อภิเชษฎ์ นาคเลขา : ‘หมอเมืองพร้าว’ อุดมการณ์ของเสื้อกาวน์

<< แชร์บทความนี้

หากพูดถึง หมอเมืองพร้าว หลายคนอาจนึกไม่ออกว่าเขาเป็นใคร มาจากไหน

แต่ครั้งหนึ่ง จดหมายนับสิบฉบับที่เขาเขียนบันทึกเรื่องราวจากเมืองพร้าว ดินแดนไกลปืนเที่ยงที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่ ต้องเดินทางเป็นวันๆ ได้กลายเป็นแรงผลักดันให้แพทย์รุ่นหลังที่ออกไปใช้ทุนในต่างจังหวัด เริ่มหันกลับมาตั้งคำถามถึงคุณค่าที่แท้จริงของการเป็นแพทย์คืออะไร

เพราะเนื้อหาในจดหมายได้บรรยายถึงสภาพสังคมที่ขาดแคลน ถูกละเลยจากส่วนกลาง โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพประชาชนเกือบครึ่งแสน ด้วยงบประมาณเฉลี่ยหัวละ 20 สตางค์ และเครื่องไม้เครื่องมือที่จำกัด

ที่สำคัญเขายังต้องต่อสู้กับการทำงานของระบบราชการที่นิยมเล่นพรรคเล่นพวก และไม่เคยใส่ใจข้อเท็จจริง จนสุดท้ายต้องออกจากระบบราชการด้วยความเจ็บปวด

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงอยากชักชวนทุกท่านมารู้จักกับชายผู้สร้างแรงบันดาลใจแก่วงการแพทย์ชนบทและผู้คนในสังคมให้กลับมาตระหนักถึงคำกล่าวที่ว่า ‘ข้าราชการคือข้ารับใช้ของประชาชน’

หมอเมืองพร้าว – นายแพทย์ อภิเชษฎ์ นาคเลขา

กว่าจะเป็น ‘หมอเมืองพร้าว’

ชื่อ ‘หมอเมืองพร้าว’ เริ่มเป็นที่รู้จักของนักอ่านชาวไทยมาตั้งแต่ปี 2517 เมื่อหมออภิเชษฎ์ ส่งจดหมายจากแดนไกลมาลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์อธิปัตย์ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย

ช่วงนั้นหนังสือพิมพ์อธิปัตย์โด่งดังมาก เพราะเป็นยุคที่พลังคนรุ่นใหม่กำลังเบ่งบาน หลังนิสิตนักศึกษารวมตัวกันโค่นล้มเผด็จการทหารที่กุมอำนาจรัฐมาต่อเนื่องยาวนานถึง 16 ปีได้สำเร็จ

คอลัมน์หนึ่งซึ่งเป็นที่นิยม คือ ‘จดหมายจากชนบท’ ซึ่งเปิดโอกาสให้ทางบ้านส่งเรื่องเข้ามา หมออภิเชษฎ์จึงเขียนเรื่องส่งไป พร้อมใช้นามปากกา ‘หมอเมืองพร้าว’ เนื่องจากยุคนั้นกฎหมายห้ามข้าราชการเขียนบทความลงหนังสือหรือนิตยสาร เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากต้นสังกัดเสียก่อน

จุดเด่นของจดหมายที่หมออภิเชษฎ์เล่า คือการถ่ายทอดประสบการณ์ในฐานะแพทย์ชนบท ซึ่งน้อยคนจะเคยสัมผัส เพราะที่ผ่านมาหลายคนมักเข้าใจว่า ชนบทคือดินแดนที่เปี่ยมด้วยรอยยิ้มและความสุข

แต่หารู้ไม่ว่า ท่ามกลางความสวยงามกลับมีปัญหาแฝงเต็มไปหมด ทั้งความยากจน การเอารัดเอาเปรียบจากนายทุนใหญ่ รวมถึงระบบราชการที่เต็มไปด้วยการคอรัปชัน และเล่นพรรคเล่นพวก

“ผมเขียนหนังสือมาตั้งแต่ก่อนเป็นหมอที่อำเภอพร้าว แต่เมื่อไปที่พร้าวปรากฏว่ามีวัตถุดิบที่เอื้อต่องานเขียนมาก แล้วยังเป็นโอกาสที่จะถ่ายทอดปัญหาในชนบทไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ สังคม ปัญหาชาวนา และปัญหาอื่นๆ จิปาถะของชาวบ้าน เพื่อให้คนทั้งประเทศได้รับรู้ เพราะผมคิดว่าชนบทไม่ว่าจะเป็นภาคไหนๆ ก็คงมีปัญหาคล้ายกัน”

ก่อนมาอยู่ชนบท หมออภิเชษฎ์จบจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แล้วก็เป็นหัวหน้าแพทย์อินเทิร์นที่วชิรพยาบาลอยู่ปีเต็มๆ จากนั้นจึงตัดสินใจเลือกใช้ทุนอยู่ที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเขาไม่เคยได้ยินชื่อนี้มาก่อนเลยในชีวิต

“ผมมีสิทธิ์ที่จะอยู่ที่วชิรฯ ต่อเพราะมีผลงานดี เขาก็จะรับตัวไว้ แต่สิ่งที่จูงใจให้ผมออกสู่ชนบทคือการทำค่ายอาสาพัฒนาที่ศิริราช สมัยเรียน 4 ปี ผมออกค่ายมาทั่วเลยไม่ได้ไปอยู่ภาคเดียวคือภาคเหนือ ผมเลยไปดูว่าชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านทางเหนือเป็นอย่างไร

“ตอนนั้นที่โรงพยาบาลแม่ฮ่องสอนต้องการแพทย์ 2 คน เพราะแพทย์ลาออกทีเดียวพร้อมกัน ผมก็ชวนเพื่อนไป แต่ไม่มีใครยอมเลย เมื่อไม่มีเพื่อนไปด้วย ผมจึงหาที่ลงใหม่ ก็ได้เจอข้อมูลที่กระทรวงพิมพ์มาว่า มีที่แม่ริมห่างตัวเมืองแค่ 20 กิโลเมตร แล้วก็แม่แตง 40 กิโลเมตร ดอยสะเก็ด 35 กิโลเมตร ซึ่งถนนดีมาก สุดท้ายคืออำเภอพร้าว ผมไม่รู้จักเลย ไม่เคยได้ยินชื่อเลยด้วยซ้ำ อยู่ห่างตัวเมือง 120 กิโลเมตร ประชากร 50,000 คน ก็เลยเลือกที่นี่แหละ ไปลองดูว่าเป็นไง”

หมออภิเชษฎ์เดินทางมาถึงเมืองพร้าว เมื่อเดือนเมษายน 2517

แม้จะมีตำแหน่งเป็นถึงผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์และอนามัยชนบทพร้าว แต่สภาพสถานีอนามัยที่นี่ ไม่ได้ดีตามไปด้วย เป็นเพียงบ้านไม้หลังเล็กๆ ค่อนข้างทรุดโทรม ยาก็มีไม่กี่ถุงไม่กี่ขวด คนไข้ก็มีนิดเดียว วันหนึ่งแค่ 4-5 คนเท่านั้น ซึ่งปริมาณที่น้อยไม่ได้หมายความว่า สุขภาพของผู้คนที่นี่ดี แต่เป็นเพราะชาวบ้านไม่ค่อยเชื่อใจแพทย์ เนื่องจากแพทย์ก่อนหน้านี้ เวลาเจอเคสหนักๆ ก็มักไม่ยอมรักษา ส่งตัวเข้าเมืองอย่างเดียว ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะไปตายกลางทางเสียมาก

เพื่อสร้างความคุ้นเคยแก่ชาวบ้าน หมออภิเชษฎ์จึงรื้อระบบการทำงานใหม่หมด เช่นเอาเตียงเก่ามาเสริมให้รองรับคนไข้ได้เพิ่ม เปลี่ยนเวลาทำงานจากเฉพาะเวลาราชการ กลายเป็น 24 ชั่วโมง ซึ่งแม้จะมีเสียงต่อต้านจากบุคลากรที่ทำงานด้วยกันบ้าง แต่เขาก็ถือว่าทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์ต่อชาวบ้าน

นอกจากนี้ยังเริ่มต้นมาตรการเชิงรุกด้วยการลงพื้นที่สำรวจปัญหา เพื่อเรียนรู้ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วย ตลอดจนสร้างแนวร่วมในพื้นที่ อย่างครูประชาบาล และหมอเถื่อน ซึ่งมีอิทธิพลกับชาวบ้านสูงมาก

“การให้หมอคนเดียวมีบทบาททั้งอำเภอเป็นไปไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่ชาวบ้านที่มารักษานั้นอยู่ในเขตตัวเวียง อีกหลายตำบลไม่เคยมา ผมเลยเดินบ้าง ขับรถจี๊ปตระเวนบ้าง แล้วก็ได้ความคิดว่าเราต้องร่วมมือกับหมอเถื่อน คือหมอคนอื่นที่มาอยู่พร้าว เป็นศัตรูกับหมอเถื่อนหมด เพราะเขาไปแล้วเปิดคลินิกส่วนตัว แต่ผมไม่ได้เปิด ก็เลยไม่กลัว ผมเห็นว่าเขาเป็นทรัพยากรบุคคลสำคัญที่ทำประโยชน์กับสังคมได้ เพราะเขาเข้ากับชาวบ้านได้ พูดภาษาเดียวกัน ชาวบ้านรัก มีจักรยานคันเดียวก็ให้น้ำเกลือได้ ฉีดยาได้

“อีกกลุ่มหนึ่งคือครูประชาบาล เพราะนอกจากจะสอนหนังสือเด็กแล้ว ยังสอนผู้ใหญ่ด้วย แล้วที่โรงเรียนจะมีตู้ยาเวลาเด็กไม่สบาย ผู้ใหญ่ไม่สบายก็จะมาหาครู ผมก็เลยเอาหมอเถื่อนมาอบรมทางการแพทย์ เอาครูประชาบาลมาอบรม เอาเจ้าของร้านขายยามาอบรม คือแทนที่จะห้าม ผมกลับส่งเสริมและนี่คือที่มาของคำว่าผู้สื่อข่าวสาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุข ซึ่งเป็นความคิดของคุณหมอปรีชา ดีสวัสดิ์ ที่ผมนำมาประยุกต์ใช้แล้วได้ผล”

ผลจากการปรับตัวเองสู่ประชาชน ทำให้งานสาธารณสุขในอำเภอพร้าว มีพลังและเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้พอสมควร โดยเหตุการณ์ที่ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดง เกิดขึ้นเมื่อหมออภิเชษฎ์เข้าไปช่วยชีวิตหญิงสาวที่มีอาการครรภ์เป็นพิษ

“ผู้หญิงคนนั้นเป็นชาวนา อายุประมาณ 18-19 ปี ตั้งท้องเป็นท้องแรก เขาอยู่ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 3 กิโลเมตร โดยมีแม่น้ำสะลวมกั้นอยู่ ผู้หญิงคนนี้คลอดไม่ได้ เด็กมันกลับหัวกลับหางแล้วหมอตำแยทำคลอดให้ไม่ได้ ติดอยู่ 3 วัน 3 คืน สุดท้ายช็อกสลบไป ชาวบ้านนึกว่าตายแล้ว ก็เลยทำพิธีไล่ผี

“เผอิญช่วงนั้นผมจับหมอประจำตำบล หมอเถื่อนเข้ามาอบรมพอดี ซึ่งหมอคนหนึ่งก็ไปพบผู้หญิงคนนี้ก็เลยบอกให้พาไปให้หมอใหญ่ ก็พากันขึ้นเกวียน ลากข้ามแม่น้ำมา เพราะไม่มีสะพานข้าม ผลปรากฏว่าเด็กในท้องตายแล้ว แม่ก็สลบ มีอาการความดันสูง ผมก็ให้น้ำเกลือ ให้ยา วิ่งไปเอามาจากร้านขายยาในตลาด กวาดมาหมด แล้วก็ใช้คีมคีบเด็กออกมา ซึ่งเด็กเน่าแล้ว หนัก 4-5 กิโล จากนั้นก็มาที่ตัวแม่ โหมแรงช่วย 3 วัน 3 คืน จนสุดท้ายคนไข้รอด ชาวบ้านก็เลยเริ่มเกิดศรัทธากันมากขึ้น”

เพียงไม่ถึงปี เขาสามารถพลิกฟื้นสถานีอนามัยร้าง ให้กลายมาเป็นที่พึ่งพิงของประชาชนได้อย่างแท้จริง สามารถรักษาได้เกือบทุกโรค แม้จะมีข้อจำกัดมากมายก็ตาม

โรคความจน..น่ากลัวที่สุด

แต่ถึงจะกู้ศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อแพทย์กลับมาได้บ้าง หมออภิเชษฎ์ก็รู้ว่า ปัญหาต่างๆ ที่ฝังแน่นอยู่ในเมืองพร้าว รวมถึงชนบทในภูมิภาคอื่นๆ ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง เพราะต้นตอที่แท้จริงนั้นมาจากความยากจน และความเหลื่อมล้ำ ซึ่งหมักหมมอยู่ในสังคมไทยมานานหลายสิบปี

“ถ้าผมจะถามว่า โรคอะไรที่พบบ่อยที่สุดในชนบท คำตอบของผมคือ โรคความยากจน ความยากจนของประชาชนในชนบทเป็นโรคที่สำคัญที่สุดที่ก่อให้เกิดปัญหามากมาย เช่นก่อให้เกิดโรคขาดอาหาร ทำให้โง่ สุขภาพไม่สมบูรณ์ ติดโรคได้ง่าย เกิดโรคซ้ำได้บ่อยๆ

“แต่มีประเด็นเดียวสำคัญที่สุดที่ผมจะต้องเน้นก็คือ ความยากจนของชาวชนบทนั้นมันไม่ได้เกิดจากความเกียจคร้าน หรืองอมืองอเท้าอย่างที่เขาใส่ร้ายกัน หากแต่เป็นผลสืบเนื่องมาจากระบบการเมืองและเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม ระบบสังคมที่ปลูกฝังค่านิยมผิดๆ ที่สร้างความเห็นแก่ตัว แก่งแย่งชิงดีชิงเด่น”

หนึ่งในตัวอย่างที่สะท้อนภาพได้ดีสุดคือ ในยุคนั้นเมืองไทยยังไม่มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ละปีสถานีอนามัยชั้น 1 เช่นเมืองพร้าวจะได้รับเงินอุดหนุนจากส่วนกลางเพียงปีละ 10,000 บาท ซึ่งเท่ากับว่าประชากร 1 คนจะได้รับการดูแลจากรัฐหัวละ 20 สตางค์เท่านั้น ดังนั้นเพื่อไม่ให้สถานีอนามัยขาดทุนหรือล้มละลาย รัฐจึงคิดค่ายาค่ารักษาจากชาวบ้านเป็นการตอบแทน

แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ในยุคนั้น มีรายได้ต่อปีเพียง 600-700 บาท จึงเป็นไปไม่ได้จ่ายค่ายา 30-40 บาท เพราะลำพังจะจ่ายเงินซื้อของไว้กินไว้ใช้ในชีวิตประจำวันยังลำบากเลย ทำให้แพทย์ยุคก่อนเลือกที่จะไม่รักษา และส่งตัวเข้าโรงพยาบาลใหญ่เลย

ขณะที่หมออภิเชษฎ์พยายามดิ้นรน ด้วยการเจรจากับร้านยา ขอยามาก่อนแล้วจ่ายเงินทีหลัง ซึ่งเงินที่เอามาหมุน ก็มาจากเงินส่วนตัวของหมอ เงินของชาวบ้านบางคนที่พอมีฐานะอยู่บ้าง รวมถึงเวชภัณฑ์พระราชทานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จำนวน 15 กล่อง

อีกเรื่องที่เป็นปัญหาหนักคือ ไฟฟ้า ซึ่งจะตัดทุกคืนตอน 5 ทุ่มตามนโยบายประหยัดพลังงานของรัฐบาล ซึ่งบางครั้งก็ส่งผลกระทบรุนแรงถึงขั้นคนไข้เสียชีวิต

“วันนั้นมีผู้ป่วยเด็กหนุ่มชาวนาคนหนึ่งซึ่งถูกโจรปล้นบ้านและถูกยิงมาที่หน้าอก ที่จริงแกน่าจะรอดเพราะอาการไม่สาหัสมาก แต่แกต้องเดินทางด้วยเกวียนจากหมู่บ้านมาอนามัย 3 ชั่วโมง ถูกยิงตอนทุ่มเศษมาถึงอนามัย 4 ทุ่ม ผมก็ลุกลี้ลุกลนไม่ได้ดูเวลา เพราะก่อนหน้านั้นผมต้องผ่าตัดคนไข้ 2 รายที่แขนและขา

“หลังกินอาหารเสร็จ พอเตรียมจะลงมีดนาทีสุดท้ายนั้นเป็นเวลา 5 ทุ่มพอดี ไฟฟ้าดับวูบ เจ้าหน้าที่วิ่งกันชุลมุน ใช้ไฟฉายหาตะเกียงเจ้าพายุ กว่าจะจุดขึ้นมาผู้ป่วยคนนั้นใกล้จะสิ้นใจอยู่แล้ว ความดันไม่ได้วัดเลย หลังจากนั้นไม่กี่นาทีแกก็สิ้นใจ ผมโมโหมากเอามีดผ่าตัดปาทิ้งแล้วเตะข้างฝาเลย แล้วเดินออกจากห้องผ่าตัดทั้งที่มือยังเปื้อนเลือดมานั่งร้องไห้ตรงหน้าอนามัย

“คืนนั้นเป็นคืนที่ผมเจ็บปวดที่สุด ตั้งแต่ได้รับปริญญามา โกรธจนนอนไม่หลับ น้ำตาไหลทั้งคืน ผมรู้อยู่อย่างเดียวว่า ถ้าคนไข้อยู่ที่วชิรพยาบาลหรือโรงพยาบาลอื่น แกต้องรอดร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะบาดแผลไม่สาหัสมาก”

จากปัญหาขาดแคลนทรัพยากรต่างๆ หมออภิเชษฎ์จึงต้องพยายามหาหนทางแก้ไข ตั้งแต่เรื่องที่พอจัดการเองได้ อย่างปัญหาเรื่องไฟฟ้า ก็มีชาวบ้านยื่นมือสมทบทุนจัดหาเครื่องปั่นไฟมาให้ รวมถึงนำตู้ยาเข้าไปตั้งตามพื้นที่ต่างๆ พร้อมแนะนำวิธีใช้ยารักษาตัวเองแบบง่ายๆ แก่ประชาชน

เช่นเดียวกับเรื่องบุคลากรที่ค่อนข้างขาดแคลน เพราะตามตำแหน่ง สถานีอนามัยพร้าวสามารถบรรจุคนได้ถึง 12 คน แต่กลับอยู่ในพื้นที่จริงแค่ 6 คน ที่เหลือก็ใช้เส้นสายที่ขอยืมตัวโยกย้ายไปอยู่ที่อื่น หมออภิเชษฎ์จึงคิดว่า หากฝึกชาวบ้านรุ่นใหม่ที่ตั้งใจพัฒนาบ้านเกิดก็คงดีไม่น้อย

หลังปรึกษากับนายแพทย์ใหญ่ เขาก็ได้คัดเลือกเด็กที่เรียนจบ ม.3 จำนวน 5 คน มาเป็นสมาชิกใหม่ของทีม คนหนึ่งส่งไปฝึกงานห้องแล็บที่ศิริราช อีกคนไปฝึกเรื่องเอ็กซเรย์ที่วชิรพยาบาล ส่วนที่เหลือเขาสอนเองจนชำนาญ พร้อมตั้งใจว่า หากทำงานครบปีหนึ่งจะขอบรรจุเป็นลูกจ้างประจำ

นอกจากนี้ เขายังพยายามสร้างฐานความรู้แก่คนรุ่นใหม่ ด้วยการจัดทำห้องสมุดประจำตำบล นำหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร มาให้บริการ พร้อมจัดกิจกรรมล้อมวงคุย แลกความเปลี่ยนคิดระหว่างคนรุ่นใหม่ เนื่องจากชาวบ้านหลายคน ถึงจะเรียนจบ ป.4 แต่พอต้องมาทำนาก็ไม่มีโอกาสได้อ่านได้เขียนหนังสือ สุดท้ายก็ลืมหมด นี่จึงเป็นโอกาสที่พวกเขาจะรื้อฟื้นความรู้อีกครั้ง

เพราะสำหรับหมออภิเชษฎ์แล้ว การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในชนบท คือหนทางที่ช่วยให้คนเหล่านี้หลุดพ้นไปจากความยากจน และการถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าได้

ความฉ้อฉลที่ต้องเผชิญ

แม้การทำงานของหมออภิเชษฎ์จะเอาชนะใจชาวบ้านได้ แต่สำหรับข้าราชการด้วยกันแล้วกลับมองว่าเขาคือตัวอันตราย เพราะปกติในอำเภอหนึ่งจะมีข้าราชการใหญ่ 3 คนที่ชาวบ้านมักเกรงใจเป็นพิเศษ คนแรกคือนายอำเภอ คนที่สองคือผู้กอง และสุดท้ายคือหมอใหญ่

แต่ในอำเภอพร้าว ข้าราชการสองคนแรกกลับไม่ได้คลุกคลีกับชาวบ้านเท่าที่ควร ทำให้เกิดการเปรียบเทียบกัน โดยเฉพาะนายอำเภอที่แทบไม่เคยอยู่ในพื้นที่เลย ถึงขั้นมีคนมาเขียนกระดาษติดบอร์ดว่า ‘นายอำเภอครับ กรุณานั่งให้ติดเก้าอี้หน่อยซิ หรือนั่งไม่ติดจะได้ช่วยไปเอากาวไปติดที่เก้าอี้ให้’

จุดเริ่มต้นรอยร้าวเกิดขึ้นเมื่อหมออภิเชษฎ์คิดจะยกระดับสถานีอนามัยพร้าวให้ได้มาตรฐานสูงขึ้น จึงเข้าไปพูดคุยกับผู้บริหารในกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอเงินจัดซื้อเครื่องมือแพทย์และยาที่จำเป็น แต่พอเสนอไปก็เห็นช่องทางว่า อนามัยพร้าวอายุเกิน 15 ปี เข้าเกณฑ์สร้างใหม่ได้ จึงเปลี่ยนมาของบส่วนนี้แทน ซึ่งก็ได้รับอนุมัติวงเงินถึง 900,000 บาท

พอดีชาวบ้านเองก็อยากช่วยเหลือ จึงเสนอโครงการสร้างเหรียญหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ เกจิดังแห่งเมืองพร้าว พร้อมตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อช่วยอนามัย เป็นตัวแทนจากชาวบ้าน 25 คน โดยครั้งนั้นทุกคนเสนอให้หมออภิเชษฎ์เป็นประธาน แต่หมออยากให้นายอำเภอเป็นแทน เพราะถือเป็นผู้ใหญ่สุด โดยเขากับผู้กองจะทำหน้าที่รองประธานแทน

“หลังตั้งคณะกรรมการเราก็ไปขออนุญาตจากพระที่ดูแลวัด ทีแรกท่านจะไม่ยอมให้สร้าง ผมกับชาวบ้านก็ช่วยกันอธิบายว่านี่เป็นผลประโยชน์ของชาวบ้านเมืองพร้าว จะได้นำเงินมารักษาพยาบาลชาวบ้าน เพราะหลวงปู่แหวนให้ที่อื่นสร้างมากต่อมาแล้ว ผลประโยชน์ตกเป็นของคนอื่น แต่ครั้งนี้ทำเพื่อคนเมืองพร้าว แต่ยังไงท่านก็ไม่ยอม ทั้งที่หลวงปู่แหวนท่านยังไม่รู้เรื่องเลย

“ผลสุดท้ายนายอำเภอกับหัวหน้า รพช. ไปตกลงกับวัดเรื่องแบ่งเปอร์เซ็นต์กัน คือเหรียญ 25 เปอร์เซ็นต์ ต้องให้วัดไปขายเอง เงินที่ได้จะเข้าใครก็ไม่รู้ ชาวบ้านก็เลยไม่พอใจเพราะเงินนี้เอามาสร้าง มาปรับปรุงอนามัย ทำไมต้องเข้าวัดซึ่งสวยอยู่แล้ว ในที่สุดชาวบ้านก็เดินขบวนไปหาพระอาจารย์ที่วัด ท่านปฏิเสธ บอกไม่ได้เรียกร้อง นายอำเภอจัดการเองทั้งหมด”

แม้การสร้างเหรียญจะดำเนินต่อไปได้ แต่ก็ติดอุปสรรคตรงที่นายอำเภอซึ่งแทบไม่เคยเข้าประชุมเลย พยายามเสนอเรื่องต่างๆ เข้ามาแทรก เช่นขอให้กันเงินส่วนหนึ่งไปบูรณะวัดร้างบ้าง ปรับปรุงโรงเรียนที่หน่วยงานอื่นสร้างค้างไว้บ้าง แต่สุดท้ายก็ถูกชาวบ้านตีตกไปหมด จนบรรยากาศการทำงานเต็มไปด้วยความคุกรุ่น และนายอำเภอก็เริ่มไม่สนับสนุนโครงการนี้

ต่อมาเมื่อสร้างเหรียญเสร็จ ก็เกิดเหตุลูกศิษย์วัดขอส่วนแบ่งตามที่ตกลงกับนายอำเภอไว้ ส่งผลให้เกิดกระแสความไม่พอใจรุนแรงขึ้น เริ่มมีการนำพฤติกรรมไม่โปร่งใสของนายอำเภอ ทั้งการสร้างถนน โรงเรียน สะพาน ไม่เสร็จแต่กลับตรวจรับงานว่าเรียบร้อยแล้วมาเปิดเผย และลุกลามถึงขั้นชาวบ้านรวมตัวขับไล่นายอำเภอออกจากพื้นที่

“ผมสนิทกับชาวบ้านมาก พอชาวบ้านเริ่มขุดคุ้ยเรื่องคอรัปชัน ก็เลยโดนไปด้วย นายอำเภอกับผู้กองคิดว่าพวกชาวบ้านตื่นตัว เพราะผมอยู่เบื้องหลัง จริงๆ แล้วไม่ใช่ ผมรู้ตัวเองดีว่า ถ้าเข้าไปในพื้นที่แล้วทำตัวโอหังอวดเก่งกับนายอำเภอหรือตำรวจนี่อยู่ไม่ได้ ผมเลยไม่แตะต้องเลย ให้การต้อนรับด้วยซ้ำ จะเอาอะไรก็ให้ เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง

“อย่างไปเจอคนตัดไม้เถื่อน ผมก็ไม่ได้รายงานอะไร แต่เขาเห็นผมเอากล้องถ่ายรูปไปด้วย ก็เลยนึกว่าไปถ่ายเขาเพื่อจับไม้เถื่อน แต่ที่จริงผมเอาไปถ่ายคนป่วยเพื่อทำรายงานส่งสาธารณสุข ในระบบข้าราชการ ผมพบปัญหาคอรัปชันมากมาย เวลาชาวบ้านมาปรึกษา ผมก็บอกว่าผมไม่ใช่ข้าราชการมหาดไทย แล้วก็แนะนำให้ยื่นเรื่องไปทางอำเภอ ถ้าอำเภอไม่รับก็ให้ไปยื่นเรื่องที่จังหวัด”

แต่พอยื่นเรื่องไป ก็ดูเหมือนผู้ใหญ่ของจังหวัดจะเข้าข้างลูกน้องเต็มที่ โดยนอกจากจะไม่สอบสวน แล้วยังบีบบังคับให้หมอนำรายได้ร่วมล้านจากการเช่าเหรียญมาฝากไว้ที่คลังจังหวัด แต่หมอปฏิเสธว่าทำไม่ได้ เพราะอำนาจเป็นของคณะกรรมการ และเขาเองก็ไม่สามารถอนุมัติเบิกจ่ายใดๆ ได้ทั้งสิ้น

ผลจากการลุกขึ้นปกป้องสิทธิของชาวบ้านครั้งนั้น ทำให้ผู้บริหารของจังหวัดมองชาวบ้านกลุ่มนี้เป็นพวกหัวหมอ และกระด้างกระเดื่อง ส่วนหมอก็ถูกมองเป็นพวกฝักใฝ่คอมมิวนิสต์

“ประเด็นที่ใหญ่สุดตอนนั้นคือ ศูนย์นิสิตฯ กำลังรณรงค์ประชาธิปไตย ผมก็ไปยืมสไลด์เขามาฉายที่โรงหนังในอำเภอ เป็นเรื่องเกี่ยวกับ 14 ตุลา ก็บรรยายให้ฟังทุกฉาก แล้วมีตอนหนึ่งที่เป็นฉากเผากองสลากฯ ผมก็บอกว่าสาเหตุที่เผาก็เพราะสลากกินแบ่งเป็นตัวขูดรีดประชาชน บรรยายไปเรื่อยจนเลิกก็กลับไปนอน พอตื่นเช้ามาชาวบ้านคนหนึ่งมาบอกว่ารู้หรือเปล่า เมื่อคืนบ้านนายอำเภอถูกเผาทั้งหลัง

“ในที่สุดก็ถูกเรียกไปสอบสวนหาว่าไปยุให้ชาวบ้านเผาบ้านนายอำเภอ ชาวบ้านให้การว่าไม่ได้ทำเพราะเป็นบ้านหลวง ถ้าเป็นบ้านส่วนตัวจึงจะเผา แล้วก็บอกว่าสงสัยนายอำเภอวางเพลิงเอง แล้วเอาเอกสารจากอำเภอ ที่เกี่ยวกับที่ดิน สะพาน โรงเรียนไปเผาด้วย ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เขาสอบอยู่ 3-4 วันก็เอาผิดผมไม่ได้ เพราะผมมีพยานว่าไม่เกี่ยวข้อง แต่จังหวัดมีหนังสือเวียนไปตามหน่วยงานต่างๆ ระบุว่า หมอคนนี้ทำงานแล้วมีปัญหา แล้วเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขย้ายผม”

แม้สุดท้ายฝ่ายนายอำเภอจะถูกย้ายออกไปเพื่อลดกระแส แต่สถานะของหมออภิเชษฎ์ก็ไม่สู้ดีนัก เขาถูกปองร้าย ถูกกลั่นแกล้ง มีตำรวจติดตามทุกฝีก้าว แถมยังถูกตัดสายเบรครถจนเกือบตกเขา ที่สำคัญยังมีการปั่นกระแสเรื่องคอมมิวนิสต์ แพร่ข่าวลือว่า เขาเป็นหมอประจำตัวนายกรัฐมนตรีจีน รวมถึงเขียนจดหมายปลอมโดยลงชื่อว่ามาจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

“วิธีสร้างหลักฐานเท็จมีมากมาย เช่นเวลาผมขนเศษกระดาษที่ไม่ใช้แล้วไปเผา ก็ไปเขียนรายงานว่าผมนำหลักฐานการติดต่อกับพรรคคอมมิวนิสต์มาเผาจำนวนมาก หรือออกไปพักบ้านไม้ไผ่กลางท้องนาเพื่อรดน้ำต้นไม้ พรวนดิน ก็รายงานว่าผมสะสมเสบียงอาวุธ ขุดส้วมก็ถูกหาว่าขุดบังเกอร์”

นอกจากโดนกล่าวหาแล้ว งานต่างๆ ที่หมอพยายามสร้างขึ้นก็ถูกขัดขวาง ทั้งการสร้างโรงพยาบาลใหม่ทั้งที่มีงบพร้อมอยู่แล้ว โดยอ้างว่าอยู่ภายใต้หน่วยงานคนละกอง โครงการจึงถูกเลื่อนไปอีกปี ที่สำคัญคือช่วงนั้นนายแพทย์ใหญ่เสียชีวิตกะทันหัน ทำให้โครงการปั้นเด็กของเขาถูกลอยแพ แถมยังถูกโจมตีว่า มีแผนจะสร้างหมอตีนเปล่าแบบคอมมิวนิสต์อีกด้วย

ในที่สุดเดือนมิถุนายน 2518 เขาก็ถูกเรียกตัวเข้ากระทรวง โดยไม่มอบหมายหน้าที่ เพียงแค่เซ็นชื่อ นั่งจิบกาแฟอยู่ในห้องแอร์ พอตกเย็นก็กลับบ้านเท่านั้น

ช่วงนั้นหมอเองพยายามขอย้ายลงไปยังพื้นที่อื่น แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง หลังทนอยู่เฉยๆ ร่วม 3 เดือน จึงตัดสินใจยื่นหนังสือขอลาออก แต่กลับถูกผู้มีอำนาจบางคนแทงเรื่องเป็นไล่ออกแทน ในข้อหากระทำผิดอย่างร้ายแรง

ปิดฉากชีวิตข้าราชการที่ตั้งใจอยากรับใช้ประชาชนตลอดกาล

ถ้าผมจะถามว่า โรคอะไรที่พบบ่อยที่สุดในชนบท คำตอบของผมคือ โรคความยากจน

อภิเชษฎ์ นาคเลขา : ‘หมอเมืองพร้าว’ อุดมการณ์ของเสื้อกาวน์

จุดเริ่มต้นแรงบันดาลใจ

หลังพ้นจากชีวิตราชการ หมออภิเชษฎ์เข้าทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แต่ทำได้ไม่นานก็ลาออกมา เพราะทนระบบที่เงินต้องมาก่อน รักษาไว้ทีหลังไม่ได้

จากนั้นเขาก็มาเปิดคลินิกเล็กๆ ย่านพัฒนาการ หากแต่หมอชนบทผู้นี้กลับยังไม่พ้นวิบากกรรม เขาถูกฟ้องเพราะทำงานใช้ทุนไม่ครบ 3 ปี โดยช่วงแรกถูกเรียกเก็บเงินกว่า 60,000 บาท มากกว่ายอดที่ต้องจ่ายจริงเกือบ 3 เท่า เขาปฏิเสธไม่ยอมจ่าย พร้อมแจ้งว่ายินดีเข้าคุก ผู้ร้องจึงยอมแก้ไขตัวเลขใหม่

แต่ท่ามกลางความโชคร้าย เรื่องราวการต่อสู้ของเขาก็ถูกส่งต่อในวงกว้าง เมื่อสำนักพิมพ์คนหนุ่มนำจดหมายที่ร่วมสิบฉบับที่เขาเขียนขึ้น รวมเล่มเป็นหนังสือ ‘หมอเมืองพร้าว’ เมื่อปี 2519

ว่ากันว่าหนังสือเล่มนี้ รวมถึงหนังสืออีกเล่มที่ชื่อ ‘เสี้ยวหนึ่งของชีวิต’ มีอิทธิพลต่อนิสิตนักศึกษายุค 70 อย่างมากโดยเฉพาะนักเรียนแพทย์ซึ่งต้องลงไปทำงานในดินแดนทุรกันดาร เพราะเขาคือแพทย์รุ่นแรกๆ ที่บุกเบิกการทำงานแนวใหม่ ด้วยการดึงคนในพื้นที่ให้มีส่วนร่วมในการบริการสาธารณสุขอย่างจริงจัง

“การที่ผมออกสู่ชนบทนั้นเป็นการอุทิศตนก็ถูกต้องส่วนหนึ่ง ผมมีอุดมคติก็ใช่ แต่ที่สำคัญผมไปศึกษาและมองอย่างเป็นระบบ ผมจะไม่ยอมเป็นหมอกานต์ ตัวละครเอกในเรื่องเขาชื่อกานต์ ที่ไปทำงานอยู่ที่นั่นจนตาย แล้วคนเชิดชูว่า ผมเป็นหมอที่กินอุดมคติ ผมไม่ได้เป็นหมอประเภทนั้น ผมทำงานที่พร้าวก็เพื่อจะนำเอาระบบที่ได้ศึกษาที่นี่มาใช้พัฒนาประเทศ นี่คือแนวทางที่ว่าจะทำอย่างไรให้คนไทยทั่วประเทศพัฒนาได้”

แม้จะไม่ได้เป็นแพทย์ชนบทอีกแล้ว แต่หมออภิเชษฎ์ก็ไม่เคยหยุดคิดถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมเลย เขายังคงเขียนบทความเผยแพร่ความคิดผ่านหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ เรื่อยมา ควบคู่กับการรักษาผู้ป่วยยากไร้ รวมทั้งเดินทางกลับไปเยี่ยมเมืองพร้าวอีกครั้ง ช่วงสิ้นปี 2535 หลังจากไม่เคยย่างกรายเลยตลอด 16 ปี

“ถนนที่่ไปเมืองพร้าวลาดยางชั้นเยี่ยม ท้องนาหายไป 60% กลายเป็นบ้านคนรวยและรีสอร์ตพร้าวมีไฟฟ้า 24 ชั่วโมง มีโทรศัพท์ มีตึกรามบ้านช่อง แต่คนหนุ่มสาวเดินหน้าเข้าสู่เมือง เพราะพร้าวไม่มีน้ำแล้ว ลำธารแห้งกลายเป็นภูเขาเตี้ยๆ ข้าวปลูกได้น้อยลง ประชาชนจึงเหลือแต่เด็กและคนชรา

“ผมจึงนำเงิน 5,000 บาทที่ได้จากอาจารย์องุ่น มาลิก ร่วมจัดตั้ง ศูนย์ฯ พัฒนาเมืองพร้าว เพื่อพัฒนาเมืองและรักษาคนยากจน โดยเฉพาะคนชราที่ถูกเขี่ยทิ้งเอาไว้กับท้องนาที่แห้ง”

เรื่องราวของหมอเมืองพร้าวเงียบหายตามกาลเวลา กระทั่งวันที่ 26 พฤศจิกายน 2549 ผู้คนจึงได้ยินข่าวการจากไปของเขาอย่างสงบ หลังต่อสู้กับโรคมะเร็งหลอดอาหารส่วนต้นนานร่วมปี

เหลือทิ้งไว้แต่อุดมการณ์และความหวังที่รอวันเป็นจริง..สักวันหนึ่ง

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • หนังสือหมอเมืองพร้าว โดย นพ.อภิเชษฎ์ นาคเลขา
  • หนังสือเสี้ยวหนึ่งของชีวิต โดย นพ.อภิเชษฎ์ นาคเลขา
  • หนังสือพร้าว…ลมหายใจจากอดีต (20 ปีของ) ความล้มละลายของชาวนาไทย โดย นพ.อภิเชษฎ์ นาคเลขา
  • นิตยสารโลกใหม่ ปีที่ 1 ฉบับที่ 6 วันที่ 2-8 สิงหาคม 2521
  • นิตยสาร Hi-Class ปีที่ 7 ฉบับที่ 84 เดือนเมษายน 2534
  • นิตยสารบุคคลวันนี้ ปีที่ 3 ฉบับที่ 29 เดือนพฤศจิกายน 2531
  • นิตยสารสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 54 ฉบับที่ 22 วันที่ 23 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2550

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.