เคยมีคนในเหมืองแร่ทำนายว่า “..คุณยังมีเส้นทางชีวิตอีกยาวไกล..”
ถ้าวันนั้นใครได้เห็นสภาพของเขา คงไม่เชื่อว่า นิสิตรีไทร์จากจุฬาฯ ไร้อนาคต เนื้อตัวมอมแมม เต็มไปด้วยคราบเหงื่อและดินโคลน จะกลายเป็นนักประพันธ์ชั้นครูที่มีอิทธิพลกับวงการวรรณกรรมบ้านเราอย่างเช่นทุกวันนี้
แน่นอนว่าความสำเร็จของเขา ไม่ได้มาจากฟ้าลิขิตให้เป็นตามคำทำนาย แต่เป็นเพราะความอดทนและสู้ไม่ถอยครั้งแล้วครั้งเล่าต่างหาก ที่ผลักดันให้เขาฉุดตัวเองจนพ้นจากวังวนของความล้มเหลว และก้าวต่อไปได้
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกคนกลับไปทบทวนชีวิตของชายผู้เป็นตำนานแห่งวงการน้ำหมึก วงการโทรทัศน์ บรรณาธิการผู้สร้างนักเขียนมากมายในเมืองไทย
อาจินต์ ปัญจพรรค์
หลายคนมักบอกว่า ชีวิตของเขาเต็มไปด้วยความล้มเหลว เรียนก็ไม่จบ งานการก็ไม่มี จนต้องไปใช้แรงงานไกลถึงพังงา
แต่ความจริงข้อหนึ่งที่หลายคนอาจไม่ทราบ คือเขาไม่เคยคิดอยากเป็นวิศวกรมาก่อน
ความฝันอย่างเดียวที่มีคือการเป็นนักเขียน
อาจินต์ได้รับอิทธิพลจากหนังสือในห้องสมุดของบิดา ขุนปัญจพรรคพิบูล และเรื่องเล่าต่างๆ ของเฉลิม โกมารทัต ผู้เป็นป้า จึงไม่แปลกที่เขายอมเข้าสอบเพียงวิชา Drawing และปล่อยให้วิชาที่เหลือได้ 0 คะแนน จนถูกคัดชื่อออกจากมหาวิทยาลัย
หากแต่โลกของความฝันกับความจริงนั้นเป็นคนละเรื่อง!!
เมื่อประสบการณ์ชีวิตไม่พร้อม ความสามารถไม่ถึง สิ่งที่รออยู่ข้างหน้า คือความล้มเหลว ไม่มีบรรณาธิการหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารรับเขาเข้าทำงานเลย
“ผมเขียนมาตั้งแต่อายุ 15 สมัยยังเรียน ม.5 ได้ลงบ้างไม่ได้ลงบ้าง ลงตะกร้าเสียมาก คล้ายเป็นบททดลองนะ ไอ้เด็กที่ทัศนคติอ่อนเยาว์หลวมโพรกอยากเขียนหนังสือ เหมือนเด็กอายุ 12 อยากเป็นนางงาม แต่เป็นไม่ได้ เงื่อนไของค์ประกอบต่างๆ ยังไม่ครบ ก็ต้องอาศัยเวลาสะสมเรื่อยมา”
เมื่อความฝันไม่สำเร็จ อาจินต์จึงใช้ชีวิตอยู่กับการกินเหล้า สูบบุหรี่ เข้าโรงหนัง กลายเป็นคนเหลวแหลก แม้พ่อจะฝากให้ทำงานราชการอีกหลายแห่ง ก็ไม่เคยอยู่ได้นาน เขาเคยเข้าไปเรียนกฎหมายอยู่ที่ธรรมศาสตร์อยู่พักหนึ่ง แต่ก็ยังคงประพฤติตัวเช่นเดิม จนพ่อซึ่งเวลานั้นเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาทนไม่ไหว กลัวลูกชายคนรองจะเสียคนไปก่อน จึงเรียกตัวจากกรุงเทพฯ มาปักษ์ใต้ แล้วฝากให้ทำงานในเหมืองแร่ดีบุกแห่งหนึ่ง
ชีวิตในเหมืองแร่เต็มไปด้วยความยากลำบาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทางเหมืองรับอาจินต์เข้าทำงานด้วยความเกรงใจผู้ว่าฯ
เขาได้รับค่าแรงวันละ 6 บาท ต่ำกว่าเด็กอายุ 13-14 ปีเสียอีก คล้ายๆ เป็นการไล่ทางอ้อม แต่พ่อก็บอกให้ทนทำไปเรื่อยๆ เหมือนเป็นการดัดสันดานทางหนึ่ง จนวันหนึ่งไอเป็นเลือด หมอบอกว่า เส้นโลหิตฝอยในลำคอแตก เพราะทำงานหนักเกินไป ชอุ่ม ปัญจพรรค์ พี่สาวเลยตรงดิ่งมาจากกรุงเทพฯ เพื่อตามตัวกลับบ้าน แต่พ่อไม่ยอม และสั่งให้สมัครงานที่เหมืองอีกหนึ่งแห่งแทน
โชคดีที่การทำงานในเหมืองใหม่นั้นดีกว่าเดิมมาก เขาได้รับค่าแรงแรกเข้าทันที 500 บาท เพราะนายเหมืองที่นี่ชอบพอกับผู้ว่าฯ อาจินต์เลยไม่ต้องไปตีเหล็ก แต่ได้ทำหน้าที่อื่นๆ เช่นเลขาฯ ประจำตัวนายเหมือง จนถึงนายช่างแผนที่
“ช่วงที่อยู่เหมืองแร่ ผมไม่ได้คิดไม่ได้เขียนอะไรเกี่ยวกับชีวิตเลย คิดแต่ว่าข้างหน้าเราจะมืดกว่านี้ไหม ข้าวกลางวันยังไม่มีจะกินเลย เพราะที่นั่นเป็นป่าไม่มีตลาด ต้องอาศัยกินกับกรรมกร แล้วตอนเย็นเลี้ยงเหล้าเขา ชีวิตก็กร้านขึ้น อดทนขึ้น กางเกงนี่นุ่งจนขาดไม่มีการซัก เพราะมันต้องเปื้อนน้ำมันขี้โล้ทุกวัน ตกเย็นถึงจะแต่งตัวสวยหน่อยไปนั่งร้านเหล้า นั่งโม้คุยกัน นั่นแหละความบันเทิง”
อาจินต์ทำงานอยู่ 4 ปีเต็มกระทั่งเหมืองปิด จึงกลับกรุงเทพฯ ความจริงพ่ออยากให้เขาไปทำงานต่อที่เหมืองวุลแฟรมที่ภาคเหนือ แต่เขาปฏิเสธ เนื่องจากต้องการเสี่ยงโชคกับงานเขียนอีกครั้ง เพราะชอุ่มเคยส่งผลงานที่เขาเขียนซุกไว้ในลิ้นชักก่อนไปเหมือง เรื่อง ‘เศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึก’ ลงนิตยสารจนได้คำชมมาแล้ว
อาจินต์ตะลุยเขียนงานมากมายทั้งนิยาย บทความ ความเรียง สารคดี ส่งตามนิตยสารต่างๆ
“ปีแรกที่คืนกรุงเทพฯ ผมซื้อกระดาษฟูลสแก๊ปวันละ 2 โหล เขียนหมดเลยแล้วส่งไปรษณีย์วันรุ่งขึ้น เขียนส่งนิตยสารที่มีทุกเล่มขณะนั้น งานของผมจะอยู่ในตะกร้า บ.ก. ทุกคนไม่มีใครเอา แต่ผมยังจะเอาให้ได้ มีชิ้นหนึ่งที่ผมเขียนแล้วเอาข้าวสุกทา เพราะด้วยความจน เลยไม่มีคลิปเย็บกระดาษ ใช้กระดาษฟูลสแก๊ปม้วนแล้วเอาข้าวสุกทา”
เวลานั้น อาจินต์มีงานตีพิมพ์อยู่บ้าง พล็อตเรื่องส่วนใหญ่ก็มาจากเหมืองแร่นั่นเอง แต่ด้วยความเป็นนักเขียนหน้าใหม่บางครั้งก็ไม่ได้รับค่าเรื่อง ทำให้เขาคิดว่าคงไม่สามารถทำงานนี้เลี้ยงชีพได้ เมื่อได้ข่าวว่ามีบริษัทอีกแห่งซื้อกิจการเหมืองเก่าที่เขาเคยทำงาน ก็เลยไปยื่นสมัคร แต่บริษัทบอกกับเขาว่า ตอนนี้เลิกทำเหมืองแล้ว
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้น เมื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เปิดนิตยสารสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ เลยส่งเรื่องสั้น ‘สัญญาต่อหน้าเหล้า’ ไปให้พิจารณา ปรากฏว่าเรื่องนี้เป็นที่ถูกอกถูกใจ ประหยัด ศ.นาคะนาท บรรณาธิการ ซึ่งเคยนำเรื่องเศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึกลงตีพิมพ์ให้ และเป็นจุดเริ่มต้นให้ชื่อของอาจินต์เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้อ่านนับตั้งแต่นั้นมา
“ผมตั้งใจจะเป็นนักเขียนเรื่องผจญภัย จากความจัดเจนของเราเอง ทีนี้ผมไม่ได้ไปไหนมาก นอกจากไปทำงานอยู่ที่เหมืองแร่อยู่ 4 ปี ทั้งหมดที่ผมทำได้ดีที่สุดคือการบรรยายชีวิตที่เหมืองแร่ที่นั่น..
“เหมืองแร่ สอนให้รู้จักหิวรู้จักอด ฝนตก 7 วันเต็ม ถนนพัง สะพานหัก เหมือนเราถูกปล่อยเกาะในที่ไม่มีข้าว ข้ามลำธารไปไม่ได้ เงินเดือนยังมาไม่ถึง มันฝึกให้ไม่หยิบหย่ง เพราะต้องอยู่กับของสกปรก น้ำมันเครื่อง โคลนเลน เลือด คมเหล็กบาดเนื้อ ไม่มียา ต้องเอาน้ำมันขี้โล้ป้ายแผล มันคือความหมายที่แท้ของคำว่าอดทน เป็นจุดที่ลึกที่สุดของประสบการณ์”
ผลจากความพยายามที่ไม่สิ้นสุดนี่เอง ทำให้เขาก้าวสู่การเป็นนักเขียนเต็มตัว มีผลงานลงตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง สมดังที่หวังไว้ตลอดหลายปี
หากชีวิตนักเขียนทำให้อาจินต์ได้ทำตามฝัน ชีวิตในสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของเมืองไทย ช่อง 4 บางขุนพรหม ก็คงช่วยให้เด็กหนุ่มอยู่รอดและเติบโตได้ในโลกความจริง
ช่วงที่กำลังเตะฝุ่น ชอุ่มแนะนำให้อาจินต์รู้จักชายที่ชื่อ จำนง รังสิกุล หัวหน้ากองวิทยุกระจายเสียงต่างประเทศ ของกรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์ ในปัจจุบัน)
เวลานั้นจำนงต้องการหาพนักงานแปลสคริปต์ข่าว และเห็นว่าอาจินต์เคยทำงานกับฝรั่งที่เหมืองแร่มาก่อน น่าจะรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี หากแต่สิ่งที่อาจินต์รู้มีแต่ศัพท์เฉพาะในเหมืองแร่ ส่วนสคริปต์ข่าวมีแต่ศัพท์อะไรก็ไม่รู้ เขาเลยบอกพี่สาวว่า คงทำไม่ได้
ผ่านไปพักใหญ่ หลังอาจินต์เริ่มมีชื่อเสียงกับผลงานในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ เป็นจังหวะเดียวกับที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม มอบหมายให้จำนงไปบุกเบิกสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 พอดี เขาจึงบอกให้ชอุ่มตามตัวน้องชายให้มาทำงานด้วย
“แกบอกว่า ภาษาอังกฤษผมไม่ดีก็ไม่เป็นไร ภาษาไทยดี”
ตามตำแหน่งอาจินต์ทำงานในฐานะนักเขียนบทโทรทัศน์ แต่ความจริงขอบเขตงานที่ต้องรับผิดชอบมีอีกเพียบ ทั้งจัดผังรายการ คิดคำโฆษณา เขียนบทละคร รวมถึงงานครีเอทีฟทั้งหลาย จนกลายเป็นต้นทุนชีวิตให้เขาสามารถประยุกต์ใช้ในงานอื่นๆ ได้ไม่รู้จบ
แต่หน้าที่ที่ถือว่ามีอิทธิพลต่อชีวิตที่สุด คือการเป็นบรรณาธิการนิตยสารไทยโทรทัศน์รายเดือน นิตยสารของช่อง 4 บางขุนพรหม
ความจริงอาจินต์ไม่สนใจงานด้านนี้เลย เพราะมองว่าตนถนัดงานเขียน ครั้งแรกที่ ประสงค์ หงสนันทน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยโทรทัศน์ฯ ซึ่งถือเป็นนายใหญ่ของสถานีทาบทาม เขาจึงปฏิเสธทันที พอปีถัดมาก็ทาบทามอีก เขาก็ปฏิเสธอีกหน จนหัวหน้าจำนงต้องเรียกตัวเข้าพบ
“คุณจำนงพูดกับผมด้วยประโยคที่สำคัญมากต่อชีวิต.. ‘อาจินต์จะให้นายสั่งถึง 3 ครั้งไม่ได้ จะทำเป็นไม่เป็นไม่รู้ละ ไม่เป็นก็ไปศึกษาเอา ไปทำงานนี้ต่อไปจะเป็นประโยชน์กับตัวเอง’ ผมก็จำใจรับ..แต่ที่ยังไม่รู้สึกในขณะนั้นคือ งานนี้จะเป็นประโยชน์แก่ตัวผมเองอย่างยิ่งในเวลาต่อมาจริงๆ”
หน้าที่หลักของบรรณาธิการคือจัดการต้นฉบับ อาจินต์เชิญนักเขียนรุ่นใหญ่หลายคนมาร่วมงาน เช่น ประหยัด ศ.นาคะนาท บก.สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์, ประมูล อุณหธูป สุดยอดนักเขียนอีโรติก เจ้าของผลงาน จันดารา และ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นต้น ตลอดจนรวบรวมข่าวสารต่างๆ ในวงการบันเทิง จนนิตยสารไทยโทรทัศน์ มีแฟนๆ ติดตามเป็นจำนวนมาก กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อาจินต์ได้ค้นพบอาชีพที่เหมาะสมอย่างแท้จริง
ขณะที่งานโทรทัศน์และนิตยสารกำลังรุ่งโรจน์ งานประพันธ์ของอาจินต์ก็ไปได้ดีไม่แพ้กัน
ช่วงนั้นเขามีชื่อเสียงในฐานะสุดยอดนักเขียนเรื่องสั้นของเมืองไทยคนหนึ่ง โดยเฉพาะชุดเหมืองแร่มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ทว่าเมืองไทยยุคนั้น ไม่มีการรวมเล่มเรื่องสั้นขาย เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อว่า มีแต่นวนิยายเท่านั้นที่ขายได้
จุดพลิกผันเกิดขึ้นในร้านหนังสือแห่งหนึ่ง ระหว่างที่อาจินต์กำลังหาซื้อหนังสือเล่มหนึ่ง ปรากฏว่าหมด ก็เลยฝากเจ้าของให้ช่วยสั่งมาให้ พอแจ้งชื่อตัวเองไป เจ้าของร้านก็เลยถามกลับว่า นี่คืออาจินต์เดียวกับที่เขียนเรื่องสั้นเหมืองแร่หรือเปล่า เขาชอบมาก อาจินต์ก็เลยทักกลับไปว่า หากชอบก็รวมเล่มขายไหมล่ะ เจ้าของร้านก็ได้แต่หัวเราะ แต่ไม่ยอมพิมพ์ให้
“เขาบอกเรื่องสั้นไม่มีใครซื้อหรอก ถ้าพิมพ์แล้วก็คงมีแค่คุณกับผมอ่านแค่สองคน ผมเจ็บใจมาก เพราะหนังสืออะไรๆ บนแผงเต็มไปหมด บางเล่มแย่เต็มทีด้วยซ้ำ ตอนนั้นผมมีเงินเก็บในธนาคารประมาณ 9,000 บาท พอดีรัสเซียเชิญนักเขียนไทยไปประชุมเรื่องสั้น คุณจำนงก็สั่งให้ผมไป ผมก็ไปถอนเงินเอาติดตัวไป 7,000 บาท ที่เหลือสั่งพิมพ์พ็อกเกตบุ๊คเล่มเล็กๆ ชื่อ ตะลุยเหมืองแร่ จำนวน 2,000 เล่ม ขายเล่มละ 5 บาท ไปรัสเซียกะพิมพ์ทิ้ง ตายมันแค่นี้แหละ ให้มันรู้ไป กลับมา 7 วัน เกลี้ยงตลาด”
จากเล่มแรก ตะลุยเหมืองแร่ ที่ได้เสียงตอบรับอย่างอบอุ่น ทำให้อาจินต์รวมเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ ติดต่ออีกหลายเล่ม และตั้งสำนักพิมพ์ โอเลี้ยง ๕ แก้วขึ้น
เขาเป็นนักเขียนไทยคนแรกๆ ที่เขียนเอง พิมพ์เอง ขายเอง เรื่องสั้นชุดเหมืองแร่กลายเป็นหนังสือขายดีที่ได้รับยกย่องให้เป็นหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน และยังถูกตีพิมพ์ซ้ำจนถึงบัดนี้
‘ลูกอีสาน’ อาจไม่ได้เป็นนวนิยายซีไรต์เรื่องแรกของเมืองไทย ถ้าไม่มีผู้ชายชื่ออาจินต์
“พี่อาจินต์ถามว่าเคยอ่านบ้านเล็กในป่าใหญ่ไหม แกบอกว่าคุณมีของดีเหมือนหญิงสาวกำลังมีนมเต่งตึงแต่ไม่รู้ตัวเอง คุณเป็นลูกอีสานใช่ไหม ผมบอกว่าใช่ และพออ่านไปก็เอ๊ะ! มันคล้ายชีวิตเราตั้งแต่เล็กๆ เลยนี่หว่า พ่อพาไปหาปลาน้ำมูลน้ำชี เขามีหมาเราก็มีหมา ก็เลยขึ้นให้พี่อาจินต์ดู 2-3 บท จำไม่ได้ แกก็บอกว่าพยายามเขียนมาเรื่อยๆ” คำพูน บุญทวี เจ้าของผลงานกล่าวถึงชายผู้ปลุกปั้นเขามาตั้งแต่ต้น
ไม่เพียงคำพูนที่อาจินต์ผลักดัน เขายังมีส่วนเจียระไนนักเขียนดังประดับวงการอีกหลายคน ทั้ง ไมตรี ลิมปิชาติ เจ้าของผลงานคนอยู่วัด ความรักของฉุย, หยก บูรพา ผู้เขียนอยู่กับก๋ง หรือ นิมิตร ภูมิถาวร ครูหนุ่มผู้สร้างนวนิยายคนเผาถ่าน ด้วยแนวคิดที่อยากเปิดโอกาสให้นักอยากเขียนรุ่นใหม่ๆ ได้มีพื้นที่แสดงฝีมือ
หลังหัวหน้าจำนงถูกย้ายไปอยู่ส่วนกลาง เมื่อปี 2512 อาจินต์ตัดสินใจโบกมือลาช่อง 4 บางขุนพรหม และเริ่มทำนิตยสารวรรณกรรมฉบับแรกของตัวเอง
‘ฟ้าเมืองไทย’ เริ่มต้นขึ้นที่ห้องแถวบริเวณหลังกระทรวงมหาดไทย โดยเขาควักทุนส่วนตัว 100,000 บาท ร่วมกับ ณัฐ ปวิณวิวัฒน์ เจ้าของร้านทำปกหนังสือ และเสริม เตชะเกษม ทายาทสำนักพิมพ์บรรณกิจ จำหน่ายครั้งแรกวันจักรี 6 เมษายน ฉบับละ 3 บาท โดยเขารับหน้าที่บรรณาธิการ ดูแลการผลิตทุกขั้นตอน
บรรณาธิการอย่างอาจินต์เชื่อมั่นในทฤษฎี ‘ตะกร้าสร้างนักเขียนมาทุกยุค’ แต่ตะกร้าของเขาไม่ใช่ถังขยะ
ในแต่ละสัปดาห์มีต้นฉบับเรื่องสั้นหลั่งไหลมายังฟ้าเมืองไทยประมาณ 40 เรื่อง ผลงานทั้งหมดไม่มีเรื่องใดที่ถูกทิ้งลงถังขยะ เขาจะเก็บรักษาผลงานทุกชิ้นไว้ในแฟ้ม และพิจารณาว่าเรื่องใดใช้ได้ก็ลงตีพิมพ์ก่อน เรื่องใดที่มีข้อบกพร่อง หากยังมีข้อดีอยู่ก็จะขัดเกลา ขีดฆ่าประโยคที่ไม่กระชับให้ดูเป็นตัวอย่าง แล้วส่งคืนนักเขียนให้ไปแก้มา แต่ถ้าผลงานชิ้นนั้นไม่ผ่านจริงๆ แต่พอเห็นแววอยู่บ้าง เขาก็จะปลอบใจนักเขียนพร้อมแนะนำแนวทาง ก่อนบอกให้ทดลองเขียนและส่งผลงานมาใหม่
สำหรับอาจินต์แล้ว หน้าที่ของบรรณาธิการคือการส่งเสริมนักเขียนให้ไปถึงฝั่งฝัน และเป็นตัวแทนของผู้อ่าน คอยบอกว่าอะไรคือหัวใจสำคัญที่ผู้อ่านต้องการ
“บ.ก. ไม่ได้สร้างนักเขียน แค่ให้สนามเล่น ถ้าเขาเล่นเก่ง เขาก็ไปแข่งกันเองได้ เหมือนอย่างผม ผมประกาศที่โรงแรมแห่งหนึ่งว่าคุณประหยัด ศ.นาคะนาท สร้างผม แกไปในงานนั้นพอดี คุณประหยัดก็ลุกขึ้นพูดบอกไม่ใช่ ผมไม่ได้สร้างคุณอาจินต์ ทีนี้ถ้าใครมาบอกว่าผมสร้าง ผมปฏิเสธหมด เขาสร้างตัวเอง ผมให้สนามเท่านั้น”
จากฟ้าเมืองไทย อาจินต์ขยายสนามไปสร้างฟ้าเมืองทอง ฟ้านารี ฟ้าอาชีพ แต่ช่วงหลังมีปัญหาด้านธุรกิจจึงทยอยปิดตัว
หลังแยกทางกับหุ้นส่วน อาจินต์จึงควักทุนส่วนตัว มาทำนิตยสารเล็กๆ ของตัวเองออกมาอีกครั้งช่วงปี 2532 ชื่อว่า ‘ฟ้า’ ทำได้ประมาณ 2 ปี แต่ด้วยความผันผวนของตลาดนิตยสาร และมองว่าพัฒนาได้ยาก เขาจึงตัดสินใจเลิก และหันเข้าสู่เส้นทางนักเขียนเต็มตัวอีกครั้ง
บ.ก. ไม่ได้สร้างนักเขียน แค่ให้สนามเล่น ถ้าเขาเล่นเก่ง เขาก็ไปแข่งกันเองได้
โลกหลังเกษียณของอาจินต์ไม่ได้เงียบเหงา
เขายังมีความสุขกับการเขียนหนังสือส่งไปหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ ทั่วฟ้าเมืองไทย ทั้ง มติชนสุดสัปดาห์ ผู้จัดการ กุลสตรี แนวหน้า และยังมีผลงานรวมเล่มออกมามากมาย อย่าง เจ้าแม่ บอมบ์กรุงเทพฯ นิสิตเถื่อน แม่น้ำยามศึก และวาบความคิด เขาเขียนหนังสือเกือบทุกวัน และหากมีเวลาว่างจะออกไปเดินดูเมือง ชมตลาด เป็นการให้รางวัลตัวเอง
อาจินต์ชอบคุยกับพ่อค้าแม่ค้า คอยสังเกตพฤติกรรม ฟังว่าเขาคุยอะไรกัน บางทีทำให้เกิดจินตนาการ เอามาสร้างเป็นตัวละคร ผูกเป็นเรื่องสั้นหรือข้อเขียนได้อีกชิ้นหนึ่ง บางครั้งก็ชักชวนให้คนเหล่านี้เขียนเรื่องสั้นมาให้อ่าน
จิระ มะลิกุล ผู้กำกับภาพยนตร์มหา’ลัยเหมืองแร่เล่าถึงช่วงที่ไปพบอาจินต์ที่บ้านครั้งแรกว่า “เราไปที่ปากซอยสุทธิสารแล้วก็นั่งมอเตอร์ไซค์เข้าไปที่บ้านแก มอเตอร์ไซค์คุยกันว่าบ้านพี่อาจินต์รู้จัก เพราะพี่อาจินต์เป็นคนตรวจต้นฉบับให้ คือพี่อาจินต์ยุให้วินมอเตอร์ไซค์เขียนเรื่องสั้นแล้วไปให้แกตรวจต้นฉบับ แล้วแกก็เป็นคนส่งไปให้หนังสือตีพิมพ์”
อาจินต์มักบอกเสมอว่า มีความสุขที่ได้พบเจอและพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ เขาถึงขั้นลงทุนเปิดกระดานสนทนา pencyber ในเว็บไซต์ bookcyber เมื่อราวๆ ปี 2543 เพื่อเป็นจุดนัดพบ และคอยเติมฝันให้นัก (อยาก) เขียนได้ก้าวเดินไปสู่เส้นทางของตัวเอง ผ่านชื่อในโลกออนไลน์ว่า ‘rjin’
“เป้าหมายของเว็บเพจนี้คือ ผมต้องการสอนเด็กใหม่ที่อยากเป็นนักเขียน เพื่อจะได้ไปสู้กับฝรั่ง เผื่อจะมีโนเบลไพรซ์สักคนหนึ่ง ผมชอบอ่านที่เด็กรุ่นใหม่เขาคุยกันในอินเทอร์เน็ต ทำให้ผมได้คำศัพท์ใหม่ๆ..
“ครั้งหนึ่งผมเคยถามพรานบูรพ์ที่รุ่นคราวอาผม ว่าทำไมถึงชอบมาคุยกับพวกผม แกตอบว่ามาดูคนรุ่นหนุ่มอย่างพวกคุณว่ามีความคิดและภาษาอะไรกันบ้าง ทั้งที่เขาเป็นถึงยอดนักปราชญ์ของเมืองไทย คนเมื่อก่อนเขาเก่งนะ ที่ในหนังสือเรียนบอกคนสมัยก่อนนะโง่ ไม่จริง …คนแต่ละรุ่นมันต้องเอาตัวรอดให้ได้ อย่าไปดูถูกเขา เราต้องให้เกียรติคนรุ่นใหม่ ขณะเดียวกันก็ต้องเคารพคนรุ่นเก่าด้วย”
ในช่วงบั้นปลาย แม้สุขภาพจะเสื่อมถอยไปตามลำดับ แต่อาจินต์ไม่เคยหยุดที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักเขียนนักอ่าน
เมื่อ 5 ปีก่อน เขาและภรรยา-แน่งน้อย ปัญจพรรค์ บริจาคหนังสือที่สะสมมาทั้งชีวิตนับหมื่นเล่ม ให้กับห้องสมุดที่ซอยพระนาง แถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อาจินต์บอกว่า หนังสือควรจะอยู่กลางฝูงชน ไม่ใช่มีแค่เขาที่อ่านแค่คนเดียว เพราะหนังสือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยทำให้คนฉลาดขึ้น
เช่นเดียวกับ Facebook อาจินต์ ปัญจพรรค์ ซึ่งเขาใช้เป็นช่องทางสื่อสารกับแฟนๆ ในวันที่เว็บบอร์ดเสื่อมความนิยมลง
ทั้งหมดนี้คือปณิธานที่ไม่เคยสูญสลายแม้จะสิ้นลมหายใจ ของบรรณาธิการตลอดชีวิตที่ชื่อ ‘อาจินต์ ปัญจพรรค์’
เส้นทางของวรรณกรรมเยาวชน ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ หนังสือที่จุดกระแสการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และเพลิดเพลินกับเวทมนตร์และการผจญภัยของพ่อมดน้อยกับผองเพื่อน
นักเขียนนิทานเด็ก เจ้าของผลงาน ‘อีเล้งเค้งโค้ง’ กับความฝันอันยิ่งใหญ่ที่อยากยกระดับการอ่านให้เด็กไทยทั่วประเทศ
ย้อนตำนานนิตยสารอันดับ 1 ตลอดกาลของเมืองไทย คู่สร้างคู่สม ผ่านเรื่องราวของบรรณาธิการตัวจริงเสียงจริง
จากข้าราชการหนุ่มอนาคตไกลสู่นักโทษการเมือง กับภารกิจสร้างดิกชันนารีที่ทำให้ชีวิตของเขากลับมามีความหมายอีกครั้ง
นักแปลสองพี่น้อง ผู้คร่ำหวอดในแวดวงนิยายจีนกำลังภายใน และเป็นเจ้าของผู้สร้างผลงานที่แรงบันดาลใจให้นักอ่านมาแล้วนับไม่ถ้วน
ย้อนเส้นทางของอาจินต์ ปัญจพรรค์ บรรณาธิการผู้ยิ่งใหญ่ ผู้สร้างนักเขียนหลายสิบชีวิต
Armchair ศิลปินขวัญใจวัยรุ่นยุคอินดี้ ผู้บุกเบิกเพลงบอสซาโนวา เจ้าของเพลงฮิตสุดละมุนที่ยังตรึงอยู่ในใจแฟนเพลงถึงวันนี้
นักเขียนการ์ตูนที่พาผลงานมังงะจากเอเชียให้โด่งดังไปไกลทั่วโลก ปลุกกระแสดราก้อนบอล ให้เข้าอยู่ในใจเด็กๆ ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ
สุดยอดนักพากย์ฟุตบอลและผู้ประกาศข่าวกีฬาแห่งเรื่องเล่าเช้านี้ที่ครองใจผู้ชมผู้ฟังมานานกว่า 3 ทศวรรษ
สาว สาว สาว แอม-แหม่ม-ปุ้ม ต้นตำรับเกิร์ลกรุ๊ปเมืองไทย ผู้สร้างกระแสเพลงประตูใจ ข้ามกาลเวลาถึงปัจจุบัน
จากนักแกะสลักน้ำแข็ง สู่สุดยอดทีมนักแกะสลักหิมะ ที่คว้าชัยในเทศกาลหิมะอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง พร้อมพิสูจน์ให้โลกได้เห็นว่า ถึงเมืองไทยไม่มีหิมะ เราก็สร้างที่ยิ่งใหญ่ได้
ย้อนเรื่องราวของหนังไทย ‘โหมโรง’ ที่สร้างปรากฏการณ์ฟีเวอร์ หลังเกือบถูกถอดจากโรง พร้อมกับจุดกระแสดนตรีไทยให้โด่งดังไปทั่ว
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.