Adachi Mitsuru : นักเขียนฟีลกู๊ด เจ้าตำรับการ์ตูน ‘น้อยแต่มาก’

<< แชร์บทความนี้

นักเบสบอลวัยรุ่นที่ฝันจะไปโคชิเอ็ง, รักสามเส้าที่มีกีฬามวยเข้ามาเกี่ยวข้อง, ความรักของนักว่ายน้ำที่ทางบ้านไม่ถูกกัน ฯลฯ

ตัวละครหน้าตาเหมือนๆ กัน พล็อตคล้ายๆ เดิม ส่วนมากเนื้อเรื่องวนอยู่กับความรักวัยรุ่น-การแข่งขันกีฬา ไม่ได้มีฉากแอ็กชันหวือหวาเปรี้ยงปร้าง หรือถ้อยคำฟูมฟาย บีบขยี้เค้นอารมณ์

ฟังดูไม่น่าสนใจเลยใช่ไหม?

แต่คิดผิดแล้ว เพราะภายใต้ลายเส้นสบายตา บทสนทนาน้อยๆ การ์ตูนของผู้ชายคนนี้ผูกปมดราม่าได้ชวนติดตาม สอดแทรกด้วยมุกตลกเรียกรอยยิ้ม ไม่มีพระเอกที่สมบูรณ์เลิศเลอ ไม่มีตัวร้ายที่โหดเหี้ยมเกินมนุษย์ เรื่องราวส่วนใหญ่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน แต่ในความเรียบง่ายนั้นกลับทำให้น้ำตาไหลได้โดยไม่รู้ตัว

ใครได้อ่านแล้วจึงหลงเสน่ห์ได้ไม่ยาก ไม่แปลกเลยที่ Touch ทำยอดขายกว่า 100 ล้านเล่มทั่วญี่ปุ่น ถ้ารวมผลงานอื่นๆ อย่าง Rough, H2, Miyuki, Katsu!, Cross Game, Mix และเรื่องอื่นๆ เขาจะมีผลงานที่ขายไปแล้วถึง 250 ล้านเล่ม ทั่วโลก!

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา อยากชวนไปรู้จักกับชีวิตและวิธีคิดของ Adachi Mitsuru นักเขียนผู้ยังคงทำงานต่อเนื่องมากว่า 50 ปี โดยไม่ตกยุคสมัย อะไรทำให้เขามีแฟนคลับติดตามเหนียวแน่น และทำไมผู้อ่านบางคนถึงให้ฉายาเขาว่า นักเขียนฟีลกู๊ด

ค่อยๆ ไป แต่ไม่หยุด

ในช่วงวัยหนุ่ม ขณะที่เพื่อนนักเขียนต่างทยอยไปมีผลงานของตนเอง อาดาจิยังคงเป็นเพียงนักเขียนผู้ช่วยของนักเขียนใหญ่ วันคืนคืบคลานผ่านไปจนเขาเริ่มคิดว่า คงไม่มีการ์ตูนของตนเองออกมาเป็นแน่แล้ว

เกือบ 10 ปี หลังวาดการ์ตูนอาชีพ ในที่สุด Nine จึงได้ตีพิมพ์ เหมือนเป็นรางวัลแห่งความอดทนเพียรพยายามของเขา และหลังจากวันนั้น ชายหนุ่มก็แทบไม่ได้หยุดเขียนการ์ตูนอีกเลยจนถึงปัจจุบัน

อาดาจิ มิซึรุ เกิดที่จังหวัดกุนมะ ใจกลางของเกาะญี่ปุ่น

เขาสนิทสนมกับพี่ชายที่อายุมากกว่า 3 ปี ชื่อ อาดาจิ ซึโตมุ สองพี่น้องรักการ์ตูนมาก เวลาว่างมักจะไปขลุกตัวอยู่ตามร้านเช่าการ์ตูนแถวบ้าน และกลับมาฝึกวาดตามนักเขียนที่ชื่นชอบ ทั้งคู่มีเป้าหมายเหมือนกันคือโตขึ้นจะเป็นนักเขียนการ์ตูน

พี่ชายของเขารุดหน้าไปก่อน เพราะได้วาดการ์ตูนส่งให้กับร้านเช่าหนังสือและสำนักพิมพ์ โดยรับหน้าที่ผู้ช่วย ซึโตมุพยายามเคี่ยวเข็ญน้อง และยังแนะนำให้ส่งการ์ตูนเรื่องแรกชื่อ ‘Mushito shounen’ ไปประกวดนักเขียนหน้าใหม่ของนิตยสารการ์ตูน COM

ผลงานเรื่องนั้นได้รับรางวัลชมเชยอันดับสองพร้อมกับลงตีพิมพ์ ทำให้อาดาจิดีใจมาก ขยันส่งผลงานไปอีกทุกเดือน แต่กลับไม่ผ่านการพิจารณาอีกเลย

หลังเรียนจบมัธยมปลาย อาดาจิวัย 19 ปี ตัดสินใจย้ายเข้ามาในโตเกียวเพื่อทำงานเขียนการ์ตูน แม้ครอบครัวจะคัดค้านเพราะอยากให้เรียนด้านบัญชีและการธนาคารมากกว่า

แต่พี่ชายของเขาก็หนุนหลังสุดตัวและพามาฝากฝังให้เป็นผู้ช่วยของ อิชิอิ อิซามิ นักเขียนการ์ตูนเจ้าของผลงาน ‘750 Rider’ ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น

ช่วงแรกฝีมืออาดาจิค่อนข้างแย่ จนอาจารย์อิชิอิ คิดว่าเขามาวาดรูปเล่นมากกว่า แต่ด้วยความมุมานะทำให้วาดดีขึ้นเรื่อยๆ จนภายหลังลายเส้นใกล้เคียงกับอาจารย์มากจนแทบจะวาดแทนได้

“ผมจะเป็นนักวาดการ์ตูนได้มั้ยนะ” เขาเอ่ยกับอิชิอิ ขณะเหม่อมองออกไปที่ทะเลในวันหนึ่ง

จนในปี 1970 เขาได้มีโอกาสตีพิมพ์ผลงานชิ้นแรกของตัวเองคือ ‘Kieta Bakuon’ ลงนิตยสาร Deluxe Shounen Sunday แต่ผลงานเรื่องนั้นไม่ได้เป็นการ์ตูนของเขาอย่างแท้จริง เพราะอาดาจิแค่เขียนภาพ ส่วนเนื้อเรื่องดัดแปลงมาจากการ์ตูนของ โอซาวะ ซาโตรุ โดยมีทีมงานของสำนักพิมพ์ดูแลเรื่องบทให้

เมื่อทำงานไปเรื่อยๆ บรรณาธิการร้องขอให้เขาวาดภาพตัวละครเลือดร้อน จอมบู๊ มีแต่ความรุนแรง อาดาจิรู้สึกว่าไม่ใช่แนวทางแบบที่เขาอยากจะวาด จึงตัดสินใจย้ายมาเขียนการ์ตูนในนิตยสารผู้หญิง แม้จะเป็นการ์ตูนตาหวาน แต่เขากลับรู้สึกดีที่ได้เปลี่ยนแนว และมีอิสระในการเขียนมากขึ้น ประสบการณ์ในช่วงนั้นทำให้เขาติดลายเส้นแบบการ์ตูนผู้หญิงมาจนทุกวันนี้

อาดาจิวาดภาพประกอบอยู่นานกว่า 9 ปี แต่ยังไม่มีผลงานของตัวเอง จนวันหนึ่งโอกาสมาถึง เมื่อบรรณาธิการของ Shounen มาชวนเขากลับไปเขียนให้นิตยสารผู้ชาย นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิต

พูดน้อย ต่อยหนัก

‘Nine’ การ์ตูนกีฬาเบสบอลเรื่องแรกของเขา ได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Weekly Shounen Sunday ในปี 1978 และมีเสียงตอบรับที่ดี เขาทำเองทุกขั้นตอนตั้งแต่คิดเนื้อเรื่อง บทสนทนา และวาดภาพ ในที่สุดอาดาจิก็ได้เป็นนักเขียนการ์ตูนเต็มตัวอย่างที่ตั้งใจ

ก่อนหน้านี้ ผมเคยถูกกองบรรณาธิการ Shounen Sunday ปฏิเสธงานหลายครั้ง เพราะเขารู้สึกว่างานของผมไม่เหมาะกับผู้อ่านผู้ชาย แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผู้อ่านเริ่มเบื่อการ์ตูนแนวทางเดิมๆ กองบรรณาธิการจึงติดต่อกลับมา และงานของผมก็เป็นที่สนใจของผู้อ่านจริงๆ

“ในตอนแรกของ Nine ผมใช้ความพยายามอย่างหนัก แต่เมื่อถึงตอนที่สอง ผมกลับรู้สึกผ่อนคลาย ทุกอย่างไหลออกมาเป็นธรรมชาติ ผมรู้สึกเหมือนเจอทางของผมแล้ว Nine เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในอาชีพของผม การต้อนรับอย่างอบอุ่นของผู้อ่าน ทำให้ผมมั่นใจในสไตล์ของตัวเอง ทั้งในแง่ของเนื้อเรื่องและการวาดภาพ ตั้งแต่นั้นมาก็สนุกทุกวัน”

หลังจาก Nine ผลงานเรื่องอื่นๆ ทยอยได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เช่น ตราบตะวันไม่สิ้นแสง, รักพลิกล็อค, Miyuki ก่อนจะโด่งดังเป็นพลุแตกกับ ‘Touch’ ที่ทำให้ อาดาจิ กลายเป็นนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นที่ไม่มีใครไม่รู้จัก

แม้ว่าในช่วงเริ่มต้น เขาจะก้าวได้ช้ากว่าเพื่อน แต่ด้วยความมุ่งมั่น เดินไปเรื่อยๆ โดยไม่ถอดใจ ในที่สุดจึงมาถึงเป้าหมายได้สำเร็จ

การ์ตูนทุกเรื่องของอาดาจิล้วนเกี่ยวข้องกับหนุ่มสาววัยรุ่น ถึงวันนี้เขาอายุ71 ปี แล้ว แต่ยังเขียนเกี่ยวกับเด็กมัธยมเหมือนเดิม

“ผมชอบวาดภาพวัยรุ่น วัยรุ่นเป็นช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต ทั้งเรื่องความรัก ความฝัน การค้นหาตัวเอง สิ่งที่ดูไม่สำคัญสำหรับผู้ใหญ่ อาจเป็นปัญหาร้ายแรงสำหรับพวกเขา”

กีฬาเป็นอีกองค์ประกอบสำคัญที่แทรกอยู่แทบทุกเรื่อง ทั้งว่ายน้ำ มวย เบสบอล ความจริงแล้ว อาดาจิ เพิ่งสนใจกีฬาอย่างจริงจังตอนเริ่มทำงาน แต่เขาก็คลั่งไคล้มาก โดยเฉพาะเบสบอล ถึงกับมีทีมของตัวเองชื่อ Vitamin A

การ์ตูนของเขาเกือบครึ่งมีฉากหลังเป็นเบสบอล เช่น Nine, Touch, H2, Cross Game, Mix ตัวละครก็มักมีความฝันที่จะไปโคชิเอ็ง หรือการแข่งขันเบสบอลมัธยมปลายระดับประเทศของญี่ปุ่น

อีกลายเซ็นที่เด่นชัด คือการใช้บทพูดน้อย ให้ภาพเล่าเรื่อง ตัวละครไม่ชอบพูดอะไรตรงๆ แต่ในความน้อยนั้นสามารถเข้าถึงอารมณ์คนอ่านได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ฉากหนึ่งในการ์ตูน Cross Game พระเอกต้องสูญเสียเพื่อนหญิงคนสนิทอย่างกะทันหัน ในหน้ากระดาษมีเพียงคำพูดไม่กี่คำ มีเพียงภาพพระเอกหน้านิ่งน้ำตาไหล และฟาดลูกเบสบอลไปไกลลิบตา

“เมื่อเขียนถึงตัวละครที่เจ็บปวด หรือกำลังร้องไห้ ผมจะไม่วาดภาพพวกเขาร้องไห้จนใบหน้าบิดเบี้ยว ผมจะเริ่มต้นด้วยการจินตนาการถึงฉากธรรมดาสามัญ และปรับเปลี่ยนในรายละเอียด สิ่งที่สำคัญที่สุดคือมันสามารถถ่ายทอดความรู้สึกที่ต้องการได้”

ความจริงแล้ว ในผลงานช่วงแรกเขายังเต็มไปด้วยบทสนทนา แต่มันก็ค่อยๆ พัฒนาต่อมาสู่การเล่าเรื่องด้วยภาพมากขึ้น อย่างในเรื่อง Touch หรือ Rough มักจะมีภาพท้องฟ้ากว้างๆ สนามแข่งโล่งๆ ปล่อยให้ผู้อ่านจินตนาการกันเอง แถมในตอนจบ เขายังชอบทิ้งปริศนาไว้ให้คนอ่านคิดต่อ

“ผมเป็นนักเขียนการ์ตูนที่ทำงานกับจินตนาการของผู้อ่าน พยายามใช้ข้อความให้น้อยที่สุด เพื่อสื่อสารสิ่งต้องการ ผมไม่ชอบการอธิบายทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือบอกอย่างโจ่งแจ้ง มันดูไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ และไม่สนุกสำหรับผม”

แต่ในความน้อยนั้น บทสนทนาต่างๆ กลับเฉียบคม กระแทกใจ ซึ่งวัตถุดิบในการเขียนเหล่านี้อาดาจิได้มาจากรายการวิทยุยามดึก และราคุโกะหรือศิลปะการเล่าเรื่องด้วยตัวคนเดียวของญี่ปุ่น ที่เขาชอบฟังสมัยมัธยมปลาย

“ตอนเที่ยงคืน วิทยุจะอ่านจดหมายยาวๆ จากผู้ฟัง ถึงจะเป็นเรื่องราวในชีวิตประจำวัน เช่น ความรัก การทำงาน แต่มันก็น่าสนใจ เป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่ยอดเยี่ยม ซึ่งผมนำมาใช้ในการทำงาน”

อาดาจิยังชื่นชอบภาพยนตร์ของ Billy Wilder โดยเฉพาะวิธีเล่าเรื่องระหว่างบรรทัด ยกตัวอย่างเช่นในภาพยนตร์เรื่อง The Apartment แทนที่ตัวละครจะพูดว่า “ฉันรักคุณ” แต่กลับบอกว่า “ฉันจะให้คุณยืมกุญแจอพาร์ตเมนต์” อาดาจิจำได้ไม่ลืม และนำวิธีเขียนบทสนทนาแบบนี้มาใช้บ่อยๆ

การ์ตูนของเขาทุกเรื่องยังสะท้อนการมองโลกในมุมที่งดงาม ไม่มีใครที่แพ้ตลอดไป ไม่มีตัวร้ายคนไหนที่เลวถึงขีดสุด หลายครั้งที่ตัวละครคู่แข่งแต่กลับยื่นมิตรภาพให้แก่กัน ด้วยเหตุนี้เองทำให้เขาได้รับฉายาว่านักเขียนฟีลกู๊ด

แต่หลายครั้งในการผูกเรื่องราว ที่อาดาจิ ใช้ ‘ความตาย’ ของตัวละครสำคัญ ผลักดันเรื่องไปข้างหน้า เช่นใน Touch, H2 และ Cross Game แม้ดูเหมือนใจร้ายกับคนอ่าน แต่เขาเชื่อว่ามนุษย์เราจะเติบโตขึ้นเมื่อผ่านพ้นสถานการณ์ที่คนใกล้ชิดจากไป

“ผมไม่ได้ใช้ความตายเพื่อสร้างความประหลาดใจหรืออยากทำร้ายคนอ่าน แต่ผมรู้สึกว่า ความตายเป็นเรื่องธรรมดา และเกิดขึ้นทุกหนทุกแห่ง ความตายเปลี่ยนแปลงมนุษย์มากที่สุด ดังนั้นตัวละครวัยรุ่นของผมก็ได้เรียนรู้อะไรมากมายจากเหตุการณ์เหล่านี้”

สำหรับตัวอาดาจิเอง ในปี 2004 ซึโตมุ พี่ชายผู้ช่วยผลักดันให้เขามาเป็นนักเขียนการ์ตูนได้สำเร็จ เสียชีวิตด้วยมะเร็ง เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างมาก ถึงขั้นที่เขาไม่สามารถจรดปากกาเขียนอะไรได้เลย แต่ในที่สุดเขาก็ผ่านมาได้ และกลับมาเขียนการ์ตูนในมุมบวกได้อีกครั้ง

ผมชอบวาดภาพวัยรุ่น วัยรุ่นเป็นช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต ทั้งเรื่องความรัก ความฝัน การค้นหาตัวเอง สิ่งที่ดูไม่สำคัญสำหรับผู้ใหญ่ อาจเป็นปัญหาร้ายแรงสำหรับพวกเขา

Adachi Mitsuru : นักเขียนฟีลกู๊ด เจ้าตำรับการ์ตูน ‘น้อยแต่มาก’

กว่า 50 ปี ของการทำงาน

ชีวิตของนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นมีความคล้ายคลึงกัน คือช่วงวัยหนุ่มต้องทำงานหนักเพื่อสร้างชื่อเสียง การทำงานให้นิตยสารรายสัปดาห์เหมือนกับร้านที่เปิด 24 ชั่วโมง ต้องจมจ่อมอยู่กับโต๊ะหรือคิดงานในหัวอยู่ตลอด

อาดาจิจะใช้เวลาครึ่งวันถึง 1 วันคิดดราฟท์เนื้อเรื่องของแต่ละตอน จากนั้นคิดไอเดียและรวบรวมเข้าเป็นเนื้อเรื่องอีกราว 2 วัน ลงมือวาดภาพอีก 3 วัน หลายครั้งที่ทำงานข้ามคืนจนถึงเวลาส่งต้นฉบับ เรียกได้ว่าตลอด 7 วัน แทบไม่มีวันหยุด จนกระทั่งเมื่ออายุมากขึ้น เขาถึงเปลี่ยนมาทำงานให้กับนิตยสารรายเดือนแทน

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับนักเขียนการ์ตูนสักคนที่ทำงานมาเกิน 50 ปี หลายคนโด่งดังในช่วงเวลาสั้นๆ จากนั้นก็หายไป เพราะหมดไฟ หรือปรับตัวไม่ทันตามรสนิยมของคนอ่าน

“โดยทั่วไปแล้ว ชีวิตนักเขียนการ์ตูนนั้นยืนอยู่บนความไม่แน่นอน ไม่มีใครรู้หรอกว่า จะทำไงไปถึงเมื่อไร ตอนอายุ 19 ที่ผมออกจากบ้านมาโตเกียว คิดแค่ว่าจะวาดให้ได้ถึงอายุ 25 นอกจากนั้นคือกำไร ผมไม่ได้คิดเลยว่าจะมาได้ไกลขนาดนี้”

อาจด้วยความรัก ความฝัน ความเป็นวัยรุ่น เป็นสิ่งสากลที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง เมื่อมาผ่านวิธีเล่าอันละเมียดละไมลึกซึ้ง ทำให้การ์ตูนของอาดาจิไม่เคยตกยุคสมัย และยังได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากผู้อ่านอยู่เสมอจนถึงปัจจุบัน

“แต่ผมไม่คิดว่าการ์ตูนของผมจะอยู่ได้ตลอดไป ผมจึงพยายามปรับตัวให้อยู่กับปัจจุบันอยู่ตลอด ถึงแม้ว่าจะไม่ชอบวาดโทรศัพท์มือถือ แต่ผมก็ต้องวาดในที่สุด” เขาเคยกล่าวไว้อย่างติดตลก

และนี่คือเรื่องราวของตำนานนักเขียนการ์ตูนผู้มองโลกในแง่บวก และไม่เคยหยุดทำงาน

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • หนังสือ บันทึกเรื่องจริงของอาดาจิ มิซึรุ
  • เว็บไซต์ Pantip
  • เว็บไซต์ Wikipedia Japan
  • เว็บไซต์ Natalie
  • เว็บไซต์ Le Figaro
  • Facebook : ANICOth

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.