วาทิน ปิ่นเฉลียว : ต่วย’ตูน ครึ่งศตวรรษความบันเทิงคู่แผงนิตยสารไทย

<< แชร์บทความนี้

เคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมนิตยสารที่แทบไม่มีโฆษณาเลย ถึงสามารถหยัดยืนมาได้ถึง 50 ปี

เหตุผลหนึ่งคงเป็นเพราะ ‘แฟนานุแฟน’ ที่ยังมั่นคงเหนียวแน่นอุดหนุนต่อเนื่องไม่เปลี่ยนแปลง

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ นิตยสารแบรนด์นี้ยังเป็นกรุสมบัติชั้นเยี่ยมที่รวบรวมความรู้หลายสาขา ทั้งประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ โบราณคดี หรือประสบการณ์ชีวิตจากผู้คนหลากวิชาชีพ ที่อ่านง่ายอ่านสนุก ชนิดที่ไม่ต้องปีนบันไดเลย

อย่าง คำสาปฟาโรห์ มนุษย์ต่างดาวมีจริงไหม ชีวิตคนไทยสมัย ร. 5 ตำนานร้านอาหารเก่าในเมืองกรุง ไปจนถึงชีวิตบ้านสวน ประสบการณ์ต่างแดน หรือแม้แต่วรรณกรรมสามก๊กที่ถูกนำมาเล่าใหม่แบบที่ใครๆ ก็อ่านรู้เรื่อง

เพราะฉะนั้นอย่าแปลกใจว่า ทำไมใครต่อใครถึงมักบอกว่า ต่วย’ตูน เป็นหนังสือที่เหมาะสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย อย่างแท้จริง

แต่ทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่มีผู้บุกเบิกคนสำคัญ ยอดมนุษย์..คนธรรมดา อยากพาทุกคนไปรู้จักกับบรรณาธิการคนดัง เจ้าของสโลแกน ‘การเมืองไม่ยุ่ง การมุ้งไม่เกี่ยว เน้นฮาลูกเดียว’ ผู้สร้างสถาบันอารมณ์ขันฉบับพกพา

ลุงต่วย-วาทิน ปิ่นเฉลียว

กว่าจะเป็น "ต่วย'ตูน"

ใครจะเชื่อว่า นิตยสารเล่มเล็กๆ ความหนาไม่กี่ร้อยหนา จะอัดแน่นไปด้วยเรื่องน่าสนใจนับไม่ถ้วน

แถมนักเขียนที่มาแสดงฝีไม้ลายมือก็ชื่อชั้นไม่ธรรมดา

บางรายเคยเป็นถึงนายกรัฐมนตรี หลายคนเคยนั่งเก้าอี้ประธานรัฐสภา และอีกไม่น้อยมีตำแหน่งห้อยท้าย ทั้งผู้ว่าฯ อธิบดี ราชบัณฑิต อาจารย์ใหญ่ เกษตรกร จนถึงนักโทษชาย

แต่กว่าที่จะต่วย’ตูนจะกลายเป็นตักศิลาได้ ทั้งหมดเริ่มต้นจากภาพการ์ตูนลายเส้นธรรมดาๆ เท่านั้นเอง

แม้ประกอบอาชีพหลักเป็นสถาปนิกอยู่ที่กรมชลประทาน แต่กิจกรรมที่ลุงต่วยยึดมาตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ คือการวาดการ์ตูน ประกอบคอลัมน์ตามนิตยสารต่างๆ ตามคำชักชวนของ รศ.แสงอรุณ รัตกสิกร

โดยผลงานชิ้นแรกคือภาพประกอบเรื่องสั้น ‘เฒ่าทะเล’ ของแกม มหรณพ

เอกลักษณ์การ์ตูนแบบต่วย คือ เขียนน้อย ได้มาก เป็นอารมณ์ขันแบบที่เรียกว่า Pure Joke

ปกติรูปหนึ่งเขาจะวาดเพียงไม่กี่เส้น แต่แค่นั้นก็พอเรียกเสียงหัวเราะได้แล้ว เพราะกว่าจะเป็นภาพหนึ่ง ต้องตกผลึกเรื่องนั้นๆ ให้เข้าใจก่อนเสียก่อน จากนั้นจึงค่อยหยิบเอาอุปนิสัย ท่าทาง อารมณ์ และจิตสำนึกของตัวละครหลักมาตีความ แล้วถ่ายทอดเป็นภาพการ์ตูนที่สมบูรณ์

หลายคนอาจไม่ทราบว่า ภาพการ์ตูนประเภทคนติดเกาะ คนติดคุก ล้อหมอ ล้อตำรวจ ที่เห็นกันบ่อยๆ นั้น ลุงต่วยคือคนไทยแรกๆ ที่วาดเผยแพร่สู่สาธารณชน

“ผมได้รับอิทธิพลมาจากฝรั่ง พ่อผมเมื่อก่อนรับหนังสือพิมพ์ฝรั่ง ซึ่งวันอาทิตย์หน้ากลาง มันเป็นการ์ตูนหมดเลย.. ตอนที่ผมมาวาด มันเลยแปลกขึ้นมา

“เพราะรุ่นก่อนผม การ์ตูนมักเป็นตลกแบบรุ่มร่าม บางอย่างไม่ต้องใส่ก็ได้ ผมเลยตัดสิ่งที่มันรกหูรกตาออก เอาเฉพาะที่มันจะขำแค่นั้นพอ อย่างกำแพงก็ขีดเป็นเส้นให้รู้ ไม่ต้องไปใส่รอยกระเทาะอะไร”

ความโดดเด่นนี่เองที่กลายเป็นจุดขาย ทำให้งานของเขาปรากฏตามนิตยสารชั้นนำอีกหลายเล่ม โดยเฉพาะ ชาวกรุง นิตยสารรายเดือนในเครือสยามรัฐ จนมีแฟนประจำติดเพียบ

หลังเขียนมาได้ร่วมสิบปี ลุงต่วยคิดการใหญ่ จับมือกับเพื่อนรักนักเขียนเรื่องสั้น ‘ประเสริฐ พิจารณ์โสภณ’ รวมเล่มผลงาน หวังหาเงินเป็นค่ากินเหล้า

เล่มแรกคือ ‘รวมการ์ตูนของต่วย’ นำเสนอผลงานลายเส้นสไตล์ต่วยล้วนๆ วางขายครั้งแรก 3,000 เล่ม ไม่กี่วันก็เกลี้ยงแผงจนต้องพิมพ์ซ้ำอีก 2-3 หน

ลุงต่วยรวมเล่มผลงานอีกหลายเล่ม กระทั่งวัตถุดิบเริ่มหมดสต็อก ประเสริฐเลยบอกว่า “เอ็งอย่าไปคนเดียวซิวะ ตั้ง 200 กว่าหน้า งั้นข้าช่วยเขียนด้วย”

แต่เขียนไม่ทันจบ ประเสริฐก็รู้ว่าเขียนเองหมดคงไม่ไหว เลยเปลี่ยนไปใช้วิธีขอผลงานจากนักเขียนรุ่นพี่ ทั้ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, อบ ไชยวสุ, นพพร บุณยฤทธิ์, ประมูล อุณหธูป หรือประหยัด ศ. นาคะนาท มาประกอบ

ทุกคนก็เมตตาอนุญาตให้นำมาใช้แบบฟรีๆ หนังสือก็เลยต้องเปลี่ยนชื่อเป็น ‘รวมการ์ตูนต่วยและเรื่องขำขันจากชาวกรุง’

แม้ไม่ได้มีกำหนดวางแผงชัดเจน บางปีออกมาแค่เล่มเดียว แต่หนังสือก็ขายดิบขายดี เป็นที่รอคอยของขาประจำเรื่อยมา

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะความอ่อนด้อยทางธุรกิจ แถมผู้จัดจำหน่ายยังทักอยู่บ่อยๆ ว่าชื่อหนังสือยาวเกิน จำยาก ซึ่งส่งผลต่อการสร้างสรรค์ผลงานระยะยาว

สุดท้ายสองเพื่อนซี้ ‘ประเสริฐกับวาทิน’ จึงตัดสินใจก่อตั้งสำนักพิมพ์ของตัวเองเป็นเรื่องเป็นราว เปลี่ยนชื่อเหลือแค่ ‘ต่วย’ตูน’ พร้อมวางแผงเป็นประจำทุกเดือน นับตั้งแต่กันยายน 2514 เป็นต้นมา

ร่วมสมัยสไตล์ต่วย

แม้ภาพลักษณ์ของต่วย’ตูน อาจดูสูงวัยสักหน่อย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับนิตยสารยุคปัจจุบัน แต่ลุงต่วยก็ยังเชื่อเสมอว่า เนื้อหาที่ดีย่อมร่วมสมัยอยู่วันยังค่ำ

ลุงต่วยเป็นนักอ่านมืออาชีพ สมาชิกทุกคนในบ้านตั้งแต่พ่อแม่ พี่ชายน้องสาวต่างผูกพันกับการอ่านมาตั้งแต่จำความได้

แต่ละวัน คุณพ่อจะมีวรรณกรรมดีๆ มาถ่ายทอดให้ลูกๆ ฟัง ทั้งรามเกียรติ อิเหนา รวมถึงรหัสคดีของเอ็ดการ์ อัลเลน โป

ส่วนคุณแม่ก็เน้นหนักไปที่กาพย์ กลอน นิยายกำลังภายใน และพออ่านเสร็จก็มีการพูดคุย วิจารณ์ แสดงความคิดว่าหนังสือเล่มนี้เป็นยังไง ทำให้เขาเข้าใจถึงแก่นแท้ที่อยู่ลึกลงไปกว่าลีลาการเขียน

อีกภารกิจที่ทำสมัยเด็กๆ คืออ่านหนังสือให้น้องสาวฟัง ซึ่งหลายๆ ครั้งก็ไม่ได้เล่าเรื่องตามต้นฉบับเป๊ะๆ แต่ใช้วิธีหยิบโครงเดิมมาใส่รายละเอียดใหม่

อย่างชื่อตัวละคร แทนที่จะเรียกท่านเคาท์แดร็กกูลา ก็แปลงเป็นชื่อแบบไทยๆ ให้เข้าใจง่าย หรือบางครั้งก็แต่งตัวละครใหม่เสริมเพิ่มให้เรื่องสนุกยิ่งขึ้น

นี่เองที่กลายเป็นพื้นฐานสำคัญ ในวันที่ผันชีวิตจากนักวาดการ์ตูนมาเป็นบรรณาธิการเต็มตัว

ลุงต่วยเคยกล่าวว่า เนื้อเรื่องหรือพล็อตเป็นสิ่งที่ขายได้เสมอ บางเรื่องยิ่งเก่ายิ่งคลาสสิก

เช่นเรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่คนยุคไหนก็สนใจ แต่คงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้นักอ่านรุ่นใหม่ ศึกษาจากจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ซึ่งแต่งขึ้นสมัยรัชกาลที่ 1 จึงเป็นหน้าที่ของผู้เขียนที่ต้องหากลวิธีให้เรื่องนี้เสพง่ายขึ้น

“เนื้อหาเป็นสิ่งที่คนอยากรู้ แต่ถ้าไปอ่านสำนวนอย่างนั้นจะรู้เรื่องซะเมื่อไหร่ ต้องเอาเนื้อหาเดิมมาเขียนใหม่ เขียนด้วยสำนวนของคนรุ่นใหม่ เหมือนละครเวที เอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ เล่าด้วยลีลาแบบคนสมัยใหม่ เป็นโมเดิร์น”

นักเขียนรุ่นเก่าๆ บางคนที่มีลีลาการเขียนเนิบช้าเกิน ลุงต่วยก็จะพยายามเสนอให้ลองเปลี่ยนสไตล์ เดินเรื่องเร็วขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มผู้อ่านรุ่นใหม่ที่นิยมอ่านอะไรที่กระชับฉับไว

นอกจากนี้ ลุงต่วยยังยึดหลักที่ว่า ทุกคนต้องอ่านต่วย’ตูนได้ ผลงานทุกชิ้นจึงต้องอ่านง่าย

ยืนยันจาก ‘ต่วย’ตูนพิเศษ’นิตยสารอีกเล่มซึ่งเขากับจินตนา ปิ่นเฉลียว น้องสาวร่วมกันปลุกปั้นมาตั้งแต่ปี 2517

เพราะเนื้อหาหลักของ ‘ต่วย’ตูนพิเศษ’ คือวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ซึ่งหลายประเด็นค่อนข้างหนัก แต่พอถูกปรับให้เข้ากับงานสไตล์ต่วย เรื่องยากๆ ก็เลยง่าย

และยังส่งผลให้ความรู้ประเภทฟาโรห์อียิปต์ สัตว์โลกดึกดำบรรพ์ มนุษย์ต่างดาว หรือสัตว์ประหลาด เป็นที่นิยมในบ้านเราอีกด้วย

“ตอนแรกที่ออกต่วย’ตูนพิเศษ คนอ่านบอกอ่านไม่รู้เรื่อง อาจเพราะไม่มีพื้นมาก่อน ผมเลยบอกทีมงานให้เขียนง่ายๆ ศัพท์แสงเยอะแยะไม่เอา ใช้ภาษาพื้นๆ ให้คนเข้าใจดีกว่า ใช้ภาษาพูดแบบอาจารย์เข้ามาบรรยายในห้องเรียน

“สังเกตว่า ถ้าคุณอ่านตำรามักไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ถ้ามีครูมาพูดให้ฟังจะเข้าใจง่ายกว่า..พอเราทำให้มันไม่ซีเรียสมากนัก แฟนหนังสือที่เป็นชั้นมัธยมปลายหรือเด็กมหาวิทยาลัยเยอะขึ้น..”

ชมรมวันเสาร์

อีกกลยุทธ์ที่ลุงต่วยใช้หาแง่มุมใหม่ๆ มาต่อยอดเรื่องเก่าๆ คือ ‘ชมรมวันเสาร์’ วงสังสันทน์ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกสัปดาห์ที่บ้านในซอยโชติสหาย ย่านประชาชื่น

แต่ละครั้งนักเขียนทั้งรุ่นเก่า รุ่นใหม่ จะมาล้อมวงพูดคุย กินเหล้า บางครั้งมีการตั้งโจทย์แปลกๆ อย่างอานม้าของอะแซหวุ่นกี้ที่มอบให้เจ้าพระยาจักรี ตอนขอดูตัวนั้นหายไปไหน หรือใครเป็นคนเลี้ยงม้าสีหมอกของขุนแผน จากนั้นก็มอบหมายให้นักเขียนที่ช่ำชองหาคำตอบมา

“ต่วย’ตูนทั้งหมดที่ทำมานี้กำเนิดได้จากวงเหล้าทั้งนั้น ไอ้นั่นมาถึงก็มาคุยกัน มาโม้ มานั่งฝอยๆๆ วันนี้มีอะไร ก็เฮ้ยเอาเรื่องนี้ไปเขียน หรือถ้าไม่ใช่นักเขียน ไอ้คนที่อยู่ในวงที่เป็นนักเขียนก็เอาไปเขียนแทน”

แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่าเขาจะปล่อยให้นักเขียนบรรเลงฝีมือแบบไร้ขอบเขต

ที่นี่มีกฎเหล็กที่นักเขียนต้องยึดถือและปฏิบัติตาม คือ การเมืองไม่ยุ่ง เซ็กซ์ไม่เอา คนพิการไม่ล้อ ที่สำคัญคือทุกคนต้องไม่เขียนบทความยุยงให้เกิดความแตกแยกในชาติ หรือแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเป็นอันขาด

ตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปี มีนักเขียนผ่านเวทีต่วย’ตูน หลายร้อยชีวิต หลายอาชีพ ตั้งแต่นักการเมือง ข้าราชการ แพทย์ ทหาร ตำรวจ พยาบาล เกษตรกร นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน วิศวกร สถาปนิก นักแสดง นายพราน อาจารย์ เกษตรกร หรือแม้แต่พระภิกษุสงฆ์

บุคคลดังๆ ที่หลายคนคุ้นเคย ก็อย่างเช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จอมพลถนอม กิตติขจร, สมัคร สุนทรเวช, พล.อ.อ. หะริน หงสกุล, มนูญ มุกข์ประดิษฐ์, ดร.วิญญู อังคณารักษ์, ปัญญา ฤกษ์อุไร, พล.ต. ถาวร ช่วยประสิทธิ์, อบ ไชยวสุ, อาจินต์ ปัญจพรรค์, ’รงค์ วงษ์สวรรค์, ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์, พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร, หลวงเมือง ฯลฯ

ลุงต่วยย้ำเสมอมาว่า นักเขียนเหล่านี้คือ บุคลากรที่สำคัญที่ช่วยให้ต่วย’ตูน หยัดยืนบนถนนสายหนังสือ ตั้งแต่ยุคที่นิตยสารเฟื่องฟู จนถึงสมัยที่โซเซียลมีเดียกวาดแผงนิตยสารแทบไม่เหลือ

“หนังสือของผมมีค่าเรื่องไม่มากนักเมื่อเทียบกับเล่มอื่น แต่ที่นักเขียนเหล่านี้เขียนให้เราเป็นเวลานานก็เพราะผูกพันกันด้วยมิตรภาพ..จุดหนึ่งที่ผมกล้าพูด คือผมไม่มีคู่แข่ง เพราะคนแข่งกับผมนี่ไม่ได้อะไรเลย หนังสือเราไม่ได้กำไร ถ้านายทุนที่จะมาให้ทุนทำหนังสือ ไม่มีเงินเป็นล้านๆ มันทำไม่ไหวนะ ถ้าเขาลงทุนไม่คุ้มไปทำอย่างอื่นดีกว่า การที่เรามาทำตรงนี้ได้ ก็เพราะชอบทำ ทำแล้วมีความสุข

“เช่นเดียวกับผู้อ่าน หนังสือของผมเป็นหนังสือสำหรับครอบครัว คนอ่านติดตามมาตั้งแต่รุ่นปู่ สู่รุ่นพ่อ ไปสู่รุ่นลูก ผู้อ่านคนหนึ่งเขียนจดหมายมาเล่าให้ฟังว่า เขาอ่านต่วย’ตูนตั้งแต่เด็ก เพราะพ่อเขาซื้อไว้ ตอนนี้ผมเขาเสียไปแล้ว เขาเลยต้องซื้อเอง”

“เนื้อหาเป็นสิ่งที่คนอยากรู้ แต่ถ้าไปอ่านสำนวนอย่างนั้นจะรู้เรื่องซะเมื่อไหร่ ต้องเอาเนื้อหาเดิมมาเขียนใหม่ เขียนด้วยสำนวนของคนรุ่นใหม่

วาทิน ปิ่นเฉลียว : ต่วย’ตูน ครึ่งศตวรรษความบันเทิงคู่แผงนิตยสารไทย

ความสุขของลุงต่วย

หลังก่อร้างสร้างอาณาจักรต่วย’ตูนมาเกือบ 40 ปี แฟนานุแฟนก็ได้รับข่าวร้ายว่า ลุงต่วยเป็นมะเร็ง!!

ลุงต่วยถูกสั่งให้เลิกดื่มเหล้า วงสังสันทน์ที่เคยคึกคักจึงร่วงโรยไปตามกาลเวลา แต่ถึงสุขภาพจะไม่เต็มร้อย สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยคือ ทัศนคติที่มีต่อโลกและผู้คน

ดล ปิ่นเฉลียว บุตรชายเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ด้วยความเป็นคนมีอารมณ์ขัน มองโลกในแง่ดี ดูเหมือนโรคไม่ค่อยทำอะไรลุงต่วยเท่าไหร่ เวลาคุยกับหมอ หมอบอกว่าผมไม่สามารถรักษามะเร็งให้หายได้ แต่ผมสามารถทำให้ลุงต่วยอยู่กับมันอย่างสบาย ตายอย่างมีสุข”

แต่ละวัน ลุงต่วยสุขใจที่ได้อ่านต้นฉบับและตอบจดหมายแฟนๆ แม้ต้องใช้แว่นขยายช่วยก็ตาม

นอกจากนี้ยังเขาส่งพลังบวกไปยังเพื่อนนักเขียนอาวุโสหลายคน

อย่าง ส.พลายน้อย ซึ่งเขากระตุ้นให้เขียนส่งมาเรื่อยๆ จนเกิดบทความเล่มโตชุด ‘ความคิดคะนึงตอนโพล้เพล้’ เช่นเดียวกับนักเขียนรุ่นใหม่ที่ลุงต่วยหยิบยื่นโอกาสและให้คำแนะนำดีๆ กระทั่งหยัดยืนอยู่ในวงการได้อย่างมั่นคง

“ผมเห็นใจว่าคนรุ่นใหม่ตอนนี้หาสนามยาก แต่ต่วย’ตูนเปิดรับผลงานนักเขียนใหม่อยู่เสมอ พอดูว่านักเขียนคนไหนมีแวว ผมก็เริ่มตะไบแล้ว เอาเรื่องลงถี่ๆ เดือนเว้นเดือนก็มี ให้คนอ่านจำได้ หลังจากนั้นอาจเว้นบ้าง เอาเรื่องของคนใหม่ลงแทน นี่เป็นนโยบายของผมเลย ปีหนึ่งผมกะว่า ถ้านักเขียนมีแวว 3-5 คน ก็ดันขึ้นมาให้ได้ เอาให้เกิดเลย

“เพราะทุกครั้งที่ผมอ่านต้นฉบับ ผมจะเกิดความฟิต และทำให้ตัวเองมีแรงทำงาน เนื่องจากข้อเขียนของนักเขียนแต่ละคน ล้วนเป็นกำลังใจชั้นดีที่ทำให้ผมรู้สึกไม่ตกสมัย โดยเฉพาะข้อเขียนของนักเขียนรุ่นใหม่ ซึ่งบางครั้งอ่านแล้วยังอยากให้นักเขียนรุ่นเก่าเขียนหนังสือแบบนี้บ้าง”

นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมลุงต่วยจึงมักส่งเทียบหนุ่มสาวฝีมือดีให้มาเขียนลงต่วย’ตูน ซึ่งส่วนใหญ่ต่างยินดี เพราะนับเป็นเกียรติที่ข้อเขียนของตัวเองได้ผ่านการพิจารณาของบรรณาธิการอาวุโสเช่นนี้

หลังใช้ชีวิตกับมะเร็งด้วยรอยยิ้มนานถึง 9 ปี ลุงต่วยก็ได้จากไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2558 ด้วยวัย 85 ปี

แต่ถึงตัวจะไม่อยู่ นิตยสารที่เขารักก็ไม่เคยหายไปไหน ดังคำสั่งเสียสุดท้ายที่ลุงต่วยฝากถึงทีมงานให้ช่วยกันประคับประคองต่วย’ตูน ต่อไป เพื่อเป็นสื่อสร้างความรู้และความบันเทิงแก่ผู้อ่านตราบนานเท่านาน

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • นิตยสารสู่อนาคตรายสัปดาห์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 197 วันที่ 13-19 ธันวาคม 2527
  • นิตยสารถนนหนังสือ ปีที่ 2 ฉบับที่ 10 เดือนเมษายน 2528
  • นิตยสาร Hi-Class ปีที่ 12 ฉบับที่ 141 เดือนมกราคม 2539
  • นิตยสารสารคดี ปีที่ 5 ฉบับที่ 50 เดือนเมษายน 2532
  • นิตยสารสารคดี ปีที่ 21 ฉบับที่ 241 เดือนมีนาคม 2548
  • นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 24 ฉบับที่ 10 เดือนสิงหาคม 2546
  • นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 27 ฉบับที่ 3 เดือนมกราคม 2549
  • นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 31 ฉบับที่ 12 เดือตุลาคม 2553
  • รายการตำนาน ตอน ผู้สร้างตำนาน ต่วย’ตูน วันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 AMARIN TV HD ช่อง 34

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.