มานะ มานี THE SERIES : ๑๒ เทอม แห่งความทรงจำ

<< แชร์บทความนี้

แม้จะเป็นแบบเรียนที่ยังประทับใจไม่รู้ลืม

แต่เชื่อว่า หลายคนอาจหลงลืมรายละเอียดบางอย่างของ หนังสือเรียนภาษาไทย ชุด มานะมานี ไปไม่น้อย

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงขออาสาพาคุณกลับไปหวนนึกถึงบรรยากาศเดิมๆ ตลอด 12 เทอมแห่งความทรงจำกันอีกสักหน พร้อมกับเบื้องหลังความคิดของอาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

แต่ก่อนจะลงรายละเอียดแบบแยกเล่ม เรามี 9 เรื่องน่ารู้มาเล่าให้ฟังก่อน

1. วันเกิดที่แท้จริงของบทเรียนมานะมานี คือวันที่ 3 ตุลาคม 2520 ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องอนุญาตให้ใช้หนังสือเรียน

2. รุ่นสุดท้ายที่ได้ใช้บทเรียนมานะมานี คือ นักเรียน ป.6 ปีการศึกษา 2539

3. แม้จะแบบเรียนนี้จะใช้ชื่อ มานะมานี แต่เชื่อเถอะว่า พออ่านไปคุณจะรู้สึกว่าไม่มีใครโดดเด่นเกิน ปิติ แน่นอน

4. นักวาดภาพประกอบบทเรียนชุดนี้ หลักๆ มี 3 ท่าน คือ เตรียม ชาชุมพร (ป.1 เล่ม 1) ปฐม พัวพิมล (ป.1 เล่ม 2) และ พินิจ มนรัตน์ (ป.2 เล่ม 1) ส่วนเล่มที่เหลือเป็นผลงานของนักวาดภาพท่านใด ทางเราก็จนปัญญาจริงๆ

5. นอกจากตัวละครมานะ มานี ชูใจ ปิติ วีระ สมคิด ดวงแก้ว เพชร และจันทร แล้ว ในเรื่องยังมีเพื่อนๆ ที่มีบทบาทอีกหลายตัว เช่น ปราการ ธโนปกรณ์ ประธานนักเรียน วุฒิ ผู้มีความสามารถในการแต่งเพลงแซวนักดนตรี วัฒนา เด็กเลี้ยงวัวที่มานะมานีและชาวแก๊งไปช่วยเหลือตอนใกล้ๆ จะจบเรื่อง

6. อีกบุคคลหนึ่งที่มีบทบาทตลอดทั้งเรื่อง แต่มีชื่อปรากฏอยู่แค่ตอนแม่จ๋า ชั้นป. 6 เล่ม 2 คือลุงของวีระ ที่มีชื่อว่า ลุงทรัพย์

7. สิ่งที่มักจะอยู่คู่แบบเรียนชุดมานะมานีตลอด ก็คือวรรณคดีไทย เช่น พระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน สังข์ทอง สุวรรณสามชาดก รวมทั้งยังมีประวัติวีรบุรุษวีรสตรีของไทยอีกเพียบ ทั้งพระยาพิชัยดาบหัก ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร นายขนมต้ม ฯลฯ

8. ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่าแบบเรียนชุดนี้ถูกสอดแทรกด้วยประเด็นสังคมเต็มไปหมด ตั้งแต่ การเลือกตั้ง น้ำมันแพง ยาเสพติด การกว้านซื้อที่ดินของนายทุน คนพิการ หรือแม้แต่ปัญหาเรื่องการศึกษา นับเป็นแบบเรียนที่ล้ำสมัยจริงๆ

9. แบบเรียนชุดนี้โด่งดังไกลถึงเมืองเมลเบอร์น ประเทศออสเตรเลีย เพราะถูกนำไปใช้เป็นหนังสือเรียนในการสอนภาษาไทยแก่ชาวต่างประเทศ

มานะ มานี ป.1 เล่ม 1

นี่คือครั้งแรกที่เราได้รู้จักกับตัวละคร ด.ญ.มานี และผองเพื่อน บ้านของเธออยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในชนบท

“ครูกำหนดให้เรื่องนี้เกิดขึ้นในจังหวัดลพบุรี เพียงแต่ไม่ได้ระบุไว้ในหนังสือ สาเหตุที่ชอบลพบุรีก็เพราะว่า จังหวัดนี้มีทั้งแม่น้ำ มีภูเขา แล้วก็ทุ่งนา มีส่วนผสมที่เหมาะจะเป็นแหล่งกำเนิดของเรื่องราว” ผู้ประพันธ์เฉลยเรื่องราวที่คุณอาจไม่เคยรู้

ในฉากเปิด เรารู้ว่ามานีอาศัยอยู่กับพ่อแม่ และพี่ชายชื่อมานะ เธอมีสุนัขคู่ใจชื่อ เจ้าโต และมีเพื่อนสนิท 2 คนที่อายุรุ่นราวคราวเดียว คนแรกคือ ชูใจ อยู่บ้านใกล้ๆ กัน ชูใจอาศัยอยู่กับย่า และเลี้ยงแมวตัวหนึ่งชื่อ สีเทา

เวลาว่างทั้งคู่มักจะมาเล่นด้วยกัน พร้อมกับนำสัตว์เลี้ยงของทั้งคู่ไปด้วย น่าแปลกเหลือเกิน เพราะปกติสุนัขและแมวมักเป็นอริกัน แต่ในเรื่องนี้กลับมาเพื่อนซี้กัน

เจ้าโตเป็นสุนัขแสนซน ชอบวิ่งเล่นคุ้ยอะไรไปเรื่อย จนครั้งหนึ่งโดนปูหนีบหู มานีต้องหายามาทาให้

เพื่อนสนิทคนที่ 2 ชื่อปิติ ซึ่งนอกจากเป็นเพื่อนมานีแล้ว เขายังเป็นเพื่อนมานะด้วย ปิติมีม้าแก่ๆ อยู่ตัวหนึ่งชื่อเจ้าแก่ เด็กๆ อยากขี่เจ้าแก่กันมาก แต่ส่วนใหญ่มีเฉพาะมานะและปิติเท่านั้นที่ได้ขี่

มานีฝันอยากไปโรงเรียนเหมือนพี่ชาย แต่เด็กยังเด็กเกิน จนแม่ต้องบอกให้รออีกหน่อย เดี๋ยวปีหน้าก็ได้ไปแล้ว และนี่คือเรื่องราวในเทอมแรกของพวกเขาทั้ง 4 คน มานะ มานี ปิติ ชูใจ กับเพื่อนสัตว์เลี้ยงอีก 3 ตัว เจ้าโต สีเทา และเจ้าแก่

มานะ มานี ป.1 เล่ม 2

ชื่อของวีระโผล่มาตั้งแต่หน้า 1 ของเล่มแรก แต่เราเพิ่งจะมารู้จักเขาจริงๆ ก็ช่วงเทอม 2 นี่เอง

วีระเป็นเพื่อนในกลุ่มเดียวกับมานะและปิติ เขามีลิงหน้าขาวอยู่ตัวหนึ่งชื่อ เจ้าจ๋อ

บ้านของวีระอยู่ไกลจากบ้านของมานะและปิติมาก จึงต้องขี่เจ้าแก่ไปหา แต่ถึงจะไกล ก็เขียวชอุ่มไปด้วยเรือกสวนไร่นา และที่นี่เองที่พวกเขาพบกับลูกนกแก้วกำพร้า ซึ่งมานะขอไปหาน้องสาว

แต่สิ่งที่เป็นไฮไลต์สุด คงหนีไม่พ้นการที่มานี ชูใจ และปิติได้ไปโรงเรียนครั้งแรก

หลังจากที่มานีรอคอยด้วยใจจดใจจ่อตั้งแต่เล่มที่แล้ว

อย่างไรก็ดี หากใครได้อ่านดีๆ จะพบว่า เวลาในเล่ม 2 นี้เร็วกว่าปกติ 2 เท่า เพราะแค่เล่มเดียว เด็กๆ ก็จบ ป.1 กันแล้ว

ฉากโรงเรียนนี้กลายมาที่มาของตัวละครสำคัญอีกคนหนึ่ง คือนางเอกของเรื่อง อย่าง ครูไพลิน ครูประจำชั้นของเด็กๆ ซึ่งมีเอกลักษณ์ น่ารัก ฟันขาว ยิ้มสวย ตัวสูง กลายเป็นอิทธิพลด้านบวกที่มานีอยากเดินตาม โดยมานะแนะนำน้องสาวว่า ต้องแปรงฟัน ออกกำลังกายบ่อยๆ

อาจารย์รัชนีบอกว่า ครูไพลินมีตัวตนจริงๆ และในชีวิตจริงก็เป็นครูด้วย ชื่อว่า ครูไพลิน บูรณสัมฤทธิ์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์

จุดเด่นของเรื่องคืออาจารย์พยายามใส่แก๊กน่ารักๆ ลงไปด้วย เช่นวันแรกที่ไปถึงครูใหญ่ให้เด็กๆ แนะนำตัว มานีบอกว่า “สวัสดีค่ะ ฉันชื่อมานีค่ะ” พอถึงตาชูใจ ชูใจก็บอกว่า “ฉันชื่อชูใจค่ะ” ขณะที่ปิติไม่รู้ว่าต้องพูดอย่างไรก็เลยกล่าวตามเพื่อนๆ ว่า “ฉันชื่อปิติค่ะ” ทำให้ทุกคนพากันหัวเราะ

แต่สิ่งที่สำคัญสุดคือ การสอดแทรกแนวคิดเรื่องระเบียบวินัยและมารยาทของเด็กๆ เป็นระยะ เช่นคำพูดลงท้าย การทิ้งขยะให้ถูกที่ถูกทาง การพูดขอบคุณเวลามีคนทำอะไรให้เราพอใจ หรือพูดขอโทษเวลาที่ทำอะไรผิด และยังมีหน้าที่ของนักเรียน 10 ข้อ ซึ่งเด็กๆ บางคนต้องฝึกท่องด้วย

มานะ มานี ป.2 เล่ม 1

ชีวิต ป.2 ของมานีและผองเพื่อนไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก มานียังคงชอบไปโรงเรียน เพราะอยากเจอเพื่อนและคุณครูไพลิน

ป.2 มีเพื่อนใหม่ที่เพิ่งย้ายเข้ามา 2 คน คือสมคิด และดวงแก้ว

สมคิดนี้แม้ว่าจะตัวละครที่ไม่ค่อยโด่งดังเมื่อเทียบกับเพื่อนๆ แต่ก็มีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจหลายอย่าง เป็นคนชอบแสดงความคิด และชอบมีส่วนร่วมมาก บางครั้งก็ผิดจังหวะ บางทีก็ตอบไม่ตรงคำถาม เช่นครั้งหนึ่งครูไพลินถามว่า รุ้งมีสีอะไรบ้าง สมคิดรีบยกมือทันที แล้วตอบว่ามีหลายสี

ส่วนดวงแก้ว เป็นเด็กเรียบร้อย อาศัยอยู่กับป้า ที่บ้านมีแมว 2 ตัว คือทองคำกับทองแดง ดวงแก้วชอบทองคำมากกว่าทองแดง ไม่ซุกซนและกินอาหารเรียบร้อย

แต่ฉากที่ถือว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญมีอยู่ 2 เรื่อง

เรื่องแรกคือ พ่อแม่พามานะมานีไปเที่ยวกรุงเทพฯ โดยนั่งรถไฟไป และพักที่บ้านของลุง ที่นี่พวกเขาได้พบกับประสบการณ์ใหม่ๆ เช่นได้เห็นเครื่องบิน รถยนต์ ไฟจราจร โทรทัศน์ และสวนสัตว์ ทำให้มานะเริ่มมีความฝันอยากจะเป็นนักบินขึ้นมา ซึ่งพ่อก็บอกว่า มานะต้องเรียนหนังสือให้เก่งและร่างกายแข็งแรงจึงจะขับเครื่องบินได้

อีกฉากหนึ่งที่เรียกน้ำตาของเด็กๆ ได้มากเป็นพิเศษ คือ เจ้าแก่ ม้าคู่ใจของปิติตายจากไป วันนั้นปิติมาโรงเรียนสาย พอมาถึงหน้าตาเศร้าหมองพร้อมบอกว่า “เจ้าแก่ตายแล้วครับ ผมต้องช่วยพ่อฝังมันที่โคนต้นไม้หลังบ้าน”

ช่วงนั้นอาจารย์รัชนีได้รับจดหมายจากเด็กๆ เพียบ พร้อมคำถามว่า “ทำไมเจ้าแก่ต้องตาย..สงสารมัน”

“ตอนนั้นครูไปเยี่ยมที่โรงเรียนแห่งหนึ่งย่านพลับพลาไชย เด็กผู้หญิงคนหนึ่งเดินมาหาแล้วบอกว่า คุณครูขา หนูไม่ยอม หนูไม่อยากให้เจ้าแก่ตาย ครูก็บอกไปว่า นี่แหละหนู ชีวิตมันก็เป็นอย่างนี้ ไม่เป็นไร แล้วครูจะหาม้าตัวใหม่มาให้ เอาให้น่ารักกว่าเดิมอีก”

มานะ มานี ป.2 เล่ม 2

ช่วงเทอม 2 นี้เนื้อหาก็คล้ายๆ กับเทอมแรก

แต่ที่พิเศษขึ้นกว่าเดิมคือ ผองเพื่อนเริ่มสนิทกันมากขึ้น ปิติกับสมคิดกลายเป็นคู่หูกัน อย่างเช่นฉากที่ปิติกระซิบสมคิดว่าเขาจะปลูกต้นมะม่วงในวันปลูกต้นไม้ของโรงเรียน หรือการชวนสมคิดไปเยี่ยมบ้าน ทำให้ทุกคนทราบว่า ปิติก็มีน้องแรกเกิดกับเขาคนหนึ่งเหมือนกัน

ในเรื่องยังค่อยๆ เล่ารายละเอียดพื้นฐานของแต่ละครอบครัวมากขึ้น

อย่างพ่อของมานะมานีเป็นข้าราชการ ส่วนพ่อของปิติเป็นเกษตรกรเต็มขั้น โดยนอกจากทำนาแล้ว ยังทำไร่และทำสวนอีกด้วย ในไร่นั้นมีทั้งข้าวโพด แตงกวา ในสวนมีทั้งมะม่วง ขนุน และกล้วย

ความน่าสนใจคือ อาจารย์รัชนีพยายามถ่ายทอดความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่เริ่มขยายตัวจากเมืองสู่ชนบท เช่นบ้านของสมคิดที่เพิ่งย้ายเข้ามามีไฟฟ้าใช้แล้ว และก็ติดตั้งเครื่องรับโทรทัศน์ เพื่อชมมวยและการ์ตูนด้วย

นอกจากนี้ยังเปิดเผยความฝันของเด็กๆ แต่ละคนว่าเป็นอย่างไร

ชูใจ อยากเป็นหมอ ช่วยรักษาคนป่วยให้หายเจ็บ ย่าบอกว่าได้บุญดี

มานี อยากเป็นครูเหมือนคุณครูไพลิน เพราะครูช่วยให้คนมีความรู้ อ่านเขียนหนังสือได้ และสอนให้คนเป็นคนดี

ดวงแก้ว อยากค้าขาย แล้วจะหาสินค้าไปขายต่างประเทศ ประเทศของเราจะได้มีเงินมากๆ

สมคิด บอกว่าจะเป็นข้าราชการ ช่วยเหลือประชาชน

ปิติอยากเป็นทหาร เพราะทหารแต่งเครื่องแบบสวมหมวกเหล็ก ต่อสู้ป้องกันประเทศ

แต่ฉากที่สำคัญสุด คือครูไพลินเล่าว่า ในหลวง ร.9 และสมเด็จพระราชินีนาถ เพิ่งเสด็จฯ มาที่อำเภอนี้ และพระราชทานเสื้อผ้าและผ้าห่มให้คนยากจน และตรัสกับประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จด้วย

วันนั้นมีเด็กๆ หลายคน เช่น ชูใจ ดวงแก้ว และปิติไปรอรับเสด็จด้วย โดยชูใจได้ถวายดอกกุหลาบแด่ในหลวง ส่วนมานีถวายช่อดอกไม้แด่สมเด็จพระราชินี แล้วในหลวงยังรับสั่งให้แพทย์ที่ตามเสด็จตรวจรักษายายของปิติด้วย

มานะ มานี ป.3 เล่ม 1

หนังสือเรียนชั้น ป.3 เป็นปีแรกที่มีชื่อบทปรากฏชัดเจน และมีประมวลคำศัพท์ท้ายเล่มประกอบด้วย

ป.3 เทอม 1 นี่เองที่เด็กไทยได้รู้จักกับ เด็กผู้ชายชื่อ ‘เพชร’

ครอบครัวของเพชรเร่ร่อนมาจากต่างถิ่นแล้วมาสร้างกระต๊อบอยู่ใกล้ๆ บ้านของวีระ

ระหว่างทางกลับบ้าน วีระเดินไปเจอแม่ของเพชรโดยบังเอิญ

ครอบครัวนี้มีลูกถึง 5 คน ตั้งใจจะมาเผาถ่านที่นี่

ครั้งแรกที่เพชรเจอวีระ เพชรพูดจากระโชกกับวีระว่า “แกจะมาหาเรื่องกับพวกข้าหรือ พ่อกับแม่ของข้ามีบัตรประชาชนนะ” จนแม่ของเพชรต้องเตือนว่า คนที่มาหาเรื่องไม่ใช่คนนี้

วีระรู้สึกถูกชะตาเพชรทันที แต่เขาก็สัมผัสได้ว่า เพชรคงไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะพูดจาไม่สุภาพ

หลังกลับบ้านเขาก็เลยไปปรึกษาลุง ด้วยความที่ลุงไม่อยากให้พวกเขาทำลายป่าไม้เลยชวนมาเป็นลูกจ้างไร่องุ่น และถ้าทำได้ดีได้นานก็อยากจะแบ่งที่ดินบางส่วนให้ประกอบอาชีพจนถึงลูกหลาน

ลุงและวีระนี่เองที่ทำให้เพชรได้กลับมาเรียนหนังสือ

ที่จริงเพชรรักการเรียน เขาเคยหนีพ่อไปดูนักเรียนเรียนหนังสือ เขาชอบเวลานักเรียนเรียนเลข ท่องสูตรคูณ และอยากเตะฟุตบอล แต่ถ้าพ่อรู้ก็จะถูกเฆี่ยน เพราะอยากให้เขาช่วยทำงาน

วีระเอาเรื่องของเพชรไปเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง ทุกคนเลยมาช่วยสอนหนังสือให้เพชร จนเพชรอ่านออกเขียนได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากเพชร เรื่องของวีระก็โดดเด่นไม่แพ้กัน ช่วงที่เข้าค่ายลูกเสือ เพื่อนคนหนึ่งในหมู่ถูกสัตว์อะไรไม่รู้กัด สงสัยว่าจะเป็นงู วีระจึงช่วยปฐมพยาบาลด้วยการดูดพิษและเอาผ้าพันคอมัดเหนือแผล แต่โชคดีไปที่สุดท้ายไม่ใช่งู แต่เป็นตะขาบ

อีกความน่าสนใจคือ ระหว่างบทเรียน อาจารย์รัชนีได้สอดแทรกวรรณกรรมเรื่องสั้นบทกลอนฉันทลักษณ์หลายเรื่องให้เด็กอ่าน เช่น เด็กเลี้ยงแกะ โสนน้อยเรือนงาม สุดสาครกับม้านิลมังกร หรือเรื่องของพ่อขุนรามคำแหง โดยเฉพาะกลอนของสุดสาครกับชีเปลือยที่หลายคนคงต้องท่องจำเอาไปสอบแน่เลย

มานะ มานี ป.3 เล่ม 2

ช่วง ป.3 ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่แบบเรียนมานะมานีกลายเป็นวรรณกรรมเยาวชนอย่างแท้จริง อาจารย์รัชนีเริ่มใส่มิติเบื้องลึกของตัวละครมากขึ้นเรื่อยๆ

หลังวีรกรรมช่วยเพื่อนของลูกเสือวีระ ทำให้เขาได้รับคำชมเชยจากครูและเพื่อนนักเรียนอย่างมาก หลังจากนั้นอาจารย์ก็เริ่มเฉลยเบื้องหลังชีวิตของวีระให้เด็กๆ ได้ทราบ

เรื่องเริ่มต้น..เมื่อครูคนหนึ่งกล่าวกับวีระว่า “เป็นบุญของพ่อแม่ของเธอที่มีลูกดี” วีระตอบว่า “ผมไม่มีพ่อแม่หรอกครับ ผมมีแต่ลุง”

จากตอนนี้ทำให้เราได้รู้ว่า พ่อของวีระเป็นน้องชายคนเล็กของลุง ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารที่ชายแดน แล้วถูกข้าศึกฆ่าตาย แม่ของวีระเศร้ามาก พอคลอดวีระได้ 15 วันก็ตายตาม ลุงกับป้าสะใภ้ไม่มีลูก จึงรับเขามาอยู่ด้วย รักและดูแลเหมือนลูกจริงๆ ทำให้วีระยิ่งรู้สึกสำนึกในบุญคุณของลุงมากขึ้น

ส่วนเพชรก็เริ่มทำงานพิเศษ เพราะอยากหาเงินมาร่วมทำบุญทอดกฐินและช่วยพ่อแม่หาเงินเป็นค่ายารักษาโรคไข้เลือดออกของน้อง โดยไปเป็นเป็นเด็กล้างจานในร้านอาหารแห่งหนึ่ง เจ้าของร้านให้ค่าจ้างวันละ 8 บาท แต่ก็ทำให้เขาไม่ได้มาเรียนหนังสือกับวีระหลายวัน แอบทำอยู่พักใหญ่จนพ่อแม่และลุงของวีระจับได้ แต่ก็ไม่ได้เอาโทษ

วันนั้นเองที่เพชรได้จับธนบัตรเป็นครั้งแรก เพราะคนมากินอาหารเยอะ เจ้าของร้านก็เลยให้ค่าแรงเพิ่ม พร้อมอาหารถุงหนึ่ง เขาคลี่เงินออกมาแล้วพูดกับวีระว่า “ผมเพิ่งได้จับธนบัตรใบละสิบบาทคราวนี้เอง” แล้วก็ถามว่า “รูปในธนบัตรนี้เป็นรูปในหลวงใช่ไหม” วีระก็ตอบว่า “ใช่”

ลุงบอกเพชรว่าถ้ามีปัญหาให้มาบอก ลุงจะช่วย เพชรคิดว่าจะไม่ไปทำงานแล้ว แต่ด้วยความเสียดายที่เพชรทำงานดี เจ้าของร้านจึงตามกลับไปทำงานอีก โดยเพิ่มค่าจ้างให้เป็น 10 บาท

ซึ่งลุงของวีระก็อนุญาต แต่ให้ทำเฉพาะวันจันทร์ พุธ ศุกร์ 6 โมงเย็นถึง 3 ทุ่มเท่านั้น ทำให้เพชรช่วยพ่อแม่หาเงินได้ถึงสัปดาห์ละ 30 บาท และต่อมาก็ขยายเป็น 5 วัน ซึ่งลุงก็อนุญาต

มีอยู่วันหนึ่ง แขกที่ร้านมากกว่าปกติ เจ้าของร้านเลยขอให้เพชรอยู่ช่วยอีกชั่วโมงหนึ่งแล้วจะเพิ่มค่าจ้างให้อีก 5 บาท ช่วงที่กำลังกลับบ้าน เพชรเห็นชายสองคนซุ่มอยู่ในซุ้มไม้ริมถนน เขาสังหรณ์ว่าต้องเป็นขโมยมาดักปล้นเงินแน่เลย จึงแอบดูอยู่ที่พุ่มไม้ข้างรั้ว

พอระฆังตีบอกเวลา 5 ทุ่ม ทั้งคู่ก็ลอดรั้วเข้าไปในที่ทำการไปรษณีย์ คนหนึ่งหิ้วปี๊บน้ำมันก๊าดไปด้วย แล้วเขาก็ได้ยินเสียงคนร้องอย่างเจ็บป่วย เพชรจึงวิ่งไปที่สถานีตำรวจ แล้วเล่าเหตุการณ์ให้ตำรวจฟัง ก่อนที่จะรุดกลับมายังที่เกิดเหตุ หลังจากตำรวจแอบย่องเข้าไป ก็พบว่ายามถูกทำร้ายและถูกมัด แล้วชายสองคนช่วยกันเทน้ำมันก๊าดตามพื้น ตำรวจจึงรีบเข้าจับกุมทันที ส่วนเพชรก็ช่วยตำรวจแก้มัดคนงานที่ถูกมัดอยู่ เพื่อนำส่งโรงพยาบาล

วันนั้นโจรทั้งสองจ้องเพชรอย่างอาฆาต และพูดจาสาปแช่งอยู่ตลอด แต่เขาไม่สนใจ กลับรู้สึกภาคภูมิใจที่ช่วยป้องกันอันตรายให้บ้านเมือง รุ่งขึ้นนายอำเภอได้มอบรางวัลให้เพชร 2,000 บาท และมีหนังสือพิมพ์มาถ่ายเขากับครอบครัวเพื่อทำข่าวด้วย ส่วนเจ้าของร้านก็เพิ่มเงินค่าจ้างให้เป็นวันละ 20 บาท

ด้วยความดีของวีระและเพชร กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ปิติหันกลับมาปรับปรุงตนเอง พยายามทำตัวให้เป็นเด็กดี ไม่นอนตื่นสาย ขยันทำงาน ช่วยเหลือพ่อแม่มากขึ้น

เรื่องสัตว์เลี้ยงก็เป็นอีกประเด็นที่อาจารย์รัชนีใส่เข้ามา โดยให้เจ้าแก้ว นกของมานีหลุดจากกรงหายไป ส่วนปิติมีสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ เป็นกระแตที่วีระหามาให้ ปิติติดกระแตมากขึ้นถึงขั้นไปไหนเอาไปด้วย แต่เขาบอกว่า “อยากเลี้ยงอูฐ”

อีกฉากหนึ่งที่เด็กๆ คงไม่ลืมคือ การเสด็จเปิดโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ที่อำเภอ ของในหลวง ร.10 สมัยที่ทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ มานี ชูใจ และดวงแก้ว มีโอกาสได้รำถวายพระพร

มานะ มานี ป.4 เล่ม 1

ยิ่งนานวัน มานีและผองเพื่อนก็ยิ่งสนิทกัน ทำให้มีประสบการณ์ร่วมกันมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ เหตุการณ์ผจญภัยที่ถูกปิดเอาไว้เป็นความลับ (สำหรับพ่อแม่ของพวกเขา)

อาจารย์รัชนีเคยกล่าวว่า “ในวัยหนึ่งเด็กจะชอบโลดโผนผจญภัย ก็หาทางให้เขาไปผจญภัย มีเรื่องตื่นเต้นแทรกเข้าไปบ้าง”

เหตุการณ์เริ่มขึ้นหลังเพชรชวนทุกคนไปเที่ยวที่วัดร้างที่อยู่ในเขตป่าสงวน เป็นเจดีย์ใหญ่เต็มไปด้วยซากปรักหักพัง มีรูปปั้นยักษ์เก่าและชำรุด หน้าตาน่ากลัว จนชูใจกอดแขนมานีไว้แน่น

เผอิญเพชรสังเกตเห็นฐานเจดีย์ด้านหนึ่งมีเถาวัลย์คลุมช่องหนึ่งไว้ จึงใช้ฉมวกที่ติดมาด้วยเอาเถาวัลย์ออก จนพบอุโมงค์ปริศนา วีระจึงชวนทุกคนเข้าไป พอเข้าไป ปรากฏว่าอิฐก็พังลงมาปิดปากอุโมงค์ ต้องหาทางออกอื่นแทน โดยใช้เส้นทางของมดเป็นจุดสังเกต กระทั่งมาเจอห้องโถงกลมขนาดใหญ่ เด็กๆ เห็นหีบเหล็กเก่าๆ สนิมจับหลายใบ แล้วก็มีข้าวของเครื่องใช้อย่าง เตา หม้อข้าว ถังพลาสติกวางเกลื่อน แสดงว่าต้องมีคนอยู่แน่ๆ เด็กๆ ยิ่งรู้สึกกลัวเข้าไปใหญ่ และตามขบวนมดจนถึงปากอุโมงค์อีกด้านหนึ่ง

ทันทีที่ออกมาก็ได้ยินมเสียงงูจงอางตัวใหญ่ขู่ฟ่อๆ แผ่แม่เบี้ยเกือบเท่าหัววีระ ทุกคนตกใจจนไม่รู้จะทำอย่างไร มีแต่เพชรที่ได้สติก่อนเพื่อน เอาฉมวกที่เตรียมมาเสียบทะลุคอ แล้วก็วิ่งออกมาอย่างไม่คิดชีวิต นับเป็นประสบการณ์เฉียดตายของพวกเขาอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ในเล่มนี้ยังเปิดตัวละครสำคัญถึง 3 คน คนแรกคือ คุณอาทวีป เกษตรกรอำเภอ

ตอนแรกที่เด็กๆ เจอ คุณอาทวีปใส่กางเกงยีนขายาว เสื้อสีกากี หันหน้าไปหาป่าสงวน จนปิติสงสัยว่าเป็นพวกลักลอบตัดไม้ ขณะที่เด็กๆ กระซิบกระซาบ เขาก็หันหน้ามาคุยด้วย และแนะนำตัวว่าเพิ่งย้ายมาเมื่อช่วงต้นเดือน กำลังหาวิธีส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชบางอย่าง เพื่อสร้างรายได้ตลอดปี

สำหรับสาเหตุที่พระเอกเป็นเกษตรกรอำเภอ แทนที่จะเป็นทหารหรือตำรวจเก่งๆ อาจารย์รัชนีบอกว่า

“ตอนนั้นครูรู้สึกว่าคนไทยทิ้งไร่นาที่สวน ทิ้งชนบทเข้าไปหางานในเมือง ครูต้องการจะสื่อให้เห็นความสำคัญของการทำเกษตร เพราะนี่คืออาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรุษเรา เรารอดมาได้เพราะการเกษตร ไม่ใช่เพราะทำโรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้นมีที่ดินขุดบ่อเลี้ยงปลาก็เอาปลาไปขาย หรืออย่างมานีเลี้ยงไก่เอาไข่ไก่ไปขายเพียงแค่นี้ก็อยู่ได้แล้ว”

การมาของคุณอาทวีป ทำให้ปิติเริ่มต้นเลี้ยงปลานิล เขาหวังว่าจะเอาเงินที่ได้ขายปลานิลไปซื้อม้าตัวใหม่

ส่วนคนที่ 2 คือ ครูกมล ซึ่งมารับช่วงเป็นครูประจำต่อจากครูไพลิน

ครูกมลเป็นคนเอาการเอางานและเข้มงวด แต่ก็มีน้ำใจเมตตากรุณา เป็นกันเอง จึงเป็นที่รักของเด็กๆ ไม่แพ้ครูไพลินเลย ครูกมลนี่เองที่เป็นคนแนะนำให้เด็กเขียนบันทึกประจำวัน แต่ฉากที่ครูกมลมีบทบาทมากที่สุด คือการจับคนขายลูกกวาดผสมยาเสพติด

ช่วงนั้นเกิดเหตุการณ์ลักขโมยขึ้นในโรงเรียน ปิติจับสังเกตเพื่อนคนหนึ่งซึ่งมีพฤติกรรมแปลก กระทั่งจับได้คาหนังคา เพื่อนคนนั้นสารภาพว่าเขาจะเอาเงินไปซื้อลูกกวาด เพราะถ้าไม่กินแล้วรู้สึกเหมือนจะขาดใจ แถมเงินที่พ่อแม่ให้ก็ไม่พอจนต้องขโมยของ แล้วก็ส่งลูกกวาดเม็ดหนึ่งมาให้ทดลอง ปิติก็เลยเอามาให้ครูกมลดู

ครูกมลสงสัยว่าจะเป็นลูกกวาดผสมยาเสพติด จึงชวนไปหาสาธารณสุขอำเภอเพื่อตรวจสอบ ปรากฏว่ามีส่วนผสมของยาเสพติดจริงๆ ปิติก็เลยวางแผนทำเป็นว่าลองกินแล้วติดใจ ให้พาไปซื้อหน่อย พอไปซื้อเสร็จก็กลับมาเล่าให้ครูกมลฟัง

ปิติทำอย่างนั้นอีกรอบ ระหว่างที่คอยคนขายไปหยิบลูกกวาด ตำรวจนอกเครื่องแบบก็เข้าจู่โจมทันที ส่วนปิติก็พาเพื่อนหนีออกมา ไปหาครูกมลที่รออยู่แล้ว พร้อมกับพ่อแม่ของเด็กคนนั้น แล้วพาส่งตัวไปยังโรงพยาบาลทันที

คนสุดท้ายที่ทุกคนจำได้ไม่ลืม คือเด็กหญิงขาพิการ จันทร

เรื่องเริ่มขึ้นเมื่อมานี และชูใจเดินมาโรงเรียนด้วยกัน แล้วเจอจันทรกำลังเดินขึ้นสะพาน ขาข้างหนึ่งของเธอพิการลีบเล็ก เดินกะโผกกะเผก มือข้างหนึ่งถือห่อหนังสือห่อใหญ่ มานีเกรงว่าจันทรจะลื่นไถล จึงวิ่งเข้าไปหาเพื่อช่วยถือห่อหนังสือ แต่พอยื่นมือไปดึงห่อ จันทรก็กระชากกลับทันที ทำหน้าบึ้งรีบเดินข้ามสะพานไปโดยเร็ว

ทั้งคู่จึงเริ่มปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรให้จันทรยอมรับความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ แม้จะอยู่คนละห้องก็ตาม เพราะบรรดาเพื่อนร่วมห้องต่างระอาใจ ไม่กล้าเข้าใกล้ แม้ครูประจำชั้นจะขอร้องทุกคนทำดีด้วย เพราะจันทรมักจะพูดกลับด้วยท่าทางจองหองและตวาดกลับทุกที มานีกับชูใจคิดว่าจันทรคงมีเรื่องทุกข์ใจ ถึงทำตัวเช่นนั้น

จนกระทั่งวันหนึ่งชูใจเดินเข้าไปคุยกับจันทรตรงๆ แล้วบอกว่า “ฉันอยากเป็นเพื่อนกับเธอ เพราะเราไม่มีพ่อแม่เหมือนกัน” ถ้าเป็นเพื่อนกันเวลามีเรื่องไม่สบายใจก็จะได้เล่าใหัฟัง เพราะถึงจะมีมานีที่พร้อมรับฟังความทุกข์ร้อน แต่มานีไม่เหมือนชูใจและจันทร เพราะไม่ได้เป็นเด็กกำพร้าเหมือนทั้งคู่

“เขาไม่รู้ว่า เวลาเราฟังคนอื่นพูดถึงพ่อแม่แล้วเรารู้สึกอย่างไร เราเป็นเพื่อนกันนะ”

คำพูดนั้นทำให้จันทรน้ำตานองหน้า แล้วมานีก็ส่งผ้าเช็ดหน้าให้ จากนั้นมานีและชูใจก็ช่วยปลอบจันทรจนหยุดร้องไห้

จันทรเล่าว่าตอนที่เกิดมาแม่ก็ตาย หลังจากนั้นไม่นานพ่อก็ตายตาม น้าก็เลยรับมาเลี้ยง แต่กลับถูกลูกของน้ากลั่นแกล้ง ซึ่งเธอไม่เคยได้รับความยุติธรรมเลย

น้าเขยเป็นคนใจดำอำมหิตมาก เคยถูกน้าเขยใช้ให้ปืนต้นไม้จนตกลงมาถูกตอไม้ตำเป็นแผลฉกรรจ์ที่ต้นขา โชคดีที่มียาดีรักษาแผลจนหาย

ด้วยความจริงใจของทั้งคู่ ทำให้จันทรเริ่มเปิดใจและสัญญาจะเป็นเพื่อน นี่เองที่เป็นจุดเปลี่ยนให้จันทรเริ่มทำดีกับเพื่อนคนอื่นๆ ด้วย

ต่อมามานีเล่าเรื่องจันทรให้วีระ มานะและปิติฟัง และขอร้องให้ลุงของวีระช่วยซื้อเครื่องสานไม้ไผ่ ทั้งเข่งและชะลอมของน้าของจันทรไว้ ซึ่งลุงก็รับปาก และเพื่อนๆ ก็ช่วยซื้อด้วย

ฐานะทางบ้านของจันทรดีขึ้น น้าและน้าเขยก็เริ่มมองจันทรเปลี่ยนไป เพราะช่วยทำให้พวกเขามีรายได้ดีขึ้น จึงเริ่มเอาใจใส่จันทรมากขึ้น ไม่กดขี่เหมือนก่อน ทำให้ชีวิตของจันทรเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

มานะ มานี ป.4 เล่ม 2

ในที่สุดคำสัญญาที่อาจารย์รัชนีให้ไว้กับเด็กๆ ก็กลายเป็นจริง

หลังปิติสามารถขยายพันธุ์ปลานิลของเขาได้จนเต็มบ่อ เขาก็เริ่มขยายกิจการด้วยการขุดบ่อเพิ่มอีก 2 แห่ง โดยมีคุณอาทวีปมาช่วยดูแล

พอขายปลาได้ 550 บาท คุณอาทวีปก็แนะนำให้เขานำเงินไปฝากธนาคารออมสิน และแบ่งซื้อสลากออมสิน หลังซื้อเสร็จก็ไม่ได้สนใจอีก

จนวันหนึ่ง หลังรับประทานอาหารเสร็จ ปิติก็ชวนเพื่อนๆ ไปนั่งอ่านหนังสือในห้องสมุด ระหว่างพลิกหน้าหนังสือ เขาก็พบประกาศผลออกรางวัลสลากออมสิน

เขาพบชื่อของเขาถูกรางวัลที่ 3 ได้เงิน 10,000 บาท ปิติรีบเรียกวีระ มานะ มานี และชูใจมาดู ทุกคนตื่นเต้นไปพร้อมกับปิติ

ปิติบอกว่าเขาจะเอาเงินไปซื้อลูกม้า ที่เหลือก็จะให้แม่ โดยคุณอาทวีปอาสาพาเขาไปซื้อลูกม้าสวยๆ

ปิติชอบลูกม้าตัวผู้สีดำตัวหนึ่ง รูปร่างของมันสูงเพรียว ท่าทางปราดเปรียว วิ่งเหยาะๆ เคียงข้างแม่ของมัน ปิติปีนเข้าไปในคอก ลูบต้นคอม้าเบาๆ ลูกม้าไม่ตกใจเลย กลับผงกหัวและโขกไหล่ปิติเบาๆ ปิติจึงโอบกอดมันด้วยความรัก เจ้าของม้าเห็นความเมตตาของปิติจึงลดราคาให้เป็นพิเศษ แต่ปิติก็ยังอ้อนวอนขอลดลงอีก เจ้าของลังเลสักพัก แต่ก็ยอมขายให้ พร้อมบอกวิธีเลี้ยงและฝึกม้าให้ฟังด้วย

วันที่มารับลูกม้า ตอนแรกม้าไม่ยอมไป แม่ของมันก็ไม่ยอมให้มา แม้เจ้าของจะใช้แส้ตีแรงๆ ก็ไม่ได้ผล เป็นภาพที่น่าสังเวชมาก

ทีแรกปิติใจคอไม่ดี จึงเข้าไปกอดลูกม้า ใช้มือลูบใต้คางและตบที่คอของมันเบาๆ จนม้าเดินตามมาแต่โดยดี

ปิติตั้งชื่อม้าตัวใหม่ว่า เจ้านิล

เขาให้เหตุผล 3 ข้อ คือเขาได้เงินจากการขายปลานิล ขนเจ้านิลดำขลับ และเขาติดใจม้านิลมังกรของสุดสาคร

ปิติและเด็กๆ เห่อเจ้านิลมาก ทั้งป้อนอาหาร ทั้งมาเล่นด้วย แต่แล้ววันหนึ่งก็เกิดเรื่องจนได้

ระหว่างที่เจ้านิลกำลังเล็มหญ้าอยู่นั้น นกกิ้งโครงสองตัวตีกันบนต้นมะรุม แล้วบินถลามาตีกันต่อบนหลังเจ้านิล เจ้านิลตกใจส่งเสียงร้องดังสนั่น กระโจนหนีไป ปิติตะโกนร้องเรียกแล้ววิ่งตามโดยไม่สวมรองเท้า วิ่งไปได้หน่อยก็เหยียบเศษแก้ว จนเป็นแผลลึก เลือดไหลโชก แต่ด้วยความเป็นห่วงม้าก็เลยเดินตามจนเจ้านิลหายตกใจ วิ่งกลับมา

พอถึงบ้าน พี่ชายเห็นปิติบาดเจ็บก็รีบใช้แหนบคีบเศษแก้วออก ส่วนพี่สาวก็เอายาใส่แล้วพันแผลให้ แต่แผลกลับไม่หาย อักเสบ บวมขึ้น และปิติก็มีอาการไข้จนไปโรงเรียนไม่ไหว พี่สาวต้องพาไปสาธารณสุขอำเภอ เพื่อฉีดยากันบาดทะยัก และให้ยามารับประทาน พร้อมกำชับว่าห้ามปิติเดินไปมา ต้องใส่ยารักษาความสะอาดให้ดี

ทุกคนพากันมาเยี่ยมปิติ และนำบทเรียนใหม่ๆ มาสอนปิติที่บ้านด้วย ส่วนปิติเองแม้จะป่วยก็ยังขยันอ่านหนังสือ เพราะก็อยากสอบพร้อมกับเพื่อน

ในวันสอบเขาให้พี่สาวพานั่งรถสามล้อมาส่งที่โรงเรียน ทุกคนต้องช่วยกันพยุงปิติ ครูกมลบอกว่า เขาควรมาสอบทีหลัง แต่ปิติก็ไม่ยอม แม้จะปวดหัวเพราะพิษไข้ แต่ปิติก็กัดฟันทน และไม่ยอมลอก ไม่ยอมทุจริตเด็ดขาด แม้เพื่อนจะส่งกระดาษคำตอบให้ก็ตาม พอสอบเสร็จ พี่สาวก็พาตัวกลับบ้านทันที

ผ่านมาอีกสัปดาห์ แผลของปิติดีขึ้น สามารถไปโรงเรียนได้ตามปกติ ผลสอบออกมาว่า ปิติได้เกรด 2 ส่วนมานีได้เกรด 4 นับเป็นเกียรติของปิติที่สอบได้ด้วยตนเอง

นอกจากเรื่องของเจ้านิลแล้ว เล่มนี้ยังเป็นฉากที่พระเอกและนางเอกของเรื่องได้พบกันด้วย

วันนั้นที่ตลาดเกิดเหตุไฟไหม้ เสียงเอะอะดังจนทุกอย่างโกลาหล ด้วยความที่อาคารแถวนั้นเป็นไม้ค่อนข้างเก่า ทางเข้าก็แคบ ทำให้รถดับเพลิงทำงานได้ไม่สะดวก ฉีดน้ำเข้าไปก็ไม่ถึง ผู้ประสบเหตุยิ่งตื่นตระหนกหนักขึ้น วีระ มานะ ปิติ และเพชร เห็นคุณอาทวีปช่วยผู้ประสบภัยยกของจึงรีบวิ่งเข้าไปช่วย ส่วนมานีและชูใจก็คอยจูงเด็กที่พลัดหลงกับผู้ปกครองออกจากที่เกิดเหตุ

ขณะนั้นลมเปลี่ยนทิศหันมาพัดทางมานีและชูใจ ทั้งคู่ตกใจรีบต้อนเด็กๆ ให้หนีห่าง จังหวะนั้นเองทั้งคู่พบครูไพลินกำลังช่วยผู้ประสบเหตุเช่นกัน และคอยปลอบพวกเด็กเล็กๆ ให้หายกลัว

และช่วงที่ชุลมุนอยู่นั้นเอง ปิติก็ได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องอย่างปวดเจ็บ พอหันไปดูก็เห็นครูใหญ่นอนกลิ้งอยู่กับพื้น ที่ศีรษะมีเลือดไหลโชก ครูกมลต้องวิ่งเข้าประคอง และอุ้มครูใหญ่ออกจากจุดเกิดเหตุ เพชรรีบวิ่งไปตามรถของโรงพยาบาล แต่ปรากฏว่ารถทับตะปูยางแบน ยางอะไหล่ก็ไม่มี จนต้องขอให้นางพยาบาลปฐมพยาบาลครูใหญ่อย่างเร่งด่วน

จากนั้นพวกเด็กๆ ก็ย้อนกลับไปช่วยเกษตรอำเภออีกครั้ง ผมเผ้าของคุณอาทวีปยุ่งเหยิง เสื้อขาดวิ่นจนเห็นแผลถูกไม้ขีดเป็นทางยาว เหงื่อเปียกโชกทั้งตัว แต่เขาก็ไม่ยอมหยุดช่วยเหลือคนจากเหตุไฟไหม้

หลังไฟฟ้าอยู่ 2 ชั่วโมง เหตุการณ์ก็เริ่มสงบลง เกษตรกรอำเภอเหน็ดเหนื่อยมาก พอถึงบริเวณโรงเรียนก็เป็นลม จนเด็กๆ ต้องร้องเรียกครูไพลินให้ช่วยประคองคุณอาทวีปเข้าไปข้างใน ครูไพลินนำยาขี้ผึ้งที่ติดตัวไว้ทาให้พร้อมกับผายปอด ส่วนเด็กๆ ก็นวดตามขาและแขน จนคุณอาทวีปเริ่มรู้สึกตัว เขาหันไปขอบคุณครูไพลินกับเด็กๆ

นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นความรักระหว่างเกษตรอำเภอหนุ่มและคุณครูคนสวย

มานะ มานี ป.5 เล่ม 1

จุดเด่นอย่างหนึ่งของแบบเรียนมานะมานี คือการที่อาจารย์รัชนี ผสมผสานประสบการณ์ของตัวเองลงไปด้วย

หลายคนอาจไม่รู้ว่า ตอนน้ำบ่อน้อยที่ปิติใช้น้ำลายเลียแสตมป์ อาจารย์รัชนีได้แรงบันดาลใจมาจากคุณพ่อของตัวเอง

“ตอนเป็นเด็กๆ คุณพ่อไม่ชอบให้ใช้ลิ้นเลียแสตมป์ คือในแต่ละเรื่องแต่ละตอนมันมีที่มาทั้งนั้น อ่านไปแล้วคิดถึงสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต คิดถึงแล้วก็มีความสุขทุกครั้ง”

แต่ฉากที่อาจารย์ชอบมากสุด คือตอนเที่ยวน้ำตก อาจารย์บอกว่า เป็นคนชอบเที่ยวน้ำตกมาก พอเขียนก็เลยเห็นภาพน้ำเย็นๆ กำลังไหลจากแอ่งหินตกลงมาเป็นทอดๆ

ที่สำคัญ ตอนเที่ยวน้ำตกนี้ยังเป็นจุดสำคัญของเรื่อง เพราะมีการเฉลยว่าพระเอกนางเอกของเรื่องสมหวังกันแล้ว

โดยเมื่อปลายปีก่อน เด็กๆ ได้ไปช่วยงานมงคลสมรสของครูไพลินและคุณอาทวีป

มานีจำได้ดีว่าทั้งคู่ท่าทางมีความสุขมาก แขกเหรื่อมาอวยพรกันคับคั่ง

ปิติช่วยงานตัวเป็นเกลียวแถมยังจับปลานิลมาให้แม่ครัวทำกับข้าวเลี้ยงแขกอีกต่างหาก

วันนั้นปิติแอบฝันไปไกลว่า “โตขึ้นมีงานทำมีรายได้ฉันจะแต่งงานกับผู้หญิงดีๆ และฉันจะทำตัวให้ดี ครอบครัวจะได้มีความสุข”

มานะ มานี ป.5 เล่ม 2

ในเล่มนี้จะเห็นพัฒนาการของตัวละครแต่ละตัวเด่นชัดขึ้น

อย่างครูไพลินกับคุณอาทวีปก็ให้กำเนิดลูกสาวคนแรก

ส่วนปิติได้เป็นตัวแทนจังหวัดไปร่วมชุมนุมหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ ของหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา

เขาต้องเตรียมการแสดงหลายอย่าง ทั้งร้องเพลงเล่นดนตรี แสดงกายกรรม ประดิษฐ์ของใช้ของเล่นง่ายๆ จากเศษวัสดุ การพูดในที่ชุมชน การเขียนบรรยายสิ่งต่างๆ ซึ่งปิติทำได้ดีทุกกิจกรรม โดยเฉพาะเป่าขลุ่ย ปิติเป่าได้ไพเราะอย่างยิ่ง

การประชุมครั้งนี้ทำให้เขามีโอกาสได้เข้าเฝ้าในหลวง ร.9 สมเด็จพระราชินีนาถ และสมเด็จพระสังฆราช เขาปฏิญาณตนจะเป็นคนดีของสังคม และเป็นกำลังของชาติบ้านเมือง

ขณะเดียวกัน พวกเขายังเป็นตัวตั้งตัวตีในการช่วยผู้ประสบอุทกภัยทางภาคเหนือ ทั้งร่างคำเชิญชวนให้บริจาค รวบรวมข้าวของต่างๆ จนครูใหญ่แต่งตั้งให้เด็ก ป.5 และ ป.6 เป็นกรรมการดำเนินงาน จัดทำบัญชีรายชื่อผู้บริจาคและรายชื่อสิ่งของ พร้อมจัดหาภาชนะสำหรับรับของบริจาคด้วย แม้จะช่วยเหลือได้เพียงเล็กน้อย แต่พวกเขาก็ภาคภูมิใจมาก

อีกสิ่งหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ในหนังสือทุกเล่มคือ ฉากตื่นเต้นหวาดเสียว

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อชูใจอยากว่ายน้ำเป็นบ้าง เพื่อนๆ เลยรับอาสาช่วยกันสอน พอเลิกเรียนทุกคนก็นัดกันไปที่ท่าน้ำ แต่ชูใจยังกล้าๆ กลัวๆ จนปิติจึงบอกว่า “ถ้าไม่กล้าแล้วจะว่ายน้ำเป็นได้อย่างไร ถ้าเราทำอะไรต้องตั้งใจ ต้องพยายาม และไม่กลัว นึกอยู่เสมอว่า คนอื่นทำได้เราก็น่าจะทำได้ ต้องพยายามดูก่อน ไม่ดีจึงค่อยเลิก” ชูใจจึงเกิดกำลังใจ แม้จะจมน้ำ สำลักน้ำ โดยมีเพื่อนๆ ช่วย ในที่สุดก็ลอยตัวได้ แต่น้ำเข้าหูไปเพียบเลย

แต่สิ่งที่คาดไม่ถึงก็เกิดขึ้น เมื่อจันทรกรีดร้องขึ้นมาเสียงดัง เพชรคว้าฉมวกยกขึ้นแล้วแทงไปข้างๆ จันทร น้ำบริเวณนั้นแดงฉานไปด้วยเลือด เมื่อเพชรยกฉมวกขึ้น จึงเห็นปลาตัวใหญ่ถูกเสียบติดฉมวก

ปลาชนิดนั้นคือ ปลามหากาฬ หรือปลาชะโด ซึ่งเป็นที่ดุร้าย มันกัดจันทรจนผ้านนุ่งขาด และเป็นแผลที่น่อง เด็กๆ พากันกลับบ้าน พี่สาวของปิติรีบทำแผลให้จันทร ยายทำอาหารเลี้ยงปลอบขวัญ และแสดงความยินดีกับชูใจที่ว่ายน้ำเป็น ส่วนปลาชะโดตัวนั้นยายให้เพชรเอากลับบ้านไปฝากแม่ แม่จะได้ดีใจที่เพชรช่วยเหลือเพื่อน แถมยังได้ปลามาทำอาหารด้วย

ไม่ใช่เพียงแค่ฉากเร้าใจเท่านั้นที่อาจารย์รัชนีให้ความสำคัญ ฉากที่กระตุ้นให้เด็กๆ รู้จักคิดเป็น ก็มีอยู่หลายตอน เช่นเหตุการณ์ที่เด็ก ป.5/1 กับ 5/2 ทะเลาะกัน เพราะแปลงเกษตรของห้อง 1 ถูกทำลาย เด็กบางคนสันนิษฐานว่าเป็นฝีมือของเพื่อนข้างห้องแน่ๆ จึงพูดจาต่อว่าต่อขานจนกลายเป็นความขัดแย้งขั้นรุนแรง คอยจ้องหาเรื่องทะเลาะวิวาท หรือเวลาเด็กห้อง 1 เจอครูประจำชั้นห้อง 2 ก็ไม่ยอมยกมือไหว้

เมื่อครูใหญ่ทราบเรื่องเลยเรียกหัวหน้าชั้นทั้งสองห้องมาคุยว่า เรื่องนี้ยังไม่รู้ต้นสายปลายเหตุก็อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจว่าใครผิด เพราะสุดท้ายแล้วความเข้าใจผิดจะกลายเป็นบ่อเกิดของการแตกสามัคคี เหมือนกษัตริย์ลิจฉวีที่ถูกพระเจ้าอชาตศัตรูตีเมืองแตกเพราะหาทางยุแยงตะแครงรั่วบรรดาลูกๆ ของเหล่ากษัตริย์จนแตกความสามัคคี และลามไปถึงผู้เป็นพ่อด้วย

แต่ถึงครูใหญ่จะอธิบายด้วยเหตุผลแล้ว บางคนก็ยังหัวแข็งไม่ยอมรับฟัง ปิติเห็นดังนั้นก็เลยชวนเขาไปสำรวจหาหลักฐานที่แปลงเกษตรดู แล้วพวกเขาก็พบขนสัตว์กระจุกหนึ่งตกอยู่ แต่ว่าเหลือน้อยมาก อีกทั้งยังไม่มีร่องรอยการกัดให้เห็น เหมือนมีการอำพรางหลักฐานเกิดขึ้น เย็นวันนั้นหลังเพื่อนๆ กลับไปปิติกับเพื่อนแอบซุ่มคอยดู

หลังจากนั้นครึ่งชั่วโมง มีเด็ก ป.1 สองคนเดินมาที่แปลงเกษตร เด็กคนหนึ่งชี้ไปยังต้นไม้และกระถางที่ล้มอยู่ แล้วบอกเพื่อนว่า “เอ็งรู้ไหม เขาทะเลาะกันใหญ่ ข้าชอบใจจัง เดี๋ยวข้าจะทึ้งต้นไม้ของพวกชั้น ป.5/2 บ้าง พรุ่งเขาจะได้ทะเลาะกันอีกสนุกดี” แต่เพื่อนอีกคนบอกว่า “ข้าไม่เห็นสนุกเลย เอ็งชอบทำให้คนทะเลาะกันหรือ ข้าไม่ชอบ ข้าจะกลับบ้านล่ะ”

พอเด็กคนนั้นกลับไป ปิติจึงออกมาแสดงตัวกับเด็กคนที่เป็นตัวการ เด็กคนนั้นพยายามหนี แต่เพื่อนของปิติก็จับตัวไว้ได้ทัน ปิติพยายามพูดดีๆ จนเด็กวางใจ และเล่าความจริงให้ฟังว่า เมื่อวานก่อน เขาพาสุนัขมาวิ่งเล่นที่โรงเรียน สุนัขเห็นแมวจึงวิ่งไล่ แมววิ่งหนีมาที่นี่ สุนัขก็ไล่กัดทำให้ต้นไม้และกระถางล้มแตกหมด พอแมวหนีไปได้ เขาก็เลยใช้ไม้เขี่ยกลบรอยเท้าต่างๆ เพราะกลัวภารโรงจับได้ เนื่องจากภารโรงเคยเห็นเขาพาสุนัขมาวิ่งเล่นเสมอ

ปิติจึงกล่าวตักเตือนว่า การทำให้คนโกรธกันไม่ใช่สิ่งที่น่าทำ เพราะทำให้ทุกคนเดือดร้อน และสุดท้ายตัวเองก็ต้องเดือดร้อนไปด้วย พรุ่งนี้ขอให้มาเล่าความจริงให้ทุกคนฟัง จะได้หายโกรธ ซึ่งเด็กคนนั้นก็รับปากอย่างเต็มใจและเรื่องก็จบลงได้ด้วยดี

มานะ มานี ป.6 เล่ม 1

ก้าวเข้าสู่ชั้นประถม 6 ตัวละครต่างๆ ก็ล้วนเติบโตขึ้น

ปิติต้องรับผิดชอบงานหลายอย่างทั้งในบ้านและชุมชน ขณะที่มานี ชูใจก็เตรียมอ่านหนังสือสอบชั้นมัธยม เด็กๆ จึงไม่ค่อยได้ไปเที่ยวเล่นกันบ่อยเหมือนที่ผ่านมา

ไม่เพียงกลุ่มผองเพื่อน น้องของปิติซึ่งสมัยประถม 2 ยังเป็นเด็กแบเบาะก็โตขึ้นมากแล้ว วันหนึ่งน้องตามยายไปนั่งฟังพระเทศน์ ฟังอยู่นานก็สัปหงกโงกเงก ได้ยินเสียงพระแว่วๆ ว่า “การนอนตื่นสายก็ดี การเป็นคนเกียจคร้านก็ดี” ถึงตรงนี้ก็เคลิ้มหลับไป พอกลับบ้าน ปิติเริ่มสังเกตว่าน้องเริ่มขี้เกียจ ตื่นสาย ไม่ช่วยยายทำงาน พอพ่อลงโทษ น้องก็หาว่าพ่อเป็นคนไม่ดี

ในที่สุดปิติก็เข้าไปถามว่า “ใครสอนนิสัยเลวๆ แบบนี้ให้” น้องตอบว่า “ก็ท่านปุญญธมโมน่ะซี” จนได้รู้ว่าน้องเข้าใจผิดเพราะฟังไม่ครบ ปิติจึงสอนน้องว่า “การฟังอะไรต้องฟังให้จบความจึงจะเข้าใจ ถ้าฟังเพียงครึ่งๆ กลางๆ ก็จะทำให้เข้าใจผิด จำไว้นะ ถ้าฟังแล้วสงสัย ไม่เข้าใจ ต้องถาม” น้องก็รับคำอย่างหนักแน่น

เล่มนี้เริ่มต้นด้วยช่วงเวลาแห่งการจบการศึกษา โรงเรียนจัดงานมอบประกาศนียบัตรให้แก่นักเรียนชั้น ป.6 อาจารย์รัชนีบรรยายบรรยากาศของวันอำลาให้นักเรียนประถม 6 จนเห็นภาพ ทั้งการจัดสถานที่ ความรู้สึกดีใจกึ่งเศร้าใจของนักเรียนที่ดีใจเนื่องจากความวิริยะอุตสาหะของตนสัมฤทธิ์ผลแล้ว แต่เศร้าใจเพราะอาลัยอาวรณ์เพื่อนๆ ครูบาอาจารย์ และรุ่นน้องที่ต้องจากกัน

วันนั้นวีระได้รับรางวัลเรียนดี และเป็นนักเรียนตัวอย่างในทุกด้าน ทั้งช่วยงานโรงเรียนในฐานะประธานนักเรียน ทุกคนปรบมือกึกก้อง ลุงของวีระตื้นตันจนแทบกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ มานีและปิติก็ได้รับรางวัลด้วย

วีระเป็นตัวแทนกล่าวแสดงความรู้สึก เขาให้คำมั่นสัญญาว่า จะรักษาชื่อเสียงของโรงเรียนโดยประพฤติตนเป็นคนดี และจะตั้งใจศึกษา ขณะเดียวกันก็ฝากให้รุ่นน้องช่วยกันรักษาเกียรติคุณของโรงเรียนด้วย และถ้ามีโอกาสจะได้ช่วยเหลือโรงเรียน เขาจะไม่ละทิ้งโอกาสนั้น

ครูใหญ่และคณะครูยังพานักเรียนไปนมัสการและอำลาเจ้าอาวาส ท่านให้ข้อคิดหลายอย่าง ทั้งควรให้ความสำคัญกับความรู้ซึ่งเปรียบเหมือนแก้วสารพัดนึก และขอร้องให้เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วกลับมาช่วยกันพัฒนาถิ่นเกิดให้เจริญก้าวหน้า นี่คงเป็นข้อความที่อาจารย์รัชนีอยากฝากถึงนักเรียนทุกคน

หลังจากนั้นก็เปิดเทอมใหม่ เด็กๆ ต่างเติบโตกันไปตามเส้นทาง มานี ชูใจ ปิติ ดวงแก้ว สมคิด เรียนชั้น ป. 6 ห้องเดียวกัน เพชรเรียนชั้น ป.5 วีระไปเรียน ม.1 ที่โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ ส่วนมานะไปเรียนต่อกรุงเทพฯ เพราะลุงกับป้าไม่มีลูก จึงขอมานะให้ไปอยู่เรียนหนังสือด้วย ฉากไปส่งมานะที่สถานีรถไฟ ทุกคนต่างอาลัยอาวรณ์ มานะสัญญาว่าจะเขียนจดหมายมาหา และจะกลับมาตอนปิดเทอม

อาจารย์รัชนีเล่าถึงเหตุผลที่แท้จริงของการส่งมานะไปกรุงเทพฯ ว่า “ตอนนั้นเราต้องยอมรับอยู่อย่างหนึ่งว่า ระบบการศึกษายังไม่กระจายอย่างเท่าเทียม และด้วยความที่เป็นศึกษานิเทศก์จึงเห็นปัญหานี้ ครูไปดูจนเห็นกับตามาแล้วทุกที โรงเรียนตามต่างจังหวัดก็ไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไหร่ในสมัยก่อน นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่เราต้องยอมรับ ครูจึงอยากแสดงอะไรบางอย่างเพื่อให้ผู้ใหญ่ในกระทรวงเห็นว่าการศึกษาบ้านเรายังมีขีดจำกัดอยู่”

การที่เด็กๆ ขึ้นมาอยู่ชั้น ป.6 จึงเท่ากับเป็นพี่ใหญ่ และต้องมีการเลือกประธานนักเรียนคนใหม่

ปิติหนุนหลังหัวหน้าชั้น ขณะเดียวกันก็สนับสนุนให้มานีลงสมัครด้วย ในตอนนี้อาจารย์รัชนีสอดแทรกความรู้เรื่องประชาธิปไตยและการเลือกตั้งเอาไว้ ทั้งการหาเสียง การแถลงนโยบาย การเขียนป้ายประชาสัมพันธ์ทั้งจริงจังและขำขัน เช่น “เลือกผมเป็นประธานจะให้ลอกการบ้านฟรีๆ (ถูกตีไม่รู้ด้วย)” รวมถึงยกตัวอย่างคนทุจริตที่แอบแจกขนมเพื่อนเพื่อให้เลือกตน

หลังนักเรียนเข้าคูหา ใช้สิทธิลงคะแนนแล้ว ผลปรากฎว่า หัวหน้าชั้นของปิติได้รับเลือกเป็นประธานนักเรียนคนใหม่ ส่วนมานีเป็นรองประธานนักเรียน เป็นการชนะคะแนนอย่างเอกฉันท์ ทุกคนต่างมาร่วมแสดงความยินดี

ช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในเล่มนี้ คือตอนที่ในหลวง ร.9 เตรียมเสด็จฯ ยกช่อฟ้าพระอุโบสถหลังใหม่ของวัดหลวงประจำอำเภอ ทางโรงเรียนได้รับคัดเลือกให้จัดการแสดงต่อหน้าพระพักตร์

ครูไพลินเสนอว่าการแสดงฟ้อนรำต่างๆ เคยแสดงแล้ว น่าให้นักเรียนแสดงความสามารถด้านอื่นบ้าง เช่นการอ่านทำนองเสนาะ จันทร ผู้ซึ่งขาลีบแต่มีเสียงแจ่มใส สำเนียงหวาน กังวานไพเราะเป็นที่สุด ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของเพื่อนๆ ในห้อง ตอนแรกจันทรตื่นตกใจจนใบหน้าขาวซีด ได้แต่กล่าวขอบใจและยิ้มแหยๆ

เมื่อเดินกลับบ้านด้วยกัน จันทรบอกกับมานีและชูใจว่าภูมิใจที่ได้รับเกียรติครั้งนี้ แต่ไม่สบายใจเลยที่ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนเพราะมองว่าตนเองหน้าตาอัปลักษณ์ ไม่คู่ควรกับการออกไปแสดงความสามารถ

ชูใจปลอบว่า “ไม่มีใครรังเกียจเธอเลยจันทร รูปธรรมนามธรรมทำเองไม่ได้ และความพิการของเธอนั้นมีแต่คนเห็นใจ อย่ามองตัวเองเป็นคนมีปมด้อยซีจ๊ะ” จันทรมองเพื่อนด้วยสายตาแห่งความรัก “เธอสองคนดีต่อฉันเหลือเกิน เพื่อนรัก ฉันเป็นคนโชคดีที่ได้เธอเป็นเพื่อน” จันทรจึงกลับไปตั้งใจฝึกซ้อมจนได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนของโรงเรียน

การอ่านบทร้อยกรองของจันทรเหมือนมีมนต์สะกด ทุกคนต่างปรบมือด้วยความชื่นชม จันทรน้ำตาคลอ ความอับอายรูปร่างหายไปหมดสิ้น

ไม่กี่วันจากนั้น ครูใหญ่กล่าวด้วยเสียงสั่นเครือมีน้ำตาคลอเบ้าว่า “นักเรียนที่รักทั้งหลาย ครูขอแจ้งข่าวดีที่สุดให้นักเรียนทราบว่า จันทรได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์หลวงรับตัวไปผ่าตัดขาที่กรุงเทพฯ แล้ว ไม่ช้าจันทรก็จะกลัยมาเดินได้เป็นปกติหายจากความพิการ”

นอกจากเรื่องราวที่ซาบซึ้งของจันทร ยังเกิดเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นกับเพชรอีกครั้ง

เมื่อวันหนึ่งพ่อกับแม่เพชรวิ่งกระหืดกระหอบมาปลุกลุงของวีระในเวลาเกือบตีสอง เนื่องจากเพชรไปโรงเรียนตั้งแต่เช้าจนดึกดื่นแล้วยังไม่กลับบ้าน ไปตามหาที่ร้านอาหารก็ไม่มีใครเห็นเพชรเลย

วีระลุกขึ้นมาฟังเรื่องราวก็สะดุดใจกับเรื่องที่แม่เพชรเล่าว่าตอนก่อนเพล มีชาย 2 คนขี่จักรยานยนต์นำเงินมาให้ 300 บาท บอกว่าเพชรฝากมาให้ วีระนำธนบัตรมาส่องกับตะเกียง พลิกดูอย่างละเอียดก็เห็นฉบับหนึ่งมีตัวเลขเขียนไว้ตัวเล็กๆ เป็นสามแถว ดังนี้

๓๕-14-๗

๓๖-22-๓๔ _

๓๕-2-๗ _ (ไม้โท)

วีระยังคิดไม่ออกว่าสัญลักษณ์เหล่านี้สื่อถึงอะไร จนวันรุ่งขึ้นจึงไปเล่าเรื่องให้เพื่อนๆ ฟัง ทุกคนก็ครุ่นคิดกัน เพราะเชื่อว่าต้องเป็นตัวเลขที่เพชรซ่อนอะไรเอาไว้แน่นอน

“ถ้ามีวรรณยุกต์ก็น่าจะมีตัวหนังสือ” ชูใจพูดขึ้น

ทำให้ปิติตาลุก “ถ้าตัวเลขเป็นพยัญชนะ ดูซิว่ามันตรงกับพยัญชนะตัวอะไรบ้าง”

เมื่อลองมาเทียบก็พบว่า พยัญชนะตัวที่ 35 คือ ร.เรือ ตัวที่ 7 คือ ง.งู ส่วนตัวเลขอารบิกน่าจะหมายถึงสระ

ชูใจรีบวิ่งไปที่ห้องเรียน คว้าสมุดภาษาไทยมาเปิดดู พบว่าคือ “สระโอ” เมื่อผสมคำจะเป็นคำว่า ร-โ-ง หรือ “โรง”

ส่วนอีกสองบรรทัดแปลด้วยวิธีเดียวกัน จะได้คำที่เพชรจะบอกคือ “โรงเลื่อยร้าง”

เมื่อไขปริศนาออก มานีและเพื่อนๆ ก็รีบไปบอกครูใหญ่ ครูใหญ่จึงรีบแจ้งตำรวจ

พอเลิกเรียนทั้งสามตรงไปยังบ้านของเพชร และทราบว่าพบตัวเพชรแล้วที่โรงเลื่อยร้างห่างจากตัวอำเภอไปประมาณ 3 กิโลเมตร

เพชรถูกลูกชายเจ้าของร้านล่อลวงให้ไปเฝ้าควายที่ขโมยมาจากชาวบ้าน จนกว่าจะมีรถมาขนวัวควายเหล่านั้นไปที่อื่น

เพชรถูกนำตัวไปขังไว้ แต่ด้วยไหวพริบจึงทำเป็นว่าพอใจที่จะทำงานนี้ จนคนร้ายตายใจ ยอมนำธนบัตรซึ่งเป็นเงินค่าจ้างของเขาไปให้แม่ตามที่ขอร้อง โดยไม่รู้ว่าเพชรแอบทำสัญลักษณ์ไว้

ตำรวจจับกุมคนร้ายได้ทั้งหมด พวกผู้ใหญ่ต่างชื่นชมมานี ปิติ ชูใจ ที่ช่วยกันคิดปริศนาตัวเลขได้ ไม่อย่างนั้นก็คงต้องใช้เวลานานกว่านี้

เมื่อเพชรกลับมาถึงทุกคนต่างพากันรุมถามเสียงเซ็งแซ่ เพชรกล่าวขอบคุณเพื่อนๆ ที่ช่วยตำรวจตามหาตัวเขาจนพบ

มานะ มานี ป.6 เล่ม 2

หลังผ่าตัดจันทรกลับมาเรียนอีกครั้ง แต่ยังต้องใช้ไม้ยันรักแร้เวลาเดิน จนอาการดีขึ้นสามารถเดินเองได้ แต่ก็ต้องใช้ยาชนิดครีมถูนวดขาที่ผอมลีบทุกวันจนขาค่อยๆ โตขึ้น

ทุกวันหยุดจะมีเพื่อนๆ ที่สนิทหมุนเวียนพาจันทรไปรับประทานอาหารที่บ้านของตนเป็นการเลี้ยงรับขวัญ

กระทั่งวันหนึ่งมานะกลับมาเยี่ยมบ้าน เพชรเลยชวนทุกคนเที่ยวที่ภูเขา และเล่นน้ำตก

ช่วงที่กำลังกลับ พวกเขาลงมาถึงตีนเขาแล้ว ก็เดินเลาะไปดูอีกด้านของทางขึ้น ซึ่งเป็นเรือกสวนไร่นา เขาพบเด็กชายอายุรุ่นราวคราวเดียวกับวีระและมานะคนหนึ่ง กำลังไล่ต้อนวัว ไปกินน้ำในลำธาร

เด็กคนนี้ชื่อวัฒนา เขามีวัวอยู่ 22 ตัว แต่ปัญหาคือในไร่ของเขาไม่มีน้ำเข้ามาเลย

เพราะหลังเศรษฐีคนหนึ่งมาทำไร่ลำไย ก็ขุดร่องน้ำต่อจากลำธารให้ไหลวนอยู่ในที่ของเศรษฐี ส่วนน้ำที่ต้องไหลมายังที่ของเขาก็เหลือเพียงนิดเดียว และไม่เหลือน้ำไว้รดพืชผักหรือให้วัวกินเลย

ที่ผ่านมา พ่อของวัฒนาพยายามขอพบเศรษฐีแต่คนงานก็กันท่าแล้วหาวิธีกลั่นแกล้งต่างๆ นานา จนสุดท้ายพ่อของเขาก็เริ่มเบื่ออาหาร และไม่สบาย

หลังเด็กๆ ฟังเรื่องก็พยายามหาวิธีช่วยเหลือ โดยมานีถามวัฒนาว่าเคยเห็นเศรษฐีคนนั้นหรือไม่ วัฒนาตอบว่าเคยเห็นแต่ไกลๆ ตอนเย็นเขาจะขับรถจี๊ปมาตรวจไร่ทุกวัน มานีเลยถามต่อว่าขี้วัวนี้เอาไปทำอะไรได้บ้าง วัฒนาก็บอกว่าทำปุ๋ยใส่ต้นผัก มานีเลยบอกว่า ถ้าแบ่งให้เศรษฐีใช้บ้างจะได้หรือเปล่า วัฒนาก็ตอบไม่มีปัญหาแต่เขาคงไม่สนใจไร่ของเขาหรอก

หลังจากนั้นมานีก็เริ่มวางแผน โดยช่วงที่เศรษฐีขับรถเข้ามา มานะกับมานีก็ลอดรั้วเข้าไปในไร่ ส่วนคนอื่นๆ รออยู่ที่กระท่อมของวัฒนา พอเศรษฐีลงจากรถก็แปลกใจที่เห็นเด็กทั้งคู่ซึ่งย่อตัวทำความเคารพเขา

มานีก็บอกเศรษฐีว่า ขอประทานโทษที่บุกรุกไร่ของท่าน พวกเธอไม่เคยต้นลำไยมาก่อน ก็เลยลอดรั้วเข้ามาดู

เศรษฐีเลยถามว่า บ้านของเธออยู่แถวนี้หรือ มานีก็เลยบอกว่า วันนี้เยี่ยมพ่อของเพื่อนตรงนี้เอง แล้วก็ชี้ไปที่กระท่อมของวัฒนา จากนั้นเธอก็เริ่มเสนอปุ๋ยให้เศรษฐี โดยยินดีจะขนมาให้ฟรีๆ ไม่คิดค่าใช้จ่าย ขอแค่ความเมตตาก็พอ

เศรษฐีก็เลยสงสัยว่า ความเมตตาอะไร มานีจึงเล่าเรื่องน้ำในลำธารเปลี่ยนทางเดินให้เศรษฐีฟัง

เศรษฐีไม่เคยรับทราบเรื่องนี้มาก่อนเลย เขาก็เลยตัดสินใจทำลายที่กั้นน้ำเพื่อให้น้ำเข้าที่ดินของพ่อวัฒนาเหมือนเดิม

แล้วก็มาถึงหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่สุดของแบบเรียนชุดนี้ คงไม่มีฉากใดที่เรียกน้ำตาได้เท่าตอนแม่จ๋าไปได้

วันนั้นเพชรตั้งใจจะไปซื้อตะกร้าหวายสำหรับหาของป่าที่บ้านจันทรให้กับแม่ของเขา เพชรบอกว่าความจริงไม่อยากให้แม่ทำงานเลย เพราะตั้งแต่ป่วยก็ไม่แข็งแรง เจ็บออดๆ แอดๆ เรื่อยมา แต่แม่ของเพชรไม่เคยอยู่นิ่ง ทำงานหนักมาตลอด และเขาก็ไม่อยากขัดใจแม่ก็เลยต้องหาตระกร้าใบใหม่ให้

หลังซื้อเสร็จ เพชรก็เอาตะกร้าให้แม่แล้วบอกว่า ไม่อยากให้แม่ขึ้นเขาไปหาหน่อไม้และของป่าเลย เพราะแม่ไม่ค่อยแข็งแรง และตอนนี้ที่บ้านก็พอมีเงินใช้บ้างแล้ว แต่แม่ก็แย้งว่าเธอแข็งแรงแล้ว จะปล่อยให้พ่อกับลูกหาเงินตามลำพังไม่ได้หรอก พร้อมย้ำว่าเราเป็นคนจน แค่นี้ก็บุญแล้วที่ได้พบลุงทรัพย์ ลุงของวีระ

ผ่านไป 2 สัปดาห์ ก่อนเลิกเรียนไม่นาน ท้องฟ้าดูมืดทะมืน เสียงฟ้าร้องครืนๆ มาแต่ไกล ไม่ช้าเมฆสีดำก็ปกคลุมท้องฟ้าจนทั่ว แล้วฝนก็กระหน่ำตกลงมา เพชรรู้สึกว่าอยากกลับบ้านมากก็เลยสั่งให้น้องๆ รออยู่ที่โรงเรียนจนกว่าฝนจะหยุด

เขาวิ่งฝ่าโดยไม่สนเสียงห้ามของครูและเพื่อนๆ จนมาถึงบ้านแล้วพบน้องสาวคนเล็กนั่งอยู่คนเดียว พอถามว่าพ่อกับแม่ไปไหน น้องก็บอกว่าแม่ขึ้นไปหาหน่อไม้บนภูเขา พอฝนตกพ่อก็เลยขึ้นไปตามหาแม่

เพชรรีบวิ่งขึ้นเขา หกล้มอยู่หลายครั้งแต่ก็ไม่สนใจ พร้อมตะโกนเรียกพ่อกับแม่เสียงดังลั่น

ทันใดนั้นเขาก็ได้ยินเสียงร้องไห้มาแต่ไกล เขาเห็นพ่อกอดร่างแม่ พลางร่ำไห้ปานจะขาดใจ

พ่อบอกเพชรว่า “เพชรเอ๋ย แม่ตายเสียแล้วลูก” เพชรผวาเข้าไปกอดร่างแม่ที่เย็นยิ่งกว่าน้ำฝน ใบหน้าขาวซีด เพชรร้องตะโกน “แม่จ๋า” สุดเสียง พ่อเห็นอาการของเพชรก็เอื้อมมือไปโอบกอดเพชรไว้แน่น

พ่อบอกว่าแม่คงถูกงูกัด เพราะมีแผลเล็กๆ ตรงหัวไหล่ ตอนที่พ่อขึ้นมาก็เห็นแม่นอนฟุบอยู่ข้างตะกร้าแล้ว

พ่ออุ้มร่างของแม่ลงจากภูเขา เพชรเดินร้องไห้ตาม หัวใจของเขาแตกเป็นเสี่ยงๆ พอถึงบ้าน น้องคนเล็กเห็นสภาพแม่ก็กอดศพร้องไห้โฮ

เพชรไปตามลุงของวีระให้ช่วยพาเจ้าหน้าที่มาชันสูตรศพด้วย ปรากฏว่าแม่ถูกงูกัดจริงๆ วันเผาศพเพื่อนๆ ทุกคนมาช่วยงานอย่างแข็งขัน ยกเว้นมานะที่มาไม่ได้ แต่เขาก็เขียนจดหมายมาแสดงความเสียใจแทน ชูใจหยิบบทประพันธ์ ‘แม่จ๋า’ ที่เจอในนิตยสารฉบับหนึ่งมาอ่านปลอบใจเพชร เพชรน้ำตาคลอ

เพชรเล่าให้ทุกคนฟังว่า แม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับเขาที่จะขึ้นไปเก็บหน่อไม้เป็นครั้งสุดท้าย แล้วก็ไม่ขึ้นไปอีกเลย เพชรตั้งใจจะเก็บตะกร้าใบนั้นเป็นเครื่องเตือนใจถึงความรักที่แม่มีให้ไว้ตลอดชีวิต

อาจารย์รัชนีบอกว่า แม้เหตุการณ์จะเศร้า แต่ก็ตั้งใจเขียนเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้สัจธรรมของชีวิตว่ามีเกิดก็ย่อมมีตาย

ชีวิตหลังเรียนจบ มานี ปิติ และชูใจ สมัครเรียนต่อ ม.1 ที่โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอซึ่งวีระเรียนอยู่ก่อนแล้ว สมคิดไปอยู่กับปู่ที่ภูเก็ต ดวงแก้วกลับบ้านเรียนต่อที่สุพรรณบุรี ส่วนจันทรไม่ได้เรียนต่อเพราะน้าไม่มีเงินส่ง เธอจึงหันหน้าช่วยงานขายที่บ้านจนกิจการรุ่งเรือง ผลิตขายแทบไม่ทัน

ในตอนสุดท้าย อาจารย์รัชนีตัดสินใจเลือกขมวดปมที่เรื่องราวของชูใจ เด็กหญิงกำพร้าที่อาศัยอยู่กับย่าและอา

ชูใจได้รับข่าวร้ายว่า อาของเธอถูกรถชน ย่าเล่าว่า อาเดินทางไปจังหวัดซื้อเครื่องบวช ตั้งใจจะว่าอุปสมบทช่วงเข้าพรรษานี้ จากนั้นก็จะแต่งงาน แต่ระหว่างเดินทาง รถประจำทางเกิดชนกัน คนตายหลายคน อาก็บาดเจ็บสาหัส ตอนนี้หมอกำลังให้เลือด ยังไม่ได้สติ แถมขาหักต้องเข้าเฝือก

ย่าเป็นห่วงชูใจมาก เพราะย่าเองก็เหมือนไม้ใกล้ฝั่ง ชูใจก็เลยบอกว่าจะออกจากโรงเรียน มาช่วยย่าขายอาหารและขนม และเปลี่ยนไปเรียนศึกษาผู้ใหญ่แทน

วีระบอกว่าชูใจไม่ต้องออกก็ได้ แค่อาจจะต้องทำงานหนักขึ้น ระหว่างที่อารักษาตัวอยู่

ตั้งแต่นั้น ย่าก็นำเงินเก็บมาลงทุนทำอาหารและขนมขาย โดยชูใจก็ต้องช่วยย่าเตรียมวัตถุดิบควบคู่การทำการบ้านและอ่านหนังสือไปด้วย กว่าจะได้นอนก็สี่ทุ่มเศษ จนเพื่อนๆ ทักว่าชูใจผอมลง แต่ยังดีที่เพื่อนๆ และคนรอบข้างก็เต็มใจช่วยเหลือครอบครัวชูใจเต็มที่ อย่างลุงของวีระส่งกล้วย มะพร้าว ใบตองมาให้เกือบทุกวัน ส่วนมานีก็แบ่งไข่และผักในไร่มาให้ เพชรมาช่วยขูดมะพร้าวและหาบของไปขายตามร้านต่างๆ 

ขณะที่จันทรรับขายของให้โดยไม่หักผลประโยชน์เลย ส่วนคุณอาทวีปและครูไพลินก็พาลูกสาวมาอุดหนุนสินค้าเสมอ วัฒนากับพ่อก็ไปเยี่ยมอาที่โรงพยาบาลตลอด แม้แต่มานะ สมคิด และดวงแก้ว ก็ยังเขียนจดหมายมาให้กำลังใจ จนกิจการเจริญรุ่งเรือง ย่าเองก็คิดจะเปิดร้านเล็กๆ ในตลาด เพื่อให้มีเงินพอส่งเสียชูใจให้ได้เรียนสูงๆ

ผ่านไป 3 เดือน อาการของอาเกือบเป็นปกติ ออกมาพักฟื้นอยู่บ้าน เย็นวันหนึ่งหลังเลิกเรียน เพื่อนๆ พากันมาเยี่ยมชูใจที่บ้าน ก็มีรถยนต์คันหนึ่งมาจอดที่หน้าประตูรั้ว หญิงสาวอายุสามสิบปีเศษลงมาจากรถ ท่าทางเป็นคนมีเงิน วีระจึงเข้าไปสอบถาม เธอถามหาชูใจ ชูใจจึงทักตอบ ขณะนั้นย่าเดินออกมาหน้าระเบียงพอดี พอเห็นย่า หญิงคนนั้นก็รีบขึ้นบันไดลงไปกราบย่าแล้วร้องไห้สะอื้น

ย่ารับไหว้และเรียกชูใจ พร้อมบอกว่า “ชูใจ ขึ้นมานี่ มากราบแม่ นี่แหละแม่ของเจ้า”

ชูใจตกตะลึงทำอะไรไม่ถูก มานีจึงดันหลังชูใจขึ้นไปบนบ้าน ชูใจกราบแม่ แม่ก็กอดชูใจไว้จนแน่นพลางร้องไห้เสียงดัง แม่บอกว่าตั้งแต่ลูกอายุได้ 2 เดือนเศษ ก็ไม่ได้เห็นหน้าอีกเลย จนผ่านมา 13 ปีแล้ว ตั้งใจจะรับลูกไปอยู่ด้วย

ชูใจนิ่งทำอะไรไม่ถูก ย่าก็เลยบอกว่า แม่รักชูใจมากแต่เพราะความจำเป็นทำให้ไม่ได้อยู่เลี้ยงดู ตอนนั้นพ่อของชูใจเอาลูกมาให้เลี้ยงแล้วก็ป่วยตาย ย่าไม่คิดว่าแม่ของชูใจจะกลับมาก็เลยบอกว่า พ่อแม่ตายไปหมดแล้ว แต่แม่ก็กลับมารับชูใจก็ไปอยู่กับเขาเถอะ จะได้สบาย ได้เรียนสูงๆ

แต่ชูใจกลับบอกว่าไม่ไป จะอยู่กับย่ากับอาตลอดไป แม้แม่จะพยายามคว้าตัวชูใจอย่างไร ชูใจก็ปัดมือและถอยหนี

ชูใจบอกว่า “แม่ของฉันตายไปแล้ว ฉันไม่มีแม่ มีแต่ย่ากับอา ย่าเลี้ยงฉันมา 13 ปี ต่อไปนี้ฉันจะเลี้ยงย่า กลับไปเถิด แม่เคยอยู่อย่างไรก็อยู่ไป อย่านึกว่ามีฉัน”

แม่ร้องไห้พยายามอ้อนวอนชูใจ ย่ากับอาก็ช่วยอีกแรงแต่ชูใจก็ไม่ยอมท่าเดียว จนแม่ยอมแพ้ เธอหยิบเงินส่งให้ย่ามัดหนึ่ง แล้วขอฝากชูใจไว้ด้วย แล้วจะส่งเงินมาให้เสมอ แต่เธอคงไม่ได้กลับมาอีก จนนั้นก็เข้ากอดเป็นครั้งสุดท้าย แม่บอกว่า “เราอาจจะไม่ได้พบกันอีกจนชั่วชีวิต หนูชื่อชูใจ ชูใจเป็นชื่อที่แม่ตั้งเอง” พอแม่อ้าแขน ชูใจก็โผเข้าไปหา ก่อนจะแม่จะจากไป

ชูใจถามย่าว่าแม่พูดเหมือนจะไม่ได้เจอกันอีก แม่จะไปไหน ย่าบอกว่าเขาอยู่ต่างประเทศ บางทีถ้าชูใจเรียนเก่งจนต่อต่างประเทศได้ก็อาจจะได้พบแม่อีก

แต่ตอนนี้ชูใจได้เรียนสูงแน่ๆ เพราะแม่ฝากเงินไว้ให้ 100,000 บาท

หลังจากนั้นชูใจก็ลงมือทำงานต่อไป เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น โดยมีเพื่อนๆ ช่วยทำงานอย่างเต็มที่

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • หนังสือเรียนวิชาภาษาไทย ป.1-6 กรมวิชาการ
  • นิตยสาร a day ฉบับที่ 5 เดือนมกราคม 2544
  • หนังสือประวัติครู 16 มกราคม 2558 โดยสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.