พุทธทาส อินทปัญโญ : จุดเปลี่ยนพระบ้านนอกสู่อริยสงฆ์

<< แชร์บทความนี้

อะไรทำให้พระหนุ่มจากตำบลพุมเรียง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้ไม่ได้จบเปรียญธรรมชั้นสูง ก้าวขึ้นมาเป็นพระสงฆ์ที่คนยอมรับมากที่สุดรูปหนึ่งของโลก

ท่านสามารถเปลี่ยนหลักธรรมพระพุทธศาสนาที่ยากๆ ให้เป็นถ้อยคำที่เรียบง่าย จับใจ ลึกซึ้ง เช่น ‘ตายเสียก่อนตาย’ ‘ตัวกู ของกู’ หรือ ‘อยู่อย่างต่ำ ทำอย่างสูง’ จนเข้าถึงคนหมู่มาก รวมถึงนำหลักธรรมขั้นสูง อย่าง ปฏิจจสมุปบาท ตถาตา สุญญตา ฯลฯ มาเผยแพร่สู่วงกว้าง

การก้าวมาถึงจุดนี้ได้ ส่วนหนึ่งเพราะความเป็นนักอ่านนักเรียนรู้ตั้งแต่เด็ก แต่จุดเปลี่ยนสำคัญ น่าจะเป็นตอนล้มเหลวจากการเรียนที่กรุงเทพฯ ทำให้ท่านตัดสินใจกลับมาบุกเบิกวัดร้างกลางป่าที่บ้านเกิด

พระหนุ่มจำพรรษาด้วยตัวคนเดียวกว่า 2 ปี เพื่อค้นคว้าพระไตรปิฎกและฝึกปฏิบัติตนอย่างเอาจริงเอาจัง..ตั้งเป้าหมาย และมุ่งมั่นทำต่อเนื่อง แม้ไม่รู้ผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกท่านย้อนกลับไปยังช่วงเวลานั้น ที่ทำให้ความคิดของ พุทธทาสภิกขุ เติบโตอย่างก้าวกระโดด ฟื้นจากความสิ้นหวัง สู่การเรียนรู้ฝึกตน ก่อนตกผลึกและสร้างผลงานชิ้นสำคัญมากมายฝากไว้ให้วงการพุทธศาสนา

ความล้มเหลวที่กรุงเทพฯ

บางทีความล้มเหลวก็ไม่ได้มีแต่ด้านที่เลวร้าย มันอาจเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งใหม่ที่ดียิ่งกว่าเดิม

ท่านพุทธทาส ชื่อเดิมคือ เงื่อม พานิช บวชเรียนเมื่ออายุ 20 ปี แม้เป็นการบวชตามประเพณี แต่เมื่ออยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ก็ชอบชีวิตพระมากขึ้นเรื่อยๆ ครบพรรษาจึงไม่ได้สึก

ที่พุมเรียง ท่านได้รับการยกย่องในฐานะพระหนุ่มไฟแรง บวชไม่กี่วันก็ได้รับโอกาสให้ขึ้นธรรมาสน์เทศน์ ชาวบ้านชอบฟังมาก เพราะท่านนำข่าวสารความรู้มาสอดแทรกในคำภีร์ใบลาน ทำให้ได้รสชาติแปลกใหม่

พระเงื่อมยังลองทำ ‘หนังสือพิมพ์เถื่อน’ โดยนำกระดาษฟูลสแก็ปมาเขียนแจกจ่ายให้พระร่วมวัด เวลาที่เขาอ่านผิดๆ ถูกๆ หัวเราะ หรือพูดคุยถึงเรื่องที่เขียน ท่านก็จะแอบฟังอย่างมีความสุข

พรรษาที่ 2 พระเงื่อมสอบได้นักธรรมโท อาที่เคยมาบวชเรียนอยู่กรุงเทพฯ จึงพยายามผลักดันให้หลานเข้ามาศึกษาต่อในเมืองหลวง พระหนุ่มจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีคิดว่าอาจช่วยให้ความรู้ก้าวหน้า จึงลองมาเรียนโดยพักอาศัยที่วัดปทุมคงคาซึ่งอาเคยอยู่

สำหรับคนบ้านนอกมักมองกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางความเจริญ พระเงื่อมก็เช่นกัน แต่สุดท้ายท่านพบว่าเมืองศิวิไลซ์แห่งนี้ไม่ได้เหมาะกับทุกคน

“ก่อนไปถึงกรุงเทพฯ เราเคยคิดว่า พระที่กรุงเทพฯ จะดี เคยคิดว่าคนที่ได้เปรียญ 9 คือคนที่เป็นพระอรหันต์ ..เคยนึกว่าพระอรหันต์เต็มกรุงเทพฯ”

สิ่งที่พระหนุ่มพบคือ พระเณรเมืองหลวงไม่ค่อยมีวินัย แถมอยู่ใกล้เงินใกล้สีกามากกว่าเสียอีก

ความผิดหวังครั้งนั้นทำให้ท่านกลับบ้านพร้อมกับความคิดอยากลาสิกขา พอดีกับเป็นช่วงใกล้เข้าพรรษา ก็เลยตั้งใจให้ผ่านพรรษาไปเสียก่อน แต่เมื่อกลับมาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย ได้ทำสิ่งที่ชอบ ก็ทำให้ลืมเรื่องนี้ไปสิ้น พระเงื่อมได้ไปสอนนักธรรมและทำให้ลูกศิษย์สอบผ่านยกชั้น

อาคนเดิมรบเร้าให้กลับมาเรียนอีกครั้ง ท่านก็ไม่อยากขัดใจ ครั้งนี้คาดหวังเพียงแค่เรียนภาษาบาลีเท่านั้น แต่ด้วยความที่ไม่ชอบการเรียนในห้องที่ชักช้า จึงขอเรียนเวลากลางคืนกับพระอาจารย์ ส่วนกลางวันก็เที่ยวเปิดหูเปิดตา ศึกษาเรื่องวิทยุ กล้อง แผ่นเสียง บางครั้งก็ตามเพื่อนไปบ้านญาติโยม

เคยมีครั้งหนึ่ง ผู้ใหญ่ในบ้านเห็นจีวรของท่านขาด จึงบอกให้ลูกสาวมาช่วยปะชุนให้ พระหนุ่มต้องรีบปฏิเสธเป็นพัลวัน

ยิ่งเรียนยิ่งไม่สนุก สาเหตุหลักคือความคิดไม่ตรงกับครู หลักสูตรบังคับให้แปลบาลีตามระเบียบ ใช้คำศัพท์ยากๆ แต่ท่านอยากแปลตามความพอใจให้คนอื่นอ่านรู้เรื่อง เมื่อการสอบไล่มาถึง ท่านก็สอบตกเปรียญธรรม 4 และรู้สึกผิดหวังรุนแรง

“สิ้นหวังในการทำประโยชน์ ทำความก้าวหน้ากับชีวิต แก่สังคม ไม่ได้เป็นปมเรื่องสอบตก เพราะรู้อยู่แล้วว่าเหลวไหลเอง”

ความผิดหวังครั้งนั้น ทำให้กลับมาทบทวน พระเงื่อมมองเห็นว่าขณะนั้นศาสนาในเมืองไทยอ่อนแอมาก เพราะเรียนรู้แต่ไม่ปฏิบัติ ไม่มีใครทำจริง จึงเกิดความคิดว่าอยากจะฟื้นฟูเรื่องนี้

“อุดมคติ คือ รื้อฟื้นพระพุทธศาสนาให้กลับสู่สภาพเดิม โดยพยายามเข้าใจพระธรรมในพระบาลีให้ถูกถึงที่สุด เราไม่มีอำนาจอะไร เราก็ใช้สติปัญญาที่มี ทำงานทางด้านคิดค้นและเขียนเท่านั้นแหละ”

“มันมีความมุ่งหมายว่าจะไปให้ดีกว่าที่เขาเคยทำกันอยู่ ไม่ได้มองเห็นผลประจักษ์ว่าจะทำได้หรอก แต่มันเป็นเรื่องน่าลอง.. ไม่ได้มีความเฉลียวฉลาดหรือแผนการฉลาดอะไร มันเหมือนกับการคลำๆ มา อยากทำให้มันดีกว่าที่เขาทำๆ กันมา เรียกว่า อวดดีโดยไม่เจตนา ฉะนั้นมันจึงขยัน ขยันในการฝึกฝนตนเอง”

ท่านตั้งใจหาที่สงบเพื่อค้นคว้าวิชาธรรมจากพระไตรปิฎก เพื่อให้ได้ความรู้ที่ถูกต้องตามพุทธโอวาทจริงๆ ขณะเดียวกันก็ทดลองปฏิบัติด้วยตนเอง พร้อมกับช่วยเผยแพร่ออกไปในหมู่ผู้สนใจ

ตรึกตรองดูแล้วไม่มีที่ไหนสงบ เหมาะสมเท่ากับที่บ้าน

ในปี 2474 ท่านส่งจดหมาย 2 ฉบับมาให้น้องชาย ยี่เกย พานิช ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ธรรมทาส ว่าตัดสินใจออกจากกรุงเทพฯ ‘ครั้งสุดท้าย’

“การมาบ้านของฉันยังบอกไม่ได้ในเวลานี้ให้แน่นอนนัก คือฉันได้เปลี่ยนความคิดเห็นจากเดิมอย่างเด็ดขาดแน่ใจลงไปแล้ว เนื่องแต่เป็นโชคดีที่ฉันได้พบคำภีร์ดีๆ พอที่ฉันจะตัดสินใจได้เด็ดขาด ฉันจะออกจากกรุงเทพฯ ซึ่งฉันคิดว่าควรอยู่ เป็นการออกครั้งสุดท้าย และตั้งใจจะไปหาที่สงัดปราศจากการรบกวนทั้งภายนอกและภายในสักแห่งหนึ่ง เพื่อสอบสวนค้นคว้าวิชาธรรมที่ได้เรียนมาแล้ว..”

“เราตกลงใจกันแน่นอนแล้วว่า กรุงเทพฯ มิใช่จะเป็นที่ที่จะพบความบริสุทธิ์ เราถลำเข้าไปเรียนปริยัติธรรมทางเจือด้วยยศศักดิ์ เป็นผลดีให้เรารู้สึกตัวว่าเป็นการก้าวผิดไปก้าวหนึ่ง หากรู้ไม่ทันก็จะต้องก้าวผิดไปอีกหลายก้าว และยากที่จะถอนออกได้เหมือนบางคน จากการรู้ตัวว่าก้าวผิดนั่นเอง ทำให้พบเงื่อนว่าทำอย่างไรเราจะก้าวถูกด้วย”

พระบ้ากับป่าร้าง

พระเงื่อมกลับมาพักที่วัดใหม่ (พุมเรียง) ระหว่างนั้นก็เริ่มหาสถานที่เหมาะสม โดยมีคณะอุบาสก 4-5 คนไปช่วยกันหา จนได้พบวัดร้างชื่อ วัดตระพังจิก ซึ่งท่านก็ไม่รู้จักมาก่อน

วัดตระพังจิกแต่ดั้งเดิม โดยรอบเป็นป่ารก มีงูกะปะชุกชุม เล่าลือกันว่าผีดุ ผีอยู่ในสระน้ำถูกไม้ปักสะกดเอาไว้ ขนาดกลางวันแสกๆ ผู้ชายอกสามศอกหลายคนยังไม่กล้าเดินผ่าน

สิ่งก่อสร้างที่มีอยู่เดิมคือ หลังคาสังกะสีที่มุงกันฝนให้พระพุทธรูป ชาวบ้านจึงไปช่วยกันต่อเพิงออกไปด้านหลังเป็นที่พักของพระเงื่อม

ตอนนั้นท่านอายุ 26 ปี เปลี่ยนชื่อตัวเองเป็น ‘พุทธทาส’ แล้ว เมื่อเห็นว่าบริเวณนี้มีต้นโมกและต้นพลาขึ้นอยู่มาก จึงตั้งชื่อว่า ‘สวนโมกขพลาราม’ แปลว่า พลังแห่งการหลุดพ้น

สวนโมกข์ตั้งต้นในวันเพ็ญวิสาขะ ปี 2475 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ถึงเดือน ท่านพุทธทาสในวันนั้น ปฏิวัติตนเองโดยยึดแนวทางของพระสงฆ์สมัยพุทธกาล ฉันหนเดียว บิณฑบาตเป็นวัตร ใช้ผ้า 3 ผืน ช่วงแรกแทบไม่มีสมบัติอะไรติดตัวไปเลย นอกจากหนังสือ 2-3 เล่ม บาตร และตะเกียงน้ำมันมะพร้าวจุดหน้าพระพุทธรูป

“จะไปไหนเมื่อไรก็ได้ ไม่ต้องปิดประตู ไม่ต้องใส่กุญแจ..อิสระเหมือนนก ความนึกคิดเกลี้ยงเกลา เบาสบาย เหมือนน้ำที่จืดสนิท ของที่จำเป็นก็เพียงการจะบำเพ็ญประโยชน์ผู้อื่นให้กว้างขวางออกไป ความเป็นอยู่ที่ไร้สิ่งของทำให้เกิดความเบาสบายใหม่”

กลางวันท่านจะชอบเดินไปเที่ยวตามป่าใกล้ๆ คิดอะไรได้ก็จดใส่มือ แล้วมาจดลงกระดาษอีกที บางวันก็พายเรือ ดูธรรมชาติ ส่วนกลางคืนเป็นช่วงเวลาของการศึกษา ท่านจะอ่านหนังสือ ค้นคว้าพระไตรปิฎก พอได้เค้าเงื่อนที่จะแปลก็แปล เลือกสูตรที่ดีๆ แปลกๆ น่าเผยแพร่ พอง่วงถึงทำสมาธิแล้วก็นอน

ช่วงแรกที่อยู่คนเดียวในป่า อุปสรรคสำคัญสุดคือ ‘ความกลัว’

กลัวสิ่งที่มองไม่เห็น กลัวความมืด สัตว์ร้าย ผู้ไม่หวังดี มีอะไรเสียงดังก็สะดุ้ง จิตหวั่นไหว ระหว่างนั้นท่านอ่านพระสูตร แล้วก็พบว่า ตอนเข้าป่าใหม่ๆ พระพุทธเจ้าก็กลัวเหมือนกัน

“ท่านว่าตอนแรกๆ ก็แย่ ป่านี้เหมือนริบเอาจิตใจไป ทรงแก้ด้วยว่า เมื่อเกิดความกลัวขึ้นในอิริยาบทใด ก็แก้อยู่ในอิริยาบทนั้น ที่ตรงนั้น จนไม่กลัว เรียกร้องให้ความกลัวมา ถ้าเป็นบุคคลก็เรียกมา ในที่สุดมันก็ไม่มา เพราะโดยธรรมชาติมันไม่มี ความกลัวไม่มีตัวตน เพราะเรามันโง่ คิดให้กลัวไปเอง”

ความมุ่งมั่นในการศึกษาธรรมของท่าน มากถึงขนาดที่ว่า บอกให้น้องชายช่วยหาวิธีไม่ให้คนอื่นเข้ามารบกวน เพราะบางทีจะมีชาวบ้านเข้ามาเก็บผัก เก็บเห็ด หรือต่อนก สุดท้ายจึงใช้วิธี ‘เช่าที่ดิน’ ล้อมรั้วลวดหนาม ขั้นป้ายห้ามเยี่ยม จนเป็นที่มาของคำว่า ‘เช่าวัดให้พระอยู่’

หลายอย่างที่ท่านทำ นับเป็นสิ่งแปลกประหลาดสำหรับคนทั่วไป ทำให้มีเสียงลือกันไปว่ามีพระบ้าอยู่ที่สวนโมกข์ ช่วงนั้นเวลาออกไปบิณฑบาต ก็จะได้ยินเด็กๆ ว่าตามหลังว่า “พระบ้ามาๆ” แล้วรีบวิ่งหนี แต่ท่านก็ไม่ได้สนใจ ด้วยเข้าใจว่าเป็นธรรมชาติที่ผู้บุกเบิกสิ่งใหม่ๆ ต้องเผชิญ

ที่วัดร้างแห่งนี้ ท่านยังได้ทดลองฝึกปฏิบัติอีกหลายอย่าง เช่น เข้าพรรษาปี 2477 พระวัย 29 ประกาศงดพูดจาและติดต่อกับคนภายนอกตลอดพรรษา เพื่อลองฝึกกรรมฐานตามวัติปฏิบัติพระสงฆ์สมัยพุทธกาล โดยจดบันทึกความรู้สึกลงสมุดทุกวัน

บางวัน ‘เปิดศึกกับลิ้น’ โดยฉันอาหารจากธรรมชาติ เช่น กล้วย มะละกอ ข้าวโพด ผัก เผือก มัน ท่านบันทึกว่า ประสาทตา หู จมูก ไวกว่าปกติ ยืนห่างต้นโหระพา 2-3 ก้าวยังได้กลิ่น ดอกไม้ต่างๆ หอมมาก อุจจาระไม่มีกลิ่นฉุน

บางครั้งก็ทำบุญแปลกๆ อย่างสละเลือดให้ยุงกินพร้อมกันเป็น 100 ตัว ท่านบันทึกว่า เกือบสุดจะทนได้ แต่เมื่อยุงอิ่มหมดทุกตัวก็รู้สึกถึงความปิติยินดี ค่ำนั้นฝันว่าเป็นฆราวาสได้รับสัญญาบัตรเป็นหลวง

กระทั่งวันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน 2477 ท่านเขียนหมายเหตุว่าเป็น วันสำคัญในชีวิตที่แล้วมา ในบันทึกช่อง ราคะ โทสะ โมหะ โลภะ พยาบาท มานะ ท่านเติมว่า ‘ไม่ปรากฎ’ และให้คะแนนสรุปประจำวันได้ 17 คะแนนเต็ม พร้อมกันนั้นก็เขียนตัวโตว่า

“นับแต่นี้ไปจะเปลี่ยนเข็มมุ่งหมายในใจบางอย่างให้หมุนตรงเฉพาะต่อความสุขอย่างแท้จริง

“คือละวางทุกๆ อย่าง แล้วมีใจสดชื่นเย็นฉ่ำยิ่งขึ้นเสมอ จะประกาศแต่ความสุขนี้เท่านั้น! จะไม่ยอมให้อะไรครอบงำใจได้อีกต่อไป”

“ชีวิตของข้าพเจ้าสละทุกๆ อย่าง มุ่งหมายต่อความสุขนี้ และประกาศเผยแพร่ความสุขนี้เท่านั้น ไม่มีอะไรดีกว่านี้ในบรรดามีอยู่ในพระพุทธศาสนา เวลา 15.00 น ถึงที่สุดแห่งความตกลงใจ”

ชีวิตช่วงนี้ จึงเป็นเวลาแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง

ความกลัวไม่มีตัวตน เพราะเรามันโง่ คิดให้กลัวไปเอง

พุทธทาส อินทปัญโญ : จุดเปลี่ยนพระบ้านนอกสู่อริยสงฆ์

ผลงานฝากไว้ในโลก

2 ปีแรกในสวนโมกข์ นอกจากคนใกล้ชิดแล้ว แทบไม่มีใครรู้ว่าพุทธทาส ทำอะไรอยู่ จนกระทั่งหนังสือพิมพ์ราย 3 เดือน ชื่อ พุทธสาสนา เผยแพร่ออกไป

ระหว่างการค้นคว้า ท่านพุทธทาสเห็นว่า ในพระไตรปิฏกมีความสมบูรณ์ของการปฏิบัติแบบโบราณ จึงอยากจะรวบรวมให้ลึกและสมบูรณ์ นอกจากเอาไว้ใช้เองแล้วยังตั้งใจเผยแพร่ออกไปเพื่อเป็นประโยชน์กับคนอื่น จึงเขียนเป็นหนังสือ ตามรอยพระอรหันต์

นอกจากนี้ยังคุยกับนายธรรมทาส น้องชายผู้ตั้งคณะธรรมทาน ว่าน่าจะมีหนังสือพิมพ์ทางพุทธศาสนาออกมาเฉพาะแบบที่มีในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ลังกา อินเดีย อังกฤษ ซึ่งเมืองไทยขณะนั้นไม่มี เพื่อเผยแผ่ความรู้ และแถลงกิจการแนวคิดของคณะธรรมทานและสวนโมกข์ไปด้วยในตัว กลายเป็นที่มาของหนังสือพิมพ์ พุทธสาสนา โดยนำตามรอยพระอรหันต์ทยอยลงตีพิมพ์ด้วย

“หวังว่าเป็นการเสนอของใหม่ ทำให้คนสนใจปริยัติแนวใหม่ สนใจปฏิบัติศีล ธุดงค์ กรรมฐาน..จุดชนวนให้เกิดความสนใจ ช่วยกันพร้อมๆ ทั้งประเทศ

“เจตนารมณ์ ตั้งไว้ 3 ข้อ คือ ส่งเสริมปริยัติ ส่งเสริมปฏิบัติ แล้วก็เผยแผ่ ถ้าทำได้สำเร็จคนก็เข้าถึงหัวใจของพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น ถ้าศาสนามีอิทธิพลในหมู่คนมากขึ้น เขาก็จะพากันออกจากวัตถุนิยมของเขาเอง”

พฤษภาคม 2576 พุทธสาสนา เผยแพร่เป็นฉบับแรก และได้รับความนิยมมากจนต้องพิมพ์ซ้ำอีก 2 ครั้ง เนื้อหาของหนังสือแบ่งเป็น 3 ภาคสำคัญ คือ ภาคแปลพระไตรปิฏกเป็นภาษาไทย ภาคส่งเสริมการปฏิบัติธรรม ซึ่งจะนำหัวข้อธรรมะที่น่าสนใจมาอธิบายแจกแจง เพื่อส่งเสริมให้นำไปใช้ปฏิบัติให้ได้ผล และภาคทั่วไป ซึ่งลงข่าวสารความเคลื่อนไหว บทวิจารณ์วงการพุทธศาสนาในไทยและทั่วโลก

ท่านพุทธทาสต้องขึ้นไปพิมพ์หนังสือที่สีลม นำกลับมาเข้าปกที่พุมเรียง ตอนแรกขอความช่วยเหลือให้ไทยเขษมรายสัปดาห์ พิมพ์คูปองไว้ในเล่ม ใครอยากได้ก็ฉีกส่งมาพร้อมแสตมป์ ทางนี้ก็ส่งหนังสือให้ จนภายหลังคนรู้จักกว้างขวางขึ้น จึงมีระบบอกรับสมาชิก และมีโรงพิมพ์เอง

แม้จะเป็นหนังสือพิมพ์บ้านนอก แต่คนอ่านส่วนมากคือคนกรุงเทพฯ และผลลัพธ์ของหนังสือพิมพ์เล่มนี้ ก็เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง

มีทั้งจดหมายวิพากษ์วิจารณ์ จดหมายแนะนำ จดหมายด่า เพราะเนื้อหาเข้มข้นมาก

ท่านพุทธทาสใช้หลายนามปากกา เช่น ‘พุทธทาส’ เขียนเรื่องธรรมะโดยตรง ‘อินฺทปญฺโญ’ เขียนวิจารณ์แรงๆ ‘สิริวยาส’ เขียนโคลงกลน ‘สังฆเสนา’ เขียนแบบนักรบเพื่อธรรม ‘ข้าพเจ้า’ เขียนแง่คิดขำๆ ที่น่าสนใจคือ ‘พุทธทาส’ ไม่เคยถูกด่าเลย แต่ ‘อินฺทปญฺโญ’ ถูกด่าเป็นประจำ แถมเคยมีคนเขียนเข้ามาให้ปลดนายคนนี้ออกจากกองบรรณาธิการด้วย!

พุทธสาสนา ทำให้พระสงฆ์หลายรูปอยากเดินทางมาที่สวนโมกข์ หนึ่งในนั้นคือ พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) ที่เดินทางพร้อมกับพระราชญาณกวี (บุญชวน เขมาภิรัตน์) มาจำพรรษาร่วมกับท่านพุทธทาสที่สวนโมกข์ในปี 2479

ท่านปัญญาเล่าว่า หลังจากบิณฑบาตเสร็จ ท่านพุทธทาสกับท่านบุญชวนก็จะคุยธรรมะ ถกกันทุกวัน บางทีเสียงดัง ตกลงกันไม่ได้ตอนเย็นก็กลับมาคุยกันใหม่ นั่งจิบน้ำร้อนสนทนาที่ลานหินใต้ต้นยางใหญ่ เป็นอย่างนี้ประจำ หลังกลับไปแล้ว ภิกษุทั้งสามจึงคบหาเป็นสหายธรรมกัน

อีกครั้งหนึ่งที่ทำให้คนรู้จักสวนโมกข์มากที่สุด คือตอนที่สมเด็จพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) วัดเทพศิรินทร์ มาเยี่ยมและค้างที่สวนโมกข์ ท่านเดินมาจากสถานีรถไฟ 5-6 กิโลเมตร ทั้งที่ขาไม่ดี คนก็แห่มากันเต็มวัดทั้งพระทั้งชาวบ้าน มีการเลี้ยงกันอย่างป่า คือปูเสื่อฉันกลางดิน

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของหนังสือพิมพ์เล่มนี้ คือท่านพุทธทาสใช้เป็นพื้นที่เผยแผ่หลักธรรมที่ทรงคุณค่าสู่สังคมไทย

“เรื่องปริยัติทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง โดยใช้วิธีการพูดเสียใหม่ คำแปลใหม่ อย่างเรื่องที่เขาไม่ค่อยอยากนำมาสอนเรื่องกาลามสูตร มันเป็นเรื่องจำเป็นแก่สังคม เราก็อยากให้เรื่องอย่างนี้ออกมาตีแผ่ เพราะมันเป็นเรื่องจำเป็นแก่สังคม

“เรื่องอนัตตา สุญญตา อิทัปปัจจยตา แต่ก่อนไม่มีใครพูดถึงเลย แม้แต่สุญญตาก็ฟังกันเป็นของนอกศาสนาไป เราก็เข็นออกมาสู่ความสนใจของประชาชน ในฐานะเป็นหัวใจของพุทธศาสนา มันก็เป็นปริยัติไปโดยการเผยแผ่ ยังไม่เป็นการปฏิบัติ จนกว่ามันจะค่อยๆ เลื่อนไปเป็นการปฏิบัติ หรือเป็นผลอันแท้จริง”

ธรรมะจากพระไตรปิฎกที่ท่านพุทธทาสไปหยิบมานั้น ท่านปัญญานันทภิกขุ เคยเปรียบไว้ว่า เหมือนกับท่านไปคุ้ยหาของเก่าที่จมอยู่ใต้โคลน ไม่มีใครสนใจ เอามาขัดให้สะอาด กลายเป็นทรัพย์ที่มีค่าแล้วส่งต่อให้ญาติโยม ไม่ใช่แค่ใครคนหนึ่งได้ใช้ แต่เป็นสมบัติของคนทั้งโลก

ครั้งหนึ่งในสมัยหนุ่ม ระหว่างอาบน้ำในคลองหลังวันคืนเดือนหงาย พระครูเคยถามพระเงื่อมว่า มีความคิดอย่างไรในการใช้ชีวิต ท่านบอกว่า “ผมคิดว่าจะใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ให้มากสุดเท่าที่จะมากได้”

ถึงวันนี้กาลเวลาก็พิสูจน์ว่า พระหนุ่มคนนั้นได้ทำอย่างที่พูดไว้จริงๆ

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • หนังสือ อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ : เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา
  • หนังสือ สิบปีในสวนโมกข์
  • หนังสือ ร้อยคนร้อยธรรม 100 ปี พุทธทาส
  • หนังสือ ตามรอยพุทธทาสภิกขุ เล่าใหม่หลังวัยสนธยา

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.