อัญชนา สุวรรณานนท์ : ‘อัญจารี’ การต่อสู้ของนักขับเคลื่อน LGBTQ+ รุ่นบุกเบิกของเมืองไทย

<< แชร์บทความนี้

สังคมไทยในอดีตมักมองว่า ‘พฤติกรรมที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิด’ เป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาหรือบำบัด เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้อง

ความเข้าใจเหล่านี้ไม่ต่างจากกรงเหล็ก ที่ทำให้พวกเขาต้องทุกข์ระทมจากการปกปิดตัวตนไม่ให้ใครรู้ เพราะกลัวว่าจะถูกสังคมรังเกียจ เหยียดหยาม และเลือกปฏิบัติ ราวกับเป็นตัวประหลาดของสังคม

แตง-อัญชนา สุวรรณานนท์ คือ หนึ่งในตัวแทนหญิงรักหญิง ผู้ผ่านช่วงเวลาแห่งความสับสน รู้สึกผิด และบอบช้ำจากการถูกสังคมตีตรามานับครั้งไม่ถ้วน กระทั่งได้ไปศึกษาต่อที่เนเธอร์แลนด์ เธอจึงได้เห็นการขับเคลื่อนของกลุ่ม LGBTQ+ ในระดับโลก ที่พยายามเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียม เพื่อให้สังคมเห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ มากกว่าสนใจว่า ‘คุณเป็นคนเพศใด’

นั่นเองที่กลายเป็นแรงผลักดันให้เธอและเพื่อนร่วมกันก่อตั้ง ‘กลุ่มอัญจารี’ รณรงค์เรื่องความหลากหลายทางเพศเป็นกลุ่มแรกๆ ของเมืองไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายความรู้ และสร้างความเข้าใจว่า ผู้หญิงรักผู้หญิงก็มีสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับคนทุกคน

และนำไปสู่การสร้างเครือข่าย เปิดตู้ไปรษณีย์ ทำจดหมายข่าว รวมถึงการผลักดันเชิงนโยบาย เช่น ครั้งหนึ่งที่มีสถาบันการศึกษาชื่อดังประกาศไม่รับ ‘ผู้ที่เบี่ยงเบนทางเพศ’ มาเป็นนักศึกษา จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง กลุ่มอัญจารีก็เป็นทั้งผู้เปิดประเด็นและหัวขบวนในการเคลื่อนไหว จนนำไปสู่การยกเลิกกฎเกณฑ์ดังกล่าว

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอพาทุกคนไปพูดกับผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มอัญจารี 1 ใน 30 บุคคลจากโครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก ซึ่งจะมาบอกเล่าถึงเส้นทางการต่อสู้อันยากลำบาก และกลายเป็นอิฐก้อนแรกๆ ที่ทำให้สังคมไทยหันมาใส่ใจประเด็นความหลากหลายทางเพศอย่างจริงจัง

ชีวิตที่ต้องปิดบัง

ย้อนกลับไป 50 ปีก่อน สังคมไทยยังไม่เปิดกว้างเรื่องเพศเหมือนทุกวันนี้ เส้นแบ่งบทบาทระหว่างชาย-หญิงยังชัดเจน ผู้หญิงมีหน้าที่เป็น ‘เมีย’ และ ‘แม่’ เป็นช้างเท้าหลังที่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ชาย

ใครที่มีพฤติกรรมต่างไปจากกรอบของสังคม เช่น รักชอบเพศเดียวกัน ก็จะถูกพูดถึงในเชิงลบ ล้อเลียน ตำหนิ จนในที่สุดก็เลือกไม่เปิดเผยตนเองไปเลยดีกว่า 

ด้วยบรรยากาศของสังคมที่หล่อหลอมว่า พวกเขาเหล่านี้ไม่ใช่คนปกติ ส่งผลให้แตง ซึ่งรู้ตัวว่าสนใจผู้หญิงตั้งแต่อายุ 13-14 ปี อดรู้สึกผิดไม่ได้

โชคดีที่ในเวลานั้น เธอย้ายจากโรงเรียนสหศึกษามาอยู่ที่โรงเรียนหญิงล้วน ทำให้ไม่จำเป็นต้องปกปิดตัวตนมากนัก

การมาเรียนโรงเรียนหญิงล้วนช่วยได้เยอะมาก เพราะการที่รุ่นน้องไปแอบปลื้มรุ่นพี่ที่เล่นกีฬาหรือดนตรีเก่งๆ หรือ รู้สึกชอบพอในหมู่เพื่อนผู้หญิงด้วยกัน ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่มองเป็นแฟชั่นในโรงเรียนหญิงล้วนมากกว่า ตอนนั้นเราก็มีไปชอบเพื่อนห้องอื่น แต่ก็เป็นความรักแบบเด็กๆ มาก”

จากโรงเรียนหญิงล้วนแห่งแรก แตงย้ายมาเรียนชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนรัฐขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นโรงเรียนหญิงล้วนเหมือนกัน แต่สิ่งที่เปลี่ยนไป คือ มุมมองของคุณครูและเพื่อนใหม่ ที่ดูจะไม่ปลื้มความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิงสักเท่าไหร่

“ตอนแรกก็ไม่รู้ว่าเพื่อนๆ ในกลุ่มคิดยังไง แต่พออยู่ๆ ไป ถึงรู้ว่าเขาต่อต้านพวกหญิงรักหญิง มองว่าต้องมีแฟนเป็นผู้ชายถึงจะดี เราก็จ๋อยเลย ต้องพยายามปกปิดความรู้สึก เวลาอบรมหน้าเสาธง ครูก็จะบอกว่า ไม่ให้นักเรียนไปอยู่กันสองต่อสองตามมุมต่างๆ ในโรงเรียน ตอนนั้นเราก็งง เพราะโรงเรียนเก่าไม่เคยมีใครมาเตือนแบบนี้”

ด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้แสดงออกได้ ทำให้ชีวิตนักเรียนของแตงไม่ราบรื่นอย่างที่ควรจะเป็น ซ้ำร้ายเมื่อเวลาผ่านไป แตงก็ยิ่งรู้สึกชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า เธอไม่ได้คิดกับเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งแบบเพื่อน แต่คิดถึงขั้นเป็นแฟน เหมือนกับเวลาที่ผู้ชายคบหากับผู้หญิง 

แตงเริ่มรู้จักคำว่า ‘เลสเบี้ยน’ ตั้งแต่ชั้นมัธยมต้น จากการอ่านนิตยสารต่างประเทศ บทความนั้นทำให้เธอใจเต้นรัว เพราะอย่างน้อยเธอก็ไม่ใช่คนเดียวที่มีความรู้สึกแบบนี้ และยังมีคำเรียกแบบนี้ด้วย  

แต่อีกใจก็ยังไม่กล้ายอมรับ เพราะสังคมไทยในเวลานั้นมองว่า คนรักคนเพศเดียวกันเป็น ‘คนที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ’ และถือว่ามีอาการ ‘ป่วยทางจิต’

เธอเคยพยายามหาสาเหตุที่ทำให้เธอรู้สึกแบบนี้ แต่ก็ไม่เจอคำตอบ เพราะรู้ตัวอีกทีก็เป็นแบบนี้แล้ว แต่ที่แน่ๆ เธอค้านหัวชนฝา หากใครจะตีตราว่า ที่เธอเป็นแบบนี้ เพราะอยู่อาศัยอยู่กับป้า อา และแม่ ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้หญิง

“คุณป้าเป็นผู้หญิงเก่ง ถึงจะไม่ได้แต่งงาน แต่คุณป้าก็สามารถบริหารงานและดูแลลูกน้องหลายสิบคนได้ แถมยังเลี้ยงดูเรามาอย่างดี เป็นทั้งพ่อและแม่ ไม่เคยทำให้รู้สึกขาดความรักหรือเป็นเด็กมีปัญหา แต่ถ้าถามว่า ครอบครัวเข้าใจในสิ่งที่เราเป็นไหม เขาไม่เข้าใจ และเราก็เลือกที่จะไม่ปรึกษา เพราะการไปพูดถึงเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ในวัยเรียน ก็ไม่ใช่เรื่องที่เหมาะ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องชอบผู้หญิงแต่ไม่สนใจผู้ชาย”

กระทั่งสอบเข้าคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ ความรู้สึกที่ต้องกล้ำกลืนกับความรู้สึกที่บอกใครไม่ได้ก็ยังคงอยู่ 

แม้ชีวิตในรั้วแม่โดมจะเป็นโลกอีกใบที่ชวนตื่นเต้น ทั้งระบบการเรียนที่เป็นแบบสหศึกษา มีทั้งชายและหญิง ชีวิตที่มีอิสระมากขึ้น เพราะไม่ต้องมีคนมารับ-ส่งเหมือนเคย แต่สิ่งที่น่าหนักใจสำหรับแตงคือ ความคาดหวังจากสังคม ที่มองว่าเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ผู้หญิงก็ควรจะเริ่มคบหากับเพื่อนต่างเพศ แต่กลายเป็นว่า แตงเริ่มคบกับแฟนที่เป็นผู้หญิง

“แฟนคนนี้เราแอบชอบมาตั้งแต่เรียน ม.ปลายแล้ว การมีแฟนสำหรับเรา มันลึกซึ้งกว่าการเป็นคนรัก เพราะมันช่วยลดความโดดเดี่ยว ทำให้รู้สึกว่ามีคนที่เข้าใจ มีประสบการณ์แบบเดียวกับเรา”

แม้หัวใจจะพองโต แต่โลกของแตงก็ไม่ได้เป็นสีชมพูอย่างที่คิด เพราะแตงไม่สามารถเปิดเผยความสัมพันธ์ได้เต็มที่ จนบางครั้งยังมีหนุ่มๆ เข้าใจผิด หลงคิดว่าโสด เลยเข้ามาจีบทั้งเธอและแฟนอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งทั้งคู่ต่างก็น้ำท่วมปาก ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร ได้แต่ปล่อยเลยตามเลย

“ช่วงนั้นรู้สึกเหมือนถูกลดคุณค่า ถูกกดดัน ที่ไม่สามารถแสดงความรู้สึกหรือเป็นตัวของตัวเองได้ทั้งที่เราชัดเจนอยู่แล้วว่ารู้สึกยังไง บางครั้งกลายเป็นเหมือนคนตีสองหน้า อยู่กับกลุ่มหนึ่ง ก็แสดงออกว่าเป็นแฟน แต่พออยู่กับอีกกลุ่มที่รับเรื่องนี้ไม่ได้ ก็ต้องวางตัวเป็นแค่เพื่อนกัน ซึ่งเป็นช่วงที่อึดอัด และเต็มไปด้วยคำถาม”

แม้แต่กับครอบครัวซึ่งน่าจะเป็นพื้นที่ปลอดภัย แตงก็ไม่กล้าเปิดตัวแฟน แถมบางครั้งคุณแม่ก็มาถามอยู่เรื่อยๆ ว่า ‘เมื่อไหร่จะแต่งงาน แม่อยากจะอุ้มหลานบ้าง’ จนสุดท้ายก็เลิกถามไปเอง

“ลึกๆ เราไม่อยากปิดบังแม่ อยากสารภาพกับแม่ตั้งแต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัย เพราะแม่ก็แสดงออกมาตลอดว่า เขาก็รักและเชื่อในตัวลูก ไม่ว่าลูกอยากเป็นอะไร ทำอะไร แต่ตอนนั้นแฟนไม่ยอม เพราะเขากลัวว่า แม่เราจะรู้ว่าเขาก็เป็นหญิงรักหญิง สุดท้ายก็เลยไม่ได้บอก

จนอายุ 24-25 ปี เรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว มีช่วงที่เลิกกับแฟนอีกคน และยังไม่ได้มีแฟนใหม่ เลยชิงบอกแม่เลย ที่ตลกคือ แม่ตอบกลับมาประมาณว่าทำไมต้องบอก เขารู้ตั้งนานแล้วซึ่งเราเหมือนยกภูเขาออกจากอกเลย

อึดอัดกับ ‘สังคม’ ที่ไม่ตกผลึก

หากถามว่าอะไรคือสิ่งโหดร้ายที่กลุ่มคนหลากหลายทางเพศในยุคนั้นต้องพบเจอ ก็คงหนีไม่พ้นการถูกบีบคั้นจากสังคม และอคติที่ฝังลึกมานาน

“เราเริ่มสนใจประเด็นความเท่าเทียมของผู้หญิง ไล่เลี่ยกับตอนที่รู้สึกว่าชอบผู้หญิง รู้สึกว่าทำไมผู้ชายมีอิสระที่จะทำนู่นทำนี่ แต่ผู้หญิงกลับถูกฝึกให้ทำแต่งานบ้านหรือเข้าครัว หรือบางครั้งก็ถูกห้ามไม่ให้ทำสิ่งที่อยากทำ เพียงเพราะเป็นผู้หญิง”

ความรู้สึกถูกกดทับและตีกรอบจากสังคม ทำให้ช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แตงซึ่งเวลานั้นเป็นนักศึกษาชั้นปี 2 เริ่มหันมาสนใจประเด็นสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะกลุ่มสตรีอย่างจริงจัง เธอรวมกลุ่มกับพวกพ้อง ด้วยความตั้งใจที่จะเปลี่ยนสังคมให้มีความเท่าเทียมอย่างแท้จริง

แต่น่าเสียดาย แม้แตงจะทำงานกับคนที่มีความคิดก้าวหน้า แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกประเด็นจะเป็นที่ยอมรับ หนึ่งในนั้นคือความหลากหลายทางเพศ ซึ่งถูกมองว่าเป็นความผิด เป็นเรื่องต้องห้ามเหมือนเดิม

“ช่วงที่เรียนอยู่ปี 2 เรากับแฟนก็ไปร่วมกลุ่มที่ทำงานขับเคลื่อนเพื่อความเท่าเทียม แต่ปรากฏว่า ทำไปทำมา กลับถูกสมาชิกในกลุ่มกดดันจนต้องเลิกกับแฟน เพราะเขามองว่า การเป็นหญิงรักหญิง เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้แก่เยาวชน มันเป็นสถานการณ์ที่เจ็บปวดมาก เพราะแม้แต่คนที่ทำงานด้านนี้ ก็ไม่ได้เข้าใจสิ่งที่เราเป็น”

ไม่ใช่แค่คนนอกเท่านั้นที่ไม่เข้าใจ แม้แต่โลกของหญิงรักหญิงด้วยกันเอง ก็ยังมีความพยายามแบ่งแยก จัดกลุ่ม กำหนดนิยามอย่างชัดเจน ซึ่งดูเหมือนแตงจะเข้ากับกลุ่มไหนไม่ได้เลย

“ส่วนใหญ่เขาจะมีการเลือกอัตลักษณ์ว่า เป็นทอม หรือเป็นดี้ พอเราไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นทอมหรือดี้ เราแค่เป็นผู้หญิงที่ชอบผู้หญิง เขาก็ไม่เข้าใจ ก็มองว่าเราประหลาด แถมเรียกเราว่าเป็นพวกครึ่งบกครึ่งน้ำ” 

หลังเรียนจบมหาวิทยาลัย เธอก็เข้าไปเป็นอาสาสมัครทำงานที่กลุ่มสิทธิสตรีกลุ่มหนึ่ง แต่สุดท้ายก็ยังอยู่ในวังวนเดิมๆ เพราะพอพูดว่า ประเด็นหญิงรักหญิงควรเป็นหัวข้อหนึ่งในเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมของสตรี สมาชิกบางคนก็ไม่เข้าใจ บางครั้งก็แสดงออกในเชิงล้อเลียน และพยายามโต้แย้งว่า หญิงรักหญิงเป็นคนละเรื่องกับสิทธิสตรี

“เรามองว่า ผู้หญิงควรมีสิทธิเลือกว่าจะเป็นอะไร ทำไมผู้หญิงต้องถูกบังคับให้เป็นแม่หรือเมียเท่านั้น ทำไมคนเราต้องอยู่ภายใต้กรอบที่บอกว่าคนเรามี 2 เพศ ถ้าเกิดมาด้วยกายภาพแบบหนึ่ง ก็ต้องสวมบทบาทแบบนี้ และต้องชอบพอกับเพศตรงข้าม ซึ่งเรามองว่าชุดความคิดนี้มันหยั่งรากลึกมาก จนกลายเป็นอุปสรรคเวลาจะขับเคลื่อนเรื่องอะไรต่างๆ ในยุคนั้น”

ท่ามกลางความรู้สึกอึดอัดกับทัศนคติแบบเดิมๆ แตงตัดสินใจออกไปเผชิญโลกกว้าง ด้วยการไปเรียนต่อด้านการพัฒนาสตรีที่ International Institute of Social Studies กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์

ตอนที่มหาวิทยาลัยตอบรับ เรายังไม่มีค่าเทอมด้วยซ้ำ มีแค่เงินที่อาให้ติดตัวไปเป็นค่าใช้จ่ายนิดหน่อย ก็เลยไปบอกเขาขอยกเว้นค่าเล่าเรียนนะ ซึ่งก็โชคดีมากที่เขาให้เพราะที่นี่เน้นการช่วยเหลือนักเรียนกิจกรรมและข้าราชการจากประเทศโลกที่สาม แล้วพอเริ่มเรียนสักพัก เราก็รู้ว่าเพื่อนหลายคนได้ทุนการศึกษาด้วย อาจารย์ก็พาไปรู้จักกับ Mama Cash Fund ซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นเพื่อทำงานเรื่องสิทธิสตรี และเลสเบี้ยนด้วย เขาก็ให้เงินค่าอาหาร ค่าที่พัก ซึ่งไม่เยอะหรอก แต่ก็ช่วยได้มาก

ชีวิตในต่างแดนของแตงถือว่ามีสีสันไม่น้อย เพราะนอกจากความรู้ในห้องเรียน เธอยังได้เห็นว่า สังคมเมืองนอกเปิดกว้างเรื่องเพศแค่ไหน

ช่วงนั้นเธอมีโอกาสได้เรียนรู้การทำงานของกลุ่มผู้หญิงและกลุ่มเลสเบี้ยน รวมทั้งเป็นสมาชิกของกลุ่ม ILIS (International Lesbian Information Service) ซึ่งทำงานเรื่องสิทธิของหญิงรักหญิง ตลอดจนเข้าร่วมงานประชุม ILIS Conference ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรก ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และที่นั่นเองที่ทำให้ได้รู้จักกับนักเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิของ LGBTQ+ ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในเอเชีย ทำให้แตงมีความหวังที่จะจัดการประชุมกลุ่มหญิงรักหญิงแบบนี้ในเอเชียบ้าง

หลังตระเวนเดินทางไปสัมผัสการขับเคลื่อนของเครือข่ายสตรีในหลายประเทศ แตงก็ได้กลับมาเมืองไทยชั่วคราวเพื่อต่อวีซ่า รวมถึงหาลู่ทางความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งกลุ่มสิทธิเพื่อหญิงรักหญิงในเมืองไทยขึ้นมา 

เธอจึงร่วมกับเพื่อนอีก 3 คน ตั้งกลุ่ม ‘อัญจารี’ ขึ้นมา เพื่อสนับสนุนให้ผู้หญิงสามารถใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการ ตลอดจนสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหญิงรักหญิง

กลุ่มอัญจารี ถือเป็นกลุ่มที่ทำงานเรื่องสิทธิของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศกลุ่มแรกๆ ของเมืองไทย โดยคำว่า ‘อัญจารี’ นั้นไม่ได้มีแรงบันดาลใจจากชื่อ ‘อัญชนา’ แต่อย่างใด แต่เกิดจากการนำคำว่า ‘อัญญ’ ซึ่งแปลว่า ต่างไปหรือแปลกไป มาผสมกับ ‘จารี’ ที่แปลว่า ผู้ที่เดินบนเส้นทาง รวมกันแล้วหมายถึงผู้ที่เดินบนเส้นทางที่แตกต่าง เนื่องจากเธอไม่อยากใช้คำภาษาอังกฤษอย่าง ‘เลสเบี้ยน’ ตรงๆ เพราะเชื่อว่าจะเกิดกระแสต่อต้านตามมาอย่างแน่นอน

หากแต่การทำงานระยะแรก เมื่อปี 2529 นั้นต้องเรียกว่าล้มลุกคลุกคลาน เพราะความคิดเรื่องเพศหลากหลายในสังคมไทยตอนนั้นต้องถือว่าติดลบ ที่สำคัญคือ สมาชิกส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจากตรงไหน และทำอย่างไรให้กลุ่มเป็นที่รู้จัก ที่สำคัญคือ การลุกขึ้นประกาศตัวผ่านสื่อสาธารณะว่าเป็น หญิงรักหญิง ก็ต้องอาศัยความกล้าอย่างมาก

“ถึงทุกวันนี้ สมาชิกที่ร่วมกันก่อตั้งกลุ่ม ก็ยังไม่มีใครกล้าเปิดตัว มีแค่เราคนเดียว เพราะแต่ละคนก็มีตำแหน่งหน้าที่การงาน เลยกลัวว่า ถ้าเปิดเผยตัวตนออกไป จะโดนดูถูกหรือดิสเครดิต”

การที่ไม่มีใครกล้าเปิดตัว ทำให้งานของกลุ่มอัญจารีไม่คืบหน้าและไม่เห็นผลที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ส่วนใหญ่มักจำกัดอยู่ที่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างสมาชิกด้วยกัน

เวลาผ่านไปปีครึ่ง แตงกลับไปทำงานช่วยเหลือผู้หญิงที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ที่เนเธอร์แลนด์ ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้หญิงไทยจำนวนไม่น้อยถูกหลอกไปค้าประเวณีหรือใช้แรงงานด้วย โดยระหว่างนั้นก็ยังคงติดต่อกับสมาชิกกลุ่มเป็นระยะ

กระทั่งปี 2533 ช่วงใกล้กลับเมืองไทย แตงหยิบยกไอเดียเรื่องการจัดประชุมหญิงรักหญิงในเอเชียกลับมาปัดฝุ่น และเริ่มประสานงานกับเพื่อนนักกิจกรรม พร้อมขอทุนจาก Mama Cash Fund จนเกิดเป็นงาน Asian Lesbian Network (ALN) โดยมีกลุ่มอัญจารีเป็นเจ้าภาพ นับเป็นการประชุมในประเด็นผู้หญิงรักผู้หญิงเป็นครั้งแรกในภูมิภาค และมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหลายประเทศ อาทิ อินเดีย บังกลาเทศ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ 

เราไม่ได้หวังจะเรียกร้องประเด็นอะไรเป็นพิเศษ แค่อยากมีพื้นที่พบปะแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มหญิงรักหญิงด้วยกัน ซึ่งในไทยเองก็ไม่ได้เป็นข่าวมาก เพราะเราไม่กล้าเปิดตัวมาก และไม่รู้ว่าจะส่งข่าวออกไปอย่างไร

แต่อย่างน้อย นี่ก็เป็นถือเป็นก้าวย่างสำคัญที่ทำให้เกิดความร่วมมือในระดับนานาชาติ เพราะแตงเคยถึงขั้นร่วมเดินขบวนเพื่อยื่นหนังสือต่อองค์การสหประชาชาติ ให้ตระหนักถึงเรื่องสิทธิของคนรักเพศเดียวกัน โดยที่ผ่านมา แตงได้เป็นตัวแทนกลุ่ม LGBTQ+ ไปร่วมงานระดับโลกแล้วหลายครั้ง

หนึ่งในนั้นคือ เมื่อปี 2537 เธอได้รับเชิญให้ขึ้นพูดที่ Central Park นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในงาน 25 ปีของเหตุจลาจล Stonewall ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ชุมชนเกย์และเลสเบียน ใน Stonewall Inn ลุกขึ้นมาต่อสู้กับตำรวจที่พยายามใช้กฎหมายและความรุนแรงในการปราบปรามกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ จนนำไปสู่ขบวนการปลดแอกเกย์ครั้งแรกๆ ของโลก และเกิดการแก้กฎหมายเพื่อให้ LGBTQ+ กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอเมริกันอย่างเท่าเทียม

งานนั้นถือเป็นงาน Gay Pride ที่ใหญ่มาก มีคนมาร่วมหลายแสนคน แล้วเขาก็ให้นักกิจกรรมแต่ละประเทศขึ้นมาพูด ตอนนั้นเราเองก็ไม่รู้มาก่อนว่าต้องขึ้นด้วย ก็พูดไม่ค่อยถูกเท่าไหร่ คล้ายๆ ว่าเราดีใจด้วยที่มีคนมาร่วมงานเยอะขนาดนี้ แล้วก็นึกถึงที่บ้านเราว่าเมื่อไหร่จะมีแบบนี้บ้าง เมื่อไหร่เราจะได้รับสิทธิและการยอมรับแบบนี้บ้าง อีกครั้งหนึ่งเราได้รับเชิญไปงาน Gay Games ที่อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ ก็ยิ่งใหญ่เหมือนกัน เข้าใจว่าตอนนั้นมีคนไทยหลายคน จำได้ว่ามีคนถือป้าย Thailand ด้วย

เครือข่ายหญิงรักหญิง ผ่านตู้ ปณ.

แม้จะขับเคลื่อนได้ค่อนข้างช้า แต่กลุ่มอัญจารีก็ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ความพยายามของพวกเธอเป็นรูปเป็นร่าง คือ การกล้าก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง โดยเฉพาะการพยายามสร้างเครือข่ายกับคนที่ต้องเผชิญสถานการณ์เดียวกันให้มากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ การเปิดตู้ ปณ. 32 ราชดำเนิน เพื่อเป็นช่องทางให้กลุ่มหญิงรักหญิงติดต่อสื่อสารกับกลุ่มอัญจารีได้ง่ายขึ้น

“พอทำไปสักพัก เราก็มานั่งคุยกันว่า ปัญหาของเรา คือ ไม่มีช่องทางการสื่อสารที่ชัดเจน ตอนนั้นก็คิดอยู่ว่าจะเลือกบ้านใครดี เพราะไม่มีใครพร้อมเปิดตัวเลย เพราะแค่ใช้บัตรประชาชนไปขอตู้ ปณ.ก็ยังไม่ยอม สุดท้ายก็มาตกที่เรา ซึ่งเป็นคนบ้าระห่ำสุด”

ในช่วงแรกที่เปิดตู้ไปรษณีย์ยังไม่ค่อยมีจดหมายส่งเข้ามา เพราะที่ผ่านมากลุ่มอัญจารีเป็นที่รู้จักในวงแคบมากๆ จนกระทั่งภายหลังเริ่มมีสื่อมาสัมภาษณ์ อาทิ นิตยสารคู่สร้างคู่สม ซึ่งเป็นนิตยสารที่มียอดขายสูงสุดของประเทศในตอนนั้น แตงก็ได้ขอให้นิตยสารใส่ที่อยู่ ตู้ ปณ.ลงไปด้วย 

นิตยสารอีกเล่มที่เป็นกระบอกเสียงสำคัญช่วยกระจายให้ชื่อของกลุ่มอัญจารีเป็นที่รู้จักในวงกว้างคือ ‘แปลก’ มีคอลัมน์ยอดฮิตคือ ลุงโก๋ ซึ่งเป็นที่นิยมของกลุ่มชายรักชาย ที่ผิดหวังในความรัก ส่งจดหมายมาขอกำลังใจและความเห็นใจ

“ตอนอายุ 19 เคยทำงานเป็นคนแปลหนังสือการ์ตูนมาก่อน แล้วก็ไปเจอหนังสือแปลกนี่แหละ เปิดมาก็เห็นคอลัมน์ลุงโก๋ ซึ่งมีจดหมายของเกย์เยอะมาก ก็เลยอยากลองเขียนถึงบ้าง แต่ไม่กล้าใช้ชื่อจริง ก็เลยใช้ชื่อว่า ‘อิตถีสตรีเพศ’ แทน แล้วก็บอกลุงโก๋ว่า ทำไมไม่มีพื้นที่ให้หญิงรักหญิงบ้าง เราก็มีปัญหาเหมือนกัน จำได้ว่าเขียนแบบสวิงๆ หน่อย ประมาณว่าเคยหลงรักครูที่สอน แอบมองครู แต่ก็ไม่มีใครเข้าใจ ปรากฏว่าเขาลงให้ แล้วหลังจากนั้นก็มีหญิงรักหญิงเขียนเข้ามาเรื่อยๆ จนตอนหลังเขาก็ไปเปิดอีกคอลัมน์ เป็นตอบจดหมายหญิงรักหญิง ในนิตยสารอีกเล่มชื่อ ‘ประหลาด’ แทน” 

หลายปีผ่านมา คอลัมน์ของลุงโก๋ก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม แตงจึงคิดว่า น่าจะส่งจดหมายอีกฉบับว่า ตอนนี้เธอมาตั้งกลุ่มอัญจารีแล้ว เพื่อลุงโก๋จะช่วยโปรโมตให้ แต่ครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม เพราะเธอไม่ได้ใช้นามปากกา และลงท้ายจดหมายด้วยชื่อและนามสกุลจริง ซึ่งปรากฏว่าลุงโก๋ก็ยังใจดีเหมือนเดิมลงทั้งจดหมาย ลงให้ทั้งตู้ ปณ. ยกเว้นแต่ชื่อที่ลงแค่คำว่า ‘อัญชนา’ เท่านั้น

หลังเปิดตัวกับสื่อ ปรากฏว่ามีจดหมายหลั่งไหลเข้ามาหลายพันฉบับ เขียนแนะนำตัวและเล่าประสบการณ์ที่พบเจออย่างเต็มที่ ตอนหลังแตงกับเพื่อนๆ ก็เลยคิดว่า ควรจะมีจดหมายข่าว เพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อกลางของเครือข่าย โดยระยะแรกเน้นเป็นสื่อภายใน ส่งให้แค่สมาชิกเท่านั้น คิดค่าสมัคร 200 บาทต่อปี ทำเป็นฉบับซีร็อกซ์ ก่อนที่ตอนหลังจะพัฒนาเป็น อัญจารีสาร จุลสารรายสองเดือน เชิญคนดังในวงการบันเทิงมาขึ้นปก เพื่อบอกเล่าประสบการณ์หรือมุมมองที่มีต่อกลุ่มหญิงรักหญิง และวางจำหน่ายบนแผงหนังสือทั่วไปอย่างเปิดเผย 

ส่วนเนื้อหาภายในอัญจารีสาร นอกจากจะมีเนื้อหาเป็นการตอบจดหมายที่สมาชิกส่งเข้ามาทางตู้ ปณ. แล้ว ยังมีการอัปเดตข่าวสารในแวดวงหญิงรักหญิงทั้งในไทยและต่างประเทศ มีการแจ้งปฏิทินข่าว กิจกรรม เพื่อนัดหมายสมาชิกให้มาพบปะและร่วมทำกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ  

“จดหมายที่ส่งเข้ามาทางตู้ ป.ณ.ส่วนใหญ่ จะเป็นการระบายถึงชีวิตที่ไม่มีทางเลือกของหญิงรักหญิง ที่รู้สึกผิดกับสิ่งที่เป็น เพราะมองว่าเป็นการสร้างความเสื่อมเสียให้ครอบครัว บางคนไม่กล้าไปสมัครงาน เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้มีเพศสภาพตรงตามที่สังคมคาดหวัง จนทำให้รู้สึกไม่มั่นใจในความเป็นตัวของตัวเอง รู้สึกโดดเดี่ยวและขาดความมั่นคงในชีวิต

“เพราะสำหรับกลุ่มหญิงรักหญิงในยุคนั้น การมีแฟนมันไม่ใช่แค่เรื่องความรักเท่านั้น แต่ยังเป็นการที่มีคนสักคนยอมรับตัวตนของเราด้วย ดังนั้น เวลาที่ต้องเลิกกัน หลายคนจึงเฮิร์ตมาก เพราะไม่ใช่แค่การสูญเสียแฟนที่รัก แต่เหมือนเป็นการสูญเสียโลกใบเล็กๆ ที่เข้าใจเราไปด้วย”

อย่างจดหมายฉบับหนึ่งที่ทำให้แตงสะเทือนใจถึงขั้นน้ำตาคลอทุกครั้งที่นึกถึง ส่งมาจากครูคนหนึ่งในต่างจังหวัด เพื่อแจ้งว่า อยากจะขอยกเลิกการบอกรับอัญจารีสาร

“เวลาที่เราจะส่งหนังสือ เราจะใส่ซองสีน้ำตาล แล้วไม่ใส่ชื่ออัญจารีสาร เพราะรู้ว่าหลายคนมีปัญหา ซึ่งเคสของคุณครูคนนี้ เขาเขียนมาบอกว่า ตอนนี้ชีวิตเขาเปลี่ยนไปแล้ว เพราะตอนที่หนังสือมาถึงเป็นช่วงปิดเทอม แล้วเขาไม่อยู่ คนงานก่อสร้างก็เลยรับไว้แทน พอเขากลับมาก็เห็นซองมันถูกเปิด ก็เลยรู้ว่า คงถูกอ่านแล้ว แล้วตอนนั้นคนรอบข้างก็มองเขาด้วยสายตาที่ดูถูกเหยียดหยาม จนเขารู้สึกว่า ไม่สามารถอยู่ตรงนี้ เขาก็เลยตกลงเลิกกับแฟน และขอย้ายจากโรงเรียน เพื่อให้พ้นสภาพตรงนี้

เขาบอกว่า เขาเลิกกันด้วยดีนะ ด้วยความเข้าใจ จากนั้นก็แต่งงานกับผู้ชายที่ติดตามชอบเขามานานแล้ว และตอนนี้ก็กำลังตั้งท้อง จดหมายนี้ประมาณ 30 ปีแล้ว ก็อยากรู้เหมือนกันว่า เขาจะเป็นอย่างไรบ้าง เพราะเราก็ไม่ได้รับข่าวจากเขาอีกเลย แล้วเราก็ไม่ได้พยายามติดต่อนะ แต่เรารู้สึกเสียใจเหมือนกันว่า จดหมายข่าวของเราทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยน และมันสะท้อนว่าสังคมมันบีบคนยังไงโดยไม่ต้องลงโทษ ไม่ต้องเฆี่ยนตี แล้วเขาก็ไม่สามารถเลือกชีวิตของตัวเองได้

แม้ที่ยืนและสิทธิของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในยุคนั้นจะตีบตันเพียงใด ถึงขั้นเคยมีหนังสือแนะนำพ่อแม่ว่าจะเลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้โตขึ้นเป็นคนผิดเพศ แต่แตงและเพื่อนๆ ก็ไม่ท้อถอย

และจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ทุกคนหันมาใส่ใจเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่ม LGBTQ+ นั้นเกิดขึ้นเมื่อปี 2540 หลังจากเกิดกรณีสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งซึ่งมีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ ประกาศไม่รับ ‘ผู้มีความเบี่ยงเบนทางเพศ’ เข้าเป็นนักศึกษาคณะครุศาสตร์  

แตงจำได้ดีว่า เธอทราบเรื่องนี้จากประกาศเล็กๆ ในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารฉบับหนึ่ง รู้สึกไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง จึงทำจดหมายเรียกร้องไปยังคณะรัฐมนตรี

“จำได้ว่าชวนเพื่อนในกลุ่มอัญจารีแต่ไม่มีใครไปเลย ก็เลยบ้าจี้ไปชวนเพื่อนอีกกลุ่มที่ทำเรื่องสิทธิสตรี ก็ไปแค่ 2-3 คน ซึ่งปรากฏว่าประเด็นนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนอย่างมาก และกลายเป็นดีเบตครั้งสำคัญของเมืองไทย ซึ่งตอนนั้นก็มีความพยายามอธิบายจากฝั่งนั้นเหมือนกัน แต่เราก็คิดว่า ไม่ควรให้ฝ่ายนั้นพูดอยู่ข้างเดียว ก็เลยไปขึ้นเวทีกับเขาด้วย

“จำได้เลยว่าตอนนั้นไปช่อง 11 ซึ่งเป็นของรัฐบาล แล้วก็มีตัวแทนต่างๆ เช่นรองอธิการบดีมานั่งคุยด้วย แล้วเขาก็พยายามโจมตีว่า พวกนี้เป็นกลุ่มที่มีปัญหา ถ้าให้เข้าเรียนเป็นครูแล้วจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีกับเด็ก เด็กจะเลียนแบบ ผู้ชายทาเล็บสีแดง ผู้หญิงไม่ใส่กระโปรง ซึ่งเรารู้สึกว่า เราจะวัดค่าของคนแบบนี้ไม่ได้ เถียงกันไปเถียงกันมา รู้สึกว่าตัวเองถูกกดขี่มากเลย เหมือนโดนเอาไปเชือด พอลงจากเวทีต้องรีบเข้าห้องน้ำไปอาเจียนเลย เพราะเครียดมาก แล้วยิ่งตอนหลังเรามาเห็นทีหลังบนจอว่า ในภาพข่าวมีการขึ้นตัวอักษรวิ่งแทรกบนจอ แล้วก็มีข้อความโจมตีเราสารพัด”

แต่โชคดีที่สังคมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับประกาศดังกล่าว กระแสก็ตีกลับ หลังจากนั้นเธอก็ไปขึ้นเวทีอีกหลายแห่ง รวมทั้งได้รับเชิญให้ไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร จนในที่สุดสถาบันแห่งนั้นก็ต้องยอมถอย และประกาศยกเลิกกฎเกณฑ์นี้

ผลของการขับเคลื่อนครั้งนี้ ส่งผลให้ชื่อของแตงกับกลุ่มอัญจารีกลายเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง มีรายการโทรทัศน์และนิตยสารต่างๆ ติดต่อขอสัมภาษณ์ ซึ่งเธอก็ใช้โอกาสนี้อธิบายให้สังคมเข้าใจถึง สิทธิที่ควรจะเป็นของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะหญิงรักหญิง

“มีอยู่ครั้งหนึ่งไปออกรายการทีวี เขาก็ให้คำถามมาก่อนว่า หญิงรักหญิงเป็นยังไง ใช้ชีวิตยังไง แล้วเคยเจอปัญหาอะไรมาบ้าง แล้วตอนจบเขาให้ขมวดตอนท้ายว่า ช่วยแนะนำพ่อแม่หน่อยว่าจะทำยังไงไม่ให้ลูกเป็นแบบนี้ ซึ่งเราก็คงไปเปลี่ยนคำถามไม่ได้ เราก็ตอบมาเรื่อยๆ จนถึงคำถามนี้ ก็เลยบอกว่า โอ้โหถามกันขนาดนี้เลยเหรอ มันไม่แรงไปเหรอ คือโยนกลับไปให้ผู้ชมคิดเอง

“แล้วเราก็หันไปที่กล้อง ไม่รู้ว่าไปหัดมาจากไหน แล้วก็ทำตาแข็งๆ บอกว่า ฉันก็เป็นหญิงรักหญิงนี่แหละ แล้วก็มีความสุขสบายดี ไม่ได้รู้สึกผิดปกติอะไร ขอให้ทุกคนมั่นใจแล้วกันที่จะเป็นเป็นตัวเอง แล้วอีกหลายสิบปีต่อมา เจอคนที่ทำกิจกรรมหญิงรักหญิงเหมือนกัน เขาบอกว่าตอนนั้นกินก๋วยเตี๋ยวอยู่ ตะเกียบตกจากมือเลย” อัญชนากล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ

และนั่นเองคือ ก้าวย่างสำคัญของการขับเคลื่อนเครือข่าย LGBTQ+ ที่ต้องเอาความทุ่มเทเข้าแลก เพื่อให้ผู้คนในสังคมไทย แม้จะเป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ หันมาตระหนักถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าเพศใดๆ ก็ควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม

ฉันก็เป็นหญิงรักหญิงนี่แหละ แล้วก็มีความสุขสบายดี ไม่ได้รู้สึกผิดปกติอะไร ขอให้ทุกคนมั่นใจแล้วกันที่จะเป็นเป็นตัวเอง

อัญชนา สุวรรณานนท์ : ‘อัญจารี’ การต่อสู้ของนักขับเคลื่อน LGBTQ+ รุ่นบุกเบิกของเมืองไทย

ในวันที่สังคมเติบโต

ทุกวันนี้สังคมไทยนั้นเปิดกว้างเรื่องเพศกว่าเดิม แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด แต่อย่างน้อยความเชื่อและกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เคยบีบรัดกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศก็คลายตัวมากขึ้น และแน่นอน คงปฏิเสธไม่ได้ว่า รากฐานของความเปลี่ยนแปลงนี้ส่วนหนึ่งก็มาจากการขับเคลื่อนของเหล่าอิฐก้อนแรกๆ ที่ช่วยกันอย่างเต็มที่ เพื่อให้ผู้คนหันมามอง

ทว่าต้องยอมรับว่า ในช่วงหลังๆ บทบาทของแตงและกลุ่มอัญจารีอาจจะไม่ได้คึกคักเท่าในอดีต เหตุเพราะเธอมีปัญหาสุขภาพ และบางช่วงก็ย้ายไปทำงานต่างประเทศ ส่งผลให้การทำงานขาดช่วงไปโดยปริยาย แต่นั่นก็ไม่เป็นปัญหาเลย เพราะทุกวันนี้โลกเริ่มเปิดกว้าง กลุ่มคนหลากหลายทางเพศกล้าแสดงตัวมากกว่าเก่า รวมทั้งยังมีเครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่ตั้งกลุ่มและทำงานในเชิงสังคมอย่างต่อเนื่อง

แต่ก็ใช่ว่าเธอจะวางมือจากงานรณรงค์ไปเลย เพราะอย่างเมื่อปี 2556 แตงและเพื่อนๆ ก็เป็นหนึ่งในภาคีสำคัญในการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อให้คู่รักที่มีเพศกำเนิดเหมือนกันสามารถสมรสได้ และได้รับการคุ้มครองและมีสิทธิเหมือนกับคู่สมรสที่เป็นหญิง-ชาย

เหตุผลที่กลุ่มอัญจารีเข้ามาขับเคลื่อนประเด็นนี้ เนื่องจากแตงได้รับเชิญไปเข้าร่วมคณะทำงานที่ตั้งขึ้นเพื่อหาทางออกให้คู่ชายรักชายที่เรียกร้องความเป็นธรรมเนื่องจากถูกปฏิเสธไม่ให้จดทะเบียนสมรส คณะทำงานนี้ตั้งขึ้นโดยคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนแห่งรัฐสภา นั่นเป็นจุดเริ่มแรกของความพยายามแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป

ครั้งนั้น แตงพยายามเสนอเรื่องการสมรสเท่าเทียม โดยให้แก้ไขกฎหมายสมรส ซี่งก็คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อเปิดให้คู่แบบไหนก็จดทะเบียนสมรสได้ แต่คณะทำงานไม่เห็นด้วยกับแนวทางนั้น พร้อมบอกว่า เรื่องแบบนี้ต้องค่อยเป็นค่อยไป และห้ามเด็ดขาดที่จะแตะต้องกฎหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

สุดท้ายเป้าหมายที่แตงตั้งใจไว้ก็ไม่เกิดขึ้น เนื่องจากที่ประชุมปฏิเสธแนวทางการแก้ไขกฎหมายสมรส และให้ใช้แนวทางให้สิทธิคู่เพศเดียวกันจดทะเบียนคู่ชีวิต คณะทำงานจึงได้ยกร่างพระราชบัญญัติจดทะเบียนคู่ชีวิตขึ้นมาเพื่อเตรียมนำเสนอต่อรัฐสภา ซึ่งเมื่อเทียบสิทธิแล้ว ต้องถือว่า ‘คู่ชีวิต’ ด้อยกว่าคู่สมรสมาก ทั้งการรับมรดก การได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลของคู่สมรส หรือแม้แต่การตัดสินใจทางการแพทย์ในวาระสุดท้าย

สำหรับแตงแล้ว ร่างกฎหมายนี้ นับเป็นครั้งแรกที่มีการตรากฎหมายกำหนดให้สิทธิของคนรักเพศเดียวกันต่ำต้อยกว่าคนรักต่างเพศอย่างชัดเจน

“เรารู้ว่ากฎหมายคู่ชีวิตมันไม่ตอบโจทย์ เพราะส่วนตัวก็จดทะเบียนคู่ชีวิตกับแฟนคนอังกฤษเหมือนกัน เราถึงรู้ว่าสิทธิมันไม่เท่ากัน พอเราถือทะเบียนคู่ชีวิตไปที่อื่นเขาก็ไม่สนใจหรอก อย่างในประเทศไทยก็เหลือสถานะเป็นแค่เพื่อน แล้วสุดท้ายประเทศอังกฤษก็ต้องกลับมาแก้กฎหมายสมรสให้เกิดความเท่าเทียมกันอยู่ดี เพียงแต่ตอนนั้น คนอาจจะยังไม่เข้าใจสักเท่าไหร่ และพอเราปฏิเสธแนวทางจดทะเบียนคู่ชีวิต เขาก็มองว่า เราไปขัดโอกาสที่จะได้รับการคุ้มครอง ซึ่งเราก็เข้าใจเพราะมันเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับบ้านเรา”

ในที่สุด ร่างกฎหมายจดทะเบียนคู่ชีวิตฉบับแรกนั้นก็ไม่ได้เข้าสู่รัฐสภา เนื่องจากมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรและประกาศเลือกตั้งใหม่

ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ขับเคลื่อนประเด็นความหลากหลายทางเพศ ต้องยอมรับว่า กลุ่มอัญจารีนั้นมีบทบาทอย่างมาก ในฐานะหนึ่งในผู้กล้าที่จุดประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาในสังคม

สำหรับแตงแล้ว ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากแรงกาย แรงใจ และแรงสมองของทุกคนที่อุทิศตัวทำงาน ไม่ใช่แค่ผู้นำเพียง 1-2 คน แน่นอนแม้คนทั่วไปอาจไม่รับรู้การมีอยู่ของพวกเขา เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้มายืนต่อหน้าสื่อ แต่ทุกคนต่างก็มีเจตนารมณ์อยากจะเห็นสังคมไทยดีกว่าเดิม 

“สิ่งสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมคือ เมื่อผู้ที่ถูกระบบสังคมกดขี่อย่างไม่เป็นธรรมลุกขึ้นมาคัดค้านระบบที่กดขี่นั้น มันจะเริ่มที่การเกิดความตระหนักว่าระบบสังคมนี้ไม่เป็นธรรม และเกิดการรวมตัวกันของคนที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงการประสานกับเพื่อนพ้องเครือข่ายที่สนับสนุนให้เกิดความเป็นธรรมในประเด็นนั้นๆ นี่คือพลังสำคัญที่อยู่เบี้องหลังความสำเร็จของกลุ่มอัญจารีในอดีตที่ผ่านมา”

และถึงจะปล่อยมือจากงานขับเคลื่อน แต่ความตั้งใจที่จะช่วยสร้างสังคมที่เท่าเทียมก็ยังคงมีอยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แตงจึงผันตัวไปเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจประเด็นเหล่านี้แทน 

“พอหยุดอัญจารีไปได้สักพัก เราก็มาทำงานให้กับ UNESCO เกี่ยวกับความเท่าเทียมในระบบการศึกษา ซึ่งประเด็นหนึ่งก็คือความหลากหลายทางเพศด้วย ทำอยู่ปีกว่าแล้ว แล้วก็เมื่อปี 2561-2562 ก็ไปเป็นเจ้าหน้าที่สนับสนุนเรื่องการให้ทุนของมูลนิธิจากต่างประเทศ ซึ่งเขาเน้นสนับสนุนประเด็น LGBTQ+ เรื่องหนึ่งที่โดนใจมากคือ เราอยากสร้างการขับเคลื่อนที่เข้มแข็ง และให้โอกาสคนรุ่นใหม่ เพราะสมัยตอนที่เราทำอัญจารี เราทำแบบไม่มีค่าตอบแทน ต้องหาทุนมาทำกันเอง”

การได้คลุกคลีกับคนรุ่นใหม่ ทำให้แตงเข้าใจและเรียนรู้มากขึ้น และไม่ได้มองความหลากหลายเฉพาะมิติของคนรักเพศเดียวกันเท่านั้น แต่หันไปให้น้ำหนักกับการยอมรับตัวตนของมนุษย์แต่ละคน โดยไม่จำเป็นต้องกำหนดกรอบ นิยาม หรือตีตราว่า คนคนนั้นมีเพศสภาพ หรือมีรสนิยมอย่างไร

เพราะหากเรายอมรับและเข้าใจตรงนี้ได้ การเคารพในศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมของกันและกันก็จะเกิดขึ้น และนั่นเองที่จะนำไปสู่การสร้างสังคมแห่งความสุขที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอใฝ่ฝันมานานหลายสิบปี

โครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก

คนเล็กเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 30 บุคคลผู้สร้างสังคมที่ยั่งยืน และช่วยกันสร้างคุณค่าสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นประเทศ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

อัญชนา สุวรรณานนท์ คือบุคคลต้นแบบประเด็นบรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน (SDGs ข้อที่ 5) และประเด็นลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ (SDGs ข้อที่ 10)

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.