นณณ์ ผาณิตวงศ์ : คนบ้าปลา ผู้สร้าง Siamensis.org

<< แชร์บทความนี้

แม้จะมีตำแหน่งเป็นถึงผู้บริหารบริษัทผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของประเทศ

แต่ด้วยความหลงใหลเรื่องปลาแบบสุดขั้ว ทำให้ใครต่อใครขนานนามผู้ชายคนนี้ว่า ‘ดร.ปลา’

ตลอด 20 ปีกว่านี้ เขาคอยตอบข้อสงสัยสารพัดเกี่ยวกับสัตว์น้ำประเภทนี้ แถมยังไปไกลถึงขั้นลงไปสำรวจ ศึกษา เก็บข้อมูล จนกลายเป็นนักวิชาการอิสระที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ และเป็นนักอนุรักษ์ไทยคนแรกที่ได้รับรางวัล ASEAN Biodiversity Heroes เมื่อปี 2560

แต่ที่สำคัญกว่าคือ เขายังเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม หรือ siamensis.org กลุ่มคนรักษ์สิ่งแวดล้อมที่คึกคักที่สุดกลุ่มหนึ่งของประเทศ

ที่นี่คือศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องราวทางธรรมชาติของผู้คนนับหมื่น

แต่ละวันจะมีผู้นำภาพสัตว์หรือพืช หน้าตาแปลกประหลาดมาพูดคุย สอบถาม แบ่งปันข้อมูลกันเต็มไปหมด เสริมด้วยบทความความรู้ที่อ่านเข้าใจง่าย จนมีผู้ยกให้เป็นสารานุกรมเล่มโต ที่สร้างแรงบันดาลใจจนเกิดนักธรรมชาติวิทยามือสมัครเล่นขึ้นมานับไม่ถ้วน

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา อยากพาทุกคนไปพูดคุยกับนักอนุรักษ์คนสำคัญของเมืองไทย ผู้ทำให้เรารู้จักปลาน้ำจืดมากกว่าที่เคย และเข้าใจถึงระบบนิเวศวิทยาดียิ่งกว่าที่คิด

ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์

ภาพจาก Facebook: Nonn Panitvong (ดร.นณณ์)

“เกิดมาผมก็ชอบสัตว์เลย”

“เกิดมาผมก็ชอบสัตว์เลย”

ย้อนกลับไปสมัยวัยเด็ก ของขวัญอย่างหนึ่งที่นณณ์มักได้รับจากแม่คือ หนังสือสาระความรู้ต่างๆ

แต่ถึงในกองนั้นจะมีหนังสืออยู่หลากหลายประเภท ทั้งไฟฟ้า เครื่องกล เคมี หากมีเพียงเรื่องเดียวที่ดึงดูดความสนใจของเด็กน้อยผู้นี้จนอยู่หมัด นั่นคือ ชีวิตสัตว์โลก

“บ้านผมอยู่หลังกระทรวงการคลัง แต่ก่อนแถวนั้นเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ ผมก็เล่นอยู่แค่ตรงนั้น กับตรงอ่างบัวในบ้าน พอมีเวลาว่าง ก็นั่งดูปลาดูมดในบ้าน พอช่วงประถมปลาย ปิดเทอมแม่ก็ส่งไปเข้าค่ายต่างจังหวัด ไปนอนกางเต็นท์ในป่า ไปตกปลาจึงได้เห็นธรรมชาติมากขึ้น พอโตขึ้น ผมก็ตามคุณพ่อไปตกปลา ใช้ชีวิตกลางแจ้ง ไปทั่วประเทศเลย ตกปลาทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม ก็เลยเริ่มซึมซับมาเรื่อยๆ”

นณณ์เริ่มหลงใหลในสิ่งมีชีวิตเล็กๆ นี้ เขาอยากรู้จักและอยากเข้าใจถึงวิถีชีวิตของพวกมันมากขึ้น บวกกับช่วงหลังที่เริ่มสัมผัสถึงความเปลี่ยนแปลงด้านปริมาณของสัตว์น้ำที่นับวันมีแต่จะน้อยลง ซึ่งเป็นผลพวงมาจากระบบนิเวศที่ถูกทำลาย จึงเกิดแรงบันดาลใจที่อยากเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้

ทว่าด้วยเส้นทางชีวิตที่ถูกวางไว้ให้รับช่วงกิจการของครอบครัว ทำให้นณณ์ตัดสินใจเลือกเรียนวิชาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และ University of North Carolina Wilmington แทนที่จะมุ่งมั่นมายังสายที่สนใจโดยตรง

แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่เคยละทิ้งเรื่องปลาเลย นณณ์ยังตระเวนหาปลาแปลกๆ มาเลี้ยง เช่น ปลาคิลลี่ ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา โดยปลาตัวนี้พิเศษกว่าตัวอื่น เพราะแม่ปลาจะวางไข่อยู่ในดินใต้น้ำ พอถึงฤดูแล้ง น้ำแห้ง แต่ไข่ปลาก็ยังอยู่ในดินได้ต่ออีกนานหลายเดือน จนหน้าฝนต่อมาถึงค่อยฟักออกมา ครั้งนั้นนณณ์ศึกษาจริงจังถึงขั้นเพาะพันธุ์ขาย และมีลูกค้าจากทั่วโลกสั่งซื้อเข้ามา จนเขามีรายได้เลี้ยงตัวเองระหว่างอยู่เมืองนอกแบบสบายๆ

ต่อมาเมื่อเว็บไซต์ Pantip เปิดห้องจตุจักร เพื่อเป็นพื้นที่พูดคุยเรื่องสัตว์เลี้ยง ต้นไม้ งานฝีมือ งานเกษตร นณณ์ก็เข้าไปส่วนหนึ่งด้วย ทำให้มีโอกาสได้เจอคนคอเดียวกันเต็มไปหมด โดยนณณ์ได้นำความรู้ทางวิชาการที่ตัวเองค้นคว้า มาช่วยตอบคำถามสารพัดอย่าง ทั้งวิธีเลี้ยงสัตว์ รักษาโรค รวมถึงเขียนบทความเกี่ยวกับปลาชนิดต่างๆ

“ผมเข้าไปตอบเยอะมาก อย่างบางทีปลามันป่วย ป่วยเป็นโรคจุดขาว เราก็เข้าไปตอบว่า โรคจุดขาวเกิดจากอะไร รักษายังไง เขียนยาวเหยียดเลย สุดท้ายกระทู้ก็ตกหายไป สัก 2 อาทิตย์ก็มีคนมาถามใหม่อีกแล้ว แล้วที่เขียนไว้มันไปไหน”

เมื่อไม่สามารถจัดการข้อเขียนของตัวเองได้ นณณ์จึงคิดว่า อาจถึงเวลาที่ต้องมีพื้นที่ของตัวเอง

หลังเรียนจบจากสหรัฐอเมริกา จึงมารวมกลุ่มกับเพื่อนที่สนใจเรื่องปลากับต้นไม้น้ำอีก 3-4 คน เปิดตัวเว็บไซต์ Siamensis เพื่อรวบรวมบทความเรื่องธรรมชาติวิทยา รวมถึงแลกเปลี่ยนและพูดคุยถึงภาพถ่ายสัตว์และพืชที่น่าสนใจ

นี่คือก้าวแรกของหนึ่งในเครือข่ายความรู้เรื่องธรรมชาติวิทยาที่ใหญ่สุดของประเทศ

ภาพจาก Facebook: Nonn Panitvong (ดร.นณณ์)

ชุมนุมคนรักธรรมชาติ

Siamensis เปิดตัวเมื่อปี 2544 โดยชื่อนี้เป็นภาษาลาติน หมายความว่า ‘พบในประเทศไทย’ และที่ผ่านมาก็ถูกใช้เป็นเป็นคำเรียกเวลามีการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้กับสิ่งมีชีวิตที่พบในเมืองไทย

ที่นี่มีสมาชิกหลายวัย หลายอาชีพ หลายสถานภาพ ตั้งแต่ข้าราชการ เอ็นจีโอ อาจารย์ นิสิตนักศึกษา รวมถึงบุคคลทั่วไปที่สนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว และอยากเริ่มต้นอนุรักษ์ธรรมชาติ

หลักคิดอย่างหนึ่งของ Siamensis คือ ‘ถ้าไม่รู้จัก ก็ไม่รักกัน’ ซึ่งเป็นคำพูดของนักอนุรักษ์ชาวเซเนกัลคนหนึ่ง ที่มองว่า คนเราจะอนุรักษ์แต่สิ่งที่เรารู้จัก แล้วเราจะรู้จักอะไรก็ต่อเมื่อเราเข้าใจ และเราจะเข้าใจได้ก็ต่อเมื่อมีคนสอนเรา

เพราะฉะนั้น ที่นี่จึงกลายเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลข่าวสารต่างๆ ในแวดวงธรรมชาติวิทยา ตั้งแต่ บทความวิชาการที่อ่านเข้าใจง่าย ดัชนีสิ่งมีชีวิตซึ่งรวบรวมภาพและข้อมูลของสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย โดยพวกเขาตั้งใจให้เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติออนไลน์ที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศ คลังเอกสารหรือห้องสมุดออนไลน์ ซึ่งแบ่งปันเอกสารที่น่าสนใจ ทั้งรายงานทางวิชาการ แผ่นพับ วารสาร โปสเตอร์

สุดท้ายคือ เว็บบอร์ด ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามาแลกเปลี่ยนความเห็น ข้อสงสัย จนเกิดการต่อยอดไปสู่กิจกรรมสำรวจธรรมชาติตามพื้นที่ต่างๆ เช่น การสำรวจนกและความหลากหลายทางธรรมชาติวิทยาบนดอยอินทนนท์ รวมทั้งยังเป็นพื้นที่กลางในการเคลื่อนไหวรณรงค์เกี่ยวกับโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ที่สำคัญสมาชิกหลายคนจากที่นี่ยังกลายมาเป็นที่รู้จักของคนในสังคม ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์และพันธุ์พืช

สำหรับนณณ์แล้ว Siamensis ก็ไม่ต่างจากดินแดนที่เปลี่ยนชีวิตโดยสิ้นเชิง เพราะนอกจากจะพบเพื่อนฝูงที่มีความสนใจเหมือนกันเพิ่มเติม ยังช่วยขยายองค์ความรู้เกี่ยวกับสัตว์นานาพันธุ์รวมถึงระบบนิเวศวิทยาทางธรรมชาติอีกด้วย

“ตอนแรกเราเป็นแค่กลุ่มคนเลี้ยงปลาเลี้ยงพรรณไม้น้ำ แต่เวลาที่เราออกไปสำรวจปลาตามสถานที่ต่างๆ เราไม่ได้เจอแค่ปลา แต่ยังเจอกบ เจอแมลงปอ เจอผีเสื้อ เจองู เจออะไรต่างๆ แล้วเราก็ถ่ายรูปเก็บมาลงในเว็บไซต์ พอเราลงพวกนี้ กลุ่มคนที่ชอบสัตว์พวกนี้ก็ตามเข้ามา กลุ่มต้นไม้อะไรต่างๆ ก็ตามเข้ามา จน Siamensis กลายเป็นกลุ่มที่ใหญ่มากๆ

“อย่างพี่คนหนึ่งชื่อ คุณมนตรี สุมณฑา แกอยู่กรมประมง แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกระดับโลก ก็เข้ามาสอนพวกเราเรื่องงู เรื่องตุ๊กแก สอนจนเรามีความรู้สามารถออกเที่ยวด้วยตัวเอง ที่สำคัญบรรยากาศของ Siamensis มันเป็นธรรมชาติมาก ไหลไปของมันเรื่อยๆ แล้วคนที่เข้ามาคุยก็เป็นคอเดียวกันหมด บางคนคุยกันเป็นปีๆ ไม่เคยเจอตัวเลยก็ยังมี”

เกือบ 20 ปี Siamensis ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดกับวงการสิ่งแวดล้อมไม่น้อย ภาพสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่สมาชิกนำมาแบ่งปันหลายภาพทำให้เกิดการค้นพบสิ่งมีชีวิตพันธุ์ใหม่หลายสิบชนิด

ครั้งหนึ่งมีอาจารย์ที่จังหวัดหนองบัวลำภูพานักเรียนประถมไปเที่ยวน้ำตกแล้วพบปลาชนิดหนึ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน จึงนำมาโพสต์ถามบนเว็บบอร์ดของ Siamensis หลังจากทุกคนช่วยกันตรวจสอบแล้วพบว่า ปลาชนิดนี้ไม่เคยถูกพบในเมืองไทยมาก่อนเลย หรือสมาชิกคนหนึ่งที่ศึกษาค้างคาวในถ้ำ ก็ถ่ายรูปตุ๊กกายติดมาด้วย ปรากฏว่าเป็นตุ๊กกายชนิดใหม่ของโลก

แม้วันนี้เว็บไซต์ Siamensis อาจไม่คึกคักเหมือนแต่ก่อน เนื่องจากสมาชิกกว่า 30,000 ชีวิตหันไปสังสรรค์และพูดคุยในกลุ่ม siamensis.org บนเฟชบุ๊คเป็นหลัก แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า หากวันนั้นไม่มีเว็บไซต์ บางทีองค์ความรู้ทางด้านธรรมชาติก็คงไม่ได้แพร่หลายอย่างทุกวันนี้

ที่สำคัญคืออาจไม่มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาน้ำจืดที่ชื่อนณณ์เกิดขึ้นมาก็เป็นได้

ภาพจาก Facebook: Nonn Panitvong (ดร.นณณ์)

จากคนรักปลา สู่ ดร.ปลา

นอกจากเป็นผู้จุดประกาย Siamensis แล้ว ความคลั่งไคล้เรื่องปลา ยังทำให้ชายผูู้นี้ผลักดันตัวเองไปสู่การเป็นนักอนุรักษ์ได้สำเร็จ ตามที่ตั้งใจไว้

“ผมเป็นมนุษย์ประหลาด” นณณ์กล่าวขึ้นพร้อมเสียงหัวเราะ

ครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นบรรณาธิการ AQUA นิตยสารปลาสวยงามที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งของเมืองไทย

“เมื่อก่อนสมัยเด็กๆ มีนิตยสารปลาสวยงามชื่อ AQUARIUM เป็นนิตยสารภาษาไทย ซึ่งผมชอบมากเลย ยังจำได้แม้กระทั่งตอนที่แม่ถือหนังสือเล่มแรกมายื่นให้ บอกว่าซื้อมาให้เห็นว่าน่าจะชอบ แต่เล่มนี้อยู่ไม่นานก็เจ๊งไป แล้วก็มีอีกเล่มชื่อ AQUA MAG มันก็กลายเป็นแรงบันดาลใจของเราเรื่อยมา

“พอเรียนจบกลับมาจากอเมริกา ก็มีเพื่อนคนหนึ่งทำนิตยสารแล้วขอให้ช่วยมาเขียน เขียนไปเขียนมาไม่รู้ท่าไหนก็กลายเป็นผู้ร่วมหุ้น เป็นบรรณาธิการ ทำอยู่หลายปี จนถึงจุดที่ดิจิทัลเริ่มเข้ามาแทนสิ่งพิมพ์ การแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ เราก็เลยเลิกดีกว่า”

สำหรับนณณ์แล้ว การทำนิตยสารก็ไม่ต่างจากการคืนความรู้สู่สังคม เพราะที่ผ่านมา เขาได้รับความรู้จากบรรดาเพื่อนฝูงในเว็บไซต์ Siamensis เยอะมาก และถ้าเป็นไปได้ก็อยากจุดประกายความฝันให้แก่เด็กๆ 4-5 คนหันมาสนใจเรื่องนี้ ก็คงเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก

หากแต่นณณ์รู้ดีว่านั่นคงไม่เพียงพอ ถ้าอยากเริ่มต้นขับเคลื่อนงานด้านนี้จริงๆ เพราะสิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กัน คือความรู้สายตรง

พอดีเพื่อนที่คุ้นเคยกัน แนะนำว่าวิทยาลัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดรับนิสิตปริญญาเอกโดยไม่จำเป็นต้องสอบข้อเขียน แต่ใช้วิธีเสนอโครงงานที่น่าสนใจเพื่อไปทำเป็นวิทยานิพนธ์ นณณ์จึงตัดสินใจสมัครเรียน

“เรียกว่าข้ามสายมาเลย โชคดีที่พ่อแม่ก็ไม่ได้ปิดกั้น เพียงแต่ถามว่ามีเวลาไปเรียนเหรอ ผมก็บอกว่า ผมชอบ ผมเรียนได้ แต่ต้องปรับตัวเยอะมาก เพราะระบบมหาวิทยาลัยไทยต้องทำนู่นทำนี่ตลอดเวลา ผมเรียนอยู่ 6 ปี เข้าใจว่าโดนคัดชื่อออกไป 2 หน เพราะว่าลืมลงทะเบียน

“ตอนยื่นหัวข้อทำวิทยานิพนธ์ ก็โดนทักว่ายังไม่ขออนุญาตชื่อหัวข้อเรื่องเลย คือเราไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง แม้แต่วันที่ต้องเรียงหน้าวิทยานิพนธ์ ต้องเว้น 1.25 นิ้ว กว่าจะเรียงถูกใช้เวลานานมาก วันที่ไปส่งตัวเล่ม น้องที่รับ เขาชักไม้บรรทัดขึ้นมาทำท่าจะวัดแล้ว ผมเลยบอกว่า ‘น้องครับ ผมส่งไป 3 รอบแล้ว อย่าให้ผมไม่จบเพราะไม้บรรทัดเลย’ เขาก็ยิ้มแล้วเก็บไป ก็จบมาได้ด้วยความสนุกสนาน”

แม้ชีวิตการเรียนปริญญาเอกอาจไม่ได้เปลี่ยนชีวิตเหมือนตอนทำเว็บไซต์ แต่ก็ช่วยเรื่องกระบวนการคิดอย่างมาก นณณ์เข้าใจถึงความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตแต่ละอย่างลึกซึ้งมากขึ้น เพราะทุกอย่างต่างเชื่อมโยงและเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน

อย่างโครงการที่หลายคนคิดว่าดี อาจมีข้อเสียและกลายเป็นโทษ หากดำเนินการผิดที่ ผิดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อน สร้างฝาย ปลูกป่า หรือแม้แต่การปล่อยปลา

“ปลาอะไรควรปล่อยตรงไหนอย่างไร เราต้องรู้ อย่างปลาช่อนเป็นปลาล่าเหยื่อขนาดใหญ่ จึงไม่อยู่รวมกันในบ่อเยอะๆ หลายตัว เพราะอาหารจะไม่พอ เวลาเราไปเหมาปลาในตลาดแล้วเทโครมลงไปในที่หนึ่ง มันจึงเกิดปัญหาขึ้น และถ้าสังเกตเวลาตกปลาช่อน จะรู้ว่ามันอยู่ตามชายน้ำ ตามบ่อ หากไปปล่อยตามท่าน้ำเจ้าพระยา หรือแม่น้ำโขง ก็อยู่ไม่ได้”

หลังเรียนจบ นณณ์นำความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมาทั้งชีวิตมาถ่ายทอดสู่สังคม โดยประเด็นที่สนใจเป็นพิเศษคือ ระบบนิเวศของแหล่งน้ำจืดที่นับวันจะยิ่งเสื่อมโทรมลงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะถ้าสังเกตจะพบว่า ปลาเริ่มขาดแคลนไปเรื่อยๆ แม้แต่ในตัวเมืองอุบลฯ ซึ่งติดทั้งแม่น้ำโขง แม่น้ำมูล ก็ยังต้องนำเข้าจากกัมพูชา

ปัจจัยสำคัญก็เป็นเพราะองค์ความรู้เรื่องเกี่ยวกับเรื่องปลาและแหล่งน้ำจืดของคนไทยมีน้อยมาก ที่สำคัญคือภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนไทยเองก็ไม่ได้รับการสืบต่อเท่าที่ควร

เหตุการณ์หนึ่งที่เขามักเล่าอยู่เสมอคือ เพื่อนคนหนึ่งกลับบ้านที่นครสวรรค์ แม่ก็เลยทำแกงส้มให้กิน ด้วยความสงสัยว่า แม่ใช้ปลาอะไรทำ เพราะหน้าตาดูประหลาดแต่รสชาติอร่อย แม่จึงบอกว่า ปลาแป้นยักษ์ หรือปลาข้าวเม่า แต่ฝ่ายลูกไม่เชื่อ จึงสอบถามมากลุ่ม Siamensis ซึ่งก็ได้รับคำตอบเดียวกัน

“ความจริงๆ แม่เขารู้เยอะกว่าเราอีก คือรู้ว่ามาในฤดูกาลไหน จับด้วยเครื่องมือประมงอะไร ทำอะไรกินถึงอร่อย แต่ความรู้เหล่านี้พอข้ามเจเนอเรชันก็หายไปหมดเลย เพราะมันไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์”

เพราะฉะนั้น หากเป็นไปได้ก็อยากส่งเสริมให้คนหันมาเรียนรู้และเข้าใจระบบนิเวศมากขึ้น อย่างน้อยๆ ปลาที่กินอยู่เป็นประจำ 10-20 ชนิด ก็ควรจะรู้จักให้ดีขึ้นกว่านี้ เพื่อเป็นพื้นความรู้ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่อไปในอนาคต

หากถามว่าสูญพันธุ์แล้วเป็นอย่างไร ก็คงเหมือนเราปิดตาเล่นเจงก้า สูญพันธุ์ไป 1-2 ชนิดก็คงไม่เป็นไร แต่ต้องมีสักตัวที่ทำให้ล้มทั้งระบบ

นณณ์ ผาณิตวงศ์ : คนบ้าปลา ผู้สร้าง Siamensis.org
ภาพจาก Facebook: Nonn Panitvong (ดร.นณณ์)

เรื่องสำคัญที่คนมองไม่เห็น

จากความทุ่มเทเพื่อวงการสิ่งแวดล้อมมาตลอดสิบกว่าปี ทำให้นณณ์กลายมาเป็นนักวิชาการเรื่องปลาน้ำจืดแถวหน้า และในปี 2560 เขายังได้รับเสนอชื่อให้รับรางวัล ASEAN Biodiversity Heroes เป็นคนแรกของเมืองไทย

“รางวัลที่ผมได้รับผู้ที่เสนอคือ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งผมกับ สผ. เรามีความสัมพันธ์ที่หลากหลายมาก เช่นวันหนึ่งผมก็เป็นผู้เชี่ยวชาญอยู่ในคณะกรรมการพื้นที่ชุ่มน้ำ นั่งอ่าน EIA ให้คนที่ส่งเรื่องเข้ามาขออนุมัติก่อสร้าง คอยให้ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ อีกวันผมเป็นผู้ประกอบการยื่นแบบให้ สผ.พิจารณาเรื่อง EIA พออีกวันผมเป็นเอ็นจีโอต่อต้าน EIA ของ สผ.

“คำถามคือคุณจะอยู่ในสังคมนี้ได้อย่างไร เมื่อคุณไม่ได้เลือกข้างเลย แต่ผมทำได้เพราะยึดสิ่งที่อาจารย์สอน คือความถูกต้อง ข้อดีอย่างหนึ่งของวิทยาศาสตร์คือ ไม่ว่าคุณจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่มันคือความจริง ถ้าเรายึดตรงนี้ไว้ มันคือความน่าเชื่อถือ ต่อให้เราอยู่ฝั่งไหน เราก็ยังเป็นคนที่น่าเชื่อถือได้”

หากแต่นณณ์ตระหนักดีว่า สิ่งที่เขาเคลื่อนอยู่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะแม้หลายเรื่องจะเป็นสิ่งที่ผู้คนคุ้นเคย แต่แทบไม่มีใครที่มองเห็นความสำคัญอย่างจริงจัง

ตัวอย่างเช่นปลา เชื่อหรือไม่ยังมีคนอีกไม่น้อยที่มองว่า ปลาชนิดไหนๆ ก็เหมือนกันหมด ทำให้การรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่เคยสำเร็จเลย เช่นกรณีเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งถูกพูดถึงเฉพาะในกลุ่มนักวิชาการกับเอ็นจีโอ ทั้งที่เป็นโครงการซึ่งสร้างผลกระทบในวงกว้าง เนื่องจากสร้างกั้นแม่น้ำสายหลักอย่าง แม่น้ำโขง รวมทั้งยังกีดขวางการวางไข่ของปลาเฉพาะถิ่นหลายชนิด จนมีโอกาสสูญพันธุ์ได้

“ผมมักยกตัวอย่างเกมเจงก้า ที่เอาไม้มาวางพาดๆ แล้วก็ดึงทีละอัน ถ้าดึงให้ถูกอันมันก็ยังอยู่ได้ แต่ถ้าเราดึงไปถึงชิ้นสำคัญ มันก็ล้ม หากถามว่าสูญพันธุ์แล้วเป็นอย่างไร ก็คงเหมือนเราปิดตาเล่นเจงก้า สูญพันธุ์ไป 1-2 ชนิดก็คงไม่เป็นไร แต่ต้องมีสักตัวที่ทำให้ล้มทั้งระบบ อย่างที่ภาคเหนือ มีลำธารขนาดเล็กสายหนึ่ง แล้วชาวบ้านก็จับปลาจนหมด ตัวคุ่นที่มันดูดเลือดคน ตอนเด็กมันอยู่ในน้ำ พอไม่มีปลากิน มันก็เพิ่มจำนวนแล้วไปรบกวนชาวบ้าน รบกวนสัตว์ นี่เป็นผลที่ชัดเจนว่าสูญพันธุ์ไปกระทบอย่างไร”

นี่จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลว่าทำไม เขาถึงเริ่มโครงการจัดทำหนังสือ ‘ปลาน้ำจืดไทย A Photographic Guide to Freshwater Fishes of Thailand’ เพื่อให้คนไทยได้รู้จักและเข้าใจปลาพันธุ์ไทยที่มีกว่า 800 ชนิด

นณณ์ใช้เวลาเก็บเล็กผสมน้อย รวบรวมทั้งข้อมูลและภาพถ่ายมานานเกือบ 2 ทศวรรษ โดยเขาตั้งให้ภาพทั้งหมดยังเป็นปลาที่ยังมีชีวิต เพื่อทำให้ผู้อ่านรู้สึกมีความสุขที่ได้เปิดหนังสือมากที่สุด จึงจำเป็นต้องเดินสายไปทั่วประเทศ เพื่อถ่ายรูป จนบางครั้งก็เกิดอุบัติเหตุ ต้องพักนานอยู่ครึ่งปี แถมยังต้องค้นภาพค้นข้อมูลเก่าจากนิตยสารอายุ 30-40 ปี กระทั่งได้ภาพปลาหายากมาไว้ในมือเป็นจำนวนมาก

“ตอนที่เราเริ่มสำรวจปลาใหม่ๆ ก็จะมีหนังสือของอาจารย์ชวลิต วิทยานนท์ อยู่เล่มหนึ่ง ไปไหนก็พกติดตัวไปทั่ว แล้วเวลาเจอชาวบ้านเราก็เปิดให้เขาดู เพราะเวลาหาปลาอะไรดูภาพ มันง่ายที่สุดแล้ว ทำให้เราก็เลยมีความฝันว่าสักวันหนึ่งอยากทำหนังสือที่มีปลาไทยครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดให้ได้ เลยเก็บมาเรื่อยๆ เจอชนิดไหนก็ถ่ายภาพเก็บไว้

“ความจริงใครต้องการภาพปลาพวกนี้ นั่งเฝ้าอยู่ที่จตุจักรสัก 4-5 ปี ก็จะได้ภาพสัก 70-80% ส่วนที่เหลือคือตัวยาก เราต้องมานั่งอ่านว่าตัวนี้อยู่ไหน เปิด Google Map อ่านรายงาน EIA ตอนสร้างเขื่อน ลุ่มน้ำนี้เป็นยังไง ระบบนิเวศเป็นแบบไหน บางทีแบบหมายได้มาเป๊ะๆ เลย ไปถึงไม่มีสักตัวเลย เจอแต่หมาเน่าลอยอยู่ บางทีก็ต้องตากแดดอยู่กับชาวประมง 2 วันไม่เจอ ขับรถกลับถึงบ้าน เขาโทรกลับมาได้แล้ว คือทางบ้านเขาจะแซวว่า มันไม่มีวันคุ้มเลยหนังสือเล่มนี้”

แต่ถึงอย่างนั้น นณณ์ก็ตั้งใจทำหนังสือออกมาให้สมบูรณ์สุด เพราะสิ่งที่เขาฝันมากกว่า คือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เหมือนที่เคยเกิดขึ้นใน Siamensis โดยเฉพาะเยาวชนหรือคนที่เพิ่งมาสนใจเรื่องนี้ ให้รู้ว่าโลกใบนี้ยังมีอะไรให้เรียนรู้อีกมากมาย
.
เพราะบางทีอาจนำไปสู่การถือกำเนิดของนักอนุรักษ์รุ่นใหม่ขึ้นในสังคมไทยก็เป็นได้..ใครจะรู้

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • สัมภาษณ์ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ วันที่ 25 พฤษภาคม 2563
  • เว็บไซต์กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม (siamensis.org)
  • รายการอิฐก้อนแรก ตอนที่ 30 นณณ์ ผาณิตวงศ์ siamensis สารานุกรมธรรมชาติที่มีชีวิต สถานีโทรทัศน์ Thai PBS
  • นิตยสารแพรว ปีที่ 35 ฉบับที่ 822 วันที่ 25 พฤศจิกายน 2556
  • บทความเรื่อง “Siamensis.org”…โซเชียลเน็ตเวิร์กกับบทบาท “การอนุรักษ์” โดยศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช.

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.