมเองก็เป่าไม่เป็น แอบหวังว่าจะให้คนขับรถแดงสอน ปรากฏวันรุ่งขึ้นเขาก็ไม่กลับมา”
“ตอนนั้นผมฝึกเป่าแซกโซโฟนเองอยู่ 2-3 เดือน แต่ไม่รอด เลยพยายามดิ้นรนหาอาจารย์มาสอน โชคดีพี่โซ่–แมนลักษณ์ ทุมกานนท์ มือคีย์บอร์ดวง ETC ซึ่งเป็นพี่ชายเพื่อน เขาแนะนำให้ผมไปหา อาจารย์ป้อม–ภัทร ชมภูมิ่ง ซึ่งเป็นอาจารย์สอนดนตรีอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาเรียนจบวิชาเป่าแซกโซโฟนจากอเมริกา ตอนที่ไปขอเป็นศิษย์ ผมอายุ 19 ปี อาจารย์แกว่าเริ่มต้นช้าไปนะ ที่สำคัญ แกสอนแต่ระดับ Pro ไม่สอน Beginner ดังนั้นถ้าจะมาเรียนกับแก ต้องซ้อมอย่างต่ำวันละ 2 ชั่วโมง ส่วนค่าเรียน แกให้ผมทำงานแลก ด้วยการไปสอนกีตาร์คลาสสิกให้เด็กๆ ของแก”
สองปีแรกที่เรียน โอปอเปรียบเทียบได้อย่างเห็นภาพว่า เหมือนเวลาอ่านนิยายกำลังภายใน เวลาไปขอเรียนกังฟู แรกๆ อาจารย์จะยังไม่สอน แต่ให้ช่วยตักน้ำ ทำความสะอาดก่อน พอผ่านมาระยะหนึ่งถึงยอมใจอ่อนสอนให้ ปอเองก็เหมือนกัน เขาต้องฝึกตั้งแต่วิธีประกอบแซก หัดเป่าอยู่โน้ตเดียวจนคล่องเสียก่อน ถึงจะได้เป่าเป็นเพลง
ถามว่าช่วงนั้นท้อหรืออยากเลิกบ้างไหม โอปอตอบชัดว่า ไม่เคย เพราะเชื่อในคำสอนของอาจารย์ที่บอกว่า ‘ยอดจะไปสูงได้สักแค่ไหน หากอยู่บนฐานที่ไม่มั่นคง’ และต่อให้ยากเพียงใด เขาก็พร้อมจะเรียนรู้ เพราะการที่ต้องเปลี่ยนสายจากดนตรีคลาสสิกที่ค่อนข้างมีแบบแผน ต้องเล่นตามโน้ต มาเป็นการเล่นดนตรีแจ๊ซ เป่าแซกโซโฟน ที่ค่อนข้างมีอิสระในการเล่น ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
“ตอนนั้นพอรู้ตัวแล้วว่า ผมไม่ได้อยากเป็นสถาปนิก แต่อยากเป็นนักดนตรี เลยตัดสินใจย้ายมาเรียนที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อซ้อมแซกโซโฟนจริงจัง”
ในที่สุด ความพยายามของโอปอก็เห็นผล เมื่อวันหนึ่ง อาจารย์ป้อมได้ยื่นข้อเสนอที่ยากจะปฏิเสธให้เขา ด้วยการเสนอให้ไปเรียนเป่าแซกโซโฟนกับเพื่อนของอาจารย์ที่สหรัฐอเมริกา โดยอาจารย์ป้อมจะขอทุนค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับให้
แม้ตอนนั้นโอปอจะรู้ตัวว่าทักษะภาษาอังกฤษของตัวเองอ่อนแอแค่ไหน แถมกำลังทรัพย์ก็ไม่พร้อม แต่ความมุ่งมั่นที่อยากเปิดโลกการเล่นดนตรี ทำให้โอปอมองข้ามทุกอุปสรรค ตัดสินใจไปดร็อปเรียน 6 เดือน เพื่อไปตามหาความฝัน
การเดินทางทริปนั้น อาจารย์ป้อมรับหน้าที่เป็นผู้พาโอปอบินไปซานฟรานซิสโก 2 สัปดาห์ เพื่อแวะเวียนไปตามแจ๊ซคลับชื่อดัง พบปะนักดนตรีเก่งๆ ก่อนจะให้โอปอเดินทางไปเรียนเป่าแซกโซโฟนที่นิวยอร์ก
“ตอนที่ถึงนิวยอร์กผมมีเงินเหลือติดตัวไม่ถึง 100 เหรียญ โชคดีผมมีคนรู้จักอยู่ที่นั่น เขาเลยให้ผมไปค้างแรมที่บ้านหลังหนึ่ง ซึ่งไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ กิจวัตรในแต่ละวันนอกจากซ้อมแซกโซโฟน ผมต้องทำงานที่ร้านสัก และเป็นกรรมกรแบกปูน พอวันอาทิตย์ก็มาเรียนดนตรีกับเพื่อนของอาจารย์”
ตอนนั้น ลำพังความเป็นอยู่ในแต่ละวันก็ยากแล้ว ไม่ต้องพูดถึงค่าเล่าเรียน ซึ่งอาจารย์คิดค่าสอนชั่วโมงละ 100 เหรียญ คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 4,000 บาท
“แน่นอนว่าผมไม่มีเงินจ่าย แต่เขาก็อยากให้โอกาส เลยให้ผมวาดรูปเป็นการตอบแทน สำหรับผมมันเป็นความทรงจำที่ดีมาก การที่ครั้งหนึ่งมีคนให้โอกาสเรา มันทำให้รู้สึกว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งเราคงต้องส่งต่อโอกาสแบบนี้บ้าง”
ช่วงเวลา 6 เดือนผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่กลับมอบประสบการณ์ชีวิตอันล้ำค่าให้แก่เด็กหนุ่มคนหนึ่งอย่างยิ่ง โอปอไม่เพียงได้เปิดโลก แต่ยังได้ปลดล็อกโลกดนตรีไปอีกขั้น
“จริงๆ ตอนนั้นมีเพื่อนชวนให้อยู่ต่อ บอกว่าจะช่วยหางานให้ แต่ด้วยความที่ผมคิดถึงและเป็นห่วงแม่ บวกกับอยากกลับไปเรียนให้จบ เลยตัดสินใจกลับมาเมืองไทย คิดแค่ว่าถ้าอยากกลับไปใหม่ ค่อยว่ากัน แต่ก่อนกลับ ผมก็ตักตวงประสบการณ์ชีวิตเต็มที่ เดือนสุดท้ายที่อยู่ที่นั่น ผมลาออกจากงาน ไม่ทำอะไรเลย เอาเงินเก็บที่มีไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ เพราะผมชอบด้านศิลปะอยู่แล้ว”
พอกลับมาเมืองไทย โอปอก็ทำตามแผนที่วางไว้คือ เรียนต่อจนจบ และคว้าใบปริญญามาครองได้สำเร็จ พร้อมกับมุ่งมั่นในเส้นทางสายดนตรี
“ตอนที่กลับมา ผมยังไม่ได้มองว่าตัวเองเป่าแซกโซโฟนเก่งแล้ว เพียงแต่รู้สึกว่าเล่นดนตรีแบบไม่หลงทาง รู้ว่าเสียงที่ดี เสียงที่เพราะเป็นยังไง หลังจากนั้นก็ยังคงซ้อมอย่างหนักอยู่หลายปี พร้อมกับเดินตามความฝันที่อยากจะเดินทางรอบโลก”
โอปอเคยบอกว่า เขาตัดสินใจเลือกเกณฑ์ทหารนาน 10 เดือน เพื่อฟิตร่างกายให้พร้อมสำหรับการเดินทางรอบโลก เพราะการเดินทางของเขาไม่เหมือนใคร เนื่องจากแทนที่จะเลือกนั่งเครื่องบินไป แต่กลับเลือกแบกแซกโซโฟน เดินทางโบกรถ นั่งรถไฟจนถึงจุดหมายแทน
“ผมเคยบอกแม่ว่า ผมจะไปเดินทางรอบโลก อีก 5 ปีเจอกัน ซึ่งตอนนั้นแม่ก็ไม่ได้ห้าม ตอนนั้นผมออกเดินทางด้วยเงิน 5,000 บาท แต่ปรากฏว่าไปได้แค่เดือนกว่า ไปถึงแค่เวียดนามก็ต้องกลับ เพราะเงินหมดเสียก่อนเลยเปลี่ยนแผน จากที่จะเดินทางรอบโลกทีเดียวอาจจะยากไป น่าจะลองแยกย่อย ค่อยๆ เที่ยวเก็บทริปทีละ 4-5 ประเทศ พอเงินหมดก็กลับมาเก็บเงินไปใหม่
“ผมเคยไปเป็นคนไร้บ้านที่เกียวโต ประเทศญี่ปุ่นอยู่ 2 เดือน กลางคืนก็นอนตามสถานีรถไฟ กลางวันก็ไปเปิดหมวกเล่นดนตรี ได้เงินก็เอาไปซื้อของกิน เล่นดนตรีเหนื่อยก็วาดภาพ ถ้ามีโอกาสได้ไปแจมตามแจ๊ซผับก็ไป ซึ่งช่วงแรกๆ จะยากหน่อย เพราะถ้าอยากแจมต้องจ่ายเงิน แต่พออยู่ไปเรื่อยๆกลายเป็นว่าเริ่มมีเพื่อน ไม่ต้องนอนตามสถานีรถไฟแล้ว”
อย่างไรก็ตาม ถ้าพูดถึงทริปที่ทำให้โอปอได้เปิดมุมมองชีวิตแบบหมดเปลือก คงต้องยกให้ทริปเชียงใหม่-ฝรั่งเศส ซึ่งเขาใช้เวลา 41 วัน ผ่าน 8 ประเทศ 17 เมือง พิชิตระยะทาง 12,300 กิโลเมตร
“ตอนนั้นเพื่อนนักดนตรีชาวฝรั่งเศสชวนผมไปเล่นในงานเลอเฟสติวัล ซึ่งเป็นเทศกาลดนตรีประจำปีในปารีส ผมตอบตกลงทันที ทั้งที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเอาค่าตั๋วมาจากไหน เพราะมีเงินอยู่แค่ 20,000 กว่าบาท ถ้าจะซื้อตัวเครื่องบินก็ 30,000 กว่าแล้ว ผมเลยคิดว่า เดินทางทางฟ้าไม่ได้ ก็ไปทางพื้นดินดีกว่า เพราะที่ผ่านมาผมก็เดินทางแบบนี้อยู่แล้ว”
นี่จึงเป็นที่มาของการโบกรถไปเชียงราย เชียงของ ข้ามแม่น้ำโขงไปลาว โบกรถต่อไปจนถึงประเทศจีนผ่านคุนหมิง ต้าหลี่ แชงกรีลา ปักกิ่ง ออกไปทางอูลานบาตอร์ จากนั้นขึ้นรถไฟสายทรานส์ไซบีเรียไปมอสโก เข้าลัตเวีย โบกรถเข้าเบลเยียม และจบที่ปารีส โดยระหว่างทาง เขาก็เล่นดนตรีเพื่อแลกกับอาหารและเครื่องดื่ม
ทริปนี้นอกจากจะเป็นทริปโบกรถที่ไกลที่สุดในชีวิตของโอปอแล้ว ยังทำให้เขาได้เจอกับประสบการณ์ที่ไม่คาดคิด อย่างเช่น การติดคุกที่ลัตเวีย เพราะความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเอกสารวีซ่า ด้วยความที่สื่อสารกันไม่เข้าใจ โอปอจึงต้องนอนรอล่ามในห้องขังถึง 12 ชั่วโมง
ที่สำคัญ การออกไปเผชิญโลกกว้างโดยไม่รู้ว่าหนทางข้างหน้าเป็นอย่างไร ไม่ได้เป็นเพียงบททดสอบความอดทนและความกล้าเท่านั้น แต่ยังทำให้รู้ซึ้งถึงความเชื่อมั่นในมิตรภาพและน้ำใจของเพื่อนมนุษย์ที่มีให้กันอีกด้วย
หลังเดินทางจนตกผลึกกับตัวเอง โอปอซึ่งสั่งสมชั่วโมงบินด้านดนตรีด้วยการเป็นนักดนตรีอิสระมาพักใหญ่ ก็ตัดสินใจลงหลักปักฐาน ด้วยการเปิด North Gate Jazz Co-Op บาร์แจ๊ซที่เป็นมากกว่าบาร์ที่ให้ผู้คนมาสังสรรค์ แต่ยังตั้งใจให้เป็นแหล่งรวมของคนรักดนตรีด้วย
“สมัยนั้น ถ้าอยากเล่นดนตรีแจ๊ซ ก็ต้องไปเล่นที่ถนนคนเดิน ซึ่งมีเฉพาะวันอาทิตย์ ผมเลยคิดว่า จะดีกว่าไหม ถ้าเรามีพื้นที่ที่สามารถให้นักดนตรีแจ๊ซมาเล่นได้ทุกวัน และยังเป็นพื้นที่ให้คนที่รักดนตรีได้มาพบปะ แลกเปลี่ยน เป็ นจุดเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมดนตรีในเมืองเชียงใหม่”
เพราะโอปอมีความเชื่อว่า นักดนตรีแจ๊ซ ถ้าจะให้เก่ง ต้องเล่นบ่อยๆ การที่ได้ไปเล่นแจมกับเครื่องดนตรีที่หลากหลาย ก็ทำให้ยิ่งได้พัฒนา ยิ่งไปแจมกับนักดนตรีต่างวัย ต่างที่มา ต่างความเชื่อ ยิ่งทำให้เติบโต ซึ่ง North Gate คือ สถานที่ที่พร้อมตอบโจทย์นั้น
“ก่อนหน้าจะเกิดโรคระบาด เราขยายบาร์ไปชั้นสี่ เพื่อเปิดพื้นที่ทางดนตรีใหม่ เรียกว่า The Arkive (North Gate 4th floor) เพื่อเป็นพื้นที่ทางดนตรีและศิลปะ เป็นเหมือนคอนเสิร์ตฮอลล์เล็กๆ ที่ไม่ได้จำกัดแค่ดนตรีแจ๊ซ หรือดนตรีคลาสสิก แต่อาจจะเป็นดนตรีล้านนาคลาสสิกก็ได้”
ด้วยคอนเซปต์ที่เปิดกว้างพร้อมอ้าแขนรับความหลากหลาย ทำให้ที่ผ่านมา มีนักดนตรีดังๆ ระดับโลกหลายคนแวะเวียนมาแจมที่นี่ จนกลายเป็นที่รู้จักในฐานะบาร์แจ๊ซที่นำเสนอผลงานแบบ World Music
และที่พิเศษยิ่งกว่า คือ North Gate ยังกลายเป็นสถานที่เชื่อมร้อยมิตรภาพของผู้คนหลากหลาย โดยมีดนตรีเป็นสื่อกลางอีกด้วย
จากเส้นทางสายดนตรีที่ไม่น่าจะมาบรรจบกับการทำงานเพื่อสังคมได้ แต่สำหรับโอปอ ผู้ชายที่แทบจะไม่มีคำว่าเป็นไปไม่ได้ในพจนานุกรม ได้หลอมรวมสองวิถีเข้าด้วยกันอย่างลงตัว
โอปอเคยบอกว่า ดนตรีเป็นจุดรวมจิตใจของเขาไว้ด้วยกัน ทำให้เห็นความหมายในชีวิต และเห็นคุณค่าของตัวเอง เขาจึงอยากใช้พลังของเสียงดนตรีเพื่อช่วยเหลือสังคม
“ดนตรีทำให้คนเราได้ยินเสียงบางอย่างที่ไม่เคยได้ยิน ซึ่งการได้ยินเสียงที่ไม่เคยได้ยิน ก็อาจจะทำให้เห็นภาพหรือสีที่ไม่เคยเห็น การที่ได้เข้าไปสู่ประสบการณ์ที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน อาจจะทำให้ค้นพบว่าตัวเองมีศักยภาพอะไรได้อีก”
เส้นทางที่โอปอค้นพบก็คือ การลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อให้เมืองที่เขารักน่าอยู่ โดยภารกิจช่วยเหลือสังคมโปรเจกต์แรกๆ ที่ริเริ่มคือ รวมกลุ่มกับเพื่อนนักดนตรี จัดคอนเสิร์ตระดมทุนให้ชาวเนปาล ตอนที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อปี 2558
การแสดงพลังเล็กๆ ครั้งนั้นทำให้พวกเขาตระหนักว่า แม้จะเป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆ แต่ก็ช่วยเหลือสังคมได้ จนต่อยอดเป็นแคมเปญ ‘มือเย็น เมืองเย็น’ ที่หยิบเอาเรื่องใกล้ตัวอย่างการปลูกต้นไม้ มานำเสนอ
“จุดเริ่มต้นมาจากผมขี่มอเตอร์ไซค์อยู่ในเชียงใหม่ แล้วร้อนมาก ไม่เหมือนสมัยเด็กๆ ที่เมืองร่มรื่น ช่วงหลังต้นไม้น้อยลง อากาศก็ร้อนขึ้นเรื่อยๆ เลยคิดว่าอยากทำอะไรบางอย่าง จึงชวนเพื่อนๆ ที่เคยทำกิจกรรมเพื่อสังคมด้วยกันมาทำแคมเปญชวนกันปลูกต้นไม้ ด้วยคอนเซปต์ง่ายๆ คือ อยู่ที่ไหน ปลูกที่นั่น เริ่มจากการชวนเพื่อนบ้าน ชุมชน มาปลูกต้นไม้รอบคูเมืองเชียงใหม่ และค่อยๆ ขยายผลไปทั้งจังหวัด”
แต่จุดที่ทำให้แคมเปญนี้เป็นที่พูดถึงไปไกลทั่วประเทศคือ พลังของโซเชียลมีเดีย
“ตอนนั้นกระแส Ice Bucket Challenge ที่ชาวเน็ตอัดคลิปราดน้ำผสมน้ำแข็งท่วมหัว จากนั้นท้าคนอื่นอีก 3 คนให้ทำตามภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อเป็นการระดมทุนช่วยผู้ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) โด่งดังเป็นพลุแตกไปทั่วโลก เราเลยคิดว่าจะลองนำไอเดียนี้มาใช้บ้าง แต่เปลี่ยนจากราดน้ำผสมน้ำแข็งมาเป็นการปลูกตันไม้หนึ่งต้น แล้วท้าเพื่อนอีก 3 คนให้ปลูกตาม จากนั้นถ่ายรูปต้นไม้ที่ปลูก โดยปลูกที่ไหนก็ได้ พร้อมกับติดแฮชแท็ก #มือเย็นเมืองเย็น แชร์ลงบน Facebook ซึ่งมีคนรุ่นใหม่อยากเข้าร่วมเต็มไปหมด”
ผลงานหนึ่งที่ยืนยันความสำเร็จของแคมเปญนี้คือ มีการปลูกต้นไม้รอบคูเมืองถึง 800 ต้น และปลูกทั่วจังหวัดอีก 5,000 ต้น และยังมีการขยายผลไปอีกหลายพื้นที่
ที่สำคัญ การทำแคมเปญมือเย็น เมืองเย็น ยังทำให้โอปอได้ออกเดินทางอีกครั้ง
ครั้งนี้เขาโบกรถไปทั่วประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กับคนปลูกต้นไม้และปราชญ์ชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ทำให้ได้เห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับภูมิภาคและประเทศ ซึ่งเป็นตัวจุดประกายที่ทำให้เขารู้ว่า การปลูกต้นไม้ก็เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่การแก้ปัญหาสังคมที่ยั่งยืนต้องทำอย่างเป็นระบบ
จากแคมเปญมือเย็น เมืองเย็น โอปอเริ่มขยายไปสู่แคมเปญเพื่อสังคมอื่นๆ ตั้งแต่ การแก้ปัญหาคลองแม่ข่าที่น้ำเน่าเสีย ซึ่งเขาทุ่มทุนด้วยการลงไปเป่าแซกโซโฟนในคลอง และยังให้ ลี-อายุ จือปา เจ้าของกาแฟอาข่า อ่ามา ช่วยดริปกาแฟในคลอง เพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้คนในชุมชน หรือช่วงที่มีกระแสเต่าตายเพราะหลอดพลาสติก โอปอก็ชักชวนเพื่อนนักดนตรีมาช่วยกันจัดเทศกาลดนตรีที่ชื่อ The Last Straw Music Festival โดยมี บอย อิมเมจิ้น และ เอก แซ็กป่า มาร่วมแจม
แต่ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า แม้ทุกแคมเปญจะตั้งต้นด้วยเจตนาดี หลายแคมเปญกลายเป็นกระแส และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น แต่จุดอ่อนคือความยั่งยืน เพราะทุกครั้งที่เริ่มแคมเปญใหม่ ก็ต้องถอยหลังไปเริ่มจากศูนย์ ตั้งแต่การหาทีมงาน การคิดรูปแบบกิจกรรมและวิธีการสื่อสาร
“ถามว่าผิดไหม ก็ไม่ผิด เพราะอย่างน้อยก็เป็นการสร้างแรงกระเพื่อมบางอย่างให้สังคม เหมือนเวลาเล่นดนตรี แล้ว Improvise (ด้นสด) อะไรบางอย่าง มันอาจจะเริ่มจากเครื่องดนตรีสองชิ้น แล้วค่อยๆ เพิ่มเข้าไป ก็เหมือนกับการรวมกลุ่มของคน เราอาจจะเริ่มจากตัวโน้ตตัวเดียวก็ได้ หรือนึกภาพเวลาคนเล่นดนตรี แล้วมีคนลุกขึ้นเต้นคนแรก หลังจากนั้นก็จะค่อยๆ มีคนลุกเต้นตาม และสักพักคนทั้งร้านก็ลุกขึ้นเต้น”
สำหรับปอ ไม่ว่าแคมเปญที่ทำจะประสบความสำเร็จมากหรือน้อย แต่สิ่งที่มีค่ามากกว่านั้น คือ การสกัด ‘บทเรียน’ เพื่อนำไปแก้ไขหรือต่อยอด ซึ่งบทเรียนเหล่านั้น ตัวเขาเองก็หยิบมาทบทวนและตกผลึกอยู่เสมอ จนกลายเป็นไอเดียในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่หยั่งรากลึกในเวลาต่อมา
ผมอยากเห็นเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองที่สวยงาม คำว่าสวยงามนี้ คือเป็นที่ที่เต็มไปด้วยความรัก เพราะเวลาที่มนุษย์รักสิ่งไหนเขาก็จะดูแลสิ่งนั้นให้มันสวย.. เมืองนี้ก็จะเต็มไปด้วยความรัก แล้วก็จะยั่งยืน
หนึ่งในผลผลิตของการต่อยอดแคมเปญไปสู่ความยั่งยืนของโอปอและเครือข่าย คือ การก่อตั้ง Chiangmai Trust
Chiangmai Trust เป็นกองทุนที่เปิดให้ภาคประชาชนที่มีทรัพย์สินหรือมีมรดก แต่ไม่มีทายาทสืบต่อ ยกมรดกเหล่านี้ให้เป็นสาธารณประโยชน์ หรือร่วมบริจาคเงินทำโครงการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองต่างๆ โดยเป้าหมายสำคัญคือเพื่ออุดช่องว่างของแคมเปญต่างๆ ที่ผ่านมา และมองไปถึงการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว 3-5 ปี รวมถึงพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูล หรือการเงินอย่างจริงจัง
“ผมคิดว่า ถ้าขยายผลจากแคมเปญให้เป็นองค์กรขนาดเล็กที่มีรูปแบบไม่แสวงหากำไร แต่มีความคล่องตัวสูง เวลา มีปัญหาสังคมตรงไหน หรือมีส่วนไหนที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ก็สามารถเข้าไปจัดการได้ทันที”
ยกตัวอย่างเช่น โครงการ ‘หนึ่งชุมชน หนึ่งครัวกลาง’ ซึ่งโอปอเริ่มทำตอนทำช่วงที่เกิดโรคระบาดรอบแรก และเขาต้องปิดผับลงชั่วคราว โดยได้แรงบันดาลใจมาจากรุ่นพี่ที่ทำข้าวกล่องแจกให้ผู้ที่เดือดร้อน
ครั้งนั้น เขาเริ่มทำข้าวกล่องแจกที่หน้า North Gate ปรากฏว่ามีคนมารับเยอะมาก บางคนมาจากต่างอำเภอ เดินทางมาไกลมาก เพราะพื้นที่ที่เขาอยู่ไม่มีจุดแจกของเลย
พอเห็นปัญหาแบบนี้ โอปอเลยคิดมุมกลับว่า แทนที่จะตั้งจุดแจกในเมืองอย่างเดียวทำไมถึงไม่กระจายจุดแจกไปตามชุมชน เพื่อที่คนจะได้ไม่มากระจุกตัวอยู่ในเมือง
จากคำถามนั้น กลายเป็นที่มาของแคมเปญ ‘ครัวกลาง’ ทำอาหารแจกกันภายในชุมชน ซึ่งเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะนอกจากแก้ปัญหาเรื่องการเดินทางแล้ว ยังทำให้แต่ละชุมชนต้องสำรวจข้อมูลประชากรในพื้นที่ว่า มีคนแก่หรือเด็กกี่คน แต่ละคนสุขภาพเป็นอย่างไรบ้าง เพราะข้อมูลเหล่านี้ จะช่วยให้ครัวกลางสามารถทำอาหารได้ตรงความต้องการ และยังเป็นประโยชน์สำหรับอนาคต หากภาครัฐจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้าน ก็สามารถนำฐานข้อมูลนี้ไปต่อยอดได้
อีกผลพลอยได้ที่ดีต่อโลกคือ ไม่เปลืองบรรจุภัณฑ์หรือถุงพลาสติก เพราะคนในชุมชนก็เอาถ้วย หรือเอาปิ่นโตมารับอาหารไปได้
อย่างไรก็ตาม พอมาเจอโรคระบาดระลอกถัดมา พวกเขาก็ตระหนักว่า ลำพังช่วยเหลือแค่เรื่องอาหารอย่างเดียวคงไม่พอแล้ว กลุ่ม Chiangmai Trust จึงต่อยอดมาสู่โครงการ ‘ครัวงาน’ ที่มุ่งแก้ปัญหากลุ่มแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ด้วยการเป็นตัวกลางรวบรวมแรงงานหรือชาวบ้านจากชุมชนต่างๆ ที่ต้องการอาชีพ เพื่อให้นายจ้างหรือผู้ว่าจ้างได้เลือกจ้างแรงงานที่เหมาะสมกับงาน ชาวบ้านก็มีรายได้ไปจุนเจือครอบครัวต่อไป
นอกจากโปรเจกต์ที่ทำขึ้นมาเฉพาะกิจในช่วงโรคระบาด โอปอยังร่วมกับเพื่อนๆ พัฒนาแบรนด์เครื่องดื่มที่แปรรูปจากข้าวพื้นบ้านที่ชื่อ YoRice Amazake
“ตอนช่วงที่ผมว่างงาน เพราะร้านต้องปิดจากสถานการณ์โรคระบาด เพื่อนผมที่ทำเรื่องกลุ่มผู้ไร้รัฐในค่ายผู้อพยพก็ติดต่อมาว่ามีแคมป์ผู้พลัดถิ่นในประเทศ (Internally Displaced Person-IDPs) ชาวไทใหญ่ ในค่ายในนั้นมีคนอยู่ 6,000 คน เป็นเด็ก 2,500 คน เป็นเด็กกำพร้า 1,250 คนไม่มีอาหารเลย เนื่องจากด่านถูกปิดหมด ขาดแคลนข้าวอย่างหนัก เราก็เลยทำแคมเปญระดมข้าวหักที่คนไทยไม่กิน แต่เอาไปให้หมูให้ไก่กิน มาให้ชาวไทใหญ่กิน”
การเข้ามาจับประเด็นเรื่องข้าว ทำให้โอปอตั้งคำถามในใจว่า ทั้งที่เมืองไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับต้นๆ ของโลก แต่เหตุใดความเป็นอยู่ของเกษตรกรจึงไม่ดี หรือต่อให้เคยมีข้าวหลากหลายถึงกว่า 20,000 สายพันธ์ุ แต่ทำไมคนไทยกลับเลือกกินอยู่ไม่กี่สายพันธ์ุ
ระหว่างที่ในหัวเต็มไปด้วยคำถาม แต่อีกใจก็ยังไม่ยอมแพ้ อยากจะหาทางช่วยคลายปมที่เจอ พอดีเขาได้พบกับ นพ.ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ คุณหมอที่สนใจทำงานวิจัยเรื่องข้าว และสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์มาตลอดหลายสิบปี มาช่วยปลดล็อกและชี้ทางสว่าง
“นอกจากคุณหมอจะส่งทีมวิจัยมาลงพื้นที่ช่วยสอนวิธีปลูกข้าวอินทรีย์ ยังแนะนำไอเดียเพิ่มมูลค่าข้าว ด้วยการใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมของญี่ปุ่น ที่ใช้วิธีนำข้าวไปหมักกับข้าวโคจิและน้ำในอุณหภูมิประมาณ 50-60 องศาเซลเซียส ประมาณ 8-10 ชั่วโมง ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะเป็นเครื่องดื่มสีขาวขุ่น รสชาติหอมหวานที่เรียกว่า Amazake หรือสาเกหวานไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการสูง”
พอได้ไอเดียดีๆ แบบนี้ โอปอจึงรับซื้อข้าวไทยพันธุ์ต่างๆ ที่ได้จากพี่น้องเกษตรอินทรีย์รวมถึงผู้คนในค่ายอพยพ ไม่ว่าจะเป็นข้าวที่สวยหรือหัก เพื่อนำมาแปรรูปให้เกิดมูลค่า จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชนิดใหม่ซึ่งมีหลายรสชาติตามสายพันธ์ุของข้าวที่เลือกใช้ เช่น รสออริจินัลจากข้าวญี่ปุ่นและข้าวหอมมะลิ รสข้าวมะลินิลสุรินทร์จากจังหวัดสุรินทร์ รสข้าวสินเหล็กจากอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ฯลฯ
โดยทุกกระบวนการของ YoRice จะมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือสังคม ตั้งแต่รับซื้อข้าวจากเกษตรกรที่ปลูกแบบอินทรีย์ในราคายุติธรรม ทำงานร่วมกับนักวิจัยนำเมล็ดข้าวหักที่หลายคนมองข้ามมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่ามากขึ้น เป็นต้น
แน่นอนว่า เบื้องหลังความสำเร็จนี้ อาบไปด้วยหยาดเหงื่อและคราบน้ำตา ต้องลุ้นทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเพาะโคจิ ซึ่งใช้เวลาราว 3 วัน กว่าจะรู้ว่าข้าวโคจิที่เพาะล็อตนั้นสำเร็จหรือไม่ พอมาทำอามาซาเกะ ก็ต้องลุ้นอีกรอบว่าจะได้ผลดั่งใจหรือเปล่า
แต่ทั้งหมดก็ยังทำให้โอปอลุ้นตัวโก่งไม่เท่ากับตอนที่จะนำสินค้าออกสู่ตลาด เพราะถึงจะผ่านประสบการณ์ชีวิตมาอย่างโชกโชน แต่สำหรับโลกธุรกิจที่ต้องมีการทำแบรนด์ ทำการตลาด ถือว่าเป็นโลกที่เขาไม่เคยสัมผัสมาก่อน โชคดีที่ความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์ที่คุณประโยชน์มาเต็ม ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพ ทำให้ YoRice ได้รับกระแสตอบรับค่อนข้างดี
อย่างไรก็ตาม เขาก็ไม่ได้พอใจกับความสำเร็จแค่วันนี้ แต่ยังมีแผนจะต่อยอดผลิตภัณฑ์ไปมากกว่าเครื่องดื่ม เช่น อาจทำเป็นไอศกรีมอามาซาเกะข้าวไทย จนถึงขั้นเป็นทางเลือกในการประกอบอาหารให้มีคุณค่ามากขึ้น เพราะสุดท้ายแล้ว เป้าหมายของธุรกิจเพื่อสังคมนี้ แน่นอนว่าไม่ใช่เพื่อหวังผลกำไร แต่เป็นการสร้างวงจรการช่วยเหลือสังคมอย่างยั่งยืน และเมื่อใดที่ธุรกิจอยู่ได้ เขาตั้งใจนำกำไรทุกๆ 30% จากยอดขายไปช่วยเหลือเกษตรกรอินทรีย์และผู้ประสบภัยขาดแคลนอาหารต่อไป
เช่นเดียวกับ Chiangmai Trust เขาก็วางแผนจะขยายความร่วมมือกับพันธมิตรและภาคีอื่นๆ โดยเน้นการทำงานใน 3 ประเด็นคือ สิ่งแวดล้อม การศึกษา และเศรษฐกิจ ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มเห็นผลงานมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิ โครงการ Chiangmai Rice Festival เทศกาลข้าวเชียงใหม่ ซึ่งชักชวนปราชญ์ชาวบ้านและคนรุ่นใหม่มาพูดคุยและหาทางต่อยอดเรื่องข้าวพื้นถิ่น
อีกโครงการที่โอปอและรุ่นน้องเริ่มบุกเบิกมาพักใหญ่ คือ Addict Art Studio ในชุมชนควรค่าม้าสามัคคีพัฒนา ต.ศรีภูมิ อ.เมืองเชียงใหม่ ด้วยการจัดกิจกรรมให้เด็กๆ ในชุมชน ซึ่งประกอบด้วยหลายชาติพันธุ์ไปทัศนศึกษา เปิดโอกาสให้ศิลปินจัดแสดงนิทรรศการผลงาน หรือจะมาพักและสร้างสรรค์ผลงานก็ได้ โดยมีข้อแม้เพียงอย่างเดียวคือ ทุกกิจกรรมต้องเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ซึ่งเขาก็วาดหวังจะเห็นสตูดิโอแบบนี้เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นต่อไปเรื่อยๆ
และนี่คือความฝันของคนตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่ปรารถนาจะเห็นบ้านเกิดของตัวเองเป็นดินแดนแห่งความสุขของทุกคนตลอดไป
“ผมอยากเห็นเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองที่สวยงาม คำว่าสวยงามนี้ คือเป็นที่ที่เต็มไปด้วยความรัก เพราะเวลาที่มนุษย์รักสิ่งไหนเขาก็จะดูแลสิ่งนั้นให้มันสวย เช่น คุณรักรถ คุณก็เช็ดรถอยู่นั่นแหละ รักนาฬิกา ก็เช็ดนาฬิกา รักแฟน คุณก็ดูแลแฟน รักพ่อแม่ คุณก็ซื้ออาหารดีๆ
“ผมมองว่าถ้าเราอยากเห็นเชียงใหม่เป็นเมืองที่สวย เมืองนี้ก็จะเต็มไปด้วยความรัก แล้วก็จะยั่งยืน”
คนเล็กเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 30 บุคคลผู้สร้างสังคมที่ยั่งยืน และช่วยกันสร้างคุณค่าสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นประเทศ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ภราดล พรอำนวย คือบุคคลต้นแบบประเด็นยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ (SDGs ข้อที่ 1), ประเด็นยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 2), ประเด็นส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานที่มีคุณค่า (SDGs ข้อที่ 8), ประเด็นทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความทั่วถึง ปลอดภัย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 11), ประเด็นสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 12) และประเด็นเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลไกการดำเนินงาน และฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 17)
เภสัชกรหญิง ผู้บุกเบิกยาสมุนไพรอภัยภูเบศร พร้อมฝันอันยิ่งใหญ่ที่อยากจะทำให้ปราจีนบุรีเป็นเมืองแห่งสมุนไพร
นักเขียนนิทานเด็ก เจ้าของผลงาน ‘อีเล้งเค้งโค้ง’ กับความฝันอันยิ่งใหญ่ที่อยากยกระดับการอ่านให้เด็กไทยทั่วประเทศ
ค้นหาเหตุผลที่ทำให้ สืบ นาคะเสถียร ตัดสินใจจบชีวิตตนเอง เพื่อส่งเสียงให้ทุกคนฟังเขา
กลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหมที่ทำงานขับเคลื่อนการอนุรักษ์คลองในพื้นที่ฝั่งธนบุรี
นักขับเคลื่อนทางสังคม ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ หิ่งห้อยน้อย พื้นที่เล็กๆ ที่เปิดรับฟังเรื่องที่เด็กๆ ไม่กล้าเล่าให้คนอื่นฟัง
จะเป็นอย่างไร ถ้าวันหนึ่งคุณได้เข้าป่าไปกับ สืบ นาคะเสถียร
Armchair ศิลปินขวัญใจวัยรุ่นยุคอินดี้ ผู้บุกเบิกเพลงบอสซาโนวา เจ้าของเพลงฮิตสุดละมุนที่ยังตรึงอยู่ในใจแฟนเพลงถึงวันนี้
นักเขียนการ์ตูนที่พาผลงานมังงะจากเอเชียให้โด่งดังไปไกลทั่วโลก ปลุกกระแสดราก้อนบอล ให้เข้าอยู่ในใจเด็กๆ ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ
สุดยอดนักพากย์ฟุตบอลและผู้ประกาศข่าวกีฬาแห่งเรื่องเล่าเช้านี้ที่ครองใจผู้ชมผู้ฟังมานานกว่า 3 ทศวรรษ
สาว สาว สาว แอม-แหม่ม-ปุ้ม ต้นตำรับเกิร์ลกรุ๊ปเมืองไทย ผู้สร้างกระแสเพลงประตูใจ ข้ามกาลเวลาถึงปัจจุบัน
จากนักแกะสลักน้ำแข็ง สู่สุดยอดทีมนักแกะสลักหิมะ ที่คว้าชัยในเทศกาลหิมะอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง พร้อมพิสูจน์ให้โลกได้เห็นว่า ถึงเมืองไทยไม่มีหิมะ เราก็สร้างที่ยิ่งใหญ่ได้
ย้อนเรื่องราวของหนังไทย ‘โหมโรง’ ที่สร้างปรากฏการณ์ฟีเวอร์ หลังเกือบถูกถอดจากโรง พร้อมกับจุดกระแสดนตรีไทยให้โด่งดังไปทั่ว
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.