“จะเป็นอย่างไรถ้าไม่มีต้นไม้ซักต้น ไม่พบแม้แต่ตะไคร่น้ำ..”
28 ปีที่แล้ว ตอนที่วงเฉลียง เปิดตัวอัลบั้ม ตะไคร่น้ำสุดขอบฟ้า หลายคนแปลกใจที่คนหนุ่มกลุ่มนี้เลือกพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านบทเพลงต่างๆ แทนที่จะเป็นเรื่องความรักเหมือนกับวงอื่นๆ
แม้ไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้มากนัก แต่สำหรับคนฟังเพลง นี่คือหนึ่งอัลบั้มในตำนาน เพราะน่าจะเป็นคอนเซปต์อัลบั้มชุดแรกที่พูดถึงสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์อย่างจริงจัง
ประภาส ชลศรานนท์ ผู้บริหารของเวิร์คพอยท์ ตัวหลักในการเขียนเพลงของอัลบั้มนั้น เคยบอกไว้ว่า เขาได้รับแรงบันดาลใจเรื่องธรรมชาติมาจากอาจารย์ท่านหนึ่ง ชื่อ แสงอรุณ รัตกสิกร
แสงอรุณสอนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงปี 2490-2522 ความคิดของเขาไม่เพียงส่งอิทธิพลต่อประภาสและวงเฉลียง แต่ชายคนนี้ส่งต่อความรักธรรมชาติไว้ให้คนรอบตัวและลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมาก ทั้งที่ในยุคนั้นกระแสอนุรักษ์ธรรมชาติยังไม่แรงเท่าทุกวันนี้
เขาเคยเขียนข้อความหนึ่งเมื่อกว่า 50 ปีก่อน ซึ่งยังทรงพลังมาจนถึงปัจจุบัน
“..ขอภาวนาและอธิษฐานว่าชาติหน้า ขออย่ามาเกิดเป็นคนในแผ่นดินที่ไร้ป่าไม้ ไร้แม่น้ำลำธารที่สะอาด
“แผ่นดินที่ชอุ่มด้วยพันธุ์ไม้ใหญ่น้อย ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล คนมีเมตตาแม้ต่อไส้เดือน กิ้งกือ ข้าพเจ้าขอเกิดในแผ่นดินนั้น แม้ว่าจะต้องอยู่ในรูปสุนัข”
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาไปรู้จักกับ ‘อาจารย์แสง’ ผู้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความรักธรรมชาติลงในใจของลูกศิษย์ และจากไปก่อนจะได้เห็นผลลัพธ์ว่าวันหนึ่ง เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นได้เติบโตแตกกิ่งก้าน ให้ร่มเงาและความชุ่มเย็นกับผู้คนมากมาย
มีคนจำนวนไม่น้อยมองว่าแสงอรุณเป็นคนแปลกๆ
เล่ากันว่า วันแรกที่เรียนวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ นิสิตสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ปี 1 ที่ไม่รู้จักอาจารย์แสงอรุณมาก่อน พอเจอเจ้าหน้าที่ฉายสไลด์แต่งตัวเนี้ยบเดินเข้ามาในห้อง ก็ลุกขึ้นยืนทำความเคารพเพราะนึกว่าคืออาจารย์ แต่พอเห็นคนใส่เสื้อเหมือนทหารมายืนที่หน้าชั้น กลับไม่มีใครลุกขึ้นเพราะนึกว่าคือนักการภารโรง จนอาจารย์แสงเริ่มสอนนั่นล่ะ ถึงรู้ว่าเข้าใจผิด
ยุคที่อาจารย์คนอื่นแต่งตัวเรียบร้อย อาจารย์คนนี้กลับไว้ผมปรกต้นคอ หนวดเครารุงรัง ใส่แว่นตาดำ สวมเสื้อหนังเก่าๆ ไม่ผูกเน็กไท ขับรถรถจี๊ปเปิดประทุนมาสอนหนังสือที่คณะ เพราะแสงอรุณเป็นคนมีอารมณ์ศิลปิน รักอิสระ และชอบเป็นตัวของตัวเอง ถ้าไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน
เคยมีบางคนหาว่าแต่งตัวไม่สมกับสถานะอาจารย์ เขารับฟังและย้อนกลับไปเรียบๆ ว่า “คุณไปบอกอาจารย์พวกนั้นให้มาทำงานตรงเวลาดีกว่า!”
“พวกคุณไม่ต้องไม่ต้องทำความเคารพผม ไม่ต้องยกมือไหว้ผม เพราะผมไม่สนใจ สาระอยู่ที่เรียน” คำพูดของอาจารย์สะท้อนถึงแนวคิดที่ไม่ยึดติดกับรูปลักษณ์หรือสถานะได้เป็นอย่างดี
ไม่ใช่เพียงบุคลิกภายนอกที่แตกต่าง วิธีการสอนของเขาก็ไม่เหมือนใคร
อาจารย์แสงไม่ชอบการวาดรูปในห้องเรียน มักพานิสิตออกไปทำกิจกรรม ‘ศิลป์สัญจร’ วาดรูปตามสวนสาธารณะ วัดวาอารามต่างๆ บางครั้งก็ไปต่างจังหวัด เวลาอันระทึกใจคือตอนตรวจการบ้าน เพราะอาจารย์จะวิจารณ์งานทีละชิ้น ด้วยฝีปากอันคมกริบดังใบมีดโกน ทำให้ทุกคนต้องเร่งพัฒนาตัวเองโดยปริยาย หากไม่อยากโดนเชือดต่อหน้าเพื่อนๆ
ถ้าใครไม่ตั้งใจทำงานมา อาจารย์ก็จะเอาผลงานมาขยี้ๆ วางแล้วเอาเท้าเหยียบ นักเรียนร้องไห้กันเป็นแถว บางคนอาจมองว่าใจร้าย แต่อาจารย์ก็จะสอนว่าหากจะเรียนสถาปัตย์ไม่ควรเหลาะแหละ ถ้าจะทำอะไรให้ดีต้องตั้งใจ เอาพลังในตัวออกมาสร้างสรรค์งาน
ในวิชาสถาปัตยกรรมไทย แทนที่จะเรียนตอนกลางวัน เขาก็นัดลูกศิษย์ไปแลกเชอร์ที่โบราณสถาน ในอยุธยาตอน 4-5 ทุ่ม อาจารย์บอกว่าจะเรียนสถาปัตยกรรมอยุธยาต้องเรียนกลางคืน เพราะสมัยนั้นยังไม่มีแสงไฟนีออน หลังจากนั้นก็ขยายไปสุโขทัย กำแพงเพชร พิมาย พนมรุ้ง
หรืออย่างวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะที่ต้องท่องจำ แต่อาจารย์ก็สอนได้สนุก โดยใช้วิธีเล่าให้ฟังจากสไลด์ภาพที่ถ่ายเก็บไว้จากการเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลก ที่สำคัญคือเขาเน้นย้ำให้ลูกศิษย์เรียนด้วยความเข้าใจในคุณค่าของศิลปะ ต้องดูออกว่าภาพเขียนสวยอย่างไร ทำไมศิลปินจึงสร้างสรรค์งานออกมาเช่นนี้ ศิลปะตะวันตกกับตะวันออกต่างกันอย่างไร เมื่อเข้าใจถ่องแท้แล้วจะแสดงความคิดเห็นออกมาได้
เขามักมีสำนวนภาษาคมคายเป็นที่จดจำ เช่น ถ้าจะบอกว่าใหญ่มากก็จะใช้คำว่า ‘มหึมายักษา’ หรือเปรียบเปรยศิลปกรรมแบบโกธิกที่มักสร้างยอดสูงเสียดฟ้า ก็ว่า ‘สูงประหนึ่งสามารถเอามือไปเกาตีนพระเจ้า’
อาจารย์แสงอรุณยังพยายามเชื่อมโยงวิชาสถาปัตยกรรมกับศาสตร์แขนงอื่นๆ จึงเชิญผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ มาเปิดโลกทัศน์ให้กับนิสิต เช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์, ’รงค์ วงษ์สวรรค์, อังคาร กัลยาณพงศ์ เพราะเชื่อว่าคนที่เรียนศิลปะควรเข้าใจศาสตร์หลายด้าน ไม่ใช่แค่เขียนรูปหรือออกแบบอาคารเป็นอย่างเดียว
รศ.ดร.สันติ ฉันทวิลาสวงศ์ กล่าวถึงแก่นความคิดที่อาจารย์พยายามถ่ายทอด ว่า
“สิ่งที่อาจารย์สอนทำให้เราได้เข้าใจว่า การเป็นสถาปนิก ซึ่งแปลว่าผู้สร้าง ผู้สถาปนา มันเป็นผู้ใช้ทรัพยากร งานของเราเป็นงานที่สร้างอารยธรรมต่อความรู้สึกนึกคิดของคน เราจึงต้องมีความรู้ทางประวัติศาสตร์ ทางด้านศิลปะ ต้องมีความเข้าใจโลก เข้าใจมนุษย์ เข้าใจสิ่งที่เราสร้างว่ามีผลต่อคนยังไง อาจารย์จะสอนและเน้นเรื่องนี้ให้เราเข้าใจ”
แต่สิ่งที่หลายๆ คนได้รับอิทธิพลจากอาจารย์มากที่สุด คือเรื่องธรรมชาติ
แทบทุกวิชา อาจารย์แสงจะสอดแทรกข้อคิดให้นิสิตได้เห็นว่า ธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญต่องานสถาปัตยกรรม เพราะธรรมชาติสำคัญต่อชีวิตของมนุษย์ ดังนั้นสถาปัตยกรรมที่ดีควรอยู่ร่วมกับธรรมชาติ
“เมืองและต้นไม้ไม่อาจแยกกันได้ เพราะมนุษย์แม้จะออกไปนอกโลกได้ แต่ใจก็ยังรักที่จะเห็นสีเขียวของใบไม้อยู่เสมอ..
“บ้านกับต้นไม้ในประเทศเขตร้อนชื้นอย่างเราเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ได้ ความงามของต้นไม้น้อยใหญ่พื้นเมือง เป็นสิ่งที่ให้ความเป็นเฉพาะตัวแก่สถานที่ อาคารไม่ใช่พระเอกแต่ผู้เดียว บทบาทของต้นไม้จะต้องเข้ามาร่วมแสดงด้วย..”
อาจารย์แสงอรุณ น่าจะเป็นคนแรกๆ ที่ใช้คำว่า ‘ทรรศนะอุจาด’ หมายถึงมลภาวะทางสายตา ที่เห็นแล้วดึงจิตวิญญาณลงต่ำ อย่างเช่นเมืองที่ตึกสูงผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดแทนที่พื้นที่สีเขียว เต็มไปด้วยสายไฟฟ้าไร้ระเบียบ และป้ายโฆษณาขนาดใหญ่เกะกะสายตา
ในความคิดของเขา บ้านเรือนควรจะไม่ชิงดีชิงเด่นกัน ปลูกพืชสวนป่าแซมเมือง อาคารไม่สูงกว่ายอดไม้ ใช้วัสดุกลมกลืนกับธรรมชาติ ผลิตในท้องถิ่นถ้าเป็นไปได้
“ความร่มเย็นคือการให้ธรรมชาติเป็นพระเอก ไม่ใช่มนุษย์ ต้องปลูกต้นไม้น้อยใหญ่เช่นที่พวกมันเคยอยู่มาแต่แรก ธรรมชาติให้ภูมิประเทศแถบนี้เป็นแหล่งผลิตอากาศให้คนหายใจ อันนี้เราควรจะถือว่าเป็นคำสั่งสูงสุดจากธรรมชาติที่มนุษย์จะละเมิดมิได้ เมื่อเราทำลายป่าลงเพื่อการผลิตอาหาร เราก็ต้องทำอย่างประณีตรอบคอบและจะต้องรักษาสมดุลธรรมชาติที่กล่าวมานี้ไว้ตลอดเวลา..
“ความสงบเป็นสิ่งที่สำคัญแก่ชีวิตมนุษย์ ความสงบทางสายตามีความสำคัญเท่าๆ กับความสงบทางหูและทางกาย ความสงบทำให้ชีพจรของเราสม่ำเสมอ มีความปกติ รูปแบบของบ้านเมืองทั้งหมดควรวางเป้าหมายในทางไม่เร่งเร้าอารมณ์”
ความรักธรรมชาติของอาจารย์แสงน่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อเขายังเป็นเด็กหนุ่ม
นายแพทย์จำลอง มุ่งการดี เพื่อนคนหนึ่งเล่าว่า แสงอรุณรักชีวิตชนบท สมัยเรียนมัธยม 5-6 ทั้งสองมักไปเดินสูดไอดินหลังฝนตก แสงอรุณบอกว่ามันทำให้เขา ‘เบิกบาน อิ่มเอิบหัวใจ’
นิจ หิญชีระนันท์ เพื่อนสนิทของเขาเล่าว่า เมื่อครั้งเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ สหรัฐอเมริกา เวลาหิมะตกแสงอรุณจะสวมเสื้อสวมหมวกไปตากหิมะบ่อยครั้งเท่าที่มีโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังเรียนจบเมื่อเขาได้ฝึกงานกับ แฟรงค์ ลอย ไรท์ (Frak Lloyd Wright) ปรมาจารย์สถาปนิกชื่อก้องโลก ผู้รักธรรมชาติอย่างมาก ยิ่งทำให้ความรู้สึกนี้ซึมซับลงไปในใจ
แฟรงค์ ลอย ไรท์ เป็นเจ้าของงานแนว Organic Architecture หรือ สถาปัตยกรรมที่ยึดธรรมชาติเป็นศูนย์กลาง ชิ้นที่มีชื่อเสียง เช่น บ้านน้ำตก (Fallingwater house) ซึ่งเป็นอาคารตั้งอยู่กลางน้ำตกจริงๆ
แสงอรุณมาฝึกงานที่ทาไลซีน บ้านฤดูร้อนของไรท์ในรัฐวิสคอนซิน เขาต้องทำนา ปลูกข้าว ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ เพื่อเก็บเกี่ยวกินไปพร้อมๆ กับศึกษาสถาปัตยกรรม เขาได้เรียนรู้ว่าไรท์ออกแบบทาไลซีนเพราะเห็นความงามของธรรมชาติที่ห้อมล้อมที่แห่งนี้ แม้จะเป็นทะเลทรายที่เต็มไปด้วยความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว กลางวันร้อนจัด กลางคืนหนาวจัด แต่ในฤดูใบไม้ผลิที่นี่มีบรรยากาศที่หอมหวาน เสียงนกฮูกและหมาป่าดังคมชัด ฟ้าใสสะอาดจนเห็นดาว การอยู่ในบรรยากาศเช่นนี้ทำให้ประสาทสัมผัสแหลมและคม
อาจด้วยอิทธิพลจากไรท์ ทำให้แสงอรุณเห็นความงามและรักธรรมชาติมากขึ้นไปอีก
บ้านของเขาสะท้อนความคิดนี้ ที่ซุ้มประตูปกคลุมด้วยเถาลดาวัลย์ ในฤดูหนาวจะให้กลิ่นที่เยือกเย็น ข้างๆ มีชมนาด ที่มีกลิ่นหอมเหมือนข้าวกรุ่นทั้งคืนทั้งวัน
ที่รั้วบ้านมีต้นไม้ขึ้นตรงเขตที่ดินพอดี อาจารย์ก็ไม่ยอมให้ตัด แต่ยอมถอยรั้วเสียพื้นที่บ้านเพื่อหลีกต้นไม้ เพราะเห็นว่าต้นไม้เป็นสิ่งที่มีค่า
ลดา รัตกสิกร ภรรยาคู่ชีวิตของเขาเล่าว่า หลายครั้งที่แสงอรุณจะมารับแล้วพานั่งรถไปตามทางหลวงเพื่อดูต้นไม้สองข้างทางตั้งแต่บางปะอินไปถึงอุทัยธานี เขารู้จักต้นไม้เหล่านี้แทบทุกต้นเพราะดูอยู่หลายปี บางครั้งก็เลี้ยวลงข้างทางเพื่อแวะเยี่ยมต้นไม้ที่อยู่ลึกเข้าไป ถ่ายรูปเก็บไว้ทุกระยะ ตั้งแต่สลัดใบจนถึงผลัดใบใหม่ ทั้งในยามเช้าตรู่และพลบค่ำ
ครั้งหนึ่งเดินทางผ่านเพชรบูรณ์มีการเผาป่าข้างทาง แสงอรุณหยุดถ่ายรูปพร้อมด้วยน้ำตาซึ่งหยดลงด้วยความเสียดาย
หรือตอนที่เขาผ่านไปที่แห่งหนึ่งในภาคเหนือ แล้วพบว่าชาวบ้านกำลังจะโค่นต้นไม้ขนาดใหญ่หลายคนโอบสองต้น แสงอรุณก็ควักเงินเพื่อขอซื้อที่ดินเพื่อรักษาชีวิตต้นไม้ทั้งคู่เอาไว้
“คุณจะเอาแบงค์ห้าร้อยเป็นฟ่อนๆ มารดน้ำให้มันไม่ได้ เร่งมันไม่ได้ทันใจนึกหรอก มันมีชีวิต ย่อมต้องการเวลาที่จะเติบโต.. ไม้บางชนิดต้องใช้เวลาเป็นครึ่งศตวรรษ ความงามและสง่างามราศีของมันจึงจะปรากฏให้เห็น”
แม้ในวาระสุดท้ายของชีวิต แสงอรุณยังปรารถนาจะอยู่กับสิ่งที่เขารัก ดังที่เคยบอกกับภรรยาว่า ถ้าตายไปให้ช่วยนำร่างของเขามาฝังในป่าที่ร่มรื่นและสงัดสงบ
พวกคุณไม่ต้องไม่ต้องทำความเคารพผม ไม่ต้องยกมือไหว้ผม เพราะผมไม่สนใจ สาระอยู่ที่เรียน
แม้แสงอรุณจะมีผลงานทางสถาปัตยกรรมไม่มากนัก หนึ่งในนั้นคือการออกแบบสวนหย่อมรัฐสภาซึ่งถูกคนไม่เห็นค่าปรับเปลี่ยนจนไม่เหลือเค้าเดิมแล้ว แต่บทความทางสถาปัตยกรรม-ผลงานทางความคิดของเขา ที่ได้รับการรวบรวมไว้เป็นหนังสือ ตึก ต้นไม้ และแสงอรุณ โลกทัศน์ของสถาปนิก, แสงอรุณแห่งสถาปัตยกรรม ก็ยังตีพิมพ์ซ้ำอยู่เรื่อยๆ
มีทั้งบทความเกี่ยวกับสิ่งที่เขาเรียนรู้จากปรมาจารย์แฟรงค์ ลอย ไรท์ ความงามของทัชมาฮาล สวนหินที่โดอันจิ คุณค่าของบ้านไทยเดิม ศิลปกรรมชาวบ้าน การใช้พืชท้องถิ่นประดับเมือง ทรรศนะอุจาด ฯลฯ ทั้งหมดล้วนสะท้อนว่า การออกแบบสถาปัตยกรรมและสิ่งแวดล้อมที่ดีจะช่วยยกระดับจิตใจของมนุษย์
เขาเห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านี้ จึงพยายามถ่ายทอดออกมาให้คนอื่น โดยเฉพาะคนใกล้ชิด และลูกศิษย์ เป็นเหมือนการหว่านเมล็ดพันธุ์ความรักในธรรมชาติลงในใจคน ซึ่งรอวันเติบโตงอกงาม
“พ่อเป็นคนพิเศษ เกิดเป็นลูกพ่อจึงเป็นประสบการณ์พิเศษเหมือนกัน หน้านาพ่อพาขับรถออกไปนอกเมืองจึงได้รู้ว่าดอกข้าวนั้นมีกลิ่นหอม บางคืนพ่อเปลี่ยนที่กินข้าว ขึ้นไปนั่งตากยุงกันบนนอกชานเพื่อดูพระจันทร์ส่องลอดกิ่งทองหลางลงมา พ่อใช้เวลาครึ่งวันขับรถไปต่างจังหวัดที่คนอื่นเขาไปถึงได้ในเวลา 2-3 ชั่วโมง เพราะว่าจอดที่โน่นที่นี่เกือบตลอดทาง ตรงนี้ร่มรื่นเย็นดี ตรงนั้นต้นไม้สวย ตรงโน้นอาหารอร่อย ชวนชมชวนชิมไปเรื่อยๆ มีชีวิตร่วมกับพ่อเป็นกำไร พ่อไม่เคยปล่อยให้อะไรผ่านล่วงลับไปเฉยๆ” ชูมาน ถิระกิจ บุตรสาว เขียนถึงอาจารย์ไว้ในหนังสือที่ระลึกงานศพ
หรือตอนที่ รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ อาจารย์แสงก็เขียนจดหมายกำชับว่า
“ชีวิตของคุณยังมีเวลาอีกมาก ดูโลกให้กว้างละเอียด อะไรที่จะทำให้ใจเราสะอาดสุนทรขึ้น ปิติ สงบ ก็ควรแสวงหาเข้าไว้ การศึกษาไม่ใช่เฉพาะเจาะจงเฉพาะที่คุณได้เรียนเท่านั้น การเข้าใจสภาพบ้านเมือง ชีพจรของธรรมชาติแวดล้อมเหล่านี้ สามารถเป็นส่วนการเรียนและทำให้ปัญญาของเราแตกงอกงามด้วย
“ถ้าคุณละเลยในสิ่งที่ผมพูดมาแต่ต้นนี้ คุณกลับมาก็จะจมปลักกับทรรศนะอุจาดที่เกิดขึ้นเต็มเมืองของเราขณะนี้ แล้วคุณก็จะท้อและรันทดใจ แต่ถ้าคุณเห็นและรับความงามอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติที่นี่ไว้ได้มาก ได้แนบแน่น มันก็จะเป็นพลังที่จะปลอบประโลม ในขณะที่จิตของคุณท้อแท้ ก็บอกกันมาเพียงแค่นี้ ขอให้แข็งแรงทั้งกายและใจ”
อาจารย์แสงจากไป ด้วยโรคหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2522 ขณะอายุได้ 56 ปี อย่างไรก็ตามมีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมากที่รับอาสาสานต่อแนวคิดนี้
นอกจากนำไปใช้ในการงานของตนเองแล้ว บรรดาลูกศิษย์ยังร่วมกันก่อตั้ง ‘มูลนิธิสานแสงอรุณ’ เพื่อทำงานสนับสนุนและสร้างสรรค์กิจกรรมที่ประสานเชื่อมโยงทั้งในด้านธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม และพุทธิปัญญา นำไปสู่สุขภาวะและความสมดุลในวิถีการดำเนินชีวิต
“พวกเราที่จบสถาปัตย์กันมา มีความคิดอ่าน มีอุดมการณ์ มีคติมีจิตวิญญาณขบถ เพราะมีอาจารย์แสงอรุณเป็นแรงบันดาลใจ อาจารย์แสงอรุณเป็นครูที่ดีมากๆ ซึ่งหาได้ยาก เป็นครูที่ทำให้ลูกศิษย์มีแรงบันดาลใจ คิดอะไรดีๆ ซึ่งผมคิดว่าสำคัญ คนแบบนี้มีบทบาทต่อความคิดอ่านของคนอื่น
“ท่านเคยออกหนังสือ อนาคต เขียนบทความนำเสนอความคิด ซึ่งในสมัยนั้นมีไม่กี่คนหรอกที่กล้าพูดความจริง ก็มีความนิยมนับถือ ชื่อ แสงอรุณ เป็นมงคล ถ้าใช้ชื่อนี้จะมีความหมายที่สุด บอกที่มาที่ไปของพวกเราด้วยว่าเป็นสถาปนิก เป็นส่วนเล็กๆ ที่สามารถสร้างสรรค์อะไร ให้กับสังคมได้” ครองศักดิ์ จุฬามรกต ศิษย์คนหนึ่งผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิ กล่าว
ประภาส ชลศรานนท์ นักคิดและศิลปินแห่งชาติที่เป็นลูกศิษย์ ก็เขียนถึงสิ่งที่อาจารย์แสงได้มอบให้ว่า
“อาจารย์แสงอรุณ รัตกสิกร ท่านปลูกฝังและจุดประกายความรักธรรมชาติให้ผม ตอนเรียนอยู่กับท่านไม่เคยรู้สึกอะไรมาก มันคงเหมือนเมล็ดพืช อยู่ๆ วันหนึ่ง พอเราจะเขียนอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ สิ่งที่ท่านปลูกฝังเรา มันงอกใหญ่เลย..”
จากเมล็ดพันธุ์ที่อาจารย์หว่านไว้ สืบต่อเป็นเมล็ดพันธุ์ใหม่ และคงสืบเนื่องไปไม่มีที่สิ้นสุด ตราบเท่าที่ยังมีคนเห็นในความงามของธรรมชาติ
Top Chef Thailand คนแรกของประเทศ กับความตั้งใจที่อยากสร้างความยั่งยืนทางอาหารให้แก่สังคมไทย
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
ครูผู้อุทิศชีวิตให้งานอนุรักษ์และการศึกษา ผ่านเรื่องเด็กและช้าง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างธรรมชาติที่ยั่งยืน
นักอนุกรมวิธานมือ 1 ผู้คลั่งไคล้แมลง และอยู่เบื้องหลังการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา
นักเศรษฐศาสตร์ที่บุกเบิกและทำงานเรื่องพลังงานยาวนานกว่า 30 ปี และจุดประกายให้ทุกคนเห็นพลังงานนั้นใกล้ตัวเรามากเพียงใด
เครือข่ายอนุรักษ์ที่อยากส่งต่อเรื่องราว ความรู้เกี่ยวกับวาฬบรูด้า และผองเพื่อนในท้องทะเล เพื่อให้ทุกคนลุกขึ้นมาช่วยปกป้องทรัพยากรธรรมชาติใต้ผืนน้ำให้คงอยู่ตลอดไป
โลกดนตรี ตำนานรายการคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ที่ศิลปินยุค 1970-2000 อยากขึ้นแสดงมากที่สุด เพราะใครที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีนี้ แสดงว่าดังแล้ว
ห้องทดลองกฎหมายของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่ทำงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิเรื่องสัญชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
นักออกแบบแดนปัตตานีที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพจำๆ เดิมของชายแดนใต้ ไปสู่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์
จากครูอาสาที่มาสอนดนตรีในชุมชนคลองเตย สู่การต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ที่จะเติบโตอย่างงดงาม
แรงบันดาลใจของพระอีสานผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.