พระจิตร์ จิตฺตสํวโร : จากนักกลยุทธ์โฆษณาสู่ผู้ถ่ายทอด ‘วิชาใจ’

<< แชร์บทความนี้

เมื่อสิบกว่าปีก่อน คนในแวดวงโฆษณาต่างคุ้นเคยกับ โก๋-จิตร์ ตัณฑเสถียร เป็นอย่างดี

เพราะนอกจากเขาจะเป็นพี่ชายของนักแสดงคนดัง พล ตัณฑเสถียร แล้ว เขายังเป็นเจ้าของบริษัทที่ปรึกษา และนักวางแผนกลยุทธ์ในการสร้างแบรนด์และการสื่อสารเบอร์ต้นๆ ของเมืองไทย

ในห้วงเวลานั้น หน้าที่หลักของโก๋ คือการเปลี่ยนของธรรมดาๆ ให้กลายเป็นของที่ใครๆ ก็อยากได้ อยากซื้อ อยากเป็นเจ้าของ และด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนาน บวกกับความเข้าใจในพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นอย่างดี จึงไม่แปลกที่ลูกค้ามากมายต่างรอคอยที่จะทำงานร่วมกับเขา

แต่แล้ววันหนึ่ง โก๋ก็ตัดสินใจทิ้งชีวิตอันรุ่งโรจน์ไว้เบื้องหลัง เพื่อก้าวสู่โลกใบใหม่ ความคิดใหม่ และสถานภาพทางสังคมใหม่ กลายเป็น หลวงพี่โก๋-พระจิตร์ จิตฺตสํวโร พระภิกษุธรรมดาๆ รูปหนึ่ง ที่ปรารถนานำหลักคิดหลักปฏิบัติดีๆ ถ่ายทอดต่อไปยังผู้คนรอบข้าง

และคงเพราะความเป็นคนโฆษณามาก่อน จึงเข้าใจว่าอะไรคือปัญหาที่ทำให้คนมากมายเบือนหน้าจากศาสนา ท่านจึงใช้เทคนิคการถ่ายทอดธรรมะเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน แต่เน้นให้ทุกคนได้เรียนรู้ ฝึกทำความเข้าใจ และทดลองปรับเปลี่ยนจิตใจ ยืนยันได้จากเรื่องราวเล็กๆ ที่ท่านบอกเล่าผ่านเพจ ‘วิชาใจ’ เพจที่หยิบเอาเรื่องราวเกี่ยวกับการเท่าทันจิตใจของตนเองมานำเสนอได้อย่างลงตัว

ท่ามกลางสภาวะที่โลกกำลังเผชิญกับความวุ่นวายสับสน ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอพาทุกคนไปพูดคุยกับหลวงพี่โก๋ 1 ใน 30 บุคคลจากโครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก ถึงเส้นทางชีวิตจากนักโฆษณาสู่ผู้ถ่ายทอดหลักธรรมที่ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้

นักสะสมความคิด

แม้จะเป็นนักวางแผนกลยุทธ์ชื่อดัง แต่ในช่วงวัยเยาว์ หลวงพี่โก๋กลับไม่เคยวางแผนอะไรให้ชีวิตของตัวเองเลย

“สมัยเด็กไม่เคยคิดหรือฝันว่าจะเป็นอะไรเลย อาจเป็นเพราะไม่มีใครมากระตุ้นให้เราฝันด้วย อย่างเก่งก็มองชีวิตข้างหน้าแค่ 1-2 ปีว่าจะเรียนสายวิทย์หรือสายศิลป์ดี จบแล้วจะเอนทรานซ์อะไรต่อ ไม่มีใครมาสอนว่าเราจะต้องวางแผนอะไร”

หลวงพี่โก๋เกิดและเติบโตมาในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน ท่านเป็นลูกคนที่ 8 จากพี่น้องทั้งหมด 9 คน อาศัยอยู่บริเวณแยกปทุมวัน ซึ่งทุกวันนี้เปลี่ยนเป็นหอศิลป์กรุงเทพฯ เรียบร้อยแล้ว

เดิมทีที่บ้านมีธุรกิจเอเยนต์รับสินค้าจากต่างประเทศ กระจายต่อให้ร้านค้าในเมืองไทยอีกทอดหนึ่ง แม้จะไม่ร่ำรวย แต่ถือว่าพออยู่พอกินพอสมควร

ด้วยความที่เป็นลูกพ่อค้า ทางบ้านจึงตั้งใจให้ช่วยทำกิจการต่อ ซึ่งท่านก็ยินดี โดยเลือกเรียนคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามคำแนะนำของผู้เป็นพ่อ

“พ่อไม่ค่อยขออะไร แล้วเราเองก็ไม่ได้มีความสนใจอะไรเป็นพิเศษ จึงยอมเรียน แต่พอไปเรียนจริงก็รู้สึกไม่ชอบ ทำไมโลกมันแคบมีแต่เงินๆ ทองๆ มีแต่ตัวเลข เต็มไปด้วยตรรกะ แต่ก็อยู่ได้นะ ไม่ได้ขบถ หรือเสียใจที่พ่อให้มาเรียน เพราะเป็นคนกลางๆ พอจบก็มาช่วยธุรกิจที่บ้าน แล้วเขาให้โอกาสเราไปเรียนต่อปริญญาโทด้านการเงิน เพราะเห็นเป็นเรื่องจำเป็น”

หากแต่ชีวิตที่แวดล้อมไปด้วยตัวเลขกลับยิ่งทำให้ชายหนุ่มวัย 20 ต้นๆ รู้สึกอึดอัด และเบื่อหน่าย พลางคิดว่าโลกน่าจะกว้างกว่านี้ได้ จึงขออนุญาตพ่อแม่ออกไปทำงานข้างนอก ซึ่งครอบครัวไม่ได้ขัดขวาง หลวงพี่จึงเริ่มมาคิดว่า งานแบบใดที่น่าจะเหมาะสมกับตัวเอง

ก่อนจะตกผลึกว่า งานโฆษณานั้นน่าสนใจที่สุด เพราะถือเป็นงานที่เชื่อมร้อยธุรกิจต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน จึงไปสมัครงานในเอเจนซี ชื่อว่า Dentsu, Young and Rubicam (DY&R) ในตำแหน่ง Account Executive หรือผู้ที่คอยดูแลจัดการและบริหารลูกค้า

“หลวงพี่เข้าไปด้วยความไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ไม่ใช่คนที่เก่งด้วย แต่เรียกว่าได้โอกาสมากกว่า แล้วเรามีเลือดนักสู้ คือไม่เคยมีภาพว่าจะถูกไล่ออกเลยนะ เลยพยายามอย่างหนัก ตอนนั้นไม่มีพื้นฐานทางด้านนิเทศหรือสื่อสารเลย แต่สิ่งที่เรามีคือ ทักษะด้านภาษา หลวงพี่ใช้ภาษาอังกฤษ ตอนนั้นก็เข้าเอเชียบุ๊กส์ตลอด เงินที่ได้จากงาน 2-3 ปีแรกก็อยู่กับร้านหนังสือเป็นหลัก

“เพราะเรารู้สึกรำคาญตัวเอง เราก็ไม่ได้เป็นคนโง่นะ ที่ผ่านมาเราเอนไปทางเรื่องการเงินเป็นหลัก แต่พอมาอยู่ในสายงานใหม่แล้ว เรากลายเป็นคนเงอะงะไปเลย แล้วเราไม่ใช่เด็กแล้ว จบโทมาด้วย พอมาเงอะๆ งะๆ ก็ดูน่าเกลียด จึงพยายามขวนขวาย หาความรู้ด้านการสื่อสารการตลาด ซึ่งพออ่านแล้วสนุก อ่านแล้วได้ใช้”

แต่ด้วยลักษณะงาน AE ซึ่งต้องคอยจัดการเกือบทุกอย่าง ขณะที่ท่านถนัดงานด้านความคิด และการเงินมากกว่า ทำให้หลวงพี่โก๋รู้สึกว่าตนเองไม่ดีพอ แต่โชคดีที่ผู้ใหญ่ยังให้โอกาส เพราะส่วนตัวท่านก็ทำงานอย่างทุ่มเทเต็มที่

กระทั่งผ่านมาปีเศษๆ ไอ๋-ดลชัย บุณยะรัตเวช ผู้บริหารของ DY&R คิดว่า เอเจนซีควรจะมีแผนกวางแผนกลยุทธ์แยกออกมาต่างหาก เพื่อคอยทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างลูกค้า การตลาด และครีเอทีฟ จึงมองหาลูกทีมที่เหมาะสมมาช่วยบุกเบิกงาน และในที่สุดก็มาลงตัวที่หลวงพี่โก๋ ซึ่งนั่นเองที่กลายเป็นก้าวย่างสำคัญที่ทำให้ท่านเข้าสู่แวดวงนักคิด นักวางแผนอย่างเต็มตัว

“มันเหมือนเป็นแดนใหม่ของงานเอเจนซี ตอนนั้นพี่ไอ๋เหมือนแม่ทัพ 2 ทัพ คือครีเอทีฟก็ต้องดูแลทั้ง 100% แล้วมาเปิดอีกขาหนึ่ง ซึ่งมีหลวงพี่เป็นลูกน้องคนเดียว รู้สึกจะเป็นปี 2537 ซึ่งตรงนี้ต้องขอบคุณพี่ไอ๋ที่เขาเห็นศักยภาพของเรา เขารู้สึกว่าเราเป็นนักคิด นักวางแผน แต่ขณะเดียวกันก็มีเซ้นส์ของการบริการ คือไม่ได้ก้าวร้าว ไม่ได้ปฏิเสธการบริการ ตอนนั้นถือเป็นยุคบุกเบิกงานกลยุทธ์การสื่อสาร”

ลักษณะของงานวางแผนกลยุทธ์นั้นคือ การหาวิธีทำให้ความคิดสร้างสรรค์ตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจของลูกค้าให้ได้ เป็นลูกผสมระหว่างงานการตลาดกับงานสร้างสรรค์ ดังนั้นคนที่ทำงานสายนี้จึงต้องมีทักษะทั้งสองด้าน

ข้อดีคือ หลวงพี่โก๋มีความรู้ด้านธุรกิจ แต่มีความสนใจด้านวัฒนธรรมความเป็นอยู่ เนื่องจากสมัยเด็กๆ ครอบครัวของท่านมักส่งลูกๆ ไปต่างประเทศในช่วงปิดเทอม เพราะอยากให้เรียนรู้เรื่องภาษา เพราะพ่อกับแม่ทำงานค้าขายกับต่างประเทศ แต่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ต้องใช้ล่ามแปลตลอด จึงไม่อยากให้ลูกต้องเจอปัญหาแบบเดียวกัน

ช่วงที่อยู่ต่างประเทศ หลวงพี่ไม่ได้ใช้เงินไปกับการซื้อข้าวของ แต่เน้นการดูบ้านเมือง ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ชอบใช้เวลาในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ที่เยาวชนเข้าได้ในราคาประหยัด หรือชมฟรี ซึ่งนับเป็นโอกาสดีที่ทำให้ได้เห็นรูปแบบงานและวัฒนธรรมที่หลากหลาย ซึ่งนำมาใช้ต่อยอดกับงานของตัวเองได้

อย่างไรก็ตาม หากถามถึงงานที่โดดเด่นหรือโด่งดัง หลวงพี่โก๋บอกว่า ไม่ค่อยมีเท่าใดนัก เนื่องจากผลงานที่ออกมานั้นถือเป็นผลงานของครีเอทีฟ ส่วนคนทำงานกลยุทธ์ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้งานนั้นสมบูรณ์และตอบโจทย์มากขึ้นเท่านั้น

“งานกลยุทธ์เป็นเหมือนตัวตั้งต้นนั่นแหละ แล้วก็ให้พี่ๆ ครีเอทีฟเขาทำประตู ส่วนนาทีของเราคือ ตอนที่ดีลกับนักกลยุทธ์ของฝั่งลูกค้า เราทำงานด้านจิตวิทยากับผู้บริโภค เป็นงานหลังครัวมากกว่างานหน้าบ้าน อย่างงานหนึ่งที่พี่ๆ เขาได้รางวัลจากคานส์คือ TA Orange ช่วงที่เริ่มเปิดตัว Wall in Your Heart ยุคนั้นเลย แต่เป็นช่วงท้ายๆ ของชีวิตเอเจนซีแล้ว”

เมื่อนานมาแล้ว หลวงพี่เคยสรุปว่า อาวุธของนักวางแผนกลยุทธ์ คือการเข้าใจจิตวิทยา ซึ่งหลายครั้งมาจากการสัมภาษณ์พูดคุยผ่านคำถามง่ายๆ เช่น อะไรคือความกลัว อะไรคือความฝัน แล้วจะทำยังไงให้โลกนี้น่าอยู่มากขึ้น หลายคนอาจสงสัยว่า คำถามแบบนี้จะไปใช้ในงานโฆษณาได้อย่างไร

ในเวลานั้น หลวงพี่โก๋ยกตัวอย่างโฆษณาเกี่ยวกับผงซักฟอก เช่น ทำไมจึงต้องซักผ้า การซักผ้านั้นก็เกี่ยวกับจิตวิทยาหลายอย่าง ตั้งแต่ชัยชนะจากการขยี้คราบให้ออก หรือ ‘ฉันซักผ้าจนสะอาด ผู้หญิงคนอื่นเห็นลูกฉันสะอาด แล้วจะรู้สึกว่าฉันเป็นผู้หญิงที่ดี สร้างความภูมิใจให้กับฉัน’

หรือซักง่ายจนคุณเอาเวลาไปทำอย่างอื่นได้ เพราะผู้หญิงเหล่านี้มีฝัน เชื่อว่าศักยภาพของตนเองนั้นมีอีกมากมาย ไม่ควรต้องมาขลุกอยู่กับงานบ้านเพียงอย่างเดียว ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับสินค้านำไปวิเคราะห์และประยุกต์ใช้ต่อ เพื่อทำงานที่ออกมาตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด

การได้ทำงานประเภทนี้ นอกจากจะเป็นแหล่งรายได้ที่ดีแล้ว ยังช่วยให้หลวงพี่โก๋ได้สัมผัสความเป็นมนุษย์ในมิติต่างๆ มีโอกาสได้พูดคุยกับคนที่หลากหลายวัย อาชีพ และสถานภาพทางสังคม ตั้งแต่รวยสุด จนถึงยากจนสุด

บางครั้งต้องเข้าไปสัมผัสกับผู้คนในชุมชนแออัด เพื่อศึกษาข้อมูลต่างๆ เช่น ทำไมถึงอยากจะซื้อลูกอมสามเม็ดบาท ซึ่งยิ่งคุยก็เกิดความตระหนักว่า ตัวเรานั้นไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล ไม่ใช่ตัวแทนของคนทุกกลุ่ม และมนุษย์เรานั้นไม่ได้สมบูรณ์แบบเสมอไป

“เราเข้าใจความฝัน เข้าใจความกลัว เข้าใจแรงจูงใจของมนุษย์ แต่หลวงพี่ไม่ได้ทุกข์ร้อนใจนะ เรามีความเป็นมืออาชีพพอ เพราะกฎของเราคือ หลวงพี่ไม่เอาเรื่องต่างๆ มาใส่ใจ แต่เอามาใส่กระดาษ เพราะถ้าเราเอามาใส่ใจแล้วเจออะไรที่บอบช้ำมากๆ ก็ไม่ไหวหรอก หน้าที่ของเราคือ หาประเด็นของมนุษย์ เพื่อจะเอาแบรนด์ไปเชื่อมด้วย ดังนั้นบทสนทนาที่ออกมา จึงไม่ใช่แค่คุณชอบโฆษณา หรือหน้าตาหีบห่อแบบไหน แต่เราต้องไปดูว่า เขาอยู่กันอย่างไร ดีไซน์ที่อยู่รายรอบชีวิตเขาเป็นแบบไหน อย่างพวกซูเปอร์แบรนด์ทั้งหลาย เขาไม่ได้คิดแค่ผลิตภัณฑ์ หรือ งานสื่อสารเท่านั้น แต่เข้าไปทำความเข้าใจชีวิตของผู้คน แล้วคิดว่าจะทำอะไรเพื่อให้ชีวิตถูกยกขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง

“เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำจึงเป็นงานวิจัย เป็นงานเรียนรู้ ทำให้เราต้องทำความรู้จักคนที่อยู่ข้างหน้าในลักษณะ 360 องศา พูดง่ายๆ คือทำความเข้าใจมนุษย์ และแบรนด์แบบ 360 องศา แล้วก็หามุมที่จะเชื่อมทั้งสองเข้าหากันอย่างมีความหมายที่สุด ชนิดที่คนอื่นจะมาแทนที่ไม่ได้ เพื่อให้ได้ใจของผู้บริโภค การทำงานแบบนี้มีข้อดีเยอะมาก เพราะทำให้เราสำรวจและศึกษาทุกอย่างรอบด้าน ทำให้เห็นตัวเอง ทำให้เห็นผู้คน เห็นและยอมรับชีวิตตัวเองและคนอื่นอย่างที่เป็น”

หลวงพี่โก๋เปรียบเทียบการทำงานในห้วงเวลานั้นว่า เป็นการสะสมความคิดของผู้คน ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดได้ไม่มีที่สิ้นสุด ที่สำคัญด้วยความเป็นคนชอบแก้โจทย์ ชอบความท้าทายใหม่ๆ ส่งผลให้ท่านปักหลักทำงานแบบนี้เรื่อยมาด้วยความเพลิดเพลิน

“เราเห็นพี่ครีเอทีฟคนนี้คิดแบบนี้ เขาอ่านโจทย์แบบนี้ ลูกค้าผู้ใหญ่ท่านนี้เจ๋ง อยากเจอบ้าง มันก็เลยเหมือนเป็นของสะสมไปกลายๆ แล้วเราสัมภาษณ์คนเยอะมาก จนเริ่มเห็นความเชื่อมโยงว่าทำไมคนนี้ถึงคิดแบบนี้ แล้วมันทำให้เราเกิดความชื่นชมวิธีการคิดที่ดี  ต่อให้ลูกค้าคนนั้นจะไม่ซื้องานเรา แต่เราชอบวิธีของเขาตั้งแต่เหตุผลที่เขาไม่ซื้อ และวิธีการคอมเมนต์”

แต่ชีวิตของคนเราไม่มีอะไรยั่งยืนและจีรัง หลังอยู่ภายใต้เอเจนซีใหญ่หลายแห่งมานานนับสิบปี ได้ทำงานกับครีเอทีฟที่มีความสามารถมากมาย หลวงพี่โก๋เริ่มอิ่มตัวกับเนื้องานเดิมๆ สนใจทำงานเชิงลึกมากขึ้น บวกกับสังเกตเห็นว่า เอเจนซีหลายแห่งมักเลือกใช้บริการของบริษัทที่ปรึกษาต่างชาติ ที่หลายครั้งก็ไม่รู้จัก ไม่เข้าใจคนไทยเหมือนคนไทยด้วยกัน หากคนไทยสามารถทำสิ่งนี้ได้เองน่าจะได้ผลงานที่ลึกกว่า ตอบโจทย์มากกว่า

ในปี 2545 หลวงพี่โก๋จึงรวมกลุ่มกับเพื่อนตั้งบริษัทวิจัยและที่ปรึกษาแห่งแรกขึ้นมาชื่อ Vitamins Consulting & Research และพอ 4-5 ปีถัดมา ท่านก็รับทำหน้าที่ผู้บริหารให้กับบริษัท HATS Consulting & Research

ระหว่างนั้น หลวงพี่ได้แก้โจทย์กลยุทธ์การสื่อสารให้แบรนด์สินค้ามากมาย 

ทว่าท่ามกลางชีวิตการทำงานที่รุ่งโรจน์ มีลูกค้าติดต่อขอคำปรึกษาไม่ขาดสาย ความสำเร็จนั้นกลับไม่ได้ตอบโจทย์ความรู้สึกในใจมากนัก

หลวงพี่โก๋รู้สึกว่า ขณะที่รู้จักโลกข้างนอกเต็มไปหมด แต่กลับไม่รู้จักตนเองเท่าที่ควร

“พอเรารู้อะไรเยอะๆ แล้วปรากฏว่ามันไม่จบสักที จนวันหนึ่งหลวงพี่นั่งกินโดนัทอยู่ แล้วก็รู้สึกขึ้นมาว่าทำไมเราถึงกลวงโบ๋แบบนี้ ที่เป็นแบบนี้เพราะตาเราพุ่งออกไปแต่ข้างนอก หูเราฟังแต่เสียงคนอื่น แต่เราไม่รู้เลยว่าตอนนี้เราหายใจเข้าหรือหายใจออก เรายังมีความสุขดีอยู่หรือเปล่า”

นั่นเองที่กลายเป็นทางสองแพร่งที่ทำให้นักกลยุทธ์เบอร์ต้นๆ ของเมืองไทยอย่างหลวงพี่โก๋ ต้องกลับมาทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมา และนำไปสู่การตัดสินใจออกเดินสู่เส้นทางสายใหม่ของชีวิต

ภาพจาก Facebook : Bookmoby

ค้นหาเส้นทางใหม่ในโลกของจิตใจ

จุดเริ่มต้นแรกที่หลวงพี่โก๋เริ่มสนใจพุทธศาสนา เกิดขึ้นตอนช่วงปริญญาตรี

สมัยนั้นที่สหกรณ์จุฬาฯ นอกจากจะมีอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องเขียนขายแล้ว ก็ยังมีหนังสือธรรมะจำหน่ายในราคาย่อมเยา ท่านเลยถือเป็นโอกาสดีหยิบติดมือมาลองอ่านด้วย

หนังสือเล่มที่มีชื่ออย่าง ‘คู่มือมนุษย์’ ของท่านพุทธทาสภิกขุ หลวงพี่โก๋ก็เคยซื้อมาอ่าน แต่ด้วยความที่ไม่มีพื้นฐานทางธรรมเลย จึงอ่านแล้วไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าใดนัก

หากเล่มที่เป็นเสมือนจุดเปลี่ยนของชีวิต คงต้องยกให้ สันติภาพทุกย่างก้าว ของ ติช นัท ฮันห์

“หนังสือเล่มนี้อยู่กับหลวงพี่จนจบปริญญาโทเลย เป็นเหมือนคู่มือชีวิตจริงๆ ให้เรารู้จักสังเกตลมหายใจ หยุดความคิดที่กระเจิดกระเจิง เพราะเนื้อหามันสมเหตุสมผลมาก สำหรับหลวงพี่แล้ว นี่คือวิธีการผ่อนคลาย ไม่ต้องคิดอะไรเลย เดินสังเกตลมหายใจเล่น แล้วบ้านหลวงพี่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัย เวลาขี้เกียจรอรถเมล์ก็เดินกลับ เวลาอยู่กับก้าวเดิน เราจะรู้สึกสบายใจดี”

กระทั่งเมื่อเข้ามาอยู่ในวงการโฆษณา หลวงพี่โก๋ได้นำหลักคิดเหล่านี้มาปรับใช้กับการทำงาน เช่นหลายครั้งที่ต้องพบเจอกับเรื่องน่าเศร้าของแหล่งข้อมูลที่ลงไปสัมภาษณ์ แต่ท่านไม่เคยเก็บมาเป็นอารมณ์ หรือแม้แต่เวลาสงสัยถึงคุณค่าชีวิตของตัวเอง ท่านก็ใช้การสงบ และสังเกตจิตใจเป็นตัวช่วยในการทำความเข้าใจจิตใจตนเอง จนเกิดความเข้าใจ และละวางความรู้สึกต่างๆ ได้

นอกจากนี้หลวงพี่โก๋ยังเคยตัดสินใจลาไปบวชครั้งแรกที่วัดราชโอรสนานถึง 3 สัปดาห์ โดยได้อิทธิพลมาจากน้องชายที่เคยบวชมาก่อน แล้วปรากฏว่าจิตใจสงบขึ้น จึงอยากทดลองบ้าง ซึ่งหลังบวชก็พบว่าดีจริงๆ แต่นั่นยังไม่ตอบโจทย์สิ่งที่ต้องการเสียทีเดียว 

“สิ่งที่ทำให้สนใจศาสนาพุทธคือ พุทธสอนให้สังเกต ทำให้รู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า ชีวิต ซึ่งประกอบด้วยร่างกายและจิตใจ ซึ่งธรรมชาติของจิตใจคือ ธรรมชาติของร่างกาย แล้วเราจะอยู่กับสองสิ่งนี้ยังไงให้เกิดประโยชน์ และไม่ทุกข์ ซึ่งตอนที่บวชครั้งนั้นก็เป็นประโยชน์มากๆ เลยนะ แต่มุมหนึ่งมันเหมือนการปฏิบัติในห้อง ซึ่งเรานำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตฆราวาสไม่เป็น ไม่ใช่เขาไม่สอนนะ แต่เราทำไม่เป็น เช่นนั่งสมาธิ ตอนเป็นพระไม่มีธุระอื่นก็ทำได้ แต่พอตอนกลับทำงาน เรามีงานเต็มไปหมดเลย

“อีกอย่างหนึ่งตอนนั้นหลวงพี่ฟังครูบาอาจารย์ภาษาไทยแล้วรู้สึกสงสัย อาจเป็นเพราะชุดคำที่เราไม่คุ้นเคย แม้แต่ตอนอ่านสันติภาพทุกย่างก้าว คนแปลเขาก็แปลดีนะ แต่ยังไม่เข้าใจดี เลยลองไปซื้อหนังสือภาษาอังกฤษแทน อ่านแล้วเข้าใจมากกว่าก็เลยเริ่มอ่านหนังสือธรรมะที่เป็นภาษาอังกฤษไปก่อน”

ยิ่งตอนหลังที่ได้มาอ่านงานของหลวงปู่ติช นัท ฮันท์มากขึ้น เช่น ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ, เดิน วิถีแห่งสติ อีกทั้งหลักธรรมที่หลวงปู่พูดล้วนนำกลับมาประยุกต์ใช้กับชีวิตได้ หลวงพี่โก๋จึงยิ่งอยากเข้าไปสัมผัสแนวคิดนี้ให้ลึกซึ้งขึ้น

ครั้งนั้นท่านใช้วันพักร้อนเกือบทั้งหมด เพื่อเดินทางไปฝึกปฏิบัติที่หมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส

แต่ก่อนเวลาไปพักร้อน ไปญี่ปุ่นหรือไปอะไร พอกลับมาแล้วเรารู้สึกเหนื่อยนะ หรือบางทีก็พยายามเดิน เดินไปไหนก็ไม่รู้ ไม่อยากเห็นอะไรมาก แต่ก็เดินอยู่นั่นแหละ กระทั่งพอไปหมู่บ้านพลัมแล้วมันเหมือนเราได้พัก เหมือนออกจากโลกที่เราคุ้นเคยนิดหนึ่ง ไปอยู่บนเขา ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ไม่มีอะไรเลย มีแต่ต้นโอ๊ก ต้นพลัมเต็มไปหมด ซึ่งตอนไปเราไปปฏิบัติจริงๆ แต่ตอนนั้นยังไม่เคยคิดจะกลับมาบวชเป็นพระนะ เหมือนเรามาเอาความรู้มากกว่าขอเป็นหนึ่งในสมาชิก

หากแต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้หลวงพี่โก๋หันมาสู่ทางธรรมเต็มตัวคือ การได้พบกับ หลวงพ่อกล้วย-พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร แห่งวัดป่าธรรมอุทยาน จังหวัดขอนแก่น

หลวงพ่อกล้วยถือเป็นพระสายวิปัสสนาชื่อดังที่มีลูกศิษย์ลูกหาทั่วประเทศ หลวงพี่โก๋ยังจำฉากการพบกันครั้งแรกได้ดีว่า ตอนนั้นไปทำวิจัยให้ลูกค้ารายหนึ่งที่ขอนแก่น แล้วปกติท่านเป็นคนตื่นเช้า และใส่บาตรเป็นประจำ เพื่อนจึงแนะนำว่า ให้ลองไปที่วัดป่าธรรมอุทยาน

“วัดอยู่ไม่ไกลมาก นั่งรถออกไปไม่กี่กิโล จำได้ว่าเรามีนัดสัมภาษณ์ช่วง 10 โมง ไปเตรียมตัว 9 โมงก็ยังสบาย เพราะเราตื่นตั้งแต่ตี 5 เหลือเวลาไปฟังหลวงพ่อว่าจะสอนอะไรดีกว่า ซึ่งพอไปถึง ท่านก็เรียกเราเข้าไปหาแล้วถาม กินข้าวเป็นไหม ตอนนั้นรู้สึกว่าเป็นคำถามที่สำคัญมาก เหมือนในหนังสือเซนเลย

“หลวงพี่จึงกราบท่านแล้วบอกว่า ผมไม่แน่ใจครับว่า กินข้าวเป็นหรือเปล่า หลวงพ่อเมตตาสอนผมหน่อยได้ไหม ท่านเลยถามต่อว่า เวลาเอาของเข้าปาก กินเพราะกายหิวหรือใจอยากล่ะ หลวงพี่พบว่า มี 2 ส่วนผสมกัน บางทีหลวงพี่ก็กายหิว บางทีหลวงพี่ก็ใจอยาก มันมีเรื่องของกาย เรื่องของใจที่มีผลกระทบกับร่างกายตัวเอง แล้วพอเช้าวันถัดมาก็ไปใหม่ มีงานในขอนแก่น 5 วัน หลวงพี่มาที่นี่ 4 วันติดกันเลย”

โดยช่วงวันก่อนกลับกรุงเทพฯ หลวงพ่อก็ได้ทักว่า หากไม่รีบไปไหนลองเดินรอบวัดสักหน่อย ที่นี่มีต้นไม้เต็มไปหมดเลย แล้วเวลาเดินทุกก้าวก็หยุดทุกก้าวด้วย หลวงพี่ก็ทำตามนั้น และยิ่งเกิดความเลื่อมใสศรัทธา 

“หลวงพี่พอแยกแยะได้ว่าใครคือครูที่ดี เพราะเราอยู่กับเจ้านายที่ดี อยู่กับลูกค้าที่ดีมาก่อน จึงรู้ว่าคนนี้สอนเราเป็น หรือต่อให้เขาว่าเราแรงๆ ก็ไม่เสียใจเลย อย่างหลวงพ่อกล้วย ท่านมีวิธีการสื่อสารกับเรา ทำให้เราเชื่อมั่นอย่างหมดหัวใจ แล้วสิ่งที่ท่านสอนก็เป็นแรงบันดาลใจที่เราเอามาใช้ได้จริง เหมือนเราเจอชิ้นส่วนที่หายไป”

หลังจากนั้น หลวงพี่โก๋ก็มาที่วัดป่าธรรมอุทยานบ่อยขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งวันหนึ่ง หลวงพ่อกล้วยจึงบอกว่า อยากให้ลองจัดสรรเวลามาอยู่กับท่านสัก 6 สัปดาห์ เสร็จแล้วจะไปไหนก็ไปได้ หลวงพี่เห็นถึงความปรารถนาดีที่อยู่เบื้องหลังคำพูดนั้น จึงจัดสรรเวลา และเริ่มคิดเรื่องการเกษียณจากงานที่ปรึกษา

ท่านเริ่มเคลียร์และส่งมอบงานทุกอย่างให้เรียบร้อย รวมแล้วใช้เวลา 6 เดือนเต็ม จึงเคลียร์ทุกงานได้หมด 

พอถึงวัด หลวงพ่อกล้วยบอกให้หลวงพี่ไปค้างแรมอยู่ในสุสาน มีกระเป๋าเล็กๆ ใบเดียว และมีพระพี่เลี้ยงมาช่วยแนะนำวัตรปฏิบัติต่างๆ อยู่รูปหนึ่ง โดยก่อนเข้าป่า หลวงพ่อกำชับว่า “อย่าไปเถียงท่านนะ เดี๋ยวท่านจะเสียใจ” ซึ่งหลวงพี่นึกในใจว่า ไม่เห็นยากเลย แต่พอไปอยู่ในนั้นจริงๆ กลับแอบตำหนิพระพี่เลี้ยงในใจอยู่ตลอดว่า ทำไมถึงมอบหมายงานต่างๆ ไม่เคลียร์เลย เห็นความคิดตัวเองแล้วขำว่า ทำไมถึงไปคิดแบบนั้น มันไม่ดีเลย ถ้าท่านได้ยินก็คงรับไม่ได้แน่เลย

“นี่คือจุดกดเจ็บของเราเลย ความจริงพระอาจารย์ที่แจงงานชัดๆ ก็มีอยู่มาก แต่หลวงพ่อมอบหมายให้ร่วมงานกับพระที่ไม่แจงงานให้ชัดเจน ซึ่งพอจะหงุดหงิด หลวงพี่ก็ขำไง เพราะเราไม่ได้ตั้งใจจะบ่นท่าน ขนาดลูกค้า หลวงพี่ยังไม่บ่นเลย แต่มาบ่นพระ เพราะฉะนั้นมันเป็นสิ่งที่ทำให้เราประหลาดใจเหมือนกัน เลยรู้จักตัวเองในแง่มุมนี้ และเราก็ยิ่งสนุก สนุกที่รู้ว่าตำหนิท่าน สนุกที่รู้ว่าเราก็มีมุมนี้ด้วย”

นอกจากนี้ยังมีภารกิจอีกมากมายที่หลวงพี่ต้องปฏิบัติ ซึ่งล้วนแต่ขัดกับความชอบดั้งเดิมที่มีมาตลอด อย่างเรื่องหนึ่งที่ชัดเจนคือ วัดป่าธรรมอุทยานนั้นมีการก่อสร้างอยู่ตลอด และเต็มไปด้วยพระพุทธรูป ไม่ได้เงียบสงบหรือเรียบง่ายเหมือนกับหมู่บ้านพลัม ซึ่งหลวงพี่สารภาพตามตรงว่า ไม่ชอบเลย แต่หลวงพ่อก็ให้ข้อคิดว่า “ถ้าที่ไหนอยู่แล้วสบาย มีความสุข เรียกว่าใช้ได้ แต่ถ้าอยู่ที่ที่ไม่มีความสุข แล้วยังสบายใจ ในโลกนี้จะมีที่ไหนอีกที่ทำให้เราเป็นทุกข์” ท่านจึงค่อยๆ เรียนรู้ ปรับตัว ทำความเข้าใจ ละวางอัตตาของตัวเอง

“การอยู่ที่นี่ทำให้เราเห็นความคิดของตัวเองมากขึ้น แล้วหลวงพ่อเองก็ไม่ได้บอกหรือตัดสินว่า นี่เลวจัง หรือดีจัง แต่ท่านสอนให้เราสังเกต เป็นกลางกับตัวเอง ทำยังไงถึงจะประคับประคอง ไม่ถูกความรู้ความคิดความเห็นต่างๆ ครอบงำชีวิตว่า เราต้องได้ เราต้องชนะ ทำให้เรารู้จักโลกของอารมณ์ต่างๆ หากถามว่าเราเปลี่ยนไหม ก็คงไม่เปลี่ยนหรอก แต่เรามองกลับเข้าไปข้างในเป็น เพราะแต่ก่อนหลวงพี่เห็นแค่คร่าวๆ ว่ามันมีอารมณ์ข้างใน มีเรื่องราวข้างใน แต่เราเพิ่งมารู้จัก เพิ่งมาเห็นโลกทางด้านจิตใจก็ตอนนี้เอง”

หลังผ่านไป 6 สัปดาห์เต็ม หลวงพี่กลับไปบอกทีมงานว่า อยากขอเริ่มต้นบทใหม่ของชีวิตในฐานะบรรพชิต สำหรับใครหลายคนอาจสงสัยกับการตัดสินใจครั้งนี้ แต่หลวงพี่ไม่เคยสงสัยตัวเองเลย เพราะเห็นแล้วว่า ทางที่เลือกเดินนั้นดีกว่า และรู้สึกเหมือนได้เจอขุมทรัพย์ใหม่ของชีวิต

หลวงพี่โก๋ใช้ชีวิตในวัดป่าธรรมอุทยานเรื่อยมา อาจมีบางช่วงที่ท่านขอลาสิกขาเพื่อไปปฏิบัติงานอื่นชั่วคราว เช่นช่วยพัฒนาบุคลากรด้านกลยุทธ์ให้กลับมาทำประโยชน์ต่อสังคม หรือไปสอนหนังสือนิสิตปริญญาโท แต่ไม่นานนักก็กลับมาบวชใหม่ เพราะเห็นว่านี่เป็นทางที่ใช่ที่สุด และต่อให้บวชอยู่ก็ยังทำสิ่งดีๆ แก่สังคมได้เช่นกัน โดยเฉพาะการสื่อสารธรรมะที่ย่อยง่ายสู่สังคม เพื่อให้ทุกคนนำไปปรับใช้กับชีวิตของตัวเองต่อไป

วิชาใจ

เมื่อต้นปี 2562 มีเพจเล็กๆ ปรากฏตัวขึ้นบน Facebook ชื่อ ‘วิชาใจ’

เนื้อหาของวิชาใจถูกถ่ายทอดด้วยภาษาง่ายๆ มีภาพประกอบน่ารักๆ ที่เห็นแล้วเข้าใจได้ทันที และที่สำคัญสุดคือ ทุกแนวคิดนั้นสามารถปฏิบัติตามได้ไม่ยาก ทำแล้วดีต่อจิตใจ ดีต่อชีวิต

จุดเริ่มต้นของวิชาใจนั้นเกิดขึ้นมาจาก สมัยที่หลวงพี่โก๋ยังจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าธรรมอุทยานนั้น บริเวณหน้ากุฏิจะมีม้านั่งอยู่ตัวหนึ่ง ซึ่งบ่อยครั้งมักจะมีญาติโยมแวะเวียนมาหา มาพูดคุย นั่งเล่าเรื่องราวความไม่สบายใจให้ท่านฟัง หลายเรื่องเป็นปัญหาคล้ายคลึงกัน

ด้วยความเป็นนักโฆษณามาก่อน จึงอยากหาวิธีสื่อสารแนวคิดง่ายๆ ที่เป็นสากล เพื่อช่วยเหลือผู้คนให้กลับมามีความสบายใจ กระทั่งออกมาเป็นวิชาใจ เพราะท่านมองว่า จิตใจก็เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรหันมาใส่ใจ เนื่องจากทุกวันนี้ชีวิตคนเรานั้นมีความทุกข์มากมายเข้ามาปะทะ หากมีภูมิคุ้มกันที่ดี ก็น่าจะช่วยให้เราผ่านพ้นสถานการณ์ต่างๆ ได้

ส่วนแพลตฟอร์มในการนำเสนอ หลวงพี่เลือกใช้ Facebook ซึ่งเป็นช่องทางที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย แต่เนื่องจากที่ผ่านมา ท่านใช้โซเชียลมีเดียน้อยมากจึงมีทีมงานลูกศิษย์เข้ามาช่วยจัดการเป็นแอดมินร่วมกัน โดยเนื้อหาที่คัดเลือกมานำเสนอ หลวงพี่เป็นผู้คัดสรรเอง โดยเน้นเนื้อหาที่อ่านง่าย ไม่มีภาษาบาลีสันสกฤตยากๆ มากวนใจ รวมถึงไม่นำเสนอเนื้อหาที่สุ่มเสี่ยง กระทบหรือพาดพิงผู้อื่น เพื่อให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้สำหรับทุกคนอย่างแท้จริง

“จริงๆ มันมีสูตรสำเร็จไม่มากเลยคือ เราพาใจออกจากเรื่องซะ อย่าไปถือสามันมาก เพราะถ้าเราถือสามาก ก็เท่ากับเราเอาความสุข ทุกข์ สบายใจ ไม่สบายใจ ไปแขวนไว้ใช่ไหม เพราะฉะนั้น เราต้องพาใจออกจากเรื่องราว ออกจากอารมณ์ ออกจากความคิด พอเราออกไปปุ๊บ เราจะไม่ทุกข์ร้อนเรื่องนี้แล้ว เราจะมองเรื่องนี้ด้วยสายตาใหม่ เราจะอยู่กับสถานการณ์นี้ยังไงให้เกิดประโยชน์สูงสุด เอาความรู้ทางโลกมาบริหารให้มัน Win-Win ไม่มีใครสักคนต้องบาดเจ็บ

แต่ทั้งนี้สำหรับคนที่จิตใจไม่ค่อยมีกำลัง ฟังโดยหลักก็เข้าใจแหละ แต่แป๊บเดียวมันก็กลับแล้ว ถ้ายังไม่ได้คำตอบที่พอใจ ใจจะไม่เลิกตอแยสักที ต้องกลับมาคิดเรื่อยไป ดังนั้นต้องทำให้ใจแม่นในการมีที่พึ่ง แล้วรู้ว่า ถ้าเธอกลับมาอยู่ในเรื่องนี้ ก็ต้องทุกข์เพราะเรื่องนี้ แต่นาทีนี้ไม่ใช่นาทีที่เธอจะมีคำตอบสำหรับเรื่องนี้ เธอพักจากมันก่อนสิ จะไปหั่นผัก ไปทำกับข้าว ไปปักชำ ไปถูบ้าน ให้จิตใจเราสบายดีขึ้น แล้วกลับมามองเรื่องเดิม ด้วยสภาพจิตใจที่มันเรียบร้อยขึ้น เราอาจจะพบคำตอบก็ได้

ที่ผ่านมาเพจวิชาใจได้รับเสียงตอบรับจากผู้อ่านดีมาก หลวงพี่โก๋จึงต่อยอดนำธรรมะมาผลิตเป็นสื่อที่หลากหลายขึ้น อาทิ ร่วมกับธนาคารจิตอาสาทำการ์ดเพื่อนใจเป็นธรรมทานให้บรรดาบุคลากรสาธารณสุข ครูอาจารย์ จิตอาสาและผู้สนใจรวมแล้วกว่า 10,000 ชุด หรือร่วมกับเซเว่น-อีเลฟเว่น จัดพิมพ์หนังสือเล่มแรกชื่อ ดีต่อใจ อีกเล่มชื่อ ปรับจิต เปลี่ยนใจ ขายในราคาย่อมเยา โดยรายได้จากการจำหน่ายมอบให้การกุศล อาทิ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือโรงพยาบาลขอนแก่น

ไม่เพียงแค่โลกออนไลน์เท่านั้น ในโลกความเป็นจริง หลวงพี่โก๋ก็พยายามนำหลักธรรมที่หลวงพ่อกล้วยสอนมาแบ่งปันแก่สาธารณชน ตั้งแต่การเป็นวิทยากรไปพูดตามงานต่างๆ เช่น TEDxBangkok เมื่อปี 2559 ซึ่งท่านเล่าประสบการณ์การพบธรรมะของตัวเอง ผ่านหัวข้อ ‘สุขสันต์วันปล่อยวาง’

อีกภารกิจหนึ่งที่หลวงพี่ทำมาหลายปีสมัยจำพรรษาที่ขอนแก่น คือ การดูแลสามเณรและเด็กที่มาพักอยู่ที่วัด หลวงพี่บอกว่า เดิมทีตนเองเป็นคนที่เกลียดเด็กมาก เพราะแม้จะเคยเป็นนักสื่อสารแถวหน้าของเมืองไทย แต่เมื่อต้องมาเจอกับเด็กแล้ว ท่านเปรียบว่าเป็นของแสลง เพราะเด็กส่วนใหญ่วิ่งหนี ไม่รับฟังสิ่งที่หลวงพี่บอก แต่ถึงอย่างนั้นท่านก็พยายามเรียนรู้และทำความเข้าใจ หากิจกรรมที่เหมาะสม เพื่อให้พวกเขารู้สึกสนุกสนาน จากนั้นถึงค่อยแทรกคติธรรมลงไป

หากใครเคยได้อ่านหนังสือเรื่อง ‘แมววัด’ ของนักเขียนเด็ก ยูโตะ ฟุคะยะ ซึ่งเคยมาบรรพชาเป็นสามเณรภาคฤดูร้อนที่วัดป่าธรรมอุทยาน จะเห็นเลยว่า เนื้อหาที่ท่านสอนล้วนเห็นภาพชัดเจน เช่นการอธิบายว่า ผีมีจริงหรือเปล่า หลวงพี่โก๋ก็พาลูกศิษย์ขึ้นเมรุ แล้วให้ทุกคนล้วงมือเข้าไปในเตาเผา แล้วสอนว่า “เราต้องอยู่กับนิ้ว ไม่ให้อยู่กับความคิด เพราะความคิดเราจะขึ้นรถไฟสายน่ากลัว จนนึกภาพหลอนออกมาได้ แต่ถ้าเราอยู่กับนิ้วได้ เราจะลงจากรถไฟสายน่ากลัวได้”

ทั้งหมดก็เพื่อให้ทุกคนได้รู้จักสังเกต เห็นชีวิต เห็นจิตใจของตัวเอง และพร้อมจะเรียนรู้ธรรมด้วยใจที่เป็นสุขอย่างแท้จริง

เราพาใจออกจากเรื่องซะ อย่าไปถือสามันมาก เพราะถ้าเราถือสามาก ก็เท่ากับเราเอาความสุข ทุกข์ สบายใจ ไม่สบายใจ ไปแขวนไว้

พระจิตร์ จิตฺตสํวโร : จากนักกลยุทธ์โฆษณาสู่ผู้ถ่ายทอด ‘วิชาใจ’

ชีวิตที่ ‘ร่มเย็ญ’

หลังจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าธรรมอุทยาน รวมแล้วเกือบสิบปีจากการบวชทั้งหมด 3 ครั้ง หลวงพ่อกล้วยก็ได้สนับสนุนให้หลวงพี่โก๋ทำสถานที่ปฏิบัติธรรมของตัวเอง ที่ชื่อว่า สวนร่มเย็ญ

สมัยที่ยังเป็นนักโฆษณา หลวงพี่โก๋ได้เคยนำเงินรายได้ไปซื้อที่ดินบริจาควัดหลายแห่ง แต่ก็มีบางผืนยังเป็นที่รกร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร เช่นที่ดินในจังหวัดนครราชสีมา ท่านจึงตัดสินใจเดินทางมาพัฒนาพื้นที่ตรงนี้

“ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมหลวงพ่อให้มาอยู่ที่นี่ เพราะอยู่ที่เดิมก็สบายอยู่แล้ว แต่หลวงพี่เชื่อหลวงพ่อมากว่า ท่านไม่ให้เราทำอะไรที่ไม่เป็นประโยชน์หรอก ตอนนั้นท่านบอกว่า เรามีที่อยู่จะทิ้งให้รกทำไม ไปจัดสรรให้สะอาด เราจึงบอกกับตัวเองว่า ตอนที่หลวงพ่อเริ่มทำวัดป่าธรรมอุทยาน ท่านก็เริ่มต้นจากป่าช้า แล้วเราตอนนี้อายุ 50 กว่าแล้ว น่าจะมีหน่วยก้านพอทำได้ ท่านไม่ได้มอบโจทย์ที่เกินกำลังหรอก เราเลยมาตรงนี้ โดยได้รับคำแนะนำเรื่องการจัดการต่างๆ จากหลวงพ่อ

“อย่างชื่อสวนร่มเย็ญ ท่านก็เป็นคนตั้งให้ ท่านบอกว่า อยากให้คนมาอยู่แล้วจิตใจร่มเย็น โดย เย็ญนี้ท่านสะกดด้วย ญ.หญิง เพื่อให้เป็นนามเฉพาะ”

หลวงพี่โก๋เริ่มต้นปลูกต้นไม้ทั้งใหญ่เล็ก พืชผักสวนครัว ขุดสระไว้สำหรับมาใช้รดน้ำต้นไม้ สร้างกุฏิหลังย่อมๆ ให้พระภิกษุและผู้ปฏิบัติธรรมอยู่อาศัย สำหรับท่านแล้วที่นี่เปรียบเสมือนที่ฝึกจิตใจ เจริญสติ พืชผักที่ออกดอกออกผลมีเพียงพอสำหรับยังชีพ ส่วนที่เหลือจึงแจกจ่ายแบ่งปันให้ผู้ยากไร้

แต่ถึงจะปักหลักอยู่ที่ปากช่อง แต่หลวงพี่โก๋ก็ยังทำงานรับใช้หลวงพ่อกล้วย สานต่อโครงการที่ท่านมอบหมายเรื่อยมา จนกระทั่งหลวงพ่อมรณภาพ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2564

นอกจากนี้ท่านยังทำโครงการร่วมกับศูนย์การุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นจิตอาสาเยี่ยมเยียนผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยนำประสบการณ์จากช่วงที่เคยดูแลโยมพ่อ ซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียงมาปรับใช้ เพื่อให้จิตใจของคนไข้มีความสงบสุขก่อนลาจากโลกนี้ไป

โดยหลักการที่หลวงพี่ยึดไว้เสมอคือ การรับฟัง เพราะยิ่งเราฟังมากเท่าไหร่ ผู้ป่วยก็จะได้ยินเสียงของตัวเองชัดเจนมากขึ้น เพราะอย่างน้อยเขายังได้ระบายกับใครสักคน ที่สำคัญคือ บางคนไม่กล้าพูดคุยกับแพทย์ แต่พอเป็นพระจะรู้สึกคลายกังวล รู้สึกใกล้ชิด เป็นเหมือนลูกหลานที่คุยด้วยภาษาชาวบ้านได้ จากนั้นหลวงพี่จึงนำข้อความที่ได้รับไปอธิบายต่อกับแพทย์อีกที

“เราทำงานร่วมกับหมอ เป็นเหมือนหน้าบ้านอีกประเภทหนึ่งที่สามารถบ่นกับเราได้ ระบายกับเราได้ แล้วบางครั้งเรายังช่วยแนะนำเรื่องหลักการภาวนาให้ด้วย แต่อย่างว่า หลายครั้งงานที่เราทำก็ยากเหมือนกัน เพราะคนส่วนใหญ่นั้นกลัวตาย เราทำเท่าที่ทำได้ หลายครั้งไม่ต้องพูดอะไรเลย แค่ไปยืนข้างเตียง เขาก็บอกว่าใกล้แล้วเหรอ คือเสื้อผ้า ฟอร์มของเรา มันเหมือนคนรู้กัน”

เพราะฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า หน้าที่ของความเป็นพระไม่ได้มีเพียงหาความสงบให้จิตใจตนเองเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นด้วย ซึ่งนี่เป็นแนวทางเดียวกับที่หลวงพ่อกล้วยยึดถือมาทั้งชีวิต

หากถามว่า การเป็นพระคือชีวิตที่ลงตัวที่สุดหรือไม่ ในทัศนะของหลวงพี่โก๋แล้ว ทุกช่วงชีวิตล้วนมีความหมายและเสริมกันและกันจนกลายเป็นวันนี้ ท่านไม่ได้รู้สึกชื่นชอบช่วงใดช่วงหนึ่งมากเป็นพิเศษ เพราะไม่ว่าเวลาใดก็ต้องเรียนรู้ ฝึกฝน และพยายามทำความเข้าใจไม่ต่างกัน

“ชีวิตของหลวงพี่ค่อนข้างเป็นแพตเทิร์นนะ โดยแต่ละช่วงก็เป็นเหมือนการเตรียมตัวของช่วงถัดไป อย่าง 7 ปีแรก หลวงพี่เรียนปริญญาตรี ปริญญาโท พอเรียนจบก็เป็นช่วงทำงานโฆษณา จากนั้นมาเป็นผู้บริหาร เป็นเจ้าของบริษัท พอช่วงถัดมาเป็นพระ เป็นพระลูกวัด แล้ววันนี้ก็เป็นอีกบทหนึ่งคือ เป็นพระที่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบความเป็นอยู่ของคนอื่นด้วย

สำหรับหลวงพี่ นาทีนี้โลกคือโรงละคร ไม่ได้เป็นอะไรที่จริงขนาดนั้น และการที่เราอยู่ตรงนี้ไม่ได้ทำให้เราใหญ่โตขึ้น แต่เป็นการเปิดโอกาสให้เราได้รับใช้และดูแลผู้คนต่อไป

โครงการคนเล็กเปลี่ยนโลก

คนเล็กเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 30 บุคคลผู้สร้างสังคมที่ยั่งยืน และช่วยกันสร้างคุณค่าสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นประเทศ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

พระจิตร์ จิตฺตสํวโร คือบุคคลต้นแบบประเด็นสร้างหลักประกันการมีสุขภาพดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย (SDGs ข้อที่ 3), ประเด็นส่งเสริมสังคมที่สงบสุข และครอบคลุมที่เอื้อต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม สร้างสถาบันที่มีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบและทุกคนสามารถเข้าถึงในทุกระดับ (SDGs ข้อที่ 16)

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.