ติช นัท ฮันห์ : พระเซน ผู้ทำให้คนมองเห็นความรักและสันติภาพ

<< แชร์บทความนี้

ระหว่างการสู้รบบนแผ่นดินเกิด พระชาวเวียดนามรูปหนึ่ง เดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกาเพื่อเรียกร้องสันติภาพ ท่านพยายามทำให้คนเข้าใจว่า เราจะหยุดการเข่นฆ่าเพื่อนมนุษย์ได้ ก็ต่อเมื่อมีสันติในใจ รักษาใจไม่ให้โกรธเกลียด แม้ผู้ที่ทำร้ายเพื่อนของเรา

ตลอดหลายสิบปี แนวทางสันติวิธีและคำสอนของท่านทำเปลี่ยนความคิดชาวตะวันตกมากมาย 

มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เสนอชื่อท่านเพื่อรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ทั้งที่เมื่อมองย้อนกลับไปแล้ว แทบไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์ที่ผ่านความระทมทุกข์อย่างหนัก จะสร้างหัวใจอันอ่อนโยนได้เพียงนี้ 

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกคนไปย้อนเส้นทางชีวิตของ หลวงปู่ ติช นัท ฮันห์ พระภิกษุธรรมดารูปหนึ่งซึ่งผ่านความทุกข์แสนสาหัสในชีวิต จนกลายมาเป็นพระเซนผู้สร้างแรงบันดาลใจเรื่องความรักและสันติภาพให้คนกับทั้งโลก

ดอกบัวที่บานในทะเลเพลิง

ทิก เญิ้ต หั่ญ หรือที่คนทั่วไปมักเรียกว่า ติช นัท ฮันห์ มีชื่อเดิมว่า เหงียนซวนบ๋าว เกิดที่เมืองกว๋างจิ แถบตอนกลางของเวียดนาม เมื่อตอนอายุ 9 ขวบ ท่านเห็นปกนิตยสารฉบับหนึ่งเป็นรูปพระพุทธเจ้านั่งสงบบนพื้นหญ้า นั่นจุดประกายให้เด็กตัวน้อยรู้สึกว่า อยากจะมีความสุขสงบอย่างนั้นบ้าง

อายุ 16 ปี เหงียนซวนบ๋าวได้เข้าไปปฏิบัติธรรมในวัดเซน อาจารย์ยื่นหนังสือเล่มเล็กๆ ให้ และบอกให้ศึกษาหนังสือเล่มนั้นจนกว่าจะขึ้นใจ แม้หนังสือเล่มดังกล่าวไม่มีปรัชญาเซน แต่มุ่งไปที่การปฏิบัติล้วนๆ โดยเฉพาะการควบคุมจิตและตั้งดวงจิตให้แน่วแน่ ทำให้ท่านได้ฝึกการมีสติรู้ตัวอยู่กับปัจจุบันในทุกขณะ

เมื่ออายุ 23 ปี ท่านบวช ได้รับฉายาว่า ‘ติช นัท ฮันห์’ 

ติช เป็นคำเรียกพระ หมายถึง ผู้สืบทอดพุทธศาสนา ส่วน นัทฮันห์ หมายถึง การกระทำเพียงหนึ่ง

ระหว่างนั้นเองสงครามเวียดนามปะทุขึ้น พระภิกษุต่างเผชิญกับคำถามว่าจะยึดถือชีวิตที่บรรพชิตและนั่งสมาธิในวัด หรือออกมาช่วยคนที่อยู่รอบข้างที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากการระเบิดและความวุ่นวายในสงคราม

ติช นัท ฮันห์ เลือกจะทำทั้งสองอย่าง คือฝึกปฏิบัติตนและขณะเดียวกันก็เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ชี้ทางให้ผู้อ่านที่กำลังสับสน

บทความในหัวข้อ ‘พระพุทธศาสนาในมุมมองใหม่’ เน้นแนวคิดช่วยเหลือผู้คนและสังคมด้วยวิถีแห่งสติและสันติตามแนวทางพุทธศาสนา เป็นจุดเริ่มต้นแนวคิด Engaged Buddism หรือพุทธศาสนาเพื่อสังคม ซึ่งหมายถึงการนำพระพุทธศาสนามาอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน ตั้งแต่ตื่นไปจนหลับ ตั้งแต่เกิดไปจนตาย

ต้นฉบับของท่านเขียนด้วยมือ หนังสือพิมพ์นำไปตีพิมพ์บนหน้าแรก หัวข้อขนาดใหญ่สีแดง ทำให้มีคนมากมายติดตามผลงานและได้รู้จักกับภิกษุหนุ่มผู้มีความคิดก้าวหน้ารูปนี้

ปี 2504 ท่านเดินทางไปศึกษาต่อยังสหรัฐอเมริกา ในวิชาศาสนาเปรียบเทียบที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และเป็นผู้ช่วยสอนที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แต่ระหว่างนั้น โงดินห์เดียม ประธานาธิบดีเวียดนามใต้ในขณะนั้น ต้องการให้ให้ประชาชนเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้ประเทศพัฒนาได้

นโยบายดังกล่าวนำไปสู่การกีดกันไม่ให้ชาวพุทธทำกิจกรรมต่างๆ แม้แต่ประดับธงที่มีสัญลักษณ์พุทธศาสนาก็ทำไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวพุทธออกมาประท้วงเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา ขบวนการต่อต้านขยายตัวและสถานการณ์รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นักศึกษาผู้ร่วมต่อต้านถูกลอบสังหาร ภิกษุรูปหนึ่งจุดไฟเผาตัวเองเพื่อประท้วง

พระภิกษุชั้นผู้ใหญ่ในเวียดนามจึงส่งจดหมายเชิญท่านติชนัทฮันห์ให้กลับไปช่วยแก้ไขปัญหา ท่านใช้วิธีก่อตั้งคณะเทียบหิน และโรงเรียนเยาวชน เพื่อเป็นแหล่งศึกษาพระพุทธศาสนา และนำหลักธรรมมาช่วยพัฒนาฟื้นฟูคุณภาพชีวิตประชาชนในช่วงสงคราม มีการตั้งศูนย์อนามัย ศูนย์ดูแลเด็กเล็ก เพิงสอนหนังสือ อบรมอาชีพควบคู่ไปด้วย

มีภิกษุ แม่ชี นักสังคมสงเคราะห์ และเยาวชนนับหมื่นคนอุทิศตนเป็นอาสาสมัครทำงานเพื่อสังคม พร้อมกันนั้นยังทำหนังสือเผยแพร่ความคิดพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม

เพียงไม่นาน รัฐบาลก็ส่งทหารเข้ามากวาดล้างผู้ร่วมโครงการ เพราะมองว่าเป็นภัยคุกคามความสงบในประเทศ

อยู่เหนือความโกรธเกลียด

การใช้ชีวิตอยู่ในยุคสมัยแห่งไฟสงคราม สิ่งหนึ่งที่เข้ามาทดสอบจิตใจอยู่ตลอด คือความโกรธเกลียดผู้ที่มาทำร้ายเรา หรือคนที่เรารัก

คืนหนึ่งในเดือนกรกฎาคม 2510 เด็กหนุ่ม 5 คน ในโรงเรียนที่ท่านก่อตั้ง ถูกชายลึกลับบุกเข้ามาจับไปยิงทิ้งริมแม่น้ำไซ่ง่อน มีเพียงคนเดียวที่หนีเอาชีวิตรอดมาได้

เมื่อทราบข่าว ติช นัท ฮันห์ ร้องไห้อย่างเสียใจ แม้เพื่อนจะเข้ามาปลอบว่าไม่ใช่ความผิดของท่าน แต่ท่านรู้สึกว่าเป็นคนเรียกพวกเขาออกมาปฏิบัติภารกิจ ทำให้เขาต้องตาย

อย่างไรก็ตาม ท่านกลับไม่ต้องการให้เกิดความเกลียดแค้น จึงเขียนคำแนะนำให้คนที่ศรัทธาท่าน สัญญาว่าจะไม่โกรธเกลียดมนุษย์ แม้เขาจะปฏิบัติกับเราอย่างโหดร้าย

“..แม้เขาสับเธอจนแหลก และคว้านไส้พุงเธอ
จงจำไว้น้องชาย
จงจำไว้
มนุษย์ไม่ใช่ศัตรูของเรา”

ขณะเดียวกันสงครามเวียดนามก็รุนแรงขึ้นทุกขณะ เวียดนามใต้ซึ่งสนับสนุนโดยสหรัฐอเมริกากำลังจะพ่ายแพ้ให้กับเวียดนามเหนือซึ่งสนับสนุนโดยจีนและโซเวียต สหรัฐฯ จึงส่งทหารอเมริกันมาประจำการทั่วเวียดนามใต้เพื่อสกัดกั้นการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ไปสู่ประเทศอื่นๆ

ระหว่างนั้น ท่านติช นัท ฮันห์ ได้รับนิมนต์ให้เดินทางมายังสหรัฐอเมริกา เพื่อเจราจาเรียกร้องให้หยุดยิง ภิกษุเวียดนามสื่อสารด้วยสันติวิธีหลายๆ ทาง อาทิ กล่าวถึงความปรารถนาและความเจ็บปวดของชาวเวียดนาม โน้มน้าวตัวแทนประเทศในเอเชียให้เสนอประเด็นเรื่องเวียดนามเข้าสู่การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนผ่านองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติ เดินขบวนประท้วงอย่างสงบหน้าทำเนียบขาว และเดินทางหาเสียงสนับสนุนขบวนการสันติภาพในเวียดนาม

ติช นัท ฮันห์ เชื่อว่าวิธีการเหล่านี้คือการแก้ปัญหาระดับรากเหง้าที่แท้จริง

แต่เส้นทางนั้นไม่ง่ายเลย เพราะท่านคือชาวเวียดนามซึ่งกำลังสู้รบกับชาวอเมริกัน หลายครั้งจึงถูกต่อต้าน หลายครั้งถูกมองว่าสิ่งที่ทำนั้นไร้ประโยชน์

“เมื่อปี 2509 ที่ฉันอยู่ในอเมริกา เรียกร้องให้มีการหยุดยิงในสงครามเวียดนาม มีเด็กหนุ่มผู้เรียกร้องสันติภาพคนหนึ่งยืนขึ้นระหว่างการพูดของฉัน พร้อมตะโกนว่า สิ่งที่ดีที่สุดที่ท่านน่าจะทำคือ กลับประเทศของท่านและเอาชนะอเมริกาผู้ก้าวร้าว ไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่ท่านจะอยู่ที่นี่

“เมื่อฉันได้ยินเด็กหนุ่มตะโกนดังนั้น ฉันจึงหายใจลึกๆ หลายๆ ครั้งเพื่อกลับมาสู่ตัวเอง แล้วจึงกล่าวว่า ได้โปรด.. เพราะข้าพเจ้ารู้สึกว่ารากเหง้าของสงครามอยู่ที่นี่ ในประเทศของท่าน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ข้าพเจ้ามาที่นี่ รากเหง้าประการหนึ่งคือทัศนะการมองโลก ทั้งสองฝ่ายต่างเป็นเหยื่อของนโยบายที่ผิดพลาด นโยบายที่เชื่อว่าการใช้อำนาจความรุนแรงจะแก้ปัญหาได้ แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าไม่ต้องการให้ชาวเวียดนามตาย ทั้งไม่อยากให้ทหารอเมริกันตายเช่นกัน”

ในที่สุดการลงนามในข้อตกลงเพื่อสันติภาพบรรลุผล แต่ติชนัทฮันห์ถูกต่อต้านจากผู้นำเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ ท่านถูกสั่งห้ามกลับเข้าประเทศตั้งแต่ปี 2516 ทำให้ไปก่อตั้งหมู่บ้านมันเทศไว้ที่ฝรั่งเศสก่อนสงครามจบ เพื่อเป็นแหล่งเจริญสติในหมู่ผู้ร่วมปฏิบัติงานเรียกร้องสันติภาพ และในเวลาต่อมาขยับขยายเป็นหมู่บ้านพลัม ซึ่งเป็นชุมชนของคนที่ปฏิบัติภาวนาตามแนวทางของท่าน

แต่ความโหดร้ายยังไม่จบสิ้น เพราะเมื่อสหรัฐอเมริกาถอยทัพออกไป ฝ่ายเวียดนามเหนือก็บุกเข้ายึดเวียดนามใต้

ช่วงเวลานั้นเหมือนแผ่นดินลุกเป็นไฟอีกครั้ง ประชาชนที่ไม่อยากอยู่ภายใต้ระบบการปกครองเผด็จการ จึงพากันอพยพหนีตายโดยลอยเรือออกมหาสมุทรไปสู่ประเทศอื่น โดยหารู้ไม่ว่าต้องเผชิญชะตาชีวิตที่โหดร้ายยิ่งกว่าเดิม

ช่วงนั้นท่านอยู่ที่หมู่บ้านพลัมที่ฝรั่งเศส ได้รับจดหมายสัปดาห์หนึ่งเป็นร้อยๆ ฉบับจากค่ายผู้ลี้ภัยในไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์

ชาวเวียดนามผู้หนีจากบ้านเกิดเขียนมาระบายความทุข์แสนสาหัสว่า มีคนครึ่งหนึ่งตายในมหาสมุทร และเมื่อขึ้นฝั่งแล้วก็ไม่ได้มีอะไรรับประกันความปลอดภัย เช่น จดหมายฉบับหนึ่งเล่าถึงเด็กหญิงวัย 12 ขวบที่ถูกโจรสลัดชาวไทยข่มขืน เธอกระโดดลงมหาสมุทรจบชีวิตตนเอง ซึ่งทำให้ท่านรู้สึกสะเทือนใจมาก แต่ก็ยังเชื่อแบบเดิมว่า เราไม่ควรโกรธเกลียดมนุษย์

“เมื่อเธอได้ยินอะไรบางอย่างเช่นนี้ เธอโกรธ คลั่งแค้นเจ้าโจรสลัดคนนั้น เป็นธรรมดาเธอจะเข้าข้างเด็กหญิง หากแต่เธอมองให้ลึกเธอจะเห็นมันต่างออกไป

“ฉันเห็นว่าหากฉันถือกำเนิดในหมู่โจรสลัด และถูกเลี้ยงดูในสภาพโจรสลัดผู้นั้น มันก็มีความเป็นไปได้สูงที่ฉันจะกลายเป็นโจรสลัด..หากเธอคว้าปืนและยิงโจรสลัด เธอก็ยิงหมู่เราทั้งหมด เพราะเราทั้งหมดต้องรับผิดชอบต่อเรื่องนี้”

ติช นัท ฮันห์ พยายามเจรจากับนานาประเทศเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวเวียดนาม ทั้งขออนุมัติโควตาเข้าสหรัฐอเมริกาเป็นกรณีพิเศษ จนในที่สุดได้รับการเห็นชอบให้โควตาผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามสูงถึง 100,000 คนต่อปี

ถ้าคนเราไม่รู้จักวิธีตาย เราก็จะไม่รู้จักวิธีมีชิวีตอยู่ด้วย เพราะความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

ติช นัท ฮันห์ : พระเซน ผู้ทำให้คนมองเห็นความรักและสันติภาพ

ศานติในใจ

เมื่อสงครามเวียดนามสงบลง ติช นัท ฮันห์ก็ออกเผยแพร่หลักธรรมคำสอน และได้เป็นสะพานเชื่อมความเข้าใจระหว่างชาวเวียดนามกับชาวอเมริกัน

ทหารผ่านศึกอเมริกันหลายคนซึ่งเกลียดชังชาวเวียดนาม แต่เมื่อได้สัมผัสความเมตตากรุณาของภิกษุรูปนี้ ก็เปลี่ยนใจมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ นอกจากนี้ท่านยังได้เยียวยาผู้ที่ผ่านศึกสงคราม ไม่ว่าจะเป็นผู้ฆ่าหรือผู้ทำร้าย ซึ่งมีบาดแผลในใจไม่ต่างกัน

หากถามว่า อะไรทำให้ ติช นัท ฮันห์ ก้าวความความรู้สึกเกลียดชังทั้งหมดไปได้ คำตอบนั้นน่าจะเป็นเพราะท่านได้เห็นความทุกข์ความโหดร้ายมามากจนพบว่า ที่สุดแล้วมนุษย์ไม่ได้มีอะไรเลย และการอยู่กับปัจจุบันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

ตอนที่ท่านได้เห็นศพทหารหนุ่มมากมาย นอนเหยียดยาวไม่กระดุกกระดิกเป็นแถว บางคนอายุเพียง 13, 14 หรือ 15 ปีเท่านั้น ท่านก็เริ่มเข้าใจว่า

“ถ้าคนเราไม่รู้จักวิธีตาย เราก็จะไม่รู้จักวิธีมีชิวีตอยู่ด้วย เพราะความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เมื่อเห็นร่างกายขึ้นอืดเน่าเปื่อย เราก็จะมองเห็นชีวิตเป็นสิ่งมีค่าสูงสุด ไม่ใช่เฉพาะชีวิตของเราเท่านั้น แต่รวมถึงชีวิตของเพื่อนมนุษย์ทุกคน จากนั้นเราก็จะไม่หลงอีกต่อไปว่า การทำลายชีวิตของผู้อื่นเพื่อความอยู่รอดของเราเป็นสิ่งจำเป็น

“ในยามที่มีทุกขเวทนาอันใหญ่หลวง เธอรู้สึกถึงความปลอดโปร่งและเบิกบานในตัวของเธอเอง เพราะเธอรู้ว่าเธอเป็นเครื่องมือของความการุณย์ การเข้าใจความทุกข์อันยิ่งใหญ่ และตระหนักถึงความการุณย์ในท่ามกลางความเป็นไปเช่นนั้น เธอจะเป็นบุคคลผู้บุกเบิกแม้ว่าชีวิตจะยากแค้น”

เพราะแท้จริงแล้ว ศัตรูที่มาในรูปความเกลียดชัง หาใช่มนุษย์ แต่เป็นความทะเยอทะยาน อุดมการณ์ที่ไม่ได้มีอยู่จริง หากเราฆ่ามนุษย์เสีย ความเกลียดชังนั้นไม่ได้หมดไป และในที่สุดก็จะไม่เหลืออะไรเลย

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • บทความตามรอยทาง ติช นัท ฮันห์ จากศานติในเรือนใจสู่สันติภาพบนผืนโลก นิตยสารสารคดี สิงหาคม 2550
  • หนังสือปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ โดย ติช นัท ฮันห์
  • หนังสือสันติภาพทุกย่างก้าว โดย ติช นัท ฮันห์
  • หนังสือกุญแจเซน โดย ติช นัท ฮันห์
  • หนังสือปลูกรัก โดย ติช นัท ฮันห์
  • หนังสือสู่ชีวิตอันอุดม โดย ติช นัท ฮันห์
  • https://plumvillage.org

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.