หากพูดถึงแม่น้ำบางปะกง คุณนึกถึงอะไร?
บางคนอาจนึกถึงแม่น้ำสายที่ใหญ่สุดแห่งภาคตะวันออก
บางคนอาจนึกถึงเพลงลูกทุ่งสุดคลาสสิก อย่าง ‘รักจางที่บางปะกง’ ที่มีท่อนฮุกยอดฮิตอย่าง ‘…บางปะกง น้ำคงขึ้นขึ้นลงลง ใจอนงค์ ก็คงเลอะเลือนกะล่อน…’ ซึ่งร้องกันมาแล้วไม่ต่ำกว่าสิบเวอร์ชัน
แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่า ที่นี่ยังเป็นบ้านหลังใหญ่ของสิ่งมีชีวิตนับพันนับหมื่นสายพันธุ์
บางชนิดหายากและอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ ทั้งปลากระเบนราหู ปลาหางไก่ ปลาม้าน้ำ ปลากะพงขี้เซา ปลาปักเป้า ปลาฉลามหัวบาตร โลมาอิรวดี วาฬบรูด้า เสือปลา และค้างคาวแม่ไก่
นี่ยังไม่รวมไปถึงผู้คนนับหมื่นครอบครัว ซึ่งต่างพึ่งพิงอาศัย และใช้ประโยชน์จากสายน้ำมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ทั้งการประมง การเกษตร การท่องเที่ยว ฯลฯ
จากความหลากหลายทางธรรมชาติ ตลอดจนมิติทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้แม่น้ำบางปะกงกลายเป็นแหล่งน้ำที่ทุกคนจำเป็นต้องช่วยกันอนุรักษ์ดูแลไม่ให้เสื่อมโทรม
แต่ที่ผ่านมาแม่น้ำสายนี้กลับต้องเผชิญความเสี่ยงนับไม่ถ้วน ทั้งการสร้างเขื่อนทดน้ำ ปัญหาขยะ การปล่อยน้ำเน่าเสีย และการขุดลอกคูคลองที่ปราศจากความเข้าใจ จนส่งผลให้ระบบนิเวศวิทยาเสียหาย จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ชาวบ้านที่เติบโตมาพร้อมกับแม่น้ำบางปะกง รวมกลุ่มเป็น ภาคีบางปะกง
ที่ผ่านมา พวกเขาเดินหน้าผลักดันให้บางปะกงขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ผลิตสารคดีบอกเล่าถึงความมหัศจรรย์ของสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตของสรรพสัตว์มากมายนับไม่ถ้วน ตลอดจนนำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแม่น้ำบางปะกงไปกระจายผ่านกิจกรรม และช่องทางต่างๆ อาทิเพจ บางปะกง สายน้ำแห่งชีวิต
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงถือโอกาสนี้ชักชวน 4 แกนนำของภาคีบางปะกง ได้แก่ กัญจน์ ทัตติยกุล, พรชัย วิสุทธาจารย์, ยุ้ย-นฤมล การสันทัด และแหม่ม-กอบมณี ทัตติยกุล มาพูดคุยถึงความฝันอันยิ่งใหญ่ที่จะปลุกพลังให้ทุกคนในสังคมมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อให้สายน้ำอันงดงามนี้ยังคงอยู่คู่เมืองไทยตราบนานเท่านาน
เพราะสิ่งหนึ่งที่พวกเขาเรียนรู้คือ เงินหมื่นเงินแสนอาจจะซื้อทองซื้อความสะดวกสบายได้ แต่หากถึงวันที่ธรรมชาติพังทลายลงไป ต่อให้มีเงินเป็นล้าน ก็อาจเรียกคืนความอุดมสมบูรณ์นั้นไม่ได้อีกแล้ว
ลุ่มน้ำบางปะกงถือเป็นแหล่งเกษตรกรรมอันดับต้นๆ ของเมืองไทย โดยเฉพาะอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา นับเป็นจุดกำเนิดของพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 ที่ครั้งหนึ่งเคยคว้ารางวัลข้าวอร่อยที่สุดและดีที่สุดของโลกจากสถาบันการค้าข้าวโลก อีกทั้งยังเป็นแหล่งเพาะปลูกที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของมะพร้าวน้ำหอม มะม่วงแรด หรือแม้แต่มะม่วงเขียวเสวยอีกต่างหาก
แต่ที่สำคัญกว่าคือ ความหลากหลายทางธรรมชาติ เพราะด้วยชัยภูมิของตัวลำน้ำ ต้นสายมาจากแม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำนครนายก ซึ่งมีจุดกำเนิดมาจากผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และผืนป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ส่วนปลายสายคือทะเลอ่าวไทย ส่งผลให้สภาพแวดล้อมของที่นี่เป็นระบบนิเวศน์สามน้ำ คือน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย โดยว่ากันว่า ในฤดูแล้งที่น้ำจืดแห้งเหือด น้ำจากอ่าวไทยจะเข้ามาหนุนเต็มที่ ทำให้ระดับความเค็มของที่นี่ไม่แพ้ทะเลเลย
นี่เองคือเหตุผลว่า ทำไมที่นี่จึงมีสัตว์น้ำหลากหลาย ปะปนกันทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย บางชนิดก็คล้ายคลึงกับพื้นที่ภาคใต้ บางชนิดพบเจอตามลุ่มน้ำโขง และอีกไม่น้อยที่เจอแค่ที่นี่แห่งเดียว เช่น ปลาสายยู และปลาซิวสมพงษ์ ทั้งหมดนี้คือเอกลักษณ์ของแม่น้ำบางปะกงที่ไม่เหมือนใคร
ครั้งหนึ่ง ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาของเมืองไทย เคยอธิบายความหลากหลายของลุ่มน้ำแห่งนี้ว่ามีพืชน้ำกว่า 100 ชนิด พันธุ์ปลาอีกร่วม 400 สายพันธุ์ ตั้งแต่ปลากระเบนราหู น้ำหนัก 100 กิโลกรัม ไปจนถึงปลาตัวเล็กๆ ขนาดเท่ากล่องไม้ขีด โดยกว่า 100 ชนิดเป็นปลาเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีปลาสวยงาม และปลาใกล้สูญพันธุ์อีกจำนวนมาก
ไม่เพียงแค่นั้น พื้นที่โดยรอบยังหนาแน่นไปด้วยป่าชายเลนผืนใหญ่กว่า 5,000 ไร่ ซึ่งภายในประกอบด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ ทั้งแสมขาว โกงกาง ลำพู ตะบูนขาว ถือเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ชั้นดี ก่อนจะเจริญเติบโตไปสู่โลกอันกว้างใหญ่
ด้วยสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต ทำให้ชาวบ้านในละแวกนี้จึงต่างคลุกคลี และใช้ประโยชน์จากสายน้ำแห่งนี้เต็มที่ ต่อให้ไม่ได้ทำเกษตรหรือประมงก็ตาม
ในฐานะที่เกิดและเติบโตอยู่คู่บางปะกงมาตลอด กัญจน์จำภาพในวัยเยาว์ของตัวเองได้ดี เวลามาเยี่ยมอากงอาม่าที่ตลาดบางคล้าก็ต้องแวะเวียนมานั่งริมน้ำเป็นประจำ พอโตขึ้นหน่อยก็เริ่มซุกซน แอบนัดเพื่อนมาโดดน้ำอยู่เสมอ ในเวลานั้นแม่น้ำบางปะกงสะอาดมาก ดำผุดดำว่ายได้สบาย ไม่ต้องพะวงกับสิ่งใด หรือเวลาเดินทางไปจังหวัดใกล้เคียง การนั่งเรือก็ถือเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมา
“แม่น้ำสายนี้เป็นปัจจัยที่เกื้อกูลชีวิตของผู้คนแทบทุกมิติ เพราะในอดีต เราใช้น้ำโดยตรงเลย คือดื่มได้ พอถึงวันเพ็ญเดือน 12 เขาก็จะตักน้ำเข้าตุ่ม เพราะถือว่าน้ำจากแม่น้ำสะอาดที่สุด ส่วนประปาก็ไม่ได้มีทั่ว มีถึงแค่ในชุมชนหย่อมเดียวเท่านั้น เรื่องอาหาร หลายคนเคยบอกว่า อุดมสมบูรณ์ถึงขั้นเตรียมเครื่องไว้ได้เลย แล้วก็ไปหากุ้งหาปลา คือเป็นของที่เชื่อได้ว่าหาได้แน่นอน รวมถึงสมัยก่อนคนก็ใช้ใบจากไปห่อของ นำหน่อลำพูไปทำเป็นจุกก๊อกอุดขวดน้ำปลา น้ำส้ม หรือแม้แต่ขวดเหล้าก็ได้
“ส่วนคนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ เขาก็จะมีคลอง หรือลำรางที่น้ำเข้าไปถึงทุกสวน โดยแบ่งที่คนละครึ่ง เพื่อทำคูน้ำเข้าไป ถือเป็นวัฒนธรรมทางเกษตรที่จำเป็น หรืออย่างมะม่วงบางคล้าที่ทุกคนบอกว่าอร่อย ก็เกี่ยวข้องกับแม่น้ำบางปะกงเหมือนกัน เพราะน้ำตรงนี้เป็นน้ำกร่อย น้ำกร่อยก็เหมือนกับน้ำอัดลมที่เหยาะเกลือหน่อยๆ บวกกับตะกอนดินที่อุดมสมบูรณ์ แล้วก็แร่ธาตุที่ดี ทำให้รสชาติชูขึ้นมา” กัญจน์ฉายภาพ
แต่เมื่อเวลาผ่านไป หลายๆ อย่างกลับไม่เหมือนเดิม หนึ่งในนั้นคือสายน้ำเปลี่ยนทิศทางไป โดยเดิมทีแม่น้ำบางปะกงมีคลองสาขาที่เป็นเสมือนเส้นเลือดฝอยเต็มไปหมด และภายในเส้นเลือดฝอย ก็เป็นแหล่งที่สัตว์เข้าไปเพาะพันธุ์วางไข่ได้อย่างปลอดภัย แต่ภายหลังมีการสร้างประตูกั้นน้ำเค็มไม่ให้เข้าสู่คลองสาขา หรือรุกเข้าไปในแผ่นดิน แน่นอนถึงไม่ได้ปิดสนิท แต่ปริมาณน้ำที่ไม่ได้ไหลเวียนอย่างปกติ ก็ส่งผลต่อสัตว์น้ำน้อยใหญ่ในพื้นที่พอสมควร
นอกจากนี้ยังมีเขื่อนต้นน้ำ ซึ่งแม้จะเกิดจากความตั้งใจดีที่อยากเก็บกักน้ำจืดให้ชาวบ้านมีกินมีใช้ตลอดทั้งปี แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้การไหลเวียนของน้ำผิดธรรมชาติ ชาวบ้านคาดการณ์ไม่ได้ เช่นเดิมทีพอเข้าหน้าแล้ง ปกติน้ำเค็มจะเข้ามาหนุนแทนที่น้ำจืด ชาวบ้านก็จะมารอจับเคยเพื่อไปทำกะปิ แต่ตอนนี้กลับทำไม่ได้แล้ว เพราะทางการปล่อยน้ำจืดเข้ามาไล่น้ำเค็ม
นี่ยังไม่รวมถึงการปล่อยน้ำเน่าเสีย ทั้งจากภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และชุมชนต่างๆ จนมีคำเปรียบเปรยว่า แม่น้ำบางปะกงเป็นเหมือนท้องกระโถนที่รองรับของเน่าเสียจากการพัฒนาที่ไร้ความรับผิดชอบ ซ้ำร้ายยิ่งกว่าคือ โอกาสที่จะเยียวยาหรือแก้ไขให้ดีเหมือนเดิมนั้นยากมาก นอกจากการปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง
ผู้เชี่ยวชาญบางคนจึงเชื่อว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้สัตว์น้ำหลายชนิดสูญพันธุ์ และหากยังปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็ย่อมกระทบต่อความหลากหลายทางธรรมชาติของแม่น้ำบางปะกงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“ถ้าเทียบจากตอนผมเป็นเด็กเมื่อ 40 กว่าปีก่อน สภาพของบางปะกงตอนนี้น่าจะเหลือแค่ 2 เต็ม 10 เท่านั้นเอง เพราะทุกอย่างมีในแม่น้ำหมด อย่างกุ้งก้ามกราม ผมตกที่หัวสะพานตรงคลองโสภา ก็ได้วันละ 2-3 ตัว ไม่ต้องออกเรือไปไหน แต่สมัยนี้หากไม่ใช่คนมีฝีมือ รับรองว่าหาไม่ได้” พรชัยฉายภาพ
“ลุ่มน้ำบางปะกงนั้นครอบคลุมทั้งสระแก้ว ปราจีนบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา และบางส่วนของชลบุรี แต่ปรากฏว่ามีเทศบาลที่มีเครื่องบำบัดน้ำเสียเพียง 2 แห่งคือ เทศบาลตำบลบางคล้า กับเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา ส่วนอีกกว่า 90% ไม่มี ทำให้ความเข้มข้นของของเสียที่จะลงแม่น้ำนั้นมากขึ้นตามกิจกรรมที่มนุษย์ทำ อย่างนาก็ทำหลายรอบ บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำก็ทำหลายรอบ เกษตรเชิงเดี่ยวก็มากขึ้น และถ้ามนุษย์เราไม่ประสบปัญหาด้วย ก็จะไม่พยายามหาทางออก” กัญจน์กล่าวเสริม
นั่นเองที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้กัญจน์ ซึ่งทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมมายาวนาน ตัดสินใจระดมสมัครพรรคพวก เพื่อหาวิธีปกป้องแม่น้ำแห่งชีวิตสายนี้ให้คงอยู่กับสังคมไทยตราบนานเท่านาน
ความจริงก่อนจะมารวมกลุ่มเป็นภาคีบางปะกง สมาชิกหลายๆ คนก็เคยรู้จักและช่วยกันขับเคลื่อนโครงการที่กระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนในลุ่มน้ำ
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2551 กัญจน์และแหม่ม สองสามีภรรยาที่ทำงานประชาสังคมมาตลอด ได้ร่วมกับเครือข่ายที่คุ้นเคยกันก่อตั้ง ‘กลุ่มคุ้มครองบางคล้า’ โดยมีภารกิจคือ การต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 1,600 เมกะวัตต์ ซึ่งมีแผนจะมาสร้างในอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา
พวกเขาเชื่อว่าโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะส่งผลต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรและชาวประมง รวมทั้งยังก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ และการแย่งชิงน้ำ ซึ่งมีบทเรียนให้เห็นจากโรงไฟฟ้าใหญ่ๆ ในจังหวัดอย่างราชบุรี และสระบุรี การขับเคลื่อนนี้ทำให้พวกเขารู้จักกับพรชัย ซึ่งเวลานั้นอยู่ในฟากฝั่งของข้าราชการในสังกัดสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดฉะเชิงเทรา จึงเกิดการประสานงาน เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน จนโครงการนี้ยุติในปีถัดมา
ต่อมาปี 2554 พวกเขาพบว่าปัญหาต่างๆ ไม่ได้จำกัดเพียงแค่บางคล้าเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงพื้นที่ทั้งหมดของลุ่มน้ำบางปะกง เพราะเวลานั้นมีการอนุญาตให้สร้างท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ 500 ไร่ที่อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ลึกเข้ามาจากปากแม่น้ำถึง 40 กิโลเมตร จากเดิมที่มีเพียงท่าเรือเล็กๆ สำหรับขนข้าวหรือขนผลไม้เท่านั้น
เรื่องหนึ่งที่พวกเขาวิตกกังวลที่สุดคือ เรือขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาในพื้นที่ โดยเฉพาะเรือขนมันสำปะหลังและสารเคมี ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ทั้งฝุ่นที่ฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ ปัญหาขยะ ปัญหาน้ำเสีย เสียงเรือที่ดังรบกวน และแน่นอนว่าหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา แล้วมันสำปะหลังหรือสารเคมีจำนวนมหาศาลตกลงไปก็จะส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในแหล่งน้ำอย่างเลี่ยงไม่ได้
“ท่าเรือที่เขาจะสร้างไม่ได้มีแค่ท่าเดียว แต่จะทำถึง 6 ท่า ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมหน้าแม่น้ำไปเลย เพราะแม่น้ำเราไม่เคยมีท่าเรือขนาดใหญ่แบบนี้ แล้วอำเภอบ้านโพธิ์ เป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างสงบ ชาวบ้านก็ใช้ประโยชน์จากการทำประมงพื้นบ้าน มีเรือท่องเที่ยวลำเล็กๆ ส่วนเรือใหญ่ๆ แทบไม่เห็นเลย เราจึงเชื่อว่าถ้าโครงการนี้เกิดขึ้น แม่น้ำแย่แน่นอน เพราะแค่เริ่มต้นเขาก็เอาแบ็กโฮมาถางป่าชายเลนแล้ว ก็เลยคิดว่าต้องสู้ จึงคุยกับพี่พรชัยว่า เราทำงานกันไม่กี่ปีเจอโรงไฟฟ้า เจอท่าเรือ แล้วต่อไปเราก็คงต้องเจอโครงการนั่นนี่มากมายแน่เลย เราจะทำอย่างไรถึงจะดูแลแม่น้ำบางปะกงไว้ได้” กัญจน์เท้าความ
เริ่มแรกพวกเขาใช้ชื่อกลุ่มว่า ‘สมัชชาเมืองแปดริ้วยั่งยืน’ โดยมีกัญจน์ทำหน้าที่ประสานงานเชื่อมโยงกับชาวบ้าน และเครือข่ายต่างๆ ขณะที่พรชัยก็คอยสนับสนุนและนำความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับโครงการนี้มารายงาน เพราะต้องยอมรับว่าข่าวคราวเกี่ยวกับท่าเรือแห่งนี้เงียบมากจนผิดสังเกต
การทำงานในเวลานั้นมีลักษณะ 2 ขาควบคู่กัน หนึ่งคือ ลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลต่างๆ โดยถือโอกาสนี้ชักชวนผู้คนร่วมกันทำประชาพิจารณ์ เพื่อแสดงพลังของคนตัวเล็กๆ ว่าอยากจะขับเคลื่อนแหล่งน้ำของตัวเองไปในทิศทางใด ขณะเดียวกันก็ใช้ช่องทางกฎหมาย เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่ากระบวนการขอใบอนุญาตสร้างท่าเทียบเรือนี้มีปัญหา โดยได้รับความร่วมมือจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ช่วยยื่นฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
“ตอนนั้นเราลงพื้นที่บ้านโพธิ์เยอะมาก จึงเห็นศักยภาพของบางปะกงในหลายมิติ คนที่นี่เขาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติใกล้ชิดกว่าคนที่บางคล้าด้วยซ้ำ เพราะบางคล้ามีพื้นที่เกษตรเป็นรายได้หลัก แต่ที่บ้านโพธิ์เขาอยู่กับน้ำกร่อยมากกว่า ขณะที่สวนเกษตรมีน้อยมาก เขามีบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำกับหากินจากธรรมชาติเป็นหลัก ทำให้เราเห็นคุณค่าของแม่น้ำเยอะขึ้น” กัญจน์อธิบายต่อ
แม้ต่อมาท่าเรือแห่งนี้จะเปิดดำเนินการได้สำเร็จ แต่ผลจากการขับเคลื่อนของชาวบ้าน ก็ส่งผลให้ทุกอย่างต่างจากแผนที่วางไว้พอสมควร แถมเรือที่เข้ามาใช้บริการก็มีน้อยกว่าที่คาดการณ์อีกด้วย
กระทั่งในเดือนเมษายน 2567 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอย่างเป็นทางการ เพราะไม่มีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA นับเป็นความสำเร็จของเครือข่ายภาคประชาชนอย่างแท้จริง
“ความสำเร็จที่มากกว่าทางคดี คือการสร้างความรับรู้ให้ส่วนราชการต่างๆ ว่าจะทำอะไรก็ต้องระมัดระวัง เพราะชาวบ้านเขาตื่นตัวกันแล้ว ใครมาทำสุ่มสี่สุ่มห้า เขาพร้อมต่อสู้เต็มที่” พรชัยกล่าวย้ำ
แต่ถึงจะมีภัยคุกคามมากมายเข้ามาท้าทายบางปะกง สิ่งหนึ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ก็คือ หากต้องการความยั่งยืน ก็ต้องทำให้ทุกคนเห็นความสำคัญของแม่น้ำสายนี้ไปพร้อมกัน
‘เราจะผลักดันแม่น้ำบางปะกงให้เป็นแรมซาร์ไซต์’ คือภารกิจที่ภาคีบางปะกงประกาศไว้ต่อสาธารณชนเมื่อปี 2556
หลายคนได้ยินคำว่า ‘แรมซาร์ไซต์’ อาจจะงงว่าคืออะไร แล้วเหตุใดบางปะกงถึงต้องเป็นแรมซาร์ไซต์ด้วย ซึ่งก็ไม่ต่างจากกัญจน์ที่รู้จักคำนี้เป็นครั้งแรกเมื่อได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)
แรมซาร์ไซต์ (Ramsar site) หรือพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ คือพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีลักษณะพิเศษหรือหายาก หรือไม่ก็ต้องมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองดูแล ไม่ให้เผชิญความเสี่ยงที่จะถูกบุกรุก ทำลาย หรือพัฒนาเปลี่ยนแปลงจนเกิดความเสื่อมโทรม แต่ขณะเดียวกันก็ยังต้องใส่ใจกับการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยหลักเกณฑ์ต่างๆ จะเป็นไปตามอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) ซึ่งไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี 2541
ปัจจุบันไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่ขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์แล้ว 14 แห่ง เช่น พรุควนขี้เสี้ยน ซึ่งเป็นแหล่งทำรังวางไข่ของนกกาบบัวเพียงแห่งเดียว และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ซึ่งเป็นแหล่งพักพิงของปลาวัยเจริญพันธุ์ และยังเป็นแหล่งปะการังที่งดงามอีกแห่งของไทย เป็นต้น โดยหากพื้นที่ใดได้รับการขึ้นทะเบียนก็จะนำมาสู่การอนุรักษ์และจัดการอย่างเป็นระบบมากขึ้น
เพราะฉะนั้นเมื่อทราบว่าบางปะกงมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์ กัญจน์และทีมงานจึงไม่ลังเลที่จะเดินหน้าผลักดันเรื่องนี้เต็มกำลัง พร้อมกับชักชวนแกนนำจากกลุ่มต่างๆ มาร่วมพูดคุย ทั้งเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจังหวัดฉะเชิงเทรา, กลุ่มเกษตรอินทรีย์ อำเภอสนามชัยเขต, ชมรมลำพูบ้านโพธิ์, เครือข่ายรักแม่พระธรณี, กลุ่มคุ้มครองบางคล้า, เครือข่ายรักษ์ชุมชนฅนแปดริ้ว, กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำบางปะกง, สภาบริหารจัดการลุ่มน้ำคลองหลวง, เครือข่ายแกนนำเยาวชนนักรบสิ่งแวดล้อม/นักสืบสายน้ำ และชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพฉะเชิงเทรา เป็นต้น จนเกิดเป็นเครือข่ายใหม่ที่ชื่อว่า ‘ภาคีบางปะกง’
“ตอนนั้นเครือข่ายค่อนข้างกระจัดกระจายมาก ดังนั้นการชูแม่น้ำบางปะกงทั้งสายให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ก็น่าจะรวมใจคนตลอดทั้งสายน้ำได้ดีขึ้น ซึ่งครั้งแรกนอกจากผมกับพี่พรชัยแล้ว ก็มีลุงศักดา ทองประสิทธิ์ และอาจารย์อรวรรณ เรืองนภารัตน์ ซึ่งทำเรื่องแม่น้ำบางปะกงมานานมาก แต่ละคนก็จะตั้งคำถามว่า จะไหวเหรอ แต่ในที่สุดเราก็เห็นว่า ควรจะลองกันสักตั้ง โดยเริ่มต้นจาก 6 อำเภอในฉะเชิงเทราก่อน เพราะถ้ารวมปราจีนบุรีกับนครนายกด้วยก็จะหนักเกินไป เนื่องจากเราทำกันด้วยใจ เงินก็ไม่มี จำได้ว่าสิ่งแรกที่ทำคือ การเข้าไปสื่อสารในชุมชนต่างๆ ในโรงเรียนที่เคยทำงานด้วย แต่วิธีการของเราไม่ใช่การคุยเฉยๆ แต่ชักชวนเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อจะได้เห็นภาพชัดเจนขึ้น” กัญจน์อธิบาย
“เราอยากให้คำว่าแรมซาร์ไซต์ติดหูทุกคนก่อน เวลาไปไหนหรือจัดกิจกรรมอะไรก็ยกป้ายนี้ไปด้วย เพราะต้องยอมรับว่า ถ้าเราไปอธิบายตรงๆ คนคงไม่รู้เรื่อง แค่คำว่าอนุสัญญา หลายคนยังสงสัยว่าคืออะไร จากนั้นถึงพยายามหาว่า ใครจะเข้ามาร่วมเป็นภาคีของเราได้บ้าง” พรชัยช่วยขยายความ
กิจกรรมแรกที่ภาคีบางปะกงเริ่มทำคือ ‘ร่วมปั่นร่วมผลักดันบางปะกงเป็นแรมซาร์ไซต์’ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2556 โดยชักชวนพี่น้องประชาชนมาร่วมกันปั่นจักรยาน จากโรงเรียนวัดบางหักและโรงเรียนท่าสะอ้าน ผ่านหน้าโรงไฟฟ้าบางปะกง จนถึงท่าเรือข้ามไปเกาะนก พร้อมกันนั้นก็สำรวจระบบนิเวศ ตลอดจนจัดทำข้อมูล และทำแผนที่บนเกาะนกและแม่น้ำบางปะกง เพื่อใช้เป็นเอกสารสนับสนุนให้พื้นที่แห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์
ส่วนกิจกรรมถัดมาก็ปรับเปลี่ยนไปตามกลุ่มเป้าหมาย อย่างกลุ่มเด็กก็ใช้สิ่งแวดล้อมศึกษาเป็นสื่อกลางในการสร้างกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนกว่า 40 แห่ง พาออกไปสำรวจทัศนศึกษา แนะนำให้รู้จักพันธุ์นก พันธุ์ปลา พันธุ์พืช เพื่อจะซึมซับและเข้าใจว่าบ้านเกิดของพวกเขานั้นมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์เพียงใด รวมทั้งชักชวนให้แต่ละคนลองคิดว่า หากประเทศไทยไม่มีแม่น้ำบางปะกงแล้วจะเป็นอย่างไร ซึ่งก็ได้รับคำตอบที่น่าสนใจว่า อาจนำไปสู่หายนะ เพราะความอุดมสมบูรณ์ที่มีมาตลอดนั้นหมดสิ้นไป
ขณะที่กลุ่มประชาชนทั่วไป พวกเขามีโครงการที่เรียกว่า ‘บางปะกงส่งเสียง’ เดินสายไปตามอำเภอต่างๆ โดยนำรูปแบบของอีเวนต์มาปรับใช้ ตั้งแต่การหยิบเอาของดีของบางปะกง ทั้งอาหารและการละเล่น มานำเสนอ เพื่อให้ทุกคนได้สนุกและเพลิดเพลิน
นอกจากนี้ยังถือโอกาสจัดงานเสวนาให้ความรู้เรื่องแรมซาร์ไซต์ พร้อมกับแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน รวมทั้งมีการแสดงละครโดย กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้ ‘บางเพลย์’ อีกหนึ่งสมาชิกของภาคีบางปะกง เพื่อบอกเล่าถึงความสำคัญของแม่น้ำสายนี้ ในฐานะพื้นที่หล่อเลี้ยงชีวิตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
“เวลาเราจัดปั่นจักรยานหรือทำกิจกรรมอะไร เราไม่ได้สื่อสารกับเด็กอย่างเดียว แต่ยังสื่อสารกับหน่วยงานและคนที่มีหน้าที่ด้วย เราเชิญนายก อบต.มาร่วมงาน ให้เขาเป็นคนคุยกับเด็ก เป็นประธานในพิธีเปิด ให้เล่าเรื่องราวในอดีตให้เด็กฟัง ซึ่งหลายคนก็ชอบ เพราะถือเป็นโอกาสที่ได้สื่อสารสิ่งดีๆ ออกไป ขณะเดียวกันเวลาจัดกิจกรรม เราก็พยายามให้สุดท้ายมีอะไรหลงเหลือให้เด็กๆ ได้จดจำ เช่นการวาดภาพ การจดบันทึกเป็นเล่ม พอได้มาเราก็ซีร็อกซ์ แจกโรงเรียนเล่มหนึ่ง แจก อบต.เล่มหนึ่ง เราก็เก็บเล่มหนึ่งไว้เพื่อเป็นหลักฐาน ไม่อย่างนั้นก็อาจจะหลงลืมไป” พรชัยฉายภาพเทคนิคการทำงาน
แต่ที่ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดง คือการจัดทำสารคดี ‘บางปะกง สายน้ำแห่งชีวิต’ โดยสมาชิกของภาคีบางปะกงได้ระดมทุนเพื่อให้ทีมสารคดีมืออาชีพอย่างกลุ่ม 10 FOTOS มาเก็บข้อมูล ทั้งความหลากหลายทางธรรมชาติ มิติความเชื่อทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ซึ่งล้วนแต่เป็นเสน่ห์ที่ทำให้บางปะกงโดดเด่น และนำเสนอทางสถานีโทรทัศน์ Thai PBS รวมทั้งยังร่วมกับนิตยสารคดีจัดทำฉบับ ‘บางปะกง’ โดยเฉพาะ ส่งผลให้ผู้คนทั่วประเทศรู้จักและเข้าใจถึงคุณค่าของแม่น้ำแห่งนี้ลึกซึ้งขึ้น
“เรารู้สึกว่าสารคดีเป็นเครื่องมือที่ดี เพราะในลุ่มน้ำบางปะกงมีเรื่องราวดีๆ เยอะมาก ถ้าไม่บันทึกเก็บไว้ หลายอย่างอาจเปลี่ยนแปลงไป แล้วเราเองก็อยากเก็บภาพเหล่านั้นไว้เองด้วยก็เลยคุยกันว่า ทำกันไหม ต้นทุนสูงมาก แต่ทุกคนก็บอกว่าลองดู เราก็จัดทอดผ้าป่า ระดมทุนจากคนที่ทำงานด้วยกัน ซึ่งพอทำเสร็จ นอกจากฉายผ่านทีวีกับออนไลน์ เราก็ยังไปจัดฉายที่ลานโลมา ริมแม่น้ำบางปะกงด้วย จำได้ว่าตอนฉายคึกคักมาก เพราะถือเป็นมิติใหม่ของวงการงานอนุรักษ์ที่หาทีมงานคุณภาพมาทำสารคดี” กัญจน์ย้อนความทรงจำ
ผลจากการขับเคลื่อนของภาคีบางปะกงอย่างต่อเนื่องถึง 3 ปีเต็ม ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2559 พวกเขาจึงร่วมกันจัดแถลงการณ์เพื่อผลักดันแม่น้ำบางปะกง ความยาว 122 กิโลเมตร ซึ่งมีพื้นที่ลุ่มน้ำโดยรอบกว่า 6.69 ล้านไร่ ขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์
โดยพวกเขายื่นเรื่องไปยัง สผ. เพื่อให้จัดทำข้อมูลเป็น Ramsar Information Sheet (RIS) และนำเสนอต่อสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำในต่างประเทศ ซึ่งหากได้รับการอนุมัติ ก็จะส่งผลให้บางปะกงเป็นแม่น้ำสายที่ 2 ของไทยและอาเซียนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแรมซาร์ไซต์ ถัดจากแม่น้ำสงคราม
แน่นอนแม้ขั้นตอนนี้จะกินเวลานานหลายปี แต่พวกเขาก็เลือกเดินหน้าไม่หยุด เพราะเดิมพันครั้งนี้แลกมาด้วยคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของคนริมสองฝั่งน้ำนั่นเอง
“ตอนนี้เรามีกรมทรัพยากรน้ำเข้ามาช่วยเรื่องการเขียน RIS เพราะด้วยศักยภาพของเราอาจไม่เพียงพอที่จะกรอกเอกสารต่างๆ ภารกิจเราคือเน้นความเข้าใจ สร้างความรับรู้ เพราะถ้าเราเป็นแรมซาร์ไซต์โดยที่ชาวบ้านไม่รู้ก็ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ แต่ถึงจุดนี้เรามั่นใจว่า ทุกอย่างเดินหน้าได้ เพราะบางปะกงเป็นพื้นที่ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของอนุสัญญาแรมซาร์ซึ่งมุ่งเน้นพื้นที่ที่มีคนใช้ประโยชน์อยู่จริงๆ เพื่อให้เกิดการใช้งานที่ชาญฉลาด” กัญจน์ย้ำถึงภารกิจที่ต้องไปถึงให้ได้
แม่น้ำบางปะกงเป็นปัจจัยที่เกื้อกูลชีวิตของผู้คนที่นี่แทบทุกมิติ เงินหมื่นเงินแสนอาจซื้อทอง ซื้อความสะดวกสบายได้ แต่หากถึงวันที่ธรรมชาติพังทลาย ต่อให้มีเงินเป็นล้าน ก็อาจเรียกคืนความอุดมสมบูรณ์นั้นไม่ได้อีกแล้ว
อาจดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อ แต่โพสต์ที่บอกเล่าเรื่องราวของมะม่วง 46 ชนิดในจังหวัดฉะเชิงเทรา ในเพจ ‘บางปะกง สายน้ำแห่งชีวิต’ มียอดการแชร์สูงถึง 130,000 ครั้ง ไม่ต่างจากโพสต์ว่าด้วยทุเรียน 55 ชนิดในไทย ซึ่งมียอดการส่งต่อสูสีกันถึง 110,000 ครั้ง
หากตั้งคำถามว่า เหตุใดโพสต์เหล่านี้ถึงได้รับความนิยมสูง บางคนอาจบอกว่าเพราะคนไทยชอบอาหาร หลายคนอาจกล่าวว่าผลไม้ดูน่ารับประทาน ถ้าเป็นไปได้ก็อยากลิ้มลองสายพันธุ์แปลกๆ แบบนี้สักครั้งในชีวิต แต่ถ้ามองลึกลงไป หลายคนอาจกำลังรู้สึกทึ่งว่า แท้จริงแล้วความหลากหลายนี้อยู่ใกล้ตัวเรามาก เพียงแค่แวะเวียนมายังลุ่มน้ำบางปะกง ก็จะสัมผัสถึงความมหัศจรรย์ของธรรมชาติได้แล้ว
ด้วยความเชื่อที่ว่า หัวใจของความยั่งยืนคือความต่อเนื่อง บวกกับบางปะกงยังมีเรื่องราวอีกมากที่ไม่เคยถูกถ่ายทอดมาก่อน ดังนั้นหลังเสร็จสิ้นการทำสารคดี ‘บางปะกง สายน้ำแห่งชีวิต’ ภาคีบางปะกงจึงเปิดเพจชื่อเดียวกัน เพื่อเป็นศูนย์กลางเรื่องราวดีๆ ทั้งข่าวสาร กิจกรรม และสาระความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับบางปะกงไปสู่วงกว้าง โดยมอบหมายให้ยุ้ย อดีตข้าราชการซึ่งเคยทำงานสื่อสารเป็นผู้รับผิดชอบ
“ตอนแรกไม่มีข้อมูลอะไรเลย หลักๆ คือตามกัญจน์กับพี่พรชัยไป พอเจอใครเราก็ไปพูดคุย ถ่ายรูปแล้วก็นำเรื่องราวที่เขาเล่ามาถ่ายทอดลงเพจอีกทีหนึ่ง ตอนหลังก็เริ่มใช้วิธีปั่นจักรยาน ทำให้เราเห็นอะไรช้าลง อยากแวะตรงไหนก็ได้ และพอไปคุยกับชาวบ้าน เขาก็รู้สึกเป็นกันเองมากกว่า บางอย่างเพิ่งรู้ว่ามีแบบนี้ด้วย เช่นไปสวนมะพร้าวก็เห็นชาวบ้านทำก้านไม้กวาด เจอคนเก็บหมากเก็บพลู ซึ่งข้อดีคือเราได้รู้จักวิถีชีวิตชุมชนในมุมที่ไม่เคยมองมาก่อน เห็นประโยชน์จากแม่น้ำชัดเจนขึ้น” ยุ้ยอธิบาย
ยิ่งพอทำไปเรื่อยๆ ยุ้ยก็ยิ่งสนุก อย่างเรื่องมะม่วงก็มาจากแรงบันดาลใจเมื่อครั้งไปซื้อมะม่วงที่บ้านผู้เฒ่าผู้แก่คนหนึ่ง ซึ่งพอดีเขาคนนั้นก็เป็นผู้สะสมพันธุ์มะม่วง เธอเลยขอถ่ายรูป จากนั้นก็นำไปต่อยอดลงในเพจ ซึ่งปรากฏว่าได้รับความนิยมเกินคาด
“ความจริงมะม่วงน่าจะมีเกิน 50 พันธุ์ แต่เรายังไม่ได้ซอกแซกจริงจัง ยังไปไม่ครบทุกสวน ส่วนใหญ่ไปแต่สวนคนรู้จัก หรือบางที่ตอนแรกก็ยังไม่รู้จัก แต่พอไปคุยก็กลายเป็นสนิทสนมกันไปเลย แล้วพอเรารู้จัก เขาก็จะแนะนำหรือพาไปรู้จักคนอื่นต่อ”
เพราะฉะนั้น นอกจากเป็นกระบอกเสียงให้ภาคีบางปะกงยังเดินต่อไปได้ ในห้วงเวลาที่ไม่มีกิจกรรมพิเศษ เพจบางปะกง สายน้ำแห่งชีวิตก็ยังเป็นเครื่องมือที่สานสัมพันธ์กับคนในลุ่มน้ำแห่งนี้ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ใครมีอะไรดีๆ ก็สามารถมาฝากข่าวสารได้ หรือบางคนที่โยกย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้ว แต่พอได้กลับมาอ่านเรื่องราวในเพจก็หวนนึกถึงบรรยากาศในวันวาน เช่นเดียวกับคนนอกพื้นที่ ซึ่งไม่เคยรับทราบข้อมูลเหล่านี้มาก่อน แต่พอได้มาสัมผัสก็ทำให้อยากรู้จักบางปะกงมากขึ้น
“เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือพี่ยุ้ยนำดอกลำพูในจังหวะที่กำลังจะบานมาถ่ายเป็นภาพพอร์ตเทรต ซึ่งหากเป็นคนในสายชีววิทยาก็คงคุ้นเคยอยู่แล้ว แต่สำหรับคนทั่วไป ภาพพวกนี้ช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ หรืออย่างโพสต์เรื่องร้านอาหารริมน้ำ ซึ่งสมัยก่อนอยู่เงียบๆ ไม่มีคนรู้จัก บางร้านอยู่ลึกมาก แต่พอเราหยิบมานำเสนอ ชีวิตเปลี่ยนไปเลย เพราะทุกคนอยากทดลองไปชิมบ้าง” กัญจน์ช่วยเติมข้อมูล
นอกจากนี้ เพจบางปะกง สายน้ำแห่งชีวิต ยังช่วยเป็นสื่อกลางให้กับการรณรงค์ที่น่าสนใจ อย่างเมื่อปี 2566 กัญจน์ได้เริ่มทำโปรเจกต์ส่วนตัวที่ชื่อว่า ‘มิตรรักบางปะกง’ เพื่อต่อต้านการขุดลอกคูคลองอย่างไม่ถูกวิธีในแควหนุมาน ในอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งจะนำไปสู่การทำลายระบบนิเวศริมคลอง โดยเฉพาะพรรณไม้ชายน้ำที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ และยังก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างสู่คลองสาขาและแม่น้ำบางปะกงอีกด้วย
ขณะเดียวกัน ภาคีบางปะกงเองก็ยังไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ปรับรูปแบบการทำงานให้เหมาะสม โดยยังมุ่งไปสู่การทำให้ทุกคนสัมผัสถึงเสน่ห์และคุณค่าของแม่น้ำบางปะกง เช่น กิจกรรม ‘บางปะกงยาตรา’ ชวนคนมาเดินหรือลงเรือสัมผัสเรื่องราวชีวิตท่ามกลางสายน้ำ อาชีพและภูมิปัญญาที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น อีกทั้งยังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมพายเรือเก็บขยะ ซึ่งหลายคนก็รู้สึกประทับใจที่ได้เข้ามาเป็นกำลังเสริมช่วยผลักดันแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์เรื่อยไป
อีกความตั้งใจหนึ่งคือ การพัฒนาหลักสูตรเกี่ยวกับพื้นที่ชุ่มน้ำ รวมถึงวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้แก่เด็กและเยาวชน เพราะต้องยอมรับว่า การจัดกิจกรรมตามสถาบันต่างๆ เพียง 1-2 ครั้งคงไม่เพียงพอที่จะปลูกหัวใจรักธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน
“เด็กๆ ก็คุ้นเคยกับแม่น้ำอยู่แล้ว แต่อาจจะไม่มีกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นลำดับขั้นตอน เราจึงอยากให้โรงเรียนจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันเขาก็ทำ แต่เน้นไปที่เรื่องอาชีพในชุมชนมากกว่า ส่วนความเชื่อมโยงกับแม่น้ำหรือทรัพยากรยังมีค่อนข้างน้อย เราจึงพยายามคุยกับครู สถาบันการศึกษาต่างๆ แต่ก็ยังไม่มีรูปธรรมชัดเจน” พรชัยอธิบาย
“แนวคิดหนึ่งที่เราอยากทำคือโรงเรียนพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำบางปะกง โดยตั้งใจจะแนะนำความรู้เบื้องต้นของวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่าส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างไร แล้วก็พาเขาไปสำรวจธรรมชาติ โดยใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น iNaturalist (โปรแกรมที่สามารถระบุชนิดของพืชและสัตว์ที่อยู่รอบตัวได้) เพื่อให้เขาได้รู้จักความหลากหลายทางชีวภาพของแม่น้ำบางปะกง ทั้งพืช สัตว์ แมลง รวมทั้งจัดค่ายเพื่อให้เด็กๆ ได้เห็นตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ” แหม่มช่วยเสริมภาพความฝัน
แม้หลายโครงการที่ภาคีบางปะกงขับเคลื่อนจะประสบผลสำเร็จมากน้อยแตกต่างกัน แต่สิ่งที่น่ายินดียิ่งกว่า คือ อย่างน้อยพวกเขาก็ได้ช่วยจุดกระแสความหวงแหนและรักแหล่งน้ำให้เกิดขึ้นในใจของผู้คนที่อยู่ในลุ่มน้ำบางปะกง รวมถึงคนทั่วไปที่ไม่เคยสัมผัสกับความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยหลายคนพร้อมแสดงพลังในยามที่สายน้ำเผชิญวิกฤต ซึ่งถือเป็นแรงใจให้พวกเขาก้าวเดินต่อไป
เพราะน้ำคือสิ่งที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้ทุกชีวิตหยัดยืนบนโลกใบนี้
ปฏิบัติการชุมชนเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 15 ชุมชนหรือเครือข่ายที่รวมพลังกันทำงานเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ภาคีบางปะกง คือเครือข่ายชุมชนต้นแบบประเด็นยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 2), ประเด็นสร้างหลักประกันให้มีน้ำใช้ มีการบริหารจัดการน้ำ และการสุขาภิบาลอย่างยั่งยืนสำหรับทุกคน (SDGs ข้อที่ 6), ประเด็นดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ (SDGs ข้อที่ 13) และประเด็นเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลไกการดำเนินงาน และฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 17)
นักธุรกิจที่หลงใหลธรรมชาติ จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาระดับต้นๆ ของเมืองไทย และเป็นผู้บุกเบิกเว็บไซต์ Siamensis.org
อดีตอาจารย์สถาปัตย์ ผู้ปลูกฝังให้ลูกศิษย์รักต้นไม้ และเชื่อมโยงธรรมชาติกับงานสถาปัตยกรรม
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง ที่ต้องบริหารงานภายใต้ข้อจำกัดมากมาย แต่เขาก็ไม่ท้อ เพื่อให้ประชาชนทุกเชื้อชาติสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียม
จากครูอาสาที่มาสอนดนตรีในชุมชนคลองเตย สู่การต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ที่จะเติบโตอย่างงดงาม
เรื่องราวของครูผู้ปลูกฝังความสำคัญของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับงานสถาปัตยกรรม
กลุ่มออนไลน์ที่เกิดจากการแบ่งปันความรู้เรื่องเมล็ดพันธุ์ ต่อยอดมาสู่การสร้างโรงเรียนปลูกป่าที่มีเป้าหมายอยากรักษาพันธุ์ไม้ดีๆ ให้อยู่คู่เมืองไทยตลอดไป
โลกดนตรี ตำนานรายการคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ที่ศิลปินยุค 1970-2000 อยากขึ้นแสดงมากที่สุด เพราะใครที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีนี้ แสดงว่าดังแล้ว
ห้องทดลองกฎหมายของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่ทำงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิเรื่องสัญชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
นักออกแบบแดนปัตตานีที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพจำๆ เดิมของชายแดนใต้ ไปสู่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์
จากครูอาสาที่มาสอนดนตรีในชุมชนคลองเตย สู่การต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ที่จะเติบโตอย่างงดงาม
แรงบันดาลใจของพระอีสานผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.