หลวงพ่อชา สุภทฺโท : พระป่าอีสาน ผู้ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

<< แชร์บทความนี้

อะไรทำให้ชื่อของพระอีสานรูปหนึ่ง เป็นที่ยกย่องในหมู่ชาวตะวันตกที่สนใจพุทธศาสนา ทั้งที่ท่านเป็นพระป่าขนานแท้ พูดอังกฤษแทบไม่ได้

ลูกศิษย์ลูกหาฝรั่งมากมายบินลัดฟ้ามาที่วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อขอฝึกปฏิบัติ โดยเรียนรู้จากสิ่งที่ท่านทำให้ดูในแต่ละวัน

ทุกคนตื่นตีสาม ฉันมื้อเดียว นอนบนเสื่อกกผืนบางๆ ยึดถือพระวินัยเคร่งครัด มุ่งแสวงหาความสงบภายใจจิตใจของตน

สิ่งพิเศษคือการได้สนทนาธรรมกับหลวงพ่อ ซึ่งบางครั้ง ประโยคสั้นๆ เพียงประโยคเดียว ทำให้กลับมาทบทวนความคิดได้มากมาย

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาไปรู้จักกับพระอาจารย์ผู้เป็นแรงบันดาลใจของพระฝรั่งในเมืองไทยหลายรูป เช่น พระอาจารย์สุเมโธภิกขุ พระอาจารย์ชยสาโรภิกขุ พระอาจารย์อมโรภิกขุ

ภิกษุผู้มีวิธีการสอนที่ไม่เหมือนใคร ทั้งลึกซึ้งและคมคาย 

พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)

วิธีสอนแบบหลวงพ่อชา

ทุกคนบอกตรงกันว่า วิธีการสอนของท่าน ‘ลึกซึ้ง’ เหมือนกับวิถีเซน

ว่ากันว่าหลวงพ่อชาแทบจะไม่สอนโดยใช้ภาษาบาลียากๆ ท่านใช้คำพูดที่เข้าใจง่าย แต่แหลมคมเหมือนปริศนาธรรม ใครได้ฟังอาจรู้สึกเหมือนโดนทุบหัวแล้วก็เกิดปัญญาขึ้นอย่างชัดแจ้ง

ครั้งหนึ่งมีพระฝรั่งบวชใหม่คิดถึงแฟนที่บ้านเกิดเมืองนอนของตน เมื่อโดยสารรถไปกับหลวงพ่อชา ท่านก็แนะนำพระฝรั่งรูปนั้นว่า ให้เขียนจดหมายไปหาเธอ ขอให้ส่งของส่วนตัวบางอย่างมาให้ เพื่อหยิบของชิ้นนี้ขึ้นมาชื่นชมทุกครั้งที่คิดถึง

พระฝรั่งประหลาดใจมาก เพราะไม่คิดว่าเป็นพระแล้วจะทำได้ นึกในใจว่าท่านคงเข้าใจเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ของคนหนุ่ม แต่แล้วสิ่งที่ท่านพูดต่อมาก็ทำให้เขาแทบหงายหลังตึง

“หลวงพ่อบอกว่าคุณควรขอให้เธอส่งขี้ใส่ขวดมาให้ แล้วเมื่อไรที่คุณคิดถึงเธอ คุณจะได้หยิบขวดขี้ของเธอออกมาสูดดม!”

ท่านสอนไม่ให้ยึดติด ชนิดที่คนฟังไม่มีวันลืมเลยทีเดียว

เรื่องขี้มีอีกหลายเรื่อง เช่น พระรูปหนึ่งมักจะชอบบ่นโทษนั่นโทษนี่ ว่าเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรมของเขา หมกมุ่นอยู่กับความไม่พอใจ เลยโดนหลวงพ่อกระทุ้งอย่างเจ็บแสบว่า

“คุณนี่แปลก ชอบเอาขี้พกใส่ย่าม ติดตัวไปไหนต่อไหน แล้วมาบ่นว่าเหม็นขี้ ที่โน่นเหม็นขี้ ที่นี่เหม็นขี้ ที่ไหนๆ ก็เหม็นแต่ขี้ ดีแต่บ่น ทำไมไม่ลองสำรวจย่ามของตัวเองดูบ้าง” ย่ามในที่นี้หมายถึงใจ

บางครั้งท่านก็สอนให้เอาชนะความกลัวด้วยความรู้แจ้ง เคยมีพระฝรั่งบางรูปกลัวการพูดต่อหน้าสาธารณชน หลวงพ่อก็นิมนต์ให้มาเทศน์ต่อหน้าญาติโยม พอเทศน์ครบชั่วโมงก็จะสรุปจบ คิดว่าเอาตัวรอดได้แล้ว แต่หลวงพ่อบอกว่าอย่าเพิ่งหยุด ให้เทศน์ต่อไป ด้วยความที่ความรู้ภาษาไทยมีจำกัด ชั่วโมงที่สอง สาม สี่ จึงพูดวนซ้ำๆ คนฟังก็ผลอยหลับหรือคุยกันเอง บ้างก็แอบหนีกลับไปแล้ว

พระรูปนั้นรู้สึกอับอาย แต่พอเทศน์จบลงก็พบว่า 4 ชั่วโมงที่ผ่านมา เขาได้เรียนรู้ปฏิกริยาของผู้ฟังทุกแบบอย่างลึกซึ้ง หลังจากนั้นก็ไม่กลัวการเทศน์อีกเลย

พระฝรั่งบางรูปทะเลาะกับเพื่อนพระจนรู้สึกหงุดหงิดทั้งวัน หลังกลับจากบิณฑบาตเดินสวนกับหลวงพ่อ หลวงพ่อทักว่า กู้ด มอร์นิ่ง เขาก็เปลี่ยนอารมณ์เป็นดีใจ พอตกเย็นหลวงพ่อเรียกให้เข้าไปถวายการนวด เขายิ่งปลาบปลื้มขึ้นไปอีก แต่ระหว่างที่นวดอยู่นั้น หลวงพ่อก็หันมาถีบเปรี้ยงเข้าที่ยอดอกจนล้มก้นกระแทก! พร้อมกับตำหนิที่ปล่อยให้จิตใจไหลไปตามอารมณ์ ไม่มั่นคง จนเขาสำนึก

ที่ยกมาเป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ หากศึกษาคำสอนลึกลงไปอีก จะพบเจอเรื่องราวทำนองนี้มากมาย

หลวงพ่อชา เคยกล่าวถึงวิธีการสอนธรรมะกับชาวตะวันตกไว้ว่า ทั้งหมดนี้คือการให้ ‘ธรรมะชั้นสูงสุด’ เพื่อกระตุ้นให้ใช้ความคิดพิจารณา และใช้อารมณ์ขันเป็นเครื่องแก้ หรือผ่อนคลายความตึงเครียด

ที่เป็นเช่นนี้เพราะพระฝรั่งมาบวชด้วยความสนใจ ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางที่มีการศึกษา อุปนิสัยของฝรั่งนั้นไม่ค่อยเชื่อเรื่องอะไรง่ายๆ เพราะเคยชินกับการใช้ความคิด บางคนก็มีทิฏฐิ ยึดมั่นถือมั่น การสอนแบบนี้จึงเหมาะสมกว่าบอกให้เชื่อ เนื่องจากลูกศิษย์จะขบคิดและค้นพบคำตอบด้วยตนเอง

“..ไม่ได้เทศน์ให้เขาฟังมากนัก พาเขาทำเอาเลย ทำได้ดี ถ้าทำไม่ดีก็ได้ของไม่ดี ..เขาก็เลยเชื่อ ไม่ใช่มาอ่านหนังสือเท่านั้นนะ ทำจริงๆ นั่นแหละ สิ่งใดไม่ดีก็ละมัน อันไหนไม่ดีก็เลิกมันเสีย มันก็เป็นความดีขึ้นมา”

“เมื่อเราทำให้เขาหยุดได้ เขาก็มองข้างหลังถนัดเลย..”ทุกคนบอกตรงกันว่า วิธีการสอนของท่าน ‘ลึกซึ้ง’ เหมือนกับวิถีเซน

ว่ากันว่าหลวงพ่อชาแทบจะไม่สอนโดยใช้ภาษาบาลียากๆ ท่านใช้คำพูดที่เข้าใจง่าย แต่แหลมคมเหมือนปริศนาธรรม ใครได้ฟังอาจรู้สึกเหมือนโดนทุบหัวแล้วก็เกิดปัญญาขึ้นอย่างชัดแจ้ง

ครั้งหนึ่งมีพระฝรั่งบวชใหม่คิดถึงแฟนที่บ้านเกิดเมืองนอนของตน เมื่อโดยสารรถไปกับหลวงพ่อชา ท่านก็แนะนำพระฝรั่งรูปนั้นว่า ให้เขียนจดหมายไปหาเธอ ขอให้ส่งของส่วนตัวบางอย่างมาให้ เพื่อหยิบของชิ้นนี้ขึ้นมาชื่นชมทุกครั้งที่คิดถึง

พระฝรั่งประหลาดใจมาก เพราะไม่คิดว่าเป็นพระแล้วจะทำได้ นึกในใจว่าท่านคงเข้าใจเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ของคนหนุ่ม แต่แล้วสิ่งที่ท่านพูดต่อมาก็ทำให้เขาแทบหงายหลังตึง

“หลวงพ่อบอกว่าคุณควรขอให้เธอส่งขี้ใส่ขวดมาให้ แล้วเมื่อไรที่คุณคิดถึงเธอ คุณจะได้หยิบขวดขี้ของเธอออกมาสูดดม!”

ท่านสอนไม่ให้ยึดติด ชนิดที่คนฟังไม่มีวันลืมเลยทีเดียว

เรื่องขี้มีอีกหลายเรื่อง เช่น พระรูปหนึ่งมักจะชอบบ่นโทษนั่นโทษนี่ ว่าเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรมของเขา หมกมุ่นอยู่กับความไม่พอใจ เลยโดนหลวงพ่อกระทุ้งอย่างเจ็บแสบว่า

“คุณนี่แปลก ชอบเอาขี้พกใส่ย่าม ติดตัวไปไหนต่อไหน แล้วมาบ่นว่าเหม็นขี้ ที่โน่นเหม็นขี้ ที่นี่เหม็นขี้ ที่ไหนๆ ก็เหม็นแต่ขี้ ดีแต่บ่น ทำไมไม่ลองสำรวจย่ามของตัวเองดูบ้าง” ย่ามในที่นี้หมายถึงใจ

บางครั้งท่านก็สอนให้เอาชนะความกลัวด้วยความรู้แจ้ง เคยมีพระฝรั่งบางรูปกลัวการพูดต่อหน้าสาธารณชน หลวงพ่อก็นิมนต์ให้มาเทศน์ต่อหน้าญาติโยม พอเทศน์ครบชั่วโมงก็จะสรุปจบ คิดว่าเอาตัวรอดได้แล้ว แต่หลวงพ่อบอกว่าอย่าเพิ่งหยุด ให้เทศน์ต่อไป ด้วยความที่ความรู้ภาษาไทยมีจำกัด ชั่วโมงที่สอง สาม สี่ จึงพูดวนซ้ำๆ คนฟังก็ผลอยหลับหรือคุยกันเอง บ้างก็แอบหนีกลับไปแล้ว

พระรูปนั้นรู้สึกอับอาย แต่พอเทศน์จบลงก็พบว่า 4 ชั่วโมงที่ผ่านมา เขาได้เรียนรู้ปฏิกริยาของผู้ฟังทุกแบบอย่างลึกซึ้ง หลังจากนั้นก็ไม่กลัวการเทศน์อีกเลย

พระฝรั่งบางรูปทะเลาะกับเพื่อนพระจนรู้สึกหงุดหงิดทั้งวัน หลังกลับจากบิณฑบาตเดินสวนกับหลวงพ่อ หลวงพ่อทักว่า กู้ด มอร์นิ่ง เขาก็เปลี่ยนอารมณ์เป็นดีใจ พอตกเย็นหลวงพ่อเรียกให้เข้าไปถวายการนวด เขายิ่งปลาบปลื้มขึ้นไปอีก แต่ระหว่างที่นวดอยู่นั้น หลวงพ่อก็หันมาถีบเปรี้ยงเข้าที่ยอดอกจนล้มก้นกระแทก! พร้อมกับตำหนิที่ปล่อยให้จิตใจไหลไปตามอารมณ์ ไม่มั่นคง จนเขาสำนึก

ที่ยกมาเป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ หากศึกษาคำสอนลึกลงไปอีก จะพบเจอเรื่องราวทำนองนี้มากมาย

เรียนรู้จากการลงมือทำ

แต่ไม่ใช่ว่าใครก็สอนอย่างนี้ได้ หากไม่ตกผลึกกับชีวิตอย่างถ่องแท้

กว่าที่หลวงพ่อชาจะเข้าถึงความรู้ทางธรรมระดับนี้ ท่านเคี่ยวกรำตัวเองด้วยการฝึกปฏิบัติมายาวนาน

หลวงพ่อสนใจพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็ก ตัดสินใจเดินเข้าสู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ตอนอายุ 21 ปี ในช่วงแรกเน้นทางด้านปริยัติ โดยศึกษาจากตำราเป็นหลักจนจบนักธรรมเอก

กระทั่งวันหนึ่งในระหว่างพรรษาปี 2487 เมื่อหลวงพ่อแปลหนังสือธรรมบทไปหลายเล่มก็นึกเปรียบเทียบตนกับภิกษุสมัยพุทธกาล แล้วก็รู้สึกว่าการปฏิบัติช่างห่างไกลลิบลับ จึงเริ่มคิดว่าการศึกษาหลักธรรมอย่างเดียวคงไม่ใช่ทางพ้นทุกข์

ถ้าไม่ลองปฏิบัติแล้วจะรู้จริงได้อย่างไร พระพุทธเจ้าคงไม่ได้อยากให้บวชเพื่อมาเรียนอย่างเดียวเป็นแน่ – ท่านคิดแล้วจึงตัดสินใจวางตำรา ออกเดินทางไปหาความรู้ด้านการปฏิบัติ

การธุดงค์ในช่วงนั้นทำให้ท่านรู้จักจิตใจของตนมากยิ่งขึ้น บางวันต่อสู้กับกามราคะเพราะในหัวมีแต่สตรีเพศ เห็นภาพอวัยวะเพศหญิงลอยไปมา บางวันไปปักกลดในป่าช้า ตกกลางคืนก็กลัวผีจนไม่กล้าลุกไปไหน บางวันต้องข่มกลั้นความหิวเพราะไม่มีอาหารตกถึงท้อง บางครั้งพบเจอภิกษุสำนักอื่นที่วินัยย่อหย่อน ซึ่งเป็นกระจกสะท้อนให้ท่านกลับมาพิจารณาตนเอง

เหตุการณ์สำคัญคือการพบกับ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พระป่าระดับเกจิ หลวงพ่อเข้าไปกราบ สอบถามถึงหลักการปฏิบัติ เพราะเป็นผู้ปฏิบัติใหม่ ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร แม้อ่านหนังสือวิสุทธิมรรคแล้วก็รู้สึกว่า มันยากเกินวิสัยที่มนุษย์ทั่วไปจะทำได้

พระอาจารย์มั่นบอกว่า เนื้อความในหนังสือคือสิ่งที่ออกมาจากใจของคนเรา หากอบรมจิตให้มีความละอาย กลัวต่อความผิดบาป ก็จะทำได้ถูกต้องเอง หลวงพ่อฟังแล้วยึดเป็นหลักในการปฏิบัติต่อเนื่องมา โดยเฉพาะการฝึกอบรมจิต

“จงพยายามมีสติ และปล่อยทุกสิ่งให้เป็นไปตามปกติของมัน แล้วจิตก็จะสงบมากขึ้นๆ ในสิ่งแวดล้อมทั้งปวง มันจะสงบนิ่งเหมือนหนองน้ำใสในป่า ที่ซึ่งบรรดาสัตว์ป่าที่สวยงามและหายากจะมาดื่มน้ำในสระนั้น ท่านก็จะเข้าใจถึงสภาวะธรรมชาติของสิ่งทั้งปวงในโลกอย่างแจ่มชัด

“ท่านจะได้เห็นความมหัศจรรย์และแปลกประหลาดทั้งหลายเกิดขึ้นและดับไป แต่ท่านยังสงบนิ่งอยู่เช่นเดิม ปัญหาทั้งหลายจะบังเกิดขึ้น แต่ท่านจะรับรู้มันได้ทันที นี่แหละคือศานติสุขของพระพุทธเจ้า” หลวงพ่อบอกกับพระฝรั่งเมื่อภายหลัง ซึ่งแสดงถึงแนวทางที่หลวงปู่มั่นเคยสอนท่านไว้

หลวงพ่อจาริกไปที่ภาคกลาง เกาะสีชัง ก่อนจะกลับมาบ้านเกิดคืออุบลราชธานี ในช่วงนั้นมีพระเณรเห็นวัตรปฏิบัติเคร่งครัดของท่านแล้วเลื่อมใสจึงติดตามมาขอเป็นลูกศิษย์อีก 3 รูป หลวงพ่อชาจึงตัดสินใจตั้งสำนักสงฆ์ขึ้นกลางป่า ที่ต่อมากลายเป็นวัดหนองป่าพง

การสอนของวัดนี้เน้นการปฏิบัติ เพื่อค้นลึกลงไปหาคำตอบในใจตนเอง

“การแนะนำเป็นเพียงลมปาก ตัวหนังสืออ่านแล้วก็แล้วไป สู้ปฏิบัติเลยไม่ได้ ลงมือเดี๋ยวนี้แหละ จะเกิดความจริง จะพบสิ่งที่ดีแน่นอนได้ นี่เองจะได้พบคำสอนของพระพุทธเจ้า”

สิ่งนี้เองทำให้คนที่มีโอกาสเข้ามาศึกษาบอกต่อกันไม่ขาดสาย และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พระต่างชาติหันมาสนใจวิธีฝึกปฏิบัติของท่าน

คุณนี่แปลก ชอบเอาขี้พกใส่ย่าม ติดตัวไปไหนต่อไหน แล้วมาบ่นว่าเหม็นขี้ ที่โน่นเหม็นขี้ ที่นี่เหม็นขี้ ที่ไหนๆ ก็เหม็นแต่ขี้ ดีแต่บ่น ทำไมไม่ลองสำรวจย่ามของตัวเองดูบ้าง

หลวงพ่อชา สุภทฺโท : พระป่าอีสาน ผู้ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

วัดป่านานาชาติที่ขยายสาขาไปทั่วโลก

ช่วงแรกนั้น ความเป็นอยู่ของพระเณรในวัดหนองป่าพง เรียกได้ว่าแร้นแค้นอย่างมาก ชนิดที่ว่าขนาดสุนัขยังอยู่ไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรจะกิน

วัดอยู่ในป่าลึก ชาวบ้านไม่รู้จัก บางวันบิณฑบาตได้กล้วยมา 3 ลูก ก็ตัดแบ่งเป็นชิ้นเล็กๆ แบ่งกันฉันอย่างทั่วถึง โดยไม่ทิ้งแม้แต่เปลือก หากมีน้ำพริกมาด้วยวันนั้นถือว่าโชคดี แม่ชีจะเก็บผักกำโตๆ มาถวาย แล้วแบ่งน้ำพริกกันคนละนิดฉันกับผัก

ผ้าไตรจีวรก็ขัดสนมาก ต้องเก็บเอาเศษผ้าที่ทิ้งแล้วมาใช้ แม้แต่สบู่ ผงซักฟอก เทียนไข ไม้ขีดไฟก็ไม่มี

แต่ความลำบากนี้เอง เอื้อให้คนที่มาฝึกเข้าใจตนเองได้เร็วขึ้น โดยไม่หลงเพลินอยู่กับความสบาย ดังที่หลวงพ่อสอนว่า

“กินน้อย พูดน้อย นอนน้อย คือนักปฏิบัติ

“กินมาก พูดมาก นอนมาก คือคนโง่”

ต่อมามีพระเณรศรัทธาและเข้ามาเพิ่มเรื่อยๆ หลวงพ่อจึงกำหนดเป็นวัตรปฏิบัติที่ชัดเจน คือตื่นมาทำวัตรตั้งแต่ตี 3 รุ่งเช้าออกบิณฑบาต บ่ายสามโมงทำความสะอาดสถานที่ ฟังหลวงพ่ออ่านหนังสือ หกโมงทำวัตรเย็น วันพระเดินจงกรมตลอดทั้งคืน หลวงพ่อจะทำเช่นเดียวกันทั้งหมด กิจวัตรเหล่านี้ใครขาดถึง 3 ครั้ง จะถูกลงโทษด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ให้กราบสงฆ์ในที่ประชุมทุกรูปเพื่อให้สารภาพผิด

ในการสอนศิษย์นั้น หลวงพ่อทุ่มเทอย่างจริงใจ เพื่อให้พวกเขาเข้าถึงหลักธรรมที่แท้จริง ท่านจึงพยายามฝึกฝนหลายรูปแบบ ทั้งดุด่า ปลอบประโลม ทำให้ดูเป็นแบบอย่าง และบางครั้งก็เคี่ยวเข็ญเอาเป็นเอาตาย ดังที่ท่านพูดว่า ‘ไม่ดีก็ให้มันตาย ไม่ตายก็ให้มันดี’

บางทีหลวงพ่อก็สอนด้วยวิธีแปลกๆ ที่เรียกว่า ‘สวนทางกิเลส’ เช่น ฤดูร้อนให้ปิดประตูศาลาแล้วนั่งสมาธิกันจนเหงื่อโทรมกาย ฤดูหนาวให้เปิดหน้าต่างโล่ง ให้นั่งสมาธิท่ามกลางความเย็น

“..ทุกคนต้องผ่านความทุกข์ยากกันบ้าง นี่คือความทุกข์ที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์ อย่างนี้แหละที่จะทำให้ท่านได้เรียนรู้ เมื่อท่านนึกโกรธ นึกสงสารตัวเอง นั่นแหละเป็นโอกาสเหมาะที่จะเข้าใจเรื่องของจิต พระพุทธเจ้าตรัสว่า กิเลสทั้งหลายเป็นครูของเรา” หลวงพ่ออธิบายเหตุผล

การบวชที่วัดหนองป่าพงไม่ใช่เรื่องง่าย เริ่มแรกต้องนุ่งขาวห่มขาวถือศีลแปด เรียนรู้และฝึกก่อน 1 ปี จากนั้นบวชสามเณรอีก 1 ปี แล้วจึงได้บวชพระ ทั้งนี้เพื่อกลั่นกรองเอาผู้ตั้งใจมาปฏิบัติจริงๆ

ปี 2510 ท่านอาจารย์โรเบิร์ต สุเมโธ ศิษย์ชาวต่างประเทศรูปแรก ได้ยินกิตติศัพท์ความเคร่งครัดของหลวงพ่อจึงมาขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ แม้ว่าหลวงพ่อจะไม่ช่วยเหลือ แถมยังดุด่าเพื่อเตือนสติหลายครั้ง แต่พระอาจารย์สุเมโธประทับใจในวิธีสอนของท่านมาก

ต่อมามีชาวอเมริกันอีกสองคนเข้ามาบวช คนหนึ่งเป็นนักเขียน เมื่อลาสิกขาไปแล้วได้จดบันทึกคำสอนของหลวงพ่อแล้วไปพิมพ์เผยแพร่ทำให้ชื่อเสียงของวัดหนองป่าพงเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวต่างชาติ หลังจากนั้นจึงมีผู้คนจากทั่วโลกที่สนใจพระพุทธศาสนาเดินทางมาฝึกปฏิบัติกับหลวงพ่อเป็นจำนวนมากและบอกต่อกันไป จนต่อมาเกิดเป็นวัดป่านานาชาติ และมีสำนักสาขาวัดหนองป่าพงในหลายประเทศทั่วโลก เช่น อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา

หลวงพ่อชามรณภาพเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2535 แต่ถึงวันนี้คำสอนและวิธีสอนของท่านที่คมคาย ลึกซึ้ง ก็ยังใช้ได้อยู่โดยไม่ล้าสมัย

สำหรับคนที่สนใจพระพุทธศาสนาในรูปแบบของการปฏิบัติอย่างเข้มข้นและขบคิดด้วยเหตุผล หลักธรรมของหลวงพ่อชา สุภทฺโท จึงน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • หนังสือ อุปลมณี
  • หนังสือ ใต้ร่มโพธิญาณ จัดพิมพ์เผยแพร่โดยวัดหนองป่าพง
  • หนังสือ คำตอบหลวงปู่ชา จัดพิมพ์เผยแพร่โดยวัดหนองป่าพง
  • หนังสือ ชวนม่วนชื่น ธรรมะบันเทิงหลายเรื่องเล่า โดย พระอาจารย์พรหม

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.