นั่งยองๆ มือคืบบุหรี่ พูดจามึง-กู คือเอกลักษณ์ที่ยากจะเลียนแบบของพระภิกษุที่ผู้คนรู้จักและคุ้นเคยมากที่สุดในประเทศ
แม้จะขัดกับภาพบรรดาเกจิอาจารย์ที่ผู้คนทั่วไปนึกถึงแบบสุดขั้ว แต่พระเทพวิทยาคม หรือหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ แห่งวัดบ้านไร่ ก็เป็นพระที่ผู้คนต่างเคารพนับถือ
หลายคนยกย่องให้ท่านเป็นเทพเจ้าแห่งที่ราบสูง บางคนบอกว่าท่านมีอิทธิฤทธิ์ ญาณวิเศษ และอีกไม่น้อยที่เข้าไปกราบนมัสการ ด้วยความหวังที่อยากให้หลวงพ่อแสดงปาฏิหาริย์ให้เขาโชคดี ร่ำรวย หายเจ็บหายป่วยหายไข้
แต่ถึงได้รับความยกย่องเพียงใด หรือมีเงินมากมายมากองตรงหน้า หลวงพ่อก็ไม่เคยสนใจ ท่านก็เพียงรับไว้ และนำไปสร้างคุณประโยชน์แก่ผู้คนและแผ่นดินต่อไป
เพราะเรื่องเดียวที่หลวงพ่อใส่ใจก็คือ การช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ตามแนวทางที่พระพุทธองค์วางไว้
ยอดมนุษย์..ธรรมดา ขอพาทุกท่านย้อนรำลึกถึงเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ของพระภิกษุธรรมดาๆ แต่มีบทบาทขับเคลื่อนสังคมไทยมาตลอดหลายสิบปี
“..เมตตามหามงคล แด่สาธุชนศิษย์หลวงพ่อคูณ หลั่งไหลกันมาทำบุญ พรหลวงพ่อคูณ ขอให้รวยให้รวย..”
บทเพลงหลวงพ่อคูณของคาราบาว ยังคงก้องอยู่ในใจใครหลายคน แม้หลวงพ่อคูณจะมรณภาพไปแล้วก็ตาม
เกือบ 30 ปีที่คนไทยคุ้นเคยกับเกจิอาจารย์แห่งอีสานผู้นี้ นับตั้งแต่เกิดข่าวหญิงสาวรอดตายปาฏิหาริย์ ไม่มีอาการบาดเจ็บใดๆ หลังอมเหรียญหลวงพ่อคูณแล้วกระโดดจากชั้นสาม เพื่อหนีตายจากเหตุไฟไหม้โรงงานทำตุ๊กตาเคเดอร์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 จากนั้นก็มีสาธุชนทั่วประเทศเดินทางมายังวัดบ้านไร่ เพื่อขอวัตถุมงคล บางคนมาขอให้ท่านเหยียบโฉนด เขกหัว รดน้ำมนต์ ฝังตระกรุด ขอให้อวยพรให้ได้นั่นได้นี่
หลายคนอาจสงสัยว่า เหตุใดหลวงพ่อจึงไม่เคยปฏิเสธคนเหล่านี้ หรือว่ายินดีที่เห็นคนงมงายหรืออย่างไร
หลวงพ่อมักบอกเสมอว่าต้องทำเพราะชาวบ้านอยากให้ทำ แต่อีกมุมหนึ่งท่านก็พยายามสอนให้คนเหล่านั้นเห็นว่า ตนนั่นแหละที่เป็นที่พึ่งแห่งตน และไม่มีประโยชน์ที่จะเชื่ออะไรแบบงมงาย
อย่างการเหยียบโฉนด ท่านก็บอกว่า “มันมาขอร้องกู ให้กูทำโน่นทำนี่ ให้กูเหยียบ กูก็เหยียบให้มันจบ กูจะไปขัดใจมันทำไม มันจะได้สบายใจ แต่กูก็บอกว่า ถ้าอยากขายให้คล่อง มึงก็ขายถูกๆ ให้พอใจคนซื้อเถอะไอ้นาย”
คนที่มาฝังตระกรุดก็เช่นกัน ท่านก็จะย้ำเสมอว่า ต้องซื่อสัตย์ ไม่ประพฤติชั่ว ไม่ประพฤติผิดทางเพศ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่ด่าผู้อื่น เป็นคนดี เป็นคนมีระเบียบวินัย สงบเสงี่ยม หรือพูดง่ายๆ ก็คือตั้งตนอยู่ในศีล 5 นั่นเอง
แม้สุดท้ายคนส่วนใหญ่จะไม่สามารถซึมซับคำสอน เพราะหลงใหลกับวัตถุมงคลมากกว่าก็ตาม
“ก็พวกมันไม่อยากได้ (ธรรม) นี่ มันเหมือนว่า เมื่อพวกมันไม่หิวจะให้กูไปป้อนมันได้อย่างไร ถ้าทำได้ กูก็จะสอนให้พวกมันเป็นคนดีมากขึ้น แต่พวกมันไม่สนใจ พวกมันมีแต่กิเลสความโลภอยู่ในหัวใจ นี่เป็นเป็นสาเหตุว่า ทำไมโลกมันถึงได้วุ่นวายอยู่อย่างนี้”
แต่ท่านก็ยังคงมองโลกในแง่ดีว่า อย่างน้อยๆ เขาก็เอาเงินมาถวาย แล้วเงินที่ได้ ท่านก็จะได้นำกลับมาพัฒนาบ้านเมือง โดยเฉพาะในยุคที่รอแต่เงินแผ่นดินอย่างเดียวไม่ไหว เพราะปณิธานที่หลวงพ่อยึดมั่นตั้งแต่ตัดสินใจว่าจะอุทิศชีวิตที่เหลืออยู่ให้พระศาสนา คือการทำประโยชน์ให้สังคม
ความจริงหลวงพ่อตั้งใจจะบวชเพียง 3 พรรษาเท่านั้น
เพราะพระส่วนใหญ่ที่วัดบ้านไร่ พอบวชสักระยะหนึ่งก็ลาสิกขากลับไปใช้ชีวิตฆราวาส ทำไร่ทำนา แต่งงานมีครอบครัว หลวงพ่อคูณก็คิดแบบนั้นเช่นกัน แต่ด้วยคำทัดทานของ ทิดเชื่อม วิรโช อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ และหนึ่งในผู้ประสิทธิประสาทวิชา ทำให้หลวงพ่อเปลี่ยนใจ และกลับไปย้อนคิดถึงชีวิตในวัยเยาว์ ที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก
หากสึกออกไปก็คงทำอะไรไม่ได้ ลำพังแค่เลี้ยงตัวเองยังลำบาก แต่ถ้าบวชเรียนต่อ หาความรู้ไปเรื่อยๆ ก็อาจช่วยให้ผู้คนในท้องถิ่นพ้นจากความยากลำบากได้
ด้วยความคิดที่นึกถึงส่วนรวมเป็นหลัก ตัวเองทีหลัง กลายมาเป็นแรงผลักดันให้พระชาวบ้านแท้ๆ อย่างหลวงพ่อคูณสามารถสร้างศรัทธาจากประชาชนทั่วประเทศได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ความจริงหลวงพ่อคูณถือเป็นพระนักพัฒนารุ่นแรกๆ ของเมืองไทย หลังเดินทางกลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านไร่ วัดบ้านเกิดเมื่อ ปี 2495 สิ่งที่ต้องเผชิญคือ วัดมีสภาพทรุดโทรม ขาดการทำนุบำรุงมาแรมปี ท่านบอกว่า “พระต้องไม่ขอบิณฑบาตข้าวชาวบ้านฉันอย่างเดียว แต่จะต้องตอบสนองให้กับชาวบ้านด้วย”
หลวงพ่อติดต่อทางราชการ ขอไม้ในป่าที่อยู่เหนือวัดบ้านไร่ขึ้นไปหลายสิบกิโลเมตร รวมกับซุงจากโรงเลื่อย จากนั้นก็เกณฑ์แรงงานชาวบ้านมาช่วยกันเลื่อยไม้ ทำอยู่หลายเดือน จนซ่อมแซมกุฏิเสร็จ 3 หลัง สร้างศาลาการเปรียญเล็กๆ หลังใหม่ รวมถึงอุโบสถหลังแรกของวัด โดยทั้งหมดแทบไม่ได้ใช้เงินเลย
หลังจากนั้น หลวงพ่อได้ขอบิณฑบาตที่ดินของชาวบ้านละแวกนั้นเพื่อสร้างโรงเรียนวัดบ้านไร่ พร้อมกับเรี่ยไรเงินจากชาวบ้านได้ 3,000-4,000 บาท จนสร้างอาคารไม้ 1 ชั้น 3 ห้องเรียนได้สำเร็จ ไม่เพียงแค่นั้นหลวงพ่อยังมีโครงการขุดสระ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ จนชาวบ้านสามารถทำเกษตรกรรมได้ตลอดทั้งปี
ตลอดชีวิตในสมณเพศนอกจากวัดบ้านไร่แล้ว หลวงพ่อเดินทางไปจำพรรษามาแล้วทั่วทุกภูมิภาค และไม่ว่าจะไปแห่งใด หลวงพ่อก็มักนำความเจริญมาให้ เช่นตอนที่อยู่วัดสระแก้ว ในตัวเมืองโคราช หลวงพ่อก็ได้สร้างวัตถุมงคลเพื่อช่วยระดมทุนซ่อมแซมกุฏิสงฆ์ที่ชำรุดเสื่อมโทรม
หลักการบริจาคเงินกับหลวงพ่อคูณนั้นไม่มีอะไรมาก หากถวายธนบัตรหลายใบ หลวงพ่อก็จะรับไว้แค่ใบเดียว คือใบที่มีมูลค่าน้อยสุด แต่ถ้าถวายใบเดียว หลวงพ่อก็จะจับปัจจัยแล้วส่งคืนให้ หลวงพ่อเคยให้เหตุผลว่า “กูให้พวกมึงรู้จักพอ อย่าโลภมาก รู้จักเอาชนะใจตัวเอง”
หลวงพ่อบอกว่าเงินที่ได้รับมาคือเงินที่ชาวบ้านนำมาฝากไว้ หลวงพ่อไม่ได้เอามาเป็นสมบัติส่วนตัว แต่เอาไปทำประโยชน์เพื่อบ้านเมือง พอทำแล้วคนที่บริจาคก็จะได้รับอานิสงค์เช่นกัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยว่าเหตุใดในย่ามของหลวงพ่อจึงมีเงินอยู่ไม่กี่ร้อยบาท และส่วนใหญ่ก็จะเป็นแบงก์ย่อย และเศษเหรียญ
แต่หากหลวงพ่อจะใช้เงินแล้ว ก็จะใช้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการมอบให้แก่ผู้ที่ขาดแคลนและต้องการความช่วยเหลือ มอบให้การศึกษา เช่น ตั้งมูลนิธิ ให้ทุนเล่าเรียน สร้างโรงเรียน สร้างวิทยาลัย สร้างพิพิธภัณฑ์ รวมถึงการนำไปเพื่อสาธารณกุศลต่างๆ เช่น สร้างอ่างเก็บน้ำ ตัดถนน บำรุงโรงพยาบาล เพื่อให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านดีขึ้น โดยจากการประเมินเชื่อว่า หลวงพ่อบริจาคไปแล้วร่วมหมื่นล้านบาท
“กูใช้เงินนี่ กูใช้อย่างทารุณนะ ใช้อย่างอื่นมีเมตตา แต่ใช้เงินไม่มีเมตตาเลย.. เงินจะมาเป็นนายกูไม่ได้หรอก ต้องเป็นทาสกู ต้องอยู่ภายใต้บังคับบัญชากู”
เชื่อหรือไม่ ครั้งหนึ่งหลวงพ่อคูณอยากเป็นหมอเพลงโคราช
สมัยนั้นหากไม่เป็นนักเลง การเป็นนักแสดงหรือคนดังนี่แหละที่เป็นความฝันของคนหนุ่มสาว
หลวงพ่อเองก็มีน้ำเสียงไพเราะไม่แพ้ใคร จึงดั้นด้นไปฝากตัวกับครูเพลงที่อำเภอด่านขุนทด โดยแลกกับการทำนาให้ฟรี แต่เรียนไปได้พักใหญ่ก็ดูเหมือนจะไม่รุ่ง จึงตัดสินใจลาครูกลับมาอยู่บ้าน
นี่อาจเป็นชะตาที่กำหนดมาแล้วให้หลวงพ่อคูณต้องบวชตลอดชีวิต
ความจริงชีวิตของหลวงพ่อคูณนั้นผูกพันกับวัดมาตั้งแต่เด็ก เพราะหลังโยมแม่ถึงแก่กรรมตอนหลวงพ่ออายุได้ 11 ขวบ โยมพ่อก็นำมาฝากกับเจ้าอาวาสที่วัดบ้านไร่ จนกระทั่งอายุ 16 ปี ก็ย้ายมาอยู่กับน้าชายและน้าสะใภ้ ว่ากันว่าชีวิตช่วงนี้หนักหน่วงไม่ใช่เล่น ต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 ทำนาตากแดกตากลม ก้มๆ เงยๆ จนพลบค่ำ
หลวงพ่อทำอย่างนี้จนร่างกายระบม ถึงขั้นนอนแผ่กลางทุ่งนา พอน้าสะใภ้มาเห็นก็เลยพูดทีเล่นทีจริงว่า “ไม่ไหวเหรอหลาน ถ้าไม่ไหวก็ไปบวชเสียไป” หลวงพ่อก็เลยตอบกลับไปว่า “น้าคอยดูเถอะ หากฉันได้บวชแล้ว ขอรับรองว่าฉันจะไม่ยอมสึกเป็นอันขาด จะบวชจนตายเลยแหละ”
เวลาผ่านไป 5 ปีเต็ม หลวงพ่อจึงได้บวชเป็นพระอย่างที่เคยพูดไว้
แม้วัตรปฏิบัติของพระภิกษุ คือการศึกษาธรรม นั่งวิปัสสนากรรมฐาน แต่เรื่องไสยศาสตร์ อาคม ญาณวิเศษก็มีบทบาทไม่น้อย โดยเฉพาะพระสายอีสานยุคก่อน
พระหลายรูปหลงใหลได้ปลื้มกับเรื่องพวกนี้ แต่พระเกจิอาจารย์อีกไม่น้อยที่เรียนรู้เรื่องพวกนี้เพื่อศาสตร์ในการช่วยเหลือชาวบ้าน และใช้เป็นใบเบิกทางในการสอนธรรมแก่ชาวบ้าน
หลวงพ่อคูณเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ท่านเคยได้รับการถ่ายทอดวิชาฝังตะกรุด เมตตามหานินม คงกระพันชาตรี จากหลวงพ่อคง พุทธฺสโร วัดถนนหักใหญ่ แต่ก็ไม่เคยอวดอ้างในวิชาเหล่านั้น
ครั้งหนึ่งเคยมีคนถามว่าหลวงพ่อได้ญาณถึงขั้นไหนแล้ว ท่านตอบว่า “กูจะมีญาณมีเยินอะไรไอ้นาย กูก็มีแต่ยานโตงเตง”
ที่สำคัญท่านพยายามย้ำว่า สิ่งต่างๆ ที่ทำ ทั้งฝังตะกรุด เป่ากระหม่อม เคาะหัว ปลูกเสก สร้างเหรียญ จะไม่มีประโยชน์เลย หากผู้รับไม่ยึดมั่นในศีลในธรรม ซึ่งก็ไม่ต่างกับพระธุดงค์หลายๆ รูปที่ถูกเสือคาบไปกิน เพราะเวลาเข้าป่าแทนที่จะตัดกิเลส ทำจิตใจให้แน่วแน่ ให้สมกับที่ปลีกวิเวก กลับประพฤติตนผิดศีล ผิดธรรม จนเทวดาอารักษ์ก็ไม่อยากดูแล
ก็พวกมันไม่อยากได้ (ธรรม) นี่ มันเหมือนว่า เมื่อพวกมันไม่หิวจะให้กูไปป้อนมันได้อย่างไร ถ้าทำได้ กูก็จะสอนให้พวกมันเป็นคนดีมากขึ้น
ตลอด 71 พรรษาที่คนไทยรู้จักหลวงพ่อคูณ มีน้อยครั้งที่จะเห็นหลวงพ่อขึ้นเทศน์ เช่นเดียวกับหนังสือธรรมะแบบที่พระดังๆ หลายรูปชอบเขียนก็ไม่มี เพราะหลวงพ่อถือว่าตัวเองเป็นพระบ้านๆ พูดไม่เก่ง คำพูดที่ออกมาก็มีแต่อะไรที่ตรงๆ อย่างคำว่า มึง-กู ที่หลายคนมองว่าไม่สุภาพ
หลวงพ่อบอกว่า “กูแสดงให้รู้ว่ากูมีความจริงใจกับพวกมึง แสดงความเป็นกันเอง รักใคร่สนิทสนม ไม่ต้องมีพิธีรีตอง พูดตรงไปตรงมา อย่างกูเรียกว่าไอ้นาย ก็แปลว่ากูรักกูเอ็นดูเหมือนลูกเหมือนหลานไม่เกี่ยวกับยศถาบรรดาศักดิ์อะไร”
เพราะความง่ายนี่เองที่เป็นเครื่องยืดเหนี่ยวหลวงพ่อไว้กับผู้คนในสังคมอย่างเหนียวแน่น
หลวงพ่อแทบไม่เคยปฏิเสธผู้ที่ขอความช่วยเหลือ เพราะเชื่อว่า การให้ทานเป็นการทำบุญที่ยิ่งใหญ่ และยิ่งทานนั้นเป็นธรรมด้วยแล้ว ก็จะยิ่งเปี่ยมสุขมากเป็นพิเศษ ดังที่มักบอกกับผู้ที่มากราบนมัสการว่า “ของดีกูมีแต่ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พวกมึงเอาไปใช้ได้”
ในปีท้ายๆ สภาพร่างกายของหลวงพ่อเริ่มไม่เอื้ออำนวย ต้องนั่งรถเข็น แต่ก็ยังมีญาติโยมแวะมากราบไหว้ไม่ขาดสาย ขณะที่หลวงพ่อเองก็ยอมฝีนสังขาร ออกมาเคาะกะโหลก เป่ากระหม่อม ปลุกเสกพระเครื่อง จับสายสิญจน์ เพื่อความสบายใจของชาวบ้าน
หลวงพ่อมักบอกกับคนใกล้ชิดเสมอว่า จะอุทิศตัวเพื่อชาวบ้านเช่นนี้เรื่อยๆ ไป ต่อให้ตายไปแล้วก็ยังคงทำ
ช่วงแรกๆ หลายคนก็สงสัยว่า หลวงพ่อหมายความว่าอะไร กระทั่งมาไขกระจ่างในพินัยกรรม เพราะหลวงพ่อตั้งใจมอบร่างกายเป็นอาจารย์ใหญ่แก่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อให้นักศึกษาได้ศึกษาร่างกายโดยละเอียด และเป็นการตัดภาระยุ่งยากต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นหลังมรณภาพ
“คนที่มากูฝากตัวเป็นศิษย์มีมากมายหลายประเภท มีทั้งดีทั้งเลว ละโมบโลภมาก มาแสวงหาประโยชน์ต่างๆ นานา โดยไม่กลัวบาปกลัว อ้างตัวว่าเป็นหลานเป็นพี่เป็นน้อง แต่ก็เปล่าดอก ถ้าเป็นพี่เป็นน้องของกูอย่างปากว่าจริงๆ ก็จะไม่มาสร้างความวุ่นวายยุ่งเหยิงให้เกิดขึ้นแน่ กูจึงขอให้โรงพยาบาลมารับเอาศพไปภายใน 24 ชั่วโมง และหลังจากสิ้นสุดการศึกษาค้นคว้าแล้ว ก็ให้จัดพิธีบำเพ็ญกุศลศพ เช่นเดียวกับศพของอาจารย์ใหญ่ นักศึกษาแพทย์ประจำที่ร่วมกันท่านอื่น”
หลังสิ้นลมเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2558 ความตั้งใจของหลวงพ่อคูณก็ประสบความสำเร็จ ปิดฉากตำนานอันยิ่งใหญ่ของตำนานเทพเจ้าแห่งที่ราบสูง ผู้ที่ละซึ่งความโลภ โกรธ หลง เหลือเพียงแต่ความเมตตา และปณิธานในการรักษาพระพุทธศาสนาจนวินาทีสุดท้าย
พระเซนชาวเวียดนาม นักบวชผู้นำจิตวิญญาณและสันติภาพที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อชาวโลกมานานกว่า 7 ทศวรรษ
อดีตนักกลยุทธ์โฆษณามือฉมังของเมืองไทย แต่แล้ววันหนึ่งเขาก็ได้พบจุดเปลี่ยนที่สำคัญของชีวิต จนนำมาสู่การบุกเบิก ‘วิชาใจ’ ธรรมง่ายๆ ที่ทุกคนเสพได้
ครู ผู้สร้างบทเรียนในความทรงจำของคนไทยมากมาย
จำเรื่องราวของผองเพื่อนมานะ มานี ปิติ ชูใจ ได้ไหม เราขอย้อนนำเรื่องราวทั้ง 12 เทอม กลับมาเล่าให้ฟัง
ครูเล็ก-ภัทรวาดี นักแสดงชั้นครูของเมืองไทย กับเรื่องเล่าถึงแม่ บุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดในชีวิตของเธอ
ครูแพทย์นักคิด นักบุกเบิก ผู้สร้างนวัตกรรมแก่สังคมไทย ทั้งแพทย์แผนไทยประยุกต์ วิทยาศาสตร์การกีฬา วิ่งเพื่อสุขภาพ น้ำเกลือ และอื่นๆ อีกมากมาย
โลกดนตรี ตำนานรายการคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ที่ศิลปินยุค 1970-2000 อยากขึ้นแสดงมากที่สุด เพราะใครที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีนี้ แสดงว่าดังแล้ว
ห้องทดลองกฎหมายของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่ทำงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิเรื่องสัญชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
นักออกแบบแดนปัตตานีที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพจำๆ เดิมของชายแดนใต้ ไปสู่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์
จากครูอาสาที่มาสอนดนตรีในชุมชนคลองเตย สู่การต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ที่จะเติบโตอย่างงดงาม
แรงบันดาลใจของพระอีสานผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.